แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จ เราก็พูดสู่กันฟัง มีผู้พูด มีผู้ฟัง ยิ่งพวกเราถ้าฟังแล้วนำไปปฏิบัติ ก็ยิ่งสมบูรณ์แบบที่สุดสิ่งที่พูดนี้ก็ต้องพูดให้คนที่มีการกระทำฟัง ให้มีผู้ที่กระทำฟัง ถ้าพูดให้คนที่ไม่เคยกระทำฟัง ก็อาจจะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจอาจจะยังไม่เป็น ถ้าในบรรยากาศที่นี่ก็ล้วนแต่พวกเราเป็นกลุ่มศึกษาปฏิบัติธรรมร่วมกันมา จะเป็นวิธิใดก็ตาม การปฎิบัติธรรม หลายครู หลายวิธีการที่สอน เราอย่าไปเอาวิธีเป็นเรื่องตัดสินใจว่าผิดว่าถูก วิธีนั้นอาจจะต่างกัน แต่ว่าผลลัพธ์เหมือนกัน ทีนี้ วิธีนั้นๆ ก็ต้องเป็นวิธีที่เจริญสติทั้งนั้น จะเป็นแบบยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง แบบพุทโธ แบบอานาปานสติ หรือแบบสติปัฏฐานที่เรากระทำกันอยู่
วิธีที่เราทำอยู่ก็เจริญสติตรงๆตรงๆ ให้สัมผัสกับสติ ไม่มีพิธีกรรม ไม่มีบริกรรม เอากายเป็นการสร้าง เอาใจเป็นการสร้าง ใจนี้ถ้ามันคิดก็ให้สติรู้ กายถ้ามันเคลื่อนไหวก็ให้มีสติรู้ อาศัยการเคลื่อนไหวของกายเป็นการเจริญสติก็เรียกว่าพิธี ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูกเพราะฉะนั้นนี่ขอให้เราเปิดใจให้กว้าง หลายคน หลายรูป หลายนามที่อยู่ที่นี่ อาจจะไม่คิดว่าศึกษาเรื่องการปฏิบัติแต่กายเคลื่อนไหวอย่างเดียว อาจจะเคยฝึกแบบอื่นมาบ้าง ก็ลองประยุกต์กันดู ว่าการเจริญสติสัมปชัญญะที่ตรงที่สุด ไม่มีอะไรมาคั่นมาขวางเอาไว้ ให้มีสติเข้าไปตรงๆ เช่นมีสติดูกาย วิธีใดที่จะให้เห็นกายชัดๆ ซื่อๆตรงๆ ก็ทำดูเอา โดยเฉพาะที่เราเจริญสติปัฎฐานแบบการเคลื่อนไหวนี่ ไม่มีการบริกรรม ไม่มีรูป ไม่มีพิธีกรรมอะไรมากมาย เราก็ทำขึ้นมาเลย ยกมือขึ้นมามีสติรู้ แต่เวลาใดที่มันคิดก็รู้สึก เวลาใดที่มันเคลื่อนไหวก็รู้สึกแต่ทีนี้การเคลื่อนไหวของเราที่เราทำ เราจะรอให้มันเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของกายไม่พอ เราเร่ง เราด่วน เรารีบ เราพยายามที่จะให้มันมากขึ้น ให้ไวขึ้น เราก็มีพิธีรูปแบบ เช่นเดินจงกรมบ้าง นั่งสร้างจังหวะยกมือบ้าง อันนี้เรียกว่า ปฏิบัติธรรม เจริญสติปัฏฐานหรือว่ากรรมฐาน หรือเรียกว่าภาวนา
ภาวนา ก็คือเจริญสติให้มาก เมื่อสติมาก ความหลงมันก็น้อยลง เมื่อความหลงน้อยลง ก็เป็นกฎของธรรมชาติ เหมือนกับแสงสว่างมี ความมืดก็หมดไป ถ้ามีแสงสว่างก็มองเห็นอะไรได้ชัด เหมือนกับขณะนี้เรามีแสงนีออนมองเห็นญาติมิตรทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ รู้จักหน้าจักตา รู้จักคนโน้นคนนี้ มองคนโน้นคนนี้ก็รู้จัก ตอบได้ นั่นก็โยมสัมผัส นั่นก็ใครที่ไหนๆเรารู้จักกัน จำกันได้ ตอบได้ ชัดเจน การที่มีสติปัญญาด้านใน มีสติมากขึ้น มันก็มองเห็นกายเห็นใจชัดเจน ได้คำตอบออกมา โอ้ นี่คือกายเป็นรูปธรรม อันนี้คือจิตใจเป็นนามธรรม รูปธรรมมันมีลักษณะอย่างไร อาการของรูปมีอันใด อาการของใจมีอันใด อาการของนามมีอย่างใด มันเปิดมาให้ต่อ เข้าแถวให้เรารู้ มันมาเรียงแถวเพื่อให้เรารู้เห็น จริงอย่างไรไม่จริงอย่างไร ตกอยู่ในสภาพเช่นใด อะไรคือใจบริสุทธิ์ อะไรคือใจซื่อๆ อะไรคือรูปซื่อๆ อะไรคือไม่ซื่อ ไม่ตรง ปลอมแปลงมาอย่างไร เราจะรู้จัก เมื่อเรารู้จักมันก็ใช้มันเป็น ใช้กายก็ใช้เป็น ใช้ใจก็ใช้เป็น แต่นี้ถ้าเราไม่รู้เราใช้ไม่เป็น
บางคนก็ใช้กายไปในทางที่ผิด ไปกินเหล้าเมายา ไปสูบบุหรี่ ไปติดของเสพติดจนเป็นนิสัย จนเป็นภาระ เสียเงินเสียทอง บังเบียดตัวเอง บังเบียดคนอื่น บางคนใช้ใจไม่เป็น มีใจเอาไปโกรธเอาไปรัก เอาไปคิดวิตกกังวล เอาไว้ไปทุกข์ เอาไว้ลงโทษ มีใจไม่ใช่เป็นที่พึ่ง เพราะเราไม่รู้มัน อะไรมาก็เอาหมด ความโกรธก็เอา ความทุกข์ก็เอา ความคิดก็เอา ความวิตกกังวลเอา ดีใจเสียใจเอาหมด แหมวันนี้ใจไม่ค่อยดี ถ้าใจไม่ดีเราก็พาลพี่พาลน้อง พาลครอบพาลครัว พาลเพื่อนมิตรฝูงไป มันมาอะไรก็รับหมด หลายๆเรื่องไม่มีหลักเกณฑ์ในชีวิต เหมือนกับคนตาบอด อะไรมาก็นึกว่าถูกทั้งหมด ถ้าคนตาดีเค้ามองอะไรรู้เห็น เพราะฉะนั้นนี่เราจึงมาจุดแสงสว่างขึ้น คือเจริญสติสัมปชัญญะเนี่ย ถ้าสติมีมาก ความหลงน้อยลง ก็ต้องให้ความยุติธรรมแก่ตัวเอง บางคนอาจจะปฏิบัติมาหลายปี สี่ซ้าห้าปีบ้างก็อาจจะมี แต่ก็มาคิดว่าโอ..ปฏิบัติมาแล้วไม่ค่อยมีอะไร ไม่ค่อยได้ผลอะไร ก็เพียงแต่เอากาลเวลามาตัดสิน แต่ปฏิบัติจริงๆที่จะมีสติได้ สัมผัสได้กับตัวสติจริงๆ เราหลอกตัวเองไม่ได้ ขณะนี้เราอยู่กับความรู้สึกหรือว่าเราอยู่กับความหลง
หลวงพ่อเคยถามนักปฏิบัติ เวลาไปเยี่ยมนักปฏิบัติ มักจะถามเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ เป็นอย่างไร มีสติดีไหม อยู่กับความรู้สึก ความรู้สึกมีมาก หรือว่าความหลงมีมาก ความหลงกับความรู้อันไหนมากกว่ากัน ส่วนมากจะได้รับตอบว่าความหลงมากกว่า คิดหลงตัวลืมตนมากกว่า ความรู้จริงๆวันหนึ่งที่เราใช้วันหนึ่ง 12 ชั่วโมง อาจจะเป็นเวลาที่เรามีสติไม่กี่ชั่วโมงนอกนั้นก็อยู่กับความหลงไปซะหมด มันก็เลยไม่สมดุลกัน ไม่เป็นกฎธรรมชาติ ต่อเมื่อใดที่มันสมดุลกัน ความพอดีพอเหมาะความพอดีพอเหมาะมันสมดุลกันว่าเป็นกฎของธรรมชาติ ตอนนั้นแหละ ไม่อยากรู้ก็รู้ ไม่อยากเห็นก็เห็น
แต่หน้าที่เราคือเราเจริญสติ เราทำเนี่ย ก็ให้เราพยายามเฝ้าดู เป็นผู้ดู เป็นผู้ดูกาย เป็นผู้ดูใจ ใจไม่ต้องไปหาดูมัน มันมาให้ดูเอง แต่หน้าที่นี้เราก็ดูกายให้เป็นหลักไปก่อน อาศัยกายเป็นนิมิต เป็นเครื่องหมาย เราจะให้มันเห็นอันไหน เราจะให้มันเห็นการหายใจ เราจะให้มันเห็นการเคลื่อนไหวของมือ เราจะให้เห็นการเคลื่อนไหวของกายของเท้าที่มันเดิน หรือเราจะกระดิกนิ้วน้อยๆ หรือจะทำแรงๆ มันรู้สึกอย่างเดียวกันหรือเปล่าก็ให้เราสัมผัสดู ให้สัมผัสกับตัวสตินานๆ ลองดู วันหนึ่ง เวลาลืม เวลาหลงน้อย พยายามขวนขวายที่จะรู้ เรื่องหลงพยายามรู้จักเข็ด รู้จักหลาบ ให้รู้จักเข็ดรู้จักหลาบ ให้อยู่กับความรู้สึกให้มาก วิธีใดที่เราจะให้มีความรู้สึกชัดเจนเราก็หามา เหมือนกับคุณทวีเกียรติเป็นนักถ่ายภาพ ถ้าภาพไหนที่มันจับภาพได้ดีได้ชัด ถ้าไปเล็งดูแล้วไปส่องดูแล้วภาพมันไม่ชัด ก็อย่าไปถ่าย ถ้าถ่ายมันก็ได้ภาพไม่สวย เสียฟิล์มเปล่าๆ
การที่จะมาดูตัวเองเนี่ย วิธีใดที่มันจะเห็นกายชัด เราก็หามาทำ เช่น ยกมือมันชัดหรือเปล่า บางทียกมือชัด ต่อไปๆ มันอาจจะไม่ชัด ก็เปลี่ยนวิธีใหม่ อาจจะดูลมหายใจสับเปลี่ยนกันไปบ้าง เพราะว่าถ้าเราดูนานๆ อริยาบถเดียวนานๆ มันจะพลาด เราก็รู้เองแก้เอง ประสบการณ์ไปเอง ไม่มีครูที่จะสอนเราจริงจัง เรานี้แหละเป็นครู คือปฏิบัติ คือคลำไปเรื่อยๆเนี่ย มันจะเป็นประสบการณ์ไปเรื่อยๆไป ฉะนั้นเนี่ยการปฏิบัติธรรม การเจริญสติ เรียกว่ากรรมฐานนี้เป็นของเราทุกผู้ทุกนามที่จะขวนขวาย ที่จะหาทิศทางให้แก่ตัวเอง วิธีกรรมหรือรูปแบบนั่นก็เป็นส่วนกลางๆ ยังไม่แน่ ยังไม่ชัด ถ้าเราเอามาใช้ไม่เป็น มันอาจจะไม่ชัดไม่ถูกไม่ต้อง เราใช้เป็นมันก็อาจจะถูกต้อง พวกเราจับเครื่องมืออันเดียวกัน จับมีดเล่มเดียวกันมาถาก จับมีดเล่มเดียวกันมาฟัน บางคนก็ถนัด บางคนก็ไม่ถนัด สิ่งใดเครื่องมือของเราที่เคยใช้ คนอื่นไม่ถนัดตัวเราก็ถนัด เราจับ เราเคยใช้คล่องตัว คุ้นเคย มันก็ชัดเจน
งั้นสิ่งที่จะมาทำให้เราชัดเจนเนี่ยไม่ใช่ว่าพอหัดปั๊บจะเป็นไปได้เลย ต้องอาศัยกาลเวลาบ้าง เช่นการยกมือสร้างจังหวะเนี่ย ทำใหม่ๆมันก็อาจจะไม่รู้ล่ะ ถ้ามือทำอยู่นี้ใจคิดไปทางอื่น ถ้าไม่ทำ ถ้าไม่ยกมือ มันก็ไม่คิด พอยกมือปั๊ปมันก็คิดขึ้นมาแข่งกับความรู้สึก ผิดหรือถูกทำไมหลวงพ่อจึงสอนอย่างนั้น ทำไมอาจารย์จึงสอนแบบนี้ แบบนั้นอาจจะดีกว่า แบบนี้อาจจะไม่ดี มารหาเรื่องมาแข่ง หาเรื่องมาแข่งกับตัวสติ เราไม่มีอินทรีย์อันแก่กล้า ไม่มีความหนักแน่น อย่าทอดอย่าทิ้ง อย่าทิ้งอันเดิมอันเก่า พอตั้งใจจะอยู่อันไหนธรรมไหนให้เราทำไปลองดู ถึงแม้ว่าจะมีอะไรมาแข่งก็ไม่ย่อท้อ มีความพากมีความเพียรกลับมาสู่อันเดิมให้ได้ แม้นว่ามันจะคิดเรื่องอันอื่น เราก็ตัดสินใจนั่นก็คิดกลับมานี่ๆ มันคิดทีไรกลับได้ทุกที ถ้ามันคิดไปที่ใดกลับได้ทุกที มารู้กายได้ทุกที ไม่ให้ความคิดเอาไป หลงไปกับความคิดทั้งหมด เอาเหตุเอาผล อันนั้นไม่ถูกนะ
การปฏิบัติไม่ใช่มาคิดเอาเหตุเอาผล มันเป็นสิ่งที่เหนือเหตุเหนือผล ปฏิบัตินี่ถ้ามาคิดเอาเหตุเอาผล หาคำตอบจากความคิดมันไม่ค่อยถูกเสมอไป ถ้าเราเชื่อมันทั้งหมดก็ไม่ได้ความคิดนี่ มันเหนือเหตุเหนือผล ต้องให้เราสัมผัสดูกับตัวสติสัมปชัญญะ ให้กรรมตัวนี้มันจำแนกไปเอา ถ้าไปรู้ก่อนรู้เห็นก่อนเห็น เป็นก่อนเป็น ถึงก่อนถึง บางคนก็เกิดจินตญาณ เกิดความรู้ เกิดวิปัสนู คิดได้คิดถูก อย่างนั้นถูก อย่างนี้ถูก อย่างนั้นมันผิดอย่างนี้ไม่ผิดได้แล้ว เข้าใจแล้วก็เอาความรู้เอาความเข้าใจของตนเอง ก็เลยหยุดความเพียร ผลที่สุดก็หมดความ หมดน้ำมันเหมือนรถหมดน้ำมัน หมดเชื้อเป็นวิปัสนูหรือจินตญาณ มันหมดเชื้อเป็น มันหมดเชื้อเป็น
ส่วนมาก มักจะเห็นนักปฏิบัติธรรม หรือครูอาจารย์ที่สอนกันอยู่ทุกวันนี้ มันจะมีแหล่ง ไปตกแหล่งความรู้อันหนึ่ง เค้าเรียกวิปัสสนูหรือว่าจินตญาณ ไปถึงแหล่งความรู้แล้วมันจะโอ้ย นั่งรู้ นอนรู้ เดินจงกรมก็จะไปสอนอย่างนั้น จะไปเทศน์อย่างนี้ คิดมีแต่เรื่องถูกๆ คนอื่นพูดขึ้นมาก็สู้หัวขาด ไม่ยอมๆใคร ไม่เอา ใครทำผิดก็เอาทันที พูดผิดก็เอาทันที ผลที่สุดก็ลืมความเพียร ลืมเจริญสติ เลยไปเป็นผู้รู้เข้าไป ผลที่สุดก็หยุดชะงักไม่ปรารภความเพียร
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมก็ให้ใจหนักแน่น เห็นอะไรเป็นอันใดที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง จะเป็นความรู้ก็ดี จะเป็นความหลุดพ้นหรือความเปลี่ยนแปลงไปทางกายทางใจก็ดี ก็อย่าพึงกระโดดโลดเต้น อย่าพึงลุกลี้ลุกลน ให้ใจเย็นๆไว้เป็นทุน แล้วก็ขณะที่เราอยู่บ้าน เห็นลูกกลับบ้าน เห็นหลานกลับบ้าน เห็นเมียเห็นผัวกลับบ้าน ได้รับความสำเร็จอะไรมา มันจะดีใจมากเกินไป บางทีเห็นอะไรมาที่มันผิดพลาด มันจะเสียใจอะไรมากเกินไป เราก็หมดตัว คือมันหมดหมดสภาพหมดสภาพความเป็นจริง หมดคุณธรรมหมดคุณค่า ก็ต้องทำใจให้เป็น บางทีไปประสบเอาภาวะที่มันหลุดมันพ้น เช่นไม่เคยเห็นรูปธรรม ไม่เคยเห็นนามธรรม ก็ไปดีใจกับความรู้ของตนเอง ไปเสวยความสุข ไปเสวยความรู้อยู่ จะกลับมาทำความเพียรมันก็ต่อไม่เป็น เหมือนกับว่ามันออกแรงมากถ้าเราไปหยุด เหมือนกับว่ารถมันวิ่ง ถ้ารถมันวิ่ง ล้อมันวิ่งได้มันก็คล่องตัวกว่าที่จะสตาร์ทใหม่ การปรารภความเพียรก็เช่นกัน ขณะที่มันกำลังดี กำลังมีสติดี รู้เท่ารู้ทัน มีสติสัมปชัญญะดีๆเนี่ย รู้เท่ารู้ทัน เกิดความรู้เกิดความเข้าใจเกิดปัญญาขึ้นมานี่เราอย่าไปเพลิดเพลิน ให้เร่งความเพียรไปเรื่อยๆ
ขณะใดที่มันกลิ้งได้สัดได้ส่วน ก็กลิ้งของมันไปเรื่อย ผลักนิดเดียวมันก็ไปๆ ก็เลยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมาก ส่วนมากนักปฏิบัติธรรมนี้ พอไปรู้อะไรขึ้นมาก็เอาแล้ว หลงตัว ลืมตน ก็ไปอยู่กับความรู้ ผลที่สุดมาตั้งต้นใหม่ ความเพียรก็อ่อนแอลง ลงแรงมากขึ้น กว่าจะได้อารมณ์เดิม อารมณ์เก่าก็หลายวันหลายวัน อย่างนี้แหละ อันนี้มันเป็นสิ่งที่เราประสบการณ์เอาเอง เป็นสิ่งที่เราได้สัมผัสเอง การปฏิบัติธรรม หลวงพ่อก็เคยพูดให้ฟังแล้วว่า ให้มีใจเป็นจุดที่เย็น ไม่เป็นไรไว้ก่อน รู้ก็ไม่เป็นไร ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ผิดก็ไม่เป็นไร ถูกก็ไม่เป็นไร วางใจให้เป็นกลางๆ แล้วมันจะบริสุทธิ์ ๆ เมื่อความบริสุทธิ์เป็นทุน อะไรก็ไม่หวั่นไหว เหมือนกับเราทำงานทำการเกี่ยวข้องกับกิจการงานต่างๆ ถ้าเราได้ทำความบริสุทธิ์ คนอื่นจะว่ายังไง เขาจะตำหนิติเตียนอย่างไรก็ไม่เป็นไร เราเองเห็นตัวเราเอง ไม่มีใครเรียนรู้นอกจากตัวเรา ไม่มีใครเรียนรู้ยิ่งกว่าเรารู้ตัวเราเอง เราก็จะมั่นคงในชีวิต การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้าเราวางใจดีๆ วางใจเป็นกลางดีๆ มันมีเปอร์เซ็นต์แล้วนะ มันเอียงมาแล้วนะ มันเอียงมา มันไหลมาแล้วถ้าเราทำใจ สิ่งที่ยากก็ง่ายขึ้นมา
เพราะฉะนั้นวันนี้ มันเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เราได้เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เรามาทำความเพียร มาปฏิบัติบูชากัน การปฏิบัติบูชา ไม่ใช่ว่าจะมายกมือสร้างจังหวะเท่านั้น แม้แต่เรานั่งอยู่เฉยๆก็ทำในใจ การทำในใจอยู่ ปฏิบัติตามอยู่ จิตใจมันคิดขึ้นมา เราก็แก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของเราเอง มันจะคิดไปทางไหนเราก็รู้เอง ไม่ใช่ว่าจะมาสอนให้สร้างจังหวะจนตาย อยู่ที่ไหนก็นั่งอยู่บนรถบนเรือก็สร้างจังหวะ ไม่ใช่อย่างนั่น ทำใจ ทีแรกเราทำกาย แต่ต่อไปเราทำใจเป็น ทำใจอย่างเดียว ใจเป็นหัวหน้า เราทำใจอย่างเดียวก็ครอบคลุมไปทั่วๆทั้งหมด แต่ถ้าเราไม่ฝึกหัดเริ่มต้นที่กายก่อน ฝึกหัดให้มีที่กายก่อน จะไปทำใจเลยไม่ได้ถ้ามันเป็นแล้วทำใจได้ ถ้ามันยังไม่เป็น ไปทำใจ มันก็เป็นเรื่องหนักๆ เพราะฉะนั้น เช่นการเจริญสติ คนที่ไม่เคยเจริญสติ พอจะมาหัดรู้ หัดระลึกรู้ไปก็ไม่ชัด มันไม่ชัด ๆ เหมือนกับเราสัมผัส พอพูดไปก็รู้แล้วล่ะ
สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว แต่พอสัมผัสเข้าจริงๆ มันไมใช่คำพูดเท่านั้น เบาๆเท่านั้น มันรู้สึกลึกๆ มันสัมผัส มันชัดมันเจน มันถูกมันต้อง โอถ้าเราได้สัมผัสกับตัวสตินานๆไป ความหลงมันก็รู้จักเข็ดรู้จักหลาบความหลงก็รู้จักเข็ดรู้จักหลาบ ความรู้มันก็เป็นประโยชน์ เมื่อมันหลงเวลาใด เราก็คว้าหาๆความรู้สึก ไม่ต้องมีใครมาบอก ไม่ต้องมีใครมาเคี่ยวเข็ญเรา มันจะรู้เองว่า คราวใดที่มันหลงตัวไปละก็ ก็ถูกอะไรล้อมรุมเข้ามา ความคิดเล่นงานบ้าง ความวิตกกังวลเข้ามา ไม่ปลอดภัย แต่ถ้าเมื่อใดเรามีสติอยู่ รู้ตัวทั่วพร้อม รู้สึกระลึกได้อยู่ มันก็ไกลจากข้าศึกๆ แล้วก็ท้าทายต่อข้าศึกได้
เหมือนกับเรามีตามองเห็นอะไร เราใช้ตาของเราเพื่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต คนมีตาก็ใช้ชีวิตปลอดภัย ไม่สะดุดตอ ไม่เหยียบขวากเหยียบหนาม ไม่ถูกงูกัด แม้แต่สัตว์เล็กๆน้อยๆก็เห็น ถ้ามีตา ตาภายในยิ่งกว่าตาภายนอก ยิ่งกว่าตาเนื้อ มองเห็นแม้กระทั่งอารมณ์หรือความคิด ตาในนี่มันหนีทุกข์นะ มันหนีจริงๆ ตัวทุกข์มันไม่เอา ตาเนื้อตานอกมันยิ่งหาความทุกข์ เพราะธรรมชาติของตาเป็นคู่กับรูป ก็แสวงหา เมื่อเห็นแล้วมันยังไม่พอ มันไม่หยุดแค่นั้น ก็ส่งไปที่จิตที่ใจ ดีใจ ยินดียินร้ายต่อไปจนถึงที่สุด จนเป็นปฏิจจสมุปบาทตามหลักวิขาการ แต่ถ้าเรามีตาใน มันไม่ต่อ มันหยุดมันจบ ตาภายในนี่มันจบ มันหมดเป็น มันจบเป็น มันไม่ต่อ มันสั้น พอมันรู้ มันก็หยุดเท่านั้นนะ ความรู้สึกระลึกได้ ถ้ามันมีกำลังมาก ไปหยุดอะไรก็ได้ มันจะหยุด มันเบรกอะไรก็ได้ถ้ามันมีกำลังพอ ถ้าความรู้สึกน้อยๆ ไม่เพียงพอ ไม่พอใช้ ถ้ามีสติมากๆ มันเบรก มันหยุด มันเช็ด มันล้าง มันรู้ มันดู มันชำระล้างสิ่งใดที่มันสกปรก มันทำให้สะอาดขึ้นทันที
หลวงพ่อเคยเปรียบเทียบ ตัวสติสัมปชัญญะนี่เหมือนกับไม้กวาด ไม้กวาดนี้ผ่านไปที่ตรงไหน ที่นั่นจะสะอาด บริสุทธิ์ น่านั่งน่านอน ถ้าไม้กวาดผ่านไปที่ตรงใด ไม่มีฝุ่นไม่มีอะไร สัมผัสได้ก็รู้สึกว่ามันสะอาด การมีสติปัฏฐานก็เหมือนกัน ตาหูก็สะอาด จิตใจก็สะอาด บริสุทธิ์ เป็นพรหมจรรย์จริงๆ พรหมจรรย์จริงๆก็คือการเจริญสติปัฏฐานเนี่ย ดู เห็น รู้เกี่ยวกับสิ่งใด ก็หยุด จบเป็นๆๆ ผ่านได้ๆ หลุดได้พ้นได้ เรียกว่าเป็นทางสู่ความวิมุตความหลุดพ้นก็ว่าได้ การเจริญสตินี้ทำให้หยุด ทำให้เย็น ทำให้ปล่อยทำให้วาง ตรงกันข้ามกับทุกอย่าง ถ้ามันอยู่เฉยๆ ไม่เป็นไร มันก็อยู่อย่างนี้ปกติ แต่ถ้าเวลาใดที่มันโกรธขึ้นมา ความไม่โกรธก็เข้ามาช่วยทันที มันเป็นกฎของธรรมชาติ เวลาใดที่มันจะทุกข์ขึ้นมา ความไม่ทุกข์จะเข้ามาช่วยทันที เวลาใดมันจะหนักมา ความเบามันก็เข้ามาช่วยทันที มันเป็นกฎธรรมชาติธรรมดา เรียกว่าธรรมรักษาผู้ประพฤติธรรม ถ้าเราอยู่เฉยๆ มันก็อยู่เฉยๆ มันช่วยจริงๆ ธรรมะมันช่วยเรา ทีแรกก็ต้องช่วยธรรมะ ช่วยเจริญสติ ให้โอกาสแก่สติๆ เต็มที่ ขอมอบกายมอบใจให้สติเป็นผู้คุ้มผู้ครองเป็นเจ้าของ
ที่พูดอยู่เสมอ ให้กายนี้มีสติเป็นเจ้าของ ให้ใจของเรามีสติเป็นเจ้าของ ถ้าคิดเรื่องใดผ่านทางนี้ก่อนออกทางนี้ก่อน ไปให้ลา มาให้บอกนี้ก็ต้องมีความรู้สึกเสียก่อน การจะคิดเรื่องใด ต้องมีความรู้สึกเสียก่อน กายจะทำอะไร จะเคลื่อนจะไหวยังไง มีความรู้สึกเสียก่อน ยิ่งพวกเรามาปฏิบัติธรรมเนี่ย การเจริญสติแบบการเคลื่อนไหวก็ยิ่งเหมาะที่สุด มันจะเป็นโอกาสที่เราจะได้ อิริยาบถมันช่วย มันช่วยให้เรารู้สึกระลึกได้ แต่ถ้าเราจะนั่งรู้เฉยๆ มันไม่ได้ไม่ชัดไม่เจน เราจะคุ้นเคยกับความรู้สึก เราก็เจตนาสร้าง กำหนด ต่อไปสติมันจะสร้างเราเอง ทีแรกเราสร้างสติ แต่ทำไปๆ สติมันจะสร้างเรา มันจะยก มันจะเป็นอันเดียวกันไป ถ้าทำใหม่ๆ มันก็จะเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ว่ารู้สติคืออะไร ยกมือนี้มันรู้จริงๆหรือเปล่า
รู้สติคืออย่างไร เราจะไปสนใจข้องใจอยู่อย่างนี้ คนส่วนมาก ความรู้สึกมันคืออะไร กายที่มันเคลื่อนอยู่นี่มันรู้จริงๆไหม ไม่ใช่ความคิดหรือ มันเป็นความรู้หรือมันเป็นความคิดก็ไปหาอยู่ที่นั่น ก็ไม่เป็นไร แต่พอเราทำไปๆ มีสติไปๆ สติมันจะช่วยเรา สตินั่นแหละจะเป็นผู้ที่สั่งเป็นอันเดียว กายก็อย่างนั้น สติก็อย่างนั้น ใจก็อย่างนั้นอันเดียว เป็นเอกไปเลย ความคิดที่เคยลักคิด ที่เคยหลง ไม่มี คิดอย่างหนึ่ง ใจอย่างหนึ่งกายอย่างหนึ่ง ใจอย่างหนึ่งไม่มี จะเป็นอันเดียวกันไป พร้อมกันไป มันเป็นอันเดียวแยกไม่ออกๆ ใช้ชีวิตประจำวันแยกไม่ออก จะรู้สึก ระลึกได้อยู่อย่างนั้น ไม่ลืมเป็น ไม่เหมือนกับเราเรียนหนังสือ ไม่เหมือนกับเราเรียนวิชาชีพท่องบ่นสาธยาย ถ้าไม่ท่องไม่ทบไม่ทวนบ่อยๆ ก็ลืม แต่ถ้าฝึกปฏิบัติธรรมจนมันเป็นอัตโนมัติ เป็นกฎธรรมชาติจริงๆ มันไม่มีโอกาสที่จะลืมอยากจะทุกข์มันก็ไม่ทุกข์ อยากจะโกรธมันก็ไม่โกรธ เพราะมันไม่ใช่ชีวิตจริงๆ เช่น ขอโกรธ ให้โกรธซักหน่อยได้ไหม โกรธเถอะน่าๆ โกรธ รักเถอะน่า คนนี้น่ารัก มันไม่เอา บอกยอม โอ้ อย่าให้รักเถอะ อย่าให้โกรธเถอะ มันยอม ขออย่าให้โกรธเถอะ อย่าให้หลงเถอะ อย่าให้รักเถอะ อย่าให้ชังเถอะ ให้อยู่อย่างนี้ปลอดภัยดีกว่า
ถ้าไปอยู่ที่นั่นมันไม่ปลอดภัยมันก็หาเอง หาที่หาทางเองได้ที่อยู่เอง แต่ทีแรกเราต้องสร้างเอานะ สร้างมันเป็น เรียกว่าทำให้เป็น ทำให้มันมี ทำให้มันเป็นไม่ใช่ทำให้มันรู้เฉยๆให้มันเป็น ถ้ามันเป็นแล้วก็ไปไหนก็ไปได้สะเทิ้นบกสะเทิ้นน้ำได้ อยู่ที่บ้าน อยู่ที่วัด อยู่ที่ลุ่ม อยู่ที่ดอน อยู่ที่ไหนไม่เป็นไร ไม่มีสถานที่ อยู่ที่ไหนก็เป็นวิหารธรรมคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา ไม่เปลี่ยนไม่แปลง ยิ่งที่พูดให้ฟังเมื่อตอนกลางวันนี้ เหมือนกับเราเป็นนักกีฬา เรานั่งอยู่นี่ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นอะไร เรานั่งอยู่นี่อาจจะเป็นครูเป็นหมอ เป็นอาจารย์ เป็นอะไรต่างๆ ช่างอะไรต่างๆหลายคนที่อยู่ที่นี่ แต่นั่งอยู่เฉยๆอย่างนี้ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นอะไร แต่พอถึงเวลาที่จะแสดงออก คนมีความรู้เรื่องอะไรเขาจะแสดงออกทันที เป็นวิชาออกมาทันที ทำได้ทันที สำเร็จ คนขับรถ ถ้านั่งอยู่อย่างนี้ ก็ไม่รู้จักว่าเขาขับรถเป็น แต่พอเขานั่งบนรถจับพวงมาลัย เขาก็นำรถไปสู่ที่จุดหมายปลายทาง แล้วก็ให้ความปลอดภัย เขาก็มีความรู้ คนมีสติปัญญาก็เช่นกัน ถ้านั่งอยู่เฉยๆ มันก็อยู่เฉยๆ
แต่เวลาใดที่มันมีทุกข์ มีเรื่องขึ้นมา ศิลปะแห่งความรู้มันจะหลีกมาช่วยทันที ไม่ให้เป็นทุกข์เด็ดขาด เหมือนกับนักมวย ถ้าเค้านั่งอยู่เฉยๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นนักมวย แต่พอเขาขึ้นเวที เขาก็ชกได้อย่างงดงาม ฉันใดก็ดี การปฏิบัติธรรมนี้ๆมัน เป็นศิลปะการใช้ชีวิตแบบหนึ่ง เวลาใดที่เราถูกอะไรที่ไม่แน่ไม่นอน อาจจะเปลี่ยนแปลง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เมื่อสิ่งที่เราอยู่เกี่ยวข้อง เมื่อมันถึงเวลาที่มันเปลี่ยนแปลงไป ความเสียใจ ความดีใจ ความทุกข์ ความยากลำบากจะไม่มี จะยิ่งบริสุทธิ์ขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อเห็นสภาวะเช่นนั้น จะมีสติ ยิ้มแย้มแจ่มใสมากขึ้น
ขออภัย หลวงพ่อเคยพูดอยู่ แต่ไม่มากนะ เวลาใดที่จะพูดเรื่องตัวเรา เรื่องชีวิตนี้ เวลาใดที่เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาใดที่สุขภาพไม่ดี เวลานั้นยิ่งมีกำไรชีวิตๆ เห็นธรรมชาติของรูปที่มันไม่จีรังยั่งยืน ที่มันแปรมันเปลี่ยนไป แทนที่เราจะเสียใจ วิตกกังวล มันยิ่งภาคภูมิใจ เห็นของจริงที่มันแสดงออก เป็นกำไรชีวิต เป็นคุณค่าชีวิต มันอาจจะต่างกันกับคนธรรมดาที่ไม่เคยฝึกหัดจิตใจ แต่พอเวลาใดที่สุขภาพไม่ดีเจ็บไข้ได้ป่วย ใจจะห่อเหี่ยว เศร้าหมอง ไปทำนองนั้น เวลาใดที่พลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์ เศร้าโศกพิไรรำพันไป ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็ทุกข์ไป แต่ถ้าเราฝึกหัดดีๆ ธรรมะจะช่วยเรา อะไรก็ได้ รับรองไม่ทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ จะยืนอยู่ในภาวะคนปกติ ไม่มีโอกาสที่จะแปรจะเปลี่ยน ไม่มีโอกาสที่จะเกิด จะแก่ จะเจ็บจะตาย คือภาวะอันนี้นี่เอง ที่เป็นสมบัติของเรา เป็นมรดกของเรา ทำให้มี ทำให้ได้ มีเรี่ยวมีแรงสามารถที่จะสู้กับความเจ็บปวดได้ นานๆก็ยิ่งเหมาะที่สุด เนี่ยมันเป็นสมบัติของเรา ถ้าเราไม่ประสบกับภาวะอันนี้ก็ขาดทุนที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ที่พบพระพุทธศาสนา เป็นสัจธรรม หาที่อื่นไม่พบ ต้องหาที่ตัวเรา แต่วิธีที่จะพบได้จริงๆ หลวงพ่อก็ไม่รู้ว่าวิธีอื่น ก็คือการเจริญสตินี้แหละ แต่ถ้าการเจริญสติ จะเป็นวิธีใดก็ตาม ขอให้เจริญสติตั้งต้นจากการเจริญสติให้ได้ เพราะสตินี้เอง เป็นธรรมแม่บท