แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระชาร์ล
ทีนี้ อาตมาไม่เป็นนักพูด ไม่เป็นนักเทศน์ โดยมากไม่ค่อยชอบพูด ถ้าพูดว่าจะแสดงธรรม อันนี้สมมติ แสดงธรรมไม่ได้ แต่ว่าการแสดงธรรมจริงๆ ต้องเห็นเป็นธรรมเห็นพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะ แต่ก่อนเป็นคุณ คุณดับไปเหลืองธรรมะ ก็แสดงธรรมะได้ ทีนี้เป็นแต่เราพูด พูดเอาความเข้าใจความเห็นของเราให้ผู้ฟังได้ ให้ฟัง แล้วก็คิดว่าจะพูดเรื่องธรรมะแบบใช้ภาษา ที่เราใช้ในการทำวัตร เวลาสวดก็ คนนั่งที่นี่ฟังเดี๋ยวนี้คงรู้จักดี ภาษาแบบ ปัญจะขันธะ ปัญจะขันโธ ขันธ์ห้า อุปาทานห้า แล้วก็จะพูดถึงหัวใจของคำสอนพระพุทธเจ้า พูดสั้นๆ พูดง่ายๆ เหมือนกับพูดกับเด็ก พูดเป็นโรงเรียนวันอาทิตย์ โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ให้เด็กฟัง พูดง่ายๆ แล้วก็จะให้หลวงพ่อพูดเรื่องการปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ อาตมาพูดเรื่องปัญหาที่มีอยู่กับผู้ฟังเดี๋ยวนี้ แล้วก็ ความจำเป็นในการแก้ปัญหาอันนี้ แล้วก็ให้หลวงพ่อแนะนำวิธีที่จะแก้ปัญหา ความจริงชีวิตของเราปัญหามีแค่อันเดียวคือว่าทุกข์ ทุกขัง ทุกข์ไม่ใช่ทุกขเวทนา ไม่ใช่ไม่สบายกายไม่สบายใจ อันนั้นทุกขเวทนา เป็นสิ่งที่มาบ้างบางครั้งไม่มี แต่ทุกข์มีตลอด มียี่สิบสี่ชั่วโมง ทุกวินาทีมีขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขึ้นมา-ตั้งอยู่-ดับไป มันมีทุกข์ขึ้นมา-ตั้งอยู่-ดับไปพร้อมกัน มันเป็นคู่ ความจริงสิ่งนั้นเป็นทุกข์อยู่ ว่าอย่างนั้นก็ได้ อันนี้เป็นปัญหาของเราแต่โดยมากเราไม่เข้าใจสิ่งนี้ เราเข้าใจทุกขเวทนา กระวนกระวายไม่สบายใจ ความห่วงอะไรต่ออะไรแต่เราอยากพ้นจากสิ่งนั้น เราอยากมีความสุข แต่ความสุขที่เราปรารถนาอันนั้นเป็นทุกข์ด้วย เพราะไม่มีเจ้าของ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเจ้าของ ไม่เป็นของเรา อันนี้เรียกว่าทุกข์
ที่นี้พระพุทธเจ้า แต่ก่อนเป็นคนธรรมดาเหมือนเรา ชื่อสิทธัตถะ โคตมะ แต่ว่าเป็นคนจริงจังสนใจในชีวิตของตัวเองมาก แต่ส่วนมากเราไม่ค่อยสนใจ สนใจน้อยๆ โดยมากเราสนใจสบายใจ เราอยากสบายใจ สบายใจแบบไม่มีอะไรรบกวนเรามาก แต่ว่า คนนั้นสนใจชีวิตลึกๆ อยากรู้ อยากมีคำตอบ ก็มีความสงสัยอยู่ในคนทุกคน แต่ว่าโดยมากไม่ขึ้นมา ไม่เข้าไปแสดงออกในความคิด บางทีก็ว่าฉันเป็นมั้ย ฉันไม่เป็นมั้ย ฉันเป็นอะไร ฉันเป็นยังไง อันนี้เราไม่รู้ เป็นสงสัยอยู่ในทุกคน แต่ก็ ถ้าหากเราไม่รับคำตอบอันนี้มันมีปัญหาอยู่ตลอด เวลาดีใจเป็นปัญหา เสียใจเป็นปัญหา แต่เราไม่รู้สึกตัว เราไม่รู้ปัญหา เราเหมือนกับคนเป็นโรค โรคผิวหนัง โรคผิวหนังมันไม่รู้สึก มันมีสิ่งที่ทำลายผิวหนังของเรา เราไม่รู้สึก ผิวหนังเราไม่รู้ ทำลายตัวเองไม่รู้ ทำลายตัวเองทำลายคนอื่นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นสิทธัตถะ โคตมะไปแสวงหาวิธีแก้ปัญหา ได้คำตอบ แล้วก็ ท่านไปทำสิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมที่ท่านทำก็ไม่มีวิธีไม่มีทางที่จะบอกว่าทำอย่างนี้ทำอย่างนั้น ท่านจะรู้ ไม่มีวิธีกรรมฐาน วิธีสร้างเหตุปัจจัยที่จะให้การปฏิบัติธรรมมีโอกาสเกิดขึ้น เป็นการปฏิบัติธรรมเองเลย ไม่มีวิธี ท่านทำแล้ว ท่านทำแล้วหมายถึงความเป็นคนมันหมดไปมันดับไป ความเป็นคนเขาเรียกทุกข์ เรียกปัญจุปาทานักขันธา ภาษาตำรา เวลามันดับไปสิ่งที่เหลือเขาเรียกไม่มีทุกข์ เขาเรียกพระอรหันต์ เขาเรียกขันธ์ห้า ขันธ์ห้ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีเหลือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีเหลือ ทีนี้ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันก็มีเหลือเป็นตัวเรา เราไหลไปตลอด เป็นผู้รับอันนี้ ผู้รับอันนั้น ผู้คิด ผู้รู้สึก ผู้เอา ผู้ไม่เอา แต่ว่าอันนั้น ขันธ์ห้าปัญจุปาทานักขันธาคือทุกข์ เมื่อพระองค์เป็นธรรมะแล้ว เป็นขันธ์ห้าแล้ว แต่ขันธ์ห้าไม่เป็นอะไร ไม่มีตัวไม่มีตนไม่เป็นอะไรที่ต้องใช้สมมติ ต้องใช้ภาษา ท่านจึงมีความคิดขึ้นมาสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จำเป็นที่สุด ถ้าหากเราไม่ทำสิ่งนี้ชีวิตมันก็เสีย ไม่มีความหมาย เราอยู่จนตาย ทำอะไรก็ดีแล้วแต่ก็ชีวิตมันไม่มีความหมายจริงๆ แต่ว่าถ้าจะสอนคนอื่นมันจะลำบากมาก เพราะเข้าใจ มันยากที่จะเข้าใจ คิดว่าจะไม่สอนใคร-อันนี้อยู่ในตำรานะ แล้วก็มีพระเจ้าพรหมะ-ลงมาขอให้สอน เพราะว่ามีสัตว์ที่มีฝุ่นน้อยๆ อยู่ในตา ถ้าฟังคำสอนของท่านคงเข้าใจได้ แล้วท่านก็ออกมาพูดสอนธรรมะ 45 ปี เธอผู้มีปัญญา เธอผู้มีฝุ่นน้อยๆ ในตา ตาเกือบเห็นได้ ยังเห็นไม่ได้แต่เกือบ เกือบพร้อมที่จะเห็นได้แต่ว่าต้องปฏิบัติไป ต้องทำให้มันพร้อม ถ้าไม่ทำมันก็ไม่เป็น ไม่ใช่คิดต้องทำ คิดกับทำคนละอัน เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมะคือทำ ไม่ใช่การศึกษาธรรมะคือคิด ถ้าอ่านหนังสือแล้วทำก็ดีเหมือนกัน แต่อ่านหนังสือแล้วคิด-ใช้ไม่ได้ ต้องทำ แต่ว่าทำอะไรตอบไม่ได้ ทำถึงจะรู้ว่า-โอ้-อันนี้ ถ้ายังไม่ทำก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ถ้าเรายังไม่ทำก็ต้องปฏิบัติสร้างสิ่งแวดล้อมสร้างเหตุปัจจัยเพื่อให้การปฏิบัติมันเกิดขึ้นได้ คือเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา ถ้าเจริญสติพูดสั้นๆก็ได้
การปฏิบัติธรรมะ ทีแรกโดยมากเรามาปฏิบัติกลับอยากได้ อันนี้เราโง่มาก-อยากได้ ทีนี้ถ้าเราปฏิบัติไปความโง่นี้ก็ลดลงนิดหน่อย ถ้าเราปฏิบัติเพื่ออยากรู้ ไม่อยากได้อะไรแต่อยากรู้อย่างเดียว ความโง่ลดลงอีก ก็ปฏิบัติเพื่ออยากหมด ไม่อยากรู้อะไรแต่อยากหมด ให้มันหยุด แล้วก็ความโง่ลดลงอีกนิดเดียว ก็ปฏิบัติเพื่อหมดไม่ใช่อยากหมด หมดเป็นยังไง หมดก็ได้ ไม่หมดก็ได้ แต่ปฏิบัติเถิดให้มันมีโอกาสหมดไป แล้วก็ทำให้ฉลาด ความฉลาดเกิดขึ้นนิดๆ หน่อยๆ เราปฏิบัติไปโดยไม่ต้องปฏิบัติเพื่ออะไร เราปฏิบัติเพราะไม่มีทางอื่น เพราะเป็นสิ่งจำเป็น เราเข้าใจความจำเป็นของการปฏิบัติคือเป็นคนที่จริงจังถึงชีวิตของเรา ไม่ยอมทิ้งชีวิตให้มันอยู่ตามกระแสของนิสัย นิสัยภาษาตำราว่า อวิชชาก็ได้ กิเลสก็ได้ ตัณหาก็ได้ อุปาทานก็ได้ เป็นของสกปรกที่สุด ของชั่วที่สุด ของหนักที่สุด ถึงเราเป็นคนดีทำดี อันนี้เป็นดีของคนชั่ว ไม่ใช่ดีจริงๆ ดีจริงๆ ไม่มีเจ้าของ ไม่มีผู้ที่เป็นคนดีที่ทำดี นี่เรียกว่าดีจริง เพราะฉะนั้นนี่ก็ว่าง่ายๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็ได้
การปฏิบัติคือสิ่งจำเป็น ทุกคนอยากรู้อะไรจำเป็นอะไรไม่จำเป็น แต่ว่าโดยมากเรากำลังใจน้อย พอเราไปตามสังคม สังคมบอกว่าทำงาน มีครอบครัว ได้เงิน เป็นคนดี อาชีพดี เป็นสิ่งจำเป็น แต่ความจริงอันนั้นไม่จำเป็น เป็นคนจนก็ได้ ไม่มีใครเคารพเราก็ได้ อันนั้นไม่สำคัญไม่จำเป็น ที่จำเป็นคือให้ตามความสงสัยให้ตามความสับสน ให้รู้ตัวเองจริงๆ ให้ศึกษาเดินทางภายใน ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาภายนอกในโลก อันนั้นเป็นปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหาจริงๆ ปัญหาจริงๆ คือทุกข์ ทุกข์คือของหนักที่สุด มันหนักแค่ไหน-ก็เป็นน้ำหนักของโลก น้ำหนักของโลกไม่รู้เป็นกี่ล้านตัน แต่เราแบกโลก ตัวเรากับโลกมันอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราเป็นทุกข์โลกเป็นทุกข์ หมดทุกข์ก็โลกไม่มีทุกข์ ถ้าเราหมดทุกข์ ไม่มีทุกข์อยู่ในใจของใคร ในใจเราหมดทุกข์ของเรา ทุกข์ไม่มีเจ้าของ ความดับทุกข์ไม่มีเจ้าของ ทุกข์ไม่มีเจ้าของ ความเป็นเจ้าของเป็นทุกข์ อันนี้พูดง่ายๆ พูดสั้นๆ ปลงเถอะ ผู้ฟังได้ แต่ว่าคุณจะทำยังไงไม่สำคัญ เพราะเราปฏิบัติตัวเอง พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าเราช่วยตัวเองเราช่วยคนอื่น ช่วยตัวเองเป็นช่วยคนอื่นคืออันเดียวกัน แต่ถ้าเราคิดว่าเมื่อเราช่วยเขา-เหมือนช่วยเราอันนั้นผิดแล้ว อันนี้ไม่ใช่เรื่องให้อาหารให้ความรู้ อันนี้เรื่องทุกข์ การดับทุกข์ พูดมากไปไหม
พระพุทธเจ้าบอกว่า เดี๋ยวนี้เหมือนสมัยก่อน ผม/อาตมาสอนแต่ทุกข์และความดับทุกข์ มีแค่สองเรื่อง เพราะชีวิตมีแค่สองอย่าง มีทุกข์-ปัญจุปาทานักขันธา-ขันธ์ห้ากับอุปาทาน และความดับทุกข์ มีแต่สองอย่างนี้ แต่ว่าสองอย่างนี้มันไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ได้เป็นอะไร แต่ว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใช้ไม่ได้ ทำให้ชีวิตของเราไม่มีความหมาย ทำให้โลกไม่มีความหมาย มีแต่อยู่จนตาย คนต้องตาย แต่ว่าหากดับทุกข์แล้วก็ไม่มีความตาย เพราะว่ามันไม่มีคน ไม่มีใครที่จะตาย เพราะฉะนั้นอาตมาก็พยายามปฏิบัติตัวเอง เป็นหน้าที่ ไม่ใช่หน้าที่ให้คนอื่นปฏิบัติ ให้เขาปฏิบัติไม่ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งเราช่วยคนอื่น เหมือนเราช่วยตัวเรา ถ้าเราปฏิบัติตามคำสอนที่ชี้วิธี ชี้ทาง เดินทางไปดับทุกข์ เราช่วยทุกคน เราช่วยโลก ดับทุกข์แล้วไม่มีตัว ไม่มีตัวเราไม่มีตัวเขาก็สบายแล้ว ไม่ใช่สบายแบบทุกข์ มันสบายอย่างอื่น สบายแบบไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร ทุกคนอยากพักผ่อนแต่ว่าเมื่อเราเป็นทุกข์เราพักผ่อนไม่ได้ ยี่สิบสี่ชั่วโมงทุกวินาทีเราทำงานหนักที่สุด เพราะเราต้องสร้างตัวเราสร้างไปเรื่อยๆ ฉะนั้นมันใช้กำลังมากการสร้างตัวเอง ไม่ใช่มันเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นธรรมชาติแต่มันต้องสร้างต้องให้มันขึ้นมาอันนี้มันขึ้นมาโดยเจตนา ไม่ใช่มันขึ้นมาด้วยไม่เจตนา เพราะฉะนั้นทุกข์เป็นเราทำเอง เราเป็นทุกข์เพราะเราทำให้เราเป็นทุกข์แต่เราไม่รู้ เราไม่เห็น เราไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นเรามาปฏิบัติ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก็ใช้เวลานาน บางคนความเข้าใจผิดมันมาก ไม่ต้องพูดถึงเข้าใจถูก ให้ความเข้าใจผิดลดลงๆ ก็พอแล้ว มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ คือเข้าใจผิด สัมมาทิฐิคือความเข้าใจผิดหมดไป ไม่ใช่สัมมาทิฐิคือรู้อย่างอื่น ไม่ต้องรู้อะไร เพราะมันเป็น-คือ-ว่ายังไง-ว่าขันธ์ห้าก็ได้ หรือพระอรหันต์ก็ได้ ไม่มีทุกข์ก็ได้ เป็นธรรมชาติเป็นของจริงแต่ว่ามันไม่มีภาษา อันนี้พระพุทธเจ้าสอนนะ คำสอนของพระพุทธเจ้า คนที่นี่เกิดมาเป็นชาวพุทธ แต่ความจริงเกิดเป็นชาวพุทธไม่ได้ แต่ต้องทำถึงจะเป็นชาวพุทธ ว่านี่สมมติพูดเกิดมาเป็นชาวพุทธต้องรู้เรื่องนี้ตั้งแต่เป็นเด็กต้องรู้นานๆ ถ้าเราเป็นคนจริงใจ คนที่ไม่ยอมทิ้งชีวิตของเรา ไม่ยอมให้ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายไม่มีประโยชน์ อยู่จนตายไปกับความหิว ความหิวหรือตัณหาหรือกิเลส เพราะว่าความหิวทำให้เราเอาอันนี้เอาอันนั้น ทำอันนี้ทำอันนั้น แต่ว่าเราไม่ยอมดับ ให้สิ่งนี้ดับไปให้เราพักผ่อนจริงๆ เราพักผ่อนคือเราหมดไป ตัวเราหมดไป เราสบาย คือเราให้โลกมีอิสระไม่ให้โลกเป็นทาส ทีนี้เราจับโลกเราใช้โลกให้โลกเป็นทาสของเรา เพราะฉะนั้นนี่เราเบียดเบียนโลก เบียดเบียนทุกคน เบียดเบียนตัวเรา เบียดเบียนคนอื่น ฉะนั้นอาตมาเองก็เข้าใจอย่างนี้ก็มาปฏิบัติ ทำอันนี้ แต่ว่าคนอื่นทำยังไงก็เรื่องของเขาไม่ได้ว่าอะไร แต่ว่าเข้าจะบังคับไม่ให้เราทำอย่างนี้ไม่ได้ เราจะทำ คิดว่าจะจบที่นี่แล้วจะให้หลวงพ่อพูดต่อ ให้แนะนำวิธี วิธีให้ช่วยให้เรา จิตใจ ตั้งใจเจริญสติ วิธีมีหลายวิธีแต่ว่าวิธีที่หลวงพ่อสอนคือวิธีลัด บางคนชอบวิธีทางอ้อม ง่ายๆ สบายใจเพราะมันกลัวไม่อยากไปแล้ว ไม่อยากไปลัด แต่ว่าหลวงพ่อสอนทางลัดให้เจริญสติ ถ้าไม่สติ ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามีสติ ปัญญาเกิดขึ้นได้-จะเกิดขึ้นก็ได้-ไม่เกิดขึ้นก็ได้ บังคับมันไม่ได้ อันนี้เป็นเราทำเอง ถ้ามันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะการกระทำของเรา แต่เราทำให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามันไม่เกิดขึ้น มันไม่เกิดขึ้นเพราะการกระทำของเรา แต่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะให้ จะนิมนต์หลวงพ่อพูดต่อ และถ้าหากเราได้ชี้ทางผิดอะไรก็อยากให้หลวงพ่อแก้ ไม่อยากให้คนหลง ถ้าเราหลงเองไม่อยากให้คนอื่นหลง
หลวงพ่อคำเขียน
ก็ได้ฟังท่านชาร์ลพูดธรรมะ สอน ไม่ใช่ได้สอน ท่านพูด พูดจากประสบการณ์ จากสภาวธรรม เรื่องพระพุทธเจ้า เรื่องสิทธัตถะเที่ยวไปศึกษาพระธรรมคำสอน ธรรมะนั้นมีอยู่ก่อน ท่านชาร์ลบอกว่า การศึกษาธรรมะไม่ใช่ไปคิด คือทำ ให้เป็นการกระทำเป็นการบุกเบิกเบื้องต้น ถ้าไปคิด ไม่ถูก ให้ทำ เช่นความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นอย่าไปเอา ให้กำหนดรู้ ถ้าทุกข์อันใดที่เกิดขึ้นกำหนดรู้ ไม่ใช่เราเป็นทุกข์ ให้กำหนดรู้เรื่องทุกข์ แล้วก็ทุกข์ก็ไม่ถูกเราถ้าเรากำหนดรู้ แต่ถ้าเราเป็นผู้ทุกข์เป็นผู้สุขมันก็ถูกเรา เราเป็นผู้กำหนดรู้ ก็ปลอดภัย ก็แสดงว่าคล้ายกับว่ามีวิธีเหมือนกับเราใช้ไฟฟ้ามีประโยชน์มีโทษ ถ้าเราใช้เป็นก็เกิดประโยชน์ ถ้าเราใช้ไม่เป็นก็เกิดโทษ ทุกข์นั่นแหละที่ทำให้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในโลก ถ้าไม่มีทุกข์พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เกิด แต่บางคนเอาทุกข์มาลงโทษตัวเอง ก็พลิกไป ให้เอาทุกข์เป็นบทเรียน ทุกข์สอนให้เราไม่ทุกข์ มองข้ามไป ตรงกันข้ามไป ตัวทุกข์นั่นแหละสอนให้เราไม่ทุกข์ ตัวโกรธสอนให้เราไม่โกรธ ตัวหลงสอนให้เราไม่หลง อันผิดสอนให้เราไม่ผิด ยิ้มได้ เวลาใดที่ทำงานทำการผิดแทนที่จะหน้าบูดหน้าบึ้ง กลับยิ้ม เปลี่ยนทิศทาง เรียกว่าเปลี่ยน “ปฏิ” ก็คือกลับ คือเปลี่ยน เปลี่ยนทิศทาง เรียกว่าทวนกระแสก็ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องทุกข์ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเหมือนเรื่องกิเลส-ตัณหา-ราคะ-โทสะ บางคนก็กลัว ที่จริงกิเลสนี้เป็นเรื่องน่ากลัวเพราะกิเลสไม่มีตัวมีตน ท่านชาร์ลก็พูดไปในทำนองนี้แหละ พูดเรื่องขันธ์ห้าที่เป็นขันธ์ล้วนๆ เรียกว่าเวทนาที่เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา มันก็เป็นธรรมชาติของเวทนาถ้าไม่มีอุปาทานเข้าไปยึด เวทนาก็ไม่ลงโทษ เวทนาก็เป็นเวทนาเปล่าๆ ที่เรานั่งอยู่ขณะนี้ เราหายใจอยู่ขณะนี้ บางทีเราอยู่เป็นชั่วโมงหลายชั่วโมง ไม่รู้จักตัวเราหายใจ ทั้งๆที่เราก็เข้าใจว่าการหายใจนี่คือแก้ทุกข์ ที่จริงมันก็จริงอยู่ แต่ถ้าเราไม่มีอุปาทานเข้าไปมันก็ธรรมชาติธรรมดา มันจะมีทุกข์ต่อเมื่อมีอุปาทานเข้าไป เรื่องขันธ์ทั้งห้าท่านชาร์ลก็พูดไปในทำนองนี้ ถ้าขันธ์ล้วนๆ จะเป็นสังขาร จะเป็นวิญญาณ ไม่ต่อ ไม่เกิน ถ้าไม่มีขันธ์ห้า ถ้ารูปนี่ไม่มีขันธ์ รูปมันจะอยู่ได้อย่างไร ก็ขอบคุณมันบ้างขันธ์เนี่ย ถ้าเรามาดูดีๆ แล้ว ไม่ใช่แต่จะเอาขันธ์ห้ามาลงโทษ บางทีก็ว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์ อ้าว ก็เป็นเรื่องปฏิเสธมัน แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้มองอย่างนั้น เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เอาขันธ์ห้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าพูดถึงเรื่องศัพท์ เรื่องวิชชา ถ้าพูดอย่างนั้น ลองเอาขันธ์ห้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ขอบคุณขันธ์ห้าที่มันมีทุกข์ ที่มันเป็นเวทนา ถ้ามันไม่มีเวทนา รูปนี่ที่เป็นมหาภูตรูปจะอยู่ได้หรือเปล่า รับรองว่าอยู่ไม่ได้ถ้ารูปไม่มีขันธ์ห้า ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ อยู่ไม่ได้ ถ้าตากแดดไม่รู้ร้อน ฉิบหายแล้วรูป ไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว ยุงกัดไม่รู้เจ็บก็ฉิบหายแล้วรูป ผิดปกติ ไม่ใช่ธรรมชาติ ผิดธรรมชาติไปแล้ว ธรรมะก็คือธรรมชาติ ธรรมะก็คือธรรมชาติ ไม่ใช่ผิดธรรมชาติ คือตัวธรรมชาติ ท่านชาร์ลก็พูดไว้ทำนองนี้ ใช่ไหม
เพราะฉะนั้นเราต่างหากที่ไปหลงขันธ์ห้า พอเวทนาหรือ อ้าว เอามาลงโทษ น้ำตาไหลเป็นทุกขเวทนา โศกา พิไรรำพันไป แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้เห็นอย่างนั้น พอเวทนาเกิดขึ้น ยิ้มนะ ยิ้มแย้มแจ่มใสนะ คือเปลี่ยน โอ ขอบคุณเวทนา ขอบคุณตัวสัญญา ขอบคุณตัวสังขาร ขอบคุณตัววิญญาณ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ มันมีมาเพื่อรักษาตัวรูป มีมาเพื่อรักษาตัวรูป เวลาที่เราสวดว่าโดยย่อ เอวัง พะหุลัง เอวัง พะคะวะสะ สาสะนี (ที่ถูกต้องคือว่า เอวัง ภาคาจะ ปะนัสสะ ภะคะวะโต สาวะเกสุ อนุสาสะนี) โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้งห้านั่นแหละเป็นตัวทุกข์ ที่แท้ก็คืออุปาทาน ถ้าขันธ์ล้วนๆ ไม่มีอุปาทานเข้าไปเอา เราหายใจทั้งวันมีใครเป็นทุกข์ไหม ไม่ทุกข์ เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา มันจะทุกข์ต่อเมื่อเราไปยึดเอาคืออุปาทาน แต่ทีนี้ ถ้าเรามีสติมาตรวจตราเป็นนายทวารบาล ผู้ที่ซื่อสัตย์มีพระคุณอย่างยิ่งคือสติสัมปชัญญะ หน้าที่ของสติสัมปชัญญะคือปรับให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในความปกติของเขา ไม่ต้องฟู ไม่ต้องแฟบ เรื่องใหญ่เรื่องโตเรื่องหนักเรื่องไม่หนักจะอยู่ในความปกติ หากพลังหรืออานิสงค์ของสติที่เราสร้างมาดีมาก ทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ในสภาพความปกติ เรื่องร้ายกลายเป็นเรื่องดี เรื่องหนักก็กลายเป็นเรื่องเบา เรื่องทุกข์กลายเป็นเรื่องไม่ทุกข์ ปกติก็เข้าไปสู่ศีล เป็นศีล เป็นอธิศีลยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ไป หน้าที่ว่า ฝีมือของสติสัมปชัญญะมันแสดงออก เราไม่ต้องไปจัดการอะไรทั้งนั้น
หลวงพ่อได้พูดเมื่อเช้านี้ว่าการเจริญสติ การเจริญสัมปชัญญะอุปมาเหมือนกับเราทานยา ยานั้นเมื่อเราทานลงไป หน้าที่ของยา คุณภาพของยาก็ไปกำจัดเชื้อโรคที่เป็นหน้าที่ของเขา เราไม่ต้องไปไล่มัน หรือเช่นเราหิวข้าว เรากินข้าว เราเคี้ยว เรากลืนลงไปทีละนิดละนิด ไม่ใช้ไปแก้ความหิวไม่มีใครแก้ความหิวได้ หิวข้าวต้องมากิน ความหิวมันเกิดอยู่ที่ธรรมชาติของรูปไม่ใช่เรื่องใจ ความหิวเป็นธรรมชาติของรูป เป็นอาการของรูป แต่ที่เราแก้หิวไม่ใช่ไปทำความหิวให้มันหมด เราก็มาเคี้ยวคำข้าวที่เป็น กวฬิงการาหาร เคี้ยวลงไปกลืนลงไปทีละนิดละนิด กลืนลงไปทีละนิดละนิดความหิวหายไปไหนไม่รู้ หมดไปไม่กี่นาที เราเคี้ยวเรากลืนข้าว กวฬิงการาหาร กลืนลงไปในคอ การเจริญสติก็เหมือนกัน เรามีสติกำหนดรู้ ไม่รู้ทุกข์มันหนีไปเมื่อไร บางทีไม่รู้นะ เหมือนกับเรานั่งรถจากชัยภูมิ ตาดโตน มาสู่วัดป่าสุคะโต นี่หลายๆคนอาจจะยังเข้าใจว่าเราอยู่บนหลังเขาที่สูงที่สุด อย่างนี้นะ รถทัวร์ของเราจะวิ่งขึ้นมา ขึ้นทีละนิด ทีละนิด ทีละนิด ในที่สุดสูงสุดเมื่อเรามองคืนหลัง โถ เราอยู่บนหลังเขา เดินไปนี่ประมาณสักสามกิโลทางทิศตะวันออก เราไปยืนมองอยู่หน้าผา ตกใจ โอ้โห เราอยู่บนหลังเขาเมื่อไรไม่รู้นะเนี่ย อาจจะมีความรู้สึกแบบนั้น
ยังคิดสงสารพวกญาติธรรมที่มาจากบุรีรัมย์ มาตั้งแต่เมื่อวานนี้ รถมาติดอยู่หน้าผา ขึ้นไม่ได้คงจะตกใจกันพอสมควร แล้วก็วิ่งย้อนกลับไป อ้อมไปทางชัยภูมิ ก็ไม่รู้ทิศรู้ทางก็เลยค่ำมืด ก็เลยนอนที่อื่นเพิ่งมาถึงเนี่ยใกล้เพลจะเสร็จ อันนั้นเขาขึ้นหน้าผาโดยตรง แต่พวกเรามาทางชัยภูมิไม่ได้ขึ้นโดยตรง เหมือนกับคนที่เจริญสติค่อยกำหนดรู้ รู้ไป รู้ไป รู้หนึ่ง รู้สอง รู้สาม รู้สี่ไป ได้ความรู้ เป็นรู้ เป็นรู้สึกตัว ในที่สุดโอ เห็นอะไรต่างๆ พอเราสูง คนอยู่สูงก็มองเห็นอะไรที่ต่ำ มีชัยภูมิแน่นอน ถ้าเป็นนักรบ ถ้าเป็นนักรบที่มีชัยภูมิ ได้เปรียบ
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมเราก็มาเน้นกรรม คือการกระทำให้เป็นใหญ่ ให้เป็นการบุกเบิก ก้มหน้าก้มตาทำไปอย่างนั้นแหละ ว่าแต่ให้มันรู้สึกระลึกได้ก็พอ ไม่ต้องให้เกินนั่นไป แต่บางคน โอ้อะไรคือความรู้สึก อันรู้นี่ไม่ใช่เรื่องคิดหรือ ความรู้หรือความคิดกันแน่หนอ คิดอยู่นั่นแหละ บางทีคิดไม่ต้องคิดมันแล้ว เพียงแต่ให้มันรู้สึกตัวเท่านั้นก็พอ ยกขึ้นรู้สึก วางลงรู้สึกเท่านั้นและ มันจะชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น เหมือนกับเราหัดเขียนหนังสือใหม่ๆ เลขหนึ่งเลขสองนี่โอ้ยดูไม่ได้ เลข “๑” กับ “ด” เหมือนๆกัน แต่ต่อไปๆ โอ้มันคนละอันกัน เหมือนกับเราอยู่ที่ป่า หลวงพ่อพยายามสอนพระที่อยู่ที่นี่โดยเฉพาะคุณอิสรา หลวงพ่อพาไปดูต้นไม้ คุณอิสราก็ว่าโอ้ก็เหมือนกันทั้งหมด ต้นอะไรก็เหมือนกันทั้งหมด มันไม่เหมือนกัน มันมีอะไรต่างกันอยู่นั่นแหละเราดูให้ติดตาดีๆ พอดูปั๊บก็รู้ทันที แม้ว่าใบมันลักษณะเดียวกันแต่มันไม่ใช่อันเดียวกัน คนละต้น คนละอย่าง ถ้าเราดูให้ติดตานะ อย่าไปดูคราวเดียวให้รู้หมด มันไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ มันต้องดูนานๆ ให้คุ้นเคย คล่องตัว คล่องแคล่ว คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัว มันก็คล่องขึ้นมา ลำดับได้ถูกต้อง เหมือนกับเราอยู่ในกุฏิ ถ้าเราอยู่ในกุฏิสองวันสามวันไป พอดีตื่นขึ้นมาไม่ต้องจุดไฟก็ได้ มือจะเอาไปจับไฟฉาย ถูกทันที จับยาสีฟันก็ถูกทันที จับแปรงสีฟันก็ถูกทันที เวลาใดที่มืดๆ เราจะเข้าห้อง เราลำดับเสาอย่างที่เราเคยเห็น ลำดับ คว้ามือไปทั้งที่ตามันไม่เห็น จับถูกทันทีเพราะความเคยชิน การเจริญสติก็เหมือนกันต้องให้โอกาสให้กาลเวลาพอสมควร อย่าไปรีบไปเร่งอะไรมันมาก ถ้าไปเร่งมาก เถลไถล บางทีก็ง่วงนอน บางทีก็เกิดนิวรณ์ธรรมมากรุนแรงมาก เราบีบเกินไปก็แตกออกข้างแทนที่มันจะออกรูก็ออกข้างไป ผิด ก็เป็นธุระแก่เรา แต่ถ้าเราทำดีๆ อย่างที่หลวงพ่อได้พูดตั้งแต่วันแรกว่าลงทุน โบราณว่าใจดีแก้ผ้า ใจร้ายแก้ไหม ให้เริ่มให้ถูก ถ้าเริ่มถูกก็ง่ายไม่ยาก ไม่ยากถ้าเราเริ่มถูก ฉะนั้นจึงเอาการกระทำเป็นใหญ่ นิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นไรขอให้มันชัดเจน ถ้าทำมากๆ มันไม่ชัดเจน มันก็ยังสับสนอยู่นั่นแหละ ทำน้อยๆ ขอให้มันชัดเจน พลิกมือขึ้นให้มันเห็นชัดเจน ยกมือขึ้นให้รู้จริงๆ วางมือลงให้รู้จริงๆ คว่ำมือลงให้รู้จริงๆ แต่บางคนทั้งยกมือทั้งพูดกันทั้งคุยกัน อะไรต่างๆ มันไม่ชัด เลนส์ไม่ชัด ถ่ายไม่ชัด ดูก็ไม่ออกไม่รู้ว่าคนใด ดูไม่ออก กล้องไม่ดีเหมือนกับคุณทวีเกียรติ เป็นมือกล้องที่พยายามเล็งเป้าให้ดี ให้ชัดๆ การเจริญสติก็เหมือนกัน ให้ชัดๆ ถ้ามันไม่ชัด หยุด! อย่าไปทำ ให้มันชัดๆ แล้วก็อมยิ้มไว้มากๆ อย่าให้มันเป็นเรื่องยาก มันยากก็ยิ้มหัวเราะเยาะทันที มันจะได้นิสัยใหม่ แต่บางคนพอยากก็หน้านิ่วเลย ไม่เอาละอย่างนี้ไม่ไหวๆ ไม่ปฏิบัติก็ไม่เห็นมันจะตายที่ไหน ก็คิดไป ให้เปลี่ยน เปลี่ยนความรู้สึก ความร้ายกลายเป็นความดี หัดให้เป็นนิสสัย นิสสัยมันหัดได้นะ ขอนิสสัยใหม่ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ ที่เราเห็นพระที่เขาไปขอบวช นี่แหละการบวชอย่างยิ่ง การขอนิสสัยอย่างยิ่งด้วยการทำให้เจริญ ได้นิสสัยใหม่ ใจเคยฟูเคยแฟบ ใจเคยเร่าเคยร้อน ไปหยุดไปยั้ง ไม่รู้ไม่วาง ไม่หุนหันพลันแล่น รอได้คอยได้ หยุดได้เย็นได้ เกิดอานิสงค์แก่เราทันที ขอให้เราได้ทำให้ถูกเป้า ให้พอดีๆ ไม่ว่าสิ่งอันใดถ้ามีความพอดีมันก็ใช้ได้ ถ้ามันเกินก็อย่างนั้นแหละ การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันถ้าเราบังคับขับไสตัวเองความง่วงมันจะมาก่อนเพราะมันบีบเกินไป บางทีก็ปวดหัว ตึงเครียด อะไรต่างๆ ทำนองนั้น เราหัดจับวัวหัดจับควายให้มาฝึกหัดใส่คราดใส่ไถใส่ล้อใส่เกวียน ทีนี้วัวควายบางตัวมันก็เชื่องเป็นทุนอยู่แล้วก็ไม่ต้องไปเฆี่ยนไปตีมันให้มาก หลวงพ่อไปเห็นคนภาคเหนือเขาใช้วัวเทียมเกวียน เข็น(บรร)ทุกข้าวขึ้นจากนา เขาไม่ได้ฆ่าได้ตีมัน พอมันเข้ารับแอกก็ปล่อยมันไป พอมันเมื่อยก็ให้มันหยุด พอหยุดนานสองสามครั้ง ก็ เอ้า ไป ไป วัวมันก็ดันไปๆ พอหมดแรงมันก็หยุด ก็ทำอย่างนั้น แต่คนบางคนพอวัวมันหยุดมันดันไม่ไหวก็เอาไม้เรียวเฆี่ยนมันลงไป เฆี่ยนมันลงไป ทั้งๆ ที่มันก็เจ็บ มันเจ็บดันไม่ไหว ดันไม่ไหว มันก็ทิ้งแอกทิ้งล้อทิ้งเกวียน เราก็เข้าใจว่ามันไม่ดี วัวตัวนี้มันไม่ดี มันทิ้งแอกทิ้งล้อทิ้งเกวียน ขายทิ้งฆ่ากิน นี่มันอยู่ที่คนหัดมัน หัดเป็นสารถีที่หัดดีๆ ไม่มีอะไรที่หัดไม่ได้ หัดได้ทุกอย่าง หัดได้ทุกอย่าง เราหัดตัวเรานี่ก็หัดได้ทุกอย่าง ให้โอกาสแก่ตัวเรา อย่าลงโทษตัวเรา ไม่ต้องโทษ ไม่เป็นไรไว้ก่อน ไม่เป็นไร สร้างมิตรให้แก่ตัวเองไม่ใช่ไปเรียกร้องให้คนอื่นเป็นมิตรเรา คนนี้จะทำกับเราอย่างนั้น คนนั้นจะทำกับเราอย่างนี้ อย่าไปเรียกร้อง ไม่สำเร็จ ให้สร้างมิตรขึ้นอยู่ในตัวของเรา มิตรที่จริงๆ ก็คือ นี่แหละอันนี้พูดตั้งแต่วันก่อน กัลยาณธรรมคือสติสัมปชัญญะ ต้องรู้จักพากเพียร รู้จักเอาใจใส่ รู้จักอ่อนโยนผ่อนผัน ยับยั้งชั่งจิต อย่าวู่วามหุนหันพลันแล่น ฝึกให้เย็นๆ เป็นทุนถึงจะสำเร็จ
ฉะนั้น เรามาฟังท่านชาร์ลพูดเรื่องธรรมะ เรื่องของเราทุกคน วิธีกระทำหรือความคิดเห็นเปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยนความเคยชิน เราเห็นทุกข์เราเคยถือว่าเป็นเรื่องขาดทุน เราเห็นทุกข์ให้ถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องดี ความทุกข์สอนให้เราไม่ทุกข์ เป็นเรื่องดี ถ้าเรามองอะไรเป็นเรื่องที่ดีๆ มันจะไม่มีปัญหา เป็นอย่างนั้น หลวงพ่อก็พูดต่อท่านชาร์ลนิดๆ หน่อยๆ ก็คงจะเอาไปคิดเอาไปทำดู อาศัยการกระทำนี่แหละ ฟังก็ไม่ค่อยดีเท่าไร อยากให้มีการกระทำมากๆ ให้มีเคล็ดลับ หาช่องหาทางให้แก่ตัวเองให้มากมันมีที่ถูกหรอก มันมีช่องมีทางอยู่ เราคลำเรื่อยไป อาจารย์ของเราจริงๆ ก็คืออาจารย์ที่คลำไปเรื่อยๆ นั้นแหละ ประสบการณ์เรื่อยไป ผิดทีไรก็เอ้อเป็นครู ถูกทีไรก็เอ้อเป็นครู อันนี้เป็นครูให้ประสบการณ์ทุกเรื่องทุกราวไป อย่ามองอะไรให้สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ยินดี-ยินร้าย-สุดโต่ง อยู่ตรงกลางๆ ไม่ยินดี-ไม่ยินร้าย-ปกติภาพ-อิสรภาพ มันก็เห็นว่าสมควรจบไว้แค่นี้ ก็ขออำนวยอวยพรให้เราทั้งหลายที่ได้เสียสละลงทุนลงรอน พลัดบ้านพลัดเมือง ไกลที่ไกลฐาน เสียสละทั้งแรงกายแรงทรัพย์ มาที่นี่ก็ถือว่ามาแสวงบุญแสวงสิ่งที่ถูกต้อง ขอคุณงามความดีของเราที่ได้ทำมาจงได้รวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ ค้ำจุนหนุนส่งให้ได้บรรลุถึงคุณธรรมเบื้องสูงคือภาวะที่ไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย จงได้ประสบพบเห็นด้วยกันทุกคนๆ เทอญ