แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถ้าฟังแล้วไม่มีการกระทำเนี่ย ก็ไม่ค่อยจะมีประโยชน์ เพราะว่าการฟังธรรมเนี่ยมันเป็นการกระทำ เพราะว่าพวกเราเวลานี้ กำลังมาปฏิบัติธรรม ในภาควิชากรรมฐาน วิชากรรมฐานเป็นวิชาที่ลิขิตชีวิตของเรา เอาการกระทำบุกเบิก ไม่ต้องไปใช้เหตุใช้ผลใช้หัวคิด ไม่ใช่เป็นการกระทำ เมื่อมีการกระทำเกิดขึ้น มันก็มีการพบเห็น เห็นสิ่งที่เราทำ เห็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำ เช่น เราเจริญสติไปกับกาย เห็นสติไปอยู่กับกาย กายมันก็เคลื่อนไหว เห็นในสิ่งที่เราไม่ได้กระทำ คือเห็นมันคิด เห็นมันปวด เห็นมันเมื่อย เห็นความง่วงเหงาหาวนอน สิ่งที่มันมาแทรกเกิดแทรกขึ้นมา เราก็กำหนดรู้ แล้วก็กลับมากลับมาตั้งมีการกระทำ อะไรที่ไม่ใช่สติเราเห็นหมด มันแสดงมาให้เราเห็น มันโชว์ บางอย่างมันก็โชว์มาก ๆ โชว์เพื่อให้เราแก้ไข เช่น ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่านเหตุผลต่าง ๆ บางทีมันโชว์กว่าสติ โชว์กว่าความรู้สึกตัว เราก็กลับมา กลับมารู้สึกตัว
ความรู้สึกตัวเนี่ยเป็นหลัก เป็นฐาน เป็นที่ตั้ง ตั้งเอาไว้ ให้มันตั้งอยู่นาน ๆ ให้สติมันตั้งอยู่กับกายนาน ๆ ทำใหม่ ๆ อย่าพึ่งไปยุ่งกับความคิด ถ้าได้อารมณ์แล้วจึงค่อยไปบำเพ็ญทางกิจ ทำใหม่ ๆ เนี่ย ให้มันคล่องอยู่กับกายไปก่อน เกาะไว้ก่อน ตั้งไว้ก่อน เหมือนกับเราปลูกข้าวปลูกพืชตั้งไว้บนดิน ต้นข้าวต้นกล้าที่เราตั้งไว้บนดิน มันก็มีประโยชน์ มันก็แสดงสร้างสรรค์ของมัน เกิดราก เกิดกิ่งก้านสาขา เจริญเติบโต สติที่มีไปในกายเนี่ย หลาย ๆ อย่างที่มันเกิดคุณภาพไปพร้อม ๆ กัน กว่าที่เราจะมีสติไปในกาย มันผ่านอะไรมา ผ่านอะไรมามากมาย กว่าที่จะมามีกายเป็นหนึ่ง เอกัคคตามีกายเป็นหนึ่ง รู้สึกกายเคลื่อนไหวไปมา มันก็มีสิ่งที่ผ่านมา พ้นไปหลายอย่าง ถ้ามีสติไปในกายรู้สึกตัวอยู่ 1 วัน 2 วัน 3 วัน 4 วัน 5 วัน เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ ผู้ใดมีสติไปในกายอย่างต่อเนื่อง เกิดอานิสงส์ 2 ประการ ความเป็นพระเกิดขึ้นตรงนี้ ไม่ใช่บวช โกนผมห่มผ้าเหลือง อุปัชฌาย์ คณะสวด กรรมวาจาจารย์ อนุสาวนาจารย์ อันนั้นเป็นสงฆ์สมมติ สมมติสงฆ์ ที่ตามธรรมวินัย เป็นแบบเข้ากรอบเข้าพิมพ์เพื่อปฏิบัติธรรม แต่การที่จะบรรลุธรรมจริง ๆ มันต้องมีสติไปในกาย
อย่างพระอรหันต์ เช่น พระมหากัสสปะ ไม่ทำอย่างอื่น รับโอวาท ๓ ข้อ ว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนพระมหากัสสปะซึ่งบวชเมื่อแก่ รุ่นราวคราวเดียวกับพระพุทธเจ้า ความสูงลักษณะท่าทางเท่า ๆ กัน จนห่มผ้าจีวรได้ผืนเดียวกัน พระพุทธเจ้าสอนพระมหากัสสปะ เธอจงมีสติไปในกาย เธอจงมีสติไปในกาย เธอจงเงี่ยหูฟังในธรรมที่ไม่มีใครพูด เธอจงเคารพภิกษุผู้หนุ่ม ผู้ปานกลาง ผู้เฒ่า อย่าเป็นผู้ยกหูชูตน เย่อหยิ่ง ๓ ข้อเนี่ย ทำให้เกิดเป็นพระอรหันต์ได้ สติไปในกายมันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย อย่าไปมองว่า โอ้เท่านี้หรือหลวงพ่อ เท่านี้หรืออาจารย์ ไม่ใช่ หลวงพ่อเคยพูดหลายครั้งหลายหนว่า ถ้ามีสติไปในกาย ต้นตอของมันก็อยู่ตรงนี้ มันก็ละความชั่ว มันก็ทำความดี มันก็จิตบริสุทธิ์ มันเป็นทั้งศีล มันเป็นทั้งสมาธิ มันเป็นทั้งปัญญา มันเป็นการทำบุญแล้ว มันมีอันเดียวแล้ว ถ้าทุกคนมีสติทุกคนมีสติ มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น การทะเลาะวิวาทไม่มี ต่างคนต่างดูแลตัวเราอยู่ ดูแลตัวเราให้คุ้ม ไม่ให้มันสับสนวุ่นวาย ถ้ามีสติไปในกายมีสติไปในกาย จนมันเป็นอันเดียว ในกายก็เป็นแต่สติ หายใจก็สติ เคลื่อนไหวอะไรก็สติ ยืนเดินนั่งนอนคือสติ เป็นหนึ่งแล้วบัดหนิ อยู่เป็นที่เป็นทาง เป็นหลักเป็นแหล่ง เป็นระเบียบ มีชีวิตเป็นระเบียบเฉพาะเรื่องเฉพาะราว ไม่มีหลายเรื่องหลายราว ทำอะไรก็มีสติ ทำอะไรก็มีสติ ถ้ามันเป็นแล้วนะ แต่ถ้าเราไม่ฝึกนี่ หลายอย่างที่มันเกิดขึ้นขณะเดียวกัน เช่น เราอ่านหนังสือ อ้าว อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง เพราะอะไร มันคิด ต้องกลับมาอ่านใหม่ ทำอะไรก็ตาม สับสน ทำอะไรก็ไม่ยาก ทำอะไรก็ไม่ง่าย ทำอะไรก็เป็นทุกข์ ทำอะไรก็เป็นสุข ทำอะไรก็หลง มันไปแบบนั้นถ้าไม่มีสติน่ะ ถ้ามีสติมันเฉพาะเรื่อง เฉพาะเรื่อง ทำงานอะไรก็เฉพาะทำงาน กวาดบ้านก็กวาดบ้าน ไม่มีความคิดมาแทรกแซง ไม่เอายากเอาง่ายมาแทรกมาแซง ถ้าคนไม่มีสตินี่ทำอะไรก็ยากแล้ว ทำอะไรก็ง่ายแล้ว ทำอะไรก็ไปหลายอย่างนะ มันไม่ใช่เรื่องเดียว ผู้มีเอกัคคตาจิต เป็นเรื่องเดียว หนึ่งเดียว เฉพาะเรื่องเฉพาะราว นี่เราฝึกอย่างนี้ มันก็ถนอม ถนอมชีวิตไม่สิ้นเปลือง มีพลัง มันเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะพระองค์ได้ศึกษาเรื่องนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น มีสติมีสติ เธอจงมีสติทุกเมื่อ มัจจุราชจะตามไม่ทันนะ ถ้ามีสตินะ เราจึงสร้างให้ขึ้นมา สร้างขึ้นมามีสติ มันก็จะเห็นอะไรที่ไม่ใช่สติ มันจะเป็นที่เรียบ มันจะเป็นที่วัด มันจะเป็นได้แบบ ถ้าจะว่าแล้ว ความหลงไม่ได้แบบ ความรู้สึกตัวเนี่ยได้แบบ แบบชีวิตเรา ความโกรธไม่ได้แบบ ชีวิตไม่ได้แบบ ความรู้สึกตัว ความไม่โกรธเป็นชีวิตที่ได้แบบ ความทุกข์ก็ไม่ใช่แบบ แบบแผนของชีวิตเรา ความไม่ทุกข์ความมีสติเนี่ยเป็นแบบ อะไรก็ตามถ้ามันได้แบบ มันใช้ได้แล้ว กายของเรามันก็ได้แบบ ใจของเรามันได้แบบ แบบของชีวิตจิตใจเรา เราจึงมาสร้างตัวนี้ขึ้นมา ให้มันได้แบบฉบับ แบบฉบับเนี่ยเป็นทั้งธรรม เป็นทั้งวินัย ไม่ใช่ไปท่องบ่นเอา วัดอยู่ให้มันได้แบบ เดี๋ยวนี้เรากำลังสร้างแบบ แบบฉบับคือธรรมวินัย ธรรมวินัย วิก็คือ วิเศษ นัยยะคือนำไป นำไปอย่างวิเศษ นำไปอย่างสุดยอดของชีวิต คือมันได้แบบ เราจึงมาสร้างขึ้นมา มันก็ไม่ฟรี เราสร้างเนี่ย มันเห็นอะไร มันผ่านอะไร ความหลงกี่ครั้งกี่หน ผ่านมาเป็นความรู้ ความทุกข์กี่ครั้งกี่หนที่มันเกิดขึ้น ผ่านมาเป็นความรู้ เอาความหลงไว้หลังไปเรื่อย ๆ เอาความสุขความทุกข์ไว้หลังไปเรื่อย ๆ เอาความหลงเอาความลังเลสงสัยไว้หลัง ความง่วงเหงาหาวนอนเอาไว้หลัง เอาไว้หลังเรื่อย ๆ ผ่านอะไรมา เห็นอะไรมา กับหูกับตา เช่น เห็นความหลง กับความรู้น่ะ ดูซิ มันต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน ถ้าคนที่เคยมีความรู้สึกตัวแล้ว เขาไม่เอาความหลงหรอก มันเปรอะเปื้อน ถ้าหลงทีไรเราก็เปรอะเปื้อน หลงไปในความคิดก็ดีเปรอะเปื้อนจิต หลงไปในทางกายก็เปรอะเปื้อนกาย ความรู้เป็นเครื่องประดับ ความรู้สึกตัวเป็นเครื่องประดับ ชีวิตเรามันต้องมีอาภรณ์ คือความรู้สึกตัวเป็นเครื่องประดับ เป็นเครื่องประดับ ถ้าคนไม่มีสติเขาอยู่กับความหลงได้ เฉยเมย อยู่กับความโกรธได้ อยู่กับความทุกข์ได้ คนที่ไม่มีสติน่ะ เขาก็พอใจในความหลง เขาก็พอใจในความโกรธ มีใครไปห้ามเขา เขาก็ไม่หยุด เขาพอใจ ไม่ได้ไม่ได้ ไม่โกรธไม่ได้ บางทีก็ทุกข์ก็ยังเอา อมอยู่นั่น เพราะเขาหลง นั่นเราจึงมาฝึก ถ้าคนผู้มีสติจะรู้จักเลือก การฝึกสตินี่แหละคือฝึกพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ บริสุทธิ์ ทำให้บริสุทธิ์ทั้งกายและจิตใจ ที่สุดคือพรหมจรรย์ ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน่ะ คือพรหมจรรย์ เป็นที่สุดคือความบริสุทธิ์ เราจึงมาฝึก ฝึกไป ฝึกไป สติตัวนี้มันประสบการณ์มันพบเห็น ในชีวิตของเราในกายในใจเนี่ย เปลี่ยนมาเป็นสติ เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัว เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัว กำมือเดียว กำมือเดียวจริง ๆ
พระพุทธเจ้าเคยเปรียบเทียบสอนภิกษุ ในครั้งหนึ่งพระองค์พาภิกษุเดินผ่านป่าใหญ่ ป่าประดู่ลายน่ะ ประดู่ลายหลวงพ่อเอามาปลูกไว้หน้ากุฏิอาจารย์กำพล ซื้อมาต้นละหลายร้อยบาท เขาซื้อมาให้ พระองค์ก็จับใบไม้ขึ้นมากำมือเดียว โชว์ให้ภิกษุดู นี่ภิกษุทั้งหลาย ใบไม้ในกำมือเรากับใบไม้ทั้งป่า อันไหนมันมากกว่ากัน ภิกษุสงฆ์ก็ตอบว่า ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกันได้ ใบไม้ในป่ากับใบไม้ในกำมือของพระองค์ ใบไม้กำมือของพระองค์นิดเดียว ใบไม้ทั้งป่ามากมหาศาล พระพุทธเจ้าว่านี่แหละ ธรรมะที่เราเอามาสอนพวกเธอเพียงกำมือเดียว ส่วนความรู้ที่เรารู้มากมายเท่ากับใบไม้ในป่า เนี่ยใบไม้กำมือเดียว แล้วความรู้สึกตัวก็ไม่ได้พกพา ถ้าจะเปรียบเทียบแล้วนะ ก็มีไม่มากชีวิตของเรา มีกายมีใจ มีสติอยู่กับกายมีสติอยู่กับใจ จะใช้กายใช้ใจใช้วาจา เคยพูดหลายครั้งหลายหน ไตรปิฎกก็คือกายคือใจของเรานั่นแหละ 84,000 เรื่อง อยู่กับกาย กับใจ กับวาจาของเรา เป็นตำรา บาปก็เกิดขึ้นตรงนี้ บุญก็เกิดขึ้นตรงนี้ เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เดรัจฉาน ตลอดถึง พระ เทวดา พระอินทร์ พระพรหม เกิดขึ้นในกายในใจของเรา เกิดขึ้นตรงนี้ จะไปนรกก็เรื่องของกายของใจ จะเป็นเปรตอสุรกาย ก็เป็นเรื่องของใจ จะเป็นพระก็เรื่องของกายของใจ มันเป็นภพเป็นภูมิ มันเกิดมันดับ มันเกิดกี่ครั้งกี่หน เกิดทางตา เกิดความรักความชัง เกิดทางหู เกิดอะไรต่าง ๆ มันเกิดมันดับ ถ้ามีสติมันก็คุมกำเนิด ของสังขาร ของสมุทัย เป็นตัวคุมกำเนิด ของสังขารทั้งหลาย ไม่ให้เกิด ให้เป็นชีวิตที่หนึ่งเดียว คือความรู้สึกตัว เมื่อมีความรู้สึกตัวเราก็ มันก็เป็นศีลเป็นธรรม มันก็เป็นประโยชน์ ต่อชีวิต ต่อสิ่งอื่น สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไป นั่นแหละ เราจึงมาสร้างตัวนี้ ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวเนี่ย ไม่ใช่แต่ความรู้สึกตัว ที่สุดแห่งทุกข์ ที่จะพูดถึงมรรคถึงผล มรรคก็คือรู้สึกตัว ดูอยู่นี่แหละ เห็นมันอยู่นี่แหละ ดูอยู่นี่แหละ มรรคคือดู ตาในดู อะไรมันเกิดขึ้นดู รู้แล้ว ถ้าได้เห็นแล้วก็ได้คำตอบ หลุดพ้นตรงนั้น ถ้าเห็นแล้วก็หลุดพ้นตรงนั้น เหมือนตาที่เราเห็น เห็นงูก็ไม่ถูกงูกัด ถ้าเห็นแล้ว เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เห็นได้ ถ้าเป็นตาเนื้อนะ ใช้ตาให้สำเร็จประโยชน์ เดินทาง ดูอะไร ที่ได้คำตอบอยู่กับทาง เหมือนตาเรา เหมือนเราเห็นหนังสือ เราเห็นฉลากของยา เราเห็นเครื่องใช้ไม้สอย เราก็จับไม่ผิด
ตาในคือสติปัญญาเนี่ย มันเห็นแจ้ง ยิ่งกว่าตาเนื้อเข้าไปอีก ตาในมันเห็นแต่เป็นวัตถุ ตาเนื้อเห็นนามธรรม นามธรรมคือความคิด นามธรรมคือความโกรธ นามธรรมคือความโลภ นามธรรมคือความหลง นามธรรมคือความรัก ความชัง นามธรรมคือความยินดียินร้าย มันเกิดอยู่ในจิต ตาในของเราจะเห็น เห็นแล้วเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาอย่างถูกต้อง เห็นความหลง ก็ไม่ได้หลงแล้ว เพราะเห็นแล้ว เหมือนกับเห็นงู เห็นความโกรธ ก็เห็นแล้ว ความโกรธทำอะไรให้เราไม่ได้ เห็นความทุกข์ ความทุกข์ก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเราเห็นแล้ว หลุดพ้นแล้ว ถ้าเห็นก็หลุดพ้นไปเรื่อย ๆ น่ะ เนี่ยเราสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมา ก้มหน้าก้มตาสร้างลงไป เห็นไปเห็นมาเห็นความหลงเห็นความรู้ เห็นหลงก็รู้เห็นสุขก็รู้ เห็นทุกข์ก็รู้ เห็นความง่วงเหงาหาวนอนก็รู้ เห็นมันคิดก็รู้ รู้ตะพึดตะพือไป เอาไปเอามาเนี่ย ภาวะที่รู้สึกตั ว ภาวะที่รู้สึกตัวเนี่ย มันก็จะไปเห็น เห็นรูปเห็นนาม เห็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม มันก็มีเรื่องเดียว ชีวิตของเรา มันฉายให้เราดูอยู่ ความหลงมันหลงกี่ครั้งกี่หน ความรัก ความชัง ความโกรธ ความทุกข์ มันกี่ครั้งกี่หน ถ้าเราได้เห็น แต่ก่อนเราไม่ได้เห็นน่ะ เมื่อไม่ได้เห็นมันก็ครอบงำเราได้ เราก็มีรสชาติ แต่ถ้าเราดูจริง ๆ เนี่ย มันอาจจะจืดได้ เช่น ความสุขมันจืดจริง ๆ ความทุกข์มันก็จืดจริง ๆ ไม่มีค่าทำให้เราเป็นทุกข์ได้ เหมือนเราดูหนังดูละครเรื่องเดียว เรื่องเดียวที่เขาฉายให้เราดูน่ะ มันก็ไม่มีค่า ไม่มีรสชาติ ไม่มีรสชาติ ชีวิตเรามันก็เรื่องเดียวเท่านั้นแหละนะ ไม่มีหลายเรื่องหรอก ความโกรธก็อันเดียวแหละ โกรธจนตาย ความทุกข์ก็อันเดียวนั่นแหละ ทุกข์จนตาย ความหลงก็อันเดียว คือความหลง มันก็หลงจนตาย ความรักความชังน่ะ อันเดียวนั่นแหละ มันก็รักก็ชังจนตาย บางอย่างของอย่างเดียวรัก ของอย่างเดียวชัง บางอย่างของอย่างเดียวยินดี ของอย่างเดียวยินร้าย มันเปลี่ยนใจเรา แล้วแต่เราจะสมมุติ เราไปสมมุติเอาเป็นครั้งเป็นคราว บัญญัติเอาเป็นครั้งเป็นคราว มันก็เจริญไปในทางโลก โลกมันก็มีรสชาติ เมื่อมีรสชาติมันก็ครอบงำเราได้ โลกมันครอบงำเรา มันหมุนให้เราไปตามมัน มันเกิดความโกรธก็แสดงไปกับความโกรธ เมื่อมันเกิดความรักก็แสดงไปกับความรัก เมื่อมันเกิดความชังก็แสดงไปกับความชัง เมื่อมันเกิดความทุกข์ก็แสดงไปบทของความทุกข์ ไม่ไหวเลยชีวิตเรา หยุดกันเสียเถอะ มารู้สึกตัว มาดู
พระพุทธเจ้าชวนให้เรามาดู สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ อันวิจิตรตระการ ดุจราชรถที่คนเขลาหมกอยู่ คนเขลาคือคนโง่ หมกอยู่ จมอยู่ ผู้มีปัญญาหาข้องอยู่ไม่ ไม่ข้องอยู่ผู้มีปัญญา หมกอยู่กับความหลง หมกอยู่กับความโกรธ หมกอยู่กับความทุกข์ หมกอยู่กับความรักความชังสารพัดอย่าง มันเป็นภพเป็นชาติ มันครอบงำชีวิตจิตใจของเรา อย่างนี้น่ะ ทำไมเราจึงไม่ต้องปฏิบัติ ถ้ามองดูแล้วโอ้ มันก็เสียเวลาเรา เสียเวลาไปกับความหลง เสียเวลาไปกับความทุกข์ เสียเวลาไปกับความสุข มันก็สิ้นเปลืองเหมือนกันน่ะ มันสิ้นเปลือง สิ้นเปลืองพลังของชีวิต เช่น ความคิดอย่างนี้ก็สิ้นเปลืองนะ คิดมาก ๆ นี่สิ้นเปลืองนะ หน้าซีดเลยแหละ ถ้าคนบางคนที่คิดมาก ๆ เนี่ย ไหลอยู่เรื่อยนะ ไหลอยู่เรื่อย เรื่องเก่าไหลไปเรื่องใหม่ไหลมา เหมือนน้ำชีน้ำมูลที่มันไหลอยู่ อันใหม่ไหลมาอันเก่าไหลไป มันไหล สิ้นเปลือง สิ้นเปลือง ใครคิดมาก ๆ สิ้นเปลืองพลังงาน สติเท่านั้นที่หยุด หยุดแล้ว หยุดแล้ว หยุดปรุงแล้ว
การปรุงนี่มันสิ้นเปลือง การไม่ปรุงเนี่ยมันมีพลังงาน มันเป็นวิสังขาร วิสังขารคือหยุดแล้ว หยุดลงแล้ว เป็นสติล้วน ๆ เป็นชีวิตล้วน ๆ เอามาใช้ให้สำเร็จประโยชน์ มันไม่ใช่เฉพาะเราอย่างเดียวแล้วบัดนี้ มันก็เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แม้การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าน่ะ มันเป็นประโยชน์ต่อทุกสรรพสิ่ง ในพระสูตรนั่น เก้ง กวาง แผ่นดินไหวอะไรต่าง ๆ เพราะคนดีเกิดขึ้น มีผลกระทบต่อพวกเราทุกวันนี้ อย่างน้อยก็การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็เป็นธุลีน้อย ๆ มาติดกับจิตใจของเรา ติดกับกายของเรา ทำให้เราอยู่รอดนะ แม้จะไม่ปฏิบัติ ไม่มีอะไรก็ตาม มันยังมี คุณธรรมยังช่วยเราอยู่ ถ้าเราโกรธ 5 วัน 10 วันนี่เราตายไปแล้ว ความไม่โกรธก็ยังเหลืออยู่ เออเอ้าไม่เป็นไร บางทีก็พูดในใจ เออช่างหัวมันเถอะ แล้วก็แล้วไป รักโกรธกันแล้วคืนดีกันก็ได้ ธรรมก็ยังรักษาคนเราอยู่ แต่ว่าเราไม่ให้โอกาสเท่าที่ควร ธรรมก็ยังรักษาผู้ประพฤติธรรมอยู่
บัดนี้เรามามีโดยตรง มีหน้าที่โดยตรง ให้โอกาสแก่ธรรม ให้ความเป็นธรรมต่อธรรม ถ้าเราไม่เจริญสติ กายก็เบียดเบียนใจ ใจก็เบียดเบียนกาย บางทีความทุกข์ที่ใจ อ้าวกายก็ลำบาก กายเป็นทุกข์ที่กาย ใจก็ลำบาก ไม่รู้ คนที่ไม่ศึกษาจะไม่รู้หรอก ปนเปกันไป กายเบียดเบียนใจ ใจเบียดเบียนกาย ทุกข์ใจมาก ๆ เกิดเป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคแทรกซ้อนร่างกายอ่อนแอ สารพัดอย่าง ถ้าใจมันสูญเสีย ความสมดุลของจิตแล้ว กระทบกระเทือนไปทางกาย กระทบกระเทือนไปทางกายไม่พอ ก็ยังกระทบกระเทือนไปทางสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเรา ถ้าเรามารู้มาเห็นแล้ว โอ้ เป็นธรรมเกิดขึ้นในกายในใจ ถ้าไม่มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นในกายในใจเราแล้ว จะหาความเป็นธรรมจากสิ่งอื่น วัตถุอื่น คนอื่น หาได้ยาก อย่าไปพึ่งเลย เรียกร้องความเป็นธรรม มันไม่มีในโลกนี้ มันเรียกร้องจากสิ่งอื่นคนอื่นไม่ได้ ความเป็นธรรมมันต้องเกิดขึ้นกับเรา หาให้พบ มีแล้ว มีความเป็นธรรมแล้ว ลุยมันเลยโลกนั่นนะ ไม่ต้องกลัว ความเป็นธรรมมันมีในชีวิตจิตใจของเรา ถ้ามีความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับชีวิต เกิดขึ้นกับกายกับใจของแต่ละคนไปแล้ว นั่นแหละแผ่นดินมันจะราบเหมือนหน้ากลองชัย
การเจริญสติเนี่ย มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ มันเป็นธรรม มันก็จะมีการพบเห็น เห็นรูปเห็นนาม เห็นธรรมชาติของรูป เห็นธรรมชาติของนาม เห็นอาการของรูป เห็นอาการของนาม เห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา เห็นกุศล เห็นอกุศล อกุศลคือความโง่หลงงมงาย ความชั่วเหลวไหล แล้วเรายังจะมาให้มันครองชีวิตเราอยู่หรือ บางทีซุกซนปรุงแต่งให้เกิดความรัก ความชัง ซุกซนปรุงแต่งให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ซุกซนปรุงแต่งให้เกิดความอิจฉา พยาบาท มีใจมีจิตไปใช้แบบนั้นหรือ มันจะมีค่าอะไร เรามีกายมีใจมีจิต ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ ใช้ให้เกิดความเมตตา กรุณา ใช้ให้เกิดความสงสาร ใช้ให้เกิดเป็นศีล เป็นสมาธิเป็นปัญญา เราใช้กายใช้ใจผิด ๆ มันก็เป็นโทษ ต่อชีวิตจิตใจเรา ทำลายตัวเรา แล้วก็ทำลายคนอื่นไปด้วย มีปัญหาเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะเราใช้กายใช้ใจไม่เป็น ร้อนวุ่นวายสับสน หน้าบูดหน้าบึ้ง ตึงเครียด พูดหลุดไปก็ผรุสวาจา ทอด่ากัน จิตใจก็หมักหมมไปด้วยความอิจฉาพยาบาท เป็นไฟที่เผาลนชีวิตจิตใจของเรา มันจะมีค่าอะไรชีวิตเรา เนี่ยมาตื่นแต่ดึก สึกแต่หนุ่ม อย่างเนี้ย มาปฏิบัติธรรมมาเอาให้มันหมดพิษหมดสง มีแต่สติมีแต่สัมปชัญญะเนี่ย
หลวงพ่อก็ภูมิใจคณะเรียกว่า สถาบันของหมอแพทย์พยาบาล เป็นสถาบันใกล้เคียงกับสมณะ ใกล้เคียงกับความเป็นพระ เพราะงานของเราเป็นงานช่วยคน ช่วยชีวิต ช่วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย เราก็ต้องแสดงให้เขาเห็น คนหนึ่ง อ้าว ทำความดีอยู่ตรงนู้นตรงนี้ นี่มาฝึกมาหัดมาปฏิบัติธรรม มาเจริญสติ มีสติแล้วเป็นบ้านเป็นเรือนของเรา เข้าหาศีลหาธรรม ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวเนี่ย ศีลจะมาช่วย สมาธิจะมาช่วย ปัญญาจะมาช่วย บุญก็จะช่วย กุศลก็จะช่วย มรรคผลก็จะช่วย ชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรม ผู้มีศีล ผู้มีสัจจะความเป็นจริง นี่เราจึงมาปฏิบัติธรรม สร้างลงไป สร้างลงไป มันไม่ฟรีหรอก อย่างน้อยมันก็เห็นความหลงเกิดขึ้น เราเปลี่ยนความหลงที่มันเกิดขึ้นกับเรา ให้เป็นความรู้สึกตัว บางทีมันทุกข์ เราเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความรู้สึกตัว มีไหม เวลามันหลงมีไหม เปลี่ยนไหม เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ไหม เปลี่ยนได้ไหม เฮ้ย มันต้องได้ แค่นี้เอง มันหลงทีไรก็รู้ขึ้นมา มันดีแล้ว มันดีตรงนั้นแหละ มันเก่งขึ้นมา มันจะเก่งตรงที่เราเปลี่ยนความร้ายเป็นความดีน่ะ มันจะเก่งที่เราเปลี่ยนความผิดเป็นความถูก มันจะเก่งตอนที่เราเปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ มันจะเก่งในตอนที่เราเปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธ นั่นแหละคือปฏิบัติ ต่อนี้ไปเราจะต้องเปลี่ยนนะ อยู่ตรงไหนก็เปลี่ยน มันเกิดตรงไหนก็เปลี่ยนร้ายเป็นดี นั่นแหละเรียกว่านักปฏิบัติ เรียกว่านักภาวนา ไม่ใช่มานั่งอยู่กับหลวงพ่อหรอก มาอยู่แค่ ๗ วันก็พอแล้วเนาะ เปลี่ยนเป็นไหม เปลี่ยนได้เปลี่ยนได้ ปฏิบัติเปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์เนี่ย มันไม่หนักไม่หนาอะไร หัดเปลี่ยนบ่อย ๆ หัดเปลี่ยนบ่อย ๆ แต่ว่าพลังแห่งการเปลี่ยนมันต้องรู้สึกตัวนะ นี่เรียกว่าสร้างพลังแห่งความรู้สึกตัว ถ้ามีความรู้สึกตัวมาก เป็นมหารู้ น้ำห่าใหญ่มันไหลหลากพัดพาขยะ พัดพาสาหร่าย พัดพาสิ่งสกปรก เกลี้ยงไปเลย มหารู้มหาสติปัฏฐานนะ ไม่มีอะไรเหลือ ความชั่วทั้งหลายไม่มีเหลือ ถ้าเป็นมหารู้แล้วนะ แล้วเราก็สร้างได้ 14 รู้ 14 จังหวะ ชั่วโมงหนึ่งถ้ารู้ทุกจังหวะ รู้ทุกจังหวะ ประมาณ ๓,๐๐๐ รู้แล้วนะ ไม่ใช่น้อยนะ เรียกว่าปฏิบัติได้ ปฏิบัติได้ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ยิ่งเห็นจริง ในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ ไม่ต้องเอาลัทธินิกาย ไม่ต้องเอาเพศเอาวัย ไม่ต้องเอาอะไรมาขวางกั้น เอากายมาสัมผัสกับความรู้ ทุกคนมีกาย ไม่ใช่ว่านั่นเป็นหญิง นั่นเป็นชาย นั่นเป็นคนหนุ่ม นั่นเป็นคนแก่ นั่นเป็นพระ นั่นเป็นฆราวาสญาติโยม ไม่ใช่ ทุกคนก็มีสิทธิเท่ากัน รู้สึกตัว รู้สึกตัวเนี่ย เนี่ยปฏิบัติได้ ทุกคนรู้สึกตัวได้ เมื่อรู้สึกตัวมันก็ไม่มีความหลงแล้ว มันทันที ทันทีเป็นปัจจัตตัง ไม่ใช่ว่า เออ ยกมือวันนี้แล้ว พรุ่งนี้ค่อยจะรู้นะ ยกมือไปก่อน พรุ่งนี้จึงจะรู้ ชาติหน้าจึงจะรู้ ไม่ใช่ เดี๋ยวนี้เป็นปัจจัตตัง รู้ รู้น่ะ นี่ว่าปฏิบัติได้ ให้ผลได้ เนาะ