แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การปฏิบัติที่จะเป็นนักปฏิบัติก็เวลาใดที่มันหลงคิดไปอย่าเข้าไปในความคิดให้กลับมารู้สึกตัว มาตั้งไว้กับอริยาบทที่เราสร้าง อาจจะเดินจงกรม อาจจะสร้างจังหวะหรืออาจจะทำส่วนใดส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหว ในการประกอบ โดยเฉพาะการเจริญสติต้องอาศัยความเพียร ความขยัน ไปนึกไปคิดเอาไม่ได้ ต้องเป็นของจริง ถ้าการเคลื่อนไหวก็เป็นการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวก็เป็นปัจจุบัน ความรู้สึกตัวก็เป็นปัจจุบันไปกับการเคลื่อนไหว ทำไมเราจึงเคลื่อนไหว ให้มันรู้ เพราะว่าชีวิตของเรานี่ มันไหลไปข้างหน้า มันไปข้างหลัง มันไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน มันคิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว มันคิดถึงอนาคตที่ยังไม่มาถึง สิบปียี่สิบปีก็เอามาคิด ปัจจุบันเลยทิ้งขว้างไป วิธีปฏิบัติจึงเพียรพยายามที่ให้เป็นปัจจุบัน ถ้าเห็นผิดก็เห็นปัจจุบัน ถ้าเห็นถูกก็เห็นปัจจุบัน เห็นสุขเห็นทุกข์ก็เห็นปัจจุบัน ปัจจุบันคือของจริง ถ้าเห็นปัจจุบันนั้นก็เขียวเกี่ยวข้อง ก็เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ได้ เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ได้ ต้องมีกำลังตรงนี้ อย่าวางอย่าทิ้งไว้ เพราะเรานี่ทำงาน ถ้าไม่ทำสิ่งที่มันผิดให้มันถูกมันก็ไม่เป็นงาน ถ้าทำสิ่งที่มันถูกจนเป็นทำเป็นแล้ว จะมาหลงก็คงรู้สึกตัว อ้อความหลงหมดไปแล้ว ความรู้สึกตัวเกิดขึ้นมาแล้ว ทำเป็นแล้ว ทำเป็นแล้ว อย่างนี้ สอน สอนตัวเองอย่างนี้ การปฎิบัติธรรมคือการสอนตัวเอง การพึ่งตนเอง ถ้าเราสอนเราจะเป็นที่พึ่งได้ มันหลง รู้สึกตัว กลายเป็นความรู้ได้ ความรู้เราทำเอาเอง ความหลงเราก็ทำเอาเอง เกิดกับเราเอง ความผิดความถูกก็เกิดกับเราเอง เราจึงขยันเปลี่ยนมัน เราไม่ได้เจตนาหรอกบางอย่างมันเกิดขึ้นมาเอง มันเป็นจริตนิสัย มันเคยชิน บางทีนิสัยนี่ก็เป็นภาระพอสมควร บางทีก็จริตนิสัยคิดไปต่าง ๆ เป็นราคะจริต เป็นโทสะจริต เป็นโมหะจริต ว่านิสัยมันเปรอะมันเปื้อนอะไรมา มันเกี่ยวข้องกับอะไรมา มันติด การติดเป็นจริตนิสัยท่านเรียกว่า วิญญาณ เป็นวิญญาณเราจึงมาเปลี่ยนให้มันติดอันใหม่ ติดความรู้สึกตัว เวลาทำใหม่ ๆ อาจจะหลง ง่ายที่จะหลง เพราะมันเคยหลงเคยไหล พอมารู้สึกตัวความหลงก็ยังแย่งไป เหมือนเราไปขวางทางน้ำ น้ำมันไหลอยู่ เราเพียรพยายามที่จะไปขวางทางไม่ให้น้ำไหล หากกำลังสิ่งที่ไปขวางไม่เพียงพอ มันก็ยังจะไหลอยู่เรื่อย แต่เราก็เพียรพยายามสร้างพลังแห่งความขวางกั้นให้มันมากขึ้น ๆ มันก็รู้ได้มันก็มากได้ เช่น เรายกมือสร้างจังหวะเป็นพลังแห่งการขวางความหลง รู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้เอา รู้เอา เหมือนกับเราโยนกระสอบทรายใส่ทางน้ำที่มันไหล กระสอบหนึ่งอาจจะไม่เห็นอะไรเลย แต่ว่าโยนลงไปเรื่อย ๆ โยนลงไปเรื่อย ๆ พอโยนลงไปเรื่อย ๆ หลายสอบมันก็อาจจะเห็น เพราะมันทำหน้าที่ของมันอยู่ สอบทรายแต่ละสอบก็ทำหน้าที่ของมันอยู่ ความรู้สึกตัวก็เหมือนกันอย่าประเมิน ทำไปก่อน รู้ไว้ก่อน
รู้ไว้ก่อน อย่าไปประเมินเอาเหตุเอาผล อย่าไปนึกว่าทำไมจึงไม่ได้ ทำไมจึงเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ อันนั้นมันเป็นความคิด แค่ความคิด มันไม่ไม่ใช่ การปฎิบัติธรรมมันต้องเป็นการกระทำ การกระทำมันจะจำแนกไป ว่าถ้าเราสร้างความรู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ บางอย่าง ที่มันเกิดปัญหาขึ้นมาไม่ต้องไปแก้ ให้แต่สร้างความรู้สึกตัวเรื่อยไป ถ้ามีความรู้สึกตัวมากมันเดี๋ยวจะเฉลยทีหลังก็ได้ มันจะเฉลยทีหลังก็ได้ บางอย่างคิดจะไปถามครูอาจารย์ แต่หากเราสร้างสติไว้ก่อน จะถามครูอาจารย์ โอ้ครูอาจารย์ก็ไม่อยู่ หลวงพ่อเทียนก็ไม่อยู่ ไปเทศน์ที่โน่นไปสอนที่นี่ เราก็ไม่ได้ถามแต่ว่าเราสร้างสติเอา ก็สร้างสติเอา เอ้าเดินจงกลม ยกมือสร้างจังหวะเอา แม้มันเกิดปัญหาขึ้นมา เราก็รู้สึกตัวเอา ความรู้สึกตัวนี่แหละ ถ้ามันมี ถ้ามันมากแล้ว คำที่เรื่องที่เราคิดจะถามมันก็ไม่ได้ถามหรอก มันเฉลยไป การเจริญสติมันเป็นการแจกแจง เป็นการสาธยายธรรมไปในตัว ได้บทเรียนไปในตัว เห็นทั้งผิด เห็นทั้งถูกไปในตัว สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะเรื่องกายเรื่องใจนี้ สตินี้เป็นตัวเฉลยได้ทั้งหมด อย่าไปเอาเหตุเอาผลมาเฉลยเรื่องกายเรื่องจิต ต้องมีกรรม มีกรรมฐาน มีความรู้สึกตัวไปก่อน ที่ปฏิบัติมันก็มีเท่านี้ มันสร้างความรู้ สร้างความรู้ ถ้ามันหลง รู้สึกตัวทำเป็นแล้ว ตัวนี้แหละจะไปตะพึดตะพือ แต่ถ้ามันหลงเข้าไปอยู่ในความหลง มันคิดเข้าไปอยู่ในความคิด มันทุกข์เข้าไปอยู่ในความทุกข์ มันโกรธเข้าไปอยู่ในความโกรธ ยังไปไม่ได้ มันก็ยังเป็นทางขวางอยู่ อะไรก็ตามถ้ามาเปลี่ยนเป็นความรู้สึกตัวนะ ไปได้ตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมายปลายทาง อาศัยความรู้สึกตัวเป็นสิ่งนำทาง เป็นการเบิกทาง เป็นการเบิกทางไปเรื่อย ๆ เราสร้างทางไปเรื่อย ๆ เห็นร่องเห็นรอยไปเรื่อย ๆ รอยสติที่มีอยู่กับกาย รอยสติที่มีอยู่กับจิตใจ มันยังเห็นอยู่ ถ้าเราหลงทีไรมันก็รู้มา มันเห็นร่องรอยอยู่ เหมือนเราเดินทางเดินจงกรมของเรา เดินทีแรกก็ไม่ค่อยเห็นรอยหรอก เดินกลับไปกลับมาสามรอบสี่รอบมันก็เป็นทาง เป็นรอย รอยเดิน นี่เราเอาสติมาเดินเหยียบอยู่บนกายบนใจเรา ไป ๆ มา ๆ มันก็เห็น ทีแรกก็เหมือนกับเจตนาที่จะแก้ความหลง แกัความทุกข์ แก้อะไรต่าง ๆ ต่อไป ๆ มันจะเป็นไปเอง เพราะว่าความรู้กับความหลงมันต่างกันอยู่ หลักของมันก็มีเท่านี้การปฎิบัติ วิธีปฎิบัติก็มีเท่านี้แหละ ถ้าจะบอกแล้วบอกอีกก็ว่ามีแต่ความรู้กับความหลง ในชีวิตจิตใจของเรานี่ ความหลงก็ไม่ต้องหาอย่างอื่นมาแก้มัน ไปเรียกไปร้องไปทำอะไรต่าง ๆ ไม่เกี่ยว เอามาเจริญสติ สิ่งที่เราทำก็กายนี่มันก็มีอยู่ทุกคน ธรรมชาติคนเรา เราปฎิบัติลงไปที่กาย ทุกคนก็มีกาย ความหลงเกิดขึ้นที่กายที่เป็นจุดใหญ่ ๆ มันหลงส่วนไหนที่เป็นเรื่องของกาย รู้หมด รู้ครบ รู้ถ้วน นอกจากนั้นก็หลงอยู่ที่เวทนา เวทนาก็เรื่องของกายด้วยเรื่องของจิตด้วย คำว่าเวทนาก็คือสุขคือทุกข์ อาจจะเกิดขึ้นขณะที่เราปฎิบัติขณะที่เราเจริญสติ คล้ายกับว่าเขาโชว์ให้เราเห็น เขาโชว์เรื่องกาย เราก็เคยหลงกาย เขาโชว์เรื่องเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็เคยหลงตรงนี้ แต่นี้พอเรามีสติกำหนดกายอยู่ เราก็กลับมาดูกาย เวทนามันก็มาหลอกไม่ได้ เห็นเวทนาที่มันเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นผู้สุขผู้ทุกข์ เวทนาไม่เอามาเป็นตัวเป็นตน เห็นเวทนาที่เขาแสดงเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็กลับมา หรือเกี่ยวข้องกับเวทนา บรรเทา อาจจะเปลี่ยนอริยาบท โดยมีความรู้สึกตัว ไม่เอามาเป็นสุขเป็นทุกข์ มีแต่การเห็น เวทนาเขาโชว์ เขาแสดงออกทำให้เราหลงตรงนี้ก็ไม่ว่า จิตนี่แหละที่มันคิด จิตนี่ก็โชว์เหมือนกัน ปรากฏว่าแต่ยังไม่ปฎิบัติธรรมไม่เจริญสติ มันก็ไม่เห็นมันคิดอะไรมากมาย พอมาเจริญสติรู้สึกว่ามันไหลออกมา มันไหลออกมา คิดโน่นคิดนี่ไป เรื่องเก่า ๆ สิบปียี่สิบก็เอามาคิด มันไหลไป เราก็รู้สึกตัว เราก็กลับมา โดยเฉพาะอริยาบทมันช่วยเราได้ เราก็กลับมาตั้งไว้กับอริยาบท มันจะหลงไปในความคิด เราก็รู้ตรงที่มันเคยหลง มันหลงเรารู้นี่ไม่เป็นไร ถ้ามันหลงเราหลง ความหลงสร้างความหลง มันก็ยังไปไม่ได้ ความหลงก็ยังหลอกเราได้ พอเรามาเจริญสติแล้ว อะไร ๆ ที่มันหลงไปในความคิด เรารู้สึกตัว รู้สึกตัว มันก็เก่งตรงนี้อีก ถ้าจะเรียกว่าด่านก็ได้ เป็นด่านที่มันกักเรา กักทางเรา กายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ทำให้ผู้เจริญสติหลงตรงนี้ มากต่อมากเหมือนกัน ถ้าเราไม่หลงตรงนี้เราก็ผ่านด่าน ผ่านด่าน เหมือนกับกักเราไม่อยู่แล้ว กักเราไม่อยู่ก็ชำนิชำนาญ อันไหนที่ว่ากายไม่หลงเลย อันไหนที่เวทนาไม่หลง อันไหนที่ว่าจิตไม่หลง จิตคือมันคิดนั้่นแหละ ถ้ามันคิดทีไรแล้วไม่หลง ความคิดมันมีอยู่สองลักษณะ ความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจมันคิดขึ้นมาเอง นี่ทันทีละ สิ่งไหนที่ไม่ได้ตั้งใจมันคิดขึ้นมาเอง รู้ทันที กลับทันที เหมือนหน้ามือหลังมือเปลี่ยนทันที อย่ามาหลงกับความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจ สำหรับความคิดที่ตั้งใจ เวลาปฎิบัติก็ไม่ต้องไปตั้งใจคิดเรื่องใด ให้เป็นการกระทำความเพียรล้วน ๆ อย่าไปหาเรื่องมาคิดในเวลาปฎิบัติ หาคำตอบจากความคิด บางอย่างคำตอบที่เกิดจากความคิดมันไม่มีนะ ปล่อยปรมัตถสภาวะธรรม มันไม่เหมือนการเรียนศึกษาทางสูตรสำเร็จ สูตรปฎิบัตินี่ไม่ใช่หาคำตอบจากความคิด มันจะตอบเอาเอง ถ้าความหลงนี่มันไม่ใช่ความคิด มันเกิดขึ้นมาก็เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้นี่ มันก็ตอบเอาเอง มันก็เฉลยเอาเอง นอกจากกายแล้ว นอกจากเวทนา นอกจากจิต ก็มีธรรม สรุปลง คือ ธรรม ธรรม หมายถึง สิ่งที่ครอบงำจิตใจมีหลายอย่าง เช่นความง่วงเหงาหาวนอน ความง่วงเหงาหาวนอนนี่ก็ถือว่าเป็นธรรมนะ ความคิดฟุ้งซ่านก็เป็นธรรม พยาบาทก็เป็นธรรม ลังเลสงสัยหมดนี่หละมันครอบงำจิต มันเหมือนกับสิ่งที่ผูกมัดรัดตรึง เรื่องของจิตก็โชว์มาก ๆ นะ โดยเฉพาะตัวหลงที่เกิดขึ้นกับจิตนี่บ่อยที่สุด แต่ว่าเมื่อมันหลงบ่อย ที่เกิดกับจิตเราก็รู้มันบ่อย ๆ การรู้ความหลงบ่อย ๆ ที่เกิดขึ้นกับจิตกับใจ มันเป็นเรื่องดี
มันจะบรรลุธรรมตรงนี้เหมือนกัน มันจะบรรลุธรรม ความหลงที่มาหลอกเราเรื่อย ๆ หลอกเราเรื่อย ๆ นี่ ถ้าเรารู้ทันมันก็เกิดปัญญา ความหลงที่เกิดขึ้นกับจิตนี่มันสุดหัวใจจริง ๆ ถ้ารู้ทันมันแล้ว ถ้าจับตัวนี้ชนะตัวนี้ได้ก็อันอื่นก็อ่อนไปเลย เรื่องกายเรื่องเวทนาเรื่องจิตที่มันคิดขึ้นมา ความหลงที่เกิดขึ้นกับจิต เรารู้ทันแล้ว อันอื่นก็ค่อยอ่อนไป เพราะว่าจิตมันเป็นใหญ่ มันเป็นใหญ่แบบป่าเถื่อน แต่ว่าเรามาสร้างความไม่เถื่อนให้เกิดขึ้นกับจิตใจเรา เราก็ขยันตรงนี้ อย่าเบื่อหน่าย บางทีเราทำไปมันไม่มีอะไรเลย โดยเฉพาะการปฎิบัตินี่จะไม่เหมือนการทำนา ทำไร่ ทำสวน การทำนานี่ยังเสร็จเป็นวัน ๆ วัน ๆ นาสามสิบสี่สิบไร่ ก็เสร็จไปวันหนึ่ง ก็อย่างน้อยก็ไร่หนึ่ง สี่สิบไร่ก็สี่สิบวัน ยังประเมินได้ ยังประเมินได้ ยังดูได้ ดูออก
ว่าต้องเสร็จแน่นอน กำหนดวันเวลาได้ แต่ว่าการปฎิบัติธรรมนี่ กำหนดเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่มันจะกำหนดตอนที่มันผิดทำให้มันถูกเท่านั้นล่ะ ตรงนั้นล่ะถือว่าเป็นนักปฎิบัติ ถ้ามันทุกข์เปลี่ยนไม่ทุกข์ล่ะเป็นนักปฎิบัติแล้ว ถ้ามันหลงเปลี่ยนไม่หลงเป็นนักปฏิบัติแล้ว นักปฏิบัติ คือ เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก ถือว่าเป็นนักปฏิบัติ มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไป ถ้าเราเปลี่ยนตรงที่มันหลงบ่อย ๆ ตรงที่มันหลงบ่อย ๆ เห็นความหลงเกิดขึ้นกับกาย เห็นความหลงเกิดขึ้นกับจิตใจ มันก็ไปรู้ความหลง ไม่ใช่หลงกายเฉย ๆ มันเห็นเรื่องกาย มันเห็นเป็นรูป เห็นเรื่องจิตเรื่องใจ มันเห็นเป็นนาม มันเป็นรูปเป็นนาม มันก็ต้องมีหลง มีรู้ มีสุข มีทุกข์เป็น มีร้อน มีหนาว มีปวด มีเมื่อยเป็น ก็จะจับหลักได้ ให้เห็นรูปเห็นนามนะ อย่าไปเห็นอันอื่น อย่าไปหาอย่าไปคิดหา ว่าคงจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ อย่าไปคิดหาแบบนั้น เห็นก็เห็นสิ่งที่มันเคลื่อนไหวอยู่แล้ว มันเป็นรูปเป็นราว เป็นรูปธรรมเป็นนามธรรม รูปมันทำนี่ ก็ยกมือสร้างจังหวะ อ๋อรูปมันทำ มันทำความดี เราก็มีความรู้สึกตัว ทั้งนามมันก็ทำดี รูปมันกำลังทำดีนามกำลังทำดี ถ้ามันหลงไปกับกายหลงไปกับจิต ก็เห็นรูปมันทำไม่ดี ก็เป็นรูปเป็นนาม เห็นรูปนามมันทำไม่ดี ก็เปลี่ยนรูปเปลี่ยนนามให้มันทำความดี โดยมีสติสัมปชัญญะ ถ้าเห็นรูปเห็นนามตามความเป็นจริง การแสดงออกของรูปของนาม มันก็ย่อลงไปเลยเห็นเป็นอาการ ไม่ใช่เห็นเป็นสุขไม่ใช่เห็นเป็นทุกข์ เห็นเป็นอาการที่เขาเกิดตามธรรมชาติของเขา เห็นรูปมันก็ปวดก็เมื่อยเป็นธรรมดามันก็เป็นอาการของรูป ถ้ารูปมันปวดมันเมื่อยมันร้อนมันหนาวไม่เป็น มันก็ไม่ใช่รูป มันหิวไม่เป็นมันก็ไม่ใช่รูป รูปมันต้องเป็นอย่างนั้น อันนี้รูป มันเป็นอย่างนั้น นามมันรู้จักร้อนจักหนาวเป็น รู้จักหิว รู้จักปวดเป็นมันเป็นนาม อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม สรุปแล้วคืออาการไม่มีตัวไม่มีตน แต่ก่อนเรามีตัวมีตนอยู่กับรูปกับนาม คราวนี้พอมาเห็นรูปเห็นนาม ตามความเป็นจริง เห็นเป็นอาการตามธรรมชาติ มันก็เห็นแล้วว่า ตามที่พระอริยบุคคลเบื้องต้นรู้แจ้งในรูปในกาย เรียกว่า สักกายะทิฐิ สักกายะทิฐินี่ไม่มีตนอยู่ในกาย งั้นกายนี่ไม่เอามาเป็นตนเลย แต่ก่อนเรามีตนอยู่ในกาย ร้อนก็กู หนาวก็กู ปวดก็กู หิวก็กู เอามาเป็นสุขเอามาเป็นทุกข์เรื่องของกาย เรื่องของกายเอามาเป็นสุขเอามาเป็นทุกข์ บัดนี้พอรู้สึกเห็นรูปเห็นนามแล้ว มันทำลายตัวนี้ลงไป สักกายะทิฐิตัวนี้ไม่เป็นทุกข์เรื่องกาย ไม่เอากายมาเป็นตัวเป็นตน เอาเป็นอาการเป็นธรรมชาติ เอามาเป็นธรรมชาติเป็นอาการ เห็นแจ้ง เห็นแจ้งไม่เอาจริงเอาจังกับรูปกับกาย ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็ลอยตัว มันก็เป็นปัญญา ยิ่งไปเห็นรูปทุกข์ เห็นนามทุกข์ รูปที่มันทุกข์ นามที่มันทุกข์ ทุกข์ของรูปมีมาก หายใจเข้าหายใจออกก็ถือว่าเป็นทุกข์ของรูป ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ถือว่าเป็นทุกข์ของรูป กินต้องถ่ายก็เป็นทุกข์ของรูป ทุกข์ที่เป็นสภาพตามความเป็นจริง ทุกข์ที่เป็นอาคันตุกะ ทุกข์ที่เป็นอริยสัจ เกิดขึ้นที่รูปที่นาม ทุกข์ที่เป็นสภาวะทุกข์ มันก็เสมอกันทุกคน เสมอกันทุกคน เวลานี้เราก็มีอากาศเท่ากัน ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป ได้ยินเสียงจิ้งหรีดเท่ากัน ได้ยินเสียงหลวงพ่อพูดเท่ากัน เรานั่งอยู่นาน ๆ เราก็ปวดก็เมื่อยเท่ากัน นี่เรียกว่า สภาวะทุกข์ ที่มันเสมอกัน ทุกข์อันหนึ่งที่เป็นอาคันตุกะทุกข์ อาคันตุกะทุกข์ คือ มันปวดหนักปวดเบา มันหิวต้องบรรเทา ทุกข์บางอย่างกำหนดรู้ ทุกข์บางอย่างบรรเทา ทุกข์บางอย่างต้องละ โดยเฉพาะทุกข์ที่เกิดที่เป็นอริยสัจ 4 ต้องละ เช่น สูบบุหรี่ก็ต้องละ กินเหล้าก็ต้องละ ไม่ใช่ว่ามันอดไม่ได้ ถ้าเห็นจริง ๆ ไม่มีคำพูดว่าอดไม่ได้ อดไม่ได้เวลามันหิว ก็อดไม่ได้ อดสูบไม่ได้ อดดื่มเหล้าไม่ได้ ถ้าจะเป็นธรรมชาติเป็นวัฎฎะมันก็เห็นเหตุเห็นปัจจัย เพราะสูบมันจึงติด เพราะติดมันจึงอยาก เพราะอยากมันจึงสูบ ไปอดไม่ให้มันอยากไม่ได้ เพราะสูบมันจึงติด เพราะติดมันจึงอยาก เพราะอยากมันจึงสูบ
ตัวตัดวิบากกรรมตัวนี้ คือกรรม กรรมฐานนี่มันตัดลงไปที่กรรม กรรม คือ การกระทำ เช่น สูบบุหรี่อะไรเป็นกรรม เพราะสูบ ตัวสูบเป็นกรรม ตัวสูบเป็นกรรม ถ้าจะให้มันไม่ติดมันก็ตัดกรรม ตัวนี้ไป ก็ตัดตรงนี้ไป รู้แจ้งดีใจ เฉลียวฉลาด อ่อโธ่มันอยู่ตรงนี้ พอมันเห็นทุกข์ พอมาเห็นทุกข์ มันก็สาวถึงตัวทุกข์เข้าไป ตามเหตุมันเข้าไป ไม่ใช่ไปว่าคนอื่น มันเหตุมันอยู่ตรงนี้ บางทีไม่ได้อดเลย พอมันเห็นเหตุขบวนการแห่งสร้างทุกข์ของรูปของนาม มันเห็นเหตุเห็นปัจจัยจริง ๆ ไม่ได้อดเลย กระตือรือล้นกอบกู้ กอบกู้ชีวิตของตน ขนส่งออกมา ชีวิตจริง ๆ มันต้องขนส่ง อย่างการปฎิบัติธรรมการเจริญสติ เมื่อเช้าหลวงพ่อก็พูดอยู่ที่ท่ามะไฟหวาน อบรมผู้เฒ่าจำศีล ว่าการเจริญสติมันเป็นญาณ 2 แบบ ญาณแบบหนึ่งเป็นญาณหยั่งรู้ ญาณหยั่งรู้นี่ (สะกด) ญ-า-ณ นี่เราทำนี่ มันรู้มั๊ย? ต้องไปถามใครไหมว่ามือของฉันอยู่ตรงไหน? ฉันมือตั้งไว้หรือยัง? ฉันยกมือหรือยัง? มือของฉันวางลงหรือยัง? มือของฉันคว่ำลงหรือยัง? ไม่มีไม่ีมีคำถาม มีแต่ญาณหยั่งรู้ มันก็ตอบได้เลย มันรู้แล้ว มันรู้แล้ว เพราะว่าการเจริญสติมันสร้างญาณ มันสร้างญาณ มันหยั่งรู้ทะลุทะลวงได้ มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ญาณอันหนึ่งเป็นยาณขนส่ง ยาณขนส่งนี่ (สะกด) ย-า-ณ ขนออกไป มันหลงขนความหลงออกไปทิ้ง เอาความรู้ไปใส่ มันทุกข์ขนความทุกข์ออกความรู้ไปใส่ มันขนส่งล่วงข้ามภาวะเก่า สิ่งที่เคยหลงกลายเป็นสิ่งที่เคยรู้ ความหลงสร้่างความรู้ ความผิดสร้างความถูก มันข้ามล่วงไป อันนี้เรียกว่ายาณแบบขนส่ง ที่มันเคยโกรธมันก็ไม่โกรธ แต่ก่อนความหลงสร้างความหลง ความทุกข์สร้างความทุกข์ ความโกรธสร้างความโกรธ มันต่อเอาไว้ บัดนี้มันไม่ต่อเหมือนเมื่อก่อน มันขนออกไป เพราะเรามีสติเรามีญาณ ญาณก็ช่วยแรงหนึ่ง ขนส่งก็ช่วยแรงหนึ่ง มันเป็นญาณหยั่งรู้ เป็นยาณขนส่ง มันไปพร้อมกันพลังสอง มันจะอยู่ได้ยังไง สิ่งที่ไม่ถูกต้องมันก็อยู่ไม่ได้หรอก ยิ่งไปเห็นรูปเห็นนามแล้ว เห็นเป็นธรรมชาติเห็นเป็นอาการ ความโกรธอย่างนี้มันเป็นอาการของนาม มันไม่ใช่นาม เป็นอาการที่มันเกิดขึ้นกับนาม นาม คือ จิตใจ ความโกรธไม่ใช่เรื่องของกาย ไม่ใช่เรื่องของกาย ไม่ใช่เรื่องของรูป เรื่องของรูปมันก็คือ ความร้อน ความหนาว ความหิว ความปวด ความเมื่อย เป็นเรื่องของรูป นามไม่เป็นด้วยก็ได้ ไม่ต้องไปทุกข์กับเรื่องนี้ กำหนดรู้ ฉลาด บางอย่างกำหนดรู้ด้วยการรู้ รู้แล้ว มันร้อนก็รู้แล้ว มันหนาวก็รู้แล้ว มันหิวก็รู้แล้ว มันปวดก็รู้แล้ว นี่ญาณ รู้แล้ว รู้แล้วเป็นญาณของสติ มันล่วงไปแล้ว ถ้าญาณอีกอันหนึ่งถ้ามันปวดหนักปวดเบาก็ต้องไปบรรเทา รู้แล้วเฉย ๆ ไม่ได้นะ มันหิวข้าวต้องไปกินข้าว ไม่ใช่กำหนดรู้โดยการรู้เฉย ๆ แต่ว่าจิตนามนี่ไม่เป็นทุกข์ แยกกันว่าเฉพาะคนละเรื่องคนละราวกันไป รูปทุกข์นามทุกข์ไปเห็นทุกข์ที่มันเกิดขึ้นกับรูป ขุดคุ้ย อันไหนที่มันเป็นทุกข์นี่ โอ้ยมันขุดคุ้ย เหมือนน้ำกับน้ำมัน น้ำมันนี่มันต้องอยู่เหนือน้ำเสมอ น้ำต้องอยู่ใต้น้ำมันเสมอ แม้นิดหน่อยมันก็ต้องอยู่เหนือน้ำ ปัญญา สติ สมาธิ หรือว่าปัญญานี่มันต้องอยู่เหนือ มันเหนือรูป ความสุขมันอยู่ต่ำ ความทุกข์มันอยู่ต่ำ ความไม่เป็นอะไรมันอยู่เหนือ นิดหน่อยก็เหนือ คำว่าทุกข์นี่มันขุดคุ้ย เห็นอะไรก็ไม่เห็นชัดเท่ากับเห็นความทุกข์ ความทุกข์นี่มันโชว์ที่สุดเลย เป็นกีฬา เป็นกีฬาการดับทุกข์ การเจริญสติเอาจริง ๆ แล้วนี่ ถือว่าเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน จากจิตใจที่เคยโลภ เคยโกรธ เคยหลง เคยวิตกกังวล สมองเย็นลงไป เปลี่ยนร้ายเป็นดีีสมกับชื่อว่า ภาวนา ภาวนาคือเปลี่ยนร้ายเป็นดีนะ เห็นรูปทุกข์เห็นนามทุกข์ จนคล่องตัว การถือว่าทุกข์นี่ มีเท่าไหร่ มีเท่าไหร่ มีเท่าไหร่ สนใจ
เหมือนกับเราทำงานสิ่งไหนที่มันผิดนี่เอาทิ้งไว้ไม่ได้ นักทำงานต้องเป็นนักแก้ความผิดให้เป็นเรื่องของความถูกจึงจะเรียกว่า ทำงาน การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน นี่มันก็เห็นตั้งแต่เรื่มต้นแล้ว มันหลง เราก็เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ไป ก็ทำได้ทุกคน ทุกคนทำได้ ตัวหลงเป็นตัวรู้ทำได้ หลงไปทางกายก็เอากายเป็นความรู้ มัินเกิดอยู่ที่เดียวกันตำแหน่งเดียวกัน ไม่ใช่เกิดคนละวันละเวลา เกิดคนละอย่างไม่ใช่เกิดที่เดียวกัน เราก็เปลี่ยนที่เดียวกัน มันหลงอยู่ที่ตา ก็เอาตานั่นแหละเป็นความรู้ อะไรก็ตามมันเนื้อมันในมันอยู่แล้ว ปฏิบัติธรรมมันสมบูรณ์แบบ สะดวก เป็นการสะดวกมากการปฎิบัติธรรม เป็นสิ่งที่ทำได้กับมือกับเรา ถ้าจะเป็นนรกที่เป็นความทุกข์ เราก็ปิดนรกด้วยมือของเรา ปิดความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ซะ ถ้ามันโกรธ ถ้ามันจะเป็นนรกนี่ก็ปิดความโกรธเป็นความไม่โกรธเท่านั้น มันเป็นสิ่งที่ทำได้กับมือเรา พระพุทธเจ้ายังสอนพวกเราว่า ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ผู้ปฎิบัติย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ อันนี้เป็นการกระทำเป็นการปฏิบัติเห็นเหมือน ๆ กัน แต่ว่าสิ่งที่มันต่างกันนะ มันก็อินทรีย์ ศรัทธาบ้าง บางคนศรัทธาไม่ค่อยมี ทำไปอย่างงั้นแหละ เห็นเขาทำก็ทำไป เวลามันทุกข์ก็เอ้าทุกข์ไปบ้าง เวลามันหลงก็หลงไปบ้าง ไม่ได้ตรวจตราไม่ได้ทำงานไม่ได้มีการบ้าน ไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้กับตัวเอง การเจริญสติเหมือนพิพากษาตุลาการนะ สร้างความเป็นธรรม ความรู้สึกตัวไปอยู่ที่ไหนเกิดความเป็นธรรมมันไม่ยอมเข้าข้างความรู้สึกตัวไว้ การปฏิบัติธรรมนี่เราอย่าไปเอากำลังอย่างเดียว ความเพียรอย่างเดียว ต้องมีศรัทธา ศรัทธานี่อู๊ยยิ่งเวลาใดที่มันยุ่งมันยากนี่ มีศรัทธานี่โอ๊ยความยากกลายเป็นความง่าย แล้วก็มีศีลสำรวมบ้าง อย่ากระโตกกระตาก อย่าใจเสาะ ใจเปราะ ใจบาง หนักแน่นเอาไว้ ยิ้มแย้มแจ่มใส วางตา วางกาย วางใจ วางหน้า วางตา วางให้มันเหมาะสม เช่น ท่านั่งก็ให้มันเหมาะสม หน้าตาก็มีที่วาง อมยิ้มเอาไว้อย่าหน้าบูดหน้าบึ้ง มันก็ยากจนอะไร จนอืมมันยาก ทำอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็โอ๊ยยาก ๆ เอาความยากเอาความง่าย ถ้าเห็นกันก็ว่ายากเอาความยากออกมาโชว์ เหมือนสมัยก่อนโน้นหลวงพ่อเคยทำนา มีชาวนานาติดกันพอเห็นหน้ากัน โยมคนนั้น ก็โอ๊ยตาย ๆๆ บ่ไหว ๆๆๆ พอเห็นหน้ากันทีไรก็โอ๊ยตาย ๆๆ บ่ไหวๆๆๆๆ เอายามาสูบซะก่อนเถอะ ชวนสูบยาชวนนั่งสูบยา เราก็ไม่อยากนั่งนะ แต่ว่าอย่าฟ้าวไป อย่าฟ้าวไป (อย่าฟ้าว ภาษาอีสาน หมายถึง อย่ารีบไป) ตาย ๆๆ บ่ไหว ๆๆๆ เอ้านั่งซะก่อน ๆ เห็นหน้า เห็นหน้ากันกะดันตาย ๆๆ บ่ไหว ๆๆๆ มันเปราะบางเกินไป สู้ซักหน่อย ยิ้ม อมยิ้มไว้ ๆ อย่าเปราะบาง อย่าหวั่นไหว อย่ายอมอะไรง่าย ๆ สู้ซักหน่อย นี่เรียกว่า ศรัทธา มีศีล อย่ารู้แต่ความยากความง่าย เอายากเอาง่ายให้ได้ก่อน แล้วก็มีความเพียร มีศรัทธา มีความอดทน อดทนเหมือนพูด ไม่พูดเหมือนปลา ซื่อสัตย์เหมือนหมา ขี้ข้าเหมือนวัว โบราณท่านว่า บางทีก็ไม่ต้องพูด มันอยากจะพูดก็ไม่ต้องพูด ปิดปาก ปิดตา ปิดหู ไม่ต้องไปรู้ไปเห็นอะไรมาก สอดรู้สอดเห็นอะไรมาก ใช้สติเป็นอินทรีย์สำรวมอายตนะลง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลงไป เหลือแต่สติอินทรีย์ออกรับรู้รอบตัว สติมันจะเป็นความรู้รอบนะ มันแสงเหมือนกับแสงไฟฉายแสงนีออน อ่ะมันไม่เหมือนแสงไฟฉายมันรู้รอบ ความรู้สึกตัวมันรู้รอบ ๆ นะ แล้วมันจะมีอำนาจมันจะใหญ่ แล้วเราไปใช้อินทรีย์อื่น หูดีเกินไป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อะไรต่าง ๆ คอยที่จะให้มันเจริญงอกงามมันก็ไม่ดี สติอินทรีย์จะไม่งาม ต้องถนอมบ้างบางโอกาส รักษาบ้างบางโอกาส เหมือนกับพระพุทธเจ้าสอนพระอานนท์ ไม่เห็น ไม่ดูเสียเลยเป็นการดี ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น ก็อย่าพูดเสียเลยเป็นการดี ถ้าจำเป็นต้องพูดก็ต้องมีสติทุกคำเป็นการดี อันนี้เราอย่าอย่าปล่อยอะไรมาก สำรวมลงมันจะช่วยเยอะ มีศรัทธา มีศีล มีสมาธิ มีความเพียร มีความอดทน มีสตินี่หลายอย่างพลังร่วม ของยากกลายเป็นของง่าย ของหนักก็จะกลายเป็นของเบา อริยาบทที่นั่งก็พยายามนั่งให้มันได้ท่าดี ๆ เอวบ้าง หน้าอกบ้าง ต้นคอบ้าง ใบหน้าบ้าง อย่าไปนั่งหลังขดหลังงอ หน้าบูดหน้าบึ้ง ให้สดชื่นอยู่เสมอ หัวเราะความยาก หัวเราะความทุกข์ หัวเราะความคิดตัวเอง บางคนพอเห็นตัวเองคิด คิด เครียดขึ้นมา ก็เครียดไปกับความคิด ให้ความคิดบังคับขับไสเราทำตามมันทุกอย่าง ลองมาหัวเราะความคิดตัวเองลองดู หัวเราะความโกรธของเราบ้าเอ๊ย เอ้านี่ความโกรธเราหรือนี่ โอ๊ย แค่นี้ก็โกรธก็จะทำอะไรได้ จะเป็นพ่อคนแม่คนได้ยังไง จะเป็นเมียเป็นผัวเขาได้ยังไง แค่นี้ก็โกรธแล้ว หัวเราะความทุกข์ หัวเราะความโกรธ หัวเราะความคิดตัวเอง มองแบบขำ ๆ อย่าไปทำอะไรผิด ๆ ถูก ๆ เอาจริงเอาจังกับตัวเอง เอาจริงเอาจังกับคนอื่น บางทีไม่เป็นไร ผิดบ้างไม่เป็นไร ถูกบ้างไม่เป็นไร ความผิดมันเพื่อถูก ความทุกข์มันเพื่อไม่ทุกข์ก็เป็นได้ ความตึงมันเพื่อหย่อน ความหย่อนมันเพื่อตึงก็ได้บางโอกาส อย่าไปจริงจังจนเป็นสีลัพพตปรามาส เอาจริงเอาจังไม่ค่อยบรรลุธรรมนะ ถ้าใครจริงจังจนเกินไป เห็นไหมพระอานนท์น่ะเอาจริงจังจนเกินไป ไม่หลับไม่นอนเลย ไม่ได้บรรลุธรรมเลย พอเห็นแสงเงินแสงทอง โอ๊ย พักสักหน่อยก่อนน๊า พอบอกว่าพักสักหน่อยก่อนน๊า มันวางใจ ใจมันวาง พอใจวางแป๊ปเดียว เอนหลังหัวยังไม่ถึงหมอนเลยได้บรรลุธรรมทันที พอวางเท่านั้นหละ มันต้องวางนะ การปฏิบัติจริง ๆ ความรู้สึกตัวมันทำให้วาง