แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอให้เป็นอาชีพอันหนึ่งในชีวิตเรา นอกจากเรามีการศึกษาเล่าเรียน ในวิชาความรู้ต่าง ๆ เป็นปัจจัย เป็นอาชีพ เลี้ยงชีวิต การปฏิบัติธรรมก็ถือว่าเป็นอาชีพ สิกขาและธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตของเราทั้งหลาย
ชีวิตเราก็มีสองส่วน ส่วนกายส่วนจิต ส่วนกายนั้นก็เลี้ยงด้วยข้าวปลาอาหาร ส่วนจิตก็เลี้ยงด้วยสิกขาและธรรม คือ คุณธรรมเป็นอาหารจิต เราจึงมีการศึกษาทั้งสองส่วน ให้อาหารทั้งสองส่วน จึงจะสมดุล การปฏิบัติธรรม
การเจริญสติ เป็นการให้อาหารจิตวิญญาณ ให้จิตวิญญาณได้สัมผัสกับปรกติธรรมทั้งหลาย ในสภาพของจิต ไม่ใช่ว่าจะคิด ปรุง ๆ แต่ง ๆ โดยเฉพาะจิตใจของเราเนี่ย เราใช้จิตใจไม่เป็น เอามาไว้วิตกกังวล เศร้าหมอง เอามาไว้รัก ไว้ชัง เอาไว้สุข ไว้ทุกข์ มันไม่ใช่ ธรรมชาติของจิต บางทีเราก็คิดจนทำให้ตัวเองเจ็บปวด คิดแบบกัดตอดตัวเองให้เจ็บปวด อันนั้นไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง จิตใจที่จะต้องพึ่ง เอาไว้หยุด เอาไว้เย็น เอาไว้ให้อยู่ในความปรกติ เนี่ยต้องมีสิกขาและธรรม มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา คอยดูแลจิต ผู้ใดระวังจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร
“จิตฺเตน นียติ โลโก” โลกอันจิตย่อมนำไป
“จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ” จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้
ถ้ามีจิตก็ต้องให้พึ่งจิตได้ นี่เราจึงมาพากันมาปฏิบัติ มันจึงจำเป็น เรามีกาย เรามีใจ อย่าไปคิดแต่เรื่องกายอย่างเดียว มาดูแลจิตใจด้วย
การมาปฏิบัติ การมาเจริญสติ มันโดยตรง โดยตรง เราเจริญสติมันก็เป็นการฝึกหัดจิตไปในตัว นี่บางทีก็ฝึกหัดตรง ๆ ฝึกหัดตรง ๆ จ๊ะเอ๋กันตรง ๆ เรากำลังเจริญสติอยู่ดี ๆ มันคิดผุดขึ้นมา รู้สึกตัวตรง ๆ จ๊ะเอ๋กับความคิดที่มันหลง ความรู้สึกตัวกับความหลงที่เกิดขึ้นกับจิต มันเป็นบทเรียนที่มีค่ามาก อย่าไปถือเอาเป็นความผิดพลาด ถ้ามันหลงทีไรที่เกิดขึ้นกับจิต รู้สึกตัวนั่น รสชาติของการปฏิบัติธรรม พอรู้สึกตัวกับจิตที่มันหลงคิดไป กลับมารู้สึกตัวนั่น บรรลุธรรม
การบรรลุธรรม คือ บรรลุอย่างนี้ เวลาใดที่มันโกรธ มันทุกข์ เกิดขึ้นกับจิต รู้สึกตัว ความโกรธ ความทุกข์ หมดไป หายไป หยุดไป เรียกว่า “บรรลุธรรม” ชีวิตเราต้องเป็นการบรรลุธรรม บรรลุปัญหาที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา ฝึกฝนเอาไว้ ไม่ใช่จะรับเอาทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องจิตใจนี่ สั่งงาน สั่งการ ให้กายหอบหิ้ว กายหอบหิ้วอะไรต่าง ๆ มันก็ไม่ไหว ทำตามความคิดหมดทุกอย่างไม่ได้ ชีวิตเรามันต้องอยู่อย่างนี้ อยู่กับกาย อยู่กับจิต จะเป็นจะตายมันก็เรื่องของกายของจิตเรา การปฏิบัติธรรมมันจะเกิดความสมดุลในการมีชีวิต ความหลงไม่ใช่ชีวิต ความรู้สึกตัวน่ะคือชีวิต ความโกรธ ความทุกข์ ความวิตกกังวล มันไม่ใช่ชีวิต ความไม่โกรธ ไม่ทุกข์ ความไม่กังวล ความปกติ คือ ชีวิต ชีวิตแบบนี้ชีวิตไม่ตาย เราต้องได้ชีวิตแบบนี้ ให้มันเป็นคนละส่วน โลก ๆ ทั้งหลาย เราก็ใช้กายใช้จิตของเรา ให้เหมาะสมไปกับเหตุปัจจัยต่าง ๆ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สพฺพรสํ ธมฺมรโส (ชินาติ)” รสของพระธรรมนี่ ชนะรสทั้งปวง
ไม่ใช่รสแบบอะไรต่าง ๆ ที่รสของโลก มันก็มีรสนะ โลกก็มีรสน่ะ จนมนุษย์ทั้งหลาย คนทั้งหลาย สัตว์โลกทั้งหลาย ติดรสของโลก ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะเนี่ย โลกเอาไปกินหมดเลยชีวิตเรานะ ความรัก ความชัง ความสุข ความทุกข์ ยินดี ยินร้าย วิตกกังวล เศร้าหมอง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็มีรส เราก็แบ่งปันให้รสเหล่านั้น จนไม่มีอะไรเหลือ บางทีนะ ตาก็มีรส กินอาหารทางตา หูมันก็มีรสกินอาหารทางหู จมูกมันก็มีรสกินอาหารทางจมูก ลิ้นมันก็มีรสกินอาหารทางลิ้น กายมันก็มีรสกินอาหารทางกาย จิตใจมันก็มีรสกินอาหารทางจิต แต่ว่า จิตนี่แทบจะไม่มีอะไร เหือดแห้ง ไปทุ่มเทให้กับตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปเสียทั้งหมด
ถ้าเราได้รสของพระธรรมแล้ว รสทั้งปวงก็จะจืดนะ จืดมันไม่มีค่า ส่วนจิตที่มันเป็นอีก ความปรกติของจิต แล้วก็ใช้รสอย่างถูกต้อง แม้จะมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เขาเป็นใหญ่ ตาก็เป็นใหญ่ หูก็เป็นใหญ่ จมูกก็เป็นใหญ่ ลิ้นก็เป็นใหญ่ กายก็เป็นใหญ่ แต่ว่าจิตนี่ถ้ามีสติอินทรีย์เข้าไป เป็นจิตที่ฝึกดีแล้ว ก็เป็นใหญ่ ใหญ่ด้วยความเป็นธรรม แต่ถ้าเราไม่ฝึกนี่ จิตมันก็เป็นใหญ่เหมือนกัน ใหญ่แบบเถื่อน ๆ หอบหิ้วให้คิดไป ทำไป พูดไป เป็นปัญหาต่อทุกสรรพสิ่ง เราจึงมาฝึกกัน จำเป็นมาก ๆ
อย่างที่เราฝึก ต้องเห็นอะไรบ้าง เห็นความคิด ถูกความคิดหลอกแล้วหลอกอีก กายก็หลอกอีก ตาก็หลอก หูก็หลอก เราก็รู้สึกตัว รู้สึกตัวนะ มีรสชาตินี่นะ ไม่สนุกอะไรเท่ากับการสนุกอะไรต่าง ๆ ไม่เท่ากับสนุกการมาดูกายมาดูใจ มันเห็นของจริง เห็นของที่ไม่จริงว่าไม่จริง ความจริงอยู่ในความไม่จริง เช่น ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน มันจริงแบบไม่จริง ความโกรธมันไม่จริง ความโกรธมันไม่เที่ยง ความโกรธมันเป็นทุกข์ มันก็มี แต่ว่าเราเห็นที่มันไม่จริง มันก็จืดนะ เมื่อสิ่งไหนที่มันไม่เที่ยงเกิดขึ้นกับเรา สิ่งไหนที่มันเป็นทุกข์เกิดขึ้นกับเรา สิ่งไหนที่มันไม่ใช่ตัวตนเกิดขึ้นกับเรา อันนี้ต่างหากที่เป็นการบรรลุธรรม เรียกว่าเห็น เห็นแล้ว เห็นหมดแล้ว เรื่องของกายของจิต ตั้งแต่อยู่วัดป่าสุคะโตโน่น ไปพบไปเห็นมาแล้ว มันก็เรื่องเก่า ความไม่เที่ยงก็เกิดอยู่เรื่อย ๆ มันตามไป มันก็แห่เราไป แห่ในกาย แห่ในจิต
แต่ว่าจิตใจของเราเนี่ย ถ้าเราฝึก มันจะมั่นคง มันจะเกิดการเห็น ความไม่เที่ยงก็เป็นเรื่องของความไม่เที่ยง ไม่เข้าไปสยบ ไม่เข้าไปอยู่กับมัน เป็นผู้ดูมัน หัวเราะความไม่เที่ยง หัวเราะความเป็นทุกข์ หัวเราะความไม่ใช่ตัวตน เรียกว่า “อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ” พึ่งได้แล้วบัดหนิ เป็นชีวิตที่พึ่งได้ เมื่อความไม่เที่ยงเกิดขึ้นกับเรา เมื่อความไม่เที่ยงเกิดขึ้นกับคนอื่น เราก็รู้แล้ว รู้แล้ว ความไม่เที่ยง รู้แล้ว รู้แล้ว รู้หมด เหมือนหลวงพ่อพูดแต่วันก่อน ๆ มันก็เรื่องเดียว เรื่องกายเรื่องจิตของเรานี่ มันไม่มากหรอก มันไม่มาก ถ้าเรามามีสติดู เห็นมัน อาการต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ เราก็ได้ทำแล้ว ความหลงกับความรู้ ความหลงก็สอนให้เรารู้ ความผิดก็สอนให้เรารู้ ความสุขก็สอนให้เรารู้ ความทุกข์ก็สอนให้เรารู้ อะไรต่าง ๆ ตัวรู้สึกตัวเนี่ย เข้าไปเฉลย เราใช้เรื่องนี้ ใช้การศึกษา
คำว่าศึกษา คือ ถลุง ย่อยแล้ว ความหลงไม่เป็นดุ้นเป็นก้อน ความทุกข์ไม่เป็นดุ้นเป็นก้อน ย่อยออกแล้ว ถลุงแล้ว แยกแล้ว ทำให้หมดไปแล้ว ความหลงเป็นสังขาร สิ่งไหนที่เกิดขึ้นกับสังขาร สังขาร คือ การปรุง ๆ แต่ง ๆ สิ่งไหนที่มันเป็นผลิตผลของสังขารทั้งหลาย แสดงว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าเราไม่ศึกษา สิ่งไหนที่เกิดขึ้นกับสังขาร เราก็ไปยึดเอา ว่าเป็นตัวเป็นตน อย่างที่เราสวดทำวัตรเช้าน่ะ “ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์” ไปยึดเอา รูปก็เป็นรูป ไปยึดเอา เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะรูป ไปยึดเอาเวทนา เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะเวทนา ไปยึดเอาสัญญา ว่าเป็นสุขเป็นทุกข์เพราะสัญญา ไปยึดเอาวิญญาณ สังขาร ว่าเป็นสุขเป็นทุกข์เพราะวิญญาณ สังขาร ไปยึดเอา
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายรู้แล้ว ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ “เสยยะถีทัง” ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ รูปมันก็ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ไปยึดเอาว่าเป็นตัวเป็นตน ไปอยู่กับความไม่เที่ยง ไปอยู่กับความเป็นทุกข์ สงฆ์สาวกทั้งหลายเขารู้เรื่องนี้เป็นส่วนมาก เอวัง เอวัง เอวังคือสรุปแล้ว ถ้าเห็นตามความเป็นจริงนะ บรรลุธรรมก็บรรลุตรงนี้ ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้ ความทุกข์คือรูป คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีอุปาทานเข้าไปยึดเอา ยึดเอาก็คว้าน้ำเหลวกันทั้งนั้น ยึดเอาความหลง มันก็ไม่มีความหลง ยึดเอาความโกรธมันก็ไม่มีจริง ๆ ความโกรธ ยึดเอาความทุกข์มันก็ไม่มีจริง ๆ ความทุกข์ เราไปยึดเอาเป็นครั้งเป็นคราว ยึดเอาความรัก ยึดเอาความชัง ถูกความรักความชังหลอก ถูกความโกรธ ความโลภ ความหลงหลอก เสียผู้เสียคน นั่นมันเกิดจากเรา มันก็ไม่มีตัวมีตน ก็หลอกเราได้ดี ไม่มีตัวมีตนจริง ๆ มันก็ไม่น่ากลัวอะไร บางทีก็ยอมแพ้ เช่น ความโกรธ ก็ยอมทำตามความโกรธ แพ้ไปเลย ปราชัยไปเลย ไม่เคยเอาความโกรธมาศึกษา ความทุกข์มาศึกษา มาดูสิว่ามันมีจริง ๆ ไหม มันหายไปเมื่อไหร่ไม่รู้บางทีนะ ถูกมันหลอก ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ฆ่ากันตายก็มี เมื่อถูกความโกรธหลอกเราก็ฆ่ากันได้
ในสมัยที่ ห้าร้อยสิบเอ็ดสิบสอง (๒๕๑๑, ๒๕๑๒) หลวงตาอยู่เมืองเลย ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เทียน มีชาวบ้าน ลูกกับพ่อตาย อันนี้เห็นกับตา แล้วก็ พ่อกับลูกสะใภ้อยู่บ้าน ปู่เนี่ยก็พูดกับลูกสะใภ้ ลูกสะใภ้ก็ร้องไห้ไปหาผัวของตนที่ทำงานอยู่ในไร่ ขับรถมอเตอร์ไซด์ไปบอกผัวตัวเองว่าปู่ด่า ผัวพอได้ยินเมียไปบอกขณะที่ทำงานอยู่ ก็โกรธทันที คนทำงานหนัก ๆ อะไรก็ตามจะโกรธง่าย ใจมันจะเปราะบาง พอไปบอกว่าปู่ด่า ก็โกรธทันที พอโกรธแล้วก็ขับรถมอเตอร์ไซด์ คนเมืองเลยมักจะมีปืนลูกซอง ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เข้าดงเข้าป่าเขาจะพายปืนลูกซองไป พายปืนลูกซองไปก็ขับรถมอเตอร์ไซด์มา เข้ามาบ้าน ปู่กำลังเหลาตอกไม้ไผ่อยู่ ยังไม่ได้พูดจาอะไรเลย เพราะความโกรธ ก็เอาปืนลูกซองเหนี่ยวยิงปู่ ปู่ก็บอกว่าอย่ายิง อย่ายิง เอามือบังไว้ มึงอย่ายิง อย่ายิง ไม่(...) ยิงถูกฝ่ามือ ถูกหน้าผาก ตายทันที พอพ่อตายแล้ว ลูกชายที่ไปยิงพ่อนั่น วางปืนทิ้งขึ้นทันที โอ้ย! พ่อกูตายแล้ว พ่อกูตายแล้ว ความโกรธหายไปเลย กลายเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวง พอความโกรธมันหายไป กลายเป็นความสงสารพ่อ ทันที อุ้มพ่อ กอดพ่อ ร้องห่มร้องไห้ เสียอกเสียใจ แล้วก็นั่งร้องห่มร้องไห้กอดศพพ่อ แล้วก็รอให้ตำรวจมาจับ ก็มีคนไปแจ้งตำรวจมาจับ ตำรวจก็จับไป สารภาพ ก็ติดคุก ติดคุกออกมาก็ มาเป็นคนดี ทำบุญทำทาน ช่วยเหลือพี่น้อง(...)ความผิดพลาดที่ตัวเองทำความชั่ว ความโกรธแป๊บเดียวมันก็หายไป ทำตามความโกรธ มันไม่มีจริง ๆ ความโกรธ เราก็ไปเสียเปรียบ ความทุกข์มันก็ไม่มีจริง ๆ ต่อไปนี้สิ่งเหล่านี้จะไม่มีอำนาจที่จะมาสั่งให้เราทำได้ เรารู้สึกตัว เรารู้สึกตัว เราฝึกเอาไว้แล้ว เห็นมันแล้ว ถ้าเห็นความทุกข์ก็ยิ่งดีนะ เห็นความเบื่อหน่าย เห็นความขี้เกียจขี้คร้าน ที่มันสอดแทรกขึ้นมา เรากำลังทำดี บางทีมันก็คิดขึ้นมา เบื่อ เซ็ง เครียด น่ะ มันเกิดขึ้นได้กับเรา กลายเป็นความเครียด
หลวงพ่อเคยสอบอารมณ์นักปฏิบัติ คนกรุงเทพมาปฏิบัติ ไปถามเขา “เป็นยังไงหนู”
เขาก็พูดว่า “แหม! ไม่ไหวเลยหลวงพ่อวันนี้ มันเครียด มันคิดมาก แย่เลย แย่เลย”
ก็เลยถามว่า “นักกรรมฐานไม่ใช่พูดแบบนั้น พูดใหม่ พูดใหม่”
“จะพูดยังไงดีละ มันเครียดมาก”
“ไม่ใช่ พูดใหม่ เราเป็นนักกรรมฐานแล้ว”
เขาก็พูดใหม่ว่า “วันนี้หนูเห็นมันเครียด”
เอ้อ! อย่างนี้สิ เห็นมันเครียดกับเป็นผู้เครียดต่างกันไหม ต่างกันนะ ถ้าเห็นมันเครียดนี่เบาซักหน่อยไหม ถ้าเป็นผู้เครียดนี่หนักไหม เอ้อ! อย่างนี้สิ นี่ นักกรรมฐาน เห็นมันเครียด พอเขาบอกว่าวันนี้หนูเห็นมันเครียด
“เอ้อ! อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ นักกรรมฐานต้องดูแบบนี้ เป็นผู้ดู อย่าเข้าไปอยู่” พอหลวงตาบอกนี่ เขาก็ หน้าตาก็เบิกบาน มันก็เป็นภาวะที่เห็นเข้าจัง ๆ แก้ได้จัง ๆ หน้ามือเป็นหลังมือ
ระหว่างความเครียดกับความไม่เครียด มันก็มาพร้อม ๆ กัน เกิดที่เดียวกัน ดูดี ๆ นะ มันเกิดที่เดียวกัน ความเครียดเกิดขึ้นที่จิต เอ้า! ความไม่เครียดก็อยู่ที่จิตนั่นแหละ ความโกรธมันเกิดขึ้นที่จิต ความไม่โกรธก็เกิดขึ้นที่จิตนั่นแหละ ฮะ! มันอยู่อย่างนั้น
เหตุมันมี ผลมันก็มี พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า มีแต่เหตุกับผล การที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตรัสรู้อริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ ก็มีเหตุกับผล ความโกรธ ความไม่โกรธ ความโกรธเกิดขึ้นที่จิต มันเป็นเหตุที่ทำให้จิตมันโกรธ เราก็เปลี่ยนตรงนั้นแหละ เหตุเกิดขึ้นที่ไหนก็ดับแห่งเหตุอันนั้น อย่าไปด่ากัน เวลามันโกรธขึ้นมาก็ไปด่ากัน กูได้ด่ามันกูก็หายโกรธ ไม่ใช่เลย ก็ต้องเปลี่ยนในจิตของเรานั่นแหละ นี่เราฝึกเอาไว้ ถ้าเราไม่ฝึกมันก็ไม่มีใช้นะ ก็พัดไปเลยนะ เราจึงมามีหลัก กรรมฐานเป็นหลัก ฐานมีที่ตั้ง มีหลักแล้ว เรามีหลักแล้ว เรามีความรู้เป็นเจ้าเรือน มีความรู้สึกตัวเป็นเจ้าเรือน บางทีเรามีความหลงเป็นเจ้าเรือน มันก็มีปัจจัยที่หลงอยู่แล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นวัตถุแห่งความหลงก็ได้ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นวัตถุแห่งความหลง พระพุทธเจ้าจึงว่า วัตถุกามคุณ เกิดขึ้นที่ตา ที่หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นใหญ่ บัดนี้เรามีสติเป็นใหญ่กว่า ใช้ตา ใช้หู เราจึงมาฝึกหัดให้มันมี ถ้าไม่ฝึกมันไม่มี อย่าให้จนเรื่องนี้ อะไรเกิดขึ้นก็ตาม เรามีสติแล้ว เข้าข้างความรู้สึกตัวเอาไว้ ก่อนพูด ก่อนทำ ก่อนคิด ขณะที่พูด ขณะที่ทำ ขณะที่คิด มีสติเป็นเจ้าเรือน มีสติเป็นใหญ่ เป็นสติอินทรีย์ เป็นใหญ่กว่าตา กว่าหู กว่าจมูก กว่าลิ้น กว่ากาย กว่าใจ ถ้ามีสติอินทรีย์นะ สติอินทรีย์นี่จะเอาตา เอาหู เอาจมูก เอาลิ้น เอากาย เอาใจ มาใช้ ไม่ให้มันใช้เรา น่ะ! ถ้าเราฝึกแล้วนะ อะไรเกิดขึ้นก็ตาม สติเป็นเจ้าเรือน หรือเป็นวิหารธรรม เป็นที่อยู่ของชีวิตเรา ปลอดภัยที่สุดเลย ไม่มีภัยเลย มีแต่ชีวิตที่เราใช้ชีวิต ทำงานทำการ ประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ ศึกษาไปเรื่อย ๆ
บางคนนักปฏิบัติธรรมเนี่ย ตอนที่ปฏิบัติเนี่ยภาคการทำจริง ๆ เนี่ย ไม่ค่อยจะเข้าใจ พอไปประกอบอาชีพ บางคนไปอาบน้ำ หลวงพ่อยังได้รับจดหมายของนายแพทย์คนหนึ่ง อยู่จังหวัดนครสวรรค์ เขาเข้าใจชีวิตตอนที่เขาอาบน้ำ เขาถูสบู่ถูไปถูมารู้สึกตัว พอดีขณะนั้นมันคิดขึ้นมา เขารู้ทันขณะนั้นพอดี เขาเรียกว่าได้ชัยชนะ ได้ชัยชนะของจิตที่มันคิด ที่มันหลง เขาบอกว่าอู้! ทำไมมันเป็นอย่างนี้หลวงพ่อ ผมไปเห็นความคิดที่มันเกิดขึ้นกับจิต ผมกำลังถูสบู่รู้สึกตัวอยู่ มันคิดขึ้นมา ผมรู้ทันมัน จ๊ะเอ๋เหมือนหลวงพ่อว่าจริง ๆ นะ อาลัยไปเลย ความคิดแบบนั้นน่ะ แต่ก่อนผมไปกับมัน เดี๋ยวนี้ผมไม่ไปแล้ว มันปราชัย มันพ่ายแพ้ ความรู้สึกตัวชนะไปเลย เป็นการชนะตัวเอง
ชนะตัวเองก็คือ ชนะตัวหลงที่มันเกิดขึ้นกับจิตนี่แหละ ไม่ใช่ไปชนะคนอื่น ชนะคนอื่นร้อยครั้งพันหนไม่ชนะตนครั้งเดียว ชนะตนคือชนะตัวหลงที่มันเกิดขึ้นกับจิต ตรงนี้แหละ เอาเป็นเป้าเลยพวกเรา การบำเพ็ญทางจิตก็คือทำอย่างนี้ เราอยู่ที่ไหนจิตมันก็มีอยู่ มันคิดขึ้นมาเราก็รู้ มันจะสุขจะทุกข์เรารู้ มันไปด้วยกัน มันไปด้วยกัน มันอยู่ด้วยกันแล้วการปฏิบัติธรรม มันสะดวกนะ ความหลงกับความรู้ไปพร้อมกัน แก้ได้เปลี่ยนได้ ความทุกข์กับความไม่ทุกข์ไปพร้อม ๆ กัน เกิดที่เดียวกัน อย่าไปทิ้ง มองเป็นเหตุเป็นผล การบรรลุธรรมก็บรรลุตรงนั้น ความหลงเกิดขึ้น เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ บรรลุธรรมแล้ว ความโกรธเกิดขึ้น เปลี่ยนความโกรธเป็นความรู้สึกตัว บรรลุธรรมแล้ว
อะไรก็ตามนะ บอกแล้วบอกอีกว่าตัวรู้สึกตัว ที่เป็นสติปัฏฐานจริง ๆ เนี่ย ตัวนี้แหละเป็นตัวที่ทำให้เกิดการบรรลุธรรม มันเปลี่ยนไปแล้ว แก้ได้แล้ว พ้นไปแล้ว มันหลงก็พ้นจากความหลง มันทุกข์ก็พ้นจากความทุกข์ มันมีเพื่อความหลุดพ้น ที่สุดของการศึกษาปฏิบัติ คือพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ คือความหลุดพ้น ความบริสุทธิ์ ความปรกติ อันนี้ ก็ต้องทำให้เป็น ถ้าไม่หัดมันก็ทำไม่เป็น มันก็คว้าเอาตะพึดตะพือ รู้จักเลือก การรู้จักเลือกเขาเรียกว่า “ธัมมวิจยะ” หรือ “โยนิโสมนสิการ” สอดส่อง เหมือนกับเรากินข้าวกินอาหาร ต้องขบต้องเคี้ยว การเคี้ยวอาหารเนี่ย บางทีมันก็ ถ้าไปถูกลิ้นถูกเขี้ยวถูกฟันของเรา มันไม่กลืน มันเอาออก เช่น ถูกดูก ถูกก้าง มันก็เอาออก มันคายทิ้งไป มันไม่เอา เรียกว่า ธัมมวิจยะ การขบเคี้ยว การสอดส่อง ดูแล ดู อย่าเข้าไปอยู่ เห็น อย่าเข้าไปเป็น ในกายในใจเนี่ย อะไรที่เกิดขึ้นกับกาย ดู อย่าเข้าไปอยู่ อะไรที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ เห็นมัน อย่าเข้าไปเป็น ก็บอกแล้วบอกอีก บอกแบบง่าย ๆ บอกแบบสุดยอด เห็นอย่าเข้าไปเป็น เห็นมันหิว เป็นผู้หิวหรือว่าเห็นมันหิว ถ้าเป็นผู้หิวหมดเนื้อหมดตัว มันก็เป็นโลกไปแล้ว รสของโลกเอาชีวิตเราไปแล้ว เห็นมันหิว ไม่ใช่เป็นผู้หิว ขอบคุณความหิว มันไม่ตายเพราะความหิว ขอบคุณความร้อน ความหนาว ไม่ใช่เอาความร้อนความหนาวมาเป็นทุกข์ ไม่ใช่เอาความหิวมาเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่มีหลัก เอามาเป็นทุกข์ทั้งหมด ร้อนก็ทุกข์ใจแล้ว หนาวก็ทุกข์ใจ หิวก็ทุกข์ใจ เจ็บปวดก็ทุกข์ใจ อะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเอามาเป็นทุกข์ บัดนี้เอามาเห็น เอามาเป็นการพบเห็น ถ้าเห็นแล้วหลุดพ้นนะ
นักปฏิบัติคนหนึ่ง เขาเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แล้วก็กระดูกด้วย พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงพ่อเคยไปสอนธรรมที่กรุงเทพฯ วัดชลประทาน เขามาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อ เขาก็พอเอาชีวิตรอดได้ เขาเป็นโรคมะเร็ง เขาก็ออกจากบ้านหลังใหญ่ สามีเขาเป็นนายทหารใหญ่ เขาลงจากบ้านหลังใหญ่ไปปลูกกระต๊อบอยู่ มุมหนึ่งของบ้าน ในรั้วบ้าน ปลูกหญ้าเขียว ปลูกต้นไม้ ปลูกดอกไม้ เขามีลูกชายสองคน ลูกชายเขาก็เป็นคนดี เขาอยู่คนเดียว หลวงพ่อไปเยี่ยมเขา เขาพูดให้ฟัง โอ้! หนูแยกรูปแยกนามออก แยกความปวด ความปวดเป็นอาการของกาย ใจไม่ปวดก็ได้นะหลวงพ่อนะ ถ้าจะอยู่กับความปวด โอย! หนูอยู่ได้ ก็โรคมะเร็งกระดูกมันปวด มันปวดมาก เห็นอาการที่มันปวด มองเป็นอาการของกาย เป็นอาการของรูป มันไม่ใช่นาม นามคือจิตใจ ไม่ไปอยู่กับความปวด เวลามันปวดก็เห็นมัน มันจะเบาลง ถ้าเวลาใดเป็นผู้ปวดล่ะมันหนักมาก แทบจะเอาชีวิตไม่รอด อยู่ได้เพราะการเห็น หนูอยู่ได้เพราะการเห็น แล้วก็ออกมา ไม่เข้าไปอยู่ ไม่เข้าไปเป็นกับอาการ เออ! นี่เอาตัวรอด การปฏิบัติธรรม ไม่อยู่กับความปวด เห็นเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับรูป
แม้นามก็เหมือนกัน คือจิตใจก็เหมือนกัน ความโกรธเป็นอาการของจิต ไม่ใช่จิต ฟังเอาไว้ ความรักความชังเป็นอาการของจิตที่มันเกิดขึ้นกับจิต แต่ว่าว่ามันไม่ใช่จิต จิตจริง ๆ ไม่เป็นอะไร แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันจรมา บางอย่างก็ทำให้เศร้าให้หมอง ทำให้เปรอะเปื้อนได้ เหมือนกับศาลาหลังนี้แหละ จิตน่ะ ใครมาอยู่ก็ได้ ศาลาหลังนี้ไม่ว่าอะไร จิตของเราก็เหมือนกัน อะไรมาอยู่ก็ได้ แต่ว่าจิตไม่ว่าอะไรกับอะไร ความรักเกิดขึ้นกับจิต เอ้า! จิตก็ไปรักแล้ว ความชังที่เกิดขึ้นกับจิต เอ้า! จิตก็ไปชังแล้ว ความทุกข์ความสุขอะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับจิต เราก็ทำตามอาการที่มันเกิดขึ้น ที่จริงมันเป็นอาการ มันเป็นอาการ มันไม่ใช่ตัวจิตจริง ๆ มันเป็นอาการ จิตจริง ๆ ไม่เป็นอะไร บัดนี้มีสติเป็นเจ้าของ มีสติเป็นผู้ดูแล เห็น พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริง ๆ ว่า จิตของเรานี้ประภัสสร ผ่องใสอยู่เสมอ แต่ว่าอุปกิเลสสิ่งต่าง ๆ มันจรมา ทำให้จิตเศร้าหมอง นั่น! เราก็ดูออก อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับจิตไม่ใช่จิตจริง ๆ ดูเข้าไปจริง ๆ
การบรรลุธรรม คือ บรรลุตรงนี้ด้วยนะ เห็นอาการของกาย เห็นอาการของจิต เห็นธรรมชาติของจิต เห็นธรรมชาติของกาย ตามความเป็นจริง ไม่เข้าไปเป็น ไม่เข้าไปอยู่กับอาการต่าง ๆ แยกแยะออก ถลุงออก ย่อยออก เหลือแต่ธรรมชาติ เหลือแต่อาการ ไม่มีใครสุข ไม่มีใครทุกข์ เป็นอาการ เป็นปรกติ เป็นเช่นนี้ ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติ ผู้มีสติ จะได้หลักของกายของใจ ตามความถูกต้อง ตามหลักของอริยสัจสี่ ถ้าความหลงมี ก็เกิดปัญหาต่าง ๆ ถ้าความรู้มี มันก็หมดปัญหา มันตั้งต้นวิชชา และอวิชชา อวิชชาเหมือนป่า ป่าในชีวิตจิตใจของเรา เมื่อมีป่า มันก็มีสัตว์ร้ายที่มันอยู่ เพราะมีอวิชชา มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง มีความรัก ความชัง มันอาศัยป่า คืออวิชชา ความไม่รู้ ความไม่มีสติ บัดนี้วิชชา คือความรู้ มีสติ มันก็ไม่มีป่าในชีวิตจิตใจของเรา มันก็เตียนแล้ว หมดแล้ว ไม่มีที่อะไรหลบซ่อนแล้ว เราฝึกสติเพื่อให้มันเรียบ มันโล่ง ไม่มีอะไร อะไรเกิดขึ้นก็เห็นได้ มันมีตาในแล้ว มันเห็นแล้ว มันมีอะไรหลบซ่อน ปกปิดซ่อนเร้น ในกาย ในใจ ไม่มีตรงไหนที่เป็นความลับ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ มีสติเป็นผู้ดูแล เห็นหมด เห็นครบ เห็นถ้วน แม้นไม่ได้บรรลุธรรมจริง ๆ ถึงขั้นที่สุดแห่งทุกข์ ก็เอาตัวรอดได้ เอาตัวรอดได้ อยู่กับโลก ไม่ให้ถูกโลกทับถม เหมือนลิ้นอยู่ในปาก ลิ้นอยู่ในปากงู ไม่ถูกเขี้ยวของงู ลิ้น งูมันก็มีพิษ แต่ลิ้นอยู่ในนั้น ชีวิตของเราอยู่ในโลก เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียว อยู่กับหมู่กับมิตร อยู่กับเพื่อน อยู่กับแสงแดด อยู่กับละอองฝน อยู่กับมดกับแมงกับเหลือบยุงริ้นไรต่าง ๆ น่ะ ไม่ต้องไปเอามาเป็นความสุขความทุกข์ เห็นมัน เอาชีวิตเป็นการศึกษา รู้มันเข้าไป ปฏิบัติไป คนนินทาก็รู้แล้ว คนสรรเสริญก็รู้แล้ว รู้แล้ว นินทาก็รู้แล้ว สรรเสริญก็รู้แล้ว เสียก็รู้แล้ว ได้ก็รู้แล้ว รู้จริง ๆ รู้เรื่องนี้ ไม่ให้สิ่งเหล่านี้มาทับถมได้ แต่ถ้าเราไม่ศึกษาแล้ว โอ้! รสของโลกทับถม นินทาก็ชักเราให้ทุกข์ สรรเสริญก็ชักเราให้สุข เสียก็ชักเราให้ทุกข์ ได้ก็ชักเราให้สุข ถูกเขาชักให้เราอยู่เช่นนั้น ไปคนละมุม ไปคนละทาง ชีวิตจิตใจอันเดียว ฟู ๆ แฟบ ๆ เหมือนอาจารย์วรเทพทำรูป เขียนรูป ทำให้รูปเป็นหน้าบูด พอเปลี่ยนรูปได้ มันยิ้ม บางทีมันบูด มันยิ้ม มันบูด อะไรมันเป็นอย่างนั้น ถ้ามือเนี่ยรู้ มันทำอย่างนี้ อะไรมันสั่ง จิตใจใช่ไหม จิตใจเป็นยังไงจึงสั่งให้รูปเป็นอย่างนี้ ใจดีเนาะ ถ้าทำอย่างนี้ อะไรมันสั่ง ก็รูปนั่นแหละ จิตมันดี จิตมันร้ายใช่ไหม จิตมันร้าย เอามือไปทำลายนะ ถ้าจิตมันดี ไม่เป็นไร เพราะนั้นเนี่ย มันสั่ง มันชักเรา จึงมาดูซิการศึกษา
เนี่ย! น่าโมทนานะ กำลังหนุ่มกำลังสาวอยู่เนี่ย ให้มีชีวิตไปยาว ๆ มีความสุข มีความเจริญ ฝึกเอาไว้ รู้เอาไว้ ไม่ใช่บ่าแบกหาม ต่อไปเรื่อย ๆ ศึกษาไปเรื่อย ๆ ได้ยินได้ฟังเป็นพหูสูต เป็นมงคล