แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีแต่เรื่องที่จะพูด มีแต่เรื่องที่จะบอก มีแต่เรื่องที่จะสอน เพราะว่าชีวิตของเรามัน มันมีความไม่จริง และมีความจริง ถ้าเราไม่รู้ความจริง เราก็จะไปหลงความจริง ถ้าเราไม่รู้ความไม่จริง เราก็จะไปหลงความไม่จริง ก็เสียเวลา แล้วก็เป็นโอกาสผิดพลาดได้ เช่น ความจริงปรากฏขึ้นแก่เรา แทนที่เราจะรู้แจ้ง เราก็ไม่รู้อะไรเลย ความไม่จริงเกิดขึ้นแก่เรา เราไม่รู้แจ้ง เราก็ถูกความไม่จริงหลอก ถูกความหลงหลอก ถูกความทุกข์หลอก หลาย ๆ อย่างที่มันหลอกเรา เสียผู้เสียคน หลายอย่างที่มันเป็นประโยชน์ในชีวิตเรา เราก็พลาดเสียแล้ว ไม่ได้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ จึงถือว่าเป็นเรื่องรีบด่วนตามความรู้สึกหลวงพ่อ การบวชมานี้ ก็เพื่อจะมาบอก มาสอน มาพาทำ
มันก็ต้องมีการกระทำ เราก็รู้เอาเอง ของจริงมันต้องรู้เอาเอง ของไม่จริงคนอื่นบอกให้รู้ก็ได้ แต่ของจริงนี่ต้องประสบพบเห็น เช่น เราเจริญสติ ก็ต้องรู้เอาเอง ให้รู้สึกตัว ให้รู้สึกตัว ความหลงมันก็เกิดขึ้นมาเอง ไม่มีใครทำให้เราเกิดความหลงได้ แม้นคนอื่นทำ ถ้าเราไม่หลงก็ไม่เป็นไร ก็แค่นั้นเอง เราไม่ต้องไปโทษ ไปป้องกันคนอื่น สิ่งอื่น วัตถุอื่น ว่าแต่เราดูแลตัวเราให้ดี ๆ แล้วเราก็ดูแลเราได้ เพราะในกายในจิตของเรานี้ ไม่มีตรงไหนปิดบังอำพราง ถ้าเรามีสตินะ มีแต่สิ่งที่ทำให้เรา แสดงให้เราเห็น เริ่มต้นจากการศึกษาเนี่ย ถ้าเราเจริญสติ แทนที่เราจะได้รู้สึกตัวอย่างเดียว เอ้า! ความหลงก็เกิดมา หมายความว่า เขาแสดงให้เราเห็น ความทุกข์ก็เกิดขึ้น เขาก็แสดงให้เราเห็น ความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้น ก็ถือว่าเขาแสดงให้เราดู ว่ามันเกิดอะไร ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า เขาแสดงให้เราดู เราก็ดู ก็เห็น เรื่องเก่า เห็นเรื่องเก่า เห็นที่มันหลอก เห็นไปเห็นมา มันก็หลอกไม่ได้ เห็นที่มันหลง เห็นไปเห็นมา ความหลงก็ไม่สำเร็จ ความหลงมันสร้างให้เราไม่สำเร็จ ความทุกข์ก็สร้างใจเราไม่สำเร็จ ถ้าเรามีความรู้สึกตัวนะ
วิธีที่เราจะศึกษาเรื่องนี้ ก็คือการเจริญสติ นี่แหละ การเจริญสติ ก็เอากายนี่แหละ มาต่อ มาจุ่มเอา แล้วก็เจตนา สร้างให้มันเป็นรูปเป็นร่าง เข้าถึงได้โดยการกระทำ อันเรียกว่า “กัมมัฏฐาน” มีการกระทำ มีเจตนาลงไป เป็นเรื่องของกายก็ทำลงไปที่กาย ให้มันรู้สึกตัวที่กาย เป็นหลักเสียก่อน แต่ถ้าไม่รู้สึกตัวที่กายเป็นหลัก อันอื่นก็เห็นไม่ชัด มันไม่มีสิ่งนิมิตเป็นที่เกาะเป็นที่ตั้ง
เราก็ทำตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทำตรงนี้ เจริญสติดูกาย เป็นงานที่ทำให้เกิดเป็นพุทธะ ว่าแต่เราสร้างตัวรู้ ตัวรู้ขึ้นมาน่ะ เนี่ย แล้วการสร้างตัวรู้ ตัวรู้ขึ้นมา ก็ไม่เหลือวิสัย ที่เราจะทำได้ กายนี้ก็เอามาเป็นวัสดุอุปกรณ์ ผลิตความรู้ขึ้นมาได้สำเร็จ ส่วนไหนก็ได้ อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด กะพริบตา กลืนน้ำลาย หายใจ เคลื่อนไหวนิ้วมือเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็รู้ได้ หรือนั่งอยู่รู้ก็ได้นะ แต่รู้โดยไม่มีนิมิตมันจะตั้งอยู่ได้ไม่นาน เราจึงอาศัยนิมิตเป็นที่เกาะเป็นที่ตั้ง ทำไมจึงจะต้องมีนิมิตเป็นที่เกาะที่ตั้ง เพราะชีวิตของเรามันไหล มันไปเรื่อย ไม่อยู่ที่เก่า ทางกายก็ไม่อยู่ที่เก่า ทางจิตใจก็ไม่อยู่ที่เก่า จำเป็นต้องมีที่ตั้ง นิมิตที่เกาะเอาไว้ ทำไมจึงเกาะที่ตั้งเอาไว้ เพื่อให้มันเป็นปัจจุบัน ให้มันเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันคือของจริง ให้เราได้เห็นปัจจุบัน ได้ดูปัจจุบัน ได้รู้อยู่ปัจจุบันนาน ๆ ลองดู อย่าให้มันเป็นวับ ๆ แวม ๆ เราใส่ใจที่จะรู้ให้มันเป็นกรรมล้วน ๆ อย่าไปหาเหตุหาผล การไปหาเหตุหาผลเนี่ย มันก็ได้แต่เหตุแต่ผล เหตุผลไม่ใช่สัจธรรม หาวิธีที่จะศึกษาเนี่ย ก็ต้องรู้สึกตัวเอา เช่น เราเดินจงกรมเนี่ย อย่าไปหาเหตุหาผล เดินช้าดี เดินไวดี ทำไมจึงต้องเดิน ทำไมไม่บริกรรม ไม่ต้องไปหาเหตุหาผล ถ้าว่าพุทโธ ตัวซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ มันก็ไม่คิด มันจะนิ่ง ไปชอบความไม่คิด ไม่ชอบความคิด ไปชอบความนิ่ง ไปชอบความสงบ ไม่ชอบความฟุ้งซ่าน ไม่ ไม่ใช่แบบนั้น ให้มันแสดงดู เราจะได้เห็น ถ้าไม่เห็นเขาแสดงมันไม่รู้หรอก คือเดินก็เดินให้รู้สึกตัว ก็รู้สึกตัว ก็เออ! ก้าวก็รู้นะ เออ! เรามาสร้างตัวรู้นะ เราเดินเพื่อให้มันรู้สึกตัวนะ ไม่ใช่เดินให้มันงดมันงามเพื่ออวดใคร
สมัยใหม่ สมัยหลวงพ่อฝึกใหม่ ๆ ก็ บางทีเดินจงกรมนี่ มันงดงาม อยากให้แม่ไปนั่งดู อยากเดินอวดแม่ ลองดู ว่าลูกชายของแม่กำลังเดินจงกรม นุ่งผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้าไหม เบี่ยงบ้าย สมัยก่อนเป็นฆราวาสนะ เฮ้อ! ไม่เคยเดินจงกรม เดินกลับไปกลับมา อยู่ใต้ร่มไม้ แสงแดดรำไร ทะลุใบไม้มาถูกเรา เราก็เดินอยู่ในร่มบ้าง ถูกแดดบ้าง โอ้! มันดี มันลึกซึ้งดี ได้รู้สึกตัว รู้สึกตัว ก้าวไปก็รู้ เออ! เราเดินเพื่อสร้างความรู้นะ ถ้าเราก้าวทีไรเรารู้สึก เรียกว่าถูกต้องแล้ว สำเร็จแล้ว ไม่ต้องไปหาเหตุหาผล เราเสียเวลาเพราะเหตุเพราะผล เราบางทีก็ไปชอบแบบนั้นแบบนี้ เราไม่ชอบ เราชอบแบบนั้น เราชอบแบบนี้ ไปหา ไปหาอะไรที่ชอบ ก็เออ! คล้อยตาม ไม่ใช่นะ ก็รู้ซื่อ ๆ รู้ธรรมดา รู้ธรรมดา ยกมือสร้างจังหวะก็เหมือนกันกับการก้าวการเดิน ความรู้สึกอยู่กับการยกมือสร้างจังหวะ ความรู้สึกอยู่กับการก้าวไป อันเดียวกัน ความรู้สึกอยู่กับการหายใจเข้า หายใจออก ก็อันเดียวกัน ความรู้สึกอยู่กับกะพริบตา กลืนน้ำลาย ก็อันเดียวกัน ความรู้สึกกับกระดิกนิ้วน้อย ๆ ก็อันเดียวกัน คือความรู้สึกตัวนั่นแหละ ถ้าทำอะไรรู้สึกตัว แสดงว่าใช้ได้แล้ว เจริญสติแล้ว
แม้มันหลง แม้มันหลงก็ไม่เสียหาย ถ้ารู้สึกตัว เรากลับมารู้สึกตัว มีประโยชน์ด้วย ความหลงนี่มันดีนะ มันจะทำให้เรารู้ ความทุกข์เนี่ย ถ้าเรารู้สึกตัวขณะที่มันทุกข์ ความรู้สึกตัวขณะที่มันคิด อะไรก็ตามถ้ารู้สึกตัวนี่ ถือว่าปฏิบัติทั้งนั้นแหละ ความคิดถือว่าไม่ผิด ถ้าเรารู้สึกตัว ความสุขความทุกข์ก็ไม่ผิด ถ้าเรารู้สึกตัวนะ นี่ปฏิบัติเนี่ย มันเป็นของที่ทำได้จริง ๆ ทำได้จริง ๆ ทุกคนทำได้จริง ๆ ไม่มีใครไม่รู้สึกตัว
รู้สึกที่เจตนา ใส่ใจ ไม่ใช่รู้สึกตามอาการที่มันแสดง มันไม่ทันเวลา เวลานี้เราด่วน จะรอให้มันมีความรู้สึกตามธรรมชาติ เช่น ความคิด เช่น การเดิน การเคลื่อน การไหวของกายของใจ แต่จะให้มันเป็นไปธรรมชาติ มันไม่ทันเวลา เราจึงต้องมาสร้างเอา มาประกอบ เพื่อให้มันมี เพื่อให้มันมาก เหมือนกับว่า เร่ง ให้มันเกิดความรู้ไว ๆ โดยเฉพาะรูปแบบของการเจริญสติ แบบการสร้างจังหวะยกมือ
สร้างจังหวะ 14 จังหวะนี่มันพอดี พอดี ไม่ช้าเกินไป ไม่ไวเกินไป หาจังหวะ ๑๔ จังหวะ เอากาย เอาแขน เอามือมา ประกอบระหว่าง 14 ท่า มันก็พอดี ขณะที่เราเคลื่อนไหว 14 ท่า แทนที่เราจะได้สติอย่างเดียว มันก็ได้หลาย ๆ อย่าง ได้พลังงาน ได้พัฒนา ได้ โดยเฉพาะต้นแขน หน้าอก ต้นคอ ระบบหัวใจ ถ้าเรายกมือสร้างจังหวะ ทำใหม่ ๆ อาจจะปวด จะเมื่อย จะเหน็ด จะเหนื่อย ไม่เป็นไร หาทำไปทำมา มันจะเข้มแข็ง หัวใจก็ดี หน้าอก ต้นแขน พลังส่วนนี้จะมีนะ จะมี โดยเฉพาะถ้าเราหัดนั่ง ท่านั่งที่มันตรง ๆ ให้มันได้ฉากอยู่อย่างนั้นนาน ๆ มันก็จะเป็นของตรงไป มันก็จะได้ทั้งหลายแบบ
หรือว่าเดินจงกรม ว่าเดินจงกรม เราเดินพอดี ท่าเดินนี่มันได้ทุกส่วน เป็นการบริหารร่างกาย เป็นทางออกที่ดีที่สุดในการบริหารร่างกาย ชีวิตของเรามันต้องพบทางหลาย ๆ ทาง สิ่งแวดล้อมบ้าง สถานที่ สิ่งแวดล้อมบ้าง อย่างถ้าเรามีต้นไม้ใหญ่ ๆ เดินอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ ๆ แสงแดดรำรี้รำไร ให้มีแสงแดดบ้าง อย่าไปอยู่แต่ในร่มในเงา หรือบางครั้งก็ให้มันเหนื่อย ให้มันเหงื่อไหลซึม ๆ บ้าง มันก็ดี
แล้วก็สิ่งแวดล้อมส่วนอื่น ทางกาย ทางจิต ทางจิตพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดี ๆ อะไรที่มันเกิดขึ้น ช่วยจิต เอากายไปช่วยจิต เอาสิ่งแวดล้อมไปช่วยจิต เอาความคิดไปช่วยจิต เอาจิตช่วยจิต ไม่เป็นไร ถ้าอะไรเกิดขึ้น มันหลงก็ไม่เป็นไร มันทุกข์ก็ไม่เป็นไร มันผิดก็ไม่เป็นไร เกิดขึ้นจากเราก็ไม่เป็นไร ตะพึดตะพือ แม้คนอื่นทำให้เราหลง ทำอะไรต่าง ๆ ที่ทำไม่ชอบก็บอกตัวเองเลยว่าไม่เป็นไร เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมให้แก่ตัวเรา ปวดบ้าง ร้อนบ้าง หนาวบ้าง หิวบ้าง ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรต้องออกหน้าออกตา โดยใช้ความคิด บุกเบิก ใช้ความเห็นบุกเบิก เรียกว่า “สร้างสัมมาทิฐิ” มีความเห็นอันชอบ
ถ้าว่าไม่เป็นไร มันจบง่าย มันไม่เหลือ มันไม่ค้าง ถ้าเราไม่มีความคิดแบบนี้มันก็ค้าง เรียกว่า “อารมณ์” มันมีอารมณ์ ถ้าใครทำให้ผิด มันก็ไปติดไปอยู่นาน ถ้าทำให้ เขาทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ก็ติดไปนาน ถ้าว่าไม่เป็นไรแล้วมันว่างไปแล้ว หลาย ๆ อย่างที่เราเพียรพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมให้กับตัวเรา รู้ก็ไม่เป็นไร ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร เราทำอยู่นี่ เราทำอยู่นี่ เรารู้อยู่นี่แล้ว แล้วมันก็จะมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นในขณะที่เราสร้างสติ หลายอย่าง ก็อย่าไปกระทบกระเทือนอะไร ง่อนแง่นคลอนแคลน หนักแน่นเอาไว้ จะลุกก็หนักแน่นเอาไว้ จะนั่งก็หนักแน่นเอาไว้ อย่าให้ความคิดหิ้วหอบไป อยากนั่ง ดูความคิด(มันอยาก)นั่ง ก็นั่งตามความคิด อยากลุก ความคิดมันอยากลุก ก็ลุกตามความคิด อยากหยุด ความคิดมันบอกให้หยุด ก็หยุดตามความคิด อยากทำก็ทำไปตามความคิด ให้ความคิดเป็นใหญ่เป็นโต
เราจึงเพียรพยายามสร้างสติ ให้สตินำ แม้มันจะคิดก่อนก็ให้สตินำ มันจะหลงก่อนก็ให้สตินำ นำมันนำได้ ความหลงก็รู้ได้ ความสุขความทุกข์ก็รู้ได้ ถ้าเราหัดอย่างนี้น่ะ อาจจะลัดสั้นเข้ามา ถ้าเราไม่หัดแบบนี้มันก็เนิ่นช้า มัวแต่ไปสุข มัวแต่ไปทุกข์ มัวแต่ไปผิด มัวแต่ไปถูก มัวแต่ไปได้ มัวแต่ไปเสีย ได้ก็ไม่เป็นไร เสียไม่เป็นไร ผิดไม่เป็นไร ถูกไม่เป็นไร มันจะลัดสั้น ๆ ทำชีวิตให้เรียบ ๆ ง่าย ๆ อย่าไปให้เกิดแต่ปัญหา ไปเอาความยาก ไปเอาความง่าย ถ้ายากก็ไม่เอา ถ้าง่ายล่ะเออ! ดี ถ้าทุกข์ก็ไม่เอา ถ้าสุขก็เออ! ดี ถ้าสงบก็ไม่เอา ถ้ามันสงบก็เออ! ดี มันเป็นบวกเป็นลบ ก็เรียกว่าอารมณ์บวกลบ อารมณ์ที่เป็นบวกเป็นลบ มันเป็นรสของโลก ถ้าเราไม่เป็นไรทั้งสองอย่าง อยู่ตรงกลาง ๆ ความรู้สึกตัวเนี่ยทำให้เป็นกลาง ความรู้สึกตัวทำให้เป็นกลาง ความเป็นกลางนี่ก็กลายเป็นความเป็นธรรมได้ง่าย ถ้าไปบวกไปลบเป็นอารมณ์แบบนั้นน่ะ เรียกว่าโลก เป็นรสของโลก ยังไปไม่ถึงไหน ยังมี ยังอยู่กับโลก ยินดียินร้าย
นั้นการปฏิบัตินี่มันจะ มันจะฝึกเราไปในตัว สอนเราไปในตัว ประสบการณ์ไปในตัว บทเรียนไปในตัว แม้แต่ผู้ที่มีอารมณ์ ได้อารมณ์ของกัมมัฏฐานเบื้องต้น ได้กระแส พอปฏิบัติธรรมตามหลักของสติปัฏฐานนี่ มันได้กระแสนะ กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน ทำไมว่าได้กระแส เพราะมันเห็นตัวรู้ ตัวหลงแล้ว ถ้าเห็นตัวหลง เห็นตัวรู้ ก็แสดงว่ามีกระแสแล้ว จัดสรรกับตัวเองได้แล้ว จะรู้จักเปลี่ยนตัวหลงเป็นตัวรู้ จะรู้จักเปลี่ยนความง่วงเป็นความรู้ จะรู้จักเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นความรู้ ไม่ต้องถามว่า เวลาฉันหลงฉันทำยังไง คนผู้เจริญสติจะไม่มีคำถาม เขามีกระแสของเขา เขามีกระแส กระแสแห่งมรรค มรรคคือดำเนินอยู่ รู้อยู่ ดูอยู่ มรรคคือดูอยู่ ไม่ใช่ไปท่อง ไปจำ มรรคคือดูอยู่นี่แหละ มันสุขก็ดูมันอยู่นี่แหละ มันทุกข์ก็ดูมันอยู่นี่แหละ เห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ เห็นมันรู้ เห็นมันหลง ให้ดูอยู่เนี่ย หลงก็เห็นอยู่นี่ รู้ก็เห็นอยู่นี่ สุขก็เห็นอยู่นี่ ทุกข์ก็เห็นอยู่นี่ นี่เรียกว่า เห็นกระแสของมรรค มรรคเป็นอย่างนี้ มรรคคือดู คือเห็น ถ้าเห็นแล้ว ก็จบตรงนั้นแล้ว หลุดพ้นไปแล้วถ้าเห็น เรียกได้ว่า เห็นกระแสมรรคผล พอมันหลง มีความรู้สึกตัว เอ้า! มันเป็นผลแล้ว มันทำให้ ทำเหตุให้มันเป็นผล ความหลงเป็นเหตุ ความไม่หลงเป็นผล ทำได้ทันที เห็นบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ทำบ่อยๆ สิ่งที่มันหลงแล้วหลงอีก สิ่งที่มันหลงแล้วหลงอีก มันเป็นเรื่องดี มันหลง หลงแล้วหลงอีก ก็รู้ รู้มันแล้ว รู้มันอีกน่ะมันเป็นเรื่องดี
เหมือนหลวงปู่เทียนสอนพวกเรา มันหลงไปทางความคิดหนึ่งครั้ง ก็รู้ทันมันหนึ่งครั้ง มันหลงไปทางความคิดอีกสองครั้ง ก็รู้ทันมันอีกสองครั้ง มันหลงไปร้อยครั้งพันหน ก็รู้เท่าทันมันร้อยครั้งพันหน ปัดโธ่! มันก็เก่งที่สุดแล้วถ้าเป็นอย่างนั้นน่ะ นี่แหละตัวปฏิบัตินะ ให้มันหลงลงไป ถ้ามันหลงล่ะก็ รู้เนี่ยมันเป็นบทเรียนตรงนั้นด้วย ประสบการณ์ตรงนั้นด้วย ถ้าใครทำงานมีประสบการณ์ มันก็จะต้องเก่งแบบนี้ ทำงานที่มันผิด ทำงานที่มันถูก มีบทเรียนไปเรื่อย ๆ การดูแลตัวเองก็เหมือนกัน ได้บทเรียนจากกายจากจิต อาการปัญหาต่าง ๆ ปัญญาต่าง ๆ ความโง่หลงงมงายต่าง ๆ มันแสดงออกมาให้เราเห็น มันไม่ลี้ไม่ลับ จนไปเห็นรูปธรรมนามธรรม ไปเห็นอาการของรูป ไปเห็นอาการของนาม ที่เขามีอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นอาการที่มันเกิดขึ้น ธรรมชาติของรูป ธรรมชาติของนาม เราก็เห็น ได้พบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น เป็นการพบเห็น เห็นรูปมันทำ เห็นนามมันทำ เห็นรูปมันกำลังทำดี เห็นนามมันกำลังทำดี เห็นรูปมันทำชั่ว เห็นนามมันทำชั่ว ถ้าได้เห็นอย่างนี้เนี่ย ถือว่าพอตัวแล้ว
ถ้าเห็นรูปมันทำดี ถ้าเห็นนามมันทำดี ถ้าเห็นรูปมันทำชั่ว ถ้าเห็นนามมันทำชั่วนี่ แสดงว่าช่วยตัวเองได้ ดูแลตัวเองได้ เราก็จัดรูปให้ทำความดี เราก็ทำความดีได้ จัดนามให้ทำความดี ให้คิดดีก็คิดดีได้ คิดถึงพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ คิดถึงศีลของตน คิดถึงทานของตน คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้าน้อมมาไว้ในเรา คิดถึงพระธรรมเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา น้อมมาไว้ในเรา คิดถึงพระสงฆ์ ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควร ทำลองดูมันตรงไหม ออกจากทุกข์เป็นไหม สมควรไหม สม่ำเสมอไหม คงเส้นคงวาไหม นี้เราก็ดูตัวเราแบบนี้ เรียกว่ารูปมันทำ นามมันทำ ไม่มีใครไม่รู้ รูปธรรม ไม่มีใครไม่รู้นามธรรม มันทำอยู่ นามมันก็ทำอยู่ มันทำอะไร ทำกรรมทางความคิด ความคิดก็ถือว่าเป็นกรรมนะ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มีความคิดนี่ เป็นบาปเกิดจากความคิด ผิดศีลเกิดจากความคิดก็มี ศีลบริสุทธิ์เกิดจากความคิดก็มี ไม่ใช่จะผิดเฉพาะกาย ไปฆ่าเขา ไปลักของเขา ไปประพฤติผิดสิ่งเขาหวงแหนหวงห้าม อันนั้นจึงเรียกว่าผิดศีล ไม่ใช่ สิ่งที่เราปฏิบัติเนี่ย มันเป็นศีลสิกขา เป็นศีลที่ย่อยออกมา เข้าถึง เป็นปาริสุทธิศีล
ถ้าเราเจริญสติ มันก็สำรวมอายตนะ บางทีเรารู้อยู่นี่ ตาเลยไม่ได้ใช้เลย หูก็ไม่ได้ใช้เลย มันมีแต่ตัวรู้ มันจะสร้างอินทรีย์ใหม่ เขาเรียกว่า สติอินทรีย์ (สตินทรีย์/อินทรียสังวรศีล) มันจะใหญ่กว่าตากว่าหู ใหญ่กว่าจมูก ลิ้น กาย ใจ ใหญ่กว่ารูป กว่ารส กว่ากลิ่น กว่าเสียง ถ้ามีสติอินทรีย์แล้ว มันเป็นใหญ่ ถ้าได้ใหญ่ ถ้าได้รู้อย่างนี้แล้วนะ มันก็เป็นศีลขึ้นมา สำรวมอายตนะ สำรวมในพระปาฏิโมกข์ (ปาฏิโมกขสังวรศีล) – เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่พระองค์อนุญาต ไปง่าย ๆ ไปง่าย ๆ ไม่ฝืน ไม่ทวน ไม่ทวน เอียงไป ไหลไป สู่มรรคสู่ผล สู่ความดี เห็นความชั่ว เห็นความทุกข์ กระตือรือร้น กระโดดเข้าไปใส่ ช่วยตัวเกร็ง ความหลงนี่กระตือรือร้น ไม่มีอะไรที่จะถึงอกถึงใจเท่ากับแก้ความหลงที่เกิดขึ้นกับเรา เหมือนเราทำงานทำการ ไม่มีงานชิ้นใดที่จะแก้สิ่งที่มันผิดอันตรายได้สำเร็จ
เหมือนหลวงพ่อมาจากสิงคโปร์ ช่วงตรุษสารทหลวงพ่อไปอยู่ กลับมา ตรงนี้มันน้ำมันไหล คันคูพังลงไป เอาละบัดหนิ ต่อรถหินมา เอาใส่ตรงนี้ เอาใส่ตรงนี้ เอาใส่ตรงนี้ เอาใส่เต็มปั๊บ โอ! จุดอ่อนมันอยู่ตรงนี้ ทำได้แล้ว มันถึงอกถึงใจ การแก้สิ่งที่มันอันตราย มันจะเสียหาย ทำให้มันดีขึ้นมา
การสอนตัวเองเนี่ยมันมีรสชาตินะ เปลี่ยนความร้ายเป็นความดีเนี่ย มันกระตือรือร้นนะ มันกระโดดเข้าใส่เลย ทุกข์ หลง โกรธ มันกระตือรือร้นนะ ไม่มีงานชิ้นใดที่จะพออกพอใจเท่ากับเปลี่ยนความร้ายเป็นความดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก โดยเฉพาะภาวนา งานที่เราทำอยู่เนี่ย มันเป็นงานสร้างความดีจริง ๆ ทำได้ทันทีจริง ๆ ภาวนาเราก็เรียก สติภาวนาก็คือ เปลี่ยนความร้ายเป็นความดี ภาวนาก็คือ การขยันรู้ นี่ ภาวนา ไม่มีใครไม่รู้ ก็รู้ได้ทุกครั้ง รู้ต่อกัน เป็นเปราะ เป็นเปราะไป เนี่ย! ถึงอกถึงใจ ไอ้เปลี่ยนตัวหลงเป็นตัวรู้น่ะ เปลี่ยนหลายครั้งหลายคราว มันก็จบเป็นเหมือนกัน ไอ้เรื่องของกายของใจเราเนี่ย มันจบเป็นเหมือนกัน เพราะทำไมมันจึงจบ เพราะมันไม่งอกไม่งามขึ้นมาหลายอย่าง มันก็เรื่องเดียว ความโกรธก็อันเดียว ความหลงก็อันเดียว ความโลภก็อันเดียว ความทุกข์ก็อันเดียว ความวิตกกังวลเศร้าหมองก็อันเดียว ความรักความชังก็อันเดียว ความไม่โกรธ ความไม่โลภ ความไม่หลง ก็อันเดียว มันก็มีเท่านี้จริง ๆ 84,000 เรื่อง มาย่อลงอยู่กับตัวรู้ตัวหลง ตัวหลงมันก็ทำให้เราเห็น เราก็เปลี่ยนเป็นตัวรู้ได้ เราจับสายบังเหียนมันเลยตอนเนี้ย จับหัวโผมันเลย จับสายบังเหียนอยู่ในกำมือเราได้ทันที การดูแลตัวเองนี่ เหมือนกับเราจับควายที่มันสนตะพายแล้ว วัวถึกที่มันดุร้าย จับเขามันได้แล้ว แม้นมันจะดิ้นไปขนาดไหน ถ้าเราได้จับ ก็มีโอกาสเชื่องได้ มีโอกาสเชื่องได้ เหมือนเราจับวัวจับควายใหม่ ๆ มันดิ้น พาเราวิ่งไป บางทีก็หย่อนไป เราก็ค่อย ๆ ดึงมา แล้วมันก็กลับ
สมัยก่อน หลวงพ่อมีภาพสไลด์นะ เวลาสอนธรรมะนี่ บางครั้งก็เอาภาพมาฉายประกอบ เดี๋ยวนี้มันไปไหนหมดก็ไม่รู้ คนนั้นเอาไป คนนี้เอาไป ชีวิตของเราเปรียบเหมือนกับวัวถึก วัวถึกนี่มันดุนะ ถ้าคนใดที่ไปจับมัน มันก็ไม่ค่อยจะให้จับ เมื่อจับมันแล้วมันก็สู้ แต่ว่าวัวถึกตัวนี้ แต่ก่อนมันสีดำ แล้วมันมีที่จับอยู่ มีเชือกห้อยอยู่จมูกมัน ค่าขนาดแขนนี่ แต่เราก็ต้องมีวิธีจับ เอาหญ้าล่อ ภาพสไลด์หลวงพ่อ บุคคลผู้จะหวังจับวัวถึกเอาหญ้าล่อ แล้วมันก็ให้จับ พอจับแล้วมันก็ดิ้น เราก็หย่อน ๆ ไป ค่อย ๆ ดึงมา ค่อย ๆ สอน ค่อยอยู่กับมันไป เวลามันดิ้นทีไรก็สอนมัน รู้สึกตัว มันก็ดิ้นนะ เช่นเราฝึกตัวเรานี่แหละ ถ้าฝึกใหม่ ๆ มันจะดิ้นเก่ง เวลาเราจับวัวใหม่ ๆ มันจะดิ้น การดิ้นของวัวมันเป็นเรื่องดี ไม่ใช่บอกว่า เออ! เขากำลังจับเราแล้ว หรือว่าเราหว่านแห หว่านแหไปถูกปลา พอปลามันรู้สึกว่ามันถูกแห มันก็จะต้องดิ้นแน่นอน ไม่มีปลาตัวใดที่จะนอนอยู่เฉย ๆ มันก็ต้องดิ้นหาทางออก
การมาสอนตัวเราก็เหมือนกัน แต่ก่อนยังไม่เจริญสติ ปรากฏว่ามันไม่ค่อยคิดเท่าไหร่ แต่พอมาเจริญสติ อะโธ่! มันไหลออกมา เหมือนปล่อยเป็ดออกจากคอก ไหลไปอย่างนั้นนะ ถ้าหลวงพ่อเปรียบ วิธีเจริญสติ ไม่ใช่ดูเป็ดที่มันไปตามไป ดูประตูมัน มันออกไปก็รู้แล้ว ถ้าเราจะนับเป็ด ก็นับตรงประตูนี่ ไม่ใช่ตามนับมันไป ไม่สำเร็จ การเจริญสติก็เหมือนกัน ไปดูความคิดที่มันไหลนี่ ดูตัด ๆ หลวงพ่อเทียนก็บอกว่า ให้ดูตัด ๆ ดูตรงนี้ ความคิดไปก็รู้ ตัดแล้ว ความคิดไปก็รู้ ตัดแล้ว มันก็เลยไม่ยาก ของยากกลายเป็นของง่าย
ถ้าเราฝึกหัดใหม่ ๆ มักจะไปเจอความคิด ถ้าไม่คิดก็ง่วง หาเรื่องที่ทำให้เรามีงานมีการ แล้วก็เป็นงานเป็นการจริง ๆ ความง่วงมันเกิดขึ้นเพื่อให้เราได้ศึกษาความคิดมันเกิดขึ้นเพื่อให้เราได้ศึกษา พยาบาทอะไรก็เกิดขึ้นเพื่อให้เราได้ศึกษา อย่ากระโจนเข้าไปเป็นกับมันง่าย ๆ ดูมัน เอ้อ! อันนี้มันก็มีนะ กายนี่ก็มีจริง ๆ มันแสดงความปวดความเมื่อย ความปวดความเมื่อยของกายของจิต ก็รู้ว่าเวทนา เอ้า! มันก็มีอยู่จริง เอ้า! จิตที่มันคิดไปนู่น แล่นไปแล่นมาก็มีอยู่จริง เราก็รู้ได้ ตัวรู้ตัวเดียว เข้าไปรู้ ไปรู้ ไปเคาะ ไปเคาะ ไปเคาะเท่านั้น ธรรมที่มันเกิดครอบงำจิตเป็นอกุศล ความง่วงเหงาหาวนอนนี่ เรียกว่าอกุศลครอบงำจิต ธรรมที่เป็นกุศลก็มี บางทีก็โปร่งใส สบาย ยิ้มแย้มแจ่มใส ก็มีเหมือนกัน เรียกว่าเป็นธรรมที่เป็นกุศล เป็นธรรมที่เป็นอกุศล รู้มันทั้งสองอย่าง ความสุขก็รู้มัน ความทุกข์ก็รู้มัน ความไม่สุข ความไม่ทุกข์ แต่มันจะพร้อมที่จะเป็นสุขเป็นทุกข์ก็มีอยู่ รู้มันเหมือนกัน นี่ปฏิบัติธรรมมันเป็นสูตรสมบูรณ์แบบ ถ้าเป็นการศึกษาก็อุดม ชั้นอุดม มีทุกรสทุกชาติ มีทั้งทุกรสทุกชาติ เราก็ต้องผ่านเอาเอง ไม่มีใครจะให้ใบประกาศให้แก่เรา ถ้าเป็นปริญญาก็ เราก็ได้เอง ชำนิชำนาญเอง
“ญาตะปริญญา” ชำนาญทุกเรื่องที่มันเกิดขึ้นกับกายกับจิต เห็นหมดทุกเรื่อง เรียกว่า ญาตะปริญญา หยั่งรู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว คำว่ารู้แล้ว รู้แล้ว ตัวเนี่ยน่ะ มันเป็นพระอรหันต์รูปแรก คือพระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ว่ารู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้วนี่ เป็นผู้ที่รู้ก่อนใครทั้งหมด เรียกว่า ญาณหยั่งรู้ ญาตะปริญญา หยั่งรู้แล้ว ความหลงก็รู้แล้ว ความไม่หลงก็รู้แล้ว
“ตีรณปริญญา” แจกแจงได้ แจกแจงได้ เช่น ความโกรธเกิดขึ้น รู้ล่วงหน้าไปเลย ความโกรธก็ไม่เที่ยงหรอก รู้ไปอีก ต่อกรกับมันไป ความโกรธไม่ใช่ตัวใช่ตน รู้ไปแล้ว แจกแจงแล้ว เลยไม่มีที่ตั้งเลยความโกรธ เพราะมันไม่ใช่ตัวตน เพราะมันไม่เที่ยง เรียกว่าแจกแจงไป ย่อยออก ชักสะพานออก ไม่ใช่ต่อสะพานให้มัน ชักสะพานออก มันไม่มีที่ไปแล้วบัดนี้ ก็หยุดตกลงตรงนั้นแล้ว เรียกว่าแจกแจง เป็นปริญญา
“ปหานปริญญา” ทำให้หมดไป สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับจิตกับใจนี่ ทำให้หลุดพ้นได้ทุกอย่าง ทำให้พ้นไปได้ทุกอย่าง ล่วงข้ามไปได้ทุกอย่าง ทะลุทะลวงได้ทุกอย่าง ภาษาของธรรม ภาษาของความรู้สึกตัวนี่
นี่คือการศึกษา คือการปฏิบัติ บางผู้บางคนก็มีอารมณ์ ได้อารมณ์ พอได้อารมณ์แล้วก็ ก็อย่าไปหลง มันจะมีจินตญาณ มันรู้ในความคิดน่ะ รู้จนเอาไม่อยู่ เขาเรียกว่า “จินตญาณ” อะไร ๆ ก็รู้ไปหมดเลย มองอะไรรู้ไปหมดเลย ว่าแต่อย่าเข้าไปเป็นผู้รู้ เห็นมันรู้ ถ้าเข้าไปเป็นผู้รู้ มันก็นั่งรู้ คิดรู้ เดินรู้อยู่ตรงนั้น บางทีมันอยากจับปากกาขึ้นมาขีดมาเขียน เรื่องนั้นเรื่องนี้ไป มันเขียน เขียนหนังสือก็อาจจะเขียนดีด้วย เขียนได้อย่างดีที่สุดเลย มันจะไปหลงความรู้ ถ้าจินตญาณนี่มันหมดเป็นนะ มันจืดเป็น เขาเรียกว่าอยู่ในขั้น “วิปัสสนู” (วิปัสสนูกิเลส) มันหลง เกิดปีติ อิ่มอกอิ่มใจ ไม่รู้จักนั่งไม่รู้จักนอนก็มีนะ อิ่มใจ สุขใจ
เหมือนกับพระอนุรุทธะ พอได้เข้าถึงธรรมแล้ว โอย! สุขหนอ สุขหนอ อยู่กุฏิองค์เดียว ก็สุขหนอ สุขหนอ พระอานนท์ได้ยิน พระอุบาลีได้ยิน เข้ามาถาม ทำไมท่านอนุรุทธะ ทำไมท่านจึงพูดว่าสุขหนอ สุขหนอ พระอนุรุทธะเป็นกษัตริย์หนุ่มนะ พ่อเป็นกษัตริย์ มอบราชสมบัติให้ลูกสืบศาสนทายาท สมัยที่เป็นกษัตริย์ ปกครองบ้านเมือง ก็ต้องรับผิดชอบ ดูไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ สุขมาทางไหน ทุกข์มาทางไหน คอยดูแล ตรวจการตรวจงานอยู่ พอมาบวช พอมาปฏิบัติธรรม พอได้รสของพระธรรมแล้ว มันก็ มันก็เลย ออกมาเป็นเสียงสุขหนอ สุขหนอ กาลเก่าแต่ก่อนกังวลเรื่องนู้นเรื่องนี้ เพราะรับผิดชอบ ก็เลยพูดให้พระสารีบุตร โอ้! สมัยก่อนข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ ก็คิดเรื่องบ้านเรื่องเมือง คิดเรื่องปกครองประเทศชาติ เรื่องความผาสุกของไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ ก็กังวลเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป พอมาบวชได้ปฏิบัติธรรม มันเข้าใจชีวิตของตนเอง มันไม่เคยเจอ ก็เลยสุขหนอ สุขหนอ ให้ข้าพเจ้าว่าไปบ้างก็ไม่เป็นไรดอก มันออกมาอย่างนี้ ว่าก็เลย ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่านี่ เขาก็พูดอย่างนี้ สมัยก่อนเขาก็ อนุรุทธะเขาเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า เป็นลูกน้องชายพ่อ บางทีมันสุขหนอ สุขหนอนะ บางทีก็นั่งยิ้มนะ
เคยเป็นเหมือนกัน ไม่กินข้าวกลืนน้ำลายตัวเอง ก็แซ่บ อิ่มนะ ปีตินี่ โอ๊ย! ไหลเหมือนใบหน้า เหมือนกับมีน้ำฝน ไหลริน ริน ๆ ๆ ๆ ๆ หลวงพ่อเทียนก็บอก อย่าไปหลงความสุขนะ โอ้ย! หลวงพ่อเอ้ย มันดีแท้น้อความสุขนี่ อุตส่าห์มาพ่อมาพบ กะให้สุขจักหน่อยแนเปียง หลวงพ่อเทียนก็ ไปติดสุข มันก็เสียเวลา เจริญสติเรื่อยไป หลวงพ่อเทียนต้องเข็นออกจากความสุข เข็นออกจากปีตินะ มีเหมือนกันน่ะ มันมีเหมือนกัน อารมณ์ของกัมมัฏฐานเนี่ย อารมณ์ที่เป็นทุกข์ก็มีเหมือนกันน่ะบางครั้ง บางทีมันก็อารมณ์อะไรไม่รู้ไม่มีเลย หมดเนื้อหมดตัวก็มีเหมือนกัน แต่อย่าลืมสตินะ สร้างสติเรื่อยไป มันก็มีหลายรสหลายชาติ
หลักของเราจริง ๆ นี่แหละคือความรู้สึกตัว ตั้งแต่ต้น จนถึงท่ามกลาง และที่สุดนะ การปฏิบัติธรรมน่ะ มันมีสูตรอยู่ ไม่ใช่เรามาคว้าน้ำเหลว มางม อะไรต่าง ๆ ไม่ใช่ มันเป็นสูตรอยู่ กายเราก็มีจริง ใจเราก็มีจริง สติมันก็มีจริง ความหลงก็มีจริง นี่ มันมีสูตร สูตรของบุญก็มี สูตรของบาปก็มี สูตรมรรคสูตรผลก็มี หาได้จากการปฏิบัติธรรมนี่ ถ้าจะพูดแล้ว นี่แหละ “ภาวนามยปัญญา” ถ้าเป็นพระอรหันต์ ตรงนี้เขาเรียกว่า สุกขวิปัสสโก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน ๆ ไม่ได้ทำฌาน ถ้าเป็นฌานก็เป็นฌานที่ใช้ได้เลย เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ ก็เป็นฌานนะ ณานคือสตินี่แหละ ฌานยอดเยี่ยมที่สุดคือสติ จนเป็นมหาสตินี่ มีสติแล้วแลอยู่ มีสติแล้วแลอยู่ นี่คือฌานอันยอดเยี่ยมที่สุด ถ้าฌานแบบเงียบไม่รู้อะไรเลย เออ! ก็มีเหมือนกัน เป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะนั้นนี่ มันมีได้ เป็นได้ แต่ว่าอย่าไปคิดหา พูดให้ฟังแล้ว อยากให้เป็นเหมือนหลวงพ่อว่า อย่าไปคิด อย่าไปเอาความคิดมาใช้ หาคำตอบจากความคิด เอาการกระทำ ใช้ในการกระทำ จึงให้มันสมชื่อว่ากัมมัฏฐาน กรรมตัวนี้แหละจะจำแนกไปเอง