แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในเรื่องของการปฏิบัติ จะพบกัน ณ ที่วัดป่าสุคะโต พบกันที่ศาลาฉัน พบกันที่หอไตร พบกันที่กุฏิ อันนั้นเป็นเรื่องนอกไป เมื่อเราพบกันด้วยการปฏิบัติธรรม ทุกคนเจริญสติ มีสติดูกาย ดูจิตของตนเอง แล้วการพบกันเรื่องอื่นก็ดีไปเอง ไม่ต้องไปคิดจะแก้อันโน้นอันนี้ แม้แต่ตัวเราก็เหมือนกัน คิดว่าจะเอาอย่างนั้น คิดว่าจะเอาอย่างนี้ จะทำให้ได้อย่างนั้น ถ้าไม่ได้ก็จะเสียเวลา อย่าไป เข้าถึงตัวปฏิบัติ วิธีใดที่เราจะมีสติเห็นกาย ตั้งสติไปในกาย อันนั้นเป็นบุพกิจบุพกรณ์เบื้องต้น ในการศึกษาในการปฏิบัติ แม้นว่าจะมีปัญหาอะไรต่าง ๆ มันก็จะค่อยดีไป แม้จะมีศัตรูคู่อริ คนอิจฉาพยาบาทก็จะค่อยดีไป ถ้าเรามาพบกับตัวเอง โดยการปฏิบัติธรรม
มาพบกับตัวเองโดยการปฏิบัติธรรม เอาตัวปฏิบัติเป็นคู่ชีวิตกับเราไปก่อน แม้นว่ายังไม่มีเพื่อน ไม่มีมิตร ก็ไม่เป็นไร อย่าพึ่งไปแก้ อย่าพึ่งไปหา อันนั้นมันจะเกิดขึ้นทีหลัง แล้ววิธีปฏิบัติธรรมเนี่ย ก็แน่นอนที่สุด แน่นอนที่สุด มีความรู้สึกตัวอยู่ที่กาย กายก็มีจริง ๆ มีความรู้อยู่ รู้สึกตัวที่กายจริง ๆ อย่าเพิ่งไปเอาผิด อย่าเพิ่งไปเอาถูก อย่าเพิ่งไปกลัวทุกข์ อย่าเพิ่งไปอยากได้สุข ไม่ต้องเป็นอะไรกับมันละ ความรู้สึกตัวนี่มันมาเหนือเมฆ มันมาเหนือ แม้แต่ทุกข์เราก็ขี่คอความทุกข์ ความรู้สึกตัวมันเป็นอย่างนั้น แม้มันมีสุขก็ขี่คอความสุข มันมีผิดก็ขี่คอความผิด มันมีถูกก็ขี่คอบนความถูก มันเป็นอะไรเราก็อยู่ขี่บนคอเขา ไม่เหน็ดไม่เหนื่อยอะไร
ความรู้สึกตัว ไม่พาให้เราเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไม่ได้พาให้เราเสียเวล่ำเวลา เราก็อยู่เหนือทุกอย่างไปก่อน รู้สึกตัว รู้สึกตัว มองอะไรมองแบบเหนือเมฆสักหน่อย แล้วมันก็เป็นอย่างนั้น ความรู้สึกตัวเนี่ย มันมาเหนือเมฆ มันไม่เปรอะไม่เปื้อนกับอะไรดอก มันไม่เป็นสุขเป็นทุกข์กับอะไร มันไม่ได้ มันไม่เสีย มันไม่ผิดไม่ถูกกับอะไร มันมีแต่ความรู้สึกตัว มีแต่ความรู้สึกตัว มันเป็นอย่างนี้ คำว่าสติเนี่ย สติสัมปชัญญะ ยิ่งมาบวกเข้ากับกาย มาบวกเข้ากับจิตที่เจตนา เราก็เห็น กายเค้าก็แสดง ใจเค้าก็แสดง เค้าไม่หลบไม่ลี้ไปไหนดอก แสดงก็แสดงแบบโง่ ๆ ก็ต้องมีสติเห็น เห็นชัดที่สุด เห็นสุขก็เห็นว่าเป็นสุข เห็นทุกข์ก็เห็นว่าเป็นทุกข์ เห็นร้อนเห็นหนาวก็เห็นว่าเป็นร้อนเป็นหนาว เราก็เห็นเรื่อยไป เห็นเรื่อยไป อะไรที่เขาแสดง เขาแสดงหลายครั้งหลายหน ก็เหลวไหลทั้งนั้นแหละ เหมือนเราไปดูหนังเรื่องเดียวสองรอบ สามรอบ หรือเหมือนกับวิทยากรอบรมนักเรียน ที่ไปอบรมที่ไหน ก็เอาเรื่องเก่าเรื่องเก่าไปอบรม นักเรียนเขาก็รู้ล่วงหน้าแล้ว ต่อไปก็จะเป็นอย่างนั้น ต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้ มันก็เบื่อ มันก็เบื่อไม่อยากฟัง ไม่อยากสนใจ ก็เป็นอย่างนั้น เราเห็นตัวเราหลอกตัวเรา เราเห็นตัวเราทำให้เราเป็นทุกข์ เราก็ถูกความทุกข์หลอก เราเห็นตัวเราทำให้เราเป็นสุข ถูกความสุขหลอก ถ้ามีสติมันหลอกไม่ได้ถึงไหนดอก เหมือนคนที่หลอกเรานี่แหละ มันหลอกไม่ได้ไม่ถึงไหน แต่มันก็จะมีปัญญาตรงนั้นด้วย
การปฏิบัติธรรม มันเป็นไปทำนองนี้ อันอื่นมันจะค่อยดีไป ก็ต้องมีบทบาทมีผจญภัย มีอะไรเยอะแยะ เหมือนกับพระเอกนางเอก ที่เขาเป็นพระเอกนางเอก เขาต้องผจญภัย เขาจึงได้ชื่อว่าพระเอกนางเอกแทบจะเอาชีวิตไม่รอด แทบจะเสียผู้เสียคนอะไร แทบจะเป็นอะไรหลายอย่าง เขาจึงได้เป็นพระเอก เราก็เหมือนกัน การปฏิบัติธรรมเนี่ย มันมีรสชาติตอนที่มันหลุด มันพ้น มันทุกข์ มันเห็นทุกข์ มันพ้นทุกข์ ความพ้นทุกข์ มันก็มีรสชาติตรงนั้นด้วย การเห็นทุกข์ก็มีรสชาติ ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ เห็นแต่ความสุข ไม่ใช่ ถ้ามีสุขก็รับรองว่ามีทุกข์คู่กัน ถ้ามีหลงก็รับรองว่ามีรู้คู่กัน มีผิดก็รับรองว่ามีถูกคู่กัน ไม่ต้องไปสยบกับอันใด มาแบบเหนือ ๆ แบบผิดแบบถูกก็เหนือมันแล้ว รู้สึกตัวไป ตะพึดตะพือไป เราก็สร้างความรู้สึกตัวตะพึดตะพือไป แล้วเราก็สร้างได้ เราก็สร้างได้ วัตถุที่เอามาสร้างก็มี เจตนาลงไป ใส่ใจลงไป มีสติลงไป แล้วก็ไม่ใช่คุมตะพึดตะพือ ถ้าคุมตะพึดตะพือ ก็ไม่รู้จักตัวเอง การที่ไปสู้ไม่ใช่สู้กับตัวเอง ตัวเรานี้ไม่มีตรงไหนที่ได้ไปสู้หรอก มีแต่เห็นแจ้งตามความเป็นจริง บางคนไปสู้กับตัวเอง ไปสู้กับความทุกข์ ไปสู้กับความหลง ไปสู้กับความง่วงเหงาหาวนอน ไปสู้กับความคิด ไม่ได้สู้นะ ปฏิบัติธรรมเนี่ย ว่าแต่มีสติเหมือนกับดีดนิ้วมือ เหมือนกับดีดนิ้วมือเรียกกัน มีสติมันเห็นอะไรก็เท่านั้นแหละ รู้แล้ว รู้แล้ว
คำว่ารู้แล้ว รู้แล้ว มันสะดวกกว่าอย่างอื่น คำว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ มันไม่สะดวก ทำไมเราจึงทุกข์ ทำไมเราไม่รู้ มันไม่สะดวก ถ้าว่ารู้แล้ว มันไม่รู้ก็รู้แล้ว มันรู้ก็รู้แล้ว มันสุขก็รู้แล้ว มันทุกข์ก็รู้แล้ว สะดวก ๆ เห็นแบบสะดวกสบาย มันหลงก็รู้แล้ว คือความหลง มันสุขก็รู้แล้วคือความสุข มันทุกข์ก็คือรู้แล้วคือความทุกข์ สะดวกสบาย คำว่ารู้แล้ว รู้แล้วเนี่ย เป็นภาษาที่ง่าย ๆ เป็นภาษาเอามาใช้กับชีวิตของเรา เป็นตัวเฉลย แล้วสติสัมปชัญญะมันก็เป็นเช่นนั้นน่ะ มันเฉลยแบบนี้ มันรู้แล้ว รู้แล้ว มันว่าอย่างนี้นะ ความรู้แล้วเนี่ยมันเบา จะยิ้มก็ได้ ยิ้มหัวเราะความทุกข์ก็ได้ ยิ้มหัวเราะความสุขก็ได้ ยิ้มหัวเราะความโกรธก็ได้ คำว่ารู้แล้วเนี่ย มันเบา ๆ หรอกนะ คำว่าไม่ไหว ไม่ไหว มันหนัก ๆ ซักหน่อย ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ มันหนักนะ แม้แต่เกิดความกลัวความอะไร ชอบไม่ชอบอะไร รู้แล้ว มันชอบก็รู้แล้ว มันไม่ชอบก็รู้แล้ว มันเกิดได้จริง ๆ นะสิ่งเหล่านี้ มันเกิดได้กับกายกับใจของเรา 84,000 อย่าง มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นสิ่งที่สัมผัสอะไรก็ได้ กายของเรา ใจของเรา แต่เราจะดู จะแล จะรู้ จะศึกษาเขา ก็ต้องเห็นสิ่งเหล่านี้แหละ เห็นทั้งสุขเห็นทั้งทุกข์นะ เห็นทั้งผิดเห็นทั้งถูกนะ เห็นหมดทุกอย่างที่มันแสดง มันแสดงเหมือน ๆ กันชีวิตเรา เหมือนกันทุกคนนั่นแหละ ว่าแต่เราดูตัวเรา ถ้าเราดูตัวเรา ก็เท่ากับกระจายอำนาจการปกครอง ไม่ใช่ว่าการปกครองกระจายอำนาจ ตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เอ้า! ตั้งกรรมการ เอ้า! ตั้งไวยาวัจกร เอ้า! ตั้งผู้ช่วย เอ้า! ตั้งเลขา อันนั้นไม่ใช่กระจายอำนาจตามความเป็นจริง
การกระจายอำนาจตามความเป็นจริง คือมีสติดูแลตัวเอง ให้คุณไปดูแลตัวคุณเอาเอง อำนาจก็อยู่กับคุณ คุณจะแก้อะไรก็ต้องแก้ตัวคุณ คุณอย่าเพิ่งไปแก้คนอื่น ถ้าคุณแก้ตัวคุณได้แล้ว คุณเห็นตัวคุณ ทุกแง่ทุกมุม จนคุณหลอกตัวคุณไม่ได้ นั่นแหละกระจายอำนาจ ถือว่าเบ็ดเสร็จ อำนาจเบ็ดเสร็จ พระพุทธเจ้าก็บอกอย่างนี้ สมัยพระพุทธองค์อุปสมบทแก่ผู้มาขอบวช พระพุทธเจ้าก็ใช้เอหิภิกขุอุปสัมปทาว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเราตรัสไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติตามธรรมวินัยนั้นเถิด” ผู้ที่ได้บรรลุธรรม ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ก่อน พระพุทธเจ้าก็ใช้คำว่า “เธอจงประพฤติตามธรรมวินัยนั่นเถิด” ถ้าผู้ที่เป็นปุถุชนมาขอบวช พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “เธอจงเป็นผู้ประพฤติตามธรรมวินัย ให้เป็นที่สิ้นทุกข์เถิด” ก็เท่านี้เอง แล้วก็ไปแล้วบัดหนิ ไปปฏิบัติตามธรรมวินัย
ตามธรรมวินัยก็คือนี่แหละ เราทำอยู่นี่แหละ เรามีสติดูสติ มีสติเนี่ย ก็เป็นการรักษาศีล มีสติก็เป็นการเจริญสมาธิ มีสติก็เป็นการเจริญภาวนาปัญญาไปพร้อม ๆ กัน เหมือนกับกงจักรหมุนไปพร้อมกัน จะเป็นหนึ่งซี่ สองซี่ สามซี่ถ้าเป็นกงจักร มันก็สนับสนุนกัน ศีลสนับสนุนให้เกิดสมาธิ สมาธิสนับสนุนให้เกิดปัญญา ปัญญาสนับสนุนให้เกิดศีล ศีลสนับสนุนให้เกิดสมาธิ สมาธิสนับสนุนให้เกิดปัญญาเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติ ไม่ใช่ออกหน้าออกหลังมันเป็นกอ มันเป็นแนวร่วมที่มันทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ศีล สมาธิ ปัญญา คนเจริญสติก็เป็นอย่างนั้นนะ ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวเนี่ยต้นตอ ต้นตอที่ทำให้เกิดศีล ต้นตอที่ทำให้เกิดสมาธิ ต้นตอที่ทำให้เกิดปัญญา มันต้องมีสติ มันต้องมีสติ สติมันมีได้ยังไง ต้องสร้าง เอาอะไรมาสร้าง เอากายที่มันเป็นจริงอยู่นี่แล้ว มันหลง มันสุข มันทุกข์ ก็มีอยู่ในกาย เราจะได้รู้มัน ก็จิตใจนี่แหละ ที่มันจะเกิดสุขเกิดทุกข์มันก็แสดง บางทีมันแซงหน้าแซงหลังด้วย การเจริญสติ แซงจนหลงไปกับมัน มันสุขก็หลงไปกับความสุข มันทุกข์ก็หลงไปกับความทุกข์ โดยเฉพาะความคิดที่มันไม่ได้ตั้งใจเพราะไม่มีสติ ผุดออกมาได้ก็เห็นมัน เห็นแล้วเห็นอีก เห็นแล้วเห็นอีก รู้แล้วรู้อีก รู้เรื่องเก่า รู้แล้วรู้อีก การรู้เรื่องเก่า รู้แล้วรู้อีก มันไม่ใช่ธรรมดา มันจะเป็นปัญญาด้วยตรงนั้นนะ มันจะเป็นธรรมดา เห็นกายเคลื่อนกายไหวอยู่เนี่ย เห็นอยู่บ่อย ๆ เห็นอยู่บ่อย ๆ เอ้า! ทีแรกก็เจตนา เห็นกาย เอาไปเอามาก็ไม่ใช่แล้ว มันก้าวล่วง เห็นรูปเห็นนามไปเลย เห็นรูปเห็นนามไปเลย เคลื่อนไหวอยู่นี่มันเป็นรูปเป็นนาม
สี่อย่างนี่ เป็นด่านทำให้หลง ถ้าจะเปรียบเหมือนทางแยก พลัดเข้าไปง่าย ๆ หลงเข้าไปง่าย ๆ หลงกับกาย หลงกับเวทนา หลงกับความคิด หลงกับธรรม ที่มันเกิดขึ้น ความสุขก็เป็นธรรม ความทุกข์ก็เป็นธรรม แต่มันเป็นธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล อกุศลก็คือ ทำให้มันเศร้าหมอง ทำให้มืดหม่น กุศลก็ทำให้เฉลียวฉลาด ก็ดูมัน มันก็แสดงของเขาอย่างนั้นแหละ เอาไปเอามา เมื่อดูไปดูมา ดูไปดูมา มันก็เห็นเป็นรูปธรรม เห็นเป็นนามธรรมนะ ไม่ใช่เห็นเป็นอะไร เห็นเป็นเวทนา เห็นเป็นจิต เห็นเป็นธรรม เห็นเป็นรูปเป็นนาม สรุปเลยบัดหนิ สรุปเลยบัดหนิ เวทนาอาจจะไม่ต้องเรียกว่าเวทนา เรียกว่าเป็นอาการเสียแล้วบัดหนิ ง่าย ๆ ถ้าเรียกเวทนา มันสุขมันทุกข์ ความสุขความทุกข์ก็ยังแบ่งชั้นอยู่ สุขทุกข์ สุขมันก็เป็นสุขจริง ๆ ทุกข์มันก็เป็นทุกข์จริง ๆ มันจริง พอมาเห็นเป็นอาการ มันไม่จริง มันเป็นเพียงอาการ เป็นเพียงอาการ คำว่าสุขว่าทุกข์ ความร้อน ความหนาว ความหิว ความปวด ความเมื่อย ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความรัก ความชัง ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน ที่มันเกิดขึ้นกับรูปกับนาม มันเป็นอาการ ขอบคุณเขา ถ้ารูปไม่มีอาการ นามไม่มีอาการ เขาก็ไม่เรียกว่ารูป เขาไม่เรียกว่านาม มันก็จะไม่ได้บรรลุธรรมเลย ถ้าไม่เรียกว่ารูป ถ้าไม่เรียกว่านาม ไม่มีโอกาสบรรลุธรรม ถ้าเขาไม่แสดงอะไรออกมา
การบรรลุธรรมคือ เขาแสดงออกมาจนตอบได้ว่ารู้แล้ว รู้ก็รู้จบด้วย เห็นแล้วล่ะเรื่องเนี้ย มันก็เรื่องเก่า ความโกรธก็อันเก่า ความทุกข์ก็อันเก่า แม้จะทุกข์แบบไหนก็คือความทุกข์ ความโกรธแม้จะโกรธแบบไหนก็ตาม คนอื่นทำให้โกรธ อะไรทำให้โกรธ มันก็คือความโกรธ ความรัก จะรักผู้ รักคน รักผ้า รักเสื้อ รักวัว รักควาย รักบ้าน รักช่อง มันก็คือความรัก อันเดียวกัน แล้วก็มันก็เลยหลอกไม่ได้ มันเป็นอาการ มันไม่ใช่ตัวเราจริง ๆ มันเป็นอาการ ถ้าตอบได้ว่ามันเป็นอาการ ก็จิ๊บจ๊อยแล้วบัดหนิ จิ๊บจ๊อยเหลือเกิน ความรู้สึกตัว ยิ่งใหญ่ มีอำนาจเป็นธรรมเกิดขึ้นแล้ว บรรลุธรรมแล้ว เข้าอกเข้าใจ เห็นแจ้งตามความเป็นจริง บรรลุธรรมก็คือ บรรลุอยู่บนกาย บนรูป บนนาม รูปหลอกไม่ได้ นามหลอกไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ก่อนนี้รูปก็หลอก นามก็หลอก ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง ยอมมันหมด มันโกรธก็ยอม ทำตามความโกรธ มันรักก็ยอม ทำตามความรัก มันทุกข์ก็ยอม ทำตามความทุกข์ เคยยิ้มแย้มแจ่มใส เวลามันทุกข์ก็หน้าเศร้า ก็ยอมมันไป บัดนี้มันเห็นแจ้ง มันเห็นแจ้ง มันมีสติ มันเห็นแจ้ง อะไรมันหลอกไม่ได้ เพราะสตินี่เป็นสติอินทรีย์ มันเป็นใหญ่ แต่ก่อนตามันเป็นใหญ่ หูมันเป็นใหญ่ ถ้าเราสร้างสติไป สร้างสติไป เอ้า! ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง มันไม่ใหญ่เท่าสตินะ ไม่ใช่ใหญ่แบบเป็นธรรม สตินี้มันใหญ่ เป็นอินทรีย์ มันรอบรู้ มันหลอกไม่ได้ ถ้าตาเนี่ยมันหลอกได้ ความรู้สึกตัวมันหลอกไม่ได้ หลอกตัวเราก็หลอกไม่ได้ ถ้าหลอกตัวเราไม่ได้ไม่รู้ว่าใครจะไปหลอกใคร ถ้าหลอกเราได้เราก็หลอกคนอื่นได้มันดับเบิลหลอก ถ้าหลอกตัวเองไม่ได้มันหลอกคนอื่นก็ไม่เป็น โกรธคนอื่นก็ไม่เป็น ถ้าโกรธก็คือมันโกรธ ความโกรธมันหลอกตัวเรา ความโกรธมันไม่หลอกตัวเรา มันเห็นอย่างนี้ เรียกว่าบรรลุธรรม
เดี๋ยวนี้สิ่งเหล่านี้มันหลอกเรา ความกลัวก็หลอกเรา ความโกรธก็หลอกเรา ความทุกข์ก็หลอกเรา หลายอย่างที่มันหลอกเรา เป็นภาระมาก จึงจำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ให้เห็นซะ ให้พบเห็นซะ ให้เรามาพบกัน พบกันตรงนี้ ถ้าเราพบกันตรงนี้ อะไร ๆ มันก็จะดีไปเลย ไม่ต้องไปบังคับ ไม่ต้องไปมีกฎระเบียบอะไรนะ ใช้ชีวิตของเราอันถูกต้อง อันชอบ อยู่โดยชอบ อยู่โดยชอบก็คือ อยู่ด้วยความรู้สึกตัว อยู่ด้วยความรู้สึกตัว ไม่ใช่อยู่สุคะโตนะ ไม่ใช่อยู่วัดเชตุวัน วัดเวฬุวัน วัดอะไรต่าง ๆ ไม่ใช่ อยู่โดยชอบ คืออยู่มีสติเป็นหน้ารอบ คือไม่เผลอ เรียกว่าอยู่โดยชอบ ผู้มีสติเป็นหน้ารอบไม่เผลอ เหมือนพระขีณาสพผู้มีสติเป็นวินัย เรียกว่าอยู่โดยชอบ จะนั่งรถเมล์ก็อยู่โดยชอบ ทำงานเดินตามถนนหนทางก็อยู่โดยชอบ ความอยู่โดยชอบมันคือชีวิตเรา ไม่ใช่ไปเลือกที่เลือกทางนะ ถ้าอยู่โดยชอบตรงนี้แล้ว เรื่องอื่นก็ไม่เป็นไรนะ ไม่เป็นไร อย่างสมมติว่าเราร้อน เราก็อยู่โดยชอบได้ เรื่องของความอยู่โดยชอบ ถ้ามันร้อนเราก็อยู่โดยชอบ การอยู่โดยชอบเนี่ย อันเรื่องของความร้อนมันก็ค่อยเป็นไป ความหนาวมันก็ค่อยเป็นไป มันเป็นเรื่องไม่ใหญ่โตเหมือนกับอยู่โดยชอบ อันความรู้สึกตัวเรา ไม่เกี่ยวข้องกับความร้อน ไม่เกี่ยวข้องกับความหนาว ไม่เกี่ยวข้องกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มันก็ใช้เป็นหรอกถ้าอยู่โดยชอบภายในเป็นแล้ว ถ้าอยู่โดยความชอบภายในไม่เป็นมันก็อะไร ๆ ก็จะหลงไปตะพึดตะพือไป บานปลายไป ถ้าอยู่โดยชอบภายในแล้ว มันไม่บานปลาย ไม่เป็นหนึ่งเป็นสองไป มันก็จบ มันก็จบ อันอื่นมันก็ไม่มีปัญหา
ถ้าอยู่โดยชอบภายในเป็น เราอยู่ด้วยกันก็เป็นอย่างนั้น แม้นว่าจะอยู่ในฐานะแบบไหน ความเป็นจริงเราอยู่ด้วยกัน ถ้าโอ้! ปฏิบัติรู้สึกตัว โอ้! หลวงพ่อเทียนอยู่ตรงนี้น้อ ไม่รู้จักหลวงพ่อเทียน พอเห็นรูปเห็นนาม โอ้! หลวงพ่อเทียนอยู่ตรงนี้น้อ โอ้! ฉลาดน้อหลวงพ่อเทียน พระพุทธเจ้าโอ้ย! ช่างฉลาดเหลือเกิน พระพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ รักพระพุทธเจ้า รักธรรม รักวินัย รักครูอาจารย์ เคารพเพื่อน ไม่มีใครที่เราไม่เคารพเลย ถ้าเราอยู่โดยชอบตรงนี้ ถ้าอยู่โดยชอบจริง ๆ โกรธกันก็ไม่เป็น ด่ากันก็ไม่เป็น ทะเลาะวิวาทกันไม่เป็น ถ้าอยู่โดยชอบตรงนี้ได้ ให้ได้อดได้ทน เพราะเห็น เห็นก็เห็นอันเดียวกัน จนมีคำสอนว่า ฟังเสียงทุกเสียงเหมือนเสียงพระสวดมนต์ ดูคนทุกคนเป็นพระพุทธเจ้า มันเหมือน ๆ กัน มองแบบดูคนทุกคนเหมือนพระพุทธเจ้า อยู่ตรงไหนมีพระนิพพานอยู่ตรงนั้น ปานนั้นแล้วคนมีสตินะ ไม่แปลก ไม่แยก ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่มีลัทธิ ไม่มีเพศ ไม่มีวัย เป็นความรู้สึกตัวที่มองกันแบบกัลยาณมิตร กัลยาณธรรม ออกหน้าออกตา คือความเมตตาสงสาร เห็นอกเห็นใจ เราโกรธ เราเห็นเราโกรธ โอ! เรารู้ตัวเราเวลามันโกรธ เวลาคนอื่นโกรธเขาก็เป็นทุกข์แบบนี้ เวลาคนอื่นทุกข์เขาก็เป็นทุกข์แบบนี้ เราเห็นใจเขา เห็นใจเราคือเห็นใจคนอื่น ถ้าจะแก้คนอื่นแก้เรา แก้เรา เรารักพ่อรักแม่ เราก็แก้ตัวเรา อย่าให้มีปัญหา รักบุตรภรรยาสามี ก็ต้องมาดูตัวเองอย่าให้มีปัญหา อย่าให้มีทุกข์ อย่าให้มีปัญหาเกิดขึ้นกับกายกับใจเรา ก็แสดงว่าความรักบริสุทธิ์ ถ้าเราไม่มีปัญหาแล้ว ความรักก็ราบรื่น จะเป็นบุตร ภรรยา สามี ก็ราบรื่น ถ้าเราไม่มีปัญหา แม้เราจะรักเหมือนใจจะขาด ถ้าตัวคนที่เรารักมีปัญหามันก็ไม่สำเร็จดอกนะเพราะนั้นจะมาสร้างความรักที่เป็นอมตะ คือนี่ล่ะ ปฏิบัติธรรมนี่ล่ะ
พระพุทธเจ้าของเราเป็นยอดนักรักนะ นี่เราก็จะอยู่เข้าพรรษาตามสมมติบัญญัติ ตามสมมติบัญญัติ ถ้าเราพบกันตั้งต้นเริ่มต้นที่ตัวปฏิบัติ อันอื่นก็ดีไป สมควรอย่างไร ไม่สมควรอย่างไร กาลเทศะอย่างไร เราก็จะรู้ไป มันมีความถูกต้อง ใช้กายใช้จิตที่จะเกี่ยวข้องกับอะไร ๆ ก็ตาม มันมีความถูกต้องชอบธรรมอยู่ บางอย่างก็งดงามไป กิริยามารยาทก็งดงามไป นิสัยใจคอก็งดงามไป คอยดูฤกษ์ดูยามดูเวลา งดงามไป ทีแรกก็มีนาฬิกาปลุก กริ๊ง ๆ ๆ ๆ พอฝึกไป ฝึกไป ไม่ต้องดูนาฬิกา มันตื่นเอาเอง เวลาไปฉัน มันก็ไม่ได้ตีระฆัง เรียกกัน เงี่ยหูฟัง ถึงเวลาก็ไปกันเอง มันก็หัดไป จะตื่นมันก็ปวดหนักปวดเบา พอตื่นขึ้นมาก็ถ่ายหนักถ่ายเบา ล้างหน้าแปรงฟัน มันก็ถึงเวลาที่ไปทำวัตร ใช้เวลาเดินจงกรม พักผ่อน เตรียมเนื้อเตรียมตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ มันก็ไปกันเอง มันไปของมันเองถ้าฝึกตน ตนมันก็พาไป ความดีก็พาไป ความชอบก็พาไป ถ้าเราไม่ฝึก ไม่เริ่มต้นจากตัวเรา มันก็จะต้องให้กฎให้เกณฑ์ ให้อะไรอยู่นั่นแหละ ต้องใช้นาฬิกาต้องใช้อะไรต่าง ๆ เยอะแยะไปหมดเลย ต้องมีผู้บอกผู้สอนอาศัยพี่เลี้ยง อันนั้นก็มีเหมือนกัน จะช่วยได้เหมือนกัน
แต่เอาจริง ๆ เนี่ยนะ ถ้าฝึกสติเนี่ย มันก็จะดีไปอีกหลาย ๆ อย่าง การถ่ายเป็นเวลา การตื่นเป็นเวลา การนอนเป็นเวลา การเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรายังไง เป็นเกลอไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง แม้จะมีไข้ป่ามาลาเรียก็ไม่เป็นไข้ ให้คิดอย่างนั้นนะ แม้จะมีงูใหญ่ มีช้าง มีเสือ ช้างเสือก็จะไม่กัด ไม่ทำร้าย มันก็งดงามไปเอง เดินผ่าน เดินผ่านเก้งกวาง เก้งกวางก็ไม่เห่า มันก็เป็นไปเองตามธรรมชาติ หายใจเข้าหายใจออกก็เป็นธรรมชาติ เป็นอะไรไป จนคำสอนในพระสูตรจนตรัสไว้ว่า ผู้มีเมตตากรุณาเต็มเปี่ยม แม้แต่กินยาพิษก็ไม่เป็นพิษ ท่านว่าอย่างนั้นนะ แต่ว่าอย่าไปกินนะ (หัวเราะ) กินยาพิษก็ไม่เป็นไร พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้นะ ฝันไม่ฝันร้าย แม้แต่ถูกพิษอะไรก็ไม่เป็นพิษเป็นภัย มีคุณธรรม มีเมตตาจริง ๆ เปี่ยมรู้อยู่เสมอเนี่ย เนี่ยเอาตรงนี้เรา พบกันตรงนี้ พบกันตรงนี้ เข้าถึงตัวเอง อย่ามาเข้าถึงครูอาจารย์ ฉันชอบอาจารย์องค์นั้น ฉันชอบหลวงพ่อองค์นี้ อย่าเลย มาอยู่กับตัวเรา มารู้ตัวเรา มารู้ตัวเรา มีสติสัมปชัญญะลงไป เคารพอาจารย์ ก็คือเคารพเรา สามารถยกมือไหว้ เรายกมือไหว้เนี่ย ดูจริง ๆ เราไหว้เรานะ เรามีคุณธรรมนะจึงยกมือไหว้ได้ ที่จริงมันเกิดจากเรา เราก็มองว่าเราไหว้อาจารย์ ที่จริงมันเป็นสมบัติของเรา สามารถยกมือไหว้ สามารถแสดงความเคารพ เรามีคุณธรรม ถ้าเราไม่มีคุณธรรม เรายกมือไหว้ไม่เป็นหรอก โอ้! เราเนี่ยสามารถยกมือไหว้ได้ ขอบคุณเรา ขอบคุณเรา โอกาสที่จะหลงเราไม่หลง โอ้! เราขอบคุณเรา โอกาสที่จะโกรธเราไม่โกรธ โอ้! ขอบคุณเรา โอกาสที่จะทุกข์เราไม่ทุกข์ โอ้! ขอบคุณเรา ขอบคุณเรา การรู้จักขอบคุณตัวเองเนี่ย มันเป็นความลึกซึ้งนะเหมือนกับเราแก้ เราแก้ปัญหา เวลาใดมันรู้สึกตัวเนี่ย โอ้! มันลึกซึ้งนะ เวลาใดที่มันโกรธรู้สึกตัวนี่มันลึกซึ้งนะ เวลาใดที่มันทุกข์รู้สึกตัวนี่มันลึกซึ้ง ได้แก้ความผิดเป็นความถูก มันสมน้ำสมเนื้อ สมน้ำหน้าความหลง สมน้ำหน้าความทุกข์ สมน้ำหน้าความโกรธ ควรที่จะทำกับมันอย่างนั้นความโกรธ เวลามันโกรธรู้สึกตัวไม่โกรธ ต้องทำอย่างนั้น เวลามันทุกข์รู้สึกตัวไม่ทุกข์ เวลามันกลัว มันอะไรก็ตาม รู้สึกตัว มันจึงสมน้ำสมเนื้อ
พระพุทธเจ้าจึงว่า เมื่อมีเกิดก็ต้องมีไม่เกิด เมื่อมีแก่ก็ต้องมีไม่แก่ เมื่อมีเจ็บก็ต้องมีไม่เจ็บ เมื่อมีตายก็ต้องมีไม่ตาย มันตรง ๆ นั้นด้วย ตรงนั้นแหละ อะไร ๆ มันก็ตรงนั้นแหละ เรียกว่าจบแล้วล่ะชีวิตของเรา ถ้ามันตรงข้ามกันน่ะนะ ความโกรธก็ไม่โกรธ ความหลงก็ไม่หลง ความทุกข์ก็ไม่ทุกข์ ถ้าทำไม่เป็นตรงนี้ ไม่รู้ว่าจะมีคุณภาพอะไรชีวิตของเรา เอาอะไรมาเป็น(คุณ)ภาพ เอายศฐาบรรดาศักดิ์ เอาวุฒิภาวะ เอาชาติ เอาอะไรมาอวดกัน ถ้ายังเปลี่ยนตรงนี้ไม่เป็น ไม่มีดอก มันสมมติมันหลอกตัวเอง ถ้าหลงแล้วไม่มีความรู้สึกตัว ถ้าโกรธแล้วไม่มีความรู้สึกตัว มันต้องเอาตรงนี้ ตรงนี้ จึงจะคุ้มค่ากับชีวิตของเรา อย่าไปเอาอันอื่นเกินไป มามองตน มามองตน นี่คือตัวปฏิบัติ ถูกหรือผิด ฟังดู เราก็ฟังดู แล้วก็ทำดู สัมผัสลองดู ไม่ต้องมีคำถาม สัมผัสลองดู สัมผัสลองดูนะ พอได้ยินไหม เนี่ยหลวงพ่อก็พูดอย่างนี้นะ ก็พูดอย่างนี้แหละ ไม่ต้องการให้ใครมายกย่อง ไม่อยากได้อะไรจากท่าน พูดในสิ่งที่มันถูกต้อง ไม่เป็นทุกข์ ไม่ตั้งใจให้มันดีเพื่อให้โยมมายกย่อง ไม่มีเลย จะพูดในสิ่งที่มันถูกต้อง เท่านั้นเอง จะพูดจะบอกในสิ่งที่มันถูกต้อง มันสะดวก มันสบาย มันสะดวกสบาย ผู้พูดก็ได้บรรลุธรรม ผู้ฟังไม่รู้ว่าจะได้บรรลุธรรมหรือเปล่า (หัวเราะ) ผู้พูดได้บรรลุธรรมนะ ธรรมเทศนามัยเนี่ย ธรรมเทศนามัยได้บรรลุธรรมนะ เพราะว่าสิ่งที่พูดไม่ได้จำมา มันเป็นของมัน มันบอกความจริง ผู้ฟังก็เรียกว่าธรรมเทศนามัย ได้บุญทั้งสองฝ่าย ได้บุญทั้งสองฝ่าย ผู้แสดงก็ได้บุญ ผู้ฟังก็ได้บุญ มันต้องอย่างนี้เนาะ ไม่ใช่จะไปเทศน์ จ้อง...โยมทานสิบทานห้า เป็นเทวาอยู่ชั้นฟ้าย่อน ๆ เด้อโยมเด้อ (หัวเราะ) ขึ้นสวรรค์ข้องย่อง อย่ามาข่องอยู่ขี้ดิน เด้อโยมเด้อ มักหลายแบบนั้น