แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:45]
เพื่อให้เป็นส่วนประกอบกับการศึกษาปฏิบัติ เราเจริญสติ เราเจริญสัมปชัญญะ เป็นการให้ข้อมูลกาย ให้ข้อมูลจิตใจ ให้กายได้รับข้อมูลคือความรู้สึกความระลึกได้ ให้จิตใจได้รับข้อมูลคือความรู้สึกความระลึกได้ อย่าให้เขาได้ไปรับข้อมูลอันอื่น ถ้าไม่ให้ข้อมูลมีสติสัมปชัญญะ เขาก็ซุกซน ไปเอาข้อมูลอันอื่นหลายอย่าง ความพอใจความไม่พอใจ ความยินดียินร้ายอะไรต่างๆ จนเป็นจริตนิสัยกลายเป็นความโลภความโกรธความหลง เป็นราคะโทสะโมหะไป ออกหน้าออกตา ก่อนพูดก่อนทำก่อนคิดน่ะไม่เคยมีสติสัมปชัญญะเลย เราจึงมาฝึกตน มาฝึกตน บทฝึกหัดบทลำนำ ก็ต้องลำนำลำดับใส่ความรู้สึกเพิ่มความรู้สึกเข้าไป จึงจำเป็นต้องสร้างรูปแบบ เพื่อไต่เต้า เพื่อเป็นที่ตั้ง เพื่อเป็นนิมิต เป็นที่วาง เหมือนกับบรรทัด เขียนหนังสือใส่บรรทัดให้มันถูกที่ถูกทาง มันก็อ่านออก เข้าใจ
ชีวิตของเราก็เหมือนกัน วิชากรรมฐานเป็นวิชาที่ให้ข้อมูล ให้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกายของจิต ก็เป็นวิชาที่สอนตัวเราแท้ๆ นี่แหละ อย่าไปคิดว่ามันเป็นเรื่องอื่นเลย เป็นวิชาเป็นเรื่องที่สอนตัวเรา การสอนตัวเราไม่ใช่เหตุผลอะไร สร้างสติลงไป สร้างสติลงไป วิธีใดที่จะมีความรู้สึกตัวหามา เอากายเอานี่แหละเป็นวัสดุก่อน เป็นการเริ่มต้น มันก็มีจริงๆ กายมันก็มีจริงๆ สติมันก็มีจริงๆ อิริยาบถรูปแบบก็มีจริงๆ ลักษณะก็มีจริง ถ้าเดินก็เดินจริงๆ เอามือวางไว้บนเข่ามันก็วางไว้บนเข่าจริงๆ มันก็ยกมือเคลื่อนไหวไปมา ไม่ได้ไปหา ไม่ต้องไปใช้ปัญญา ไม่ใช้เหตุใช้ผล เป็นการสัมผัสเป็นการลงพื้นที่ ไปจุ่มเอา ภาษาคริสต์ศาสนาศริสต์เขาเรียกว่ายาปัก ไปจุ่มเอาลงดู ยาปักเป็นการศึกษาที่ถึงเนื้อถึงตัว
สมัยหนึ่งเขาให้หลวงพ่อไปศึกษาที่ประเทศฟิลิปปินส์ ไปดูกลุ่มคริสต์ศาสนาที่นั่น แล้วกลุ่มที่นั่นก็มีหลายระดับ ระดับจนที่สุดคือสลัม ปานกลางก็คือผู้คนธรรมดา ที่สูงสุดก็คือคหบดีเศรษฐีทั้งหลาย ไปจุ่มลองดู ไปจุ่มกับคนจน ไปอยู่กับสลัม ได้ไปสัมผัสกับความจน เราก็จนกับเขา เข้าห้องน้ำไม่มีน้ำอาบ ที่นอนไม่มี เราก็นอนแบบเขา ห้องน้ำก็ไม่มีสะอาดเท่าไหร่ น้ำก็ไม่ค่อยมี เราก็ใช้ความสำรวมระมัดระวัง ไม่สุรุ่ยสุร่าย การขบการฉันก็ต้องระมัดระวัง ไปจุ่มลองดู ก็รู้จักว่าความจนมันเป็นอย่างนี้ๆ สะดวกเป็นอย่างนี้ ความไม่สะดวกเป็นอย่างนี้ๆ และก็การที่ไปจุ่มเอาแบบนั้น เราได้ปรับเนื้อปรับตัว มีผ้าปูนอนสกปรกเหม็นสาบ เราจะนอนอย่างไร เราก็มีผ้าอาบน้ำผืนเล็กๆ พอรองข้างตัวเองได้ ฝาบาตรเป็นหมอนหนุน นอนไม่ต้องกระดุกกระดิก ถ้ากระดุกกระดิกมันจะไปถูกผ้าปูนอนที่มันเลอะๆ เทอะๆ เราก็ทำได้ เราสมัครจนเราสัมผัสกับความจน แต่ว่านั่นมันเป็นภายนอก
แต่ว่าการศึกษากรรมฐานนั้นเป็นสัมผัสก็จริงกว่านั้น มีสติลงไปที่กาย กายก็มีจริง มีหลักมีฐาน เวทนาที่มันปวดมันเมื่อยก็มีจริง ได้สัมผัสดู ขณะที่สัมผัสกับกาย ขณะที่สัมผัสกับเวทนา มีสติมีสัมปชัญญะ ขณะที่สัมผัสกับกายกับเวทนากับความคิดกับธรรม ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ มันก็ไม่ได้ศึกษาอะไร ไม่ได้ไปจุ่มลองดู มันก็เตลิดเปิดเปิงไปทางอื่น ก็ไม่เห็นหลักเห็นไร ไม่เห็นหลักไม่เห็นฐาน เราจะทำอะไรถ้าไม่ได้หลักฐาน มันก็สำเร็จได้ยาก การศึกษาธรรมะ การที่จะบรรลุธรรม มันต้องมีหลักมีฐานพอสมควร เราจึงมาดูหลักฐาน มีกายมันก็มี ดูบ่อยๆ ดูบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ กายเป็นเรื่องของความรู้สึกความระลึกได้ มันจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อมีความระลึกได้ มีความรู้สึกตัวกับกาย เมื่อมีความระลึกได้ มีความรู้สึกตัวกับเวทนาที่มันเป็นสุขเป็นทุกข์ เมื่อมีความระลึกได้ขณะที่จิตที่มันคิดแล่นไป โลดแล่นไปมีสติสัมปชัญญะ ขณะที่มันไม่ได้คิดก็มีสติสัมปชัญญะ นี่มันจะเกิดอะไรขึ้น ให้เราทำตรงนี้ ให้เราทำตรงนี้ จึงจะชื่อว่าวิชากรรมฐาน
มันจึงได้หลักได้ฐาน มันจึงจะเห็นความเท็จความจริงมันเป็นอย่างไร สัมผัสกับความเท็จ สัมผัสกับความจริง ความเท็จความจริงที่มันจะเกิดขึ้น ที่จะได้พบเห็นต่อเมื่อได้สัมผัสของจริง เห็นกายมีสติ สติมีในกายมีจริง สติมีในเวทนาก็มีจริง สัมผัสกับของจริง จริงแบบไม่จริง จริงแบบจริงก็ไม่เหมือนกัน จริงแบบจริงก็สัมผัสลองดูแล้ว จริงแบบไม่จริงก็สัมผัสลองดูแล้ว สัมผัสบ่อยๆ พบเห็นบ่อยๆ เจอกันบ่อยๆ ของเท็จก็เจอบ่อยๆ ของไม่เท็จของจริงก็เจอบ่อยๆ มันก็เป็นธรรมดา มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติ ธรรมะก็คือธรรมชาติธรรมดา จนเห็นเป็นรูปเป็นนาม รูปมันก็เป็นรูปจริงๆ ไม่มีใครที่จะเป็นใหญ่ในรูปได้ เพราะว่ารูปน่ะถ้าไปเห็นเป็นรูปแล้ว ทีแรกก็เห็นเป็นกาย เมื่อเห็นเป็นรูปแล้วน่ะ มันก็สรุปสรุปเลย ไม่มีใครเป็นใหญ่ในรูปได้ รูปมันก็เป็นยังไง ก็ต้องเป็นรูปอยู่นั่นตลอดเวลา ถ้าเราไปเป็นตัวเป็นตนอยู่ในรูปน่ะ เราก็มอมเมาตัวเองให้เห็นของไม่จริงว่าเป็นของจริง เห็นของจริงว่าเป็นของไม่จริง
[08:37]
ถ้าเห็นกาย มีสติสัมปชัญญะก็เห็นตามความเป็นจริง ของจริง เห็นของจริงคือมันก็ต้องจะเป็นของจริง เห็นของไม่จริงว่าเป็นของจริง ว่าเป็นตัวเป็นเป็นตน ถ้าเห็นเป็นรูปเป็นนามแล้วมันจะบอก เป็นตัวเป็นตนอยู่ในกายอยู่ในรูป ถ้าเห็นจริงๆ แล้ว ไม่เป็นอื่น เกี่ยวข้องกับกายถูกต้อง ดังที่เราสวดเมื่อตะกี้นี้ มันก็จะมีสติสัมปชัญญะถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ โลกคือรสชาติ รสชาติที่มันเกิดขึ้นกับกาย มีหลายอย่างรสชาติที่เกิดขึ้นกับกาย มีตัวมีตน มีภพมีชาติอยู่ในกายด้วย มีความยินดี มีความสุขมีความทุกข์อยู่ในกายด้วย เรียกว่าภพชาติที่เอากายเป็นที่เกิด เมื่อเรามาเห็นเป็นรูปเป็นนาม มันก็ไม่มีอะไรแล้ว ไม่มีตรงไหนที่เป็นภพเป็นชาติ มันเป็นรูปจริงๆ ตัวเห็นก็เห็นจริงๆ ว่ามันเป็นรูป ตัวรูปมันก็บอกว่า นี่ฉันคือรูป อย่ามายุ่งกับฉัน อย่ามาเป็นใหญ่ฉัน ใครจะมาเอาฉันมาเป็นใหญ่แล้ว ไม่จริง ไม่ถูกไม่ต้อง มันก็บอก เราก็เห็น จนรู้แจ้งน่ะรู้แจ้งในรูป เรื่องของรูปกลายเป็นปัญญา กลายเป็นศีล กลายเป็นสมาธิ เรื่องของรูปไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนเหมือนเมื่อก่อน
เห็นเวทนา อาการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นกับรูป อาการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นกับนาม มันก็ต้องมี คนยังไม่ตาย มันก็มีร้อนมีหนาว มีปวดมีเมื่อย มีหิว อะไรต่างๆ มันต้องเกิดขึ้นแน่นอนเพราะมันเป็นรูปเป็นนาม มันก็ไม่เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนก้อนอิฐก้อนหิน เขาก็แสดงสิ่งที่เขามี เขาก็แสดงเฉยๆ เราก็ไปสำคัญมั่นหมายว่าเราสุขว่าเราทุกข์ สำคัญมั่นหมายว่าสุขว่าทุกข์แล้วไม่พอ ยังไปสำคัญมั่นหมายไปยึดว่าเป็นตัวเป็นตน ยึดเป็นตัวเป็นตนแล้วยังไม่พอ ยังไปเอาตัวตนที่ยึดขึ้นมาแล้ว ว่าผิดว่าถูก ว่าสุขว่าทุกข์ หลายหลืบเข้าไป ดับเบิ้ลเข้าไป หลายชั้นเข้าไป ในโลกก็มีรูป ในรูปในเวทนาก็มีเวทนาในเวทนา ถ้าเวทนาเฉยๆ มันไม่เป็นอะไร มันมีเวทนาในเวทนา ในเวทนามันมีสุขมีทุกข์ในเวทนา ถ้าเวทนาเฉยๆ มันก็ไม่เป็นอะไร มันก็เป็นธรรม ก็ฉลาดไปเลย
เห็นจิตมันน่ะนะ จิตก็คือมันคิดมันรู้อะไรได้ เพราะมันอยู่กับรูป ถ้ามันตากแดดมันก็รู้ร้อน ถ้าถูกละอองฝนมันก็รู้หนาว ถ้าเดินนานๆ ก็รู้ปวดรู้เมื่อย นั่งนานก็รู้ปวดรู้เมื่อย นอนนานเกินไปก็ไม่ไหว นั่งนานเกินไปก็ไม่ไหว เดินนานเกินไปก็ไม่ไหว มันเป็นรูป มันเป็นนาม เพราะรูปนามมันต้องมีอาการ มันไม่มีใครที่เป็นใหญ่ได้ กับรูปกับนามที่มันเป็นอาการ รูปนามเรียกว่าเป็นอาการ อย่ามาเป็นใหญ่อาการ ฉันสุข ฉันทุกข์ ฉันร้อน ฉันหนาว ฉันชอบ ฉันไม่ชอบ อาการที่เขาเกิดขึ้น ก็ไปเอาความชอบ เอาความไม่ชอบ ความพอใจในความไม่พอใจ แล้วก็กลายเป็นภพเป็นชาติ หลืบเข้าไปอีก มืดเข้าไปอีก ปิดไปอีก แล้วก็เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะรูปเพราะนามที่มันแสดงเอา เรียกว่าทุพพลภาพทางรูปทางนาม รูปมาเป็นสุข รูปมาเป็นทุกข์ นามมาเป็นสุข นามมาเป็นทุกข์ เรียกว่าทุพพลภาพ เมื่อรูปมันทุพพลภาพ อะไรที่มันที่เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะรูป มันก็มารก็ได้โอกาส มันก็ผลาญลงไป เป็นสุขเป็นทุกข์ ใช้รูปเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่ได้ใช้รูปเป็นสติเป็นปัญญา ถ้าเรามีทุพพลภาพเหมือนกับชีวิตเราอ่อนแอ ก็เกิดโรคแทรกซ้อน ไม่เข้มแข็ง
[13:15]
ถ้ามีสติสัมปชัญญะก็ถือว่าไม่ทุพพลภาพแล้ว แข็งแกร่ง เมื่อมันมีความแข็งแกร่ง อะไรก็ทำลายไม่ได้
เช่น น้ำถ้ามันไหลลงตรงไหน มันก็ทำลายตรงนั้น ชีวิตคนเราถ้ามันไหลเป็นสุขตรงกาย มันก็ทำลายกาย ถ้าเป็นทุกข์ตรงกาย มันก็ทำลายกาย ทุกข์กายมันก็ทำลายกาย ทุกข์ใจมันก็ทำลายจิตใจ ว่ามันเป็นที่ไหลเป็นที่ทับ ถ้าน้ำมันไหลผ่านตรงนั้นมันก็ต้องเซาะลงเป็นโศกเป็นเหว จุดอ่อนอยู่ตรงนั้น มันอ่อนอยู่ตรงนั้น เอารูปมาเป็นสุข เอารูปมาเป็นทุกข์ เอานามมาเป็นสุข เอานามมาเป็นทุกข์ เอารูปมาบัญญัติ เอานามมาบัญญัติ เอารูปมาสมมติ เอานามมาสมมติ ซ้อนเข้าไปอีก ตาเห็นรูปเฉยๆ ไม่ได้เฉยแล้ว ไปบัญญัติอีกว่าชอบว่าไม่ชอบ หูได้ยินเสียงเป็นธรรมดา เป็นรูปเป็นนามมันต้องได้ยินเป็นธรรมดา เราก็มีสมมติบัญญัติ มีความหลงเราก็มีสมมติบัญญัติ ไปสำคัญเราก็มีอุปทานไปยึดเอา เป็นภพเป็นชาติอยู่ในบัญญัติหลายชั้นต่อไปอีก ก็คว้าน้ำเหลวทั้งนั้น เกิดดับ เกิดดับอยู่เช่นนั้น ผู้ไม่มีสติสัมปชัญญะ ภพชาติก็ขยาย ขยัน ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันก็คุมกำเนิดได้ รู้สึก มันก็ถอนออกมาได้ อันเดียวความรู้สึกตัวมันเป็นตัวเฉลยหลักเดียว
ภาษาที่พูดกันอยู่บ่อยๆ คือดู คือดูนะ ให้เห็นแล้วไป มันสุขก็เห็น หรือพูดแบบนักปฏิบัติ มันสุขก็รู้สึกระลึกได้อยู่ มันทุกข์ก็รู้สึกระลึกได้ มันรู้ก็รู้สึกระลึกได้ มันไม่รู้ก็รู้สึกระลึกได้ มันสงบก็รู้สึกระลึกได้ มันไม่สงบก็รู้สึกระลึกได้ นี่เรียกว่าทาง ทางมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ทางที่จะต้องไปท่องพร่ำบ่น ถ้ารู้สึกระลึกได้ก็ผ่านแล้ว มันสุขรู้สึกระลึกได้ ผ่านความสุขไปแล้ว มันทุกข์รู้สึกระลึกได้ ผ่านความทุกข์ไปแล้ว มันยินดีมันยินร้าย รู้สึกระลึกได้ ผ่านความยินดีผ่านความยินร้ายไปแล้ว ไม่ทุพพลภาพเข้มแข็งตรงนี้เสริมตรงนี้ ไปได้ก็ไปแบบนี้ ผ่านก็ผ่านตรงนี้ ถ้าไปสุขไปทุกข์ไม่ผ่านถูกกักถูกขังเสียแล้ว นี่เราปฏิบัติธรรมมันต้องมีหลักฐาน ได้หลักได้ฐาน ได้เป็นการฟ้องก็จะเอาให้เกิดกระบวนการยุติธรรมขึ้นมา ถ้าไม่ได้หลักฐาน ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับชีวิตเราไม่ได้ มันก็จะต้องมอมเมา จะต้องเถื่อนอยู่เช่นนั้น กายก็เถื่อน ใจก็เถื่อน อะไรก็เถื่อน ไม่มีความเป็นธรรมในชีวิต เพราะไม่ได้หลักฐาน อะไรมาก็เอาตะพึดตะพือ บ้าหอบฟาง
เราก็มีวิธีอะไรเยอะแยะ แก้ขัดแก้จน เสียเคราะห์สะเดาะโชค ก็มีต่อไปอีกเยอะแยะไปหมดเลย เอาบุญอยากได้บุญ กลัวบาป มีแต่กลัว มีแต่อยากได้ กลัวบุญ เขากลัวบาปแต่ว่าไม่เห็นบาป อยากได้บุญไม่เห็นบุญ มันก็ไม่ได้ซักอย่าง กลัวบาปก็หนีบาปไม่เป็น อยากได้บุญก็ทำบุญไม่เป็น เอาบุญไม่เป็นเพราะไม่ได้หลักฐาน ถ้าเรามาเห็น มีสติเห็นกายนี่ มันจะได้หลักฐาน ได้หลักฐาน ยึดไปเรื่อยๆ ครองพื้นที่ไปเรื่อยๆ มีสติครองกายแนบแน่น เป็นสมบัติของกันและกัน สติต้องเป็นสมบัติของกาย กายก็ต้องเป็นสมบัติของสติ จิตใจก็เหมือนกัน ต้องเป็นสมบัติของสติ มันได้หลักได้ฐาน ความทุกข์ไม่ใช่กาย ความสุขไม่ใช่กาย ความทุกข์ไม่ใช่จิตใจ ความสุขไม่ใช่จิตใจ มันเป็นจิต มันเป็นนาม มีแต่ปัญญา ปัญญาเท่านั้นที่เป็นเรื่องของกายของจิตใจ ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ถ้าสุขทุกข์เหมือนกับเราเอากายไปห้อยไปแขวนไว้กับวัตถุสิ่งอื่น แล้วก็ล้มลุกคลุกคลาน
[17:51]
ผู้ปฏิบัติธรรมเห็นอารมณ์กรรมฐานเบื้องต้น ต้องเห็นรูปเห็นนาม เห็นสมมติเห็นบัญญัติ เห็นอาการเห็นวัตถุ เห็นวัตถุเห็นอาการ วัตถุก็คือตาเรานี่เป็นวัตถุ รูปก็เป็นวัตถุ เมื่อมันเห็นกันมันก็เกิดอาการ อาการที่เกิดการเห็น เมื่อเห็นแล้วไม่มีสติก็บัญญัติสมมติไป ความพอใจความไม่พอใจกลายเป็นสมมติบัญญัติ ความรู้สึกตัวเป็นปรมัตถ์สัจจะ ความโกรธเป็นสมมติ ความทุกข์เป็นสมมติ ความรู้สึกตัวเป็นปรมัตถ์ แต่เราไม่ค่อยเห็นเป็นอย่างนี้ เห็นก็เห็นอันเดียว ไม่เห็นเป็นทาง เหมือนกับถ้าเห็นทุกข์ก็ต้องมีความไม่ทุกข์ มันถึงจะถูก ถ้าเห็นความโกรธก็ต้องมีความไม่โกรธ ถ้าเห็นความหลงก็ต้องมีความไม่หลง นี่คือการศึกษาจริง ๆ ต้องสัมผัสได้แบบนี้ ถ้าไม่สัมผัสแบบนี้ก็ผ่านไปไม่ได้หรอก โซ่ไม่แก้กุญแจไม่ไข ไม่ไขก็ไปไม่ได้ โกรธจนตาย หลงจนตาย ทุกข์จนตาย
ถ้าได้อารมณ์ของกรรมฐาน มันไปจริงๆ ไปจากความหลง ไปสู่ความไม่หลง ไปจากความทุกข์ ไปสู่ความไม่ทุกข์ ไปจากความโกรธ ไปสู่ความไม่โกรธ แม้มันจะโกรธอีก มันก็ไป โกรธทีไรมันก็ผ่านไปได้ และหลงทีไรก็ผ่านไปได้ ทุกข์ทีไรก็ผ่านไปได้ เรียกว่าปฏิบัติธรรม เรียกว่าทางผ่าน เรียกว่ามรรค มรรคก็คือผ่านไปแล้ว ไม่ใช่ไปอยู่ คำว่าผ่านคืออยู่ข้างหลังแล้ว ความหลงอยู่ข้างหลังแล้ว ความโกรธอยู่ข้างหลังแล้ว ความทุกข์อยู่ข้างหลังแล้ว แม้มันมีอีกเท่าไหร่ มันก็เอามาไว้ข้างหลังได้ มันจึงเป็นการเดิน เราเดินน่ะ ต้องเอาบ้านนั้นไว้หลัง เอาเมืองนี้ไว้หลัง มันจึงเป็นการเดินทาง เรียกว่า มรรค
มันก็พิสูจน์กันได้แบบนี้ เรียกว่าข้ามล่วงแบบนี้ ล่วงพ้นภาวะเก่าแบบนี้ ไม่ใช่ดุ้นเดาทำคะเนคำนวณสุ่ม ไม่ใช่แบบนั้น มันเห็นรูปเห็นนาม เห็นกายเห็นเวทนาเห็นจิตเห็นธรรม เห็นรูปธรรมเป็นนามธรรม ในรูปในนามที่มันเห็น สิ่งที่ตามเฉลยคือไตรลักษณ์ อยู่ในสภาพที่เป็นรูปธรรมที่เป็นนามธรรม ที่มันเป็นสมมติที่มันเป็นบัญญัติ แล้วไปหลงสำคัญว่าสิ่งนั้นเป็นเราเป็นเขา เช่น ความโกรธ ความโกรธที่มันเกิดขึ้นจากความหลง มันไม่เที่ยง ความไม่หลงนี่มันเที่ยง ความไม่ทุกข์มันเที่ยง ความไม่โกรธมันเที่ยง มันจริง เพราะฉะนั้น มันจึงเหลวไหลน่ะ ไปเห็นความโกรธความโลภความหลงเป็นเรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องสกปรก เหมือนเราเป็นผู้ใหญ่เห็นคูถ เราก็ไม่เข้าไปแตะไปต้อง ไม่เหมือนเด็ก เด็กนี่เห็นคูถ เขาก็เล่นมอมแมมได้ ไอ้เราเป็นผู้ใหญ่เราก็ไม่มอมแมมเหมือนเด็ก ความหลงมันก็มอมแมม ความโกรธมันก็มอมแมม ทำให้สกปรก เราก็สะอาดแล้วไป
สะอาดยังไง สะอาดคือพรหมจรรย์ ภาวะที่รู้ที่ดูที่เห็นนี่เป็นพรหมจรรย์ ภาวะที่เป็นน่ะมันสกปรก เอามันอยู่นี่แหละ เพราะมันต้องผ่านตรงนี้การปฏิบัติธรรม มันจึงจะเป็นการข้ามล่วง หรือพัฒนาจากความเป็นคนเป็นมนุษย์ จากความเป็นมนุษย์เป็นพระอย่างนี่ ที่สุดก็คือความเป็นพระ เป็นได้เพราะการปฏิบัติ เป็นได้เพราะรู้จักอารมณ์ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล เลือกเป็น จึงจะเลื่อนฐานะ เป็นมนุษย์ขึ้นมาหรือเป็นคน เป็นคน เป็นมนุษย์ เป็นพระ เอาแค่ 3 ระดับนี้ก็ได้
กำจัดสิ่งที่เศร้าหมองอันเกิดขึ้น ทำให้หลงทำให้โกรธ จึงจะเป็นพระ ถ้าโกรธอยู่ไม่ใช่พระ ถ้าทุกข์อยู่ก็ไม่ใช่พระ ถ้างมงายอยู่ก็ไม่ใช่พระ
พระคือประเสริฐ ประเสริฐคือยังไง ไม่หลง สิ่งที่เคยหลง ไม่หลง สิ่งที่เคยทุกข์ ไม่ทุกข์ สิ่งที่เคยโกรธ ไม่โกรธ มันประเสริฐกว่าเก่า ไม่เปรอะไม่เปื้อนเหมือนเมื่อก่อน นี่มาปฏิบัติธรรม ก็ต้องไปทางนี้ ฉะนั้นเราจึงสัมผัสจริงๆ เพียรพยายามที่จะรู้สึกตัว รู้สึกตัว แล้วความรู้สึกตัวเราก็ทำได้จริงๆ เพียงกระดิกนิ้วมือก็รู้ได้แล้ว หายใจเข้าก็รู้ได้แล้ว กลืนน้ำลายก็รู้ได้ กะพริบตาก็รู้ได้ ยิ่งพวกเรามาเจตนายกมือสร้างจังหวะ ยิ่งเป็นอดิเรกลาภของเรา หน้าที่โดยตรง พากันไปเดินจงกรมอยู่ศาลา พากันไปนั่งสร้างจังหวะอยู่ศาลา เป็นกัลยาณมิตรเป็นมิตร มันก็อดิเรกลาภ เป็นอดิเรกลาภของพวกเรา ไม่มีอะไรถูกแบ่ง เว้นไว้แต่ความหลงมันจะแบ่ง อันอื่นไม่มี มันเกิดกับเราทั้งนั้น มันหลง มันสุขมันทุกข์ มันจะแบ่งทำให้เกิดหลงไป เราก็แค่นี้เอง เราก็เพียรรู้ ไม่มีใครมาร้องมาเรียก ไม่มีใครมาใช้ให้เราทำงานทำการ อันอื่นไม่มี มันก็ตัวเราเองที่มันหลง
[24:09]
ถ้าเราเห็นตัวเราที่มันหลง มันก็ค่อยฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ มันต้องเห็น เราดูอยู่มันไม่เห็นได้ไง มันแสดง ความสุขความทุกข์ มันแสดงอยู่ที่รูปที่นาม ความหลง-ความไม่หลงแสดงอยู่ที่รูปที่นาม ก็เห็น เลือกได้ เห็นเรื่องเก่า เรื่องเก่ามากหลายครั้ง มันก็ต้องรู้จักชัดเจนแม่นยำ รู้แจ้งแทงตลอด ไปแบบนี้ปฏิบัติธรรมน่ะ อย่าไปเอาเหตุเอาผล ไปเอาคำนวณคะเนคิดหาไป ไม่ใช่ สัมผัสกับกายไปเลย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายานุปัสสี วิหะระติ มีสติเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ มีความเพียรมีสติ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสติมีสัมปชัญญะ มาทางนี้กลับมาทางนี้ มันเกิดอะไรก็มีสติมีสัมปชัญญะ
ความเพียร คือ กล้า กล้าที่จะเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ กล้าที่จะเปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์
กล้าตรงนี้ลองดู เปลี่ยนตรงนี้ลองดู ถ้าไม่เปลี่ยนมันก็ไม่กล้า ไม่มีความเพียร ความเพียรไม่ใช่ค่อยเป็นค่อยไป ความเพียรคือกล้าสร้างความรู้ เวลาใดมันหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ นี่เรียกว่าความเพียร ถ้ามันหลง ไม่เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ ไม่ใช่ความเพียร แม้เดินอยู่นั่งสร้างสติอยู่ ก็ไม่ใช่ ถ้ามันหลงก็ปล่อยให้มันหลง ไม่ใช่มีความเพียร ถือว่าเกียจคร้าน ภิกษุเกียจคร้าน ภิกษุประมาท ภิกษุไม่ประมาท ไม่ประมาทในเมื่อผู้อื่นประมาท ย่อมละคนโง่ไปไกล เหมือนม้าที่มีฝีเท้าดีละม้าที่ไม่มีกำลังฉันนั้น แต่มันความประมาท เราก็รู้สึกตัวไม่ประมาท เพราะไม่มีอะไรที่จะแสดงให้เราเห็นชัดเท่ากับตัวเรา ไม่มีอะไรที่จะหลอกตัวเราได้เท่ากับตัวเรา ไม่มีตรงไหนที่ทำให้หลงมากกว่าตัวเรา ไม่มีอะไรทำให้ทุกข์ให้โกรธมากกว่าตัวเรา ถ้าเราดูดีๆ แล้ว มันอยู่กับเราทั้งนั้นเอง คนอื่นทำให้โกรธ คนอื่นทำให้ทุกข์ คนอื่นทำให้หลง ไม่จริง ที่แท้มันหลงที่เรานี่แหละ เพราะไม่มีสติ ถ้ามีสติแล้ว คนอื่นก็ไม่เกี่ยว ไม่ๆ ไม่ใช่เด็ดขาด
แต่นี่เราก็ไปโทษโน่นโทษนี่ ไม่ได้ดูแลตัวเองตามความเป็นจริง ไม่แก้ไม่กลับ ไม่มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่ใส่ใจ ไม่ลำดับไม่ลำนำ มันก็ต้องความหลงก็หอบหิ้วเราไป เอาตัวเราเป็นตัวหลง เอาตัวเราเป็นตัวสุข เอาตัวเราเป็นตัวทุกข์ รับใช้ความหลง รับใช้ความสุข รับใช้ความทุกข์ เป็นขี้ข้าของความหลง เป็นขี้ข้าของความทุกข์ โอ๊ย ไถ่ออกมา สติสัมปชัญญะเป็นการไถ่ออกมา มันทันทีทันใด มันซึ้งใจ พูดแล้วพูดอีก เวลาใดมันหลง-รู้สึกตัวนะ โอ๊ย เวลาใดมันทุกข์-รู้สึกตัวนี่ เวลาใดมันโกรธ-รู้สึกตัวนี่ เป็นศิลปะเป็นกีฬาของชีวิตเรา มันต้องได้ชีวิตแบบนี้หนาการปฏิบัติธรรม นี่ก็พูดให้ฟัง พูดให้ฟัง สิ่งที่พูดอยู่นี้ ทุกคนก็ผ่านหน้าผ่านตา ผ่านมือ ผ่านการกระทำเราอยู่ ไม่ใช่พูดนอกฟ้าที่ไหน เป็นเรื่องที่เราเห็นกับตา ทำกับมือเรา สัมผัสอยู่ ความหลงก็เคยสัมผัสดู ความรู้ก็เคยสัมผัสดู แต่ว่าให้มันพอเหมาะพอดี เวลาใดมันหลงก็รู้ มันหลงก็รู้ไป รู้ไป ให้เป็นเจ้าเรือนเจ้าบ้านเป็นเจ้าของ มันจึงจะเห็นจึงจะรักษากายใจได้ ถ้ากายใจอยู่ตรงที่อื่น สติอยู่ที่อื่นมันก็ไม่ใช่ มันเป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น เรามีบ้าน มีบ้านเราก็เอาไว้โน่น แต่เรามาอยู่นี่ อันนั้นมันก็เป็นสมมติบัญญัติ แต่นี้มันไม่เป็นอย่างนั้น กายกับใจเราอยู่ที่ไหน มันก็อยู่กับเรา เรายังเป็นเจ้าของบ้าน เป็นเจ้าของเรือกสวนไร่นา เรายังดูแลรักษา นี่กายใจมันอยู่กับเราแท้ๆ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ทำไมจะรักษามันไม่ได้ ทำไมจะดูแลมันไม่คุ้ม ทำไมจะช่วยมันไม่เป็น จะช่วยไม่ได้ ตรงนี้ที่มันเห็นกับตานี่ ไม่รู้จะไปทำอะไรแล้วชีวิตของเรา การปฏิบัติธรรมก็คือการมาช่วย มาดูมาแลให้มันพ้นภัย อย่าให้มันมีภัย นี่ปฏิบัติธรรมคือความรู้สึกตัว คือความรู้สึกตัวนี่