แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คล้ายๆ ก็มี 2 ลักษณะ ผู้บอกกับผู้ฟัง ผู้บอกผู้พูดก็พูดแบบภาษาของผู้ปฏิบัติ ผู้ฟังก็ฟังแบบผู้ปฏิบัติ เหมือนกับเราเปิดประตูปิดประตูในขณะเดียวกัน กริยาที่เปิดประตู กริยาที่ปิดประตู ก็อยู่ขณะเดียวกัน เป็นปัจจัตตังพร้อมๆ กัน การที่เรามาปฏิบัติมันก็เป็นเช่นนั้นแหละ เราสร้างสติ มันก็ได้สติ เราหลงมันก็ได้สติ ความหลงก็เป็นการเปิด ความหลงก็เป็นการปิดสำหรับผู้ที่ปฏิบัติ ความสุขความทุกข์อะไรทั้งหลายทั้งปวง มันอยู่ในขณะเดียวกัน มันเป็นปัจจัตตัง มันทันที นี่คือของจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ผู้สอนก็เป็นเรื่องที่กระตือรือร้น ผู้ฟังก็เป็นเรื่องน่ากระตือรือร้นด้วย เพราะมันไม่เหมือนกับเล่านิยาย ไม่เหมือนกับเล่านิทาน ไม่เหมือนกับวิชาการทั้งหลายที่สอนๆ กันอยู่ มันเป็นปฏิบัติการทันที แม้นได้เปิดได้ปิดในขณะเดียวกัน ได้รู้ได้หลงในขณะเดียวกัน ต้องขยันตรงนี้ ขยันตรงนี้ อย่าประเมินเป็นผลเป็นอะไรไปสำหรับตัวเรา
อย่าเอาตัวเราเข้าไปเป็นเหตุเป็นปัจจัย เอาตัวปฏิบัติเป็นเหตุเป็นปัจจัย มอบให้ตัวปฏิบัติ มอบให้ผลงานของการกระทำ
ไม่ต้องไปใช้สมอง เหตุผลต้นปลาย ความชอบความไม่ชอบอันใด ให้เป็นการปฏิบัติล้วนๆ เป็นการกระทำล้วนๆ การกระทำล้วนๆ เรียกว่า “กรรม” กรรมมันจะจำแนกไป เราเจริญสติ เราสร้างสติ กริยาที่สร้างก็มี ลักษณะที่ผลของการสร้างก็มี ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัว หลักมันอยู่ตรงนี้ วิธีที่เราจะทำ วิธีที่เราจะประกอบ การกระทำ การฐาน การตั้งมันก็มี ตั้งไว้ สติตั้งไว้ที่กาย ทุกคนก็มีกาย เป็นกายเป็นรูปล้วนๆ บริสุทธิ์ เป็นความรู้ล้วนๆ บริสุทธิ์ เป็นการกระทำล้วนๆ บริสุทธิ์
อย่าเอาความยากความง่ายเข้าไปยุ่งไปเกี่ยว ไปข้างหน้าไปข้างหลังประเมิน ผู้ปฏิบัติก็ไม่แน่ไม่นอนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปประเมิน อย่าไปประเมินอันอื่น อย่าไปประเมินอดีต อย่าไปประเมินอนาคต การปฏิบัติเป็นปัจจุบัน รู้ก็เป็นรู้ปัจจุบัน หลงก็เป็นหลงปัจจุบัน สิ่งไหนที่มันเป็นปัจจุบันมันทำได้ เช่น ยุงกัดเรา เราก็ไล่ยุงออก เราเหยียบหนาม เราก็ไม่ต้องเหยียบหนาม เราก็เอาหนามออก เป็นปัจจุบัน การเหยียบหนามไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต
เหมือนหลวงปู่เทียนที่ถูกอาจารย์สอบอารมณ์ จะเล่าให้ฟัง อาจารย์ถามว่าเกลือมันเค็มไหม? หลวงปู่เทียนก็ตอบแบบนักกรรมฐาน “เกลือมันก็อยู่ในกะทอ เมื่อใดผมยังไม่เอาเกลือมาใส่ลิ้น มันก็ยังไม่เค็ม มันไม่เค็ม ถ้าเกลืออยู่ในกะทอ แล้วผมก็นั่งอยู่ตรงนี้” พระอาจารย์ก็เงียบ อ้าว..ก็ถามไปอีก มันมีเสือตัวหนึ่ง มันดุ คนยิงมา อยู่ในป่าตรงนั้น มันใส่กัน กำลังดุร้ายอยู่ ถ้าพ่อเทียนน่ะอยู่โน่นบ้านโน้น อาจารย์อยู่นี่ แต่ว่ามันมีป่าอยู่ตรงกลาง อาจารย์จะสั่งให้มาหา จะกล้ามามั้ย? จะกลัวมั้ย? “ผมก็ยังไม่เห็นเสือ ผมก็ยังไม่กลัว ถ้าอาจารย์สั่งให้มาผมก็มา” แล้วไม่กลัวเหรอ? “ผมก็ยังไม่กลัว ยังไม่เห็นเสือ” อาจารย์ก็บอกว่า “ร้อยคนจะมีสักคนเดียว ขออนุโมทนาด้วย” อาจารย์ก็พูดอย่างนั้นไป “ไป กลับไปปฏิบัติ เข้าห้องกรรมฐาน” หมายความว่ายังไง หมายความว่าเป็นปัจจุบัน
อะไรๆ ก็ตาม มันต้องเป็นปัจจุบัน นักปฏิบัติก็ต้องจงให้มีการกระทำ จงให้มีวิธีปฏิบัติเป็นปัจจุบันแบบนี้ มันจึงจะลัดสั้นเข้าไป ไม่เนิ่นช้า ถ้าหากว่าเราปฏิบัติเราคิดหน้าคิดหลัง อาจารย์อย่างนั้น อาจารย์อย่างนี้ คนนั้นทำอย่างนี้ คนนี้ทำอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติไปแล้วเป็นอย่างนั้น ผู้ยังไม่มาปฏิบัติเขาก็เป็นอย่างนั้น เราไม่เคยมีทุกข์มีความยาก เราก็เป็นคนมีศีลมีธรรม ทำไมต้องปฏิบัติ เราก็ทำแต่ความดีอยู่ทำไมเราต้องปฏิบัติ ก็เตลิดออกไปซะ ไม่เป็นปัจจุบัน เอาอดีต เอาอนาคต เอาตัวเองมาประเมิน
ภาคปฏิบัติเป็นภาคที่สัมผัสนะ เป็นภาคที่สัมผัส สัมผัสกับความรู้สึกตัว สัมผัสกับความหลง ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราก็ไม่ได้สัมผัสกับความรู้ กับความหลง มันก็ไม่เห็นของจริง มีแต่ความรู้ที่เป็นสมอง ที่เป็นเหตุเป็นผลตั้งเอาไว้ ถ้ามาปฏิบัติภาคปฏิบัติ มันต้องลงสนาม ต้องประกอบ ต้องสัมผัสเอา ความรู้สึกตัวก็สัมผัสอยู่ที่กาย ที่มือ ที่อิริยาบถต่างๆ บัพพะต่างๆ ความรู้ก็อยู่ที่กาย ความหลงก็อยู่ที่กาย ความรู้อยู่ที่จิต ความหลงก็อยู่ที่จิตในขณะเดียวกัน การปฏิบัติก็ทำความหลง ถ้าความหลงมันมี รู้กับหลง ความรู้ความหลง ความหลงก็เป็นตัวปฏิบัติในตัว เป็นคู่กันไป ในปฏิบัติเป็นของที่ทำได้ทันทีทันใด ทันอกทันใจ อย่าไปข้างหน้า อย่าไปข้างหลัง ทำซื่อๆ ทำตรงๆ จึงไม่กลัวอะไร ไม่กลัวว่าใครจะหลอก ไม่กลัวว่าใครจะไปหลอก ใครดีใครชั่ว ใครผิดใครถูก ที่ไหนอย่างไร ไม่เกี่ยวเลย ในขณะที่เราปฏิบัติ ถ้าเราเตลิดออกไปอดีต อนาคต มันก็เสียเวลา
หลวงพ่อเองก็เคยจัดสรรตัวเองในลักษณะแบบนี้ เพราะขณะที่ปฏิบัติ สมัยปฏิบัติใหม่ๆ ก็มีเพื่อนมีสิ่งแวดล้อมเยอะแยะ หลายอย่าง ทั้งชอบทั้งไม่ชอบ ถ้าจะเอาความชอบความไม่ชอบมีมากมาย ถ้าจะจับเอาความผิดความถูกมีมากมาย ต้องแหวกเข้าไป แหวกเข้าไปให้ถึงการกระทำ ความชอบ ความไม่ชอบ ความผิด ความถูก มันขวางกั้นหลายๆ อย่างเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมบ้าง พระสงฆ์บ้าง สามเณร แม่ชีบ้าง เห็นกับหูกับตาก็มี เห็นเขาหลง เห็นเขารู้ เห็นเขาผิด เห็นเขาถูกก็มี ทำให้เกิดขวางกั้น ความชอบ ความไม่ชอบอะไรต่างๆ ไป ไม่เอา ต้องเข้าถึงภาวะปฏิบัติ
แม้บางที ไม่ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนหนีจาก หนีจากไปแบบหมดอาลัยก็มี บางครั้งบางคราวเราก็จัดสรรตัวเอง เราพูดกับตัวเอง ชี้นำตัวเอง นี่เราเจริญสตินี่ เรารู้สึกตัวนี่ นี่เราเห็นความหลง เห็นความผิด เห็นความถูกมันเกิดขึ้นกับเรา เรามีคำพูดที่หลวงปู่เทียนพูดให้ฟังชัดๆ ว่า “คุณจะรู้ก็เป็นเรื่องของคุณ คุณจะไม่รู้ก็เป็นเรื่องของคุณ คุณปฏิบัติธรรม คุณได้เข้าถึงศีลถึงธรรมก็เป็นเรื่องของคุณ ญาพ่อบ่ได้ดีกับคุณ คุณจะผิดจะถูก คุณจะสุขจะทุกข์เป็นเรื่องของคุณ ญาพ่อก็บ่ได้ผิดได้ถูกกับคุณ เป็นเรื่องของตัวใครตัวมัน” เออ อันนี้ก็พูดแบบหนึ่ง ถ้าฟังไม่ถูกก็เข้าใจว่าทอดทิ้ง ไม่ใช่ เป็นการกระทำที่เราฟังแล้ว มันต้องมีการกระทำ เกิดความเข้มแข็ง
อ้าว มันจะผิดมันจะถูก มันเรื่องของเรา เราปฏิบัติ เรารู้ธรรมเป็นเรื่องของเรา เราไม่รู้ก็เป็นเรื่องของเรา เราทำอยู่อย่างนี้ เราเจริญสติอยู่อย่างนี้ เนี่ย เราก็ได้สนุกได้แก้ความผิดเป็นความถูก ก็เป็นฝีมือของเรา แก้ความหลงเป็นความรู้ก็เป็นฝีมือของเรา แก้ความทุกข์ความไม่ทุกข์ก็เป็นฝีมือของเรา แก้ความโกรธให้เป็นความไม่โกรธก็เป็นฝีมือของเรา มันก็ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ปฏิบัติธรรมนะ มันเป็นงานเป็นการ มันพออกพอใจ มันสมเหตุสมผลกับทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรเกิดขึ้นขณะที่เราปฏิบัติ มันเป็นงานตลอด มันง่วงเหงาหาวนอน เออ มันก็มีเนอะ ความง่วงเราก็รู้สึกตัว มันหมกมุ่นครุ่นคิดเราก็รู้สึกตัว
บางทีมันฉายมา ฉายทั้งอดีต อนาคต เราก็รู้สึกตัว อดีตมันก็แก้ได้ อนาคตมันก็แก้ได้ เพราะเราทำอยู่นี่ บางทีอนาคตยังไม่มา เราไปแก้มัน อดีตผ่านไปแล้วอย่าไปแก้มัน มันเสียเวลา ปฏิบัติมันทันที มันเปิดปิดทันที มันทำทันที เนี่ยปฏิบัติธรรม
มันเป็นของที่ทำได้ทันที เป็นปัจจัตตังทันที อย่างนี้นะ จึงไม่ต้องกลัวหรอก จึงไม่ต้องกลัวว่าจะเสียเวลานะ เรามาหัด เรามาฝึก เรามาเริ่มต้นกัน ถ้าไม่มีเริ่มต้น มันก็ไม่มีท่ามกลาง ไม่มีที่สุด มีแต่ลำดับลำนำเฉยๆ เป็นความคิด เป็นความรู้ มันใช้ไม่ได้หรอกความรู้น่ะ ความรู้ที่รู้อะไรมากๆ มันใช้ไม่ได้ มันต้องมาเห็นจริงๆ เป็นปัจจัตตัง เห็นความหลงไม่ใช่ความรู้ละ เป็นปากเป็นภาคปฏิบัติ รู้สึกตัว เห็นความทุกข์ เห็นกิเลสตัณหา เห็นความลังเลสงสัย เห็นความยึดมั่นถือมั่น โอ๊ย มันเห็นหูกับตาคาหนังคาเขา
การปฏิบัติธรรมเนี่ย บางทีมันก็สมน้ำหน้ามันจริงๆ สมน้ำหน้าตัวเรา ไม่มีอะไรที่จะได้ชัยชนะ ประเสริฐ ภูมิอกภูมิใจเท่ากับชนะตัวเราหรอก แล้วมันก็มีอยู่ทุกขณะการปฏิบัติธรรม ที่มันเกิดขึ้นมา อย่าไปเก่งกับสิ่งอื่น ต้องมาเก่งกับตัวเรา มาเก่งกับตัวเรา มาสอนตัวเรานี่แหละ อันตัวเรามันก็โง่ๆ แหละบางครั้ง กิเลสพันห้า มันโง่ๆ ถ้ามาดูแล้ว มันโง่ๆ มันเห็นสันหลังมันอยู่ ไม่มีใครที่ทำไม่ได้ การเอาชนะกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีใครทำไม่ได้ ถ้าได้หลักแบบการปฏิบัติแบบนี้จริงๆ นะ สมบูรณ์นะ มันสมบูรณ์แบบเป็นชั้นอุดม การศึกษาแบบอุดมที่สุดเลยนะ มีความรู้สึกตัว มีความหลง มีอะไรต่างๆ มากมาย มันไปพร้อมๆ กัน มันไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้หา มันเกิดต่อหน้าต่อตา เราก็แก้ไขต่อหน้าต่อตา ก็แก้ไขต่อหน้าต่อตา ของที่มันเสีย ทำให้มันไม่เสีย ของที่มันผิด ทำให้มันไม่ผิดเนี่ย มันต่อหน้าต่อตา
คือมันเกิดกับผู้ปฏิบัติในขณะเดียวๆ กัน ไม่ใช่เป็นอดีตเป็นอนาคต แม้จะเป็นบุญเป็นบาป เป็นบุญเป็นบาป เป็นสวรรค์เป็นนิพพาน เป็นพระสงฆ์ เป็นพรหมเป็นอินทร์ เป็นอะไรก็ตามมันขณะเดียวกัน วับๆ แวมๆ เห็นเงื่อนเห็นไขเห็นส้นมันอยู่ มันก็ตามไปได้อยู่ มันไม่ใช่ตามแบบความคิด มันตามแบบการพบเห็น เราตามแบบการพบเห็น ไม่ใช่คิดคะเน คำนวณ แม้นิมิตที่เราเอามาสร้างนี่ก็เป็นของจริงในกาย ไม่ใช่เอาลูกแก้ว ไม่ใช่เอาสีเอาเสียงเอาแสง ไม่ต้อง ไม่ต้องเอาดวงอะไรที่เป็นสีต่างๆ กสิณ ไปทำทำไมแบบนั้น ต้องเอานิมิตของจริงนี่แหละ กายนี่แหละมาสร้างขึ้นมา ประกอบขึ้นมาให้มันรู้ มีเยอะแยะในกายในจิตของเรา เอามาเป็นนิมิตเป็นที่ตั้ง มันจึงจะเป็นของจริง มันจึงจะเห็นเป็นปัจจัตตัง เห็นปัจจุบัน มันมีอยู่
มันหลงที่กายก็เอากายนั่นแหละเป็นตัวไม่หลง มันหลงอยู่ที่จิตก็เอาจิตนั่นแหละเป็นตัวไม่หลง หนามยอกเอาหนามบ่ง เหตุมันเกิดอยู่ที่ไหนต้องดับตรงนั้น ต้องแก้ตรงนั้น “เย ธัมมา เหตุปัปพวา เตสัง เหตุ ตถาคโต เตสัญจ โย นิโรโธ จ เอวัง วาที มหาสมโณ” คาถาพระอัสสชิสอนพระสารีบุตรเท่านี้เอง ได้เป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น เพราะปฏิบัติมันอยู่ในตัวของมันเอง มาพร้อมกันมันก็ทันทีทันใด มีสติอยู่ที่กายมันก็มี เวลามันหลงอยู่ที่กาย มันก็มีสติขณะเดียวกัน ไม่ให้เสียเวลา ความหลงกับความรู้เป็นปัจจัตตังทันที มาพร้อมๆ กัน เราก็สนุก เปลี่ยนความหลงความรู้ อ้าวไปอ้าวมา อ้าวตัวหลงนี่ ก็ตัวรู้ทั้งนั้น ตัวหลงกับตัวรู้เท่านั้น ขณะที่เราทำอยู่นี่ แม้แต่ความโกรธกิเลสตัณหาต่างๆ ก็เกิดจากความหลงเท่านั้นแหละ เอามันเงื่อนไขมาอยู่ตรงนี้นะ
ถ้าเรารู้สึกตัวแล้วก็เอาแล้วคุมแล้ว คุมกำเนิดของความหลงแล้ว ก่อนที่มันจะโกรธ ก่อนที่จิตจะเกิดกิเลส ตัณหา ราคะ ทั้งหลายทั้งปวงมันก็เกิดจากความหลง มันก็จับมันมาดูต่อหน้าต่อตา มันย่อ ย่อโลกทั้งโลกมาอยู่ในกำมือ มาดูโลกของเรา กายกว้างศอกยาววาหนาคืบ ไม่ได้เป็นรูป รส กลิ่น เสียง อดีต อนาคต หรือว่าภพภูมิต่างๆ เป็นเปรต เป็นอสูรกาย สัตว์นรก เดรัจฉาน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระ อะไรก็ตาม มันจะมาให้เราดูแล้ว เราก็ทำอยู่นี่แหละ การเจริญสติที่เราทำแบบนี้ ทันทีมันก็ทำดีทันที มันก็ละความชั่วในขณะเดียวกัน เหมือนเราจุดตะเกียง แสงสว่างที่มันเกิดขึ้น ถ้าเป็นน้ำมันเป็นกิเลส น้ำมันมันก็หมดไป กิเลสมันก็หมดไป ความหลงก็หมดไปเมื่อมีแสงสว่าง เช่น เราจุดตะเกียง ไส้มันก็หมดไป น้ำมันก็หมดไป มันมีแต่แสงสว่าง เราต้องการแสงสว่าง ความรู้สึกตัวมันก็เหมือนแสงสว่าง น้ำมันเหมือนกับอกุศลธรรม เหมือนกับอวิชาต่างๆ มันก็หมดไปๆ
เรารู้สึกตัว ความหลงก็ค่อยหมดไป ความรู้สึกตัวอะไรต่างๆ ที่มันเกิดจากความหลง มันก็เหือดแห้ง
บางอย่างไม่ได้ไปทำเลย หรือจะพูดแบบว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันหมดไปเมื่อไหร่ไม่รู้เลย ถ้าเราเจริญสติน่ะนะ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มีศีล มีสมาธิ ปัญญา มันมีเมื่อไหร่ไม่รู้ เมื่อเราดูไปๆ 5 วัน 7 วัน อู๊วว..เราอยู่กับศีลมาตั้งเป็นเดือนแล้วนะเนี่ย ศีลมาช่วยเราแล้ว สมาธิมาช่วยเราตั้งนานเราไม่รู้ ปัญญาช่วยเราตั้งนานเราไม่รู้ มีแล้วจึงเห็น เป็นแล้วจึงรู้ บางอย่าง ไม่ใช่รู้ก่อนรู้ เป็นก่อนเป็น เห็นก่อนเห็น เหมือนหลวงปู่เทียนตอบอาจารย์มหาศรีจันทร์ ถ้าเห็นแต่เกลือมันมีจึงค่อยจะมากินแล้วจึงจะรู้ว่ามันเค็ม ไม่ใช่ไปกลัวว่าเสืออยู่ตรงนั้น คิดกลัวแล้ว กลัวแล้วๆ ทั้งๆ ที่ไม่เห็นเสือ มันก็ไม่ถูกต้อง
เราปฏิบัติธรรม รู้แล้วจึงเห็น เป็นแล้วจึงรู้
มีศีลแล้วจึงรู้จักว่าตัวเองมีศีล ศีลรักษาเรา มีสมาธิแล้ว สมาธิช่วยเราอยู่แล้ว จึงรู้จักว่าเป็นสมาธิ เอาไปเอามา ศีล สมาธิ ปัญญา รักษาเราเต็มที่แล้ว โอ จึงค่อยมารู้จักว่าเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา แต่คนส่วนมากเนี่ยเข้าใจว่ารักษาศีล รักษาศีลต้องสำรวม ต้องเคร่ง ต้องอยู่เช่นนั้น ถ้ารักษาศีลนี่ไม่บริสุทธิ์ การเจริญสติเนี่ยแบบที่เราทำอยู่เนี่ย มันก็เป็นการรักษาศีลโดยตรงอยู่แล้ว เป็นการกระทำ อะไรหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน เราสร้างสติยกมือเคลื่อนไหว มันก็เป็นการรักษาศีลเกิดขึ้นขณะเดียวกัน เราก็มีศีลขณะเดียวกัน รู้เท่าไหร่ก็มีศีลเท่านั้น ขณะที่เราสร้างสติยกมือเคลื่อนไหวอยู่นี้ มันก็เป็นการละความชั่ว มันก็เป็นการทำความดี ก็ทำให้จิตใจเราบริสุทธิ์
ขณะที่เราเจริญสติยกมือเคลื่อนไหวไปมาอยู่นี้ มันก็เป็นศีล เป็นสมาธิปัญญาอยู่แล้ว มันเป็นไตรสิกขา ไม่ได้ไปพูดชั่ว ไม่ได้ไปคิดชั่ว กำลังมีสติอยู่ ใส่ใจที่จะรู้สึกตัวอยู่เรื่อยๆ มันก็เป็นสมาธิแล้ว เวลาใดที่มันหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ รู้จักเปลี่ยนเป็น รู้จักปฏิบัติเป็น อย่างนั้นมันก็เป็นปัญญา ขณะเดียวกันมาพร้อมๆ กัน ไปพร้อมๆ กัน มาเป็นพวงๆ ถ้าเป็นกุศลก็เกิดเป็นพวงๆ ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นอกุศลก็หมดไปเป็นพวงๆ เหมือนกัน ทันอกทันใจ ไม่ฟรี นี่แหละคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปกลัวว่าคนนั้นจะหลอก คนนี้จะหลอก ไม่มีใครหลอกกันได้ถ้าปฏิบัติแบบนี้ อาจารย์ก็หลอกลูกศิษย์ไม่ได้ ลูกศิษย์ก็หลอกอาจารย์ไม่ได้ ถ้าเราทำอยู่ เราเห็นอยู่เป็นอันเดียวกัน อยู่กับใครก็ตามจะเป็นร้อยเป็นหมื่นคน ก็เป็นเรื่องนี้เรื่องเดียว ขณะที่เราปฏิบัติพิสูจน์ได้ เป็นปัจจัตตังได้ เห็นต่อหน้าต่อตา ทำกับมือกับชีวิตจิตใจของเรา ถ้าหากว่าจะเป็นสวรรค์ก็สัมผัสได้ ถ้าจะเป็นอบายภูมิก็ปิดได้ด้วยการกระทำของเรานะ
เราจึงไม่ต้องกลัว มันก็อยู่กับเรา มันก็ไป ลุยมันเลยโลกน่ะ ถ้าเรามาลุยตัวเองได้แล้ว แหลกแล้ว เหยียบบดแล้ว ความโง่ หลง งมงาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง แหลกแล้ว เหมือนจักรแห่งธรรม หมุนไปตรงไหนมันก็แหลกไปเลย อกุศลธรรมทั้งหลาย แหลกเลย เรียบไปเลย ให้มันเรียบอยู่ในชีวิตของเรา การปฏิบัติมันก็ลุย เคยเปรียบเทียบให้ฟังการเจริญสติ สติเหมือนไม้กวาด ไปตรงไหนไม้กวาดผ่านไปตรงไหน ตรงนั้นสะอาด ขี้ฝุ่นไปกับไม้กวาด การเจริญสติที่เราทำอยู่นี่เหมือนกับใบมีดของรถแทรกเตอร์ ใบมีดผ่านไปตรงไหนตรงนั้นก็เรียบทันที เหมือนกับการทำถนนหนทาง ใส่ใจที่จะรู้อยู่เรื่อยๆ มันก็เรียบไปๆ เรียบ ขณะเดียวกัน ไม้กวาดกับความสะอาดไปพร้อมๆ กัน มันไม่ต้องรอแม้แต่เสี้ยววินาที การปฏิบัติธรรม
เดี๋ยวนี้เรามีศึกษาอะไรมาก รู้อะไรมาก สมองของเรามันเฉโกไปไหนไม่รู้ ก็ไปจำไปจดไปคิดไปอะไรมา ยึดอะไรไว้ไม่รู้ สมัยก่อนคนไม่ค่อยมีอะไรมากๆ มายๆ เหมือนพวกเราทุกวันนี้ มีแต่ธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ เหมือนคนโบร่ำโบราณ ลูกเต้าก็ได้ยินแต่พ่อแต่แม่กับครูอาจารย์ ถ้าการบอกการสอน นอกจากนั้นก็ได้ยินเสียงนกเสียงกา ท้องฟ้า ฟ้าร้อง ฝนตก แผ่นดิน ป่าไม้ สัตว์ หลายๆ สิ่ง ไม่มีอะไรที่ให้ข้อมูลที่มันทำให้ติด ทำให้เปรอะเปื้อนในชีวิตจิตใจ เสียงเพลง เสียงดนตรี หมอลำ อะไรที่สื่อสารไม่ค่อยมี โทรทัศน์ไม่ค่อยมี รถราไม่ค่อยมี เดินเข้าออกตลอดทั้งปีทั้งเดือนทั้งปี ตอนเย็นมาก็มานั่งใกล้ รอบพ่อรอบแม่ พ่อแม่ก็เล่านิทาน นิทานก็เป็นเรื่องดีๆ นะ โอ้ย มันหลายๆ อย่าง กว่าที่จะแหวกเข้ามาหาความรู้สึกตัวนี่ มันขวางกั้นไว้เยอะแยะ มันติด มันเปรอะ มันเปื้อนอะไรมาไม่รู้ ถูกซ้ำถูกร่องรอยในกายในใจ ร่องรอยในใจ ตั้งแต่เรามาซ่อมน่ะแหละ เข้าอู่ซ่อม มันเสีย มันมือสอง ชีวิตมือสอง ถูกชนมา ถูกรัก ถูกชัง ถูกได้ ถูกเสีย ถูกผิด ถูกถูก ผิดหวัง ได้สมหวัง มีความสุข สะดวกสบายนะ
เขาเรียกว่าอะไร เขาเรียกว่า “เทวปุตตมาร” ติดสะดวกสบาย เทวปุตตมาร เกิดมาในกองทรัพย์สมบัติพัสถาน ทรัพย์สินศฤงคาร ไพร่ฟ้าประชาชน หมู่มิตรเพื่อนฝูง ติดสุข เหมือนโยมผู้หญิง สมัยปี 2518 ออกไปเดินธุดงค์กับหมู่หลวงพ่อ เป็นคุณนาย ตื่นขึ้นมาก็มี ลุกจากที่นอนก็มานั่งโต๊ะ นั่งโต๊ะก็มีแปรงสีฟันใส่ยาไว้พร้อม ใส่ยาสีฟันติดแปรงไว้บนแก้ว ก็มีน้ำอุ่นตั้งอยู่ตรงนั้น แปรงฟันด้วยน้ำอุ่นๆ พอแปรงฟันน้ำอุ่นๆ เสร็จแล้ว ล้างหน้าล้างตา เข้าห้องน้ำห้องส้วม ออกมานั่งที่เก่า มีน้ำโอวัลติน มีกาแฟ เลือกกินได้ทุกว้านทุกวัน เอาไปเอามา เขาก็เกิดการเบื่อหน่าย มันจะมีอย่างนี่หรือชีวิตเนี่ย มันจะเป็นขนาดนี้เหรอ เขาก็ออกหนีไปเลย ไปเดินธุดงค์กับหมู่หลวงพ่อเลย 3 เดือน ไปเลย เดี๋ยวนี้ก็มาบวชเป็นแม่ชี มาบวชที่นี่แหละ อยู่ที่จังหวัดชลบุรี อายุ 80 กว่าปีแล้ว ยังคิดจะรับผิดชอบเขาอยู่
แรกๆ เขาก็ขออยู่กับหลวงพ่อน่ะ หลวงพ่อก็สมัยก่อนมันไม่มีอะไรจริงๆ สะพานกับไม้ท่อนเดียว ไต่เอา เดินไต่สะพานข้ามลำปะทาว ไม้ท่อนเดียว สมัยก่อนหลวงพ่อหนุ่มๆ ก็เดินไต่หยอยๆๆๆ ไม่ต้องมีราวจับ หลวงพ่อก็บอกเขา เดินมาๆ หลวงพ่อก็เดินกลับไปกลับมาให้เขาดู เขาเดินมา เขาคลานเอา โอ๊ย มาคิดดูทุกวันนี้ ถ้าเขาตกลงไปนั่นจะเป็นยังไงก็ไม่รู้ ก็เป็นอย่างนั้นเทวปุตตมาร เป็นสิ่งที่ขวางกั้น ติดสุข ติดสะดวก ติดสบาย ติดความรู้ ติดอะไรต่างๆ ทำให้อ่อนแอนะ ความสะดวกสบายทำให้อ่อนแอ
เรามาปฏิบัติให้มันลุยๆ สักหน่อยล่ะเนี่ย นั่งสร้างจังหวะ บางคนก็ต่อรอง นั่งเฉยๆ ไม่ได้เหรอหลวงพ่อ ดูลมหายใจ มันก็ได้เหมือนกัน แต่การเจริญสร้างสติแบบนี้ มันขยันนะ ขยันรู้เป็นจังหวะ ขยันรู้เป็นจังหวะ เก็บรู้ๆ มันก็บริหารร่างกายไปพร้อมๆ กัน เดินจงกรมก็บริหารร่างกายไปพร้อมกัน ดีไม่ดีโรคภัยไข้เจ็บหายไปเลยจะว่ายังไง หลายๆ อย่างที่เราเจริญสติแบบนี้ ระหว่างเรายกมือสร้างจังหวะ ยกมือเคลื่อนไหวไปมา ระหว่างไหล่ระหว่างแขนต้นคอหน้าอก เกิดพลังขึ้นมา เข้มแข็งเดินจงกรมทั้งหมดเลย เข้มแข็งทั้งหมดเลยเดินจงกรม เพราะฉะนั้นเนี่ย มันฝึกหลายๆ อย่าง ขณะที่เราฝึกกรรมฐานแบบนี้ ฝึกได้หลายๆ อย่าง เกิดความเข้มแข็ง
มีโยมคนหนึ่งนะ เป็นโรคเบาหวาน หมอบอกว่าจะตายเพราะโรคเบาหวานเนี่ยแหละ ไปด้วยกันตลอดชีวิต เขาเลยไม่ยอม เดินจงกรมอยู่วัด อาจารย์มหาวิทยาลัยวัดป่าหนองคู เดินจงกรมจนแก้มโสดลงมาหย่อนลงมาถึงคางแน่ะ บั้นท้ายหย่อนลงไปเนี่ย ปัดโต๋เละ โต๋เละๆ เวลาเดินจงกรม เหงื่อไหลยางตายออก จะไม่ยอมตายเพราะโรคเบาหวาน หาวิธีต่างๆ เดินจงกรมจนจะเป็นลม เอาให้มันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ยางไม่ใช่เหงื่อ ยางไหลออก เดินอยู่นั่น เอาไปเอามาก็หายเลยโรคเบาหวาน เออมันเป็นได้อย่างนั้น สู้กำลังสติ กำลังสมาธิ กำลังปัญญา กำลังความเพียร ศรัทธานะ บางทีมันไปได้น้า ศรัทธาเนี่ยมันเหมือนทรัพย์นะ ถลุงไปเลย ให้มีพร้อมๆ กันหลายๆ อย่าง สนับสนุนในการปฏิบัติ มีศรัทธา มีความเพียร มีความอดทน มีสติไปพร้อมๆ กันกับการปฏิบัติ
อาศัยมูลมรดกของพระพุทธเจ้ามาช่วย อย่างน้อยเราก็คิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงเหล่าพระสาวก ในสมัยก่อนหลวงพ่อนี่ก็คิดถึงพระสาวกทั้งหลาย คิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงอุบาสก-อุบาสิกาผู้ที่เลอเลิศในสมัยพระพุทธเจ้า เอ้า มาปัจจุบัน เอ้า คิดถึงหลวงปู่เทียน ดูหลวงปู่เทียน เอ้า มันก็สอน ท่านก็ทำให้ดู