แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ส่วนประกอบ โดยเฉพาะเวลาเราปฏิบัติเนี่ย มันก็เหมือนกับสิ่งที่เราได้ยินนั่นแหละ โดยเฉพาะการปฏิบัติกรรมฐานตามหลักของสติปัฏฐาน 4 ไม่ว่ากายานุปัสสนา มีสติเห็นกาย เอากายเป็นนิมิต เป็นที่ตั้ง ให้รู้สึกอยู่กับการเคลื่อนการไหว ทุกคนทำได้ เวลาใดที่มันหลงไปที่อื่นก็ให้กลับมาตั้งไว้ที่กาย ที่มีเจตนาตามรูปแบบของการเคลื่อนไหว 14 จังหวะ ผู้ที่หัดทำใหม่ๆ ก็หัดทำให้เป็นลำดับ แต่ว่าผิดบ้าง ถูกบ้าง ไม่เป็นไร แต่ว่าความสำเร็จในการสร้างจังหวะ คือรู้สึกตัว เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความรู้สึกตัว ไม่ใช่เคลื่อนไหวให้เกิดสวย เกิดงาม ให้รู้สึกตัวก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แม้นเวลาใดมันไม่รู้ มันหลงไปทางอื่น เราก็เอาคืนได้ ยิ่งดี ถ้ามันหลงเรารู้สึกตัวขึ้นมา มันยิ่งดี ไม่เสียหาย ได้ประสบการณ์ ได้บทเรียน แต่ว่าอย่าไปเพ่ง อย่าไปจ้อง ทำสบายๆ เปิดตัว แล้วแต่มันจะเกิดอะไรขึ้นมา เรามีจุดยืนแล้ว เรารู้สึกตัว เรารู้สึกตัวกับการเคลื่อนไหวนี่จุดยืนของเรา หัดใหม่ๆ อาจจะหลงบ้าง หลงไปกับการคิดบ้าง หลงไปกับอะไรต่างๆ หลงไปกับการลำดับยกมือก็อาจจะมี แต่ไม่เป็นไร ถ้ามันหลงทีไรเรารู้ คือความหลงนั่นแหละ ตัวหลงก็คือความหลง หลงแบบใดก็ตาม หลงไปกับความคิด หลงไปกับตากับหู กับรูป กับรส หลงไปกับความง่วงเหงาหาวนอนก็ตาม คือความหลง
ความรู้สึกตัวก็คือความรู้สึกตัวอยู่เสมอไป ความรู้สึกตัวก็อันเดียวตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด คือความรู้สึกตัวอันเดียว มันหลงแบบไหนก็รู้สึกตัว หลงแบบนี้ต้องเอาแบบนั้นมาแก้มันไม่ใช่ อันเดียว มันไม่มาก อะไรที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจมันก็อาจจะเรื่องเดียว เรื่องเดียว อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเรื่องเดียว สิ่งที่ทำให้หลงก็มี สิ่งที่ทำให้รู้ก็มี เรียกว่าเราเปิดตัว เรียกว่าคอยดูแลมันจะเกิดอะไรขึ้น มันจะเกิดอะไรขึ้นมา แต่ว่าไม่ใช่ไปเจาะ ไปแอบ ไปมอง เราสร้างความรู้สึกเป็นทุน เป็นที่ตั้ง เป็นนิมิต เป็นที่ตั้งเอาไว้ ว่าแต่รู้สึกตัวกับกายที่ตั้งเอาไว้นั่นแหละ ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมตามหลักของกรรมฐาน
กรรมฐานก็คือที่ตั้ง ฐานคือที่ตั้ง กรรมคือการกระทำ ให้มีที่ตั้ง ให้มีการกระทำ ให้มีความรู้ ความรู้สึกตัวๆ ๑๔ จังหวะพอดีๆ ต่อกันพอดี แต่ละจังหวะก็รู้ รู้ รู้ พอดี ถ้าทำพอดี มันก็พอดี ไม่ไว ไม่ช้า การเดินแต่ละก้าวก็เหมือนกัน รู้สึก รู้สึกกับการเดิน พอๆกันกับการยกมือสร้างจังหวะ ลำดับช่วงความรู้สึกตัวกับการสร้างจังหวะ ความรู้สึกตัวกับการเดินเท่าๆ กัน อย่าไปช้าเกินไป อย่าไปไวเกินไป มันมีความพอดีของมันอยู่ การเจริญสติ แต่ถ้าบางที ถ้าจะไว ก็เป็นช่วงสั้นๆ เช่น มันง่วง อาจจะสร้างจังหวะไวๆ ปึ๊บปั๊บๆ สักหน่อย เพื่อเขย่าให้มันเกิดความรู้สึกตัว แต่ความไวมันก็ไม่ถูกเสมอไป การช้ามันก็ไม่ถูกเสมอไป บางทีก็ปรับ ปรับแผน วิธีใดที่จะทำให้รู้สึกตัว ก็ลำดับดูเอา
การเดิน บางคนก็ถามเดินนานเท่าไหร่ มันก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จ
การนั่ง นานเท่าไหร่ มันก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จ แล้วแต่ความเหมาะสมของเรา ตามกาลเวลา บางครั้งก็เดินมากกว่านั่ง บางครั้งก็นั่งมากกว่าเดิน วันไหนที่มันคิดมาก ก็อาจจะเดิน วันไหนที่มันง่วงมากก็อาจจะเดิน ถ้าวันไหนมันมีสติดีก็อาจจะนั่ง อิริยาบถนั่งก็เป็นอิริยาบถสะดวกกว่าการเดิน ถ้ามันไม่ง่วงนะ แล้วนั่งก็นั่งพอดีๆ การหัดนั่งใหม่ๆ บางคนก็อาจจะลำบาก บางคนอาจจะไม่เคยนั่งขัดตะหมาด ขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ ระหว่างเอว ระหว่างเข่า ระหว่างต้นขา ถ้าอย่างหลวงพ่อมันนั่งมานาน นั่งปั๊บก็อยู่ตัวไปเลย สองชั่วโมง สามชั่วโมงมันก็อยู่ของมันไป มันฝึกหัดมา แต่บางคนพอมาหัดนั่ง เดี๋ยวก็ปวดๆ เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนหลังอยู่ ก็ไม่เป็นไร แต่การเปลี่ยนไม่ถือว่าผิดนะ ถ้ามันปวด มันเมื่อย ก็กำหนดอิริยาบถด้วยการเปลี่ยน เรียกว่าบรรเทา การเปลี่ยนก็เปลี่ยนด้วยความรู้สึกตัว
ความรู้สึกตัวไปอยู่กับอิริยาบถเปลี่ยนมันก็ใช้ได้เหมือนกัน นอกรูปแบบ นอกจาก 14 จังหวะ อิริยาบถที่เปลี่ยน ซ้ายไปขวา เปลี่ยนขวาไปซ้าย ความรู้สึกตัวอันเดียวกัน ความรู้สึกตัวกับการเปลี่ยนอิริยาบถก็อันเดียวกัน กับความรู้สึกตัวที่เรายกมือสร้างจังหวะ แล้วก็มันไม่ใช่เรื่องเดียวดอก มันจะต้องเกิดอะไรขึ้นมา หลายอย่าง
ขณะที่เราเจริญสตินะ บางทีมันก็คิด มันก็ไม่ผิด ที่มันคิด ถ้าเรารู้สึกตัว พอมันคิดไปขณะที่เราหลง มันไม่ทัน ความคิดมันมาไวกว่า ออกหน้าความรู้สึกตัวไป ก็รู้สึกตัวทีหลังก็ได้ไม่เป็นไร ว่าแต่อย่าเข้าไปในความคิด กลับมาตั้งไว้ที่กายเคลื่อนไหว บางทีมันง่วงอย่างนี้ ความง่วงมันก็ทำให้เราหลงได้ ก็เพียรพยายามที่จะปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมา เวลาง่วงปลุกตัวเองให้ตื่น มันมีประโยชน์ ขออย่าไปอ่อนข้อ ว่าแต่นอนให้พอนะกลางคืนเนี่ย
หัดทำใหม่ๆ นี่ อาจจะปวดเมื่อย ขาบ้าง แขนบ้าง ครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่เป็นไร สองวัน สามวันนี่ สำหรับผู้ที่มาฝึกใหม่ๆ อาจจะปวดแขน ปวดขา ทำท่าจะเป็นไข้ ปวดเนื้อ ปวดตัว ไม่เป็นไรมันจะปรับตัวของมันไปเอง ว่าแต่เราทำใจสบายๆ อย่าไปกังวล อาการต่างๆที่มันเกิดขึ้นมา อย่ากังวล รู้สึกตัวเรื่อยไป เอาความรู้สึกตัวนี่แหละ มันจะเกิดอะไรขึ้นก็รู้สึกตัวๆ เพราะเราสร้างเป็นทุนอยู่แล้วนะ กลับมารู้สึกตัว
การรู้จักกลับมารู้สึกตัว นี่แหละ มันจะเก่งตรงนี้นะ มันจะเก่งตรงนี้ ถ้ารู้จักกลับมา พอมันคิดไปกลับมานี่ มันจะเก่ง เอาไปเอามาเนี่ย ตัวที่มันหลงนั่นแหละมันจะทำให้เกิดปัญญา ไม่เสียหาย ถ้ามันหลงไปก็รู้สึกตัวเนี่ย สิ่งที่มันพาให้หลงบ่อยๆ นั่นแหละมันจะเบื่อหน่ายด้วยซ้ำไป เหมือนกับถูกหลอกนะ เหมือนกับถูกหลอก คนที่ถูกหลอกบ่อยๆ มันต้องมีปัญญา มันต้องมีปัญญา มันต้องฟิตตัวเอง เมื่อถูกหลอกบ่อยๆ มันก็ระมัดระวังดี รู้จักชั้นเชิง ทันกัน ตัวเราเนี่ยมันก็หลอกตัวเรา หลายอย่างที่มันเกิดขึ้น ทำให้เกิดความหลง ทางตา ทางหู ทางกาย ทางจิต ความร้อน ความหนาว ความปวด ความเมื่อย อาการต่างๆ หลายอย่าง แล้วก็อันเดียวนั่นแหละ อันเดียว มันไม่มีถึงร้อยถึงพันอย่างดอก สิ่งที่ทำให้เราหลง แต่ความรู้สึกตัวนี่อันเดียว เป็นตัวยืน เป็นตัวเฉลย อย่าไปเอาเหตุเอาผล กลับมารู้สึกตัว กลับมารู้สึกตัว
ความรู้สึกตัวไม่ใช่เหตุใช่ผลนะ มันคือความรู้สึกตัว ไม่ใช่เหตุใช่ผล อย่าไปว่าทำไมมันจึงหลง ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ ไม่มี สำหรับผู้เจริญสตินะ พอมันหลงปั๊บก็รู้สึกตัวทันที กลับมา อาจจะหัวเราะยิ้มในใจก็ได้ หัวเราะความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง หัวเราะความง่วง ความผิด ความถูกนั่นแหละ ดูดีๆ มันก็เกิดกับเราแท้ๆ แม้มันเกิดกับคนอื่นมันก็เกิดจากเรา อย่าไปพูดว่าเขาทำให้เราหลง เขาทำให้เราผิด เขาทำให้เราทุกข์ อย่าไปเพ่งนอกตัว ใครก็ตามที่ทำให้เราหลง มันก็อยู่กับเรา ใครก็ตามที่ทำให้เราโกรธมันก็เป็นเรื่องของเรา ขอให้ตัดเข้ามาสั้นๆ ถ้าไปเอาเหตุเอาผล คนนั้นคนนี้ มันจบไม่เป็น
การปฏิบัติธรรมต้องสรุปบ้าง หาบทสรุปให้ได้ คนอื่นจะทำให้เป็นสุขเป็นทุกข์ ทำให้โกรธให้หลงก็ตาม กลับมาหาตัวเอง มาเปลี่ยนตัวเองนะ บางทีมันก็เป็นปัญญานะ ประสบการณ์มันก็มีบทเรียน บทเรียนที่ได้จากกายจากใจเราเนี่ย ความรอบรู้ที่ได้จากกายจากใจเราเนี่ย มันจะเกิดปัญญา เรามาดูจริงๆ มาดูการแสดงของกายของใจ แล้วก็รู้สึกตัว ทุกเรื่องที่มันแสดงออกมา เห็น นอกจากเราเห็นอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ จนจบ จนครบจนถ้วน เห็นเรื่องเก่าร้อยครั้งพันหน เห็นเรื่องเก่าที่มันหลงร้อยครั้งพันหน เห็นเรื่องเก่าที่มันถูกร้อยครั้งพันหน เห็นเรื่องเก่าที่มันทุกข์ร้อยครั้งพันหน มันก็มีเรื่องเก่า มันก็อยู่ตัวมันไป ทีแรกหลงก็มีรสมีชาด ทุกข์ก็มีรสมีชาด โกรธก็มีรสมีชาด พอเรามาดูเข้าจริงๆ มันก็ไม่มีรสมีชาดดอก ความทุกข์มันก็ไม่รสมีชาด ความโกรธมันก็ไม่มีรสมีชาด ความหลงมันก็ไม่มีรสมีชาด มันคือความหลง มันคือความทุกข์ มันคือความโกรธ แค่นั้นเอง สิ่งที่มีความรู้สึกตัวมีรสชาดกว่า รสชาดของความรู้สึกตัวเนี่ยเรียกว่า “สัพพะระสัง ธัมมะระโส ชินาติ” รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง มันก็มีโอกาสจืด ในความหลง ในความทุกข์ ในอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ แล้วต่อไป มันก็จะสรุป มันก็จะได้เป้า ได้แผน ได้หลัก เห็นรูปเห็นนามเข้าไป สิ่งที่มันคิดไป สิ่งที่มันนั่งอยู่ มันก็มีเท่านี้ ตัวรูปก็คือตัวนั่งอยู่นี่ ตัวนามก็คือมันคิด มันรู้อะไรได้ พาให้สุข ให้ทุกข์ พาให้หลง บางทีรูปดึงไป รูปดึงนามไป นามดึงรูปไป หมายถึงกายกับใจ กายทำให้ใจหลง ใจทำให้กายหลง พอเห็นไปเห็นมา มันก็เห็นเป็นรูปเป็นนาม สิ่งที่พาให้หลงมันก็คือรูปคือนาม พอเห็นมันเป็นรูปเป็นนามแล้ว ค่าของความโกรธ ค่าของความหลง ค่าของความทุกข์ จะไม่มีเลย มันเป็นอาการ อาการของรูป อาการของนามจริงๆ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจกับรูปกับนาม มันก็ตกอยู่ในความไม่เที่ยง ตกอยู่ในความเป็นทุกข์ ตกอยู่ในความไม่ใช่ตัวตน ตกอยู่ในความเป็นสามัญลักษณะ ไตรลักษณ์เนี่ยมันก็จะต้องเห็น เมื่อมันเห็นมันสรุป มันสรุปให้เรา มันเรื่องเก่า เบื่อหน่ายนะ มันก็เบื่อหน่ายได้เหมือนกัน เบื่อหน่ายความหลง เบื่อหน่ายความทุกข์ เบื่อหน่ายความไม่เที่ยง เบื่อหน่ายความไม่ใช่ตัวตน จิตใจก็เป็นสมาธิมั่นคงขึ้นมา มีความรอบรู้ในกองสังขารขึ้นมา เป็นปัญญา ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเรา กลายมาเป็นปัญญา แต่ก่อนมันคือความหลง ปัญหาคือความหลง ปัญหาคือความโกรธ ปัญหาคือความทุกข์ ต่อไปปัญหาต่างๆ กลายมาเป็นปัญญา กลายมาเป็นปัญญาจริงๆ ความทุกข์แท้ๆ ทำให้เกิดเป็นพุทธะขึ้นมา ความทุกข์แท้ๆ ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ความหลงแท้ๆ ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ความโกรธแท้ๆ ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า มันเปลี่ยนได้ จากความหลงเป็นปัญญา เป็นพุทธะ รู้ตื่นเบิกบาน เห็นความหลง เห็นอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม มันเป็นการเห็นของจริง เห็นของจริงอันประเสริฐ ถ้าไม่เห็นทุกข์ มันก็พ้นทุกข์ไม่ได้ ถ้าไม่เห็นหลงก็พ้นหลงไม่ได้ ถ้าไม่เห็นโกรธก็พ้นโกรธไม่ได้ เป็นเรื่องดีนะ เป็นเรื่องดีที่สุด แต่ว่าเราไม่ค่อยเจอหน้ากัน ไม่ค่อยจ๊ะเอ๋กับเรื่องนี้ พอหลงก็เป็นผู้หลงไปเลย ไปกับเขาไปเลย พอโกรธก็ไปร่วมกับเขาไปเลย เหมือนเขาซัดพาไป เขาทุกข์ก็ร่วมกับเขาไปเลย
บัดนี้ตัวปฏิบัติเนี่ยมันจะไม่ร่วมง่าย มันจะทักท้วงนะ จะเป็นภาวะที่ทักท้วง เป็นภาวะที่ตรวจสอบ เป็นภาวะที่บอกคืน มันคนละเรื่องกัน ตัวหลงเป็นเรื่องหนึ่ง ตัวรู้เป็นเรื่องหนึ่ง ตัวทุกข์เป็นเรื่องหนึ่ง ตัวรู้เป็นเรื่องหนึ่ง ตัวผิดเป็นเรื่องหนึ่ง ตัวรู้เป็นเรื่องหนึ่ง เนี่ยมันคนละเรื่องกันจริงๆ ไม่ใช่เราทั้งหมดนะ แต่ถ้าเรามีตัวรู้นะ แต่ถ้าไม่มีตัวรู้จะไม่รู้จัก จะอันเดียว ความหลงก็อันเดียว ความทุกข์ก็อันเดียว นึกว่าตนไปซะทั้งหมด ความหลงก็คือกู เราหลง ความไม่หลงก็คือความรู้ คือเรา เราไม่หลง ความทุกข์คือเรา ความไม่ทุกข์คือเรา เป็นตัวเป็นตนทุกเรื่องทุกราว ถ้าเราไม่มีสตินะ หลงกับรู้ไม่ต่างกัน คนที่ไม่เคยฝึกตัวเอง โกรธกับไม่โกรธก็ไม่ต่างกัน มันก็เป็นรส มันก็สำหรับคนไม่ฝึกนะ แต่ถ้าเรามีสติแล้วนะ มันจะเป็นคนละอย่างกัน คนที่ไม่เคยมีสติ หนึ่งวันสองวันสามวันสี่วันห้าวัน พอมันหลงมันก็จะคนละเรื่องกันเลย เขาไม่ไปอยู่กับความหลง เขาก็รู้จักกลับมา ทีแรกก็อาศัยรูปแบบช่วย อาจจะยกมือสร้างจังหวะ อาจจะเดินจงกรมกลับมา พอหลงคิดไปก็กลับมา พอมันหลงทุกข์ไปก็กลับมา คล้ายๆกับว่าอาศัยรูปแบบช่วย อาศัยนิมิตช่วย เหมือนกับเรายืนอยู่กลางน้ำไหลเชี่ยว เราเกาะหลักอยู่ พอมันจะหลุดไป เราก็เกาะหลักเอาไว้ สมมุติๆ สมมุติบัญญัติ แต่ถ้าเราฝึกไปๆ มันก็อาจจะไม่ต้องเกาะหลัก ความรู้สึกตัวเนี่ยมันรู้แล้ว มันหลงก็เปลี่ยนเป็นตัวรู้เอาเอง อาจจะไม่ต้องอาศัยรูปแบบ มันอยู่ด้วยกัน มันเกิดอยู่ที่เดียวกัน ความหลงเกิดอยู่ที่จิต อันความรู้ก็เกิดอยู่ที่จิต ไม่ได้ไปหาที่ไหน ความหลงเกิดอยู่ที่กาย ความรู้ก็เกิดอยู่ที่กาย จึงไม่ได้ไปหาที่ไหน ในตัวของมันเอง
การปฏิบัติธรรมนี่ถือว่าสะดวกมาก สะดวกที่สุด ไม่มีอะไรสะดวกเท่ากับการปฏิบัติธรรม มันอยู่ด้วยกัน มันก็เกิดที่เดียวกัน เป็นปัจจัตตังเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบัน พอมันหลง รู้ทันที เพราะตัวรู้ก็เป็นปัจจุบัน ตัวหลงก็เป็นปัจจุบัน ไม่มีใครทำไม่ได้เรื่องนี้ ทำได้ทุกคน แต่ว่าขั้นตอน จังหวะ ขั้นตอนจังหวะมันอาจจะไม่เหมาะสม ไม่รู้ ไม่ฝึกหัด หลงเมื่อวานนี้ มารู้วันนี้ ทุกข์ตั้งแต่เมื่อวานนี้ ก็ยังมีทุกข์อยู่วันนี้ มันคนละขั้นตอน คนละช่วง แต่นี่ปฏิบัติมันทันที เป็นปัจจัตตัง เป็นปัจจุบัน ความหลงก็เป็นปัจจุบัน ความรู้ก็เป็นปัจจุบัน มันเป็นปัจจุบัน สิ่งไหนที่เป็นปัจจุบัน มันแก้ได้ มันใช้ได้ มันใช้ได้ ถ้าเป็นอดีตมันใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นอนาคตมันใช้ไม่ได้ ปัจจุบันนี่มันใช้ได้จริงๆ นั้นการเจริญสติจึงทำให้มันเป็นปัจจุบัน ทำไมเราจึงต้องมายกมือสร้างจังหวะ เพื่อให้มันเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ไปนั่งคิดลอยเอา คงจะเป็นอย่างนู้น คงจะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ ความรู้คงจะเป็นอย่างนั้น รู้ธรรมคงเป็นอย่างนั้น ฉันไม่รู้ต้องเป็นอย่างนี้ ความรู้มันเป็นอย่างไรหนอ คิดไปอันนั้นไม่ใช่ปัจจุบัน มันหลงไปแล้ว นี่ไม่ต้องไปคิดแบบนั้น ให้รู้สึกตัวเป็นปัจจุบัน
ความรู้สึกตัวเป็นปัจจุบัน พอมันหลงก็เป็นปัจจุบัน ความรู้ก็เป็นปัจจุบัน เลยเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เลยเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ ร้อยครั้งพันหนวันหนึ่งๆ มันจะต้องเก่ง เหมือนเราทำอะไรที่มันผิด เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก ถ้าได้แก้สิ่งไหนที่มันผิด เหมือนนายช่างซ่อมรถ เขาก็ต้องเก่ง พอบอกลักษณะเขาก็รู้ทันที เหมือนหมอ คุณหมอทั้งหลาย พอถามคนป่วยก็รู้ว่าเขาเป็นโรคอันนั้นอันนี้ทันที เพราะมันมีประสบการณ์ มันมีบทเรียน การปฏิบัติธรรมเนี่ย ได้บทเรียนจากตัวเรา ดูออก ดูออกเก่งๆ ว่ามันเป็นปัจจุบัน เพียงแต่มันแสดงเราก็รู้ทันที รู้ทันที พอรู้ พอมันหลงเกิดขึ้น รู้สึกตัว ความหลงก็หายไป ไม่ได้ไปไล่มันที่ไหน ไม่ต้องไปทำไม ไม่ต้องมี มันทันทีนะ ทันที พอมันหลงรู้สึกตัว ความหลงก็หายไป ความหลงก็หายไป แต่ว่าพอมันรู้สึกตัว ความหลงเกิดขึ้น แม้มันหลง มันก็ไม่เป็นไร ถ้ารู้สึกตัวนะ แก้ได้อยู่ นี่อย่าไปกลัวนะ อย่าไปอยากได้ความถูก ไม่อยากให้มันผิด เวลาใดที่มันผิดถือว่าเสียหาย ไม่ใช่ เห็นมันผิดไม่ใช่เป็นผู้ผิด เห็นมันทุกข์ไม่ใช่เป็นผู้ทุกข์ เห็นมันหลงไม่ใช่เป็นผู้หลง
เราออกมาแล้ว เราออกมาดูแล้ว เราออกมาดูการแสดงของเรา การแสดงของกายของใจของเรา เราออกมาดู การเจริญสติเหมือนออกมาดู
เหมือนพระพุทธเจ้าสอนพวกเราว่า “สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ อันวิจิตรตระการดุจราชรถที่คนเขลา คนหลง พากันหมกอยู่ แต่ผู้มีปัญญาหาข้องอยู่ไม่”
ถ้าอยากรู้ตัวเองก็ต้องมาดูแบบนี้ ต้องกลับมาดูแบบนี้ ว่าแต่อย่าไปร่วมมันง่ายๆ มันเกิดอะไรขึ้นมาก็รู้ไว้ก่อน ยังไม่เก่งก็รู้ไว้ก่อน รู้ไว้ก่อน มันจะหลงแล้วหลงอีก ก็รู้แล้วรู้อีกนะ มันจะผิดแล้วผิดอีก ก็ทำแล้วทำอีก อย่างนี้การปฏิบัติธรรม ให้มีศรัทธา ถ้าทำอะไรผิดนิดหน่อยก็วาง วางงานวางการ พอทำอะไรผิดนิดหน่อย ทำทีไรก็ง่วงที่นั่นก็หลับที่นั่น มันก็ไปชนอยู่กับสภาพแบบนั้น ให้สู้สักหน่อย เปลี่ยนสักหน่อย ลองเปลี่ยนความง่วงเป็นความรู้สึกตัว ได้ไหม แหย่ลงไปสักหน่อย ทนสักหน่อย มีศรัทธาสักหน่อย มีความเพียรสักหน่อย มีความมั่นคงสักหน่อย อย่าวอกแวก อย่าหวั่นไหวง่าย ฝึกตัวเองจริงๆเรื่องนี้นะ ได้ความอดทน ได้ความเพียร ได้ศรัทธา ตรงไหนที่มันจะเกิดความเสื่อม การท้อแท้ มันก็เกิดศรัทธาตรงนั้น ตรงไหนที่มันจะอ่อนแอมันก็มีความเข้มแข็งตรงนั้น เช่น ความง่วงนะ พอมันง่วงปั๊บ บางคนก็หลับตาหาวอ้าปาก อ่อนข้อไปกับมันเลย หลับไปเลย อ่อนไปเลย มือก็ยกไม่ขึ้น ตาก็ลืมไม่ขึ้น ลองสู้สักหน่อยดูสิ อย่าไปอ้าปากหาวให้มัน ปิดปากเอาไว้ ยกมือสร้างจังหวะ ตบขาแรงๆสักหน่อย มองออกไปข้างนอก มองดูยอดไม้ มองดูท้องฟ้า อย่ามานั่งหลับตา คอยคอตก สยบแล้ว สยบอีก ไม่ได้ ลืมขึ้นมา ยืดตัวขึ้นมา เอ้อ! เวลานี้เป็นเวลากลางวัน เวลากลางวัน เป็นเวลาทำงาน ไม่ใช่เป็นเวลานอน เพื่อนเราก็อยู่โน่น อาจารย์ก็อยู่หลังโน่น หลวงพ่อก็อยู่โน่น แม่ชีก็อยู่โน่น เพื่อนเราก็อยู่โน่น ยังเดินจงกรมอยู่ ยังนั่งสร้างจังหวะอยู่ เอาอย่าง หรือไม่มีใครก็คิดถึงพระพุทธเจ้า พอเกิดอะไรนิดหน่อย เอ้าเขานอนเราก็นอนสักหน่อย ผู้ใดตื่นอยู่ขณะผู้อื่นหลับ ผู้ใดตื่นขณะผู้อื่นหลับ ย่อมละคนโง่ไปไกล เหมือนม้ามีฝีเท้าดี ละม้าที่ไม่มีกำลังฉันนั้น เขาประมาทเราไม่ประมาท ตื่นอยู่ในเมื่อผู้อื่นหลับ ลองดูสิ ต้องเอาอย่างพระพุทธเจ้า เอาอย่างครูอาจารย์ เอาอย่างคนดี คนที่เขาทำอะไรได้ อย่าไปเอาอย่างแบบออดๆแอดๆ มันจะเข้มแข็ง ความง่วงทำให้เราได้ความเข้มแข็ง นั่งสัปหงกสักครั้งเดียวก็เข็ดหลาบแล้ว ฝึกปัดหลังปัดหน้าแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว ไม่เอาอีกแล้วรสชาดแบบนี้ เราเคยสยบกับรสชาดแบบนั้น พอง่วงก็คออ่อน นั่งหาวสยบอยู่ เราเคยติดรสติดชาดแบบนั้น บัดนี้เรามาติดรสชาดของความรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา ตื่นขึ้นมา พุทโธ่! มันต่างเก่า ล่วงพ้นภาวะเดิมจริงๆ นะ คำว่านั่งสัปหงกไม่มีแล้ว ถ้าเราแก้นะ ถ้าเราเปลี่ยน ถ้าเราไม่เปลี่ยนก็สัปหงกจนตาย ปฏิบัติธรรมไปก็นั่งสัปหงกให้คนเห็นอยู่นั่นแหละ ไม่รู้จักอายเลย มันด้านไปเลยนะ เจ้าของนั่งหลับก็นึกว่าเจ้าของทำสมาธิ ไม่ใช่ สมาธิก็ไม่ต้องไปทำอะไรมัน รู้สึกตัว รู้สึกตัวอยู่นี่นะ ใส่ความเข้มแข็งเข้าไป ตรงไหนที่มันอ่อนแอ สร้างศรัทธาเข้าไป ตรงไหนที่มันท้อถอย สร้างความเพียรเข้าไป ตรงไหนที่มีความเปราะบาง สร้างความอดทนเข้าไป จึงเรียกว่าฝึกตน
บัณฑิตต้องฝึกตนนะ ถ้าไม่ฝึกมันไม่เก่งนะคนเราเนี่ย อ่อนแอเรื่อยไป พอมันไม่เก่ง ก็ติดอะไรง่ายๆ เป็นจริตไปเลย โทสะจริต โมหะจริต โลภะจริต ต้องเป็นพุทธะจริต สร้างนิสัยปฏิบัติธรรม มาสร้างนิสัยพุทธะจริต ทำอะไรรู้สึกตัวง่ายๆ ความรู้สึกตัวออกหน้าออกตา ไม่ใช่แบบสะลึมสะลือ หลงๆ ลืมๆ ความรู้สึกตัวออกหน้าออกตา เริ่มต้นความรู้สึกตัว ท่ามกลางความรู้สึกตัว ที่สุดก็คือความรู้สึกตัว พิสูจน์เรื่องนี้ลองดู อยู่กับตัวเราแท้ๆ เป็นเรื่องส่วนตัวๆ แต่เรื่องส่วนตัวเนี่ยถ้าเราฝึกได้มันเป็นเรื่องส่วนรวมด้วย ถ้าเราสงบ จิตมั่นคง ไม่หวั่นไหว คนใกล้ชิดติดเราก็พลอยเกิดอานิสงส์สบายไปด้วยนะ ถ้าเราไม่ฝึกมีปัญหา เป็นปัญหาต่อคนอื่นด้วยเหมือนกัน คนในโลกต้องมาฝึกตัวเรา ทุกคนฝึกตัวเรา รักผัวรักเมียต้องฝึกตน รักพ่อรักแม่ต้องฝึกตน รักลูกรักหลานต้องฝึกตน ให้เป็นที่พึ่งของตนได้ ถ้าเราไม่ฝึก มันไม่ได้ ทุกวันนี้มันยิ่งเปราะบางคนเรา ปัญหาต่างๆ ข้อมูลต่างๆ มันไม่ค่อยดี
การมาเจริญสตินี่เหมือนกับมาให้ข้อมูลเรา ให้ข้อมูลเรา ให้ความรู้สึกตัว ให้ความรู้สึกตัวหนึ่งวัน สองวัน สามวัน พระพุทธเจ้าก็ท้าทายกับพวกเราแล้ว ผู้เจริญสติปัฏฐานหนึ่งวันถึงเจ็ดวัน หนึ่งเดือนถึงเจ็ดเดือน หนึ่งปีถึงเจ็ดปี อย่างช้านะ เกิดอานิสงส์สองประการ เพราะนั้นเราทำอะไรต้องให้สุดฝีมือลองดู ไม่ใช่ไปรีดตัวเองนะ การเจริญสติไม่ใช่รีดตัวเอง การเจริญสติเป็นการตั้งหลักให้ตัวเองเฉยๆ มันไม่ใช่รีดแรงงานออกจากเรา มันเสริมสร้าง เมื่อไม่มีศรัทธา เสริมสร้างศรัทธา เมื่อไม่มีความอดทน เสริมสร้างความอดทน เมื่อไม่มีศีล เสริมสร้างศีลขึ้นมา เมื่อไม่มีสมาธิ เสริมสร้างสมาธิขึ้นมา เมื่อไม่มีปัญญาเสริมสร้างปัญญาขึ้นมา นี่มาเสริม มาเสริมให้ตัวเอง มาเสริม มากวาดวิชาให้กับตัวเรา มันจะเก่งทันทีนะ เก่งทันทีทันใด ไม่ใช่ไปรอ มันหลงเดี๋ยวนี้รู้เดี๋ยวนี้นะ เราจึงมาสร้าง
สุคะโตเนี่ย มีกุฏิหลังหนึ่ง หลวงพ่อเรียกว่ากุฏิแม่ไก่ กุฏิป่าไผ่เป็นกุฏิแม่ไก่ กกไข่ตลอดปีนะ กกแล้วออกไป กกแล้วออกไป เกิดลูกขึ้นมา เกิดออกไป หลายชีวิตที่มันเปลี่ยนไปได้ พระหนุ่มๆ น้อยๆ เปลี่ยนไปได้ ทำจากความหลงกลายเป็นความรู้ สิ่งเคยทุกข์ทำให้ไม่ทุกข์ สิ่งเคยหลงทำให้ไม่หลง มันต่างเก่า ล่วงพ้นภาวะเก่า มันฝึกไปได้จริงๆ ชีวิตเรามันฝึกได้อย่างนี้ ท่านจึงเรียกว่ามนุษย์ ถ้าไม่ฝึกจะเรียกว่ามนุษย์ไม่ได้นะ มันจะเลวกว่าสัตว์นะ ถ้ามันฝึกอย่างนี้มันจึงเป็นมนุษย์ขึ้นมา จึงเป็นพระขึ้นมาได้ ถ้าไม่ฝึกมันก็เป็นคนธรรมดา ไปทางต่ำๆ มนุษย์เนี่ยไปทางสูงๆ คนเนี่ยไปทางต่ำๆ คิดอะไรไปจมกับความโลภ ความโกรธ ความหลง มนุษย์ก็จะเหนือขึ้นไป สูงขึ้นไปๆ มีสติสัมปชัญญะ มีศีล เอาล่ะไม่ต้องพูดมากเท่าไหร่ดอก พูดเท่านี้ก็พอดีๆ เนาะ