แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราพากันมาปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรม การเจริญสติ ถือว่าเป็นแนวหน้า แนวหน้าของการรบ ข้าศึกที่มันเกิดขึ้นกับชีวิตจิตใจเรา แต่ว่าแนวหน้าต้องรีบด่วนเสียหน่อยอย่าพะรุงพะรัง หน่วยเร็วไว หมายความว่า เราเพียรพยายามที่จะสร้างความรู้สึกตัว อะไร ๆ ที่ไม่ใช่ความรู้สึกตัวที่มันเกิดขึ้น ผ่านไปก่อน อย่าไปลังเลสงสัย เสียเวล่ำเวลา วัตถุอุปกรณ์ที่สร้างให้เกิดความรู้ก็มีอยู่พร้อมแล้วเป็นของจริง คือกายของเรา กายนี้ก็เคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวนั้น เพื่อให้เกิดความรู้ ถ้าเคลื่อนไหวใด ๆ เรื่องของกายไม่เกิดความรู้ อย่าไปเคลื่อนไหวให้มันเกิดอย่างอื่น ส่วนไหนก็ตามเรื่องของกายคือลมหายใจ การกระพริบตา การกลืนน้ำลาย การเดิน การยืน การนั่ง การนอน หรือเราเจตนาที่จะสร้างขึ้นมาตามรูปแบบของบรรพ ในการเจริญสติปัฏฐาน ยกมือสร้างจังหวะ เป็นกายบรรพ สัมปชัญญะบรรพ
บรรพ คือรูปแบบที่ทำให้เกิดสติ หามา มาประกอบ เวลานี้เราด่วน ๆ สักหน่อย อย่าไปเอาเหตุเอาผลอันใดมาเป็นเครื่องขวางกั้น เพื่อที่จะให้หลุดไปจากความรู้สึกตัว เราจึงเพียรพยายาม ได้ทราบว่า พวกเรามาปฏิบัติแบบเข้ม ทำแบบเข้มก็คือรู้สึกตัวนี่แหละ ความรู้สึกตัวต้องแนวหน้าจริง ๆ ด่วนจริง ๆ เหมือนกับนักรบ ไว ๆ สักหน่อย ไวยังไง ไวคือเข้าถึงความรู้สึกตัว เข้าข้างความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวเป็นการบุกเบิก วิธีใดที่จะรู้สึกตัวหามา เอามาประกอบ ถ้าไม่ประกอบ ความรู้สึกตัวก็ไม่เกิด ไม่ใช่ไปคิดเอาเหตุเอาผล วัตถุที่สร้างความรู้สึกตัวนี้ ก็คือกายคือใจของเรานี่แหละ มันจะหลงก็หลงตรงนี้แหละ แต่สิ่งที่หลง ที่ทำให้หลงมากที่สุดคือกายกับใจ ถ้าไม่หลงตรงนี้แล้ว อันอื่นก็ไม่หลง เพราะว่าการเจริญสติมันเป็นการสำรวมอายตนะไปในตัวเสร็จ ไม่ต้องไปหลับตา ไม่ต้องไปหลบไปหนีที่ไหน แม้แต่ได้ยินเสียง แม้แต่ตาเห็นรูป อะไรก็ตาม มันจะเป็นสักแต่ว่าไปเลย ถ้ามีความรู้สึกตัวนะ ตัวใหญ่มันอยู่ตรงนี้ ถ้ามีสติแล้วมันก็ไปได้หมดเลย แล้วมันจะเกิดสิ่งอื่นตามไปเอง จะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาไปเอง
แม้แต่การบรรลุธรรม พระอริยบุคคลเบื้องต้น เช่น พระโสดาบัน ก็มาเห็นกายนี่แหละ กายานุปัสสนา สักกายทิฏฐิ ทิฐิที่มีความเห็นผิดเห็นถูกอยู่ในกาย ถ้ามีสติเห็นกายอยู่ต่อเนื่อง จะเป็นสักกายทิฏฐิ เห็นถูก ไม่มีตนอยู่ในกาย ไม่เสียเวลาอยู่กับกาย เอากายนี้เป็นเครื่องบรรลุธรรมไปเลยเรียกว่าสักกายทิฏฐิ ไม่มีตนอยู่ในกาย เรื่องของกายไม่มีตน เป็นแต่เพียงว่าเห็น เห็นกายตามความเป็นจริง ความสุขความทุกข์ไม่เกิดขึ้นบนกาย กิเลสตัณหาความโลภโกรธหลงไม่เกิดขึ้นอยู่ที่กาย เพราะสักกายทิฏฐิ ไม่มีตนอยู่ในกายแล้ว มีแต่เห็นอาการที่มันเกิดขึ้น ก็เอาอันนี้แหละมาศึกษา เอาสิ่งที่มันมีเพื่อให้เกิดการบรรลุธรรม ตรงไหนที่มันหลง ตรงนั้นเป็นการบรรลุธรรม หลงที่กายก็เอากายบรรลุธรรม หลงที่จิตก็เอาจิตเป็นเครื่องบรรลุธรรม การบรรลุธรรมคือทำให้เกิดความรู้สึกตัว บรรลุน้อย ๆ นี้ไปก่อน พ้นน้อย ๆ ไปก่อน แล้วเราก็ทำได้นะ ไม่ใช่ทำไม่ได้ ทุกคนทำได้ เพราะชีวิตของเราเพื่อการนี้โดยตรง เพื่อความรู้สึกตัวโดยตรง เราเปลี่ยนเสีย แต่ก่อนมันเป็นความหลงก็ได้ กายเกิดความหลง ใจเกิดความหลง ความหลงก็เอาไปฟรี ๆ เราไม่รู้ ด้านไปเลย ด้านอยู่ในความหลง ด้านอยู่กับความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ บัดนี้ให้มันเกิดความรู้สึกตัว
ปฏิบัติคือเปลี่ยนให้เกิดความรู้สึกตัว มีเรื่องอันใดที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ เอามาเปลี่ยนให้เกิดความรู้สึกตัว เรียกว่าปฏิบัติเข้ม อาจจะอยู่ที่ไหนก็ได้ อาจจะฟังอยู่อย่างนี้ก็ได้ อาจจะเดิน อาจจะขบจะฉัน อาจจะอาบน้ำที่ไหนก็ได้ ให้มีความรู้สึกตัว ให้มันต่อเนื่อง ยาว ๆ นาน ๆ
ความเข้มของการปฏิบัติคือให้มีสติ ต่อเนื่องอยู่กับกายยาว ๆ เอากายเป็นหลักเสียก่อน อย่าไปยุ่งกับความคิดจิตใจ แม้นมันจะมี ก็ทิ้งไว้ก่อน กลับมาเอานิมิต คือกายนี้ตั้งไว้ก่อน ตั้งไว้ก่อน มีหลัก มันมีหลัก ปฏิบัติธรรม มันเกาะหลัก มันจับหลัก เหมือนเราไต่สะพานที่มีราวจับ มันไม่หลุดไม่หล่นง่ายหรอก เพราะรูปแบบของเราก็ชัดเจนอยู่แล้ว เคลื่อนไหวไปมาเนี่ย มือนี่มันก็มีจริง ๆ รูปแบบมือคว่ำไว้บนเข่า มือตั้งไว้บนเข่า มือยกขึ้น มือกลับไปกลับมา มันมีอยู่ จับไป เกาะไป ติดไป ให้มันติด ให้สติมันติดไปกับกาย ส่วนจิตใจนั้น มันอาจจะหลงคิดไป ก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้รีบกลับมา แม้มันจะมีเหตุอะไรที่ต้องคิด เวลานี้ไม่จำเป็น เวลานี้มามีสติดูกายเสียก่อน รู้สึกตัวไปกับกายเสียก่อน อย่าไปหาเรื่องมาคิด อย่าไปหลงมาคิด ตัวหลงนี้ไม่ได้หาหรอกมันเกิดขึ้นเอง มันเกิดขึ้นเอง ตัวหลงที่มันเกิดขึ้นกับจิตนี่มันมีมาเอง นั่นแหละเป็นเรื่องดี อย่าถือว่ามันผิด ตัวหลงที่มันเกิดขึ้นมาเองที่เกิดขึ้นกับจิตนั่นแหละ จะได้รู้สึกตัว มันจะเก่งตอนที่มันหลงที่เกิดขึ้นกับจิตแล้วกลับมารู้อยู่ที่กาย ตรงนี้จะทำให้เก่ง จะทำให้คล่องตัว จะทำให้ประสบการณ์ จะทำให้มีบทเรียน บทเรียนมาอยู่ตรงนี้ด้วย อย่าปฏิเสธ บางคนพอมันคิดขึ้นมา ก็ยุ่งกับความคิด ไม่อยากให้มันคิด มันก็คิด อย่าไปข้องแวะแบบนั้น การปฏิบัติธรรม ถ้าจะเป็นการเจริญสติจริง ๆ อาจจะยิ้มน้อย ๆ เวลามันหลงคิดไป เพราะมันเห็นของจริง ของจริงที่มันเกิดความหลงเกิดขึ้นกับจิตใจเราเนี่ย ให้ทำอย่างนี้ ไม่สิ้นเปลือง ถ้าไปถือว่าผิดว่าถูก มันจะสิ้นเปลืองพลังงาน จะสิ้นเปลืองพลังงาน จะไปแก้ความหลงโดยเหตุ โดยผล โดยความคิด ทำไมมันจึงหลง วิธีใดที่มันจะไม่หลง ไม่ต้องไปหา มันมีอยู่แล้ว กลับมา สร้างรูปแบบ ยกมือ เปลี่ยนมือ หงายมือ สร้างอย่างที่เราสร้างอยู่เนี่ย เพียงพอแล้ว การที่จะทำให้เกิดความรู้สึกตัว มันเพียงพอกับอิริยาบถที่เราตั้งไว้นี้ ไม่ต้องไปไล่จับ ไม่ต้องไปเอาเหตุเอาผลไปประกอบ ตัดทิ้งไปเลยเหตุผลนั้น เอาการกระทำ เอาการกระทำ มีการกระทำ ต่อหน้าต่อตา ฟันต่อฟัน ตาต่อตาอย่างนี้ มันจึงจะเป็นของจริง ถ้าไปเอาเหตุเอาผลคลุม ๆ เครือ ๆ เอาชอบ เอาไม่ชอบ เอาผิด เอาถูก วิธีปฏิบัติจะเห็นผิดเห็นถูก ถ้ารู้สึกตัวนะ รู้สึกตัว รู้สึกตัว สร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมา
จะเป็นคนเก่า จะเป็นคนใหม่ ก็คือสร้างความรู้สึกตัว แต่ว่าผู้ที่เคยสร้างมาแล้วอาจจะหลงน้อย อาจจะรู้มาก ผู้ที่สร้างความรู้สึกตัวน้อย ๆ อาจจะหลงมาก อาจจะรู้น้อย เป็นธรรมดา พอมันหลงก็พลัดไปกับความหลงได้ง่ายได้ไว
ผู้ที่ปฏิบัติมาก ๆ แล้ว ความหลงนั่นแหละมันสนับสนุนให้เกิดความรู้ ความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง อะไรก็ตาม สนับสนุนให้เกิดความรู้ เคยพูดว่าความหลง ความชั่วต่าง ๆ มันเป็นปุ๋ยทำให้ความรู้สึกตัวงอกงามภายในตัวสำหรับผู้เก่านะ ถ้าจะมีความโกรธ ความโลภ ความหลง มันสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกตัว เหมือนปุ๋ยที่ทำให้ต้นไม้งอกงาม ทุกข์นั่นแหละทำให้เกิดเป็นพุทธะ ความหลงนั่นแหละทำให้เกิดเป็นพุทธะ ถ้าไม่มีความหลง ไม่มีความทุกข์ พุทธะเกิดตรงไหน ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ อย่าไปกลัวความหลง อย่าไปกลัวความผิด อย่าไปกลัวอะไรทั้งหมดเลย มีความรู้สึกตัว มีความรู้สึกตัว พอแล้ว สำหรับแนวหน้า พอแล้ว กายเคลื่อนไหวรู้สึกตัวได้นี่ แนวหน้าพอแล้ว ไปได้เลย ไม่ต้องมีอะไร เอ๊ะ! ไม่เห็นมีสมาทาน ไม่เห็นมีศีล ไม่เห็นขอกรรมฐาน ไม่เห็นอะไร ไม่ต้องไปจุดธูปจุดเทียนตั้งเวลาเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งอย่างนั้นอย่างนี้ ตีระฆัง กำหนดเวลาให้ ปฏิบัติตรงนั้นเข้ม เวลานั่งต้อง ๘ ชั่วโมง ตีระฆังพานั่ง ตีระฆังพาเลิก ตีระฆังไปขบไปฉัน ตีระฆังไปอาบน้ำ เข้ม แบบนั้นก็ได้อยู่
แต่ว่าการเข้มจริง ๆ นี่คือความรู้สึกตัว อยู่ตรงไหนก็ไม่ให้คนอื่นบริหารเรา เราบริหารชีวิตของเราเอง เราจะไปไหนเราไปกับความรู้สึกตัว เราจะหยุดก็หยุดกับความรู้สึกตัว เราจะทำอะไรกับความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวไปได้ทุกพื้นที่ ที่มีอยู่ในกายในใจในชีวิตเรา อยู่กับตาก็รู้สึกตัวได้ถ้าจะดูอะไร หูฟังเสียงก็รู้สึกตัวได้ จะขบจะฉันจะอาบน้ำก็รู้สึกตัวได้ จะหลับจะตื่นก็รู้สึกตัวได้ หัดหลับหัดตื่นให้มีความรู้สึกตัว พอตื่นปั๊บรู้สึกตัว อาจจะรู้สึกตัวก่อนตื่นก่อนลืมตา ตอนที่มันจะตื่นจริง ๆ รู้สึกตัว ชัดเจน ไม่สะลึมสะลือ ไม่คลุมเครือ ไม่หมกหมุ่น ไม่เศร้าหมองอะไร รู้สึกตัวชัด ตื่นขึ้นมา ตื่นภายใน ความรู้สึกตัวตื่นภายใน ชัดเจน แม่นยำ นะการปฏิบัติธรรม แล้วทำอย่างนี้เราก็ทำได้จริง ๆ ไม่มีใครทำไม่ได้ ความรู้สึกตัวไม่ใช่เพศใช่วัย ไม่ใช่ลัทธิ ไม่ใช่นิกาย ไม่ใช่ชาติ อะไร เป็นความรู้สึกตัวสากลที่สุด ความรู้สึกตัวอยู่กับกายก็คือความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวอยู่กับจิตใจก็คือความรู้สึกตัว อยู่กับตา กับหู อยู่กับอิริยาบถ การสร้างจังหวะ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับการเดินจงกรม อยู่กับการเคลื่อนไหวอะไร ๆ ก็ตามคือความรู้สึกตัว อยู่กับนักบวชก็คือความรู้สึกตัว อยู่กับฆราวาสญาติโยมก็คือความรู้สึกตัว นี่คือของจริง สากลแห่งธรรม
ถ้าเรามีความรู้สึกตัว ทุกชีวิตที่นั่งอยู่ที่นี่ เกือบร้อยคนนี่ เป็นคน ๆ เดียว ทุกคนมีความรู้สึกตัว เอ้า! สงบทันที สงบทันที ทุกชีวิตมีความรู้สึกตัว ไม่ทำชั่ว ละความดี จิตบริสุทธิ์ไปเลย ไปเลยนะ อันนี้นะธรรมนี่ เป็นพลังเกิดขึ้นทันทีเลย ทันทีเลย เป็นปัจจัตตังทันทีเลย เอาจริง ๆ ลองดู เอาตรง ๆ ต่อหน้าต่อตาลองดู มีแล้วมีกายแล้ว เอามาเป็นวัสดุอุปกรณ์ สร้างความรู้สึกตัว ตามรูปแบบไปก่อน บางทีนอกรูปแบบก็ยังได้ ความรู้สึกตัว ไปเล่น ไปทำแบบเล่น ๆ กับความหลงบ้างก็ได้ เล่น ๆ กับความโกรธบ้างก็ได้ถ้ามีความรู้สึกตัว เหมือนกับคนที่จับงูพิษ ไปหยอกให้มันกัด ไปหยอกให้มันฉก เพราะเขาเคยเล่นกับมัน ไปหยอกให้มันฉกแล้วเขาก็ไว เขาฝึกตรงนั้นแล้ว พอมันฉก หลุดลง ที่สุดแห่งมันฉก เขาก็จับคอมันได้ เขาหยอกมัน หยอกล้อให้มัน พอมันฉกมาก ๆ เข้า มันก็เหนื่อยเหมือนกัน พวกงูนี่ เคยเห็นเขาเล่นกับงู ปล่อยให้มันฉกอยู่ ๆ ซักสามสี่ห้าครั้ง มันก็หมดแรงเหมือนกัน เช่น คนเราที่โกรธนี่ พอโกรธหนัก ๆ มันก็หมดแรงเหมือนกันนะ อาจจะได้บรรลุธรรมที่มันหลงเอาก็ได้ เพราะฉะนั้นเล่นกับมันก็ได้ เล่นกับความหลงก็ได้ ถ้ามีความรู้สึกตัวนะ อย่าไปถนอม อย่าไปพะว้าพะวง อย่าไปกลัว อย่าไประวังจนเกินไป
ความรู้สึกตัวไม่ใช่ระวัง มันมีพร้อมแล้ว ถ้ามีความรู้สึกตัว มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไประวัง ไม่ต้องอยาก อย่าให้อะไรไปแทรกซ้อน อยากรู้จึงสร้าง อยากบรรลุธรรมจึงมาสร้าง อยากได้กลัวว่ามันจะไม่ได้ กลัวว่ามันจะผิด อยากให้มันถูก ไม่ต้องเลย เอาการกระทำ อย่าไปเอาความคิดจิตใจมายุ่ง ถ้าจะพูดแล้วนะ ให้มีการกระทำ เอาการกระทำบุกเบิกไปก่อน มือเราก็มี กายเราก็มี ยกขึ้นมา เคลื่อนไหวขึ้นมา ให้มันรู้สึกตัว มันง่าย ๆ เรื่องเดียว เอาเรื่องเดียวแต่ไปเป็นพวง ไปเป็นพวง ๆ จับอันที่มันถูกแล้ว อันอื่นก็ไปได้หมดเลย ไม่ต้องไปจับหลายสิ่งหลายอย่าง เรียกว่ากำมือเดียวปฏิบัติธรรม เอาเท่านี้ไปก่อน อย่ากลัวว่าจะไม่รู้อะไร ถ้ามีสติที่มันมีประสบการณ์ได้บทเรียน จนแน่นอยู่ในกาย สติแน่นอยู่ในจิตใจแล้ว อะไรมันจะไป ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจก็จะร่วงไปเลย ก็จะหลุดไปเลย เพราะความรู้สึกตัว มันต่างกันกับอย่างอื่น มันเป็นสมบัติของกายของจิต ความหลงไม่เป็นสมบัติของกายของจิต ความถูกต้องความชอบที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ แล้วอันอื่นมันก็จะเกิดความชอบขึ้นไปทันที นี่คือกรรมอย่างนี้
กรรมคือการกระทำ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกรรม สุดยอดของการศึกษาคือกรรม วิชากรรมฐานมันต่างกับวิชาอันอื่นที่เราเรียนมา ถ้าเป็นศาสตร์ก็ศาสตร์ของชีวิต มันเกิดขึ้นที่กายที่ใจเรา หมายถึงความโลภ ความโกรธ ความหลง ความทุกข์ อะไรต่าง ๆ ไม่ใช่ความรู้ ความรู้หาเรียนเอา แต่ว่าทำเป็นนี่ต้องทำให้เป็น การทำให้เป็นนี่ต้องเรียนจากตัวเอง เวลาใดมันหลง อ้าว! ทำความรู้ได้แล้ว เป็นแล้ว ทำความหลงให้เป็นความรู้ได้แล้ว เป็นแล้ว เป็นแล้ว เวลาใดที่มันโกรธ ทำความโกรธให้หายโกรธ โอ้! ทำเป็นแล้ว ทำเป็นแล้ว นี่ทำให้เป็น การสอนให้เป็นนี่ ต้องสอนตัวเรา ต้องเรียนจากตัวเรา
การที่จะหาความรู้เรียนจากคนอื่น คนอื่นสอนให้ จำเอามา เอาไปประกอบ เอาเป็นวัตถุสิ่งของ พิสูจน์ อันนั้นเป็นความรู้เป็นปัญญาแบบทางโลกที่มีการศึกษา แต่ว่าการศึกษา สิกขาคือศีล สมาธิ ปัญญา ทำเป็น ศีลก็กำจัดความทุกข์ หรือว่าศีลกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิกำจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญากำจัดกิเลสอย่างละเอียด มันเป็นไปเอง ศีลมันก็ปกติ พอเรารู้สึกตัวมันก็ปกติแล้ว ขณะที่เราสร้างสติอยู่นี่มันก็เป็นการรักษาศีลแล้ว ไม่มีใครไปด่า ไม่มีใครไปทำบาปทำกรรมฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม้มันคิดขึ้นมามันก็รู้สึกตัว ยังไม่แสดงออกทางกายกรรม วจีกรรม มันก็เป็นการสำรวมอายตนะ เป็นศีลแล้ว ศีลเบื้องต้นแล้ว ขณะที่ใส่ใจเคลื่อนไหวรู้สึกตัวอยู่นี้ ใส่ใจที่จะรู้อยู่นี้ มันก็เป็นสมาธิแล้ว สมาธิคือมันเรื่องเดียว ชัดเจนแม่นยำอยู่ สมาธิมันมั่นอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว ตั้งไว้อยู่ตรงนี้อยู่แล้วนั่นแหละ เวลาใดที่มันหลงเกิดขึ้นมา อ้าว! มีปัญญาเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ได้ เปลี่ยนได้ เปลี่ยนเป็นแล้ว ไม่ให้ความหลงหอบหิ้ว ความหลงที่เกิดขึ้นกับกายกับจิต ความหลงเกิดขึ้นกับกาย เปลี่ยนความหลงที่เกิดขึ้นกับกายให้เกิดความรู้ นั่นเรียกว่าปัญญา ความหลงที่เกิดขึ้นกับจิต เปลี่ยนความหลงที่เกิดขึ้นกับจิตให้เป็นความรู้ นี่ปัญญาพุทธะ เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก หรือเรียกว่าภาวนาก็ได้ เป็นวิชาที่ยอดเยี่ยมมาก เป็นวิชาที่เพราะที่สุด คำว่าภาวนา เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก ขยันทำความดี ขยันทำความถูก ภาวนาคือขยัน ขยันรู้นี่แล้ว ไม่ต้องไปภาวนา ไม่ใช่บริกรรม พุทโธ พุทโธ ยุบหนอ พองหนอ อันนั้นมันไม่ใช่ภาวนา มันเป็นบริกรรม มันเรื่องเดียวบริกรรม บริกรรมนิมิต อันนั้นเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่ภาวนา
ภาวนาคือขยันรู้ สร้างความรู้ขึ้นมา เอามาผลิตความรู้ขึ้นมาเนี่ยะ ทำเรื่องนี้ลองดู 7 วัน มันจะเกิดอะไรขึ้น ธรรมชาติของชีวิตเรา ถ้าได้ 7 วันมันเปลี่ยนได้นะ คนเลิกสูบบุหรี่ 7 วันก็เปลี่ยนได้ คนเลิกกินเหล้าสัก 7 วันก็เปลี่ยนได้ อาจจะเป็นเช่นนี้โปรตีนมันอยู่ในเลือดในอะไร ถ้าได้ 7 วัน มันก็มีโอกาสจางคลายหายไป พิษของบุหรี่ พิษของเหล้าก็จางคลายหายไป เคยมีกิเลสตัณหา สัก 7 วันมีความรู้สึกตัวมันก็สงบลงได้ ปลูกต้นข้าวต้นกล้าถ้าได้ 7 วันละก็ ติดแล้ว ไปดูต่างเก่าแล้ว มันเป็นธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติที่มีชีวิตเรา อันนี้เรามาสร้างดูสิ
พระพุทธเจ้าจึงกำหนดเลย 7 วัน 7 เดือน 7 ปี ผู้ที่เจริญสติต่อเนื่อง 1 วันถึง 7 วันอาจจะเกิดคุณภาพ เกิดชีวิตจิตใจเปลี่ยนไป อาจจะเป็นพระขึ้นมา ได้อานิสงส์ 2 ประการ 7 วันอย่างไว อานิสงส์ 2 ประการคือ เป็นพระอนาคามีบุคคล หรือเป็นพระอรหันต์ได้ เจริญสติต่อเนื่อง 1 วันถึง 7 วัน อย่างกลาง 1 เดือนถึง 7 เดือน อย่างช้าที่สุด 1 ปีถึง 7 ปีนี่ พระพุทธเจ้าท้าทายไว้มากเรื่องนี้นะ แล้วพวกเราที่เป็นชาวพุทธนี้พิสูจน์กันหรือยัง ถ้าพิสูจน์เรื่องอื่น ไปคิดมาได้มากแล้ว ขอให้เป็นการบ้านอันหนึ่ง พิสูจน์เรื่องนี้ลองดู เอาให้สุดฝีมือ เอาให้สุดฝีมือ หลวงพ่อ พระสงฆ์สุคะโตจะเป็นเพื่อน เป็นมิตร เป็นกัลยาณมิตร จะไม่พาหลงทิศหลงทาง โดยเฉพาะการเจริญสติ มักจะไม่หลง นิมิตที่หลอกต่าง ๆ ก็ไม่เกิด ถ้าเกิดก็น้อย ถ้าเกิดก็น้อย เกิดก็แก้ได้ ช่วยตัวเองได้
ผู้เจริญสติเป็นการเดินอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้ ไม่ต้องไปรักษา ไม่ต้องไปจับไปจูง ไม่ต้องไปบอกกัน ไม่ต้องบริกรรม ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ก็ไม่ว่า เอาไปเลย ช่วยไปเลย คำพูดไม่ต้องพูดสักคำ เข้าถึงความรู้สึกตัวเลย บริกรรมก็ไม่ต้องมี เข้าถึงความรู้สึกตัวไปเลย สัมผัสเข้าไปเลย ถ้าบริกรรมเหมือนกับอะไรมารองอยู่ เช่น เราเอาถุงมาใส่มือไปจับ อันนั้นมีรอง ไม่สัมผัส ความรู้สึกตัวที่มาสัมผัสกับกายนี้ ความรู้สึกตัวที่มาสัมผัสกับจิตใจ ระหว่างกายระหว่างใจมีความรู้สึกตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้กายให้ใจความรู้สึกตัวอยู่ด้วยกัน อยู่ด้วยกัน 7 วันมันจะเกิดอะไรขึ้น เราจึงมาทำกรรมอันนี้ มาทำกรรมอันนี้ ให้กรรมมันลิขิตไป กรรมมันจะลิขิตไป กรรมจะจำแนกไปเอง ถ้าไม่มีกรรมแล้วมันลิขิตไม่ได้ กายใจของเรามันต้องมีกรรม อย่างเราสูบบุหรี่มันก็ติดบุหรี่ เพราะสูบมันจึงติด เพราะติดมันจึงอยาก เพราะอยากมันจึงสูบ มันก็เป็นไปทางนั้น มันเป็นกรรมอันนั้นเหมือนกัน เรียกว่าวัฏฏะ เพราะสูบจึงติด เพราะติดจึงอยาก เพราะอยากจึงสูบ เราจะไปตัดตรงไหน ตัดกรรมตรงนี้ อะไรมันเป็นกรรม อะไรมันเป็นกิเลส อะไรมันเป็นวิบาก กิเลส กรรม วิบากมันเป็นวัฏฏะวงกลม เราจะไปห้ามไม่ให้มันอยาก มันเป็นไปไม่ได้ เราจะไปห้ามไม่ให้มันสูบ มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันอยาก เพราะมันอยากมันจึงสูบ เพราะมันสูบมันจึงติด เพราะมันติดมันจึงอยาก มันเป็นกรรมวิบาก มันหมุนไปอย่างนั้น ถ้าเราจะตัด จะตัดตรงไหน ตัดไม่สูบ เพราะไม่สูบจึงไม่ติด เพราะไม่ติดจึงไม่อยาก เพราะไม่อยากจึงไม่สูบ อ้าว! มันกลับมาแบบนี้ มันกรรมมันลิขิตไปแบบนั้น เพราะฉะนั้นไม่สูบ ความไม่สูบนี้ถือว่าการกระทำ ทำลงไป ไม่ใช่ไปห้ามความอยาก เพราะไม่สูบต่างหากมันจึงไม่อยาก ก็ต้องสู้สักหน่อย อย่าไปห้ามความหลง เพราะทำไมมันจึงหลง เพราะไม่รู้สึกตัว ไม่ใช่ไปห้ามความหลง ความรู้สึกตัวเองต่างหาก แม้จะมีความหลงมาคุกคาม สร้างความรู้สึกตัวเรื่อยไป มันอาจจะดีกว่าการไปเลิกสูบบุหรี่ ที่จะไปเลิกกิเลสตัณหาความโลภโกรธหลง เพราะรู้สึกตัวอย่างนี้ ความหลงจะเกิดได้ยังไง ความหลงเท่านั้นที่มันพาให้เราผิด พาให้เราเป็นปัญหาต่าง ๆ เราก็มีความรู้สึกตัวพอดีกันพอดี ความรู้สึกตัวคู่กันกับความหลงพอดีพอดี เริ่มต้นจากตรงนี้ เอาไปเอามามีแต่ตัวรู้ตัวหลงชีวิตเรา โอ! มันง่ายปานนี้หรือ อาจจะว่าได้ โอ! มันขนาดนี้หรือนี่ พอตัวขนาดนี้แล้ว ไปกันเป็นพวงไปเลยถ้ามีความรู้สึกตัว ศีลก็เกิด สมาธิก็เกิด ปัญญาก็เกิด ศีลก็มาช่วย สมาธิก็ช่วย ปัญญาก็ช่วย เกิดเป็นมรรคเป็นผล มรรคคือการกระทำ ผลคือมันรู้ ขณะที่มือตั้งไว้บนเข่าเป็นมรรคเลย พลิกมือขึ้นรู้สึกตัวเป็นผลแล้ว เป็นมรรคเป็นผลทันที ปัจจัตตังทันที ในความหลงมันก็มีมรรคมีผลตรงนั้น ในสังขารมันก็มีวิสังขาร วิสังขารเกิดขึ้นในสังขาร สังขารคือการปรุง วิสังขารคือการไม่ปรุง วิสังขารนี่เป็นนิพพานนะ การเจริญสติมันเข้ากระแสนิพพานไปเลย นิพพานไปเลย มันเป็นวิสังขารไปเลย มันทำลายความหลงไปในตัวเสร็จ
สังขารา ปรมา ทุกขา สังขารเป็นทุกข์ นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานไม่ทุกข์ สังขารคือการปรุง วิสังขาร-การไม่ปรุง อยู่พร้อมกัน เกิดที่เดียวกัน เกิดที่เดียวกันแก้ที่เดียวกัน สมน้ำสมเนื้อจริง ๆ การเจริญสติเนี่ย ไม่ต้องไปพะว้าพะวง ไม่ต้องไปหาเหตุหาผล มันเสียเวลานะ
นี่แหละคือการปฏิบัติเข้ม ใส่ใจที่จะรู้สึกตัวอยู่เสมอ มาทำวัตรสวดมนต์ก็ได้ ไปขบไปฉันก็ได้ อยู่กับหมู่ก็ได้ อยู่คนเดียวก็ได้ ปฏิบัติเดี่ยวอยู่คนเดียวก็ได้ ปฏิบัติกับหมู่ก็ได้ เพราะที่จริงแล้วเราอยู่คนเดียวเรา อยู่กับหมู่ก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็เหมือนกับอยู่กับหมู่ ถ้ามันจะหลงอยู่กับหมู่เราก็ไม่หลงเนี่ย เวลาเราไปบิณฑบาตเพื่อนชวนให้หลงเราก็ไม่หลง ยิ่งดีจะได้ฝึกหัดตรงที่มันง่ายที่จะหลง จะได้รู้สึกตัว บางทีเพื่อนชวนคุยพูดเล่น เพื่อนเราหลง โอ้! เราไม่หลง เราไม่หลง เพื่อนเราพาหัวเราะพาเล่น โอ้! เราไม่หลง เราไม่หลง เราไม่เล่น มันจะเก่งตรงนั้นด้วยซ้ำไป ถ้ามีสติจริง ๆ ช่วยตัวเองเป็น ช่วยตัวเองเป็นทุกกรณีเลย จะเป็นทางไหนก็ได้ เพราะเพื่อน เพราะสิ่งแวดล้อม อะไรต่าง ๆ อาจจะเป็นเวทีของการเจริญสติไปหลาย ๆ แบบ นอกรูปแบบก็ได้ มันหลงอยู่ที่กาย มันหลงอยู่ที่ใจ อ้าว! มันหลงอยู่ที่เพื่อนที่มิตร อ้าว! เราก็รู้สึกตัวได้ มี ไม่ใช่ถนอม ลุย ๆ ความรู้สึกตัว เป็นลักษณะการลุย ๆ ไม่ถนอม ย่องเอา ไม่ใช่แบบนั้นนะ เหมือนเราเดินจงกรมไม่ใช่ย่อง ลุย ๆ สักหน่อย ให้มันรู้สึกตัว ได้พลังงาน ได้สติด้วย ก้าวให้เต็มก้าวพอดี คนหนุ่มคนแก่ตามพลังของตนเอง ถ้าคนแก่ไปย่องมันไม่สมสัดสมส่วน มันไม่คล่อง ต้องเดินตบเท้าเสียหน่อยคนแก่ ให้มันพอดีมันจึงเหยียบแม่น ถ้าไปย่องมันเหยียบไม่แม่น มันเซ ๆ ให้ความรู้สึกตัวมันพอดีกับวัยของเรา จะไปทำแบบเดียวกันมันก็ไม่ได้ พอยกมือขึ้นสร้างจังหวะบางทีมันมีแรงถ่วงพอดี ๆ อย่าช้าเกินไป อย่าระวังเกินไป มันพอดี มันมีความพอดี บางคนมีคำถามว่า “ช้าหรือไวดี หลวงพ่อ” มันมีความพอดี นั่งนานเท่าไร สร้างจังหวะเท่าไร เดินเท่าไร ไม่ต้องมีคำถามแบบนั้น เอาความพอดีที่มันจะมีความรู้สึกตัว เช่น รูปแบบของการนั่งสร้างจังหวะ บางทีถ้านานเกินไป มันก็พร่าครึ่งหลงครึ่งรู้ เราก็เปลี่ยนฉากของเราเอง ไม่ใช่ตีระฆังบอก คุณหลงแล้วนะ ไม่ใช่ คุณพร่าแล้วนะ ครึ่งรู้ครึ่งหลงแล้วนะ ไม่ใช่ คุณจะต้องรู้เอาเอง ถ้ามันพร่าครึ่งหลงครึ่งรู้ คุณก็วางลง ตั้งหน้าใหม่ วางใบหน้าใหม่ ยืดตัวใหม่ ตั้งจังหวะใหม่ เริ่มต้นใหม่ ๆ ให้มันชัดเจน
ชีวิตที่ดีต้องเริ่มต้นใหม่อยู่เรื่อย ๆ รู้จักเริ่มต้นใหม่ ปรับชีวิตของเราให้มันเหมาะสม อยู่โดยชอบ แม้เรานั่งอยู่ ไม่ใช่ชอบนะ ถ้าหลงสัปหงก ง่วงเหงาหาวนอน คนอื่นเขาไม่ง่วง เราง่วง ทำไงมันก็ง่วง จะไปบังคับเวลา 3 ชั่วโมงมานั่งอยู่นี้ ลุกไปไหนไม่ได้ อาจจะไม่ถูกเสมอไป แล้วมันง่วงมาก ๆ จะทำยังไง ไปนั่งเสียเวลาอยู่ตรงนั้นเหรอ ลุกขึ้น มีสติช่วยตัวเอง ลุกขึ้นไปเดิน อันนี้มันต้องตัวใครตัวมัน อย่าปล่อยให้ความง่วงครอบงำ นาทีสองนาที ไม่เอา ต้องตื่น ตื่นในขณะที่มันง่วง รู้ในขณะที่มันง่วง มันจะมีประสบการณ์นะ บางคนก็พอง่วงเกิดขึ้นก็คล้อยตาม อ่อนไปเลย หมดแรงไปเลย อย่าไปทำแบบนั้น ตื่นขึ้นมาทันที ในขณะที่มันง่วง ตื่นขึ้นมาทันทีในขณะที่มันหลง รู้สึกตัวขึ้นมาทันที มันจะพลัดไปอยู่ตรงไหน กลับมาหาความรู้สึกตัวนี่ แล้วก็ทำได้อย่างนี้จริง ๆ นะ ความรู้สึกตัวทำได้จริง ๆ แหม! มันดีนะ เวลาใดที่มันง่วงมันรู้สึกตัว โอ! ทันทีเลย หน้ามือเป็นหลังมือ ฝีมือของเราเอง การกระทำของเราเองอย่างนี้ ไม่มีใครไปช่วยเราดอก
การปฏิบัติธรรมให้ยืนอยู่บนลำแข้งของตนเอง อาศัยตนเอง เรียกว่ากรรม คือการกระทำของเราจริง ๆ ไม่มีใครช่วยใครได้ แต่ว่าแนะนำพร่ำสอนเป็นเพื่อนกันได้ เวลาใดมันผิดผู้สอนก็รู้อยู่ว่าจะพูดให้ฟัง บางทีก็เห็นกิริยาก็บอกกันได้ เขาหลงยังไง เขารู้ยังไง บอกได้ มันจึงเป็นเพื่อนกัน เป็นกัลยาณมิตร ปฏิบัติธรรม กัลยาณมิตรเนี่ย พาไปถึงมรรคถึงผลได้ จำเป็นเหมือนกัน มีหมู่มีมิตร มีเพื่อน มีครูบาอาจารย์ มีสัปปายะ มีอาหารพออยู่ได้ มีที่อยู่พออยู่ได้ มีบุคคลพอพึ่งพาอาศัยได้ เป็นที่ปรึกษาหารือได้ มีธรรมอันแน่วแน่ เป็นเป้าหมายที่เราสร้างขึ้น เช่น มีธรรม มีอะไรมีธรรม มีสตินี่แหละ มีจริง ๆ สตินี้ มีธรรม เราสร้างขึ้นมา สติมันเป็นธรรม เป็นธรรมที่เป็นกุศล เป็นธรรมที่เป็นแม่ของกุศลทั้งหลาย ถ้าไม่มีแม่ตรงนี้ อะไรมันจะเกิดขึ้นได้ยังไง ถ้าเป็นมรรคเป็นผลต้องเกิดขึ้นบนแม่เป็นมรรค อริยมรรค คือการกระทำของเรานี่แหละ ให้สบายใจเลยพวกเรา อย่าไปลังเลสงสัย อย่าไปข้องแวะสิ่งใด เคยทำแบบไหน เคยเป็นมายังไง รู้อะไรมา ไม่เป็นไร รู้ก็ได้ แต่เวลานี้เรามาสร้างสติ เรามาสร้างสติ ไม่ได้ไปเอาความรู้ของท่านทิ้งไป สติมันก็เป็นของเราอยู่แล้ว ถ้ารู้สึกตัวมันก็ไม่หลงอยู่แล้ว ถ้าหลงถ้ารู้สึกตัวความหลงก็หมดไปได้จริง ๆ แม้แต่ความโกรธก็หมดไปถ้าความรู้สึกตัวมี แต่เวลาใดที่มันจะหลงเรารู้สึกตัว เวลาใดมันโกรธเรารู้สึกตัว ไปทางนี้ ไปทางนี้ เอียงไปทางนี้ ง่ายที่จะไม่หลง ง่ายที่จะไม่โกรธไปเลย เอาไปเอามาไม่ได้ไปสู้กับอะไรเลย หมดไปเลย กิเลสหลุดไปเลย ความโลภความโกรธความหลงหมดไปเมื่อไรไม่รู้ เพราะมันได้ฐานยึดรูปยึดนามได้ ความโกรธความโลภความหลงไปตั้งอยู่ตรงไหนมันก็ไม่มีที่ให้ตั้ง เพราะมันเป็นกองรูปกองนาม มันได้หลักได้ฐาน ยึดพื้นที่ ความโลภความโกรธความหลงไม่เกิดได้ที่บนกองรูปกองนาม ที่ให้เกิดไม่มี มีแต่รูปนาม มีแต่ธรรมชาติ มีแต่อาการ เป็นไปเอง ไม่ต้องไปอดไปทน ไม่ต้องไปอดไปทน บางทีเราไปคิดไปข้างหน้า บางทีเราคิดถึงข้างหลัง ไม่ใช่ ปฏิบัติธรรมมันเป็นปัจจัตตัง เป็นปัจจุบัน ปัจจุบันนี่แหละคืออดีต ปัจจุบันนี่แหละคืออนาคต สร้างให้มันดี ถ้าปัจจุบันมันดี มันจะลิขิตไปเอง เป็นอย่างนี้
วันนี้ก็พูดให้ฟังเป็นคำพูดที่พิสูจน์ได้ คำพูดหลวงพ่อสัมผัสได้ ไม่ใช่คำพูดให้จำ เอาคำพูดไปสัมผัส ให้รู้สึกตัว ให้รู้สึกตัว โอ้! รู้สึกตัว คำพูดเอามาสัมผัสกับกาย คำพูดเอามาสัมผัสกับใจ นี่คือสอนธรรมะ สอนกรรมฐาน เอ้า! สมควรแก่เวลา