แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำสอนของพระพุทธเจ้า เราสาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นเรื่องของเรา มีอยู่ในเราด้วย เช่นเราว่ารูปไม่เที่ยง ในเรานี้มันก็มีรูป มันก็ไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง ในตัวเรานี้มันก็มีเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็ไม่เที่ยง สัญญา สังขาร วิญญาณ ในเรานี้ก็มี มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เรากล่าวถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นคุณ คุณของพระพุทธเจ้า สิ่งที่ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าก็มีเมตตาธิคุณ เมตตาธิคุณเราก็มีได้ อย่างที่เราแผ่เมตตาครั้งสุดท้ายเราก็มีได้ คนที่เราโกรธเขา เราก็มีเมตตาต่อเขาได้ เราพยาบาทเราก็หมดพยาบาทได้ เมตตาธิคุณ กรุณาธิคุณ เราก็สงสารคนอื่นได้ ทั้งที่เราโกรธเราก็สงสารได้ เปลี่ยนความโกรธเป็นความสงสารได้ เป็นคุณ ปัญญาธิคุณ รู้จักเอาชนะตนเอง มันหลงเอาชนะความหลง มันโกรธเอาชนะความโกรธ มันทุกข์เอาชนะความทุกข์ เรียกว่าปัญญา ปัญญานี้ยกตนนะ ยกตนออกจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ความทุกข์ ปัญญาที่เกิดกับพระพุทธเจ้ามาอยู่กับเราก็ได้ บริสุทธิคุณ ทำอะไรด้วยความบริสุทธิ์ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ซื่อๆ ตรงๆ เราก็มีได้เหมือนกัน คุณธรรมที่มีอยู่กับพระพุทธเจ้าเราก็เอามาไว้กับเรา เอามาเจริญสติเริ่มต้น พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้พระองค์ก็เจริญสติ สติมาดูกาย อ้าว! กายเราก็มีๆ กายานุปัสสนา มีสติเห็นกาย พระพุทธเจ้าก็เหมือนกับเรานี่แหละ มีกาย แต่พระองค์เป็นเจ้าฟ้าชายตามสมมติ เป็นสมมติเทพ สมมติเทพนี้เป็นเทพชั้นต่ำๆ บริสุทธิเทพเป็นเทพชั้นสูง อุบัติเทพเป็นเทพที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป คือความเป็นใหญ่ ความเป็นศีล ความมีศีลความมีธรรม แต่พระองค์เป็นสมมติเทพ เป็นเจ้าฟ้าชาย เป็นกษัตริย์ แต่มีปัญญา เก่ง เรียนรู้อะไรต่างๆ เก่ง แต่การเรียนรู้เก่งยังไม่ใช่การดับทุกข์นะ ความรู้ยังไม่ใช่การดับทุกข์ การดับทุกข์เป็นเรื่องของสติไม่ต้องไปเรียนที่ไหน เรียนจากกายกว้างศอกยาววาหนาคืบ แม้พระองค์จะเรียนจบตั้ง 17 ศาสตร์ ขี่ม้า ยิงธนู ฟันดาบ นอกจากนั้นก็เป็นศาสตร์ทั่ว ๆ ไป นั่นไม่ใช่เป็นทางที่ทำให้เกิดการตรัสรู้คือการดับทุกข์ได้ เป็นการที่แข่งขันกัน แต่ว่าการดับทุกข์ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าคือการเจริญสติ
การเจริญสติก็มาดูกายเคลื่อนไหว ในพระสูตรพระองค์ตรัสไว้ว่า การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก ให้รู้สึกตัว พระองค์อาจจะเหยียดแขนออก อาจจะคู้แขนเข้า อย่างปางพระพุทธรูปปางสมาธิ ก่อนมืออาจจะอยู่บนหน้าตัก บางทีก็ยกมือวางไว้บนเข่า การที่ยกมือวางไว้บนเข่าเรียกว่าสะดุ้งมาร บางทีอาจจะคิดขึ้นมาก็รู้สึกตัว คิดถึงพิมพา อ้าว! รู้สึกตัว กลับมา ความรู้สึกตัวต้องประกอบต้องสัมผัสดู ไม่ใช่คิดๆเอา ไม่ใช่คิดๆ นึกๆ เอา สัมผัส เมื่อเกิดความรู้สึกตัวแล้วก็เป็นปัจจุบัน เป็นปัจจัตตัง อ้าว! เคลื่อนไหวรู้สึกตัว ยกมือรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวต้องสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่คิด เป็นการสัมผัส ไปจุ่มเอา ไปจุ่มเอากับความรู้สึกตัวจริงๆ ไปจุ่มกับความหลง มาจุ่มกับความรู้สึกตัว ความหลงไม่ต้องไปหาจุ่ม เกิดขึ้นเอง มันนอนเนือง มันมีเป็นอนุสัย มันนอนเนืองอยู่ในสันดานของสัตว์โลก มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง อะไรต่าง ๆ แต่ถ้าเราไม่ฝึกมันก็เจริญไปทางนั้น มันเจริญไปทางนั้น วิธีที่เราฝึกหัดเราต้องมาจุ่มเอา กิริยาที่นั่งก็นั่งจริงๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาด นั่งสมาธิ กิริยาเราก็นั่ง กิริยาเดินเราก็เดิน กิริยานอนเราก็นอน กิริยายืนเราก็ยืน ยืนเดินนั่งนอนให้มีสติ ลองไปจุ่มลองดู ไปจุ่มกับอิริยาบถ เดี๋ยวนี้อาการต่าง ๆ ที่มันจะทำให้หลง มันเกิดขึ้นมาแล้วก็มันจุ่มมันก็รู้ความหลงนี้ เราก็เมื่อเวลาใดมันหลงเรารู้สึกตัว เอาการเคลื่อนไหวเข้าไปช่วยเป็นพลัง พลังทำให้ปลุกความรู้สึกตัวขึ้นมา เป็นแนวร่วมเป็นแรงร่วมทำให้เกิดพลังแห่งความรู้สึกตัวขึ้นมาแล้วมันก็รู้ได้ อ้าว! ความรู้สึกตัวมันก็ทำลายความหลงได้ อาจจะยังทำลายความโกรธไม่ได้ อาจจะยังทำลายความทุกข์ไม่ได้ มันยังน้อยอยู่ น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ แต่เราก็สร้างความรู้สึกตัว สร้างความรู้สึกตัว ไปจุ่มเอา ไปต่อเอา ไม่ใช่ไปคิดเอาเหตุเอาผล ใครจะเก่งขนาดไหนไม่เกี่ยวนะ จะจบมาขนาดไหนไม่เกี่ยวเหมือนจบ 17 ศาสตร์เหมือนพระสิทธัตถะก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ อันเรื่องนี้มันเก่งเพราะรู้สึกกลับมารู้สึกตัว มันหลงไปกลับมารู้สึกตัว ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้มันเก่ง มันเลยเกิดญาณ มันเป็นญาณนะความรู้สึกตัวนี้ หยั่งรู้เนี่ยเจริญญาณ
เหมือนที่เราสวดเมื่อกี้นี้ว่า “แต่ก่อนเราไม่มีญาณ” เป็นคำแสดง เป็นคำอุทานออกมาเป็นครั้งแรก พระพุทธเจ้าแสดงออกสถานะที่เป็นพระพุทธเจ้า เป็นอันแรกที่สุดว่า “แต่ก่อนนี้เราไม่มีญาณ เราได้แล่นท่องเที่ยวในสงสารเป็นอเนกชาติ” สงสารคืออะไร มันสุข มันทุกข์ มันรัก มันชัง มันโลภ มันโกรธ มันหลง มันวิตกกังวลเศร้าหมองอะไรต่าง ๆ เรื่องเก่าคิดอีก เรื่องเก่าคิดอีก คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล่นท่องเที่ยวไป กลางคืนก็ว่าฝัน กลางวันก็ว่าคิด บัดนี้เรามีญาณหยั่งรู้ รู้สึกตัว พอมันไปแล้วไม่ไปกับมัน ดูมัน เขาแสดงเราไม่ร่วมกับเขา รูปมันแสดงอยู่ตรงนี้ รูปนี้นั่งอยู่ตรงนี้ มันแสดงหลายบทหลายฉาก เราไม่แสดงกับเขา เราดูเขา เราดูมันก็จบ ถ้าเราไปแสดงจบไม่เป็นนะ เรื่องของกาย เรื่องของใจ เรื่องของรูป เรื่องของนาม เราปล่อยให้เขาแสดง ยิ่งเรามีแนวร่วมกับเขา จบไม่เป็นๆ เป็นภพเป็นชาติ มากชาติร้อยชาติพันภพ ถ้าปล่อยให้เขาแสดง เกิดจากกายเท่านี้แหละ เกิดจากใจเท่านี้แหละ บัดนี้เราจึงมาดู มาดู อย่าไปแสดงกับเขา มาดู การมาดูมันเป็นบทสรุปมันทำให้สั้น ทำให้เรื่องสั้นเหมือนกับเรามาดู มาสัมผัสดู การสัมผัสดูไม่มีคำถามหรอก มีแต่คำตอบเป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนตัว มันหลง รู้สึก มันรู้ รู้สึก มันต่างกันอย่างไร ความหลงเป็นอย่างไร ความรู้เป็นอย่างไร สำหรับผู้เจริญสติไม่มีคำถาม มันเป็นการจุ่มลงไป ภาษา ศาสนา
หลวงพ่อเคยไปดูศาสนาเปรียบเทียบที่ประเทศฟิลิปปินส์ เขาก็มาดูเรา หลวงพ่อก็มีเพื่อนเป็นบาทหลวงหลายๆ คน เคยไปสอนที่มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ เคยไปพูดที่นั่นด้วย แล้วเขานิมนต์ไปดูศาสนาเปรียบเทียบที่ประเทศฟิลิปปินส์ ไปดูศาสนิกของเขา ไปดูวิธีการสอน เขาไม่ต้องอธิบาย เราอยากเห็นงานของเขา ไปดูเอา ไปดูแบบไหน ศาสนิกของเขาเป็นคนมีฐานะชั้นดี คนฐานะชั้นต่ำ คนป่าก็มีนะ พวกแคระก็มีนะ ตัวเล็กๆ ไอ้เตี้ย เขาเรียกไอ้เตี้ย คนฐานะปานกลาง หลวงพ่อก็เลือกไปคนจนเพราะหลวงพ่อว่ามันมีชีวิตชีวา อยู่กับคนจนๆ มันรู้สึกว่ามันมีรสชาติดี ก็เลือกไปดูคนจน คนจนก็เป็นคนชั้นสลัม ก็ไปอยู่กับคนสลัม เขาก็เลือกให้ไปอยู่ ไปอยู่กับคนจน มีบ้านหลังหนึ่งเจ้าของบ้านเขาย้ายออกจากที่นั่นไป ก็มีผ้าห่มขาดๆ ปู เหม็นสาบด้วยนะ เขาให้เราไปพักที่นั่น เราก็ไปด้วยกัน 3 รูป เป็นพระผู้มีอายุด้วยกัน เลือกไป หลวงพ่อก็เลือกไปกับพระมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน มีหลวงพ่อนาน มีหลวงพ่อพระครูสุพัฒน์แถวยโสธร 3 รูป เขาก็ไปส่งให้ไปอยู่บ้าน ส่งแล้วเขาหนีเลย เขาไม่ต้องอธิบาย มาพักที่นี่ ตอนเช้าเขาถึงจะมา ไปดูที่นอน ผ้าห่มขาด ๆ เหม็นสาบเหม็นคาว ไปดูห้องน้ำฝาก็ขาดๆ นั่งก็มองเห็นอยู่ น้ำในกระป๋อง กระป๋องก็ปากแตกๆ มันเก็บมาจากสลัม ขยะ มันเก็บมาจากขยะ ในน้ำถ้าจะอาบก็อาบไม่พอ 3 คน ถ้าใช้ห้องน้ำถ้าใช้เลอะ ๆ เทอะ ๆ ก็ไม่พอ เราจะต้องใช้น้ำตรงนั้น แต่น้ำเรามีน้ำขวดเรามี น้ำดื่ม แต่ถ้าน้ำอาบน้ำใช้ห้องน้ำ ถ้าเราใช้แบบในประเทศไทยเราไม่พอ ขณะนั้นก็เหงื่อไหลไคลย้อย มีน้ำในห้องน้ำน้อยๆ ทุกคนก็ต้องไม่อาบน้ำเพราะว่าน้ำมันไม่มี หลวงพ่อก็ เอ้.. มันก็ไม่ไหวนะ ไม่อาบน้ำ เหงื่อออกเหนียว ไม่เคย หนาวขนาดไหนร้อนยังไงก็ต้องอาบน้ำ วันหนึ่งต้องอาบน้ำจนได้ พอเพื่อนนอนเราก็วางแผนอาบน้ำ ไม่บอกเพื่อน ไปขโมยอาบ ถ้าไปบอกเพื่อนเขาจะว่า โอ๊ย! น้ำจะอาบได้ยังไง น้ำนิดหน่อย เราก็วางแผน แก้วสแตนเลสที่มีหู เราจะลองดูสิว่าอาบน้ำ 5 แก้วมันจะอาบได้ไหม จะอาบได้ไหม? สักครั้งหนึ่งเถอะนะในชีวิตของเรานี้อาบน้ำ 5 แก้วลองดู อู๊ย! พอว่าตั้งใจอาบน้ำเปลี่ยนผ้าเราก็นั่งนุ่งผ้าอาบน้ำอย่างดี ทำสมาธิ ทำสมาธิดี ๆ มั่นใจว่าจะต้องอาบน้ำ 5 แก้วได้เรียบร้อยแน่นอน เราก็ตักน้ำด้วยความบรรจง เทรดหัว หยอดลงไป พอหยอดลงไปไม่ให้หมดนะ เอาวางไว้แล้วก็เอาสบู่ น้ำไหลไปตรงไหนเอามือพาน้ำไป ถูสบู่ไปด้วย แก้วเดียวถูสบู่ได้หมดทั้งตัวเลย น้ำแก้วเดียว ลูบไป ลูบไป ลูบไป ถูไป มีความสุขมาก น้ำ 5 แก้ว แก้วเดียวถูสบู่ทั่วเลย เฮ้อ! หายใจโล่งแล้วบัดนี้ น้ำแก้วเดียวเท่านี้ถูสบู่ได้แล้ว พอแก้วที่สองตักมาอีกค่อยรินลงไปถู วางแก้วน้ำเรื่อย ถูเรื่อยไป เรื่อยๆ บางทีก็เอาผ้าช่วยถู 4 แก้ว 5 แก้ว เสร็จเรียบร้อยเลย เรียบร้อยจริงๆ นะ ยังภูมิใจอยู่ทุกวันนี้เราอาบน้ำ 5 แก้ว ถึงคราวจนแสดงความจนความประหยัด นี่เรียกว่ายาปัก ภาษาเขาเรียกว่ายาปัก การไปจุ่มดู ไปจุ่มดูกับความขัด ความสน ความไม่พร้อม ที่นอนเป็นยังไงบ้าง ไปอาบน้ำ เพื่อนนอนแล้ว เรามาก็นอนแบบไหน เรี่ยราดไม่ได้มันสกปรก เอาผ้าอาบน้ำปู เอาฝาบาตรวางลงบนหัว เอาสังฆาฏิพับบนฝาบาตร พับผ้าจีวรพอดีกับตัว จะนอนอยู่ในผ้าตัวเอง ไม่กว้างใหญ่นัก ยาวเท่ากับสองแผ่นกระดาน ตะแคง นอนบรรจงเอาผ้าห่มพอดี จะไม่กระดุกกระดิก ถ้ากระดุกกระดิกมันจะไปติดกับผ้าเขา เราอาบน้ำแล้วนะ ผ้าพรมเขามันสกปรก กลัวว่ามันจะไปติดตรงนั้น ผ้าเราก็ต้องไม่ให้ไปเปื้อนตรงนั้นด้วย พยายามนอนแบบบรรจง นอนแบบบรรจง โอ้ย... ชื่นใจ เราก็เคยฝึกสติใช่ไหม เราก็รู้สึก ขณะที่นอนรู้สึกตัว รู้สึกตัว นอนหลับ พอหลับแล้วก็ตื่นขึ้นเราก็ดูแลตัวเอง เออเรียบร้อย ก็ลุกเลย ไปอยู่กับความยากความจน ไปอยู่กับความขัดความสน เราไม่โวยวาย มันจะลึกซึ้ง เราได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยได้ทำ เพราะฉะนั้นนี่ ยาปักคือไปจุ่มเอา
เขาก็พาไปดูคนปานกลาง คนที่ฐานะดี ไปฉันที่นู้น รีสอร์ทใกล้ๆติดกับมหาสมุทรอินเดีย ริมฝั่งทะเลเรานั่งทานอาหาร คลื่นยักษ์มันตีเข้ามามันเป็นฝอยใส่พวกเรา เอออย่างนั้นก็มี ลองไปจุ่ม ลองดู เราหลงไหม เวลาเราสนุกสนาน อาหารการกินเราหลงไหม เวลาเราไปอยู่กับความยากลำบากเราหลงไหม ยาปัก ลองสัมผัสดู เราไม่มีคำถาม ไปอยู่กับคนฐานะแบบไหนเราไม่มีคำถาม อันนี้ก็เหมือนกัน เรามาปฏิบัติเรามาจุ่มลองดู อย่าไปคิดหาคำถาม มันมีอยู่แล้ว ตัวเรานี้เป็นโจทย์เป็นจำเลยอยู่แล้ว มันจะแสดงๆ แสดงบททุกข์ บทขี้เกียจขี้คร้าน ง่วงเหงาหาวนอน แสดงแบบฟุ้งซ่าน คิดมาก ฟุ้งไปเลยเหมือนไก่เขี่ยไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอัน เราจะดูมัน รู้สึกตัวนี้ เรามีแล้ว เรามีรูปแบบ กลับมาสิ กลับมารู้สึกตัว ต้องตั้งไว้นะตัวนี้นะ เหมือนเรามีตาลืมไว้ อย่าไปหลับ สติเหมือนตาภายในเราตั้งเอาไว้ รู้สึกตัวอยู่ อะไรผ่านมาเราก็รู้หรอก ถ้าเราไม่มีตา ไม่ตั้งไว้ ไม่ลืมไว้ มันก็ไม่รู้ ไม่เห็นนะ มันจะไม่เห็น มันจะเกิดการพบเห็นนะการเจริญสตินี้ ไม่ใช่คิดเห็นนะ การคิดเห็นมันปลอม ไม่ใช่เรื่องจริงหรอก แต่การพบเห็นมันเป็นเรื่องจริง เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่มันแสดงออกมาทางกายทางรูปทางจิตทางใจของเรา ว่าแต่เราให้ดูอย่าเข้าไปร่วมกับเขา ถ้ามันสุขก็เห็นมันสุข ถ้ามันทุกข์ก็เห็นมันทุกข์ อย่าไปร่วมว่าเป็นผู้สุขเป็นผู้ทุกข์ ถ้าไปเป็นผู้สุขผู้ทุกข์ไม่รู้นะ ไม่เป็นพุทธะนะ เป็นธรรมดานะ ถ้ามันสุขก็สุขไป ถ้ามันทุกข์ก็ทุกข์ “เป็นยังไงวันนี้” “โอ๊ย! เครียดหลวงพ่อ ไม่สบาย เครียด ง่วง” ไม่ใช่ศึกษาแต่ไปแสดงกับเขา ไม่จบด้วยนะถ้าไปแสดงแบบนั้น จบไม่เป็น นี่เราจะมาดูเขา การที่เรามาดูถ้าเขาแสดงเรื่องของรูปเรื่องของกายเรื่องของนาม ที่มันแสดงนี้มันจบเป็น มันจบได้ มันไม่มีรสชาติอะไรหรอกถ้าเราไปเห็นแล้ว ยิ่งเป็นปัญญา เหมือนเราดูนักแสดงดูหนังดูละคร ถ้าเราดูจริงๆ เขาแสดงนี้มันจืดนะ ดูเขาแสดงหนังดูเขาแสดงละครนะ หลวงพ่อเคยดูทีวีเวลาเขาแสดง โอ๊ย! มันไม่มีค่าอะไรเลย แสดงบทรัก แสดงบทหัวเราะ ร้องไห้ โอ๊ย! เขาแสดง ไม่มีค่าสำหรับเราเลย แต่ถ้าเราไปร่วมกับเขาก็มีค่า เขาหัวเราะก็หัวเราะกับเขา เขาร้องไห้ก็ร้องไห้กับเขา บทโศกบทอะไรก็อยากเป็นพระเอกกับเขา ร่วมกับเขา อันนั้นไม่มีรสชาติ รสจริง ๆ มันต้องจืดนะ มันต้องจืดไม่มีอะไร รสจริง ๆ นะมีรสเดียว เหมือนเวลานี้หลวงพ่อไปตรวจโรงพยาบาล หมอเขาบอกว่าอาหารที่ดีสำหรับหลวงพ่อคืออาหารรสจืดๆ อาหารรสจืดเป็นอาหารที่ดี ใครก็ตามนะ อย่าให้มันรสจัดเกินไป ให้รสจืดๆ จะดีมาก
ชีวิตของเรานี้มันต้องจบ มันต้องจบจริงๆ จะให้มันดึงเราไปตะพึดตะพือไม่ได้ มันสุขก็สุขไป มันทุกข์ก็ทุกข์ไป มันหลงก็หลงไป มันโกรธก็โกรธไป มันรักก็รักไป มันชังก็ชังไป มันรสของโลก โลกนะนั่นนะ เป็นโลกนั่นนะ โลกนั้นมันไม่จบไม่สิ้น มันเป็นโลก มาเห็นมันๆ ในความหลงมันก็มีความไม่หลง ในความรักมันก็มีความไม่รัก ในชีวิตของเรานะมันมีได้อย่างน้อยต้อง 3 แบบ สุข อ้าว! มีจริงๆ ทุกข์ อ้าว! มีจริงๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็มี แต่เขาจะแสดงบทสุข เขาจะแสดงบททุกข์ เขาจะแสดงบทไม่สุขไม่ทุกข์ก็มีเหมือนกัน นี่เราก็ต้องดูมัน เราก็ต้องเห็น ทั้ง 2-3 บท เราก็เบื่อแล้ว รู้แล้ว มีสติต้องเฉลยได้แล้ว ถ้าไม่มีสติเฉลยไม่ได้ ถ้าสุขก็สุขอยู่นั่นแหละ ทุกข์ก็ทุกข์อยู่นั่น หลงก็หลงอยู่นั่น โกรธก็โกรธอยู่นั่น รักก็อยู่อย่างนั่น ชังก็อยู่อย่างนั่น อิจฉาพยาบาทก็อยู่อย่างนั่น นี่เรามาดู มาดูมัน มีความรู้สึกก็เรารีบกลับมานะ ถ้ามันอาจจะมีทุกข์ก็รีบกลับมาสร้างสติไว้ก่อน เอาทิ้งไว้ก่อน ความสุขเอาทิ้งไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปเฉลยมันก็ได้ ไปก่อน ถ้าไปแล้วมันค่อยมาดูทีหลังก็มีเหมือนกัน แจ้งทีหลัง มันแจ้งทีหลัง มันเฉลยทีหลัง ทำไปก่อน เหมือนเราทำงานอะไรทำง่ายก็ทำไปก่อน เราไปสอบนักธรรม ข้อเขียน 10 กว่าข้อ เราก็อ่านดูทั้ง 10 ข้อ ดูโจทย์ปัญหาที่เขาออกมา ปัญหาบางข้ออ่านไป อ่านไป บางข้อไม่รู้ บางข้อก็ตอบได้แล้ว อ่านไปตอบไป อ่านไปตอบไป บางข้อ ข้อ 1 อาจจะอยู่ต้น ๆ เรายังตอบไม่ได้ เราจะไปเขียนข้อ 1 จะไปคิดหามาตอบมันก็ไม่มี มันก็ยังตอบไม่ได้ ก็กะดูว่าเขาถามมีกี่ส่วนๆ เราก็ย่อบรรทัด แล้วก็เขียนข้อ 2 ถ้าตอบข้อ 2 ได้ เขียนข้อ 2 เขียนข้อ 3 เอ้า.. ข้อ 4 ยังตอบไม่ได้ เราก็ดูคำนวณมันจะเขียนกี่บรรทัดก็ตอบข้อ 5 ไป ตอบไปๆ เอ้า... พอตอบทั้งหมดไปแล้วมันมีปัญญา เพราะว่าการตอบการเฉลยไปมันสร้างปัญญา ก็ง่ายเลยมาตอบ ง่ายเลย โจทย์ต่าง ๆ ปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่ให้เราแก้ การปฏิบัติ ผ่านไปก่อน วิธีปฏิบัติต้องผ่านไปก่อน มารู้สึกตัวไปก่อน เข้าข้างความรู้สึกตัวเสียก่อน เข้าข้างความรู้สึกตัวเสียก่อน กลับมาเสียก่อน กลับมาเสียก่อน อย่าเพิ่งไป อย่าเพิ่งไปหาเหตุหาผล อย่าไปว่าทำไมมันจึงหลง ไม่น่าจะหลง ทำไมจึงทำอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ ฉันชอบอย่างนั้น ฉันไม่ชอบอย่างนี้ เอาทิ้งเลย ผู้ปฏิบัติ เอาทิ้งไว้ก่อน กลับมาสร้าง มาทำกรรม กรรมฐาน มาประกอบกรรม มาทำอย่างนี้ๆ มาสร้างสติอย่างนี้ มารู้อย่างนี้ มารู้อย่างนี้ มันคิดไปก็กลับมารู้สึกตัว มันทุกข์ก็กลับมารู้สึกตัว มันหลงก็กลับมารู้สึกตัว มันง่วงเหงาหาวนอนก็กลับมารู้สึกตัว มันปวดมันเมื่อยก็กลับมารู้สึกตัว อะไรก็ตามความรู้สึกตัวใช้ได้ แม้เราจะนอนก็รู้สึกตัว ไม่ใช่ให้ความขี้เกียจพานอน ไม่ใช่ให้ความปวดเมื่อยพาหยุด ให้ความขยันพาทำ เราจะพักของเราโดยความรู้สึกตัว เราจะทำงานของเราด้วยความรู้สึกตัว
เราก็มีปัญญามีอุบายที่จะทำความรู้สึกตัวหลายรูปแบบ แต่รูปแบบบางอย่างมันก็สู้ไม่ได้ เช่นเรานั่งยกมือสร้างจังหวะ เวลามันง่วงจะไปนั่งยกมือสร้างจังหวะมันก็อาจจะสู้ความง่วงไม่ได้ เราก็ลุกขึ้นเดินจงกรม ทิ้งมันไว้ก่อน ไม่ได้ไปสู้มัน แต่ว่าเราเปลี่ยนท่าของเรา เปลี่ยนมุมเหมือนนักถ่ายภาพ ถ้ามุมนี้มันไม่ค่อยเห็นชัดก็ต้องไปมุมใหม่ เอามุมใหม่มองให้มันเห็นชัด มันจะได้ภาพสวยงาม การเจริญสติก็เหมือนกัน ในฉากบางฉากมันไม่เห็น มันมีอะไรมาปิดกั้นเอาไว้ก็ต้องออกไปทางอื่นแล้วค่อยกลับมา อาจจะยืนบ้าง เดินบ้าง นั่งบ้าง อะไรต่างๆ แต่ว่านอนถ้าฝึกใหม่ๆ ไม่อยากให้นอน พอนอนไปไม่นานก็หลับ อิริยาบถนอนอย่าไปใช้มัน ให้ใช้อิริยาบถนั่งสร้างจังหวะ กับอิริยาบถเดิน 2 อิริยาบถนี้จะพาเราบรรลุธรรมได้ อิริยาบถนอนนี้ไม่ได้บรรลุธรรมหรอก ไม่มีเลย พระอรหันต์ขีณาสพที่เป็นเอตทัคคะดังๆ ไม่มี แม้แต่พระอานนท์ก็ไม่ใช่อิริยาบถนั่งไม่ใช่อิริยาบถนอน ตอนพระอานนท์บรรลุธรรมใกล้จะสว่างแสงเงินแสงทองขึ้น เวลานั้นกำลังเร่งเต็มที เร่งความเพียรจะเอาให้ได้บรรลุธรรม จนสว่างพอเห็นแสงเงินแสงทอง โอ้! วางใจ เราทำความเพียรมาตั้งแต่ย่ำค่ำจนแสงเงินแสงทองขึ้นยังไม่ได้รู้อะไร โอ้! วางใจ เออ! เราเอนตัวสักหน่อย พักผ่อนสักหน่อย พอเอนตัวลงว่าจะนอนหัวยังไม่ถึงหมอนเลย ได้ เกิดปัญญาขึ้นมา รู้แจ้ง ไม่ใช่อิริยาบถนอน นั่งนี่ก็ทำให้เกิดตบะ เกิดความเข้มแข็ง เดินก็เกิดตบะ สมาธิการอยู่ในขั้นเดินนี้มันมั่นคงนะ ก้าวไปรู้สึก ก้าวไปรู้สึก มันต้องเดิน มันต้องก้าวไป ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวดีจะเดินอยู่ในเส้นทางเดินจงกรมจะเถลไถล ลองลำดับการเดินกลับไปกลับมา ทางเดินก็อย่าให้มันกว้าง เถลไถลกันไป ฉับ ฉับ ฉับ บางทีเราต้องประคอง คนมีอายุก็ต้องประคองจังหวะพอดี คนหนุ่มก็ต้องประคองจังหวะพอดี อย่าประมาท เดินจริง ๆ รู้สึกกลับไปกลับมา อย่าให้เกิน 11 วา อย่าให้เกิน 11 ก้าว ก้าวคี่มันจะกลับซ้ายทีกลับขวาที ถ้าก้าวคู่มันจะกลับทางเดียว มันจะเหมือนวิ่งเปรี้ยว วิ่งอะไร ทุกวันนี้มีไหมคุณครู วิ่งเปรี้ยวใช่ไหม เอาผ้าไล่ตีกันใช่ไหม วิ่งอ้อมกัน คนหนึ่งเป็นหลักทางนั้น อีกคนหนึ่งเป็นหลักทางนี้ ก็วิ่งเอาผ้าไล่ตีกัน ถ้าวิ่งไล่ตีกันได้แสดงว่าชนะขาดแล้ว วิ่งไปทางเดียว มันจะวิงเวียนๆ ถ้าเดินจงกรมก็เหมือนกัน ต้องกลับก้าวคี่ คี่มันจะกลับซ้ายที มาทางนี้มันจะกลับขวาที มาทางนั้นมันจะกลับซ้ายที มาทางนี้มันจะกลับขวาที แม้ทางแคบๆ ห้องนอนห้องบ้านแค่นี้ก็กลับซ้ายทีกลับขวาที ประมาณ 5 ก้าว 7 ก้าว มันไม่วิงเวียน พอให้เดินได้ ตั้งใจเดินกลับไปกลับมา อย่าให้มีกำหนดนะการเดินนี้ ไม่ใช่เดินอ้อมวัด จะเดินอ้อมวัดก็ได้แต่ว่าเดินสาธิต ถ้าเดินอยู่คนเดียวต้องเดินกลับไปกลับมา กำหนดกลับไปกลับมา เดิน ก้าวแต่ละก้าวต้องรู้ทุกก้าว รู้ทุกก้าว ไม่ต้องบริกรรมนะ ไม่ต้องบริกรรมว่า ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ไม่ต้อง แม้แต่เพ่งก็ไม่ต้องเพ่ง เดินให้รู้ธรรมดา ความรู้สึกตัวมันจะแบบนี้ มันรู้เป็นครั้งแบบนี้นะ ไม่ใช่รู้แบบยาวเหมือนเส้น เหล็กเส้น อันแบบเหล็กเส้นมันจะเป็นสมถะ มันจะสงบ ไม่รู้อะไร อย่างนั้นทำง่ายๆ บังคับเข้าไป ซ้ายย่างหนอเข้าไป ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ เหยียบหนอ กดหนอ ยกส้นหนอ บังคับเข้าไป มันจะสงบแบบนั้นเป็นสมถะกรรมฐาน มีมาก่อนพระพุทธเจ้าหลายๆ ปี
แต่วิปัสสนานี้ วิปัสสนาญาณหยั่งรู้ที่เราทำอยู่นี้ ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัว มันรู้แบบนี้ รู้แบบนี้ รู้เป็นครั้ง รู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว รู้เรื่อยไป รู้เรื่อยไป มหารู้นะ สร้าง 14 จังหวะ อ้าวรอบหนึ่งได้ 14 รู้ รอบหนึ่งได้ 14 รู้ อ้าววินาทีหนึ่ง รู้หนึ่ง วินาทีหนึ่ง รู้หนึ่ง ก้าวหนึ่งก็วินาที ก้าวหนึ่งก็วินาที ช้าก็ไม่เกินนั้น ไวก็ไม่เกินนั้น มันจะมากรู้ มากรู้ มากรู้ เป็นมหารู้ขึ้นมา ตราบใดที่มันเกิดมหารู้ขึ้นมามันก็เกิดธรรมชาติเกิดกฎของธรรมชาติ ธรรมชาติมันสร้างฐานะของมัน ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าธรรมชาติในชีวิตของเรานี้ คนที่อยู่กับความรู้สึกตัวนาน ๆ มันก็จะเห็นความหลง ความหลงก็น้อยลง มันเป็นธรรมดา ความรู้มีมากความหลงก็น้อยลง ถ้ารู้มากๆ อาจจะหมดไปเลยความหลงนี้จะทำอย่างไร เราไม่ต้องไปไล่ความหลง อย่าไปโกรธความหลง อย่าไปเกลียดความหลง อย่าไปเกลียดความทุกข์ อย่าไปเกลียดความสุข อย่าอยากไปทำลายความโลภความโกรธความหลง ไม่ต้อง อย่าไปอธิบายเรื่องนั้นมาสร้างความรู้สึกตัว เหมือนเราจะโกรธความมืด ไม่ใช่ การที่จะให้ความมืดหมดไปคือจุดแสงสว่างขึ้นมามันก็เท่านั้นเอง ชีวิตของเรานี้มันมีความโลภความโกรธความหลงเป็นอกุศลมูล เป็นรากเหง้าของอกุศลมูล มันเป็นบาป เรากลัวบาป ไม่ต้องกลัว มันอยู่กับมือเรานี่แล้ว เราจะปิดมันไว้ไม่ให้มันเกิด เราจะอยู่กับมือเรา สร้างความรู้สึกตัว สร้างความรู้สึกตัว สร้างความรู้สึกตัวๆๆ ให้มันมีให้มันมาก เอามาประกอบอะไรก็ตามให้ความรู้สึกตัวออกหน้าออกตา แม้บางทีมันหลงออกหน้าก็ให้มันมาทีหลัง เช่นเรานั่งอยู่ มันคิดจะลุก ความคิดมันหลง ไม่ได้คิดจะลุก ไม่ได้ตั้งใจ ความหลงที่ไม่ได้ตั้งใจหลง ความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิด แม้มันคิดก่อนก็อย่าเพิ่งทำตามมัน ก็รู้เสียก่อน ถ้ามันคิดจะลุก เออ! เรารู้สึกตัว มันขอลุก เรารู้สึกตัวๆ เราจะลุกของเราเอง มีสติลุกขึ้นไป เราจะเดินของเรา เดินอยู่มันคิดจะนั่ง แม้มันคิดจะนั่ง เราก็ไม่ทำตามความคิดเสมอไป เรานั่งแบบความรู้สึกตัวของเรา เข้าข้างความรู้สึกตัว ให้ความรู้สึกตัวนำพา อย่าให้ความคิดนำ ให้ความรู้สึกตัวนำ อันนี้ก็ไม่ต้องอธิบาย
อ้าว! หลวงพ่อพูดยากอีกแล้ว ความคิดนำ ความรู้สึกตัวนำ มันเป็นอย่างไรหนอ ไปหาอีก ก็ไม่ถูกนะ ว่าแต่ความรู้สึกตัวก็ใช้ได้แล้ว ความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจมันจะต้องเห็น ความคิดที่ตั้งใจมันก็ต้องมี ตั้งใจคิดก็มี ไม่ได้ตั้งใจคิดก็มี มันเกิดขึ้นมาเองก็มี นี่ก็รู้สึกตัวเสีย รู้สึกตัว อย่าไปหาคำตอบ ทำใหม่ๆ อย่าไปตอบอะไร ก้มหน้าก้มตาบุกเบิกไปก่อน กรรมฐาน ให้กรรมมันจำแนกไป การกระทำมันจะจำแนกไปไม่ต้องไปใช้สมอง ไม่ต้องไปใช้เหตุใช้ผล ไม่ต้องไปใช้ความคิดเหตุผลอันใด เอากรรม เนี่ยรู้สึกตัว เอาทำลงไป ทำลงไป หายใจเข้าหายใจออก กระดิกนิ้วมือก็ได้ ความรู้สึกตัวหยาบ ๆ ละเอียด ปานกลาง หายใจเข้าหายใจออกละเอียด อ้าว! ยกมือสร้างจังหวะ ก็หยาบสักหน่อย อ้าว! เดินจงกรม คนอื่นเห็นได้ ความหลงมันละเอียดก็มี ความหลงมันหยาบก็มี ความรู้สึกตัวมันหยาบ ความรู้สึกตัวมันละเอียด บางทีการหายใจเข้าเฉย ๆ หรือนั่งอยู่เฉย ๆ มันก็รู้ได้บางที ความรู้สึกตัวถ้ามันมีแล้วถ้ามันเป็นแล้ว ไม่ได้สร้างนะ มันเป็นของมันแล้ว มันเป็นอัตโนมัติของมันแล้ว ความรู้สึกตัวมันมีอยู่แล้ว เมื่อไม่มีความหลงมันก็มีความรู้สึกตัว ความหลงอาจจะหมดไปจริง ๆ มันมีตัวหลงเป็นตัวโผ เอาจริง ๆ มีตัวรู้กับมีตัวหลงนะชีวิตของเรานี้ ตัวหลงไม่ได้ไปทำอะไรหรอก มีแต่ตัวรู้เท่านั้นๆ เหตุที่มันโกรธก็เพราะมันหลง เหตุที่มันทุกข์ก็เพราะมันหลง เหตุที่มันวิตกกังวลเศร้าหมองก็เพราะมันหลง ถ้าไม่มีตัวหลงตัวเดียวนี้มันก็คู่กับความรู้สึกตัวอยู่แล้ว ไม่เหลือวิสัยของเรา ไม่เหลือวิสัยจริงๆ ปฏิบัติได้จริงๆ ให้ผลได้จริงๆ ความรู้เราก็สร้างได้จริง ๆ นะ พูดให้ฟังแล้วก็ไปประกอบไปทำ มันหลงมันก็จะเห็นความหลงก็จะได้รู้ขึ้นมาขณะที่มันหลง นั่นแหละเราปฏิบัติแล้ว มันสุขมันทุกข์อะไรก็ตามเราก็จะได้รู้สึกตัวขึ้นมาขณะที่มันสุขมันทุกข์ เห็นมันสุขเห็นมันทุกข์นะ เห็นมันหลง เห็นมันปวด เห็นมันเมื่อย เห็นมันเบื่อ เห็นอะไรต่าง ๆ ให้รู้สึกตัว ให้รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวจะเกิดภาวะการเห็น อย่างที่เราเอามือวางไว้บนเข่าเรานี้ มันจะเป็นการเห็นนะ เดี๋ยวนี้มือเราอยู่ตรงไหน ตัวรู้มันคือการเห็น เห็นมือวางอยู่บนเข่า มันเห็นด้วยดวงตาภายใน ตะแคงมือข้างขวาตั้งไว้ รู้ไหม มันรู้เห็น มันรู้เห็น มันพบเห็น ไม่ใช่คิดเห็นนะ ยกขึ้น รู้ไหม มือข้างขวาทำอย่างไรอยู่ ไม่ใช่วางอยู่บนเข่าหรือ นี่มันพบเห็น เอาวางลง วางลงตั้งไว้บนเข่า วางลงหรือยัง ไม่ใช่ยกอยู่หรือ หลวงพ่อว่ามือข้างขวายกอยู่เชื่อไหม ไม่เชื่อ ทำไมไม่เชื่อ เพราะมันพบเห็นมันรู้เห็น ตอบเอาเอง ตอบเอาเองอย่างนี้เรียกว่ามันพบเห็น ความรู้สึกตัวมันพบเห็น มีคำถามไหม เอามือวางไว้บนเข่า มือเราอยู่ตรงไหน ถามใครไหมว่ามือเราอยู่ตรงไหน ใครเป็นคนรู้ ต้องถามหลวงพ่อไหม หลวงพ่อมือของหนูอยู่ตรงไหน ถามไหม ไม่มีคำถาม ความรู้สึกตัว นี่คือความรู้ตัว รู้สึกตัว จริงไหมเรื่องนี้ จริงไหม เอาของจริงมาสอน เอาของจริงมาปฏิบัติ มันไม่มีคำถาม มันรู้เอาเอง ความหลงก็รู้เอาเอง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ก็เปลี่ยนได้เอง ถ้ามันหลงไปเรารู้สึกตัว ความหลงหมดไปหรือยังหลวงพ่อ ไม่ต้องมีคำถาม เราก็ตอบเอาเองอยู่แล้วเมื่อรู้สึกตัว เมื่อรู้สึกตัวนะ