แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เพื่อให้เป็นส่วนประกอบกับการศึกษาปฏิบัติ เราก็ได้ทำวัตร ได้สาธยายธรรม ซึ่งเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นการมองกลับมาหาตัวเอง เช่น เราสวดบรรพชิต บรรพชิต คือผู้เห็นภัย ไม่ใช่เพศ ตัวสติ ตัวปัญญาที่เข้าไปเห็นภัย เห็นภัยในวัฏสงสาร มองตน การมองตนเนี่ย เป็นการตรวจสอบ ไม่ว่าอะไรถ้าเรามอง ถ้าเราเห็น ก็เห็นตามความเป็นเท็จเป็นจริง ภาวะที่เห็นนี่เห็นทั้งของจริง เห็นทั้งของเท็จ เห็นทั้งความไม่เที่ยง เห็นทั้งความเป็นทุกข์ เห็นทั้งความไม่ใช่ตัวตน แล้วมันก็มีอยู่ในตัวเรานี่แหละ เราจึงมาดูโดยเฉพาะภาคปฏิบัติ เป็นภาคที่มองตน เป็นภาคที่ลงมือทำ เสมือนกับเราเดินทาง
การเดินทาง เราก็พูดง่าย ๆ ว่า การเดินทาง แต่ว่าการเดินทางมันมีอะไรอยู่ในการเดินทางมีมากมาย ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ความร้อน ความเบื่อ ความทุกข์อะไรต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่เดินทาง แต่ว่าเขาก็ผ่านไปจนได้ ความเมื่อย ความล้า ความร้อน ความทุกข์อะไรต่าง ๆ เขาก็ผ่านมันไป จนไปถึงจุดหมายปลายทาง ผู้ที่เดินทางก็จะต้องเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ผู้มีสติมาดูแลตัวเรา ก็จะต้องเกิดการเห็น สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ เขาจะแสดงให้เราเห็นหมดเปลือก หมดเปลือกหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เรื่องของกายเรื่องของจิต เราก็เห็น ทำหน้าที่เป็นผู้ดู เป็นผู้เห็น แต่ว่าขอให้เป็นนักปฏิบัติ เป็นผู้ที่ดู ผู้ที่เห็น อย่าเข้าไปเป็นกับสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ ทำหน้าที่ดู หน้าที่เห็นแล้วก็ประกอบสติไปเรื่อย ๆ อย่าหยุด อย่ายั้ง ภาวะที่เห็น ภาวะที่ดู ภาวะที่เป็นสติ มันจะเป็นพลัง ทำให้เกิดการเห็นการดูชัดขึ้น ชัดขึ้น ถ้าพลังของสติไม่พอ มันจะเข้าไปเป็น เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นเบื่อ เป็นอะไรหลายอย่าง เพราะกำลังสติมันไม่พอ เหมือนกับน้ำที่มันไหลน้อย ๆ มันไม่สามารถที่จะพัดพาเอาสิ่งโสโครกไป หรือมันตกลงมาใส่ถนนน้ำน้อยๆ ฝนน้อยๆ ก็ทำให้เลอะเทอะไป มันไม่เพียงพอ ถ้าตกมาก ๆ หน่อย มันก็ ถนนก็สะอาด ไม่ลื่น ไม่แฉะ
การปฏิบัติธรรมนี่ก็เหมือนกัน พลังของความรู้สึกตัว เรียกว่า “ญาณ” สติปัญญาญาณ วิปัสสนาญาณ มันทะลุทะลวง อะไรที่มันเกิดขึ้น มันทะลุทะลวง เป็นเรื่องของความรู้สึกตัว ความคิดก็เป็นเรื่องของความรู้สึกตัว ความทุกข์ก็เป็นเรื่องของความรู้สึกตัว ความเบื่อ ความเซ็ง ความปวด ความเมื่อยอะไรต่าง ๆ เป็นเรื่องของความรู้สึกตัว เพราะพลังแห่งความรู้สึกตัว มันไม่เป็นอื่นได้ ถ้าหากว่าพลังความรู้สึกตัวมีน้อย ๆ ถ้าสุขก็เป็นสุข ถ้าทุกข์ก็เป็นทุกข์ ถ้าเบื่อก็เป็นเบื่อ ถ้าปวดก็เป็นปวด ถ้าหิวก็เป็นหิว ถ้าร้อนก็เป็นร้อน พลังมันไม่พอ เพราะนั้นก็เข้าข้าง ๆ ความรู้สึกตัว แต่ว่ามันอาจจะมี มันอาจจะเกิดขึ้น ขณะที่มันเห็น มันเป็นอะไรไปต่าง ๆ ถ้าเข้าไปดูไปเห็น ก็แสดงว่าเสริมพลังให้ พลังอาจจะได้จากภาวะที่ประสบการณ์ เป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ เหมือนกับเราเดิน เวลาเราตกหลุมตกบ่อ ประสบการณ์ของเท้าของขา มันก็มีการปรับตัวของมัน การปรับตัว มันสะดุดตอ ก็เป็นการปรับตัวของมัน เวลามันลื่นก็เป็นการปรับตัวของเท้า ของส่วนต่าง ๆ ทำให้ไม่หกไม่ล้ม
การปฏิบัติธรรม การเจริญสตินี่ ก็เหมือนๆ กันนั่นแหละ มันจะปรับตัวอยู่เรื่อย ๆ ความรู้สึกตัวน่ะ ขอให้มันเป็นเจริญสติล้วน ๆ ให้มีความรู้สึกตัวไปกับอาการ ธรรมชาติต่างๆ ที่มันจะผ่านหน้าผ่านตาของเรา เหมือนตาของเรา เห็นหนาม เราไปเห็นหนามมันก็ไม่เหยียบหนาม เราเห็นตอเราก็ไม่เหยียบตอ เราเห็นหลุมเห็นบ่อ เราก็ไม่ตกหลุมตกบ่อ อาจจะไม่ต้องมีใครมาบอก ถ้าได้เห็นแล้ว ตาเป็นอย่างนั้น งูก็เป็นงู เห็นท่อนไม้ก็เป็นท่อนไม้ ที่เห็นด้วยตา ก็ไม่มีคำถาม
การปฏิบัติธรรมนี่ก็เหมือนกันนั่นแหละ เห็นกาย เราก็ทำให้เกิดการเห็นจริง ๆ การเจริญสติที่เราทำนี่ เป็นการสร้างให้เกิดความเห็น สร้างให้เกิดภาวะที่ดูที่เห็น ถ้าเป็นสายตา ดวงตา ตาเนื้อ ก็มองไปตรง ๆ มันจึงจะเห็น ไม่ใช่มองไปข้างหนึ่ง จะเห็นข้างหนึ่งมันก็ไม่ใช่ สตินี่มันมองกาย มันก็เห็นกาย แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดกับกายนี่ มันก็มีอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ว่าอย่าหลงตรงที่มันเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราดูกาย ก็ให้เห็นเป็นกายเรื่อยไป กำหนดรู้เรื่อยไป กำหนดรู้เรื่อยไป เอากายเป็นนิมิต เอากายเป็นที่อาศัยไปก่อน แม้จะเป็นเรื่องใด เรื่องใดที่มันเกิดขึ้น เราก็เพียรพยายามที่จะรู้สึกตัวเรื่องกายไปก่อน ในรูปแบบอิริยาบถต่าง ๆ บรรพต่าง ๆ ติดขึ้นมา ประกอบขึ้นมาให้เกิดความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวมันอาจจะได้เวลาที่มันหลง ความรู้สึกตัวอาจจะได้ในเวลาที่มันทุกข์ ความรู้สึกตัวมันอาจจะเกิดได้ในเวลามันเบื่อ มันหน่าย มันเครียด อะไรต่าง ๆ ความรู้สึกตัวมันได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำให้หลง สิ่งที่ทำให้ทุกข์ มันก็จะมีคุณภาพ มีคุณภาพตรงนั้นด้วย อย่าปฏิเสธ ไม่ต้องด่วนรับ ไม่ต้องด่วนปฏิเสธ ความรู้สึกตัวน่ะมันมาเหนือ ๆ เหมือนกับพูดวันก่อน มันมาเหนือเมฆ ถ้าจะเป็นการเจ็บก็อยู่บนความเจ็บ ขี่คอความเจ็บ ถ้าจะเป็นความปวดความเมื่อยก็ขี่คอความปวดความเมื่อย ถ้าจะเป็นความทุกข์ก็ขี่คออยู่บนความทุกข์ ไม่ให้ความทุกข์อยู่สูงกว่าเรา เรามีชัยภูมิที่ดี ก็มีสติเป็นชัยภูมิที่ดี ถ้าเป็นนักรบก็ได้ชัยภูมิที่ดี ก็มีโอกาสชนะได้ทุกกรณี ถ้ามีความรู้สึกตัว
เราจึงตั้งหลักตรงนี้ไว้ให้ดี ๆ ก่อน เอาละ เราจะรู้สึกตัวอย่างนี้ รู้สึกตัว กายเคลื่อนไหวไปมา กำหนดรู้ มันก็ไม่เป็นอื่น มันก็รู้จริง ๆ รู้ กิริยาที่รู้มันก็มีจริง ๆ ตามรูปแบบสัมปชัญญบรรพ กายบรรพ ตามหลักของสติปัฏฐาน ตามหลักที่หลวงปู่เทียนมาสอนในปัจจุบัน ในโอกาสนี้ มันก็พอดี ๆ ไม่ต้องไปสร้างเพิ่ม ไม่ต้องไปตัดออก ก็ดูเรื่องนี้ ได้ทำเรื่องนี้ มันก็พอดี ๆ แล้ว 14 จังหวะ พอดี ๆ สำหรับฝึกใหม่ ๆ เหมือนกับเราเดิน ถ้าจะฝึกให้เดิน ให้วิ่ง ให้นั่ง ให้นอน ก็ต้องนั่งให้พอดี นั่งพับเพียบต้องนั่งแบบนี้ นั่งขัดสมาธิก็ต้องนั่งแบบนี้ นั่งคุกเข่าก็ต้องนั่งแบบนี้ มันพอดีแล้ว แต่ว่าการเกิดขณะนั้น ถ้านั่งพับเพียบ นั่งไป ๆ มันก็ปรับตัวของมัน แต่ก่อนนั่งใหม่ ๆ อาจจะเอนไป หลังงอ ๆ เอวคด ๆ ไม่ตรง เอวคด ๆ งอ ๆ ไป แต่ถ้านั่งไป นั่งไป ๆ มันก็ตรงได้ ระหว่างขา ระหว่างต้นขา มันไม่ตึง มันพอดี มันฝึกได้ การที่มีสติไปรู้สึกตัวเนี่ย มันได้พอดี ๆ ไม่มีอะไรที่จะชอบธรรมไปเท่ากับความรู้สึกตัว ความหลงเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับเรานั่ง เราแกล้งที่จะเอนไปข้างหลังมันก็ไม่เอา ถ้าจะแกล้งที่จะเอนไปข้างหน้ามันก็ไม่เอา ถ้าจะแกล้งเอนไปซ้ายขวามันก็ไม่เอา มันก็ต้องอยู่ในความตรง มันพอดีของมันแล้ว ความรู้สึกตัวมันก็ได้ความพอดี คือความรู้สึกตัว เอาตรงนี้เสียก่อน สำหรับผู้ฝึกใหม่ อย่าด่วนไปเป็นสุขเป็นทุกข์ อย่าด่วนไปอยากรู้อยากเห็น อย่าด่วนไปหาเหตุหาผล อย่าด่วนไปเอาความชอบ ความไม่ชอบ ไม่มีอะไรแบ่งปัน หลายเรื่องหลายราว แซงขึ้นมา แซวขึ้นมา คลี่ขึ้นมา เหมือนกับญัติต่าง ๆ ที่ต่างคนต่างเห็นก็แซวขึ้นไป แย่งกันไป ในชีวิตเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันบางครั้ง เรื่องของกาย เรื่องของจิตใจ มันก็มีมาก แต่เราตั้งหลักดูท่าเดียว รู้สึกท่าเดียว เคลื่อนไหวไปเรื่อย ๆ เคลื่อนไหวไปเรื่อย ๆ รู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็รู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ สิ่งที่ทำให้เกิดรู้สึกตัวมันก็มีอยู่ ประกอบเอาขึ้นมา มันก็ใช้ได้จริง ๆ อิริยาบถน่ะ บรรพเนี่ย มันใช้ได้ เหมือนเราจะเดินก็ต้องใช้เท้าเดินไป ไม่ใช่คิด ก้าวไปต่างหาก ไม่ใช่คิดว่าเมื่อไหร่จะถึง เมื่อไหร่จะถึง แต่มันก้าวต่างหากที่ทำให้ถึง ไม่ต้องไปใช้ความคิด ไม่ต้องไปใช้เหตุใช้ผล เรียกว่า “ภาคปฏิบัติ” ขณะที่ก้าวไป มันจะเหน็ดจะเหนื่อย ก็อย่าเอาความเหน็ดความเหนื่อยมาเป็นอุปสรรคในการเดิน ตั้งใจก้าวไป ก้าวไป ๆ เรื่อย ๆ ไป ไปข้างหน้าเรื่อยไป การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน กลับมารู้ ๆ การกลับมารู้ทีนึง การกลับมารู้ทีนึง มันก็เท่ากับผ่านจากความหลงไปแล้ว
มันมีความหลงขวางหน้าขวางตา ความทุกข์ขวางหน้าขวางตา ก็รู้ มันก็ผ่านความหลง ผ่านความทุกข์ไปแล้ว ผ่านกี่ครั้งกี่หน ผ่านกี่ครั้งกี่หน ขณะที่มันผ่าน มันก็มีความเข้มแข็ง ก็มีความคล่องตัว คล่องตัวขณะที่มันผ่าน ถ้าไม่ผ่านมันก็ไม่คล่องตัว เหตุที่มันคล่องตัวก็เอาอิริยาบถ เอารูปแบบมาช่วย เอากรรมมาช่วย กรรมต่างหากเป็นสิ่งที่บุกเบิก ไม่ใช่เหตุใช่ผล ไม่ใช่จริตนิสัย แม้จะเป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต ก็ไม่ใช่ไปแก้จริตตรงนั้น
ภาคปฏิบัติจริง ๆ มาเจริญสติ มาเจริญสติ โทสจริตก็แผ่เมตตา ราคจริตก็เพ่งอสุภะ ไม่ใช่ ต้องมาเจริญสติ แน่นอนที่สุด ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวเนี่ย ไม่ต้องไปหาอะไรหรอก เอากรรมฐานเนี่ยะ วิชากรรมฐาน เป็นวิชาบุกเบิก เป็นวิชาที่ลิขิตชีวิต พุทธศาสนานี่สอนเรื่องกรรม ไม่ใช่สอนเรื่องเทพเจ้าอะไรต่าง ๆ อ้อนวอน ไม่ใช่ เอากรรมคือการกระทำ รู้สึกตัว รู้สึกตัวไป ทำใหม่ ๆ นี่ ก่อนที่จะรู้สึกตัวก็มีปัญหาเหมือนกันแหละ เบื่อบ้าง เครียดบ้าง ปวดบ้าง ไม่ชอบบ้าง หาสิ่งที่เปรียบเทียบบ้าง คนที่ทำงานทำการ มันก็ต้องเหน็ดต้องเหนื่อยเป็นธรรมดา ถ้าไม่เหน็ดไม่เหนื่อยก็แสดงว่าไม่ได้ทำงาน ถ้าไม่ผิดก็แสดงว่าไม่ได้ทำงาน ถ้าไม่มีผิดมีถูกแสดงว่าคนนั้นไม่ได้ทำงาน
คนที่ทำงานต้องมีผิดมีถูก มีเหน็ด มีเหนื่อย มีอะไรต่าง ๆ หลายอย่าง ความผิดก็ไม่ใช่จะทำให้เราเลิกทำงานทำการ ความผิดแหละจะเป็นครู ไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะการปฏิบัติ เดินไปตรงนี้แหละ ถ้าใครเดินไปเห็นกายก็แสดงว่าไปทางเดียวกับพระพุทธเจ้า เห็นกาย กายก็แสดงให้เห็น เรื่องของกายแสดงให้เห็น มันต่อไปเรื่อย ๆ ดอก เป็นเวทนาก็ไปทางเดียวกับพระพุทธเจ้าได้แล้ว ไปเห็นมันคิด แซงหน้าแซงหลังก็แสดงว่าไปทางเดียวกับพระพุทธเจ้าแล้ว เห็นธรรมที่เกิดกุศลอกุศลเกิดขึ้น ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย พยาบาท บางทีนักปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติเกิดพยาบาทขึ้นมา ใจเร่า ๆ ร้อน ๆ เรื่องที่ผ่านไปแล้วก็เอามาคิด เรื่องที่ยังมาไม่มาถึงก็เอามาคิด มันอยากจะไปที่อื่น มันไม่อยากอยู่กับปัจจุบัน ก็เพียรพยายามดูมัน ธรรมที่มันครอบงำ เราก็เห็นเนี่ย ไปทางเดียวกับพระพุทธเจ้าแล้ว ผู้เจริญสติปัฏฐานตามหลักกายสติปัฏฐาน 4 นี่ แสดงว่าเดินตามรอยพระพุทธเจ้า ถ้ามันเกิดความง่วงเหงาหาวนอนก็แสดงว่าไปเส้นเดียวกับพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าก็ผ่านตรงนี้แหละ ความลังเลสงสัยเกิดขึ้น อ้าวไปทางเดียวกันอีกแล้ว พบเหมือนกัน ข้ามภูเขาลูกนี้เหมือนกัน ผ่านทางเส้นนี้เหมือนกัน ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน พยาบาท ถีนมิทธะ นี่แสดงว่าไปทางเดียวกับพระพุทธเจ้า
ขอให้ยิ้มไว้เถอะ ถ้ามันเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นขณะเราเจริญสติ ถูกแล้ว ถ้าไม่มีอะไรเห็น ถ้าไม่มีอะไรยาก ถ้าไม่มีอะไรได้ทำกับความยากความผิดความถูก มันก็ไม่ใช่ปฏิบัติ ปฏิบัติ มันก็คือโต้ตอบทักท้วง เปลี่ยน ปฏิบัติคือ เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนอะไร ๆ ก็ตาม เปลี่ยน มันเปลี่ยน ความรู้สึกตัว ๆ เนี่ย ความถูกมันคือความรู้สึกตัว เราสร้างสติมันต้องเป็นสติ คือความรู้สึกตัว มันสุขมันทุกข์ก็คือรู้สึกตัว มันทุกข์ มันสุข มันผิด อะไรก็ตาม คือความรู้สึกตัว เรียกว่า “ปฏิบัติ” จึงเรียกว่าปฏิบัติ แต่ว่าต้องเข้าข้างความรู้สึกตัว หาวิธีที่จะให้เกิดความรู้สึกตัวขณะที่มันเกิดอะไรขึ้นมา หาวิธีแล้วมันก็ไม่ต้องหา หายาก ประกอบขึ้นมา ก่อกันขึ้นมา ยกมือขึ้นมา เดินจงกรมขึ้นมา หายใจเข้า หายใจออกขึ้นมา โอกาสอันไหนที่มันไม่เหมาะไม่ควร เช่น อยู่บนรถเมล์ อยู่ที่ทำงานก็กระดิกนิ้วลงมา หายใจเข้าลึก ๆ ลงไป รู้สึกตัวลงไป เอาไปเอามามันก็ชิน มันก็เห็นทาง พบทาง มันก็เหมือนกับปัญญานี่แหละสติ เหมือนกับเราทำงานทำการ เมื่อมันเกิดอะไรขึ้น ปัญหาอะไรขึ้น มันก็เกิดปัญญาตรงนั้น เกิดปัญญาตรงนั้น ปัญหามันก็กลายเป็นปัญญาไป ความทุกข์ก็กลายเป็นความไม่ทุกข์ไป อย่าไปกลัวความทุกข์ ลอง ๆ ดู ถ้ามันทุกข์ ลองยิ้มหัวเราะความทุกข์ มั่นใจ ถ้ามันหลงก็หัวเราะความหลง โดยเฉพาะความคิดนี่ มันซุกซนที่สุดเลย คิดก็ไม่คิดเฉย ๆ มันก็คิดไปย้อมเป็นสุขเป็นทุกข์ด้วย เป็นเบื่อเป็นกิเลสเป็นอะไรหลายอย่าง เกิดจากความคิด เกิดจากความหลง ความหลงเกิดจากความไม่รู้ ความไม่รู้เกิดจากการไม่ประกอบ มันก็มีอย่างนี้
ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่ามันไม่มีอะไรที่เราจะมืดแปดด้าน มันไม่มืดแปดด้าน ว่าแต่เรามีหลัก มีความรู้สึกตัว ทำยังไงมันจึงจะมีความรู้สึกตัว ก็ประกอบ การประกอบคือกรรม กรรมคือที่ตั้ง ประกอบลงไป ตั้งไว้ลงไป ทำลงไป ก็สนุก ๆ ไปการปฏิบัติธรรม อย่าไปคิดเรื่องยุ่งเรื่องยาก ทำไมจึงทำอย่างนี้ ทำไมจึงทำอย่างโน้น ไม่มีประโยชน์ เสียเวลา อย่าไปแบก อย่าไปฟุ่มเฟือย ปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย เป็นเรื่องน้อย ๆ อย่าไปคิดว่าฉันชอบแบบนี้ ฉันไม่ชอบแบบนี้ ฟุ่มเฟือยแล้ว ทำยังงั้นดีกว่า ทำอย่างนี้ไม่ดี ฟุ่มเฟือยไปแล้ว ไม่จำเป็น ไม่จำเป็นต้องไปใช้สมองใช้เหตุใช้ผลอันใด เอากรรมไปเลย เหมือนกับเราเป็นพระเป็นเจ้า มีเหมือนกับนก ไปทางไหนก็เหมือนกับนกบินไปได้ มีจีวรมีบาตร ไม่ฟุ่มเฟือย การปฏิบัติมันหิ้วไปง่าย ๆ ไม่พะรุงพะรังนะ การเจริญสติจริง ๆ ไม่พะรุงพะรัง ง้ายง่าย อะไรก็รู้สึกตัว อะไรก็รู้สึกตัว ก็อยู่กับเรา ไม่ได้ไปหาที่ไหน ไม่ได้ไปสู้กับอะไร ไม่ได้ไปรบไปรากับอะไร รู้สึกตัวอย่างเดียว รู้สึกตัวอย่างเดียว โอย! สนุกสนาน มันเห็นของจริง เห็นของไม่จริง ที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ ขณะที่เราปฏิบัติมัน ขณะอื่นมันไม่เกิด มันเกิดขณะที่เราปฏิบัติแท้ ๆ นี่แหละ มันไม่เกิดที่ไหนดอก มันไม่ลับไม่ลี้ ถ้าเป็นตาเรา มันก็เห็นขณะที่มันลืมตาอยู่นี้ มันไม่เห็นขณะที่เราหลับตา คนปฏิบัติมันก็เห็นขณะที่เราปฏิบัติ ความสุขความทุกข์ ก็จะเห็นขณะที่เราปฏิบัติ มันก็เห็นต่อหน้าต่อตานี่แหละ เราต้องไม่มีคำถาม ฉันทุกข์หรือเปล่า ฉันหลงหรือเปล่า ฉันโกรธหรือเปล่า ฉันยากหรือเปล่า ฉันง่ายหรือเปล่า ไม่มีคำถาม ต่อหน้าต่อตาเราจริง ๆ เห็นต่อหน้าต่อตา เห็นทุกข์ก็เห็นจริง ๆ รู้สึกตัว มันก็รู้ได้จริง ๆ ขณะที่มันรู้สึกตัวประกอบการสร้างสติ อ้าว! ความหลงก็หมดไป มันทุกข์ขึ้นมาอีก อ้าว! รู้สึกตัว ความทุกข์ก็หมดไป เอาไปเอามา มันก็เหลวไหลทั้งนั้น อะไรที่มันยกเมฆขึ้นมาเป็นสุขเป็นทุกข์เห็นของจริง จริงแบบไม่จริง ความทุกข์ก็มีอยู่จริงแต่มันไม่จริง ความหลงก็เกิดขึ้นจริงแต่มันไม่จริง สิ่งที่มันจริง คือความรู้สึกตัว ลองดู ลองความทุกข์เกิดขึ้น ถ้ารู้สึกตัวดูซิ ความรู้สึกตัวจริงก่อความทุกข์ เราก็ไปยึดเอาของที่มันไม่จริงว่าเป็นของจริง เป็นตัวเป็นตน ในกายนี่ก็เป็นตัวเป็นตน ถูกกายมันหลอก ถูกจิตมันหลอก ถูกเวทนามันหลอก หลอกให้สุข หลอกให้ทุกข์ ไม่มีเหตุมีผลอันใด มันก็หลอกให้สุขให้ทุกข์ได้บางอย่าง บางอย่างมันก็มีเหตุมีผล เช่น ยุงกัดมันก็เจ็บ หิวข้าวมันก็หิว เหนื่อยเมื่อยล้า ฝนตกมันก็เปียก แดดออกมันก็ร้อน ละอองฝนมันก็หนาว บางทีเรายังไม่ทุกข์เลย เวลาเราเดินแข่งฝนยังไม่ทุกข์เลย เวลาเราเดินตากแดดก็ยังไม่ทุกข์เลย ประสาความคิดมันเกิดขึ้นเฉย ๆ ก็ไปทุกข์กับมัน น่าหัวเราะ มันน่าหัวเราะ มันน่าปัดก้นเลย ถ้าจะพูดแล้ว ลุกไปปัดก้น ปั๊บ นิดเดียว เส้นผมบังภูเขา ปฏิบัติธรรม
การที่จะชนะจริง ๆ ก็ชนะตัวหลงนี่แหละ ก็ไม่ไปรบไปรากับอะไรดอก การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ไปรบกับกิเลสตัณหา ต้องอดต้องทน ต้องกัดฟันสู้ ต้องไม่หลับไม่นอน ไม่ใช่ จะหลับหรือจะนอน จะยืนจะเดินก็ตาม มันคือหลง ความหลงก็ไม่ได้หลงเวลาเรานอน ความหลงก็ไม่ได้หลงเวลาเราหลับ ความหลงก็หลงในเวลาเราทำอะไร มันหลงขณะเราไม่มีสติ ยืนเดินนั่งนอนไม่เกี่ยว จะใช้อิริยาบถแบบไหนไม่เกี่ยว มันหลงขณะที่เราไม่มีสติ มันก็แค่นี้เอง ฉันนอนอยู่ฉันจึงหลง ฉันอยู่ฉันจึงหลง ไม่ใช่เลย แล้วก็ความรู้สึกตัวก็เป็นอกาลิโก ไม่มีกาลด้วย ความรู้สึกตัวไม่มีกาลจริง ๆ เป็นอกาลิกธรรม อะไรก็รู้สึกตัวได้ ใช้ชีวิตแบบรู้สึกตัวไปกับอะไร ๆ ก็ได้ แหลม ความรู้สึกตัวมันแหลม อย่าให้มันตู้ บางทีลมหายใจก็ให้มันแหลม อย่าให้มันตู้ เช่น เรานั่งหายใจอานาปานสตินี่ ถ้าลมหายใจแหลม ๆ มันจะหายใจได้ยาว ถ้าลมหายใจมันตู้ จะหายใจได้ไม่ยาว ใช่มั้ย ลองดูมั้ย ตึ๊บเข้าไป ก็ไปไม่ได้อีกแล้ว สูดเข้าไปไม่ได้แล้ว แหลมลมหายใจก็สูดเข้าไป ...เข้าไป ปล่อยออกมาก็ให้มันแหลม ๆ อย่าพึดออกไป แหลมมันได้ยาว ความแหลมมันสอดเข้าไป มันลึกซึ้ง สติปัญญามันก็แหลม ไม่ใช่มันตู้น่ะ ความรู้สึกตัวมันลึกซึ้งขณะที่มันหลง ความรู้สึกตัวมันลึกซึ้งขณะที่มันทุกข์ ความรู้สึกตัวมันลึกซึ้งขณะที่มันโกรธ อะไรก็ตามมันแหลมเข้าไป ไม่กระทบกระเทือนความแหลม ความคม เราจะเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลสมาธิ ปัญญามันก็เป็น มันเป็นศิลปะ มันเป็นความแหลม ความคม ถ้าเป็นคมก็มีน้ำหนัก มีคมแต่ไม่มีน้ำหนัก น้ำหนักมีแต่ไม่มีที่ตั้ง มันก็ทำอะไรไม่สำเร็จ เช่น เราไปฟันไม้ มีดโกนมันคม แต่มันไม่มีน้ำหนัก มันก็ฟันไม้ไม่เข้า มีดที่มันคม มันมีน้ำหนัก แต่มันมีที่ตั้ง เช่น เรายืน ยืนแล้วก็ฟันลงไป หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา มันมั่นใจปานนั้นน่ะ มั่นใจ เหมือนกับเราจับจอบยืนขุดดิน มั่นใจ เหมือนกับเราจับขวานยืนฟันไม้ มั่นใจ เหมือนกับเราจับมีดยืนฟันไม้ นั่งฟันไม้ กิริยาที่ฟันไม้อันเดียวกัน จับเหมือนกัน ฟันลงไป
การปฏิบัติธรรมก็มีสูตรแบบนี้ รู้สึกตัวไปกับกาย ก็มั่นใจในตน รู้สึกตัว ใส่ใจรู้สึกตัว ก็เป็นสมาธิแล้ว และก็มีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หลงไปไหนก็เป็นศีลแล้ว เวลาใดที่มันหลง ก็มัดแน่นลงไป เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เหมือนกับเราฟันมีดขุดดิน จ้ำลงไป จังหวะเหวี่ยงลงไป มันเป็นปัญญา เราหัดขุดดิน หัดฟันมีด มันก็เป็นปัญญาไปในตัว ก็ทำเป็น คนที่มีความรู้สึกตัวขณะที่มันหลง คนมีความรู้สึกตัวขณะที่มันทุกข์ คนมีความรู้สึกตัวขณะที่มันเป็นอะไร ๆ ก็ตาม มันคือความรู้สึกตัว คือความรู้สึกตัว อันนี้นะการปฏิบัติ เห็นก็เห็นเป็นเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องก็เป็นภาษา ก็ “กายานุปัสสนาฯ” เรื่องของกายก็เป็นวิปัสสนา เห็นแล้ว ๆ ไม่มีตัวมีตนอยู่ในกาย เห็นเป็นกาย ตามความเป็นจริง ความร้อน ความหนาว ความปวด ความเมื่อย ความสุข ความทุกข์ แต่ว่าไม่มีเป็นผู้สุขผู้ทุกข์เพราะกาย เป็นผู้ร้อนผู้หนาวเพราะกาย แต่ว่าเป็นผู้เห็น เป็นผู้เห็นอย่างนี้ อันนี้นี่เวทนาก็เหมือนกัน เวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ เห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ ไม่ใช่เป็นผู้สุขเป็นผู้ทุกข์ ลองดู๊ ลองดู ตรงนี้ดู เห็นมันสุขเห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้สุขผู้ทุกข์ ทำเป็นมั้ยตรงนี้ ทำเป็นมั้ย ลองดู แต่ว่ามันเป็นอยู่แล้ว แต่ว่าเราไปมอมเมาตัวเองเฉย ๆ หรอก มอมให้ตัวเองเป็นสุข มอมให้ตัวเองเป็นทุกข์ จริง ๆ แล้วมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นสุขมันเป็นทุกข์เป็นธรรมดา ถ้าเป็นผู้สุขเป็นผู้ทุกข์ มอมเมาตัวเอง ข่มขืนตัวเอง ให้มันสุขมันทุกข์ล่ะ อู้ย! ไม่ได้ข่มขืนตัวเองเลย บรรลุธรรมตรงนี้ได้ เหมือนกัน ข้ามล่วงได้เหมือนกัน เนี่ย! มันก็ไปอย่างนี้นะการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ไปวิเศษวิโส มีฤทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์ ก็คือทำความหลงให้มันเกิดความรู้ ฤทธิ์ ก็คือทำความทุกข์ทำให้เกิดความไม่ทุกข์ ฤทธิ์ คือทำความโกรธให้เป็นความไม่โกรธ ฤทธิ์ทำสำเร็จแล้ว ผ่านแล้ว ทำเป็นแล้ว ทำเป็นแล้ว ฤทธิ์ไปอย่างนี้ก่อน ฤทธิ์ไปอย่างนี้ก่อน เป็นศีล ปกติได้ สมาธิมั่นคงได้ ปัญญารอบรู้ เปลี่ยนหลงเป็นรู้ได้ นี่ก็ฤทธิ์น่ะ เหมือนเราเดินทาง ก้าวไปเป็น ก้าวไปเป็น ความเหน็ด ความเหนื่อย ความปวด ความเมื่อย ความสุข ความทุกข์ ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ไปเรื่อย ๆ ไป ไปเรื่อย ๆ ไป ไปเรื่อย ๆ ไป เหมือนกับเราไปขึ้นเขาศรีปาทะ
คุณพรดนัยเขาบอกว่า ตั้งแต่ผมขึ้นเขาศรีปาทะกลับมา อะไร ๆ ก็เป็นเรื่องเล็กน้อยไปหมดเลย ลองดูซิ อะไร ๆ ก็เป็นเรื่องเล็กน้อยไปหมดเลย พอเราขึ้นเขาศรีปาทะลงมา ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปเพราะอะไร มันยากลำบาก มันทุกข์ มันเหน็ดมันเหนื่อย ขึ้นสูงก็สูง ไปตั้งแต่เช้ามืด กลับมาจนค่ำมืด ขึ้นสูง เขาก็บอกว่า เขาภูมิใจ เขาว่าอะไรเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย คำว่ายาก คำว่าทุกข์นี่ จะให้ยิ่งใหญ่ไปกว่าขึ้นเขาศรีปาทะไม่มี ในโลกนี้ เขาว่า คนที่เคยสมบุกสมบัน คนที่เคยผ่านความยากลำบาก ผ่านความทุกข์ ผ่านปัญหาต่าง ๆ ความทุกข์แท้ ๆ ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ความทุกข์แท้ ๆ ทำให้เกิดเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้าชื่อว่าผู้นั้นเห็นธรรม ก็เห็นอย่างนี้แหละ ธรรมมันเป็นกลาง ๆ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี อย่าไปติด สุข ๆ ทุกข์ ๆ ไปเลยพวกเรา อย่ามาข้องตัวนี้ ไปเหนือสุขเหนือทุกข์ ความรู้สึกตัวพาให้เราเหนือสุขเหนือทุกข์ ความรู้สึกตัวต่างหากที่ทำให้เราเป็นบรรพชิต ความรู้สึกตัวต่างหากที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ ความรู้สึกตัวต่างหากที่ทำให้เราเป็นพระเป็นเจ้า ไม่ใช่รูปแบบอันใด การปฏิบัติเจริญสติ ปฏิบัติตามธรรม “สัทธัมมะโช สุปะฏิปัตติคุณาทิยุตโต” พระสงฆ์เกิดจากพระสัทธรรม ในการปฏิบัติดี เป็นต้น สัทธรรมก็คือการเจริญสติ เห็นความเท็จความจริง ความรู้สึกตัวเห็นของเท็จของจริง ก็แสดงว่า ถ้าเห็นมันสุขเห็นมันทุกข์ เห็นมันอะไรต่าง ๆ มากมายหลายอย่าง แสดงว่า เห็นสัทธรรม เด็ดขาด เกิดจากการพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดี เป็นต้น
ปฏิบัติดีคือดี คือรู้สึกตัว อะไรก็รู้สึกตัว ตรง ไม่หลง ไม่ไปสุข ไม่ไปทุกข์ ถ้าไปสุขไปทุกข์ ไม่ตรง กลับมารู้สึกตัว กลับมารู้สึกตัว ตรง มันจึงทำลองดู ประกอบลองดู ปรารภความเพียร ลองดู เมื่อเห็นอะไรเกิดขึ้น ก็รู้สึกตัว ลองดู ความรู้สึกตัวนี่แหละน้อย ๆ ความรู้สึกตัวนี่แหละ มันไม่ใช่ความรู้สึกตัวธรรมดา มันจะเป็นญาณ เป็นฌาน เป็นวิปัสสนาญาณ ความรู้สึกตัวนี่เป็นวิปัสสนาญาณ จนถึงเป็นพระอรหันต์ ก็คือ ความรู้สึกตัว พระอรหันต์ผู้มีสติเป็นหน้ารอบ พระอรหันต์ผู้มีสติเป็นหน้ารอบ มาทางไหนก็รู้สึกตัวได้ มาทางตาก็รู้สึกตัว มาทางหูก็รู้สึกตัว มาทางจิตก็รู้สึกตัว มาทางลิ้นก็รู้สึกตัว มาทางกายก็รู้สึกตัว มาทางจิตใจที่มันคิดนึกก็รู้สึกตัว หน้ารอบ ไม่เหมือนตาของเราที่มองไปข้างหน้า ก็เห็นแต่ข้างหน้า ไม่เห็นข้างหลัง แต่สติเป็นดวงตา สว่างทั้งกลางวัน กลางคืน เรียกว่า พระธรรม
พวกเราก็ให้อุ่นใจเถอะ การเจริญสตินี่ อุ่นใจ๊อุ่นใจ เราเจริญสติ เราก็ดูแลตัวเรา ไม่มีอะไรอุ่นใจเท่ากับเรามาดูแลตัวเรา ไม่มีอะไรมั่นใจเท่ากับเรามาดูแลตัวเรา ไม่มีอะไรที่จะอุ่นใจเท่ากับเราช่วยตัวเรา ไม่มีอะไรที่จะอุ่นใจเท่ากับบอกตัวเรา เปลี่ยนตัวหลงเป็นตัวรู้ เปลี่ยนตัวผิดเป็นตัวถูก เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ มันอุ่นใจที่สุด ตรงนี้ๆ มันสมน้ำสมเนื้อ ความหลงเกิดขึ้นมาเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ มั่นใจ สมน้ำหน้าความหลง สมน้ำหน้าความทุกข์ สมน้ำหน้าความโกรธ ถ้าได้เปลี่ยนเป็นตัวรู้สึกตัวแล้ว สุดแล้ว จบลงเท่านั้นแล้ว ถูกต้องที่สุดแล้ว
หัดทำตรงนี้ หัดทำตรงนี้ไป อย่าเตลิดเปิดเปิงไปทางอื่น อย่าสมมติ อย่าบัญญัติ สมมติบัญญัตินี่ก็ทำให้ไม่เห็นปรมัตถสัจจะ บางทีความโกรธก็เป็นสมมตินะ ความทุกข์ก็เป็นสมมติ ความรักความชังยินดียินร้ายเป็นสมมติ สมมตินี่มันไม่จริง ไม่ใช่ปรมัตถ์ ความหลงเป็นสมมติ ความรู้สึกตัวเป็นปรมัตถ์ ความโกรธเป็นสมมติ ความรู้สึกตัวเป็นปรมัตถ์ ปรมัตถ์มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเราอย่าไปทิ้งปรมัตถ์
ปรมัตถ์คือ เริ่มต้นจากการเจริญสตินี่แหละ จากความรู้สึกตัวนี่แหละ ปรมัตถสภาวธรรม สร้างขึ้นมา อย่าให้ความหลงมันครองชีวิตเรา กอบกู้ชีวิตเราคืนมา โดยการเจริญสติ การเจริญสตินี่ ก็ไม่ใช่ว่าจะอาบเหงื่อไหลไคลย้อย อะไรก็รู้ได้ รู้เบา ๆ รู้นิ่มนวล รู้ลึกซึ้งไป ไม่ใช่เดินเหงื่อไหลไคลย้อย ไม่ใช่นั่งหลังขดหลังงอ เพิ่มความรู้สึกตัวไป อะไรก็ได้ หัดนั่งอยู่เฉย ๆ รู้สึกตัวก็ได้ ถ้ามันรู้ไม่ง่ายก็กลับมาตั้งหลัก กลับฐานที่ตั้ง เคลื่อนไหวไปมา ได้เหมือนกัน