แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เพื่อให้เป็นส่วนประกอบ กับการศึกษาปฏิบัติ ผู้ฟังธรรม ก็จะย่อมได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง ผู้ฟังธรรม สิ่งที่เคยได้ฟังแล้วยังไม่เข้าใจก็อาจจะเข้าใจ ผู้ฟังธรรม ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ผู้ฟังธรรม จิตย่อมผ่องใส ผู้ฟังธรรม ย่อมทำความเห็นให้ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ นี่อานิสงส์ของการฟัง พหูสูต เป็นมงคล ได้ยินได้ฟังมาก แล้วก็ส่วนประกอบ ก็คือการปฏิบัติธรรม เจริญสติ
ผู้ที่เจริญสติ ก็ย่อมได้กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน ผู้เจริญสติเห็นความคิด กระแสก็คือเห็นความคิดที่มันลักคิด เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัว เป็นกระแสตรงกันข้าม เหมือนกับความมืดมองเห็นแสงสว่าง มองไม่เห็นทาง แสงสว่างทำให้เห็นหนทาง ความหลงเรียกว่าไม่เป็นทาง ความรู้สึกตัวเป็นทาง ก็ดำเนินไปตามทาง ผู้ที่เจริญสติ อะไรก็ตาม เห็นตรงกันข้าม “เป็นคู่” เห็นหลงก็เห็นความรู้ เห็นความทุกข์ก็เห็นความไม่ทุกข์ เห็นความโกรธก็เห็นความไม่โกรธ ตรงกันข้าม ไม่เป็นอันเดียว มองตรงกันข้าม ตลอดถึงเห็นความแก่ เห็นความเกิดก็ต้องเห็นความไม่เกิด เห็นความแก่ก็ต้องเห็นความไม่แก่ เห็นความเจ็บก็ต้องเห็นความไม่เจ็บ เห็นความตายก็ต้องเห็นความไม่ตาย นี่เรียกว่า “กระแส”
กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน กระแสน้อย ๆ ใหม่ ๆ อาจจะเท่าแสงหิ่งห้อย วับ ๆ แวม ๆ ก็ยังดี ต่อไปก็อาจจะแสงธูปแสงเทียน ต่อไปอาจจะแสงนีออน ต่อไปอาจจะแสงดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ เรียกว่า “รู้แจ้งโลก” รู้แจ้งโลกไปอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมได้กระแส การปฏิบัติธรรมตัดไปเลย ไม่ใช่เพื่อสรรเสริญ ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะ ไม่ใช่เจ้าลัทธิ เป็นการบรรลุถึงคุณธรรม หลุดพ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ กายใจบริสุทธิ์ ถ้าเป็นฤทธิปาฏิหาริย์ คือทำให้สำเร็จ การทำให้สำเร็จคือทำความดีได้สำเร็จ เมื่อเกิดความหลงทำความหลงให้สำเร็จ หมดไป เกิดความรู้มาแทน เมื่อมีความทุกข์ทำให้ความทุกข์หมดไป เกิดความไม่ทุกข์มาแทน สำเร็จ เรียกว่ามีฤทธิ์ ที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรม เคยสูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่ เคยดื่มเหล้า เลิกดื่มเหล้า ฤทธิ์เรียกว่าทำให้สำเร็จ ทำความชั่วเหลวไหลให้หมดไป ทำความดีให้เกิดขึ้น เรียกว่าฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ฤทธิ์แบบนี้ ทำมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้น ทำความทุกข์ให้หมดไป เรียกว่าฤทธิ์ปาฏิหาริย์
ความสงบก็สงบจากข้าศึก สงบจากการปรุง ๆ แต่ง ๆ เคยง่วงเหงาหาวนอน ไม่ต้องง่วง ไม่ต้องง่วง พ้นไปได้จริง ๆ ความง่วง อยู่ที่ไหนไม่รู้ ความหลงอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ สำเร็จแน่นอน จิตนิ่ง สำหรับจิตนี้ยอดเยี่ยม เป็นของที่แก้วสารพัดนึก ภาวะของจิต ภาวะของกายก็รู้หมดแล้ว สิ่งไหนไม่เที่ยง สิ่งไหนเป็นทุกข์ สิ่งไหนไม่ใช่ตัวตน รู้หมดแล้ว ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน พ่อของรูป รูปตกอยู่ในสภาพอย่างนั้น ไม่ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น ไม่ต้องไปหลงไปสุขไปทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น ไม่ต้องไปหลงกับสิ่งไม่เที่ยง ไม่ต้องไปหลงกับสิ่งเป็นทุกข์ ไม่ต้องไปหลงกับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน หลุดไปได้แล้ว พ้นไปได้ เรื่องของรูปไม่มีอะไรที่ไปข้องแวะอีก มีแต่จิตที่บริสุทธิ์ มีแต่จิตที่บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง เครื่องเศร้าหมองมีโลภ มีโกรธ มีหลง เป็นต้น ทำให้จิตเศร้าหมอง พ้นจากความเศร้าหมอง ทำลายลงได้ ราบเรียบลงไป ความโง่หลงงมงายต่าง ๆ ราบลงไป เพราะจักรแห่งธรรม บดไปขยี้ไป เหมือนรถบดถนนหนทางที่ให้มันได้มาตรฐาน มันเป็นมิตรภาพราบเรียบ ทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง หมดไป เรียบลงไป ไม่มีสะดุด เรียกว่าชีวิตเรียบเหมือนหน้ากลองชัย พระพุทธเจ้า ศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย ชีวิตมันเรียบเหมือนหน้ากลองชัย กลองชัยนี้มันเรียบ หุ้มด้วยหนัง มันตึง มันเรียบ ไม่มีสะดุด เพราะอะไร เพราะมันทำลายสิ่งที่ขรุขระให้เรียบลงได้ ความวิตกกังวลเศร้าหมอง เอาอันนี้เป็นเกณฑ์ สิ่งนี้เป็นเกณฑ์ ไม่ใช่เอารูปไปขู่ไปเข็น เอาคำพูด เอาอะไร กิริยาอะไรไปหลอกกัน ไม่ใช่ เรียบทางชีวิตจิตใจ ก็ใช้ชีวิตธรรมดา ๆ นี่เกณฑ์มันเป็นอย่างนี้ เหมือนกับเขามาตรวจเกณฑ์ของโรงเรียน เกณฑ์ของอะไรต่าง ๆ ได้เกณฑ์ ได้มาตรฐาน ไปทางนี้นะปฏิบัติธรรม อย่าไปข้องไปแวะอย่าไปหลง อย่าไปมองอะไรที่มันไม่ใช่ มันเป็นไปทำนองนี้ แม้ยังไม่เป็น มันก็มองไปโน่น เอ้อ! กระแส
กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน ความไม่ปรุง ๆ แต่ง ๆ ความไม่ฟู ๆ แฟบ ๆ เรียบไปเลย เรียบไปเลย เรียบไปเลย จิตนิ่งไปเลย นิ่งไปเลย สำหรับจิตนี้แน่นอนที่สุด แน่นอนที่สุด จิตจะเป็นอย่างไรก็ตาม จิตต้องแน่นอนไว้แล้ว หลักของจิตมีแล้ว หลักของจิตอยู่แล้ว มีตรงไหน มีตรงที่ไม่เป็นอะไร สภาพจิตไม่เป็นอะไร ไม่เป็นอะไร ภาวะที่ไม่เป็นอะไรไม่ใช่คำพูด มีแต่นิ่ง ความนิ่ง ความไม่มีอะไรนั่นเป็นหลักสภาพของจิต ไม่มีคำพูดใด ๆ ปรมัตถสภาวธรรม ไม่มีคำพูด เป็นการเข้าถึงความนิ่ง ความไม่เป็นอะไร ความไม่ปรุง ๆ แต่ง ๆ มันเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ปฏิบัติ ของชีวิต เรียกว่าได้ชีวิต ได้ชีวิต ชีวิตแบบนั้น ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นของอันอื่น คนละเรื่องกับชีวิตแบบนั้น
เราจึงมาสร้างกระแส ความหลง ก็พูดตั้งแต่เริ่มต้นว่าความหลงไม่ใช่ชีวิต ไปแล้ว ความรู้สึกตัวเป็นชีวิต กำลังจะมีชีวิตขึ้นมา เอาชีวิตแล้วบัดนี้ ความทุกข์ไม่ใช่ชีวิต ความไม่ทุกข์คือชีวิต มันก็เริ่มแล้ว เริ่มแล้ว เริ่มจับได้แล้ว ผู้ปฏิบัติ อ้าว! ความคิด ความหลงคิดไป กลับรู้สึกตัว อ้าว! ให้มีชีวิตขึ้นมา มีชีวิตขึ้นมา เริ่มกระแสน้อย ๆ ให้กำเนิดเกิดขึ้นแห่งชีวิต ผู้เจริญสติ ความรู้สึกตัวเหมือนอริยมรรค เหมือนลูกน้อยดูดนมของแม่ อริยมรรคเนี่ย ถ้ารู้เข้า รู้มาก รู้มาก ก็เหมือนลูกน้อยดูดนม ความเจริญเขาก็จะมีไปเองเมื่อเขาดูดนม เมื่อเขากินข้าวที่แม่ป้อน เขาก็โตเอาเอง เขาโตเอาเอง ไม่ใช่เราไปโตแทนเขา แต่ว่าเราแม่ก็ต้องเลี้ยงเอานมใส่ปาก แล้วเขาก็กลืนของเขาเอง เขาก็โตของเขาเอง แม่โตให้เขาไม่ได้ แม่กลืนแทนเขาไม่ได้ ความโตเป็นของเด็กน้อย เป็นของลูกอ่อน เขาโตขึ้นเราก็ป้อนนมเข้าไป ป้อนนมเข้าไป
การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน การให้การเจริญสติ กิริยาที่ให้สติมันเกิดขึ้นมา เหมือนแม่เลี้ยงลูกน้อยให้กำเนิดเกิดขึ้นแห่งภาวะแห่งความเป็นพุทธะ ใส่เข้าไป ป้อนเข้าไป รู้สึกตัวเข้าไป รู้สึกตัวเข้าไป เมื่อกายรู้สึกตัว เมื่อใจรู้สึกตัว ก็อยู่ในอริยมรรค เจริญเติบโตให้กำเนิดเกิดแห่งพุทธะขึ้นมา พุทธะก็เจริญเติบโต จนความเป็นพุทธะสมบูรณ์ คือ รู้ ตื่น เบิกบาน “พุทโธ” “อะระหัง” ไกลจากกิเลส ไกลจากข้าศึก “สัมมาสัมพุทโธ” ไม่มีใครนิ่งอยู่ได้ ถ้าใครเข้าถึงสภาพแบบนี้ ก็ต้องเกิดแจกของส่องตะเกียงเพื่อช่วยผู้อื่น เป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่มีคำสั่ง เป็นไปเอง ขวนขวายช่วยมนุษย์ ช่วยทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นโพธิสัตว์ ชีวิตเพื่อคนอื่นสิ่งอื่นวัตถุอื่นไปเลย ไม่มีใครไปหยุดอยู่ ถ้าเข้าถึงภาวะแห่งความเป็นพุทธะในชีวิตจิตใจแล้ว พวกเรายิ่งมีครอบมีครัว มีผัวมีเมีย มีลูกมีหลาน ยิ่งกระตือรือร้นที่จะช่วยกัน ไปช่วยกันแล้วบัดนี้ แต่ก่อนเนี่ยไปทะเลาะวิวาทกัน บัดนี้ไปช่วยกันแล้ว มีอะไรมีแต่คิดจะช่วย จะช่วย จะทำความดี เปลี่ยนความร้ายเป็นความดี แสดงออกทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทำกายไม่ได้ ทำวาจาไม่ได้ ก็มโนกรรม มโนกรรมทำได้ทันที
ความเมตตากรุณา เป็นคุณของพระพุทธเจ้า “เมตตาธิคุณ” เกิดขึ้นแล้ว เอาเมตตาออกหน้าออกตา “กรุณาธิคุณ” เป็นคุณของพระพุทธเจ้า เสริมเข้าไป ช่วยเหลือ แสดงออกทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม “บริสุทธิคุณ” สนับสนุนให้เกิดความบริสุทธิ์ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ทำอะไรก็ตามไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ด้วยความบริสุทธิ์ใจ “ปัญญาธิคุณ” ครอบเอาไว้ ปิดท้ายรายการ ทำอะไรมีสติ มีปัญญา ไม่ใช่โง่หลงงมงาย จะช่วยผู้ช่วยคน จะต้องบอกต้องสอน ก็มีปัญญา ปิดวงเล็บปิดวงเล็บเปิดไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เมื่อมีปัญหาก็ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาไม่ใช่เกิดจากเรา เราไม่ได้สร้างปัญหา เราเป็นผู้แก้ปัญหา จึงเรียกว่าพุทธะภาวะ ก็สอนคนอื่นได้ สอนคนอื่นได้ มีผู้รู้ตาม มีผู้รู้ตาม มีผู้รู้ตาม เรียกว่าเป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องไปช่วย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก แก่มหาชนทั้งหลาย เหมือนพระพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนพระสาวก พระอรหันต์เกิดขึ้นเพียง 5 – 6 รูปสมัยใหม่ ๆ สั่งไว้เลย “จะระถะ ภิกขะเว จาริกัง พะหุชะนะหิตายะ พะหุชะนะสุขายะ โลกานุกัมปายะฯ” ไป ไป ไป ก็ไปกัน กระตือรือร้นไป ต่างรูปต่างไป มีงานมีการ เป็นหน้าที่ พวกเราแม้ได้อะไรก็สอนเท่านั้น รู้อะไรก็สอนเท่านั้น การสอนการบอกความจริงแก่ผู้แก่คน เขาเรียกว่า “ธัมมเทสนามัย” เป็นบุญ ผู้ฟังเรียกว่า “ธัมมัสสวนมัย” ก็ได้บุญทั้งผู้สอนทั้งผู้ฟัง บุญคืออย่างนี้ ทำบุญแบบนี้ ธัมมเทสนามัย ธัมมัสสวนนัย เวยยาวัจจมัย เยอะแยะเกิดแห่งบุญ “เวยยาวัจจมัย” รับใช้งานพระพุทธศาสนา อะไรที่เป็นการงานของพระพุทธศาสนา รับใช้ตามฐานะ เรียกว่าเวยยาวัจจมัย อาจจะไม่ต้องได้เสียเงินเสียทอง ไม่ใช่มีอะไร แสดงออกทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นบุญ ตลาดบุญเต็ม ไปทิศไหน ทางไหน เกิดแต่บุญกุศล
เพราะนั้นการปฏิบัติธรรม มันเป็นกระแสจริง ๆ ไม่มืดแปดด้านเหมือนเมื่อก่อน เราก็เห็นแล้ว เราก็สัมผัส เราก็ไปแล้ว ไปถึงที่นั้นแล้ว ทันที เช่น ความหลง เราไปถึงความไม่หลงแล้ว สำเร็จแล้ว ถึงที่สุดแล้ว เอ้า! ความรู้สึกตัวเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดได้แล้ว ถึงแล้ว ความรู้สึกตัวมีแล้ว ทำเป็นแล้ว แม้มันมีความหลง ทำความหลงหมดไปแล้ว เออทำไปแล้ว ความหลงหมดไปแล้ว ที่สุดแล้ว ที่สุดแห่งความหลง ทำความหลงให้เกิดความไม่หลง เรียกว่าที่สุด แม้ยังมีความโกรธ ทำความโกรธให้เป็นความไม่โกรธ ที่สุดแห่งความไม่โกรธแล้ว หยุดลงไปแล้ว อย่างนี้ ถึงแล้ว ถึงจุดหมายปลายทาง จุดหมายปลายทางของเรา ทำตามฐานะ กำลังของปัญญาของเรา ยกตนออกไป ยกตนออกไป ช่วยตนเอง ดูแลตนเองเป็น อยู่กับตัวเองเป็น ไม่เหมือนกับสมัยก่อน สมัยก่อนมันสับสนวุ่นวาย บัดนี้เลือกได้ บัดนี้เลือกได้ ผู้ปฏิบัติเลือกได้จริง ๆ ความหลงเลือกเอาความไม่หลง ความทุกข์เลือกเอาความไม่ทุกข์ ความโกรธเลือกเอาความไม่โกรธ เลือกเป็น แม้ยังมีก็เลือกได้ เข้าข้างสิ่งที่เกิดความชอบเป็น แล้วก็ถ้าจะเห็นก็เห็นหลักเห็นฐาน เห็นเป็นรูป เห็นเป็นนาม เห็นเป็นอาการจริง ๆ อาการที่มันเกิดมีจริง ๆ แล้วก็ไม่ข้องไม่ติด ถ้าชื่อว่าอาการแล้ว ไม่ใช่ไปเอาจริงเอาจัง ไม่เอามาเป็นสุข ไม่เอามาเป็นทุกข์ ไม่เอามาเป็นความหลง เห็นธรรมชาติ เห็นอาการ เป็นคำตอบในตัว อาการก็ไม่ใช่ของจริง เรียกว่าบางทีก็มีสมมติ มีบัญญัติ มีปรมัตถ์ เป็นปรมัตถสภาวธรรม
ชีวิตเรามันต้องเป็น 2 ส่วน “สมมติบัญญัติ” ทำให้ชีวิตกระจุยกระจาย “ปรมัตถสัจจะ”ทำให้ชีวิตอยู่ในกำมือ กองรูปกองนาม ถ้าเราไม่รู้ มันกระจุยกระจาย เหมือนรังมดแดง เมื่อเราไปถูกมัน มันก็กระจุยออกไป แสดงออกไป แตกออกไป บัดนี้เราเห็น อะไรที่มันเกิดขึ้น ในขณะที่เราใช้ชีวิต ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส แต่ก่อนมันมีสมมติบัญญัติเข้าไปสนับสนุน เกิดความหลงเข้าไปสนับสนุน ก็กระจุยกระจายไป กระจุยไปเลย พอตาเห็นรูปสัมผัส เอ้า! ความหลงเข้าไปสนับสนุนเกิดสมมติบัญญัติ ชอบไม่ชอบ กระจุยไปแล้ว เมื่อชอบก็ยึดเอา อุปาทานเข้าไปยึด เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อไม่ชอบ เกิดความอุปาทานเข้าไปยึด เป็นสมมติบัญญัติ บัญญัติไป เอามาเป็นเรื่องเป็นราว จนยาวออกไปกระจุยไป บัดนี้ผู้มีสติ พอตาเห็นรูป ก็เห็นสักว่าเห็น ไม่มีสมมติบัญญัติ ไม่มีความหลงเข้าไปสนับสนุน มีแต่ความรู้สึกตัว ตกลงเหมือนทิ้งก้อนกรวดก้อนหินใส่ฝาผนัง ไม่ติด ไม่ติด ตกลงตรงนั้น เห็นแล้วสัมผัสแล้ว ตกลงตรงนั้น ตกลงตรงนั้น ถ้าจะเรียกว่าปัญญา ก็มีปัญญาอยู่ตรงนั้น เป็นความสมบูรณ์ เป็นความปฏิบัติธรรม ปรมัตถสัจจะ สภาวธรรม เป็นสิ่งที่ครอบคลุม ลักษณะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วอาการต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นก็มีปรมัตถ์อยู่ตรงนั้น อาการกับธรรมชาติ มันก็เป็นอาการเต็มไปหมดในรูปในนาม
เคยพูดแล้วพูดอีก อาการของกาย ความร้อน ความหนาว ความปวด ความเมื่อย เราเห็นชัด ๆ ถามก็ตอบได้ทุกคน มันเป็นยังไง ปวดเมื่อยนั่นนะอาการ ความง่วงเหงาหาวนอนเป็นอาการ ความคิดที่เกิดขึ้นกับจิต คิดโน่นคิดนี่ เป็นอาการของจิต ไม่จริง อาการมันเกิดขึ้นของมันเอง เพราะมันเป็นชีวิต ชีวิตมันเป็นอย่างนั้น ร้อนไม่เป็น หนาวไม่เป็น ชีวิตที่มันเป็นส่วนรูปส่วนนาม มันได้มาแบบนั้น ถ้าตัวปัญญาก็มีชีวิตไปอีก อาศัยสิ่งเหล่านี้ให้เกิดชีวิตอีก ให้เกิดชีวิต มาเห็นของจริงตามธรรมชาติ อาการของเขา เป็นปัญญา ทุกคนก็ต้องเห็นความปวดความเมื่อย ความง่วงเหงาหาวนอน เห็นความคิด เห็นอุปาทาน ยึดเอาความคิด ยึดเอาความโกรธ ยึดเอารักความชัง ให้ความโกรธนอนอยู่กับเราข้ามวันข้ามคืน ให้ความวิตกเศร้าหมองนอนอยู่กับชีวิตเราข้ามวันข้ามคืน
ผู้มีสติ หลุดลงไป หลุดลงไป หลุดลงไป แก้ตัวเองก็แก้คนอื่น ไม่ใช่อุปาทาน อุปาทานไม่ได้แก้ มีแต่พอกพูนปัญหา เหมือนดินพอกหางหมู ปรมัตถสภาวธรรมแก้ปัญหา แก้ตัวเราก็เท่ากับแก้คนอื่น เราสงบ คนอื่นก็พลอยสงบ เราไม่ปรุงไม่แต่ง ไม่เอาเรื่องเก่าย้ำคิด ย้ำคิด คิดเรื่องเก่า ก็หลุดไป หลุดไป ๆ เอาไว้หลัง เอาไว้หลัง ปัญหาต่าง ๆ มีเท่าไรเอาไว้ข้างหลัง มีปัญหาก็มีปัญญา มีหลงก็มีรู้ ชีวิตจริงเป็นอย่างนั้น สะดวก คล่อง เป็นการคล่องตัว ผู้เจริญสติ เป็นชีวิตที่คล่องตัว ไม่สะดุดกับอะไร ไม่สะดุดกับอะไร เพราะเห็นหมดแล้ว เห็นหมดแล้ว
สติสัมปชัญญะที่เราลุย ๆ มา อะไรที่เขาแสดง อะไรเขาแสดงได้ เขาก็แสดงออกไป หมดเปลือก ความหลงก็หลงอย่างหมดเปลือก ความโง่ก็โง่แบบหมดเปลือก ความทุกข์ก็ทุกข์แบบหมดเปลือก มันก็เกิดจากความหลงนี้ กำเนิดเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ ความไม่มีปัญหาเป็นปัญญาก็เกิดจากความรู้นี่แหละ ได้ตัวสรุป ได้บทสรุป แล้วก็ทำเป็น เราก็ทำเป็น ผู้เจริญสติย่อมทำเป็น ไม่มีใครหลงไม่รู้สึกตัว ไม่มีใครโกรธไม่รู้สึกตัว บัดนี้มาทางนี้แล้ว พอมันโกรธ พอมันหลง พอมันทุกข์ มีสติรู้สึกตัว ทำไปทั้งหลาย ๆ อย่าง เกิดพลัง ขณะที่มีสติมันก็มีศีล ขณะที่มีสติมันก็มีสมาธิ ขณะที่มีสติก็มีปัญญา เป็นพลังร่วม สำหรับผู้เจริญสติ เป็นพลังเกิดร่วม พลังร่วมทำให้เกิดความเข้มแข็ง ขณะที่เจริญสติ นึกว่าไม่มี ไม่ใช่ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีความอดทน มีศรัทธา มีความเพียร มีเมตตากรุณาอยู่ตรงนั้นด้วย รอบตัวเราบริวาร เรียกว่าเกิดพลังที่แนวร่วม ทำให้เกิดความดีเอาชนะความชั่วได้ เอาชนะบาปได้ เอาชนะอกุศลได้ กุศลชนะอกุศล เป็นสัจธรรม ธรรมย่อมชนะอธรรมอยู่เสมอ
อย่างที่เราสวดบทธัมมคารวาทิคาถาโย “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมย่อมชนะอธรรม อธรรมย่อมนำไปนรก ธรรมย่อมนำให้ถึงสุคติ” เราเห็นแล้ว อธรรมคือความหลง ธรรมคือความรู้สึกตัว เราเลือกเป็น บัดนี้เราเลือกเป็น อธรรมย่อมนำไปถึงนรก ถ้าหลงทีไรก็ไปพลัดบ้านพลัดถิ่น ไปโกรธ ไปรักไปชัง ไปทุกข์ ไปวิตกกังวล เศร้าหมอง นำไป ต่ำลงไป ต่ำลงไป พอรู้สึกตัวก็ยกชีวิตขึ้นมา ยกชีวิตขึ้นมา สูง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทับถมไม่ได้ ธรรมย่อมชนะอธรรมอยู่เสมอ เรารู้บัดนี้ เราพบเห็น เราทำเป็น ทำได้
แม้ทำไม่ได้ เป็นบางครั้งบางคราว แต่ว่าไม่หมดเนื้อหมดตัว ไม่หมดเนื้อหมดตัว รู้จักเว้นวรรค เช่น เราทำงานยุ่ง ๆ ยาก ๆ เอาไว้ก่อน เอาไว้ก่อน มาทำใหม่ เอาไว้ก่อน การพักไว้ก่อน ทำทีหลัง มันเป็นเหมือนกับเขาวรรค เว้นวรรคไว้ ถ้าเป็นความหลงก็วรรคไว้ก่อน อย่าให้ความหลงมันพรืดไป ถ้าเป็นความโกรธก็วรรคไว้ก่อน อย่าให้ความโกรธมันพรืดไป รู้จักเว้นวรรคไว้ ไม่คลุม เว้นวรรคไว้ก่อน ถ้าเป็นความหลุดพ้น ถ้าเป็นวิมุตติก็ “ตทังควิมุตติ” ตทังควิมุตติเนี่ยถ้าเกิดความโกรธข่มไว้ก่อน ไม่พูดในเวลาโกรธเรียกว่า ตทังควิมุตติ
“วิกขัมภนวิมุตติ” หนีออกไปก่อน หนีออกไปก่อน กลับบ้านทำท่าจะโกรธจะทะเลาะกัน ไปทำอันอื่นก่อน หนีออกไป คำว่าหนี ไม่ใช่วิ่งหนีจากบ้านจากเรือน หรือมีกริยาที่ไปก็ได้ จะพูดคำสองคำจะทะเลาะกัน เอ้า! ลุกไปกวาดบ้านกวาดเรือน ไปทำข้าว ไปหุงอาหาร ไปซักผ้า ถ้าเป็นพ่อบ้านก็ลงจากบ้านจากเรือนไปกวาดใต้ถุนบ้าน ไปเช็ดรถเช็ดรา ดูรั้วบ้าน ดูอะไร ถ้าเป็นแม่บ้านก็ดูเสื้อผ้าลูกเต้าที่เขาเลิกจากโรงเรียนมา เขาวางตรงไหน หนีออกไปเล็ก ๆ น้อย ๆ เว้นวรรค เรียกว่าวิกขัมภนวิมุตติ ออกไป ถ้าไม่มีที่ออกไป ตาต่อตา กายต่อกายก็ไม่พูด หยุดไว้ก่อน หยุดไว้ก่อน เดี๋ยวนี้เรามีสติ รู้สึก หายใจเข้าหายใจออก 9 รอบ 10 รอบ หยุดไว้ก่อน อย่าเอาเรื่องนั้นมาคิด พรืด เรียกว่าวิกขัมภนวิมุตติ หนีออกไป
“สมุจเฉทวิมุตติ” เด็ดขาด ไม่ต้องไปไหน ตกทันที เหมือนกลิ้งก้อนหินใส่ฝาผนัง ตกลงทันที เขาด่าทีไรก็ตกลงทันที เขาอะไรก็ตกลงทันที ตกลงทันที ไม่จริง ความโกรธไม่จริง ความไม่โกรธจริงกว่า ความหลงไม่จริง ความไม่หลงจริงกว่า ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม ถ้ารู้จักเลือกมัน เรียกว่าสมุจเฉทวิมุตติ ตัดสินใจ ถ้าเป็นเรื่องของจิตใจไม่บรรเทา พอหลงก็หลงทางจิต หยุดทันที พอโกรธก็หยุดทันที พอทุกข์ก็หยุดทันที เรียกว่าสมุจเฉทวิมุตติ เด็ดขาด ไม่มีอะไร ไม่มีอะไร เพราะมันไม่จริง
หลายอย่างที่สนับสนุนให้เกิดความไม่จริง มีสติ มีความอดทน มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีเมตตากรุณา ขณะที่เขาดุเขาด่า สงสารคนที่หลง ให้อภัยคนที่หลง เมตตากรุณา สนับสนุน มีสติ มีปัญญา มีปัญญาตรงนั้นด้วย ไม่ใช่มีปัญญาเมื่อนั่งฟังเทศน์ฟังธรรม มีปัญญาตรงที่เขานินทาสรรเสริญ มีปัญญาตรงที่ได้ เสียไป สุขทุกข์ มีปัญญาตรงนั้น ปัญญาไม่ใช่ฟังพระเทศน์ ปัญญาไม่ใช่ไปคิดนึก หาเหตุหาผล มีปัญญาตรงที่ความหลง มีปัญญาตรงที่ความโกรธ มีปัญญาตรงที่ความทุกข์ เพราะมันชัดเจนตรงนั้น ชัดเจนมาก หน้ามือหลังมือ ถ้าจะว่าแล้วมันเป็นปัญญา ความโกรธเหมือนหน้ามือ ความไม่โกรธเป็นหลังมือ เป็นปัญญา คนละมุม ปัญญาก็กำจัดความสกปรก เหมือนเครื่องซักผ้ากำจัดความสกปรกให้เกิดความสะอาด ปัญญาก็เป็นเช่นนั้น สิ่งไหนมันสกปรก สิ่งไหนมันเลวไม่ดีนี่ เปลี่ยนให้เป็นดี เรียกว่าปัญญา ปัญญาเกิดตรงนั้นแหละ
เหมือนพระพุทธเจ้าของเรา เวลามารทั้งหลาย ยิงลูกศรมาใส่ พระองค์ก็เปลี่ยนลูกศรเป็นดอกไม้ธูปเทียนบูชา นั่นแหละหมายถึงปัญญา ปัญญาคือเปลี่ยนความร้ายเป็นความดี ไม่ใช่ลูกศรจริง ๆ มันเป็นศรคือทำให้เจ็บปวด เราเคยเจ็บปวดเพราะนินทา เพราะสรรเสริญ แต่ต่อไปนี้เราไม่ใช่จะเจ็บปวดเพราะนินทาสรรเสริญ เรามีปัญญา เพราะมันเป็นโลกธรรม สมบัติของโลก เกิดมาก่อนเรา การได้ การเสีย การสุข การทุกข์ นินทา สรรเสริญ มันเกิดมาก่อน มันเป็นคู่สมบัติของโลก คู่ของโลก ใคร ๆก็ ปฏิเสธไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะต้องประสบพบเห็นกับทุกคน อ้าว! ก็รู้แล้วบัดนี้ รู้แล้ว เป็นปัญญาแล้วบัดนี้ นินทาก็ เออ! เป็นสมบัติของโลก มันมีมาก่อนเรา มันเกิดมาอย่างนี้ สรรเสริญก็มีอย่างนี้ เรียกว่าโลกธรรม โลกธรรม เหนือแล้วบัดนี้ เหนือแล้ว เอ้า! ไม่สุขไม่ทุกข์เพราะนินทาสรรเสริญ ไม่สุขไม่ทุกข์เพราะได้เพราะเสีย ไม่สุขไม่ทุกข์เพราะเสื่อม เพราะอะไรต่าง ๆ แล้วบัดนี้ เอาไว้ข้างหลังหมดแล้วสิ่งเหล่านี้ เพราะรู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว รู้แจ้งจริง ๆ รู้แจ้งเรื่องนี้จริง ๆ รู้แจ้งในความหลง รู้แจ้งในความโกรธ รู้แจ้งในความทุกข์ ความหลงหลอกไม่ได้ ความโกรธหลอกไม่ได้ ความทุกข์หลอกไม่ได้ เรียกว่า “ผู้รู้แจ้งโลก” ผู้รู้แจ้งโลกเป็นโลกวิทูน้อย ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเรา ไปทางนี้ปฏิบัติธรรม อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรมไปทางนี้
ไปอยู่บ้าน ไปทำงานทำการ ทำงานทำการ รู้ผิดรู้ถูก กับหมู่กับมิตร กับเพื่อนร่วมงาน หนักแน่น มั่นคง เขาหลงเราก็รู้ เขาไม่หลงเราก็รู้ เรารู้ตัวเราต่างหาก ไม่ใช่ไปจ้องมองคนอื่น มองตนเอง เปลี่ยนดวงตากลับมาข้างใน เคยมองคนอื่น บัดนี้มามองตน เหมือนกับส่องเงาในกระจก แต่มองไปข้างหน้า แต่มันมองตัวเอง บัณฑิตย่อมมองตัวเอง คนพาลมองออกไปข้างนอก มองคนอื่น ไปเอาความผิดจากคนอื่น ไปเอาความถูกจากคนอื่น บัณฑิตมองตน เปลี่ยนดวงตากลับมามองเรา แม้คนอื่นผิดก็มองเรา แม้คนอื่นถูกก็มองเรา มองตนเองอยู่เสมอ บัณฑิตย่อมมองตนอยู่เสมอ ก็เลยไม่มีปัญหา ปัญหาต่าง ๆ มันเกิดจากเรา เกิดจากคนอื่นเราแก้ไม่ได้ แต่เราแก้ที่เรา เราเปลี่ยนที่เรา ถ้าทุกคนเปลี่ยนที่ตัวเอง โลกมันก็สงบ เพียงดีดนิ้วมือเดียว ถ้าทุกคนมองตนมองตน ไป ไปทำงานทำการ เพื่อนร่วมงาน มีการมีงาน ความยาก ความง่าย มองตน ยากก็เห็นมันยาก ไม่ใช่เป็นผู้ยาก ง่ายก็ง่าย ก็เห็น ไม่ใช่เป็นผู้ง่าย เป็นการกระทำโดยสุจริตบริสุทธิ์ใจ เป็นกรรมล้วน ๆ ไม่มีอะไรเข้าไป เป็นกิริยา การทำงานเป็นกิริยา ไม่ใช่ยุ่งไม่ใช่ยาก เป็นกิริยาของคนทำงาน ต้องแสดงออก มีกาย มีสติ มีปัญญาไปเกี่ยวข้องกับการกับงาน ทำผิดทำถูก มันเป็นงานเป็นการ คนที่ไม่ทำงาน มันก็ไม่มีผิด มันก็ไม่มีถูก คนทำงานก็ต้องก็มีผิดมีถูกเป็นธรรมดา ใครก็ตาม ถ้าเราผิดก็ เออ! เราก็ผิด เขาผิด เราก็ผิด ผิด(เป็นผิด)ถูกเป็นถูก ไม่ต้องไปจริงไปจัง ไปดุไปด่า เอ้อ! มันก็ผิดเป็นธรรมดาหนอ พูดกันดี ๆ เห็นความผิดช่วยกันแก้ไข เห็นแล้ว เห็นแล้ว เห็นความถูกพากันสร้างสรรค์ มันก็ดี ไม่ใช่อยู่นิ่ง คนผู้มีธรรม คนผู้มีธรรมนี่ ขยันกว่าเก่า ทำงานเป็นกิริยา ไม่เป็นกรรม ถ้าเหน็ดเหนื่อยก็เหน็ดเหนื่อยแต่ทางร่างกาย ใจไม่เหน็ดเหนื่อย ใจมันขี่คอ เหมือนกับเขาวิ่งขี่คอคนที่วิ่งอยู่ ความรู้สึกตัวเนี่ย ธรรมเนี่ย ไม่ได้เหน็ดได้เหนื่อยเลย ขี่คอคน ขี่คอผู้ทำงาน ไม่เหนื่อย เหมือนกับว่ามีกายมีจิต ยิ่งทำงานทำการ จิตก็ยิ่งนิ่งดีนะ มันนิ่งตอนที่เรามีงานมีการ มีปัญหา มันนิ่งตรงนั้น เคยพูดแล้วว่า เหมือนกับรถมีคุณภาพ มีสมรรถนะดี เวลาลุยโคลน มันก็เอาพลังออกมาใช้ เวลาขึ้นเขา มันเอาพลังออกมาใช้ เวลาตกหลุม มันก็เอาความนิ่มออกมาใช้ เวลาหลบเวลาเลี้ยว มันก็เอาพลังของความสมบูรณ์ของรถออกมาใช้ ตามคุณภาพของเขา
ชีวิตที่มีคุณภาพที่เราฝึกฝนมาดีแล้ว เหมือนกับคนโบราณพูดว่า ไม้จันทร์แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น แห้งขนาดไหนก็ไม่ทิ้งกลิ่น ผู้มีศีลมีธรรมย่อมมีกลิ่นศีลกลิ่นธรรมอยู่ตลอดเวลา ไม่ทิ้ง ไม่ทิ้งศีล ไม่ทิ้งธรรม ไม่ทิ้งสติ ไม้จันทร์แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น หัสดินคือนักรบ เมื่อเข้าสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา สงครามคืออะไร คือรูป คือรส คือกลิ่น คือเสียง เป็นดงแห่งโลก ก็ไม่ทิ้งลีลา ลีลาของผู้ปฏิบัติ มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ เกี่ยวข้องกับสิ่งใด ก่อนพูด ก่อนทำ ก่อนคิด ลีลาของนักปฏิบัติ การทำงานทำการ ก้าวลงสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา หัสดินคือนักรบ รบกับข้าศึก คือกิเลสธรรมทั้งหลาย มีช่องมีทาง เห็นหมดทุกอย่างแล้ว เห็นความหลง เห็นความรู้ ลีลาแห่งความรู้สึกตัวมาไว มาไว มาไว ความรู้สึกตัว อ้อยแม้จะเข้าสู่หีบจน ก็ไม่ทิ้งรสหวาน ไม่หนีคำว่าหวานไปอยู่ตรงไหน ยังหวานอยู่ เขาหีบ เขาปั้น เขาอะไรก็ตาม ยังหวานอยู่ ผู้มีศีลมีธรรมก็อยู่ในศีลในธรรมตลอดเวลา บัณฑิตคือผู้รู้แล้ว แม้จะประสบทุกข์จนตายก็ไม่ทิ้งธรรม ไม่ทิ้งธรรมคือความจริงของชีวิต คำว่าทุกข์ไม่มี คำว่าสุขไม่มี คำว่าเป็นอะไรไม่มี ธรรมชาติ ธรรมคือความจริง คือมันนิ่งอยู่แล้ว มันเห็นอยู่แล้ว เห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เห็นชัด เห็นแจ้งอยู่แล้ว เห็นตั้งแต่อยู่โน่นน่ะ ความไม่เที่ยงเห็นตั้งแต่อยู่วัดป่าสุคะโต ปฏิบัติเข้ม ความเป็นทุกข์ก็เห็นตั้งแต่อยู่วัดป่าสุคะโต ปฏิบัติเข้ม เขาฉายให้ดูหมดแล้ว หนังเรื่องเก่า ละครเรื่องเก่า ไม่มีรสชาติในเรื่องที่เขาแสดง เขาหลงก็ไม่มีรสชาติในความหลง จืดแล้ว รสของความหลงจืดไปแล้ว ไม่มีค่าสำหรับเรา รสของความโกรธจืดไปแล้ว ไม่มีค่าสำหรับเรา รสของความทุกข์จืดไปแล้ว ไม่มีค่าสำหรับเรา ทำให้หมดพิษหมดสงแล้ว พิษเรื่องนั้นไม่มีแล้วสำหรับเรา
เหมือนพระพุทธเจ้า ปฐมภาษิต “จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพอะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป” แต่ก่อนนี้เราไม่มีสติ ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสาร สงสารคือเกิดดับ เกิดดับ เกิดรัก เกิดชัง เกิดสุข เกิดทุกข์ เรื่องเก่าเอามาทุกข์ เรื่องเก่าเอามาสุข เรื่องเก่าเอามาโลภ มาโกรธ มาหลง ไม่มีอีกแล้วบัดนี้ ไม่มีอีกแล้ว วิ่งไปในอเนกชาติ บัดนี้เรามีสติเห็นแล้ว “โครงเรือนของเจ้าเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพอะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป” นี่เรียกว่าจืดแล้ว จืดแล้ว เรียกว่าปฏิบัติธรรม บัณฑิตแม้ประสบทุกข์จนตายก็ไม่ทิ้งธรรม ไม่ทิ้งความถูกต้อง ความชอบธรรม ความเป็นธรรม เห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นเรื่องนอกตัว สภาพจิตที่มันนิ่งมันฝึกดีแล้วเนี่ย ไม่มีหรอกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายในจิตที่บริสุทธิ์ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมีอยู่ในจิตที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะเขาไม่ฝึกตน ซุกซนไปอยู่ในความเกิด ซุกซนไปอยู่ในความเจ็บ ซุกซนไปอยู่ในความแก่ ความตาย บัดนี้ไม่ซุกซนเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่เหยียบขี้ฝุ่น ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับสิ่งใด บริสุทธิ์ เจริญสตินี่ทำให้จิตบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ เป็นพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ ไป ไปอยู่กับครอบกับครัว ไปอยู่กับการกับงาน ไปอยู่กับมิตรกับเพื่อน ไปทำความดี ไปทำความดี อย่าหลง พยายาม พยายามเพียรไปเรื่อย ๆ อาจจะได้บรรลุธรรมขณะที่ทำงานอยู่ก็ได้ บรรลุธรรมไม่ใช่อยู่สุคะโต แต่ว่ามันก็บรรลุธรรมไปแล้วละ พอมันหลงก็รู้ บรรลุธรรมแล้ว มันทุกข์ขึ้นมาก็รู้ เห็นความทุกข์ บรรลุธรรมแล้ว มันง่วงเหงาหาวนอน รู้สึกตัว บรรลุธรรมแล้ว ทางเรากรุยไปแล้ว เราเหยียบไปแล้ว รอยทางเราเดินไปแล้ว เห็นแล้ว เหมือนเราเดินจงกรมกลับไปกลับมา อ้าว! เดินกลับไปกลับมา เป็นทางไปแล้ว เดินมีสติ เดินอยู่บนกายบนใจของเรา เป็นทางให้เราแล้ว เห็นทางแล้ว เห็นกระแสแล้ว เป็นอย่างนี้การปฏิบัติธรรม พวกเราก็จะกลับวันนี้ ตามสมมติบัญญัติ แต่ปฏิบัติไม่กลับ ไม่ปิด ไม่อะไร อยู่ตรงไหนก็มีสติเรื่อยไป