แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เพื่อให้เป็นส่วนประกอบ กับการศึกษาปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติ มันเกิดอะไรขึ้น มันไม่เกิดอะไรขึ้น เราทำอย่างไร อาศัยการได้ยินได้ฟัง เป็นการช่วยตัวเอง ฝึกหัดตัวเอง หาแนวร่วมหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้สิ่งต่าง ๆ มันคล่องตัว เวลานี้เรามาเจริญสติ
ภาคปฏิบัติ ก็คือเรื่องการเจริญสติสัมปชัญญะ ภาคปฏิบัติก็เอาสติมาตั้งไว้ที่กาย อย่าไปควบคุมจิตใจ เอาทิ้งไว้ก่อนเรื่องจิตเรื่องใจ ว่าแต่เรามีสติ มากำหนดอยู่ที่กาย ตั้งไว้ที่กาย ให้มันสมกับชื่อว่าเป็นวิชากรรมฐาน มีที่ตั้ง มีการกระทำ เอากายเป็นการบุกเบิก มีสติไปกับกายเสียก่อน เมื่อมีสติไปอยู่กับกายแล้ว เรื่องของจิตมันก็ค่อยเป็นค่อยไป แม้นมันจะเกิดอะไรแทรกขึ้นมา แซงขึ้นมา เกี่ยวกับจิต ก็อย่าไปยุ่งกับมัน แล้วกลับมาตั้งไว้ที่กาย รู้กายไปก่อน อย่าหุนหันพลันแล่น ค่อยเป็นค่อยไป อย่าลุกลี้ลุกลน ให้จิตสั่งงานสั่งการตะพึดตะพือ ให้จิตที่มันคิดหอบหิ้วไป มันก็ไม่ได้เสมอไป เราจึงต้องฝึก หัดที่กายไว้ก่อน แม้นมันจะคิดเรื่องใด บางทีมันเอายาก เอาง่ายมาใส่ เอาผิด เอาถูก เอาชอบ เอาไม่ชอบมาใส่ นั่นแหละเราจะได้เห็น จะได้เห็นเงื่อน เห็นไข บางทีไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ความยาก ไม่ต้องไปเป็นผู้ยาก เห็นมันยากมันง่ายไป มาตั้งไว้ที่กาย รู้สึกตัว รู้สึกตัวไปก่อน
วิธีปฏิบัติ เหมือนเราเดิน เข้าดงเข้าป่า เหมือนเข้าป่า มันก็ต้องมีป่า รู้จักหลบ รู้จักหลีก จะต้องเดินไปตะพึดตะพือ เลาะเลี้ยวไปบ้าง หลบหลีกไปบ้าง มันจึงจะเป็นการเดิน ถ้าไปเจออะไรเข้าก็หยุดซะ เจอบ่อเจอน้ำก็หยุดซะ ไปไม่ได้ ไปไม่ได้ มันไม่ใช่ มันมีทาง ถ้าเราเพียรพยายาม พอข้ามก็ข้าม พอลอดก็ลอด พอหลีกก็หลีก ว่าแต่ก้าวไปเรื่อย ๆ ความรู้สึกตัว ก็เหมือนกับไปเรื่อย ๆ รู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ ความหลงก็หลบไปเรื่อย ๆ ไปหาความรู้เรื่อย ๆ อะไรที่มันขวางหน้าขวางตา ที่ไม่ใช่ความรู้ เราก็มีหลักอยู่แล้ว ก็หลบไปเรื่อย ๆ การรู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ การรู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ การกำหนด การเคลื่อน การไหว ช่วยตัวเองไปเรื่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ เสียก่อน นี่ มันจะคล่องอย่างนี้ พอมันคล่องตัว มันไป มีอะไรเกิดขึ้นมันรู้ มีอะไรเกิดขึ้นมันรู้สึกตัว ไปแล้ว ไปแล้ว ความยากเกิดขึ้นก็รู้สึกตัว ความทุกข์เกิดขึ้นก็รู้สึกตัว ปัญหา ความร้อน ความหนาว ความปวด ความเมื่อย ความอะไรต่าง ๆ มันเกิดขึ้นมา รู้สึกตัวไป รู้สึกตัวไป เอาง่าย ๆ ไปก่อน เบา ๆ ไปก่อน อย่าพึ่งไปแก้อะไร อย่าไปแก้ความยาก อย่าไปแก้ความง่าย อย่าไปอยากได้ความง่าย อย่าให้ความยากเป็นใหญ่ อย่าให้ความง่ายเป็นใหญ่ เบาไปก่อน รู้ไปก่อน รู้ไปก่อน
เหมือนรถที่มันติดหนัก เข้าเกียร์ เข้าเกียร์หนัก ความหนักมันเป็นเรื่องเบา มันทำให้เบา มันทำให้ไปได้ ชีวิตเราก็มีอย่างนั้นเหมือนกัน ความรู้สึกตัวมันพาให้เบา ความยาก ความง่าย ความชอบ ความไม่ชอบ มันจะหอบหิ้วเราไป มันจะหลงไป ทำให้หนัก อย่าไปเอาแบบนั้น มันหนัก โดยเฉพาะไปเล่นกับจิต ความคิดต่าง ๆ มันขวาง มันกั้น ทำให้เกิดการขวางกั้น เป็นเรื่องจิต เราเรียกว่า “นิวรณธรรม” เหมือนภูเขา แล้วมันก็เพียร มันก็พยายามที่จะขวางกั้นไว้จริง ๆ มันเป็นตรงกันข้าม ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน ใจเร่าใจร้อน พยาบาท ราคะ เกิดขึ้น มันขวางไว้ แล้วมันก็ไม่มีอะไร
เอาจริง ๆ แล้ว ความยากมันก็อาจจะกลายเป็นความง่าย ปัญหาอาจจะกลายเป็นปัญญา ความกลัวอาจจะกลายเป็นความไม่กลัว ความทุกข์อาจจะกลายเป็นความไม่ทุกข์ มันก็เป็นไปเอง อย่าให้ไปจบอยู่กับทุกข์ อย่าให้ไปจบอยู่กับความสุข อย่าให้ไปจบอยู่กับความกลัว ความกล้า อันนั้นไม่ใช่ชีวิตของเรา เรียกว่า “ขวางกั้น”
ชีวิตของเราจริง ๆ ต้องรู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ รู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ อะไร ๆ ก็ตาม ตัวรู้สึกตัวนี่ เฉลยไปแล้ว เฉลยไปแล้ว กลับมารู้สึกตัว วัตถุที่รู้ก็มีกาย หัดตรงนี้ หัดตรงนี้ไปก่อน วิธีปฏิบัติ ความยากก็กลายเป็นความง่าย ว่าแต่เข้าข้างความรู้สึกตัว เอากายมาเจตนา กำหนดรู้สึกตัวไป นี่เป็นวิธีปฏิบัติ ส่วนวิธีอย่างอื่นมันก็ค่อยดีไปเอง คนที่ใจเร่าใจร้อนก็จะเย็นไปเอง คนที่จิตใจกระพึดกระพือ กระฟัดกระเฟียด อะไรต่าง ๆ ลุกลี้ลุกลน มันก็จะชัดเจนไปเอง การฝึกตัวเองก็ต้องฝึกอย่างนั้น อย่าเอาอันอื่นมากำหนด
กำหนดชีวิตของเราไปเอง หัดไปเอง เมื่อเราสอนกาย อยู่กับกาย รู้ที่กาย มันก็เป็นเรื่องของจิตนั่นแหละ ความรู้สึกตัว มารู้ที่กาย มันก็สอนจิตโดยตรง หน้าที่โดยตรงมันก็สอนจิตนั่นแหละ แต่อย่าไปสอนมันตรง ๆ มันโดยอ้อม การสอนจิต ไม่ใช่ไปห้าม ไปชนกับเขา ความโกรธก็อดเอา ความกลัวก็อดเอา ความหิวก็อดเอา ความร้อน ความหนาวก็อดเอา สู้เอา
เอาจริง ๆ มันไม่ได้สู้ การปฏิบัติธรรมน่ะ มันเป็นการข้ามล่วง การสู้นี่มันเจ็บปวด มันต้องข้ามล่วงไป มันหลงก็รู้เนี่ย ข้ามไปแล้ว ข้ามความหลงไปแล้ว มันทุกข์ก็รู้เนี่ย ข้ามไปแล้ว ไม่ได้สู้เลย ไม่ถูกอะไรเลย มันไม่ถูกเรา ความทุกข์มันก็ไม่ถูกเรา ความหลงมันก็ไม่ถูกเรา ความโกรธมันก็ไม่ถูกเรา ความกลัวมันก็ไม่ถูกเรา ความร้อน ความหนาว ความปวด ความเมื่อย อะไร ๆ ไม่ถูกเรา ว่าแต่รู้สึกตัวมันเป็นการข้ามล่วง การข้ามล่วงอย่างนี้ ท่านเรียกว่า “อริยมรรค”
อริยมรรค มันเป็นตัวปฏิบัติลงไป มันข้ามอะไรได้ ผ่านอะไรได้ ท่านเรียกว่า “มรรค” มันเป็นทางผ่าน มรรคน่ะมันเป็นทางผ่าน ไม่ใช่ทางตัน พระพุทธเจ้าพบทางสายนี้ พบทางเส้นนี้ ทางเดินของชีวิต ที่จะได้ชีวิต ถ้าแบบนี้มันได้ชีวิต ชีวิตแบบนี้ มันก็ค่อย ๆ หนี เหนือ เกิด แก่ เจ็บ ตายไปเอง นี่เราต้องปฏิบัติอย่างนี้ วิธีเราก็ไม่ต้องไปค้นหา มันโดยตรงอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าก็สอนไว้เป็นแผนที่ ไม่ต้องไปเปลืองสมองคิดหาแบบใหม่อื่นใดทั้งหมด เรานำมาใช้ นำมาปฏิบัติ ตั้งไว้ที่กาย ที่จิตของเรา
จิตที่ไปตั้งไว้ ก็ไม่ใช่จะไปควบคุม เพราะว่ารู้จิต ดูกาย ดูจิต ดูกาย เห็นจิต ดูคิด เห็นธรรม ก็หมายถึง การมาเจริญสติ มันเห็นจิต มีสติดูกาย มันจะเห็นจิตชัดเจน เห็นจิต คือเห็นอย่างไร คือเห็นมันสุข มันทุกข์ เห็นมันคิด คิดที่เกิดขึ้นกับจิต ถ้ามันคิดทีไร เห็นมัน กลับมา เห็นจิต ดูกายแต่ว่ามันเห็นจิต พอมันคิดมันก็เห็นธรรม ที่เป็นธรรม ที่มันครอบงำคือจิต บางทีมันมีอะไรที่เกิดจากจิต ไม่ใช่จิตธรรมชาติ ที่เราเห็นมัน เป็นจิตที่ปรุง ๆ เป็นจิตปลอม ๆ เป็นจิตหลอก ๆ เช่น ความคิดนี่เรียกว่ามันหลอก ไม่ได้ตั้งใจสักหน่อย มันหลอกเรา พอเห็นจิตมันก็เห็นธรรม ดูคิดมันก็เห็นธรรม ว่าจะไปทำเรื่องนั้น แต่ว่าเรื่องนั้นมันเกิดขึ้น..กลับมา กลับมาดูที่กาย รู้สึกตัวอยู่ที่กาย ขนเอาอิริยาบถ ขนเอาบรรพต่าง ๆ มาสร้าง มาใช้ มาตั้ง
โดยเฉพาะเรื่องของจิตนี่ มันหลอกได้สำเร็จนะ มันก็หลอกจิต มันก็หลอกได้ทั้งหมด ทุกอย่าง สิ่งไหนที่มันเกิดขึ้นกับจิต มันหลอกเก่ง นึกว่าตัวว่าตนทั้งหมด ไม่ใช่ดอก มันโกรธก็เป็นผู้โกรธน่ะ มันหลอกแล้ว สำเร็จแล้ว มันทุกข์ก็เป็นผู้ทุกข์ มันหลอกแล้ว ความหลอกของเขาสำเร็จแล้ว มันกลัวก็เป็นผู้กลัว มันหลอกแล้ว เขาหลอกสำเร็จ ถ้าอะไรเกิดขึ้นจากจิต ถ้าจะไปสู้ตรงนั้นมันก็เป็นไปได้ยาก แต่ว่ากลับมา กลับมา กลับมาตั้งไว้ที่กาย กลับมาตั้งไว้ที่กาย รู้ที่กาย รู้ที่กาย พอมันหลอกทีไร..กลับมารู้ที่กาย ไม่สนใจ
ตัวรู้ เมื่อมันรู้มากขึ้น มากขึ้น ๆ เอาไปเอามา มันก็หลอกไม่ได้ มันอายเหมือนกัน อายตัวรู้สึกตัวเพราะตัวรู้เนี่ย เป็นธรรมกว่าตัวหลอก หลอกให้สุข หลอกให้ทุกข์ หลอกให้โกรธ หลอกให้โลภ หลอกให้หลง หลอกให้รัก หลอกให้ชัง หลอกให้เป็นไปต่าง ๆ
เราจึงมาสร้างตัวรู้สึกตัว ตัวรู้สึกตัว ตัวรู้สึกตัวไปก่อน ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม การที่จะมาอยู่กับความรู้สึกตัว กับกายไปนี้ มันเป็นการฝึกหัด ให้นิ่มให้นวล ให้เชื่อง ให้ช้า ให้อ่อนโยน ให้สุขุม ให้รอบคอบ มันก็ทำให้เกิดความรอบคอบได้ ถ้าหลุดออกไป กลับมารู้สึกตัว มันทำให้รอบคอบ ทำให้เกิดปัญญา เพราะมันตั้งไว้แล้ว อะไรที่มันจะหลุดไปจากตรงนี้ มันก็กลายเป็นปัญญา ไม่ใช่ปัญหา เวลาเจริญสติ เจตนาสร้างจังหวะ ยกมือ ๆ เคลื่อนไหวไปมา มันเกิดอะไรขึ้นมา ที่นอกจากการกำหนดรู้อยู่ที่กาย ถ้าดูดี ๆ มันก็เป็นปัญญา ไม่ใช่ปัญหา
มันปวด มันเมื่อย ก็รู้แล้ว โอ้! ความปวด ความเมื่อย มันสักว่ากายหนอ กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
มันสุข มันทุกข์ มันเจ็บ มันปวด อะไรก็ตาม เรียกว่า เป็นสุขเป็นทุกข์ ที่เรียกว่า “เวทนา” มันก็เป็นปัญญา ว่าเวทนาสักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
อ้าว! มันแสดงทางจิต มันคิดไป ปรุง ๆ แต่ง ๆ ไป ที่มันลักคิดบ้าง ที่มันเกิดอารมณ์ย้อมจิตบ้าง ก็เห็น จิตสักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
อ้าว! ความง่วงเหงาหาวนอน ที่มันเป็นธรรม ที่มันครอบงำ ความลังเลสงสัย โอ้! ธรรมก็สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
มีสติ กลับมาดูที่กาย มันก็เห็นนะ กลายเป็นปัญญาทั้งหมดเลย อ่านได้ ไม่ตัน ถ้าเรามีหลัก ถ้าเราไม่มีหลัก สิ่งเหล่านี้ก็ตัน ไปเจอความปวด ความเมื่อย ไปเจอความยาก ก็อยากได้ความง่าย ไปเจอความผิด ไม่อยากให้มันผิด ไปเจอความคิด ไม่อยากให้มันคิด ไปเจอความง่วง ก็ไม่อยากให้มันง่วง มันไม่ใช่ มีแต่สิ่งที่ทำให้เกิดการข้ามล่วง มันต้องเก่ง ถ้าไม่เจอสิ่งเหล่านั้น มันไม่เก่ง ของนักเดินทาง ของผู้เรียนรู้ ต้องมีประสบการณ์ คนผู้ทำงานก็ย่อมมีการผิดพลาด ความผิดพลาดทำให้เราชำนิชำนาญ ประสบการณ์ในการทำงาน คนที่ไม่ทำอะไรเลย มันก็ไม่มีอะไรผิดเลย
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เข้าค่าย เข้าสนาม ลงสนาม ฝึกซ้อม การปฏิบัติ ซ้อมกาย กับความรู้สึกตัว มีอะไรมาแยก ก็ซ้อมให้มันเกิดเข้ากลับมาหากันอีก ซ้อมเอาไว้ มันหลงทีไร รู้ทีไร เรียกว่า “ซ้อมแล้ว” ลงสนาม มันสุขทีไร มันทุกข์ทีไร ก็รู้สึกตัว ซ้อมแล้ว ซ้อมซะให้ชำนาญ ในเรื่องความหลงกลายเป็นความรู้ ความทุกข์กลายเป็นความรู้ ความโกรธกลายเป็นความรู้ ความกลัวกลายเป็นความรู้ ปัญหาต่าง ๆ ความยาก ความง่าย กลายเป็นความรู้ ชำนาญในความรู้สึกตัว ไปเกี่ยวข้อง ทุกเรื่องทุกราว มันก็ไปได้เหมือนกัน สิ่งที่ทำได้เหมือนกัน ไม่ใช่ทำไม่ได้ ว่าแต่เรา อย่าหุนหันพลันแล่น อย่าวู่ ๆ วาม ๆ อย่ารีบ ๆ ลน ๆ กุลีกุจอ จับ ๆ จด ๆ ผิด ๆ ถูก ๆ อย่าให้มันเป็นอย่างนั้น เหนือทุกอย่าง มาเหนือเมฆ
ความรู้สึกตัว มันมาเหนือเมฆ ความรู้สึกตัว มันไม่เป็นอะไร มีแต่ความรู้สึกตัวมันเหนือ มันหลงก็รู้เนี่ย มันทุกข์ก็รู้ รู้สึกเนี่ย มันโกรธก็รู้สึก มันยากก็รู้สึก มันง่ายก็รู้สึก ความรู้สึกตัว มันไม่เป็นอะไร ไม่ติดอะไร เหมือนกับใบบัวที่ลอยอยู่ในน้ำ มันไม่ติดน้ำ มันพือออก หงายขึ้นบนท้องฟ้า เวลาฝนตกลงมา แต่ก่อนนี่เห็นใบบัว ใบบัวมันพ้นน้ำก็มีนะ มันพ้นน้ำ...ขึ้นไป ใบมันก็ทำเป็นอ่าง เป็นอ่างเหมือนชาม ใบบัวที่ไม่มีรู มีโบ๋ ฝนตกลงมา เรานั่งอยู่ศาลาน้ำ เสียงน้ำ ฝนตกลงใส่ใบบัว มันก็มีโอกาสขังน้ำ พอมันขังมาก ๆ มันก็เอียงไป ไหลออกโจ้ก.. มันก็ยืนขึ้นมาใหม่ เวลามันเต็มขึ้นมาก็เอียงไป ไหลออก ใบบัวยังแจ๋ว ไม่ชุ่มไม่เปียก มันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติที่มันเป็นธรรมชาติจริง ๆ ชีวิตเราที่เป็นธรรมะ ธรรมะมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ
มันทุกข์ มันก็เพื่อไม่ทุกข์ มันหลง มันก็เพื่อไม่หลง มันโกรธ มันก็เพื่อไม่โกรธ มันกลัว มันก็เพื่อไม่กลัว มันมีอยู่แล้ว อย่าไปจบลงไปตรงที่มันเป็น ต้องเห็นมัน ความเป็นนี่มันเป็นอวิชชา มันมืด มันบอดภาวะที่เห็นเนี่ย มันรู้แจ้ง ไม่มืดบอด มันพบเส้น พบทาง
คนทำอะไรไม่เป็น ว่าแต่มาทำตรงนี้ ก็ทำเป็น มาศึกษาเรื่องชีวิตของเรา เป็นไปเอง ไม่เหมือนกับเราเรียนวิชาต่าง ๆ ต้องใช้สมอง ต้องใช้วัตถุ ต้องใช้เงินใช้ทอง ต้องใช้โอกาส ต้องมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่ว่าการศึกษาชีวิตจริง ๆ เนี่ย เป็นยังไงมาก็ได้ ว่าแต่มาจับตรงนี้เสียก่อน ไปได้ทุกคน ตัณหาก็เหมือนกันทุกคน ไม่ต่างกัน มีกายก็มีกายเหมือนกัน มีจิตก็มีจิตเหมือนกัน มีร้อน มีหนาว มียากมีง่าย มีเหมือนกัน ก็เห็นเหมือน ๆ กัน ไม่มีใครไม่เห็น อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าเราคนเดียว คนอื่นก็เหมือนกัน เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังเห็นเหมือนเรา เป็นพระพุทธเจ้าก็เห็นเหมือนเรา ไปทางเดียวกันกับพระพุทธเจ้า เดินทางไป กับพระอรหันต์ทั้งหลาย เจริญสติก็มีสติเหมือนกัน มีกายเหมือนกัน เอากายมากำหนดรู้ ด้วยการรู้บรรพต่าง ๆ เดินจงกรม สร้างจังหวะ หายใจเข้า หายใจออก ยืน เดิน คู้เหยียด เคลื่อนไหว เหมือนกัน มีจิตมันก็คิดเหมือนกัน
ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว สมัยครั้งพระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพียรเนี่ย คงจะยากกว่าพวกเรา พระอรหันต์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ยากกว่าพวกเราแน่นอน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีกุฏิ ศาลา ไม่มีผ้าปูนั่ง ไม่มีเทคโนโลยีเหมือนพวกเรา ลำบากกว่าพวกเรา พระพุทธเจ้าเวลาปฏิบัติธรรม อยู่ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ก็ไม่ได้นั่งอยู่หอไตร พระพุทธองค์คงไม่ได้นั่งแบบนี้ อยู่ใต้ต้นโพธิ์จริง ๆ ไปดูแล้วก็มีแท่นนั่งอยู่ตรงนั้นจริง ๆ และก็ฝนตกก็เปียกจริง ๆ แดดออกก็ร้อนจริง ๆ ยุงก็บินมา ลมก็พัดมา งูก็เลื้อยมา อยู่ในป่าในดงก็ต้องเกิดอะไรขึ้น
เหมือนกับอยู่ที่นี่ สมัยก่อน 30 ปีก่อน บางทีช้างมันก็มา เสือมันก็มา งูมันก็เลื้อยมา ทำท่าทำทางใส่เราเหมือนกัน พวกเก้งมันก็มาย่ำเท้าใส่เรา เห่าเรา พวกช้างมันก็มา เป่าปาก...ใส่เรา พวกเสือมันก็ร้องตลอดคืน ปี 2516 หนาวมาก ร้องตลอดคืน เสียงหมีกัดกัน เวลามันผสมพันธ์ เดือนพฤศจิกายน เสียงกัดอยู่ผาผึ้งบ้าง เสียงกัดกันอยู่ภูกลางบ้าง เสียงกัดกันอยู่ภูสามชั้นบ้าง โครกเครก ๆ ตลอดคืน แล้วก็ถ้าเราไม่บำเพ็ญธรรม มัวแต่ไปคิด ฟังอันนั้น กลัวอันนั้น ชอบอันนั้น บางทีเสียงนก เสียงหนู เสียงอะไร ดังตลอดคืน บางทีมันก็เหมือนกับเสียงผู้เสียงคน พึมพำ พึมพำมา บางทีก็เสียงรถ รถมอเตอร์ไซด์มันมาได้ไง มาจอดอยู่ใต้ถุนกุฏิเรา ... โอ้! ใครขับรถมานี่หนอ ที่จริงไม่ใช่ เสียงเม่น มันสั่นขน เสียงตุ๊กแกตัวใหญ่ ๆ ค้างคาวตัวใหญ่ ๆ เสียงนก...ร้อง แจ้งแล้ว แจ้งแล้ว หลวงพ่อ แจ้งแล้ว ฟังแล้วก็ปรุง ๆ แต่ง ๆ ไป เสียงนก เสียงอะไร เสียงเห็น เสียงสัตว์ป่า ก็อาจจะกลัวนะ ... ไม่ไหว ๆ
พระพุทธเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ คิดถึงพิมพา ราหุล เปรียบเทียบกับปราสาทสามฤดู กับต้นศรีมหาโพธิ์ โอย! ทำไมเรามาอยู่นี่หนอ สาวสนมกำนัลใน พิมพา ราหุล พระราชวงศานุวงศ์ ทรัพย์สินศฤงคาร คนที่เคยเป็นสุขุมาลชาติ มาอยู่อย่างไม่มีอะไรเนี่ย ต้องคิดแน่นอนล่ะ คิดแน่นอน แต่ว่าการคิดนั่นแหละทำให้เกิดญาณ เกิดปัญญา จนได้สอนพวกเราว่า กายานุปัสสนาฯ เวทนานุปัสสนาฯ จิตตานุปัสสนาฯ ธัมมานุปัสสนาฯ นี่แหละเป็นหลัก แล้วก็เห็นนิวรณธรรม เป็นภูเขาขวางกั้น ความง่วงเหงาหาวนอน ความคิดฟุ้งซ่าน พยาบาท กามราคะ มานะ ทิฐิ สำคัญมั่นหมายว่าตัวว่าตน เกิดอะไรขึ้นว่าตัวตน กูโกรธ กูยาก กูง่าย เกี่ยวกับกายก็กู เกี่ยวกับใจก็กู มีแต่กูเต็มไปหมด ความร้อน ความหนาวก็กู ความกลัว ความกล้าก็กู กูกลัว กูไม่กลัว กูร้อน กูหนาว กูชอบ กูไม่ชอบ กู..เต็มไปหมดเลย
พอมารู้สึกตัว มันรื้อกูออก มันเห็นเข้าไปเนี่ย พวกเรายังมาแบบงด ๆ งาม ๆ บางคนมาเป็นครอบเป็นครัว เป็นผัวเป็นเมีย เป็นลูกเป็นเต้า ลูกชายมาบวช พ่อแม่มาด้วย ลูกศิษย์ลูกหามา ครูอาจารย์มาด้วย เพื่อนฝูงมาด้วย ขับรถมาจอด กุฏิทำอย่างดี มีไฟฟ้า น้ำร้อน น้ำอุ่น อาหารการกิน มีคนมาปรุงให้ มีเงินมีทอง อยากอะไรก็หามากินกันได้ แต่สมัยครั้งพระพุทธเจ้าไม่มีเด็ดขาด ถึงคราวที่อดยากไปบิณฑบาตโรงเลี้ยงม้า ก็ได้ข้าวปน... กินข้าวทั้ง... เขาต้ม ลองดูสิ ขนาดนั้นยังได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า กี่หมื่นกี่พันรูป
เรานี่โอย! ข้าวกล้องอย่างดี อาหารอย่างดี ยังว่ามันยาก ยังว่าทำไม่ได้อยู่ มันจะไปเกิดภพไหนชาติไหน จะโง่ไปอีกกี่ภพกี่ชาติ เวลานี้ไม่ได้บรรลุธรรม ก็หมดหวัง วันนี้ด้วยซ้ำไป ไม่รู้สึกตัวเลย ปล่อยให้ความคิดย่ำยีตัวเอง ปล่อยให้ความกลัว ความคิดอะไร ย่ำยีตัวเอง ไม่รู้ว่าจะไปผุดไปเกิดที่ไหน ไม่มีทาง นี่แหละมาเห็นอย่างนี้แหละ มันเห็นของจริงนะ ที่มันเกิดขึ้นให้เราดูเนี่ย นี่ล่ะศึกษาของจริง ศึกษาของจริง ไม่ใช่คิด ๆ ดุ้น ๆ เอา เดา ๆ เอา คิดว่ามันจะเป็นอย่างโน้น คิดว่ามันจะเป็นอย่างนี้ อะไร ๆ ก็ใช้ความคิดทั้งหมด ไม่ใช่
พอมาดูเข้า มีสติเข้า โอ้! มันเห็นกับหูกับตา มันก็ทำกับหูกับตา ทำกับมือ ทำได้กับมือ มันหลงไปก็กลับมารู้ที่กาย มันทำได้จริง ๆ มันเคาะหัวเข่าจริง ๆ นี่ ๆ มันมั่นอย่างนี้ มันหลงปั๊บ กลับมารู้อย่างนี้ โอย! สมใจ สมน้ำหน้าความหลงก็ได้ สมนำหน้าความทุกข์ก็ได้ สมน้ำหน้าความโกรธ สมน้ำหน้ากิเลสตัณหา มันทำอย่างสมจิตสมใจ ปฏิบัติธรรม ทำกับมือของเรา ทำกับตัวของเรา การกระทำของเรา การกระทำนี่แล้ว การกระทำนี่แหละ
มันหลงก็รู้ นี่เรียกว่า “การกระทำ” แล้ว ไม่มีอะไรจะชัดเจนไปเท่ากับการปฏิบัติภาวนา ในการศึกษาในโลกเนี่ย แม่นยำ ถ้าจะเป็นวัตถุ เหมือนหลวงพ่อเปรียบเทียบ แต่ก่อนนี้เสาศาลาน้ำ มันเอน ศาลาน้ำมันเอน มันทำท่าจะล้ม เราไปยกขึ้น ดึงขึ้น เสริมเสา เปลี่ยนเสา แน่นตึ๊บ โอ! สมน้ำหน้า มัน ความไม่ดี ความโทรม เสาศาลาไก่สมัยก่อน ปลวกกินกัด เวลาขึ้นไปนั่งโยกเยก โยกเยก นั่งยกมือสร้างจังหวะเฉย ๆ ก็โขยกเขยกแล้ว เปลี่ยนเสาใหม่ ตั้งตอเสาใหม่ ตึ้บลงไป แน่นตึ้บลงไป สมน้ำหน้ามัน มันเป็นก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ การงานที่เราทำ อะไรที่มันเสียหาย ทำให้มันดี นี่เราจริง ๆ ตัวการกระทำจริง ๆ
ต้องเปลี่ยนได้อย่างนี้นะ มันหลงเปลี่ยนเป็นตัวรู้อย่างนี้ มันทุกข์เปลี่ยนเป็นตัวรู้เนี่ย มันโกรธเปลี่ยนเป็นตัวรู้ มันกลัวเปลี่ยนเป็นตัวรู้อย่างเนี้ย อะไรมันจะจริงไปขนาดนี้ ไม่มีหรอกการศึกษาในโลกนะ จึงมั่นใจเถอะพวกเรา
หลวงพ่อก็สะดวกสบาย การสอนความจริง ไม่หวังอะไร บริสุทธิ์ แต่ความจริงชนิดนี้ มันเอาให้กันไม่ได้ ต้องประสบการณ์ ต้องเป็นบทเรียนของท่านเอง ของตัวเราเอง ไปนั่งไปนอนอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร มันก็ได้แบบนั้นแหละ มาทำงานก็ต้องทำงาน มาเรียนก็ต้องเรียน ต้องประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ มีสติไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เราทำ มันก็มี เจตนาลงไป ตัวรู้ตัวหลงมันต่างกันอยู่ ต่างกันอยู่ ไม่มีคำถาม ความรู้สึกตัว มือวางไว้บนเข่า มือเราอยู่ตรงไหน เราไม่มีคำถาม เรารู้ของเราเอง ตะแคงมือ เราก็ตะแคงรู้เอาเอง ยกมือก็รู้เอง ไม่มีคำถาม เวลาใดมันหลง เราก็รู้เอาเอง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เอาเอง เราก็เปลี่ยนได้ทุกคนนะ ไม่ใช่ไปถาม ฉันหลงหรือเปล่า เวลาเรารู้สึกตัว ฉันรู้หรือเปล่า ความหลงหมดไปแล้วหรือยัง ความรู้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง มันไม่มีคำถาม มันมีแต่คำตอบ มันมีแต่คำตอบ ตัวเราตอบเอาเอง คนอื่นตอบให้ไม่ได้นี่คือของจริง ศึกษาของจริง ของจริงแบบนี้เป็นสากล สากลแห่งธรรมจริง ๆ การปฏิบัติ อย่าเอาลัทธิ อย่าเอานิกาย อย่าเอาชาติ อย่าเอาเพศ วัย อย่าเอาอายุ หนุ่ม สาว เฒ่า แก่ มาแบ่ง มาปัน มันเป็นอันเดียวกันอยู่
รู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้สึกตัวเนี่ย จะไปอาศัยใคร อาศัยตน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ เรื่องอย่างนี้ ไม่ใช่อาศัยคนอื่น เรื่องอย่างนี้เราช่วยตัวเราได้ ยกได้ ยกพลขึ้นได้ ข้ามล่วงได้ ความรู้สึกตัวข้ามได้ทั้งหมด ในกายในใจเรา ถ้ารู้สึกตัว เป็นสิ่งที่ยก ขนส่งออกได้ทั้งหมด เข้าถึงความรู้สึกตัว เข้าถึงความรู้สึกตัว ได้ทั้งหมด มันจะเกิด 84,000 เรื่อง เกี่ยวกับกายกับใจ เป็นความรู้สึกตัวได้ทั้งหมดเลย เนี่ย! มันเป็นอย่างนี้ สัจธรรมมันเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่สัจธรรม มันก็เป็นอย่างอื่นไป ถ้าความโกรธ ก็ต้องไปด่า ไปทะเลาะวิวาทกัน ความโกรธ มันต้องเป็นความไม่โกรธ ความทุกข์ ก็ต้องเป็นความไม่ทุกข์ ความกลัว ก็ต้องเป็นความไม่กลัว อะไรก็ตาม มันมีความชอบธรรม มีวิชชา มีอวิชชา
เป็นผู้รู้ เห็นมันรู้ วิชชา..เห็นมันรู้ มันโล่งมันแจ้ง คือเห็นความรู้ มันไม่รู้ก็เป็นผู้ไม่รู้ ผู้ศึกษาก็ต้องเห็นมันไม่รู้อยู่ มันสงบก็เห็นมันสงบ มันไม่สงบก็เห็นมันไม่สงบ มันเหนือจริง ๆ นะความรู้สึกตัวเนี่ย ไม่มีอะไรที่จะหลอกความรู้สึกตัวได้ ก็เป็นปัญญาเป็นเรื่อยไป มีแต่ปัญญา อันไหนที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจนี่ มาเป็นปัญญาได้ทั้งหมด
แต่ถ้าเราไม่ศึกษา มาเป็นความกลัว ความกล้า ความทุกข์ ความสุข ความยาก ความง่าย เป็นกิเลสตัณหา เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ในภพในภูมิ ครอบงำเรา
ถ้ามีปัญญาในเรื่องนี้ ก็หลุดออกไปแล้ว ไม่มีอะไรครอบงำ เหมือนกับถูกขัง เอาสุ่มเหล็กมาขังไว้ บัดนี้เราเปิดสุ่มเหล็กออกไป ไม่ถูกขัง เป็นอิสระ ความรู้สึกตัวพาให้เราเป็นอิสระ เกิดความเป็นธรรม ชอบธรรม
ถ้าเราพบอย่างนี้แล้ว ความชอบธรรมที่เกิดขึ้นกับคนนั้นคนนี้ ก็ไปบอกไปสอนกัน การสอนธรรมะ มันเป็นบุญ เรียกว่า “เทศนามัย” เกิดอานิสงส์ เกิดบุญมหาศาล “ธรรมสวนมัย” ฟังธรรม ก็เกิดบุญ เกิดกุศล ฟังเรื่องชีวิตของเรา ฟังธรรม..ก็คือฟังเรื่องชีวิตของเรา ปฏิบัติธรรม..ก็มาศึกษาเรื่องชีวิตของเรา เห็นธรรม..ก็มาเห็นเรื่องที่มันเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา ปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกิดกับชีวิตของเรา เห็นแล้ว เห็นปัญหาต่าง ๆ แก้ปัญหาต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องของชีวิตของเรา ไม่ใช่ไปแก้อะไรที่ไหน ไม่ใช่ไปมีโครงการ มีอุดมคติ ไม่ใช่แบบนั้น มันหลง ทำให้เกิดมีความรู้ ปัญหามัน มันทุกข์ทำให้เกิดมีความรู้สึกตัว อะไรเกิดขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกตัว นี่เป็นการแก้ปัญหา เป็นการเห็นปัญหา เป็นการเฉลยปัญหา ไม่ใช่ข้อเขียนเฉลยไป ไม่ใช่อย่างนั้น เราก็เคยเรียนแบบนั้นเหมือนกัน ก็ตอบได้ ได้สอบผ่าน ได้นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก สอบผ่านได้ เขาถามอะไรตอบได้ อันนั้นก็เป็นการศึกษาอันหนึ่ง แต่ว่ามันไม่ตอบ มันไม่เปลี่ยน เหมือนการปฏิบัติธรรม เช่น ในหนังสือสอนธรรมะ ธรรมวิภาคปริเขตที่หนึ่ง บอกว่า
ธรรมมีอุปการะมาก สติ ความระลึกได้, สัมปชัญญะ ความรู้ตัว
ธรรมอันทำให้งามสองอย่าง 1) ขันติความอดทน 2) โสรัจจะ ความเสงี่ยม
บุคคลหาได้ยากสองอย่าง
- บุพพการี บุคคลผู้รู้อุปการะก่อน
- กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วตอบแทน
ตอบได้ แต่ว่าเมื่อมาปฏิบัติแล้ว มันไม่ใช่อยู่ในหนังสือ โอ้! สติ ความระลึกได้เนี่ย เคลื่อนไหวไปมา มันระลึกได้ รู้สึกระลึกได้ ไม่ใช่คำพูดสักหน่อย เป็นการสัมผัสเอา เวลามันหลง ระลึกได้ขึ้นมา รู้สึกตัว เวลามันโกรธ ระลึกได้ขึ้นมา รู้สึกตัว เวลามันทุกข์ ระลึกได้ รู้สึกตัว เวลามันกลัว ระลึกได้ รู้สึกตัว โอ้! นี่เป็นสติสัมปชัญญะ เหมือนพ่อเหมือนแม่นะเนี่ย มันช่วยเราจริง ๆ อุปการะต่อเราจริง ๆ อุปการะในกายในใจเรานี่ ยกออกมาได้ พ้นออกไปได้ อุปการะเนี่ย โอ้! เหมือนพ่อเหมือนแม่ พระพุทธเจ้าจึงตั้งชื่อธรรมเหล่านี้ว่าอุปการะมาก เปรียบเสมือนพ่อเหมือนแม่ แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่กับเรา ตามความรู้สึกตัว ช่วยเราๆ
นี่แหละสิ่งที่จะมาช่วยเรา เราก็ต้องทำให้มี รู้สึกให้ระลึกได้ อย่างนี้ ๆ ๆ การปฏิบัติธรรม
พวกเราก็มีจำนวนมาก ก็ค่อยเป็นค่อยไป ขยับเขยื้อน ค่อยไป ฝึกหัดไป ค่อยสอดค่อยแทรก ค่อยวางตัว วางใจไปเรื่อย ๆ บางทีอาจจะมาอยู่ที่ใหม่ ๆ ไม่เคยชินต่อสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ก็อาจจะ..เกิดอะไรก็อย่าไปลังเลสงสัย ค่อยสอด ค่อยแทรก เย็นใจไว้ รอได้ คอยได้ ปรับเนื้อปรับตัวเอาไว้ มันค่อยเป็นไป มันเป็นไปได้ เป็นไปได้ ชีวิตของเรามันพัฒนาได้ ปรับเนื้อปรับตัว ปรับกาย ปรับจิต ค่อยเดิน ค่อยดูตัวเอง ค่อยดูคนอื่น ค่อยช่วยตัวเอง คอยช่วยคนอื่น
แต่พวกเราที่อยู่นี่ คิดเสมอว่า พวกเราที่มีอยู่ในธรรมวินัยทั้งหลาย ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านี่ ผู้ที่ยังไม่มา ขอให้มา สู่อาวาสของเรา เป็นความคิดของผู้ที่อยู่ ผู้ที่ปฏิบัติธรรม มีความคิดแบบนี้ ขวนขวายแบบนี้ การที่เตรียมเสนาสนะ สัปปายะทั้งหลายก็เพื่อการนี้ ผู้ที่ยังไม่มา ขอให้มาสู่อาวาสของเรา ผู้ที่มาแล้ว ขอให้อยู่เป็นสุข ๆ เราคิดแบบนี้ ผู้ที่สร้างกุฏิ อย่างคุณสุกัญญา พิษณุโลก เขามาสร้างกุฏิไว้ เขาว่า ถ้ามีคนพักกุฏิเขา เขาก็ได้บุญ เหมือนธนาคารออกดอกที่ฝากไว้ มีคนมาใช้ มีคนมาพัก มีคนมาอยู่ เขาก็ได้บุญทุกครั้งไป ผู้ที่มีจิตศรัทธามาสร้างกุฏิ เขาก็ได้บุญเมื่อเรามาใช้แล้ว ลิขิต หลาย ๆ คนที่มีสร้างไว้ หมอปราสาท ทางไหนมาสร้างไว้ เขาก็ได้บุญ เรามาใช้ อย่าไปขยะแขยง ผู้บริจาคอาหารการกิน เขาก็ได้บุญ ๆ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีอะไรที่ขวางกั้น ไม่มีอะไรที่หวง หึงไว้บริโภคผู้เดียว ไม่ใช่ เพื่อทุกคน เพื่อประโยชน์ เกื้อกูล มันเป็นอย่างนี้ สุคะโต ๆ เราก็สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยตรง ไม่ได้เป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้มาปฏิบัติ มีผู้มาอยู่บำเพ็ญสมณธรรม ก็สมปรารถนาของผู้มาสร้างวัด สร้างวา สมปรารถนาผู้ที่อยู่เพื่อศึกษาเรื่องงานเรื่องการอันนี้
ขอจงอยู่สบาย ๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่าลุกลี้ลุกล้น อย่าให้ใจมันเร่ามันร้อนเกินไป มันร้อนใจก็เย็นไว้ รอได้ คอยได้ไป ต้องฝึกหัดไปอย่างนี้นะ มันร้อน เอาเย็นไปใส่ มันยาก เอาง่ายไปใส่ มันทุกข์ เอาไม่ทุกข์ไปใส่ มันหลง เอาไม่หลงไปใส่ มันมีทางแบบนั้น การฝึกตน อย่าไปจบลงกับปัญหา ปัญหามันก็เป็นปัญญาได้ นี่ก็พูดให้ฟัง ๆ วิธีปฏิบัติ เราก็ ประสบการณ์ก็ตอบได้เวลาเราเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครเห็นกับเรา เราหลง ทุกท่านก็เห็นความหลงของตัวเอง เราก็เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ของตัวเราเอง เวลามันทุกข์ ท่านก็ทุกข์เอาเอง ท่านก็เปลี่ยนความทุกข์ ให้เป็นความรู้สึกตัวเอาเอง มันเป็นอย่างนั้นการปฏิบัติ มันเฉพาะหน้า มันเป็นปัจจัตตังของใครของมัน แม้แต่เป็นครูบาอาจารย์ที่คิดช่วยท่าน มันก็ไม่เห็นเหมือนตัวท่าน แต่ท่านรู้ตัวเมื่อท่านมาบอกเรา ก็จะช่วยชี้แจงให้ บางทีเราก็ชี้แจงเอง เทศนาเอง
การปฏิบัติธรรมมันเป็นเทศนามัย มันเป็นธรรมสวนมัยไปในตัว เหมือนกับเราเทศน์ แจกแจง เห็นรู้สึกตัว มันก็เห็นโน่น เห็นนี่ โอ! ความรู้สึกตัวเป็นอย่างนี้ ความหลงเป็นอย่างนี้ กลับมารู้สึกตัว เทศนา สอนตัวเราแล้ว เอาจริง ๆ คือสอนตัวเรานี่แหละ พวกเราก็เพียงเป็นกัลยาณมิตร ที่สนับสนุน ที่เอื้ออำนวย ที่สร้างให้สิ่งแวดล้อมช่วยกัน