แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แล้วเมื่อฟังแล้วก็นำไปใช้ นำไปทำ นำไปประกอบ อาศัยคำพูดไปทำให้มันเกิดที่กายที่จิตใจของเรา ไหน ๆ พวกเราก็มาอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์ ผู้ถือบวช คำว่าบวชคือไปสู่ความดี หันหลังให้ความชั่ว แล้วก็มีวิธีปฏิบัติ วิธีปฏิบัติที่เราทำ ทำตามพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงทรงสอน เราก็เอามาประกอบให้มันเกิดขึ้นที่กายที่จิตใจ สนับสนุนตัวเอง การปฏิบัติธรรมคือการสนับสนุนตัวเรา ให้เกิดสิ่งดีสิ่งงามทั้งหลาย ให้เกิดธรรม ให้เกิดกุศล เช่น เราเจริญสติ เราทำวัตรสวดมนต์ไหว้พระ เรามีธรรมวินัยมีระเบียบ เหมือนกับการสนับสนุนให้เกิดคุณภาพคุณธรรมกับชีวิต เพิ่มสติ มีสติ มีความอดทน
การสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิตมีหลายอย่างที่เข้ามาประกอบ มีสติ มีความเพียร มีความอดทน มีความละอาย มีเมตตากรุณา มีมุทิตาอุเบกขา มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา หลายอย่าง เรามาสนับสนุนส่งเสริมเชียร์ตัวเอง แม้ที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิตประจำวัน เพศของเรา ผ้ากาสาวพัสตร์ เราใช้เพศของเราให้เป็นหลักเป็นแหล่งเป็นฐาน อะไรที่เรามองตัวเรา ก็รู้จักว่าฐานะของเราเป็นอย่างไร ยิ่งพวกเราได้ประกอบปรารภความเพียรมีกรรมฐานก็ยิ่งสมบูรณ์ อะไรที่เราได้ เวลาที่เราฉันบิณฑบาต อุ้มบาตรไปสู่กุฏิเสนาสนะที่เราอยู่ วางบาตรลง นั่งตั้งกายตรง เจริญสติสุดหัวใจ
นอกจากนั้นเราก็ใส่อิริยาบถอื่น ๆ เดินจงกรม ที่อยู่ของตนต้องมีทางเดินจงกรม เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดมีงานมีการ อะไรที่ไม่จำเป็นอย่าให้มี อย่านำไปใช้ในกุฏิของตน วิทยุ โทรทัศน์ อะไรต่าง ๆ ถ้าใช้ก็ใช้แต่อย่ามัวเมา ใช้กายใช้ใจของเรานี้ให้มีสติ ส่วนอื่นที่ใช้ให้เกิดความหลงให้งดเว้น พูดกันคุยกัน ความหลงมันเกิดขึ้นมาในแง่ใดมุมใด เพียรพยายามที่จะรู้ช่องรู้ทางที่มันเกิดความหลง มีสติสัมปชัญญะ โดยเฉพาะเวลาที่เราปรารภความเพียร ช่องทางที่มันเกิดความหลงนี้ เราจะเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะการปฏิบัติกายานุปัสสนา อ้าว! มันหลงที่กาย ดูมัน เวทนานุปัสสนา มันหลงที่ความปวดความเมื่อย ดูมัน มันจะหลงเป็นสุขเป็นทุกข์ตรงนี้ จิตตานุปัสสนา ความคิด อ้าว! มันหลงตรงนี้ มันจะเป็นสุขเป็นทุกข์ตรงนี้ ธรรมานุปัสสนา สิ่งที่มาครอบงำชีวิตจิตใจของเรา ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน อ้าว! มันหลงตรงนี้หรือ เห็น รู้สึก ตรงไหนที่มันหลง เปลี่ยนให้มันรู้ เรียกว่าปฏิบัติ ไม่ใช่มานั่งสร้างจังหวะอยู่ (แต่)ไม่เคยเปลี่ยนสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก สิ่งที่หลงให้เป็นรู้ สิ่งที่ทุกข์ให้เป็นไม่ทุกข์ มันก็ประโยชน์น้อย ไปพร้อม ๆ กันไปเลย ไม่ใช่เรื่องรอคอย
เมื่อไหร่จึงจะรู้ เมื่อไหร่จึงจะเป็นเหมือนหลวงพ่อเหมือนอาจารย์ท่านสอนท่านพูด เหมือนพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ไม่ใช่รอนะ การปฏิบัติธรรมเป็นการเข้าถึงทุกเรื่องทุกราว มันหลง เข้าถึงความหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ นั่นแหละการปฏิบัติ ความรู้สึกตัวไม่ต้องรอ ยกมือขึ้นรู้ทันที อะไรที่มันไม่ใช่ความรู้ เอาความรู้ไปเกี่ยวข้อง เหมือนกับแหล่งแห่งความรู้มีมาก มีอยู่ทุกพื้นที่ในชีวิตของเรา ไม่ใช่อยู่ที่สุคะโต ไม่ใช่อยู่ที่ไหน ๆ ทั้งหมด อยู่กับการกระทำของเรา
แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เราจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้แหละโชว์มากที่สุด ความรู้สึกตัวก็ความหลงตัวโชว์ให้เห็น มันตรงกันข้ามเหมือนกับอยู่ข้างหน้าเรา เมื่อมองไปข้างหน้าก็เห็น เห็นสิ่งของที่อยู่ข้างหน้าถ้าประสงค์จะดู ข้างหลังไม่เห็นถ้าเป็นตาเนื้อ แต่ความรู้สึกตัวมันเป็นตารอบ รอบ มาทางไหนรู้ได้ มันเป็นหน้ารอบ ปะริมุขัง สติง มันเป็นหน้ารอบ ไม่เผลอ ความหลงที่ใดก็ตรงกันข้ามกับความรู้สึกตัวทันที หัดให้เป็นนิสัย หัดให้เคยชิน
อย่าให้ความหลงสร้างความหลง นี่คือนักปฏิบัติ อย่าให้ความทุกข์สร้างความทุกข์ นี่คือนักปฏิบัติ อย่าให้ความโกรธสร้างความโกรธ สร้างความรู้ อะไรมาเปลี่ยนเป็นรู้ทั้งหมด ให้มันตรงกับหลักภาวนา เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนเป็นถูกทั้งหมด เกิดสัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่เรื่องรอคอยนะการปฏิบัติ การเปลี่ยนสิ่งผิดให้เป็นถูก นั่นแหละมรรค
ทำไมจึงจะเปลี่ยนผิดให้เป็นถูกได้ เพราะเราเห็น เราดูอยู่ มีสติดู มีตามองดูอยู่ ดูอยู่ เมื่ออะไรเกิดขึ้นก็ต้องเห็นต้องเปลี่ยน มรรคคือดู ผลคือทำได้แล้ว ถูกต้องแล้ว มันหลง รู้แล้ว เป็นมรรคเป็นผลอยู่ตรงนั้นแล้ว ไม่ใช่ตายแล้ว ไม่ใช่อะไรตรงไหนจะถึงมรรคถึงผล ขอให้ข้าพเจ้าได้ถึงมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเถิด ไม่ใช่ ไม่ใช่เบื้องหน้า ปัจจุบัน เบื้องหน้านี่โน่นอย่าไปโน่นนี่ให้เดี๋ยวนี้ ให้เป็นมรรคเป็นผลเดี๋ยวนี้ มันโกรธมันก็ต้องเป็นมรรคแล้ว เปลี่ยนความโกรธเป็นความรู้สึกตัว เป็นผลแล้ว
มรรคผลต้องอยู่ใกล้ ๆ ถ้ามันร้อนใจแล้ว เย็นใจเป็นมรรคเป็นผล ถ้านิพพานมีจริงๆ ก็เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เบื้องหน้าโน้น ให้เป็นเรื่องเดี๋ยวนี้ ปัจจุบัน การปฏิบัติธรรมที่เราทำอยู่ มันทำให้เกิดการปัจจุบัน ทำไมเราจึงมายกมือสร้างจังหวะ เพราะให้มันเป็นปัจจุบัน ชีวิตของเรามันเคยไหล มันไม่มีปัจจุบัน มันมีแต่อดีต มันมีแต่อนาคต สภาพของจิตใจนี้ไปข้างหน้าคืนข้างหลัง กายก็วิ่งไปกับเขา ตาก็ไปกับเขา จิตก็ไปกับเขา หูก็ไปกับเขา เสียงที่เขาด่า เสียงที่เขานินทา เสียงที่เขาสรรเสริญ นานมาแล้ว ยังวิ่งไปได้ยิน วิ่งไปข้างหน้าคว้าน้ำเหลวไม่มีอะไร เราก็เสียเวล่ำเวลามามากแล้วกับการวิ่งไปข้างหลัง กับการวิ่งไปข้างหน้า
เราจำเป็นต้องมีปัจจุบัน ปัจจุบันที่สร้างได้คือกรรมฐาน จับกายมาผลิตความรู้สึกตัว แล้วทุกคนก็มีกาย จับมา มาใช้ให้เกิดความรู้สึกตัว มีจิตก็เอามันมาใช้ บางทีมันจะทำเป็นเหตุให้หลงปัจจุบันก็มี เช่น กาย เวทนา จิต ธรรม มันหลงปัจจุบันหรือว่ามันเป็นด่านทำให้เกิดความรู้สึกตัวไม่ได้ เอามันเลย หา! มันตรงนี้หรือ มันมีตัวอยู่ในกายหรือ เรื่องของกายมันเรื่องใหญ่ จนทำให้เกิดกิเลสตัณหาเกิดปัญหาหรือ กายานุปัสสนา ยิ่งใหญ่ขนาดไหน พอดูเข้าจริง ๆ โอ๊ย! มันก็บอกว่ากายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา หลุดไปเลย เรื่องของกาย หลุด ชำนิชำนาญเป็นเรื่องหลุดพ้น เรื่องของกาย ไม่ใช่เรื่องกักเราให้หยุดให้อยู่ให้เป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะเรื่องของกายจริง ๆ เป็นปัญญา
ทำไมเราจึงทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็บอกไว้ตรง ๆ ทางโล่ง ๆ โล่งที่สุดตรงนี้ ถ้าเราไม่มีสติก็ตันแล้ว มืด อวิชชาเป็นป่าเป็นดง ไม่รู้ ไม่รู้กาย กายก็เลยสร้างความป่าเถื่อนให้เกิดกับจิตกับใจ กับผู้กับคนกับสิ่งอื่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดอะไรต่าง ๆ เกี่ยวกับกาย ปัญหาเยอะแยะ เอากายออกหน้าออกตา เอาเป็นด่านไปเลย มีอะไรมากระทบกายเป็นเรื่องของเราทั้งหมดเลย ไม่ใช่ เป็นเรื่องของสติ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวใช่ตน เกิดอยู่บนกาย จับกายมาใช้ให้เกิดปัญญา กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นปัญญา หลุดไปแล้ว เวทนาที่มันเป็นสุขเป็นทุกข์ เรื่องของกายก็ดี เรื่องของจิตก็ดี คละเคล้ากัน รวมขบวนทำให้เกิดความหลง ร่วมกันละตรงนี้ เขาร่วมกัน
เวทนานี่ เป็นตัวเป็นตนอยู่ในเวทนา กูสุข กูทุกข์ โอ๊ย! กูปวด กูเหนื่อย กูร้อน กูหนาว กูหิว กูเกิดขึ้นกับอะไรต่าง ๆ เห็น รู้สึกตัว รู้สึกตัว มันโชว์ให้เราเห็นเป็นด่าน เป็นด่านแรกเมื่อเราเดินทาง เหมือนกับเราขึ้นเขาหรือขึ้นที่สูง จิตของเรามันต่ำ ถูกทับถมมาเยอะ เราจะขึ้นที่สูงสักหน่อยก็ต้องทวน ต้องสู้ ต้องมีแรงแห่งความเพียร มีความเพียร มีการประกอบ ต้องทวนขึ้นไปสักหน่อย ไม่ทวนมันไม่ใช่ การทวนกระแสมันทำให้เกิดความเข้มแข็งไม่ใช่ค่อยไหลไป ไหลไปเหมือนปลาที่มันไหลไปตามน้ำ ไม่เจริญหรอก ถูกอวน ถูกแห ถูกไซเขา ไหลไปข้างบน ถ้าเป็นความคิดก็คิดทวน ๆ มนุษย์คิดไปทางสูง คนคิดไปทางต่ำ ๆ คนก็ดี มนุษย์ก็ดี เกิดจากความคิด ไม่ใช่เกิดจากรูปแบบ ขาสองแขนสองหัวตั้งอยู่บนบ่า ไม่ใช่ เขาบอกว่ามนุษย์ต้องคิดไปทางสูง ๆ ถ้าคนก็คิดไปทางต่ำ ๆ แล้วมันก็มีโอกาสที่จะต่ำ
ถ้าจะเปรียบจิตของเราเหมือนน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ มันก็ไหลเอียงไปลาดไปได้ง่าย เราจึงมาทวน มาดู ยกขึ้น มีสตินี้มันยกขึ้นหน่อยหนึ่ง มันไม่ไปง่าย ๆ เห็นกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี ธรรมนี้มีหลายอย่าง เป็นอกุศลครอบงำ ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน เป็นธรรมนะนั่น ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่เป็นกุศลก็รู้สึกตัว มีสติ มีปัญญา มีศีล ไม่หวั่นไหวเพราะความคิดของตนเอง ความคิดของตนเองทำให้ตนเองหวั่นไหว
ผู้มีศีลไม่หวั่นไหว เหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลม เพราะฝน เพราะอะไรต่าง ๆ ผู้มีศีลไม่สะเทือนเพราะคำนินทาสรรเสริญ หรือความคิด ความง่วงเหงาหาวนอน ไม่หวั่นไหว เข้มแข็งอยู่บนความง่วง เข้มแข็งอยู่บนความลังเลสงสัย เข้มแข็งอยู่บนความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดฟุ้งซ่านมันพัดพาเราไป เรื่องอดีตเรื่องอนาคตคิดไป ไหลไป มันเป็นภูเขานะ ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน เป็นภูเขาขวางกั้นไม่ให้เราบรรลุคุณงามความดี ถ้าเราไม่ข้ามตรงนี้เราจะขึ้นสูงได้อย่างไร จะเก่งตรงไหน มันเป็นเกณฑ์แบบนี้แหละ ถ้าเราหัดมันก็ไม่มี ความลังเลสงสัยมันก็ไม่มี ชัดเจนไปเลย แม่นยำไปเลย
บุญคืออะไร บุญก็คือใจดีใจงาม บุญก็คือรู้ รู้อะไร รู้ทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ แต่ก่อนไม่รู้ ไม่รู้แม้กระทั่งความคิดตัวนั้น อยู่กับความคิดข้ามปีข้ามเดือน กลางคืนก็ว่าฝัน กลางวันก็ว่าคิด หมกหมุ่นอยู่กับความคิดตัวเอง บัดนี้ เรามาเห็น รู้แล้ว บุญแล้ว รู้ตัวเอง มันเกิดอะไรขึ้นเกี่ยวกับกายกับใจ เป็นปัญญา
แต่ก่อนเรื่องของกายของใจ ไปโง่หลงงมงายก็มี โง่เพราะเจ็บไข้ได้ป่วย ความเจ็บไข้ได้ป่วยทำให้โง่ลง ความเคยชินเสพติดต่าง ๆ ทำให้โง่หลงงมงาย บัดนี้ไม่โง่แล้ว แต่ก่อนเคยสูบบุหรี่ บัดนี้ไม่สูบแล้ว แต่ก่อนเคยดื่มเหล้า บัดนี้ไม่ดื่มแล้ว แต่ก่อนเคยโกรธ บัดนี้ไม่โกรธแล้ว แต่ก่อนเคยทุกข์ บัดนี้ไม่ทุกข์แล้ว มันต้องมีเกณฑ์แบบนี้การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่จะ เออ! ปฏิบัติแล้วล่ะ ยกมือสร้างจังหวะเป็นแล้วล่ะ เดินจงกรมเป็นแล้วล่ะ ไปอยู่มาแล้วล่ะวัดป่าสุคะโต ยัง
เหมือนกับภิกษุณีที่บวชแล้ว สำเร็จแล้ว ไม่ใช่ ความเป็นพระมันคืออะไร ความเป็นพระคือประเสริฐตรงนี้ พวกเราก็เหมือนกัน บวชเป็นพระแล้ว หลวงพ่อเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ใช่ อันนั้นมันเป็นสมมติบัญญัติ ไม่ใช่เป็นปรมัตถ์สัจจะ ปรมัตถ์สัจจะคือพระสงฆ์เกิดจากพระสัทธรรมนะ มีการปฏิบัติดี เป็นต้น ไม่ใช่พระสงฆ์เกิดจากพระอุปัชฌาย์ บวชในโบสถ์ มีพระหัตถบาทเท่านั้นรูปเท่านี้รูป ไม่ใช่ อันนั้นมันสมมติบัญญัติ มันจริงแบบสมมติ ไม่จริงแบบปรมัตถ์ พระสงฆ์เกิดจากพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดี เป็นต้น อย่างที่เราสวด สัทธัมมะโช สุปะฏิปัตติคุณาทิยุตโต พระสงฆ์เกิดจากการปฏิบัติธรรม มีการปฏิบัติดี เป็นต้น
ปฏิบัติตรงไหน นี่แล้ว กำลังทำอยู่นี่แล้ว แล้วก็รูปแบบของเราก็ช่วยสนับสนุนนะ มีธรรมวินัยสนับสนุน ไปเลย ไม่คิดไม่ทำไม่พูดในสิ่งที่เคยชิน เคยอยู่ในแบบไหนก็เปลี่ยนแล้วบัดนี้ อยู่ในกระต๊อบกุฏิ อยู่คนเดียว อยู่ในที่มีอะไรน้อย ๆ สันโดษ โดยเฉพาะพวกเราอยู่ในป่า อย่าให้มีของอยู่ของกิน ถ้าเป็นนมกล่องก็พอได้ แต่ถ้าเป็นอาหารอันอื่น ไม่ดี เพราะอะไร เพราะว่าหนูมันรู้นะ มันรู้ เอาไว้ดีขนาดไหนมันก็รู้
เหมือนหลวงพ่อ เมื่อสองวันไปนอนพักที่กุฏิอาจารย์กำพล เสียงอะไรดังตลอด ก็สังเกตดู หนูมันเข้าไปตั้งหลายตัว มันก็วิ่งซวนซันกันอยู่ มันมายังไงนี่ สังเกตดู พอมันวิ่งไปวิ่งมา ก็ฉายไฟ มันมีถุงข้าวสาร แล้วหน้าต่างปิดไม่สนิท ประสาอะไรกับมุ้งลวด หนูกัดเป็นรูโบ๋ไปเลย พอไล่ไป มันก็วิ่งออก มันออกตรงไหน โอ๋ มันออกตรงนี้ ทำไมมันออกตรงนี้ได้ โอ๋! หน้าต่างไม่ปิด มันมีหน้าต่างไม่ปิด มันมีข้าวสาร มันมีหนู บางทีมันมาทำรัง ระวังนะงูมา เมื่อมันได้อยู่ได้กิน มันมาทำรังออกลูก งูมาแล้วบัดนี้ ถ้าเราไม่รู้ งูกัดเรานะ ถ้ามีอาหารหนูมา งูมา คนอยู่ด้วยกันกับงู ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นสัจจะ ก็ไม่เป็นปรมัตถ์สัจจะ คนอยู่กับงูไม่ได้ คนอยู่กับหนูก็ไม่ได้ คนต้องอยู่ดูแลให้ดี ๆ มีสติสัมปชัญญะ เมื่อมีสติ มันสนับสนุนให้เกิดสุขภาพ กายสุขภาพจิตด้วย ไม่สิ้นเปลือง การใช้ชีวิตไม่กังวล
เวลาฉัน นั่งอันเดียว นั่งที่เดียว ถ้าไม่นั่งที่อาสนะศาลาหน้าล่ะ ไม่ต้องฉัน เรียกว่าฉันอยู่ที่เดียว ของเคี้ยวของฉัน ฉันที่เดียว ถ้าจะฉันก็ต้องนั่งตรงนั้น เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นรีบร้อน หรือการงานต่าง ๆ ที่ด่วน ๆ เดินทางไกลไปทางเรือ อยู่มากด้วยกัน บิณฑบาตไม่พอฉัน โภชนะเป็นของสมณะ ก็ไม่ใช่อุปาทานยึดมั่นถือมั่น อยู่กรุงเทพฯ หิวข้าวจะต้องนั่งรถวิ่งมานั่งอาสนะตรงนี้ มันก็ไม่ใช่ หรือเวลาการจีวร เวลาทำจีวรเป็นงานการที่ยาก
เหมือนหลวงพ่อไปอยู่ที่สวนโมกข์สมัยปี พ.ศ. 2514 อาจารย์พุทธทาสอยากเจาะภูเขาทองให้เป็นอุโมงค์ ผ่านไปทางทิศเหนือ ผ่านไปทางทิศใต้ จะทำอุโมงค์ ก็ชวนกันกับอาจารย์บัญญัติไปเจาะภูเขา ก้อนหินภูเขาทองตรงนั้นมันไม่ใช่เป็นแท่งใหญ่ ๆ มันเป็นก้อน ๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เราไปงัดไปขุด เอาชะแลง เอารอกเอาล้อเหมือนกับล้อรถไฟ ไปสั่งเอาล้อรถไฟใส่คันรถสี่ล้อคันต่ำ ๆ มา เอารางมาวางสำหรับบรรทุกก้อนหินออกจากถ้ำ แล้วก็ค่อยงัดไปเทลงเขา นอนอยู่ตรงนั้น ทำงานอยู่ตรงนั้น ตื่นเวลาใด ทำงานเวลานั้น เหนื่อยเวลาใด พักเวลานั้น เออ! ตอนเช้าก็มีแม่ชีเอาข้าวไปส่ง หาบข้าวไปส่ง ตอนเที่ยงก็มีแม่ชีหาบข้าวไปส่ง ตอนเย็นก็หาบน้ำปานะไปส่ง ก็ทำงานอยู่ตรงนั้น เวลาทำงานเวลาทำจีวรการจีวร งานมันมาก อันนั้นได้ไม่เป็นไร
เพราะฉะนั้นการที่อยู่ของเราสนับสนุนให้เกิดสติสัมปชัญญะ อย่าเป็นปลิโพธกังวล ญาติปลิโพธก็ไม่ดีนะ ปลิโพธกับญาติ เออ! ยังมีลูกเมีย ยังมีงานการ งานมันมีอยู่หรอก แต่ว่าไม่ใช่เรื่องคิด บางทีงานมันทำเสร็จแล้วเอามาคิด มันไม่ใช่ เรียกว่างานปลิโพธ มันจะต้องทำ ไม่ใช่มาคิดเรื่องทำงาน ไม่หาคำตอบจากความคิด บางอย่างเราใช้ความคิด เอาความคิดไปตอบตะพึดตะพือ ไม่ถูกต้องเสมอไป มันต้องมีการกระทำ ไม่ใช่มานอนคิดเรื่องงานเรื่องการ ไม่ใช่ นอนคิดเรื่องรักเรื่องโกรธ ไม่ใช่ คิดถึงพ่อถึงแม่ ห่วงพ่อห่วงแม่ ห่วงบุตรภรรยาสามี ห่วงงานห่วงการ ไม่ใช่เรื่องคิด ถ้าห่วงจริง ๆ ก็ต้องไปทำ ถ้ารักพ่อรักแม่ก็ไม่ใช่คิดถึงอาลัยอาวรณ์ (แต่)ต้องทำตัวให้มันดี ไม่ใช่ไปคิดจนนอนไม่หลับ อันนั้นไม่ใช่ความรัก
ความรักก็คือต้องทำตัวให้มันดี ให้มีความปกติ นอนให้มันหลับ กินให้มันอิ่ม จัดให้มันเป็นระเบียบ อย่าทำชั่ว อย่าเป็นคนเกเรเกะกะ ใจล่องใจลอยใจเสีย ไม่ใช่ ห่วงอะไรไม่ใช่แบบนี้ รักตัวเรานี่แหละ ทำตัวเราให้มันดี ให้ตัวเราเป็นคนดี นี่คือความรัก ถ้าตัวเรายังเป็นคนดีไม่ได้ ไม่ใช่ความรัก เพราะว่าคนเราถ้าเป็นคนดีแล้ว ถ้าเราเป็นลูกของพ่อของแม่เป็นคนดีแล้ว มันก็สุดยอดแล้ว สุดปรารถนาของพ่อของแม่แล้ว ถ้าเราเป็นภรรยาของสามี เราเป็นคนดีมีศีลมีธรรม มันก็สุดของศรีภรรยา ถ้าเราเป็นสามี เราเป็นคนดีของภรรยา ก็สุดความเป็นสามีแล้ว ถ้าเป็นพี่เป็นน้องก็เหมือนกัน เป็นเพื่อนก็เหมือนกัน คือแท้คือตัวปฏิบัติธรรม
สรุปเลยทีเดียวเลย เป็นคนดี ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนคนอื่น นี่คือความรัก พระพุทธเจ้าเป็นยอดนักรักที่สุดในโลก ไม่ใช่แบบในหนังในอะไรต่าง ๆ ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าเป็นยอดนักรักที่สุดนะ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ปลิโพธเรื่องใด รู้สึกตัว จะทำอะไรก็ตั้งใจ ไม่ใช่ไปคิดหาคำตอบจากความคิด บางอย่างความคิดมันทำไม่สำเร็จ ต้องลงมือทำ เช่น เราปฏิบัติธรรม คงจะเป็นอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ เสียเวลา อย่าไปคิดแบบนั้น ประกอบทันที รู้สึกตัว รู้สึกตัว ตั้งต้นตรงนี้ รู้สึกตัว
เมื่อรู้สึกตัวก็ไปแล้ว งานเกิดขึ้นแล้ว มรรคเกิดขึ้นแล้ว ผลก็จะเกิดขึ้นมา ตัวปฏิบัติธรรมกรรมฐานมันเป็นเรื่องบุกเบิก กรรมคือการกระทำ ผลมันจึงจะมี บุกเบิกไปก่อน รู้ไปก่อน รู้ไปก่อน รู้ไปก่อน อย่าเพิ่งไปหาเหตุหาผลจากการกระทำการกรรมฐาน หาเหตุหาผลอะไร มือเราก็มี กายเราก็มี มายกมือสร้างจังหวะ มาเดินจงกรม หาเหตุหาผลตรงไหน ไม่ใช่ เอากรรม กรรมที่จำแนกสัตว์ ไม่ใช่เรื่องเหตุเรื่องผล มันเป็นตัวกรรมแล้ว
ยกมือสร้างจังหวะ โอ! มันก็รู้แล้ว ความรู้สึกตัวอยู่ที่กาย เวลาใดที่มันหลงคิดไป มีความรู้สึกตัว นั่นแหละ กรรมแล้ว รู้สึกตัว รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวก็ควบคุมไว้ รู้ทุกเรื่อง สิ่งไหนที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ มันก็กลับมาได้ มันก็รู้ได้จริง ๆ เห็นได้จริง ๆ ปฏิบัติได้จริง ๆ ให้ผลได้จริง ๆ ความรู้สึกตัว เวลาใดมันหลง รู้สึกตัว ความหลงก็ไม่หลง หมดไปแล้ว ความรู้สึกตัวไปแทนความหลง แม้ความทุกข์ก็เหมือนกัน ความโกรธก็เหมือนกัน
เรามาสร้างตรงนี้ก่อน ไม่ใช่ไปห้ามไม่ให้มันทุกข์ ไม่ใช่ไปห้ามไม่ให้มันโกรธ ไม่ใช่ไปห้ามไม่ให้มันหลง ทำไมถึงจะไม่หลง ทำไมถึงจะไม่โกรธ ทำไมถึงจะไม่ทุกข์ ทำวิธีใดจึงจะไม่ทุกข์ ถ้าทำจริง ๆ ไม่มีคำถามหรอก คำถามแบบนี้ไม่ต้องมีสำหรับชาวพุทธเรา มันต้องเอาการกระทำนี้ หรือเวลาเราปฏิบัติ คำว่าทำไม ทำไม ก็ไม่มี ทำไมเราจึงทำไม่ได้ ทำไมคนนั้นจึงทำได้ ไม่มี เมื่อเรารู้สึกตัว รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวตัดภาษาที่ใช้ที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยออกได้เยอะแยะ รู้สึกตัว รู้สึกตัวไป
ทำไมเราจึงหลง อย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค 4 อย่างนี้รวมลงมี 2 อย่างคือเหตุกับผล แก้ที่เหตุ เอาไปเอามาอันเดียวกัน เย ธัมมา เหตุปัปภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ ดับก็ดับที่เหตุ พระอัสสชิแสดงให้พระสารีบุตรฟัง บรรลุธรรมเลย อริยสัจ 4 นี้ง่าย ๆ เป็นเกณฑ์เอามาลงตรงนี้ได้
เราใช้ชีวิตที่เป็นฆราวาสครองเรือน เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้นำ เป็นผู้ตามก็ตาม อะไรก็ตาม มามีหลักตรงนี้แหละ หลักอริยสัจ 4 เอามาใช้กับชีวิตของเราอย่างถูกต้อง มันมีเหตุมีผล ถ้าทุกข์มีอะไรเป็นเหตุ ความหลงสมุทัย สมุทัยเป็นเหตุจึงมีทุกข์ ถ้าแก้ก็ต้องแก้ที่สมุทัย สมุทัยคืออะไร คือมันหลง อย่างเราที่สร้างสตินี้จะเห็นได้ชัดว่า ทำไมมันจึงหลง เพราะไม่รู้ เมื่อรู้สึกตัวมันก็ไม่หลง โอ๋! มันก็มีเท่านี้แหละ เมื่อไม่หลงก็ไม่ทุกข์ เมื่อไม่หลงก็ไม่โกรธ เมื่อไม่หลงก็ไม่โลภ เมื่อไม่หลงก็ทันที ทันทีเลย แม้มันจะหลงก็แก้ได้ รู้สึกตัว แม้มันจะโกรธก็รู้สึกตัว แท้ ๆ มันก็มีความรู้สึกตัวนี้ให้มันมาก เหมือนแสงสว่าง
ความรู้สึกตัวเมื่อมันมากมันก็รู้แจ้งโลกเหมือนดวงอาทิตย์ ความรู้สึกตัวเมื่อมันน้อยมันก็เหมือนแสงนีออน ความรู้สึกตัวถ้ามันน้อยลงไปก็เหมือนแสงเทียนริบหรี่เหมือนแสงหิ่งห้อยวับ ๆ แวม ๆ มันไม่พอใช้ เราจึงมาสร้างให้มันเป็นมหาสติ มหาสติคือมันมาก แล้วก็มากได้จริง ๆ เรายกมือสร้างจังหวะ 14 จังหวะ จังหวะหนึ่งวินาทีหนึ่ง ไม่เกินหรือไม่ช้ากว่านั้น ถ้ารู้ทุกวินาที ไม่ต้องมารู้ทุกวินาที แต่ให้รู้ไปต่อเนื่องเหมือนสายโซ่เหมือนโซ่ ไม่ต้องไปกำหนดหรอก
บางทีหลวงพ่อพูดว่าวินาทีหนึ่งรู้ทีหนึ่ง อ้าว! ก็ไปทำตรงนั้นอีก ไปยึดมั่นตรงนั้น แต่วิธีสร้างจังหวะมันเป็นเช่นนั้น มันจับเอา จับเอา จับเอา ถ้ามีเงินก็เก็บเอาใส่กระเป๋า เก็บเอาใส่กระเป๋า มันก็ได้จริง ๆ ทันที แล้วมันก็ขยันจริง ๆ ตรงนี้ ขยัน ไม่มีความขยันอันใดที่ขยันเห็นชีวิตของเรา เปลี่ยนชีวิตของเรา ได้เปลี่ยนหลงเป็นรู้นี้ โอ๊ย มันสุดหัวใจ ได้เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ มันสุดหัวใจ ได้เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ มันสุดหัวใจ ต้องทำงานอันนี้ลองดูพวกเรา
อย่าไปเปลี่ยนอย่างอื่นหรือเก่งอย่างอื่นเกินไป ไปเก่งอย่างอื่นแต่ไม่เก่งตรงนี้ มันก็ไปไม่รอด ต้องเปลี่ยนตรงนี้ต้องเก่งตรงนี้ไว้ก่อน เป็นทุนไว้ก่อน มันหลง รู้ขึ้นมา มันทุกข์ รู้ขึ้นมา มันโกรธ รู้ขึ้นมา อะไรก็ตาม แก้ตัวเอง มองตัวเอง เป็นบัณฑิตนะเนี่ย ทำอย่างนี้มันเป็นบัณฑิตนะ
พวกเราจึงมีงานการแบบนี้ ถ้าเราเก่งตรงนี้ มันก็เก่งอีกหลายอย่างนะ แล้วก็เหมาะแก่การงานเหมาะแก่การประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้ แล้วก็ถ้าจำเป็นต้องมีงานมีการ ถ้าไม่จำเป็นก็มา มาช่วยกันเถอะ มาช่วยกันบอก มาช่วยกันขนส่ง มันมีงานเยอะนะเดี๋ยวนี้พวกเรา
ปัญหาของผู้ของคน ปัญหาของโลก มันเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีใครทำ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมันก็หมดไปแล้ว แต่ก่อนเมื่อ 30 ปีก่อน ไม่เคยได้ยินหรอกคำว่าสิ่งแวดล้อม 30 ปีก่อนไม่มีใครพูดหรอก แม้แต่เรื่องยาเสพติดก็ไม่ได้พูดอะไร แต่เดี๋ยวนี้มันมีปัญหาบานปลาย สิ่งแวดล้อมมันก็เป็นปัญหา เราถึงมีกรรมาธิการ ต้องสร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ รัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกเพราะอะไร เพราะสิ่งแวดล้อมมันเป็นพิษเป็นภัย สิ่งแวดล้อมมันใหญ่หลวงต่อไปนี้ ต่อไปจะออกไปไหนไม่ได้แล้วโลกนะ ต้องอยู่ที่เดียวแล้ว ลอนดอนเขาก็ทิ้งระเบิดแล้ว โจรก่อวินาศกรรม ใช้เครื่องบินก็มีปัญหา ใช้รถไฟก็มีปัญหา ไปไหนก็ไปไม่ได้ ต้องอยู่กับที่กับทางแล้วพวกเรา สุคะโตก็ไม่มีที่ปลูกข้าวหรอก ปลูกป่าหมดแล้ว มีแต่ที่ปลูกผัก ต้องช่วยตัวเอง ต้องสรุปให้ได้ชีวิตของเรา
ไปพึ่งอะไรไม่ได้ ก็พึ่งกายพึ่งจิตใจของเรา อย่าให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เพราะเราใช้ชีวิตผิดพลาด ไปสูบบุหรี่ ไปกินเหล้า ไปเกเรสิ้นเปลืองพลังงาน กลางคืนเป็น(อี)เห็น กลางเว็นเป็นนกเค้า โบราณท่านว่า สิ้นเปลืองนะ ไปคิดอะไรมากมาย การสิ้นเปลืองจากความคิด การสิ้นเปลืองจากความหลง การสิ้นเปลืองจากความโกรธ การสิ้นเปลืองจากความทุกข์ มันเอาชีวิตเราไปนานเท่าไหร่ เราไม่รักชีวิต เราจะไปรักอะไร ต้องเป็นชีวิต ชีวิตต้องไม่เป็นอะไร ปกติ บ้านของชีวิตคือปกติ
ปกติที่แน่นอนที่สุดคือจิตใจ ส่วนร่างกายก็มีเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน แต่ยึดไว้ก่อนคือจิตใจต้องปกติ ถ้าจิตใจปกติลุยได้เลยโลกนี้ ไปเลย ถ้าจิตใจไม่ปกติ เหมือนมีแผลคอยเจ็บปวดถึงจิตถึงใจก่อน อะไรก็เข้าถึงจิตก่อน อะไรก็เข้าถึงจิตก่อน มันไม่ใช่แล้ว ไม่มีคุณภาพหรอกชีวิตแบบนั้นนะ
มาฝึกแบบนี้ มาฝึกแบบนี้ จำเป็นไหม จำเป็นไหม จำเป็น ถ้าไม่ปกติแล้ว ก็มีปัญหาบานปลาย ทะเลาะวิวาท เกิดโรคภัยไข้เจ็บอะไรต่าง ๆ เกิดโจรก่อวินาศกรรม คิดคนเดียว สองคนขับเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์พัง คนตายเป็นหมื่น ๆ ความคิดของคนมีผลกระทบของพวกเรา คนหนึ่งตัดต้นไม้ เราไม่ได้ตัดสักต้น เราก็ลำบาก อย่างนี้เราจะไปแก้ตรงไหน แก้ทุกคน
ทุกคนมาดูแลตัวเอง มาเจริญสติ คนในโลกห้าพันกว่าล้านคน ทุกคนมาดูแลตัวเอง อย่าไปเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ เอาชีวิตเรา รู้สึกตัว รู้สึกตัวเข้าไป ไม่ใช่ลัทธิ ไม่ใช่นิกาย ไม่ใช่ชาติ ไม่ใช่เพศ ความรู้สึกตัวนี้ไม่ใช่เพศเด็ดขาด เป็นสากลแห่งธรรม สุดยอดที่สุดนะคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้
เราจึงมาปฏิบัติธรรม ไม่มาปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ไปขู่ไปด่าใคร อ้าว ก็เป็นของเขา มาปฏิบัติธรรมก็เป็นส่วนรวม การกระทำของเรามีสติ มันเป็นส่วนรวม เป็นสุขส่วนรวม ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมก็เป็นทุกข์ส่วนรวม เราคนเดียวเป็นสุข ส่วนรวมก็ได้ เราคนเดียวเป็นทุกข์ ส่วนรวมก็ได้ เราจะใช้ชีวิตแบบไหน ที่เราเกิดมาแล้วได้พบพระพุทธศาสนา