แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ปรารภธรรมสู่กันฟัง ได้ยินได้ฟังเอาไว้ ถ้าได้ยินได้ฟังท่านเรียกว่าพหูสูตร เป็นมงคลกับเรา เราก็ได้ฟังในสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราทำเราก็ได้ยิน ให้มันเป็นส่วนประกอบ ถ้าสิ่งที่เราได้ฟัง เราไม่ได้มีการกระทำก็อาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าฟังไปบ่อยๆ ก็อาจจะเข้าใจ ถ้าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเป็นสิ่งที่เราได้ทำ มันก็คล้องจองและเหมาะสม สะดวกในการกระทำ สะดวกนำมาปฏิบัติ ได้สัมผัสกับคำพูด
คำพูดสิ่งที่เราได้ยินน่ะเป็นการที่สัมผัสได้ โดยเฉพาะการสอนการพูดเรื่องกรรมฐาน ไม่ใช่สอนให้คิด สอนให้ทำสอนให้สัมผัส ไม่ต้องไปใช้เหตุใช้ผล สัมผัสเอา เอากายไปต่อกับความรู้สึกตัว เอาจิตไปต่อกับความรู้สึกตัว เอาความรู้สึกตัวไปเกี่ยวข้องกับกายกับใจ ท่องเที่ยวอยู่ตรงนั้นให้ชำนิชำนาญ เหมือนเราเดินทางของเรา คนขับรถเดินทางของเรา เป็นทางของผู้เดินทาง เราก็คล่องตัว คำนวณเวล่ำเวลาได้ ตรงไหนช้า ตรงไหนไว ถ้าไม่เคยทางก็ต้องระมัดระวัง อาจจะผิดพลาดได้
การที่เอาสติมาเกี่ยวข้องกับกายกับใจเนี่ย การเอากายเอาใจไปเกี่ยวข้องกับสตินี่ เรียกว่ากรรมฐาน ให้ทำตรงนี้ๆ อย่าไปอยู่ที่อื่น อย่าไปวางไว้ที่อื่น ตัดที่อื่นไปก่อน เหตุผลความชอบไม่ชอบตัดไปก่อน วิธีใดที่จะรู้สึกตัว วิธีใดที่จะรู้สึกตัว ทำแบบสนุกสนาน ตั้งความรู้สึกตัวอยู่กับกาย ถ้าทำดีๆ แล้ว มันสนุกสนาน มันเพลิดเพลิน เพราะมันเป็นของจริง ความรู้สึกตัวก็มีจริง กายก็มีจริง กายก็เป็นของที่เราใช้อยู่ ความรู้สึกตัวอยู่ที่จิต ที่มันคิดมันนึก เราก็มีจริง จิตก็มีจริง ความรู้สึกตัวก็มีจริง เป็นสิ่งที่เราใช้อยู่เราอาศัยอยู่ เรารู้สึกตัวอยู่ที่กายก็อาศัยกายได้ ถ้ารู้สึกตัวอยู่ที่จิตก็อาศัยจิตได้ จิตก็ถูกฝึกหัด กายก็ถูกฝึกหัด เราฝึกหัดที่กายที่จิต ก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นมรรคเป็นผล ละความชั่วทำความดี มันก็อยู่ตรงนี้ จนเห็นแจ้งรู้จริง ตามความเป็นจริง ตามความเป็นเท็จอย่างไร
อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ตอนเย็น ให้เห็นเป็นรูปธรรม เห็นเป็นนามธรรม ถ้าได้เห็นเป็นรูปเป็นนามแล้วมันก็ได้หลักฐาน พอได้หลักฐานความเท็จความจริงมันก็จะปรากฏ ความจริงก็ปรากฏ ความไม่จริงก็ทนอยู่ไม่ได้ ก็เกิดขบวนการยุติธรรมกับชีวิตของตนขึ้นมา อะไรที่มันเป็นความเท็จ มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมันไม่จริง ความหลงมันไม่จริง ความทุกข์ไม่จริง ความโกรธความวิตกกังวลอะไรต่างๆ มันไม่จริง เราก็สัมผัสดู มันเป็นเช่นนั้น ก็ได้หลักได้ฐาน เห็นรูปเห็นนาม เห็นไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน
สิ่งไหนไม่เที่ยงก็มอบให้สิ่งไม่เที่ยงมันไป สิ่งไหนเป็นทุกข์ก็มอบให้สิ่งที่มันเป็นทุกข์ไป ในความไม่เที่ยงในความเป็นทุกข์มันก็ไม่ใช่ตัว มันก็ไม่ใช่ตน เรียกว่าหมดหรือขาดลงไป เคยยึดมั่นถือมั่นมันก็หมดเหือดแห้งไป ไม่เปียกไม่ชุ่มเหมือนเมื่อก่อน เพราะว่าในความไม่เที่ยงในความเป็นทุกข์นั่น แต่ก่อนเราเคยยึดเราเคยถือ บัดนี้ พอเห็นมันว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราก็ปัดกวาดไปเอง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนน่ะปัดกวาดเอา ถ่ายเทออก มันก็เหือดแห้งไป แล้วก็ปรากฏว่ามันก็มีอยู่กับรูปกับนาม ที่มันเป็นอาการต่างๆ ที่เกิดกับรูปกับนามมากมาย เป็นสมมติก็มี เป็นบัญญัติก็มี เป็นอุปาทานก็มี สิ่งเหล่านี้จะเหือดแห้งไป เหลือแต่ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนำตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด ไม่ได้ทิ้ง
ความรู้สึกตัวก็กลายเป็นศีล กลายเป็นสมาธิ กลายเป็นปัญญา ศีลก็กำจัดกิเลส สมาธิก็กำจัดกิเลส ปัญญาก็กำจัดกิเลส กำจัดกิเลสอย่างหยาบ กำจัดกิเลสอย่างละเอียดไปเรื่อยๆ ไป ตั้งแต่ความโกรธ ความโลภ ความหลง ตั้งแต่อนุสัย อนุสัยคือเนืองนอง นอนเนื่องในชีวิตจิตใจของเรา จริตนิสัย ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต มันก็หดหายหรือหลุดออกไป หลุดพ้นออกไปเพราะมันเห็นของจริง มันได้หลัก มันได้ฐาน มันเป็นรูปมันเป็นนาม มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นอาการที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปอยู่ในนามนี้ ถูกป้อง ถูกพิพากษาตุลาการ สร้างขบวนยุติธรรมขึ้นมาให้แก่กายให้แก่จิตใจ
เมื่อมีความเป็นธรรมเกิดขึ้นในกายในใจแล้ว ความเป็นธรรมก็เกิดขึ้นอีกหลายๆ อย่าง เป็นภายนอก วัตถุสิ่งของอะไรต่างๆ ก็กลายเป็นความเป็นธรรม เกิดความรักความเมตตา คนที่เคยเป็นศัตรูคู่อริก็กลายเป็นความเมตตากรุณาได้ เคยอิจฉาพยาบาทก็กลายเป็นความเมตตากรุณา เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนหลงเป็นรู้ไป เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเรา ชีวิตก็เลยใช้ได้ ชีวิตก็เลยพึ่งได้ อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่สะเปะสะปะเหมือนเมื่อก่อน
เมื่อก่อนมันซุกซน เอาเป็นหลงออกหน้าออกตา เอาเป็นชอบเอาเป็นไม่ชอบออกหน้าออกตา เอาเป็นสุขเอาเป็นทุกข์ออกหน้าออกตา ไปไกล เรื่องเดียวไปไกล ตาเห็นรูปก็ไปไกล หูได้ยินเสียงก็ไปไกล แล่นไป บัดนี้ มันก็จบเฉพาะ ตาเห็นรูปก็สักว่าเห็น หูได้ยินเสียงก็สักว่าได้ยิน ฟังรู้เรื่องรู้ราว เขานินทาก็รู้ เขาสรรเสริญก็รู้ การที่นินทาสรรเสริญมันเป็นสมมติบัญญัติ เกิดจากบัญญัติเอามาใช้เอามาด่าเอามายกย่องกัน มันเป็นสมมติ สมมติเนี่ยต่างกัน ไม่เหมือนกัน ถ้าปรมัตถ์น่ะเหมือนกัน เกิดกับอะไรก็ได้ สมมติ เขาจะบัญญัติว่าอันนั้นวัตถุ ว่าชอบว่าไม่ชอบ ของอย่างเดียวว่าชอบว่าไม่ชอบ มันก็ต่างกันไปเรียกว่าสมมติ
เราก็เห็นสมมติในตัวเรา เห็นสมมตินอกจากตัวเรา เกิดกับเขาคนอื่นก็ได้ เห็นความหลงที่เกิดกับเรา เห็นความหลงที่เกิดกับคนอื่น เห็นความโกรธที่เกิดจากเรา เห็นความโกรธที่เกิดจากคนอื่น มันก็เหมือนๆ กัน น่าเห็นใจคนที่หลง น่าเห็นใจคนที่โกรธ น่าเห็นใจคนที่ทุกข์ วิธีใดที่เราจะช่วยเขา ก็คิดแต่ช่วยเท่านั้น ไม่ได้คิดอิจฉาเบียดเบียนกัน แต่ก่อนนี้เมื่อเขาโกรธ เราก็โกรธตอบ พอเขาหลง เราก็หลงไปด้วย ความหลงก็ติดกัน อยู่กับเราก็มีสมัยก่อน ความหลงสร้างความหลง ความโกรธสร้างความโกรธ ความทุกข์สร้างความทุกข์
พอเรามาได้ขบวนแห่งการยุติธรรมขึ้นมา มันก็เปลี่ยนแปลง มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนั้นเปลี่ยนร้ายเป็นดี ชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนา วิวัฒน์พัฒนา วัฒนะดีขึ้น หายนะเสื่อมลง ก็ไปในทางวัฒนะ ปฏิบัติฟังดูก็ได้ ปฏิบัติคือเปลี่ยนร้ายเป็นดี หรือภาวนา ภาวนาก็คือขยันรู้ ภาวนาก็คือเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เริ่มต้นเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ สร้างความรู้เรื่อยไป เริ่มต้นของวัฒนะก็ไปแบบนี้ ปฏิบัติก็ไปแบบนี้
เราจะไม่ทำตรงนี้ได้ยังไง เพราะชีวิตเราก็ ถ้าจะว่าแล้วมันก็มีอันตราย มันเป็นวัตถุแห่งกามคุณ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ รูปรสกลิ่นเสียง เป็นปากทางแห่งความหลง มันหลงก็เสียเวลา ไปไหนไม่ได้ ความหลงก็หลงจนตาย ความโกรธก็โกรธจนตาย ความทุกข์ก็ทุกข์จนตาย เสียเวล่ำเวลา เราจึงพากันมาปฏิบัติ เดินตามรอยพระพุทธเจ้า ทำหลายๆ อย่าง นอกจากเราปฏิบัติเจริญสติ สร้างสติ การสร้างสติก็เอาหลายๆ อย่าง เพียงแต่รู้สึกตัว เอากายเอาจิตมาเป็นวัสดุอุปกรณ์ผลิตขึ้นมา รูปแบบเราก็ทำอยู่แล้ว ทำให้กันเห็น ทำอย่างเดียวกัน นอกจากนั้นเราก็หามาใช้ เวลาใดที่มันจนความรู้สึกตัวก็หามาใช้ ได้หลายอย่าง กายใจ อาจจะแตกต่างกันไป เทคนิครูปแบบต่างๆ ตัวหลงเป็นตัวรู้ ตัวรู้ก็ประกอบกับอะไรที่มันกระจุยกระจาย ให้มันเต็มไปในพื้นที่ของกายของใจ
บางทีเราก็สวดมนต์ไหว้พระ สวดสาธยาย ความเป็นอยู่เราก็หัดฝึกหัดอยู่ในเต็นท์ อยู่ในเสนาสนะรูปเดียว บางทีก็เล่นกับความกลัว ชำนิชำนาญในความกลัว รู้จักความกลัวชัดเจน ความกลัวมัน เกิดจากอะไร เกิดจากความหลง เกิดจากความคิด ก็อยู่ในกำมือเรา ความกลัวไม่ได้เกิดจากอะไร เกิดจากความหลง ถ้าเรารู้สึกตัวในขณะที่มันกลัว เวลาใดที่มันกลัว ลองเดินจงกรม ลองยกมือสร้างจังหวะ กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว บางทีมันก็หายปานปลิดทิ้งได้ เวลามันกลัว ลุกขึ้นเดินจงกรมในความมืด ลองดู มันเป็นความสง่าราศี มันเป็นความยิ่งใหญ่ในขณะนั้นก็ได้ ความกลัวเหมือนกับน้อยๆ ความรู้สึกตัวของเราที่ลุกสร้างความรู้สึกตัว มันยิ่งใหญ่เหมือนนกอินทรี ความกลัวเหมือนตั๊กแตน ความกลัวเหมือนหมาความรู้สึกตัวเหมือนช้าง หมามันเห่าช้าง ถ้าเรารู้สึกตัวจริงๆ ไม่เคยเห็นช้างมันหวั่นไหวเวลาหมามันเห่า
ความรู้สึกตัวที่เราปรารภความเพียร นั่งยกมือสร้างจังหวะ เพราะเราเคยทำแล้ว รู้สึกตัว รู้สึกตัว เล่นกับความกลัว มันก็ไม่ต้องกลัวความกลัว เหมือนคนชำนาญในการเล่นกับงู มันก็ไม่กลัวงู อะไรก็ตามที่มันผ่านหน้าผ่านตา มันเห็นอยู่บ่อยๆ แล้วมันก็เห็นอยู่เรื่อย เห็นความหลง มันก็ต้องชนะความหลง ถ้าไม่เห็น มันไม่มีทางที่จะพ้นไปจากความหลง ความทุกข์กิเลสตัณหาต่างๆ มันโชว์ออกมาให้เราเห็น ถ้ามีสติดูกาย มันเป็นการเปิดตัว ถ้าไปสร้างความรู้สึกตัว รู้สึกตัวน่ะ เป็นการเปิดตัว ถ้าเป็นแบบสมถกรรมฐาน บังคับ หลับตา บริกรรม อันนั้นไม่เปิดตัว ไม่เปิดตัวคับๆ แคบๆ สงบไปเลย ออกจากความสงบแล้วก็เหมือนเดิม ไม่เห็นอะไร ไม่เห็นความหลง ไม่เห็นความคิด ไม่เห็นความกลัว ไม่เห็นอะไรทั้งหมด บังคับให้เกิดความสงบ ง่ายแบบนั้นมันก็ง่ายแต่ว่าคับแคบ ไม่แตกฉาน
การเจริญสติตามหลักสติปัฏฐาน มันเห็นกาย เรื่องของกาย มันเห็นเวทนา มันเห็นความคิด มันเห็นธรรม จุดที่หลงใหญ่ๆ มันเห็นหมด ถ้าไม่หลงในกาย ไม่หลงในเวทนา ไม่หลงในจิตใจที่มันคิด ไม่หลงในธรรมที่เป็นบาปอกุศล หรือกุศลทั้งหลาย เหมือนที่เราสวด ยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้มีบาป มันก็ต้องเห็น มันเห็น มันเคยทำกับสิ่งนั้นแล้ว มันก็เป็นความชำนิชำนาญ เป็นกีฬาเป็นศิลปะ ความรู้สึกตัวที่เราสร้าง มันเป็นศิลปะ มันใช้ได้
มันขยันตรงที่มันหลง เปลี่ยนตัวหลงเป็นตัวรู้ มันถึงอกถึงใจ อยากให้มันหลง หลงไปในความคิดก็ยิ่งดี จะได้ทำทั้งสองอย่าง จะเอากายไปสร้างให้เกิดความรู้สึกตัวไปช่วยจิต จะเอาจิตไปช่วยกาย มันก็มีเท่านี้ชีวิตเรา มีกายมีจิต มีสติเป็นขบวนสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับชีวิต ใครก็ตามก็มีเท่านี้ หลงไปที่จิต ก็เอากายสร้างความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวก็เป็นตัวจิตแล้ว มันไปไม่ได้ ถ้ารู้สึกตัว มันก็เป็นทั้งหมดแล้วคือชีวิตแล้ว ถ้าหลงก็คือทั้งหมดแล้ว คือความหลงในชีวิตทั้งหมดแล้ว มันไม่เหลือวิสัย โดยเฉพาะวิชากรรมฐานเป็นวิชาที่อยู่ในวงเล็บของชีวิตเข้าไปเลย วงเล็บปิด วงเล็บเปิด
โบราณท่านว่า รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ รักสั้นให้ต่อ ต่อความรู้สึกตัว ความหลงก็สั้นลง รักยาวให้บั่น ความยาวของความรู้สึกตัวก็ตัดความหลงออกไปเรื่อยๆ ความรู้สึกตัวก็ยาวออกไปเรื่อยๆ มันก็เป็นวงเล็บปิดวงเล็บเปิด มันสรุป ย่อ ย่อที่สุดการเจริญสติเนี่ย ๘๔,๐๐๐ อย่าง เอามาอยู่กับขวามือของเรา หรือกำมือของเรา มันก็มีเท่านี้อยู่ในกำมือของเรา กายมันก็มีวัตถุอาการเยอะแยะ ใจมันก็มีเยอะแยะ เอามาอยู่ในภาวะความรู้สึกตัว
ยิ่งไปเห็นรูปธรรมเห็นนามธรรม เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับรูป เห็นความทุกข์ที่เกิดกับนาม เห็นโรคที่มันเกิดขึ้นกับรูป เห็นโรคมันเกิดขึ้นกับนาม มันก็ต้องเห็นล่ะ พอรู้สึกตัวมันก็เห็น เห็นวัตถุเห็นอาการที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม บางอย่างยังไม่ได้ทำเลย มันหลุดไปแล้ว ยังไม่ได้ไปทำอะไร เช่น ความโง่หลงงมงาย ความเชื่อที่มันเชื่อฤกษ์อะไรต่างๆ มันหลุดไปเลย ยังไม่ได้ทำเลย มันสะดวกไปเลย เหมือนหญ้าเล็กๆ น้อยๆ เวลาเราเหยียบ มันก็เป็นทางไปเลย ไม่ต้องไปดาย ไม่ต้องไปถาก ไม่ต้องไปอดไปทน เพราะว่าความหลงมันคู่กับความรู้สึกตัว เราปรับตรงนี้ได้แล้ว
ถ้าเราปรับความหลงเป็นความรู้สึกตัว มันก็แก้หลายๆ อย่าง มันก็แก้หลายๆ อย่างอยู่แล้ว ถ้าเปิดตรงนี้ได้ มันก็เปิดได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่จะข้องติดได้ แม้มันหลงอีก ก็กลับมารู้สึกตัวเอง ไปได้ ชีวิตที่เปิดตัว ชีวิตที่เปิดเผย เราเห็นอยู่กับตานี่แหละความหลง พอมันหลง ก็รู้สึกตัวมันก็เท่านั้นเอง ถ้ามันไม่หลงก็รู้สึกตัวเรื่อยไปๆ ถ้ามันเกิดเห็นขึ้นมา เห็นรูปเห็นนามก็เห็น เราก็ได้หลักได้ฐาน ได้ทิศได้ทาง เห็นรูปทุกข์ เห็นนามทุกข์ เห็นรูปโรค นามโรค โรคของรูป โรคของนาม
โรคของรูปมีหลายอย่าง ร้อน หนาว หิว ปวดเมื่อย อะไรหลายๆ อย่าง เป็นโรคของรูป มันเป็นธรรมชาติ โรคของนามคือความหลง ความโกรธ ความทุกข์ ความวิตกกังวล ความเศร้าหมอง ความรักความชัง เป็นโรคของนาม โรคแบบนี้รักษาได้โดยมีความรู้สึก มีความระลึกได้ โรคของรูปที่เป็นโรคกระเพาะ โรคตับ โรคไต โรคไข้หวัด ไข้นกอะไรนั่น ต้องอาศัยหมอ ต้องช่วยตัวเองในรูป ในโรคแบบที่เรากำหนดรู้ด้วยการรู้ กำหนดรู้ด้วยการบรรเทา กำหนดรู้ด้วยการละ ความเป็นทุกข์ รูปทุกข์นามทุกข์ ทุกข์บางอย่างกำหนดรู้ อาคันตุกะทุกข์ ทุกข์บรรเทา ปวดหนักปวดเบา กินข้าว หิวข้าว ต้องบรรเทา ไม่ต้องไปทุกข์ใจ เกี่ยวข้องกับทุกข์ถูกต้อง ทุกข์บางอย่างต้องละ ละความทุกข์ที่เป็นสมุทัย ความทุกข์ที่เป็นสังขาร การปรุงๆ แต่งๆ บรรเทาไม่ได้ ต้องละ มันก็เป็นขั้นเป็นตอน ถ้าโกรธ ได้ด่าเขาก็หายโกรธ ได้ฆ่าเขาก็หายโกรธ อันนั้นไม่ถูกต้อง
ทุกข์สมุทัย ทุกข์สังขารต้องละ การละทุกข์สมุทัย ทุกข์สังขารนี่ง่าย ไม่มีวัตถุที่ 1 ที่ 2 เปลี่ยนเลยตรงกันข้ามพอดี หน้ามือหลังมือ มันทุกข์ เปลี่ยนไม่ทุกข์ทันที ไม่เหมือนทุกข์ อาคันตุกะทุกข์ สภาวะทุกข์ อาคันตุกะทุกข์ถ้าปวดหนักก็ต้องไปถ่าย ตื่นขึ้น ที่หลับที่นอนต้องเดินไปห้องน้ำ ต้องอาศัยรูปเดินไป ต้องอาศัยไฟฉาย ต้องอาศัยที่ถ่ายที่เบาอะไรต่างๆ มีน้ำมีขันมีอะไรเยอะแยะ มีห้องน้ำ อะไรเยอะแยะไปหมดเลย อันนั้นเป็นอาคันตุกะทุกข์ หิวข้าวก็ต้องไปกินข้าว ในข้าวก็มีภาชนะ มีช้อน มีกับ โอย มีอะไรเยอะแยะ ต้องเคี้ยว ต้องมีตา ต้องมีมือ ต้องมีท่าทีการกิน อันนั้นมันยากหลายอย่าง
แต่ว่าทุกข์สมุทัยนี่มันง่ายที่สุด แต่บางคนถ้าไม่ปฏิบัติ ถ้าไม่เห็นมีสติจะถือว่ายาก ทำใจได้ยาก ของง่ายๆ ก็ไปว่ามันยาก มันเป็นการที่ง่าย เป็นการสนุก กระตือรือร้น สิ่งทุกข์ที่เกิดกับจิตกับใจเป็นทุกข์สมุทัย ทุกข์สังขาร ทุกข์อริยสัจ 4 เนี่ย ง่ายนิดเดียว ทุกข์อริยสัจ ๔ เพราะเราเห็น ตั้งแต่เห็นรูปเห็นนามก็เห็นทุกข์ มันก็เลยง่าย เหมือนกับมีเครื่องมือหนักไปยกสิ่งยกของที่มันหนักให้มันเบาให้มันง่าย พอเรารู้สึกตัวเห็นรูปเห็นนาม ของที่มันยากก็เลยง่าย
เพราะกรรมฐานมันลาดตั้งแต่เริ่มต้น เหมือนทางขึ้นเขาต้องทำให้มันลาด เหมือนทางขึ้นเขามาสุคะโตน่ะ ต้องลาด ไม่ใช่หน้าผา ไม่ใช่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เราลาดเอาไว้แล้ว รู้สึกตัวๆ เราลาดเอาไว้แล้ว ตรงที่เป็นหน้าผาก็ลาดไปแล้ว รู้สึกตัวน่ะ รู้สึกตัวทีหนึ่งเหมือนทำให้หน้าผามันลาดลง รู้สึกตัว รู้สึกตัวเหมือนการบุกเบิก หรือพวกเราปลูกป่า ป่าพงป่าหญ้าคา บุกเบิก เคยเปรียบเทียบสติเหมือนใบมีดของรถแทรคเตอร์ ผ่านไปตรงไหน มักจะเรียบ หรือสติเหมือนไม้กวาดผ่านไปตรงไหนมันจะสะอาด ก็เลยลาดเอาไว้ ง่าย
แต่ก่อนไม่รู้ มันชัน พอหลงจะรู้สึกตัว มันก็ยากเสียแล้ว พอโกรธจะรู้สึกตัว มันก็ยากเสียแล้วเพราะมันชันอยู่ อันนี้เรามาสร้างไว้ รู้สึกตัว รู้สึกตัว 1 วันแล้ว 2 วันแล้ว 3วันแล้ว 4 วันแล้ว ถึง ๗ วันแล้ว เอ้า ถ้าได้ 7 วันแล้ว เอาล่ะบัดนี้ นั่นต่างกันเยอะแยะเลย ความหลงกับความรู้น่ะ สัมผัสดูแล้วความหลงกับความรู้น่ะ ไม่มีใครไปกับความหลง ถ้าได้รู้ถึง 7 วันแล้ว เลือกเป็นแล้วนั่นล่ะ เลือกเป็นแล้ว ถ้าเป็นทางก็เห็นทางได้ง่ายเพราะเดินอยู่หลายวัน รอยเท้าเหมือนกับเราเดินไปกุฏิของเรา ชำนาญแล้ว จากหอไตรไปกุฏิ จากกุฏิไปศาลาหน้า ไปฉันชำนาญแล้ว ก็มันทางของเราแล้ว
ชีวิตเราต้องสร้างทางเดินในกายในจิต เห็นเวทนาก็ชำนาญในเวทนา เห็นกายก็ชำนาญในกาย เห็นจิตก็ชำนาญในจิต ไม่หลงอยู่ตรงเวทนา ไม่หลงอยู่ตรงจิต ไม่หลงอยู่ตรงธรรม สะดวกแล้วกัน ประสาอะไรความหลงความทุกข์ มันก็ง่ายไปเลย มันเป็นขั้นตอนดี สติปัฏฐานสูตรเนี่ย ฉลาดจริงจริ๊งพระพุทธเจ้า มายกนี่หลวงพ่อเทียน มาสอนให้เราให้ฉลาดให้เห็นรูปเห็นนามเห็นทุกข์ เห็นไตรลักษณ์ เห็นสมมติ เห็นบัญญัติ เห็นปรมัตถ์ เห็นวัตถุ อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม เป็นเท็จเป็นจริงอย่างไร ความเป็นเท็จก็ทนไม่ได้ ความเป็นจริงก็ไปได้
ความหลงเป็นของไม่จริง ความรู้สึกตัวเป็นของจริง ความรู้สึกตัวต้องผ่านความหลง ความทุกข์ไม่จริง ความรู้สึกตัวต้องผ่านความทุกข์ ความโกรธไม่จริง ความรู้สึกตัวต้องผ่านความโกรธ เอาความโกรธไว้หลัง เอาความทุกข์ไว้หลัง เอาความหลงไว้หลัง จึงจะเรียกว่าวิปัสสนา ล่วงพ้นภาวะเก่า มันเป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนี้จริงๆ การปฏิบัติธรรม มันสะอาดหรือว่าพรหมจรรย์ มันสะอาดกว่าเก่า ตอนที่จะเป็นพรหมจรรย์นี่ ภาวะที่ดูนี่แหละ ประพฤติพรหมจรรย์ ภาวะที่ดูนี่แหละ เห็นไม่เข้าไปเป็น เห็นทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ นี่พรหมจรรย์ล่ะ
ก็เลยอาศัยคำพูด บอกช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้ยินได้ฟัง เห็นไหม เวลามันร้อน เห็นมันร้อน ไม่ใช่เป็นผู้ร้อน กำลังจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว เวลามันปวดมันเมื่อย เห็นมันปวดมันเมื่อย ไม่ใช่เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย เห็นมันปวดมันเมื่อยนั่นพรหมจรรย์แล้ว มันทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่ใช่เป็นผู้ทุกข์ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว เริ่มต้นเป็นพรหมจรรย์ ปฏิบัติธรรม สัจธรรม เกิดจากสัจธรรมตรงนี้
พระสงฆ์เกิดจากพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดีเป็นต้น พระสงฆ์ที่เป็นคุณภาพ เป็นคุณธรรมที่เป็นปรมัตถ์ เกิดขึ้นตรงนี้ พระสงฆ์ที่เป็นสมมติเกิดขึ้นจากการสวดญัตติ มีอุปัชฌาย์ มีกรรมวาจาอยู่ในสีมา สมมติสีมา พัทธสีมา เขปสีมา อุทกเขปสีมา บางทีก็ถ้ามันจำเป็น ชายแดนประเทศอื่น หาพัทธสีมาได้ยาก ก็สวดอุปสมบทกรรมได้ เช่น อุทกเขปสีมาในวัดเรา ศาลาน้ำเป็นอุทกเขปสีมา แต่นี่เป็นจังหวัดกลางก็เลยสมมติบวชไม่ได้ อันนั้นพระสงฆ์เกิดจากสมมติบัญญัติ
ถ้าพระสงฆ์เกิดจากปรมัตถ์สัจจะคือเกิดจากพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดี มีการประพฤติพรหมจรรย์ มีแต่เห็นไม่เข้าไปเป็นกับอะไร ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับอะไร หลายวันแล้วจิตสะอาด จิตบริสุทธิ์ เห็นทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ เห็นหลงไม่เป็นผู้หลง เห็นความร้อนความหนาว เห็นความเบื่อ เห็นความทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ บริสุทธิ์ตรงที่มันไม่เปรอะไม่เปื้อน แทนที่จะเปรอะจะเปื้อนมันไม่เปรอะไม่เปื้อน นั่นแหละคุณภาพ มันไม่เปรอะไม่เปื้อนง่ายหรอกคุณภาพ ถ้าสิ่งของไม่ทรุดไม่โทรมง่ายนั่นคุณภาพ มันใช้งานใช้การได้เรียกว่าสมรรถนะ มันเข้มแข็ง ไม่ทุพพลภาพทางจิตวิญญาณ มันสร้างเสริมขึ้นมา มันทุกข์เห็นมันทุกข์ สร้างแล้ว มันโกรธเห็นมันโกรธ สร้างขึ้นแล้ว ความโกรธไม่เปรอะไม่เปื้อนกับผู้เห็นผู้พบเห็น มันก็ผ่านไปผ่านไป ประพฤติพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สิ้นเชิง ไม่มีตรงไหนที่จะสิ้นเชิงเท่ากับเห็นอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม ตัวปฏิบัติ ก็ฟังเอาไว้
ไปทำดู ไปทำให้มันเป็น ไม่ใช่สอนให้รู้ สอนให้เอาไปทำ แล้วทำให้มันเป็น ทำเป็นอย่างไร เวลามันหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ โอ้ ความหลงหมดไปแล้ว ทำเป็นแล้ว มันหลงทีไร เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ ทำเป็นแล้ว ทำเป็นแล้ว ทำให้มันเป็น ใครเป็นคนทำ เราต้องทำเอาเอง เวลามันทุกข์ เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ รู้สึกตัว รู้สึกตัว ความทุกข์หมดไปแล้ว มันเกิดขึ้นอีกก็ทำอีก ทำเป็นอีก ทำให้เป็น การทำให้เป็นเราต้องสอนตัวเรา การสอนให้รู้ มีการสอนเยอะแยะไปหมดเลย ใครก็สอนได้ แต่การสอนให้เป็น ไม่มีใครสอนเราได้ เราต้องทำเอาเอง นี่ภาคปฏิบัติ
เหมือนกับลงสนาม เข้าสู่สนามรบ ก็รู้หลบรู้หลีก รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง บางอย่างก็หลบ มันมาสูงก็หมอบลง มาต่ำก็กระโดดขึ้น อย่าให้มันถูก คนที่เข้าสู่สนามรบ ไม่ใช่มีใครบอก ไปบอกกันไม่ได้ ก็ต้องฝึกเอาเอง รบไปเอาเอง หลบกันเอาเอง หาวิธีที่จะปลอดภัยเอาเอง การเจริญสติเหมือนลงสนามรบ ความหลง สนามรบ ความทุกข์ ความอะไรต่างๆ ขอให้แข็งแกร่งสักหน่อย อย่าไปอ่อนแอ ออดแอด อ่อนแอ สร้างความเข็มแข็ง
เรามีครูบาอาจารย์ มีพระพุทธ พระธรรม เรามีพระรัตนตรัย เรามีวัตรปฏิบัติ เรามีพระไตรปิฎก เราสาธยายธรรมตอนเช้าตอนเย็น เรามีเพื่อนมีมิตร อ้าว ไปปักกลดอยู่ป่าไผ่ ก็มีเพื่อนมีมิตรมีกัลยาณมิตรเป็นตัวเป็นตนจริงๆ อุ่นใจจริงๆ อ้าว มาทำวัตรสวดมนต์ ก็มีพระไตรปิฎกที่เป็นหลักฐานช่วยเรา เราสาธยายธรรมเป็นคำพูด เอ้า มันก็สอนเรา โอ๊ย หลายอย่างที่ช่วยเรา ไม่เปลี่ยวเดี่ยวเดียวดาย อุ่นใจพวกเรา ไม่ใช่หนึ่งสองเท่านั้น เป็นสิบเป็นยี่สิบ ทั้งอุบาสกทั้งอุบาสิกาผู้ทำอาหารให้เราขบเราฉัน สะดวกหลายอย่าง ญาติโยมมาจากที่ใกล้ที่ไกลนำอะไรมาช่วยเราเยอะแยะไปเลย ปัจจัยสี่เครื่องนุ่งเครื่องห่ม ที่อยู่อาศัย อาหารบิณฑบาต ยารักษาโรค มีหมอมานอนเฝ้าอยู่กับเราด้วย มีนายแพทย์มีพยาบาลเป็นนักบวชก็มี มีทหาร มีตำรวจก็มี
ไม่ใช่เราโง่เง่า ไม่ใช่เราป่าเถื่อน อะไรก็เห็นกันอยู่โต้งๆ คำพูดคำบอกคำสอนเราก็ให้พิสูจน์เห็นอยู่ ถ้าเป็นการหลอกก็จะต้องให้เห็นว่าเราหลอก ถ้าเป็นการไม่หลอกก็ให้เห็นว่าเราไม่ได้หลอกใคร เราก็ไม่ได้กระซิบกระซาบสอนนู่นสอนนี่ เหมือนลูกศิษย์อาจารย์ทิศาปาโมกข์ ลูกศิษย์หลอกให้อาจารย์โกรธองคุลิมาล เพราะองคุลิมาลเป็นคนดีแข็งแกร่งเรียนเก่ง ลูกศิษย์รุ่นราวคราวเดียวกันโกรธ หาว่าดีกว่าเขา เขาก็พยายามไปพูดกับอาจารย์ให้อาจารย์ขับไล่เขา หาว่าองคุลิมาลเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อาจารย์ก็ไม่เชื่อ เป่าหูไปเป่าหูมา หาว่าองคุลิมาลจะฆ่าอาจารย์นะ เขาวางแผนแล้ว อาจารย์ไม่ฆ่าเขาเสีย อาจารย์จะตายนะ อาจารย์หูเบาเชื่อลูกศิษย์อีกพวกหนึ่ง ก็เลย เอ๊ะ ถ้าจะฆ่าก็ไม่ได้เนอะ อาจารย์จะฆ่าลูกศิษย์มันไม่ได้ ต้องหาวิธีอื่น เลยไปบอกองคุลิมาล องคุลิมาล ยังมีคาถายังมีศาสตร์อันหนึ่งที่ยังบอกไม่ได้โดยตรง แต่ว่าเธอต้องไปหานิ้วมือมา ๑,๐๐๐ นิ้ว จึงจะเรียนศาสตร์อันนี้จบได้ เธอเรียนเก่งแล้ว ศาสตร์อะไรๆ ก็จบหมดแล้ว แต่เธอเรียนศาสตร์นี้จะต้องไปเอานิ้วมือของคนมา คนละนิ้วละนิ้วมาให้ได้พันนิ้วพันข้อ เธอถึงจะเรียนศาสตร์นี้ได้ ก็หมายความว่าถ้าองคุลิมาลไปฆ่าคนก็ต้องถูกคนฆ่า ถึง 1,000 คน สองสามคนก็ถูกเขาฆ่าแล้ว วางแผนไปให้ถูกเขาฆ่า ในที่สุดองคุลิมาลก็ไม่ถูกใครฆ่าได้ ผลที่สุดเป็นการหลอก จนได้ไปพบกับพระพุทธเจ้าก็หลอกไม่ได้ เสียเปรียบอาจารย์
นี่ถ้าพวกเราที่นี่หลอกก็อย่าไปเสียเปรียบเป็นเดือนเป็นปี พิสูจน์ดู เราก็ไม่ได้กระซิบกระซาบใคร พูดก็พูดให้ได้ยินอยู่เนี่ย ไม่ได้ไปอะไร ใช้เครื่องขยายอย่างดีอัดเทปอย่างดีมีหลักฐาน ก็เขียนไว้ พูดวันที่เท่านี้เท่านั้นก็เขียนไว้ ปีนั้นพ.ศ.นั้น เอ้า พิสูจน์ลงไป เป็นเท็จเป็นจริงอย่างไร ผู้มีปัญญาผู้มีสติก็ฟังดูทำดู หากปฏิบัติเรารู้สึกตัวกับกาย เขาหลอกไหม เวลาหลงเรารู้สึกตัว เขาหลอกไหม ทำอะไรตรงนี้ได้ โอ้ มันหลง เราก็รู้สึกตัวน่ะ มันทุกข์เราก็รู้สึกตัว มันโกรธเราก็รู้สึกตัว มันร้อนมันหนาวเราก็รู้สึกตัว โอ้ ความรู้สึกตัวเป็นตัวเฉลยทั้งหมดเลย เอ้า ได้หลักแล้วล่ะ ไปแล้วล่ะ
สุขทุกข์ไม่ใช่จากเหตุอันอื่น ความสุขความทุกข์มันเกิดขึ้นจากเรา แต่ก่อนความสุขความทุกข์มันเกิดขึ้นจากคนอื่น อาศัยคนอื่น เขาทำให้้เป็นทุกข์ก็ทุกข์ เขาทำให้เป็นสุขก็สุข บัดนี้เสร็จเลย สุขทุกข์มันเกิดขึ้นจากเรา เห็นแจ้งรู้จริง เนี่ย มันก็แก้ได้ถ้าเกิดขึ้นจากเรา จะไปแก้คนอื่นแก้ไม่ได้ เขาจงอย่าด่าเรา เขาจงสรรเสริญเรา เขาจงรักเรา ไม่สำเร็จ เรามารักตัวเรา มาแก้ตัวเรา โอ้ โลกนี้ก็เหยียบมันแหลกไปเลย ถ้าเห็นว่าสุขทุกข์กับเราแล้ว ไม่มีอะไรน่ากลัว ลุยเลย เราสอนอย่างนี้การสอนธรรมะ
เรียกว่ากรรมคือการกระทำ ทำลงไปที่กาย ทำลงไปที่วาจา ที่จิตที่ใจ ถ้าเป็นบุญวาสนาก็แต่งลงไปที่กาย กายสุจริต แต่งลงไปที่วาจา วาจาสุจริต แต่งลงไปที่จิตใจ มโนสุจริต ถูกต้อง แต่งได้ วาดเขียนลงไป มีบุญวาสนาบารมีก็สร้างไป อดทนลงไป เจริญสติลงไป มีเมตตาลงไป มีความอดทนลงไป มีศีลลงไป มีสมาธิลงไป มีปัญญาลงไป ปัญญาน้อยๆ มันหลง เปลี่ยนตัวหลงเป็นตัวรู้ เป็นปัญญาแล้ว ขณะที่ใส่ใจสร้างสติอยู่นี้ มันก็เป็นสมาธิแล้ว มีศีลแล้ว เราสร้างบารมีนะเนี่ย ไม่ใช่เราทำอันอื่น สร้างบุญนะเนี่ยเรามาปฏิบัติ สร้างรักษาศีลนะเนี่ยมาปฏิบัติ ไม่ใช่อย่างอื่น พิสูจน์เอาเนาะ