แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมต่ออีกสัก 30 นาที เราได้สาธยายพระสูตรมา 30 นาที ให้หลาย ๆ ทาง เพื่อเป็นสิ่งแวดล้อม ในการปฏิบัติธรรม ทั้งได้ยินได้ฟังมา ทั้งมีศรัทธา มีความตั้งใจ มีความเพียร มีสติ ปัญญา มาเลือกดูสิ ชีวิตของเรามันปนเปมา มันเลือกได้ อะไรผิด อะไรถูก เลือกได้ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดไม่ทุกข์ เลือกได้ มันจะฉายให้เราเห็น ทางกาย ทางจิตใจ เรามีสติเป็นดวงตา ดูเอา อย่ามีแต่ศรัทธาเฉย ๆ ให้มีปัญญา
ปฏิบัติตามธรรม สิ่งที่ผิดก็อย่าไปเอา สิ่งที่ถูกให้ประกอบขึ้น ให้มันมี บอกที่ถึงภาวะที่เลือกต้องลงมือดู ถ้าไม่ดูก็จะไม่เห็น เหมือนเรามีตา เลือกซื้อสิ่งของ สิ่งของที่เขามาขายมันอาจจะปนเปื้อนไม่สะอาด เสียก็มี ดีก็มี เราก็เลือกได้ ของใช้ของสอย ของอยู่ของกิน ผ่านจากการเลือกคัดมา เกรดเอ เกรดบี อะไรต่างๆ แม้แต่วัตถุสิ่งของ วัสดุก่อสร้าง ประตูหน้าต่าง ก็ต้องเลือก ของปลอมมันเยอะ โต๊ะ เตียง เก้าอี้เฟอร์นิเจอร์ มันของปลอม สีสันต่างๆ หีบห่อ ของใช้ของสอย ทุกวันนี้ หีบห่อมันเอาจริงจัง เรื่องหีบห่อดูแล้วก็น่าใช้น่าอะไรต่างๆ ที่จริงมันไม่มีค่าอะไร ก็มี
ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ปนเปื้อนมา จากที่เราใช้ชีวิตไม่เป็นกัน พะรุงพะรังอะไรก็ไม่รู้ เป็นภาระ ถึงโอกาสที่เราจะต้องมาเลือกได้ การเจริญสติเป็นตลาดนัดของสรรพสิ่งทั้งหลายมีมากมาย เรียกว่ากรรม คือการกระทำ เวลาเข้าสู่ภาวะที่เลือก ตั้งไว้กรรมฐาน คือการกระทำที่เกิดขึ้นจะต้องเห็น มีสติดูกาย มันจะเห็นอะไรที่เกิดขึ้นกับกายหลายอย่าง ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งอะไรเยอะแยะไปหมดเลย อาการต่างๆ เกิดกับกาย เราอาจจะไม่เคยเลือกสักที เช่น ความหลง ความโกรธ ความโลภ ความสุข ความทุกข์ เอากายไปให้เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดโกรธ เกิดโลภ เกิดหลง เกิดผิด เกิดถูก บางทีอาจจะเสียหายมาบ้างแล้ว
นอกจากในกายมันเกิดขึ้นมา ยังจะหาสิ่งที่มาปนเปื้อนกับมันอีก ไปกินเหล้า ไปสูบบุหรี่ ไปติดอะไรมา ก็เพราะอะไร เพราะเราใช้ชีวิตไม่เป็น สิ่งแวดล้อมไม่ค่อยดีหลายอย่างในโลกนี้ รสของโลกก็มีเยอะ ทำให้ติดรสของโลกได้ ถ้าใช้ไม่เป็นน่ะ ซุกซน ตอนเรามามีสติรู้กาย มันจะแสดงออกมา มันติดอะไรมา เรียกว่ากรรม เคยทำอะไรมา มันก็จะติด มันเป็นวัฏฏะ ในภาษาธรรมะ กรรม กิเลส วิบาก เช่น คนสูบบุหรี่ กรรมคือไปสูบ ติดก็เป็นกิเลส อยากก็เป็นวิบาก เพราะสูบมันก็ติด เพราะติดมันก็อยาก อันนั้นเรียกว่า วัฏฏะ 3 เพราะสูบมันยังติด เพราะติดมันจึงอยาก เพราะอยากมันจึงสูบ เพราะสูบมันจึงติด เพราะติดมันจึงอยาก เพราะอยากมันจึงสูบ อะไรมันเป็นเหตุ หยุดตรงไหน สู้กันตรงไหน ถ้าจะตัดกรรม เจ็บปวดสักหน่อย เหมือนกับมีฝี มีหนอง ไปหาหมอ ต้องเจ็บสักหน่อย ให้หมอผ่าออก เอาหนองออก เหมือนหนามทิ่ม เอาหนามบ่งออก อาจจะมีเลือดออกมาบ้าง แต่เมื่อออกแล้วมันหาย
กรรมกิเลส วิบาก มันอยู่ตรงไหน เหตุมันน่ะ ก็อยู่ตรงที่การกระทำ อะไรคือการกระทำ เพราะไปสูบเข้า เพราะไปสูบมันก็เลยติด เพราะติดมันก็ยิ่งอยาก จะไปแก้ความอยาก จะไปแก้ความติด มันไม่ได้ ต้องแก้กรรม เรียกว่าแก้กรรม เรามีกรรมมา เราต้องแก้ อย่าปล่อยทิ้งไว้ ถ้าไม่แก้ มันจะลุกลามไปถึงอะไรหลายอย่าง เป็นโทษเป็นภัยต่อชีวิตทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม พอไม่สูบมันจะเจ็บปวดสักหน่อย เหมือนกับผ่า เหมือนกับไฟที่ไหม้รอบเรา จะทำยังไง จะยืนให้มันไหม้เข้ามาใกล้ๆ หรือ ต้องแหวกไฟออกไป
อยู่ที่นี่ แต่ก่อนอยู่คนเดียว ดับไฟป่า ดับไปข้างหน้า ข้างหลังมันลุกขึ้นมา ลมมันพัด มันปลิวตกไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้าง ๆ มันก็ดับไม่ทัน ตัวคนเดียว มองไปข้างหน้าก็มีไฟ มองไปข้างๆ ข้างซ้าย ข้างขวา ก็มีไฟ ข้างหลังก็มีไฟ จะไปยังไงล่ะ หา แม่ชีน้อย (หัวเราะ) มีทางออกทางไหน ก็หาทางดู ทางไหนที่ไฟมันยังมี มีหญ้า มีเชื้อไฟอยู่ข้างหน้า อย่าโดดไป ถ้ามองออกก็มีปัญญา ทางไหนที่ไฟมันไหม้มาแล้ว ไม่มีเชื้อไฟแล้ว หญ้าหมดแล้ว ไหม้หมดแล้ว ก็โดดออกไปทางนั้น ขนตา ขนหัวไหม้หมดเลย พอกระโดดไปมันก็ยังไม่ได้ไหม้ ร้อนวึ่บนิดเดียว กระโดดออกไป 2-3-4-5 ก้าว แล้วมาปัดหัว ปัดคิ้ว ขนตา ขนหัว ดูหน้า เจ็บปวดนิดหน่อย อย่าให้มันไหม้เข้ามา ไม่หลบ ไม่หนี ไม่กระโจนลองดู มันก็ไม่ไหว
ผู้มีพลังแก่กล้ากระโจนถลาไกล มันชั่วโดดออกไป มันทำได้ อันนี้ก็คือกรรมที่เราสร้างมา จึงมาแก้กัน มันหลง ชีวิตเราผ่านมานี่ มันหลงกับมันรู้ อะไรมันมากกว่ากัน มาดูสิ บางทีอาจจะฉายความหลงออกมาไม่หยุดไม่หย่อน ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ไม่มีอะไรฉายก็ฉายออกมา เกิดสังขารปรุงแต่งขึ้นมา นั่นแหละ โอกาสที่เรานาทีทองแล้ว จะได้ดู จะได้ฉลาด จะได้แก้ มันมาให้เราแก้ ไม่ใช่มาให้ยอมรับ เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง มันถูกที่สุด อะไรที่มันไม่ใช่รู้ เปลี่ยนได้ทั้งนั้น ความรู้สึกตัวไปเกี่ยวข้องไปเปลี่ยนได้ เรียกว่าปฏิบัติ
ปฏิบัติคือเปลี่ยนร้ายเป็นดี ขยันรู้เอาไว้ ตั้งหลักไว้ เพื่อจะเลือก ยืนหยัดในการเลือกให้ได้ มันเลือกได้ ชีวิตมันเลือกได้ สิทธิ 100% ถ้ามันรู้จักเลือก มันเป็นคนปนกันมากเกินไป เรียกว่าคน สุขก็มี ทุกข์ก็มี รักก็มี เกลียดชังก็มี ขี้เกียจ ขยันก็มี หลายอย่าง เกิดกับจิตกับใจ เกิดกับกาย มีมากปนกันมา เรียกว่าคน ถ้าไม่รู้จักเลือก จะไปสู่นรก ไปทางต่ำ ถ้ารู้จักเลือก จะเป็นมนุษย์ขึ้นมา ไปสูงๆ พ้นจากอบายได้ ถึงสวรรค์ ถึงนิพพานได้ ถ้าเลือกอ่ะ ถ้าไม่เลือกไม่มีทาง ไปสู่นรกเท่ากับขนโค ขนน่ะมาก ไปสู่มรรคผลนิพพานเท่ากับเขาของโค สองอันเท่านั้นเอง เปรียบเทียบไม่ได้ ถ้าเป็นคนน่ะ
ชีวิตเราจึงต้องเลือกเพราะมีประโยชน์ มีพ่อ มีแม่ มีผัวเมีย ลูกหลาน อะไร ต่างๆ มากมาย เรามีศรัทธา มีศาสนา ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา อย่าเพียงแต่สวด ไม่ใช่มาสวด มาอ้อนวอน ต้องปฏิบัติลงไป อะไรที่ไม่ดี ให้มันดีขึ้นมา ถ้ามีศรัทธา ถ้าเชื่อ เคารพพระธรรม อย่าเคารพอธรรม ได้มีความรักพ่อรักแม่ งานวันแม่ หลายพื้นที่ทำบุญวันแม่ บางทีก็ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาด แสดงออกทั้งความดี ถ้ามีความรักไม่แสดงออก เช่น รักพ่อรักแม่ ใครก็รู้ ปฏิเสธไม่ได้ ยอมรับทุกคน ยอมรับแต่เราทำยังไง จึงชื่อว่ารักพ่อรักแม่ เราต้องเป็นคนดีละความชั่ว พ่อแม่เลี้ยงเรามา พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นคนดี
ถามดูสิพ่อทั้งหลาย แม่ทั้งหลาย ไม่มีใครที่ไม่อยากให้ลูกเป็นคนดี ยามแก่เฒ่า หวังเจ้ารับใช้ ยามเจ็บไข้ หวังเจ้าช่วยรักษา ยามต้องตายวายชีวา หวังให้เจ้าปิดตาเวลาตาย อันนี่คือความคิดไว้ บางทีถ้าลูกชายโตขึ้นมากูจะให้มันบวช คิดไว้แล้ว วางแผนไว้แล้ว ขีดเส้นไว้แล้ว เรียนหนังสือจบให้บวช บางทีก็มีโอกาสมาบวช บางทีก็ไม่มีโอกาส พ่อแม่ตายไปก็มี บางทีผู้เฒ่าผู้แก่เห็นหลานไม่ใช่ลูก พอเห็นหน้าหลานก็ เอาหลานไปอ้าง ถ้าเป็นหลานชาย โอ๊ย โตขึ้นมาให้มันบวชหากูด้วย อาจจะไม่เห็นแล้ว ให้มันบวชหา ได้ยินคำพูดแบบนี้ ถ้าเราเคารพพ่อแม่ ต้องเป็นคนดี
เคารพพระธรรม ทำยังไง ความหลงอย่าไป อย่าไปเคารพมัน ถ้าหลงเป็นหลง ถือว่าไม่เคารพพระธรรม ไปเคารพที่เป็นอธรรม ถ้ามันหลงอย่าไปเคารพ เคารพความไม่หลง มันมีอยู่ เรียกว่ามีสิทธิ 100% มีสิทธิจะไม่หลง เวลามันทุกข์ มีสิทธิจะไม่ทุกข์ เวลามันโกรธ มีสิทธิจะไม่โกรธ ใช้สิทธิของเราเลือก เลือกไปๆ มันจะมีอานิสงส์ มีแต่ของดี ใช้ได้ เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยได้ใช้ของดี ความคิดก็มีแต่สิ่งที่มันยื่นมาให้ใช้ เป็นความรัก เป็นความชัง เป็นความพอใจ ไม่พอใจมาก่อน ตาเห็นรูป มีความพอใจความไม่พอใจออกหน้า หูได้ยินเสียง มาแล้ว ความพอใจความไม่พอใจออกหน้า จมูกได้กลิ่น มาแล้ว ความพอใจความไม่พอใจออกหน้า ลิ้นได้รส กายสัมผัส จิตใจคิดนึก ไปทางนั้นหมด เพราะเราใช้ไม่เป็น ไม่มีคำว่า ดู ฟังหูไว้หู ตาเห็นก็เชื่อ หูได้ยินก็เชื่อ อะไรที่มันสั่งให้ไปก็ไป ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง บางทีของอย่างเดียวพอใจ ของอย่างเดียวไม่พอใจ แต่ก่อนก็รักกัน ผัวเมียรักกัน บางทีก็รักกัน เป็นศัตรูกันฆ่ากันได้ เพราะมันใช้ไม่เป็น
ชีวิตที่ใช้ไม่เป็น จึงเป็นอันตราย มีใจก็พึ่งใจไม่ได้ เอาใจไว้คอยรับใช้มัน อะไรมันคิด อะไรก็ตาม ๆ มัน ไม่ใช่เราใช้ใจ ใจมันใช้เรา จิตใจความคิดมันใช้เรา ไม่มีสิทธิ ไม่รู้จะเป็นยังไง ไม่มั่นใจในตัวเอง อย่างนี้ อันตรายมาก สังคมคนไทย คนในโลก ถ้าไม่มั่นใจในตัวเอง จะไปอาศัยอะไร เอาคิดไปห้อยไปแขวนไว้ตรงไหน ชีวิตต้องเป็นชีวิต มันต้องไม่เป็นอะไร มีสิทธิ นี่มาหัดอย่างนี้ มันมีจริงๆ จึงต้องหัดให้ได้ อยู่ในกายเรานี้ อยู่ในใจเรานี้ มาเป็นมิตรมาเป็นเพื่อนกัน ให้มีสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่าง พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่ให้เห็น ไม่ฝืดฟางเกินไป ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป พออยู่กันได้
ควรที่จะท้าทายกันบ้างแล้ว ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเนี่ย มานานเหลือเกิน แล้วก็ยังเห็นอยู่ ขี้เหล้าเมายา คนชั่วยังเยอะแยะอยู่ เราจะอยู่กันยังไง เราต้องมานับหนึ่งจากเราเนี่ย ทุกคนต้องนับหนึ่งจากเราไว้ก่อน ตั้งต้น ถ้าหากเราไม่ตั้งต้น เราไม่รู้จะตั้งต้นหนึ่งที่ไหน ศาสนาเป็นศาสนาปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ศาสนาที่เป็นสังคมเป็นหมู่ เมื่อมี 1 แล้วจึงมี 2 พระพุทธเจ้าตรัสรู้อุบัติขึ้นเพียงชีวิตเดียว 1 แล้ว ก็เลยมาถึงพวกเราเนี่ย เราจะนับหนึ่ง ลูกพ่อนี่ แม่นี่ เราเป็นคนหนึ่ง ให้คิดอย่างนี้
ครอบครัวนี่เราเป็นคนหนึ่ง จะเป็นหนึ่งเสมอชีวิตเรา สิ่งไหนไม่ดี แก้ไขให้ตัวเองให้คนอื่น ช่วยกันให้เป็น คนหนึ่งหลง ไปช่วยให้เขาไม่หลง คนหนึ่งโกรธ ไปช่วยให้เขาไม่โกรธ คนหนึ่งทุกข์ ไปช่วยให้เขาไม่ทุกข์ โดยรูปแบบต่างๆ ในการปฏิบัติ ส่วนมากช่วยกันเรื่องนี้ไม่ค่อยเป็น คนหนึ่งโกรธ อีกคนหนึ่งก็โกรธตาม คนโกรธก่อนอาจจะไม่เป็นบาป ไม่โง่ คนโกรธทีหลังอาจจะโง่ ๒ เท่าของคนโกรธก่อน มีมาก เอาชีวิตไปห้อยไปแขวนไว้ อยู่ดีๆ เขามาว่า เราก็โกรธแล้ว ทั้งๆ ที่เราไม่เป็นไรก็โกรธ ให้เขาชักไฟเหมือนหนังสมุทัย เขายกย่องก็หัวเราะ เขานินทาก็ร้องไห้เสียใจ ชีวิตเป็นอย่างนั้นหรือ เปราะบางเกินไป ต้องเข้มแข็งกันบ้าง อยู่ในโลกนี้ รสของโลกมีเยอะ ถ้าไม่เก่งกล้า มันก็ถูกโลกทับถมได้ จึงต้องมาเลือกดู เรียกว่าเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม มีสูตรอยู่ ไม่ใช่งมเซา
อย่างที่สูตรเราสาธยายไป พระสูตรน่ะ ยังไง ที่ว่าความเพียรประคองตั้งสติไว้ เพื่อหยั่งอกุศลธรรมอันที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น นั่นน่ะ ตั้งสติไว้ การที่ตั้งสติก็มีฉันทะพอใจ อย่าขี้เกียจขี้คร้าน ฉันทะ วิริยะมะติ (ฉันทัง ชะเนติ) วายะมะติ วิริยัง อาระภะติ จิตตัง ปัคคันหาติ ฉันทะ พอใจที่จะต้องทำ ยกมือมันก็ได้ประโยชน์ เคลื่อนมือไปก็รู้ที่นั่น ยกขึ้นมาก็รู้ วางลงก็รู้ มีความพอใจมาก เอ๊า มันปานนี้หนอ ไปทำงานกว่าจะได้เงินเดือนต้องเดือนหนึ่ง ปลูกข้าว กว่าจะได้ข้าวมากินตั้งครึ่งปี หลายอย่าง อันความเพียรนี้เพียงแต่ยกมือ วินาทีเดียว รู้ รู้ ขึ้นมา ฉันทะพอใจมาก ประคองลองดู ตั้งไว้ลองดู นี่คือความเพียร
ระกอบขึ้นมา สติ มันจะเกิดเพราะการประกอบ ไม่ใช่คิดเอา ฝันเอา ต้องประกอบ เอากายไปสัมผัส เอาใจไปสัมผัสเอา ไปต่อเอา ช่วยกันก็ได้ ตัวใครตัวมัน เราก็มีกาย เราก็มีใจ เราเท่ากันหมด สามัญลักษณะ มีความร้อน ความหนาว ความหิว ความปวด ความเมื่อย สุขทุกข์ เหมือนกันหมด อย่านึกว่าเราคนเดียว แม้แต่พระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นมาในโลก ก็ผ่านอย่างนี้ไป อาจจะลำบากกว่าเรา การใช้ชีวิตของพระองค์เป็นเจ้าฟ้าชายสุขุมาลชาติ ที่อยู่ก็ปราสาท 3 ฤดู ฤดูฝนก็อยู่หลังหนึ่ง ฤดูหนาวก็อยู่หลังหนึ่ง ฤดูร้อนก็อยู่หลังหนึ่ง
เมื่อพระองค์ออกแสวงหาโมกขธรรม หาที่บงที่บังไม่มี ตามถ้ำบ้าง ตามโคนไม้บ้าง เรือนว่างบ้าง กองฟางบ้าง ถ้ำดงคสิริหลวงตาเคยไปดู ตรงที่บำเพ็ญทุกรกิริยา ไปดู อาจจะลำบากต้องปีนเขาขึ้นไป ที่อยู่อาศัยไม่มี ในวันตรัสรู้วันเพ็ญเดือน 6 ฤดูฝนด้วย จะเป็นยังไง เคยอยู่ปราสาท 3 ฤดู อาจจะคิดเปรียบเทียบไม่ได้เลย มีสาวสนมดูแลรักษา อยู่ลำพังพระองค์เดียว ทำท่าจะเป็นไข้ เป็นร้อน เป็นหนาว ยุงก็กัด ชุมมาก ถ้าแหวกมา อาจจะลำบากกว่าเรา
พวกเรายังมีมิตรมีเพื่อน อุ่นใจ มีพระสงฆ์ มีแม่ชี มีญาติโยม มีที่อยู่อาศัย ถึงเวลาจะไปกินข้าว ก็มีที่ให้กิน มีที่ให้นอน ถือว่ามีสัปปายะพอที่ใช้ในกิจการนี้ได้ ไม่ลำบากเท่าไร ถ้าดีกว่านี้ก็ไม่ต้องการ มันจะหลง นี่เรียกว่าฉันทะ พอใจในการทำความดี ตั้งสติไว้ เพื่อยังอกุศล เพื่อจะป้องกันอกุศลความไม่ดีทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ให้เกิดขึ้นอีก มันก็มีเท่านี้ การแยกมีเท่านี้ อกุศลความไม่ดี อะไรมันไม่ดี ความหลง ความคิดฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัย สุขทุกข์ ให้สุขเป็นสุข ให้ทุกข์เป็นทุกข์ หลงเป็นหลง โกรธเป็นโกรธ นั่นคืออกุศล
หลงต้องเป็นไม่หลง ทุกข์ก็ต้องเป็นไม่ทุกข์ โกรธต้องเป็นไม่โกรธ ไม่ต้องมีอะไร มีแต่เห็นมัน ง่ายๆ ไม่ต้องไปเข็นมัน เหมือนไล่ยุง ไล่ยุงยากกว่า ต้องเอามือไปไล่ เอาผ้าไปปัดไปวี อันเปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนความหลงเป็นความไม่หลง มันไม่ยากขนาดนั้น มันหลงในเวลาไหนเปลี่ยนได้ทั้งนั้น เวลานอนมันหลง เปลี่ยนในขณะที่นอนนั่นแหละ หายใจเข้าหายใจออก รู้สึกตัวอยู่ มันหลง เปลี่ยนเป็นไม่หลง เอาหายใจอันเดียวนั่นแหละ เปลี่ยนเป็นคนละหน้า เหมือนหน้ามือหลังมือ อันหนึ่งเป็นข้างหลัง อันหนึ่งเป็นข้างหน้า ถ้าความหลงเป็นหลังมือ ความไม่หลงเป็นหน้ามืออย่างนี้ มันเปลี่ยนอยู่ในตัวมัน มาพร้อมกัน เลือกเอา ป้องกัน ป้องกันตรงนี้ก่อน มันหลง ไม่หลง นี่แหละป้องกัน เพื่อละอกุศล
อกุศลความหลงมันมีมากกว่าไม่หลงเพราะเราไม่เคยใช้ 30 ปี 40 ปี ไม่เคยดูเรื่องนี้เลย ปล่อยทิ้งไป ไม่เคยดูแลกาย ไม่เคยดูแลใจ ส่ำส่อนมาก สาธารณะ โสเภณีทางจิต คิดอะไรก็คิดได้ มันใช้ไม่เป็น พอมาดูแล้ว มัน โอ้ มากเหลือเกินนะ ความหลงมากกว่าความไม่หลง อย่างเรามาทำดูเนี่ย กรรมฐาน รูปแบบกรรมฐานนี่ 14 จังหวะ จังหวะหนึ่งอาจจะวินาทีหนึ่ง หรือช้ากว่านี้ไม่มาก ไวกว่านี้ไม่มาก มันจะพอดี หายใจเข้า หายใจออก มันไม่ยาก
มันมีอุปกรณ์ที่จะมาประกอบความเพียรขึ้นมาได้ ลองทำดู เรียกว่ากรรมฐาน ฐานก็ตั้งไว้ กรรมคือการกระทำ อาศัยกายเป็นฐานเป็นนิมิตตั้งไว้ก่อน มีสติไปในกายเสียก่อน อย่าเพิ่งไปจับจิต แต่ว่าเวลาเห็นกายมันก็เป็นการปลูกข้อมูลในจิตพอดี ไปด้วยกันเลย ถ้าไปเล่นกับจิตมันจะยาก มันจะยากหน่อย เพราะเราไม่เคยหัดเสียก่อน ให้มันอ่อนเสียก่อน เหมือนเราดัดตัวเราตามโยคะต่างๆ ดัดไปดัดมาตัวก็อ่อน จึงหัดเอาสติไว้ที่กายก่อน มันหยาบ มันเห็น มันสัมผัส เคลื่อนไหวมือก็สัมผัสได้ รู้สึกตัว ดึง เรียกว่า เขย่า ธาตุรู้ให้มันรู้
ความรู้บางทีมันต้องเขย่า กู่มันเข้ามา กู่มันขึ้นมา เหมือนเราปลุกให้มันตื่น ลูกมันนอนอยู่ พ่อแม่ไปปลุก เพียงแต่เรียกมันไม่ตื่น เอามือไปลากขามันลงมา เขย่าไปนั่นน่ะ ไฟไหม้บ้านคอยไม่ได้ ต้องลากมันลงมา กระชากมันลงมา กระชากตัวเองขึ้นมา เหมือนแม่เลี้ยงลูก สติเหมือนพ่อเหมือนแม่ เวลาลูกคลานจะตกบันได แม่กระชากอย่างแรงเลย เจ็บน่ะไม่ใช่ เท่านี้ยังไม่พอ ถ้ามันตกลงไปอาจจะตายก็ได้ แม่ต้องกระชากขาไว้อย่างแรงเลย
เราก็กระชากชีวิตเราคืนมา มันหลง กระชากมันแรงๆ ให้มันเข็ดหลาบ สัมผัสความหลง สัมผัสความไม่รู้ สัมผัสความไม่หลงเนี่ย มันจะรู้สึกต่างกันมาก สัมผัสความทุกข์ สัมผัสความไม่ทุกข์ กระชากออกมา ปัทโธ่ อยู่ดีๆ มาทุกข์หรือเนี่ย แค่นี้มึงก็ทุกข์แล้วเหรอนี่ย ด่าตัวเอง แค่นี้มึงก็โกรธแล้วนี่ จะเป็นพ่อคนแม่คนได้ยังไง จะเป็นผัวเป็นเมียใครได้ แค่นี้ก็โกรธแล้ว กระชากมันมา เรียกว่าข่มหรือกระชากมา กดไว้ ไม่พูดเวลาโกรธ สู้มันสักหน่อย อย่าไวเกินไป อย่าด่วนเกินไป อย่ารีบ
ส่วนมากเรามักจะรีบนะ เวลาโกรธนี่รีบ ด่ากันอย่างไม่ละอาย บางคนก็ด่ากัน กลัวหายโกรธจะไม่ได้ด่า รีบไปทำตามมัน มันรีบเกินไป ต้องหยุดไว้ก่อน นี่กระชากตัวเอง ให้มันคนละมุม ลองดู มันจะเห็นคนละมุม ถ้ามันเฉื่อยๆ มันจะไม่รู้อะไร มันหลงกับรู้ มันไม่เข้าใจหรอก ถ้ามันด้านๆ ให้มันจริงจัง พลิกลองดู เปลี่ยนลองดู ปฏิบัติคือเปลี่ยน ฉันทะพอใจในงานนี้ วิริยะเพียรประกอบ จิตตะเอาใจใส่ วิมังสาปัญญาตริตรอง เวลามันหลงมีปัญญา เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง ทั้งหมดสำเร็จเลย ธรรมมันทำให้สำเร็จอย่างที่เราสวดพระสูตร ในความเพียร ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เปลี่ยนละอกุศล สร้างกุศลให้เกิดขึ้น ถ้าอกุศลเกิดขึ้น อกุศลอื่นยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ถ้ากุศลเกิดขึ้นแล้ว อกุศลอื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดขึ้นไม่ได้ มันมีหลงมีรู้เท่านี้ชีวิตเรา
ทำยังไง ทำได้ทุกคน ปฏิบัติได้ให้ผลได้ เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง ไปทางนี้ก่อน ถ้าจะเดินตามธรรม พระรสธรรม ไม่ใช่หมกมุ่นค้นหา เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง ต่อไปอันโกรธก็เปลี่ยนง่าย ทุกข์ก็เปลี่ยนง่าย โลภก็เปลี่ยนง่าย โต้โผมันคือความหลง ถ้าจะเป็นอกุศล ๓ อย่างคือ หลงอยู่ตรงกลาง โกรธอยู่ข้างซ้าย โลภอยู่ข้างขวา หลงอยู่ตรงกลาง ถ้าหลงก็โกรธได้ ถ้าหลงก็โลภได้ ถ้าหลงก็ทุกข์ได้ สุขได้ พอดี๊พอดีกับสติ คู่กันกับความหลงพอดี เหมือนกับร้อนคู่กับเย็น หนาวคู่กับอุ่น กลางวันคู่กับกลางคืน เกิดคู่กับความไม่เกิด แก่คู่กับความไม่แก่ เจ็บคู่กับความไม่เจ็บ ตายคู่กับความไม่ตาย มาเป็นคู่ อย่าจน
มองแบบนี้ชีวิตเรา ไม่หลงก็ได้ ไม่โกรธก็ได้ ไม่ทุกข์ก็ได้ อยู่ตรงกลางๆ นี่ อันกลางไม่ใช่หลงนะ กลางคือมรรคที่เราสาธยาย ทางมันอยู่ตรงนี้ อย่าด่วนซ้าย อย่าด่วนขวา เขาสรรเสริญก็อย่าเพิ่งไปยินดี เขานินทาก็อย่าไปเสียใจ อยู่เฉยๆ ไว้ก่อน ถ้ามีใครสักคนมานินทา เราก็ฟังอย่างใส่ใจเฉยๆ ถ้าเขามาสนใจเราก็อย่าไม่รู้ไม่ชี้ๆ ถ้าเขานินทาก็ใส่ใจฟังดู เขาสรรเสริญ เขาอะไรต่างๆ ดูดีๆ มันจะไม่เป็นไร ไม่หวั่นไหว ถ้าฝึกตนสอนตนได้แล้ว ภูเขาศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลมฉันใด ผู้ฝึกฝนตนดีแล้วไม่หวั่นไหวเพราะนินทาสรรเสริญ อยู่ในโลกได้อย่างสง่างาม นี่โลกนะ ถ้าไม่ฝึกตนสอนตนจะลำบาก ฟูๆ แฟบๆ จิตใจของเราน่ะ มีใจก็พึ่งไม่ได้ ยิ่งเราเป็นหมอ เป็นสาธารณสุข เป็นเจ้าหน้าที่ ดูแลอะไรต่างๆ ยิ่งมี คุณธรรมให้มากขึ้น เป็นงานบุญ งานกุศล ทุกชีวิตมีประโยชน์ทั้งนั้น มาสร้างโลกด้วย ๕ มือ ๑๐ นิ้ว ด้วยน้ำใจที่เป็นกุศลธรรม มีความเพียรขยันหมั่นเพียรในการละความชั่ว ทำความดี จะได้เป็นผัวที่ดีเป็นเมียที่ดี เป็นลูกที่ดีเป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ทำงานทั้งวันมีความสุข สนุกเพราะการทำงาน มีแต่มรรคแต่ผล แม้แต่เพลงกล่อมลูกของคน ก็มีแต่มรรคแต่ผล
เอ้อ น้อง เจ้ามรรคเจ้าผล พัฒนาคนทั้งกายและใจ บ้านพี่บ้านน้องปรองดองกันไว้ พัฒนาจิตใจ มีชัยทุกประการ พัฒนากายใจเป็นมรรคผลนิพพานเอย
จบ เอวัง (หัวเราะ) กราบพระกัน