แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมนะ มีผู้ฟังมีผู้พูด ฟังธรรมก็คือฟังเรื่องของเรานี่แหละ เราก็มีอยู่จริงๆ มีกาย มีใจ มีหู ได้ยินเสียง ผู้พูดก็พูดจริงๆ มองเห็นด้วยตา ได้ยินทางหู พูดออกไปสัมผัสได้ในสิ่งที่พูด มีปัจจุบัน เดี๋ยวนี้เวลานี้มีอยู่จริง เราได้สัมผัสกับกาลเวลาจริง พรุ่งนี้ไม่เห็น เมื่อวานนี้ก็ไม่เห็น เห็นเดี๋ยวนี้ จะทำอะไรก็ทำเดี๋ยวนี้
สิ่งที่จะพูดเนี่ย สิ่งที่พูดนี่เป็นของทำได้เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ ไม่ใช่เมื่อวานนี้ เมื่อวานทำอะไรไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ เราก็จะทำอะไร เราใช้ชีวิตแบบไหนกัน เสียเวลาไปกับอดีตที่ผ่านมา เสียเวลาไปกับอนาคตที่ยังไม่มาถึง ในความคิด พลังงาน ในการใช้เวลาที่ผิด ไปคิดเรื่องเมื่อวานนี้ไม่มีประโยชน์ ไปคิดพรุ่งนี้ก็ไม่มีประโยชน์ ในการกระทำคือทำเดี๋ยวนี้ มีอะไรที่ต้องทำ มีความหลง ไม่ใช่ทำพรุ่งนี้ แต่ทำให้ไม่หลงทำได้เดี๋ยวนี้ มันทุกข์ ไม่ใช่ไปแก้พรุ่งนี้ เมื่อวานนี้ก็ไม่มีทุกข์ พรุ่งนี้ก็ไม่มีทุกข์ แต่มันทุกข์เวลานี้ ถ้ามันมีน่ะ ก็เปลี่ยนมันให้มันรู้ ไม่ไปทุกข์ มันสุข..มันอะไรก็ตาม
ชีวิตของเราที่จะเป็นชีวิต มันไม่เป็นอะไร มันปกติ บ้านของชีวิตคือปกติ ใช้สิทธิให้เป็น ในวันนี้ ในเวลานี้ มันสุข มันทุกข์ มันโกรธ มันหลง มันพอใจ มันไม่พอใจ มันไม่ใช่ชีวิต ชีวิตมันไม่เป็นอะไร แก้เดี๋ยวนี้ ให้ไม่เป็นอะไรเดี๋ยวนี้ มีแต่เห็น มันหลงก็เห็น เดี๋ยวนี้ ไม่หลง ไม่เป็นผู้หลง เห็นมันหลง
ถ้ามันมีทุกข์ก็เห็นเดี๋ยวนี้ เห็นมันทุกข์ ไม่มีผู้ทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ มันโกรธ มันพอใจมันไม่พอใจเกิดขึ้น เราก็เห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เป็นผู้พอใจ ไม่ใช่เป็นผู้ไม่พอใจ .. ให้เห็น ไม่เป็นไปกับมัน ตรงที่เราจะต้องทำเดี๋ยวนี้ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีอยู่จริง เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว มีอยู่จริง อย่าประมาท ไม่ใช่ไปทุกข์ เมื่อมันทุกข์ เวลามันทุกข์ เป็นทุกข์ เวลามันโกรธ เป็นโกรธ เวลามันเจ็บ เป็นเจ็บ เวลามันร้อนมันหนาว เป็นร้อนเป็นหนาว อย่างนั้นมันไม่ได้แก้
สิ่งเหล่านั้นมันป้องกัน เดี๋ยวนี้ ป้องกันได้เดี๋ยวนี้ โดยวิธีนี้ เรียกว่า วิชากรรมฐานเนี่ย คือที่ตั้งของการกระทำอยู่เดี๋ยวนี้ มันหลงเห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง เริ่มไปจากนี้ มันจะเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นโกรธ เป็นรัก พอใจ ไม่พอใจ เริ่มเดี๋ยวนี้ มันจึงจะไปชนะที่โน่น เหมือนเราทำอะไร ศึกษาเรื่องใด ฟังธรรมเดี๋ยวนี้ให้มันเป็น บางอย่างไม่ต้องรู้ ทำเป็น การทำเป็นไม่มีใครสอนเราได้ เราต้องสอนตัวเราเอง การจะทำให้มันรู้คนอื่นสอนให้ได้ เราก็มีความรู้กันทุกคน เรียนมาว่าสุขทุกข์ความโกรธไม่ดี รู้ ความทุกข์ก็ไม่ดี ใครก็รู้ นั่นคือความรู้ ยังทำไม่เป็น รู้ก็ยังมีความโกรธ รู้ก็ยังมีความทุกข์ มันใช้ไม่ได้ ต้องมาหัดให้มันเป็นโดยวิธีกรรมฐาน วิชากรรมฐาน
มันทุกข์...เห็นมันทุกข์นั่นน่ะ ไม่เป็นผู้ทุกข์ มันโกรธเห็นมันโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ ถึงจะเป็น หัดให้มันเป็น มันจะทุกข์ มันจะโกรธ มันจะโลภ มันจะอะไร มันเกิดจากความหลงเป็นที่ตั้ง มารดาของความชั่วคือความหลง วิชากรรมฐานตรงกันข้ามเลยทีเดียว เมื่อมีผิด มันก็ต้องมีไม่ผิด เมื่อมีหลงมันก็ต้องมีไม่หลง เนี่ย เมื่อมันทุกข์ก็ต้องมีไม่ทุกข์ เมื่อมันมีโกรธก็ต้องมีไม่โกรธ ทำเป็นไหม จะโกรธเป็นโกรธหรือ ทำไม่เป็น ทุกข์เป็นทุกข์ หลงเป็นหลง ทำไม่เป็น
การหัดคืออะไร .. คือรู้ ไม่ต้องไปแก้ความหลง เหมือนอย่างเราจะซักผ้าที่มันสกปรก ไม่ใช่ไปคิด มัวแต่คิดอยู่ จะต้องมีการกระทำลงไป โดยมีวิธีการ แต่ไม่มีการกระทำ จะคิดว่าผ้าเมื่อใดจะสะอาด มันไม่ได้ บ้านมันสกปรกก็ต้องกวาด การกวาดบ้านเป็นการกระทำ ความสะอาดมันเกิดขึ้น ไม้กวาดผ่านไปที่ใด กองขี้ฝุ่นก็ออกไปที่นั่น กวาดหลายรอบมันก็สะอาด เวลามันหลง-รู้สึกตัว ความหลงก็หมดไปแล้ว เพราะการกระทำแบบนี้ เวลามันโกรธ รู้สึกตัวขึ้นมา ความโกรธก็หมดไปแล้ว เวลามันทุกข์ มีรู้สึกตัว ความทุกข์ก็หมดไปแล้ว
เดี๋ยวนี้เรายังไม่มีความรู้สึกตัว ไม่มีสติ ผู้ที่จะทำหน้าที่เรื่องนี้ สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ โกรธเป็นโกรธ หลงเป็นหลง จนตาย เพราะไม่เคยทำ ปล่อยทิ้ง ประมาท ไม่ใช่เรื่องอื่นประมาท เป็นผู้หลง เป็นผู้ทุกข์ ประมาท ความไม่ทุกข์ก็มี ความไม่โกรธก็มี ทำไมไม่ใช้ เราก็มีสิทธิ ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรม พระพุทธเจ้าเคารพอย่างนี้ พระพุทธเจ้าเคารพพระธรรม พระพุทธเจ้าที่ยังไม่มาตรัสรู้ก็ต้องเคารพพระธรรม พระธรรมที่เป็นอยู่ในเวลานี้ที่สั่งสอนมนุษย์ก็เป็นผู้เคารพพระธรรม
ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้า..ต้องทำตามพระพุทธเจ้า ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าก็ต้องทำตามพระพุทธเจ้าที่สั่งสอน เวลามันหลง..ไม่หลง มีสติ นั่นแหละเคารพพระพุทธเจ้า เวลามันโกรธ เห็นมันโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ เรียกว่าเคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรม ถ้าเชื่อว่ามีพระธรรม ก็เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้า
ผู้ใดเห็นพระธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้า ผู้นั้นเห็นพระธรรม คือเห็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไปกราบไปไหว้วัตถุสิ่งของ พระธรรมคือความเป็นจริง ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม นี่คือพระธรรม ความหลงเป็นอธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม เป็นธรรมเหมือนกันแต่มันเป็นธรรมดำ ความหลงเป็นธรรมดำ ความไม่หลงเป็นธรรมขาว ความโกรธเป็นธรรมดำ ความไม่โกรธเป็นธรรมขาว มันต่างกัน ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม เรียกว่าธรรม เรียกว่ากุศล
ความหลงเป็นอกุศล ความโกรธเป็นอกุศล เมื่อมีความหลงอกุศลอันอื่น ความชั่วอย่างอื่นก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นก็เจริญมากขึ้น ถ้าความไม่หลงคือกุศล เกิดขึ้นแล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นก็เจริญมากขึ้น เนี่ย มันตั้งต้นจากที่นี่ ไม่ใช่ไปกระทำอย่างอื่น กรรมฐานเป็นที่ตั้งของการกระทำ ให้ทำเรื่องนี้ ถ้าหากมีความหลง นั่งอยู่ เปลี่ยนมันก็ได้ นอนอยู่เปลี่ยนหลง ยืนอยู่ เดินอยู่ เปลี่ยนหลงให้รู้ได้ ไม่ต้องไปทำอันอื่น อย่าเป็นแต่เพียงพิธี ยกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม เห็นความหลง ให้มีความรู้จึงจะเห็นความหลง ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวก็ไม่เห็นความหลง
เหมือนเรามีตา ลืมเอาไว้ อะไรมันผ่านมาก็จะเห็น เห็นทางตาก็ทำให้ปลอดภัยในสิ่งต่างๆ ได้ แต่มันก็หลงได้ทางตา พอใจ ไม่พอใจได้ มันไปแบบหนึ่ง แต่เห็นทางความรู้สึกตัว มันไม่เป็นพอใจไม่พอใจ มันจบ มันจบ มันจบ หลงไม่หลง ก็แค่สั้นๆ ทุกข์ไม่ทุกข์ก็แค่สั้นๆ ถ้ามันหลงออกไปไกล ถึงเปรต ถึงอสุรกาย ถึงสัตว์นรก เป็นภพเป็นชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย เจ็บเพราะความหลง ทุกข์เพราะความหลง มีมากมาย ถ้าตาไม่เห็นเนี่ย มันก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็ใช้ได้ ไม่ไปไกล
เวลาหลวงตาไปนอนที่ภูเขาทอง จอดรองเท้าไว้หน้ากุฏิ ว่าจะไปสวมรองเท้าเดินจงกรมในกุฏิบนพื้นปูน รองเท้าก็รองเท้าผ้าใส่ในกุฏิ ตะขาบมันอยู่นั่น ไม่รู้ มันมาเคี้ยวขา ก็ยังส่องไฟฉายดูปฏิทินว่า วันนี้วันที่เท่าไร มันวันอะไร ว่าจะพูดออกอากาศ ไปสวมรองเท้า อะไรมันเคี้ยวขา เนี่ยนึกว่าอะไรมาพัน ฉายไฟดู เห็นตะขาบมันเคี้ยวขา (หัวเราะ) พอตาเห็น เลยไล่มันออก นี่ตาเห็นปลอดภัย ไม่ถูกตะขาบกัด นี่มันก็ไม่รู้อะไรเมื่อวาน ตานี่ก็ใช้ได้นะ ไปนั่งกำลังพูด ขยายกระจายข่าวออกอากาศ สอนธรรมะ นั่งอยู่ ก็มีเสื่อมันมีอาสนะนั่ง ก็นั่งทับข้อเสื่อที่ศาลาน้อยๆ หินโค้ง นั่งไป มีงูทำทานเลื้อยออกจากข้อเสื่อไป (หัวเราะ) กำลังพูดสนุกๆ อยู่ ก็นั่งทับมันน่ะ (หัวเราะ) ก็ลุกไล่งู เลยไม่ได้พูดเลยวันนั้น เลยหยุดเลย ไปเดินจงกรม นี่ ตามันเห็น มันก็ใช้ได้อยู่แล้ว สติมันยอดเยี่ยมกว่านั้นน่ะ เห็นทุกข์ ลองดูซิ ถ้ามีสติจริงๆ นะ มีไหม สติน่ะ
หลง ... เป็นผู้หลงมานานเท่าไหร่ เคยมีสติไหม
ทุกข์... ทุกข์มากี่ครั้งแล้ว เคยมีสติไหม
โกรธ ... โกรธมากี่ครั้งแล้ว เคยมีสติรู้ตรงนี้ไหม
เมื่อไรจึงจะรู้ มันทุกข์จนตายหรือ หลงจนตายหรือ โกรธจนตายเลยหรือชีวิตเราเนี่ย ทำไมมันเป็นอย่างนี้ อะไร อะไรมันเป็นสัตว์ประเสริฐ ทำอย่างไร เรามาคิดเป็นโจทย์ดูสิ ความหลงเป็นโจทก์ ชีวิตเราถ้าหลงเป็นหลง เราก็เป็นจำเลยของความหลงเรื่อยไป จนแก่เจ็บตาย มันไม่ใช่แล้ว หือ ความโกรธเป็นโจทก์ ถ้าโกรธเป็นโกรธ เราก็เป็นจำเลยของความโกรธ เป็นทาสของความโกรธ มันบังคับให้โกรธ เคยเสียเปรียบความโกรธไหม พวกเราที่นั่งอยู่นี้ คนที่เรารักเราก็โกรธมีไหม ทำไมเป็นอย่างนั้น ไปรับใช้มัน ไปด่า ไปฆ่า ไปตีมัน ไปทะเลาะกัน ให้ความโกรธทำให้เกิดความแตกแยก เป็นไปได้ยังไง อะไรที่มันเป็นสิ่งประเสริฐชีวิตเราเนี่ย เราเป็นจำเลยรับใช้เขาอย่างนั้นน่ะ ดีกว่านั้นไม่มีเลยหรือ ทำไมไปรับใช้ความโกรธ มันถูกต้องหรือเปล่า เป็นธรรมไหม เป็นโทษไหม มีพิษมีภัยไหม น่าจะพิพากษาให้มันจบไป
พิพากษาตัวเองเนี่ย อย่างพระสิทธัตถะ พระชนมายุ 16 พรรษา เห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันอื่นไม่สนใจแล้ว จบเจ็ดศาสตร์มาแล้ว เรียนมาจบ เป็นอัจฉริยะมนุษย์คนหนึ่ง ทำไมจึงมีการเห็นคนเกิด ประพาสกรุงกบิลพัสดุ์ เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย เห็นสมณะ เป็นโจทย์ มาถามพระเจ้าปู่ พระเจ้าย่า พระเจ้าตา พระเจ้ายาย ไม่มีใครตอบได้เลย เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย เห็นแต่ผู้คนร้องห่มร้องไห้ เราก็เคยร้องไห้ เพราะความตาย พลัดพรากจากของรักของชอบใจ เคยทุกข์เนี่ยเป็นยังไง จึงมาเอานี่เป็นโจทย์ ไม่ยอม แต่ยังไม่มีเวลาทำเรื่องนี้ แต่ไม่ยอม ถือว่าเป็นการบ้าน แต่ต้องแก้เรื่องนี้ให้ได้
จนพระชนมายุ 29 พรรษา รอไม่ได้แล้ว ออกศึกษาเรื่องนี้จนได้คำตอบ ภายใน 6 ปี สุ่มสี่สุ่มห้าไป ครูอาจารย์ที่มีอยู่แล้วก็สอนไม่ตรงสักรูปเลย ครูทั้ง 6 ปกุทธะกัจจายนะ มักขลิโคสาล อชิตะเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร ... (ปูรณกัสสปะ และนิครนถนาฏบุตร) แล้วก็อะไร ขี้เกียจจำ หลายครูสอน สอนเรียนจนจบ ไม่ตรง ยังไม่เจอ การแก่ การเจ็บ การตาย จนไปศึกษาด้วยตนเอง นอนเสี้ยน นอนหนาม ไม่กินข้าว ไม่กินน้ำ ตลอดถึงไม่หายใจ จนลมออกหู ขนร่วง ขนหลุดหมด ไม่มีใครทำขนาดพระสิทธัตถะนะ หมดสภาพ ไม่เหมือนเป็นโรคมะเร็งนะ ไม่เหมือนคีโมนะ หลวงพ่อให้คีโมขนร่วง (หัวเราะ) อันขนร่วงจากการทรมานนี่ ปัดโธ่ มีมนุษย์คนไหนที่ทำแบบนั้น มีสิทธัตถะ ไม่มีมนุษย์คนไหนทำขนาดนี้หรอก ต้องมีวิธีอื่น จึงมาทำแบบนี้
ในวันเพ็ญเดือน 6 นั่งอยู่ต้นไม้ ไม่ได้นั่งอยู่หอไตรเหมือนเรา ไม่ได้นั่งกุฏิเหมือนเรา คู้แขนเข้า รู้สึกตัว เหยียดแขนออก รู้สึกตัว ไม่ได้ใช้ศาสตร์ 17 ศาสตร์อะไรเลย เอากายเป็นตำรา เอาใจเป็นตำรา คู้แขนเข้า เหยียดแขนออก รู้สึกตัว หายใจเข้า หายใจออก รู้สึกตัว เปลี่ยนไป บางทีลุกขึ้นเดินจงกรมเหมือนพวกเรา มีหลักมีฐาน มีพระสูตรเรื่องนี้ มีร่องมีรอย ศิลาอาสน์ ต้นศรีมหาโพธิ์ หลวงตาก็ไปดู ทางเดินจงกรมอยู่ทางทิศเหนือของต้นศรีมหาโพธิ์ ทำอย่างนี้ ไม่ใช่ไปเอาวิชาที่เรียนมาสักอันเลย ศาสตร์ทั้งหลายนั่น มาเอากายเป็นตำรา เอาใจเป็นตำรา เอาสติเป็นนักศึกษา มารู้เรื่องนี้เข้าไป
จึงเรียนตามพ่อก่อตามครู มาจนถึงทุกวันนี้ มีอยู่จริง สอนเรื่องนี้ เราสัมผัสได้จริง เวลานี้หายใจเข้าหายใจออกก็รู้ได้ กระพริบตาก็รู้ได้ เคลื่อนไหวก็รู้ได้ ทำให้มันเป็นอย่างนี้ จะมีแต่สติรู้สึกตัว ไม่ได้อดข้าวอดน้ำเมื่อไหร่ ไม่ใช่เคร่งครัดจนไม่พูดไม่จา ก็ไม่ใช่ ขณะที่มีความรู้สึกตัว อะไรมันเกิดขึ้นมากมายตอนนั้นน่ะ คนที่ตั้งใจจะทำอะไรไม่ต้องไปสนใจเรื่องอะไรนอกจากมีสติ นี่คือกรรม อย่าไปเรียกร้องความสะดวกสบาย อย่าไปกลัวความทุกข์ความยาก ต่อรอง อย่าเอาความได้ไม่ได้มาต่อรอง ไม่เกี่ยวเมื่อจะทำเรื่องนี้
ขณะที่ทำลงไป มันก็มีความลำบากยาก คนที่นั่งอยู่ต้นไม้มันจะเกิดอะไรขึ้น ยุงก็มากัด แดดก็มาออก แดดก็มาถูก ลมก็มาพัด ฝนตกก็เปียก มีปัญหาแน่นอน นอกจากธรรมชาติแล้ว ทางจิตใจก็มีปัญหา คิดถึงพิมพา ราหุล คนมีลูกก็คิดแบบคนมีลูก คนมีเมียก็คิดแบบคนมีเมีย คนมีทรัพย์สินศฤงคารก็คิดแบบคนมีทรัพย์สินศฤงคาร คนจนก็คิดแบบคนจน ในความคิดของคนเรา มันก็มีแน่นอน อย่าไปกลัวว่าไม่ใช่ แล้วจะทำอย่างไร
เหมือนกับชาวนาจะทำนา ถ้าเป็นชาวนาอาชีพน่ะ ฝนตกก็ไม่ได้กลัว แดดออกก็ไม่ได้กลัว เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็ไม่ได้กลัว ตรากตรำกลางแดดกลางฝน หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ในการทำนา คนที่จะทำนา ไม่ได้ให้มันมีอุปสรรคอะไร เราจะทำ เหนื่อยก็เหนื่อย แต่ไม่หยุดเพราะความเหนื่อย ไม่รับใช้ความคิดอะไรที่มันมาสวนทางในการกระทำนั้น ไถนาเสร็จเป็นวันๆ ไป ปักดำนาเสร็จเป็นวันๆ ไป ในนาเนื้อนา 40-50 ไร่ มีแต่รอยมือรอยเท้าของเรา เราก็ทำนาจนสำเร็จ เสร็จเก็บเกี่ยวได้สำเร็จ ได้ข้าวมากิน ไม่ได้คิดเรื่องอื่น เป็นฝีมือเป็นอาชีพ
นี่คือการกระทำ ใครจะช่วยไม่ช่วย ไม่สนใจ เราจะทำ นี่คือเตรียมกายเตรียมใจ ทำอะไรมันจึงจะสำเร็จ พรุ่งนี้ไม่มีสำหรับเรา ความตายแม้พรุ่งนี้ไม่มีสำหรับเรา แล้วจะรู้เดี๋ยวนี้ ความหลงไม่มีสำหรับเรา ความทุกข์ไม่มีสำหรับเรา ให้มันยิ่งใหญ่ ฝึกตนสอนตนอย่างนี้ ให้มันเฉลยไปซะ
แต่ที่สุดก็คือเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่จะเป็นโจทย์เรื่องนี้กัน จึงมีงานเรื่องนี้ขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้เรื่องนี้ ไม่ใช่ตรัสรู้เป็นปริญญาอันอื่น ตรัสรู้เรื่องเหนือการเกิดแก่เจ็บตาย ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ความหลงครั้งสุดท้ายแล้ว ความทุกข์ครั้งสุดท้ายแล้ว ความโกรธครั้งสุดท้ายแล้ว เราไม่มีอีกแล้ว ปัญหาเกิดปัญญาขึ้นแล้ว แต่ก่อน ความหลงเป็นหลง ความโกรธเป็นโกรธ ความทุกข์เป็นทุกข์ ความรักความพอใจเป็นไปตามเขาไป บัดนี้ไม่เป็นแล้ว จบกันแล้ว สัมผัสดูแล้ว ภาวะที่ไม่เป็นอะไร มีแต่เห็นทั้งหมดเนี่ย มันไม่น่าจะยากนะ มันไม่น่าจะยาก จะต้องไปเอาอะไรต่อรอง เพียงแต่มีสติเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง ก้าวแรกข้าม ให้ข้ามไป ต้องมีก้าวแรกก่อนนะ ข้ามไป ข้ามไป มันก็ไปถึงได้ เหมือนทางขึ้นมาสุคะโต มันขึ้นหน้าผา แต่ต้องทำให้มันราบ ให้มันเห็น ถ้ามันไม่ราบ มันขึ้นไม่ได้ เป็นหน้าผา การทำวัตถุสิ่งของให้มันลาด มันก็ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ
แต่ว่าชีวิตที่เป็นหน้าผา หลงเป็นหลง โกรธเป็นโกรธ เป็นหน้าผา ไม่ต้องมีเครื่องมืออันอื่น มีธรรม มีศรัทธา มีความเพียร มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งที่ชัน เป็นหน้าผาให้มันลาดลง มีศรัทธาลงไป เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มีความเพียรพยายามเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง อย่าให้หลงเป็นหลง อย่าปล่อยทิ้ง ให้มันชัดเจน เห็นหลง เห็นไม่หลง ตรงกันข้าม มีความเพียรตรงนี้ มีสติลงไป มีสมาธิลงไป ให้มั่นคง อย่าหนีไปทางอื่น ใส่ใจมัน มีปัญญาลงไป รอบๆ รู้ ไม่ใช่ทิ้ง รอบรู้ไว้ เนี่ยมันก็ทำให้ราบได้
ถ้าหลงเป็นหลง มันชัน ขึ้นฝั่งไม่ได้ ขึ้นสูงไม่ได้ ถ้าหลงเป็นเห็น เห็นมันหลง มันจะลาดสักหน่อย ไม่เป็นผู้หลง ง่ายกว่าหลง ถ้าหลงเป็นหลงมันชัน หน้าผาขวางกั้น ภูเขาขวางกั้นเอาไว้ เห็นมันหลง มันลาดแล้ว ไม่เป็นผู้หลง เรียบลงหน่อย เหมือนใบมีดรถแทรกเตอร์ ผ่านไปที่ใด มันจะต้องเรียบไปที่นั่น หรือไม้กวาดผ่านไปที่ใด ก็สะอาดที่นั่น นี่ธรรมะเป็นอย่างนี้นะ ประเสริฐจริงๆ เป็นสัจธรรม ศรัทธาต่อเรื่องมาก มีศรัทธาไม่ใช่ศรัทธาอะไร ศรัทธาเพราะการทำแบบนี้ มันเป็นแบบนี้ เรียกว่าศรัทธา เชื่อ ไม่ใช่ โอ๊ย หลวงพ่อองค์นั้นน่าศรัทธา อาจารย์องค์นั้นน่าศรัทธา มันหลอกกันได้นะ ทำท่าอุ้มบาตร เดินไปบิณฑบาต หลับตามอง กลับมาวัดล่ะปล่อยผ้าทิ้ง มันไม่ใช่ อย่างนั้นมันหลอกกันได้นะ ศรัทธาแบบนั้นศรัทธาในวัตถุสิ่งของ ศรัทธาในการกระทำ ทำอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้สัมผัสดูแล้ว
ความหลง..ไม่เป็นธรรม ความไม่หลง..เป็นธรรม
ความโกรธ..ไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธ..เป็นธรรม
ความทุกข์..ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์..เป็นธรรม
มีศรัทธา เห็น เอ้า ลองดูซิ ต้องมีสตินะ มันหลง เห็นมันหลง หลงมันยากกว่าไม่หลง เบาๆ ไม่เป็นผู้หลง ไกลออกไป มันทุกข์..เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ เออ มันดีกว่าเก่า มันโกรธ...เห็นมันโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ อืม..ทำไป ทีแรกอาจจะทวนกระแสมัน แต่ก่อนมันเคยชิน ง่ายที่จะหลง ง่ายที่จะโกรธ ง่ายที่จะทุกข์ ออกหน้าออกตา
บัดนี้ใช้แผนใหม่ ทวนกระแสสักหน่อย ทีแรกเหมือนพระพุทธเจ้า ก่อนเป็นพระพุทธเจ้าเสี่ยงถาดทองรองรับ ไหลขึ้นเหนือน้ำ หมายถึงใจ มันทวนสักหน่อยนะ ถ้าคิดถึงราหุล มันก็คิด มันก็มีรสชาตินะ ทวนไว้ เวลานี้ ไม่ใช่มานั่งคิดถึงลูก นั่งอยู่ต้นโพธิ์ เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ไม่ใช่มานั่งคิดถึงลูก มันกลับมา อาศัยกรรมฐานกลับมา ใช่ไหม (หัวเราะ) นี่ มานี่ รู้สึกนี่ คิดถึงพิมพา เอ้า ไม่ใช่ กลับมา เจอความคิด เจอความหลง หลงในความคิด เปลี่ยนมัน ทุกครั้งที่มันหลง มันคิดไป กลับมา มันคิดไป กลับมา กลับมาเรื่อยๆ
ปฏิบัติ คือ กลับ กลับมา อย่าไป มาตั้งไว้ มาตั้งไว้นะ คืนเดียวนะ เกิดญาณขึ้นเลย ตี 1 ตี 2 เกิดญาณขึ้นแล้ว เพราะหยั่งรู้ทะลุทะลวงบ้าง มันก็ง่ายขึ้น ง่ายขึ้น ง่ายขึ้น เป็นแล้ว ทำเป็น ทำเป็น ทำเป็น จนได้ตรัสรู้ในเรื่องนี้ เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อะไรมันเกิด อะไรมันแก่ อะไรมันเจ็บ อะไรมันตาย ทำเป็นไหม มันตัดสินเรามาแล้ว พิพากษาเรื่องนี้ เราเป็นจำเลยของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พระสิทธัตถะพิพากษาตัวเอง เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย เอ มันทำอย่างนี้นะ มันเป็นไปได้ยังไง คิดทบทวนดูในคืนนั้น ตลอดถึงอยู่ที่นั่น
วางแผน ตรัสรู้แล้ววางแผน 4 อาทิตย์ อยู่รอบศรีมหาโพธิ์ ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมมันเกิดขึ้นแล้ว แล้วไปสอนคนอื่น จะมีคนรู้ไหม เส้นผมบังภูเขา แล้วไม่เคยคิดอย่างนี้ ไม่เคยทำแบบนี้แล้ว มีใครในโลกทำอย่างนี้ ไม่มี ครูที่เรียนมาก็ไม่สอนเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องที่เราศึกษาด้วยตนเองแท้ๆ เอากายเป็นตำรา เอาใจเป็นตำราเนี่ย จะวางแผนมันยังไง
คิดไปคิดมาว่าจะไม่สอนใคร มันก็ไม่ได้ น่าจะมีอุปมาอุปมัย เหมือนบัว 4 เหล่า เปรียบเทียบมนุษย์ในโลกนี้เหมือนบัว 4 เหล่า บัวบางประเภทพ้นน้ำ พอแสงอาทิตย์ออกก็บานทันที บัวอีกบางประเภทก็กำลังจะพ้นน้ำ บัวอีกประเภทอยู่กลางน้ำ บัวอีกบางประเภทอยู่ใต้ดิน เน่า อาจจะเป็นอาหารปลา อาหารเต่าไป แต่บัวที่จะพ้นน้ำอยู่นี่น่าจะไม่ปล่อยทิ้ง อาจจะบานได้ ถ้าได้ยินคำพูดสักหน่อย อาจจะบานได้ ต้องไปสอนคน ใครที่จะรู้เรื่องนี้ สมควรที่จะรู้เรื่องนี้ อุทกดาบส อาฬารดาบส เป็นครูคนสุดท้ายที่สอน นอกจากนั้นไม่มีอีก พอจะไปสอนก็ไม่มีแล้ว
คิดถึงใครอีก ปัญจวัคคีย์ อาจจะมีกระแสสักหน่อย มีคติสักหน่อย เลยไปสอนปัญจวัคคีย์ เดินทางเท้าด้วยพระบาท ตั้ง 300 ก.ม. ขยันนะ ถ้าใครได้สัมผัสเรื่องนี้เข้าสักหน่อยจะคิดถึงผู้คน คิดถึงพ่อแม่ คิดถึงใครสักคนแหละ เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องรีบด่วนซะหน่อย เวลามันหลง ไม่หลง น่าจะบอกเขา เวลามันโกรธ ไม่โกรธ น่าจะบอก ง่ายๆ แค่นี้นะ บอกผิดบอกถูกแค่นี้ จะปล่อยกันทิ้งยังไง จนมาถึงทุกวันนี้ มีครูอาจารย์ มีการสั่งสอนกันอยู่ในเรื่องนี้ แล้วเราก็จะมีที่แบบนี้ขึ้นมา เพื่อให้พิสูจน์เรื่องนี้ดู
นี่ก็ เราก็ดีใจกับพวกเราทุกชีวิตของที่นี่ มีแต่ปัญญาชน อย่ามาเชื่อเรา ให้ใช้การกระทำเอา ขอพูดอย่างนี้นะ ไม่ใช่โอ้อวดอะไร มันเป็นงานการของเรา ให้มาทำเอง ไม่มีใครช่วยกันได้ ทุกคนต้องแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้ามันหลงน่ะ งานของเรา ถ้ามันมีทุกข์ มีโกรธ นั่นล่ะ งานของเรา เอาอันนี้แหละเป็นงานของเรา
อ้าว สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน