แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน ก็อยากบอกอยากสอนอะไรที่มันถูกต้อง อะไรที่มันผิด ขอให้ได้ทำหน้าที่ ให้มันถูกต้องซะหน่อย ชีวิตคงไม่ยืนยาว จึงให้พากันฟังดู ฟังแล้วอย่าไปเชื่อ ให้เอาไปทำดู ที่เราสวดเมื่อกี้ว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์
อะไรคือ “กัลยาณมิตร” หาได้ที่ไหน กัลยาณมิตร อย่างน้อยแสดงออกต่อกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการ ช่วย ๆ กัน อดทน ที่ทำความดี ละความชั่วต่อกัน รู้จักเสียสละ ช่วยกัน ไม่ละทิ้งกันในยามวิบัติ รู้จักประหยัด อดออม อย่าสุรุ่ยสุร่าย เพื่อจะให้มันมีส่วนเหลือที่ช่วยกันได้ยาวนาน ประหยัดทุกอย่าง เม็ดดิน เม็ดหิน เม็ดทราย ต้นไม้ อากาศ ให้ได้เกิดความสะดวก เข้าห้องน้ำ ห้องน้ำไม่สะอาด ทำให้สะอาด เพื่อเพื่อนเราจะได้ใช้สะดวก ผ้าผ่อนอะไรมันไม่เรียบร้อย เห็นผ้าเพื่อนตากอยู่ มัน... ลมพัดตกลง เก็บไว้ ถ้าผ้าผืนใดตากอยู่ 2 วัน 3 วัน พับเก็บไว้ ให้รู้จักรับผิดชอบ ตั้งใจอยู่เสมอ ปรารถนาดีอยู่เสมอ ไม่เหือดแห้งที่ช่วยกัน เพียรพยายาม ใครมีทุกข์ก็อย่าทิ้งกัน ดึงกันออกมา เพราะมันไม่ถูกต้อง ให้เขาพ้นจากทุกข์ ถึงคราวที่เขาเจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยกัน ให้เขาได้พ้นจากการเจ็บไข้ได้ป่วย นี่คือ ทั้งหมดนี่ หลายอย่าง คือ “กัลยาณมิตร” ให้ทำให้ ให้มันได้ตามสมควร จะได้สะดวก ไม่ขาดตกบกพร่อง ที่เราจะอยู่ร่วมกัน เช่นเราเป็นลูกของพ่อของแม่ ก็ทำหน้าที่ให้มันดีซะ เราเคยโกรธเคยเคืองใคร คืนดีซะ ถามใจเราเอง เขาไม่รู้ไม่ชี้ก็ช่าง เอาล่ะ ขอโทษขออภัย ถ้าจะแผ่เมตตา ก็แผ่ไปหาคนที่ทำให้เราได้เดือดร้อน ขอให้เขามีความสุข นี่คือ หมดนี่แหละคือ “กัลยาณมิตร” นี่พวกเราก็อยู่ด้วยกันแท้ ๆ นี่ อะไรก็เผื่อกันบ้าง อย่าให้ได้ คนหนึ่งทำบาป คนหนึ่งสะดวก ไม่ใช่แบบนั้น ฉันอิ่มแล้ว คิดถึงคนที่ยังไม่อิ่ม เรามีความเข้มแข็ง คิดถึงคนที่อ่อนแอที่อยู่ด้วยกัน แม้จะทำไม่ได้ ก็ต้องทำใจให้มันไว้อย่างนี้ อย่ากระเดียดกระด้าง
การช่วยกันให้พ้นจากทุกข์เป็นเรื่องดีมากเลยทีเดียว ช่วยคนที่..เพื่อนที่หลงให้ไม่หลงเนี่ย มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด ทำซะ อย่าให้เป็นงานค้างอยู่ ยิ่งเขาลงมาสู่ธรรมวินัย เป็นนักบวชในพุทธศาสนา ศาสนานี้มีธรรมวินัยนะ เป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า ก็ยิ่งดีใหญ่ ยิ่งดีนะ ถ้าศาสนานี้มีธรรมวินัยอยู่ มรรค ผลนิพพานก็ไม่ว่างจากโลก ดังที่เราได้สาธยายพระสูตร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ “กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ” มีสติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ นี่ธรรมวินัย เห็น อย่าไปหลงมัน เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เห็นจิตที่มันอยู่.. ที่มันจิตที่มันคิดอยู่เป็นประจำ เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ นี่คือ “ธรรมวินัย” ออกมา ดึงตัวเองออกมาจากบ่วง จากโคลน จากตม อย่าปักหลัก อย่าจมปลักอยู่ที่นั่น นี่คือ ธรรมวินัย รู้จักขนส่งตัวเอง ช่วยตัวเองให้เป็น เวลามันหลงช่วยตัวเองให้ไม่หลง เวลามันโกรธช่วยตัวเองให้ไม่โกรธ เวลามันเกียจคร้าน ช่วยให้ตัวเองให้มันไม่เกียจคร้าน เวลาอ่อนแอ ช่วยให้มันไม่อ่อนแอ จิตใจมันทำได้ แม้ร่างกายจะเฒ่าจะแก่ มันก็ยังมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักแก่ ชีวิตมันบกพร่องอยู่ เพราะอะไร อะไรก็อยากจะทำ มันไม่อิ่มในการทำความดีนี่ นี่ “ธรรมวินัย” ทุกข์..เป็นทุกข์ ไม่มีธรรมวินัย ทุกข์..เห็นมันทุกข์ ขนส่งให้พ้นจากทุกข์ นี่คือ “ธรรมวินัย” วิ-วิเศษ นัยยะ-นำไป พ้นแล้ว อย่างนี้เรียกว่า “ธรรมวินัย” เอื้อมมือ ถ้ามีธรรมวินัยอย่างนี้ ธรรมวินัยแบบนี้ เหมือนกับศาสดากำลังเอื้อมมือที่จะดึงเรา เราก็เอื้อมมือไปหา น้อมมาใส่เรา เราก็น้อมตัวเข้าไป มันอาศัยได้ ธรรมวินัยเนี่ย อาศัยได้ เราหลง น่าอาย คนอื่นไม่หลง โกรธคนอื่นไม่โกรธ ในตัวเรานี้ก็มี เวลาเราโกรธ ในตัวเรานี้ก็มีความไม่โกรธ เราก็เห็นแล้ว ขณะที่เรามีสติ ไม่ได้ปิดบังอะไรไว้ มันก็ได้บทเรียน ประสบการณ์ในการกระทำ ในการปฏิบัติ อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ฟรี เป็นกอบเป็นกำ อย่างน้อยก็ปีนี้ก็ ก็พอก็เห็น ดีใจกับหมอบรรจบที่ปฏิบัติไปได้ ถ้าจะพูดแล้ว ก็ลูก เหมือนคนพูดถึงลูก โอย! ลูกชายคนนี้ไปได้แล้ว ลูกสาวคนนี้ไปได้แล้ว วางแล้วบัดนี้พ่อแม่ เขาไปกันได้ แต่เขาต้องไปนะ หยุดไม่ได้นะ ทำมาหากินก็ไป เขาไปได้แล้ว ทำงานก็ไปได้แล้ว นี่เรียกว่า วาง ก็อย่างน้อยเราก็ได้ยินผู้ปฏิบัติพูดให้ฟัง ก็มาคิดว่าถ้าเป็นการงานก็ให้ทำเป็นแล้ว ทำงานได้แล้ว นี่คือ คือ “ธรรมวินัย” ปฏิบัติให้ผลได้ไม่จำกัดกาล พยายาม
สมัยก่อนปฏิบัติอยู่กับหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนก็พูดถึงคนนั้นคนนี้ให้เราฟัง เราก็กระตือรือร้น เขาก็คน เราก็คน ขาสองแขนสอง หัดเปรียบเทียบแข่งขัน ไม่ใช่แข่งแบบลุกลี้ลุกลน แข่งขันแบบอมยิ้ม เอาละ ว่ายังงี้ มีคนติฉินนินทา ก็แสดงอมยิ้ม เอาละ มีคนสรรเสริญก็ฟัง ไม่ได้หลง เรามาเป็นหลักเข้มแข็งของชีวิตเรา การใช้ชีวิตของเรา ลำดับลำนำการใช้ชีวิตอย่างแม่นยำชัดเจน อะไรเป็นงานเป็นการ อะไรเป็นหน้าที่ อะไรเป็นความก่อน อะไรเป็นหลัง ให้เรียบร้อย งานที่ทำเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อเพื่อนต่อมิตรก็ทำ ต่อธรรมก็ทำ ต่อวินัยก็ทำ สนุกดี ปฏิบัติธรรมเนี่ย มันบอกผิดบอกถูกตัวเอง บอกผิดบอกถูกต่อคนอื่น มันเรื่องสนุก ขนคนออกจากนรก ไปสู่สวรรค์ มันเป็นงานชอบที่สุดเลยทีเดียว ไม่ปล่อยทิ้งแน่นอน ขอ ขอเอาให้สุดฝีมือ ทำให้สุดฝีมือ เหมือนคนตกน้ำ จะพยายามที่จะช่วย ว่ายน้ำไม่เป็น มันไปไกลก็หาวิธีที่ทิ้งขอนไม้ ทิ้งเชือกให้เขาดึง เขาจะดึงไหม ทิ้งเชือกให้เขา เขาไม่จับเชือก บอกจับ เขาก็ไม่จับ จะทำไง มันก็เอาจนหมดความสามารถล่ะ อันคนที่หลง คนที่ทุกข์น่ะ ถ้าผู้ใดทุกข์ ยังมีคนที่จะช่วยอยู่ บอกว่ามันไม่ทุกข์หนา ในทุกข์นั้นมันไม่ทุกข์ดอก
ขอให้ได้ยินเอาไว้เรื่องนี้ ให้ได้มีกระแสไว้ซักหน่อยนะ อย่าให้มันตัน เปิดทาง อย่าปิดประตู เป็นผู้ไม่ปิดประตู จึงจะเรียกว่า “พุทธบริษัท” ปิดประตูตัวเอง ปิดประตูสวรรค์นิพพาน มันหลง ประตูแห่งไม่หลง เราจะตะโกนออกมาซักหน่อยก็ ความหลงเกิดขึ้น เปิดประตู โอ้! ประตูเปิดแล้ว ถ้ามันหลง ประตูปิดแล้ว เปิดมา เหมือนกับนักฟันดาบซามูไร มาถามพระสงฆ์รูปหนึ่ง ว่าสวรรค์มีไหม นรกมีไหม พระสงฆ์อาจารย์ก็ไม่ตอบโดยตรง ก็มองนักซามูไรคนนั้น มองหน้ามองหลังมองเห็นดาบ มองว่าเป็นอาวุธที่ฟันดาบ มันเรียกว่าฆ่า เอ้า! เป็นทหารด้วยหรือนี่ เป็นซามูไรนักฟันดาบเหรอ ไม่น่าจะโง่นี่น่ะ คนโง่ขนาดนี้ก็มีหรือ นักฟันดาบก็รออยู่แล้ว โกรธขึ้นมา โกรธขึ้นมา ชักดาบออกมา แล้วความโกรธก็แสดงออกมา ตามความเคยชิน เหมือนคนโกรธก็กัดฟันหน้าบูดหน้าบึ้ง จับศาสตราอาวุธ อาจารย์ก็บอกว่า โอ้! ประตูนรกเปิดแล้ว ประตูนรกเปิดแล้ว ร้องขึ้นมา นักฟันดาบก็ได้ยิน ก็กระทบกระเทือนทางจิตใจ ประตูนรกเปิดแล้ว ประตูนรกเปิดแล้ว ชะเง้อตัวออกมา ระวัง ถ้าฟันก็จะกระโดดออกไปซะหน่อย พอนักฟันดาบเอาดาบเข้าฝัก อาจารย์ก็ร้อง โอ้! ประตูสวรรค์เปิดแล้ว น้อมตัวเข้าไปหานักฟันดาบ ประตูสวรรค์เปิดแล้ว ประตูสวรรค์เปิดแล้ว ในที่สุดนักฟันดาบซามูไรก็พอใจ จากหน้าบูด ๆ มาหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยความภาคภูมิใจ ที่ได้รู้เรื่องนี้ว่า สวรรค์คืออะไร นรกคืออะไร นี่คือคำสอนที่เป็นแบบเซน แบบเสี่ยง เอาแบบฉับพลัน ไม่ได้ญาติโยมทั้งหลาย ญาติโยมทำบุญให้ทานรักษาศีลจะได้ไปสวรรค์นิพพาน อันนี้มันไม่มีแบบเซน มันยืดยาว เซนเขาสอนแบบเสี่ยง ๆ ตรง ๆ แต่ว่าเอาให้มันตาลปัตร กลับตาลปัตร
นี่คือ เราก็ตะโกนบอกเรา เวลามันหลงตะโกนออกมา มันดัง ความหลงมันก็ดัง ความไม่หลงมันก็ดัง ยิ่งเรามีวิชากรรมฐานเข้าไปแล้ว อวัยวะของเราจะทำไง จิตใจทำไง หดเข้าหรือ หรือว่า เปิดออก ปิดตัวยังไง หลง หลงแล้วหรือ เป็นหลงเลย ปิดตัว เรียกเป็นผู้ปิดประตู ถ้ามันหลง เปิดออกมา เหมือนอยู่ที่มืดเห็นริบหรี่ เห็นริบหรี่ ออกไป เหมือนไฟเอซี ดีซี ตามบ้านเรือนของประเทศที่พัฒนาแล้ว บ้านแต่ละหลังเขามีไฟดีซี ไฟแบตเตอรี่ แม้แต่ไฟฟ้ามันดับก็มีดีซี ที่มีแดง ๆ บอกทิศบอกทาง ถ้าเกิดมืด ออกไปได้ ก็มองไฟดีซี ที่มันแดง ๆ ไป นั่นแหละทาง แม้มันริบหรี่ก็ไปเถอะ จะมีทางออกตรงที่มันบอกไป บอกไป อย่าปิด อย่าไม่ศึกษา อย่าไม่ใส่ใจ การที่ใส่ใจในการช่วยตัวเองนี่มันถือว่าเป็น “กัลยาณมิตรกับตัวเอง” แม้ไม่มีคนช่วย ก็เป็นกัลยาณมิตรกับตัวเองให้ได้ ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ในยามที่มีทุกข์ ในยามที่มีสุข ในยามที่มันหลงมันอะไรต่าง ๆ มันมีรสนะโลกเนี่ย อยู่ในตัวเราก็มีรส อยู่นอกตัวเราก็มีรส นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นรสต่าง ๆ
อย่างที่เราสาธยายพระสูตรพหุลานุสาสนี สาวกรู้เรื่องใด พระพุทธเจ้าสอนเรื่องใด เราก็สาธยายไปแล้ว อะไร ได้ยินอยู่ รูปไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง สัญญาก็ไม่เที่ยง สังขารวิญญาณไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป เกิดขึ้นแล้ว แก่ เจ็บ ตายไป เราทำอะไรตอนนี้ ปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นหรือ ปล่อยให้มันไหลไปอย่างนั้นหรือ มันก็หมด ไม่ได้ประโยชน์ ให้ความหลงเป็นความหลงไม่ได้ประโยชน์ เขาก็เลยเคยชินเดินทางใช้ชีวิตเราเป็นที่ผ่าน เป็นที่รับใช้ความหลง ความโกรธเป็นความโกรธ ให้ได้คิด เขาได้ใช้ชีวิตของเราเพื่อรับใช้ความโกรธ ความทุกข์เป็นความทุกข์ รับใช้เป็นที่นั้นนะ มันอะไรชีวิตเรา มันอะไรคือชีวิต มีลมหายใจ มีเดินได้ ไม่ใช่ชีวิตแบบนี้ ชีวิตเพื่อรับใช้ความหลง ความโกรธ ความทุกข์ มันจะมีค่าอะไร มันว่าเรียกว่า “ไม่ได้ใช้” เขาเอาไปใช้ ตอนแก่เอาไปใช้แล้ว บัดนี้ ความเจ็บยังเอาไปใช้อีก ความตายก็ยังเอาไปใช้อีก ชีวิตมีอยู่เพื่อแก่ เพื่อเจ็บ เพื่อตาย เท่านั้นเองหรือชีวิตเราเนี่ย มีพุทธศาสนา บวช ออกบวชจากบ้านจากเรือน ทิ้งลูกทิ้งเมีย ทิ้งพ่อทิ้งแม่ มาสร้างวัดสร้างวา หมดเท่าไหร่ มันจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าเราไม่ศึกษา ก็จะสูญเปล่า สูญเปล่า แต่ที่สุดก็วางมัน ฉันไม่ได้อะไรเลย เห็นบ่ แม่เพียร เห็นคนตายบ่ (หัวเราะ) ฉันไม่ได้อะไรเลย ฉันเกิดมามือเปล่า ฉันก็ต้องไปมือเปล่า เอาดอกไม้ใส่ให้ แกก็บ่เอา เอาเงินใส่ให้ก็บ่เอา ผลที่สุดไปยัดใส่ในปาก เต็มปากพ่อร่ออยู่ (หัวเราะ) เอาไปเผาไฟ มันก็ไปเขี่ยเอาอีก เอาใส่เงินในปากอีแม่กู สิบบาท ได้แล้วบาทนึง แล้วเก้าบาท เขี่ยเอาจนหมด (หัวเราะ) บ่ได้จั๊กบาทเลย
อะไรที่เราภูมิใจ ชีวิตของเราเนี่ย เริ่มต้นซะ มันหลง ฝั่งแห่งความไม่หลง โน่น จงไป จงมาถึงไม่มีน้ำจากที่มีน้ำ หลงเป็นโอฆะ ห้วงน้ำ ขึ้นฝั่งไม่หลง ทุกข์ ห้วงน้ำอีกแล้ว ขึ้นฝั่งไม่ทุกข์ ขนส่งตัวเอง ศาสนาคือ “ขนส่ง” ให้พ้นจากพิษภัยต่าง ๆ ให้มันอิสระ นี่คือ..มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มันขึ้นได้ มันหลงไม่หลงได้..คือมนุษย์ การหลงเป็นหลงเป็นคน ถ้าเป็นคนแบบนี้ ไปตกนรกมากเท่ากับขนโค การหลงเป็นไม่หลง ไปสวรรค์มากเท่าขนโค มันก็แค่นี้เอง มีผิดมีถูกเท่านี้ มีหลงมีไม่หลง มีทุกข์มีไม่ทุกข์ มีเกิดมีไม่เกิด มีแก่มีไม่แก่ มีเจ็บมีไม่เจ็บ มีตายมีไม่ตาย เราก็ได้ยินว่าเป็นอย่างนี้ แต่เราฝึกหัดไหมเรื่องนี้ ถ้าทำไม่เป็น มันก็เจ็บไม่เป็น แก่ไม่เป็น ตายไม่เป็น เราจะหัดตอนไหนล่ะ
ในเวลาที่มีชีวิตอยู่ปกติเราหัดบ้างไหม ซ้อมไว้ไหม ฝึกไว้ไหม ทำเป็นไหม ตายก่อนตายเป็นไหม เจ็บก่อนเจ็บเป็นไหม เราก็ไม่หัดก็เลยทำไม่เป็น ผลที่สุดหลงมากที่สุด เวลาเจ็บ เวลาแก่ก็หลงมาก เวลาทุกข์ก็หลงมาก เวลาตายก็หลงมาก ถ้าเราหัด นั่นล่ะ เวลานั้นจะเป็นศิลปะ จะเป็นศิลปะ โชว์แล้วบัดนี้ โชว์.. เป็นส่วนตัวที่สุดแล้วบัดนั้น เวลามันจะตายเป็นส่วนตัว คนอื่นไม่เกี่ยวข้องแล้ว มันโชว์ฝีมือ มันก็แสดงได้ตอนนั้น เพราะมันทำเป็นแล้ว ทำเป็นตั้งแต่หนุ่ม ๆ สาว ๆ อย่ารอให้เฒ่าให้แก่
เวลาแก่แล้วก็ต้องรีบด่วนเรื่องนี้ ไม่ต้องไปทำมาหากิน ป่านนี้ทางโรงทานเขาเอากันแล้ว เพื่ออะไร เพื่อเรา เราทำยังไงเวลานี้ เล่นอยู่หรือ ประมาทอยู่หรือ มันก็ไม่ดี ถึงเวลาเจ็ดโมงครึ่ง เขาตีระฆังไปแล้ว มีสิทธิ 100% ไปเอามากิน ที่อาจารย์ทรงศิลป์ต่อศาลาอีก จะมีมาอีกไหมนี่ เราไม่ได้ ไม่ได้ท้อแท้ การที่จะช่วยคนเนี่ย เลี้ยงคนทั้งโลก … แจกของส่องตะเกียง เลี้ยงคนทั้งโลก คิดปานนั้นแล้วนะ ขาสองแขนสองเท่านี้ ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คิดไว้อย่างนี้ ไม่จนเรื่องนี้ ไม่แก่เรื่องนี้ ไม่เจ็บไม่ตายคือเรื่องนี้
ช่วยกันเถอะพวกเรา เป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรม ถ้าเป็นกัลยาณมิตร เป็นกัลยาณธรรมนี่ ไม่มีวันที่จะทะเลาะวิวาทกันเลย แต่เป็นญาติสายโลหิตยังทะเลาะวิวาทกัน ยังฆ่ากันได้ ถ้าเป็นกัลยาณธรรม กัลยาณมิตรแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ มั่นคง ผู้มีความเกิดก็พ้นจากความเกิด ผู้มีความแก่พ้นจากความแก่ ผู้มีความเจ็บพ้นจากความเจ็บ ผู้มีความตายพ้นจากความตาย เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าได้สอนพระอานนท์ดังที่เราสาธยายพระสูตรนี่ มีหลักฐานแบบนี้ เรามาใช้ดูเราก็ใช้ ยอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ ดูซิ อยู่ด้วยกันเนี่ย ไม่ล่วงเกินจิตใจให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน เขารักสุขเราก็รักสุข เขาเกลียดทุกข์เราก็เกลียดทุกข์ เห็นอกเห็นใจกัน ไม่ใช่ให้คนอื่นเป็นทุกข์เพื่อความสุขของเรา ไม่ใช่แบบนั้น ไม่เอาเปรียบ เสียสละ เสนอตัวเรา ทุกข์คนอื่นเป็นเรื่องของเรา ปัญหาคนอื่นเป็นเรื่องของเรา เสนอเราเข้าไป ไม่ท้อถอย มีน้ำใจไม่เหือดแห้ง เรียกว่า “จิตตะ” เอาใจใส่ ด้วยเหตุด้วยผล รู้ตน รู้คนอื่น รู้ประมาณ รู้กาล รู้เวลา รู้ธรรม รู้บุคคล เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างไร ก็คือ “กัลยาณธรรม กัลยาณมิตร” ฝากผีฝากไข้ต่อกันได้ ตามความสามารถตามกำลังของพวกเรา
เป็นศาสนทายาท เป็นครอบครัวหนึ่ง พระพุทธเจ้าเป็นบิดา พระธรรมวินัยเป็นมารดา ว่าแต่เราก็เป็นลูกซะ แล้วก็มีแต่พี่แต่น้องกัน มันก็จะสะดวกในการทำความดี ไม่ตระหนี่ ไม่เห็นแก่ตัว แล้วก็จะได้ทำความดีได้สะดวก ถ้ามีอะไรมันถนอมรักษาไว้ ให้เสียสละ เอาแต่เอาเปรียบเอารัดคนอื่นสิ่งอื่นจะได้ดี มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการสะดวก
ผู้ที่จะได้บรรลุธรรม คือ ทำไปแบบนี้ ให้มันหลาย ๆ ทาง หลายแรง เสริมแรง เข้าไปหลาย ๆ อย่าง ศรัทธา-พละ วิริยะ-พละ มีศรัทธาแล้วไม่พอต้องมีความเพียร มีจิตใจ-ติดสอยห้อยตาม มีสัจจะ มีสติ มีปัญญา ในความหลงให้มีปัญญา ในความโกรธความทุกข์ก็ให้มีปัญญา เรียกว่า “ปัญญา” มันเป็นวงเล็บปิดวงเล็บอะไร มันต้องอยู่สุดท้ายนะ อะไร ๆ มันลงท้ายด้วยปัญญานะ ถ้าไม่มีปัญญาลงท้าย มันหมาหางด้วน ต้องมีปัญญาลงท้าย ในความหลงมีปัญญาวงเล็บไป มันมีความไม่หลง ปัญญา ในปัญหามีปัญญา วงเล็บไว้ ปิดท้ายไว้ เพราะมีปัญญา สุดทางอยู่ตรงนั้นชีวิตเรา นำตัวเองไปให้ถึงปัญญา รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักตัวตน มองตน เตือนตน แก้ไขตน อย่ามืด อย่าทื่อ อย่าปึก อย่าหนา หลงเป็นหลง ปุถุชนปึกหนาสาโหด สอนไม่ได้ ตัวเองแท้ ๆ เตือนตัวเองไม่ได้ ตัวของเราเอง ติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตือนเราได้โดยศีลได้หรือไม่ มันก็สอนไม่ได้ ก็มีแต่ไม่มากนะ
ถ้ายกมือขึ้นรู้สึกตัวนั่นแหละ หน่อโพธิ สอนได้แล้ว สอนตัวเองให้มันรู้ เวลามันหลง สอนตัวเองให้ไม่หลงเนี่ย นี่คือฝึกหัดดัดแปลงแก้ไขตนเอง มันก็จะดีขึ้น เจริญขึ้น ถ้าไม่ฝึกหัดก็เสื่อมลงเสื่อมลง แก่เพราะอยู่นาน ไม่ได้แก่เพราะความรู้ ดังอาจารย์พุทธทาสว่า
“คนจะงาม งามที่น้ำใจไม่ใช่ใบหน้า คนจะสวย สวยที่จรรยาไม่ใช่ตาหวาน คนจะแก่ แก่เพราะความรู้ไม่ใช่อยู่นาน คนจะรวย รวยเพราะศีลเพราะทาน ไม่ใช่บ้านหลังใหญ่ ๆ โต ๆ”
ไม่จน ศีลทานไม่จน ไปถึงปรโลก มีกันไหม วันนี้มีไหม ถ้าวันนี้ไม่มี พรุ่งนี้ก็ไม่มีแล้ว อย่ารอคอยพรุ่งนี้ หวังลม ๆ แล้ง ๆ ต้องเดี๋ยวนี้ “ปัจจุปปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ” เนี่ย! ควบคุมปัจจุบันเอาไว้ อดีตที่ล่วงไปแล้ว ผ่านไปแล้ว อาลัย พะวงถึงอดีต คิดถึง อดีตที่ผ่านไปแล้วด้วยอาลัย พะวงถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง คิด มันแก้อะไรไม่ได้ อาลัย มาลัย พระมาลัย ไม่ใช่พระอาลัย
พระมาลัยทัวร์สวรรค์ ทัวร์นรก นำข่าวสวรรค์ไปบอกพวกสัตว์นรก นำข่าวพวกสัตว์นรกไปบอกพวกสวรรค์ เขาทุกข์...แบบนี้ เขาทำอะไรมา สัตว์นรกมันจะบอก เราไปทำบาปทำกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ เลยมาต้องรับบาปรับกรรม พระมาลัยก็บอกเมืองมนุษย์ให้ระวัง นรกเขาเป็นอย่างนี้ เรียกว่า “มาลัย” ในอาลัยไม่มีอะไร เรียก มาลัย พ้นมาได้ ช่วยคนได้ ระหว่างนรกกับมนุษย์ มีมนุษย์เท่านั้นที่จะไปสวรรค์นิพพานได้ เทวดาก็ไม่ต้องไป ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก จึงจะไปสวรรค์นิพพานได้
นี่เรามาอยู่ที่นี่ นั่งอยู่นี่ เป็นมนุษย์แล้ว สมบูรณ์แบบ ฝึกกรรมฐานได้ไหม มนุษย์เรานี่ สิทธิร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ต้องเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ นี่คือมนุษย์ ถ้ามีหลงอยู่นั่นแหละ เปลี่ยนมันซะ มนุษย์แล้ว สัตว์ประเสริฐแล้ว ถ้าหลงเป็นหลงไม่เปลี่ยน เป็นอบายไปแล้ว ไม่ใช่มนุษย์แล้ว … ใช้…สร้างบ้านสร้างเรือน ใช้น้ำใช้ไฟ ฟรีเลย ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ประโยชน์มันอยู่ที่ไม่ใช่ประโยชน์ ความหลงไม่ใช่ประโยชน์เลย มีแต่พิษแต่โทษ ความทุกข์ไม่ใช่ประโยชน์ มีแต่พิษแต่โทษ เปลี่ยนมันซะอย่างนี้ล่ะ มันก็เป็นประโยชน์ ถ้าทำได้ก้าวที่หนึ่ง ก้าวที่สอง ก้าวที่สามไป ก็ง่ายไปเลยบัดนี้ สะดวกไป จับเส้นทางได้ เคยชิน ชำนิชำนาญ ง่ายนิดเดียว ง่ายนิดเดียว มันจะยากอะไร บางคนยากมากนะ ...เท่าไรก็ไม่ขึ้นนะ เข็นยากเหลือเกินบางคนน่ะ แต่ก็พยายามที่จะช่วย อยากช่วยจริง ๆ นะ ถ้าใครมีทุกข์น่ะ มาเถอะ ๆ มาที่นี่ ปัญหาเรื่องทุกข์อะไรมาที่นี่ ทุกข์ใจนะ มันไม่ต้องทุกข์ เปลี่ยนได้อยู่ ไม่ทุกข์ก็มี ไม่ต้องมาก็ได้ ก็บอกแล้วเนี่ย มันอยู่ที่ไหนละทุกข์น่ะ อยู่ที่ใจเรา เราอยู่ที่ไหนล่ะ อยู่ที่ไหนก็ทุกข์ เปลี่ยนได้เลย บนถนนหนทาง บนรถเมล์ บนที่ลุ่มที่ดอน ที่สูงที่ต่ำ ที่บ้านที่วัด ที่ป่าที่โล่ง เปลี่ยนได้ทั้งนั้น
ผู้มีสติ จะอยู่ที่ลุ่มที่ดอน ที่บ้านที่ป่า ที่นั้น ๆ ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ แต่ผู้ไม่มีสติ อยู่ปราสาทราชวังก็ไม่น่ารื่นรมย์อะไรเลย พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญบุคคลผู้มีสติ อยู่ที่ไหนก็ตาม “คาเม วา ยทิ วารัญฺเญ นินเน วา ยทิ ว ถเล ยัตถะ อรหันโต วิ หะรินติ ตัง ภูมิรามเณยยกัง” ผู้มีสติปัญญา จะอยู่ที่ใดก็ตาม ที่ลุ่มที่ดอน ที่…ที่ป่า ที่บ้าน ที่อะไร ที่นั้น ๆ จะเป็นที่น่ารื่นรมย์ของบุคคลเช่นนั้น จะทำไงชีวิตเรา เราต้องสร้างแบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้ได้ใช้สะดวก จะมีวันหนึ่งนาทีหนึ่ง ก็สะดวกในเรื่องนี้ อย่าให้มันติดอะไร ได้ยินบ่ (หัวเราะ) กราบพระพร้อมกัน