แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
2516 ศูนย์ลบ4 เปียกฝนเลยพื้นเนี่ย ผ้าปูนั่งก็เปียก มากกว่านี้ก็มีอยู่ดอก หนาวน่ะ แต่ว่าแต่ก่อนเราก็เก่งกว่านี้ ยังหนุ่ม เดี๋ยวนี้แก่แล้วก็หนังหยาบ ไม่อ่อน หนาวมากกว่าแต่ก่อน เดี๋ยวนี้ก็มีผู้ปฏิบัติกันอยู่ ใกล้ๆ เรานี้ก็มี มีผู้มานิมนต์สองสามแห่ง ไม่รู้จะไปได้ไหมเนี่ย เพราะไม่อยากเดินทางนะตอนนี้นะ มันใกล้จะปีใหม่นี่วุ่นวายเหลือเกินบนถนน แต่ก็อยากไปบอกไปสอนคน เพราะว่างานปฏิบัติธรรม งานบอกกันตรงๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไร ไม่เหมือนงานอื่น
การปฏิบัติธรรมก็คือการมีสติ นี่คือมันตรงอย่างนี้ สติไปในกาย เอาลงไป ตรงลงไป เมื่อมีสติไปในกาย อาจจะเป็นความรู้สึกออกมานัยๆ ว่า กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ให้รู้จักถลุงหน่อยๆ หนึ่ง ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ก็สักว่าสุขว่าทุกข์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มันก็ไขออกมาได้ ยิ่งจิตที่มันคิด ก็สักว่าจิต ก็ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นความคิด ความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจ แม้ความคิดที่ตั้งใจก็ตาม สักว่าเฉยๆ ไม่ใช่ตัวตนอะไร
แต่ก่อนไม่รู้ อะไรก็คือตัวตนหมด กายก็เป็นตัวเป็นตน ยิ่งเวลามีอาการเกิดขึ้นกับกาย ก็มีเป็นตัวเป็นตนร้อยเปอร์เซ็นต์ กูหนาว กูร้อน กูปวด กูหิว กูอะไรต่างๆ เต็มไปหมดเลย บัดนี้ มันไม่เป็นไปอย่างนั้น มันหยุด ไม่เป็นกูขึ้นมา มีแต่เห็น อาการที่เกิดขึ้นกับจิตกับกาย ที่เป็นด้านอารมณ์ก็ดี ความง่วงเหงาหาวนอนก็ดี ความลังเลสงสัยก็ดี หรือเป็นความสงบ ความฟุ้งซ่านก็ดี มันสักแต่ว่า ไม่ใช่เราอีกแล้ว ก็เบานะ พอมันเห็นไปอย่างนี้ ก็เห็นเป็นรูป เห็นเป็นนาม สรุปลงตัวเลยทีเดียว ตอบได้แม่นยำชัดเจน นี้คือรูป นี่คือนาม
สิ่งที่เกิดกับรูป กับนาม ไม่ต้องเรียกว่าสุขว่าทุกข์แล้ว เรียกว่าอาการ เป็นอาการของที่มันเป็นธรรมชาติ มันมีธรรมชาติ มันมีอาการอันรูปนามนี้ แน่นอนที่สุด ใครๆ ก็มีเหมือนกันหมด เหมือนกันหมด ลงตัวทันทีเลยตอนนี้ รู้จักเรา รู้จักเขาได้ทันที เป็นคำตอบที่ไม่ผิดเลย สากลที่สุด ในโลกนี้มีแต่รูปกับนาม รูปนามมันก็มีการกระทำ มันเรียกว่ารูปทำ นามทำ มันทำอะไร รูปนี้นามนี้มันทำอะไร ทำดี มันทำดี มันทำชั่ว มันเป็นรูปมันทำ นามมันทำ
แต่ก่อนไม่มีสติ แล้วแต่รูป แล้วแต่กาย แล้วแต่ใจ มันจะทำอะไรก็เรียกว่า ยอมทั้งหมด มันสุขก็เป็นสุขไปกับมัน มันเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ไปกับมัน บางทีใช้ไม่เป็นสมัยก่อน ติดอะไรต่างๆ เยอะแยะไปเลย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น แม้แต่ความคิดก็ติด เคยไหลไปทางไหนก็ไหลไปทางนั้น ติด มันก็ติดมากหลายอย่าง ติดลูก ติดเมีย ติดการ ติดงาน ติดรูป ติดรส ติดกลิ่น ติดเสียง พอกพูนเข้าไป พอเห็นเป็นรูปทำนามทำแล้ว มันไม่ติด มันรู้จักวาง แต่ก่อนมันกำ มีอะไรก็กำ เป็นไปเลย บัดนี้ พอเห็นเป็นรูปทำนามทำ มันไม่กำเหมือนเมื่อก่อน มันบาง
มันก็บอกไปเลย รูปนามมันบอก รูปทำนามทำมันบอก มันก็ตกอยู่ในความไม่เที่ยงรูปนามนี้ ไม่มีใครป้องกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่มัน แต่ก่อนมันร้อนคืออาจจะเป็นทุกข์ หิวก็เป็นทุกข์ อะไรที่มันเกิดขึ้นกับรูปกับนาม กับกายกับใจ มันเป็นทุกข์เป็นสุข บางทีก็เช่นความหิวเป็นทุกข์ พอมาเห็นเป็นรูปนามแล้ว มันไม่ใช่ทุกข์เลย มันเป็นธรรมของรูปที่มันรู้จักหิว ความเป็นธรรมของรูป ความเป็นธรรมชาติของรูป ความเป็นอาการของรูป เป็นเช่นนั้น ไม่เอามาเป็นสุขเป็นทุกข์แล้ว ดีดตัวออกมา
แต่ก่อนมันเป็นสุขเป็นทุกข์เพราะอาการที่เกิดกับรูปกับนาม กับกายกับใจ พอมาเห็นเป็นรูปทำนามทำ เห็นเป็นอาการ เห็นเป็นธรรมชาติของรูปของนาม เห็นเป็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ความเป็นทุกข์ เข้าใจเรื่องรูปเรื่องนาม ให้ความเป็นธรรม มีความเป็นกลางเกิดขึ้นแล้วตรงนี้ เหมือนกับคนทะเลาะกันสองคน มีความเป็นกลาง ให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
ระหว่างปฏิบัติธรรม สติเท่านี้แหละ สติสัมปชัญญะเนี่ย เหมือนดั่งที่เราสวดพระสูตรเมื่อกี้นี้ พราหมณ์ผู้มีสติ มันเป็นอะไร เห็นอะไรเกิดขึ้น เป็นอะไร เช่นนั้นแหละ มีความเป็นธรรม เกิดเพื่อไม่เกิด เกิดเพื่อหมดไป ไม่ใช่เกิดพอกพูนเหมือนเมื่อก่อน แต่ก่อนมันติด สุขก็ติด ทุกข์ก็ติด ติดนานนะ เป็นข้ามปีข้ามเดือนก็มี อันสุขอันทุกข์ บัดนี้ไม่ติด เหมือนทิ้งก่อนกรวดใส่ฝาผนัง ธรรมด๊าธรรมดา ไม่ติดเลย ต่างเก่า เห็นรูปทำ เห็นนามทำ เห็นอะไรที่บอกมันไป เป็นสายไป
ถ้าเป็นเชื้อโรคก็ตามเห็นสมมติฐานของโรค รักษาโรคหาย หมอที่เก่งคือรู้สมมติฐานของโรค อันการใช้ยาอาจจะไม่แตกต่างกัน แต่ว่าสมมติฐานของโรคนี้สำคัญ เรามาเห็นรูปเห็นนาม เห็นสมมติฐานของรูปของนามทั้งหมดเลย เกลี้ยงไปเลย ไม่เที่ยงเป็นทุกข์อย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ธรรมชาติอย่างไร อาการอย่างไร ไปกันจนหมด ทะลุทะลวงลงไป ทะลุทะลวงไป เป็นสายไป สายกุศลไปทางหนึ่ง สายอกุศลไปทางหนึ่ง สิ่งที่ผิดมันก็บอก สิ่งที่ถูกมันก็บอก สิ่งเป็นทุกข์ก็บอก สิ่งไม่เป็นทุกข์ก็บอก มาเป็นคู่กันเลย สนุก เหมือนกับนั่งรู้ ถึงโอกาสมันสะดวก มันก็นั่งรู้ ไม่ต้องทำอะไร
เหมือนมีสติ ผู้มีสติ เหมือนพราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่นั่งอยู่ อะไรเกิดขึ้นมา สะดวก ในความทุกข์ก็สะดวก ในความโกรธ ความโลภ ความหลง สะดวก มันเห็นแจ้งไม่ขวางกั้น มันทะลุความโกรธ มันเป็นชีวิตชีวา ทะลุความทุกข์ เป็นชีวิตชีวา ทะลุความหลง เป็นชีวิตชีวา มันมักจะแสดงถึงการหลุดพ้นอย่างจริงจัง ไม่กลัว เกิดความกล้าหาญ ในคราวที่มันขี้ขลาด อ่อนแอ กลัวโน้นกลัวนี้ คิดโน่นคิดนี่ บัดนี้ มันกล้าหาญ แกล้วกล้ามีพลัง มีพลัง เพราะมันใช้ได้จริงๆ เปรียบเทียบมีสติ มันจะมีอะไรที่ปิดบังไม่ได้เลย
ความหลงไม่จริง ความไม่หลงมันจริง มันไม่สนุกได้ไงตรงนี้ ความทุกข์ไม่จริง ความไม่ทุกข์มันจริง ความโกรธไม่จริงเลย ความไม่โกรธมันจริง ความอะไรต่างๆ ลังเลสงสัยไม่จริง ความคิดก็ไม่จริง ตัวที่จริงมันมีความเป็นธรรม มันถูกต้องอยู่ มันเห็นเนี่ย ผิดก็เห็น ถูกก็เห็น สุขก็เห็น ทุกข์ก็เห็นนี่ มันคือความเป็นจริง รื้อถอนสมมุติบัญญัติ วัตถุอาการต่างๆ ที่มันเกิด ทำให้เกิดสมมุติ แต่ก่อนมันใช้เรา ตามันใช้เรา หูมันใช้เรา จมูกลิ้น กาย ใจ ใช้เรา มันมีตรงกันข้าม มีรูป มีรส มีกลิ่น มีเสียง มันใช้เรา
บัดนี้ เราใช้มัน บัดนี้ เราใช้มัน ใช้ได้สำเร็จประโยชน์ อันที่มันใช้ผิด มันเป็นสมมุติ ชอบ ไม่ชอบ ตาเห็นรูป ชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ มันใช้เรา บัดนี้ เราใช้มัน เราใช้มัน อันความพอใจหรือความไม่พอใจ มันเป็นงานของเรา เรียกว่างานชอบ มันไม่มี มันเป็นสมมุติบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์สัจจะ จริงแบบนั้น แต่มันไม่จริงแบบนี้ เช่น ความไม่เที่ยงมันก็จริงแบบไม่เที่ยง มันจะจริงแบบเที่ยงได้ยังไง ไม่เสียเวลาเพราะความไม่เที่ยง เอามาเป็นปัญหา แต่ก่อนมันเป็นทุกข์นะ พอเห็นเนี่ย มันรื้อถอน จะให้มันจริงอย่างไรความไม่เที่ยง มันก็ต้องไม่เที่ยงอยู่เช่นนั้น เป็นปัญญานะ ความทุกข์ มันก็เป็นทุกข์อยู่เช่นนั้น จะให้เป็นสุขได้ยังไง มีปัญญาตรงนี้ด้วย
นี่พราหมณ์ผู้มีสติเพียรเพ่งอยู่ อะไรเกิดขึ้นก็ย่อมผ่านไปได้ง่ายๆ สะดวก หมดไปง่าย สติมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นทางไปบุกเบิก เคยพูดอยู่เสมอว่า สติเหมือนใบมีดรถแทรกเตอร์ สติเหมือนไม้กวาด ไม้กวาดผ่านไปที่ไหน ฝุ่นย่อมออก ใบมีดรถแทรกเตอร์ผ่านไปที่ไหน ที่นั้นคงเรียบลงหน่อยๆ ไม่มากก็น้อย สิ่งที่ตามหลังใบมีดก็ย่อมสะดวกว่าก่อน ถ้าใบมีดมันออกไป นี่ผู้มีสติ พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ สะดวก เพราะมันมีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ กรรมฐาน มันเป็นกรรมฐาน มันเป็นที่ตั้งแล้ว มันเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว
การเห็น ไม่เป็น เป็นการงานชอบที่สุดเลย หลวงพ่อเทียนสอนอย่างนี้ เราก็รู้ลักษณะแบบนี้ รู้จักหัวใจของหลวงพ่อเทียน รู้จักหลวงพ่อเทียน ให้เรามารู้เรื่องตัวเอง รู้จักธรรมมะ รู้จักธรรมะรู้จักพระพุทธเจ้า รู้จักพระสาวกทั้งหลายเป็นอย่างนี้ รู้อย่างนี้ เหมือนกันหมด พหุลานุสาสนีทรงสั่งสอนเรื่องนี้ แน่นอนที่สุด สาวกทั้งหลายก็รู้เรื่องนี้เป็นส่วนมาก เรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องธรรมชาติ เรื่องอาการ ที่มันมีอยู่กับตัวเราแท้ๆ ไม่ได้ไปอยู่ไกลอดีต ไม่อยู่ไกลอนาคต เป็นเดี๋ยวนี้ ใครๆ มันจึงทำได้ ความหลงก็ไม่ใช่พรุ่งนี้ ความหลงก็ไม่ใช่เมื่อวาน มันอยู่เดี๋ยวนี้ มันจึงทำได้ด้วยมือของเราเอง ด้วยกรรมฐานเอง
มีกรรมฐานเรียกว่าศักดิ์สิทธิ์ อันเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงนี่ เป็นงานชอบที่สุดเลย นี่เป็นกรรมฐาน เหมือนพระพุทธเจ้าสอนสาวก พาพระสงฆ์ไปบิณฑบาตในลุ่มน้ำคงคา มีเต่าตัวหนึ่งหากินอยู่แถวริมน้ำ มีสุนัขป่าวิ่งมาจะมากินเต่า เต่ามันขดอวัยวะของมันเข้าในกระดอง สุนัขป่าเลยกินไม่ได้ พระพุทธเจ้าเลยชี้ให้พระสงฆ์ดู นี่พระสงฆ์ทั้งปวง พวกเธอจงเหมือนเต่า มีกรรมฐานเป็นกระดอง มารไม่มีโอกาสที่จะทำลายได้ นี่คือกรรมฐาน เป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ ตั้งไว้ มีสติ ตั้งไว้ก็เห็น เห็นแล้วก็ไม่เป็นล่ะ ต่อไปได้เลย พ้นจากการเป็นเลย อะไรที่มันเกิดขึ้นเป็นความถูกที่สุด เห็น ไม่เป็น พ้นจากการเป็นนี่ ไปแบบนี้ ทางเป็นแบบนี้
ถ้าเห็นแล้วเป็น สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ ไม่ใช่กรรมฐานนะ มันจึงล่วงเกินภาวะเก่า แต่ก่อนเห็น-เป็น ตาเห็นรูป พอใจไม่พอใจ เป็นผู้พอใจ เป็นผู้ไม่พอใจ เป็นตัวเป็นตน เป็นภพเป็นชาติ แล้วก็เกิดแก่เจ็บตายในภพในชาติเช่นนั้น ถ้ามีภพมีชาติแบบนี้ ก็ต้องมีเกิดมีแก่ มีเจ็บ มีตาย อีกหลายภพหลายชาติ ในความแก่ก็ต้องแก่ ในความเจ็บก็ต้องเจ็บ แต่ในเจ็บในเกิด ในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียงเนี่ย มันยังเป็นรากเหง้า ไม่ได้รื้อไม่ได้ถอน มันก็ต้องมีตรงนั้นอีก จึงว่าน่าจะขยันนะ อันกรรมฐานเนี่ย
มันรู้ตัวเองแล้วเท่ากับรู้คนอื่น สิ่งอื่น วัตถุอื่น ครอบจักรวาลเลยทีเดียว อันชื่อว่าคนในโลกเหมือนกันหมด ถ้าจะว่า ใครก็เคยหลง ใครๆ ก็เคยทุกข์ ใครๆ ก็เคยโกรธ ใครๆ ก็เคยเสียใจ เสียใจเพราะคนอื่นทำให้ เป็นทุกข์เพราะคนอื่นทำให้ เป็นสุขเพราะคนอื่นทำให้ มีเหมือนกันหมด ใครๆ ก็ไม่อยากให้คนอื่นทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ มันปฏิเสธไม่ได้ ที่มันทำได้จริงๆ คือเรานี่ จะไปห้ามคนอื่นไม่ให้เขาว่าอย่างนั้น ไม่ให้เขาทำอย่างนี้ เป็นไปได้ยาก เราเนี่ยทำได้เดี๋ยวนี้เลยทีเดียว ถ้าห้ามเราได้ ป้องกันเราได้ มันก็ไม่มีอะไรทั้งหมด
เหมือนเสือ เสือมันร้าย มันกัดคน เราจะไปฆ่าเสือให้มันตายทั้งโลก เป็นไปไม่ได้ เราต้องป้องกันตัวเรา อย่าให้เสือมันกัด ดีที่สุด ไม่ต้องไปฆ่าเสือ แต่ในโลกนี่ คำว่าโลกมันมีรสชาติเหมือนกัน แต่เรามารู้ตัวเองนี้ มันก็หยุดแล้ว เสือไม่ได้ทำร้ายเราแล้ว บางอย่างเรานึกว่าจำเป็น พอเรามาเห็นแล้วไม่จำเป็นเลย จิ๊บจ้อยที่สุดเลย กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด จิ๊บจ้อยมาก เหมือนกับว่าเป็นเครื่องประดับ เป็นเครื่องที่ทางผ่านของเรา ถ้าจะพูดแล้วเหมือนกับทางที่เราเหยียบไปเลย เหมือนธรรมจักร ธรรมจักรหมุนไปตรงไหน ราบไปเลย ความโง่หลงงมงาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ธรรมจักรเหยียบไปนะเนี่ย จึงจะรู้ว่าจักรแห่งธรรมนะ ราบไปเลยล่ะ
อย่างพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร ธรรมจักรได้เป็นไปแล้ว ทุกข์ไม่กำเริบอีกแล้ว ไม่มีอะไรกำเริบอีกแล้ว เราจึงได้ชื่อว่าเราตรัสรู้พร้อมเฉพาะหน้าแล้ว นี่มันหมดไป มันเป็นทางเหยียบไป มีทุกข์ มันจึงพ้นทุกข์ มีความหลง มันจึงพ้นจากความหลง มันเหยียบไปตรงนี้ สติเป็นอย่างนี้นะ มีปัญหา มันจึงเป็นปัญญา ถ้าเห็นสิ่งเหล่านี้นั่นแหละ ไปทางเดียวกับพระพุทธเจ้า เห็นความง่วงเหงาหาวนอน นั่นแหละ ทางแล้ว ถูกทางแล้ว เหยียบมันไป มีสติเหยียบไป อาจจะมีจักรธรรมตรงนั้นด้วย เหยียบไปเลย มีกามราคะปฏิฆะเกิดขึ้น เหยียบมันไป มานะทิฐิเกิดขึ้น เหยียบมันไป เหยียบสิ่งนี้ไปจะเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้นนะ ถ้าไม่เหยียบตรงนี้แหลกลงสักหน่อย ไม่ใช่เลย ไม่ใช่เอานุ่งห่มผ้าเหลืองกิริยามารยาท หมายถึงคุณธรรมนะ
ใครๆ ก็เหยียบได้ตรงนี้ มันหลง เหยียบไม่หลง ใครก็ทำได้ มันทุกข์เหยียบไม่ทุกข์ ใครก็ทำได้ มันโกรธเหยียบให้มันไม่โกรธ ใครก็ทำได้ ไม่มีอ้าง หนุ่มๆ สาวๆ นักบวช ฆราวาส ญาติโยม ชาติใด ภาษาใด เหยียบเหมือนกันนะ ความโกรธก็เหมือนกัน ความทุกข์ก็เหมือนกัน ความหลงก็เหมือนกัน กิเลสตัณหาก็เหมือนกัน ศีลก็เหมือนกัน สมาธิก็เหมือนกัน ปัญญาก็เหมือนกัน เหมือนกันหมด จึงเป็นการกระทำอันเดียวกัน
เรานั่งอยู่นี้ เราฟังเทศน์อยู่นี้ ฟังธรรมอยู่นี้ เหมือนกันหมด ได้ยินคำพูดเหมือนกัน หลง พอพูดถึงความหลง เราก็เคยหลง ถ้ามีสตินะ เราเคยพูดความไม่หลง เราเคยทำได้แล้ว กำลังทำอยู่ด้วย ปฏิบัติตามอยู่ด้วย มันมี นอกจากเวลาฟังไป มันหลง เอ้า เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง มีสติ ก็ใช้ได้ ไม่ใช่อยู่ที่นี่เอาไปทำ ทำคือกรรม ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าใครยังมีความหลง เรียกว่ามีงานทำ อย่าปล่อยทิ้ง พิพากษาให้มันหมดไป หมดไป สิ่งเหล่านี้หมดไปนะ จึงจะมีอิสระ
ถ้ามีทุกข์ นั่นแหละงานของเรา เปลี่ยนให้เป็นไม่ทุกข์ อย่าทิ้งไว้ มีสติเรื่อยไป บางทีไม่ได้เปลี่ยนน่ะ เอ๊า มีสติเรื่อยไป อย่าไปใส่ใจมัน เอากรรมฐานไว้ก่อน กลับมาก่อน อย่าไป มันก็ไม่มากหรอก หนึ่งคิด ทางกายทางใจ อันกายอันใจนี่ก็มีมาก คือตัวหลง ภาวะที่ไม่หลงก็เรื่องเดียวกันอีก กรรมฐานสติมันเป็นคู่กรณีกับความหลง คู่ปรับกัน พอดีๆ ทำปั๊บ ได้ทันทีเลย ไม่ต้องเนิ่นช้า มีสติก็เห็นความหลง เจอความหลง มีสภาวะที่หลง มีสภาวะที่ไม่หลง ตรงพอดีเลย ไม่ต้องไปหาที่ใด
ยิ่งเรามีกรรมการกระทำ มีฐานที่ตั้ง มีกาย คู้แขนเข้าเหยียดแขนออก มีสติอยู่แล้ว มันก็ได้ใช้ทันที กลับมานี่ก็รู้ทันทีแล้ว มันหลงก็รู้ทันที กลับมารู้ มันก็รู้ทันที ความหลงหมดไป ขยันตรงนี้นะ ไม่ใช่ว่าทำไมจึงหลง มันหลงตรงไหน ก่อนที่มันจะหลง มันไปทางไหน ไม่ต้องไปลำดับมัน เหมือนนกจับไม้ เมื่อบินไปแล้ว ไปดูรอยมัน มันก็ไม่มีอะไร อันความหลงมันก็ไม่มีรอยอะไร เพียงแต่เรารู้นั้นแหละ ทำไมมันจึงทุกข์ ทำไมจึงปรุงแต่งไปถึงโน่น มันเรื่องอะไร ลำดับทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้
สติไม่มีคำว่าทำไม มีแต่รู้ไปเลย ถ้ายังมีทำไมๆ อยู่ เป็นทุกขาปฏิปทา หรือว่าสุขาปฏิปทา หรือว่า อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค อ่อนแอ ถึงคราวอ่อนแอก็อ่อนแอไปเลย ถึงคราวนิวรณ์ธรรมครอบงำ หลับตาก็อ่อนไปเลย อ้าปากหาวหมดแรงไปเลย อ่อนแอ กามราคะเกิดขึ้น ก็อ่อนแอไหลไป ความโกรธ ความอาลัยอาวรณ์ สิ่งใดที่ผ่านมาเกิดขึ้น ก็ไหลไปอ่อนแอไป นั้นเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อ่อนแอ ขี้แพ้ สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ คนขี้แพ้ คนไม่เข้มแข็ง โกรธเป็นโกรธ หลงเป็นหลง รักเป็นรัก เกลียดชังเป็นเกลียดชัง พอใจเป็นพอใจ ไม่พอใจเป็นความไม่พอใจ เป็นคนอ่อนแอ เป็นกามสุขัลลิกานุโยค ไม่ต้องไปตั้งทรมานที่ไหน มันเกิดจากการภาวะที่ไม่รู้ ที่มันเป็นเข้าไป
อัตตกิลมถานุโยโค ตึงเครียดไม่อยากให้มันผิด เอ้า รู้ลงไป เวลามันผิด ไม่พอใจ ไม่อยากให้มันผิด มันฟุ้งซ่าน ไม่ชอบ เราชอบความสงบแบบนี้ มันผิดมันถูก มันผิด ไม่ชอบ มันถูก นี่ดี มันสงบ นี่ดี มันไม่สงบ ไม่ชอบ เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นไปซะ ทั้งสองอัน ชอบ ไม่ชอบ ไม่อยากให้มันผิด ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น หลายวันแล้วยังเหมือนเดิมอยู่ ไม่รู้เป็นกรรมอะไร เอาจริงเอาจัง เพ่งลงไป จ้องลงไป มือจ้องลงไป ไม่อยากให้มันผิด มันคิด ไม่กลับมา ดิกหัวใส่ ไปๆ มาๆ มือมันติดหน้าอก มันเพ่งเกินไป มือมันติดหน้าอก ยกมือไม่ออก ไม่เห็นมาทำวัตร ไม่เห็นมากินข้าว เลยเดินไปดูที่กุฎิ
พอเดินไปดูที่กุฎิก็ อาจารย์ อาจารย์ มาช่วยด้วย มาช่วยด้วย มือผมติดอยู่นี่ตั้งแต่ตีสามแล้ว (หัวเราะ) เป็นกรรมอะไรก็ไม่รู้ ผมแผ่เมตตาแล้วก็แล้ว กรวดน้ำแล้วก็แล้ว อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา อาจะริยูปะการา จะ ไม่ออกเลยเนอะ อาจารย์ ช่วยด้วยๆ จะยกออก ก็ไม่ออก แผ่เมตตาก็แล้ว มันเป็นกรรมอะไร มันติดอย่างนี้ เราก็ไปดู เราไม่ได้ไปแก้ตรงนั้น ก็เลยไปพูดว่า “เออ พ่อใหญ่...” เขาเป็นโยมนะ เราเป็นพระ
“พ่อใหญ่ มีลูกกี่คนล่ะ”
“มีลูกสามคน”
“ใครเป็นคนเลี้ยงดู”
“ลูกสาว ลูกเขย”
“มีหลานกี่คน”
“มีหลานสามคน”
“หลานสามคน ผู้หญิงกี่คน ผู้ชายกี่คน”
“ผู้หญิงสอง ผู้ชายหนึ่ง”
“ใช่หรือเปล่า ผู้หญิงหนึ่ง ผู้ชายสองนะ ลืมหลานเสียแล้ว”
“ไม่ลืม ไม่ลืม ไม่ลืม”
“โอ๊ย ลืมแล้ว ผู้หญิงคนเดียว ผู้ชายสอง ไม่ใช่ผู้หญิงสอง ผู้ชายหนึ่ง”
“ไม่ใช่ ไม่ใช่” เถียงไปๆ “หลวงพ่อจะรู้อะไรกับผม ผมรู้ของผม หลานของผม” (หัวเราะ)
ยกมือ เอามือมาชี้ “ผมรู้นะ หลานผม ผมรู้นะ อาจารย์ไม่รู้หรอก”
เราก็ดู มือออกแล้ว ยังคุยกันอยู่ “เอ๊า มือผมออกเมื่อไหร่ล่ะ”
“ไม่ทราบ” (หัวเราะ)
มันเพ่งเกินไปก็ไม่ดี เอาจริงเอาจัง ไม่อยากให้มันหลง หัวเราะมันสิความหลง ใจสบาย ออกมาดูมัน หัวเราะความหลง หัวเราะความทุกข์ ไม่เป็นไร รู้ รู้ รู้ เรียกว่า มัชมาปฎิปทา เห็น เป็นผู้ผิด เป็นผู้ถูก ไม่ใช่เห็นแล้ว เป็นอัตตกิลมถานุโยโค ตึงเกินไป เคร่งเกินไป ไม่บรรลุธรรมนะ
วิธีบรรลุธรรมต้องเห็นนะ เห็นมัน มันคิดอะไรขึ้นมา เกิดอะไรขึ้นมา เห็นมัน เบาเบา ภาวะที่เห็นเนี่ย เรียกว่า สุขาปฏิปทา สะดวก บรรลุธรรมได้ง่าย อะไรก็ยากไปหมด นับวัน นับเดือน ไม่รู้อะไร ทำไมจึงมาเป็นอย่างนี้ อาจจะไม่มีบุญวาสนา เปรียบเทียบกับคนนั้น คนนี้ เขารู้มาสี่วันนะ เขารู้แล้ว แม้บางทีเราก็เคยถูกคนมาทักทายแบบนี้ มาอธิบายให้ฟัง มีเณรน้อยนะ เรายังไม่ได้บวช “อ้ายๆ เจ้ารู้จักรูปนามไหม” “โอ๊ย อ้ายยังบ่รู้นะ ไม่กี่วันหรอก อาทิตย์หนึ่งแล้ว” “โอ๊ย เณรมาปฏิบัติอาทิตย์เดียว รู้จักรูปนามแล้ว” เณรน้อยว่า รูปก็คือเนี่ย นามคือเนี่ย อธิบายให้ฟัง “พอแล้วๆ เณร อ้ายจะทำเองดอก รู้ ไม่รู้ ช่างหัวมันเถอะ เราทำไปอย่างนี้” (หัวเราะ)
อย่าไปจำเอาเขาบอก อย่างนั้นอย่างนี้ หาคนมาช่วย ไม่รู้อะไร ไปถามคนนั้นคนนี้ ทำเองหรอก เราทำเอง ทำเอง ตัวเอง ถ้าจำเอาคนอื่น มันก็ง่าย คิดเอาก็ง่าย เป็นจินตญาณไปเลย นี่มันเห็นจริงๆ นะเรา ถ้าจะเปรียบเทียบคนรู้จักรูปนามที่เขาพูด กับสิ่งที่เรารู้จักรูปนามที่เรารู้ มันก็ต่างกันอยู่ กิริยามารยาทอาการต่างๆ อาจจะรู้แบบจำเอา แต่นี่เราเห็นจริงๆ เขาพูดผิด เราก็รู้ สิ่งที่เราเอาทิ้งแล้ว เขาเอามาใช้อยู่ นี่เรารู้จัก เออ เขารู้จักรูปนามเป็นอย่างนี้หนอ ไม่ใช่หรอก เราก็ตอบของเราเอง รู้จักรูปนาม มันเป็นอย่างนี้ล่ะ
ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเอาจากตัวเอง ลำดับจากตัวการกระทำของเรา ทำแบบนี้ มันเป็นแบบนี้ขึ้นมา พอมันหลง มันรู้ พอมันสุข มันรู้ พอมันทุกข์ มันรู้ ผิดก็รู้ ถูกก็รู้ มันสุขก็รู้ มันทุกข์ก็รู้ รู้ทั้งรู้ รู้สึกนะ รู้เป็นสติ รู้สึกเดี๋ยวนี่ ปัจจุบันนะ เรียกว่าสัมปชัญญะ มันพร้อมกันทั้งสองอย่าง สมบูรณ์แบบ มันก็รู้สึกเนี่ย มือพลิกนี่ มีจริงๆ พลิกมืออยู่เนี่ย รู้สึกอยู่นี้คือมีจริงๆ อันที่มันไปทางโลก มันไม่จริงเท่านี้ นี่รู้อยู่นี่ นี่มันรู้ มันจะไปได้ยังไง
วิธีปฏิบัติที่เราทำอยู่นี้ ไม่ต้องไปใช้สมอง ไม่ต้องไปใช้ความคิด ให้มีการกระทำสัมผัสเอา เอากายมาต่อกับสติ เอาใจมาต่อกับสติ ถ้ามันมีนะ ผลที่สุดค่อยเห็นรูปเห็นนาม ตามความเป็นจริง มันสะดวก อาจจะไม่ต้องเคลื่อนไหวก็ได้ เพราะมันเป็นแล้ว ทำให้มันเป็น อันรู้มันต่างหาก ทำให้เป็นมันต่างหาก มันเป็นแล้ว มันไม่ใช่รู้จำ มันเป็น ไม่ได้สอนมัน มันเป็น เหมือนวัวเหมือนควาย เราหัดล้อหัดเกวียน มันเป็นแล้ว สิบปี ยี่สิบปี จับมาใส่ล้อใส่เกวียน มันก็เป็นแล้ว ไม่ต้องหัด
ชีวิตเราประเสริฐกว่านั้น มันเป็นแล้ว มันทำได้แล้ว มันไม่มีแล้ว ทำให้ไม่มีแล้ว มันจึงเป็นแบบนี้ เป็นแบบนี้ไม่ใช่ว่าความจำ มันไม่มีโอกาสลืม ไม่มีโอกาสลืม ไม่มีโอกาสเป็นอื่นไป อย่างที่เคยพูดว่า ถ้าหากว่า เมื่อสองวันมานี้ ไฟไหม้อำเภอเชียงค้อ เจ้าของบ้านตายสองคน ออกไม่ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้นมา ออกจากที่ไม่ได้ ไฟไหม้ ก็ยังจะว่าไม่เป็นไร ถ้าพูดได้นะ มันไม่มีคำว่าที่จะทุกข์ จะกังวลอะไร จำเป็นที่มันจะต้อง หนีไม่ได้ก็ต้องอยู่เช่นนั้น หรือจมน้ำลงไป ก็ยังจะพูดว่า ไม่เป็นไร ไม่เป็นอะไร ถ้าเป็นคำพูดนะ แต่เป็นภาวะที่มันเป็น ไม่ใช่คำพูดเลย มันไม่เป็นอะไร แม้มันหายใจไม่ได้ 3-4 ครั้ง ก็ยังไม่เป็นไร แต่มันพูดไม่ได้ อยากจะพูดอยู่ว่า มันไม่เป็นไร ไม่เป็นอะไร ไม่เป็นไร เป็นส่วนตัวอยู่แบบนี้ ชั่วนาตาปี ภาวะไม่เป็นอะไร จึงเป็นชีวิตส่วนตัว แล้วก็ของใครของมัน
ภาวะไม่เป็นอะไรนี่ หัดเอา ฝึกเอา ทำเอา เราจึงฝึกหัด มันจะเข้มแข็งตรงที่มันอ่อนแอ มันหลง มันจะไม่หลงไปแล้ว มันทุกข์ มันจะไม่ทุกข์ มันผิด จะไม่ผิด มันถูก จะไม่ถูก อะไรต่างๆ นี่แหละคือภาวะที่รู้ซื่อๆ เหมือนหลวงปู่เทียนสอน พระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องนี้ และทุกคนก็ทำได้ มีอยู่กับเรานี่แท้ๆ นะ
ให้มันรู้ซื่อๆ มันจะเบ่งบาน เจริญถึงที่สุด เหมือนต้นไม้ที่ไม่มีแมลงชอนไช อาจจะงามกว่าต้นที่มีแมลงชอนไช ถ้ายังสุขยังทุกข์ เป็นผู้ผิดผู้ถูก เรียกว่าไม่เจริญง่าย ถ้าเห็นมันผิด เห็นมันถูก เหมือนต้นไม้ที่ปลูกแล้ว มันไม่มีอะไรก็งามขึ้นๆ เกิดดอกออกผลได้
ชีวิตของนักปฏิบัติ ชีวิตของเราก็เหมือนกัน เมื่อไปเป็นอะไร เมื่อเป็นสุขเป็นทุกข์ เมื่อมันผิดเป็นถูก เมื่อได้ เมื่อไปเอาได้ ไปเอาไม่ได้ มันไม่ค่อยเจริญนะ มีแต่รู้ไป รู้ไป รู้ซื่อๆ ไป เวลามันสุขก็เห็นก็รู้ ไม่เป็นผู้สุข มันทุกข์เกิดขึ้น ก็ไม่เป็นผู้ทุกข์ มีแต่รู้ซื่อๆ ไป รู้ซื่อๆ ไปก็เลยสะดวก ธรรมชาตินี่จะงอกงามเบ่งบานถึงที่สุด เรียกว่าบรรลุธรรมได้ เหมือนเกิดดอกออกผล ต้นไม้เกิดดอกออกผล ไม่มีอะไรที่ทำให้เสียเวลา ความหลงก็ไม่เสียเวลา ความสุขความทุกข์ไม่เสียเวลา ความอะไรต่างๆ ไม่เสียเวลา มันพาให้เราสะดวกไปเลย รู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ ไป เห็นไปๆๆ เห็น ก็ไม่เป็นไป
นี่ก็คือธรรมชาติเบ่งบาน มีอยู่ในคนเนี่ย การเข้าถึงคุณธรรมเบื้องสูงมีอยู่ในคน ไม่ต้องไปหาที่อื่น ไม่ต้องไปตามหาที่อื่น มีอยู่แล้วในชีวิตเราเนี่ย ในความหลงมันก็มีความไม่หลง ในความทุกข์มันก็มีความไม่ทุกข์ ในความเจ็บก็มีความไม่เจ็บ ในความแก่ก็มีความไม่แก่ ในความตายก็มีความไม่ตาย ถ้ารู้ซื่อๆ ไปอย่างนี้ เรียกว่าเบ่งบานถึงที่สุด หมดสิ้นเลย ชีวิตของเรานี้ถึงจุดหมายปลายทาง เรียกว่า มงกุฏธรรม สูงสุดคือภาวะไม่เป็นอะไร เพราะมันไม่มีอะไรที่ต้องเป็น การเป็นไม่สะดวก การไม่เป็นอะไรกับอะไรนี่ มันสะดวก นี่เรียกว่า เหมือนต้นไม้ที่เบ่งบานเกิดดอกออกผลได้ ชีวิตเราก็เช่นกันนะ
สมควรแก่เวลา