แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ชีวิตของเราประมาทไม่ได้ทดลองไม่ได้ บางทีเราอาจจะใช้ชีวิตผิดๆ มา ไม่รู้จักวิธีการใช้ชีวิต ปล่อยให้หลง ปล่อยให้โกรธ ปล่อยให้ทุกข์ ปล่อยให้โศก ปล่อยให้โลภ ปล่อยให้วิตกกังวลเศร้าหมอง มันผิด มันก็เลยเป็นกรรม หลงจนตาย โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย มันก็เป็นทุกข์ก็ยังไม่เปลี่ยนไม่แก้ไข บางทีอาจจะพอใจในความทุกข์ ความโกรธ ความหลง หาเรื่องที่จะหลง โดยความคิดบ้าง ปัจจัยต่างๆ บ้าง โอ้ นี่มันใช่ผิด จึงมาศึกษาดูว่าอะไรมันผิดมันถูก
ชีวิตของเรานี่ ความหลงมันถูกไหม ความไม่หลงมันถูกไหม ความทุกข์มันถูกไหม ความไม่ทุกข์มันถูกไหม สัมผัสดูเรียกว่าปฎิบัติธรรม เอากายไปสัมผัส เอาใจไปสัมผัส ได้คำตอบเอาเอง เราก็เป็นโจทก์ตัวเอง เป็นจำเลยตัวเอง แล้วควรที่จะเป็นพิพากษาตัวเองบ้าง ให้มันพ้นปัญหา พ้นโจทย์ พ้นเป็นจำเลยซะ หลงทีไรก็เป็นหลง เรียกว่าเป็นจำเลยความหลง ทุกข์ทีไรก็เป็นทุกข์ เป็นจำเลยของความทุกข์ โจทย์ตัวเอง หาความทุกข์ใส่ตัวเอง หาเหาใส่ตัวเอง พิพากษาเรียกว่าปฎิบัติธรรรม เจริญสติเปลี่ยนน่ะ ปฎิบัติคือเปลี่ยนน่ะ เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงนี่ พิพากษา
สัมผัสดูมันจะต่างกันไหม โดยพิพากษาตุลาการสติปัฎฐาน หลักปฎิบัติตามอริยมรรค ดังที่ได้แสดงไปเมื่อเช้านี้ วิถีการดำเนินชีวิตทฤษฎีดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ไปถึงจุดหมายปลายทางได้้ มันมีทางอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วอุบัติขึ้นแล้วในโลกนานมาแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมคำสอน อันเป็นไปเพื่อทางออกจากปัญหาต่างๆ แล้วก็มีปัญหา ถูกปัญหาครอบงำ มีปัญหาเป็นเบื้องหน้า มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า มีความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เกิด แก่ เจ็บ ตาย เห็นใครก็มีแต่ร้องไห้เสียใจในความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ เราจะต้องยอมรับหรือ เนี่ยพิพากษาล่ะ
มันมี เมื่อเกิด-มีไม่เกิด เมื่อแก่-มีไม่แก่ เมื่อเจ็บ-มีไม่เจ็บ เมื่อตาย-มีไม่ตาย มันมีอยู่อย่างนี้ สิทธัตถะเอาเป็นโจทย์ตัวเองและเป็นจำเลยตัวเอง พิพากษาตัวเองจนพ้น จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ชาติ ชรา มรณะได้ แล้วมีพระอริยสงฆ์เเกิดขึ้นตรัสรู้ รู้ตามพระพุทธเจ้าจำนวนมาก จนเกิดธรรมวินัยขึ้นมา มาถึงพวกเรานี้ สติที่เราสร้างอยู่นี้กับสติที่พระพุทธเจ้าสร้างก็อันเดียวกัน ไม่ใช่หนีไปไหน อยู่ที่ตัวเรานี่ ก็เริ่มซะที่จะเหนือสิ่งเหล่านี้ เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็คือตั้งแต่เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงนี่ไป มีไหม มันมีหลงไหม ถ้าไม่มีหลงก็ไปสอนคนอื่นให้เขาไม่หลงด้วย อย่าอยู่คนเดียว ถ้าตัวเองยังมีหลงอยู่ ก็ลองดู หัดตัวเองลองดู ก็ถ้ามีหลงอยู่ก็นั่นแหละ จะได้มีงานทำ จะได้ไม่หลง โดยเฉพาะกรรมฐานจะเจอต่อหน้ากันที สติ เวลามีสติจะเจอความหลง ไม่หลงอย่างใดก็หลงอย่างหนึ่ง นั่นแหละกระตือรือร้นสักหน่อย
เปลี่ยนมันซะให้มันรู้ อาศัยรูปแบบกรรมฐาน นี่กายานุปัสสนามีสติไปในกาย เอากายเป็นนิมิตรเสียก่อน ตั้งไว้เสียก่อน อาศัยบรรทัดเสียก่อน อาศัยเครื่องหมายเสียก่อน เหมือนเราเดินไต่สะพานไม้ท่อนเดียวต้องจับราวไปก่อน ถ้าไม่จับมันจะเซลงไปตกสะพาน หลงแล้วจึงมีกาย แล้วกายมันทำให้หลง ไม่หลงเรื่องกาย อะไรที่มันเกิดขึ้นกับกายเรียกว่าอาการต่างๆ มีมาก อย่าหลง บางทีมันร้อน มันหนาว มันปวด มันเมื่อย ก็อย่าหลง มันหิว มันอะไร มันสุข มันทุกข์ อย่าหลง อะไรที่เกิดกับกายอย่าหลง ตั้งต้นให้ได้อย่างนี้ก่อน หัดเรียนหัดฝึกอย่างนี้ก่อน มันจึงจะเอื้อนชัดได้
มันจะชำนาญแตกฉาน เหมือนเราเรียนประถม ก. ไก่ ข. ไข่ เราก็แตกฉานจนเป็นครูอาจารย์ของคน รู้เรื่องตัวหนังสือเขียนมีความหมายให้เราปฎิบัติตามตัวหนังสือ แล้วก็เราก็ใช้มาถูกต้องใช้ได้ สองห้าก็เป็นสิบถูกต้อง สองห้าก็เป็นยี่สิบไม่ถูกต้อง นี่เราเรียนมาเป็นสูตร สูตรชีวิตเราก็มีสูตรถูกต้อง กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา นั่นเอารหัสไปก่อน เอาคำสอนพระพุทธเจ้ามาช่วยเสียก่อน แม้ยังไม่ลงตัวก็ว่าไปก่อน เหมือนเราท่องสูตรคูณ สองหนึ่งเป็นสอง สองสองเป็นสี่ สองสามเป็นหก ท่องได้แล้วไปทำคณิตศาสตร์ เขียนวิธีทำ แล้วก็เขียนได้ เขียนลงไป แล้วก็เราก็ท่อง หลักสูตรที่เราท่องมาเฉลย มันก็็เป็นไปได้
กายสักว่ากายไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา นั่นเฉลยไปก่อน เมื่อมันเกิดขึ้นทีไร เฉลยไปก่อนอย่างนี้ มันก็จะชำนาญขึ้น มันถูกต้องที่สุด เห็นกายสักว่ากาย อย่าเอาความร้อน ความหนาว เป็นตัวเป็นตน อย่าเอาความหิว ความปวด ความเมื่อย เป็นตัวเป็นตน กู มันก็ไม่เฉลย เลยเป็นการบ้านเป็นจำเลยอยู่เช่นนั้น เป็นสุขเพราะกาย เป็นทุกข์เพราะกาย เอากายมาเป็นสุข เอากายมาเป็นทุกข์ แล้วแต่เขาจะสั่ง มันก็เลยไม่พ้นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดดับ เกิดดับ อยู่ตรงนี้ เกิดขึ้นมาแล้วไม่พอ เกิดอีกต่อๆ อีกหลายชั้น เรื่องกายนี่ต้องหาอะไรที่แก้ไข มันก็แก้ไม่ได้ เพราะเราไปทำตามมัน มันไม่จบไม่สิ้น
เราจึงมาศึกษาดูสิ มันจะเห็นนิมิตรเห็นกระแส ผู้ที่เจริญสติปัฎฐานนี่มักจะเห็นกระแสแห่งพระนิพพาน เวลามันหลง มันมีไม่หลง กระแส เวลามันโกรธ มันมีไม่โกรธ กระแสนั้นแล้ว เวลามันทุกข์ มันมีไม่ทุกข์ กระแส แม้ว่าริบหรี่ก็แบกไปก่อน มันจะพบทางอันกว้างใหญ่ไพศาล เหมือนไฟตามตึกอาคารต่างๆ เขาบอกทางออกถ้าไฟมันดับ ถ้าหลบภัยต้องวิ่งออกได้ แม้จะริบหรี่ก็ไปเถอะ มันยังไม่มาก สติยังไม่มากแต่ก็ใช้ได้ ถ้าพยายามทำให้มากมันยิ่งใช้ได้ การทำให้มากว่าภาวนาขยันรู้นี่
วิชากรรมฐาน สติปัฎฐาน ๔ กายานุปัสสนา ปัพพะต่างๆ เยอะแยะในกาย เคลื่อนไหวก็เป็นบรรพะทางกาย กายบรรพะ หายใจเข้าก็เป็นกายบรรพะ ถ้ามันคิดก็เป็นจิตบรรพะ เอามาใช้ให้รู้ได้ เยอะแยะเลย แต่ก่อนที่จะไปดูจิตต้องหัดให้มันดูกายเสียก่อน ให้มันเห็นให้มันแก่กล้า ถ้าฝึกใหม่จะไปคุมจิตเลยมันก็ยาก บางทีอาจจะเป็นความกลัวไปเลย มันยาก ทำยากไปเลย ถ้ามาหัดกายก่อน มันก็ค่อยอ่อนลง พอจิตก็ง่ายล่ะว่านี่ เราจึงหัด ถ้าไม่หัดมันไม่เป็นน่ะ ไม่ใช่รู้ ไม่ใช่สมองหรอก
กรรมฐานไม่ต้องใช้สมอง เป็นการกระทำประกอบเอา สติมันจะเกิดเพราะการประกอบไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่เหตุผล ประกอบยังไงเอากรรมฐานนี่ เคลื่อนไหวมือบ้าง หายใจบ้างให้มีที่ตั้ง หัดตั้งไว้ ถ้าไม่ตั้งไม่มีที่ตั้ง มันไหลไปข้างหน้า มันไหลคืนข้างหลัง มันมีข้างหน้ามีข้างหลัง ข้างหน้าก็ไม่จริง ข้างหลังก็ไม่จริง ปัจจุบันนี้มันจริงทำอะไรได้ พรุ่งนี้ก็มีอยู่แต่ทำอะไรไม่ได้ เมื่อวานก็มีอยู่แต่ทำอะไรไม่ได้ ทำได้คือเดี๋ยวนี้ ถ้าเดี๋ยวนี้เรารู้ มันจะมีพรุ่งนี้มันก็รู้ เมื่อวานนี้ก็จะรู้ วันนี้ไม่เป็นเมื่อวานไม่เป็นพรุ่งนี้ด้วย
การรู้สึกตัวปัจจุบันนี้มันป้องกันวันหน้าด้วย มันแก้ไขวันก่อนๆ ด้วย มันใช้ชีวิตผิดพลาดมา เราจะกลับไปแก้เมื่อวานไม่ได้ ต้องเอาเดี๋ยวนี้ นี่ก็กรรมฐานเป็นปัจจัตตังเป็นปัจจุบันเสียก่อน อยู่ที่ไหนให้อยู่นั่น อยู่กับกายลองดูโดยการยกมือสร้างจังหวะ ๑๔ จังหวะ จังหวะหนึ่งอาจจะวินาทีหนึ่งหรือไม่ช้าเกินนั้น ไม่ไวเกินนั้น พอดีๆ รู้ทุกวินาที มันจะชำนาญขึ้น นี่เรียกว่าพิพากษาเรียนรู้ให้มันป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไข ถ้ารู้เป็นทุนเหมือนตาที่เรามีลืมไว้ก่อน มันจึงจะเห็น ตาในคือสตินี่ลืมไว้รู้ไว้ อะไรที่มันเกิดขึ้น
สติมันเห็น แม้กระทั่งรูปธรรม นามธรรม เห็นอารมณ์ เห็นความคิด เห็นอาการต่างๆ หลอกตัวเองไม่ได้ อาจจะหลอกคนอื่นได้ แต่หลอกตัวเองไม่ได้ เป็นสัจธรรม ฝึกหัด ต่อไปเราจะอายความหลง อายความทุกข์ อายความคิด คิดอย่างนี้ก็คิดได้หรือ อายแม้กระทั่งมันคิด แล้วก็จะเกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา เกิดความสำรวมสังวรเอง เป็นรั้วไปเอง เหมือนธรรมะนครที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ศีลเป็นรั้ว ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิเป็นเสาระเนียดที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้อะไร จำไม่ได้ ญาณปัญญาที่เกิดจากวิปัสสนาเป็นป้อมปราการ สติปัฏฐานเป็นชุมทางที่แยก อย่าหลงชุมทางสี่แยก กายานุปัสสนา อย่าหลง เวทนานุปัสสนา อย่าหลง เป็นสุขเป็นทุกข์นั้นน่ะ อย่าหลง สักว่าเวทนา
จิตอีกแยกที่สาม มันคิดอย่านึกว่าตัวเอง คิดอะไรก็ทำตามความคิด ความคิดมี ๒ ลักษณะ คิดแบบตั้งใจ ก็ไม่ควรตั้งใจเวลาทำกรรมฐาน ให้เป็นเรื่องเดียวเสียก่อน คิดที่ไม่ได้ตั้งใจนั่นล่ะ เปลี่ยนทันที อย่าให้โอกาสมัน แต่ก่อนกลางคืนว่าฝันกลางวันว่าคิด กลางคืนเป็นควันกลางวันเป็นเปลว มันไหล สันตติเกิดขึ้น ไหลไป เกิดดับๆ เหมือนน้ำที่มันไหล จิตใจของเรามันคิด อย่าให้ความคิดมันสั่งงานสั่งการ ให้มีสติจับความคิดมาใช้ อย่าให้ความคิดมันใช้เรา จิตบางทีมันคิด สักแต่ว่าจิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา อย่าเอาชีวิตไปห้อยไปแขวนไว้กับจิต ให้จิตมันเป็นสุขเป็นทุกข์ เสียเปรียบมัน เสียเปรียบความสุขความทุกข์ คิดขึ้นมานอนไม่หลับ คิดขึ้นมาน้ำตาไหล แค่นี่หรือ เปราะบางที่สุด เราจึงมาเห็นมันน่ะ จิตสักว่าจิต เป็นทางแยกอีกอันหนึ่งอย่าหลง
ธรรมสักว่าธรรม ทางแยกที่ ๔ สี่แพร่ง สี่แพร่งคือความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน กามราคะ ปฏิฆะ มานะทิฐิ เป็นธรรมที่ครอบงำชีวิตของสัตว์โลก อย่าหลง มันเป็นธรรมสักว่าธรรมเฉยๆ ไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไร บางทีก็มีความสงบอย่าไปหลง มีความสุขก็อย่าไปหลง ไม่หลงแม้กระทั่งสุข แม้กระทั่งทุกข์ ให้เห็นเฉยๆ อย่าเป็น นี่ชุมทาง อย่าหลง
สติปัฏฐานนี่เป็นความชำนาญในการเดินทางให้ผ่าน เป็นทางผ่านไป เอาความหลงไว้หลัง เอาความโกรธไว้หลัง เอาความทุกข์ไว้หลัง มันก็ก้าวหน้า ถ้ามีความสำเร็จได้ มันเป็นไปได้ ให้ผลได้ ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ผู้ปฎิบัติก็ย่อมรู้ยิ่ง เห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ ใครเกียจคร้านก็ไม่รู้ ใครขยันก็รู้มาก ขยันรู้ วันหนึ่ง ชั่วโมงหนึ่ง วินาทีหนึ่ง ลองดูซิ มันจะมากรู้ มันเป็นภาวนา มันจะมากขึ้น วินาทีละรู้ ชั่วโมงก็ ๓,๖๐๐ วินาที ๓,๖๐๐ รู้ มันก็จะเป็นมหารู้หรือมหาสติปัฎฐาน เมื่อรู้มาก ความหลงก็น้อยลง เมื่อหลงมาก ความรู้ก็น้อยลง มันมีอยู่นี้เป็นคู่อย่างนี้ แต่เราก็ทำได้
ฝึกหัดอย่างนี้ไปก่อน อย่าไปประเมินตัวเอง เอาเรื่องการสัมผัส เอาเรื่องการพบเห็นมา ไม่ใช่คิดเห็น ปฏิบัติธรรมมันเป็นการพบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น คิดเห็นมันอยู่ไกล พบเห็นมันอยู่ต่อหน้านี่ เวลาเปลี่ยนหลงเป็นรู้ มันโอ๊ย มันชื่นใจ เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ มันชื่นใจ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ มันชื่นใจ มันเป็นความถูกต้องที่สุด ไม่เคยดูแลตัวเอง ปล่อยตัวเองทิ้งไป
พอมาทำงานอันนี้เข้า โอ๊ย รู้สึกว่ากระตือรือร้น มันหลงทีไร เรารู้สึกว่าขนหัวลุกนั่นแหละ แค่นี้ก็หลงแล้วเหมือนทุกข์ก็ดี เห็นชัด ยิ่งมันโกรธน่ะ โอ๊ย พอใจ เหมือนกับส่องกระจกเงาเห็นหน้าตัวเอง รีบเหมือนไฟตกใส่ขา รีบปัดออก ความโกรธที่เกิดกับจิตกับใจเรา มันรีบเอาออก เปลี่ยนเป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนเป็นความไม่ทุกข์นี่ มันถูกต้องที่สุด ไม่ใช่ว่า ถ้าได้โกรธแล้วไม่ลืม ถ้ากูได้โกรธ ตายไม่ลืม ไม่ใช่คิดแบบนั้น เราเคยทำตามความโกรธ เคยทำตามความทุกข์ เคยตามความรัก เคยทำตามความเกลียดชัง เสียเปรียบความโกรธ เสียเปรียบความทุกข์ เสียเปรียบความเกลียดชัง ทำตามกันเกิดการทะเลาะกันแตกแยก ก็ให้ความโกรธสั่ง
มันก็ไม่มีอะไร มันไม่มีตัวมีตนนะ อันความโกรธมันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เราจึงมารื้อขึ้นมา ฟ้องพิพากษา ชนะได้ ชิตังเม ชนะแล้วเว้ย อย่างคนขี่เสืออยู่น่ะหน้าวัดน่ะ เสือมันดุร้าย ที่จริงชีวิตของเรานี่มันก็ดุร้ายนะ น่ากลัว อะไรก็ไม่น่ากลัวเท่ากับคน ถ้าเป็นมนุษย์ก็พอพึ่งได้ คนมันปนเปคุ้มร้ายคุ้มดี ถ้ามนุษย์นี่สูงขึ้นมาหน่อย ถ้าหลงเป็นหลงเรียกว่าคน ทุกข์เป็นทุกข์เรียกว่าคน โกรธเป็นโกรธเรียกว่าคน รักเป็นรัก-คน พอใจไม่พอใจเป็นคน
ถ้ามนุษย์เขาไม่หลงตรงนี้ มันหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง เป็นมนุษย์ ไม่ใช่สองขาสองแขน มันบ่งบอกถึงจิตวิญญาณที่มันฝึกหัดมา เขาเปลี่ยนนี่ มนุษย์เท่านั้นที่เป็นพระได้ คนเป็นพระไม่ได้ มีแต่ไปตกนรกมากเหมือนกับขนของโค ถ้าเป็นคนน่ะ ถ้าเป็นมนุษย์นี่ตกนรกน้อยๆ เท่ากับเขาโค เพราะเขาเห็น เขาไม่เป็น มันทำได้อยู่เช่น หลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง พ้นจากความหลง มันก็ได้ประโยชน์ได้ปัญญา ปัญหาเป็นปัญญาไป ปัญญาเกิดแบบนี้ ปัญญาพุทธะ ปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้่า มีอยู่กับเราทุกชีวิตแล้ว ความทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ พ้นจากทุกข์ นั่นแหละมนุษย์ ไปแบบนี้ เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน
พระธรรมคำสอนเป็นไปเพื่อทางออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ปรินิพพานคือมันหมด บางทีความหลงอาจจะหมดไปเลย ความโกรธจะหมดไปเลย ความทุกข์อาจจะหมดไปเลย ไม่มีเชื้อเลย แต่ก็พึ่งพาอาศัยกันได้ เราก็พึ่งได้ พึ่งตัวเองได้่ เวลานี้เราพึ่งตัวเองไม่ได้นะ ไม่มั่นใจตัวเอง ไม่รู้จะเป็นยังไง คุ้มร้ายคุ้มดี อันตราย เพราะอะไรล่ะ เพราะมันยังเป็นจำเลยเขาอยู่ แล้วแต่เขาจะสั่ง เขายังเป็นโจทย์เราอยู่ ไม่เคยพิพากษาตัวเอง ให้มันพ้นไป พึ่งตัวเองก็ไม่ได้ มีใจก็พึ่งใจไม่ได้
เอาความสุขความทุกข์ไปห้อยไปแขวนไว้กับใจ เอาความสุขความทุกข์ไปห้อยไปแขวนไว้กับกาย มันใช้ได้เมื่อไหร่ เหมือนเอาอาศัยอันอื่นเป็นนิมิตร ต้องเป็น อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ต้องไม่เป็นอะไร ชีวิตของเราไม่ต้องเป็นอะไร เห็นทุกอย่างเหนือโลก ว่าโลกมันมีอยู่จริง สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ ได้ เสีย มีนี่รสของโลก แสบเผ็ดมาก นินทาก็มี สรรญเสริญก็มี ได้ก็มี เสียก็มี สุขก็มี ทุกข์ก็มี ถูกโลกนี่ครอบงำสัตว์โลกอยู่
แต่ถ้าเรามาเห็นน่ะ มันจะไม่ถูกโลกนี้ครอบงำ เหนือโลกเพราะเห็นแล้ว ความไม่เที่ยงก็เห็นแล้ว มอบให้ความไม่เที่ยงมันไป ความเป็นทุกข์ก็เห็นแล้ว มอบให้ความเป็นทุกข์มันไป ไม่ใช่ตัวเองเป็นผู้ทุกข์ ไม่ใช่ตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เพราะความไม่เที่ยงมีอยู่ แต่ไหนแต่ไรมา มันถูกครอบงำแล้ว ความเป็นทุกข์หยั่งเอาแล้ว ความไม่เที่ยงหยั่งเอาแล้ว เห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยงเป็นนิพพานไม่ต้องเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์เป็นทุกข์ ไม่ใช่ ความเป็นทุกข์เป็นนิพพานไปเลย
พระพุทธเจ้ารู้อย่างนี้ ทำได้อย่างนี้ นั่นแหละเป็นทางพระนิพพาน อย่าเป็นทุกข์เพราะความเป็นทุกข์ ให้มันจบไปซะ ตื่นแต่ดึก สึกแต่หนุ่ม จะได้มีชีวิตอยู่อิสระภาพไม่มีภัย ชีวิตไม่มีภัยเขาเรียกว่า อริยเมตไตรย หรือได้ว่าผู้ที่พ้นภัย จะเรียกว่าพระอะไรก็ได้ นี่มันเป็นสมบัติของเรานะ ถ้ายังหลงเป็นหลง เสียชาติแล้ว ไม่ได้บทเรียน ถ้ายังโกรธเป็นโกรธอยู่ ทุกข์เป็นทุกข์อยู่ ไม่มีประโยชน์เลยชีวิตเรา
เราจึงต้องฝึกตน สอนตน เตือนตน พิพากษาตัวตนอยู่เสมอ อย่ายอม มันหลง ไม่ต้องหลง เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง เริ่มกรรมฐานเปลี่ยนไปนี่ก่อน สนุกเปลี่ยน มาเป็นหมวดเป็นหมู่ความหลง ความไม่หลงก็มาเป็นหมวดเป็นหมู่เหมือนกัน มีสติที่ใดก็ละความชั่ว มีสติที่ใดก็ทำความดี มีสติเมื่อไรก็จิตบริสุทธิ์ ง่ายๆ ไม่ใช่ไปคุมโน้นคุมนี้ ปฏิบัติธรรมไม่เหมือนจับปูใส่กระด้งนะ ที่เขาพูดแบบนั้นน่ะ ไม่ใช่เป็นนักกรรมฐาน ปฏิบัติธรรมมันง่าย ทำได้ง่าย ถ้าจะให้หลงมันยากมันไม่ถูก เมื่อมีสติก็ละความชั่วแล้ว มาเป็นพวงแล้ว ความถูกต้องมาเป็นพวง ละความชั่วแล้ว ทำความดีแล้ว
การละความชั่ว การทำความดี การทำจิตบริสุทธิ์ มันเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาแล้ว เหมือนกับเราเหยียบเส้นทางแล้วดำเนินไป ทางมันจะพาไป แต่ทางที่จะพาไป มันไม่ใช่ทางจะให้เราไหลไปเหมือนทางไฟฟ้า ต้องก้าวไป เปลี่ยนหลงเป็นรู้นี่ก้าวไป ถ้าข้ามหลงไปรู้ล่ะ ผ่านไปแล้ว ไกลออกไปๆ เป็นผู้ไกลจากข้าศึก ไม่มีข้าศึก เปลี่ยนร้ายเป็นดีๆ เปลี่ยนผิดเป็นถูกไป ปฎิบัติธรรมเป็นแบบนี้ สติปัฎฐานเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ไปท่องจำ เป็นการสัมผัส เป็นการหลุดพ้น มีคำตอบเอาเอง ไม่ต้องไปถามใคร
เวลามันหลง เปลี่ยนหลงไม่หลง ไม่มีคำถาม การเปลี่ยนหลงไม่หลง ไม่ต้องขออนุญาตจากใคร ทำได้เอง ทำได้เลย สิทธิๆ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เวลามันโกรธ มันมีสิทธิไม่โกรธ เวลามันทุกข์ มันมีสิทธิไม่ทุกข์ นี่สิทธิของเรา ใช้สิทธิของเรา เรียกว่าธรรมาธิปไตยอิสระภาพ ปลดปล่อยตัวเอง อย่าตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ ถ้าสิ่งเหล่านี้หมดไป ความโกรธ ความโลภ ความหลงหมดไป กุศลอื่นความดีก็เกิดขึ้น ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ถ้าอกุศลนี้มี ความโกรธ ความโลภ ความหลงมี อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น เป็นบาป เป็นทุกข์ขึ้นมา มันก็เปลี่ยนตรงนี้เท่านั้นเอง เหมือนกับเราจะทำอะไร แก้คำผิด มันจึงเป็นถูก ถ้าไม่แก้ตรงที่ผิด มันก็ไม่ถูกสักทีหรอก ผิดอยู่เรื่อยไปหลงเรื่อยไป
เมื่อเราฝึกตนสอนตนอย่างนี้ ความหลงเป็นครั้งสุดท้าย ความโกรธครั้งสุดท้าย ความทุกข์ครั้งสุดท้าย ความโลภเป็นครั้งสุดท้าย มันมีครั้งสุดท้ายด้วยนะ มันจบเป็นชีวิตของคนน่ะ เรียนจบได้ เหมือนพระพุทธเจ้าว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำไม่มีอีกแล้ว จบแล้ว จะเป็นยังไงชีวิตของเราน่ะ ที่สุดก็คือไม่เป็นอะไรกับอะไร เป็นมงกุฎธรรมสูงสุด มงกุฎธรรมเหนือทุกอย่าง เพราะเห็นทุกอย่างที่เกิดกับกายกับใจ ไม่มีหลบลี้ที่ไหน ทะลุทะลวงได้หมด มันเรียนจบได้ ไม่ควรจะมีปัญหาอะไร
เดี๋ยวนี้มีปัญหาเพราะกายเพราะใจ จนสร้างคุกสร้างตาราง จนมีกองทัพ มีตัวบทกฎหมายให้คนปฏิบัติตามกฎหมาย มันก็ไม่จบไม่สิ้น ถ้าเรามาดูตัวเองอย่างนี้ มันก็จบ นับหนึ่งจากเราดูซิ ประเทศไทยมีคนประชากรอยู่ ๖๐ กว่าล้านคน ทุกคนเริ่มต้นจากตัวเรานี่ มันก็จบได้ เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงลองดู ธรรมวินัยนี่มันทำให้เราเป็นคนๆ เดียวกันได้ เมื่อเรามีสติ เรานั่งอยู่นี่เป็นคนๆ เดียวกันเลย ถ้าเราหลงก็เป็นคนละคนกันไป มันอัศจรรย์นะ ธรรมะเป็นของอัศจรรย์จริงๆ คำสอนพระพุทธเจ้าน่ะ ปฏิบัติได้ ให้ผลได้จริงๆ นะ ไปเอาอะไร ไปคิดอะไร ใช้สมองเรื่องไหน นี่มันอยู่ตรงนี้ โซ่ไม่แก้กุญแจไม่ไข มันก็ไปไม่ได้ ไขตรงนี้ แก้ตรงนี้ หลุดไปก่อนๆ มันก็จะเป็นไปได้ง่าย
โดยเฉพาะเรื่องกาย เวทนา จิต ธรรม นี่หน้าด่าน แยกเลยนี่ ก้าวแรกไปเลยของพวกเรา ทำไปถ้าเห็นปัญหา มันก็ดีน่ะ มันผิดตรงไหน จะได้แก้ไขเหมือนนักซ่อม นักซ่อมถ้าเขาเห็นอันที่มันเสีย เขาแก้นะ เหมือนคนป่วยไปหาหมอ หมอวินิจฉัยโรคออก มันอยู่ตรงนี้ ก็แก้เอายามาใส่ หลวงตาป่วยเหมือนกัน กว่าที่จะวินิจฉัยโรคดีโรคได้ต้องหลายวัน ทำหลายแบบ จนไปพบโรค หมอเขาให้ยาก็หายได้ พ้นจากโรค
การที่จะปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน พ้นจากโรคได้ โรคคือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พ้นได้ จึงช่วยตัวเองใครก็ช่วยเราไม่ได้ มันอยู่ที่นี่แหละ มันหลงนั่นล่ะ มันคือแก้ตรงนี้ เรานี่มันเคยถูกรอยอะไรมา นี่รอยรัก รอยแค้น รอยสุข รอยทุกข์ รอยได้ รอยเสีย เต็มไปหมดเลย เหมือนรถมือสอง มาซ่อมมาเข้าอู่ มันหลงก็รู้นะซ่อมแล้ว มันโกรธ มันทุกข์ มันคิดไป ก็รู้นะ ซ่อมขึ้นมาให้มันดีขึ้นมา มันทำได้ปฎิบัติได้จนมันไม่มีน่ะ นี่คือปฏิบัติธรรม
ปฏิบัติธรรมคือเปลี่ยนร้ายเป็นดี ดูแลตัวเอง ดูแลกายดูแลใจของเรา มีสติเป็นเจ้าของ อย่าปล่อยตัวเองทิ้ง รู้จักช่วยตัวเอง อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรม ดี๊ดี ชอบที่สุด เป็นความชอบที่สุด ฝึกตนสอนตน ชั่วช้างสะบัดหู ชั่วงูแลบลิ้น เป็นกระแสเอาไว้ ถึงคราวที่จะจนมา จะใช้ได้ เวลามันแก่ทำไง เวลามันเจ็บทำไง เวลามันตายทำไง หัดไปก่อน ไปช่วยกันเวลามันใกล้จะตาย มันทำไม่ได้ มันไม่ฝึกเอาไว้ ยามสงบเราฝึก ยามศึกเรารบได้ สมควรแก่เวลากราบพระพร้อมกัน