แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คําที่พูดก็เป็นคําที่เราเอาไปทํา เราก็ได้ยินได้ฟังสิ่งที่เราได้ทําทุกวัน เราเป็นนักปฏิบัติ ขอเรียกว่าเป็นนักปฏิบัติ ปฏิบัติก็คือดูแลตัวเอง รักษาตัวเองให้ถูกให้ต้อง ทําตัวเองให้อยู่ในความชอบ ตัวเองก็คือกายคือใจ คําพูดด้วย เวลาเราปฏิบัติใช้กาย ใช้ใจ ใช้วาจา เช่น เรานั่งสร้างจังหวะ เราทํากายทําใจให้รู้สึกตัว อย่าเพียงแต่เป็นรูปแบบ บางทีมันแข็งกระด้างทําไม่เป็น เช่น เราจะขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่วัว ขี่ควาย เวลาเรานั่งหลังม้า หัดม้าให้มันวิ่ง เรานั่งไม่เป็น ม้ามันก็วิ่งวิ่งไม่ดีไม่สบาย แทนที่จะนั่งม้าให้สบาย มันก็โขยกเขยกไปเพราะเรานั่งหลังมันไม่เป็น มันก็เคืองเหมือนกัน บางทีก็เราก็ตกลงไป เหนื่อย เลยขี่ม้าไม่เป็น แต่ช้างมันโยกเราให้ไปให้มา เอ้อ มันก็ดี การขี่ม้าก็เหมือนกัน การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้าเรายกมือให้มันไปง่ายๆ อย่าไปกดอย่าไปกรึง ไปง่ายๆ ยกมือพาให้ง่าย เดินพาให้ง่าย ไม่ใช่เดินเพื่อให้ยุ่งยาก ยกมือเพื่อให้ยุ่งยาก สวนทางกับการยกมือ สวนทางกับการเดิน กายยกมือเคลื่อนไหวอันหนึ่ง จิตใจก็อีกแบบหนึ่ง ฝืน ไม่อยากยกมือ ไม่อยากทํา การยกมือก็หนักเพราะไม่มีแนวร่วม พลังร่วมไม่มี
การเดินก็เหมือนกัน การเดินก็เดินง่ายๆ ไปกับความรู้สึกง่ายๆ ไปด้วยกันง่ายๆ อย่าขัดอย่าแย้ง ความรู้สึกตัวกับกาย ความรู้สึกตัวกับใจ แต่ว่าไม่ใช่ไปตามที่เราไม่สอนมัน ไม่ให้มันรู้ ความรู้สึกตัวเนี่ยว่าเข้ากันได้ดีกับกายกับใจแล้วว่างั้น ไม่มีอะไรที่จะเข้ากันได้ดีเท่ากับความรู้สึกตัวกับกายกับใจ เหมือนน้ำกับนม เหมือนน้ำกับน้ำ น้ำลําปะทาว น้ำชี น้ำพอง น้ำมูล น้ำแม่โขง ไปใส่กันก็อันเดียวกัน ให้มันเป็นการนั่งการสอนตัวเอง เวลานั่งก็อย่าไปนั่งก้มเกินไป สายตาก็อย่าไปบีบ ไปบีบส่วนไหนอย่าไปบีบ ระมัดระวังก็ไม่ต้อง ระวังเกินไปก็ตื่น
เมื่อวานนี้ก็มีพระมาจากบ้านตึ้ง 3 รูป มาถามเรื่องการปฏิบัติ ตื่นตกใจง่าย บางทีมันก็ตื่นเหมือนกัน ถ้าระวังเกินไป เคยเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เห็นพระเห็นเณรไปตีระฆัง ก็เห็นอยู่ แต่เวลาเคาะระฆังเป๊ง เราก็ตื่น มันระวัง เห็นของอะไรได้ยินของอะไรตกเป๊งป๊าง เราก็ตื่น ตาออกไปโน่น ใจก็คิดไปแล้ว ถ้าเราทําไว้ดีๆ เตรียมไว้ดีๆ มันไม่ตื่น เห็นแล้วไม่ต้องไปดูก็ได้ คงจะมีอะไรตก ไม่ต้องไปดู นี่บางทีการระวังเกินไปก็ไม่ค่อยดี ให้มันง่ายๆ เดินก็อย่าไปก้มเกินไป พอดีๆ วาง มันมีฉาก กายของเราใจของเรา มันก็มีฉาก มันได้ฉาก อย่างเราเดินนี่ความสูงของการเดิน ความยาวระหว่างวางสายตาไปกับการเดิน มันไปด้วยกัน ความสูงของกายเราก็ทอดสายตาไปข้างหน้าเท่ากับความสูง มันจะได้ฉากพอดี การนั่งก็อย่าไปก้มอย่าไปเงยเกินไป มองไปข้างหน้าเท่ากับความสูงของการนั่ง ทอดสายตา มันได้ฉากพอดี มันอยู่ได้นาน อาจจะไม่ต้องง่วงก็ได้ ถ้าเราก้มเกินไปก็เหมือนกับปิดไม่พอดี เงยเกินไปก็ฟุ้งซ่าน ก้มเกินไปก็ง่วงเหงาหาวนอน หรือ เครียดได้
วางพอดี ปล่อยๆ วางๆ หรือถ้าจะเปรียบ ถ้าจะให้มีแนวร่วม เกิดพลังร่วมมันก็มีได้หลายอย่าง เวลาจะฟันขวานขุดดิน ก็ให้กายน้อมไป เวลาเราเหวี่ยงลงไป กายก็น้อมไป มันแรง แรงสองเท่า ถ้าเราขุดลงไปกายเราไม่น้อมช่วย มีเพียงแต่มือมัน ก็ไม่มีแรง เช่น เตะตะกร้อ เตะฟุตบอล ต่อยมวย ก็ต้องโน้มไปกับหมัดที่เหวี่ยงไป เตะฟุตบอลก็โดดไป แรงทุ่มไป เตะตะกร้อก็พอดี ความพอดี ความพอดี มันก็เป็นนักกีฬาได้
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน หลายๆ อย่างที่เราจะมาช่วยให้สติมันงอกงาม แต่เวลาใดที่มันคิดมันหลงไป ก็ทําเกี่ยวกับความคิด เกี่ยวกับความหลงให้ถูกต้อง ไม่ใช่กระทบ ไม่ใช่กระเทือน ไม่ใช่ผิด ความผิดอาจจะเป็นความถูกก็ได้ ถ้าเราดูแลตัวเราดีๆ อยากเห็นมันด้วยซ้ำไป จะได้รู้จัก แต่มันก็ผิดให้เราเห็นอยู่ เราก็เห็นมันอยู่ เราก็เกี่ยวข้องกับความผิด ความสุข ความทุกข์ มันนั่นแหละ มันก็มีให้เราเห็นทนโท่อยู่ ไม่ได้ลับได้ลี้ไปไหน มันเปิดเนื้อเปิดตัวทําให้เราเห็น นักปฏิบัติก็ต้องทําอย่างนั้นแหละ เห็น ดู เราก็มีหลัก เราก็มีฐาน เรากลับมาสิ กลับมาตั้งไว้ที่กาย ที่เราเจตนา แล้วก็เจตนาลงไปอีก ใส่ใจลงไปอีกๆ ทั้งหมดคือเจตนาที่จะรู้ มันมีคําถามตัวเอง ถูกหรือผิดหนอเนี่ย ทํายังไงหนอ ศีลมันเป็นอย่างไร สติมันเป็นอย่างไร สมาธิมันเป็นอย่างไร ปัญญามันเป็นอย่างไร
เมื่อวานก็มีคนมาถาม ถามแบบรีบด่วน รถก็ติดเครื่องรออยู่ คนที่มาถามก็ เดี๋ยวๆๆ ก็ถามว่า สติเป็นยังไง ศีลเป็นยังไง สมาธิเป็นยังไง ปัญญาเป็นยังไง เขาก็ถามแบบ ทํายังไงถึงจะเป็นสติ ทํายังไงถึงจะเป็นสมาธิ ทํายังไงถึงจะเป็นปัญญา เป็นปัญญาเป็นสติเป็นส่วนไหนเวลาใด เราจะรู้ว่าเรามีสมาธิ เราจะรู้ว่าเรามีสติ เราจะรู้ว่าเรามีศีล เราจะรู้ว่าเราจะมีปัญญา เราก็บอกแบบนี้ การเจริญสตินี่ เรารู้สึกตัว รู้สึกตัวนี้ ความรู้สึกตัวที่มันเป็นฐานเป็นที่ตั้งที่เรียกว่าสติ การใส่ใจการรู้สึกตัวนี่มันก็เป็นการรักษาศีล มันไม่ได้ไปคิดไปพูดไปหลงไปทางอื่น การใส่ใจที่จะรู้สึกตัวนี่แหละมันเป็นสมาธิ เวลาใดที่มันหลงไปไม่อยู่ที่ตั้ง เรารู้สึกตัวแล้ว เรารู้จักกลับมาเปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนหลงเป็นรู้ เรียกว่าปัญญา ทั้งสติ ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา มันไปด้วยกัน ไม่ใช่เข้าแถว อาจจะเป็นวงกลม เหมือนจับหมุนไป ทําให้หมุนไป สติทําให้ศีลเกิดขึ้น เมื่อศีลเกิดขึ้นก็ทําให้เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิก็เกิดปัญญาสนับสนุนกันไป แรงของสองอย่างสามอย่างผลักกันไป เหมือนซี่ เหมือนกงจักร เวลามันหมุนไปตรงไหน มันก็ทําให้ความหลงหมดไป มันไม่ใช่เข้าแถว เอ้อ อย่างนั้นสิ
การปฏิบัติธรรม เราทําถูกอยู่ก็ยังไปถามอยู่ บางทีเรานั่งรถถูกคันอยู่แล้ว มันลงหนีไปอีกคันใหม่ ทําให้เสียเวลาเฉยๆ การรู้สึกตัวมันก็ถูกแล้ว ยกมือขึ้นเคลื่อนไหวมันก็ถูกแล้ว จังหวะสิบสี่จังหวะสิบห้าจังหวะมันก็ถูกแล้ว ทําไป อย่าไปเอาถูกตั้งแต่เริ่มแรก อย่าไปกลัวผิดตั้งแต่ยังไม่ได้ผิด มันจะถูกมันจะผิดเริ่มไปก่อน มันจะเห็นผิดต่อเมื่อมันผิด มันจะเห็นถูกต่อเมื่อมันถูก มันจะมีความผิดต่อเมื่อมันผิด มันจะมีความถูกต่อเมื่อมันเห็นความถูก ไม่ใช่ผิดก่อน ถูกก่อน การปฏิบัติธรรมต้องไปพร้อมๆ กัน ถ้าหลงก็หลงพร้อมกันกับความรู้ ถ้าผิดก็ผิด พร้อมกันกับความรู้ ถ้าทุกข์ก็ทุกข์พร้อมกันกับความรู้สึกตัว มันจึงจะเป็นการปฏิบัติ
ผิดแล้ว ความผิดเอาไปฟรี ทุกข์แล้ว ความทุกข์เอาไปฟรี เพราะมันไม่ไปพร้อมกัน เหมือนเพื่อนที่เดินทาง คนหนึ่งรู้ คนหนึ่งไม่รู้ มันหลงตรงไหนคนที่รู้ก็บอก มันไม่หลงตรงไหนคนที่รู้ก็บอก การปฏิบัติธรรมมันไปด้วยกัน แล้วจะได้สอนเวลาที่มันไม่รู้นั่นแหละ พอมันอยู่ด้วยกัน ให้สบายได้เลยการปฏิบัติธรรม คล้ายๆ กับว่ามีคนสองคน คนหนึ่งรู้คนหนึ่งหลง เมื่อมันรู้เราก็ไปเรื่อยๆ ไป ไม่ต้องกังวล เวลาใดมันหลงค่อยบอกตัวเองนั่นแหละบอกตัวเอง ก็ค่อยสอนไปค่อยสอนไป อย่าไปรีดอย่าไปเฆี่ยน สอนตัวเองก็ต้องนิ่มนวลนุ่มนวลพอสมควร ถ้าไปรีดถ้าไปเฆี่ยนตัวเอง บางทีมันเข็ดนะ พอมันผิดทีนึงค่อยเข็ด พอมันทุกข์ทีนึงค่อยเข็ด พอมันปวดมันเมื่อยทีหนึ่งค่อยเข็ด พอจะทําความเพียรก็กลายเป็นความเบื่อ มันก็สวนทาง ไม่มีแนวร่วมนั่นแหล่ะ มันต้องสนุก แล้วทําไมเราจึงต้องปฏิบัติ เพราะว่ามันก็เป็นอย่างที่ว่า มันมีตัวรู้ตัวหลงอยู่แล้ว
บางทีเราสวดมนต์น่ะ เรามีทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว เบื้องหน้ามันมีทุกข์อยู่ มันจะไปเจอเอาเมื่อไหร่ หรือมันจะอยู่ในตัวเราเลยก็ได้ ความหลงเป็นเจ้าเรือน ความทุกข์เป็นเจ้าเรือน เวลาอะไรเกิดขึ้นความหลงออกหน้าออกตา เวลาอะไรเกิดขึ้นวามทุกข์ออกหน้าออกตา ความสุขก็หนีไปง่ายๆ เวลาความทุกข์เกิดขึ้นเหมือนกับว่ามันเป็นใหญ่ในชีวิตของเรา ครอบงำหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ความดีความงามเคยทํามาไม่เหลือหรอ พอเกิดความทุกข์ขึ้นมา มันก็เป็นอย่างนั้น
เหมือนอาจารย์ไพศาลว่า ถ้าโกรธก็อย่าให้โกรธข้ามคืน แต่ว่ามันถึงปานนั้นหรือ จะต้องเป็นคืนปานนั้นหรือ แต่นักปฏิบัติไม่ต้องข้ามคืน มาด้วยกัน ความโกรธกับความไม่โกรธมาด้วยกันนั่นแหละ ถ้ามันทําไม่ได้จริงๆ ขอให้มันโกรธอย่าข้ามคืน วันใหม่มาคุณหยุดเถอะ อันนี้ก็ยังพอมีขอบเขตนะ ให้โกรธคนเดียว วันเดียว ครั้งเดียว อย่าไปโกรธอีก ก็มีขอบเขต ก็ช้าๆ ไว้อย่างนี้ก็ได้ บางทีคนเรามันยังไม่พร้อม ถ้าไปหยุดโกรธ มันก็เบรคทันที บางทีมันก็ทําไม่ได้ เหมือนกับคนวิ่ง พอวิ่งไปแรงๆ แล้วหยุดทันที อาจจะเสียหลักล้มลุกคลุกคลาน เหมือนกับรถที่วิ่งหนักๆ หยุดเบรคทันทีอาจจะพลิกคว่ำ ความคิดของเราที่มันโลดแล่นไป บางทีเราจะหยุดมันก็เหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง ผิดเพี้ยนไปก็มี จะว่ามันน็อค มันน็อคนะ หยุดทันทีเนี่ย มันก็ไม่ได้
สําหรับผู้ฝึกใหม่ก่อนที่จะหยุดอะไรต้องมีศิลปะ ปล่อยๆ ปล่อยๆ วางๆ หยุดนะ ไม่มีอะไรกระทบกระเทือน การเป็นนักปฏิบัติต้องนิ่มนวลเกี่ยวกับตนเอง ไม่ใช่ไปนิ่มนวลกับคนอื่น ถ้าเราไปนิ่มนวลกับคนอื่นมันจะเสแสร้งแกล้งทำ มันจะไม่จริง กลบเกลื่อนด้วยซ้ำไป แต่ถ้านิ่มนวลกับตัวเอง ก็นิ่มนวลกับคนอื่นไม่ได้เสแสร้งแกล้งทำ เพราะเราเคยทุกข์ เราเคยโกรธ เราเคย ผิดเราเคยถูก เราเคยหลง ก็นิ่มนวลกับตัวเราให้เป็น สอนตัวเราดูแลตัวเรา อย่าให้กระทบกระเทือนกับตัวเรา เราก็มีเท่านี้แหละ มีกายมีใจเนี่ย ใช้ให้มันเป็นใช้ ให้มันถูกต้อง
เวลาเดินจงกรมก็เดินไปกับความรู้สึกตัว นั่งสร้างจังหวะก็สร้าง ถ้าเราจะเปลี่ยน ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นก็ต้องเปลี่ยนฉากให้มันเรื่อยๆ ทําใหม่ๆ ต้องเปลี่ยนฉาก มันจะอยู่ฉากเดียวได้ไม่นาน มันจะพร่า ถ้ามันพร่ามันจะเป็นนิสัยแบบนั้น นั่งไปก็เหงาหลับเหงานอนไปเรื่อยๆ มันก็เริ่มต้นไม่ค่อยจะถูก ความเหงานอนกับความรู้สึกตัวมันคนละอันกันอยู่ ไม่ต้องไปด้วยกัน อันนี้แหละ แต่เรามีทุกข์เป็นเบื้องหน้าเรา เป็นอย่างนี้แหละคนเราน้อ อยู่ดีๆ มันก็เป็น ไม่มีโรคอะไรมันก็เป็น หลวงพ่อก็เคยเป็น มันเป็นกองโรค คนเราน่ะ พระพุทธเจ้าว่ารูปโรคนามโรค รูปทุกข์นามทุกข์ มันมีอย่างนี้แหละ มันมีโรคไม่แสดงให้เราเห็น มันก็ซ่อนไว้ข้างใน มันพร้อมที่จะแสดงอยู่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันมีอยู่ รูปโรคนามโรค รูปทำนามทำ รูปสมมตินามสมติ รูปทุกข์นามทุกข์ มันเป็นอย่างนี้ชีวิตเรา มันมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เราเตรียมตัวไว้ก่อน รู้ไว้ก่อน รู้ไว้ก่อน ตายก่อนตาย เห็นแล้วรู้แล้ว รู้แล้วๆ
นี่ทําไมถึงต้องปฏิบัติธรรม เหมือนกับการเตรียมตัว ใช้ชีวิตให้ถูกให้ต้อง ถ้าเราใช้เป็นนะ บางทีพวกโรคอะไรต่างๆ ก็พลอยหายไปก็มีเหมือนกัน ความรู้สึกตัวมันเป็นโอสถ เยียวยาทำหนักให้เป็นเบา ทำความทุกข์ให้เป็นไม่ทุกข์ ทำความหลงให้เป็นไม่หลง เป็นอย่างนี้ เราได้มาเท่ากันชีวิตเรา ได้ความผิดก็เหมือนกัน ได้ความถูกก็เหมือนกัน ได้ความสุขความทุกข์เหมือนกัน ได้โรคได้ความเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ความร้อนความหนาวเหมือนกัน ความหิวเหมือนกัน มันมีทุกคน แต่ว่า แต่ถ้าเราดูแลดีๆ มันก็อยู่ได้นาน อย่าให้มันหนัก มาปลดมาปล่อยตัวเอง มารู้สึกมาระลึกได้ มาปฏิบัติ อย่าหลงๆ รู้สึกตัวๆๆ สร้างไปๆ ปฏิบัติไป เวลาเราทํา เราไม่เห็นมีอะไร ทําไมๆ ต้องปฏิบัติ ไม่รู้อะไร จะไปหา จะไปหาอะไร จะไปเห็นอะไร
พระพุทธเจ้าก็บอกเราให้เห็นกายนี้ มันมีไหมกายเราน่ะ ถ้ามันไม่รู้จริงๆ ก็เอามือตบหัวเข่าดู พลิกมือลองดู โอ้ มันมีจริงๆ นะกายนี้ ไปหยิก มันก็เจ็บ โอ้ มันเจ็บจริงๆ หนา ไปนั่งตากแดดมันก็ร้อน โอ้ มันร้อนจริงๆ หนา ไปเหยียบไฟมันก็เจ็บ ไปเหยียบหนามมันก็เจ็บ โอ้กายหนอนี่ มันเจ็บมันคืออะไร คือเวทนา มันร้อนคืออะไร คือเวทนา มันหนาวคืออะไร คือเวทนา มันหิวคือ อะไร คือเวทนา นั่นมันมีอยู่ มันมีอยู่กายเนี่ย ให้ดูสิ มันมีอยู่รู้อยู่ๆๆ ถ้าเรารู้อยู่ๆ ยิ่งมันจะแสดงให้เราเห็นเยอะ
แต่ก่อนเราไม่ได้เห็นหรอก อิริยาบถกลบเกลื่อนไว้ เวทนาถูกอิริยาบถกลบเกลื่อนไว้ ไม่เห็น ถ้ามันร้อนก็อาบน้ำ ถ้ามันหนาวก็ห่มผ้า มันหิวก็กินข้าว สิ่งต่างๆ ที่เราทำกับมันเราไม่เห็น เวทนามันคล้ายๆ กับถูกกลบเกลื่อน ถ้าเรามานั่งอยู่ เจตนาเราสร้างสติเนี่ย มันจะฉายให้เราเห็นชัด ถ้าเราก็เห็นเราก็เกี่ยวข้องกับมัน อย่าเพิ่งไปกลบเกลื่อนมัน ให้เห็นชัดๆ จนท้วงว่าเวทนาสักว่าเวทนา จนทักท้วง เวทนาสักว่าเวทนา ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เห็นมันมีอยู่จริงๆ
แต่ก่อนเราก็อาจจะอยู่กับเขา เราเป็นสุข เราเป็นทุกข์ เราเป็นผู้ร้อน เราเป็นผู้หนาว เราเป็นผู้หิว เราเป็นผู้ปวด จนร้องออกมา โอ๊ย ไม่ไหว เวทนาก็ไม่ไหว พอเรามามีสติแล้ว มันไม่มีอะไร มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นอาการของเขา เราก็รู้สึกตัวได้ปัญญา ได้เห็น เห็นเวทนา เวลาใดเวทนามันเกิดขึ้น เราก็เกี่ยวข้องกับเวทนาอย่างถูกต้อง ไม่เอามาเป็นสุข ไม่เอามาเป็นทุกข์ เห็นอันนี้
จิตก็เหมือนกัน แต่ก่อนเรานึกว่าเราทั้งหมด นึกว่าตัวเราทั้งหมด มันคิดอะไรก็ไปตามความคิด ความคิดพาให้เราสุข พาให้เราทุกข์ ความคิดพาให้เราโกรธ พาให้เราโลภ พาให้เราหลง พาให้เรารัก พาให้เราชัง เราทำตามความคิด เราก็ผิดพลาดเหมือนกันบางที ความรักที่เกิดจากความคิด มันไม่ใช่ตัว ใช่ตน มันเป็นตัวสังขาร เป็นผลิตผลของสังขาร ความชังที่มันเกิดจากความคิด มันก็เป็นสังขาร อะไรที่มันเกิดจากสังขาร ผลิตผลของสังขาร นั่นล่ะไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เราก็ไปหลงยึดเอามา จนเสียเวลากับสิ่งเหล่านั้นมา พอเรามาปฏิบัติ มาดูเนี่ย โอ้ มันเห็น ความคิดก็เป็นอันหนึ่งน้อ มันเกิดขึ้นกับกายกับรูป มันเป็นรูปเป็นนาม มันเป็นธาตุอันหนึ่ง เรียกว่า วิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุมันรู้อะไรได้ อากาศธาตุมันมีช่องว่าง ที่มันเกิดอะไรขึ้นมาได้ใน ความคิดในความโกรธ ในความโลภในความหลง มันต่อกันเป็น ต่อกันไป แต่ก่อนเราไม่รู้ เราก็ปล่อยให้มันสร้างไป ต่อไว้ๆ ความหลงก็ต่อเอาไว้ ความสุข ความทุกข์ก็ต่อเอาไว้ ความโกรธก็ต่อเอาไว้ บางทีมันก็ครองชีวิตเราไปเลย บางชาติมีแต่ความหลง เราจึงต้องมาปฏิบัติ
บางทีก็ต้องมีชัยชนะบ้าง บางทีพูดเสมอว่า อาจจะมีความหลงที่ทำให้เกิดทุกข์ ที่ทำให้เกิดความคิดที่เกิดยินดียินร้ายนี้ อาจจะไม่มีก็ได้ อาจจะมีเพราะเรื่องอื่น อาจจะมีทุกข์ที่เป็นสภาวะทุกข์ตามธรรมชาติตามธรรมดา อันนั้นเราก็ไม่ถือว่าเป็นทุกข์ ถือว่ามันเป็นธรรมชาติ เป็นอาการไป มันก็ไม่มีผลกระทบต่อเรา มันดีด้วย เราก็เลยอาศัยไอ้หมู่นั่นแหละรักษาชีวิตเรา เช่น ความหิว เราอาศัยความหิวเพื่อมีชีวิต มันขับมันถ่าย เราอาศัยการขับถ่าย เพื่อมีชีวิต ไม่ใช่ทุกข์ มันร้อนมันหนาว เราอาศัยความร้อนความหนาวเพื่อให้เรามีชีวิต เราเหยียบหนามมันเจ็บ เราก็อาศัยความเจ็บที่มันเป็นอาการของกายเพื่อให้มีชีวิต มันดี ไม่ใช่ให้เราเป็นทุกข์ แต่ก่อนเรามาเป็นทุกข์ เรามาเป็นสุข มันก็คว้าน้ำเหลวทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นจีรังยั่งยืน ไปหาความสุขกับสิ่งที่ ไม่ใช่ความสุข ไปกลัวความทุกข์จากสิ่งที่มันไม่ใช่ความทุกข์ กลัวลมๆ แล้งๆ ถ้ามีก็มีลมๆ แล้งๆ ก็เป็นอยู่แค่นั้
เราจึงมารู้มันซะ ให้รู้แจ้งซะ การรู้แจ้งอย่างนี้เรียกว่า "วิปัสสนา" ล่วงพ้นภาวะเก่าๆ ล่วงพ้นภาวะเดิมๆ อย่างนี้ มันก็เหมือนกันนั่นแหล่ะ ก็อันเดียวกันจริงๆ ชีวิตนี้ ความรู้สึกตัวอยู่กับเรา ความรู้สึกตัวอยู่กับพระพุทธเจ้า อันเดียวกัน ความหลงอยู่กับเรา ความหลงอยู่กับคนอื่นก็อันเดียวกัน ความทุกข์อยู่กับเรา ความทุกข์อยู่กับคนอื่นก็อันเดียวกัน มันอันเดียวกัน จึงว่ามาหัวอกเดียวกัน มีหัวอกเดียวกัน มาดูแลตัวเรา ถ้าแก้ตัวเรา ช่วยตัวเรา ก็เท่ากับเราช่วยคนอื่นได้เหมือนกัน อย่างน้อยเราก็ต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น มีพ่อ มีแม่ มีลูก มีหลาน มีบุตร ภรรยา สามี มีญาติ มีมิตร เรามาทำตัวเรา เราทุกคนมาเริ่มต้นที่ตัวเรา มันก็จะดีไปเองบางอย่าง ถ้าจะเอาให้เหตุจริงๆ มันต้องมาสอนตัวเอง เราว่าสอนตัวเอง เราสงบก็ไปช่วยให้คนอื่นสงบ เราหมดทุกข์ก็ไปช่วยให้คนอื่นหมดทุกข์ เรารู้อะไร หมดอะไร พ้นอะไรมา ก็ไปสอนคนอื่นให้เขาหลุดเขาพ้น แม้ไม่ได้สอน ก็อย่าไปสร้างปัญหา ให้คนอื่นเป็นภาระต่อเรา ให้สิ่งอื่นวัตถุอื่นเป็นภาระต่อเรา ภาระที่มันมีต่อเรา ตั้งแต่เราใช้กายใช้ใจมันก็ยังมีอยู่แล้ว ก็ยังไปใช้ให้เกิดปัญหาอะไรต่างๆ อยู่ ไปโกรธ ไปเคือง ไปอิจฉา พยาบาท ไปเอาผิดเอาถูก ให้มันเกิดความผิด บางทีทั้งๆ ที่ไม่ผิดก็ทำให้เกิดความผิด
เหมือนสมัยหนึ่ง สมัย 2518 หลวงพ่อไปอยู่กรุงเทพ มีภัตตาคารที่หนึ่ง เวลานั้นคนกรุงเทพออกป่า ออกป่ากันมาก แล้วเขาก็ให้หลวงพ่อไป เขานัดมา นัดลูกเต้ามา มากินอาหารที่ภัตตาคาร หลวงพ่อก็ไป ก็ไปถามพวกเขาว่า พ่อแม่ก็อยากให้มาเรียน เขาพูดว่า ไม่รู้จะเรียนไปทําไม ความรู้ที่เรียนมาใช้ไม่ได้ในประเทศไทย เขาว่าอย่างนี้นะ คนดีถูกฆ่า คนไม่ดีเป็นใหญ่ เขาก็ว่าอย่างนั้น นี่บางทีมันก็คิดไปอย่างนั้น เพราะอะไร เหมือนคนอื่นทำให้เราผิด เราไม่ผิด คนอื่นทำให้เราผิด การที่หลวงพ่อพูดให้ฟังวันนั้น หลวงพ่อไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ไม่รู้เลยคอมมิวนิสต์ เขาก็ว่าหลวงพ่อเป็นแนวร่วม หลวงพ่อก็ไม่รู้เลย เอ้อ แนวร่วมอะไร บางทีเขาอาจจะฆ่าไก่ เอ้อ ไปอยู่วัดป่าสุคะโตนี่ เขาเอาปืนมาหมกไว้ในกุฏิหลังใดหลังหนึ่ง เขาก็ฆ่าเราตายได้ เขาก็ได้วัตถุไป เออ คิดไปก็เอ๊อ เอาตัวรอดสักหน่อยนะ ไปอยู่ที่ท่ามะไฟ ไปพักที่ท่ามะไฟ เขาก็ยังตามไป เขาจะทำให้เราผิดไป บางทีคนที่ไม่ผิด คนอื่นทำให้ผิดก็มี นั่นน่ะ อย่างนี้มันมีอยู่ในโลก
เราจึงมาปฏิบัติธรรม มาปฏิบัติธรรมให้มันรู้ซะ รู้จักอะไรพูดทุกอย่าง รู้จนหมดเปลือก บางทีเราดีๆ อยู่ เขามาว่าเราไม่ดี ก็กลายเป็นคนไม่ดีไป กลายเป็นโจรเป็นผู้ร้ายไป บางทีหัวหน้าโจรนี่เขาเป็นคนดีๆ มีคนมาทำให้เขาเป็นคนชั่ว หาเรื่องหาราวให้ เขาก็เลยกลายเป็นโจรไปเลย บางทีเราอยู่ดีๆ เขามาลักวัวลักควาย อ้าว เราก็กลายเป็นโจรไปเลย ไปลักวัวลักควายเขาว่างั้น เขารู้จักคนนั้นตามเป็นเหตุก็ไปแก้ไปฆ่าเขา มันก็ไม่จบไม่สิ้น เอ๊า ถ้าเรามาดูแลตัวเราเนี่ย หยุดเนี่ย เวรก็จะระงับด้วยการไม่จองเวร ไม่ใช่ไปเอาผิดกับคนนั้น ไปเอาถูกกับคนนี้นั้น เราต้องช่วย บางทีเราต้องช่วยเขา ให้มันกระทบ บางทีมันเป็นผลกระทบ ถ้าเราทำกับเราแล้ว มันก็เป็นผลกระทบ
เหมือนกับพระโพธิสัตว์เสวยในชาติต่างๆ เป็นลิงบ้าง เป็นวานรบ้าง เป็นกระต่ายบ้าง เป็นกวางบ้าง เล่าให้ฟังได้ไหม กวางพระโพธิสัตว์ ฟังไหมวิ เอ้อ เขาก็ดักกวางใช่ไหม พระราชานี่ชอบเนื้อกวาง ก็สั่งให้พ่อครัวนี้ไปหากวางมาฆ่าทุกวันๆ กวางในป่าก็จะหมด กวางพระโพธิสัตว์ก็จัดคิวให้กวางทั้งหลายมาเข้าคิว ถ้าไม่เช่นนั้นเราจะไม่อยู่สงบ ต้องมาไล่ลูกเล็กเด็กแดง เราก็เดือดร้อนต้องวิ่งหนี เพราะฉะนั้น มาจัดคิวกันเถิดพวกเรา วันนั้นให้ตัวนั้นมา มายืนอยู่หน้าป่า เวลานายพรานมาก็ให้ได้ยิง พวกเราจะได้กินหญ้าสบาย กวางทั้งหลายก็เชื่อฟังกวางพระโพธิสัตว์ ก็เข้าคิวกัน กวางที่ยังไม่ถูกฆ่าก็กินไปสบาย
ในวันหนึ่งมาถูกคิวของกวางที่มีครรภ์มีท้องลูกกําลังจะเกิดแล้ว อีก 7 วัน จะเกิดลูก พอถูกคิวของกวางที่ตั้งครรภ์ กวางที่ตั้งครรภ์ก็ไปขอเปลี่ยนกับกวางตัวอื่น ก็ไม่มีใครอยากจะตาย ขออยู่หนึ่งวันก็ยังดี กวางพระโพธิสัตว์ก็ทราบเข้า ก็เลยไปเปลี่ยน ไปยืนอยู่ พอดีนายพรานมา กวางพระโพธิสัตว์ก็ยืนไม่หวั่นไหว ใช่มั้ย ไม่กลัวตาย พอดีนายพรานมา ก็เห็นกวางพระโพธิสัตว์งาม ยืนสง่างาม ไม่กล้ายิง ก็เลยถามว่า ทําไมท่านจึงมายืน ไม่เห็นตกอกตกใจเหมือนกวางตัวอื่น กวางตัวอื่นเห็นข้าพเจ้ามา ก็วิ่งอ้าปากร้องครวญครางร้องขอชีวิต แต่ท่านทําไมยืนอยู่ ก็เลยบอกว่าไม่ควรที่จะมาถูกฆ่า ท่านงดงามขนาดนี้ก็ให้กวางตัวอื่นสิมา กวางพระโพธิสัตว์ก็เลยบอกว่า กวางที่จัดวาระวันนี้เป็นกวางแม่มีครรภ์มีท้อง เขาจะออกลูกภายใน 7 วัน จึงมาแทนเขาก่อน ถ้าเขาตาย ลูกในครรภ์ก็จะต้องตายอีก รับเวรรับกรรม
นายพรานได้ทราบเรื่อง ก็ไปกราบทูลพระราชา พระราชาก็ โอ๋ ตั้งแต่กวางเนี่ยยังมีเมตตายังมาช่วยกันเป็น เราเนี่ยไปฆ่าสัตว์กิน พระราชาก็เลยเลิกกินเนื้อสัตว์ อันนี้ชาดกเนาะ เหมือนกันนะ สัตว์บางทียังรู้เนาะ หลวงพ่อเคยเห็นอยู่เนี่ย สุคะโตนี่สมัยอยู่คนเดียว งูมันไปคาบหนู กุฏิหลังหนึ่งอยู่ใกล้ๆ ศาลาไก่ ไม่มีใครอยู่ หนูเลยไปอยู่ งูสาตัวใหญ่ๆ มันรู้นะ งูอยู่ตรงไหนระวังนะพวกเรา เวลาอยู่ในกุฏิ มีอาหารการกินไม่ได้นะ ป่านะเนี่ย มีงูพิษนะ งูจงอาง งูเห่า งูอะไร ทำทานด้วย(งูทับสมิงคลา) สามเหลี่ยมด้วย ถ้ามีอาหารอยู่ที่ใด หนูมันก็รู้ใช่มั้ย หนูไปกินอาหาร เมื่อหนูไปกินอาหารอยู่ที่ใด หนูอยู่ที่ไหนงูมันรู้ มันจะไปหากินหนู แต่เราไม่เห็นงู ก็ไป เหยียบงู งูก็กัดเราตาย อย่าให้มีของกินในกุฏินะ
งูใหญ่มันไปคาบหนู หนูมันก็ตกลงมาปล้ำกันกับงู หนูมันก็ร้องจู๊ๆๆๆๆ หลวงพ่อก็ดู เอ๊ย อะไร พอหันไปดู งูใหญ่คาบหนู หนูก็ร้อง กระแตตัวหนึ่งตัวเล็กๆ วิ่งลงมาจากต้นตับเต่าหน้าศาลาไก่วิ่งลงมา แก๊กๆๆๆ กัดหางงูๆๆ กระโดดกัดหางงู งูก็คาบหนู มันก็ปล่อยให้กระแตกัดหาง มันก็เจ็บเนาะ กัดหลายมันก็เจ็บเนาะ มันก็วางหนู พอวางหนูมันก็มาสู้กับกระแต กระแตไม่สู้หรอก ก็วิ่งรอบ เวลาใดงูจะเลื้อยไปตามหนู กระแตกัดหางไว้ๆๆ งูก็ขึ้นมาสู้กับกระแต ผลที่สุดงูตัวใหญ่ขดเลย กระแตวิ่งรอบ แก๊กๆๆ เอาไปเอามา หลวงพ่อสังเกตหนูมันคลานเข้ากอไผ่ไปเลย โอ๋ คนเราเนี่ยช่วยกันปานนั้นหายากนะ บางที ปีหนึ่งรถคว่ำ คนหนึ่งขาหัก นอนอยู่คันนา มีนาฬิกาผูกข้อมือ คนมารุมกันมาแก้เอานาฬิกา อย่าเอาของผมๆ ผมยังไม่ตายๆ อย่าเอาของผม เกาะไว้ไม่อยู่เลย เขาแกะ คนหนอคน มันอย่างนั้น เราจึงต้องปฏิบัติธรรมๆ หนอ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในโลกนี้ เอ้าอย่างน้อยคนอื่นไม่รักเรา เรารักคนอื่นดีกว่า คนอื่นจะโกรธเรา เราไม่โกรธคนอื่น คนอื่นจะทำทุกข์ให้กับเรา เราไม่ทำทุกข์ให้กับคนอื่น