แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตอนเย็นไม่ค่อยมีเสียง เป็นผู้ที่อาภัพเสียง แล้วก็ไม่ค่อยจะได้เดินเยี่ยมนักปฏิบัติ หูไม่ดี และก็ไม่สะดวก อยากจะถามอะไรอยู่ เดินผ่านใครที่ไหน แต่ก็ไม่เหมาะ ไม่สะดวก เพราะเวลาคนที่ถูกถามเขาพูด เขาถามตอบมา ไม่ค่อยได้ยิน และก็พูดกันโวยวายๆ พูดแรง พูดกับคนหูหนวกน่ะ พูดเบาๆ ปกติสุภาพไม่ค่อยได้ ต้องตะโกนใส่กัน มันก็ไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้น จึงอาศัยการแสดงธรรมตอนเช้านะ เพื่อให้ไม่มีปัญหา ให้หลักในการกระทำงาน เวลาผิดตัวเองก็รู้เอง เวลาถูกตัวเองก็รู้เอง ถ้ามีสติมีหลักคือกรรมฐาน อะไรก็มีหลัก กลับมา ถ้ามันหลงก็ให้เห็นมันหลง มันก็จบแล้ว ความหลงไม่ต่อไม่ยาว ถ้ามันทุกข์ มันสุข มันรู้ มันไม่รู้ มันง่วง มันฟุ้งซ่าน ก็ให้เห็นมัน แล้วกลับมาหาที่ตั้ง เรียกว่ากรรมฐาน
หัดช่วยตัวเอง ธรรมะนี่พระพุทธเจ้าสอน ทรงแสดงให้บุคคลช่วยตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาช่วย เราช่วยเหลือตัวเราเองให้พ้น ขนส่งเมื่อมันหลง ขนส่งตัวเองให้พ้นจากความหลงไปสู่ความรู้ อย่างนี้จึงไม่ให้มีปัญหาในการปฏิบัติ ปัญหาอยู่ที่ใดก็แก้ได้ที่นั่น เหตุเกิดอยู่ที่ใดก็แก้ได้ที่นั่น ปัญหาอยู่ที่กายก็เอากายแก้ปัญหา มีสติไปร่วม ใจมีปัญหา ก็เอาใจนั่นแหละแก้ปัญหา มันทุกข์อยู่ที่ใจ ก็เอาใจนั่นแหละเป็นสิ่งที่ไม่ทุกข์ มีสติสัมปชัญญะอยู่ที่ใจ เวลามันสุขมันทุกข์ ให้เห็นให้รู้ เนี่ยล่ะ หลักมันล่ะ
อย่าเป็นผู้สุข อย่าเป็นผู้ทุกข์ อย่าเป็นผู้รู้ อย่าเป็นผู้หลง อย่าเป็นผู้ยาก อย่าเป็นผู้ง่าย อย่าเป็นผู้เบื่อ อย่าเป็นผู้ขยัน เหนือออกมา มาดู อยู่เหนือโลก แล้วก็อยู่เหนือไปอย่างนี้ จึงจะเหนือการเกิดแก่เจ็บตายได้ ถ้ามันแยกตั้งแต่ต้นทาง มันก็ไปเป็นทางไปด้วยกัน อย่างทางถนนหนทางที่มันไปเลนซ้ายเลนขวา มันมีตรงที่แยกต่างกัน แต่ว่ามันไปทางเดียวกันอยู่ ก็แยก ถ้าไปไม่ถูกเลนก็แยกไม่ได้ ถ้าไปรู้ ถ้าไปหลง เป็นผู้หลง เป็นผู้รู้ ก็แยกยาก ถ้าเห็นมันรู้ เห็นมันหลง เนี่ยมันง่าย มันง่าย อยู่ด้วยกัน ในภาวะที่หลงในภาวะที่รู้อันเดียวกัน แต่ถ้าจะให้มันเป็นคนละอย่าง มันก็ไกลกัน มันทำไม่ได้ ถ้าอยู่ในเนื้อมันในมัน นี่ก็ให้หลักอย่างนี้
ก็ขอมีส่วนร่วมกับพวกเรา เวลานี้เรามาปฏิบัติให้เป็นส่วนบุญด้วย ผู้ปฏิบัติทำความดีก็เป็นบุญของผู้นั้นไป ผู้ที่ร่วมด้วยก็ขอให้มีส่วนบุญด้วย อย่างเราฟังธรรม ผู้ฟังก็ย่อมมีบุญ เรียกว่า “ธรรมเทศนามัย” ผู้แสดงธรรม ผู้ฟังเรียกว่า “ธรรมสวนะมัย” ผู้ฟังธรรมก็มีส่วนบุญ ธรรมที่มงคล 38 ธรรมสวนะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง (หัวเราะ) อะไร จำไม่ได้ ธัมมะสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ธรรมสามอย่างนี้เป็นมงคลอันสูงสุดในมงคล 38 นั้น เยอะแยะเลยที่เกิดบุญของเรา การฟังนั้นก็เป็นบุญ ได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งใดที่ฟังแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ย่อมเข้าใจ ฟังไปบ่อยๆ บรรเทาความสงสัยเสียได้ ฟังไปๆ จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส ฟังไปๆ เกิดทำความเห็นให้ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิรุ่งอรุณแห่งมรรคผลนิพพานได้ นี่เรียกว่าเพราะมีส่วนร่วม
เมื่อวานหลวงตาพูดเรื่องรูปทำนามทำ บางคนไม่เคยได้ยิน ไอ้พูดน่ะ พูดให้เห็น ไม่ใช่พูดให้คิด ทำให้มันเห็น เนี่ย กายมันเคลื่อนอยู่นี้ มันมีใจ กาย ใจ ถ้าเห็นแค่นี้ มันเป็นดุ้นเป็นก้อน มันยังใช้ไม่ได้ กายก็เป็นกาย ถ้ามันยังไม่เห็นจริงเห็นแจ้ง ถ้ามันทุกข์ก็เป็นทุกข์ ถ้ามันสุขก็เป็นสุข ความสุขความทุกข์เกิดจากกาย ถ้าเราไม่เห็นมันน่ะ ใจ ก็ความสุขความทุกข์เกิดจากใจ ถ้าใจมีความทุกข์ ก็เห็นว่าใจเป็นทุกข์ ถ้าใจมีความสุขก็รู้ว่าใจมีความสุข ให้ความสุขความทุกข์เกิดอยู่ที่ใจ แล้วแต่เหตุปัจจัยทำให้เกิดสุขเกิดทุกข์ นั่นมันเป็นดุ้นเป็นก้อน ถ้าเราไม่เห็นมัน เหมือนยาต้มสมุนไพร มันเป็นยาอยู่ แต่ว่าไม่ได้เอามากินมาใช้ ก็ไม่มีประโยชน์
การเห็นอะไรที่มันเกิดขึ้น ต้องเห็นแจ้ง เห็นคุณภาพของมัน เช่น หลวงตาบอกว่า พญารากดำ รากถอนพิษได้ เอารากมันมาฝนใส่น้ำมะนาวให้มันเป็นตม แล้วเอามาแปะที่บาดแผล มันจะดูดพิษ ทดลองงูเขียวหางไหม้ ทดลองตะขาบได้สำเร็จ ดูดได้จริงๆ เนี่ย ตะขาบกัดเด็ก เอามาทาให้ พอทาบาดแผลแป๊บเดียว มันร้องไห้ โอ๊ยๆๆๆ อีกหน่อยมันก็หยุดร้อง มันก็ถามว่า อะไรทาเมื่อกี้นี้ ทำไมมันดูดจนร้องเลย เอามาทาอีกดูสิ ลองเอามาทาอีก เออๆ นั้นแหละ หายๆๆ มันดูดๆๆ (หัวเราะ) หายแล้วๆ หายปวดแล้ว มันว่าอย่างนี้ ก็เลยว่า เออ มันทดลองดูแล้ว มันก็ใช้ได้
นี่แต่ว่าเวลามันหลง รู้เนี่ยมันใช้ได้จริงๆ เวลามันโกรธ รู้สึกตัว ไม่เป็นผู้โกรธเนี่ย มันใช้ได้จริงๆ อะไรก็ตาม พญารากนี้ อืมม์ ยาอายุวัฒนะบางทีอาจจะป้องกันการเกิดแก่เจ็บตายได้ ถ้าทำจนชำนิชำนาญจนเป็นหมอได้ เนี่ย เห็นธรรมคือเห็นไปอย่างนี้ แล้วก็มาเห็นเนี่ย เห็นคิดเนี่ย ที่มันเกิดจากจิต มันก็ละเอียดเข้าไป ความคิดมันเกิดจากจิต เพราะจิตอันมีความคิดเป็นคู่ เรียกว่าอารมณ์ เรียกว่าผัสสามโน ผัสสาหาร อันนี้ เรียกว่าเป็นคู่ของจิต ตากับรูปเป็นคู่ของกันและกัน หูเป็นคู่ของเสียง จมูกเป็นคู่ของกลิ่น ลิ้นเป็นคู่ของรส กายเป็นคู่ของการสัมผัสถูกต้องอ่อนแข็งร้อนหนาว จิตเป็นคู่กับอารมณ์ที่เกิดกับจิต
เห็นมันคิด มันเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เรียกว่าเห็นมันคิด ไม่ใช่เป็นผู้คิด แต่ก่อนนี้ว่าคิดก็เป็นเราทันที มองเห็นรูปทำนามทำ เอ้า มันก็ละเอียด มองออก ลึกซึ้งเข้าไป บรรยากาศต่างกัน ความคิดเกิดขึ้นจากจิต มันพรึ่บขึ้นมาอย่างนี้ มันจ๊ะเอ๋กันอย่างนี้ เราดูอยู่ดีๆ มันพรึ่บขึ้นมาอย่างนี้ เห็นความคิดที่เกิดจากจิตโดยที่ไม่ตั้งใจ แต่ก่อนมันถือว่าเป็นของที่เห็นได้ยาก อันความคิดที่เกิดจากจิตนี่ มันเป็นดุ้นเป็นก้อน พอเห็นรูปเห็นนาม เห็นอาการของจิต มันก็เห็นละเอียดเข้าไป เห็นความคิดที่เกิดจากจิต มันก็จ๊ะเอ๋กัน เสมือนว่าความคิดกำลังจะออกจากประตูมา สติเป็นนายทวารบาลเฝ้าอยู่แล้ว รู้อยู่แล้ว เป็นทวารบาล เป็นผู้เฝ้าดู เป็นผู้ดูอยู่แล้ว รอบๆ อยู่แล้ว แต่ดูกายไปเห็นจิต ดูคิดก็เห็นธรรม มันคิดนั่นน่ะ จ๊ะเอ๋กันเลย ในระหว่างความรู้สึกตัวกับความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจเห็น
อันของไม่จริงก็ทนต่อความจริงของจริงไม่ได้ เพราะความคิดที่มันเกิดขึ้นน่ะมันไม่จริงอะไร เห็นแจ้งเห็นความมายาสาไถ เห็นความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น สิ่งเหล่านั้นก็ล้มเหลวไป เหมือนกุศลอกุศล เหมือนมืดเหมือนแสงสว่าง สว่างอยู่ดีๆ ก็ดับพรึ่บไปเนี่ย คนที่เคยสว่างก็เห็น เคยมีแสงสว่าง ก็ให้เกิดความสว่างขึ้นมา เห็นแจ้งในความมืด คนละอย่างกับแสงสว่าง เห็นแจ้งในความคิด เห็นแจ้งกับจิตบริสุทธิ์ มันจรมาทำให้จิตเศร้าหมอง เห็นชัด เนี่ย พอเห็นแล้ว มันก็กระจุยกระจายล้มระนาดไปอกุศลทั้งหลาย โอ้ย มันเกิดจากนี้ อันความโกรธ ความโลภ ความหลง กิเลสตัณหาต่างๆ เกิดจากนี้ ความคิดเนี่ยที่ไม่ได้ตั้งใจเนี่ย
แต่ก่อนก็เห็นเหมือนกัน แต่เห็นเป็นอาการเฉยๆ ไม่ได้เห็นรากของมัน เห็นความคิดเนี่ย มันก็เห็นอยู่ตั้งแต่ต้นแล้วล่ะ แต่ว่ามันเห็นไม่แจ้ง ไม่แจ้ง จ๊นนน...บอกกับตัวเองว่าต่อนี้ไป ความสุขความทุกข์ที่เกิดจากความคิดจะไม่มีอีกแล้วในชาตินี้ หยุดแล้วในชาตินี้ อันความสุขความทุกข์ที่เกิดจากจิตจะไม่มีอีกแล้ว ความสุขความทุกข์ที่เกิดจากกายจะไม่มีอีกแล้ว จะมีแต่เห็นแจ้งตามความเป็นจริงของเขา เรียกว่าเหนือกายเหนือใจ เรื่องกายเรื่องใจจะมีอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น รู้หมดเลย ไม่ใช่ไม่รู้ไม่เอะใจเพราะกายเพราะใจ ไม่มีคำว่า “ทำไม” เพราะกายเพราะใจ ไม่มีการบ้านเพราะกายเพราะใจ วางภาระลงได้จากายจากใจ มีแต่สติ มีแต่สัมปชัญญะ มีแต่เห็นเข้าไปเนี่ย มาเข้าใจอย่างนี้เรียกว่า มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงในจิตก็ว่าได้ หรือว่าจิตเปลี่ยนแปลงก็เรียกว่าได้
มันเปลี่ยนแปลงบรรยากาศ มันก็ต่างเก่าล่วงพ้นภาวะเดิม ก็เหมือนว่าสมัยก่อนป่าทางด้านทิศเหนือศาลานี้ มันเป็นป่าพงป่าหญ้าคา สูงงามมาก มันก็มีภาวะต่างกันกับเดี๋ยวนี้ มันเป็นเชื้อเพลิง เวลาหน้าแล้ง ไฟไหม้ป่ามา เอาไม่อยู่ ลุกลามไปเรื่อยๆ พอมันเห็นแจ้ง ความแจ้งเปลี่ยนแปลง มาปลูกป่า ปลูกไม้ยาง ป่ายางขึ้น บรรยากาศก็ต่างกัน แต่ก่อนไม่มีหรอกผู้คนเดินไปแถวนี้ได้ มีแต่พงป่าหญ้าคา มีสัตว์พิษเยอะแยะ มีเสือเหลืองด้วย เสือดาวด้วยสมัยก่อน เพราะว่าที่ตรงนี้น่ะมันเป็นไร่ชาวบ้าน จากศาลาหอไตรนี่ไปถึงห้วยทางทิศ(ตะวัน)ตกก็ไปถึงนู่นทางด่าน ทางด่านคือกำแพงทางด้านทิศตะวันตก เอาทางด่านเป็นเขต
รู้จักทางด่านมั้ย ทางด่านคือทางช้าง ทางช้างเดิน เป็นทางเดินของช้าง เดินๆ ไปจะเป็นร่องเป็นห้วยไปเลย ห้วยทุกห้วยในภูเขานี้อาจจะเป็นทางด่านก็นะ เหมือนทางเดินเฉยๆ ก็ยังเป็นร่องๆ ไปนะทางด่าน เอาทางด่านเป็นเขตแดน ตรงไปนะ ชาวบ้านเป็นเจ้าของ ของเรามีแค่นี้ ที่นี่ช้างอยู่เนี่ยในนี้ ออกมากินข้าวของเรา ปลูกข้าวปีแล้วปีเล่าบ่ได้เกี่ยว เวลามันออกมาเนี่ย หากินคืนเดียว หมดเลยไร่สองไร่ ช้างสี่ตัวห้าตัวเนี่ย (หัวเราะ) มันก็รู้นะ
แต่ก่อนมีขอนไม้เต็มไปหมดแถวนี้ เวลาเขาปลูกป่าเพื่อทำไร่ เขาจะฟันต้นไม้เล็กๆ ลงมา ฟันต้นเล็กๆ ลง ต้นใหญ่ไม่เอาลง แต่ว่าดะไว้ก่อน ดะไปๆๆๆ 10 ไร่ 20 ไร่ ดะไปแล้วหาแรงกันมา คนหนึ่งเข้าต้นนั้น คนหนึ่งเข้าต้นนี้ คนหนึ่งเข้าต้นนั้น ถางทางวิ่งหนี เพื่อจะวิ่ง มาสิบคน ซาวคน ช่วยกัน ขวานตัด ร้องใส่กัน เอ้าๆ พอดีมันก็ขาดพร้อมกัน เอาไม้เหลือไว้เท่ากัน ฟันเช้งๆ มันก็ขาดกัน พอไม้มันเอน เราก็วิ่งออกไป เราวิ่งออกไป ก็ไปนั่งอยู่ คุยกันสูบบุหรี่อยู่ ฟังเสียงต้นไม้ล้ม รัวๆๆๆ รัวๆๆๆ เป็น 30 นาทีก็มีนะ 20 ไร่ใช่มั้ย ต้นนี้ดะไปต้นนั้น เอาต้นใหญ่ๆ น่ะ ต้นไหนใหญ่กว่าหมู่ฟันลงไป พอต้นนี้ลงไปทับต้นนั้น เอนไปทับต้นนั้นก็ลงไปๆๆๆ ใจหลวงพ่อจะขาดไปตรงนั้น โอ๊ย เสียดาย เสียดายต้นไม้
แล้วเขาก็ให้ใบให้มันแห้ง ต้นไม้เล็กอย่างนี้ มันจะทับลงไปหมดเลย มันก็เป็นเชื้อเพลิงข้างล่างก็จุดไฟเผา ลุกไหม้เต็มภูเขาเลย สมัยก่อน เวลาใครจุดไร่นะ เผาไร่ เวลาจุดไร่แล้วต้นไม้เป็นกิ่งเป็นก้านเต็มอยู่ ไม่เก็บเลย ปลูกข้าวตาม เถ้าของไฟที่เผาใบไม้อะไรต่างๆ มันก็เป็นเถ้า ก็เหลือแต่ต้นไม้ ทิ้งๆ ขว้างๆ อยู่ปลูกข้าวไป เวลาข้าวออกรวงนี้ก็ ข้าวออกรวงไปพาดขอน ข้าวเพียงคอนี่ ช้างก็ไปถอนขึ้นมา บิดรากมันออกตั้งไว้บนขอนไม้ เป็นแถว (หัวเราะ) สมัยก่อนนะ เหมือนกับว่ามันสมน้ำหน้าเจ้าของ ทำไมมาถางป่าของกู มาปลูกข้าว กินแม่มันหมดเลย ไม่พอ ตั้งไว้ตามต้นไม้ เป็นแถวอยู่อย่างนั้น คืนเดียวไปเป็นไร่
เจ้าของไร่เขาก็ให้เราไปดูให้ ทำไมหลวงตาปล่อยควายปล่อยวัวไปกินข้าวผมหมด ผมทุกข์ผมยากมาหา ทำอยู่ทำกิน ปลูกข้าวมาเป็นปีไม่ได้กินเลย ต้องชดใช้ จะปรับ จะปรับเท่านั้นร้อยเท่านี้ร้อย ต่อไปต้องไล่ดีๆ รักษาควายดีๆ อย่าให้มากินของผม จำไว้นะ เออ จะไม่ให้ปล่อยไปกินดอก แล้วเขาก็ปรับห้าร้อย สี่ร้อย ยอมเขา จะให้ จะใช้หนี้ให้ แต่ว่าทางนี้ขอไว้ก่อน จะรักษาควายให้ดีๆ จะไม่ให้ไปกินอีก ให้อภัย เขาก็บอก เอ้า ถ้าปล่อยมากินอีก จะปรับนะ คราวนี้จะไม่ปรับเท่าก่อนนะ ก็ไม่อยู่ กินจนหมดเลย (หัวเราะ)
เขาก็เลยมายิงน่ะ ทีนี้ตรงที่มีแท้งค์น้ำนั่นน่ะ เขามาอยู่น่ะ หันออกมา มายิงช้าง ช้างเจ็บมีสี่ตัว ตัวใหญ่ออกก่อน ตัวที่สองมีงา ตัวที่สามที่สี่เป็นตัวเล็กตามหลังไว้ พอเห็นก็เฉย เขาก็บอกว่าจะไม่ยิงให้เจ็บ จะยิงขามัน ให้มันกลัวเฉยๆ แต่เห็นงามัน อยากได้ ก็เลยยิงใส่หัวมันเลย ล้มลงเลย ก้นนั่งลงเลย เขามาเล่าให้ฟัง ตัวใหญ่ออกก่อน วิ่งใส่คน คนก็หลบเข้าต้นไม้ พอมันไม่ไล่คน ก็กลับมาเอางวงม้วนไป ยกก้นตัวที่นั่งอยู่ลุกขึ้น สองตัวเล็กเทียบข้าง ดันตัวที่ไสก้นขึ้น ค่อยๆ ไสก้นกันเข้ามา เดินเข้า เลือดรอยไปเลย ตื่นขึ้นมา ก็ตามรอยเลือด ออกจากป่าขึ้นยาวไป สองสามวันตามรอยเลือดไม่เห็นเลย ไม่รู้ตายที่ไหน ก็ตามไป ทั้งกลัวทั้งกล้า ตั้งแต่นั้น ช้างก็ไม่มาอีก เจ้าของไร่ก็เห็นว่าปลูกข้าวไม่ได้กิน ก็ยกที่นี่ให้วัด เอาที่อื่นเปลี่ยนให้ ก็เลยเป็นป่าพงน่ะ อันนี้เล่าให้ฟัง (หัวเราะ) ป่าพง ป่าหญ้าคา เกิดมาไฟไหม้ เดี๋ยวนี้ก็ปลูกป่ายาง มันก็พ้นภาวะเก่า ไม่ค่อยได้ดับไฟแล้วเดี๋ยวนี้
ไปเห็นความคิดที่เกิดจากจิต เคยเป็นสุขเป็นทุกข์ ความคิดมอดลงไปเนี่ย มันก็ต่างจากเก่า เราก็อยู่ได้ มีเห็ดระโงกกินใช่มั้ย แต่ก่อนมีป่าพงป่าหญ้าคา มีแต่โทษแต่ภัย เหมือนกับกิเลสตัณหา เหมือนกับอาการเกิดขึ้นกับจิตนี่ เป็นปัญหาต่อเรามาก มีมั้ย เคยมีปัญหาเพราะจิตมั้ย ปัญหาจากจิต คิดขึ้นมานอนไม่หลับ มีไหม คิดขึ้นมาแล้วกินไม่ลง มีไหม น้ำตาร่วง น้ำตาไหล มีไหม มีกันทุกคน บัดนี้ มันไม่มี จะทำยังไงล่ะ โอ้ มันพ้นภาวะเก่า นี่แหละวิปัสสนา พ้นภาวะเดิม อย่างนี้ ไม่ใช่เราสอนกันเล่นๆ เป็นพิธีรีตอง เข้าให้ถึง ให้มีสติ อย่าไปทำเป็นสักแต่ว่า ทำเฉยๆ ให้รู้สึกตัว ให้รู้สึกตัวเนี่ย มันเป็นไปได้
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้า ผู้นั้นเห็นธรรม พระพุทธเจ้าเคารพพระธรรม สิ่งที่ทำให้เกิดพระพุทธเจ้าขึ้น เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา เพราะทำให้เห็นอย่างนี้ แล้วก็เห็นแล้ว ไม่ใช่เห็นเฉยๆ มันหลุดออก มันพ้นไป พ้นภาวะเก่า อย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐานล่วงพ้นภาวะเดิม จากปุถุชนเป็นกัลยาณชน เป็นสูงขึ้นไป จิตของคนเราเนี่ย ไม่ใช่มันเหมือนเก่า เราเคยโกรธมันอาจจะไม่โกรธ เราเคยทุกข์ มันอาจจะไม่ทุกข์ สิ่งที่เราเคยหลง มันอาจจะไม่หลง สิ่งที่เคยหลง มันเป็นความรู้เป็นปัญญา สิ่งที่เคยทุกข์มันเป็นปัญญาเนี่ย เรียกว่าพุทธภาวะเกิดขึ้นในจิตของพระองค์ มันเกิดอย่างนี้ เกิดขึ้นกับใครก็ได้
อันชื่อว่าคน ชื่อว่ามนุษย์เนี่ยเป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นพระพุทธเจ้าลดพระองค์มา เราตถาคต ท่านทั้งหลายก็เหมือนเราตถาคต เราตถาคตก็เหมือนท่านทั้งหลาย เดินไปด้วยกัน เดินไปทางเส้นเดียวกัน ไปถึงที่เดียวกัน เหมือนกันหมด เนี่ย พึงมามีสติเหมือนกันหมด พระพุทธเจ้าสอนใครก็ตาม เธอจงมีสติทุกเมื่อ ทำเอา ให้ไม่ได้ แม้แต่พระเทวทัตซึ่งเป็นลูกผู้พี่ผู้น้องกับพระองค์ ก็ให้ไม่ได้ พระเทวทัตไม่ยอมฟัง จนเป็นศัตรูกัน ใช่มั้ย
เทวทัตคือใคร เป็นเจ้าฟ้าชายเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เจ้าฟ้าชายเหมือนกัน แข่งขันกันโดดเด่น เป็นเจ้าฟ้าด้วยกัน ยิงธนู ฟันดาบ ขี่ม้า กับเทวทัตนะ ระหว่างเจ้าฟ้าชายสององค์ คราวใดก็สู้สิทธัตถะไม่ได้ ธรรมดาคนที่แพ้ก็ต้องอิจฉาใช่มั้ย อิจฉากันมาตลอด (หัวเราะ) พอสิทธัตถะออกบวช เทวทัตก็ออกบวชตามมาอีก ตั้งลัทธิขึ้นมาใหม่ แข่งขันกันแย่งกันมา ห่มจีวรเหมือนกัน แต่จิตใจคนละอันกัน อันนี้ก็คือช่วยไม่ได้ ฉะนั้น เราจึงช่วยตัวเอง ถ้าเราไม่ช่วยตัวเอง พระพุทธเจ้าก็ช่วยเราไม่ได้
เราจึงมาปฏิบัติแบบนี้ ไม่มีวิธีอื่นใด ให้มารู้เอง กายก็มีอยู่แล้ว พลิกมือขึ้นให้รู้เนี่ย เวลามันหลงไป ก็รู้อย่างนี้ ถ้ามันหลงไม่รู้ ก็เรียกว่าเกียจคร้าน นอนอยู่บ้านดีกว่า ถ้ามานั่งคิดถึงบ้านที่นี่ ใช่มั้ย ให้นอนอยู่บ้านจะได้ประโยชน์ ถ้ามันคิดไป กลับมา นี่เราก็อยู่นี่เป็นเพื่อนกัน ไม่ใช่เราคนเดียว เป็นเพื่อนกัน พระอาจารย์อยู่ทางโน้น แม่ชีอยู่ทางนี้ พี่น้องของเรานั่งอยู่โน้น อบอุ่น แล้วก็มีที่อยู่อาศัยพออยู่ได้ มีข้าวมีน้ำกินพออยู่ได้ นั่นแหละ อย่าให้ดีเกินไป อย่าให้สะดวกเกินไป ให้ยากๆ ซักหน่อย ความยากความลำบากอาจจะเข้มแข็ง ความสะดวกสบายอาจจะอ่อนแอได้ หัดนิสัยของตนให้เป็นความเข้มแข็งอยู่ในความอ่อนแอ
มันหลง ให้มีความรู้อยู่ที่นั่น มันทุกข์ ให้มีความรู้อยู่ที่นั่น เรียกว่าทวนกระแส “ปฏิ” คือเปลี่ยนร้ายเป็นดี มีไหม มันหลงมีไหม มันทุกข์มันสุขมีไหม เปลี่ยนให้เป็นความรู้สึกตัวไปหมดเลย จึงจะเรียกว่าปฏิบัติ เปลี่ยนทันที อย่าให้ช้า เหมือนเราเข้ามุ้ง เวลาเขาเอามุ้งลง ปิดทันที ถ้าไม่ปิดยุงมันจะเข้าไป ออกประตูต้องปิดประตู โจรผู้ร้ายมันเยอะ สิ่งของอย่าสุรุ่ยสุราย เก็บให้ดี อย่าประมาท อันนั้นเป็นวัตถุภายนอก
วัตถุภายในคือกายคือใจเรานี้ อย่าสุรุ่ยสุร่าย คิดอะไรก็ได้ ไม่ใช่ มันจะเป็นนิสัย ไม่เห็นความคิดตัวเอง มืดบอดในความคิด ความคิดพาเรามืดบอดได้ เพราะไม่ไปรู้จัก เหมือนตรงที่มืดก็มืดอยู่เช่นนั้น ถ้าส่องแสงสว่างในที่มืด อาจจะเห็นอะไรได้
เหมือนพระพุทธเจ้าบอกคนหลงทาง ส่องแสงสว่างเข้าไปในที่มืด นี่คือพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ตัวตน พุทธะคือภาวะที่รู้ หลงที่ใด รู้ที่นั่น อันนี้เป็นคุณ ไม่ใช่เป็นดุ้นเป็นก้อน เป็นตัวเป็นตน นี่พระรูปของพระองค์ไม่มีแล้ว ปรินิพพานไปนานแล้ว แต่คำสอนยังอยู่ เรียกว่าคุณ พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ พระสงฆ์เป็นเครื่องกำจัดทุกข์ ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนมาช่วยคน เป็นเครื่อง
พุทโธ ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม ใช่มั้ย พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ ทรงไว้ซึ่งประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ธัมโม ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ ทรงประโยชน์ไว้ซึ่งข้าพเจ้า เป็นของเรา เอามาใช้ ถ้าเราไม่ใช้ก็ไม่ใช่ของเรา หิวข้าว หิวข้าวกินอยู่ก็ไม่กิน อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นไม่ใช่วัตถุ คุณเนี่ยไม่ใช่วัตถุ คุณธรรมไม่หนักหนาสาโหดอะไร เบาๆ เวลามันหลง รู้ ใช่แล้ว ใช้ความรู้มาคู่กับความหลง มันมีตรงกันข้าม เช่น มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันก็มีไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แค่นี้เราก็ยอมแล้ว คอยที่จะทุกข์ เราก็มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว เราจะยอมเหรอ
แล้วลองดู ศึกษาดูซิ มันไม่ใช่ การเกิดแก่เจ็บตายมันไม่ใช่ชีวิตเรา ชีวิตเราต้องเหนือ ไม่เป็นเช่นนั้น ให้เห็นมัน เห็นมันแก่ เห็นมันเจ็บ เห็นมันตาย บางคนยังไม่เคยแก่ แม่ชีน้อยนั่งอยู่ตรงนี้ ยังไม่แก่ ไม่เห็นความแก่ หลวงตานี่แก่แล้ว (หัวเราะ) แก่แล้ว ถามคนแก่ซิเป็นทุกข์มั้ย มันไม่ทุกข์ดอก สบายกว่าเก่า มือก็แดงแจ๋วเลย ฝ่าเท้าก็เกลี้ยงเกลา ไม่เป็นเกล็ดเหมือนเมื่อก่อน ความแก่นี่มันก็สะดวกสบาย ความเจ็บก็สบาย เคยเจ็บมาแล้ว สุดแสนสาหัส ไม่ใช่ความทุกข์ ความเจ็บไม่ใช่เป็นความทุกข์ ความเจ็บเป็นความจริงของความเจ็บ แต่มันไม่จริงแบบมันไม่เจ็บ ในความจริงมันก็ไม่จริง เช่น ความแก่ไม่จริง ก็ไม่แก่มันจริงกว่า ไม่เป็นผู้แก่ ก็ไม่เที่ยง มันก็จริงแบบความไม่เที่ยง แต่มันไม่จริงแบบความเที่ยง ใช่มั้ย ก็ไม่เที่ยง มันจริงแบบนั้น แต่มันไม่จริงแบบความเที่ยง จะให้ความไม่เที่ยงเป็นของเที่ยง มันไม่ได้ ถ้าเห็นอย่างนี้เรียกว่าปัญญา ความทุกข์มันก็จริงแบบความทุกข์ แต่มันไม่จริงแบบความไม่ทุกข์ จะเอาความทุกข์มาเป็นความไม่ทุกข์ มีแต่เห็นมัน ไม่เป็นไปกับมัน ไม่เป็นผู้ทุกข์ เห็นมันทุกข์อย่างนี้ มันจึงเหนือทุกข์ เหนือสุข การเหนือทุกข์เหนือสุข นี่เป็นนิพพานนะ
ใครอยู่ภาคใต้ นั่งอยู่นี่มีอยู่ภาคใต้มีมั้ย นั่นน่ะ ร้องเพลงกล่อมลูกให้ฟังหน่อยสิ ภาคใต้ ได้มั้ย อ้าว คนภาคใต้ทำไมร้องเพลงไม่ได้ แล้วกล่อมลูกยังไง อยากฟังมั้ย เขาร้องเพลงกล่อมลูกว่า
“มะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง
ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง
ผู้จะไปถึงได้ เป็นผู้หมดบาปหมดบุญเอย”
คนกล่อมลูกเป็นนิพพานไปเลย (หัวเราะ)
มะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง แต่คนที่ถึงมะพร้าวต้นนั้นได้ ต้องพ้นจากบาปจากบุญ จึงจะไปถึงได้ เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ได้ เพลงกล่อมลูกคนใต้ อาจารย์พุทธทาสทำเป็นรูปธรรมไว้ ปลูกมะพร้าวไว้กลางน้ำ ขุดสระล้อม แล้วจะมีคนขี่เสืออยู่นี่ อ๊ะ มีมาแล้วนะ คนขี่เสือ (หัวเราะ) ทำไมมีคนขี่เสือ ทำไมมีวัวเทียมเกวียน ทำไมมีหมาเห่าช้าง อาจารย์สายหยุดทำเป็นรูปไว้ หลวงตาพูดเล่นๆ นี่ กิเลสเหมือนหมา สติเหมือนช้าง อาจารย์สายหยุดไปจ้างช่างเขาปั้นเป็นภาพไว้ อีกหน่อยจะมาตั้งกัน คนขี่เสือกำลังตั้งงานมาแล้ว มันมีทำนองว่า
ณ ที่ใด มีป่าอย่าประมาท เสืออุบาทว์ มีอยู่ คู่สถาน
คอยจับจ้อง มองเหยื่อ ทุกวันวาร ใครเดินผ่าน ไม่ระวัง มีหวังตาย
ณ ที่นี่ เปรียบเสือ เหมือนตัณหา มีโฉมหน้า ยอดพธู ดูเฉิดฉาย
แต่เขี้ยวเล็บ พิษนั่น อันตราย ผู้หวังได้ สงบเย็น จงเห็นภัย
ณ ที่นี่ เปรียบเสือ เหมือนตัณหา อวิชชา ความไม่รู้ พาให้หลงใหล
แม่เสืองาม ตัณหา พำนักไหน ต่อเมื่อใด ฆ่าเสือได้ ขี่เสือเลย.