แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาศัยการได้ยินได้ฟัง แล้วก็นำไปปฏิบัติ เมื่อนำไปปฏิบัติ ก็เอาการได้ยินได้ฟังไปประกอบ บางทีก็ทำให้มี บางทีก็ทำให้สิ่งต่าง ๆ ไม่มี ไม่เกิดขึ้น เช่น เจริญสติไปในกาย ต้องเอากายผลิตความรู้สึกตัวทำให้มันมี เวลาใดที่มันหลงก็ทำให้ความหลงมันไม่มี เปลี่ยนความหลงเป็นความไม่หลง
เมื่อเห็นกายไป มันก็จะเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับกาย ภาษาพระเรียกว่า “เวทนา” เวทนานั้นมันเป็นสูตรมีอยู่ในกาย แต่เมื่อมันเกิดเวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นกับกาย ก็อย่าไปเอาสุขเอาทุกข์ อย่าไปเป็นสุขเป็นทุกข์ ที่มันเกิดขึ้นกับเวทนา ไม่ใช่ว่าอย่าให้มันสุขมันทุกข์ ให้เห็นว่ามันเป็นสุขมันเป็นทุกข์ เราก็ไม่ไปสุขไปทุกข์ สุขเวทนา ทุกขเวทนา คือความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเวทนา เราก็ไม่ให้มันเป็นใหญ่ พอสติเมื่อเข้าไปเห็นแล้วมันก็ มันก็ลบทำให้ไม่มีค่า เห็นความคิด อย่าไปหาผิดหาถูกจากความคิด อย่าไปเอาสุขเอาทุกข์จากความคิด ให้เห็นว่ามันคิดเฉย ๆ มันก็ไม่มีค่า เมื่อเรามีสตินะ ไม่ใช่ไปเอาเหตุเอาผลไปคิด เอาเหตุเอาผลจากความคิด ไปเอาเหตุเอาผลจากความสุข ไปเอาเหตุเอาผลจากความทุกข์ เพียงแต่มีสติ ไว ๆ มีสติ สร้างสติ มีสติ เมื่อมีสติ มันก็ทำให้สิ่งต่าง ๆ ไม่มี เหนือสุขเหนือทุกข์
บางทีมันก็เห็นธรรมที่มันมาครอบงำกายจิต เป็นกุศล เป็นอกุศล กุศล ก็คือ ความสงบ ความสุข ปีติ เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา บางทีก็มีได้ บางทีก็เป็นความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน จับ ๆ จด ๆ ที่มันครอบงำชีวิตจิตใจของเรา อันนั้นเรียกว่า “ธรรม” ก็ให้เห็น มีสติ มันสุขก็อย่าไปเอาสุข มันรู้ก็อย่าเป็นผู้รู้ มันไม่รู้ก็อย่าเป็นผู้ไม่รู้ ให้เห็น มีสติเรื่อยไป สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เราไม่ได้ไปหามัน มันเกิดขึ้นมาเอง เราก็เห็นแล้วเห็นเล่า เราก็มีสติไปเรื่อย ๆ อย่าไปข้องไปแวะ บางอย่างมันก็ชวนให้ข้องแวะ มีอัสสาทะ บางอย่างมันก็เกิดความอึดอัดขัดเคือง ถ้าอึดอัดขัดเคืองก็ข้องแวะเหมือนกัน ข้องแวะในความผิด ข้องแวะในความถูกก็มี
ผู้ที่เจริญสติไปเรื่อย ๆ มีความรู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ ความรู้สึกตัวที่เราสร้าง มันก็ไปประกอบ เป็นประสบการณ์ ไปได้บทเรียนจากสิ่งผิด ๆ ถูก ๆ จากสิ่งสุข ๆ ทุกข์ ๆ สติมันก็ลอยตัว เห็นอาการต่าง ๆ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องทำอย่างนี้ อย่าไปหา อย่าไปอยากได้ ไม่ต้องไปเกี่ยวกับความอยาก มีสติ มันไม่ใช่ความอยาก เพราะว่าสติมันก็ไม่มีอะไรไปเปรอะเปื้อนแล้ว ไม่มีความสุขความทุกข์อยู่ในสติ ไม่มีความอยากความเบื่ออยู่ในสติ ไม่มีความสุขความทุกข์อยู่ในสติ มันเป็นโลกเหนือโลก มันเป็นโลกที่อยู่เหนือโลกหรือนอกโลก ครอบงำไม่ได้ โลกทั้งหลายครอบงำไม่ได้ “สติปัฏฐาน” ไม่เหมือนสติธรรมดา สติปัฏฐานมันออกมาดู มันไม่เข้าไปอยู่ มันคิดก็เห็น
ถ้าสติธรรมดามันก็ไปกับสิ่งต่าง ๆ คิดทำดีมันก็ทำดี บางทีก็เป็นทุกข์เพราะทำดี ไปเอาผิดเอาถูกจากการทำดี มันทำชั่วมันก็รู้ตัว มันก็ทำความชั่ว มันก็ทำความชั่วได้สำเร็จ สติธรรมดา ทำโน่นทำนี่ คิดโน่นคิดนี่ ใช้สติ ใช้สมอง ใช้เหตุ ใช้ผล
แต่สติปัฏฐานมันไปก่อน มันไปก่อน มันไปด่วน ๆ สักหน่อยก่อน ถ้าจะเป็นการเดินทางก็ไปด่วน ๆ ก่อน ไปให้ถึงก่อน พอไปให้ถึงแล้ว มันฉลาดขึ้น มันรู้จักทีหลังก็มี ผ่านมาแล้วถึงค่อยรู้บางครั้ง ไม่ใช่ไปรู้ก่อนรู้ ผิดก่อนผิด ถูกก่อนถูก สุขก่อนสุข ทุกข์ก่อนทุกข์ ไม่ใช่ ไปก่อน อะไรที่มันเกิดขึ้นระหว่างเจริญสติ ผ่านไปก่อน จับหลักไว้ก่อน ผ่านไปก่อน ไม่ใช่ไปอยู่ ไม่ใช่ไปข้องไปติดระหว่างการเจริญสติ ถ้ามันข้องมันติดระหว่างการเจริญสติ มันก็ไม่ไปถึงไหน บางทีก็ไปเอาผิดอยู่เป็นชั่วโมงสองชั่วโมง ไปเอาถูกอยู่เป็นชั่วโมงสองชั่วโมง ไปเอารู้ไปเอาไม่รู้อยู่ ก็เสียเวลา ไปเอาสุขเอาทุกข์อยู่ ได้มันก็ได้สิ่งเหล่านั้นแหละ ได้สุขได้ทุกข์ ได้รู้ได้ไม่รู้ ได้ผิดได้ถูก อันนั้นไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติ ผู้ที่เจริญสติมันมีแต่ผ่าน อะไรที่มันเกิดขึ้นระหว่างการเจริญสติ มันเป็นการผ่าน มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
ผู้เจริญสติจริง ๆ มันได้ทาง มันก็มีปัจจัยมีเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกเรื่อย ๆ ไป แม้แต่ความหลงก็เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความสุขความทุกข์ก็เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกตัว การผิดการถูกนั่นแหละก็เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกตัว เอาไปเอามามันก็เหลวไหลทั้งนั้นแหละสิ่งต่าง ๆ มันไม่จริงอะไรหรอก ถ้ามีความรู้สึกตัวผ่าน ๆ ไป ก็เหลวไหวไม่มีค่า โชว์เรื่องที่เหลวไหล มันโชว์เรื่องไม่จริง ความรู้สึกตัวมันเห็น แม้แต่กายนี้มันก็เห็น เห็นเป็นรูป มันเคลื่อน มันไหว มันรู้ มันขบ มันคิด มันร้อน มันหนาว มันก็เป็นนาม มันก็โชว์ โชว์รูปโชว์นาม ในรูปในนาม ในกองรูปในกองนาม รูปมันก็โชว์ นามมันก็โชว์ การโชว์ของรูป มันก็เป็นดุ้นเป็นก้อน ได้ความฉลาดจากที่มันเข้าไปเห็น มันก็เป็นเรื่องเดียวเหมือนพูดเมื่อวานนี้ เรื่องของรูป เรื่องของนาม มันก็แสดงเรื่องเดียวนั่นแหละ เหมือนละครที่เขาแสดงเรื่องเดียว หนังที่เขาแสดงเรื่องเดียว ไม่มีใครที่จะไปดู เสียเงินเสียทอง ดูแล้วดูเล่า เสียเวลา ผู้เจริญสติก็เหมือนกัน เห็นธรรมชาติของรูป เห็นอาการของรูป เห็นธรรมชาติของนาม เห็นอาการของนาม เพราะโชว์แต่เรื่องเดียว มันก็จืด เมื่อมันจืดมันก็เกิด ยิ่งเห็นความโลภ ความโกรธความหลง เห็นกิเลสตัณหา เห็นสังขาร การปรุงการแต่ง มันก็เกิดวิราคะ ความเบื่อหน่าย มันไม่มีสาระ เหลวไหล มันก็หลุดก็พ้น มันไม่ข้องไม่ติด การหลุดพ้นก็มีรสชาติ การข้องติดมันก็มีรสชาติ รสชาติแห่งความสุขความทุกข์ รสชาติแห่งความเหลวไหล มันก็เกิดวิราคะ เบื่อหน่าย เมื่อมันเบื่อหน่ายมันก็ไป มันไม่เอา มันไม่หยุด เมื่อเราเห็นมูตรเห็นคูถ เราก็เบื่อหน่าย ไม่เอา เราก็พ้นไปจากสิ่งที่มันสกปรก สกปรกอยู่ตรงไหน เราทำความสะอาดอยู่ตรงนั้น ความสะอาดมีอยู่ในความสกปรก เกิดขึ้นกับรูปกับนาม มันก็สะอาดได้ในรูป มันก็สะอาดได้ในนาม หมดจดอยู่ในรูปในนาม ก่อนเราไม่เห็น พอเราเห็น เราก็ทำรูปทำนามให้มันสะอาด บริสุทธิ์หมดจด จนเกิดชีวิตเป็นพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ นี่การเจริญสติมันไปแบบนี้นะ ไม่ใช่ไปจับ ๆ จด ๆ ไปเอาชื่อเอาเสียง ไปสร้างเป็นลัทธินิกาย ไม่ใช่
เมื่อเราเห็นตัวเราก็เห็นคนอื่น เมื่อเห็นคนอื่น เราก็ช่วยกันได้ เพราะเคยช่วยตัวเรา เคยเห็นตัวเรา อันเดียวกัน ช่วยตัวเราเป็นก็ช่วยคนอื่นเป็น รักษาตัวเราได้ก็รักษาคนอื่นได้ มันก็มีงานมีการ แม้แต่เรามาสร้างสติ ก็เป็นงานของเรา เป็นงานของคนอื่นด้วย เป็นการรักษาศีล เป็นการทำบุญ เป็นการสร้างความฉลาด เป็นการสร้างความสงบร่มเย็น หลาย ๆ อย่างที่เราไม่ได้ใช้ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ้นเปลืองพลังงานของโลก ที่เราไม่สร้างให้เกิดปัญหาแก่ส่วนรวม มันก็เป็นไปอย่างนั้น ถ้าเรามาเห็นรูปเห็นนาม แล้วก็เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับรูปกับนามที่มันจะเป็นปัญหา ปัญหาอยู่ในรูปในนาม แต่ก่อนเราเคยสูบบุหรี่ พอมาเห็นเป็นรูปเป็นนามแล้ว เห็นมันเป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นกับรูป สิ่งที่เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นกับนาม เราก็ละได้ เราก็เปลี่ยนได้ ทำให้หมดไปได้ เมื่อเราทำสิ่งที่เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม มันก็เหมือนกับส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดมีปัญหาในส่วนรวม ถ้าจะเป็นประโยชน์ ก็เป็นผลกระทบในทางดี ในทางที่ทำให้ส่วนรวมพลอยหมดปัญหา พลอยสงบร่มเย็นไป
การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อไปให้คนยกย่องสรรเสริญ (แต่เพื่อให้)เป็นประโยชน์ต่อโลก เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ประโยชน์ต่อคนอื่น พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้มาก ๆ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์โลก ในรูปในนามมันเป็นไปได้ แต่ถ้าเราไม่รู้ มันก็เป็นโทษ เป็นปัญหา พระพุทธเจ้าตรัสย้ำอยู่เสมอ ผู้ใดทำประโยชน์แก่ตัวเอง พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ถามหา ผู้ใดทำประโยชน์แก่คนอื่น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ถามถึง ส่วนผู้ใดทำประโยชน์ตนประโยชน์คนอื่นนั่นแหละถือว่าพระพุทธเจ้าได้สรรเสริญ
เพราะนั้นการปฏิบัติธรรมที่เราเจริญอยู่เนี่ย มันไปได้หลาย ๆ อย่าง เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นการทำบุญ เป็นการให้ทาน เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ หลายอย่าง บางทีเราก็มีอานิสงส์ไปพร้อม ๆ กัน เพราะว่าความรู้สึกตัวพาให้เกิดอานิสงส์หลายอย่าง มีสติเห็นรูปเห็นนาม บางทีก็ละทุกข์ไปวันละหลาย ๆ อย่าง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับรูปกับนามเราก็ผ่านได้ อย่างน้อยเราก็ไม่โง่หลงงมงาย ไม่หมกมุ่นครุ่นคิด ไม่กังวล ไม่ไปย้อมไปติด สะอาดหมดจดไปเรื่อย ๆ เพราะมันเห็น โดยเฉพาะทุกข์เนี่ยตรงกันข้ามพอดี ผ่านที่ผ่านที่ทำให้สมน้ำหน้ามันคือผ่านทุกข์นะ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับรูป ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับนาม เป็นมืออาชีพ
ผู้ที่เจริญสติเนี่ย เรียกว่ามืออาชีพในเรื่องนี้โดยตรง อันชื่อว่าทุกข์เนี่ย กระตือรือร้น อันอื่นก็พลอยหมดไป มืออาชีพในเรื่องการดับทุกข์แล้วอันอื่นก็ไปด้วยกันได้หลายอย่าง มีปัญญา มีเหตุมีผลหลายอย่าง ถ้าตรงกันข้ามกับความทุกข์ มันหันหน้าตรงกันข้ามพอดี มันผ่านตรงนี้พอดี ถ้าผ่านความทุกข์ก็เป็นศิลปะ ง่าย ทุกข์อยู่ตรงไหน คำว่าทุกข์เนี่ยโดยตรง จนเป็นมืออาชีพนะ เลิกสูบบุหรี่ เลิกโง่หลงงมงาย ไม่คิด ไม่ทำ ไม่พูด อันสิ่งที่มันเป็นทุกข์ ไม่ข้องไม่ติด เป็นความชำนาญในเรื่องนี้โดยตรง
ถ้าหากปฏิบัติธรรมแล้วยังมีทุกข์ มีปัญหา ทำให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดสับสนวุ่นวาย ยังข้องอยู่ในความทุกข์นี้ ไม่ใช่ ไม่ใช่ผู้เจริญสติ ผู้ที่เจริญสติจะทำเรื่องนี้เป็นง่าย ๆ ง่ายกว่าเรื่องอื่น คำว่าทุกข์เนี่ย เป็นเรื่องง่ายกว่าเรื่องอื่น เป็นการชำนิชำนาญกว่าเรื่องอื่น ถ้าผู้ปฏิบัติจะมาพูดถึงว่ามันทุกข์อย่างนั้น มันทุกข์อย่างนี้ มีปัญหา เหมือนกับไปภาคใต้เมื่อกี้นี้ นักปฏิบัติเดิม ๆ เขาก็มาฝึกเรื่องของปัญหา เรื่องของทุกข์ต่าง ๆ ก็บอกว่ามันไม่ใช่ ผู้ปฏิบัติธรรมไม่มีคำพูดแบบนี้ แสดงว่ามันเสื่อม เป็นอุปธรรมแล้ว มันเสื่อมแล้ว ต้องฟื้นตัวขึ้นมา อย่าเอาคำพูดอย่างนี้ ไม่ต้องพูดอย่างนี้ ถ้าพูดอย่างนี้มันก็ติดแล้ว มันเปรอะเปื้อนแล้ว เป็นดับเบิ้ล มันย้ำแล้ว มันย้ำ มันอยู่ตรงนั้นแล้ว เหมือนกับเป็นโรค เป็นแผล ทำให้เลือดออกอยู่เสมอ ๆ ไม่รักษา มันก็เป็นแผล มันก็อักเสบ มันก็เรื้อรัง คำพูดบางอย่าง ความคิดบางอย่าง การกระทำบางอย่าง มันทำให้เกิดการเรื้อรัง ในโรคทั้งหลาย กลายเป็นโรคร้ายไปเลย ผู้เจริญสติไม่ต้องไปทำอย่างนั้น ถ้ามันโรคร้ายแล้วนั่นแหละดีแล้วจะได้เห็นมัน จะได้รักษา แสดงว่าเรามีโรค เรามีแผลต้องเอาใจใส่ ต้องเป็นงานเป็นการ ต้องล้าง ต้องใส่ยา ต้องรักษาให้มันหาย
การปฏิบัติธรรมที่เป็นโรคของจิตวิญญาณก็เหมือนกัน บางทีเราไปสร้าง ไปเกี่ยวข้อง เช่น ความคิด คำพูด การกระทำ กิริยาอาการต่าง ๆ แสดงออกถึงทำให้เกิดโรค ก็มีเหมือนกัน ตาก็เกิดโรค หูก็เกิดโรค หา แสวงหาซุกซน ความคิดก็ซุกซน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง ซุกซน เป็นอาชีพไปทางโน้น ตาก็ไปสร้างรูป ที่ให้มันเจริญงอกงามเป็นสังขาร หูก็ไป อันนั้นเรียกว่ามันเกิดโรค ผู้ที่เจริญสติจริง ๆ มันจะสำรวมอายตนะไปในตัว มันจะมาสร้างอินทรีย์ใหม่ คือสติอินทรีย์ เมื่อสติอินทรีย์เป็นใหญ่ มันงอกงามขึ้นมา อายตนะทั้งหลายก็สำรวมลง หยุดลงไปในตัวเสร็จ สติอินทรีย์เป็นใหญ่มีอำนาจ อะไรรู้ อะไรรู้ จับตาจับหูมาใช้เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง ถ้าจะว่าแล้วมันเป็นบริวาร ไม่ใหญ่ ใหญ่ก็ใหญ่ไม่ได้ เพราะมันหมดอำนาจไปแล้ว เพราะความรู้สึกตัวมันเป็นสติอินทรีย์เนี่ย มันสร้างความเป็นธรรม เหมือนกับความเป็นธรรมที่อยู่ในโลก ขบวนการแห่งความเป็นธรรมก็ยังคงอยู่ เราจึงได้ความเป็นธรรมจากการเจริญสติ ไม่ใช่เล็กน้อย มากมายมหาศาล เคยสูบบุหรี่ ไม่เป็นธรรมต่อรูปต่อนาม เลิกสูบบุหรี่ เกิดความเป็นธรรม เลิกหลง เลิกโกรธ เลิกทุกข์ “ไท” เป็นทาสไถ่ถอนจากความเป็นทาส ออกมาสู่เป็นอิสระ ปลดปล่อย ปลดปล่อยรูป ปลดปล่อยนามที่เคยทำ ในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เคยทุกข์ เคยโกรธ เคยโลภ เคยหลง ปลดปล่อยออกมา มีสติ มีสัมปชัญญะเนี่ย แม้บางทีมันมีโรคอันอื่น ก็คอยสงบลงไป ฟื้นขึ้นมา
การเจริญสติไปอย่างนี้นะ มันพ้นไป มันมีผล มันเป็นมรรคเป็นผลทันที มันทำมรรคทำผลทันที มันเป็นมรรคเป็นผล ทันหูทันตา ทันหูทันตา มันหลงก็รู้ทันที หลงเป็นเหตุให้เกิดความรู้ ทุกข์เป็นเหตุให้เกิดความรู้ สุขเป็นเหตุให้เกิดความรู้ อะไรต่าง ๆ มันเป็นผลไปในตัว ไปได้ ผ่านได้ เหมือนคนเดินทาง เอาบ้านนั่นบ้านนี่ไว้หลังเรื่อยไป แม้มันมีอยู่ก็ต้องไว้หลังเรื่อยไป ผ่านไปเรื่อยไป ผ่านอย่างเดียวหลายครั้งหลายหน เกิดขึ้นเพื่อให้ผ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นกับรูปกับนามเป็นทางผ่านของการเจริญสติ พาให้ผ่าน พาให้หลุดให้พ้นไป แล้วเราก็มีการกระทำ การกระทำการเจริญสตินี่ ง่าย ๆ พริบตาก็รู้ได้ กลืนน้ำลายก็รู้ได้ หากปฏิบัติโดยตรง ยกมือสร้างจังหวะ เป็นการรวมพลัง เป็นการฝึกพล พลังแห่งการรบ มันพร้อม มันพร้อมเราสร้างไว้ เราก็ใช้ไปกับชีวิตประจำวันหลาย ๆ อย่าง ใช้กับชีวิตประจำวัน เพราะว่ากายของเราเนี่ย มันไม่อยู่นิ่งเหมือนก้อนอิฐก้อนหิน มันเป็นการเจริญสติไปในตัว ในที่สุดในรูปในนามมีแต่สติ ไม่มีอันอื่น เป็นหนึ่ง
เอกัคคตา รวมเป็นหนึ่ง คือความรู้สึกตัว รวมเป็นหนึ่งคือความรู้สึกตัว ชีวิตคือความรู้สึกตัว เอาไปเอามามันก็ไม่ใช่ตา ไม่ใช่หู ไม่ใช่ลมหายใจ ไม่ใช่การเคลื่อนไหว ไม่ใช่การยืนเดินนั่งนอน มันเป็นความรู้สึกตัว มันเป็นความรู้สึกตัว ทำงานทำการมันเป็นความรู้สึกตัว ไม่ใช่เป็นทำดีทำชั่ว ไม่ใช่ มันเป็นความรู้สึกตัว มันลบ ลบดีลบชั่ว ลบสุขลบทุกข์ มันเป็นความรู้สึกตัว มันเป็นความรู้สึกตัว ไม่ได้ไปหา มันที่สุด มันที่สุด มันมีที่สุดของรูปของนาม มันมีที่สุดของการกระทำ อันความรู้สึกตัว อันอื่นก็ไปไม่ได้ มันสุดแล้ว รู้สึกตัวมันสุดแล้ว รู้สึกตัวมันสุดแล้ว มันสุดแล้ว ในรูปในนาม มันเป็นหนึ่งแล้ว มันเป็นหนึ่งแล้ว ในกองรูปกองนาม เป็นหนึ่งแล้ว เมื่อมันเป็นหนึ่ง มันก็ต้องมีอะไร คำว่าหนึ่งมีค่า หนึ่งคือความรู้สึกตัวนะ ไม่ใช่มันไม่มีอะไร มันมี ถ้าพูดแบบหนึ่งมันก็ไม่มี ไม่มีสิ่งที่มันเป็นคู่ คำว่าหนึ่งนี้ อย่างเช่น โกรธไม่โกรธ นี่มันเป็นคู่อยู่ ทุกข์ไม่ทุกข์ มันเป็นคู่อยู่ เมื่อมันเป็นหนึ่ง มันก็ไม่มีอันอื่น
พูดแบบไม่ใช่พูดให้คิดนะ พูดแบบมันเป็นทาง คำว่าทางไม่ต้องคิดนะ การเดินทางไม่ต้องไปคิด มันเดินไปเอาเอง ทางกรรมฐานไม่ใช่สอนให้คิดนะ เพราะกรรมฐานเป็นการสอนให้ทำ เหมือนกับออกเดินทาง พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอก การเดินเป็นหน้าที่ของเธอ ไป ไปทางนี้ พวกเราก็เดินไปเลย ไม่ใช่ไปคิดนะ ทำไมจึงเดิน ไม่เดินไม่ได้หรือ เดินมันง่าย ไม่เดินมันยาก อะไรต่าง ๆ คิดไป ไปเอายากเอาง่ายตั้งแต่เริ่มต้น เพียงแต่บอกก็ยากแล้ว ง่ายแล้ว ผิดแล้ว ถูกแล้ว บางคนตาเห็นก็ อ้าว! คิดไปแล้ว อย่างเขามาเห็นรูป เขียนวิธีสร้างจังหวะอยู่ศาลาหน้า พระพุทธเจ้าทำอย่างนี้หรือเปล่า ทำไมจึงทำรูปเหมือนพระพุทธเจ้า ก็ปรุงแต่งไป พระพุทธเจ้าได้สร้างจังหวะอย่างนี้หรือเปล่า ทำไมจึงเอาเรื่องอย่างนี้มาเป็นเรื่องพระพุทธเจ้า ใครเป็นคนทำ อ้าว! คิดไปแล้ว เห็นอะไรก็คิดไปแล้ว นั่นน่ะความคิดมันเจริญมาก ไปไกล เอาผิดเอาถูก เห็นรูปก็เอาผิดเอาถูก เมื่อเอาผิดเอาถูก เกิดปัญหา ทำไม ทำไม ทำไม อะไรหลาย ๆ อย่าง มันก็เลยเรื่องมาก มันไม่ผ่าน มีผิดมีถูกตั้งแต่ตาเห็น มีผิดมีถูกตั้งแต่หูได้ยิน มีผิดมีถูกตั้งแต่จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส จิตใจมันคิด โอ! พะรุงพะรังมากมาย การเจริญสตินี่เรื่องเหลวไหลพวกนี้นะ อะไรก็ตามมันเป็นเรื่องความรู้สึกตัวทั้งนั้นแหละ
เหมือนพระพุทธเจ้าของเรา แปลลูกศรมาเป็นดอกไม้ธูปเทียน เขาด่า เขานินทา เขาสรรเสริญ อะไรก็ตาม มันเป็นการปูพรม มันเป็นการบูชา มันเป็นการปูพรม ขรุขระอยู่ที่ไหนทำให้เรียบไป นินทาสรรเสริญเหมือนกับคลื่นเรียบไปเลย ตัดไปเลย เรียบไปเลย เรียบไปเลย เรียบไปเลย เส้นทางของชีวิตมันต้องเรียบแบบนี้ ไม่กระทบกระเทือนนะ ไม่กระทบกระเทือน ถ้ายังมีกระทบกระเทือน ไม่มีทางแล้ว ไม่ได้ทางแล้ว ไม่ได้ทาง เข้ารกเข้าพง กับของชีวิตเรา ชีวิตจริง ๆ เนี่ย มันไม่กระทบกระเทือน ถ้ากระทบกระเทือนไม่ใช่ชีวิต ความสุขไม่ใช่ชีวิต ความทุกข์ไม่ใช่ชีวิต ปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่ชีวิต ชีวิตคือชีวิต คือรู้สึกตัวเนี่ยคือชีวิต รู้สึกตัวไม่เป็นอะไรกับอะไร ได้ชีวิต ชีวิตแบบนี้ไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ชีวิตที่เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นร้อนเป็นหนาวตรงนั้นอย่าไปอยู่กับมัน เป็นหิวเป็นเจ็บเป็นปวดอย่าไปอยู่กับมัน การผิดการถูกอย่าไปอยู่กับมัน ไปโทษโน่นโทษนี่ ไม่เอา โทษตัวเองโทษคนอื่น ไม่เอาแล้ว เออ! มองเห็นความเป็นจริง ไม่มีการโทษใคร ไม่มีการไปข้องแวะอยู่กับอะไร ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดกับสิ่งต่าง ๆ ไม่มี แก้ตัวเราก่อน คนอื่นก็เป็นเรื่องคนอื่น ถ้าเราแก้เราแล้ว คนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่น แต่มันมักจะได้ ถ้าแก้เราได้มักจะได้ แล้วก็เป็นงานเราจะต้องขยายไป ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนคนอื่น เราก็ไปให้คนอื่นไม่เบียดเบียนเขา ไปให้คนอื่นไม่เบียดเบียนคนอื่น ต่อไปอย่างนี้นะ ขอให้ผ่านไปก่อน ขอให้ผ่านไปก่อน “อัตตาธิปเตยยะ” อธิปไตยเริ่มต้นจากเรา “โลกาธิปเตยยะ” แล้วมันก็เป็นเพื่อโลกไปเลย แล้วก็ “ธัมมาธิปเตยยะ” ก็เพื่อธรรม ที่สุดมันก็เพื่อธรรม จากตน จากโลก ก็ถึงธรรม เป็นไปอย่างนี้ การปฏิบัติธรรม เจริญสติปัฏฐาน ตามสูตรที่พระพุทธเจ้า พาให้พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ คือสูตรสูตรนี้แหละ สูตรกาย สูตรใจ สูตรรูป สูตรนาม มีอยู่สูตรนี้ จบสูตรนี้ก็จบไปทั้งหมดแล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องไปทำอะไร มีสติลงพื้นที่ของกายของจิตไปเลย จะเกิดการเห็นอะไรต่าง ๆ มากมาย ให้รู้สึกตัว รู้สึกตัว ถ้าไม่มีพลังแห่งความรู้นี่ มันก็หลงง่าย ๆ พลัดไปง่าย ๆ เราจึงสร้างไป มันเป็นแล้วจึงมาสร้างเป็นจังหวะ ยกมือเคลื่อนไหวไปมา รู้สึกตัว ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้มีไปเลย อย่าไปบูดบึ้งตึงเครียด อย่าไปเอาเหตุเอาผล สร้างสติดุ้น ๆ ก้อน ๆ ไปก่อน อย่างนี้นะ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม ช่วยตัวเอง อยู่สงบ อยู่ในมุมสงบ พบกับตัวเอง พบกับสิ่งต่าง ๆ เมื่อมีสติมันก็จะพบโน่นพบนี่ เห็นโน่นเห็นนี่ เห็นความหลง แก้ปัญหา หมดปัญหา ไปเรื่อย ๆ ไป วันนี้ก็สมควรแก่เวลา