แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อย่าได้จน พวกเรา ไม่ได้อันหนึ่งก็ได้อันหนึ่ง หาเอง ให้คนอื่นช่วยบ้าง คนอื่นบอกบ้าง สอนบ้าง เราสอนตัวเราบ้าง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สอนเราบ้าง ครูอาจารย์สอนเราบ้าง ในรอบตัวเรานี้ มีแต่สิ่งที่เป็นคุณเป็นค่า ถ้าเราใช้ชีวิตเป็น คนโบราณไม่ได้เพลงกล่อมลูกก็เป็นมรรคเป็นผล ลูกล้มก็มีแต่พระมีแต่ธรรมมาช่วย เห็นลูกล้มก็คุณพระช่วย ลูกตกบ้านตกเรือน โอ๊ย! คุณพระช่วย อย่าได้จน เพลงกล่อมลูก เพลงกล่อมน้อง เออลูกเจ้ามรรคเจ้าผล เออน้องเจ้ามรรคเจ้าผล พัฒนาตนทั้งกายและใจ บ้านพี่บ้านน้อง ปรองดองกันไว้ พัฒนามีชัยเป็นสุขทุกประการเทอญ กล่อมลูกก็เป็นมรรคเป็นผล อย่าจน
ความโกรธ อย่าไปจนกับความโกรธ ความไม่โกรธมาพร้อมกัน ความหลงมาพร้อมกันความไม่หลง ถ้าเราหลงมันก็จน ถ้าเราโกรธมันก็จน ยิ่งทุกข์ยิ่งยาก ยิ่งอดยิ่งอยาก ถ้าไม่หลง มันก็ไม่ทุกข์ไม่ยาก ไม่อดไม่อยาก ในชีวิตเรานี้ ทางด้านร่างกายก็อย่ายอมจน ขยันหมั่นเพียร ทำมาหากิน รู้จักหา รู้จักรักษา รู้จักใช้ ทางจิตใจก็ให้มี อย่าให้ได้จน จนใจก็เป็นทุกข์เป็นโทษ จนกายก็เป็นทุกข์เป็นโทษ อดอยาก คนเกียจคร้านเป็นคนทุกข์คนยาก เป็นคนอดคนอยาก คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้ คนเกียจคร้านย่อมนอนเป็นทุกข์ ถ้าจนใจก็มีผลกระทบ เช่น ความโกรธ เป็นผลกระทบต่อตับ ความคร่ำเครียดเป็นผลกระทบต่อหัวใจ ความวิตกกังวลเป็นผลกระทบต่อกระเพาะอาหาร ความหมดอาลัยน้อยเนื้อต่ำใจเป็นผลกระทบต่อปอด ต่อม้าม อะไรต่าง ๆ (...) คำหมออธิบาย
ถ้าเราจนทรัพย์ภายนอก ย่อมมีผลกระทบ ไม่มีอยู่ไม่มีกิน ไม่มีที่อาศัย ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม พยายามมีหลักมีฐาน หลักของใจ ก็มีสติสัมปชัญญะ เหมือนบ้านพ่อบ้านแม่ มีสติเหมือนอยู่บ้านพ่อ มีสติเหมือนอยู่บ้านแม่ ขาดสติเหมือนคนไกลบ้าน ว้าเหว่ ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง คุ้มร้ายคุ้มดี ฟู ๆ แฟบ ๆ เราไม่ต้องจน มีสติเอาไว้ รู้สึกระลึกได้ ก่อนพูด ก่อนทำ ก่อนคิด รู้จักทิศรู้จักทางการใช้ชีวิต ความผิดมาทางไหน ความถูกมาทางไหน เวลามันผิด อย่าไปจนในความผิด ในความผิดมีความไม่ผิด ในความทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในความโกรธมีความไม่โกรธ ในความหลงมีความไม่หลง ในความแก่มีความไม่แก่ ในความเจ็บมีความไม่เจ็บ ในความตายมีความไม่ตาย เหมือนพระสิทธัตถะมอง เกิดแก่เจ็บตาย มองอย่างนี้ อย่ามองแบบจน ถ้าเรามีกำลัง ศรัทธาในเรื่องเนี้ย มันจะไม่อ่อนแอ มันจะเข้มแข็ง เช่น ความโกรธ อาจจะเป็นความยิ้ม ๆ สักหน่อย ไม่ใช่หน้าบูดหน้าบึ้ง เพราะมันเห็น ความทุกข์ก็ยิ้ม ๆ หัวเราะความทุกข์ หัวเราะความโกรธได้ ถ้าเรามีความเข้มแข็งน่ะ
มีหลัก เหมือนเรามีกำลัง มองดงเป็นทุ่งไปเลย ถ้าคนเกียจคร้านก็มองทุ่งเป็นป่าไปเลย ใจประสงค์แล้ว เมืองแกว ก็เดินฮอด โบราณท่านว่า เดินดั้นไปจนถึง นั้นเราจึงมีความเพียร ความเพียร คือ ความขยัน กล้า ภาวนา คือ ทำให้มี ทำให้มาก สิ่งที่ไม่มีหาให้มี สิ่งที่มันเสียไปแล้วหาคืนมา อย่างนี้ก็มั่งคั่ง ถ้าสิ่งที่ไม่มี ไม่ได้หา สิ่งที่มีแล้วมันหายไปไม่ได้หาให้คืนมา มันก็มีแต่ยากจน ความทุกข์ก็มีความทุกข์อยู่ตรงนั้น มันไม่มีสิ่งที่ไม่ทุกข์ มันก็มีความทุกข์ ในความทุกข์มีความไม่ทุกข์มีอยู่ในตัว ในความหลงมีอยู่ในความไม่หลง มาพร้อมกัน เหตุเกิดแต่เหตุ ดับก็ดับที่เหตุ ไม่ได้ไปหาที่อื่น เหตุเกิดตรงใด แก้เหตุตรงนั้น ความหลงเป็นความรู้ มาพร้อมกันนั่นแหละ เราจึงมาสร้างเนี่ย เดี๋ยวนี้ ก็มีคนมีปัญหา มีคนก็มีปัญญาเพราะปัญหา เช่น เชื้อโรคมีปัญหา คนก็ไม่ยอม แก้ปัญหา เช่น พวกหมอ พวกนักวิทยาศาสตร์ ไม่อยู่นิ่ง ติดตามอยู่เรื่อย หาเหตุหาปัจจัยอยู่เรื่อย
หลวงตาก็ไปสอนธรรมที่ ม.อ. หาดใหญ่ คณะหมอหลายสาขา ประมาณสองร้อยสามร้อยคน อยู่ ๔ วัน ตั้งแต่เช้า จนถึง ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ภาคบรรยายพิเศษก็มี ภาคบรรยายในภาคปฏิบัติก็มี เขาให้หัวข้อพูด “สติเพื่อนแท้ของชีวิต” ต่อมาก็ “มีสติมีความรู้สึกตัว ไม่เป็นอะไรกับอะไร” ไปถึง “กายป่วย ใจสบาย” หมายถึง มันก็มีเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ชีวิตของเราเนี่ย เบื้องต้นสติ ท่ามกลางสติ ที่สุดสติ เหมือนเราก้าวแรกคือก้าว ก้าวที่สองคือก้าว ก้าวที่สามก็คือก้าว ก้าวแรกถึงก้าวสุดท้าย ถึงจุดหมายปลายทาง ถึงมันก็บอกว่าถึง ไม่ถึงก็บอกไม่ถึง เช่น มันทุกข์ก็ยังเดินไม่พ้นทุกข์ เมื่อมันพ้นทุกข์ก็บอกว่าไม่มีทุกข์ อย่างพระพุทธเจ้าเราชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำไม่มีอีกแล้ว จบแค่นี้ ชีวิตจบเท่านี้ แผ่นดินสุดแค่นี้ ทุกข์เราก็กำหนดรู้แล้ว สมุทัยเราก็เห็นแล้ว สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ วิธีปฏิบัติให้ถึงทุกข์ สิ้นทุกข์เราก็ทำแล้ว เราก็เลยพ้นแล้ว เรียกว่า อริยสัจ ๔
เหมือนเห็นงู เห็นงู คือเห็นทุกข์ เราอยู่ใกล้งู เหตุมันอยู่ใกล้งู งูใกล้หน้าแข้งออกไป การออกไปเราก็ออกไปแล้ว ถ้าเรายืนอยู่นี่มันไม่ได้ งูมันแผ่แม่เบี้ยชูคอใส่เราอยู่ เราก็ถอยออกไป และก็วิธีออกไปของเราก็ออกไปจริง ๆ ออกไปทีไรก็ก้าวหนึ่งก็ไกลออกจากงู สองก้าวไกลออกจากงู ก้าวไปไกลถึงที่สุด พ้นแล้ว เรากับงูก็อยู่ไกลกันแล้ว งูไม่ได้กัดเราแล้ว เราพ้นเราก็รู้ ปลอดภัยแล้ว
เหมือนหลวงตาไปเจอหมู่ลิง ไปในดงคนเดียว ในป่าในถ้ำ นัดกับเพื่อน เพื่อนนัดแล้วไม่ไปตามนัด เราไม่รู้ว่าเพื่อนเป็นคนที่ไปอยู่ในถ้ำแห่งนั้นมาก่อน เรานัดพาไปพบกันที่นั่น ในกลางดงชุมพร จังหวัดชุมพร ตลาดยายเททุกวันนี้เป็นตลาดไปแล้ว แต่ก่อนเป็นกลางดง ที่เขาจุดประทัดมาก ๆ น่ะ เวลาเรานั่งรถยนต์ผ่าน แต่ก่อนเป็นดง ผ่านเข้าไปในถ้ำ จากรถ จากที่ลงรถ เดินไป ๗ ชั่วโมง ไปถึงก็ค่ำมืด เดินเข้าไปในถ้ำว่าจะไปพักถ้ำ แต่ไม่เห็นเพื่อน เห็นแต่ฝูงลิง สมุนตัวใหญ่ สามสิบสี่สิบตัว มันกรูออกมาจากถ้ำ มันจะกัดเรา มันหลายตัว ตัวใหญ่ ๆ เท่าคนเนี่ย สมุน หางจิ้น ๆ หางป้อม ๆ หางสั้น ๆ มันดุ มันแยกเขี้ยวใส่เรา โกรกกราก โกรกกราก (หัวเราะ) เราก็มองมัน ถ้าเราเดินไปหามัน มันจะกัดเอา ก็เดินถอยหลังออกมา ขณะนั้นเป็นไง ขณะนั้นก็ไม่มีความกลัวอะไร มีแต่คิดในใจว่าขอโทษ เราไม่คิดว่าพวกเธออยู่นี่ คิดว่าจะมาอาศัยถ้ำ มานอนที่นี่ มันก็ค่ำแล้ว แต่ไม่รู้ว่าพวกเธอทั้งหลายอยู่ ขอโทษ เราก็เลยถอยออกไป ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ได้กลัว ไม่ได้สะทกสะท้าน ไม่ได้อะไรหวาดอะไร แวงอะไรทั้งหมด ถอยออกไป มันก็ตามเราออกไป เวลาเรามองมันทีไร มันก็แยกเขี้ยวใส่ เราก็ไม่ได้มองมัน เหมือนกับเพื่อนกัน เราคิดอยู่ว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เราก็ไม่เบียดเบียนใคร สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลาย ไม่ได้เบียดเบียน ไม่พยาบาท ไม่มีเวรมีภัยต่อกัน เราไม่มีเวรมีภัยต่อใคร ท่านก็ไม่มีเวรมีภัยต่อใคร ถอยออกมา มันก็ตามออกมา มาถึงหน้าถ้ำ มันมีลานหินอยู่หน้าถ้ำ เราก็นั่งลงอยู่ตรงนั้น ค่ำพอดี เปิดเอาบาตรออก เอามุ้งออก ก็กางกลดที่นั่น มันก็นั่งล้อมอยู่ เวลาเราดูมันทีไร มันก็แยกเขี้ยวใส่ มันทำท่า แต่ว่าเราก็ไม่ได้สนใจ ไม่ได้สะทกสะเทือน ไม่ได้กลัว ไม่ได้คิดจะวิ่งหนี มันก็มองไปมองมา ก็มองเฉย ๆ มองหน้ากันเฉย ๆ เราก็กางกลดเสร็จ เราก็เข้าในมุ้ง ก็บอกมันว่า อย่าหนีไปไหน นั่งอยู่นี่แหละ มุงล้อมเราไว้ ขอเป็นเพื่อนกันเถอะในคืนนี้ ให้พวกเธอนอนอยู่นี่ ล้อมเราอยู่นี้ เป็นเพื่อนกัน แล้วก็นอนหลับไปเลย (หัวเราะ) ตื่นขึ้นมาก็ไม่เห็นลิงเลย มันหายไปไหนก็ไม่รู้ มันก็คงหลบเข้าไปในถ้ำนั่นแหละ เนี่ยไม่ต้องกลัวนะ ถ้าเห็นอะไรต้องมีปัญญาแบบนี้
อริยสัจ คืออย่างนี้ เห็นเหตุมัน ไม่ทำให้เหตุมันเกิดขึ้น หนีไป พ้นไป เห็นความหลง พ้นความหลง มันหลงไปทางไหน หลงแล้วมันเกิดอะไรขึ้น พอใจ ไม่พอใจ อ้าว! ไปถึงพอใจ ไม่พอใจ สละความพอใจ ถอยออก ถอนออกในความพอใจ ความพอใจมันก็เป็น เป็นภัยอันหนึ่ง ความไม่พอใจก็เป็นภัยอันหนึ่ง ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ มีสติแล้วแลอยู่ ตามที่เราสวดสติปัฏฐานสูตร ภิกษุเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในอันเกิดขึ้นเสียได้ มีสติแล้วแลอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ น่ะ
อันนี้ก็เหมือนกัน ความหลงมันมี แต่ว่าอันนั้นแหละมันจะมีประโยชน์ เราก็เห็นความหลงแหละ จึงพ้นจากความหลง เห็นความทุกข์จึงพ้นจากความทุกข์ มีไหม เห็นความโกรธจึงพ้นจากความโกรธ ถ้าเห็นแล้วไม่หนี ไม่ทำให้แจ่มแจ้ง ทำให้แจ้งซะ นี่คือความโกรธ นี่คือความทุกข์ นี่คือความหลง นี่คือความโลภ มันเป็นพิษเป็นภัยต่อเรา หนีมันซะ มันหนีได้ ปฏิบัติได้ให้ผลได้อันเนี่ย สติเป็นอย่างนี้ เหมือนอริยทรัพย์ เหมือนเรามีเงิน มีเงินซื้อข้าวกิน หนาวมีเงินซื้อผ้าห่ม ฝนตกไม่มีหลังคา มีเงินซื้อสังกะสี ซื้อไม้กระดาน เลยมาปู อยู่ได้ เพราะมีเงิน มีสติอย่างเดียวเป็นทั้งหมดของอริยทรัพย์ มีทั้งศีล มีทั้งทาน มีทั้งอภัย มีทั้งบุญ มีทั้งกุศล เหมือนมีเงินแปรสภาพไปเป็นอื่นได้ หลวงตาก็มีเงินถวายปัจจัยขึ้นเครื่องบิน ไปก็ขึ้นเครื่องบิน กลับก็ขึ้นเครื่องบินมาง่ายนิดเดียว จากหาดใหญ่ถึงขอนแก่น จากขอนแก่นถึงหาดใหญ่ แป๊บเดียว คุณหมูยังไม่มา ขึ้นรถไฟ ๑๖ ชั่วโมงมาถึงกรุงเทพฯ หลวงพ่อขึ้นเครื่องบิน ชั่วโมงเดียวถึงกรุงเทพฯ คุณหมูก็ลงหาดใหญ่ยังไม่ถึงกรุงเทพฯ มันต้อง ๑๐ กว่าชั่วโมง แล้วก็ยังนั่งรถกรุงเทพฯมา (...)อีกตั้ง ๖ ชั่วโมง กลางคืนก็ ๑๒ ชั่วโมง ตั้งแต่ตอนเย็นเมื่อวานนี้ ๑๒ ชั่วโมง สามโมง สี่โมงเช้าจะถึงกรุงเทพฯ ไกลกว่ากันนะ ถ้ามีเงินก็สะดวก ปัจจัยแปรสภาพไปเป็นเลือดเป็นเนื้อของเราไปหมด ญาติโยมซื้อข้าว ให้อาหารการกิน ก็มาเป็นเลือดเป็นเนื้อ เป็นกำลัง เป็นชีวิต เป็นปัญญา เป็นมรรคเป็นผลไปไกลโน่น
บอกอยู่เนี่ย ว่ามีชีวิต ได้เลือดได้เนื้อกำลัง ให้เอาไปทำ มันก็เกิดมรรคเกิดผล มีสติ บอกว่ามีสติไปในกาย มีสติไปในเวทนา มันสุขมันทุกข์ อย่าให้มันสุขมันทุกข์ มันมี มันหลง ให้มันเป็นรู้ นี่คือสอนธรรม เหมือนเราหาเงิน หาเงินเดือนหนึ่งจึงออกทีหนึ่ง กว่าจะได้ อันปฏิบัติธรรมมันไม่ต้องรอ พลิกมือขึ้นก็รู้ วางมือลงก็รู้ เดินแต่ละก้าวก็รู้ ไม่ต้องรอ เวลามันหลงก็รู้นั่น เปลี่ยนหลงเป็นรู้นั่นน่ะ มันทันที เป็นมรรคเป็นผลอยู่ในตัว หลงเป็นเหตุ ไม่หลงเป็นผล ทุกข์เป็นเหตุ ไม่ทุกข์เป็นผล ทุกข์เป็นเหตุ ออกจากทุกข์เป็นมรรค พ้นทุกข์เป็นผล เห็นงูเป็นเหตุ ไม่เห็นงูเป็นผล งูมันเป็นผล มันเห็นแล้วเนี่ย งูมันมีพิษ เป็นผล แล้วก็วิธีออกจากงู เห็นแน่นอนแล้วว่างู งูจงอาง งูพิษ กัดตาย หนีออกไปเป็นมรรค พ้นจากงูเป็นผล เรียกว่าแจ้งแล้ว พ้นแล้ว ปลอดภัยแล้ว
ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ วิธีออกจากทุกข์ พ้นจากทุกข์ เรียกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ภาษาบาลี
ภาษาภาคปฏิบัติ มันหลง มีสติ ประกอบความรู้ขึ้นมา เห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง เป็นมรรคเป็นผลในตัวนั่นแล้ว มันหลงเห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง มรรค เป็นผลแล้ว เห็นเป็นเหตุ รู้แล้วว่าทุกข์ วิธีออกจากทุกข์ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ ทำให้เสร็จแล้ว พ้นแล้วจากทุกข์ หลงทีไรรู้ทีนั้น จนชำนิชำนาญ เป็นปริญญา
ญาตปริญญา - รู้แล้ว ตีรณปริญญา - ออกหนีแล้ว ปหานปริญญา - พ้นแล้ว ปริญญาในชีวิตอย่างนี้ พระพุทธเจ้าได้ปริญญานี้ จากปริญญาที่จบมา ๑๘ ศาสตร์ ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า พอได้ปริญญาอันนี้มันเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มันต่างเก่า พ้นภาวะเดิม เคยมีหลงพ้นจากความหลง สิ่งที่ทำให้หลงไม่หลง แต่ก่อนสิ่งที่ทำให้ทุกข์ไม่ทุกข์ มันพ้นจริง ๆ มันต่างเก่าจริง ๆ เรียกว่า วิปัสสนา วิ คือ วิเศษ วิ วินัยยะเนี่ย นัยยะ – นำไป สู่ความวิเศษ เรียกว่า “ธรรมวินัย” วิ คือ วิเศษ นัยยะ – นำไป ถึงจุดหมายปลายทางความวิเศษ พ้นภาวะเดิม ต่างเก่า พ้นภาวะเดิม อย่างนี้เรียกว่า ธรรมวินัย ธรรมวินัยนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เธอจงมาประพฤติตามธรรมวินัยนั้นเถิด เธอจงประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยให้เป็นที่สิ้นทุกข์เถิด เท่านี้
สมัยต้นๆ การสอนพระสงฆ์ ไม่มีอะไรมาก ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเราตรัสไว้ดีแล้ว ท่านจงเป็นผู้ประพฤติตามธรรมนั้นเถิด ถ้าผู้ใดเป็นพระอรหันต์ยังไม่ได้บวช พอฟังเทศน์แล้วเป็นพระอรหันต์ อย่างโกณฑัญญะพราหมณ์ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วมาขอบวช การบวชพระพุทธเจ้าก็ใช้วาจาว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเราตรัสไว้ดีแล้ว ท่านจงเป็นผู้ประพฤติตามธรรมนั้นเถิด” ผู้เป็นพระอรหันต์ก่อน
แต่ผู้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็มีคำพูดต่ออีกนิดหน่อย “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเราตรัสไว้ดีแล้ว ท่านจงเป็นผู้ประพฤติตามธรรมวินัยนั้น ให้เป็นผู้สิ้นทุกข์เถิด” ให้เป็นที่สิ้นทุกข์เถิดต่อไป ถ้าผู้ที่ไปเป็นพระอรหันต์แล้ว ปฏิบัติตามธรรมวินัยนั้นเถิด ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ให้เป็นผู้สิ้นทุกข์นั้นเถิด รับเป็นภิกษุเลย มีเท่านี้ ใครบวชเข้ามาก็ โน่นโคนไม้ โน่นเรือนว่าง โน่นถ้ำ เธอจงนั่งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น มีสติเครื่องเผากิเลส เธอจงวิดน้ำในเรือของเธอ นั่นเรือของเธอ คืออะไร คือ ราคะ โทสะ โมหะ วิดออก เรือของเธอจะวิ่งถึงที่จุดหมายปลายทางได้ง่าย ถ้ามันหนักด้วยราคะ โทสะ โมหะ เรือของเธอก็หนัก วิ่งได้นานถึง เธอจงวิดน้ำออก เวลามันหลงวิดออก อย่าให้หลงเป็นหลง ให้หลงเป็นรู้วิดออก ให้ทุกข์เป็นรู้วิดน้ำออก ให้ราคะ โทสะ เวลามันเกิดขึ้นก็วิดออก ให้รู้นั่นน่ะ เรือมันจะเบา การเบาอย่างนี้เรียกว่า กายลหุตา - เบากาย จิตลหุตา - เบาจิต มันก็หลุดพ้นได้ กายวิเวก อยู่อย่างเนี้ย จิตวิเวก อยู่อย่างเนี้ย วิเวก คือ มันหลงรู้ วิเวกแล้ว วิเวก คือ มันทุกข์รู้ วิเวกแล้ว จิตวิเวก อุปธิวิเวก มันก็หมด ความหลงก็หมดครั้งสุดท้ายได้ ความโกรธก็หมดครั้งสุดท้ายได้ ความทุกข์ก็หมดครั้งสุดท้ายได้ อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าหลงจนตาย โกรธจนตาย เดินก้าวแรกก็เจอความหลง มีความรู้มีความหลง มันไม่ฟรี เราทำนี่มันมีเหตุ มันมีผล ไม่ใช่ว่ามันไม่มีอะไร เรามีสติยกมือขึ้น ยกมือลง ก็มีหลงแทรกขึ้นมา แล้วก็นั่นแหละ
เหมือนเรากวนน้ำให้มันขุ่น ปลาอยู่ในน้ำก็บ้วนขึ้นมาจับปลาได้ คนโบราณเขาไม่มีเครื่องจับปลาเหมือนทุกวันนี้ เวลาไปลงปลาที่ไหน สมัยหลวงตาเป็นเด็ก เห็นคนแก่ เห็นพ่อเห็นแม่ไปหาปลา ก็นัดกันไป ก็เอากระดานไปขัดไว้เป็นวัง แล้วก็ ตัดพดไม้ ตัดพดไม้ มาลากน้ำ แจ่ไปแจ่มา ช่วยกันลาก แจ่ไปแจ่มา ตีน้ำ เล่นน้ำ แจ่ไปแจ่มา น้ำก็ไหลวน ไหลเวียนไปมา น้ำกระเพื่อมมาก เพื่อมบ่ำ ๆ ๆ ๆ หลายคนเล่นน้ำ เอาไม้ เอากิ่งไม้ ใบไม้ มาลากในน้ำ น้ำมันกระเพื่อม มันก็ขุ่นขึ้นมา ปลามันก็งอมขึ้นมา แล้วก็สมัยนั้นจะจับปลาก็มีสวิงกระเตง แม่นบ่ล่ะ (หัวเราะ) ก็ตักเอา ตักเอา ตักเอา ตักเอา ปลาตัวไหนที่มันกลัว มันกระโดดขึ้นฝั่ง เด็กน้อยอยู่บนฝั่ง ก็ไล่ครุบปลา (หัวเราะ)
อันนี้มันก็งอม เราสร้างหมั่นความเพียร มันก็งอมขึ้นมา มันทุกข์น่ะ มันทุกข์มันงอมแล้วล่ะ จะได้เห็น โอ้! นี่หรือทุกข์ หลงน่ะงอมขึ้นมาแล้ว ได้เห็นความหลง สติมีอยู่แล้ว เห็นความหลง เปลี่ยนหลงเป็นรู้ มันทุกข์ตรงไหน เวทนาอะไร กายยังไง มันเกิดยังไง จิตมันก็เกิดขึ้นมา มันคิดนั่นน่ะ มันคิดไปก็รู้ว่ามันคิด ไม่ได้ตั้งใจน่ะ รู้แล้วก็กลับมา กลับมากำหนดที่ตั้ง เหมือนกับเราลากพุดไม้ ลากอยู่ในน้ำ อย่าเพิ่งไปสนใจมัน ลากมันตะพึดตะพือให้มันกวนมัน มันก็ขึ้นมา ในความหลงความเลือนอะไรต่าง ๆ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ธรรมที่มันเกิดขึ้น เกิดง่วงเหงาหาวนอนมีไหม เกิดความคิดฟุ้งซ่านมีไหม โอ้ย! หลวงพ่อมาสอนอะไรอยู่เนี่ย บางคนมาปฏิบัติธรรม มาถาม หนูมีลูกสองคน หนูจะเลี้ยงลูกไหวไหมเนี่ย จะมาอยู่เนี่ย อารมณ์คิดถึงบ้าน ไม่มีใครอยู่ ไม่มีใครอยู่ เดี๋ยวนัดลูกไว้ เขาให้มา ๔ วัน ๕ วัน บอกเขาว่าจะมา ๕ วัน อ้าว! กลับบ้าน บางทีไม่มีเลย นัดเกิดขึ้นมาเอง ต้องกลับ จำเป็นจำเป็นแหละ ไปเห็นหลวงพ่อมาปฏิบัติธรรมกับเรา ตั้งใจมา สะพายบาตรสะพายย่ามมา ผมตั้งใจมาอยู่กับอาจารย์ เราคุยกันไปคุยกันมา พกบุหรี่มาสูบ ที่นี่เขาไม่สูบบุหรี่นะ ก็เลยเอาบุหรี่เข้าบาตรเข้าย่ามไว้ คุยกันไปคุยกันมา โอ้ย! งั้นผมไปเยี่ยมญาติก่อน อ้าว! เยี่ยมญาติที่ไหนอยู่เนี่ย บ้านใหม่เนี่ย (...) ไปก็ไป พรุ่งนี้ค่อยไปบ่ได้หรือมันค่ำแล้ว ไปไปซะหน่อยก่อน พอไปแล้วก็ไม่กลับมา ไปนอนอยู่ในบ้าน ไปนอนอยู่ใต้เล้าเขา ไปถามว่าหลวงพ่ออยู่ไหนล่ะ หลวงพ่อนอนอยู่ใต้เล้านะ (หัวเราะ) ทำไมไปนอนใต้เล้าล่ะ ทีแรกมันหนาว ที่แท้มันอยากสูบบุหรี่ มันอยากสูบบุหรี่ อยู่วัดไม่ให้สูบบุหรี่ เอาไปเอามาเลยไม่ออกมาวัดเลย กลับบ้านเลย ก็เห็นแกบอกว่าที่นี่ไม่สูบบุหรี่ ยังไม่ห้ามเลย เท่านั้นก็ไปกันแล้ว เอาบุหรี่มันเป็นใหญ่ ถ้าไม่ให้สูบบุหรี่ก็ไม่ต้องกินข้าวล่ะ มันคิดไปทำนองนั้นน่ะ แล้วนั้นน่ะ อะไรมัน ข้อง บ่วงมันอยู่ตรงไหน ถ้าเรายังมีสติเห็น มันกวนมันฟูขึ้นมา โอ้! (...) เห็น เห็นอะไรที่มันเกิดขึ้น นิวรณ์ธรรม ความง่วงเหงาหาวนอน กามราคะ ปฏิฆะ ความโกรธ ความคิด อะไรมันแทรกขึ้นมา เวลาไม่ปฏิบัติเหมือนมันไม่คิด เวลาปฏิบัติทำไมมันคิดมาก เครียดก็เครียด คิดก็คิด ง่วงก็ง่วง มันเกิดขึ้นได้ เราก็เห็น เห็นอะไรก็รู้ รู้แล้ว เปลี่ยนมัน ลองดู ใจดี ๆ ใจดีสู้เสือ เวลามันคิดก็เห็นมันคิด อย่าเป็นผู้คิด ความคิดเป็นอันหนึ่ง ตัวรู้เป็นอันหนึ่ง มันมีอยู่ มันคิดที่ไม่ได้ตั้งใจ และไม่ควรคิดอะไรในเวลานี้ วางไว้ก่อน โทรศัพท์ก็ปิดไว้ก่อน หนังสือพิมพ์ก็ไม่ต้องอ่าน วิทยุก็ไม่ต้องฟัง โทรทัศน์ทีวีไม่ต้องดู ลองมาดูเนี่ย กายานุปัสสนาเนี่ย ให้มันรู้อยู่เนี่ย ๑๔ จังหวะ ๑๔ รู้เนี่ย
ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ สิทธัตถะทำอย่างนี้ คู้แขนเข้ารู้สึกตัว เหยียดแขนออกรู้สึกตัว พระสิทธัตถะทำอย่างนี้ เวลาหายใจเข้ารู้สึกตัว หายใจออกรู้สึกตัว บางทีพระองค์ก็จะเดิน ยังมีรอยเดินอยู่ ที่ต้นศรีมหาโพธิ์ ทิศเหนือของศรีมหาโพธิ์ มีรอยพระบาทเดินจงกรมอยู่ที่นั่น ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ไม่มีหนังสืออ่าน ไม่มีเพื่อน มีแต่รู้เห็น รู้เห็น หลง บางทีพระองค์ก็คิดไปถึงพิมพา ถึงราหุล คนมีลูกมีเมีย ก็ย่อมคิดถึงลูกถึงเมีย คนเคยมีกิเลสตัณหา ก็เคยเกี้ยวพาราสี ก็คิดถึง คิดถึงพระราชสมบัติ คิดถึงปราสาทสามฤดู มันคิดไปกลับมา เวลานี้เราไม่ใช่มานั่งคิด เรามาบำเพ็ญสมณะธรรม มีสติ มีสติให้เห็น สร้างสติ มันหลงรู้ ให้มันมีที่ตั้งอยู่ ถ้าไม่มีที่ตั้ง มันก็ไหลไปข้างหน้า มันไหลคืนข้างหลัง โดยเฉพาะจิตใจของเราเนี่ย จึงตั้งให้เป็นปัจจุบัน ปัจจุบัน คือ ชีวิตจริง มันรู้อยู่เนี่ย นี่คือ มันจะแก้ก็แก้เดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้แก้ไม่ได้ เมื่อวานก็แก้ไม่ได้ พรุ่งนี้มีอยู่ แต่ไม่มีใครเห็นพรุ่งนี้ เมื่อวานก็มีอยู่ แต่ไม่มีใครเห็น เราเห็นเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันเนี้ย ตั้งไว้ที่นี่ ให้มันรู้อยู่เนี่ย มันจะเกิดอะไรขึ้น มันรู้อยู่เนี่ย มันจะตายให้มันตายลองดู เหมือนกับพระสิทธัตถะ สมัยยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า เราจะนั่งนี่เป็นครั้งสุดท้าย แม้เลือดเนื้อเหงื่อเอ็นกระดูกจะผุพังไปก็ตาม (แม้เลือดเนื้อในร่างกายของเราจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังเอ็นกระดูกก็ตาม) จะไม่หนี เราพิสูจน์มา ๖ ปีแล้ว ตั้งใจแล้ว สั่งพิมพาแล้ว สั่งพิมพาคนเดียวนอกนั้นไม่สั่งเลย ว่าจะมาศึกษาเรื่องนี้ ทำไมจึงมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ถามใครไม่รู้ ไม่มีใครตอบได้ เราจึงหาคำตอบเรื่องนี้ให้ได้ ๖ ปีแล้ว ยังไม่ได้คำตอบ เหลือเรื่องเดียวเนี่ย มีสติดูกายดูจิตเนี่ย มีเรื่องเดียวเท่านี้เรื่องอื่นทำมาหมด นอนเสี้ยนนอนหนาม อดข้าวอดน้ำ จนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ยังมีกิเลสตัณหาราคะอยู่ มันเกิดอะไรที่ไหน แต่มาเห็นตรงเนี่ย มาทำตรงเนี่ยน่ะ มันก็เห็น เห็นคิดอะไรมันเกิดขึ้นรู้ เอ้า! มันใช้ได้ เวลามันหลงรู้ เวลามันโกรธรู้ เวลามันเกิดกิเลสตัณหารู้ เวลามันง่วงรู้ เวลามันคิดไปรู้ (...) เรียกว่า ปฏิบัติเปลี่ยนอะไรมาเป็นรู้ทั้งหมด
เปลี่ยนอะไรอะไรทุกอย่างมาเป็นรู้ทั้งหมด มันก็มีแต่รู้ไป หนึ่งรู้ สองรู้ สามรู้ สี่รู้ ห้ารู้ หกรู้ เจ็ดรู้ แปดรู้ เก้ารู้ สิบรู้ สิบเอ็ดรู้ สิบสองรู้ สิบสามรู้ สิบสี่รู้ อ้าว! มันมีแป๊บเดียว ๑๔ วินาที ได้ ๑๔ รู้แล้ว เป็นกอบเป็นกำขึ้นมา ขยัน ขยัน เรียกว่า เพียร ภาวนา คือ รู้บ่อย ๆ รู้บ่อย ๆ ภาวนาทำให้มาก ต้องขยัน เรียกว่าความเพียร ภาวนาคือ ให้มาก ๆ ให้มาก ๆ เรียกว่า กรรม คือ ที่ตั้งไว้ ตั้งไว้เนี่ย ฐาน คือ ที่ตั้งแห่งการกระทำไว้นี่ ความเพียร คือ กล้าทำ ไม่นอน ไม่หลับ ไม่กิน ไม่อะไรแม้แต่ชิ้นเดียว แต่ว่าไม่เล่น เพียร ภาวนาขยันรู้ เรียกว่ากรรมฐานภาวนา พระพุทธเจ้าทำอย่างนี้ จึงเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา
๑ วัน ๗ วัน จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าพิสูจน์ตรงเนี้ย เราจะขอเป็นมิตรเป็นเพื่อน จะไม่พาหลงทิศหลงทาง นี่คือวิชากรรมฐาน เป็นสิ่งที่สัมผัส ไม่ใช่เรียนรู้ มันหลงเป็นยังไง ความรู้เป็นยังไง สัมผัสดู ความโกรธเป็นยังไง เปลี่ยนโกรธเป็นรู้เป็นไง กิเลสตัณหามันคิดไป ความรู้สึกตัวมันเป็นไง มันจะสัมผัสแบบเนี้ย ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรมกว่า ความโกรธไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธเป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรม ความคิดฟุ้งซ่าน ราคะโทสะโมหะไม่เป็นธรรม ความปกติของชีวิตเป็นธรรม สัมผัสดู สัมผัสไป เอาไปเอามาก็เลือกได้บัดหนิ เลือกได้ เห็นแจ้ง ไม่ต้องถามใคร ความโกรธเป็นไง ไม่โกรธเป็นไง ไม่ต้องมีคำถาม ตอบเอาเอง เรียกว่าสัจธรรม มันเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติธรรม ให้พิสูจน์เอา ช่วยกันไม่ได้ ต้องทำเอง ปฏิบัติ ปัจจัตตังรู้เอง เอ้าสมควรแก่เวลาน้อ