แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอกาสนี้ฟังธรรมกัน ตามกาลตามเวลา
“กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ” การฟังธรรมตามกาลตามเวลา เป็นมงคลอันสูงสุด
“กาเลนะ ธัมมัสสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ” การสนทนาธรรมตามกาลตามเวลา เป็นมงคลอันสูงสุด
ชีวิตเราต้องวัฒนะ ต้องศึกษา ต้องพัฒนา ให้มันดีกว่าเก่า อาศัยการได้ยินได้ฟัง มีผู้พูด มีผู้ฟัง ฟังหูไว้หู อย่าด่วนรับ อย่าด่วนปฏิเสธ บางอย่างฟังแล้วเอาไปทำ เอาไปทำดู บางอย่างฟังแล้วคิดดู เรามีกายมีใจ มีหู ได้ยินเสียงบอกเสียงเตือน เราก็ได้บทเรียน ได้ความรู้ ถ้าเราฟังไม่รู้อะไรเลย เหมือนคนหูหนวก คนตาบอด เหมือนกับเราไปเรียนหนังสือ มีครูผู้บอกผู้สอน ก. ไก่ ข.ไข่ เราก็ได้ยิน ครูเขาบอกให้เราหัดเขียน เราก็หัดเขียน หัดเขียนก็ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งหัดเขียน การเห็นเป็น(เรื่องของ)สายตา การได้ยินเป็นเรื่องของหู การหัดเขียนเป็นเรื่องของกาย มันจึงเป็น เขียนหนังสือเป็น อ่านหนังสือออก รู้ตัวหนังสือ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ต้องไปมีคนบอก ไม่ต้องหัด มันเป็นแล้ว ตัวหนังสืออยู่ในชีวิตของเราหมด นี่คือมนุษย์ คือคน ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน ถ้าหัดให้รู้มันก็รู้ หัดให้ทำเป็นก็ทำเป็น ถ้าไม่หัด ไม่รู้ ไม่ฟังอะไรเลย ก็ไม่มีอะไรรู้ดีกว่าเก่า อ่านหนังสือก็ไม่ออก เขียนหนังสือก็ไม่เป็น แล้วบางอย่างก็หัดพูด ภาษาให้มันถูกต้อง
ปะทักขิณัง ๆ ๆ ปะทักขิณัง ปะทักขิณา ปะทัก.. สระอาไม่ได้ (หัวเราะ) ให้มันเสียงไม้หัน เสียงสระอะ สระอา
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ” “ธัสสะ” ให้มันถูกต้อง เรียกว่า “ตัสสะ” “สัมมา สัมพุทธ ธัสสะ” ไม่ใช่ ต.ตัด ต.เต่าไม้หัน ต.เต่า เป็น ธ.ธง “ธัสสะ”
กาเมสุมิจฉาจะรา ไม่ใช่สระอะ กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี เป็นสระอา สระอะ สระอา ว่าให้มันถูกต้อง อย่าให้มันเพี้ยนไป ภาษาวิปริต มันก็ไม่สมบูรณ์ เพี้ยน การอุปสมบทกรรมเนี่ยเพี้ยนไม่ได้ เรียกว่าอุปสมบทวิบัติ บูชาต้องฟังภาษากรรมวาจาสวดให้มันถูกต้อง
การเรียน การรู้ การหัด ต้องพอสมควร ต้องมาหัดปฏิบัติธรรม ในคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแต่พูดว่า ให้มีสติดูกาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติเห็นกาย สติไม่ใช่ตา สติมันก็ไม่ใช่อะไร มันเป็นทั้งกายทั้งใจ ให้มันเป็นตัวรู้เข้าไป ส่วนไหนที่มันจะเกิดความรู้ ที่เป็นวัตถุ เอากาย เอาลมหายใจ กายเป็นของหยาบ ลมหายใจเป็นของกลาง ๆ แต่ความคิดเป็นของละเอียด หัดจับความหยาบไปก่อน แล้วก็หัดทำกลาง ๆ ลมหายใจ แล้วค่อยไปหัดจิตที่มันคิด ให้มันรู้ ก็เหมือนเห็นกาย ไปกับกาย มันก็รู้ได้ดีแล้ว มาหัดไปกับลมหายใจ มันก็รู้ได้ดี หัดไปกับความคิดก็รู้ได้ดี
อันรู้อันเก่า ความรู้อยู่ที่กาย มันก็คือความรู้ ความรู้อยู่ที่ลมหายใจ ก็คือความรู้ ความรู้อยู่ที่ความคิดที่มันเคลื่อนไหว ก็คือความรู้ ในที่สุดก็ไม่มีทั้งหมดเลย ลมหายใจก็ไม่มี กายก็ไม่มี ความคิดที่มันทำให้รู้ จะต้องฝึกหัดกับความรู้ที่มันคิดไม่มี ก็มีตัวรู้หมดแล้ว เหมือนกับเราเรียนหนังสือ ไม่ต้องไปอาศัยสมุดปากกา อาศัยกระดาน มันก็รู้อยู่แล้ว จะพูดจะจา จะขีดจะเขียน ก็เขียนได้ทันที เพราะมันเป็น มันเป็นอะไร มันเป็นตัวรู้ มันเป็นที่ว่ามันเป็นนั่นแหละ
เหมือนกับบุรุษผู้ฝึกโคถึก โคก็มี คนผู้ฝึกก็มี จะฝึกโค แต่ถ้ายังไม่ฝึกก็ใช้ไม่ได้ โค แต่โคนั้นถึงแม้มันจะถึกดุร้ายขนาดไหน มันก็จะสอนได้ ถ้ามีที่จับอยู่ มีเชือกห้อยจมูกมันอยู่ โคถึกทั้งตัวสีดำปึ๊ด แต่ว่ามีขาว ๆ ตรงจมูกมันนิดหน่อย เหมือนกับจิตใจของเราที่มันดุร้าย แต่มันก็ไม่มีดุร้ายเสมอไป มันไม่หลงเสมอไป มันไม่ทุกข์มันไม่โกรธเสมอไป มันมีช่องสร่างซาอยู่ หัดตรงที่มันสร่างซามันเป็นยังไง นั่นจุดขาว จุดที่มันไม่รู้ มันมืดทึบ นั่นมันเป็นจุดบอด เป็นจุดดำ เป็นบาป เป็นอกุศล บุรุษก็ต้องหัดจับมันดูก่อน วิธีจะจับโคถึกได้ ต้องมีเครื่องล่อ เอาหญ้าไปล่อ เมื่อล่อก็จับได้ จับทีแรกก็วิ่ง เราก็ดึงสู้มันไม่ได้ ปล่อยมันไปก่อน หย่อน ๆ หย่อน ๆ เชือก เหมือนเราจับวัวจับควายใหม่ หย่อน ๆ ไปก่อน อย่าเพิ่งไปทำกับมันแรง แล้วก็ค่อยดึงมา เอาไปเอามามันไม่เคยเชือก จิตของเราไม่เคยสอน มันก็พยศบ้าง มันคิดอย่างนั้นคิดอย่างนี้ มันมีอารมณ์ เป็นอาการที่เกิดจากจิตมันเคยตัว เคยชิน เราก็สอนมัน เหมือนโคถึกที่มันวิ่งไป ดึงมันไว้สักหน่อย ให้มันรู้จักตึง แต่ก่อนไม่รู้จักดึงอะไร จะไปไหนก็ไป ท่องเที่ยวไปในวัฏฏะอะไรได้
เหมือนกับเราฝึกตัวเรานี่แหละ มันคิดไป กลับมา มีเชือกคือสติ มีวัตถุอุปกรณ์ มีกายมีใจ เป็นวัว ทั้งวัวโคถึก ทั้งเชือก ทั้งคน ให้รู้จักดึง รู้จักหยุด รู้จักปล่อย พอมันรู้จักเชือกบ้าง มันก็มีสีขาวขึ้นมาเต็มหน้า มันมีตัวหลงมันมี ตัวรู้มันมี เหมือนวัวโคถึกตัวนั้น สีขาวขึ้นมาตรงหน้าแล้ว ฝึกไป ฝึกไป ๆ อาจจะวางเชือก บางทีหัดให้มันเดินข้างหน้า หัดให้มันเดินตามข้างหลัง ให้มันเดินไปทางซ้ายทางขวา หัดให้มันไป หัดให้มันหยุด เหมือนเราสอนวัวสอนควายที่เราหัดใหม่นั่นแหละ หัดจิตหัดใจของเราก็เหมือนกัน มันไม่อยู่กับกาย มันหนีไป เหมือนกับโคถึก ควายถึก มันอยู่ในคอก แต่มันไม่อยู่ในอำนาจเรา เราก็ใช้มันไม่ได้ ใช้งานมันไม่ได้ เราจะเอามาหัดให้มันใช้งานได้ ให้มันหมดพยศ หมดพิษ จิตใจของเราก็เหมือนกัน กายของเราก็เหมือนกัน ยังมีพิษต่อกาย มีพิษต่อใจ ใจมีพิษต่อใจ กายก็มีพิษต่อกาย กายมีพิษต่อใจ ใจมีพิษต่อกาย นั่นเรียกว่าไม่ได้ฝึก การสอนตัวเองก็เหมือนกันน่ะ ไปมาจากสีดำค่อยขาวถึงคอถึงขาหน้า ถ้ามันขาวถึงกลางตัว เลยครึ่งหนึ่งแล้ว ครึ่งหนึ่งไปแล้ว อาจจะปล่อยเชือก จะปล่อยเชือกได้ บางทีมันก็ บอกให้มันเดินไปข้างหน้า มันก็เดินไป ให้มันเดินตามมาก็เดินตามมา ขาวไปถึงขาหลัง เจ้าของนอนมันก็นอนด้วย เจ้าของลุกก็ลุกด้วย เจ้าของไปไหนก็ไปด้วย ไม่ต้องสอนมัน ต่อไปขาวหมดทั้งตัว เจ้าของคนฝึกก็เวลามันนอนขี่หลังโคได้ เป่าขลุ่ย เห็นไหมขี่คอเป่าขลุ่ยน่ะ เวลามันนอนเรานั่งหลังโคนั่นเป่าขลุ่ย (เสียงขลุ่ย) ได้ ไม่ได้มีภาระแล้ว โคถึก หมดประโยชน์แล้ว
เหมือนกับเราฝึกตัวเอง เวลานอนก็นอน เวลาไปไหนก็อยู่ด้วยกัน เฉพาะเรื่อง ผลที่สุด ผลที่สุด ผลที่สุด คนก็หาย โคก็หาย ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน นั่น! ภาวะความไม่มีไม่เป็นอะไรเกิดขึ้นแล้ว โคหายไป คนหายไป มีแต่ว่าง ๆ เนี่ย! เราจะไปสร้างจังหวะ ไปเดินจงกรม เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ได้ ไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายอยู่ มันก็มีความไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นั่นแหละคือว่างเปล่า โคก็หาย คนก็หาย ผู้เจ็บไม่มี ผู้แก่ไม่มี ผู้ตายก็ไม่มี อันนี้เห็นภาพมาจากทิเบต
การสอนศาสนาแบบทิเบต เอาเรื่องโคกับคนมาเป็นบุคลาธิษฐาน แต่ก่อนเราก็มีภาพนี้ เป็นภาพสไลด์ เครื่องฉายสไลด์ก็มี ไม่ได้พูดเอาเฉย ๆ ได้หลักฐานมาอย่างนี้ ภาพสไลด์นี้เอามาจากสวนโมกข์ โรงมหรสพทางวิญญาณ เขาคัดถ่ายออกมาจากทิเบต
การฝึกเราก็เหมือนกันนั่นแหละ ไม่ใช่จะมาอวดเอาเวลามันโกรธ ไม่ใช่เลย เหมือนโคที่มันฝึกได้แล้ว แล้วก็ไม่มีอะไรเป็นภาระ เชื่องแล้ว กายใจของเรานี่ก็เหมือนกัน มันจึงเป็นประเสริฐ เป็นสัตว์ประเสริฐ เทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์นี้ จึงจะได้ถึงมรรคผลนิพพาน เพราะมันมีหลง มีรู้ มีสุข มีทุกข์ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนเคยหลง ทุกคนเคยรู้ ทุกคนเคยสุขเคยทุกข์ มีกิเลสตัณหาราคะ มีพยาบาท มีลังเลสงสัย มีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นกับจิตใจของตนเอง เวลามันเกิดอะไรขึ้นมา แล้วไม่ค่อยฝึกปล่อยมันไป มันก็เป็นโคถึก พลิกตัวเองให้เจ็บปวด กายก็ทำให้กายเจ็บปวด ใจก็ทำให้ใจเจ็บปวด เป็นโรคภัยไข้เจ็บอันเกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ โรคเอดส์บ้าง โรคอะไรต่าง ๆ สารพัดอย่าง เกิดจากคนไม่มีศีลไม่มีธรรม กินเหล้าเมายา เกิดจากคนไม่มีศีลไม่มีธรรม เหมือนต้นไผ่เป็นด้ามให้จอบให้เสียม มันก็เอาจอบเอาเสียมมาฟันกอไผ่อีก ขุยไผ่ย่อมฆ่ากอไผ่ฉันใด ม้าอัสดรก็ฆ่าม้าอัสดรเอง กล้วยก็ยังฆ่าต้นกล้วยเอง เวลามันออกลูกออกผลก็ต้องตาย แต่ว่าคนไม่เป็นเช่นนั้น มันประเสริฐกว่านั้น เวลามันหลงไม่หลงได้อยู่ เวลามันโกรธไม่โกรธได้อยู่ เวลามันทุกข์ไม่ทุกข์ได้อยู่ เวลามันเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ต้องเกิดต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายได้อยู่ คือธรรมะ คือมันไม่มีอะไร ดูแล้วไม่มีอะไร เพราะมันเห็นตั้งแต่ ได้หลักฐานตั้งแต่ กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา อะไรที่มันเกิดกับกาย ร้อนก็คือกู หนาวคือกู หิวอะไร ปวดก็คือกูหมด พอดูไปดูไป ไม่ใช่กูเลย เป็นกาย เป็นอาการของกาย มันต้องมีอาการ ใจก็มีอาการ
หลวงตาสอนธรรมดี ๆ คนก็รังเกียจ มันมีอาการ มันเบื่อ ไม่อยากฟังธรรม บางทีเวลาสวด “ยะถาปัจจะยัง ...” เวลาฉันข้าว “ปิณฑะปาโต ... จะ ปุคคะโล ... นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ ฯ” แปลเป็นภาษาไทยด้วย เป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่งไปด้วยกัน อาเจียนออกมามีบางคนนะ พอพูด “ยะถาปัจจะยัง ...” มีพระบางรูปมาบอก โอ๊ย! อย่าพาสวดเลยหลวงพ่อ มันอาเจียน มันเครียด ไม่อยากฟัง เวลาสวดเฉย ๆ ก็ปรุงแต่งไปจนถึงอาเจียนออกมา (หัวเราะ) พูดเฉย ๆ ฟังเฉย ๆ เห็นเฉย ๆ เกิดกิเลสตัณหา อยากได้อยากมี มันมีความเบื่อ มันมีความไม่เบื่อ ในอาการต่าง ๆ ที่มันเกิดกับกายกับใจเนี่ย เราจึงฝึกหัด ถ้าใช้ถูกก็เป็นประโยชน์ ถ้าใช้ไม่ถูกก็เป็นโทษ
บางทีสอนดี ๆ ห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ก็โกรธ ห้ามไม่ให้กินเหล้าก็โกรธ อย่ามาห้ามผมเลยหลวงพ่อ ผมอยู่ได้เพราะอันนี้แหละ ถ้าไม่ให้ผมกินเหล้า ผมฆ่าคนตายวันละหลายคนแล้ว ผมว่ามันดี ถ้าได้กินเหล้าแล้วมันดี ใจมันดี ถ้าไม่ได้กินเหล้ามันเดือดร้อน อย่ามาห้ามผมเลย ตัวใครตัวมัน ผมรู้ตัวเองดีกว่า
แม่หลวงพ่อบุญธรรม มาเอาแม่ไปปฏิบัติธรรมที่พุทธยาน เมืองเลย หลวงพ่อบุญธรรมก็เอาแม่ไป หลวงพ่อก็เอาแม่ไป แม่หลวงพ่อไม่กินหมาก แม่หลวงพ่อบุญธรรมกินหมาก พอไปแล้วก็บอกนี่! เลิกกินหมาก แม่หลวงพ่อบุญธรรมบอก โอ้ย! อย่ามาห้ามแม่ ถ้าไม่ให้กินหมากก็อย่าให้กินข้าวดีกว่า (หัวเราะ) ว่าเอาอย่างนั้นเลย ถ้าไม่ให้แม่กินหมาก ก็บ่ให้กินข้าวดีกว่า บ่แม่นดอกแม่ บ่แม่นจักหน่อย (...) ไม่ใช่แม่พูดนะ หมากมันพูดดอกแม่ แม่ไม่ได้พูดแบบนี้ดอก หมากมันพูด ให้กินหมากก็ไม่กินข้าว หมากมันพูด ไม่ใช่แม่พูด เอาไปเอามาก็ช่วยกันไปช่วยมา เลิกกินหมากได้ หน้าแดงกลับบ้านเลย (หัวเราะ)
บางทีก็ทวนกระแสอย่างรุนแรง เหมือนจับโค จับทีแรกก็วิ่ง เชือกบาดมือจนเจ็บหมดเลย การฝึกตนเองก็ต้องอดต้องทนบ้าง ให้อ่อนโยนในสิ่งที่อ่อนโยน ให้เข้มแข็งในสิ่งที่เข้มแข็ง สิ่งที่อ่อนโยนกลายเป็นการอ่อนแอ สิ่งที่เข้มแข็งกลายเป็นแข็งกระด้าง ก็ไม่ค่อยดีนะ เวลามันหลง รู้ หัวเราะยิ้ม ๆ สักหน่อย เวลามันโกรธ ยิ้ม ๆ สักหน่อย เปลี่ยนทิศทางมัน ถ้าร้อนให้เป็นเย็นสักหน่อย เอาไปเอามามีนิสัยได้ ง่าย ๆ นี่การฝึกตนสอนตนนะ เอาจริง ๆ เราจะไม่มีแล้ว เราจะไม่ได้อยู่ด้วยกันนะ เราคนเดียวนะ ถ้าไม่หัดซะ ให้มันเป็นเสียแล้วก็ จะเป็นภาระไป นานเท่าไหร่ไม่รู้ ถ้าหัดแล้วมันก็จบกันดี หลงเป็นครั้งสุดท้าย ทุกข์เป็นครั้งสุดท้าย โกรธเป็นครั้งสุดท้าย ภาระเป็นปัญญาไป ปัญหาเป็นปัญญาไป ได้ปัญญาเพราะมันหลง ได้ปัญญาเพราะมันโกรธ ได้ปัญญาเพราะมันทุกข์ แต่ก่อนปัญหาเป็นปัญหา ทุกข์เป็นทุกข์ หลงเป็นหลง นี่มันหัดได้อย่างนี้ ชีวิตของเรานะ
ขอท้าทาย ชีวิตของเรา ขอร่วมมือ ขอพูดตามพระพุทธเจ้าของเรา พระศาสดาของเรา พระศาสดาของเราเห็นเรื่องนี้ สอนเรื่องนี้ พระสาวกทั้งหลายก็รู้เรื่องนี้กัน มีแต่ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น มีแต่ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ มีแต่ทุกข์เท่านั้นดับไป มันจะเหลืออะไรบัดนี้ เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป ก็ไม่มีอะไรเหลือ อย่างเราสวดพระสูตร สาธยายพระสูตร
ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นตัว “ทุกข์”
รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญานัง อนิจจา อนิจจัง (รูปัง) อนัตตา
อนิจจังไม่เที่ยง อนัตตาไม่ใช่ตัวตน สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนัตตา แสดงว่าใช้ไม่ได้ เปลี่ยนได้ เอามาเป็นปัญญา อนิจจาเอามาเป็นปัญหา เป็นทุกข์เป็นโทษ อนิจจาเอามาเป็นปัญญา อนัตตาเอามาเป็นปัญญา อนัตตาเอามาเป็นทุกข์เป็นโทษ เราเสียใจร้องไห้เพราะอนัตตา เราเสียใจร้องไห้เพราะอนิจจัง ในความไม่เที่ยง ในความเป็นทุกข์ในสิ่งทั้งหลาย พระพุทธเจ้าเอาเรื่องนี้มาเป็นนิพพาน ไม่ใช่เอามาเป็นปัญหา เป็นปัญญาไปเลย เป็นเรื่องนี้แท้ ๆ
พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ มีทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ดับทุกข์ ดับทุกข์ได้แล้ว เราพ้นภัยมาทุกวันนี้เพราะเราเห็น เห็นงู งูไม่ได้กัดเรา เห็นภัย เราก็ไม่มีภัย ข้ามถนนหนทาง เราเห็นรถเห็นรา เราก็ไม่ถูกรถชน เราเห็น อันนี้เห็นเป็นวัตถุในโลก ถ้าเห็นที่เป็นปัญญา เห็นแจ้งเป็นวิปัสสนา มันเห็นรอบโลก ในกายในใจอันเดียวกัน ทุกคนเห็นอันเดียวกัน ทุกคนก็หมดปัญหาอันเดียวกัน อยู่กันด้วยความสงบร่มเย็น ถ้าไม่เห็นตรงนี้ก็มีปัญหาต่อตัวเอง ปัญหาต่อคนอื่นเรื่อยไป
เราจึงมาดู ถ้าไม่ดูก็ไม่เห็น ปล่อยให้มันเป็นแล้ว เกิดแล้วจึงเห็น มันก็ไม่ทัน บางทีแก้ไม่ได้ เช่น เราเจ็บไข้ได้ป่วยจึงไปหาหมอ มันก็แก้ได้บ้าง แก้ไม่ได้บ้าง ป้องกันดีกว่าการแก้ไข เห็นไว้ก่อน ความไม่เที่ยง เห็นตั้งแต่หนุ่ม ๆ สาว ๆ โน่น ตัวไม่ใช่ตัวตน เห็นมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ สาว ๆ โน่น เราเห็นความไม่เที่ยงต่อเมื่อแก่เฒ่า เหมือนนางสิริมา
สมัยครั้งพุทธกาล มีชื่อสิริมา หลายคนนะ แปลว่าคนงาม นางสิริมหามายา ราชเทวีของพระเจ้าสุทโธทนะ สิริมหามายา นางสิริมามีหลายคน ชอบสวยชอบงาม (พระนางเขมา) เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร แต่ว่าพระเจ้าพิมพิสารชวนไปวัด ไม่อยากไป กลัวจะเศร้าหมอง อยู่ในห้อง ตบเนื้อแต่งตัวอยู่เสมอสวยงาม พระเจ้าพิมพิสารก็รำพันเรื่องความสวยงามของเวฬุวัน ให้สิริมา(พระนางเขมา)ฟัง เวฬุวันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ มีสระสวยงาม มีกอไผ่ เหมือนดงไผ่ท่านติ๊กอ่ะนะ (หัวเราะ) เดินไปทางโน้นนะ สวยงามอย่างนั้นอย่างนี้นะเวฬุวันเนี่ย ถ้าไม่เห็นแล้วจะพลาดโอกาสแล้ว มีพระพุทธเจ้า มีเหล่าพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย อยู่แถบนั้น สง่างาม มีสระ รอบสระเป็นถนนหนทาง ทางทิศตะวันตกของสระเป็นต้นไม้ใหญ่ ทางทิศใต้ของสระเป็นป่าไผ่ ทิศใต้ตะวันออกเป็นป่าไผ่ ทางทิศเหนือเป็นที่อยู่ของหมู่สงฆ์ เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม พรรณนาเรื่องความงามของเวฬุวันให้สิริมา(พระนางเขมา)ฟัง
ผลที่สุดสิริมา(พระนางเขมา)ก็มาดู พอมาดูก็ พระพุทธเจ้าก็เตรียมท่าจะสอนสิริมา(พระนางเขมา) เกิดนิมิต “นิมิตตัง สาธุรูปานัง...” เกิดขึ้น เวลาพระพุทธเจ้านั่งพำนักอยู่ สิริมา(พระนางเขมา)มากราบไหว้(กับ)พระเจ้าพิมพิสาร เกิดนิมิตคนงามสาวงาม นั่งฟังเทศน์พระพุทธเจ้าอยู่ก่อนแล้ว สิริมา(พระนางเขมา)เห็นผู้หญิงคนนั้นสวยงามที่สุด นึกว่าตัวเองงามที่สุดแล้ว สู้คนนั้นไม่ได้ เหมือนนันทะเห็นสาวงาม ทีแรกก็นึกว่าเมียของตัวเองงาม พอเห็นคนที่หนึ่งคนที่สองก็งามกว่าเมียเจ้าของ สิริมาเห็นคนนั้นนั่งฟังเทศน์อยู่ก่อน งามที่สุด สิริมา(พระนางเขมา)ไม่ได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์เลย มองจ้องอิจฉาใช่ไหม คนงามน่ะอิจฉากันนะ ถ้าเห็นเขางามกว่าตัวเองก็อิจฉากัน ก็หลบหลีกได้ หลวงตาเป็นคนขี้เหร่ เวลาไปจีบสาวถ้าเขางามกว่าหลบ (หัวเราะ) สิริมา(พระนางเขมา)ก็คิดเหมือนกันนะ เห็นพระเจ้าพิมพิสารก็ กลัวพระเจ้าพิมพิสารจะชอบคนนั้นมากกว่าเรา อิจฉาทันที เอาไปเอามา หญิงคนนั้นก็ ดูไป ดูไปก็แก่ลง แก่ลง ๆ ๆ ๆ ๆ หน้าเหี่ยว หนังย่น หนังยาน ผมหงอก ต่อมาหญิงคนนั้นก็ตายไป เหม็นเน่า เกิดนิมิตขึ้นมา กระดูกผุพังกอง สิริมา(พระนางเขมา)สะดุ้งขึ้นมา โอ! เราเนี่ยจะมาเพลินอยู่ในความงามของเรา มันต้องแก่ ต้องเฒ่า ต้องเจ็บ ต้องตาย หันมา เศร้าหมอง สลดใจมาก ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายแน่นอน จะงามขนาดไหน เป็นไปไม่ได้ มันเกิดนิมิตขึ้นมา ในที่สุดปฏิบัติธรรม ไปกับพระเจ้าพิมพิสาร ไปฟังเทศน์ฟังธรรมทุกวัน ได้บรรลุธรรมเลย ใช่มั้ย เพราะความงามแก้ความงาม มองถึงความงาม มองถึงความไม่งาม อย่าหลงในความงาม อย่าหลงในความไม่งาม มันไม่ได้ทั้งสองอัน
หลายคนชื่อสิริมา สิริมาอีกคนหนึ่งคนงาม พระสงฆ์นะชอบ เห็นสิริมาคราวใดใจไม่หยุดไม่หย่อน พระก็มีกิเลสเหมือนกันนะ พระสงฆ์ทั้งปวงเนี่ยติดใจเพราะเห็นสิริมานะ ก็ชอบสิริมามาก สิริมานี่เขาเรียกว่าคนงามเมืองนะ แต่งงานไม่ได้ เกิดสงคราม ต้องเป็นคนกลาง ๆ ใครมีเงินมีทองก็มาสมสู่ได้ เกิดโรคตายลง ก็เล่าลือถึงคนทั่ว ๆ ไป เพราะคนงามที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด พระพุทธเจ้าเลยบอกให้เอามา ตายปัจจุบันนะ บอกให้เอามาวางไว้ป่าช้าผีดิบ ไม่ต้องฝังไม่ต้องเผาให้พระไปดู ตอนแรกที่เป็นคน มีแต่คนต้องการ พอตายลงไป มอบให้ใครก็ไม่เอา เหม็นเน่า ๆ ขึ้นมา น้ำเหลืองน้ำไหล ยกให้ใครก็ไม่เอา ผลที่สุดพระสงฆ์ก็เอากิเลสทำลายกิเลสตรงนั้นได้ แต่ก่อนชอบสิริมาเป็นจิตเป็นใจเลยทีเดียว เรียกว่ามองอะไรให้มันเป็น จากสุดโต่งมองเป็นกลาง ๆ รู้สึกตัวไว้ อย่าให้มันหลงขนาดนั้น เสียเวลา รักก็อย่าหลงในความรัก เกลียดก็อย่าหลงในความเกลียด มันสุขก็อย่าหลงในความสุข มันทุกข์ก็อย่าหลงในความทุกข์
วันนี้ก็เป็นวันธรรมสวนะ เป็นข้าวกระยาสารท ภาษากลาง ๆ เขาเรียกว่า กระยาสารท ภาษาภาคเหนือเรียกว่า สลากภัต ภาษาทางใต้เรียกว่า บุญตายาย ใช่ไหม ใครอยู่ทางใต้นะ บุญตายาย ถ้าทางตอนเหนือของเรา สลากภัต งานบุญวันนี้ พระต้องเอาล้อน้ำเข็นของเข้าวัดกัน แถว ๆ เมืองเลยเนี่ย เขาไม่ทำวันเดียวนะ เพราะว่าพระมีน้อย คนศรัทธามาก บ้านหนึ่งสองร้อยสามร้อยหลังคาเรือน สลากภัตเกิดขึ้น ทุกคนต้องทำบุญ แล้วพระน้อย เวลาพระน้อยก็ต้องให้เอารวมกัน วันนี้เอาวัดนั้น วันนี้เอาวัดนั้น วันนี้เอาวัดนั้นเรื่อยไป สลากภัต จับฉลาก มีพระกี่รูป เห็นพระวัดเราก็มากหน่อย พอที่จะวัดเหวี่ยงกับชุมชนได้ แต่ถ้าเอามาจับฉลากนี่ เต็มทีแล้วบ้านเรา ๔๐ หลังคา พระอาจจะมากกว่าด้วย (หัวเราะ) แต่วัดบางวัดพระน้อยบ้านใหญ่ จับสลากภัต ให้ชาวบ้านมาจับฉลาก จะได้พระรูปใดเขียนใส่บาตร ฉลากจับเอาไป แต่ว่าพระมี ๓ รูป ๔ รูปนะ คนตั้ง ๒๐๐ คน เอาจับ ๓ ครั้ง คน ๓๐๐ คน จับ ๓ ครั้ง เพราะว่าพระมีน้อย (พูดไม่ถูกจับยังไง) เมื่อจับได้พระ ๔๐ – ๕๐ คน ต่อพระรูปเดียว แล้วก็มากันมากนะ สลากภัตของเขา เขาไม่ได้ทำน้อย ๆ นะ มีทุกอย่างเลย ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอนหมอนมุ้ง หลวงตาเคยไปรับเหมือนกัน ได้ใส่รถเข็นมาวัด บางทีสมัยหลวงตาไปรับ ที่สมัยเมืองเลยนะ เขามีโสร่งให้ด้วย โสร่งผ้าไหม งามนะ หลวงตาองค์หนึ่งนั่งอยู่ใกล้ ๆ แลเห็นของกองของหลวงพ่อมีโสร่ง สะกิดหลวงตา ผมขอเปลี่ยนโสร่งด้วยนะ ผมจะขอเปลี่ยนโสร่ง เอาอะไรก็ได้ ผ้าห่มนวมอะไรก็ได้ ได้ ๆ ไม่เป็นไร เดี๋ยว ๆ เอาไว้ก่อน พอเสร็จหลวงตาก็ให้เขาเอาโสร่งไป ไม่ต้องเปลี่ยนเอาไปเลย เอาล้อน้ำเข็นมาเลยทีเดียวนะ สลากภัตนะ ถ้าบ้านภาคใต้เรียกว่าบุญตายาย บุญตายายก็ทำทุกอย่าง บ้านเราเรียกว่า กระยาสารทธรรมดา ๆ แจกข้าวสาก ข้าวสาก ตอนกลางวันไม่มีกล่องข้าว ไม่มีปิ่นโตนะ ไปเดินห่อข้าว ห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ สมัยโบราณ แม่นบ่ ห่อข้าวใหญ่มาให้พระ ห่อข้าวน้อยไปแจกข้าว นี่เรียกว่า ตามประเพณีของคนอีสานบ้านเรา เป็นประเพณีสืบกันมาตั้งแต่สมัยครั้งพระพุทธเจ้า