แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกันเด๊อ เพื่อให้เป็นส่วนประกอบกับการปฏิบัติ พูดก็พูดสิ่งที่อยู่กับเรา เราได้ยินในสิ่งที่เราได้ทำ เราได้ทำในสิ่งที่เราได้ยิน มันก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี การปฏิบัติธรรมนี้เป็นส่วนตัว หลงก็หลงเอง รู้ก็รู้เอง ไม่มีใครช่วยเราได้ การปฏิบัติธรรมศึกษาวิชากรรมฐานนี่ ไม่ต้องไปใช้เหตุใช้ผล เอาผิดเอาถูก เสียเวลา ไม่ต้องใช้สมองหัวคิดอะไรต่างๆ เป็นการกระทำล้วนๆ เรียกว่ากรรมฐาน แล้วก็การเห็นก็ไม่ใช่แบบคิดเห็น เป็นการพบเห็น ถ้าคิดเห็นยังไม่เป็นของจริง ถ้าพบเห็นมันจริงเดี๋ยวนี้ ต่อหน้าต่อตาเดี่ยวนี้ ถ้าคิดเห็นมันอยู่ไกลอยู่ มันอยู่นอกตัวเรา ไม่ใช่เรื่องในตัวเรา ถ้าพบเห็น มันอยู่ในตัวเรา
อะไรก็ตามที่มันพบเห็น เราก็ไปเกี่ยวข้อง ถ้าว่าพบเห็นมันก็ถูกต้องแล้ว ไม่ต้องไปใช้เหตุผลตรงนั้น เช่น เห็นความหลง ทำไมมันจึงหลง ไม่ต้องไปคิดแบบนั้น ถ้าเห็นมันหลงล่ะก็ มันหลง รู้ทันที อันเดียวภาษาเดียว รู้ว่าทำไมมันจึงหลง ไม่น่าจะหลง มันก็เนิ่นช้าไปแล้ว มันจึงมีการพบเห็น เห็นก็ไม่ใช่มีคำถาม ไม่ใช่มีเหตุผลเข้าไปเกี่ยวข้อง เห็นแจ้งด้วย นี่คือตัวรู้ นี่คือตัวหลง นี่คือทุกข์ นี่คือสุข นี่คือรู้ นี่คือไม่รู้ นี่ นี่ ภาษานี่ จึงจะเรียกว่าเห็นธรรม ไม่ใช่รู้ธรรม ดวงตาเห็นธรรม ไม่ใช่ตาเนื้อ เป็นตาสติปัญญา เห็นเข้าไป เห็นกาย มีคำถามหรือเปล่าเห็นกาย ลองเอามือวางไว้บนเข่า เห็น ไม่มีคำถาม พลิกมือขึ้น รู้เห็น ถ้าเป็นภาษาที่ซ้ำลงไป ก็รู้เห็น พบเห็น เคลื่อนมือไปมา รู้เห็น ไม่มีที่ลับ ไม่มีที่ลี้ เรื่องของกาย
เรื่องของจิตใจ มันคิดขึ้นมาก็เห็น ถ้าเห็นกายเป็นฐานแล้ว การเห็นใจก็เห็นได้ง่าย เห็นใจคือเห็นมันคิด การคิดคือการเคลื่อนไหวของจิตใจ มันเคลื่อนไหวเป็นเหมือนกันนะ จิตใจน่ะ มันคิด ภาษาของการคิดคือภาวะที่คิดว่า คิดก็คือเรื่องเดียว ไม่ใช่หลายเรื่อง แล้วก็เห็นสั้นๆ แล้วก็กลับมาอยู่กับกายเคลื่อนไหวให้ทันที เหมือนเราเปิดประตู ปิดทันที เหมือนเราทำอะไรผิด แก้ทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้ จึงจะเรียกว่าปฏิบัติ
ปฏิบัติคือกลับ คือเปลี่ยน
ปฏิบัติคือเปลี่ยน เปลี่ยนอะไรให้เป็นสภาวะที่รู้ทั้งหมด มันสุขก็รู้ มันทุกข์ก็รู้ ถ้าจะเป็นภาวนาคือเปลี่ยนร้ายเป็นดี ภาวนาคือเปลี่ยนร้ายเป็นดี ภาวนาคือขยันรู้ รู้ตรงที่มันหลง รู้ตรงที่มันไม่รู้ เรียกว่าภาวนา ตรงไหนที่มันไม่รู้ รู้ตรงนั้น ถ้ามันเกิดขึ้น ถ้ามันไม่เกิดขึ้นก็ให้รู้เรื่อยไป มันหลงเป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความสุขความทุกข์เป็นเหตุให้เกิดความรู้ เปลี่ยนตะพึดตะพือไป เพื่อให้ได้นิสัยได้ปัจจัย อันมีนิสัยมีปัจจัยตรงนี้ด้วย
มันหลง รู้นี่ มีนิสัยแล้ว มีปัจจัยแล้ว มันมีนิสัยมีปัจจัยเพื่อถึงมรรคผลนิพพาน มันก็จะไม่มืดมนต่อไป จะเป็นกระแสไป กระแสแห่งความรู้ รู้เห็น มันหลงแล้วหลงอีก ก็รู้แล้วรู้อีก ก็ชำนาญตรงนี้ด้วย ชำนาญตรงที่มนหลง ชำนาญตรงที่มันรู้ ทีแรกอาจจะเปลี่ยนเหมือนกับหน้ามือหลังมือ ต่อไปไม่ต้องไปมีเจตนาตรงนั้น มันเป็นไปเอง มันเปลี่ยนของมันเอง ความถูกต้องความเป็นปรมัตถ์ มันต้องเป็นในตัวของมันเอง ไม่ใช่ไปเอาอันอื่นมาเป็นปรมัตถ์ ในความหลงก็มีความไม่หลง ความหลงไม่ใช่ปรมัตถ์ ความรู้สึกตัวนี่ ความไม่หลงนี่เป็นปรมัตถ์ ความหลงนี่เป็นสมมติ ความรู้เป็นปรมัตถ์ ความโกรธเป็นสมมติ ความรู้เป็นปรมัตถ์นั่นแหละ อะไรที่มันเกิดขึ้นกับเรา เราสัมผัส การสัมผัสแบบนี้ไม่ต้องมีคำถาม ไม่ต้องมีเหตุผล เห็นรูปทำ เห็นนามทำ เห็นรูปทำ เห็นนามทำ เห็นอะไรมันบอกไปหมดเลย ไม่ใช่มีปัญหาเหมือนกับเราศึกษาวิชาทางโลก เห็นอะไร ภาวะที่เห็นมันบอก อันนี้คืออะไร อันนี้คือความไม่เที่ยง ไม่มีไปถามใคร ความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงมันบอก
เมื่อเห็นความไม่เที่ยง มันไม่ใช่เห็นเหมือนกับเห็นรูป มันฉลาดมีปัญญา เห็นความเป็นทุกข์ ไม่ต้องมีคำถาม มันก็เป็นปัญญาในตัวของมันเอง เรียกว่าศึกษาธรรม ศึกษาคือถลุง คือย่อย ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ย่อยออก ศึกษาคือย่อยออกจนเห็นทุกข์ ทุกข์มันเป็นก้อน ถ้าเห็นแล้วก็หมดไปแล้ว มันถลุงออกมาแล้ว มันเป็นการเห็น ถ้าทุกข์น่ะ มันเป็นก้อน ถ้าเห็นทุกข์ ความทุกข์ก็หมดไป เป็นปัญญาไปแทน มันง่ายๆ
การศึกษาธรรมน่ะ ปฏิบัติธรรมน่ะ ไม่ต้องใช้สมอง ไม่ใช้เหตุผล ไม่ใช้เรี่ยวแรงกำลัง หนุ่มสาวเฒ่าแก่เพศวัยไม่เกี่ยว มันเป็นพลังในตัวของมันน่ะ เช่น ความรู้สึกตัวน่ะ อยู่กับคนหนุ่ม อยู่กับคนแก่ อันเดียวกัน ไม่มีคำว่าหนุ่ม ว่าแก่ ในความรู้สึกตัว คำว่ารู้สึกตัวไม่มีเพศภาวะอะไร ไม่ต้องเอามาอ้าง ในขณะที่มันเจ็บมันป่วยก็รู้ได้ ยิ่งดีใหญ่ ไม่เหมือนอันอื่น สิ่งเหล่านี้ มันจึงควรที่จะศึกษากันบ้าง เพราะชีวิตของเรามันนอนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่รู้ มันก็เป็นพิษเป็นภัยต่อเรา ในความทุกข์ ในความไม่เที่ยง ในอะไรต่างๆ มันเกิดขึ้นต่อเราได้ เป็นโทษเป็นภัยกับตัวเรา ต่อคนอื่นได้ จึงไม่มีอะไรที่เราจะต้องลังเลสงสัย ทำแบบนี้มันเป็นแบบนี้ เราจึงมาสร้าง เราจึงมาประกอบ ความรู้สึกตัวเป็นการบุกเบิกเซอร์เวย์ไป จะเอาผิดเอาถูก จะเอาชอบไม่ชอบ สำคัญมั่นหมาย ทำซื่อๆ ทำล้วนๆ มีกรรมล้วนๆ รู้ซื่อๆ เข้าไป ให้มันตรงๆ เข้าไป ปฏิบัติตรง มันหลงก็รู้ มันตรงต่อกัน ในความหลงมันมีความรู้ เรียกว่าปฏิบัติตรง ในความรู้ก็เป็นการออกจากทุกข์
ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติดี จะรู้ที่ใด ที่นั่นก็มักจะสะอาด เหมือนไม้กวาด ไม้กวาดผ่านไปที่ใด ตรงนั้นก็สะอาด
ความรู้สึกตัวไม่ใช่รู้เฉยๆ รู้ที่กายก็ชำนาญในกาย รู้ที่จิตก็ชำนาญในจิต รู้ที่เวทนาก็ชำนาญในเวทนา รู้ที่ธรรมก็ชำนาญในธรรม ถ้า 4 ด่านนี้มันกักขังทำให้หลง ตรงนี้ก็ไม่หลง ตรงที่มันหลง มันไม่หลง ความไม่หลงมันเป็นไปครั้งเดียว นี่คือกาย คำว่ากายไม่หลงเลย นี่คือเวทนา คำว่าเวทนาไม่หลงเลย นี่คือจิต คำว่าจิตไม่หลงเลย แต่ก่อนมันเป็นดง มันหลง เหมือนเราเดินทาง ตรงไหนที่มันหลง มันเกิดความชำนาญตรงนั้น มันใส่ใจ ถ้าหลงครั้งเดียว ครั้งหน้าก็ชำนาญไปเลย คนที่ไม่เคยเดินทางก็ไม่เห็นความหลง ไม่รู้จักผิด เหมือนคนไม่เคยทำงานก็ไม่รู้จักผิด คนนี้ทำงานต้องผิดต้องหลง
ความผิดความหลงมันไม่ใช่เรื่องธรรมดา ประสบการณ์บทเรียนตรงนั้นด้วย มีบทเรียน เวลามันหลงมีบทเรียนประสบการณ์ตรงนั้น บทเรียนนี้ได้จากการกระทำ ไม่ใช่บทเรียนจากทัศนศึกษา เห็นทางตาทางหู คนอื่นบอกเล่า เหมือนหลวงตาไปเที่ยวอินเดีย คนอื่นบอกเล่า แต่ว่าการเห็นธรรมไม่เหมือนการไปเห็นแบบนั้น ไม่มีใครบอกเล่า เราจึงง่ายๆ ทำสบายๆ อย่าไปตั้งกฎตั้งข้อ เอาผิดเอาถูก เอาจริงเอาจัง แข่งขันกับใคร ทำแบบยิ้มแย้มแจ่มใส เวลามันหลงอาจจะหัวเราะความหลงได้ สิ่งแวดล้อมในความหลงสร้างขึ้นมา เวลามันหลงแทนที่จะไปเป็นผู้ผิด ไม่ใช่ เวลามันหลงจะเป็นความรู้ลึกซึ้งตรงที่มันหลง ความหลงไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะต้องตั้งข้อรังเกียจ รู้แล้ว คำว่ารู้แล้วไม่ใช่รังเกียจ
มันหลง - รู้แล้ว มันสุข - รู้แล้ว มันทุกข์ - รู้แล้ว
ถ้ามันหลง ไม่น่าจะหลง ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่น่าจะเป็นแบบนี้ อันนั้นมันไม่ใช่ ไม่ได้ประโยชน์ มีแต่เป็นโทษ การศึกษาธรรมะน่ะ มันได้ผลทันที มีความรู้สึกตัว ก็รู้ทันที พลิกมือขึ้นก็รู้ทันที ยกมือ คว่ำมือ วางมือ รู้ทันที ทันที ปัจจัตตัง ไม่ต้องรอ ไม่เหมือนศึกษา ไม่เหมือนทำงานอันอื่น ทำงานอื่นต้องรอเป็นหลายวัน เป็นเดือนเป็นปี แต่กรรมฐานไม่ต้องรอ การกระทำเกิดขึ้นก็มีพร้อมทันที ไปด้วยกันทันที อยู่ด้วยกันทันที ไม่มีอะไรจะศักดิ์สิทธิ์เท่ากับวิชากรรมฐาน เป็นวิชาศึกษาทางลัดๆ ทางลัด รู้ก็รู้ทันที ไม่ต้องไปท่อง สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว ก็อ่านหนังสือ มันอยู่กับเราแล้ว กายก็อยู่ในตัว เวทนาก็อยู่นี่ มันโชว์ เมื่อเราดู มันก็โชว์ เวลามันโชว์ออกมา กายมันก็โชว์ ไม่ใช่กายธรรมดา มันโชว์หลายอย่าง แสดงหลายอย่าง เป็นตัวเป็นตนอยู่กับกาย เป็นตัวเป็นตนอยู่กับเวทนา เป็นตัวเป็นตนอยู่กับความคิดจิตใจ มันไม่ใช่เรื่องเดียว เรื่องกายก็มาก เรื่องใจเรื่องเวทนาก็มาก เรื่องจิตก็มาก เรื่องธรรมก็มาก เป็นกุศล เป็นอกุศล ง่วงเหงาหาวนอน สงบ ฟุ้งซ่านหลายอย่าง เรียกว่าธรรมเกิดขึ้นกับตัวเราได้ เราก็เห็นแล้ว เห็นแล้ว มันก็เรื่องเดียว
เราจึงมาศึกษากัน เป็นภาคปฏิบัติบ้าง เป็นภาคการกระทำบ้าง เป็นภาคทฤษฎีบ้างเล็กน้อย เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี อย่างนี้ก็ได้ แล้วหัวเราะพอใจ เห็นอย่างนี้ไม่ใช่เห็นแบบฟุ้งซ่าน เห็นแบบเป็นพลัง เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ไม่ใช่เห็นแบบเวลาเรานั่ง นั่งยกมือสร้างจังหวะ มันคิดไป ทำไมมันจึงคิด ก่อนหน้าจะคิดมันเป็นอะไร มันไปอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ไปลำดับ
เหมือนนกจับกิ่งไม้ มันบินหนีไปแล้ว แต่เราจะไปลูบคลำตรงรอยนก มันจับตรงไหน มันไม่มีประโยชน์ ไปแล้วก็แล้วไป อันนั้นไม่ใช่สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ไปเอาวัตถุอันอื่นมาเป็นสิ่งกำหนด ไม่ใช่
ต้องปฏิบัติ ต้องศึกษา ต้องเห็นแจ้งในอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเรา เรียกว่าอาการ มันเบาๆ ถ้าเรียกว่า สุขทุกข์ ร้อนหนาว มันก็หนัก ถ้าเห็นเป็นรูปเป็นนาม แล้วเห็นเป็นอาการ อาการของรูป อาการของนาม ถ้าเห็นเป็นความโกรธ ไม่ใช่อาการ เป็นโกรธ เป็นผู้โกรธ มีตัวมีตนอยู่ในความโกรธ มีตัวมีตนอยู่ในความทุกข์ มีตัวมีตนอยู่ในความสุข มีตัวมีตนอยู่ในความรักความชัง มีตัวมีตนอยู่ในความผิดความถูก ความได้ความเสีย ความพอใจความไม่พอใจ เรื่องมันก็เป็นภพเป็นชาติอยู่ตรงนั้น ถ้าเป็นอาการ ภพชาติก็ไม่มี อาการไม่มีตัวมีตน ไม่มีภพมีชาติ สิ้นภพสิ้นชาติ
แต่ก่อนมันเป็นตัวเป็นตน เป็นกู พอเห็นเป็นอาการ มันก็ไม่มีกู มันเป็นอาการเกิดขึ้น สิ้นกรรมได้ ไม่มีกรรมแล้ว ไม่มีเวรได้ ถ้ายังสุขก็ยังมีกรรมอยู่ ถ้ายังทุกข์ก็ยังมีกรรมอยู่ ถ้ายังมีความรักความชัง พอใจไม่พอใจ เรียกว่ามีกรรมอยู่ ถ้าเห็นล่ะก็ ไม่มีกรรม สิ้นกรรม สิ้นเวรสิ้นกรรม หมดบาป ถ้าเป็นใจก็เป็นใจดีกว่าเก่า ไม่มีแผลแห่งความรัก แผลแห่งความชัง แผลแห่งความสุขความทุกข์ แผลแห่งความพอใจ แผลแห่งความไม่พอใจ จะไม่มีเลย.