แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เล่าสู่กันฟังเนาะ เพื่อให้เป็นส่วนประกอบกับการศึกษาปฏิบัติธรรมที่เรากำลังทำกันอยู่ และเราได้ยินสิ่งที่เราได้ทำ ให้เราได้ทำในสิ่งที่เราได้ยิน และก็สำรวมกัน เราก็อาศัยสื่อสารภาษาที่รู้เรื่องกัน เวลานี้เรามาปฏิบัติธรรมกัน ทำไมถึงปฏิบัติธรรม ถ้าเราจะถามก็ต้องถามตัวเอง ทำไมเราจึงหลง ทำไมเราจึงทุกข์ ทำไมจึงโกรธ จึงโลภ ทำไมต้องเกิดต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย พอคิดเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตายแล้วก็ ทุกข์ก็มีบ้างแล้ว ไม่มีทางอื่นที่จะต้องไม่ทุกข์เรื่องนี้ มีมั้ย หาคำตอบเป็นการบ้านของพวกเรา ดังพระสิทธัตถะ ที่ทรงผนวชออกศึกษาเรื่องนี้ เพราะไม่ยอมจำนนต่อการเกิดแก่เจ็บตาย มันต้องมีแน่นอน เมื่อมีแก่ ต้องมีไม่แก่ เมื่อมีเจ็บ ต้องมีไม่เจ็บ เมื่อมีตาย ต้องมีไม่ตาย เมื่อมีทุกข์ ก็ต้องมีไม่ทุกข์ มันต้องเป็นคู่ สุ่มหาลองดู มองเป็นคู่ไว้ก่อน
เราเคยศึกษาเรื่องคู่มั้ย เวลาเราทุกข์ ความไม่ทุกข์มีมั้ย ลองศึกษาตรงนี้ลองดู ทำลองดู เราจึงต้องมีการฝึกหัด ยามสงบเราฝึก ยามศึกเราก็รบได้ บางทีเราไม่เคยฝึกตัวเองเลย ถึงคราวเจ็บคราวแก่ ความตาย มันจะทำยังไง เราไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้ ไม่เคยเห็นกระแส ไม่เคยมองทิศทางที่จะต้องไป จึงมีการเจริญสติกัน เป็นฐานเบื้องต้น การมีความรู้สึกตัวเนี่ย มันป้องกันการเกิดแก่เจ็บตายได้ไง อย่าเพิ่งไปหาคำตอบ เหมือนเราเรียนหนังสือ
สมัยก่อนเป็นเณร ก็เรียนหนังสือนักธรรม เขาก็บอกว่าวินัยบัญญัติอนุศาสน์ 8 อย่าง ก็เพราะว่าหนังสือ ก็มาคิดแย้ง ถ้าไม่รู้จะเรียนไปทำไม พระพุทธเจ้าคงมีพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีอีก เราก็ไม่หวังจะเป็นพุทธเจ้าอะไร เสียเวลาเปล่า มันก็คิดไปทำนองนั้น แต่หารู้ไหมว่า จากที่เราท่องนวโกวาท มันก็เป็นชีวิตของเราทั้งหมดเลย การเจริญสติก็เหมือนกัน มันก็เป็นชีวิตของเรา มันแยกกันไม่ออก เพราะสติกับกายกับใจ มันให้ความเป็นธรรมต่อกัน อาจจะเป็นคำพูดว่า สติรำลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว เป็นคำพูด แต่เมื่อเราสัมผัสจริงๆไม่ใช่คำพูดเสียแล้ว เป็นการกระทำลงไป
ก่อนพูด ก่อนทำ ก่อนคิด มีความรู้สึกมีความระลึกได้ เหมือนว่าปลอดภัย ไม่ไปเป็นลุ่นๆ มีสิ่งที่พาให้เราถูก มีสิ่งที่ดูแลเราช่วยเราอยู่ เช่น เราอยู่ที่นี่ก็มีสิ่งที่ช่วยเราอยู่ อย่างน้อยก็มีอากาศหายใจเข้าหายใจออก อันนี้เป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ที่เปลี่ยนอากาศร้ายเป็นอากาศดีเป็นส่วนประกอบ เรานั่งอยู่นี่ หายใจเข้าหายใจออกโดยที่ไม่ตั้งใจ
การเจริญสตินี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปสร้าง มันไม่มีเหมือนกับอากาศที่เราหายใจ เราจึงสร้างมันขึ้นมา ประกอบมันขึ้นมา เอากายไปจุ่มเอา เอาใจไปจุ่มเอา ให้เกิดความรู้สึกตัวไปในกายไปในจิต ถ้าไม่หัดให้เป็น มันจะมีแต่ความหลงเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน เพราะกายเพราะจิตเนี่ยมันไม่เหมือนธรรมชาติอันอื่น มันเป็นของที่เปรอะเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมได้ เป็นจริตนิสัยต่างๆ กัน เป็นโลภะจริต โทสะจริต โมหะจริต ราคะจริต แม้แต่ความใกล้ชิดที่สัมผัสอะไรมาก ก็ไปเป็นอย่างนั้นไป เราจึงต้องมีหลักมีศาสนามีคำสอน มีกาย มีใจ กายใจนี้ทำดีได้ ทำชั่วได้ ถ้าเราจะให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คุ้มร้ายคุ้มดี มันก็ไม่ปลอดภัย เราจึงมีการฝึกฝนตนเอง จะทำยังไงถึงมีความรู้สึกตัวต่อเนื่อง ทำยังไงก็มีวิชากรรมฐาน ดังที่เราได้ทราบอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าของเราน่ะไม่มีหนังสือตำหรับตำรา เอากายเอาใจเป็นตำราเข้าไปเลย ดู มีความรู้สึก มีความระลึกได้ ทักท้วงตรวจสอบกายใจที่มันแสดงออก มันก็มีผิด มันก็มีถูก มันก็มีสุข มันก็มีทุกข์ เราก็ยอมรับทุกอย่างไม่ได้เสมอไป เราต้องแก้ไขปรับปรุงลองดู เมื่อมันหลงเราก็ไม่หลง มีความรู้ขณะที่มันหลง
เราก็ฝึกไว้ให้มันตรงกันข้าม เมื่อมันหลง มีความรู้ไปเกี่ยวข้อง เมื่อมันทุกข์มีความรู้เกิดขึ้นก็ไปเกี่ยวข้อง เมื่อมันโกรธมีความรู้เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อมันแก่ก็มีความรู้เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อมันเจ็บมีความรู้เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อมันตายมีความรู้เข้าไปเกี่ยวข้อง มันสั่งได้ ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐพัฒนาได้ เสนอการเกิดแก่เจ็บตายได้ เราจึงมาหัดเบื้องต้นโดยมีความรู้สึกตัวเนี่ย
การฝึกหัดอย่างนี้ใครก็ช่วยเราไม่ได้ เราต้องมีกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้น เป็นหมู่เป็นมิตรเป็นเพื่อนกัน ทำอันเดียวกัน บางทีก็เป็นสิ่งแวดล้อมให้กันและกันได้ คนหนึ่งเขาไม่หลง เราหลงคนเดียว คนหนึ่งเขาขยันหมั่นเพียรปรารภความเพียร เราขี้เกียจขี้คร้าน มันก็เป็นบทสะท้อนให้เราเห็น ไม่เหมือนเราอยู่คนเดียว ถ้าเราอยู่คนเดียวอยากทำอะไรก็ได้ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยจิตปล่อยใจไปทิศทางต่างๆ ถ้าอยู่กับหมู่ เอาอย่างหมู่บ้าง มันก็ดี แล้วมีคำสอน มีผู้นำพาเราฝึกตรงนี้ แล้วก็มีวิธีด้วย ยกมือเคลื่อนไหวไปมาให้มีความรู้สึกตัวเราก็รู้ได้ เป็นแก้วสารพัดนึก ความรู้สึกตัวเนี่ยสัมผัสได้ทันทีพลิกมือขึ้นก็รู้วางมือลงก็รู้ อาศัยการเคลื่อนไหว อาศัยส่วนประกอบ ไม่ใช่คิดรู้ เป็นการสัมผัสเอา ถ้ามีกายก็เอากายไปรู้ ถ้ามีใจก็เอาใจไปรู้ ให้เป็นความรู้คู่กับกายกับใจไป ให้มันติดกัน แต่ถ้าเราไม่ฝึก มันก็ติดความหลงซะมากกว่า ลองดูแลตัวเองดูซิ ความหลงกับความรู้สึกอันไหนมันมากกว่ากันที่ผ่านมานี่ เราก็ต้องดูเอาเอง ทำยังไงมันจึงจะไม่หลงก็มีอยู่แล้ว อาศัยวิชากรรมฐานนี้ ตามรูปแบบหลายๆ แบบ
แบบที่มันเป็นหมายเลขหนึ่งคือ สติปัฏฐาน เราก็ได้ทราบกันอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องจำ เอามาให้เกิดความพบเห็น เห็นมันหลง เห็นมันรู้ ระหว่างความรู้กับความหลง มันเป็นยังไง อะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นธรรมต่อกายต่อใจเรา เราก็สัมผัสดู มันจะบอก ความจริงก็บอกความจริง ความไม่จริงเขาอยู่บนความไม่จริงไม่ได้ ความไม่จริงทนต่อการพิสูจน์ไม่ได้ ความจริงมันทนต่อการพิสูจน์ได้ ใช้ได้ ความทุกข์ ความไม่ทุกข์ มีความรู้สึกตัว ไม่ใช่ไปควบคุมความทุกข์ แต่เรามีความรู้สึกตัวขณะที่มันทุกข์ ขณะที่มันโกรธ ขณะที่มันหลง ความรู้สึกตัวก็เป็นการละความชั่ว การทำความดีอยู่แล้ว ความดีก็ไม่ใช่มีวิธีอันอื่น เพียงแต่มีความรู้สึกตัว มันก็เป็นความดี ทำชั่วไม่ได้ ความรู้สึกตัวมันก็ละความชั่วอยู่แล้ว ไม่กล้าคิดอันความไม่ดี มันก็เป็นไปอย่างนี้
เหมือนเราซักผ้า ผ้าสกปรก เราไม่คิดว่าจะให้สกปรกมันออก แต่มีกรรมวิธี มีผงซักฟอก ลักษณะกิจกรรมก็ไปแช่น้ำแช่ไว้ มันก็เป็นธรรมชาติ ผงซักฟอกก็กำจัดคราบสกปรกออกได้ ไม่ต้องไปคิดหาเหตุหาผล การมาเจริญสติก็เหมือนกัน อะไรถูกอะไรผิด หาคำตอบจากความคิด ไม่ถูกต้อง แต่ต้องทำดูเสียก่อน นี่คือการกระทำ ไม่ต้องเชื่อใคร เห็นไม่มีคำถามด้วย มีแต่คำตอบ เราต้องตอบเอาเอง สภาพหลง สภาพรู้เป็นยังไง สัมผัสแล้วก็เลิกได้ด้วยตนเอง ถ้าเห็นคุณค่าของความรู้สึกตัวแล้ว ความรู้สึกตัวก็ไม่ย่ำอยู่ที่เก่า มันกลายเป็นญาณเป็นปัญญา เป็นกระแสแห่งมรรคผลแห่งนิพพานได้ เหมือนคนมีความรู้มองอะไรทะลุทะลวงตามวิชาที่เล่าเรียนมา ถ้าคนไม่รู้มองไม่ออก คนมีความรู้สึกตัวเนี่ย มันมองทะลุทะลวงไปได้ มันไม่จน ประสาความหลงเฉยๆ ก็จน ให้ความหลงอยู่กับเรา ความโกรธก็อยู่กับเรา ความทุกข์ก็อยู่กับเรา เพราะไม่รู้ไม่ศึกษา ถ้าเราศึกษาแล้วไม่มีทางเป็นไปได้
ไม่มีอะไรง่ายเท่ากับเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ ไม่มีอะไรง่ายกว่าเปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ สะดวกที่สุด เปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธ สะดวกที่สุด กระตือรือร้นในเรื่องนี้มากที่สุดเลย ถ้าเราพอรู้จัก ขยันตรงนี้ เป็นการกระทำที่ตรงนี้ก่อนอื่นใด ถ้ามันหลงก็เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ไปเลย ถ้ามันทุกข์เปลี่ยนความทุกข์เป็นความรู้ไปเลย ถ้ามันโกรธเปลี่ยนความโกรธเป็นความรู้ไปเลย มันไม่ยาก ไม่ต้องไปดุ ไปด่ากัน เมื่อมันเก่งตรงนี้แล้ว มันก็เก่งไปอีก ต่อๆ ไป เมื่อความไม่เที่ยงเกิดขึ้น เคยเป็นทุกข์กลายเป็นความรู้ไป ความเป็นทุกข์เกิดขึ้น ความเป็นทุกข์กลายเป็นความรู้ไป ความไม่ใช่ตัวตนเกิดขึ้น เคยเป็นทุกข์เพราะความไม่ใช่ตัวตน พลัดพรากจากของรัก ของชอบใจ กลายเป็นปัญญาไปด้วย ตลอดความแก่ ความเจ็บ ความตาย เกิดขึ้น กลายเป็นปัญญาไปเลย ได้บรรลุธรรมเพราะความแก่ ได้บรรลุธรรมเพราะความเจ็บ ได้บรรลุธรรมเพราะความตาย
มันเป็นแบบนี้การเจริญสติเนี่ย จึงเหนือการเกิดแก่เจ็บตาย ที่เราตั้งต้นจากความรู้สึกตัว ท่ามกลางคือความรู้สึกตัว ที่สุดคือความรู้สึกตัว เป็นไปทำนองนี้ เหมือนน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ มันไปทางอื่นไม่ได้ ความถูกก็อยู่บนความถูกเสมอไป ความผิดก็อยู่บนความผิดเสมอไป ในชีวิตของเรานั้น ไม่มีใครที่จะเอาความผิด ไม่มีใครที่จะเอาความทุกข์ ไม่มีใครที่จะเอาความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีรอยความรู้สึกตัวอยู่ในความไม่ถูกต้องทั้งหมดเลย นี่เราจะมาฝึกหัดกัน เตรียมตัวก่อนตาย เตรียมใจก่อนตาย เตรียมกายก่อนแตก เตรียมน้ำก่อนแล้งโบราณท่านว่า ถ้าเราไม่เตรียมตัวน่ะ จะจน จะลำบาก เคยเห็นมาแล้ว เราเคยเสียใจร้องไห้เพราะพลัดพรากจากของรัก ถูกความทุกข์หยั่งเอา ความไม่เที่ยงความเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์ ความแก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์ เอาไปเอามา มันไม่ทุกข์ ความไม่เที่ยงก็เป็นปัญญา อย่างที่เราสวดเมื่อกี้นี้ สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั้นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน
ความไม่เที่ยงแท้ๆ เป็นพระนิพพานได้ สัพเพ สังขารา ทุกขาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั้นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด เอ้า พระนิพพานอยู่บนความทุกข์ พระนิพพานอยู่กับความไม่เที่ยง แต่ปุถุชนเอาความไม่เที่ยงมาเป็นทุกข์ เอาความไม่ทุกข์มาเป็นทุกข์ เอาความไม่ใช่ตัวตนมาเป็นทุกข์ มันไม่เหมือนกันตรงนี้ แต่มีกาย มีใจเหมือนกัน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันมันก็มีอยู่ มันก็ต่างกันตรงที่เปลี่ยนความร้ายเป็นความดี เปลี่ยนเป็นด้วย
เราจึงมาหัดกัน ไม่ใช่ทำเล่นๆ ทำแค่นี้ล่ะ มันไปเป็นอย่างโน้น เรียกว่าเหตุมันอยู่ตรงนี้ มันเป็นผลอยู่ตรงโน้น เหมือนเรามายกมือสร้างจังหวะ กายเคลื่อนไหวเป็นเหตุ ทำให้เกิดรู้สึกตัวได้เป็นผล เป็นเหตุ เป็นผลทันที มือเคลื่อนไหวรู้สึกตัว เป็นผลแล้ว จากความรู้สึกตัว จากความรู้สึกตัวไป มันเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ไปเลย เป็นเรื่องที่ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องคิดหาคำถามมาถาม มีแต่การกระทำลงไปเลย สัจธรรมไม่มีคำถาม สัจธรรมมีแต่คำตอบ คนอื่นตอบให้ไม่ได้ เราต้องตอบเอาเอง จึงเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน
อริยทรัพย์ภายในนี่แบ่งกันไม่ได้ เกิดขึ้นอยู่กับชีวิตจิตใจของเรา จึงมีพิธีกรรมอย่างนี้ มีกิจกรรมอย่างนี้ น่าอนุโมทนากับกลุ่มพวกเรา เป็นสมัครใจ ไม่ใช่มีระเบียบกฎเกณฑ์ เหมือนบุคลากรของรัฐ เราพอใจที่จะศึกษาเรื่องนี้ มาเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะพระสงฆ์นี่ไม่สามารถที่จะลิขิตชีวิตของคนได้ แต่เป็นเพื่อนในทางกัลยาณมิตร ไม่พาหลงทิศหลงทาง เป็นผู้ที่มาอาศัยท่านทั้งหลายให้ช่วยทำความดี ถ้าจะพูดแล้วประมาณว่า เราหมดปัญญาแล้ว อาศัยพวกท่านให้ช่วยกัน ช่วยกันมีสติ ช่วยกันละความชั่ว ช่วยกันทำความดี ช่วยกันทำจิตให้บริสุทธิ์ และก็บอกต่อๆ กันไป ชวนกันไป โดยเฉพาะนับหนึ่งจากตัวเราก่อน ถ้าไม่ตั้งต้นจากตัวเราไม่มีใครที่จะตั้งต้น เราจึงมาเริ่มต้นที่เราก่อน เมื่อเราตั้งต้นที่เราแล้ว มันก็เป็นความหมดทุกข์ไป เพราะเราเป็นสัตว์สังคมอยู่ด้วยกัน เป็นคู่ผัวเมีย เป็นบุตร ภรรยา สามี พี่น้องกัน ให้เห็น ทำให้กันเห็น ทำให้กันดู อยู่กันให้เห็น พูดให้กันฟัง มันก็เป็นไปเองโดยไม่ถือวิสัยที่จะสร้างสันติสุขสันติภาพให้เกิดขึ้นต่อมวลมนุษย์เรา พวกเราจึงไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันแท้ๆ
ถ้าไม่ช่วยกันตรงนี้ ไม่รู้จะช่วยกันตรงไหน จริงๆ แล้ว เราก็ช่วยตัวเราเองกันนั่นแหละ เราเจ็บคนเดียว เราตายคนเดียว เวลาเราเจ็บทำไง เวลาเราตายทำไง หัดเอาไว้ ฝึกเอาไว้ มันมีทาง ถ้าเราฝึกดี มันเป็นแชมป์เรื่องนี้ด้วย หาแชมป์เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย มันเป็นไปได้ เป็นสัจธรรมของชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่เรามายอมแก่เจ็บตาย คอยที่จะเสียใจร้องห่มร้องไห้ ไม่ใช่เลย ไม่ใช่เด็ดขาด เราทำได้วันนี้ มันจึงเป็นวันหน้าของเรา ไม่ใช่รอวันนั้นจะมาถึง เราทำเสร็จวันนี้แล้ว เสร็จไปแล้ว สำเร็จไปแล้ว มันก็ไม่มีอะไร เป็นการเจ็บครั้งสุดท้าย แต่ไม่เหมือนการศึกษาทางโลก เช่น ความหลงเป็นครั้งสุดท้ายได้ ความทุกข์เป็นครั้งสุดท้ายได้ โกรธเป็นครั้งสุดท้ายได้ ไม่ต้องมีอีกต่อไป
เหมือนพระพุทธเจ้า เป็นปฐมภาษิตครั้งแรกว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำไม่มีอีกแล้วในชาตินี้ เป็นชาติสุดท้ายแล้ว การเกิดอีกไม่มีแล้ว การเกิดย่อมไปเป็นทุกข์ทุกคราว การเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดโลภ เกิดหลงไม่มีอีกแล้ว นี่คือการบ้านของเรา ให้มันจบไปซะ ตื่นแต่ดึก ศึกษาตั้งแต่หนุ่มแต่น้อย อย่าปล่อยให้ต้องมาแก่ มันทำอะไรไม่ได้
เลยเป็นเรื่องที่นั่งอนุโมทนากับกลุ่มพวกเรา เป็นปัญญาชน อย่าไปเชื่อ อย่ามาเชื่อหมู่หลวงพ่อหลวงตา ทำดูก่อน ทำดูก่อน สภาพที่มันหลงเป็นยังไง สภาพที่มันรู้เป็นยังไง สัมผัสความหลง ลองดู มันต้องมีแน่นอนความหลงอ่ะ เช่น เราเจริญสติเนี่ย ที่มันเคียงบ่าเคียงไหล่กัน แซงกันอยู่คือภาวะที่รู้ภาวะที่หลง หมายเลขหนึ่งเลย ตัวหลงตัวรู้ เกิดขึ้นมาให้เราเห็น ไม่ได้ปิดบังอำพรางอะไร อย่างอื่นก็มีอีก แซงไป ความปวด ความเมื่อย ความยาก ความง่าย ความผิด ความถูก แต่ความรู้สึกตัวมันเป็นยังไง ไม่มีผิด ไม่มีถูก ผิดก็รู้สึกตัวเนี่ย ถูกก็รู้สึกตัวเนี่ย มันทุกข์ก็รู้สึกตัวเนี่ย มันสุขก็รู้สึกตัวเนี่ย มันหลงก็รู้สึกตัวเนี่ย มันรู้ก็รู้สึกตัวเนี่ย ไม่เสียหาย
คำว่ารู้สึกตัวเนี่ย ดีด้วยซ้ำไป เมื่อมันหลงก็รู้ มันหลง ร้อยครั้ง รู้ร้อยครั้ง เท่ากันพอดี ไม่เสีย มันทุกข์ก็รู้ ไม่เสียหายอะไร จึงเป็นประพฤติพรหมจรรย์จริงๆ บริสุทธิ์ทุกโอกาส ถ้าความทุกข์มันเป็นเปรอะเปื้อนเราเห็นแล้วไม่ทุกข์ เห็นทุกข์ เป็นผู้เห็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นผู้มีทุกข์ มันหลง เห็นมันหลง ไม่ใช่เป็นผู้หลง เห็นมันหิว ไม่ใช่เป็นผู้หิว เห็นมันปวดมันเมื่อย ไม่ใช่เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย ออกมาดู ออกมาดูอย่างนั้น มันจึงจะอยู่เหนือโลก
โลกคือกายกว้างศอกยาววาหนาคืบเนี่ย เรามาอยู่เหนือมันได้ เราจึงมาเห็น ไม่เข้าไปเป็นกับอาการต่างๆ มันก็เหนือไป เหนือไป เหนือไป เหนือเกิดแก่เจ็บตายได้เลย ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว มันก็ไปทางนี้ สติมันไปทางนี้ ต้องหลงไปทางต่ำ ความรู้สึกตัวไปทางสูงๆ ไม่มีอะไรครอบงำได้ พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ทวนกระแสคือไปทางสูง มันคิดไปทางต่ำก็กลับมารู้สึกตัวไปทางสูงได้ จึงมามีการฝึกหัด น่าจะขยันตรงนี้ กระตือรือล้น การฝึกตนเอง มันเป็นกอบเป็นกำขึ้นมา ให้ฟรี ไม่เสี่ยง เราทำอย่างอื่นยังเสี่ยง มีแล้ง มีท่วม
การเจริญสติไม่มีเสีย พลิกมือขึ้นก็รู้ทันที หายใจเข้ารู้ทันที ไม่มีกาล ไม่มีเวลาเลย อะกาลิกธรรม ปัจจัตตัง รู้ด้วยตัวเองทันที ถ้าไม่เชื่อธรรมก็ถือว่าไม่เชื่อตัวเอง ถ้าคนเราไม่เชื่อตัวเองก็ถือว่าเลวที่สุดแล้ว ธรรมะก็คือเรื่องของเรานี่ล่ะ ทำดี ทำชั่ว ทำดีไม่เดือดร้อน ทำชั่วเดือดร้อน ไม่เชื่อตรงนี้แหละ การไม่เชื่อตรงนี้ไม่รู้จะเป็นคนเป็นมนุษย์มาทำไม เกิดเป็นมนุสสเปโต ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจยังเป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์นรกภพภูมิต่างๆไป มันเป็นไปอย่างนั้น ชีวิตของคนเราน่ะไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน มันตกนรก มันเป็นเปรต เป็นอสูรกายได้ เพราะมันมีความเจริญไปทิศทางต่างๆ มากกว่าสัตว์ มีอาวุธเข่นฆ่ากัน มีสมองสร้างระเบิด อาจทำให้ฉิบหายต่อกันและกันได้ สัตว์เดรัจฉานเขาไม่มีอะไร ไม่มีตัดแขนคอตาย ไม่มีเอาปืนมายิงตัวเอง แต่คนเราทำเป็น ฆ่าตัวตายได้ ฆ่าคนอื่นได้ จึงมีศาสนามา ปฏิบัติธรรมมาเป็นกำกับชีวิตของมนุษย์ให้จนได้