แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อันรูปอันกายนี้เหมือนพ่วงเหมือนแพ มันทรุดโทรมไปตามกาลสมัย เราจะขี่มันข้ามฟากให้ได้ ไม่ต้องไปแบกมัน เมื่อมันจมลงไปก็ขึ้นฝั่งได้เลย ไม่ต้องเอาแพขึ้นไปด้วย คือกาย คือรูปธรรม เราจึงมาศึกษาเรื่องนี้กัน อย่าเป็นทุกข์เพราะกาย อย่าเป็นทุกข์เพราะใจ เราใช้มัน เรามาใช้ เรามาดู มาทำกรรมฐาน เพื่อจะรู้เรื่องนี้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปหามาทำกรรมฐาน ที่ตั้งแห่งการกระทำ มีสติมาตั้งไว้ที่กายนี้ กายเป็นของใช้ได้ มีอยู่ อาศัยกายเป็นนิมิต ให้มีสติ ฝึกหัดไปก่อน
บางทีเราไม่เคยใช้ ไม่เคยดู ใครก็ตามจะมีความรู้ขนาดไหน จบมาแค่ไหน ศาสตร์อะไรก็ตามจะต้องมาฝึกหัดตรงนี้กัน ให้มีสติไปในกาย ไม่มีคนอื่นสอนเรา สถาบันไหนไม่มี ในโลกของมหาวิทยาลัยไม่มี มีแต่เราสอนตัวเราเอง จึงมารวมกัน ขอเป็นส่วนร่วมในเรื่องนี้บ้าง เพราะเคยประสบการณ์มา แต่ก่อนเคยหลงเรื่องกาย เคยหลงเรื่องใจ พอมาศึกษามันก็ไม่หลงแล้ว เอามาเป็นปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขาร คือกายคือใจนี้ มันเป็นปัญญา ไม่ใช่ปัญญาจากการศึกษาเป็นสูตรสำเร็จ ตามสมมติบัญญัติ
หลวงตาเคยดูเขารับปริญญาที่พุทธมณฑล มีพระ มีเณร มีนักบวชศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน พวกไต้หวัน พวกอะไรเขาก็มากัน นั่งรับปริญญาได้ใบประกาศฯ ตามสมมติบัญญัติ มีความรู้เป็นพันๆ รูป พันกว่าชีวิต อันนั้นก็เป็นปัญญาอันหนึ่ง ปริญญาในชีวิตเราคือ ญาตปริญญามีญาณหยั่งรู้ สร้างญาณขึ้นมา สร้างตัวรู้ขึ้นมา ตีรณปริญญาแจกแจงออกจนไม่มีอะไรเหลือ ปหานปริญญาทำให้มันหมดไป หมดอะไร หมดความยึดมั่นถือมั่น หมดสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษ ตามสมมติบัญญัติ ที่เราสร้างมันขึ้นมา เราพอใจ เราไม่พอใจ เอาใจไปใช้ความพอใจ เอาใจไปใช้ความไม่พอใจ ถ้ามีสติก็ถอนความพอใจ ความพอไม่ใจออกมา มารู้เฉยๆ
พอมาศึกษาก็เห็นทันที อยู่ตรงไหนก็เห็น เห็นกายที่มันเคลื่อนไหว เห็นใจที่มันคิดนึก การเคลื่อนไหวของกาย คือ ยืน เดิน นั่ง นอน การเคลื่อนไหวของจิต คือ มันคิดโดยไม่ได้ตั้งใจ มันมากเหลือเกิน เราจึงมาใช้ชีวิตอยู่ในประตูน้อยๆ มันคิดมันเกิดขึ้นมา ไม่ตั้งใจก็รู้ อันความคิดที่ตั้งใจ จะตั้งใจคิดก็คิดได้ แต่อย่าไปหลงเพลินไปกับความคิด ที่เหตุที่ผลอะไรมากมาย เหตุผลไม่ใช่สัจธรรม
สัจธรรมคือการเห็นแจ้ง เหตุผลยังฆ่ากันตายได้ ทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุเพราะผล เพราะฉะนั้นสัจธรรมไม่ใช่ทะเลาะกับใคร เป็นการแก้ตัวเอง มองตน กลับมา ตกหมู่แร้งไม่เป็นแร้ง ตกหมู่กาไม่เป็นกา เรียกว่าสัจธรรม อันนั้นไม่ใช่สัจธรรม เอาผิดเอาถูกต่อกันได้ คนนั้นผิด เราถูก เอาตัวบทกฏหมายรัฐธรรมนูญมาขัดแย้งกัน จนติดคุกติดตารางหรือประหารชีวิตตามสมมติบัญญัติ แต่ว่าสัจธรรม ถ้าตกหมู่แร้ง เขานินทาเรา เขาทะเลาะกับเรา เราก็ไม่ทะเลาะกับเขา เขาโกรธเรา เราไม่โกรธตอบ เขาสรรเสริญยกย่องเรา ก็ไม่ยินดีตอบ ความยินดี ความพอใจ ความไม่พอใจ ไม่มีลักษณะอย่างนั้น เรามีสติเราฝึกหัดมา ประสบการณ์มันหลงก็รู้ มันไม่หลงก็รู้อยู่ มันสุขก็รู้อยู่ มันทุกข์ก็รู้อยู่ มันรู้ก็รู้ มันไม่รู้ก็รู้
นี่เรียกว่ากรรม ตั้งไว้ให้แน่นหนา ถ้ามันตั้งไม่เป็น กลับมาตั้งไว้ที่กายนี้ หัดตั้งไว้ ไม่ใช่วางลอยๆ คิดเอา คิดโน่น คิดนี่ คิดผิด คิดถูก ตัดสินใจรู้จากความคิด กลายเป็นจิตญาณไป การรู้แบบนี้ประสบเห็น พบเห็น ไม่ใช่คิดถึง สัญญาณตัวนี้ มันพบเห็นไม่ใช่คิดเห็น คิดเห็นมันเป็นจินตญาณ เขาเรียกว่าจินตมยปัญญา เป็นปัญญาได้ เหมือนคำตอบที่เราสอบผ่านวิชาการต่างๆ ก็ตอบได้
หลวงตาก็เคยเรียนนักธรรมสมัยเป็นเณร ก็สอบได้ใบประกาศฯ เพราะตอบได้ แต่ไม่ใช่ญาณที่มันหยั่งรู้ มันจำมา เช่น เขาถามว่า ธรรมเป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่คืออะไร ธรรมเป็นที่อยู่ของผู้น้อยคืออย่างไร คนที่มั่งคั่งอยู่ได้นานเพราะเหตุอันใด ตระกูลที่มั่งคั่งอยู่นานไม่ได้เพราะเหตุอะไร เราตอบได้ เพราะเราเรียน เราจำมา ธรรมเป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ใครมีธรรมอันนี้เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ แม้แต่เด็กก็เป็นผู้ใหญ่ได้ ถ้ามีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ธรรมเป็นที่อยู่ของผู้น้อย ก็คือ ด้วยอุปัฏฐาก ด้วยรับใช้ ด้วยเชื่อฟัง ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เรียกว่าผู้น้อย อ่อนน้อมเอาไว้ เงี่ยหูฟัง
ตระกูลที่มั่งคั่งอยู่ได้นาน เพราะเหตุรู้จักซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า รู้จักแสวงหาพัสดุที่หายไปแล้วคืนมา รู้จักแสวงหาพัสดุที่ยังไม่มีให้มีขึ้น บุรุษสตรีเป็นหัวหน้าแม่บ้านพ่อเรือน ต้องเป็นผู้มีศีล อย่าเป็นแค่แร้งคาบมากาคาบหนี ตระกูลที่ไม่มั่งคั่งอยู่นานได้ เพราะเหตุตรงกันข้าม ไม่รู้จักซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า ไม่หาพัสดุที่หายไปให้คืนมา ไม่แสวงหาพัสดุที่ยังไม่มี พวกไม่แสวงหา ขี้เกียจ พ่อบ้านแม่เรือนเป็นคนทุศีล แร้งคาบมากาคาบหนี สามีหามาภรรยาคาบหนี ภรรยาหามาสามีคาบหนี กินเหล้าเมายาเที่ยวเตร่เร่ร่อน อันนี้ก็ฉิบหายวายวอด เราก็ตอบได้ เอาใบประกาศฯ มาห้อยฝา แต่บางคนก็ได้เหมือนกันน่ะ แต่ว่ามากินเหล้ากินยา มาเล่นการพนัน ขี้เกียจ ขี้คร้าน อันนั้นก็มีเหมือนกัน มีความรู้
แต่ว่าการปฏิบัติธรรมไม่ใช่ความรู้อย่างนั้น มันหลง พบเห็นความหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ มันก็เผชิญกันอยู่ เราก็เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาเรานี่ เราสร้างสติเป็นกรรม ตั้งไว้กับกายเคลื่อนไหว รู้เบาๆ อย่าไปรู้แบบเพ่ง รู้ซื่อๆ ดูเฉยๆ ดู รู้เป็นดู ก่อนที่เราจะดู ต้องมีตัวภาวะที่เห็นเ หมือนตาเรา ตาเราอยากดูอะไรก็ลืมตาขึ้นมา ถ้าไม่ลืมตาก็ไม่เห็นล่ะ ไม่มีใครไม่ดูอะไรเท่าคนตาบอด เห็นความดีก็เมินเฉย เห็นความชั่วก็เมินเฉย คิดชั่วก็คิดอยู่ได้ โกรธก็โกรธอยู่ได้ ไม่เห็น นั่นแหละคนตาบอด คนหลับ ประมาท
ในเมื่อผู้อื่นไม่ประมาท บางคนเขารู้ เห็นความชั่ว โอ๊ย เคารพความชั่ว เหมือนเราสวดเมื่อกี้นี้ จงเคารพพระธรรม อธรรมคือความชั่ว ธรรมคือความดี ความหลงคือความชั่ว ความรู้คือความดี อธรรมย่อมนำไปนรก ธรรมย่อมนำให้ถึงสุคติ เคารพ บางคนไม่เคารพ พอใจในความทุกข์ พอใจในความโกรธ กูไม่ลืม กูไม่ลืม บางคนถึงกับว่าตายกูก็ไม่ลืม ถ้ากูได้โกรธแล้ว ไม่เคารพความชั่วเลย เอามาลงโทษตัวเอง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เอามาทำให้ตัวเองเจ็บปวด ไม่เคารพความชั่ว น่ากลัว ว่าไม่กลัวหรือ สิ่งที่ควรกลัวกลับกล้า สิ่งที่ควรกล้ากลับกลัว กล้าพูดชั่ว กล้าคิดชั่ว กล้าทำชั่ว จนถือปืนถือมีดไปเข่นไปฆ่ากัน ทั้งๆ ที่เป็นความชั่ว ไม่กลัว
จงเคารพพระธรรม คืออธรรม คือไม่มีประโยชน์ ธรรมคือมีคุณ มีประโยชน์ เราจึงมาเห็นมัน มันรู้นะ ใครบอกเรา ไม่มีใครบอก เป็นเรื่องของเราเอง เราจึงมาชวนกันดู มันก็เห็นผ่านตาเราอยู่ ตาในคือสติ มันหลง มันรู้ เราลืมตาแล้ว ไม่ประมาท ในเมื่อผู้อื่นประมาท เขาหลง มาชวนให้เราหลง เราก็ไม่หลง เขาประมาท เราหลง เราก็เห็น ตื่นอยู่ในเมื่อผู้อื่นหลับ บางคนก็แสดงให้เราเห็น พูดออกมา โอ้ เพื่อนเราประมาทแล้ว เพื่อนเราหลงแล้ว เราก็ไม่หลง ตอนที่เพื่อนหลง เราก็ไม่หลง คนอื่นประมาท เราไม่ประมาท ตื่นอยู่ในเมื่อผู้อื่นหลับ เขาไม่รู้ เขาหลับอยู่ ย่อมละความโง่ไปไกล เหมือนม้ามีฝีเท้าดี ละม้าที่ไม่มีฝีเท้า ไปเดินทางด้วยกัน ห่างกันคนละบ้านสองบ้านไป เพราะเราไม่ประมาทในที่ควรประมาท ในตัวเรานี้มีสิ่งที่ทำให้เราประมาทหลายอย่าง มันเกิดอยู่ที่ตัวเรา ตาก็มีรูปทำให้หลงตรงนี้ หูก็มีเสียงทำให้หลงตรงนี้ จมูกก็ได้กลิ่นทำให้หลงตรงนี้ ลิ้นก็ได้รสทำให้หลงตรงนี้ กายก็สัมผัสทำให้หลงตรงนี้ ใจก็คิดนึกทำให้หลงตรงนี้ เราก็มารู้มันตรงนี้ มันก็รู้ตรงนี้ รู้ตรงนี้ จนชำนิชำนาญ เอามาเป็นความรู้ ประสบการณ์ บทเรียนได้ทั้งหมดเลย
จึงมาดูตัวเอง มาดูด้วยกัน โอย รูปแบบการบริหารคือการกระทำก็มีเยอะแยะ เอากายมาประกอบให้มันเกิดความรู้ขึ้นมา ไม่ได้หา ให้มันไปเลย อย่ามาผิดความหลง เอาเปลี่ยนทางมัน เปลี่ยนคือปฏิบัติ เปลี่ยนร้ายเป็นดีคือปฏิบัติ ปฏิ คือเปลี่ยน เปลี่ยนไปทางดี มันมีให้เราเปลี่ยนตลอดเวลา สนุกดี การมาฝึกตนเอง สนุกดี ไม่ใช่ความเกียจคร้าน สนุกเห็นมันหลง สนุกเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ มันทำได้ ไม่เหมือนเราไปทำอันอื่น ทันทีเดี๋ยวนี้ มันหลงก็เปลี่ยนเป็นความรู้ ไม่ได้รอเลย ปัจจัตตังทันที นี่คือคำสอนที่เป็นสัจธรรม พิสูจน์ได้ ไม่ใช่คำนึงหาเหตุหาผล ไม่ใช่ สัจธรรม มันหลง เห็นมั้ย มันรู้ เห็นมั้ย เกี่ยวกับความหลงอย่างไร ที่เวลามันหลงทำอย่างไร ไปเรียกใครมาช่วย เราต้องทำเอง นี่คือปัจจัตตัง เห็นเอง รู้เอง แก้ไขเอง เตือนตนเอง การทำอย่างนี้เรียกว่าวาสนา เรียกว่านิสสัย เมื่อมีนิสสัยก็มีปัจจัยถึงมรรคผลนิพพาน
ถ้ามันหลง เปลี่ยนตัวหลงเป็นความรู้ เป็นนิพพานอยู่ตรงนี้น้อยๆ มันทุกข์ เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ เป็นนิพพานอยู่นี่ พ้นไป หลุดไป มันพ้นไปน้อยๆ อย่างนี้ มันไป ไปไหน ไปจากอะไร ไปจากความหลง ไปสู่ความรู้ ไปจากความทุกข์ ไปสู่ความไม่ทุกข์ เป็นการไป ถ้าไปอย่างนี้ เรียกว่า ปะวะชะ ถือบวช เป็นอุบาย ใครทำอย่างนี้เรียกว่าเป็นนักบวชได้ ถ้าใครไม่ทำอย่างนี้ไม่เป็นนักบวชเลย ท่านไปจากความชั่วไปสู่ความดี บ.ใบไม้ ว.แหวน ช.ช้าง เรียกว่าบวชเป็นภาษาธรรม เป็นภาษาปรมัตถ์ ถ้าภาษาสมมติบัญญัติก็ต้องไปสวดเอสาหัง มีกรรมวาจาจารย์ มีอุปัชฌาย์ มีสีมา ตามพระธรรมวินัย แต่ว่าการถือบวชที่จะเป็นอุบายออกจากทุกข์ มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน มันหลง รู้ เรียกว่าไปแล้ว พ้นไปจากความหลง เป็นทางหลุดไปๆๆ มันทุกข์ รู้ พ้นจากความทุกข์ มันโกรธ รู้ พ้นจากความโกรธ ไปแล้ว หันหลังให้แล้ว เรียกว่ามรรค
มรรคคือการเดินแบบนี้ ไม่ใช่เดินทางด้วยรูป ด้วยรถยนต์ ด้วยถนน แล้วเหยียบทางนี้ไว้ให้เป็นรอย รอยอะไร รอยรู้ ทางรอยรู้มันอยู่ตรงรอยหลง เหมือนป่า เหมือนถนนหนทาง มันก็มีรอยไป มันจึงเป็นทาง สติเหมือนใบมีดแทร็กเตอร์ของรถ มันผ่านไป รอยแทร็กเตอร์รอยมีดของรถก็กลายเป็นทาง เหมือนกับสติที่มันไป ไปรู้ตรงไหนก็มีรอยแห่งความรู้ ถ้าหลงตรงไหนก็มีรอยแห่งความหลง ก็จะไปทางไหน ถ้าไม่ช่วยตัวเองใครจะช่วยเราได้ เราต้องมีวิธีอย่างนี้ มาสอนกันอย่างนี้ มาทำร่วมกันอย่างนี้ มีสถานที่อย่างนี้ คือพุทธศาสนาของเรา มีสมบูรณ์แบบ แล้วก็มาอยู่ที่นี่ มานั่งตรงนี้ เสียงที่พูดก็พูดอย่างนี้ เราก็ได้ยินอย่างนี้ เราไม่ใช่ไปนั่งอยู่ในทุ่งนา นั่งอยู่คันนา ไปแสดงธรรม ไปทำอะไรที่นั่น มันก็ไม่บอก เราจึงมีอย่างนี้ขึ้นมา พวกเรามาทำขึ้นมา แล้วเราก็มาใช้อย่างนี้กัน จึงมาฝึกหัด แล้วใครล่ะ ใครบังคับเรา มาด้วยเหตุอันใด ผู้บังคับบัญชา ผู้หลักผู้ใหญ่บังคับเรามาหรือ
หลวงตาเคยถามผู้ที่มาบวช ใครบังคับมาล่ะ บางคนก็พ่อแม่บังคับมา มันก็ไม่ใช่แล้ว ไม่มีใครบังคับมา มาแบบไหน ตั้งใจมาที่จะบวชเป็นพระอยู่ที่นี่ มาไกลๆ จากกรุงเทพฯ จากไหน มาขอบวช มาทำไมไกลอย่างนี้ บวชที่ไหนก็ได้ ก็เลือกๆ มาที่นี่ มาทำไม มันลำบาก วิทยุก็ไม่มีฟัง โทรทัศน์ก็ไม่มี อาหารการกินก็ไม่มีนะ ที่อยู่อาศัยก็ไม่มีเพียงพอ อยู่บ้านก็เปิดตู้เย็นกินได้ อยู่นี่เลือกไม่ได้ มาทำไม ก็อยากมาฝึกหัด บางคนก็ตั้งใจมา มีเวลานิดหน่อย เดือนหนึ่งก็มาเพื่อศึกษา มาบวชแล้วก็จะสึก วันนี้จะสึกรูปหนึ่ง ก็ลามาบวช ก็ดี น่าอนุโมทนา บางทีจะเอาผ้ามอบให้บวชไปห่ม พอใจรึ พอใจที่จะห่มผ้ามั้ย พอใจ ถ้าไม่ให้ห่มผ้า ถ้าไม่ให้บวชเสียใจมั้ย เสียใจเพราะตั้งใจมา แล้วก็เลยคล้องจีวรให้ ไป ไปห่มผ้ามา
บางคนก็ถูกพ่อแม่บังคับมา หรือหาวันสึกมาด้วย สึกวันไหนดี มีวันบวชน้อยๆ พอจะมาบวชให้หลวงตาหาวันสึกให้ เพื่อเป็นมงคล เอ้า เราจะสึกไปทำอะไรล่ะ ถ้าสึกไปทำดี มันก็ดีด้วย ถ้าหลวงตาบอกว่าวันนี้เป็นวันดี แล้วไปทำชั่ว มันก็ชั่ว ต้องอยู่ที่เราที่จะไปทำความดี ก็นั่นแหละคือ ลิขิตชีวิตของเรา อันนี้มันเป็นของทำได้ ปฏิบัติธรรมมันต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไปพึ่งอะไร พึ่งการกระทำของเรา
เราอยู่อย่างไร ชีวิตเรามาถึงวันนี้ เราหลง หรือเรารู้กันมาก มีใจ พึ่งใจได้มั้ย เอาใจไปทำอะไร มีกาย เอากายไปทำอะไร เอามาใช้เรื่องนี้ลองดู ครั้งหนึ่งเถอะชีวิตเรา อย่าไปหลงเข้ารกเข้าพงเกินไป ถ้าเราเป็นคนดีก็ทุกข์แบบคนดีก็มี ถ้าเราเป็นคนชั่ว ทุกข์แบบคนชั่วก็มี เราไม่ทุกข์ได้มั้ย เราไม่ทำชั่วได้มั้ย เอามาทำดีแล้ว ความดีที่เราทำก็เป็นประโยชน์ ถ้าเรามีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มันก็สบ๊ายสบาย ถ้าเรามีอิจฉา พยาบาท มันก็เดือดร้อน เนี่ย จึงมีการกระทำจริงๆชีวิตเราเนี่ย มันทำได้จริงๆ หาหลักฐานเอามาทำความดี
สติ เป็นพิพากษา ตุลาการ ความหลงเป็นโจทก์เรา ไม่รับความเป็นธรรมเลยชีวิตเรา ความโกรธไม่เป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความหลงไม่เป็นธรรมต่อชีวิตเรา ความรู้สึกตัวเป็นธรรม ฟ้องมันลงไป ให้มันชนะเรื่องนี้กันบ้างไม่ใช่โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย หลงจนตาย ความทุกข์อาจเป็นครั้งสุดท้ายได้ ความโกรธเป็นครั้งสุดท้ายได้ นี่คือธรรมาธิปไตย มีสิทธิที่จะไม่ทุกข์ มีสิทธิที่จะไม่โกรธ เริ่มต้นจากตัวเรา เราก็มีการมีงาน อย่างน้อยเราก็เป็นครอบครัว ผัวเมียลูกเต้าเหล่าหลานก็ไปช่วยกัน ช่วยคนอื่นได้ ก็ไปช่วยครอบครัวเรา ยิ่งพวกเราท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี้ มีหน้าที่ช่วยคน เป็นครูก็มี เป็นหมอก็มี พยาบาลก็มี ยิ่งดีใหญ่ จะได้ไปช่วยคน มีโอกาสช่วยกัน ก็ลูกของเราเอง สามีของเรา ภรรยาของเรา ไปช่วยกัน ด่ากันนี่มันเสียใจ สามีเห็นหน้าภรรยา เย็นใจเพราะเห็นหน้า ภรรยาเห็นหน้าสามีเย็นใจ ถ้าทำให้กันเย็นใจ สบายใจก็เป็นบุญ ถ้าทำให้กันเดือดร้อนก็เป็นทุกข์
เราไปทำบุญให้บุญเครื่องค้ำจุนโลก บุญเป็นเครื่องค้ำจุนโลก คือความดีที่เรามีอยู่ในตัวเรา เอาไปให้มันเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นบ้าง ไม่ใช่ใครที่ไหน ลูกของเรา เมียของเรา สามีของเรา พ่อแม่ของเรา นี่แหละคือความดีที่เรามาทำ ไปช่วยกัน คนเจ็บคนไข้ คนหลงก็มี คนเป็นทุกข์ก็มี ไปช่วยคนที่เป็นทุกข์ให้ไม่เป็นทุกข์ เรียกว่าทำบุญเหมือนกัน ไปช่วยคนที่โกรธให้หายโกรธ เป็นบุญเหมือนกัน อย่าไปทำบุญกับพระกับวัดอย่างเดียว พ่อแม่ทำบุญต่อกันกับลูก ลูกทำบุญต่อพ่อต่อแม่ สามีภรรยาทำบุญต่อกัน เป็นคนดีต่อกัน ถ้ารักกันเคารพกันก็ต้องเป็นคนดี อย่าทำให้กันเดือดร้อน บุญในพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ ถ้าอะไรมันขวางกั้นไว้อย่างนี้ ไม่ใช่
อย่างรัฐบาลพม่าเวลานี้ รัฐธรรมนูญของเขา ห้ามไม่ให้คนไปช่วย คนล้มตายเป็นแสนๆ ยังเน่าเต็มบ้านเต็มเมืองไม่มีใครไปช่วย เพราะรัฐบาลพม่าไม่ให้ใครไปช่วย ไปช่วยเอง บางทีประเทศต่างๆ ตัดสินใจ เอาเครื่องบินใส่อาหารไปหย่อนลง ประเทศพม่าจะเอาไปแจกกันเอง สมมติบัญญัติ ยึดมั่นถือมั่น ถ้ามนุษย์คิดถึงมนุษย์เรา มนุษยชาติ ได้ช่วยกัน บางทีสมมติบัญญัติเข้าขวางกั้น ประเทศของกู มึงอย่าเข้ามา อันนี้ก็ของกู อันนี้ของกู กายก็ของกู เหล่านี้เป็นทุกข์เพราะกาย เอากายมาเป็นทุกข์ ใจของกู เป็นทุกข์เพราะใจ เอาใจมาเป็นทุกข์ เรียกว่า อุปาทาน ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นตัวทุกข์ อย่างที่เราสวด อนัตตลักขณสูตร ที่นี่ อุปาทาน คืออะไร กู มีมั้ย กูในกาย กูร้อน เห็นมั้ย กูพอใจ กูชอบ เอากายมาเป็นกู กูเหนื่อย
วิธีปฏิบัติธรรมอย่างไร เห็นมัน มันร้อน เห็นมันร้อน ไม่ใช่กู เป็นธรรมชาติ เป็นอาการของกายของรูป ไม่เป็นทุกข์เพราะความร้อนได้ไหม ได้ ทำอย่างไร รู้เฉยๆ รู้แล้ว มันปวด รู้แล้ว มันเหนื่อย รู้แล้ว เบาไหม ถ้าไม่ไหวหนักไหม ไม่เป็นไร เบามั้ย เห็นมัน หรือเป็นมัน เป็นผู้ร้อน หรือเห็นมันร้อน ผู้หนาว หรือเห็นมันหนาว ผู้หิวหรือเห็นมันหิว เคยถามนักปฏิบัติมันเครียด ง่วงก็ง่วง คิดมาก อ้าว นักกรรมฐานเขาไม่ตอบอย่างนั้นหรอก ตอบใหม่ ไม่เอา ตอบอย่างไร มันก็เครียดจริงๆ ดูหน้าตาเขาก็เครียด มันเครียด มองออกไหม มันโกรธ มองออกไหม ก็รู้ จึงไปถามเขา เป็นอย่างไรหนู “แย่เลย ทำไมมันเครียด มันง่วง คิดมาก” “ไม่ใช่ นักกรรมฐานเราไม่ตอบอย่างนั้น ตอบใหม่” “ตอบอย่างไร มันก็เครียดอย่างนี้จริงๆ”
หลวงตาบอกว่าให้ดูมัน ไม่ใช่ไปเป็นกับมันทุกเรื่องไป ดู ไม่ใช่ไปอยู่กับมัน ไม่ใช่ไปเป็นกับมัน มันแสดงก็อย่าไปร่วมมือกับมัน เรามีภาวะที่ดู เขาเชื่อ เออ วันนี้หนูเห็นมันเครียด เออ อย่างนี้สิ เห็นมันเครียดอย่าไปเป็นผู้เครียด เขาก็ออกมาจากความเครียด เออ ตอบอย่างนี้นะ เห็นมันไหม เป็นกับเห็นต่างกันไหม เห็นมันโกรธ หรือเป็นผู้โกรธ ลองดูซิ ปฏิบัติคือเห็นมัน ถ้าไม่ปฏิบัติคือเป็นไปกับมัน เลยพูดว่าเป็นผู้ดู อย่าเป็นผู้อยู่ เป็นผู้เห็น อย่าเป็นผู้เป็น เห็นมัน มากเหลือเกิน อาการต่างๆ เรื่องต่างๆ ที่เกิดกับกายกับใจเรานี้ เรามาดูมัน ดูมันที่แสดงออกมา ความเท็จ ความจริง เป็นอย่างไร
บางทีมันสมมติขึ้นมา เอาสมมติเป็นของจริง บัญญัติว่าเราชอบ เราไม่ชอบ บัญญัติเอาเอง บางคนก็ทำให้เราบัญญัติคำพูด ลักษณะท่าทางสมมติ รูปธรรม เสื้อผ้าอาภรณ์อะไรต่างๆ บัญญัติ ทำให้เราบัญญัติ สมมติขึ้นมาก็ไปยึดเอา อย่างจิตของเราสมมติขึ้นมา บัญญัติขึ้นมา คิดขึ้นมาชอบ คิดขึ้นมาไม่ชอบ คิดขึ้นมาเราโกรธ คิดขึ้นมาเราทุกข์ เราเองเราทำเอง ไม่มีใครที่ไหนบัญญัติขึ้นมาว่าชอบ ว่าไม่ชอบ เราจึงมาศึกษาตามสมมติบัญญัติ เรียกว่าเห็นที่มันเกิดขึ้นกับเรานะ โอ้ สนุกดี มาเห็นของจริงในชีวิตเรา ดูเอา มีสติ ความรู้สึก
สตินี่ ถ้าใหม่ๆ ก็เป็นสติ ต่อไปจะเป็นญาณ เป็นดวงตาภายในของเรา รู้รอบ มันไม่ใช่อยู่ที่ตรงนี้ ถ้ามันมีแล้วมันไม่ลืม เห็นอะไรก็เห็นอันเดียว ความโกรธก็อันเดียว ความทุกข์อันเดียว โกรธอยู่ที่นี่ โกรธอยู่ที่ไหน ก็อันเดียวกัน มันเป็นอันเดียว ไม่ใช่งอกงามหมือนโรคภัยไข้เจ็บ โรคเอดส์ โรคอะไรต่างๆ มันเกิดขึ้นมา โรคจะอยู่กับเรา มันอันเดียว มันหลง เมื่อมันหลงก็ไปไกล เมื่อมันรู้ก็หยุดแล้ว แค่นี้เอง เราจะทำไม่ได้หรือ เรียกว่าปฏิบัติธรรม มาพูดมาบอกเรื่องสิ่งที่ทำได้ พระพุทธเจ้าสอนเราในสิ่งที่เราทำได้ ไม่ใช่สอนสิ่งที่ทำไม่ได้ เราหลงเราก็รู้ได้ ไม่มีอุปกรณ์อันที่ ๑ ที่ ๒ มาช่วย มันง่ายๆ อันตัวรู้ซื่อๆ มันง่าย เบา ถ้าเอาก็หนัก เราจึงมาศึกษาเรื่องนี้กัน ควรที่จะประกาศ น่าประกาศจริงๆ เอ้า ไปหลง เอ้า ไปทุกข์ มันไม่ทุกข์ก็ได้นี่น้า เอ้า ไปโกรธ มันไม่โกรธก็ได้นี่น้า เรื่องแค่นี้ ถ้าโกรธเป็นอย่างไร ทุกข์เป็นอย่างไร ไหวไหม ไม่ไหว ไหว
หลวงตาเคยสวนทางกับความคิดคน นั่งรถไปด้วยกัน มันร้อน ไปเผยแพร่ธรรมที่เชียงใหม่ สมัยอาจารย์ทรงศิลป์เป็นนักศึกษาอยู่ที่พายัพ เชียงใหม่ ไม่เหมือนไปสอน เป็นนักศึกษา แกเรียนจบแล้ว ทำงานทำการแล้ว มาบวชเป็นอาจารย์กรรมฐาน ที่เป็นกรรมฐานแม่ไก่หลายรูป ก็พาไปหาอาจารย์วรเทพ นั่งรถไปขึ้นรถที่ขอนแก่น สมัยก่อนรถสีส้ม ร้อน รถเก่าๆ ขอให้เรานั่งข้างหลัง พอมันติดเครื่องเผาเรา มันก็ร้อนขึ้นมาที่เก้าอี้ เหงื่อโทรมๆ ไหลออกมา หลวงตา (รูปหนึ่ง) ก็ไม่ไหวๆ ร้อนๆ ตายๆ เอาผ้ามาพัดตัวเอง หลวงตาก็นั่งอยู่นั่น หาวิธีช่วย เอาผ้า มันร้อนขึ้นตรงไหน มันร้อนขึ้นตรงนี้ เอาผ้าไปยัดไว้ ตายๆๆ ไม่ไหวๆ หลวงตาก็ไม่ได้พูดดอก พูดในใจ ไม่ตายๆ ไหวๆ มันร้อนน่ะ ก็ดี ไม่ตาย ไม่ไหว ไม่แสดงให้เป็นความตาย ความไม่ไหวอย่างนั้น ไหว ความร้อนก็ไหวอยู่ ไม่ตายๆ ไหวๆ ก็คิดสวนทางแบบนี้ ไม่ใช่เอาร้อนมาเป็นทุกข์ ไม่ใช่เอาเย็นมาเป็นสุข เป็นธรรมดา เห็นมัน ไม่ให้ค่ามันเลย ไม่ให้ค่าความร้อน ไม่ให้ค่าความเย็น ไม่ให้ค่าความสุข ไม่ให้ค่าความทุกข์ เอาอย่างนี้ ชีวิตเราจึงจะเป็นพรหมจรรย์บริสุทธิ์ ทำได้มั้ย มันทุกข์ ไม่ทุกข์ มันหลง ไม่หลง ไม่ใช่เอา ไปแย่งกันเอา เขาโกรธเรา ไม่ต้องไปร่วมมือกับเขา ทำใจสบายและยิ้ม
ในที่เตาหลอมเหล็ก ตรงที่มันร้อนทำให้เย็น ตรงที่มันหนักทำให้มันเบา มันจึงจะใช้ได้กับชีวิตเรา ถ้าไม่เช่นนั้นมันใช้ไม่ได้ มันทุกข์ ไม่ทุกข์ มันโกรธ ไม่โกรธ มันหลง ไม่หลง เปลี่ยนอย่างนี้ เปลี่ยนที่เรา ใจเอามาเปลี่ยนอย่างนี้ ใจอย่าไปเอา หัดตรงนี้ หัดรู้ๆๆ นี่ ถ้าปฏิเสธอย่างนี้ก็ปฏิเสธตัวเอง ไม่เห็นด้วย เห็นด้วยกับอะไรที่มันแสดงออก ร่วมมือกับมัน มันหลงก็ไปกับความหลง มันทุกข์ก็ไปกับความทุกข์ มันโกรธก็ไปกับความโกรธ มันมีประโยชน์อะไร มีแต่เป็นโทษแก่ตัวเอง แล้วโกรธบ่อยๆ ก็เป็นโรคกระเพาะอาหาร ถามคุณหมอดู เวลาใครเป็นปวดท้องไป เขาก็ถามประวัติ โกรธบ่อยๆ กระทบกระเทือนมาก
นี่มาปฏิบัติธรรม มันครบวงจรนะ วงจรของชีวิตเรา มันตั้งอยู่ที่การปฏิบัติธรรม อาจจะถูกต้องไปหลายๆ อย่าง ทำเรื่องเดียวก็รู้ไปๆๆ เป็นปัญญา การหลงเป็นเหตุ ตัวรู้เป็นผล เปลี่ยนเหตุร้ายเป็นเหตุดี เป็นการกระทำเปลี่ยนกรรม สิ้นกรรม สิ้นจริงๆ หมดจริงๆ หมดกรรม หมดเวร ใครจะเปรอะเปื้อนอะไรมา หรือเหมือนกับรถถูกชนมา มีรอยรักรอยแค้น รอยสุขรอยทุกข์ รอยได้รอยเสีย มา มาซ่อม มาเข้าอู่ โดยมีสติสัมปชัญญะรักษาดีเหมือนเดิม ถ้าไม่หัดตรงนี้ มันจะเป็นสูญเปล่าชีวิตเราเกิดมา ต้องเอาตรงนี้กัน ให้มีค่าขึ้นมา ให้คุ้มค่า ให้ยกมือไหว้ตัวเอง
โอ้ พ่อแม่เลี้ยงเรามา เพื่อการนี้ คุ้มค่าแล้ว พ่อแม่เอ๊ย เลี้ยงเรามา ไม่เสียค่าน้ำนมหรอก เลี้ยงลูกมา ได้มารู้ดังนี้ คุ้มค่า แล้วก็ทำดีเรื่อยไป เอารูปเอากายเอาใจที่ได้มาจากพ่อจากแม่มาทำดี ไม่ใช่พ่อแม่เราตายไป ไม่ใช่นะ เรายังอยู่ เรายังอยู่เพื่อทำความดี นี่คือดำรงวงศ์ตระกูล ฉะนั้น เรามาช่วยกัน ชีวิตของเรา นับหนึ่งจากตัวเราก่อน ถ้าไม่นับที่ตัวเรา มันตั้งต้นที่ตัวเรา มันก็มีสองต่อไป มันต้องมีสามต่อไป ไปบอกกัน ไปพูดกัน เป็นเพื่อนกัน อาจารย์ทรงศิลป์เขียนไว้ที่โรงทาน ป่าดีอยู่ที่คน คนดีอยู่ที่เรา ไม่ใช่ต้องมอบให้ใคร อะไรมันจะดีอยู่ที่เรา มาช่วยกันอย่างนี้