แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถ้าเราเกี่ยวข้องกัน มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีศาสนา ภิกษุ พระสงฆ์ ก็คือบอกทางสวรรค์นิพพานให้ญาติโยม ญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาก็เป็นผู้ไม่ปิดประตู คือฟังดูเงี่ยหูฟังดู ถ้าบอกสวรรค์คืออะไร บอกนิพพานคืออะไร ก็เงี่ยหูฟัง เป็นผู้ไม่ปิดประตู เปิดประตูเอาไว้ เหมือนเรามารับน้ำ แก้วของเรา เหมือนใจเรา ถ้าใจของเรามันเต็มอยู่ด้วยทิฐิมานะ ด้วยความยึดมั่นถือมั่น อารมณ์ค้างคาจิตใจ มันก็รับของใหม่ไม่ได้ ต้องทำจิตใจให้ว่าง คือเลือกเปิดประตู ฟังดู แล้วทำในใจดูบ้าง
การบอกสวรรค์ หมู่นิพพาน ไม่ใช่เรื่องของจำเอา ให้เป็นเรื่องของการสัมผัส เอาไปชิมดู ไปต่อดู ไปจุ่มดู เช่น บุญ คือใจดี มันเป็นยังไงใจดี ทำให้มันมีขึ้นในเรา ว่าบุญคือใจดี อิ่มใจ เต็มใจ ก็ทำ เป็นการทำไม่ใช่ให้จำ เราทำที่ใจของเรา ใจดีไม่ใช่ดีใจ ดีใจนี่อาจจะไม่ถูกต้อง บางทีได้ด่าเขาก็ดีใจ ได้เปรียบเขาก็ดีใจ อันนั่นไม่ถูกต้องเสมอไป ใจดี อิ่มใจ สุขใจ เต็มใจ ทำความดีมันอิ่มใจ สุขใจ เต็มใจ เพราะการกระทำของเราแสดงออกทางกาย ทางวาจา ทางใจ ใจเป็นอาหาร เรียกมโนสัญเจตนาหาร อาหารที่กินไปทางใจ ให้กินอาหารที่เป็นธรรมาหาร คือธรรมะ ธรรมะคือความอิ่มใจ เต็มใจ สุขใจ เย็นใจ อาหารทางกายก็กวฬิงการาหาร อาหารกลืนลงไปในลำคอ เพื่อสร้างเนื้อสร้างหนัง สร้างชีวิต ธรรมาหาร อาหารทางใจ ไปสร้างบุญสร้างกุศล สววรค์นิพพาน
เพราะคนเรามีสองส่วน ส่วนกาย ส่วนจิตใจ ส่วนกายก็ต้องบำรุง กินข้าวกินปลา กินอาหาร ได้เลือดได้เนื้อ ทางใจก็คือธรรมะ ให้อ้วนให้ใหญ่ มีกำลังวังชาที่จะชำระบาปกุศล มีศีลมีธรรม มีสมาธิ มีปัญญารอบรู้ มีศรัทธา มีความเพียร มีเมตตากรุณา ให้ง่ายๆ แต่มีแต่ความอิจฉาเบียดเบียนกัน เพิ่มต่อยอดในชีวิตเรามีคุณค่าทางกายทางใจด้วย อาหารใจ เพิ่มได้ทุกโอกาส ไม่รู้อิ่ม เป็นบุญไม่รู้จักอิ่ม ไม่เหมือนอาหารทางกาย อาหารทางกายนี้ไม่แน่ไม่นอน บางทีก็อิ่ม บางทีก็เป็นโรคเป็นภัยกินไม่ได้ ทิ้งข้าวทิ้งน้ำก็มี ลมหายใจไป หายใจไม่มี ก็ว่าอิ่ม เหมือนทะเล มหาสมุทร ไม่อิ่มด้วยน้ำฉันใด บัณฑิตผู้ที่มีศีลมีธรรมไม่อิ่มด้วยศีลด้วยธรรมฉันนั้น
เราก็ต้องอย่าจนเรื่องนี้ ฝึกฝนตนเอง มีสติมีสัมปชัญญะ ถ้าเป็นอาหารที่เป็นชื่อของอาหาร โดยเฉพาะภาคปฏิบัติธรรมนี้เรียกว่าครบวงจร มีทั้งศีลอยู่ที่นี่ มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญาไปพร้อมๆ กัน มีการทำบุญละบาปไปพร้อมๆ กัน เพราะรู้สึกตัวเนี่ย ความรู้สึกตัวก็ทำความดี รักษากายวาจาใจอยู่ ละความชั่วอยู่ ทำความดีอยู่ จิตก็บริสุทธิ์ไป ก็เป็นบุญ ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็มีศีลมีสมาธิเกิดขึ้น มีปัญญารอบรู้ เปลี่ยนความร้ายเป็นความดี เปลี่ยนความผิดเป็นความถูก เปลี่ยนความหลงเป็นความไม่หลง เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ เพื่อปัญญาออกจากทุกข์เป็น
รอบรู้กองสังขาร ความไม่เที่ยงเป็นยังไง ความเป็นทุกข์เป็นยังไง ความไม่ใช่ตัวตนเป็นยังไง กำหนดรู้โดยการรู้ กำหนดรู้โดยการละ กำหนดรู้โดยการบรรเทายังไงเกี่ยวกับสังขาร กายสังขาร สังขารคือกองรูปในธาตุสี่ขันธ์ห้า มันก็ตกอยู่ในความไม่เที่ยง มันก็ตกอยู่ในความเป็นทุกข์ ตกอยู่ในความไม่ใช่ตัวตน อย่าเป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยง อย่าเป็นทุกข์เพราะความเป็นทุกข์ อย่าเป็นทุกข์เพราะความไม่ใช่ตัวตน เป็นความฉลาดตรงนี้ให้ได้เรียกว่าปัญญา
ปัญญาพุทธะเกิดจากรอบรู้กองสังขารคือกายใจของเรานี้ กายสังขาร จิตสังขาร การปรุงๆ แต่งๆ ทั้งกายสังขารก็ดี ทั้งจิตสังขารก็ดี ตกอยู่ในความไม่เที่ยงทั้งนั้น อะไรเกิดจากผลงานของสังขาร ถือว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เช่น ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความวิตกกังวล เศร้าหมอง เป็นผลิตผลของสังขาร อย่าไปให้แนวร่วมกับเขา มันจะเป็นโทษเป็นภัยแก่ตัวเอง เกิดจากเปลี่ยนสังขารให้เป็นวิสังขาร ถ้ามันปรุงก็ไม่ต้องปรุง วางไว้ก่อน อย่าไปย้ำคิดย้ำเก่าจนเป็นทุกข์ วางให้เป็นเย็นให้ได้ เราต้องฝึกหัดตนให้พอสมควร
สังขารนี่เหมือนนายช่างปั้นหม้อ นายช่างปั้นหม้อเขามีอาชีพปั้นหม้อ หม้อดิน แต่ปั้นกี่ลูกๆ ก็แตกทั้งนั้น ชื่อว่าหม้อไม่มีจีรังยั่งยืน สังขารที่เกิดกับจิตใจเรามันปรุงมันแต่ง มันแตกทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวใช่ตน เราก็หลงไปเสียเวลากับมันไป ไปโกรธ ไปสุข ไปทุกข์ ไปรัก ไปชัง มันไม่ใช่ของจริงอะไร ต้องเห็นต้องรู้ เมื่อมันปรุงก็ไม่ปรุง หยุดซะ แต่ว่าเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขารได้ เราก็ฉลาดตรงนี้บ้าง เพราะกายใจของเรานี่เป็นแหล่งการศึกษา ทำให้เราฉลาด เกิดเป็นกุศล เป็นมรรคผลนิพพานได้
ถ้าเราไม่ศึกษา หลงโน่นหลงนี่ไปอบายภูมิชั้นต่ำ เป็นเปรตเป็นสัตว์นรกเป็นเดรัจฉานเป็นอสูรกายได้ โดยเฉพาะจิตใจนี้มันมักจะไหลไปทางต่ำ การไหลไปทางต่ำง่ายที่จะหลง ง่ายที่จะโกรธ ง่ายที่จะทุกข์ แล้วก็ไปสู่ภูมิอันต่ำ เป็นคน เป็นปนเปกันไปคุ้มร้ายคุ้มดี เราต้องยกฐานะของเราขึ้นมาให้เป็นมนุษย์ใจสูง เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง เหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขน ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน อันเป็นมนุษย์เป็นคนนั้นหมายถึงคุณธรรม เป็นพระก็คือคุณธรรม เป็นเทวดาคือคุณธรรม เป็นพระอินทร์พระพรหมคือคุณธรรม ให้มีขึ้นในชีวิตเรานี้ ไม่ใช่อ้อนวอนขอร้อง สร้างขึ้นมา
ถ้าเป็นเทวดาก็มีความละอายใจไม่กล้าคิดชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว คนอื่นไม่เห็นเราก็เห็น นี่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าพูดโดยเทวดาแล้ว เมื่อเทวดาอยู่ในใจของเราอยู่นี้ ที่ไหนได้ก็เป็นเทวดาแน่นอน เป็นพระพรหมก็มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คิดสิ่งใดประกอบด้วยเมตตา ทำสิ่งใดประกอบด้วยเมตตา พูดสิ่งใดประกอบด้วยเมตตา ทั้งต่อหน้าและลับหลังในเพื่อนมนุษย์ อยู่คนเดียวก็คิดเมตตา คิดช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นพระพรหมใหญ่ อายุยืน คนมีเมตตากรุณานอนหลับไม่ฝันร้าย ยาพิษก็ทำลายไม่ได้เลยถ้าคนมีเมตตามากๆ เมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็สู่สุคติได้ ถ้ามีแต่ความอิจฉาเบียดเบียนมักจะมีโทษมีภัย นอนก็ฝันร้ายไม่มีความสุข จึงสร้างภูมิอันนี้ขึ้นมาในชีวิตเราให้ได้
นอกจากเราเจริญสติ มีสติ มีสัมปชัญญะแล้ว ก็มีส่วนร่วมให้มากๆ พลังร่วมเครื่องทุ่นแรงให้มากขึ้น มีศรัทธา มีความเพียร ไม่ท้อถอย ไม่เห็นแก่ความยากลำบาก ถ้าสิ่งใดเป็นความดี เพียรประกอบสิ่งนั้น อย่าวางธุระ แม้จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น เช่น มีเมตตากรุณา มันจะเกิดการอิจฉาพยาบาทก็อย่าเพิกเฉยเลยละ งานไม่มีบารมีก็ไม่แก่ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไป ให้มันเข้มแข็ง มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความอดกลั้นอดทน มีความปล่อยความวาง ความเยือกความเย็น ไม่ด่วนรับไม่ด่วนปฏิเสธในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น
ชีวิตเราเกี่ยวข้องกับหลายๆ อย่าง เป็นวัตถุอันหนึ่ง จิตก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง กายก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง วัตถุมันก็มีเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องกัน มีผลกระทบ แต่ว่าจิตใจนี้เป็นวัตถุอันหนึ่ง แต่ว่าไม่มีอะไรที่ทำให้กระทบได้ถ้าเราฝึกดี เหมือนโบราณท่านว่า บัณฑิตผู้ฝึกฝนตนดีแล้ว เมื่อประสบทุกข์เจียนตายก็ไม่ทิ้งธรรม เรียกว่าบัณฑิต อันนี้คือฝึกตนดีแล้ว ถ้าไม่ฝึกก็ง่อนแง่นคลอนแคลนเต็มที่ เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง ใจมันก็มีอาคันตุกะมาพักพาอาศัย เหมือนกับบ้านเหมือนกับศาลา อาคันตุกะจรมาเป็นครั้งเป็นคราว ความหลง ความโกรธ ความรัก ความชัง ความสุข ความทุกข์ ความอิจฉา ความเบียดเบียน เป็นอาคันตุกะมันจรมา เราก็ฉลาด บางทีก็ไม่รับ ได้บทเรียนจากมัน ได้บทเรียนจากความหลง ได้บทเรียนจากความทุกข์ ได้บทเรียนจากความโกรธ รู้จักเข็ดหลาบ มาทีไรเราทำลายทุกที
ความหลง ความโกรธ ความทุกข์น่ะ ทำลายเราด้วย โกรธคนอื่นก็เหมือนจุดไฟเผาตัวเอง เดือดร้อนตัวเอง สัมผัสดูแล้วไม่มีประโยชน์เลย เราไม่ต้องรับ ถ้าเรารับไว้มันก็มาเรื่อย โกรธแล้วโกรธอีก เรื่องเก่าโกรธแล้วเอามาโกรธอีก หลายภพหลายชาติ ถ้าเรามารับเอาภพเดียว เหมือนพระสกิทาคามี อนาคามี หมายผู้มีภพอันเดียว เมื่อว่าหลงแล้วครั้งเดียวไม่หลงอีกเลย มันโกรธครั้งเดียวไม่โกรธอีกเลย มันทุกข์ครั้งเดียวไม่ทุกข์อีกเลย ไปได้เลย แต่ปุถุชนนี่หลายภพหลายชาติ เอามาเป็นเรื่องโกรธเรื่องทุกข์จนตายก็มี พอได้โกรธ ตายก็ไม่ลืม ไม่ลืมจริงๆ บางคน นี่เป็นวัตถุ มันเกิดขึ้นกับใจเรา เราก็ไม่ควรประมาท ดูแลรักษาให้ดี ไม่ประมาท รักษากาย รักษาใจ
นายทวารบาลก็คือสตินี้ เป็นนายทวารบาล เป็นผู้เฝ้าประตู มาทางใดรู้สึกตัว ทางตาก็รู้สึกตัว มาทางหูก็รู้สึกตัว จมูกลิ้นกายใจรู้สึกตัว เป็นทวารบาลเฝ้าประตูปลอดภัยได้ ชีวิตของเราคือปฏิบัติธรรม คือการดูแลรักษาตัวเองให้ดี อย่าปล่อยปะละเลย หมกมุ่นครุ่นคิด จนลืมจิตอันเดิมไป จิตของเรานี้อันเดิมๆ มันประภัสสรผ่องใสอยู่เสมอ เหมือนผ้าขาวสะอาด แต่อุปกิเลสมันจรมาทำให้เศร้าหมอง เราไปเอาความเศร้าหมองมาเป็นจิต ไม่ใช่ เช่น เราโกรธนั้นว่าเราโกรธ นั่นไม่ใช่เรา เป็นอาคันตุกะมันจรมา ไม่รับมัน ประเดี๋ยวมันก็หาย อย่าด่วนพูดในเวลาโกรธ ไม่พูดในเวลาโกรธ ไม่แสดงอะไรออกเวลาโกรธ และมีความสงบเสงี่ยม โสรัจจะความเสงี่ยมเอาไว้ ขันติความอดทนเอาไว้ ไม่พูดในเวลาโกรธมันก็ไม่มา เรียกว่าฝึกตนสอนตน ถ้าไม่ฝึกมันไม่เป็นนะอันนี้ ต้องฝึก ฝึกให้มันหมดพิษหมดสง จิตใจเรานั่น กายก็เหมือนกัน เมื่อมันหมดพิษภัยแล้วก็เป็นประโยชน์ต่อกันและกัน ต่อโลก อยู่ร่วมกันด้วยความสงบร่มเย็น
เราจึงมาฝึกหัดตัวเอง ของชอบธรรมที่สุดเลย อยู่ไหนมันก็อยู่กันเรา กายอยู่นี่ ใจอยู่นี่ สติก็อยู่นี่ด้วย รู้สึกระลึกได้ไป เล่นๆ ไป แอบสอนตัวเอง เก็บตกบ้าง ไม่ใช่อยู่ในรูปแบบเสมอไป นั่งยกมือสร้างจังหวะ ไม่ใช่เสมอไป ทำงานทำการก็รู้ได้ ศึกษาไป ที่สุดมันมี ถ้าอะไรเกิดขึ้น ถ้ามีคำพูดอะไรก็พูดว่า ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร เอาไม่เป็นไรก่อน ไม่เป็นไรก่อน เขานินทาก็ไม่เป็นไร เขาสรรเสริญก็ไม่เป็นไร ได้ก็ไม่เป็นไร เสียก็ไม่เป็นไร อย่าไปเอาเสียมาเป็นเรื่องเสีย เอาได้มาเป็นเรื่องได้ ไม่เป็นไร ทำใจเป็นกลางแล้วก็ไม่เป็นไร เป็นคำพูดอันสุดท้ายของปัญหาต่างๆ ถ้าพูดว่า ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร จะมีปัญหา แม้ไม่พูดสักคำก็วางใจ ไม่เป็นไร พูดกับตัวเองคนเดียว ไม่เป็นไร ทำงานเรื่อยไป กินข้าวเรื่อยไป นอนเรื่อยไป หลับเรื่อยไป บางทีเพียงแต่คิดเฉยๆ ก็วางไม่เป็นไร เอามาคิดจนนอนไม่หลับ เราหัด เราก็ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรอยู่อย่างนี้ มันก็จะสบาย ของยากเป็นของง่าย
อาจารย์พุทธทาสว่า ยาสามหัว ยาสามราก หนึ่งไม่เป็นไร สองช่างหัวมัน เคยบ้างไหมแม่ชี ช่างหัวมันเคยไหม ช่างหัวมัน ไม่เป็นไร เป็นยาฝนลงไปกินลงไป เป็นเช่นนั้นเองๆๆ ไม่เป็นไร ช่างหัวมัน ยาสามราก อาจารย์พุทธทาส ให้ไว้สำหรับยากันแก่เจ็บตาย ทำในใจให้ได้