แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน มีผู้พูด มีผู้ฟัง ฟังแล้วนำไปทำดู อย่าฟังหูซ้ายออกหูขวาเฉยๆ สิ่งที่พูดนี่ ก็พูดเรื่องของเราทุกคนนี่แหละ ทุกคนก็เหมือนกัน มีกายมีใจ มีอะไรต่างๆ ๘๔,๐๐๐ เรื่อง อยู่ในกายในใจนี้ เรียนให้จบ รู้ให้ครบ ให้มันจบไป ถ้าเรียนไม่จบ มันก็จะมีปัญหา เป็นภาระ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ขาดทุน
ชีวิตเรานี้ได้มาอย่างดีแล้ว เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นมนุษย์สมบัติ ทำดีได้ ละความชั่วได้ เพราะมันมีสิ่งที่ทำได้ เช่น มือนี่จะวางก็ได้ จะจับก็ได้ ใจเรานี้จะวางก็ได้ จะจับไปก็ได้ ร่างกายเรานี้จะวิ่งก็ได้ จะเดินก็ได้ จะหยุดก็ได้ ใจเรานี่ก็เหมือนกันนะ ถ้าเราไม่รู้ไม่สอน มันก็ซุกซน ร่างกายก็ซุกซน จิตใจก็ซุกซน สารพัดอย่าง ส่ำส่อนจนเป็นกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ถ้าศึกษา ฝึกฝนตนแล้วก็บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ ได้เป็นมรรคเป็นผล
การศึกษาชีวิตของเรานี่อย่าต่อรอง อะไรมาต่อรองกับการกระทำ ให้มีการกระทำล้วนๆ บางทีเอาทิฐิมานะมาต่อรอง ปมด้อยปมเขื่อง สำคัญมั่นหมายในตัวเอง อัตตาธิปไตย เอาตนเป็นใหญ่ เคยมาอย่างไร นิสัยอย่างไร ไม่หัด บางทีก็โลกาธิปไตย เอาโลกเป็นใหญ่ ถ้าเป็นธรรมาธิปไตย เอาธรรมเป็นใหญ่ มันมีความถูกต้องทั้ง ๓ อย่าง ถ้าตนเป็นใหญ่อาจจะผิดได้ ถ้าเอาโลกเป็นใหญ่อาจจะผิดได้ ถ้าธรรมเป็นใหญ่นี่ไม่ผิด
ที่ว่าอธิปไตยของมนุษย์ บางคนเวลากระทำลงไป ต่อรอง เคยเห็นหลายคน สมัยพระพุทธเจ้าก็มีพระมาลุงกยบุตร ที่มาบวชเพื่อจะมาต่อรองกับคำสอนพระพุทธเจ้า ตั้งโจทย์ตัวเองว่า ปฏิบัติธรรมต้องได้คำตอบ เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน ถ้าตอบอย่างนี้ไม่ได้ ก็จะสึกซะ จนเอาโจทย์นี่ขวางกั้น หาคำตอบแต่อย่างเดียว อาจจะหาคำตอบจากความคิด หาคำตอบจากคำถามได้ต่างๆ มากมาย
บางคนก็มีเหมือนกัน บางคนก็เก่งมา เป็นฆราวาสญาติโยม เคยเห็นเป็นครูที่มีคุณความดีเยอะแยะ เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน เกษียณแล้วก็สมัคร ส.จ. สมาชิกสภาจังหวัดได้ถึง ๔ สมัย สำเร็จ เป็นสมาชิกสภาจังหวัดก็สำเร็จ สร้างคุณงามความดีก็เลยมาบวช มาสร้างเจดีย์ใหญ่สำเร็จ มาสร้างโบสถ์ใหญ่สำเร็จ มาสร้างมณฑปให้พระพุทธรูปหลวงพ่อดำองค์ใหญ่สำเร็จ อะไรก็สำเร็จมา สำเร็จมา เหลืออยู่เรื่องเดียว คือ มาปฏิบัติธรรมจะต้องสำเร็จแน่นอน มาปฏิบัติธรรมก็เอาตนมาต่อรองกับการกระทำ จะสำเร็จ จะสำเร็จ จะต้องได้ จะต้องได้ จะต้องได้ มันก็ได้จริงๆ แหละ พอได้ก็มาบอกเรา “หลวงพ่อดูผมสิ เดี๋ยวนี้ผมไม่เหมือนเก่าแล้ว จีวรผมเวลาห่มลงไปเป็นดอกบัวเต็มตัวเลย” เราก็ไม่ว่า อันนั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นดอกบัว เป็นเงินเป็นทองก็เป็นเรื่องอันหนึ่ง แต่ว่าต้องเห็นรูปเห็นนามนี้ เราพยายามที่จะแนะนำทิศทางให้ ก็ไม่เอา “หลวงพ่อ คงมีปัญญาไม่ถึงผม ผมปัญญาเหนือหลวงพ่อแล้ว ปัญญาคนละระดับแล้ว มองไม่เห็นเหรอ ดอกบัวเต็มผ้าผมเลย” วางผ้าจีวรลงทิ้ง เอามาห่มอีกก็เป็นดอกบัวเนี่ย มันก็เป็นอย่างนี้ นี่ก็เอาการกระทำเอาสำเร็จ มันก็สำเร็จโดยเข้าใจผิดไป เป็นวิปัสสนู เป็นวิปลาสไป
มีพระหลวงพ่อรูปหนึ่งมาจากอ.หนองหาน เป็นกำนัน มีครอบครัวไม่มีลูก ก็เกษียณกำนันแล้วก็มาบวช สมัยก่อนเราก็เกเรอยู่แถวโน้น เผยแพร่ธรรมะอยู่แถวอุดรฯ หนองหาน หนองคาย สกลนคร สมัยเริ่มต้น (...)คุกตารางที่ไหน วิทยาลัยครูอุดรธานี เข้าๆ ออกๆ สอนนักศึกษาสอนครูอาจารย์ที่นั่น ก็มาปฏิบัติ หลวงพ่อองค์นี้ไหล่ข้างหนึ่งต่ำ ไหล่ข้างหนึ่งสูง หลังโก่งๆ ต่อมาปฏิบัติธรรม ก็เอาความเก่งของการปกครอง เอาความเก่งของสติปัญญา เอามาปฏิบัติด้วย พอปฏิบัติไปได้สักพักหนึ่ง รู้รูปรู้นามแล้วกลายเป็นวิปัสสนูจินตญานว่า มันรู้ขนาดนี้ ก็น่าจะมากกว่านี้ ถ้ามันเก่งจริงๆ ความรู้นี้ถ้าเก่งเปลี่ยนชีวิตจิตใจ จงเปลี่ยนเราดูสิ ให้ไหล่ของเราเสมอกันขึ้นมา ก็พยายามคิดเรื่องนี้ขึ้น เอาไปเอามา ไหล่ก็เสมอกันขึ้นมา ก็สำเร็จ มองตัวเองว่าไหล่ก็เท่า ส่องเงาในกระจกก็เสมอกันแล้ว ก็พิสูจน์ดูว่ามันจริงหรือเปล่า แล้วเดินจงกรม เอาเชือกผูกกิ่งไม้แล้วห้อยลงมา เดินไปทางนี่ เอาไหล่ทางนี่ ก็สีป๊ดไป พอเดินกลับมา ก็เอาไหล่ทางนี้มาใส่ ก็สีปั๊ดเลย เอ้า มันก็เสมอกันจริง ก็มาพูดให้เราฟัง อาจารย์ ผมก็มีอะไรหลายอย่าง เดี๋ยวนี้ ไหล่ของผมเสมอกันแล้ว แต่เราดูก็ว่าเท่าเก่า ไม่เสมอกัน สำคัญมั่นหมายว่า พยายามแก้ไขให้ นี่ก็เป็น อยากรู้อยากเห็นเกินไป ไม่ใช่นะ
ปฏิบัติธรรม ต้องทำซื่อๆ เหมือนแก้วว่างๆ มารับของแจก มารับน้ำ อย่ามีอะไรเต็มอยู่ในนั้น อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย ปรารภตนเป็นใหญ่ ปรารภรูปเป็นใหญ่ ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ มีสตินี่ มันก็มีที่ตั้งอยู่แล้ว มีฐานอยู่แล้ว ให้รู้สึก รู้สึกนี่ กายก็มีอยู่จริง ใจก็มีอยู่จริง เอาความรู้สึกตัวไปจุ่มกับกาย เอากายมาจุ่มกับความรู้สึกตัว เอาความรู้สึกตัวไปจุ่มเอากับใจ เอาใจไปจุ่มความรู้สึกตัว กายอยู่ที่ไหนใจอยู่ที่นั่น สติอยู่ที่นั่น นี่ ให้ทำอย่างนี้ ถ้ารู้สึกตัวอยู่กับกาย ถือว่าใช้ได้
ถ้าจะมีการต่อรอง เอาแบบพระพุทธเจ้า ต่อรองการค้นคว้าหาเรื่องนี้ ถ้าจะเอาอัตตาทิพยะ พระองค์คงทำไม่ได้ เป็นกษัตริย์เจ้าฟ้าชาย เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ตระกูลศากยวงศ์ โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ เล่าลือกันเป็นตั้งแต่ประสูติ มีพระลักษณะงดงาม ถูกต้องตรงลักษณะ ๓๒ ประการ เป็นตามคำทำนายทายทัก ถ้าออกบวช จะได้เป็นศาสดาเอกในโลก ถ้าครองฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ครอบคลุมทุกแคว้นในโลก พระเจ้าสุทโธทนะก็ทะนุถนอม ให้อยู่ในโลก สร้างปราสาท ๓ ฤดูให้ ให้สมรสกับพระนางพิมพา ให้สนมกำนัลในพัดวีอยู่เรื่อย ไม่มีบุรุษเจือปน ถ้าจะเอาอัตตาทิพยสมบูรณ์ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องนี้ ให้เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่ ประพาสกรุงกบิลพัสดุ์ เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตายของคน ถือว่าเป็นการบ้าน จะศึกษาเรื่องนี้ มองเป็นคู่ เมื่อมีเกิดต้องมีไม่เกิด เมื่อมีแก่ต้องมีไม่แก่ เมื่อมีเจ็บต้องมีไม่เจ็บ เมื่อมีตายต้องมีไม่ตาย อะไรมันต้องเป็นคู่ มีร้อนมีหนาว มีมืดมีสว่าง มีหิวมีอิ่ม มองเป็นคู่ มีกลางคืนมีกลางวัน ต้องมีคู่แน่นอน เมื่อถามเรื่องนี้ต่อพระเจ้าปู่ พระเจ้าย่า พระเจ้าตา พระเจ้ายาย ไม่มีใครตอบได้ สิทธัตถะจึงเอาเรื่องนี้เป็นการบ้าน เป็นโจทย์ของการหาคำถามเฉลยให้ได้ ก็เห็นสมณะเป็นนักบวช ก็คิดอยากจะใช้ชีวิตแบบนักบวช เพื่อศึกษาเรื่องนี้
จนถึงอายุ ๒๙ ปี ออกศึกษาเรื่องนี้ ไม่ท้อถอย ไม่เอาอัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย เอาธรรมอันนี้เป็นสิ่งที่ใส่ใจ ศึกษาจนล้มเหลว หลายทาง เจียนตาย ตามครูอาจารย์ต่างๆ ครูทั้ง ๖ ศึกษาจนจบครูทั้ง ๖ ครูคนสุดท้าย อุทกดาบส อาฬารดาบส ได้ถึงสมาบัติ ๘ ไม่เป็นที่พอใจ ยังตอบปัญหาเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายไม่ได้ เดินต่อ เอาตัวเองเป็นตำรา เอากายเป็นตำรา เอาใจเป็นตำรา ดังที่เราทำตามอยู่ขณะนี้เรียกว่า กายานุปัสสนา อาศัยการล้มเหลวทั้งหมด ๖ ปี อาจจะได้กระแส คืออย่างนี้
สมัยเมื่อเป็นเด็ก ไปงานแรกนาขวัญ สนมกำนัลในทั้งหลายวางพระองค์อายุ ๗ ขวบให้อยู่ในร่มหว้า มัวแต่แรกนาขวัญกับบริวารไพร่ฟ้าประชาชน ลืมพระโอรสน้อย สิทธัตถะ ปล่อยทิ้งไว้ลำพังผู้เดียวในต้นหว้า นานไปหลายชั่วโมงจนดวงอาทิตย์บ่ายเอาไป แต่ร่มไม้ยังไม่หนีไปไหน กลับมาเห็นนั่งอยู่ ว่าอย่างนั้นตามตำรา แต่สิทธัตถะก็อาศัยคิดได้ตอนนี้ เราเคยเป็นเด็ก เคยนั่งอย่างนี้นะ บำเพ็ญทางจิตนี่ ไหนเลยจึงขาดตรงนี้อยู่ มาบำเพ็ญทางจิตลองดู มาดูกายดูจิต ไม่ใช่เอาเหตุเอาผลอันอื่น ก็เอาเรื่องนี้ไปเป็นกระแส ไปเป็นนิมิตบ้าง แล้วมาบำเพ็ญทางจิต การบำเพ็ญทางจิต มันจับจิตไม่ได้ เพราะจิตไม่มีตัวไม่มีตนให้จับ มันเข้ามันออก เหมือนกายนี้เหมือนถ้ำ จิตเหมือนกับสัตว์ที่อยู่ในถ้ำ ออกง่ายเข้าง่าย จับไม่ได้ ก็เลยมาศึกษาเรื่องกายานุปัสสนา เอากายนี่แหละ เพราะฉะนั้น จึงหาวิธีเยอะแยะเลย ตัวเองก็นั่งอยู่ที่ต้นนิโครธ ต้นอยู่หน้าโรงทานนั่นน่ะ ต้นนี่แหละ อยู่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชราทางทิศตะวันออก เนินบ้าง สูงขึ้นไปเป็นบ้านนางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีก็นั่งอยู่นี่ ตะเกียกตะกายตามลุ่มน้ำเนรัญชราลงมา ถึงดงคสิริทางตอนเหนือ มาลงมาตามลุ่มน้ำเนรัญชราล้มลุกคลุกคลานมา มาขึ้นฝั่งตรงนี้ นิโครธาราม ต้นนิโครธ บำเพ็ญทางจิต มามีสติดูกาย มันก็มีอยู่จริง กายนี่ เริ่มต้นจากการคู้แขนเข้ารู้สึกตัว เหยียดแขนออกรู้สึกตัว นอกจากนั้นก็เดินจงกรม รู้สึกตัว เอากายเป็นนิมิตที่ตั้ง
มันมีกันทุกคนนะ กายนี่เราก็มี สติก็มี ให้รู้สึกตัวนี่ ไม่ได้เอาเหตุอะไรมาต่อรอง เอาผิดเอาถูก อย่าเอาผิดเอาถูกมาต่อรองกับการกระทำ อย่าเอายากเอาง่ายมาต่อรองกับการกระทำ อย่าเอาได้เอาเสียมาต่อรองกับการกระทำ อย่าเอาร้อนเอาหนาว เอาเหนื่อยเอาขยันมาต่อรอง อะไรที่มันแสดงออกมาเกี่ยวกับการกระทำในเวลานั้น มันมีหลายอย่าง มันยากบ้างง่ายบ้าง ผิดบ้างถูกบ้าง ขี้เกียจบ้างขยันบ้าง เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าบ้าง บางทีก็สิ่งแวดล้อมทำให้เป็นไป ฝนตกก็จะเปียก แดดออกก็ร้อน ยุงมาก็กัด สัตว์เลื้อยคลานมา งูจงอางมาชูคอดูก็ได้ บางทีงูเห่ามาขู่ก็ได้
หลวงตาเคยเจอมาเหมือนกัน นั่งอยู่ทำความเพียรอยู่ อยู่ไกลๆ เพื่อน กระแตมันไล่งูเห่ามา มันไปใกล้รังมันก็ไม่รู้ มันก็ทะเลาะกันมา เป็นดงป่าไผ่ให้ไร่ต่ำๆ ครึ้มๆ อยู่พุทธยานเมืองเลย อันนี้เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ก็ได้ยินเสียงคู่คี่ๆ กันมา กระแตก็แชะๆ มาเรื่อย เวลางูเลื้อยมา มันก็กัดหางงู งูก็กระโดดเข้าไปสู้ กระแตก็กระโดดขึ้นไปสู้ ก็ไม่สู้ เวลางูมันเลื้อยไป ก็กัดหาง ก็ไล่กันมาใกล้ๆ เราก็ได้ยินแต่เสียง ไม่สนใจมัวแต่สร้างจังหวะอยู่ หลับตาบ้าง สร้างจังหวะบ้าง เวลาง่วง เราก็เอาอย่างนี้ ไม่ทำเป็นจังหวะ บางทีก็หลับตา บางทีก็ลืมตา พอลืมตาขึ้นดู มันเป็นงู งูเห่า กระแตมันไล่มา แล้วก็มีเตียงไม้ไผ่ นั่งอยู่ มันก็มาหาเรา ก็ว่าจะบอกมันว่า อย่ามานี่นะ เรานั่งอยู่นี้ ก็เลยเอากล่องไม้ขีดไฟโยนไป ไปถูกหัวงู ไม่ได้จะเอาไปถูกหัวหรอก แต่มันถูกพอดี มันก็ชูคอขึ้น ขู่เรา แผ่พังพานออก เราก็เอาจีวรมาขวางหน้าไว้ กลัวมันจะพ่นน้ำลายใส่ เอาขวางไว้แล้วก็ดูมัน ถ้ามันกระโดดมา จะเอาจีวรคลุมหัวมัน ก็เลยคิดในใจว่า ขอโทษๆ เราว่าจะบอกว่าอาตมานี้ เรานั่งอยู่นี้ แต่กล่องไม้ขีดไปถูกหัวเขา เขาก็โกรธเรา ชูคอแผ่พังพานออก ก็เลยว่า ขอโทษๆ ไม่เป็นไรนะ เอาไปเอามา มันก็ฟุบหัวลง วิ่งเข้ากอไผ่ นี่ถ้าเรานั่งหลับตาใช่ไหม หลับตา มันก็เลื้อยขึ้นมาบนตักเรา ถ้าเราจะปัดงู งูก็กัดเอาตายเลย บางครั้งหลับตาก็ได้ ไม่หลับก็ดี
อันนี้ก็เหมือนกัน เวลานั้นเกิดขึ้น บางทีเราไม่มีสติ อาจจะกลัว ก็อย่าเอาความกลัวมาต่อรอง อย่าเอาอาการอะไรมาต่อรอง ให้มันรู้สึกตัวไปกับทุกกรณี ประสบการณ์เรื่องที่มันตื่นเต้น ที่มันสะดุ้งก็อย่าเอามาเป็นเรื่องเกี่ยวข้อง ลำดับลำนำให้มันแล้วไป เอาเป็นเรื่องสนุกสนานไปเลย อะไรเกิดขึ้นขณะที่เราปฏิบัติ มันชวนให้เรารู้สึกตัว เปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้สึกตัว เปลี่ยนความสะดุ้งผวาเป็นความรู้สึกตัว เข้มแข็งขึ้น อินทรีย์แก่กล้าขึ้นเรื่อย ไม่หวั่นไหว ติดตามความรู้สึกตัว กายเคลื่อนไหวอยู่เรื่อย เวลากายใจมันคิดก็รู้สึกตัว เพราะมันเฝ้าอยู่แล้ว เหมือนเรามีตาดูอยู่แล้ว งูเลื้อยมาก็เห็น สติเป็นดวงตาภายใน อะไรเกิดขึ้นกับกายกับใจ รู้เห็น เห็นต่อหน้าต่อตา หลายครั้งหลายคราว การเคลื่อนไหวนี่ไม่ใช่มันไม่พัฒนา มันพัฒนาไปทำให้เกิดแก่กล้า มีความรู้สึกไปนานหลายวัน เรารู้จักการเคลื่อนไหว เห็นเป็นรูปธรรมเป็นนามธรรม ไม่ใช่กายไม่ใช่ใจ รูปธรรมนามธรรมนี้มันเป็นธรรมชาติด้วย เป็นอาการด้วย รูปธรรมมันก็มีอาการ วัตถุอาการ นามธรรมก็มีวัตถุอาการ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับรูป เกี่ยวกับนามนี่
ความกลัวเป็นอาการของนาม ความเหน็ดความเหนื่อย ความร้อนความหนาวเป็นอาการของรูป ไม่ใช่รูปจริงๆ อรูปมันเป็นรูปห้วนๆ (มหาภูตรูป) ถ้ารูปไม่มีอาการ มันก็เป็นรูปไม่ได้ มันมีอาการมาอาศัยธรรมชาตินี้ ต้องมีธรรมชาติบ่งบอก แสงแดดก็ร้อน ลมถูกก็หนาวเย็น ฝนตกก็หนาว มันมีธรรมชาติของเขา ขาดอาหารก็หิว มีหนักมีเบาเป็นอาการของรูปของนาม บางทีมันมีกิเลสตัณหาเกิดขึ้นปรุงแต่งเป็นอาการของรูปของนาม มันมีวัตถุอาการ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีวัตถุ รูป รส กลิ่น เสียง วัตถุภายในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วัตถุภายนอกคือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ต่างๆ
ตามองเห็นเห็นรูป เห็นรูปมีอาการอะไรเกิดขึ้น อาจจะพอใจ ไม่พอใจ ถ้ามีสติ มันก็ไม่ไปกับความพอใจ ไม่ไปกับความไม่พอใจ มันก็รู้ เวลามันพอใจ ก็มีสัมปชัญญะ รู้สึกตัวกลับมาหาอิริยาบถที่เราสร้างเอาไว้อย่างนี่ มันก็ทำได้อย่างนี้ มันก็เป็นรูปทุกข์ นามทุกข์ มันก็เป็นทุกขเวทนา ทุกขัง ที่นั่งอยู่นี่มันก็เป็นทุกข์ของรูป มันอยู่ได้ไม่นาน ตั้งอยู่ไม่ได้นาน เพราะรูปนี้ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่นาน เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป เกิดในอาการอะไรก็ดับได้ เช่น เราเกิดอาการทางจิต เกิดโกรธ ความโกรธก็มีแล้วหายไป มีแล้วดับไปได้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ควรถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัว ว่าตนของเรา ชีวิตที่เป็นรูปนี่ ตั้งอยู่ได้ไม่นาน เกิดขึ้นแล้ว แก่ เจ็บ ตายไป
ชีวิตมันไม่เที่ยง ความตายมันเที่ยงกว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง มันก็สลดสังเวชในรูปธรรมนามธรรม สงสารรูปสงสารนาม ไม่เคยช่วยเหลือรูป ไม่เคยช่วยเหลือนาม ปล่อยให้รูปเป็นทุกข์ สูบบุหรี่ กินเหล้า ไม่เคยช่วยเหลือ ปล่อยให้นามเป็นทุกข์ โกรธ โลภ หลง วิตกกังวล เศร้าหมอง คับแคบ โกรธเคือง ทั้งๆ ที่ทุกข์อยู่ ไม่เคยช่วยเหลือ พอมาเห็นรูปเห็นนาม โอย สงสารรูป สงสารนาม สงสารตัวเอง เกิดรักตัวเอง อันชื่อว่าทุกข์แล้วเกิดกับรูปนี่ ไม่ปล่อยปละละเลย เอาใจใส่ตรงนี้ ถ้ามันเห็น ไม่ต้องไปถามใคร เช็คความโกรธ มันเกิดขึ้นกับนาม เวลาอาคันตุกะมันจรมา เราไม่รับมันก็ได้ มีสติเข้าไปอยู่นี่ รูปทุกข์นามทุกข์ รูปโรคนามโรค มันก็มี มันก็เห็นอยู่อย่างนี้ เห็นรูปสมมตินามสมมติ บางทีตาเห็นรูปไปสมมติเอาว่าดี ว่าไม่ดี หูได้ยินเสียงไปสมมติว่าดี ว่าไม่ดี จมูกได้กลิ่นสมมติว่าชอบ ไม่ชอบ ลิ้นได้รส กายสัมผัส จิตใจคิดนึกว่าชอบ ไม่ชอบ มันเกิดชอบ ไม่ชอบ สมมติบัญญัติเอาเอง ไม่ใช่ปรมัตถ์สัจจะ ก็กลายเป็นความโกรธ ความทุกข์ ความลำบากได้ ปรมัตถ์สัจจะมันไม่เป็นไร ในความโกรธ มันมีความไม่โกรธ ความโกรธเป็นสมมติบัญญัติ ความไม่โกรธเป็นปรมัตถ์สัจจะ เราไม่รู้
พอเกิดสมมติเกิดบัญญัติ ก็เกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมาย เอาความโกรธเป็นตัวเรา เอาความร้อนเป็นตัวเรา เอาความหนาว เอาความหิว เอาความเจ็บ เอาความปวดเป็นตัวเรา เป็นอุปาทานไป เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะไปยึดถือ ที่เราสวดอยู่นี่ว่า เรายกอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ถ้าไม่มีอุปาทาน มันไม่มีอะไร เป็นแต่อาการ มันบรรลุธรมได้ เห็นอย่างนี้ เห็นไปอย่างนี้ เห็นของจริงอย่างนี้ มีอยู่จริง ไม่ใช่เห็นนอกตัว ไม่ใช่ห่มจีวรเป็นดอกบัว ไม่ใช่ไหล่มันสูง (หัวเราะ) อันนั้นมันเป็นเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ฤทธิ์อย่างนั้น
บางคนก็แสวงหาฤทธิปาฏิหาริย์อย่างนั้น ฤทธิจริง ๆ คือทำให้สำเร็จนี่ มันหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ได้ มันเป็นฤทธิ์น้อยๆ ไป มันทุกข์ เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์นี่ มีฤทธิ์ แปลว่า ทำให้สำเร็จ เปลี่ยนความร้ายเป็นความดี นี่เรียกว่าฤทธิ คือสำเร็จอย่างนี้ ไม่ใช่ฤทธิคืออยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่แหงแทงไม่เข้า บางคนเขาต้องการอย่างนั้น แสวงหาของอย่างนั้น จนหลงใหล
สมัยก่อนนี้มีพระเครื่อง ก็ไม่ได้ใช้ในแบบนี้ สมัยศาสนาพุทธมาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ สุโขทัย เห็นว่าเป็นคำสอนที่ดี พระเจ้าแผ่นดิน การเผยแพร่ศาสนาในสมัยนั้น ไม่มีสมุดไม่มีกระดาษเขียนเป็นหนังสือเหมือนพวกเรา ก็วางแผนแจก เอาดินเอาโลหะมาหล่อพระองค์น้อยๆ แจกให้พระแก่ประชาชน พระนี้เอาแขวนไว้ที่คอ พระนี้ทำชั่วไม่เป็น มีแต่ทำดี เวลาใดใจมันชั่ว คิดเห็นพระอยู่ในใจ อันความชั่วความทุกข์ไม่ใช่พระ เปลี่ยนความชั่วเป็นความดี วางใจ อันนี้สมัยก่อนเขาแจกพระ เขาพูดกันอย่างนี้ เดี๋ยวนี้แจกพระให้กัน อยู่ยงคงกระพัน คือเข้าใจผิดไป โลภตะกรุดพะรุงพะรัง ปลุกเสกแสนสะบั้น อันธพาลซื้อหามาคุม (...) ธรรมะต่างหากเปลี่ยนความชั่วเป็นความดี เปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธ เป็นองค์พระจริง นี่ว่าพระ ประเสริฐอย่างนี้ ถ้าไล่ธรรม ไล่ธรรมะ ผีสิง ความโกรธเข้าสิง ลืม มันไม่เห็น เห็นเมียก็เป็นหมา เห็นสามีก็เป็นหมา มันมืดมันไม่เห็น มันสิงเข้าไป ก็ฆ่ากันตายได้เพราะความโกรธ มีมากมาย
ความโกรธเป็นอารมณ์มาย้อมใจ อารมณ์นี่มันร้ายกว่าเสือ เสือไม่ร้าย ไม่เคยเห็นเสือกัดคนเท่าไร แม้มันเป็นสัตว์ร้าย แต่ไม่ค่อยได้ยินข่าวว่ามันกัดคนเท่าไร ทีนี้ก็มีเสือสมัยก่อน ล่างจากนี้ จากแถวนี้แหละ ตามทางลากซุง ที่เราเดินอยู่นี้เป็นทางลากซุงนะ ไม่ใช่เราตัดนะ ทางลงด้วย ทางลากซุงมันเป็นทางเส้นเดียวอยู่นี่ ออกไปบ้านแม่สุดไปนู่น ที่บ้านนายสุด ที่ศาลาหน้า เป็นลานว่างวางท่อนซุง ต้นมะม่วงต้นขนุนวางเกะกะแถวนั่นแหละ
เราไม่มีกุฏิ ไม่มีฝาเลยนะ เอาไม้เรือนมาปู มุงหญ้าแฝก เอาต้นหมากริ้ว หมากแหน่งปูนอน ถ้าไม่เอาต้นริ้วต้นแหน่งมาปู เห็บมันเยอะ อ่า (มัน)ขึ้นไปกัด พวกนี้มีกลิ่น เอาไปปูแล้วก็นอน เสือร้องอยู่นั่น คืนนั้นหนาว ศูนย์ลบสี่ ต้นกล้วยตาย ไม้ใบใหญ่ตายหมดเลย เสือมันร้องตลอดเวลา เราก็นอนอยู่แถวๆ กุฏิ กุฏิผู้หญิงนี่ กุฏิแม่ชีแอ๊ดไม่มีฝา เอาไม้เรือนมาปู เณรน้อยก็นอนอยู่ศาลาไก่เตี้ยๆ ใช่ไหม ไม่มีฝาเหมือนกัน เณรร้องไห้เลยตอนนั้น เพราะกลัวเสือ มันก็ไม่ร้ายอะไรนะ เดินร้องตลอดคืน เราก็นอนอยู่ ฟังเสียงเสือ เณรน้อยมันร้องไห้ กลัว ตื่นขึ้นมา มันก็ทางลากซุง มันเป็นดินคลุกๆ เป็นดินขี้ฝุ่น มันดูรอยเสือ โอย แหลกไปเลยทางลากซุง เสือมันร้าย แต่มันก็ไม่เคยกัดใคร
เจอเหมือนกัน หลวงตาเดินจากศาลาไก่ไปหอไตรเก่า มันก็ออกไปจากทางนี้แหละ เป็นทางแคบๆ เดินไป ก็ไปเจอมัน หลวงตาก็มองมัน มันก็มองเรา หลวงตามองมันแบบไม่กลัว มองมันแบบยิ้มๆ มาคิดอยู่ในใจว่า เสือไม่กัดเรา ช้างไม่ทำลายเรา งูก็ไม่กัดเรา มันคิดแบบนี้สมัยก่อน มันก็มองเรา เราก็มองมัน มีแต่คิดว่า มันจะไม่กัดเรา พอดีมันก็แอ่นหลังลง แอ่นหลังลง ตีหางต๊อกแต๊กๆ มันก็ยืนหลังโก่งๆ พอมองมันไป มันก็แอ่นหลังลง (หัวเราะ) หางตีป๊อกแป๊กๆ มันก็รีบออกหนีไป ไม่เป็นไร ไม่กัดเรา ถ้าเราไปเห็นแบบนั้น เราก็มีกรรมฐานมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน มันก็ไม่กัด
อารมณ์ของคนนี่ มันทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น มันร้าย เห็นมันนี่ นามธรรม อาการของนาม ไม่ใช่เรา จะให้มันสั่งได้ มีใครบอกไหม หลวงตาวัดป่าสุคะโตขอบอกว่า เวลาใดมันโกรธ อย่าไปพูด อดไว้ก่อน อย่าพูดตามความโกรธ อย่าพูดตามความทุกข์ ให้ทนสักหน่อย มีขันติความอดทน ทำความเสงี่ยมไว้ในขณะที่มันจะผลุนผลันพลันแล่น วู่วาม ยับยั้งชั่งจิตไว้ก่อน เดี๋ยวมันก็หาย อย่าทำตามความทุกข์ อย่าทำตามความโกรธ มันเป็นอาการเฉยๆ ดอก ไม่ใช่จิต อย่านึกว่ากูโกรธ เป็นอาการของจิต นี่เห็นรูปเห็นนาม โอย มันดีเหลือเกินนะ อยากบอกคนอื่น อยากสอนคนอื่น ปัดโธ่ หลวงปู่เทียนสอนให้เรามารู้จักตัวเองนะ มีคนเดียวนี้ พ่อก็ไม่เคยสอน แม่ก็ไม่เคยสอน หลวงพ่อเทียนสอนให้เรามารู้จักรูปรู้จักนาม รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุ รู้จักความดับแห่งทุกข์ ตามพระพุทธเจ้าสอน ผ่านมาแล้วครึ่งศตวรรษที่เราพบหลวงพ่อเทียนนี่ แล้วมันก็เป็นของจริง ทุกคนเหมือนกันหมด
ความโกรธไม่ใช่จิต เป็นอาการของจิต ความทุกข์ไม่ใช่จิต เป็นอาการของจิต ความร้อน ความหนาว ความหิว อย่าไปทุกข์กับมัน เป็นอาการของกายของรูป ถ้ามันไม่ร้อนไม่หนาว มันก็ไม่ใช่รูป เป็นอันตราย มันร้อนเป็น มันหนาวเป็น นี่เป็นสัญญาณภัยของเขา เพื่อให้เราได้ช่วยเขา เราก็ได้ปัญญาได้ฉลาด
ความหลงทำให้เรามีปัญญา ความทุกข์ทำให้เรามีปัญญา ถ้าเราไม่ศึกษา เราไม่รู้หรอก ความหลงทำให้เราโง่ไปเลย ความทุกข์ทำให้เราโง่มืดไปเลย เราจะมีปัญญาจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับรูปกับนามนี่ ความรอบรู้ในกองสังขารคือรูปกับนามนี่เป็นปัญญา ไม่ใช่ไปรู้ที่อื่น นอกโลก ไม่ใช่แบบนั้น นี่มาเห็น เห็นกระแส เห็นกระแส เห็นกระแสแห่งบุญแห่งบาป รู้ตัวบุญคือใจดี คือรู้นี่เอง ตัวบาปคือไม่รู้ นี่ก็เห็นบุญเห็นบาป
แต่ก่อนอยากได้บุญ กลัวบาป ไม่เคยรู้จักคำว่าบุญ ทำแต่บุญ แต่ไม่รู้จัก กลัวบาป กลัวตกนรก พอเห็นรูปเห็นนาม โอย รู้จักแล้ว บุญคือใจดีๆ คือตัวรู้นี้ ถ้าใจดีเป็นไง แม่เพียร กินข้าวแซ่บบ่ ถ้าใจดี กินข้าวแซ่บบ่ นอนหลับบ่ ถ้าใจห้าย (ร้าย) กินข้าวแซ่บบ่ ใจห้ายเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ใจดีเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ใจดีก็มีสวรรค์เดี๋ยวนี้แหละ ใจร้ายก็มีนรกเดี๋ยวนี้แหละ
จิตนี่แหละ จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นหวังได้ จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติปาฏิกังขา เมื่อจิตใจเศร้าหมอง ทุคติเป็นที่หวังได้ทีเดียว ตกนรกเลย จิตเต (อ)สังกิลิฏเฐ สุคติปาฏิกังขา เมื่อจิตใจไม่เศร้าหมอง สุขคติเป็นที่หวัง มันทำได้ไหมนี่ เวลามันโกรธ เปลี่ยนเป็นไม่โกรธได้ไหม ก็เปลี่ยนได้ ทำไมจึงเปลี่ยนได้ เพราะเราเห็นอาการโกรธเป็นอาการ ไม่ใช่จิต ง่ายๆ จึงสอนให้เห็น เห็นมันโกรธ อย่าเป็นผู้โกรธ เอาไหม เห็นทุกข์ อย่าเป็นผู้ทุกข์ นี่แยกกันตรงนี้ เห็นกายสักว่ากาย อะไรที่มันเกิดกับกาย ไม่เอาอาการมาเป็นตัวเป็นตน ร้อนคือกู หนาวคือกู หิวคือกู ไม่ใช่ เป็นสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อย่าไปยึดเอาตัวนั้นเป็นตัวเป็นตน เห็นเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ อย่าไปยึดเอา