แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การที่เราได้สาธยายพระสูตร คำสอนพระพุทธเจ้า ในการแสดงไว้นานแล้ว เราเอามาสาธยาย ลำดับลำนำ เอามาสอนตัวเรา นอกจากนั้นเราก็สอนตัวเราเอง เอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเรื่องของเรา เอาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาเป็นเรื่องของเรา แล้วเราก็เป็นหมู่ชน เป็นหมู่ชนผู้เชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า มารวมกันปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ปฎิบัติชอบตามพระธรรมวินัย เรียกว่าหมู่สงฆ์ หมู่สังฆะ
หมู่สงฆ์ หมู่สังฆะ ไม่มีการเบียดเบียนตนเอง ไม่มีการเบียนเบียนคนอื่น สิ่งอื่น วัตถุอื่น ต่างคน ต่างแก้ไข เวลามันหลงโลก ไม่ให้ความหลงไปไกล ความหลงเป็นต้นเหตุแห่งอกุศล เราจะพูดผิด คิดผิด ทำผิด พอมันหลง หลงเกิดขึ้นรู้ เปลี่ยนหลงเป็นรู้ ตัดไฟเสียต้นลม ปัญหาก็จะไม่เกิด ทุกคนแก้ตรงนี้ มีสติเป็นเจ้าของดูแลกายใจของตนให้มันคุ้น มันจะแสดงออกมาตรงกาย ตรงใจก่อน รักษากาย รักษาใจ เรียกว่าศีล เปลี่ยนร้ายเป็นดี เรียกว่าสมาธิ เวลามันผิด มันเกิดปัญหาให้มันรู้ เปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญา เรียกว่าปัญญามันได้จากกาย จากใจนี้ ย่อมรอบรู้ในกองสังขาร คือกายใจ กายเป็นสังขาร ใจเป็นสังขาร เรียกว่าปัญญา ไม่ใช่ไปศึกษาที่อื่น เราจะมีสติดู มันจะเห็น ตาเนื้อไม่เห็น ตาในคือสติจะเห็น มันหลงจะได้เห็นหลง ได้เปลี่ยนหลงเป็นรู้ ระหว่างความรู้กับความหลงมันต่างกันอยู่ ให้เราได้สัมผัสเอา หลงก็ตัวเองรู้ เวลาเปลี่ยนหลงก็ตัวเองทำเอาเอง ปฏิบัติด้วยตนเอง เปลี่ยนได้อยู่ มันจะหลงพาให้เกิดโกรธ เกิดทุกข์ เกิดกิเลสตัณหาก็ยิ่งเปลี่ยนได้ เห็นเข้าทางมัน ถ้าเห็นละก็เป็นมรรค ถ้าเห็นแล้วไม่เป็นก็เป็นผล เป็นมรรคเป็นผลไปในตัว เราก็เป็นเพื่อนกันตรงนี้ ธรรมอันเดียวกัน มีสติ ดูกายเหมือนกัน ทุกคนมีกาย มีสติก็เหมือนกันอันเดียวกัน ถ้าเราอยู่ที่นี่ เรามีสติก็เป็นคนคนเดียวกัน ถ้าเราหลงก็เป็นคนละคน ถ้ามีสติมันก็ละความชั่ว ถ้ามีสติมันก็ทำความดี ถ้ามีสติจิตก็บริสุทธิ์ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งหมดคือพรหมจรรย์ เราจะมาฝึกฝนตนเอง สอนตนเอง เตือนตนเอง แก้ไขตนเอง บันฑิตต้องฝึกตน ช่างดัดลูกศรก็ดัดลูกศร ช่างถากก็ย่อมถาก แต่บางทีดัดแล้วมันคดขึ้นมาอีก ก็ดัดใหม่ จนมันอยู่ ทีหนึ่งหลง ทีหนึ่งรู้ ทีหนึ่งอาจจะไม่พอ หลงร้อยครั้งพันหน รู้ร้อยครั้งพันหน อาจจะได้เหลี่ยมได้ลายขึ้นมาง่ายๆ ทีแรกอาจจะทวนกระแส เวลามันโกรธ เปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธ อาจจะทวนกระแสสักหน่อย เวลามันทุกข์ เปลี่ยนเป็นไม่ทุกข์ ให้รู้สึกตัว อาจจะทวนกระแส เหมือนขี่รถขึ้นมอ ขับจักรยานขึ้นมอที่มันสูง เรียกว่าทวนขึ้นไป พอมันขึ้นแล้วก็สบาย
มันมีสิ่งที่ทำได้อยู่ มันหลงเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง มันทำได้อยู่ ถ้าต่อไป ต่อไปจะง่าย ให้มีแนวร่วมหลายอย่าง มีศรัทธา เชื่อฟังคำสอน มีกายเห็นกายตามความเป็นจริง มันจะเจอปัญหาเกี่ยวกับกายกับใจ ไปทางเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ไปเห็นสิ่งที่ขวางกั้นความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเล สงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน พยาบาทเกิดขึ้นในกายในใจเรานี้ ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่าไปเห็นเช่นเดียวกันกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนตรงนี้ เวลามันง่วง มีเหมือนกันทุกคน เวลามันคิดฟุ้งซ่านมีเหมือนกัน เวลาลังเลสงสัยมีเหมือนกัน เวลาเกิดราคะ โทสะ พยายาทเกิดขึ้นก็มีเหมือนกัน ต่างคนต่างจุ่มเปรอะเปื้อนมา พระสิทธัตถะ ก่อนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าก็มีลูกราหุล มีเมียก็คือพิมพา ย่อมคิด มีปราสาทสามฤดู มานั่งอยู่ต้นโพธิ์ก่อนจะคิดเปรียบเทียบ อยู่คนเดียวมันก็ย่อมคิด เราก็คิดเหมือนกัน แต่ว่ามันคิดไปกลับมาได้อยู่
เวลานี้เรามา ไม่ใช่เรามานั่งคิด มาเดินคิด เรามารู้สึกตัว งานของเราก็อย่างนี้ หลักอยู่นี้ เรียกว่าฐานอยู่นี่ ตั้งไว้นี้ ไปแล้วกลับมา ปฏิบัติคือไปแล้วกลับมา ปฏิบัติคือโต้ตอบทักท้วง อย่าคล้อยตาม ฉันใดที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ ให้กลับมามีสติ ตั้งไว้นี้ เอากายเป็นที่ตั้ง เรียกว่ากายานุปัสสนา เห็นกายเป็นที่ตั้งอยู่เสมอ ตามรูปแบบของกรรมฐานตามที่เราทำอยู่หลักของสติปัฏฐานสูตร เป็นสูตรเอก ทางเส้นหนึ่ง ทางเส้นเดียวในโลกที่เข้าสู่มรรค สู่ผล เดินคนเดียว ไปถึงที่เดียวกัน เดินอยู่ตรงนี้ก็เห็นเหมือนกันหมด เท่ากันหมด เห็นความหลงก็หลงเหมือนกัน เปลี่ยนหลงเป็นความรู้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่คนละอย่าง ความหลงก็เป็นพันธุ์อันเดียว ความโกรธก็เป็นพันธุ์อันเดียว ความทุกข์ก็เป็นพันธุ์อันเดียว ไม่เป็นคนละอย่าง จึงเป็นเรื่องที่รู้กัน คนอื่นหลง เวลาเราหลงก็เหมือนกัน เวลาเราเปลี่ยนหลงเป็นรู้ได้ ก็อยากจะช่วยคนอื่น มันทำได้อยู่ ทำได้อยู่
มาตรงนี้ มาตรงนี้ มาทางนี้ เหมือนชวนกัน เป็นเพื่อนกัน เรียกว่ากัลยาณมิตร สหายเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ จะบริสุทธิ์ พรหมจรรย์คือบริสุทธิ์ ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ ไม่ไปเปรอะเปื้อนไปกับสุข ไม่ไปเปรอะไปเปื้อนกับทุกข์ ความพอใจความไม่พอใจไม่เปรอะเปื้อน มีแต่เห็น ได้เห็นแล้วไม่เปรอะเปื้อน ได้เป็นแล้วเปรอะเปื้อน เป็นสุขเปรอะเปื้อนความสุข เป็นทุกข์เปรอะเปื้อนความทุกข์ เป็นความพอใจเปรอะเปื้อนความพอใจ เป็นความไม่พอใจเปรอะเปื้อนความไม่พอใจ เรียกว่าโลก รสของโลก สัตว์โลกย่อมติดอยู่แบบนี้
เราจะมาเป็นพรหมจรรย์รู้ เหมือนกับรู้ทีหนึ่ง มันก็ล้างออก ถ้ามันหลงรู้ ล้างหลงออก มันทุกข์รู้ ล้างทุกข์ออก มันโกรธรู้ ล้างทุกข์ออก มันพอใจ มันไม่พอใจรู้ ล้างความพอใจ ความไม่พอใจออก อย่างพระพุทธเจ้าแสดงไว้ การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก มีสติ การเดินไปข้างหน้าดูสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ มีสติแล้วแลอยู่ นี่เรียกว่าเดิน มันพ้นจากอะไร เมื่อมีความรู้ตัว มันก็พ้นจากความหลง เมื่อมีความรู้สึกตัว มันก็ไม่ทำชั่ว มันไปแล้ว ยิ่งเวลามันหลงนี่รู้ สมน้ำหน้าความหลง เห็นชัดเจน เปลี่ยนหลงเป็นรู้ มีความมั่นใจ มันถูกต้องที่สุด เวลามันหลงเปลี่ยนหลงเป็นรู้ คือความถูกต้องที่สุด มันมีความยิ้มแย้มแจ่มใส มันทำอันสิ่งที่ถูกต้อง ถ้ามันมีหลง ถ้ามันมีทุกข์ก็ยิ่งดี สัมผัสกับความทุกข์ สัมผัสกับความไม่ทุกข์ มันต่างกันอยู่ ตัดสินใจได้ เลือกได้ ปฏิบัติได้ ไม่ใช่ มันหลง มันทุกข์ บัดนี้มันไม่หลง มันไม่ทุกข์ มันก็พ้นจริงๆ เรียกว่าวิมุต พ้นน้อยๆไป ความหลงหมดไป พ้นจากความหลงไปแล้ว พ้นจากความทุกข์ไปแล้ว ก็เลยไกลจากข้าศึก ผู้ที่ไกลจากข้าศึก เรียกว่า อริยะ อริ แปลว่า ข้าศึก ยะ แปลว่า พ้นไป พ้นไปจากข้าศึก จนไม่มีภัย มันก็เดินจากนี้แหละ ก้าวแรกคือเปลี่ยนหลงเป็นรู้เป็นก้าวแรก ถ้าเปลี่ยนหลงเป็นรู้ได้ โกรธก็เปลี่ยนง่าย ทุกข์ก็เปลี่ยนง่าย เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป ตะพึดตะพือไป ก็เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย โน่น ไปถึงโน่น ก็เลยง่าย ถ้าไม่เปลี่ยนหลงมันก็ยาก เหมือนกลิ้งครกขึ้นเขา ถ้าเปลี่ยนหลงเป็นรู้ เหมือนกลิ้งครกลงเขาง่ายต่อไป มันเป็นอย่างนี้ ทางมันเป็นอย่างนี้ เรียกว่ามรรค มรรค คือดู มรรคคือเห็น เห็นแล้วไม่เป็น มรรคเป็นเหตุ พ้นเป็นผล เห็นเป็นมรรค ไม่เป็นเป็นผล มันเป็นมรรคเป็นผลไปอย่างนี้
สิ่งที่เราทำอยู่นี้ไม่ใช่ฟรี ไม่ใช่ไม่มีสาระ มีสาระอยู่ มันจะออกมาเป็นสูตร สูตรกุศล สูตรอกุศล กุศลคือความฉลาด อกุศลคือความโง่ ความหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความฉลาด เปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญา มันเป็นไปได้อย่างนี้ มันจึงเลื่อนฐานะได้ จากคนมาเป็นมนุษย์ จากความเป็นมนุษย์มาเป็นพระได้ คนมันปนกัน สุขก็เอาทุกข์ก็เอา มนุษย์มันไม่ปน มันเห็นสุขเป็นทุกข์ สุขเป็นบวก ทุกข์เป็นลบ อารมณ์บวกลบไม่มี อยู่ตรงกลาง เรียกว่า มันก็ไม่เปรอะเปื้อน มันเป็นผล มันเลยไม่กระทบกระเทือน เวลาสัมผัสสุขทุกข์ไม่กระทบกระเทือน แต่ก่อนเรากระทบกระเทือน สุขก็ดีใจไปเลย ทุกข์ก็เสียใจไปเลย มาถึงใจ วันนี้สุขทุกข์ที่มันเห็นมันไม่มาถึง เป็นอาการธรรมดา ยิ่งเรามาปฏิบัติแบบนี้ มันมีสูตร สูตรเรียกว่าอารมณ์ เห็นรูปธรรม นามธรรม แต่ก่อนเห็นกายเป็นกาย เป็นใจ ถ้าเห็นกายเห็นใจธรรมดา มันเป็นสุข เป็นทุกข์ได้ง่าย สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ ก็เห็นเป็นรูปธรรม นามธรรม อันสุขไม่ต้องเรียกว่าสุข อันทุกข์ไม่ต้องเรียกว่าทุกข์ เป็นอาการ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ความร้อนก็ไม่ใช่ความร้อน ความหนาวก็ไม่ใช่ความหนาว ความหิวไม่ใช่ความหิว ความปวดความเมื่อยไม่ใช่ความปวดความเมื่อย เป็นอาการของรูป อาการของนาม ไม่ใช่ตัวใช่ตน เบากว่าเป็น แต่ก่อนเป็นกายเป็นใจ มันเป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่มีสิ่งรองรับ ไม่มีฐาน ไม่มีเกาะบังเกอร์ เหมือนเรานอนไม่มีมุ้ง คนที่มีอารมณ์ได้หลักแล้วมานอนในมุ้ง ฟังเสียงยุงมันบิน คนที่มีความรู้เห็นตามความจริง เหมือนมีร่มในมือ เวลาฝนตกกลางร่ม เวลาแดดออกกลางร่ม ถ้าเห็นรูปเห็นนาม มักจะไม่มีรสชาติ แต่ก่อนความทุกข์มีรสชาติ ความสุขมีรสชาติ ความโกรธมีรสชาติ พอมาเห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม มันสุขไม่มีรส ทุกข์ไม่มีรส อะไรที่เจ็บปวดไม่มีรส หิวไม่มีรส มัน “สักแต่ว่า” ไปเสียแล้ว กายสักแต่ว่ากาย เวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์สักแต่ว่าเวทนา จิตที่มันยึดก็สักว่าจิต แต่ก่อนเป็นกายเป็นใจนี่ อะไรก็เอามาเป็นตัวเป็นตนได้ง่าย เป็นสุขเพราะความคิดก็มี เป็นทุกข์เพราะความคิดก็มี บางครั้งนี่ไม่มีตัวมีตน คิดขึ้นมาน้ำตาไหลก็มี คิดขึ้นมาแล้วโกรธ นอนไม่หลับก็มี ถ้าเห็นเป็นรูปธรรม เห็นเป็นนามธรรม เป็นอาการที่เกิดกับจิต อันความคิดไม่ใช่จิต เรียกว่าเจตสิก มันมีสัญญา เหมือนโทรศัพท์ดัง ติ๊ด ติ๊ด ติ๊ด มันมีสัญญา มีเหตุ เหมือนฆ้องที่วางอยู่เฉยๆ แขวนอยู่เฉยๆ มันไม่ดัง เมื่อมีการสัมผัส มันก็เกิดเสียงดังขึ้นมาเรียกว่า เจตสิก คือความคิด มันคิดเป็น เรียกว่านามธรรม คิดแล้วก็มันมีวิญญาณ มันรู้อะไรได้ มันไปไกล เกิดจากความคิดก็ไปถึงสุข ถึงทุกข์ ความรัก ความโกรธ โลภ หลง กิเลส ตัณหาได้ เกิดจากความคิด เราไม่เห็น พอมาเห็นเป็นรูปธรรม นามธรรม มันก็บอก นี่มันเป็นอาการ ความโกรธเป็นอาการของนาม ความทุกข์เป็นอาการของนาม ความปวด ความเมื่อย ความร้อน ความหนาว เป็นอาการของรูป ความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง เป็นอาการของนาม มันมีได้อย่างนี้ มันจึงไม่บรรลุธรรม ถ้ามันไม่รู้อะไรที่รูปที่นามนี่ มันก็บรรลุธรรมไม่ได้ เหมือนเราไม่มีวิญญาณ กายของเรามันด้าน มันไม่รู้จักเจ็บ เอาไฟมาจุด ก็ไม่เจ็บ เอามีดมาขีดก็ไม่เจ็บ อันตราย ถ้ามันร้อนเป็น ดีแล้ว มันหนาวเป็น ดีแล้ว มันหิวเป็น ดีแล้ว มันเจ็บปวดเป็นเรียกว่าดีแล้ว มันจะได้ช่วยมัน มันจึงอยู่ได้ ไม่ใช่มาเป็นสุข ไม่ใช่มาเป็นทุกข์ มันก็เกิดปัญญาขึ้นมา
พอเห็นรูป เห็นนาม มันเป็นอย่างนี้ จากความสุขมาเป็นปัญญา จากความทุกข์เป็นปัญญา ตื่น อันนี้ มันเป็นวัตถุ มันเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในรูปในนามนี้ ในรูปนี้มันก็เป็นก้อนทุกข์อันหนึ่ง ในนามก็เป็นก้อนทุกข์อันหนึ่ง แต่ก่อนไม่รู้จักช่วย พอมาเห็นและรู้จักช่วย กระตือรือร้อน ช่วยรู้ สิ่งไหนที่เป็นทุกข์ไม่เกิดเลย สิ่งไหนที่เป็นทุกข์แก่รูปไม่เกิดขึ้น สิ่งไหนที่เป็นทุกข์แก่นามไม่เกิดขึ้น ให้มีปัญญา ความโกรธไม่จริง ความไม่โกรธมันจริง ความโกรธเป็นสมมติ ความไม่โกรธเป็นปรมัตถ์ มันจริงกว่ากัน ความโกรธไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธเป็นธรรมกว่า มันก็เกิดธรรมแก่รูป แก่นาม พอเรามาเห็นอันนี้ มันเป็นกระบวนการรื้อถอน ขนส่ง ช่วยรูป ช่วยนาม ตั้งแต่รูปนามมันก็อยู่ในความไม่เที่ยง ในความไม่เที่ยงเกิดจากรูป ในความไม่เที่ยงเกิดจากนาม ในความเป็นทุกข์เกิดจากรูป ในความเป็นทุกข์เกิดจากนาม
ในความไม่ใช่ตัวตนมีอยู่ในรูป ในความไม่ใช่ตัวตนมีอยู่ในนาม มันจึงเป็นกระบวนการไปถึงการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันแยกไปจากนี้ เหมือนทางสี่แพร่ง สามแพร่ง ตั้งเกิดที่เดียวกัน ต้นที่เดียวกัน แต่มันไปคนละทาง แต่ละปลายทางไปถึงสิ่งที่หมายต่างกัน แต่เกิดตรงเดียวกัน เกิดที่รูปที่นามนี่ แต่เราไม่รู้ ใช้ผิด เส้นทางผิด ทิศทางผิด เห็นความโกรธเป็นตัวเป็นตน เห็นความทุกข์เป็นตัวเป็นตน ผิด เอาความโกรธว่าเป็นเราโกรธ ถ้าเราได้โกรธแล้วว่าเราจะไม่ลืม เอามายึดไว้ เอาความทุกข์ เอาความรัก เอาความเกลียดชังยึดไว้ว่าเป็นตัวเป็นตน ถูกความโกรธ เสียเปรียบความโกรธ เสียเปรียบความรัก เสียเปรียบความเกลียดชัง กระทบกระเทือนแก่เรา ความโกรธเป็นผลกระทบกระเทือนต่อตับ ตามภาษาหมอ (หลวงพ่อถามหมอ “ใช่ไหม” คนนี้หมอนะ) ความเกลียดเป็นผลกระทบกระเทือนต่อตับ ความเครียดเป็นผลกระทบกระเทือนต่อหัวใจ เครียดอยู่เสมอนี่หัวใจกระทบกระเทือนเต็มที่ หมอว่าอย่างนั้น ความวิตกกังวลเป็นผลกระทบกระเทือนต่อกระเพาะอาหารและม้าม ความเศร้าซึม สร้อยเศร้า เหงา หงอย อาลัยอาวรณ์เป็นผลกระทบกระเทือนต่อปอด หมอว่าอย่างนี้ ใช่ไหม เวลาโกรธ หิวข้าวไหม กินข้าวลงไหม (หลวงพ่อถามแม่ชี “เวลาโกรธน่ะ กลืนข้าวลงไหม”) เป็นผลกระทบ กลืนข้าวไม่ลงนั่นแหละมันเป็นผลกระทบต่อกระเพาะอาหาร ไม่มีน้ำย่อย ไม่มีน้ำลาย มันมีอย่างนั้นไหม เวลาโกรธกินข้าวแซบบ่ (แม่ชีตอบ “บ่ แซบ”) นอนหลับบ่ มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่ทำไมเราไปเอาความโกรธมานอนอยู่กับเราข้ามวันข้ามคืนโกรธคืนหนึ่งมีไหม ชั่วโมงหนึ่งมีไหม บางคนถ้าพูดให้โกรธตายไม่ลืมเลยทีเดียว มายึดความโกรธว่าเป็นตัวเป็นตน มันไม่ใช่ มันเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับนาม มันให้เราแก้เปลี่ยนได้อยู่ เปลี่ยนได้อยู่ อนิจจา วต สังขารา ความโกรธเกิดขื้นแก่เราแล้วหนอ
เคยได้ยินพระสวดไหม เคยเห็นไหม เขาจับอะไร จับสายสิญจน์ อนิจจา วต สังขารา ได้ผูกศพ ได้ผูกสังฆทาน อุปปาทวยธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปสโม สุโข ได้อะไร พระได้อะไร พระท่านได้อะไร ได้จีวร ได้ปัจจัย ได้อะไรต่างๆ พระท่านว่าอะไร อนิจจา วต สังขารา ความโกรธเกิดขื้นแก่เราแล้วหนอ อุปปาทวยธัมมิโน ไปยึดว่าตัวว่าตน กูซะแล้ว อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เปลี่ยนได้อยู่ เหมือนหลังมือเปลี่ยนหน้ามือ มันโกรธเป็นไม่โกรธได้ เปลี่ยนได้อยู่ มันทุกข์ เปลี่ยนไม่ทุกข์ได้อยู่ อุปปัชชิตวา เปลี่ยนได้อยู่ เตสัง วูปสโม สุโข เมื่อเปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ ไม่ได้ทะเลาะกันแล้ว ถ้าความโกรธพาทะเลาะกันได้ ฆ่ากันได้ ถ้าทุกคน ทุกคนเปลี่ยนจะไม่ทะเลาะกัน จะไม่ฆ่ากัน ทุกคนก็แก้ตรงนี้ นี่ว่าเห็นรูปธรรม นามธรรม เห็นธรรมชาติของรูป เห็นธรรมชาติของนาม เห็นอาการของรูป เห็นอาการของนาม
มันจะเป็นสูตรอย่างนี้ เราดูไป ดูไป ทีแรกเห็นเป็นกาย ต่อไปเห็นเป็นรูปเคลื่อนไหวน่ะ รูปนี่มันไม่มีอะไร มันมีนามครองมัน รูปมันทำนี่ มีอะไรมันสั่ง อะไรสั่งให้รูปมันทำอย่างนี้ ไหนบอกให้ไอ้นี่มันวิ่งมานี่ได้ไหม ไปๆ ออกไปได้ไหม ทำไมไม่ได้ มันมีแต่รูป มันไม่มีนาม อันนี้อะไรสั่งมัน อะไรสั่งมัน สั่งให้ทำ “นี่” อะไรสั่ง ที่สั่งนี่ สั่งให้ทำดี หรือทำชั่ว ที่สั่งให้ทำ “นี่” มันสั่งให้ทำดี หรือทำชั่ว มันทำ มันรู้ สั่งให้เอาปืนมายิงตัวเอง มันรู้ไหม มันยิงไหม มันสั่งให้กินยาตาย รู้ไหม รูปเนี่ยะ สั่งให้เอาเชือกมาแขวนคอตาย มันรู้ไหมรูป มันไม่รู้ อะไรมันเป็นใหญ่ นามเป็นใหญ่ คือมีรูป มีนามนั่นแหละ ดังนั้น อยู่ที่ไหนล่ะ อยู่ที่เรานี่รูปน่ะ เคลื่อนไหวนี่เป็นรูป เดินไป เป็นรูป นั่งอยู่นี่ มันจะลุก อะไรมันสั่ง เวลาลุก อะไรมันสั่งให้นั่ง มันนามธรรม มันเป็นรูป เป็นนาม มันโกรธเป็น มันทุกข์เป็น ในรูปในนาม มันเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็น เกิดโกรธ เกิดขึ้นแล้ว ความโกรธ เกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์นั่น ความโกรธก็แก่ไป แก่ไป แก่ไป แล้วหมดไป มีใครโกรธไหมอยู่นี่ เคยโกรธไหม มันมีไหมความโกรธ มันมีชีวิต มีตัวมีตนไหม เราไปถือว่าเราซะ มันไม่ใช่ ความทุกข์ก็ไปถือว่าเราซะ อะไรก็ตามไปถืออาการที่เกิดกับรูปกับนาม เป็นตัวเป็นตน ถือว่าผิดที่สุดเลย เป็นทุกข์เพราะว่าไปยึดเอาว่าตัวว่าตน ถ้าเรามาเห็นซะแล้ว มันเป็นอาการนิดหน่อย ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเลย ยิ่งเห็นแล้วไม่เป็นนี่ ยอดเยี่ยมที่สุด มันโกรธ เห็นมันโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ ยอดเยี่ยมมาก ทำได้ทุกคน มันทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ มันอะไรเกิดขึ้น มีแต่เห็นมัน แล้วก็ใช้มัน
เวลานี้เราใช้กาย หรือว่ากายมันใช้เรา เวลานี้เราใช้จิตใจ หรือว่าจิตใจมันใช้เรา อะไรเป็นใหญ่ เรามีสิทธิใช้ใจไหม จะให้ไปคิดเรื่องนี้ จะให้มันหยุด ใช้ได้ไหม เราไม่ฝึก มันใช้ไม่ได้ ไม่อยากคิด มันก็คิด มีบ่ มีไหม เวลานอน หาเรื่องมาคิด เค้นนอนไม่หลับ ไม่อยากคิดมันก็คิด ห้ามไม่ให้มันคิด มันไม่ได้ ถ้าเราไม่หัด เราจึงมาหัดให้คิดกลับไปกลับมา อ้าว เวลานี้ ไม่ใช่เวลามานั่งคิดนะ มานั่งรู้สึกตัว เหยียดแขนเข้า เหยียดแขนออก รู้สึกตัว มันมีสูตรอย่างนี้ ปฏิเสธตรงนี้เหรอชีวิตเราน่ะ จะปล่อยปะละเลย รูปธรรม นามธรรม มันเป็นความชั่ว ทำชั่วจนตาย หลงจนตายกันหรือ จะโกรธจนตาย จะทุกข์จนตายหรือ แล้วจะไม่เปลี่ยนหรือ แล้วเรามาเปลี่ยนหลงเป็นรู้ แล้วมันก็มีครั้งสุดท้าย ตั้งแต่หนุ่มๆ ตื่นแต่ดึก ฝึกแต่หนุ่ม ดีกว่าที่ไปรอมก่อนใจจะขาด 5 นาทีเหมือนพระเจ้าสุทโธทนะ มันไม่ใช่แล้ว นอกจากนั้นมันไม่เป็นไร เราจึงมาเอาชีวิตของเราไว้
เรามีสิทธิ์ที่จะไม่หลงได้ไหม ได้ไหม มีสิทธิ์ที่จะไม่โกรธได้ไหม มีสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์ได้ไหม ทำไมไม่ใช้สิทธิของตัวเรา ปล่อยปะละเลยชีวิตของเราทำให้ทุกข์ อมทุกข์ข้ามวันข้ามคืน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น นี่หรือมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ประเสริฐตรงไหน ถ้าไม่เพียรตรงนี้ ถ้าใครจะสอน ก็สอนเรานี่ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้ เรามีความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตนนะ เวทนาไม่ใช่ตัวตนนะ สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวใช่ตน สิ่งไหนไม่ใช่ตัวตนควรหรือที่จะไปยึดว่า เราว่า ของเราว่า ตัวว่าตนของเรา ได้ยินไหม เราสวด แล้วยังไปยึดเอาอยู่ มันจริงไหม สิ่งที่เราไปยึดว่า มันจริงไหม มันไม่ฟังเสียงใคร ในความไม่เที่ยง เวลานี้ก็ไปของมันอยู่ มันไปอยู่ความไม่เที่ยง น้ำตาก็ไหลมาแล้ว เจ็ดสิบกว่าปี เกือบจะแปดสิบปีแล้ว มันไปแล้ว มันไม่เอาไว้อยู่หรอก อันความไม่เที่ยงน่ะ มันไม่ใช่ตัวตน ห้ามไม่ได้ มันเปลี่ยนไป รูปน่ะ รูปมันเป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่เราแก่ เห็นมันไม่ใช่ตัวใช่ตน มันเป็นธรรมชาติเป็นอาการของเขา แม้แต่ความโกรธที่มันเกิดขึ้น อุปทานมันก็ไม่เที่ยง มันไม่ได้อยู่หรอก ไม่พูดในเวลาโกรธ ไม่ทำสิ่งใดในเวลาโกรธ อย่าให้แนวร่วมมันดูสิ มันก็หายลง หายลง หายลง ลองดู มีสติ ไม่พูดในเวลาโกรธ เวลาโกรธอย่าไปพูด อยู่นิ่ง หายใจเข้า หายใจออก ความโกรธไม่กระพือ มันก็ลดลง ลดลงปกติได้ ลดลงปกติได้ ถ้าคราวใดที่มันโกรธ รีบรน คนโกรธเป็นคนรีบร้อน รีบไปด่ากัน กลัวจะหายโกรธ กลัวว่าจะไม่ได้ด่ากัน บางคนก็มอมตัวเอง เพื่อจะให้มันโกรธเพิ่มขึ้น แต่ว่ากับเรา ว่ากับเรา เราไม่ยอม เราไม่ยอม มอมตัวเอง เพราะฉะนั้น ต้องวางลงแล้ว เอาชนะเรานี้ อย่าไปชนะคนอื่น ถ้าเอาชนะคนอื่นไม่ประเสริฐ ยิ่งเวลามาโกรธ กูไม่ได้ด่ามัน กูไม่หายโกรธ กูไม่ได้ฆ่ามัน กูไม่หายโกรธ ไม่ประเสริฐ พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ พระพุทธเจ้าสรรเสริญบุคคลที่เอาชนะตนเอง ชนะคนอื่นร้อยครั้งพันหน ไม่เท่าชนะตนแม้ครั้งเดียว
เวลามันโกรธ ห้ามเรา เวลามันทุกข์ เปลี่ยนเรา เวลามันหลง เปลี่ยนเรา เรียกว่าปฎิบัติธรรม ประเสริฐจริงๆนะ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐตรงนี้ เปลี่ยนหลงเป็นรู้ เปลี่ยนโกรธเป็นรู้ เปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ เปลี่ยนอะไรเป็นรู้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นรู้ มีแต่ภาวะที่รู้ มีแต่ภาวะที่เห็นเข้าไป นี่มันทำได้อย่างนี้ เรียกว่าพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ศึกษาปฏิบัติพึงทำด้วยตนเอง อกาลิโก ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เอหิปัสสิโก ควรเชิญให้มาดู มาดู มาดู มาดูนี่ ไม่หลงได้อยู่ อย่าหลง ไม่โกรธก็ได้อยู่ มา มา มา มาดูนี่ เอหิปัสสิโก ควรน้อมมาใส่ตัวเรา เอาความหลงมาใส่เรา เวลามันหลง อย่าให้หลงเป็นหลง อย่าให้ทุกข์เป็นทุกข์ อย่าให้โกรธเป็นโกรธ น้อมความไม่หลง น้อมความไม่โกรธ น้อมความไม่ทุกข์ มาใส่เราไว้ เอหิปัสสิโก โอปนะยิโก เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่น ประกาศได้ ว่ามันมีอย่างนี้ ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ผู้ปฏิบัติศึกษาแล้วนี่ ย่อมรู้และเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น สมกับการปฏิบัติ ขยันรู้มากก็ได้รู้มาก
14 จังหวะ หนึ่งรู้ สองรู้ สามรู้ สี่รู้ ห้ารู้ หกรู้ เจ็ดรู้ แปดรู้ เก้ารู้ สิบรู้ สิบเอ็ดรู้ สิบสองรู้ สิบสามรู้ สิบสี่รู้ สิบวินาที ติ๊ก ติ๊ก รู้หนึ่งรู้ วินาทีหนึ่ง รู้ทีหนึ่งมันทำได้แน่ เอามาใช้ให้รู้ อย่าไปใช้ให้หลง เราจะใช้กายเรายังไง ใจยังไง ใช้ให้มันหลง มันก็หลง ใช้ให้มันรู้ มันก็รู้ มันสอนได้นี่ว่ามนุษย์ หรือว่าคน วินาทีหนึ่ง รู้ทีหนึ่ง ถ้าชั่วโมงหนึ่งก็ สามพันหกร้อยวินาที ได้สามพันหกร้อยรู้ ปฏิบัติได้ ผู้ปฏิบัติ ย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ คนขยันก็รู้ได้ คนไม่ขยันก็รู้ได้น้อย ทำแทนกันไม่ได้ เวลาวันหนึ่ง สิบสองชั่วโมง สิบสองชั่วโมงนะ บางคนก็รู้ได้มาก บางคนก็รู้ได้น้อย เราจะมาหัด การหัดให้รู้ เค้าเรียกว่าอะไร เค้าเรียกว่าภาวนา ภาวนา คือขยันรู้
ภาวนา คือขยันรู้ ภาวนา พหุลีกตา สังวัตตันติ อภิญญายะ นิพพานายะ ขยันรู้ ขยันรู้ไว้ ชีวิตเราผ่านมาถึงวันนี้ ผ่านมาถึงวันนี้ ระหว่างรู้ กับระหว่างหลง อันไหนมากกว่ากัน สำรวจตัวเองดูว่า พอมารู้อย่างนี้นะ เอ้อ เราเคยรู้นี่ไหม ตั้งแต่ชีวิตเราผ่านมา น่าจะพิสูจน์ดูเรื่องนี้กัน ขอท้าทายเรื่องนี้ในคำสอนพระพุทธเจ้า มาพิสูจน์ดู มันจะเกิดไรขึ้น เราจะเป็นเพื่อน ที่นี่ของเป็นเพื่อนทุกคน ที่ไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ จะไม่พาหลงทิศหลงทาง ข้ามขั้นหลง เปลี่ยนหลงเป็นรู้นี้ ไปได้ ไปได้เลย ต่อไป โกรธเป็นรู้ ทุกข์เป็นรู้ ง่ายๆ เหมือนไขกุญแจแก้โซ่ หลุดออกจากกาย จากเวทนา จากจิต จากธรรม ด่านที่มันกักให้เราหลง คือกาย ด่านที่มันกักให้เราหลง คือเวทนา สุข ทุกข์ ด่านที่มันกักให้เราหลง คือความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจ
อันความคิดที่ตั้งใจก็มีแต่ว่า เป็นวิชชา ความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นสังขาร เป็นอวิชชา เปลี่ยนลองดู ด่านอันหนึ่งคืออารมณ์ เรียกว่า ธรรมารมณ์ที่มันครอบงำทั้งกาย ทั้งใจ มันจะหลงตรงนี้ สี่ด่าน ถ้าไม่หลงสี่ด่านนี้ ไปได้ จึงมาเริ่มต้นกันตรงนี้ ทุกคนมีกาย ทุกคนมีเวทนา ให้มีสติเห็น มันจะเจอ ศึกษาที่แรกจะเจอความหลง เจอความรู้ มีหลง มีรู้ ทุกคน เราเจตนาจะรู้ที่กาย มันจะมีหลงที่นี่ เอางั้นล่ะ เราจะได้เปลี่ยนมันล่ะ เราจะได้เปรียบมันน่ะ มันไม่ฟรี มันจะมีงานทำอยู่ ได้มีความรู้ก็ได้ความรู้ พลิกมือขึ้นรู้ คว่ำมือลงรู้ ทันที ไม่ต้องรอ ถ้าเป็นมรรคเป็นผลก็เป็นอยู่นี่ เป็นกรรมที่มีผล สร้างความรู้ก็ได้ความรู้ เปลี่ยนหลงเป็นรู้ ก็เป็นผลขึ้นมา ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร ไม่ได้ว่าไม่ได้อะไร มันได้ความรู้นะ สักเจ็ดวัน เช็คดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น น่าจะทำจริงๆ สักเจ็ดเดือนดูสิ จะเกิดอะไรขึ้น สักเจ็ดปีดูสิ จะเกิดอะไรขึ้น ได้ไหม แม่ชีน้อย (หลวงพ่อถามแม่ชีน้อย)
นี่เมืองไทยนะ วัดในเมืองไทย ศาสนาพุทธในเมืองไทย พระสงฆ์ในเมืองไทย คำสอนพระพุทธเจ้าเอามาพิสูจน์ให้เป็นเรื่องของเรา น้อมมาใส่เรา มันก็ไม่ยาก คำสอนที่คุณของพระพุทธเจ้า ถ้าจะบอก ก็มีอยู่เพียง สี่อย่าง อะไรบ้าง แม่ชีน้อย (หลวงพ่อถามแม่ชีน้อย) คุณของพระพุทธเจ้าสี่อย่างอะไรบ้าง หนึ่ง เมตตาธิคุณ นำหน้าเลยทีเดียว สอง กรุณาธิคุณ สาม บริสุทธิคุณ สี่ ปัญญาธิคุณ สี่อย่างนี้ ไปใหญ่เลย
เมตตาธิคุณ ทำสิ่งใด คิดสิ่งใด พูดสิ่งใด ประกอบด้วยเมตตา สร้างความรัก มองอะไรเป็นความรัก รักทุกอย่างไม่มีขอบเขต ภูเขา แม่น้ำ จะขวางกั้นความรักเราไม่ได้ เมตตาธิคุณ เมตตากรุณา คิดจะช่วยเหลือทุกอย่าง ไปไกล กรุณาธิคุณ จะช่วย ไม่ได้ ช่วยไม่ได้ ก็คิดจะช่วยเหลืออยู่เสมอ บริสุทธิคุณ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ บุกเบิกไว้แล้ว ปัญญาธิคุณ รอบรู้ รู้จัก ไปได้เลย จิตใจเบิกบาน เมตตา กรุณา จิตใจเบิกบาน เสียสละ ปัญญาก็เสียสละอารมณ์เน่า เปลี่ยนร้ายเป็นดีทั้งหมด เปลี่ยนร้ายเป็นดีทั้งหมด เมตตาธิคุณ กรุณาธิคุณ บริสุทธิคุณ ปัญญาธิคุณ เหลือมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ มีอยู่ที่ใจของเรานี้ ในคุณที่มันมีอยู่ในพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ให้มีอยู่ในพระพุทธเจ้า ให้เป็นเรื่องของเรา ทำได้ทุกคน อย่าจนแล้วนี่กันพวกเรา
คิดสิ่งใดประกอบด้วยเมตตา ทำสิ่งใดประกอบด้วยเมตตา คิดสิ่งใดประกอบด้วยเมตตา ทั้งต่อหน้าและลับหลังของสรรพสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีขอบเขต มันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดเรามีคุณธรรมสี่อย่างนี้ มันจะเห็นอกเห็นใจกัน มันจะเบียดเบียนตนไม่ได้ สงสารตัวเรา ไม่เคยช่วยตัวเราเลย อายุ 20-30 ปี พอมาเห็นเรื่องนี้แล้วโอ้ย..น้ำตาซึมเลย พ่อก็ไม่ได้สอนเรานี่ แม่ก็ไม่ได้สอนเรานี่ หลวงปู่เทียนมาสอนให้เรารู้เรื่องนี้ ก็ได้กระตือรือล้นช่วยตัวเองเสีย แต่ก่อนไม่มีชีวิตชีวา ชีวิตของเรามันก็ไม่ได้เป็นอะไรมาเลย มันช่วยได้ มันช่วยได้ มันไม่ฟูไม่แฟบอย่างนั้นเอง
นี่คือชีวิตของเรา ชีวิตของเรามันไม่เป็นอะไร มีแต่เห็นธรรมชาติ เห็นอาการที่มันเกิดขึ้น มันก็เข้าสู่การที่เหนือแก่ เหนือเกิด เหนือเจ็บ เหนือตาย ที่เรากระทำของเรานี้ ไม่ใช่ไปอยู่ที่ไหน ฉะนั้นนี้ก็อนุโมทนากับท่านทั้งหลายที่มาถึงที่นี่ ก็จะบอกอย่างนี้ จะพูดอย่างนี้ เป็นเพื่อนไม่ใช่มาสอนให้ท่านมาเชื่อ ต้องให้ท่านตัวเอง อย่ามาเพิ่งเรา อย่ามาเชื่อเรา ให้ช่วยตัวเอง ให้พึ่งตัวเองที่เป็นสัจธรรม คำสอนไหนที่สอนให้พึ่งคนอื่นไม่ใช่สัจธรรม ต้องเชื่อการกระทำของเรา เราเปลี่ยนหลงเป็นรู้เนี่ยะ เปลี่ยนโกรธเป็นรู้เนี่ยะ เอาตรงเนี่ยะ ให้ทำเอาเองนะ ทำเอาเองนะ สมควรแก่เวลา