แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ให้ได้ยินได้ฟังเอาไว้ เป็นพหูสูต เป็นพหุปัญญา ให้มันเกิดได้หลายๆทาง การได้ยินได้ฟังนั้นเป็นสุตมยปัญญา การไปแยกไปแยะ เรียกว่า จินตมยปัญญา การกระทำลงไปตามสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง เรียกว่า ภาวนามยปัญญา หลายอย่าง ให้การศึกษากับตัวเอง การศึกษานี่อย่าได้จน อย่างสมัยครั้งพระพุทธเจ้า พระอรหันต์มีเอตทัคคะต่างกัน ด้วยพหุปัญญาเกิดขึ้นกับพระภิกษุสงฆ์
โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมเนี่ย การเจริญสติเนี่ย ภาคปฏิบัติ มันเป็นทั้งวิชาพลศึกษา มันเป็นทั้งคณิตศาสตร์ มันเป็นทั้งวิทยาศาสตร์ เป็นอะไรได้หลายอย่าง เป็นพลศึกษาได้อย่างไร อย่างเราเดินจงกรม เรายกมือสร้างจังหวะ เราเคลื่อนเราไหว มันเป็นพลังที่ชำนิชำนาญในการใช้กาย ใช้จิตใจ คราใดมันหลงเรารู้สึกตัว นี่ก็เป็นพละ พลังแห่งความรู้สึกตัว หลายอย่างอยู่ในภาคปฏิบัติ การเดินจงกรม การสร้างจังหวะเนี่ย ทำให้สุขภาพแข็งแรง การใช้ตา ใช้หู ใช้จมูก ใช้ลิ้น ใช้กาย ใช้จิตใจ ให้เป็นพละ พละให้เกิดปัญญา อาศัยตาให้เกิดปัญญา เรียกว่าพละสำเร็จ ใช้หู ใช้จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มันเป็นปัญญา ทุกอย่างรอบด้านมาเปลี่ยนเป็นปัญญา การเจริญสติมันก็ไปแบบนั้นล่ะ เป็นสติเป็นปัญญามันก็ไปทางนั้น การเจริญสติมันก็มีทาง เป็นสูตร สูตรทางให้ไปทางเดียวกับพระพุทธเจ้า เช่น เราเจริญสติ เรารู้สึกตัวอยู่กับกาย มันก็ไปทางเดียวกันแล้ว รู้สึกตัวอยู่กับเวทนา รู้สึกตัวอยู่กับความคิด รู้สึกตัวอยู่กับธรรมที่มันเกิดขึ้นกับจิตใจ เนี่ยก็ไปทางเดียวกัน เห็นความง่วงเหงาหาวนอน เห็นความลังเลสงสัย เห็นความคิดฟุ้งซ่าน เห็นพยาบาท เห็นกามราคะ เห็นอุปาทาน จริตนิสัยของเราเคยไหล เคยติด เคยเปรอะ เคยเปื้อน เคยเป็นต่ออะไร เหมือนกัน เราก็เอามาเป็นปัญญา เป็นกำลังที่ได้จากการกระทำ กำลังสติปัญญา กำลังกายก็ได้ เอากายช่วย เอากายช่วยสติ เอาสติช่วยกาย เอาใจช่วยสติ เอาสติช่วยใจ ทั้งกายทั้งใจทั้งสติ เป็นสมังคี ช่วยกันให้เกิดปัญญา เรียกว่า เรียกว่าแนวร่วมนะ ก็เป็นพลัง รูปแบบที่เราสร้างเนี่ย มันก็เป็นพลัง ทำให้เกิดความร่วมมือทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งสติ ทั้งปัญญา บางทีก็ศีลด้วย สมาธิด้วย ความอดทนด้วย หลายอย่างที่มันเกิดพลังร่วมขึ้นมา ล้วนแต่เป็นพลศึกษาทั้งนั้น แต่ก่อนเราเคยอ่อนแอ คล้อยตามอารมณ์อาการต่างๆ ด่วนไปยินดี ด่วนไปยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ เสียใจ ดีใจ เรียกว่าอ่อนแอไม่มีพลัง พลังนี้ทั้งกายทั้งจิตเนี่ย มันเป็นพลังแห่งการขับเคลื่อนไปสู่ศีล สู่สมาธิ สู่ปัญญา ปัญญาก็เป็นพลังอีก ปัญญาก็เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ การหลุดพ้นด้วยปัญญา ตทังควิมุตติ การหลุดพ้นด้วยความเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว อะไรเกิดขึ้นไม่หวั่นไหว เหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลม ผู้มีสติมีปัญญาไม่หวั่นไหวเพราะการนินทาสรรเสริญ นี่ก็เป็นพลังเป็นพละเหมือนกัน
วิขัมภนวิมุตติ ข่มมันไว้ เช่นเห็นเวทนา เห็นเวทนาสักว่าเวทนานี่ข่มแล้ว ไม่แสดงออก การไม่แสดงออก การไม่โอย ไม่ไหวไม่ไหวเนี่ยเรียกว่าข่ม ไม่พูด การไม่พูดการไม่แสดงออกท่านเรียกว่า โสรัจจะ เป็นธรรมอันทำให้งาม ขันติด้วย อดทนด้วย พลังแห่งความอดทน พลังแห่งความสงบเสงี่ยม แต่ก่อนนี้เราไม่เคยฝึกกรรมฐาน มันก็ปิดบัง เวทนาปิดบังความไม่เที่ยงปิดบัง ความเป็นทุกข์ปิดบัง ความไม่ใช่ตัวตน พอเรามาเจริญสติตามรูปแบบของกรรมฐาน ที่เรานั่งสร้างจังหวะก็ดี การเดินจงกรมก็ดี มันมีความอดทน มันมีอะไรอยู่ตรงนั้นเยอะแยะไปหมดเลย เราก็เกิดการเห็นต่างๆ ที่มันแสดงออก เราก็เห็นอย่างเนี่ย ถ้าไม่ทำอย่างนี้อ่ะ มันก็ไม่มีกำลัง กำลังกายก็ไม่มี กำลังจิตใจก็ไม่มี ความง่วงเนี่ย ถ้ามันเกิดความง่วงขึ้นมา เสริมพลัง พลังของสติ พลังของกาย พลังของจิตใจ พลังอะไรอีกหลายอย่าง ศีลก็มีได้ มันง่วงก็มีอะไรที่จะทำให้มันไม่ง่วง ปัญญาก็มีแล้ว มาแล้ว มีสติ อ้าวลืมตาขึ้น มองท้องฟ้า มีความรู้สึกตัว กำหนดการเคลื่อนไหว เปลี่ยนความง่วงเป็นความตื่นความรู้สึกตัว เหมือนอาจารย์โทนท่านพูดว่า ถ้ามันง่วงจะไม่หลับตา ถ้าหลับตาในเวลามันง่วง เวลาปฏิบัติขอให้ตาบอดซะ ท่านว่า (หัวเราะ) ก็พูดดี เอาอย่างอาจารย์โทนไหม พระชาวฮอลแลนด์ ฝรั่ง มันพูดดี๊ดี ท่านไปพูดอยู่ที่ครบุรี ไปปฏิบัติธรรมร่วมกัน หลวงพ่อก็ไปร่วมกับเขา กับคุณหมู กับพระเม็ง เจอท่าน 3 วัน 4 วัน 3 วัน เพิ่งกลับมาเมื่อวานนี้ กลับมาแล้วก็มาที่นี่เลย นอนอยู่วัดคืนหนึ่ง เวลามันง่วงถ้าหลับตาขอให้ตาบอดเลย เฆี่ยนตัวเองเนี่ย เค้าเรียกว่าธุดงค์เหมือนกันนะ ธุดงค์คืออะไร ไม่อ่อนแอ เข้มแข็ง ขูดเกลา พอท่านอธิษฐานอย่างนั้น ท่านก็สู้ ความง่วงก็เลยกลัวเลย เพราะมันมีพละ พละอะไร พละแห่งสัจจะ พละแห่งอธิษฐาน สัจจะปารมี อธิษฐานปารมี สมัยก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็มีสิ่งเหล่านี้ช่วยนะ ปารมีสิบทัศเนี่ย สู้มารได้นะ สัจจะอธิษฐาน ขันติ สติ สมาธิ ปัญญามา เสริมเข้าไป เวลาปฏิบัติ ถ้าสิ่งไหนไม่ใช่สติ ต้องเสริมเข้าไป อย่าหลีกทางให้มัน เราไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างนั้น ให้แน่วแน่ เรามีวัตถุประสงค์เจริญสติ เวลานี้เรามีวัตถุประสงค์การเจริญสติ
สมัยปฏิบัติธรรมใหม่ๆ หลวงพ่อก็เคยใช้สัจจะอธิษฐานเรื่องนี้เหมือนกัน ฉันเช้าเสร็จ อุ้มบาตร กลับกุฏิ ไม่ขึ้นกุฏิ วางบาตรบนกุฎิ เดินจงกรมเลย เมื่อใดไม่ได้ยินเสียงเพล จะไม่นั่ง จะไม่นั่งสร้างสติ เดินกลับไปเดินกลับมา ยืน ถ้าได้ยินเสียงเพลแล้ว เออ ไปฉันเพล ถ้าวันไหนไม่ไปฉันเพลก็เปลี่ยนอิริยาบถแล้วบัดนี้ เปลี่ยนไปนั่งพิงต้นเสาเล็กๆ หันหน้าเข้าฝา เจริญสร้างจังหวะ ทั้งนั่งทั้งเดิน เคยใช้อธิษฐาน เคยตั้งสัจจะเหมือนกัน รู้สึกว่ามันก็เข้มแข็งนะ มันก็เป็นการขูดเกลาชีวิตของเรา เลยไม่ท้อแท้ ไม่หวั่นไหว เกิดความเข้มแข็ง การเดิน 3-4 ชั่วโมงเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ต้องเดินให้เป็น เดินให้เป็นไม่เหนื่อยนะ อย่ากดอย่ากลึง เวลาเดิน เดินอ่อนๆ เดินง่ายๆ อย่าไปจี้ อย่าไปเพ่ง อย่าไปกลึง เดินไป หลงก็หัวเราะมัน เดินไป ก้าวไป เดินไป ก้าวไป เบ๊าเบา ถ้าเดินถูกจริงๆ เบ๊าเบา ดูไปดูไปเนี่ย เหมือนไม่มีอะไร มีแต่ก้าววับๆ ตัวรู้ออกหน้าก้าวตามหลัง เบาที่สุด ถ้าตัวหลงออกหน้าตัวรู้ตามหลัง มันหนักนะ ทวน ต้องทวนกระแส ต้องจี้ต้องบังคับตัวเอง ต้องใส่ใจ บางคนต้องตามไป ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ เหยียบหนอ ให้ได้ถึง 2 ชั่วโมง
เคยไปเดินแข่งกันกับพวกธิเบต ธิเบตเค้ากราบ เค้าก็เป็นหนุ่มนะ เราก็เป็นผู้แก่แล้วผู้เฒ่าแล้ว ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เค้าก็กราบ กราบแบบธิเบตนี่โอ้ ไม่ใช่เรื่องเล็กนะ ยืนขึ้น นั่งลง กราบไป เหมบไป ให้หน้าผาก ให้ใบหน้า ให้ฝ่ามือ ให้หน้าอก ท้อง แนบไปกับกระดานนะ เค้าจะมีกระดานนะ เหมบลง ยื่นแขนไป คู้แขนเข้ามา ลุกขึ้น ยืน แล้วก็ยกมือขึ้นสุด วางมือลง กราบ เหมบไป หลวงพ่อก็เดินจงกรมอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เค้าก็กราบอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ลองคิดดูว่า เอ๊า คนแก่อย่างเรานี่จะพิชิตไหล่กับธิเบต มันจะเก่งขนาดไหนเหมือนกัน เอ้า เราก็ไม่หยุด เอาไปเอามามันก็เหนื่อยนะกราบนี่ สู้เดินไม่ได้ เดินนี่ไม่เหนื่อยเลย ริ้ว ๆ ๆ เค้าหยุด 2 ครั้ง 3 ครั้ง เรายังเดินจงกรม บางทีเค้าก็มองเรา เค้ามองเรา เค้าไม่เคยเดิน เค้ามีแต่กราบ การทำความเพียร การปฏิบัติบูชาที่สังเวชนียสถาน พวกนี้ทำอะไรไม่เป็น มีแต่กราบ แล้วก็นั่งนับลูกแทน พวกเราก็เวียนเทียน พวกธิเบตเวียนเทียนไม่เป็น เดินไม่เป็น นับลูกแทนหรือกราบ เพราะฉะนั้น บางทีเราก็ต้องพิชิตลองดู ถ้าไม่มีอะไรพิชิตก็พิชิตกับตัวเอง ให้จงได้
อะไรมันเกิดขึ้น ความง่วงความคิด ความฟุ้งซ่าน พยาบาท กามราคะ ปฏิฆะ ความทิฐิ ความสำคัญมั่นหมาย ถ้ามันเกิดขึ้นถือว่าเป็นหน้าที่ของเราจะต้องมีสติตรงนั้นด้วย เพราะเราปฏิบัติตรง ไม่หลีกไปทางอื่น อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราจะแหวกเข้าไป มีสติเข้าไป ไม่ให้โอกาส แม้มันจะมี เราก็แหวกอยู่ 2 ครั้ง 3 ครั้ง ถ้ามันง่วง ง่วงแล้วก็รู้แล้วรู้อีก ลืมตาแล้วลืมตาอีก มันจะง่วงอีกก็รู้อีก 2 รอบ 3 รอบ เอาไปเอามามันก็เห็นพลังของความรู้สึกตัว มันก็หลีกทางให้เหมือนกัน เวลาง่วงชัดๆนี่ เรามีความรู้สึกที่มันชนะความง่วง ทันทีกับมือกับตากับการกระทำของเราเนี่ย มันก็มีรสชาติเหมือนกันนะ เหมือนกับว่าเชียร์ตัวเองได้ เคยผ่านมาได้ ความเคยผ่าน ความชนะที่มันเคยฝึกอย่างนี้ มันก็มีพลังนะ หลายอย่าง มันมีอารมณ์
อารมณ์มันมาช่วยให้เรามีศิลปะ เช่น เราไต่สะพาน เวลามันเซลงเราก็จับราวสะพานได้ เราไม่ต้องปล่อยตัวเองให้มันตกลงไปในความคิดในอารมณ์ต่างๆ สติเหมือนกับราวสะพาน เกาะเอาไว้กับกายของเราเนี่ย กายของเรากับสติเนี่ย เหมือนเราเดินไต่สะพานที่มีราวจับ ยากที่จะพลัดตกลงไป ถ้าเราใช้กายใช้สติเพื่อการนี้น่ะ ไม่มีทางไปทางอื่น นี่ท่านเรียกว่าอารมณ์ของกรรมฐาน ขณะที่มันไม่ตกลง เราเดินไปเดินมา เดินไปเดินมา เอาไปเอามา มันก็ไม่ต้องจับแล้ว เหมือนกับเดินข้ามสะพานสุคะโตเนี่ย บางคนก็ต้องจับสะพาน ถ้าเดินไปหลายรอบหลายรอบมันก็ไม่ต้องจับ มันได้จังหวะ การเดินจงกรมมันก็มีเทคนิคเหมือนกัน การยกมือสร้างจังหวะก็มีเทคนิคเหมือนกัน ยกแบบไม่เหนื่อยไม่เหน็ดเหนื่อย ยกเบาๆ เบาใจด้วย เบากายด้วย เบาสติด้วย สติทำให้เบาด้วย ยกมือเบ๊าเบาๆ อย่าไปกดไปคลึง บางทีเราก็เคลื่อนไหวแต่เฉพาะศอก เฉพาะศอก เฉพาะศอก บางทีถ้าง่วงก็ยกหนึ่ง แล้วก็เหวี่ยงลงไป เอาหลายแบบ เหวี่ยงลงไป พนมมือไหว้ หลวงพ่อเทียนเคยสอนพวกเรา จังหวะไหว้ จังหวะกราบ หามาใช้ในเวลามันง่วง จะดูไหม จะทำให้ดู (หัวเราะ) จังหวะกราบเวลาเจอง่วง (หัวเราะ) เดี๋ยวๆ ให้พูดจบก่อนจะทำให้ดู จังหวะไหว้เมื่อเวลามันง่วง มีเหมือนกันนะ เราก็หาวิธีแก้จน หาทางหลายอย่าง อย่าไปซื่อบื้อ
การปฏิบัติธรรมมันมีสติมีปัญญาไปในตัวนะ อารมณ์เนี่ยมันช่วยเราได้ อารมณ์หมายถึงมันได้หลัก ได้หลักไปสู้อารมณ์ อารมณ์มันสู้อารมณ์ ความง่วงก็เป็นอารมณ์ เค้าเรียกว่าอาการที่มันเกิดขึ้นกับจิตกับใจเรียกว่าอารมณ์ ส่วนเรื่องความปวดความเมื่อยเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับกาย มันก็เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน เราเคยสู้ เคยผ่าน เคยผ่าน เคยผ่านนะ เคยสู้อะไรที่มันอยู่กับตัวเองเนี่ย มันก็ไม่เสียเปรียบอะไร จะแพ้ก็แพ้ตัวเอง ถ้าแพ้ตัวเองเนี่ย มันน่าอายนะ ถ้าแพ้คนอื่นนี่ไม่น่าอาย ดีด้วย ถ้ายอมแพ้คนอื่นเป็นเรื่องดี ถ้าแพ้ตัวเองอย่าไปยอม แต่ชนะคนอื่นก็ไม่ดี ต้องชนะตัวเองเหมือนกัน ถ้าแพ้ตัวเองก็อย่าไปยอมมัน ถ้าชนะตัวเองมันก็ชนะทุกสิ่งทุกอย่าง ผลที่สุดมันก็เข้มแข็ง
นี่ อารมณ์ ทิศทางของการเจริญสติ มันมีรูปแบบมีช่องทางดี๊ดี เห็นก็เห็นของจริง ของจริงที่ไม่จริง ของจริงที่จริง อ้าว หลวงพ่อพูดอะไร ของจริงที่ไม่จริง เช่น ความง่วง มันจริงแบบไม่จริง ความทุกข์มันจริงแบบไม่จริง ความไม่เที่ยงมันจริงแบบไม่จริง ความโกรธมันจริงแบบไม่จริง ความหลงมันจริงแบบไม่จริง ความจริงแบบจริงมีอันเดียว ความไม่หลงนี่จริงๆๆ สักสามครั้งเถอะ ความไม่ทุกข์ก็จริงๆๆ ความไม่โกรธก็จริงๆๆ ของจริงที่มันจริงๆ เนี่ย เราก็สัมผัสอยู่ได้ ไม่ใช่เราไม่ได้สัมผัส ถ้าจะเปรียบเทียบกันดูมันก็คนละมุม คนละรสชาติ สัมผัสกับความไม่โกรธ สัมผัสกับความไม่หลง สัมผัสกับความไม่ทุกข์ สัมผัสกับความหลง สัมผัสกับความทุกข์ สัมผัสกับความโกรธ เนี่ยมันก็ได้คำตอบ ประสบการณ์บทเรียน นี่อารมณ์ของกรรมฐาน อย่าไปหานะ
อย่าไปหานะ อารมณ์ของกรรมฐาน มันเกิดขึ้นมาเอง ถ้าจะบอกตรงๆ ก็ มันเกิดแบบโง่ๆ นะ ความทุกข์ก็ดี ความง่วงก็ดี ความโกรธก็ดี ราคะก็ดี พยาบาทก็ดี มันเกิดขึ้นมาแบบโง่ๆ มันไม่ฉลาดอะไรหรอก ถ้าเราดูจริงๆน่ะ แต่ถ้าเราไม่ดูจริงๆ ก็กลบเกลื่อน กลบเกลื่อนไว้ ไม่เห็น ไม่เห็นความไม่เที่ยง ไม่เห็นความเป็นทุกข์ ไม่เห็นความไม่ใช่ตัวตน มันก็กลบเอาไว้ กลบเอาไว้ เมื่อเค้าแสดงออก ก็นึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต ถ้าเปิดดูสักหน่อย มันก็ไม่ใหญ่ เหมือนหมาที่ผูกโซ่ หมาที่ผูกโซ่มันก็เป็นบ้าโซ่นะ เวลาหลุดออกจากโซ่มันก็เหมือนกับบ้าได้ ถ้าไม่ผูกมันก็ปล่อย มันก็ไม่มีอะไร
จิตใจของเรา การฝึกหัดตัวเองก็ได้ ปล่อยออกมาดู เหมือนพ่อเหมือนแม่ที่เลี้ยงลูก เราอุ้มอยู่ มันอยากลงไปลุยขี้โคลน ดิ้นลงไป โอบลงไป ลื่นลงไปจากอุ้มของแม่ ถ้าแม่ปล่อยลงไปจริงๆ แล้ว มันก็ไม่มีอะไร หรือบางทีมันเห็นไฟ มันอยากจับไฟ ก็ให้มันจับลองดูซักหน่อย แต่อย่าให้มันจับจนเกิดพิษเกิดภัย มันก็กลัวแล้ว ถ้าเราสัมผัสกับความรู้สึกตัว เหมือนกับเด็กอยู่กับอกของแม่ เวลาปล่อยมัน มันไปถูกอะไรเข้า มันก็เข็ดหลาบเป็น ถ้าเรามีความรู้สึกตัวแล้วน่ะ พอมันหลงไป มันก็รู้จักเข็ดหลาบ มันก็กลับเข้ามา พอมันทุกข์ไปมันก็เข็ดหลาบ มันก็กลับเข้ามา บางทีมันกลับมาเองด้วย ถ้าเราสัมผัสดีๆ
แต่ถ้านักปฏิบัติบางทีเนี่ย หลงก็ไม่รู้ มันหลงก็ยังเหมือนกันกับความรู้ ความทุกข์ความสุขก็เหมือนๆกัน ความไม่ทุกข์ความไม่สุขก็เหมือนกัน เรียกว่าไม่ได้สัมผัส ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้โต้ตอบ ไม่ได้ทักท้วง เนี่ยบทเรียนที่เราได้เกิดจากการกระทำ เรียกว่าอารมณ์ของกรรมฐาน มันก็มีโอกาสชนะไป มันชนะอะไร ชนะสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สิ่งไหนเป็นธรรมมันก็งอกงาม สิ่งที่ไม่เป็นธรรมมันก็พ่ายแพ้ไป หมดท่าไป หมดท่าไป หมดโอกาส เหือดแห้งไปก็ได้ เหมือนเมล็ดข้าวที่เก็บไว้ 2-3 ปี ไม่มีโอกาสไปถูกดินถูกความชื้น มันก็หมดเชื้อ เอาไปเพาะมันก็ไม่เกิดหรอก ปีที่ 4 ปีที่ 5 ข้าวบางประเภทปีที่ 3 นี่ก็เพาะไม่เกิดแล้ว มันเปราะบาง กิเลสธรรมบางอย่างมันก็เปราะบางเหมือนกัน เปราะบางเหมือนกัน เหมือนปลาน้ำจืดปลาน้ำเค็ม ปลาน้ำเค็มเนี่ย พอเค้ายกขึ้นพ้นน้ำเท่านั้นแหละ กระดิกหาง 2 ครั้งเท่านั้นแหละ ตายแล้ว ถ้าปลาน้ำจืดเนี่ย เอาขึ้นมาวางไว้ ตัวแห้งกระโดดลงน้ำได้ แต่ปลาน้ำเค็มนี่ เค้ายกขึ้นมาวางบนหัวเรือ ตีหางแป๊ะเดียว ตายแล้ว บางทีมันก็ใจเสาะเหมือนกัน กิเลสธรรมบางอย่างทำท่าทำทางใหญ่โต พอดูจริงๆ มันก็ไม่มีสาระอะไร อารมณ์บางอย่าง บางทีเราไปพูดว่าโลภโกรธหลงน่ะเป็นเรื่องยาก ที่จริงมันไม่ยาก เป็นกาบนอกที่สุด ให้มีความรู้สึกตัว มีความรู้สึกตัวไป ความรู้สึกตัวก็มีอะไรหลายอย่างที่เป็นสิ่งแวดล้อมให้เกิดความชอบธรรมในเวลาเราปฏิบัติ
มีสติ มีสติ ยิ่งไปเห็นรูปเห็นนาม เห็นความไม่เที่ยงที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีที่ตั้งเลย ไม่มีที่ตั้งเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลง หาที่ตั้งไม่มี แม้แต่เวทนาที่มันเกิดขึ้นกับรูปกับนาม แม้มันมีที่ตั้งมันก็ไม่ใช่ตัวใช่ตน ยิ่งความโลภ ความโกรธ ความหลง ยิ่งเหลวไหล ถ้าเห็นรูปธรรมเห็นนามธรรม เห็นรูปทุกข์นามทุกข์ เห็นรูปโลก เห็นนามโลก เห็นรูปสมมติ นามสมมติ รื้อถอนไปหมดเลย เกลี้ยง อารมณ์ของกรรมฐานเนี่ย มันมีพลังมาทีไรก็หมดเกลี้ยงไป อ่อนไป อ่อนไป เหมือนนักรบที่เค้าทำลายกองทัพ นักรบที่ฝึกดี ทำลายกองทัพคู่ศัตรู เค้ากระจายกองทัพให้พลังของเขากระจุยกระจายไป ให้มีพลังน้อย
เดี๋ยวนี้เขาก็เล่าลือนักรบประเทศเนปาล สนามฝึกรบของเขา ก็วิ่งขึ้นภูเขาหิมาลัย ทหารนี่เราไปนอนอยู่ภูเขาหิมาลัยเนี่ย เรานอนอยู่ใกล้ๆ กับทางขึ้นเขาหิมาลัย เราก็นอนสูงจากพื้นดินไป 20-30 กม. หรือไกลกว่านั้น มองเห็นสนามบินก้าววาเนี่ย แล้วก็วิ่งขึ้นวิ่งลงตลอดคืนเลย พวกทหารเนปาล นั่นเขา ทหารประเทศอื่นก็ต้องมาจ้างทหารเนปาลไปฝึกให้ทหารเขา ทหารเนปาลก็มีอาชีพฝึกทหารฝึกนักรบให้ทั่วโลก เพราะเขาเข้มแข็ง เพราะเขาวิ่งขึ้นเขาลงเขา
การปฏิบัติธรรมเนี่ยก็เหมือนกัน การที่ได้อดทน การที่ได้สู้ การที่ได้เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เปลี่ยนความผิดเป็นความถูก เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธ มันเป็นพลังนะ มันเป็นพลัง ถ้าเป็นนักรบก็ชนะหลายเวที ยิ่งไปมีอารมณ์เห็นรูปทุกข์นามทุกข์แล้ว เห็นความทุกข์นี่เป็นการเห็นอย่างประเสริฐ กระตือรือร้น พอใจที่จะเกี่ยวข้องกับความทุกข์อย่างถูกต้อง รูปทุกข์นามทุกข์นะ ช่วยสติ เหมือนแม่เหมือนพ่อที่เลี้ยงลูก เวลาใดที่ลูกมีทุกข์ เอาใจใส่มากๆ แก้ปัญหาความทุกข์ได้ที่สุด ถ้าแก้ปัญหาความทุกข์ไม่ได้ ไม่ใช่ความเป็นพ่อเป็นแม่ สุดฝีมือ สุดหัวใจ
ทีนี้เกี่ยวกับรูปเนี่ยมันไม่ยากเหมือนกับลูก เหมือนพ่อแม่เลี้ยงลูก รูปทุกข์เนี่ย มันไม่ยากปานนั้น เพราะมันเป็นเรื่องของเรา มันทุกข์อยู่ที่รูปก็เอารูปนั่นแหละมาเป็นตัวไม่ทุกข์ มันทุกข์อยู่ที่นามก็เอานามนั้นแหละมาเป็นตัวไม่ทุกข์ อะไรพาให้ทุกข์ก็ทำตรงนั้น มันก็มีนี่ มันไม่ใช่ทุกข์ดุ้นๆขึ้นมา มันไม่ใช่หลงดุ้นๆขึ้นมา มันมีทิศทาง เรียกว่าปัญญาเหมือนกัน การปฏิบัติธรรม เจริญปัญญา เห็นน่ะ อย่างที่เราสวด ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้าผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทอันเนื่องด้วยกัน มันไม่ใช่เกิดดุ้นๆ ขึ้นมา มันหลงอย่างเนี่ย อะไรที่มันเกิดความหลง มันก็เห็นเหตุของมัน ง่ายนิดเดียว อะไรที่มันทำให้เกิดความโกรธ อะไรที่ทำให้เกิดความทุกข์ มันเห็นเนื่องสิ่งที่เนื่องด้วยกัน เห็นสิ่งที่เนื่องด้วยกัน มันก็แก้สิ่งที่เนื่องด้วยกัน
เหมือนหลวงพ่อไปอยู่นิวยอร์ค ประตูมันเปิดยาก เลยสั่งให้พระจีนฝ่ายมหายาน ซื้อเลื่อยตัดเหล็กมา มันเป็นเดือย มันติดนิดเดียว เวลาเปิดแล้วมันดึงออกมาไม่ได้ ลูกบิดมันติดรูนิดหน่อย ถ้าเอาเลื่อยไปปาดฉับๆนี่ คิดว่ามันจะดึงออกมาง่าย เราก็คิดว่าเราก็เป็นช่าง เราก็คิดว่าเราทำได้ แค่นี้เอง เราไปบอกพระแล้ว พระเค้าอยู่ที่นั่น เค้าบอกว่า ไม่ใช่ๆ ก็เลยไปบอกช่างมา ไม่ใช่ไปซื้อเลื่อย เค้าก็มีวิธีของเค้า เค้าก็ไปไขกุญแจ หมุนเกลียว หมุนน็อต แป๊บเดียว มันก็เปิดได้ทันที ไม่ต้องเอาเลื่อยไปตัด โอ้ คนไม่มีปัญญาเอาเลื่อยไปตัด คนที่เค้ามีปัญญาเค้าเอาไขควงไปหมุน แป๊บๆนิดเดียว พอหมุนแล้วเค้าก็ยกนิ้ว แล้วเค้าให้เราเปิดลองดู เปิดลองดูปั๊บออกมา เค้าก็ว่า โอเคนะ โอเค โอเค ยกนิ้วแป๊บเดียวทันทีเลย โหเรายังไปสั่งซื้อเลื่อย ปืนหนึ่งก็หลายบาท เขาไขควงก็อยู่กับเขา เขาก็ไปงัดแพล็บ ๆ
มันมีมันเนื่องด้วยกัน ความทุกข์มันง่ายเหมือนกับการแก้ทุกข์ ง่ายเหมือนกัน เราไปอดเราไปทนเอา เราจะไปห้ามตัวทุกข์เลย ห้ามตัวโกรธเลย เวลาโกรธก็ห้ามไม่ให้มันโกรธ ทนเอากัดฟันหน้าดำหน้าแดง ไม่ใช่ พอมันโกรธแสดงว่ามันหลง เรามีเครื่องมือเราก็เจริญสติ กลับมาหายใจเข้าหายใจออก ถ้าเก่งจริงๆ หายใจเข้าหายใจออก 2 รอบเท่านั้นล่ะ มีสติ ความโกรธหายไปเลย ไม่ใช่ไปดุไปด่าเค้า ไม่ใช่ไปอดไปทน ไม่ได้ทน ทำที่มันถูกต้อง
นี่เราก็ได้หลักตั้งแต่เริ่มต้นกรรมฐาน ยกมือเคลื่อนไหวไปมา หายใจเข้ารู้สึกตัวเนี่ย หลักตรงนี้เฉลยไปตลอด หลักของกรรมฐาน ทางเส้นนี้เฉลยไปตลอด เหมือนเราเดินทางจากกรุงเทพฯ จากไหนมาทางนี้ ทางเส้นนี้ก็เฉลยมา ชัยภูมิ กรุงเทพฯ กี่เที่ยวกี่เที่ยวก็ต้องอยู่ทางนี้ล่ะ ตรง เหมือนเราไปครบุรีเนี่ย ไปออกโคราช เข้าโชคชัย เข้าครบุรี คุณหมูก็บอกว่าทำไมไม่ไปชัยภูมิโชคชัย ทำไมต้องเข้าโคราช มันไม่ตรงมันเป็นศอก ทางที่เราไปมันตรงกว่า ไปที่ไหนก็ต้องไปทางนี้ ไปทางอื่นไม่ตรง การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ตัวนี้เป็นตัวเฉลย ตัวรู้ก็รู้ครั้งเดียว รู้ครั้งเดียวไปจบตลอดภพตลอดชาติ มีสติก็สติตัวนี้ใช้ไปตลอดชาติ หายใจก็เป็นสติ เคลื่อนไหวก็คือสติอันเดียวนี้ แต่ว่ามันชำนิชำนาญ
ความรู้สึกตัวชำนาญกับกาย ความรู้สึกตัวชำนาญกับจิตใจ ความรู้สึกตัวชำนาญกับทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นกับกายกับจิต เหมือนนายช่างที่เค้ามีมีดเล่มเดียว มีสิ่วเล่มเดียว มีขวานเล่มเดียว สร้างบ้านสร้างเรือน มีค้อนตีตะปู มีตลับเมตร มีไม้ฉาก เวลาเค้าจะปลูกบ้าน เค้าก็กางฉาก ระดับน้ำ ระดับน้ำเที่ยง 50 50 45 ระดับเอียงเท่าไหร่ อันเดียว เค้าสร้างบ้านได้หลายรูปแบบ การเจริญสติมันแตกฉานเหมือนกันนะ ไม่ใช่เราจะโง่ไป บางทีไม่ต้องไปทำอะไร ถ้ามันรู้แล้วมันก็รู้ไป ตัวรู้มันตามเฉลย ยิ่งได้รูปได้นาม เห็นรูปเห็นนาม รูปนามตามเฉลยไปหมดเลย รูปนามตามเฉลยไปหมดเลย อารมณ์ตามเฉลยไปหมดเลย อะไรที่มันรู้มาก่อนมันก็ช่วยไปแก้ไขเรื่อยไปเรื่อยไป มันได้หลักฐาน มันได้หลักฐาน มันเป็นพิพากษาตุลาการ ให้ความเป็นธรรมตั้งแต่ต้นจนถึงที่จุดหมายปลายทาง
เนี่ยอารมณ์ของกรรมฐาน ไม่ใช่เราสุ่มสี่สุ่มห้า มันก็เดินไปแบบนี้แหละ มีสติเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นรูปเห็นนาม เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความไม่ใช่ตัวตน เห็นรูปทุกข์นามทุกข์ เห็นรูปธรรมนามธรรม เห็นรูปโลกนามโลก เห็นสมมติเห็นบัญญัติ เห็นอะไรมันรื้อออกไป รื้อออกไป รื้อออกไป รื้อครั้งหนึ่งไม่สะอาด รื้อออกไปเรื่อยๆ เหมือนกับเรา ไม้ที่เอามาทำบ้าน มันเป็นต้นไม้มันมีกาบมีเปลือก เอาขวานไปฟัน เอาขวานไปถาก เอาเลื่อยไปเลื่อยให้เป็นรูปเป็นร่าง มันก็ยังไม่เรียบร้อย เอากบมาไส เอาเลื่อยขวานออกไป เอาเลื่อยออกไป เอากบออกไป เอาอะไรอีกล่ะ หา เอากระดาษทรายเข้าไปอีก ใช่ไหม ขัดเข้าไป มันก็เรียบเข้าไป อารมณ์กรรมฐานก็เหมือนกัน เห็นรูปธรรมนามธรรม เห็นรูปแล้วบัดนี้ เห็นรูปออกไปแล้วไม่สับสน แต่ก่อนมันต้นชนปลาย ปลายชนต้น สับสน พอเห็นรูปเห็นนาม ได้รูปแบบการรื้อถอน รูปธรรมนามธรรม รูปธรรมนามธรรมเข้าไปทำได้ รูปทุกข์นามทุกข์ เห็นรูปทุกข์นามทุกข์ ขบวนการแห่งการแก้ทุกข์ รูปโลกนามโลก ขบวนการแห่งการแก้ทุกข์ รูปสมมตินามสมมติ รูปบัญญัตินามบัญญัติ เสร็จเลย วัตถุอาการต่างๆ เห็นสิ่งเหล่านี้มันรื้อไปๆๆ เห็นสมมติเห็นบัญญัติ วัตถุอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับรูปกับนามเนี่ย พ้นจากตรงนี้ได้ สมมติ เป็นจุดหมายปลายทางการเข้าประตูธรรม ผ่านสมมติบัญญัติ สมมติบัญญัติ วัตถุอาการต่างๆ น่ะจืดน่ะ ถ้าจะเป็นความโง่หลงงมงาย จืดไปหมดเลย ความสำคัญมั่นหมาย ทิฐิมานะ อุปาทานทั้งหลายจืดหมดเลย วางหมดเลยนะ เบาแล้วบัดนี้ กายลหุตา จิตลหุตา ความเบากายความเบาจิต ไม่มี เพราะว่าอะไรมันก็สมมติทั้งนั้น สมมติบัญญัติ เนี่ยมันรู้เพื่อขูดเกลา มันรู้เพื่อรื้อถอน ไม่ใช่รู้แบบไปจำเอา ความรู้อารมณ์ของกรรมฐานมันรู้ มันรู้เห็นพบเห็น เรียกว่าเห็นพบเห็นอย่างเนี้ย พอเห็นสมมติเห็นบัญญัติ เห็นวัตถุเห็นอาการ รู้เรื่องบุญรู้เรื่องบาป รู้เรื่องศาสนา รู้เรื่องพุทธศาสนา จบอยู่ตรงนี้ อารมณ์เบื้องต้น
บัดนี้มาบำเพ็ญทางจิต มีสติดูจิต มีจิตดูจิต ตอนนี้จิตใจก็เปลี่ยนนะ มีสติดูจิต มีจิตดูจิต เวลาใดที่มันคิดปั๊บทันทีมันไว เพราะตรงนี้เราไม่มีอารมณ์มาข้องมาเกี่ยวแล้ว แต่ก่อนความง่วงเหงาหาวนอน ความคิดฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัยมันขวางกั้น พอมันบุกเบิกไปได้มันไม่มีทีนี้ เป็นทางแล้ว มองคืนหลังก็เป็นทาง ถ้าว่ามันอยู่นิ่ง มันไม่ไปไหน ก็ทบทวนอารมณ์ ทบทวนอารมณ์เหมือนกับพุ่ง เหมือนกับรถเวลามันติดโคลนมันก็ถอยหลังมันก็พุ่งไปอย่างนี้ มันมีกำลังนะ หรือว่าเรายิงธนูเนี่ย ก่อนที่จะให้มันไปข้างหน้าต้องดึงคืนหลัง เหมือนเรายิงหนังสติ๊กต้องดึงคืนหลัง พอวางไปมันก็วิ่งไปข้างหน้า ถ้าเราทำอะไรมันจืดมันชืด มันไม่รู้อะไรมีแต่ตัวรู้เฉยๆ ไม่มีอะไรไม่เป็นอะไรเลย ก็ถอยหลังมาดูอารมณ์รูปธรรมนามธรรมไป พอดีมันก็พุ่งได้เหมือนกัน
เคยช่วยตัวเอง เคยสอนคนอื่นด้วย ผมทำไมมันไม่รู้อะไร้หลวงพ่อ อยู่นี่เป็นเดือนแล้ว มีแต่ตัวรู้เฉยๆ คิดมันก็ไม่คิด มันก็มีแต่ตัวรู้ ไม่มีอะไร เดินมันก็ไม่มีอะไร มันไม่มีอะไร มีแต่ตัวรู้เฉยๆ มันไม่มีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นเลย รู้เฉยๆ เป็นเดือนสองเดือน ก็บอกเค้าให้ถอยกลับ ถอยกลับอารมณ์ลำดับดู เค้าเรียกว่า วสีวศิน ยกมือเคลื่อนไหวไปมา ลำดับๆๆ พอไปถึงจุดหมายปลายทางก็ไปได้เลย บำเพ็ญทางจิต บำเพ็ญทางจิต มีสติดูจิต มีจิตดูจิต จิตมันตรงไหน มันคิด คิดที่เป็นนิสัยของจิต ที่มันไม่อยู่อำนาจของใคร มันคิดไปคิด ตัวสติมันไวขึ้น มันเค้นขึ้น ทันขึ้นๆๆ เห็นขึ้น ทันขึ้น ผลที่สุด จ๊ะเอ๋กันระหว่างความรู้สึกตัวกับความคิด พังทลายเลยความคิดที่มันไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีท่าอะไร มันก็เป็นการจิตใจมันก็เปลี่ยน มันล่วงข้ามไปได้ ที่สุดก็มาดูสิ่งที่โชว์อยู่ ขันธ์ห้า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นขันธ์ที่เป็นนาม ส่วนรูปมันก็เป็นรูปที่มันเกิดจากอุปาทาน เช่น นามรูปมันเกิดจากอายตนะ รูปนามมันเกิดจากเหตุปัจจัยของครรภ์บิดามารดา สังเสทชะ ครรภ์ทชะ ชลาพุชะ โอปาฏิกะ แต่ว่านามรูปมันเกิดจากอายาตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง เวทนามันเป็นขันธ์ ขันธ์ที่มีอุปาทาน พอไม่มีอุปาทานในเวทนาขันธ์ มันก็โชว์ มันไม่มีอะไร มันมีแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันรวมกันๆ มันโชว์อยู่ ตรงนี้ ตรงนี้เราก็ไปเห็นเข้า ไปรู้ไปเห็น ไปเกี่ยวข้องนะ อารมณ์ของกรรมฐาน อย่าไปเห็นอันอื่น อย่าไปหาอันอื่นนะ บางคนอยากไปหาอันนู่นอันนี่ อยากจะเห็นนิมิต ทำไมไม่เป็นเหมือนนั้น ยิ่งหลวงพ่อพูดก็คิดไป ไม่ต้องไปคิด ไม่ใช่พูดให้คิด แต่ว่ากรุยทางให้ เขียนแผนที่ให้ มันต้องไปแบบนี้ ไม่ใช่ไปแบบสงบนิ่ง เห็นนิมิต เห็นอะไรต่างๆ เป็นศักดิ์สิทธิ์ ลิทธิปาฏิหารย์ ไม่ใช่นะ มันจะหลงอยู่ตอน ถ้าเรื่องนี้มันจะหลงอยู่ตอนอารมณ์รูปนาม มันตกแหล่งความรู้นะ เป็นตักศิลา ตรงนี้
ตกแหล่งความรู้ โอ๊ย ไม่เคยรู้ไม่เคยมีความสุข มันจะหลงไปเอาความสุข มันจะหลงไปเอาความรู้ได้เหมือนกัน ถ้าไม่หลงตรงนี้แล้วก็ง่าย ถ้าหลงตรงนี้ก็เป็นวิปัสสนู เสียเวลาอีกสักหน่อย นี่ก็มีพระมาบอก ที่ไปสอนธรรมที่ครบุรี เค้าว่า เอ๊ พระสอนกรรมฐานสมัยทุกวันนี้ ไม่เหมือนสมัยหลวงพ่อ เอาอะไรมาพูดหลายอย่าง ไม่ได้สอนให้ทำ มีแต่สอนให้รู้ หลวงพ่อเทียนนี่สอนให้ทำ สอนให้รู้แทบจะไม่มี หลวงปู่เทียนสอนให้ทำ การสอนให้ทำเนี่ยมันเป็นการเริ่มต้นที่ว่ากรรมฐาน ถ้าสอนให้รู้มันเป็นจินตมยปัญญา ไม่จริง มันไม่หมด มันยังวกยังวนกลับมาเหมือนเดิม ถ้าสอนให้ทำให้เห็นเนี่ย มันไม่กลับมา ถ้าหมดมันก็หมดไปเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็หมดไปเลย กิเลส ตัณหา ราคะก็หมดไปเลย ถ้าสอนให้รู้ รู้จริงๆ ควบคุมได้ ควบคุมได้ แต่ว่าถ้าเผลอมันก็ยังใหม่อยู่ ยังชุ่มยังเปียก ถ้าสอนให้เห็นเนี่ย ถ้าเห็นเนี่ยมันก็แน่นอนที่สุดแล้วเห็นทุกข์มันก็ต้องไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้น เห็นอะไรมันก็ต้องไม่ให้ตัวเองเป็นโทษเป็นภัย มันก็อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง
นี่เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ที่เราสอนกันอยู่นี้ มันมีทิศทางตามที่พระพุทธเจ้าสอนพวกเรา แต่ว่าการเข้าใจการบรรลุธรรมอาจจะไม่เหมือนกัน แล้วแต่จังหวะ บางคนก็เป็นเอตทัคคะ พอมันพร้อมแล้ว ถ้ามันพร้อมแล้วเกิดขึ้นแบบไหนก็ได้ การบรรลุธรรมการมีศิลปะต่างกัน เช่น วัดป่าสุคะโต อาจารย์วรเทพก็การสอนธรรมะก็ชำนาญหลายอย่าง เช่น การใช้สื่อ การเหตุผล ผมยังให้เอาม้วนเทปอยู่นะ ว่าจะไปเปิดให้เค้าฟัง อือก็ดี ผมว่าไม่เคยเห็น มันก็มีปัญญา หลายรูปหลายองค์ ไม่ต้องไปดัดตัวเองให้เป็นอันเดียวตะพึดตะพือไป มันเป็นปัญญา เรียกว่าพหุปัญญา พุทธศาสนาเป็นพหุปัญญา ถ้าจะรู้เรื่องอภิธรรมก็พระโมคคัลลา ถ้าจะเรื่องปัญญา เอ้า โมคคัลลาหรือสารีบุตรเนี่ย ถ้าเป็นนักเทศก์เสียงดีก็มีเป็นพระโสณกุฏิกัณณะ ถ้าเป็นช่างก่อสร้าง ก็อะไรล่ะ พระอะไรน่ะจำไม่ได้หรอก หลายรูป เลิศต่างๆ กันไป เนี่ย ก็พวกเราอย่าไปกลัว อย่าไปกลัว ให้มั่นใจ ในการกระทำ ในวิชากรรมฐาน เป็นวิชาหนึ่งเดียว ไปเส้นเดียว ไปถึงที่เดียว ไปคนเดียว ไปทางเดียวกันกับพระพุทธเจ้าแน่นอน การเจริญสติปัฎฐาน