แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีฐาน มีที่ตั้งแนวเดียวกัน มีสติ มีสัมปชัญญะ มาตั้งไว้ที่กาย ปัพพะของกายคือมันเคลื่อนไหว เราก็เพียรพยายามที่จะให้รู้สึกกาย ด้วยวิธีเคลื่อนไหวเป็นฐานที่ตั้ง เวลาใดที่กายมันหลงเคลื่อนไหวหรือจิตมันคิดไปอย่างอื่น ก็เพียรพยายามกลับมา การเคลื่อนไหวนี้ อย่าให้เป็นรูปแบบเฉย ๆ ให้มีความรู้สึกตัว เวลากายมันแสดงออก ความปวด ความเมื่อย ความร้อน ความหนาว อะไรที่เราไม่ได้ตั้งใจดู มันเกิดขึ้นมาเอง เราก็เพียรพยายามรู้ รู้สึกตัว อย่าให้อันอื่นมาชัดเจนมากกว่าความรู้ เวทนามากกว่าความรู้ มันก็ทับถมความรู้สึกตัวไป ความรู้สึกตัวก็เสียไป หรือไม่ชัดเจนก็ถูกเวทนาทำให้ปิดบังไว้ บางทีอิริยาบถปิดบังไว้ ไม่เห็นกายตามความเป็นจริง เวทนาก็เอาไปหมด เป็นสุขเป็นทุกข์ไปซะ มันไหลไปง่าย เราจึงมีที่ตั้งเอาไว้ หัวเราะมันกับกายที่มันเคลื่อนไหว เวลาใดที่ไม่ใช่เห็นกายแสดงว่าถูกต้องแล้ว จะได้เห็น จะได้รู้ จะได้รู้เรื่องของกายเรียกว่า กายานุปัสสนา
ตั้งไว้ตรงนี้ อย่าพึ่งไปเอาผิดเอาถูก ให้มีความรู้สึกตัวบางที หรือเวทนามันจะแซงให้เราเห็น ก็เห็นมัน เหมือนเห็นกาย มีสติเห็นกาย มีสติเห็นเวทนา ให้รู้สึกเข้ามากำหนดการเคลื่อนไหว อย่าถลำเข้าไปอยู่ในเวทนา เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นร้อนเป็นหนาว เป็นปวดเป็นเมื่อย เป็นหิว เป็นอะไรต่าง ๆ ที่มันเป็นสุขเป็นทุกข์เกี่ยวกับเวทนาทั้งหลายภายในกาย ภายในจิต ก็อย่าไปให้มันเด่นในเรื่องนั้น ให้รู้สึกตัวซะ นิดหน่อย กลับมากำหนดเคลื่อนไหวให้รู้สึกตัว เวลาใดที่มันไปทางอื่นไม่ใช่ความรู้สึกตัว เรากลับมา มันจะเก่งตรงนี้ เก่งตรงนี้ รู้จักมารู้สึกตัว ไม่ใช่เก่งเมื่อมันเห็นอันนู้นเห็นอันนี้ แล้วเป็นไปตามสิ่งต่าง ๆ มันจะเก่งตอนที่เรารู้สึกตัว รู้สึกตัว กลับมารู้สึกตัว ในเรื่องกายมันใหญ่มันก็จะไม่ใหญ่ เวทนามันยิ่งใหญ่มันก็จะไม่ยิ่งใหญ่ ก็สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่ากาย ถ้าไปเป็นไปกับมันก็เรื่องใหญ่ หอบหิ้วไปได้ หอบหิ้วเราไปได้ ทิ้งความเพียร ไม่มีความเพียร ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีสติ แม้แต่จิตที่มันคิด มันก็กลบเกลื่อนสติได้ ให้เราได้บทเรียนจากความคิด จากจิตที่มันคิด มันก็เหมือนกันกับกาย เหมือนกันกับเวทนา เหมือนกันกับจิต
กายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ถ้าเรามีสติ
มันก็ไม่ต่างกันแหละ เพียงแต่เรารู้สึกตัว กลับมากำหนดการเคลื่อนไหว วิธีที่จะศึกษาวิธีปฏิบัติอันเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องจิตเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องเวทนาเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องกายเป็นเรื่องหนึ่ง ถ้ามันรู้สึกตัวมันก็จะบอกไปเลย มันก็จะรู้ไปเลยว่า กายอันสักแต่ว่า เวทนาสักแต่ว่า จิตก็สักว่าจิตไปเลย มีแต่ความรู้สึกตัว จะสะดวก ถ้าไปเป็นไปกับมันก็ไม่สะดวก เรื่องของกายก็เป็นขัดข้องไปหมดเลย ยุ่งยากไปหมดเลย เวทนาก็ยุ่งยากไปหมดเลย ต้องเปลี่ยน ต้องหลงไปตรงนี้ได้ จิตก็เหมือนกัน เวลาใดที่จิตที่มันคิดไป ก็รู้สึกตัว ความคิดมีสองอย่าง ตั้งใจคิด และไม่ได้ตั้งใจคิด การตั้งใจคิดไม่จำเป็นต้องไปตั้งใจคิด เวลานี้เราไม่ใช่มาคิด เราคิดมามากแล้ว เวลานี้เรามาสร้างสติ มาประกอบสติ ถ้ามันคิดขึ้นมาก็สอนตัวเองเตือนตนเอง ไม่ใช่ เวลานี้เรามาเดินให้รู้สึกตัว เรามานั่งยกมือให้รู้สึกตัว มันคิดเรื่องอะไรก็เอาไว้ก่อน การงานอะไรที่คั่งค้างอยู่ก็เอาไว้ก่อนให้เรามานั่งอยู่นี้ มันคิดมันก็ไม่สำเร็จ ต้องไปทำ กลับไปค่อยไปทำกัน เวลานี้เรามาทำกรรมฐาน ก็ให้สอนตนเอง เตือนตนเอง แก้ไขตนเอง ในสิ่งที่มันแก้ก็แก้ ในสิ่งที่เตือนก็เตือน ในสิ่งที่กลับเปลี่ยนก็เปลี่ยน มันจึงทำเป็น เมื่อเวลามันหลงให้รู้ ต่อไปก็เป็น ทีแรกมันก็ฝึกหัด
ถ้าฝึกหัดมันหลงบ่อย ๆ มันก็รู้บ่อย ๆ
ระหว่างความรู้กับความหลงนี้ มันจะแตกต่างกัน ผู้ที่สัมผัสดูแล้ว ไม่มีใครสอนกันได้ตรงนี้ สอนกันได้แต่เพียงรูปแบบเป็นคำพูด แต่สัมผัสต้องเป็นตัวเอง สัมผัสเอาเอง สัมผัสความหลง สัมผัสความรู้ สัมผัสความสุข สัมผัสความทุกข์ สัมผัสความผิด สัมผัสความถูกต้อง อย่าให้มันยิ่งใหญ่ความผิดความถูก อย่าให้ยิ่งใหญ่ความสุขความทุกข์ ให้มีความรู้สึกตัว ให้มันเป็นเอก เป็นเอกะ เป็นหนึ่งเสียก่อน เอกะมัคโคคือหนึ่งเสียก่อน เข้าทางนี้ไปก่อน ใช้ทางนี้ไปก่อน มันก็ส่วนอื่นก็ส่วนประกอบหามา ความเพียร ความอดทน ถึงคราวอดทนก็อดทน ถึงคราวเพียรก็เพียร เพียรพยายาม พยายามรู้ พยายามรู้เอาไว้
บางทีก็เกิดธรรมที่เป็นกุศล อกุศล ง่วงเหงาหาวนอน ครอบงำทั้งกายทั้งใจ ทำให้ความรู้สึกตัวเนี่ยจางคลาย หรือไม่ชัดเจนเลือนราง ไม่ชัดเจนได้เราก็นึกว่าเป็นเราง่วง ไม่ใช่ ให้เรามีความรู้สึกตัว โดยอุบายต่าง ๆ ลืมตามองท้องฟ้าลุกขึ้นเดินจงกรม มือลูบหน้าลูบตาลูบไปตามตัว มีอุบายต่าง ๆ ให้เกิดความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวมาอยู่ที่กายเคลื่อนไหว แต่สู้ความง่วงไม่ได้ มีอุบายอื่นช่วย ลุกเดินจงกรม มองท้องฟ้าทิศเหนือทิศใต้ ทำความรู้สึกเป็นกลางวันไม่ใช่กลางคืน กลางวันเป็นเวลาทำงาน กลางคืนเป็นเวลานอน มองกว้าง ๆ มองไปสิ่งแวดล้อม เพื่อนมิตรของเรายังเดินอยู่ นั่งอยู่ เรามานั่งง่วงซึมอยู่ บางทีก็เตือนตนเอง สอนตนเอง ได้สร้างไหม สร้างสติด้วยรูปแบบอื่น หรือบางทีก็อาจจะเปลี่ยนอิริยาบถ จากการสร้างจังหวะอันนานเกินไป มันพร่า มันไม่ชัดเจน ก็เปลี่ยนเป็นลมหายใจเข้าออก หรือตั้งต้นใหม่ การยกมือสร้างจังหวะ อาจจะเป็นจังหวะแตกต่างกันไป หรือยกมือข้างหนึ่งก็ลูบให้มันชัดเจน อย่าให้มันเป็นสาย เป็นรูปแบบโดยไม่รู้สึกตัวมันจะได้นิสัยไม่ดี สร้างจังหวะเหมือนกันแต่ว่าความรู้ที่มันชัดเจนมันต่างกัน หาความชัดเจนให้เจอตัวเอง ให้สัมผัส สัมผัสกับความชัดเจน ไม่ใช่เพ่ง ไม่ใช่ทุ่มเท ความชัดเจนมันเบา ๆ ไม่หนัก ช้าบ้าง ไวบ้าง
บางทีไวมันก็ไม่ชัดเจน บางทีช้ามันก็เฉื่อยชา ให้มันพอดี
บางทีก็อิริยาบถไวก็ได้ เช่น เวลามันง่วง ตบขาปุบปับปุบปับ ปลุกตัวเองให้ตื่น ถ้ามันไม่ง่วง เราไปทำแบบนั้นก็กินแรง เพราะไม่มีสิ่งที่เกี่ยวข้อง เหมือนกับ... ของมันสกปรกมาติดเสื้อผ้าเรา ทำเบา ๆ มันก็ไม่ออก ต้องปัดออก ต้องถูออก ทำแรง ๆ ความคิดบางทีมันแรงกว่าความรู้สึกตัว เขย่าธาตุรู้ขึ้นมา ให้รู้สึกตัว หัวเราะอาการต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น เราดูรอบ ๆ เราเห็นรอบ ๆ ไม่ต้องไปเอาผิดเอาถูก อะไรเกิดขึ้นเป็นเรื่องศึกษาทั้งนั้น ความสุขเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้น ความผิดเกิดขึ้น ความอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้น เป็นสภาวะที่รู้เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่าเข้าไปเป็นอะไรง่าย หัดดู อย่าหัดเป็นง่ายเกินไป เป็นสุขก็ไม่ถูก เป็นทุกข์ก็ไม่ถูก เป็นผู้ผิดก็ไม่ใช่ เป็นผู้ถูกก็ไม่ใช่ หัดดู ออกมาดู มันจะเห็นเรื่องราวต่าง ๆ
อย่างที่เราสวดพระสูตรมีตั้งมากมาย มีสติ มีความเพียร มีศีล มีสมาธิ มีอะไรต่าง ๆ ที่ใช่ก็คือมีความรู้สึกตัวล่ะ แต่ว่าอะไรเป็นศีล อะไรเป็นสติ อะไรเป็นความเพียร อะไรเป็นความตั้งใจ มันต่างวาระ มันแสดงออก เราก็รู้ ที่สุดก็คือมีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ อันเราที่เราสร้างจังหวะอยู่นี้ มันก็ทั้งหมดแล้ว ไม่ต้องไปอ่าน มันก็ทั้งหมดแล้ว มีความเพียรอยู่ตรงนั้น มีสติอยู่ตรงนั้น มีสมาธิอยู่ตรงนั้น ถ้ามีความรู้สึกตัว มันก็ถอนแล้ว ถอนความพอใจความไม่พอใจ มีภาวะที่รู้ ที่เห็น ถ้าเห็นแล้วมันก็ไม่เป็นไปของมันเอง แต่ว่าถ้าหากว่ามันเหนียวแน่น ต้องมีอุบายถอนความพอใจและความไม่พอใจได้ มีความเพียรตั้ง มีสติ ให้มันไหล แรงเสริมเข้าไป มีอุบายเยอะแยะ
การปฏิบัติธรรมน่ะไม่ยาก โดยเฉพาะความรู้สึกตัวเนี่ยเป็นของง่าย ๆ แต่เราไปทำง่ายให้มันยากขึ้นมา เหมือนตั้งใจจะง่วงเหงาหาวนอนจนคร่ำเครียด มีความรู้สึกตัวเหมือนกัน ยิ้ม ๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส มันจะไปไหน เรานั่งอยู่นี่ เรายืนอยู่นี่ เวลานี้เราก็ไม่ได้ไปทำอะไร ไม่ได้หอบเอาความรักความชังมา เรามารู้สึกตัว เราก็สอนตัวเอง ดูตัวเอง เราก็นั่งอยู่ที่นี่แล้ว เราก็เดินอยู่ที่นี่แล้ว ยังดันไปคิดถึงนู่นถึงนี่ มันก็ไม่ใช่ ไม่มีประโยชน์ ก็เดินอยู่นี่อยู่ในเส้นทางเดินจงกรม มันก็มีการเดินจริง ๆ มันก็รู้จริง ๆ นี่คือของจริง คือ ปัจจุบันนี้มีจริง พรุ่งนี้ก็ไม่จริง เมื่อวานนี้ก็ไม่จริง อะไรมันจะจริงเท่ากับกรรมฐาน กรรมฐานเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ถ้ารู้อยู่นี่ ต่อไปมันจะเกิดอะไรขึ้น อันนั้นก็ไม่ต้องคำนวณ แต่มีการกระทำกรรมจะจำแนกไปเอง ไม่ใช่เป็นสิ่งอ้อนวอน ไม่ใช่อะไรมาลิขิต เป็นการกระทำของเราแท้ ๆ ไม่ต้องไปเชื่อใคร ความหลงเราก็หลงเอง ความรู้สึกตัวก็รู้เอง ไม่ใช่มีคนอื่นมาทำให้เราหลง ไม่ใช่ผู้อื่นมาช่วยให้เรารู้ ความหลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เวลาใดมันหลง ก็รู้สึกตัวขณะที่มันหลง มันดีเหลือเกิน ถ้ามันหลงก็หลงไปยาว ความรู้สึกตัวก็อ่อนแอไปเรื่อย วิธีใดที่มันจะรู้กลับแล้วปฏิบัติที่กลับมาไว ๆ สติมันมาไว
ฝึกหัดใหม่ ๆ สติมันมาช้า ความหลงมาไว มันหัดได้ สติมาไวมาถึงก่อน มาถึงก่อนความสุข มาถึงก่อนความทุกข์ มาถึงก่อนความผิด มาถึงก่อนความถูก ความรู้สึกตัวมาถึงก่อน เหมือนพ่อแม่มาดูแลลูก พ่อแม่ถึงก่อนใครทั้งหมด เพราะอยู่ในอกของตัวเอง ก็ดูแลลูกได้ปลอดภัย เป็นอุปการคุณต่อลูก สติสัมปชัญญะเป็นอุปการคุณต่อกายต่อใจอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่อีก พระพุทธเจ้าจึงให้ชื่อว่าเป็นอุปการะมาก เราจึงอย่าให้ขาดแคลน หัดเอาไว้ มาใช้สติธรรมดา ถ้าฝึกฝนตนเองนี่ มีทั้งศีล ทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา มีทั้งมรรค มีทั้งผลอยู่ที่นี่ด้วย ผลที่สุดก็เหนือทุกอย่าง เหนือเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ ความรู้สึกตัวมีแต่ภาวะที่เห็นไม่เข้าไปเป็น และไม่เข้าไปเป็นกับสิ่งใด มีแต่รู้ไป รู้ไป ตัวรู้เป็นตัวเฉลยไปเลย ผิดก็รู้ ถูกก็รู้ สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เมื่อรู้สึกตัวมันก็ทำถูกต้อง ละความชั่ว ทำความดี จิตบริสุทธิ์ ขณะเดียวกัน ละความชั่ว ทำความดี จิตบริสุทธิ์ ก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เมื่อมีศีล มีสมาธิ ปัญญาก็มีอริยมรรค ที่เราสวด ความเห็นถูก ความคิดถูก ทำถูกไป
ตั้งต้นจากความรู้สึกตัว ไปตั้งตนด้วยเหตุด้วยผล ทำเป็นแล้ว ทำเป็นไม่ใช่รู้ การสอนให้เป็นเราต้องสอนตัวเอง เวลามันหลงรู้สึกตัว ทำเป็นหรือยัง เวลามันสุขรู้สึกตัว เวลามันทุกข์รู้สึกตัว เวลามันผิดรู้สึกตัว ทำให้มันเป็น ไม่ใช่ทำให้เกิดความรู้ ความรู้สอนง่าย สอนแป๊บเดียวก็รู้ทันที แต่ความรู้มันใช้ไม่ได้ ที่มันเกี่ยวกับชีวิตจริง ๆ ชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่ความรู้ ชีวิตจริง ๆ มันเป็นตัวปฏิบัติ มันเป็นตัวเปลี่ยน เช่น รู้ว่าสุข รู้ว่าทุกข์ สุขมันดี ทุกข์มันไม่ดี โกรธมันไม่ดี ไม่โกรธมันดี อันนี้ก็รู้ แต่ว่ามันใช้ไม่ได้ มันยังโกรธอยู่ มันยังทุกข์อยู่ มันยังหลงอยู่ มันเกิดจากการฝึกหัดเอา เหมือนเราหัดวิชาการต่าง ๆ บางอย่างก็ได้ทฤษฎี บางอย่างก็ได้ภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะชีวิตเราไม่ใช่ภาคทฤษฎี เป็นภาคปฏิบัติ
ชีวิตจริง ๆ มันไม่ต้องเป็นอะไร
ทฤษฎีมันรู้ หลักอริยมรรคเนี่ยมันเป็นทฤษฎีที่เยี่ยมยอด เอาข้อทฤษฎีอันนี้ไปประกอบกับสิ่งต่าง ๆ ได้ ในกายในใจได้ นอกกายนอกใจก็ได้ ไม่ใช่เหตุใช่ผล สิ่งนี้มีสิ่งนี้มันจึงมี เราจึงมาได้บทเรียนจากการปฏิบัติ จากการมีสติ ไม่มีอะไรที่เราไม่รู้ไม่เห็นในกายในใจ เรื่องของกายรู้หมด รู้ครบรู้ถ้วน เรื่องของใจรู้หมด รู้ครบรู้ถ้วน มันก็อันเดียวนั่นแหละ ความหลงก็อันเดียว ความโกรธก็อันเดียว ความทุกข์ก็อันเดียว ไม่มีมากหลาย ๆ อย่าง ไม่ใช่จะหลงตะพึดตะพือ หลงจนตาย โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย ไม่ใช่ว่าความทุกข์ก็อันเดียวกันไม่งอกไม่งามขึ้นมาอีก ใครโกรธก็เหมือนกันหมด คนชาติใดภาษาใดโกรธเหมือนกันหมด คนชาติใดภาษาใดทุกข์ก็เหมือนกันหมด เราก็เห็นกันอยู่ เราก็รู้กันอยู่ เวลาเราหลงเราก็รู้อยู่ แต่ไม่เคยเปลี่ยนทันทีเวลามันหลง เปลี่ยนเป็นความรู้ทันที เวลาใดมันทุกข์เปลี่ยนเป็นความรู้ทันที เวลาใดมันโกรธเปลี่ยนเป็นความรู้ทันที ตรงนี้มันไม่ทันเวลา มันก็เลยเป็นแผล เป็นรอย รอยแห่งความหลง รอยแห่งความทุกข์ รอยแห่งความโกรธ มีตลอดไป ไม่เหือดไม่หาย อาจจะเป็นแผลเป็นไปด้วย ถ้าเราศึกษามัน มันรักษาได้ รักษาความหลงเนี่ย รักษาได้เด็ดขาด รักษาความโกรธ รักษาความทุกข์ รักษาได้เด็ดขาด หายหมด ไม่มีร่องรอยอะไร เป็นไม่เป็นอะไร
ชีวิตที่ไม่เป็นอะไรกับอะไร ชีวิตมาตรฐาน ชีวิตที่เป็นสุขเป็นทุกข์ ชีวิตไม่มาตรฐาน
ถ้ายังสุขยังทุกข์อยู่ไม่มาตรฐานเลย ใช้ไม่ได้เลย มันต้องไม่เป็นอะไรกับอะไรทั้งหมด มีแต่เห็น การศึกษาทีแรก เราก็เห็นหลัก ได้หลักได้ฐาน เราดูกายดูใจ ถ้าว่าเป็นภาษาดุ้น ๆ กำปั้นทุบดิน คือกายคือใจถ้ามีสติไปมาไม่ใช่เรื่องกายเรื่องใจ มันเป็นเรื่องรูปธรรม นามธรรม เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม มันก็แตกฉาน รูปมันบอกนามมันบอก ความเท็จความจริงของรูปเป็นยังไง ในความไม่จริงมันก็มีความจริงอยู่ในรูป ในความจริงมันก็มีความไม่จริง ในความไม่จริงก็มีความจริงอยู่ในรูป ในนามก็เหมือนกัน ในความจริงมันก็มีอยู่ในนาม ในความไม่จริงก็มีอยู่ในนาม เช่น ความไม่เที่ยงมีอยู่ในรูป มันก็ไม่จริงแบบความไม่เที่ยง เรารู้ทีเดียวจบไปเลย ถ้าเราเห็นความไม่เที่ยง เรายังเป็นทุกข์ ไม่ใช่เห็นของจริง เห็นความไม่เที่ยงมันเป็นปัญญา เห็นความเป็นทุกข์มันเป็นปัญญา รูปนามมันบอก ในความไม่เที่ยง ในความเป็นทุกข์ ในความไม่ใช่ตัวตน มันบอกเรา เราก็ฉลาดตรงนี้ ฉลาดในกองรูปกองนาม ไม่ใช่ฉลาดนอกรูปนอกนาม แบบฉลาดทำมาหากินนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง มันฉลาดในรูปในนาม มันเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน
รูปนามมันบอก ส่วนใหญ่มันก็บอกอยู่สองอย่างคือ ธรรมชาติของรูป ธรรมชาติของนาม อาการของรูป อาการของนาม ไม่ใช่ตัวตน เป็นอาการ เช่น มันร้อนเป็นอาการของรูป มันหนาวเป็นอาการของรูป มันหิวเป็นอาการของรูป มันสุขมันทุกข์ของรูปเป็นอาการของรูป ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา มันก็ฉลาดไปแบบนี้ แต่ก่อนเอาสิ่งที่เกิดจากรูปจากนามมาเป็นตัวเป็นตน อย่างกายเนี่ย เคยเป็นสุขเป็นทุกข์เพราะกาย เอากายมาเป็นตัวเป็นตนเยอะแยะ เอาเวทนามาเป็นตัวเป็นตนเยอะแยะ เอาจิตมาเป็นตัวเป็นตนเยอะแยะ เอาธรรมมาเป็นตัวเป็นตนเยอะแยะ พอเห็นไปก็สักว่า สักว่า สักว่า ถอนไป ถอนไป ถอนไป จากที่เคยเป็น มันก็เลยเป็นการเห็นซะ การเห็นก็มีค่าน้อย ๆ ไม่เหมือนการเป็น เช่น เป็นสุขเนี่ย เป็นผู้สุขเนี่ย มีค่ามาก ถ้าเห็นมันสุขมีค่าน้อย ๆ เป็นผู้ทุกข์ก็มีค่ามาก เป็นผู้เห็น เห็นมันทุกข์มีค่าน้อย ๆ แทบจะไม่มีค่าเลย สุขทุกข์ เป็นธรรมชาติ เป็นอาการของกาย ของใจ ของรูป ของนาม จึงมีการเห็น เมื่อเห็นรสชาติของโลก ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ โลกคือมีรสชาติ ความสุขก็มีรส ความทุกข์ก็มีรส ความโกรธก็มีรส มีรสชาติ ถูกรสอันนี้ทับถมชีวิตของสัตว์โลก บางทีความรักความชังก็มีรส ทำกรรม เข่นฆ่า อิจฉา เบียดเบียนกันได้
แค่เรามาเห็นแล้วไม่มีรสชาติ รสของโลกอันนี้ก็จืดไป มีแต่รสพระธรรม
รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง เช่น ความรู้สึกตัวกับความหลงเนี่ย อะไรมันมีรสชาติกว่ากัน สัมผัสดู ระหว่างความหลงกับความรู้ ไม่มีใครไปเอาความหลงหรอก ถ้าสัมผัสกับรสพระธรรมคือความรู้สึกตัว หัดสัมผัส มันเจริญมันเติบโต อาหารประเภทนี้มันเติบโตทางจิตวิญญาณ อย่าให้มันเติบโตทางอธรรม ความโกรธความไม่โกรธ ความทุกข์ความไม่ทุกข์ อะไรมันต่างกัน เคยสัมผัสตรงนี้ แข่งขันดูไหม ให้อาหารทางนี้แก่ชีวิตเรา เรามารู้สึกตัว มารู้สึกตัว เหมือนกับมีอาหารทางธรรมเกิดขึ้น ให้มันอิ่มด้วยความรู้สึกตัว แต่ก่อนนี้มันหิว หิวความรู้สึกตัว หิวมันจึงโกรธ หิวมันจึงทุกข์ ขาดแคลนอาหาร ถ้าไม่หิว ถ้าไม่หลง ไม่ทุกข์ไม่โกรธ คนที่โกรธคือคนหิว คนขาดแคลน คนทุกข์คือคนขาดแคลน คนขาดแคลนคนจน คนโกรธคือคนจน คนทุกข์คือคนจน ทุกข์ใจ เราไม่โกรธกันแล้ว เราไม่ทุกข์กันแล้ว ล้าสมัยแล้ว ทำมาหากินได้
ความรู้สึกตัวเนี่ย เป็นของที่ทำได้ ให้เอาไว้ก่อน เป็นวิชาเอกไว้ก่อน ถ้าผ่านวิชานี้ อันอื่นก็ผ่านได้ ให้เลยไม่ยาก เวลาใดเราหลงแสดงว่าล้าสมัยอยู่ เวลาใดเราโกรธถือว่าล้าสมัยอยู่ เวลาใดเราทุกข์ถือว่าล้าสมัย เค้าไม่ทุกข์กันแล้ว เค้าไม่หลงกันแล้ว เค้าไม่โกรธกันแล้ว เรื่องกายเรื่องใจเนี่ย ได้ชื่อว่าหลงกายหลงใจ หลงกาย หลงเวทนา หลงจิต หลงธรรม ทำไม มันก็อยู่กับเรา เราก็สัมผัสดู ความโกรธเป็นไง ความไม่โกรธเป็นไง มีคำถามใคร ต้องไปถามใคร ความทุกข์เป็นไง ความไม่ทุกข์เป็นไง ต้องไปถามใคร รู้จักเปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ไหม รู้จักเปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธไหม รู้จักเปลี่ยนความหลงเป็นความไม่หลงไหม นี่คือธรรมะ ไม่ใช่ไปรู้อันอื่น หัดให้มันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นแล้วมันไม่ลืม ยิ่งมาเห็นรูปเห็นนามไม่รู้จักลืมเลย ไม่ใช่เรื่องจำ ไม่เหมือนเราไปเรียนวิชาอันอื่นต้องจำเอา รู้จำรู้แจ้ง
วิปัสสนาคือรู้แจ้ง ชี้หน้าความหลง ชี้หน้าความทุกข์ ชี้หน้าอะไรต่าง ๆ ได้ ผลที่สุดคือไม่เป็นไร เห็นมัน ถ้าเห็นเนี่ย มันไม่ใช่อะไร เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ภาวะที่เห็นเนี่ย แล้วจะไปเอาที่ไหนกัน ชีวิตเนี่ย ถ้ายังเป็นไม่ใช่มีชีวิตเลย ถ้าเห็นแล้วมีชีวิตอมตะ ถ้าเป็นไม่ได้ชีวิต ล้มลุกคลุกคลาน ล้มเหลว เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นอะไรต่าง ๆ เห็นมัน ชีวิตก็จบเสียที ไม่มีอะไรที่เราไม่รู้อันเกิดจากกายจากใจเราเนี่ย รู้หมด มารอบเดียวถ้ามี เหมือนพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน ชั้นสกทาคามี อนาคามี อรหันต์ มารอบเดียว ถ้าหลงก็รอบเดียว ถ้าโกรธก็รอบเดียว ไม่ได้โกรธอีก คิดแล้วคิดอีก ไม่ได้ทุกข์อีกคิดแล้วคิดอีก เรื่องความทุกข์ไม่ได้กลับมาทุกข์อีกหลายรอบ เพราะมันเห็นแจ้ง ทุกข์มันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ ความไม่ทุกข์ก็เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ ใครจะหลอกเรา มากกว่าหลอกตัวเอง หลอกให้เราทุกข์ หลอกให้เราหลง เราจะฉลาดตรงนี้นะ
ศึกษาธรรมะเนี่ย ไม่ใช่จะมาศรัทธาผู้นั้นผู้นี้ ศรัทธาอาจารย์องค์นั้นศรัทธาอาจารย์องค์นี้ หลวงพ่อองค์นั้นองค์นี้ ไม่ใช่เลย ศรัทธาการกระทำของเรา ทำอย่างนี้มันเกิดอย่างนี้ขึ้นมาเนี่ย นี่คือศึกษาของจริง อย่าหลอกกัน ลูกศิษย์หลอกอาจารย์ไม่ได้ อาจารย์หลอกลูกศิษย์ไม่ได้ มาเห็นเอาเอง มาดูเอง ความรู้สึกตัวใครทำให้เรา ความหลงตัวใครทำให้เรา มีแต่เราเอง ตัวเองนี่หลอกตัวเอง คนอื่นหลอกตัวเองไม่ได้ หลอกเราไม่ได้ ถ้าเราหลอกตัวเราไม่ได้ นี่แหละฉลาด กุศลแล้ว ฉลาด เป็นบุญแล้ว บุญคือใจดีกว่าเก่า กุศลคือฉลาดกว่าเก่า ฉลาดออกจากทุกข์ ถ้าจะเรียกว่าทำบุญ ก็ทำบุญอย่างสูงสุด ภาวนามัย เจริญภาวนา ขยันรู้ ขยันรู้เรียกว่าบุญ เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เรียกว่าภาวนา เปลี่ยนได้แล้ว เปลี่ยนได้แล้ว อะไรที่เป็นความหลงรู้แล้ว อะไรที่เป็นความทุกข์รู้แล้ว รู้แล้ว ทุกข์กำหนดรู้ สมุทัยละแล้ว อะไรที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ผละได้แล้ว ละได้แล้ว ประหาร เสร็จไปหรือยัง เสร็จไปแล้ว ละได้แล้ว
เหมือนเราเห็นงู เห็นทีแรกยังไม่พ้นภัย การเห็น เรียกว่า “ญาตปริญญา” เป็นปริญญาของชีวิต ญาตปริญญา กำหนดรู้โดยการเห็น เห็นแล้ว เห็นแล้ว เหมือนเราเห็นงูพิษแผ่แม่เบี้ย อันที่สอง “ตีรณปริญญา” ออกไป ๆ ออกไป ๆ แต่ออกไปยังไม่ไกล ยังไม่พ้น จนถึงออกไปพ้นแล้ว รับรองว่าพ้นแล้ว งูอยู่นู่น อยู่ไกล ๆ นู่น แต่ก่อนงูมันแค่ใกล้หน้าแข้ง ทุกข์ก็ซึมเข้าไปในใจเรา ใจสั่น ใจเต้น ตอนนี้มันจืดไปแล้ว ว่างลง ว่างลง ทำได้แล้ว ว่างลงแล้ว ละได้แล้ว สามลักษณะ เห็น ออกไป พ้นแล้ว ความหลงพ้นไปแล้ว ความทุกข์พ้นไปแล้ว ความโกรธพ้นไปแล้ว หัดทำนองนี้กัน ไม่มีใครสอนเราได้ ต้องสอนตัวเอง เวลาใดมันโกรธเปลี่ยนไม่โกรธ อย่าพูด ข่มไว้ รู้แล้ว รู้แล้ว บางทีให้มันยิ่งใหญ่ รับใช้มันก็ไม่ได้ ถ้าไม่หัดมันก็ทำไม่เป็นนะ ต้องฝึกหัดตนเอง ถ้าหัดอย่างนี้ ลุยได้เลยโลกนี้ ลุยโลกเลย ไม่ต้องกลัว
เพราะฉะนั้นเราเนี่ย ก็ต้องที่จะมารู้เรื่องนี้ เพราะเราอยู่กันเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่ชีวิตเราคนเดียว อยู่กันหลายชีวิต หลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวข้องกัน แม้จะเดินตามถนนหนทางก็ไม่ใช่เดินคนเดียว ก็ต้องระมัดระวัง นอกจากนั้นก็มีสิ่งเกี่ยวข้องอีก สิ่งแวดล้อม เหตุปัจจัย อาชีพต่าง ๆ อย่าสุรุ่ยสุร่าย อะไรที่มันไม่ดี บางทีเลิก สูบบุหรี่ไม่ดีไม่ต้องไปสูบ กินเหล้าไม่ดีเลิก ไม่ต้องไปกินเหล้า หลงไม่ดีก็เลิก ทุกข์ไม่ดีก็เลิก โกรธไม่ดีก็เลิกไปเลย ไปอาลัยมันทำไม เป็นอะไรเป็นพระมาลัย ทัวร์สวรรค์ ทัวร์นิพพาน ทัวร์นรก เห็นแล้ว เราจะไปอ้อนวอนอะไรที่ไหน ยกมืออ้อนวอนอะไรที่ไหน มันอยู่กับการกระทำของเรา บุญก็คือใจดี ๆ เนี่ย บาปคือใจร้าย ๆ มันอยู่ที่ไหนใจน่ะ บาปคือใจร้าย อยากได้แต่บุญ ไม่ละบาป บุญคือใจดี ลองเปลี่ยนดู ถ้าเป็นนิพพานก็จะเย็น ไม่เป็นอะไร ไม่เป็นอะไรกับอะไร เหมือนกับความเย็นไม่เป็นอะไรกับอะไร ไม่มีพิษมีภัย เหมือนถ่านไฟที่มันเย็น ไปจับได้ เอามานอนกอดได้ถ่านไฟที่มันเย็น ถ้ามันร้อนอยู่ก็ธรรมดา คนใจร้อนพึ่งกันไม่ได้ แม้แต่เราก็พึ่งไม่ได้ มาหัดใจตนเอง เราก็พึ่งไม่ได้ เรามีใจเนี่ยพึ่งได้ไหม เรามีจิตใจเราพึ่งใจเราได้ไหม ในความร้ายความดี ฟู ๆ แฟบ ๆ ไม่มั่นใจตนเอง ทำไมไปคิดแบบนั้น ใจเราแท้ ๆ มันก็เปลี่ยนได้แหละ มันใจดี ๆ มันพึ่งได้ ใจเย็นก็ยิ่งพึ่งได้ สามีใจเย็น ภรรยาใจเย็น มันก็พึ่งกันได้ สามีใจร้อน ภรรยาใจร้อน ก็พึ่งกันไม่ได้ ใครในโลกนี้ถ้ามีแต่คนใจร้อนแล้ว เราจะอยู่กันยังไง กฎหมายอะไรมาบังคับเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญอะไรสร้างขึ้นมา ทำใจดี ๆ มาฝึกหัดตัวด้วยกันทุกคนเลย มันมีทางเดียวเท่านี้ คือหลักของธรรมะ คือศาสนาเนี่ย เราจึงไม่ใช่ล้าสมัย ทันสมัยที่สุด มาพัฒนาตรงนี้ จะได้อยู่ในโลกอย่างสง่างามเลยทีเดียว จากการฝึกตรงนี้ ไม่ใช่มานั่งฝึกยกมือสร้างจังหวะ ไปใช้เลย ทำงานทำการ อยู่ที่ทำงาน ทำงานเป็นหมอ เป็นนายแพทย์ เป็นพยาบาล เอาไปเลย ช่วยกันเถอะเรา มีคนที่จะช่วยเยอะแยะ คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ถ้าเราไม่ช่วยกันตรงนี้ ยังเอารัดเอาเปรียบกันอยู่ทำไม
ดีใจที่คุณหมอทั้งหลาย นายแพทย์ทั้งหลาย พยาบาลทั้งหลาย ได้มาศึกษาชีวิตจริง ๆ เนี่ย จะได้พิสูจน์กันดูซิ พระพุทธเจ้าท้าทายเรื่องนี้ ผู้ใดมีสติต่อเนื่อง ๑ วัน ถึง ๗ วัน ถึง ๗ ปี มีอานิสงส์เกิดขึ้นแน่นอน มันไม่ถึง ๗ ปีหรอก หลวงพ่อเทียนบอกว่า ๓ เดือนเท่านั้นเอง เอาจริง ๆ เนี่ย เรารู้สึกตัวเนี่ย รู้เนี่ย รู้เนี่ยมันหลงไหม มันก็ไม่หลงมันรู้นี่ ถ้าไม่หลงมันเป็นไร มันก็เป็นศีลแล้ว ไม่ได้ทำผิดทางกาย ไม่ได้มีโทษทางกาย มันรู้อยู่ ใส่ใจที่รู้นี้มันเป็นอะไร เป็นสมาธิ ขณะที่มันหลงไปรู้สึกตัว มันก็เป็นปัญญา รู้จักเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ได้ การรู้สึกตัวนี้มันก็ละความชั่ว ไม่มีใครไปฆ่ากัน รู้สึกตัวไว้ เราไปทำบาปทำกรรมไรรู้สึกตัว การรู้สึกตัวมันก็ทำความดี ความรู้สึกจิตมันก็บริสุทธิ์แล้ว ไม่ปรุงไม่แต่ง มันคิดไปมันก็กลับมา ไม่ได้ไปเป็นบาปเป็นกรรมเพราะความคิด การละความชั่ว ทำความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็นทั้งศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา มาเป็นพรวนเลย นี่คือกรรมฐาน ไม่มีหนังสือเรียนหรอกสมัยก่อน พระพุทธเจ้ามานั่งตรงต้นโพธิ์ บำเพ็ญ มีหายใจเข้า บางทีพระองค์อาจจะพูดว่า เหยียดแขนออก การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก รู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้สึกตัว การเดินไปข้างหน้า การเดินคืนข้างหลัง เราก็หัดตามรอยนี้ นี่เป็นการศึกษาเบื้องต้น ที่พระพุทธเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าก็เรื่องนี้ รู้สึกตัว รู้สึกตัวกันนะ เราก็มีกายรู้สึกตัว มันก็หยุดทำความชั่ว ทำความดีไปเลย