แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ปฏิบัติธรรมกันนะ ปฏิบัติธรรมมันเป็นภาษาของจิตใจ จะได้เป็นการพบเห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจเรา ถ้าฟังมันก็เป็นการได้ยิน ได้เรียนรู้ ได้จำเอาไว้ ยังไม่ใช่ตัวจริงของสิ่งต้องพบเห็น อันหนึ่งมันพบเห็นวิธีปฏิบัติ การกระทำกรรมฐาน มันเป็นการพบเห็น แต่การได้ยินได้ฟัง เป็นการจำเอา รู้จำ ไม่ใช่รู้แจ้ง พวกเราเป็นปัญญาชนศึกษามามากแล้ว จบมาหลายศาสตร์ มีหน้าที่การงาน เคยไปสอนท่านผู้รู้ เขาบอกว่าไม่ต้องสอนพวกเรา พวกเรารู้มากแล้ว เขาอยู่บอสตัน มหาวิทยาลัยบอสตัน ท่านไม่ต้องสอนพวกเรา เรารู้มามากแล้ว จะให้เราทำอะไรพาเราทำดู เขาพูดอย่างนี้ ท่านรู้อะไรมา เราบอกว่าเรารู้ตัวเอง แล้วรู้ตัวเองท่านรู้อย่างไร ก็พาเขาทำเลย คือมือวางไว้บนเข่า แบมือขึ้นรู้สึกตัว ยกขึ้นรู้สึกตัว วางมานี้รู้สึกตัว เคลื่อนไหวทีไรรู้สึกตัว รู้สึกตัวนี้ รู้อย่างนี้ เรารู้สึกตัวอย่างนี้ รู้สึกตัวอย่างนี้ รู้อย่างนี้ รู้อย่างนี้ รู้อย่างนี้ นี่ รู้อย่างนี้ นี่คนเอเชีย พระศาสดาทั้งหลายเกิดอยู่ที่เอเชีย เพราะรู้เรื่องนี้ พวกคุณอยู่ยุโรปอเมริกา คุณรู้นอกตัวไป รู้ท้องฟ้า รู้ดาวเทียม พวกคุณขึ้นถึงดวงพระจันทร์แล้ว ยังไม่รู้เรื่องนี้ อันนั้นรู้อันหนึ่ง อย่างนี้มันรู้ตัวเอง รู้อย่างนี้ พาเขาทำเลย
เวลาเราปฏิบัติ ลองดู จะได้เห็น ไม่ใช่เรียนรู้ เรียนรู้เกิดจากได้ยินได้ฟังมา แต่การปฏิบัติ การพบเห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับเราแท้ ๆ ศาสนาเกิดขึ้นที่กายที่ใจนี้ สติปัญญาต้องเกิดขึ้นที่กายที่ใจนี้ ปัญญาคือความรอบรู้ในกองสังขาร ที่มันมีกายสังขาร จิตสังขารนี้ จะเกิดขึ้นมาให้เราเห็น การเรียนรู้ไม่ได้สัมผัส เช่น เรารู้ว่าโกรธไม่ดี เราก็ยังโกรธอยู่ ทุกข์มันไม่ดี เราก็ยังมีทุกข์อยู่ ดีใจเสียใจมันก็ไม่ถูกต้อง เราก็ยังดีใจเสียใจ เอาผิดเอาถูกให้เป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่หลงก็เป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ความคิดก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเราได้รู้ แต่ว่าถ้าเห็น มันเรื่องเล็กน้อย สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจถ้ามีสติเป็นเกณฑ์ชี้วัดตั้งเอาไว้ โดยวิชากรรมฐาน อะไรที่มันเกิดขึ้นมามักจะต่างกันกับสติอยู่ มันจะไม่ค่อยจะมีค่า เพราะสติมันเป็นใหญ่ มันรู้สึกตัวมันจบแค่นั้นแล้ว อันเรื่องของกายของใจ มันจบอยู่ที่ความรู้สึกตัว ไม่ใช่จบอยู่ที่คิดโน่นคิดนี่ได้เหตุได้ผลได้หลักได้ฐาน เอาวัตถุมากำหนดอันนั้นอันนี้ตามหลักวิทยาศาสตร์ อันนั้นไปใช้นอกกายนอกใจไม่ใช่พ้นทุกข์ วิชาอะไรต่าง ๆ ศาสตร์ต่าง ๆ พระพุทธเจ้าก็จบมา ๑๗ ศาสตร์ ขี่ม้า ยิงธนู ฟันดาบ นอกจากนั้นก็ศาสตร์ทั่ว ๆ ไป ซึ่งจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ว่าศาสตร์พุทธศาสนานี้ ศาสตร์ที่เป็นการตรัสรู้ รู้แจ้ง มรรคผลนิพพานนี้ มันเป็นศาสตร์ที่เกิดในกายในใจนี้
ความรอบรู้ในกองสังขารชื่อว่า “ปัญญา” ปัญญาพุทธะ ไม่มีใครบอกใคร ประสบพบเห็นชื่อว่า “ธรรมะ” ธรรมพาให้เป็นพระพุทธเจ้า มากมายธรรมที่เกิดกับกายกับใจ ฝ่ายกุศลก็มี ฝ่ายอกุศลก็มี บทที่สวดก็ “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” ธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น รูปมันก็ไม่ใช่ตัวตน ที่มันเป็นขันธ์ ๕ นี้ เรามีอุปาทานในขันธ์ ๕ แต่ภาษาของศาสตร์ ภาษาของธรรมะทำให้เกิดพระพุทธเจ้า รูปมันก็ไม่ใช่ตัวตน เวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์มันก็ไม่ใช่ตัวตน สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็ไม่ใช่ตัวตน รูปนี่มันก็ไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่เที่ยง เสียเวลากับความไม่เที่ยง เสียเวลากับความเป็นทุกข์ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ถ้ามีสติจะได้เห็นอย่างนี้ ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลายเช่นนี้เป็นส่วนมาก สาวกทั้งหลายก็รู้เรื่องนี้เป็นส่วนมาก พระองค์มีอนุสาสนี คือส่วนมาก วิถีจิตจะรู้เรื่องนี้ ก็ต้องขึ้นกรรมฐาน มีสติไปในกายอยู่เป็นประจำ อะไรที่เกิดขึ้นกับกายกับใจก็สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ว่าอย่างนี้ สติจะว่าอย่างนี้ ถ้ามีสติ สติเป็นคำพูด ถ้าออกมาเป็นคำพูดก็พูดอย่างนี้ แต่มันไม่ใช่คำพูด เป็นภาษาธรรมในหัวใจทุกคนที่ปฏิบัติ เห็นกายอยู่ในกายเป็นประจำ กรรมมันเกิดขึ้นมาอะไรที่กาย มีสติเครื่องเผากิเลส มีความเพียร ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ สติเป็นคำพูดของสติ กลับมารู้สึกตัวนี่แหละภาษาปฏิบัติ และกลับมารู้สึกตัว มันก็ไม่มีอะไร ไม่มีล่องลอย และกลับมาเรื่อย ๆ ก็เหมือนกับสอนกายสอนใจ มีสติดูกายเคลื่อนไหวเห็นใจมันคิด จิตก็สักว่าจิตไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขาเนี่ย วิชากรรมฐานสอนอย่างนี้
พระอานนท์เป็นพหูสูตจำได้เยอะ เรื่องนี้พระพุทธเจ้าสอนที่ใดที่ใด พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก พระวินัยปิฎก จำได้หมด แต่ไม่บรรลุธรรม จนพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ยังร้องไห้ อยู่เชตวัน ตอนเย็น หลงใหล พระพุทธเจ้านิมนต์มาสรงน้ำ ตักน้ำขึ้นมาจากบ่อ หน้าคันธกุฎีของพระพุทธเจ้ามีบ่อน้ำ ที่นั่น น้ำดีมาก เชตวันเนี่ย เหมือนกับน้ำวัดภูเขาทองนั่นแหละ ดีมาก ไปตรวจสาธารณสุข เครื่องตรวจเขาว่าไม่ต้องกรอง ดื่มได้ น้ำเชตวันก็ดี ในประเทศอินเดีย พระอานนท์ก็ตักน้ำขึ้นมา เคยตักน้ำให้พระพุทธเจ้าสรง ถึงเวลาก็ตักน้ำใส่กระถางไว้ พระพุทธเจ้าก็เดินลงจากบันไดมาสรงน้ำ พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์ก็ยังทำเช่นนั้น ร้องไห้เสียใจอยู่ ชาวบ้านเขาทำไร่ทำนาแถวนั้นได้ยิน ได้เห็น สงสารพระอานนท์ ผลที่สุดก็กว่าจะถึงเดือนจะได้ทำสังคายนา พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว การทำสังคายนานี้ เพียงพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้ ๗ วันเท่านั้น มีสุภัททปริพาชกจ้วงจาบพระธรรมวินัยขึ้นมา พระมหากัสสปะได้ยินเช่นนั้น จ้วงจาบอย่างไร เล่าสักหน่อยนะ ดีไหม (หัวเราะ)
พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ๗ วัน พระมหากัสสปะอยู่ไกล อยู่ในป่าในดง พระมหากัสสปะไม่อยู่ในบ้านในเมืองกับเขา วัดป่าทุกวันนี้เกิดจากพระมหากัสสปะ เดินทางกว่าจะมาถึงกุสินาราก็นานหลายวัน พาหมู่สงฆ์ลูกศิษย์เดินทางเข้ากุสินารา กว่าจะมาถึงก็ได้ ๗ วัน เดินใกล้เข้ามา
คนเดินผ่านมา “พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วน้อ”
ญาติโยมเดินผ่านมาก็ “โอ! ปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว กำลังจะถวายพระเพลิงอยู่แล้วเนี่ย”
พอได้ยินเช่นนั้นหมู่สงฆ์ ที่เดินทางร่วมกันกับพระมหากัสสปะเป็นลูกศิษย์พระมหากัสสปะ ก็ร้องไห้เสียใจ จิตใจยังอ่อน คิดถึงพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว
มีพระสุภัททะปริพาชกรูปหนึ่ง กล่าวขึ้นว่า “ท่านจะร้องไห้เสียใจทำไม ดีแล้วพระศาสดาตายไป ปรินิพพานไป จะไม่มีใครดุใครด่า ไม่มีใครชี้โทษ สมัยพระองค์ยังอยู่ก็ชี้ นั่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี เบื่อเหลือเกิน ดีแล้ว จะร้องไห้ทำไม”
พระมหากัสสปะได้ยินเช่นนั้นก็เสียใจ เศร้าโศก กลืนน้ำตาลง คิดเอาไว้ โอ! พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วันก็มีเรื่องอย่างนี้ขึ้นมาหนอ ต้องประชุมสงฆ์ ทำสังคายนา วางระเบียบเอาไว้ พระมหากัสสปะก็เดินทางไปถึง กำลังจะเผาพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าไฟก็ยังไม่ลุก จนพระมหากัสสปะไปถึงที่ ไปเอาเท้าฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้าใส่หัวตัวเอง กราบ จนชาวบ้านชาวเมืองกุสินาราขึ้นถวายพระเพลิง ไฟจึงลุกขึ้นมา ปรากฏว่าอย่างนั้นตามพระสูตรนะ พอถวายพระเพลิงจบก็ประชุมสงฆ์ นัดกันทำสังคายนา ๑ เดือน ๓ เดือนหรืออะไรจำไม่ค่อยได้ การทำสังคายนานี้ต้องเอาแต่พระอรหันต์ทั้งสิ้น ที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด พระมหากัสสปะเป็นประธานสงฆ์ แต่ว่าขาดพระอานนท์ไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ว่าขาดไม่ได้ พระอานนท์เป็นพหูสูตจำได้มาก ก็จะได้มาสาธยาย รู้หมดเลยว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องไหนอย่างไร แต่พระอานนท์ยังไม่เป็นพระอรหันต์ หมู่สงฆ์ทั้งปวงเลยชี้ตรงพระอานนท์ต้องรีบปฏิบัติเข้า รอพระอานนท์ พระอานนท์เสร็จเป็นพระอรหันต์เมื่อไรจะได้ทำสังคายนา พระอานนท์ก็เร่งทำความเพียร ทั้ง ๆ ที่เป็นพหูสูตมากขนาดนั้น ทำความเพียร เหมือนกับพวกเราทำอยู่นี่แหละ รู้มากแทบทุกคนนั่นล่ะ อะไรก็รู้มาแล้ว จึงมาประกอบความเพียร คู้แขนเข้าเหยียดแขนออกอยู่เนี่ย รู้สึกตัวอยู่เนี่ย ในวันนั้นคืนนั้น พระอานนท์ก็ทำความเพียรตั้งแต่ย่ำค่ำ จนถึงแสงเงินแสงทองขึ้น ไม่ได้หลับได้นอนจะเอาให้ได้ จะเอาให้ได้ หนึ่งวันสองวันสามวันที่ผ่านมา
พระสงฆ์ทั้งหลายก็ถาม “เป็นไงท่านอานนท์ พอที่จะอยู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพานแล้วหรือยัง พอ ๆ ที่จะได้ที่ได้ทาง ... ”
“ขออีกหนึ่งวัน ขออีกสองวัน” เหมือนคนทำนา ทำไร่ ทำสวน กำหนดได้ เสร็จที่นั่น เสร็จที่นี่ไป อาจจะเป็นอย่างนั้น รู้รูป รู้นาม รู้ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง รูปไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง รู้อะไรต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ มันอยู่ที่จิตใจ มีสติดูจิต มีสติดูจิต จิตมันคิดไป เร่งเข้าเกินไป ไม่รู้จักหลับจักนอน เห็นท่าจะไม่ได้นอนก็เออ วางใจ วางใจ วางใจ แต่ก่อนเร่งเกินไป ทำใจสบาย วางใจ วางใจจะเอนหลังสักหน่อย เพื่อจะต่อสู้ชั่วโมงข้างหน้า งีบสักหน่อย พอเอนหลัง หัวยังไม่ถูกหมอน ปรากฏได้บรรลุธรรมตอนนั้นเลย คือวางใจ แต่ก่อนเอาให้ได้ จะเอาให้ได้ จะเอาให้ได้ พอหลงตัวเองก็รู้ สู้กับความหลง ความรู้สู้กับความหลง ความรู้สู้กับทุกอย่าง มีการต่อสู้ วางใจไม่สู้ พอใจวางเอนหลังลง บรรลุธรรมตอนนั้น คือปล่อยวาง ปล่อยวาง เอนวาง อาจจะยิ้ม เวลามันหลงก็ยิ้ม นั่นน่ะ เวลามันโกรธก็ยิ้ม มีแต่รู้ รู้ รู้เข้าไป โอ้! แค่นี้เอง ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จึงได้ทำสังคายนา ร้อยกรองพระธรรมวินัยขึ้นมา
เพราะฉะนั้นทำให้มันเป็น ไม่ใช่รู้ ทำให้เป็น การทำให้เป็น ไม่มีใครสอนเรา เราต้องสอนตัวเราเอง การรู้มีคนสอนไว้ มีครูอาจารย์ เรียนจบมา สอนให้รู้ พอสอนให้เป็น เราต้องทำเอง เวลามันหลงรู้ อย่าไปยึดมั่นถือมั่น วางใจ วางใจ ปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวาง ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตนที่จะเอาไปเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่เอากายเอาใจมารับใช้ความสุขความทุกข์ ไม่ได้เอากายเอาใจมารับใช้ความดีใจเสียใจ อะไรต่าง ๆ วางลง ว่างเปล่า เต็มไปด้วยสติ ว่างไปด้วยความเป็นความไม่เป็น ว่างกับเต็มมันอันเดียวกัน เต็มไปด้วยความรู้สึกตัว มันก็เลยว่างจากความมีตัวมีตนที่จะมาอาศัย ก็เลยเป็นใหญ่ มีสติแล้วแลอยู่ มีสติแล้วแลอยู่ พระขีณาสพเป็นผู้มีสติเป็นหน้ารอบ มีสติเป็นวินัย พระขีณาสพคือพระอรหันต์ มีสติเป็นหน้ารอบ ให้ใช้อย่างนี้เวลาเราฝึกหัด
ปฏิบัติธรรมให้อมยิ้ม สบาย ๆ อย่าอยากรู้อยากเห็น อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ ยิ่งคนอื่นพูด เอามาเป็นเกณฑ์ชี้วัดไม่ได้ เราต้องดูตัวเอง วาง ถ้าว่ารู้นี่มันวางแล้ว รู้สึกตัวนี่มันวางแล้ว อะไรเกิดขึ้น รู้สึกตัวนี่ รู้สึกตัวไม่ให้ค่า สิ่งที่เกิดมาจรมา รู้สึกตัวมั้ยที่ไม่ต้อนรับ รู้สึกตัวไม่มีที่อาศัย รู้สึกตัวก็บอกสิ่งที่มาอาศัยคืนไป มันเหมือนกับว่า บอกคืนไป ไม่ต้อนรับ ไม่มีที่อาศัย ไม่ให้ค่า ความรู้สึกตัวมันยิ่งใหญ่ กับสิ่งที่จรมา จิตของเรานี้บริสุทธิ์ ผ่องใสอยู่เสมอ แต่อุปกิเลสมันจรมาทำให้เศร้าหมอง อันความเศร้าหมองไม่ใช่จิต เป็นความโกรธ ความโลภ ความหลง กิเลส ตัณหา ราคะ ไม่ใช่จิต มันจรมา เพราะเราต้อนรับให้ค่ามัน ความทุกข์ก็ให้ค่า เวลาทุกข์เราก็ว่าตัวเองเป็นผู้ทุกข์ ไม่ได้เห็นมันทุกข์ เป็นผู้ทุกข์ เลยมีค่าขึ้นมาความทุกข์ ถ้าเห็นมันทุกข์ มันก็ไม่ค่อยจะมีค่า เบา ๆ บาง ๆ พอเห็นก็ไม่เป็น ง่าย รู้สึกตัว เห็น ไม่เป็นอะไร เห็น ไม่เป็นไร ว่าโดยง่าย วางได้ดังนี้ใจ ถ้าเป็นวางไม่ได้ ถ้าเห็นน่ะไม่เป็นไร ช่างหัวมัน ง่ายไปเรื่อย ๆ ปล่อยวาง ไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นน่ะมันไม่เป็นไรพูดไม่ออก มันก็มีไม่ได้ ไม่ได้ ถ้าได้โกรธไม่ได้ด่ามันก็ไม่ยอม ถ้าเป็นมันก็เป็นอย่างนั้นไปไกล เกิดบาปเกิดอกุศลขึ้น เกิดนรก เกิดอสุรกาย เกิดเดรัจฉานขึ้นมา โง่ไปเลย มืดไปเลย จำกันไม่ได้ เคยรักกันก็จำกันไม่ได้ ความโกรธมันปิดบัง เกิดโทสะ ร้ายกาจ จับศาตราอาวุธ พูดออกไปทางวาจา เข่นฆ่ากันไป รบราฆ่าฟันกันไป ไปไกล จนไปถึงชั่วที่สุด ก่อนที่จะเสียใจผิดพลาดไปแล้ว ด่ากันแล้ว ผัวเมียด่ากันแล้ว เวลาหายโกรธอายกัน เสียใจก็มี ตีลูก ตีไปแล้ว เอาความโกรธก็ตีลูก พอหายโกรธก็สงสารลูก เสียใจ แต่ทำบาปทำกรรมไปแล้ว เอาคืนไม่ได้ เรารับใช้ความทุกข์ความโกรธอย่างนั้นมา
บัดนี้ มามีสติกันเถอะ รู้สึกตัวไม่ยาก ไม่ได้ขอใคร ไม่ต้องถามใคร หัดเอาไว้ ก็จะได้ไปใช้อยู่ในโลก เป็นเครื่องมือ อะไรเกิดขึ้นมาในโลกนี้ สากลที่สุดคือรู้สึกตัวนี้ จะเป็นคนชาติใดภาษาใด รู้สึกตัวนี้อันเดียวกันแท้ ๆ ถ้ารู้สึกตัวก็แสดงว่าดูแลตัวเองได้แล้ว คุ้มครองตัวเอง ถ้าคุ้มครองตัวเองได้ คุ้มครองคนอื่นได้ คุ้มครองคนอื่นคุ้มครองงานการได้ คุ้มครองอะไรก็คุ้มครองได้ ถ้ามีสติ ถ้าไม่มีสติก็ล้มเหลว คุ้มร้ายคุ้มดี มีใจก็พึ่งใจไม่ได้ จึงมาหัดกัน เน้นหลัก เน้นหลัก ให้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ฝังหลักลงไป เหมือนกับผู้หลักคือเป็นหลัก จากร้ายจะเป็นดี เราไม่ใช่อยู่อย่างนี้ อาจจะเป็นปู่เป็นย่า เป็นตาเป็นยาย พ่อคนแม่คน ไปเรื่อย ๆ แล้วผู้หลักผู้ใหญ่ หลักต้องฝังให้แน่นหนาไม่หวั่นไหว คำว่าหลักคือไม่หวั่นไหว ไม่เป็นไรนี่ก็เป็นหลัก มีสตินี่ก็เป็นหลัก ภูเขาศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลมฉันใด ผู้ฝึกตนมีสติไม่หวั่นไหวเพราะนินทาสรรเสริญฉันนั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ จะได้เป็นลูกตุ้ม จะได้เป็นที่อาศัยของสิ่งต่าง ๆ เราอยู่ในโลก มีลูกมีหลาน มีบุตรภรรยาสามี มีผู้มีคนสิ่งอะไรต่าง ๆ ถ้าไม่มีหลักก็ปลิวไปง่าย อาภัพ ไม่มีหลักไม่มีที่ สำส่อน เขาหิ้วไปไหนก็ไป จิตใจ เขาว่าให้สุขก็สุข เขาว่าให้ทุกข์ก็ทุกข์ นินทาก็ทุกข์ สรรเสริญก็สุข เอาสิ่งที่เป็นสุขเป็นทุกข์ห้อยแขวนไว้กับคนอื่น สิ่งอื่นวัตถุอื่น ชีวิตห้อยแขวนไว้ ไม่เป็นหลัก หลักคือมันต้องมีที่วาง ที่ตั้ง ที่ปัก ที่ฝังลงไป มันจึงประเสริฐ มนุษย์เรามันประเสริฐอย่างนี้ มันสอนได้อย่างนี้ เป็นหลักจริง ๆ นอกตัวในตัว จะเอาอะไร รูปมันก็ไม่ใช่ตัวตน นามก็ไม่ใช่ตัวตน อาศัยตรงไหน อาศัยให้ทำความดี อาศัยรูปอาศัยนามนี้ เพื่อให้ปลุกสติ เพื่อปลุกสติ เป็นที่ตั้งของสติ อ่านพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ที่สุดในโลกอยู่นั้น อ่านดูซิ อาศัยกายอาศัยใจเป็นที่ตั้งความรู้สึกตัวเท่านั้น ไม่ใช่เอามาเป็นสุขเป็นทุกข์ ถ้าไม่อาศัยเอาเป็นที่ตั้งของความรู้สึกตัว ก็ตายทิ้งไปเปล่า ๆ ตายก็ไม่ตายเฉย ๆ เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ พลัดพรากจากคนรักของชอบใจเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ถ้าไม่ศึกษา ถ้าศึกษาก็ไม่ทุกข์อะไร เสียดาย บางทีเสียดายคนที่โกรธ ไม่โกรธก็ได้ เสียดายคนที่ทุกข์ ไม่ทุกข์ก็ได้ ร้องไห้เสียใจทำไม ฝึกตนสอนตน เราเอาอะไรมาต่อรองกับชีวิตเรา ห้อยแขวนกับที่ไหน ตัวเราอยู่นี่นั่งอยู่นี่ ขออะไรจากใครวินาทีนี้ เริ่มต้นวินาทีนี้ รู้สึกตัว รู้สึกตัวเนี่ย ให้โอกาสตัวเองอย่างนี้ รู้สึกตัวจะได้เห็น จะได้ตั้งหลักได้ เคยชิน มีความเคยชิน จะได้ง่าย ฝึกไว้มันจะได้ง่าย เอาไปเอามาก็ไม่ต้องฝึก มันเป็นแล้ว ทำเป็นแล้ว อะไรที่จะเป็นมันต้องฝึกก่อน ถ้าไม่ฝึกมันไม่เป็น ทำไม่เป็น เวลาฝึกก็ให้มีสติเป็นที่ตั้งไว้ที่กายนี้ตามพระพุทธเจ้าสอน อาศัยดูกายเคลื่อนไหวเห็นใจคิดนึกนี่ สติตั้งไว้ที่กายจะได้เห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ เห็นแล้วจะได้กลับมา หัดอย่างนี้ จะได้กลับมา ตั้งไว้ ไปไหนก็กลับมา กลับมา ตั้งไว้ ปฏิ คือกลับมา ปฏิบัติ คือ กลับมา กลับมา อย่าไป อย่าไป ถ้าหัดกลับมา กลับมาบ่อย ๆ ก็ชำนาญ ต่อไปไม่ได้หัดดอก มันจะเป็นไปเอง ไม่ต้องมีหัด ไม่ต้องมาอาศัยมือเคลื่อนไหว มันมีในตัวมันแล้ว กายเขาดูกายเอง จิตเขาดูจิตเอง มีจิตดูจิต มีสติดูจิตเอง ตัวมันเองดูมันเอง ไม่ใช่ขออ้อนวอน ขอให้โน่นอันนี่มาช่วย ไม่ใช่อย่างนั้น ตนนั่นแลเป็นที่พึ่งของตน “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” ก็ตนนั่นแลเป็นที่พึ่งของตน พึ่งได้จริง ๆ พึ่งความดีที่มีอยู่ในกายในใจเรานี้ เราหัดเอาไว้ ถ้าเป็นบุญก็มีบุญ ใจดี คนใจดีพึ่งใจดีได้ ถ้ามีบาปพึ่งไม่ได้ แล้วแต่เค้าจะให้ทำอะไร ใจ บางทีก็โกรธ คนใจไม่ดีไม่ใช่ดีใจ ใจดีมันไม่โกรธนะ ถ้าดีใจมันยังโกรธนะ บางทีได้ด่าเค้าก็ดีใจ กูด่ามันกูก็ดีใจ กูได้ฆ่ามันกูก็ดีใจ ว่าอย่างนั้นก็มี อันนั้นดีใจกับใจดีมันต่างกัน ดีใจมันเอาอันอื่นมาต่อรอง ใจดีมันอยู่ในตัวมัน ใจเย็นเข้าไปอีก เย็นจ้อย ไม่มีอะไรที่มีรสมีชาดฟู ๆ แฟบ ๆ ไม่ฟูไม่แฟบอีกแล้ว เย็นแล้ว เหมือนถ่านไฟเย็นแล้ว เอาไปวางขาก็ไม่มีร้อน อยู่ที่ไหนไม่ร้อน ใจของคนมันเย็น มันก็เลยเย็นไปหลายอย่าง ไม่เหมือนถ่านไฟ
เหมือนพระพุทธเจ้าเดินไปบิณฑบาต คนมองก็เห็นว่าใจเย็น มองเห็นก็มีความสุข มีพราหมณ์ตนหนึ่งนั่งกวาดหน้าบ้านอยู่ พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาต เห็นพระพุทธเจ้าอุ้มบาตรเดินไป พราหมณ์ตนนั้นก็ตะโกนขึ้นในใจ “ปะโถ ปะโถ (แปลว่าอะไรล่ะ) ใครมีลูกชายอย่างนี้ พ่อแม่ได้นิพพาน ปะโถ ใครมีสามีอย่างนี้ภรรยาได้นิพพาน” เห็นใบหน้า เห็นท่าทาง เห็นกิริยามารยาท อุ่นใจเย็นใจ ทุกวันนี้เรามองหน้ากันก็ร้อนแล้ว เห็นสามีเดินขึ้นบ้าน เห็นหน้าสามีเย็นใจ เห็นภรรยานั่งอยู่บ้าน ไปทำงานมา เหนื่อยเมื่อยล้าเหงื่อไหลไคลย้อย เห็นภรรยาอยู่บ้าน ใจเย็นลงทันที มีมั้ย (หัวเราะ) หรือว่าหน้าบูดหน้าบึ้งใส่กัน น่าอายมั้ย เอาหน้าบูด ๆ ใส่กัน ทำให้กันเย็นใจ ได้นิพพานเพราะสามีภรรยาได้ นิพพานเพราะเพื่อนได้ ทำให้กันเย็นใจ ถ้ามันเย็นในใจ มันก็เย็นข้างนอกได้ ถ้าใจมันร้อนก็ร้อนข้างนอก ถึงกับเป็นโรคกระเพาะอาหาร เป็นโรคประสาทได้
เราจึงต้องฝึกกันเถอะ โอกาสยังมีลมหายใจก็ยังฝึกได้อยู่ หายใจเข้ารู้สึกตัวก็ได้ อาจจะไม่มีโอกาสเคลื่อนไหว สากลที่สุดคือลมหายใจ ใช้ได้ทุกโอกาส กำหนดรู้โดยการรู้ก็ใช้ได้ ไม่ต้องมีลมหายใจ เคยไม่มีลมหายใจ หายใจไม่ได้ เคยมาแล้ว ตายไปแล้ว อ้าว! ไม่ต้องอาศัยลมหายใจล่ะ เราจะอยู่เฉย ๆ เนี่ย กำหนดรู้โดยการรู้เฉย ๆ นี่เอง แล้วก็ตาค้างหลับตาไม่ลง ลมหายใจไม่มี หายใจไม่เข้า น้ำลายฟูมปาก ตาค้าง หลับไม่ลง เราไม่ต้องอาศัยมันแล้วลมหายใจ จะอยู่นิ่ง ๆ นี่แหละ ก็อยู่นิ่ง อยู่นิ่ง ๆ ไป ไม่เห็นทุกข์ที่ตรงไหน ไปใช้อะไรมากมายชีวิตเราเนี่ย แม้ลมหายใจก็ไว้ใจไม่ได้แล้ว จริง ๆ นะ มีสติเนี่ย มันประเสริฐที่สุดน่ะ จะมีกี่ชาติ จะบอกเรื่องนี้ จะสอนเรื่องนี้ จะเป็นนักบวชแบบนี้ จะอยู่วัดวาอารามอย่างนี้ จะบอกคนอย่างนี้ เพราะมันประเสริฐจริง ๆ สติเนี่ย โชคดี ขอบคุณท่านที่มาที่นี่ ให้มีโอกาสได้พูด ไปไม่ไหวแล้ว แสดงธรรมได้เฉพาะที่นี่ นั่งที่นี่เท่านั้น ไปพูดที่อื่นเขาไม่ฟังหรอกเสียงอย่างนี้ เลยไม่ไปที่ไหนไม่รับนิมนต์ที่ใด นั่งพูดได้เฉพาะตอนเช้าที่นี่เท่านั้น มีคนนิมนต์ไปนู่นไปนี่ก็ไม่ไป ร่างกายใกล้จะหมดสภาพลงทุกทีแล้ว อาศัยเพื่อนอยู่เวลานี้ เพราะฉะนั้นเราอาจจะเป็นเหมือนเรานี้ก็ได้ วันหนึ่งอาจจะหายใจไม่ได้ก็มีเหมือนกันนะ ทุกข์หรือ ไม่ทุกข์เลย เขาว่าแก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์หรือ ตายเป็นทุกข์หรือ ไม่เห็นทุกข์ตรงไหน ไม่มีอะไร คำวาทุกข์มันไม่มี โกรธก็ไม่มี หลงก็ไม่มี ไปให้ค่ามันทำไม มีแต่รูปแต่นาม ธรรมชาติ อาการ ธรรมดา มันเป็นขันธ์ ๕ รูปมันก็ไม่เที่ยง เวทนามันก็ไม่เที่ยง สัญญาก็ไม่เที่ยง สังขารมันก็ไม่เที่ยง วิญญาณก็ไม่เที่ยง รูปมันไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน ไปยึดเอาทำไมว่าเป็นตัวตน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เที่ยงตรงไหน มันไม่มี เห็นความไม่เที่ยง ปะโถ! ยิ่งใหญ่ เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน นิพพานอยู่ที่นี่ เห็นความไม่เที่ยงเห็นความเป็นทุกข์ เหลือกินแล้ว เหลือใช้แล้วชีวิตเรา ให้เห็นนะ มีสตินะ เห็นความเป็นทุกข์ความไม่ใช่ตัวตนเอามาสุขทุกข์ทำไม พออาศัยมันอะไร หายใจไม่ได้มันเสียตรงไหน เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน หาประโยชน์ไม่ได้ จะได้ประโยชน์ตอนนี้ ยกมือขึ้นเคลื่อนไหวไปมาอยู่เนี่ย ให้รู้สึกตัวอยู่เนี่ย ใช้มันซะ ถ้าไม่ใช้ตอนนี้เสียเวลานะ เราใช้มันอะไร ให้มันรักมันเกลียดชังที่ไหน เป็นเรื่องรีบด่วนนะ ด่วน ๆ ซะหน่อย มาอยู่ด้วยกันนี่แหละนะ เอ้า! สมควรแก่เวลา