แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เพื่อให้เป็นส่วนประกอบกับการกระทำของพวกเรา เหมือนกับการปรุงยาหม้อใหญ่ แทนที่จะมียาตัวเดียว ก็มีหลาย ๆ ตัวส่วนประกอบเข้าไป ตัวยาที่นำยาอื่นเพื่อเป็นคุณภาพก็มี ยาหมออ้อยดำก็เป็นยาต้ม ถ้าขาดยาหมออ้อยดำยาก็ไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นส่วนประกอบอันหนึ่ง
สมัยครั้งพุทธกาลต้น ๆ การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้ามีไม่มาก เพียงแต่ชี้ทางผิดทางถูก กามสุขัลลิกานุโยคเป็นทางผิด ไปไม่ได้ ตัน อัตตกิลมถานุโยคก็ผิด สุดโต่ง ไม่ถูกทิศถูกทาง จึงมีมัชฌิมาปฏิปทาในความพอดี แล้วก็แสดงถึงอนัตตลักขณสูตร สุดท้ายก็อริยสัจ ๔ เกิดพระอรหันต์ขึ้นมาเยอะแยะ เพราะพระองค์ได้เดินทางมาแบบนี้ ก็สอนแบบนี้ จากการพิสูจน์ของตัวเอง ก็มาบอกคนอื่น
ถ้าจะเป็นทางปฏิบัติที่เราจะพอประมวลลง คือมีสติเป็นตัวนำ เหมือนยาหม้อใหญ่ สติเป็นตัวนำ เพื่อให้เกิดคุณภาพในการปรารภความเพียร พร้อมกับมีส่วนประกอบ มีความเพียรแสดงออก ถ้าเวลามันหลง ถ้าเผชิญกับความหลงรู้สึกตัว เข้าให้ถึงความรู้สึกตัว เป็นตัวนำ ไม่ใช่ไปเอาผิดเอาถูกกับความผิดความถูก ไม่ใช่เอาได้เอาเสีย แต่ว่ามีความเพียร มีสติ สำเร็จแล้วในความผิด ถึงรู้สึกตัวแล้ว เหตุที่มันรู้สึกตัวได้เพราะมันผิด ถ้าความผิดเป็นความผิดไม่รู้สึกตัวก็ไม่สำเร็จ รักษาโรคไม่หาย จึงมีส่วนประกอบ มีฉันทะพอใจในการกระทำของเรา หลาย ๆ อย่าง มีจิตตะเอาใจใส่อยู่เสมอ
บางทีพระองค์สมัยบำเพ็ญโพธิธรรมนั้น อาจจะหลาย ๆ อย่าง อาจจะมีความรักไปด้วย รักมนุษย์ เห็นมนุษย์ทั้งหลายเกิดแก่เจ็บตาย รับผิดชอบ เป็นส่วนคุณอันหนึ่งเรียกว่า เมตตาธิคุณ ยิ่งใหญ่ ไม่ท้อถอย พวกเรานี้ก็มีส่วนประกอบเรื่องนี้พอสมควร มีพ่อมีแม่ มีพี่น้อง บุตร ภรรยา สามี ที่เป็นญาตัตถจริยาประโยชน์ต่อญาติ แล้วก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นของโลก แล้วก็มีส่วนหนึ่งที่รับผิดชอบ ก็เลยไม่ท้อแท้ไม่ท้อถอย เอาตัวเองเป็นตัวประกอบเพื่อศึกษาเรื่องนี้เข้าไป ไม่ท้อถอย เกิดอะไรขึ้นก็ไม่หวั่นไหว
เมตตาธิคุณยิ่งใหญ่เป็นสิ่งที่นำทางได้ ให้เกิดความเพียร ความฉันทะ ความพอใจ ความเอาใจใส่ ไม่ใช่เราคนเดียว นี่เป็นส่วนประกอบเหมือนยาหม้อใหญ่ อาจจะรักษาโรคได้ ความหลงหมดไป ความโกรธหมดไป ความทุกข์หมดไปได้ ไม่ใช่สติล้วน ๆ อย่างเดียว มีส่วนประกอบเพื่อไม่ให้หลุดให้หล่นออกจากสติได้ง่าย มีความเพียร มีความพอใจ มีเอาใจใส่ ไม่วางใจไปทางอื่น ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ทำอะไรต้องใส่ใจตามจึงจะสำเร็จได้ การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน มันมีส่วนประกอบอย่าหลุดหล่นได้ง่าย เวลาเราทำความดี เวลาเราละความชั่ว อย่าเห็นความดีใจตัวเอง อย่าเห็นความชั่วใจตัวเอง ตัดสินใจ หุนหันพลันแล่น มีความยับยั้งชั่งใจให้ดี เพื่อจะหนักแน่นให้มากขึ้น เหมือนเด็กตั้งไข่ หัดนั่ง หัดเดิน ไม่ใช่ว่านั่งไม่ได้ก็ยอมเลย เดินไม่ได้ล้มลงก็ยอมเลย ไม่ยอมลุก อันนี้ก็ไม่มีความเข้มแข็ง นั่งไม่ได้ เดินไม่ได้ มันก็มีธรรมชาติอยู่ ถ้าเรามองรอบ ๆ เวลาล้มก็ลุกขึ้นได้ เวลาทุกข์ก็ไม่ทุกข์ได้ มองแบบนี้ เวลาหลงก็ไม่หลงได้ อย่าหมดปัญญา อย่าหมดตัวเพราะความทุกข์ อย่าหมดเนื้อหมดตัวเพราะความหลง มันมีสิ่งที่เป็นคู่อยู่ นี่คือสิ่งที่ทำให้เราหนักแน่นมั่นคงในการทำงานทำการทุกอย่าง อย่าให้เปราะบางเกินไปในการทำความดี ละความชั่ว มันก็มีส่วนประกอบ
ต่อมาพระองค์ก็พูดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เอาอันอื่นมาประกอบเลยเป็นเรื่องใหญ่ พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ เรื่อง เห็นคนอื่นผิด เห็นคนอื่นถูก มาประกอบในการสั่งสอน ยิ่งแน่นหนาในความดีมากขึ้น เห็นคนทำผิดก็เอามาประกอบ เห็นคนทำถูกก็มาประกอบ ให้เกิดความผิดหายไป ให้เกิดความถูกเจริญขึ้น เช่น เห็นสิงคาลมาณพยืนไหว้ทิศทั้ง ๖ ทิศทั้ง ๖ มีอะไรจำไม่ได้ น่าจะทิศเหนือ ทิศใต้ ตะวันออก ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ๖ ทิศ สิงคาลมานพยืนไหว้อยู่
พระพุทธเจ้าไปเห็นก็ถาม “เธอทำอะไรมานพ”
มานพก็บอกว่า “เราไหว้ทิศ”
“ทำไมจึงไหว้ทิศ”
“บิดาสั่งเอาไว้ ก่อนที่บิดาจะตายไป บิดาได้สั่งเด็ดขาดให้ไหว้ทิศทั้ง ๖” มานพก็มาไหว้ทิศ ตื่นขึ้นมา ไหว้ทิศอยู่
พระพุทธเจ้าไปเจอเข้าก็เลยถาม พระองค์ก็เสนอเข้าไปว่าเราก็มีทิศเหมือนกัน ทิศทั้ง ๖ ของเราคือ
ทิศเบื้องหน้า บิดามารดา อย่าทอดทิ้ง ให้เคารพอยู่เสมอ เกี่ยวข้องอยู่เสมอ
ทิศเบื้องบน สมณะชีพราหมณ์ ศีลธรรมให้เคารพ
ทิศเบื้องล่าง ผู้เกี่ยวข้องกับเรา คนที่ด้อยกว่าเรา คนใช้ในบ้าน ผู้ด้อยกว่าเรา เคารพเขา ช่วยเหลือเขา
ทิศเบื้องขวา อาจารย์ ก็ต้องเคารพ เราต้องเรียนตามพ่อก่อตามครู มีครูบาอาจารย์ทุกคน อย่าประมาท
ทิศเบื้องซ้าย คือมิตร คบกับมิตรต้องระมัดระวัง มิตรแท้มิตรเทียมเป็นอย่างไร ดูดี ๆ
ทิศเบื้องหลัง คือบุตร ภรรยา สามี นี่ก็สำคัญต้องเคารพ
มานพก็เห็น โอ! ถูกต้องแล้ว มารดาบิดาของเราเคยบอกเรื่องนี้กัน มันจึงประสานกับทิศทั้ง 6 รอบตัวเรา ไม่ใช่เราคนเดียว
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เอามาประยุกต์กับการปฏิบัติอย่างนี้ พ่อแม่ก็อยู่กับเรา เพื่อนมิตรอยู่กับเรา ครูบาอาจารย์อยู่กับเรา ลูกศิษย์ลูกหาอยู่กับเรา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่กับเรา แล้วเราก็มีเสียด้วย มีพ่อมีแม่กันทุกคน มีเพื่อนกันทุกคน มีครูบาอาจารย์กันทุกคน มีสมณะชีพราหมณ์ มีศีล สมาธิ ปัญญา อยู่รอบตัวเรา ให้ใจมันหนักแน่น นี่เรียกว่าทิศทั้ง 6
มานพคนนั้นก็เลิกจากการไหว้ทิศ หันหน้าไปทางทิศนั้น หันหน้าไปทางทิศนี้ ใครมาเคารพเกี่ยวข้องกับเราทั้ง ๖ อย่างนี้ เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนไทย มาเลเซีย เวียดนาม เขมร ลาว พม่า ฯลฯ รอบประเทศ เพื่อนประเทศ มิตรประเทศ ถ้าทะเลาะกันก็ลำบาก จึงเป็นประเทศอาเซียนสามัคคีกัน ตกลงกัน สนธิสัญญาต่อกัน อย่างน้อยเราก็ต้องมีเรื่องนี้ประจำใจ ต่อบิดามารดา ครูอาจารย์ เพื่อนมิตรสหาย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่อยู่คนเดียว เราทำดีคนอื่นก็สบายด้วย เราต้องเกื้อกูลเมื่อเขาเดือดร้อน มันก็ควรรับผิดชอบ ไม่ใช่กายใจอย่างเดียว หาทางออกบ้าง
เวลาเราปรารภความเพียร ไม่ใช่ดุ้น ๆ เดา ๆ มันจะเข้มแข็งมาก อย่าว้าเหว่ อย่าเดียวดาย เรานั่งอยู่นี้ พ่อแม่นั่งอยู่กับเรา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่กับเรา ครูบาอาจารย์อยู่กับเรา ถ้าหลวงตาไปสอนธรรมที่สหรัฐฯ เครื่องบินใหญ่ ไอพ่นขนาดใหญ่ มองไปทางหน้าทางหลัง มีแต่คนอื่น ไม่มีคนรู้จักกันเลย มีแต่คนละเพศละวัย คนละชาติศาสนา เรายืนขึ้นว่าจะไปห้องน้ำ มองไปข้างหลัง มองไปข้างหน้า ไม่มีใครรู้จักกันเลย นึกว่าเรามาคนเดียว ไม่ใช่ เรามากับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์พาเรามา ครูบาอาจารย์พาเรามา หลวงพ่อเทียนพาเรามา พ่อแม่พาเรามา ไม่ใช่เราคนเดียว อย่างนี้ มันก็ไม่ใช่จะเดียวดายอะไร บางทีพระพุทธเจ้ายังสอนพระสงฆ์ เวลาพวกเธออยู่ในป่าแล้วเกิดอะไรขึ้นมา เกิดกลัวขึ้นมา เกิดกิเลสตัณหาขึ้นมา ให้เธอนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะหน้าอยู่กับท่านแล้ว ในคุณความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่าว้าเหว่ อย่ากลัวตาย เวลากลัวขึ้นมา อย่านึกว่าตัวคนเดียวคิดอย่างนี้ สร้างสิ่งแวดล้อมในใจในกายอย่างนี้ มันจะเข้มแข็งมากในการใช้ชีวิตของเรา ไม่มีอะไรที่น่ากลัวในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่ยอมแพ้ให้ในโลกนี้ ประสาอะไร กิเลสตัณหาที่มันเกิดขึ้นกับเรา ความหลงเกิดขึ้นกับเรา ความโกรธเกิดขึ้นกับเรา มันไม่มีประสาอะไร อ่อนไหวทำไม เรานี้ยิ่งใหญ่ มีพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีคุณงามความดี มีศีล สมาธิ ปัญญา มีสติ มีเมตตากรุณา ไม่เป็นศัตรูกับใคร เจอช้างเจอเสือก็ไม่เป็นศัตรูกับช้างกับเสือ เจองูก็ไม่เป็นศัตรูกับงู นึกว่าเราเป็นมิตรกัน ทำใจ ทำใจ ทำใจ ไม่หวั่นไหว ถ้าเรามีอะไรก็เป็นศัตรูกัน มันก็แสดงออก
เหมือนเมื่อวานนี้ เดินไปฉันข้าวที่ศาลา อาสนะศาลา เห็นกระรอกยืนโชว์นั่งโชว์อยู่ไม้ไผ่ เห็นพวกเราญาติโยมทั้งหลายที่มาปฏิบัติยืนถ่ายกล้องเอา กระรอกก็โชว์อยู่ มันรู้จักว่าเราไม่เป็นศัตรูกับเขา แทนที่เขาจะกลัวเรา เขาก็เลยเป็นมิตรกับเราได้ เพราะท่าทางของเรามันไม่เป็นศัตรูกับใคร ลองเจอเสือเจอช้าง ลองดู หลวงตาเคยไปเจอฝูงลิงตัวใหญ่ ๆ มันทำท่าจะรุมเรา เราก็แสดงถึงความเป็นมิตรกัน ไม่เป็นศัตรูกับมัน ถ้าเรามองหน้ามันก็แยกเขี้ยวใส่ ถ้าเราเฉย ๆ มันก็เฉย ๆ สบตากันแบบเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรูกับกันและกัน มันก็อยู่ด้วยกัน เรามานั่งปักกลด มันก็มานั่งล้อมดูเรา เลยเป็นเพื่อนกัน เราเข้าไปในห้อง มันก็นั่งอยู่ เราก็นอนหลับขึ้นมาไม่รู้มันหายไปไหน ฝูงลิงใหญ่อยู่ถ้ำ อยู่เขาใหญ่ ดงใหญ่ กลางดงชุมพร นี่ก็อะไรก็ตามอย่ามองเป็นบวกเป็นลบ มีสติเข้าไป หลาย ๆ อย่างไม่หวั่นไหว นอนแช่น้ำ ฝนตกทั้งคืนเราก็ไม่เดือดร้อน เปียกเราก็ไม่เดือดร้อน เรามองเราอะไรหลายอย่าง มองเป็นกบเป็นเขียดก็ได้ มองเป็นไม่มีอะไรก็ได้ นอนหลับ
คราวหนึ่งไปนั่งอยู่แถวกว๊านพะเยา เดินธุดงค์ไป อบรมพระใจสิงห์ สมาทานฉันข้าวมื้อเดียว นอนป่าช้าเป็นวัตร รอบป่าช้าคนแถวนั้นก็มี แถวจังหวัดพะเยา กว๊านพะเยามันเป็นทุ่งนา อู่ข้าวอู่น้ำ มีแต่ทุ่ง เดินผ่านไปหาป่าช้าเขา เขาก็บอกอยู่กลางทุ่งก็เดินไป มีนิดหน่อย มีศาลาหลังเดียวมีน้ำซึมด้วย ในช่วงเดือนพฤศจิกายนเขายังเกี่ยวข้าวไม่เสร็จ ดินก็ยังไม่แห้งดี ก็มีเตาเผาศพ มีศาลาหลังหนึ่ง พวกเราตั้ง ๗๐ กว่ารูปเข้าไป ไปนั่งบนดินไม่ได้เพราะมันเปียก ต้องอยู่ในศาลา พอดีวันนั้นเขาก็มาเผาศพ เวลาเขาแห่ศพมาเผา เราก็เป็นหัวหน้า ก็บอกให้พระทั้งหลายไปนั่งอยู่รอบ ๆ บริเวณ หันหน้าเข้าป่าไม่ต้องสนใจอะไร หันหลังให้ทางศาลาเขา เขาก็แห่มา เราก็นั่งเฉย ไม่ดู ไม่สนใจ บอกพระทั้งหลายไว้ เขาก็มาเผาศพตามประเพณีของเขา พอเผาศพเสร็จ ชาวบ้านก็กลับหมด เหลือแต่สัปเหร่อ 4-5 คน เอาไม้ไผ่มาเสียบศพออกมา มาเอาจอบสับศพแหลกแล้วก็เอาเข้ากองไฟอีกทีหนึ่ง เราไม่อยากนั่งดู เราอยากจะให้เรียบร้อย เอาเข้ากองไฟเผาใหม่อีก แล้วก็กลับบ้าน พอเขากลับหมดเราก็ไปนั่งที่ศาลา ยังเหม็นคาว เหม็นคาวศพ มันก็ไม่ไกลกับศาลา เราเดินไปดูยังเป็นชิ้นเนื้ออยู่ (หัวเราะ) ก็อยู่ที่นั่น จำเป็นต้องนอนที่นั่น แล้วก็ไม่หวั่นไหวอะไร บางทีทำวัตรตอนเย็นตอนเช้ายังได้กลิ่นศพ ไปบิณฑบาตกลับมา มาฉันเที่ยงก็ยังมีกลิ่นศพ เอาสิเป็นยังไง ไม่หวั่นไหว เพราะเราสมาทานธุดงควัตร ไม่มีอะไรเป็นปัญหา ยิ่งใหญ่มากสัจจะ เนี่ยมันก็เป็นอย่างนี้ อะไรก็จะหลุดหล่นได้ง่าย ไม่ใช่
อยู่นี่อยู่ได้ อยู่นั่นอยู่ไม่ได้ ที่นี่ลำบาก ที่นั่นสะดวกกว่านี้ สุคะโตลำบาก อาหารก็อด ๆ อยาก ๆ ที่อยู่ก็ลำบาก อยู่โน่นดีกว่า เกาะสีชังดีกว่า (หัวเราะ) แล้วก็บวชมาที่นี่ก็จน ๆ ลาภสักการะก็ไม่มี มีพระรูปหนึ่งมาจากสุไหงโกลก มาอยู่นี่จำพรรษาด้วยกัน พอออกพรรษารีบกลับเลย เขาก็บอกว่าเขาเสียเวลา เสียเวลาอะไรไม่รู้ เขาก็บอกว่าถ้าอยู่ที่โน่นผมจำพรรษานี่ ๓ เดือนได้ไม่ต่ำกว่าสองสามหมื่นบาท อันนี้ไม่มีเงินสักแดงเลย (หัวเราะ) ก็เลยให้ระเบียบบอกให้อาจารย์ตุ้ม อาจารย์โน้ส พระสงฆ์ที่นี่ อาจารย์ทรงศิลป์ เวลาออกพรรษาแล้ว เวลาเขามาทอดกฐินมีเงินนิด ๆ หน่อย ๆ แบ่งให้พระหมดเลย อย่าเอาไว้ เป็นค่ารถค่าเรือกลับบ้าน คนละพันสองพันบาท (หัวเราะ) ถ้าจิตบีบคั้นอย่างนั้นอะไรก็มีปัญหาหมดนะ ถ้าจะเอายากเอาง่ายเป็นการกระทำความดีนี้นี่ ไม่ได้เด็ดขาด ต้องหลาย ๆ อย่าง อย่าหวั่นไหวง่ายจนเกินไป เดินจงกรมมาเหนื่อยก็อย่าหวั่นไหว มันร้อนมันหนาวก็อย่าหวั่นไหว อ้างว่าร้อนนัก อ้างว่าหนาวนัก อ้างว่าหิวนัก อ้างว่าเหนื่อยนัก ไม่ทำการงาน ลักษณะนี้เรียกว่าเป็นคนเกียจคร้าน อย่าเอาอันนั้นมาต่อรอง กลัวยากพวกนี้ ยากลำบาก ไม่ใช่
ถ้าจะพูดถึงความยากลำบากแล้ว พระสิทธัตถะสมัยบำเพ็ญโพธิธรรมอยู่ ลำบากกว่าพวกเรา เพราะฉะนั้นอย่าท้อถอย มันหลงก็ยิ้ม มันรู้ก็ยิ้ม หัวเราะตะพึดตะพือ อย่าหวั่นไหว มันสุขก็รู้ มันทุกข์ก็รู้ บางคนมีปัญญาเกิดขึ้นก็อย่าหลงปัญญา อย่าหลงความรู้ของตน เวลามันจะหลงมากคือเวลาเห็นรูปนามเนี่ยมันจะหลง เห็นรูปธรรมนามธรรมมันมักจะหลง เห็นสุขเห็นทุกข์มักจะหลง เกิดความรู้ขึ้นมา ตกแหล่งความรู้ ไม่เคยรู้มันมารู้ ไม่เคยสุขมันมาสุข ไม่เคยรู้จักบุญ รู้จักบุญ ไม่เคยรู้จักบาป รู้จักบาป ละบาปได้ ทำบุญได้ ตรงนี้มันจะดีใจ สุขใจมาก แล้วอย่าหลง บางทีมันเพลินไปกับความรู้ ลำดับ ลำนำ เรียกว่าปฐมฌานอะไรต่าง ๆ แตกฉานในธรรม ตรึกตรอง มันตรึกมันตรอง มันคิดทะลุทะลวงทั้งหมดเลย มันจะเป็นผู้รู้ไป ลืมความเพียรไป นั่งรู้ เดินรู้ตลอดเวลา เดินก็เป็นกิริยาเฉย ๆ ไม่รู้สึกอะไร มีแต่รู้ที่ได้จากญาณ วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นนี่ทำให้หลงนะ สุขก็สุข รู้ก็รู้อะไรไปหมดเลย อย่าหลงตรงนี้ อย่าลืมความเพียร อย่าลืมสติ
ยาหม้อใหญ่ ขาดไม่ได้คือสติ ยาหม้อใหญ่ขาดไม่ได้คือยาหมออ้อยดำ ต้องเป็นส่วนนำอยู่เสมอ ถ้าไม่มีขนานนี้เข้าไป ไม่ออกฤทธิ์ ถ้าขาดสติไม่มีฤทธิ์ ฤทธิ์คือมีสติ เกี่ยวข้องกับอะไร สำเร็จชนะทั้งหมดเลย ฤทธิ์ ความสุขก็รู้ ความทุกข์ก็รู้ ความรู้ก็รู้เนี่ย ฤทธิ์เนี่ยนำไป อย่าไปรู้เป็นจุดหมายปลายทาง อย่าไปสุขเป็นจุดหมายปลายทาง ลืมไม่ได้คือความรู้สึกตัว ในการทำความเพียรนี้ มีกันทุกคน เห็นกันทุกคน อย่าเซ่อซ่ากับเรื่องเห็นที่มันเกิดขึ้น อย่าไปเซ่อซ่าต่อความทุกข์ อย่าไปเซ่อซ่าต่อความหลง ความรู้ ความดีใจเสียใจ ศึกษามันทั้งนั้นแหละ ให้เห็น ให้เห็น ให้เห็น การเห็นแจ้งไปในความสุข เห็นแจ้งในความทุกข์ เห็นแจ้งในอะไรต่าง ๆ นี่แหละ เรียกว่าปัญญาญาณ ญาณนี้มันขนออกไป แต่ก่อนมันอยู่กับสุขกับทุกข์ บัดนี้มันเห็นสุขเห็นทุกข์ มันออกมาเสียหน่อย มันเห็นอะไรต่าง ๆ เป็นตัวเป็นตน บัดนี้มันเห็น จนแก่กล้า เห็นการเกิด เห็นความแก่ เห็นความเจ็บ เห็นความตาย ไม่ใช่เป็นผู้เกิด ไม่ใช่เป็นผู้แก่ ไม่ใช่เป็นผู้ตาย ถ้าไม่เห็นน่ะมันจะเป็น
การเห็นนี้มันขนส่ง ขนส่งคือญาณ ปัญญาญาณ มีกันทุกคน พอเราจะเคลื่อนย้ายออกไป ไม่ยอมเคลื่อนย้าย ยอมอยู่กับมัน มันก็มีอัสสาทะ อัสสาทะมีรสชาติทั้งนั้น ความสุขก็มีรสชาติ ความทุกข์ก็มีรสชาติ กิเลสตัณหาก็มีรสชาติ ความโกรธก็มีรสชาติ ความรักก็มีรสชาติ อย่าหลง ต้องเห็นมัน ให้ดูมัน ให้เห็นมัน จนโกณฑัญญะบอกว่ารู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว ความไม่เที่ยงก็รู้แล้ว ความเป็นทุกข์ก็รู้แล้ว ความไม่ใช่ตัวตนก็รู้แล้ว ความทุกข์ก็รู้แล้ว ความสุขก็รู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว จนพระพุทธเจ้าตั้งชื่อให้ใหม่ว่า อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ เป็นผู้แรกที่สุดที่เข้าถึงธรรม เห็นดวงตาเห็นธรรมแล้ว แต่ก่อนชื่อโกณฑัญญาเฉย ๆ พอเป็นคนรู้ก่อน เรียก อัญญาสิ อัญญาสิ รู้แล้ว รู้แล้ว เลยเป็นพระสงฆ์องค์แรกของพระรัตนตรัย
อย่าเปราะบาง มีหลายส่วนนะปฏิบัติธรรมเนี่ย อย่าเอาอะไรมาต่อรอง บางทีเราเอาแค่อารมณ์มาต่อรอง ขี้เกียจก็หยุด แค่นี้หรือ ขยันก็ทำ แค่นี้หรือ นิดหน่อย มันเป็นไปไม่ได้ ต้องมีส่วนประกอบเหมือนกับปรุงยา หลวงตาอ่านน้ำผึ้งที่เขาเอามาจากประเทศเยอรมัน เขาส่งมาให้ อ่านดูเขาว่าส่วนประกอบน้ำผึ้ง 100 เปอร์เซ็นต์ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำผึ้ง อะไรอีกละ มันก็ไม่มีแล้ว ก็มีส่วนประกอบอีกนิดหน่อย สติ 100 เปอร์เซ็นต์ได้ไหม ไม่ใช่ว่าเอาความอยากพาทำความดี เอาขี้เกียจพาละการกระทำ ไม่ใช่เท่านั้น ให้มาก ๆ กว่านั้น 100 เปอร์เซ็นต์คือสติ มันสุขก็มีสติ 100 เปอร์เซ็นต์ มันทุกข์ก็มีสติ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้ อย่าเป็นต่อรองนิดหน่อย ให้อารมณ์เป็นใหญ่ ให้เหตุปัจจัยต่าง ๆ เป็นใหญ่ “เหตุปัจจะโย อารัมมะณะปัจจะโย อธิปะติปัจจะโย” ไม่ใช่ มันมีเหตุตรงนั้นไปแก้มันลงไป สติไปเกี่ยวข้อง สติตัวเฉลย ตัวเฉลยให้ถึงสติได้ทุกกรณีในการปฏิบัติธรรม จะหยุดความเพียรก็มีสติพาหยุด จะประกอบความเพียรก็มีสติพาทำ อย่าเอาความขยัน ถ้าเอาความขยันเนี่ยมันจะผิดหวัง ให้มีส่วนประกอบ มีสติ มันจะเหนือ ๆ ทุกอย่าง คำว่าสตินี้ มันก็ใช้ให้เราดูอยู่ เราก็ศึกษามัน
ในกายในใจเรานี้ มันไม่ใช่เรื่องเดียว มันมีหลายอย่างที่มันแสดงออก เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เป็นธรรมให้เราหลงจุดนี้ มีอยู่ มาทีไรก็รู้แล้ว นี่เป็นกาย เวลากายมันแสดง กายมันแสดงก็มีหลายฉาก เป็นโกรธ เป็นเมื่อย เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นร้อน เป็นหนาว เป็นหิว หลายอย่างเกิดกับกาย มันแสดง ถ้ามันแสดงออกมาอย่าให้มันเป็นใหญ่ มันเป็นอาการของกาย อย่าเอาการแสดงของกายเป็นตัวเป็นตน ให้เห็นว่ากายสักว่ากาย ที่มันแสดงออกมาเป็นอาการของเขา เป็นเวทนา ย่อ ๆ ก็คือเวทนา ถ้าพูดถึงเวทนาก็คือเวทนา ถ้าเป็นทุกขเวทนาคือทุกขเวทนา ถ้าเป็นสุขเวทนาคือสุขเวทนา มีอยู่ในกายนี้ เคยเป็นสุขเป็นทุกข์เพราะกายนี้ บัดนี้เห็นแล้ว เป็นสักแต่ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นสักว่ากาย สักว่ากายไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคลที่ไหน มันเป็นอย่างนี้มา อันชื่อว่ากายนี้ นั่น เวทนาก็เหมือนกัน เวทนามันก็มีอยู่ มีสุขมีทุกข์ มีอยู่ในกายนี้ ในชีวิตเรานี้ อย่าให้มันเป็นใหญ่ในสุขในทุกข์
อันความสุขความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย “เหตุปัจจะโย อารัมมะณะปัจจะโย” อย่าให้อารมณ์ลิขิตชีวิตเรา ให้อารมณ์พาไป ความร้ายความดี อารมณ์เป็นเหตุทำให้เราทำชั่ว อารมณ์เป็นเหตุทำให้เราทำความดี ไม่ใช่ เรียกว่าอารมณ์ “อารัมมะณะปัจจะโย” มันเป็นเหตุเราก็ต้องมีสติ นั่นไม่ใช่ตัวตน สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เกิดอยู่กับเรา เกิดอยู่กับคนอื่น ถ้าเห็นคนอื่นโกรธก็เรียกว่านั่นไม่ใช่เขาดอก เป็นอารมณ์ อย่าไปเอาอารมณ์มาเป็นเขา อย่าไปด่าเขา อย่าไปโกรธเขา โกรธเขาก็ไม่ถูก เพราะอารมณ์ไม่มีตัวมีตน ไปด่าเขา ไปดูหน้าเขา เกลียดเขา ไม่ใช่ มันเป็นอารมณ์ เกิดกับคนอื่น เกิดกับเราก็เหมือนกัน “อารัมมะณะปัจจะโย” เห็นแล้ว รู้แล้ว นั่นก็คือเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา สมน้ำหน้ามันแล้วเวทนา จิตที่มันคิดนู่นคิดนี่ก็เหมือนกัน เนี่ยมันจะหลงแถวนี้แหละ เพราะเห็นเนี่ยมันก็ไม่ลับลี้ มาบอกเราโต้ง ๆ เหมือนมันบอกเรา อะไรที่มันเป็นอะไร มันประกาศออกมา แต่เราก็เห็น อยู่ในเรานี้ไม่ใช่อยู่ที่อื่น ถ้าเห็นตัวเราก็เห็นอันอื่นสิ่งอื่นวัตถุอื่นคนอื่น อย่างนี้เรียกว่ากรรมฐานแท้ ๆ ทำให้เกิดการเห็นขึ้นมา เห็นทีแรกไม่รู้ไม่แจ้ง เห็นไป เห็นไป ก็แจ้ง เมื่อเราเห็นหน้ากันก็แจ้ง บางทีได้ยินเสียงพูดก็แจ้ง พูดให้ฟังเป็นเสียงใครจำได้ มันเป็นสัญญา มันมีอยู่ในรูปในนามนี้ ในขันธ์ 5
หลวงตาเคยไปกราบแม่ใหญ่ แม่ของแม่ ร้อยกว่าปี ตาก็ไม่เห็น ญาติพี่น้องบอกว่ามึงอย่าไปบอกว่ามาจากไหน ไปกราบดู ให้แม่ แม่ใหญ่
เขาก็ถามว่า “ผู้ใดน่ะแม่ กราบเจ้าอยู่นั่นน่ะ เจ้าเห็นบ่”
ก็มอง มันก็ไม่เห็นน้อ ตาคนแก่ร้อยกว่าปี (หัวเราะ) “ไม่รู้” “...บ่รู้แล้ว ผู้ใด๋ละ มาจากไส”
“มาจากบ้านหนองแก” แม่ใหญ่อยู่บ้านหนองเรือ อ.หนองเรือ
“แม่นผู้ใดหนอ ฟังเสียงคือ คือคำเขียนแท้” จำได้ (หัวเราะ) “ฟังเสียงคือคำเขียน แม่นบ่”
“จักแล่ว เจ่าว่าแม่ผู้ใดแม่ หลานเลา เสียงนะว่าจำได่ คำเขียนแล่ว แต่ว่าจำบ่ได้คัก คนเฒ่าน้อ หยับมาใกล้ ๆ ดู เป็นผู้ใด” เอามือมาคลำหัว คลำหัว มาคลำหัว มาจับใบหู จับใบหู เห็นหูหย่อน ๆ “โอ้ะ! คำเขียนตั๋ว นี่ลูกเหล่า มากับไผ เป็นจังได๋ พี่น้องเป็นจังได๋” เขาจับหู เอามือมาจับหู เอ๊ะ! ทำไมเขาจับหูเรา แม่ใหญ่ (หัวเราะ) ว่าหูมันยาวเขาว่าอย่างนี้ อันนี้แม่ใหญ่นะ
อันนี้ก็มีสัญญานะ มีไหมสัญญา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นสักแต่ว่าธาตุ เป็นสักแต่ว่าขันธ์ อย่ายึดมั่นถือมั่น เพียงแต่จำมาทำให้เป็นประโยชน์ ให้รู้จักประโยชน์รู้จักโทษ ในใจเรานี้ในขันธ์ 5 นี้มี เห็นรูปธรรมนามธรรม เห็นรูปนาม เห็นขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง อย่ายึดมั่นถือมั่น ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ เอวัง คือเวทนาก็เป็นทุกข์ สัญญาก็เป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ได้ไหม รูปไม่ทุกข์ได้ไหม เมื่อมีทุกข์ก็ต้องมีไม่ทุกข์คู่กันอยู่ อย่าไปทุกข์เพราะขันธ์ 5 รูปมันก็มีเหตุให้เกิดทุกข์ ร้อน หนาว หิว ปวด เมื่อย เจ็บไข้ได้ป่วย มันเป็นของเขา เวทนาเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ก็ได้ สัญญาเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ก็ได้ สังขารเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ก็ได้ วิญญาณเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ก็ได้ ว่าโดยย่อแจกออกเป็นอย่างนี้ มีสิ่งที่แนบเป็นอย่างนี้ เนี่ยโกณฑัญญารู้เลย พระพุทธเจ้าแสดงไป โกณฑัญญารู้ตามไป ตามไปติด ๆ ติดตามไปทัน เหมือนกับการศึกษาที่เราตามทัน เมื่อวานสอนเรื่องหนึ่ง วันนี้จะมาต่ออีกเรื่องหนึ่ง มันก็ตามมา ตามมา ตามมา ตามมา บางทีมันรู้ล่วงไปก่อน ผู้ที่สอน มันก็มีส่วนประกอบพร้อมกันไป อาจารย์สอนเราก็รู้ไปพร้อม มันก็เฉลยไปพร้อม รู้ไปพร้อม เขียนก็ได้ ทำก็ได้ เช่น คณิตศาสตร์ หลวงตาก็สอนเด็กอนุบาลสมัยก่อน
“แม่ไก่ออกไข่วันละฟอง ไข่วันละฟอง หนึ่งวันได้ไข่กี่ฟอง” ตอบได้ไหม มันไข่วันละฟอง หนึ่งวันจะได้กี่ฟอง เป็นเพลงด้วยนะ “แม่ไก่ออกไข่วันละฟอง ไข่วันละฟอง หนึ่งวันได้ไข่กี่ฟอง” (หัวเราะ) ถามเด็กน้อย
มันก็ตอบ “หนึ่งวันได้ไข่หนึ่งฟอง หนึ่งวันได้ไข่หนึ่งฟอง”
ตอบดูซิ “แม่ไก่ออกไข่วันละฟอง หนึ่งวันได้ไข่กี่ฟอง”
มันก็ตอบว่า “หนึ่งวันได้ไข่หนึ่งฟอง”
(หัวเราะ) “แม่ไก่ออกไข่วันละฟอง สองวันได้ไข่กี่ฟอง”
มันก็คิด “สองวันก็ได้สองฟอง”
สอนคณิตศาสตร์ให้เด็กนะใช่ไหม ก็สอนไป สอนไป สอนไป มันติดตาม ถ้าไม่เงี่ยหูฟังก็ไม่รู้เลย โกณฑัญญาเงี่ยหูฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรม มันก็ต้องรู้ตามไปนะ บางที ขออภัยนะ หลวงพ่อเทียนพูดไป เราก็ฟังไป ฟังไป เราก็ทำสิ่งที่หลวงพ่อเทียนพูด เราก็เห็นในสิ่งที่หลวงพ่อเทียนพูด สิ่งไหนเราไม่เห็น มันก็ไม่รู้ เอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปคิด ไม่ใช่หาคำตอบจากความคิด เรื่องนี้ต้องทำให้มันเห็น เหมือนเราไปสอบ มีข้อปัญหาตั้ง 10-20 ข้อ เราเขียนออกมา แจกออกมา ถ้าข้อใดอ่านยังตอบไม่ได้ อย่าเพิ่งไปตอบ อ่านไป อ่าน 20 ข้อ ข้อไหนตอบได้ตอบไป เว้นหน้ากระดาษเอาไว้ประมาณกี่แถว กี่แถว เว้นหน้าไว้ ไปตอบข้อมันตอบได้ก่อน 20 ข้อ ถ้าไปตอบข้อแรกตอบไม่ได้ ตอบไม่ได้ก็เขียน มันก็หมดเวลาก่อน กว่าจะเขียนจบหมดทั้ง 20 ข้อก็หมดเวลาไปแล้ว ต้องตอบข้อที่มันตอบได้ก่อน ตอบไป ตอบไป ข้อไหนตอบไม่ได้ก็เว้นวรรคไว้ กระดาษฟูลสแก๊ปมันจะมีกี่บรรทัด กี่หน้า กี่หน้า เราก็ประมาณเอา ก็ตอบไป ตอบไป ตอบไป ตอบไป ตอบไป อันที่มันตอบได้ พอมันตอบไปหมด ทั้งหมด ๒๐ ข้อ อ้าว! ข้อนี้ง่ายนิดเดียวมาตอบทีหลังได้ มันแตกฉานได้ เมื่อเราไปประกอบ นี่ก็เหมือนกัน บางทีอะไรเกิดขึ้นกับเราอย่าหาคำตอบ ทำความเพียรไปก่อน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้