แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เพื่อให้เป็นส่วนประกอบ กับการปฏิบัติ กับการกระทำ ให้มีเครื่องทุ่นแรง หลายอย่าง ของหนักให้เป็นเบา ของยากให้เป็นง่าย เราก็เป็นเพื่อนกัน เรียกว่า กัลยาณมิตร ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมผิดร่วมถูก ใครหนักช่วยกันหาบ ใครหยาบช่วยกันดึง อย่างนี้เรียกว่า กัลยาณมิตร กัลยาณมิตรนี้ ไม่ใช่จะอาศัยกันเป็นวัน ๆ พระพุทธเจ้าสรรเสริญ ว่ากัลยาณมิตรนี้ พาถึงมรรคถึงผลได้ เราอุ่นใจคิดเห็นพระอริยบุคคล พระองค์นั้น พระองค์นี้ โมคคัลลานะอยู่ที่นั่นให้พระพุทธเจ้าอุ่นใจ สารีบุตรอยู่ตรงนั้นพระพุทธเจ้าก็อุ่นใจ ถ้าสารีบุตรอยู่ ณ ที่ใด ศาสนาพุทธศาสนิกชน บริษัททั้งสี่ก็มั่นคง โมคคัลลานะอยู่ที่ใด บริษัททั้งสี่ก็มั่นคง ก็อุ่นใจ วางใจ นี่เรียกว่า กัลยาณมิตร
เราแสดงความเป็นกัลยาณมิตรกันให้มากที่สุด เว้นจากการทะเลาะวิวาท เว้นจากการขัดเคืองอะไรทั้งสิ้น วาง ไปด้วยกัน ใครเดินได้ไวก็รอคนที่ช้าสักหน่อย เอากันบ้าง แบ่งปันกันบ้าง เราจึงมีประโยชน์ต่อตัวเองบ้าง ต่อโลกบ้าง ต่อธรรมบ้าง เรียกว่า อัตตาธิปเตยยะ ตน คือเรานี้ มีอะไรพอที่จะช่วยกันได้บ้าง ปรารภตน เช่น เราเห็นคนตกน้ำ เรามีปรารภตน เราว่ายน้ำเป็นไหม มีพลังพอไหม ถ้ามีความพร้อมก็โจนลงไปเอากันขึ้นมา อัตตาธิปเตยยะ โลกาธิปเตยยะ เพื่อโลก เพื่อความผาสุกร่มเย็น เพื่อโลกเพื่อมนุษย์ทั้งมวล เพื่อให้เกิด ธัมมาธิปเตยยะ เพื่อความเป็นธรรม นี่เราไม่ใช่เล็กน้อยเสียแล้ว เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ถ้าคิดอย่างนี้ ถ้าคิดเห็นแก่ส่วนตัว อะไรต่าง ๆ คับแคบ เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนคนอื่นได้
เรามาอยู่ที่นี่ มีแต่ผู้คงแก่เรียน ไม่ใช่โง่เง่า ถ้าคนโง่คงไม่มาที่นี่ แต่ละคนมีความคิดอ่านอะไรเป็นอะไร มาพิสูจน์ดู เสียสละ เป็นนักบวช เป็นพระ เป็นชีก็ หนีจากวัดวาอารามอาวาสของตนมา ญาติโยมเขาทิ้งลูกทิ้งหลาน ทิ้งบ้านทิ้งช่องมา ใคร ๆ ก็มีงานเหมือนกันหมด มีลูกมีหลานเหมือนกันหมด มีญาติพี่น้อง มีพ่อมีแม่เหมือนกัน บางชีวิตก็จบจากการศึกษา เช่น แม่ชีน้อย จบจากจุฬาฯมา ก็มาบวช แม่เห็นลูกสาวมาบวช ก็มาบวชตาม (หัวเราะ) มาทั้งแม่ทั้งลูกนะ อาจารย์โน้สรองเจ้าอาวาสที่นี่ก็จบจากธรรมศาสตร์นะก็มาบวช ไม่รับปริญญาเลย จนเขาเอาปริญญามาส่งที่บ้าน หลายชีวิตที่อยู่ที่นี่ จบจากการศึกษา อาจารย์วศินก็เป็นลูกชายคนเล็กของตระกูล หนีมาบวชเลย (หัวเราะ) แม่ชีน้อยก็จบ แม่เพียรก็เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานเต็มบ้านเต็มเมืองมาแล้ว มีลูกสะใภ้ ลูกเขย หลานเขย มีเหลนแล้ว ลูกหลานเหลนเสร็จแล้ว จบแล้ว ยอดเยี่ยมมาก เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรหมดแล้ว เราก็มีฝีมือแล้ว ยังอยู่เรื่องนี้ ส่วนตัวนี้ ไม่ใช่โง่เง่า
ศึกษาธรรมะมีหลักฐานนะ ต้องได้หลักฐาน ถ้าไม่ได้หลักฐานนี่ใครจะไปเชื่อละ นี่หลักฐาน ปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท แต่ไว้ที่นี่คงไม่เหมาะ น่าจะไว้ที่ตรงโน้น ให้ผู้คนได้ขึ้นมา มาดู มาที่ไม่มีใครอยากมา ใช่ไหม ต้องสละสักหน่อย (หัวเราะ) จัดรายการ นักจัดรายการ มีหลักฐานนะ การศึกษานี้ ทนายความที่ดี ที่จะช่วยแก้ต่างให้โจทย์ ให้จำเลย ต้องศึกษาหลักฐาน ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้ความรู้ ความรู้ดีขนาดไหน ถ้าไม่ได้หลักฐานก็ทำไม่สำเร็จ ศึกษาธรรมะต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่เลื่อนลอยสุ่มสี่สุ่มห้า มีกาย มีใจ มีสติ กายเป็นหลักฐานอันหนึ่ง ใจก็เป็นหลักฐานหนึ่ง มีปัญหาไหมกายนี้ มีปัญหาไหมจิตนี้ ถ้ามีปัญหาตรงไหน เราจะแก้ไหม จะแก้อย่างไร
เหมือนหลวงตาไปอยู่บ้านท่ามะไฟหวานสมัยแรก ก็ไปเห็นปัญหา เด็กน้อยเป็นไข้มาลาเรียตายต่อหน้าต่อตาเรา เราเดินจากวัดป่าสุคะโตไปภูเขาทอง เห็นชาวบ้านอุ้มลูกร้องไห้มาจากในป่า “หลวงพ่อเอ๊ยลูกผมตายแล้ว ลูกผมตายแล้ว เมื่อเช้าก็ตัวอุ่น ๆ หน่อย ๆ เลยพาไปไร่ พาไปไร่ ไข้ขึ้นแป๊บเดียวก็ตายเลย” ร้องไห้ทั้งผัวทั้งเมียมา เราก็เห็นปัญหา ก็ไปประชุมชาวบ้าน ว่าอยากให้พระเป็นยังไง อยากให้วัดเป็นยังไง เอาชาวบ้านมาประชุมกัน เรารู้ แต่ว่าเราไม่ใช่แก้เอง ต้องให้ร่วมกันคิด ร่วมกันอ่าน มีหลักฐานนะ เราจะแก้ไหม ชาวบ้านไม่รู้ มีปัญหาอะไรนะ ไม่ค่อยคิดกัน คิดไม่เป็น เราก็ชวนให้เขาคิด โบราณท่านว่ายังไง “เต่าบ่ย่างเอาไฟจุดก้น” แหม่นบ่ “เต่าบ่หม่นเอาหอกไหล่แทง” โบราณท่านสอน ใครเป็นคนโบราณ หกเจ็ดสิบปีอยู่นี่ มีเหมือนกันได้ยินกลอนนี้ไหม พ่อแม่สอนลูกสอนหลาน “เต่าบ่ย่างเอาไฟจุดก้น” เวลาพ่อแม่ไปซ้อนไปหาปลามา ได้เต่ามาให้ลูกเล่น เด็กน้อยก็บอกว่า มันไม่เดิน มันหดตัวหดขา ทำไง เอาไม้แหย่ก้นมัน พอแหย่ก้นมัน ก็เดิน พอเต่าเดินเด็กน้อยก็หัวเราะ “เต่าบ่ย่างเอาไม้จุดก้น เต่าบ่หม่นเอาหอกไล่แทง” โบราณว่า ไม่ใช่เรื่องเต่าเสียแล้ว เป็นเรื่องของพัฒนาชีวิตสังคม ตอนนั้นเขาคิดไม่ออก เราก็สอนเขาไป อย่างที่ เดี๋ยวนี้มีโรคภัยไข้เจ็บอะไร มีไข้มาลาเรียตายกันเยอะ หลวงตาก็เห็นเด็กน้อยตายมาจากไร่เมื่อวานนี้ มันชื่อว่ามีปัญหาไหม เขาว่ามี แล้วจะแก้ปัญหาไหม คิดอยากจะแก้ จะแก้อย่างไร เขาคิดไม่ออก ไม่รู้จะแก้อย่างไร ไปขอยาแฟนซิดาร์มาไว้ หาหมอมาลาเรีย หน่วยมาลาเรียมา ก็ขอยาฉีดดีดีทีเต็มบ้าน สมัยก่อนใช่ไหม ในกุฏิขาวโพลนไปทั้งหลัง แถวในป่า ฉีดดีดีที แล้วก็แฟนซิดาร์มาไว้กินป้องกันไข้มาลาเรีย บางคนก็โง่ไปอีก กินเหล้าเพื่อปราบไข้มาลาเรีย กินเหล้าเมายา แล้วก็ เราจะแก้ไหม แก้ยังไง คิดไม่ออก เอาแฟนซิดาร์มาไว้ ไปพบมาลาเรีย มาลาเรียก็หามกันลงเขา ตายกลางทางก็มี เวลาไข้ มาลาเรียบางอย่างมันรุนแรง ตัวอุ่นตอนเช้า ตอนสายมาก็ร้อนตายไปเลย เคยไปเผาศพลูกสาวของโยมคนหนึ่งอยู่บ้านไหลเหยา สมัยก่อนเป็นบ้าน เป็นหมู่บ้านที่นั่น ตายห่างกันชั่วโมงเดียว ลูกสาวสองคน ไม่มีใครช่วยกันเท่าไหร่ เราไปนอนอยู่ ไปพาเขาหามศพไปเผา กลับมาแล้วมาเอาคนหนึ่งไปเผาอีก โอ สลดใจ (หัวเราะ) สมัยก่อนน้อ (…) จะแก้ปัญหายังไง คิดไม่ออก ถ้างั้นเอาเด็กมาไว้วัดดีไหม เราคิดไม่ได้เลย โอย จะเอามาไว้วัดจังใด๋ เอาเด็กมาให้หลวงพ่อเบิ่งก็เป็นบาปท่านแล้ว กลัวบาป มาขี้มาเยี่ยวใส่วัดใส่วาเนี่ย อ้าว เอาเด็กไปตายในป่ามันไม่บาปหรือ เอาเด็กมาไว้ในวัดเนี่ยมันจะดีกว่าเอาเด็กไปในป่า ถ้ามันเป็นบาปเนี่ย อย่าพากันเข้ามาวัดสิ ไปอยู่ในป่าหมดเลย (หัวเราะ) ก็เถียงกันเองนะ เอามาเนี่ยหลวงตาจะเลี้ยงจะดูให้ ให้โยมเอาข้าวมาส่งตอนเช้า เผื่อไว้ตอนเพลด้วย ตอนเที่ยงด้วย ตอนเย็นมารับเอา ถ้าไม่ทำอย่างนี้ไม่ได้หรอก เอามา ศาลาก็ไม่มีป่า มาอยู่นอน เราก็ดูแลลูกหลานเขา เด็กก็ปลอดภัยกันมา แล้วหมู่นี่เป็นเด็กตัวน้อย ๆ นั่งอยู่นี่ ลูกสาวหล้าของทายกใหญ่ เด็กตัวน้อย แต่ก่อนมันนุ่งแต่กางเกงนะ ไม่ใช่นุ่งผ้าถุงเลย เดี๋ยวนี้มันก็ได้ลูกสองคนแล้ว แต่ก่อนเราเลี้ยงมันมา หลายคน รุ่นแรกเนี่ย มันเอาลูกมันเข้าศูนย์เด็กแล้ว จนเปิดศูนย์เด็กเท่าทุกวันนี้ (หัวเราะ) มันก็ดีนะ ปัญหาหลายอย่าง มันมีหลักฐานนี่เราจะทำอะไร
ชีวิตเรายิ่งมีหลักฐาน มาเห็นกาย เห็นจิตใจ มันปัญหานี่ ปฏิจจสมุปบาท เพราะอะไรมันจึงเกิดเป็นภพเป็นชาติ ได้หลักได้ฐาน เห็นรูปเห็นนามขึ้นมา โอ ได้หลักได้ฐานฟ้องลงไปทีนี้ ฟ้องรูปฟ้องนามมันอะไร ปัญหาเกิดที่ตรงไหน การที่จะหมดปัญหา มันหมดไปได้ยังไง เหมือนพระพุทธเจ้าได้ทฤษฎี ตรัสรู้ เห็นทุกข์ เห็นทุกข์ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์มันอยู่ตรงไหน จะทำยังไง สาวไป เสร็จเลย ฟ้องเลยทีเดียว เอาให้สิ้นซากไปเลย เหลือศูนย์ ความทุกข์เหลือศูนย์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง เหลือศูนย์เลย ไม่มีค่าทีเดียวเลย เอ้า มันก็ไป มันก็ไป มันก็หลุดไป หลุดไป มีสติ มันก็ปราบความหลง มีสติมันก็ละความชั่ว มีสติมันก็ทำความดี มีสติมันก็เกิดมีศีลขึ้นมา มีปัญญาขึ้นมา เอ้า มันมีอยู่นี่ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ไม่ต้องไปเปิดตำราอ่าน มันมีอยู่ที่เราทุกคน มีธรรมชาติ มีอาการ
เพราะมีความหลงจึงเป็นอวิชชา เมื่อมีอวิชชา มีสังขาร มีนามรูป นะ เกิดไปเรื่อย ๆ เพราะมีความรู้ตัวมันก็ดับมา ดับมา ดับมา ไม่ต้องไปแก้ มันโกรธอยู่ที่ใจก็มาแก้ที่ใจ เหตุเกิดอยู่ที่ใดแก้ที่นั่น มันหลงอยู่ ณ ที่ใดแก้ที่นั่น สนุก สนุ๊ก สนุก เห็นของจริงเห็นของเท็จที่มีอยู่ในกายในใจเรา ผลที่สุดมันก็สารภาพมันคืออะไร มันก็คือรูป คือนาม
รูปนามมันมีอาการของธรรมชาติของรูป นามก็มีอาการของนาม แต่รูปมันมีสองต่อ เห็นรูปเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นกายในกาย กายมีสองต่อ กายที่เป็นธรรมชาติ กายที่เป็นอาการมันเป็นธรรมชาติ เป็นพ่วงแพเป็นมหาภูตรูป เป็นรูปอาศัยให้ทำความดีให้ละความชั่ว แต่กายนี้มันเกิดอันหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า นามรูป มันเป็นกายที่ทำความชั่ว นามก็ทำความชั่วได้สำเร็จ เราจึงเห็นธรรมชาติ เห็นอาการ โอ มันอยู่ตรงนี้ เห็นรูปเห็นนาม เห็นอาการของรูป เห็นอาการของนาม เห็นธรรมชาติของรูป เห็นธรรมชาติของนาม ตามความเป็นจริง หมดค่าเลย แต่ก่อนมันมีรสชาติ ความสุขก็มีรสชาติ ความทุกข์ก็มีรสชาติ ความพอใจความไม่พอใจมีรสชาติ เรารับใช้รสชาติอันนี้ เสพติดรสชาติไป ความทุกข์ก็ติดเหมือนกันนะ ความสุขก็ติดเหมือนกันนะ พอใจในความสุข พอใจในความทุกข์ แล้วมันก็จริงไหม มันเป็นความสุขจริง ๆ หรือ มันเป็นทุกข์จริง ๆ หรือ เราก็คว้าน้ำเหลวกัน ถูกความสุขมันหลอก ถูกความทุกข์มันหลอกมามากแล้ว
งั้นเรามาถึงอายุปูนนี้ มีอายุกันนี่ ญาติโยมทั้งหลาย หลวงตาทั้งหลาย พระหนุ่ม แม่ชีน้อยทั้งหลาย เคยเป็นเด็ก เคยเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นคนปานกลาง เป็นคนผู้มีอายุ เคยมีอะไรต่าง ๆ มาถึงมา เห็นมาตรงนี้ มันอะไรมีจริงจัง มันสุขจริงอยู่ที่ไหน มันทุกข์อยู่ที่ใด มันก็ไม่ใช่ตัวใช่ตน เห็นตามความเป็นจริงของมัน ก็สรุปลงไป ได้หลักฐานมาเป็นเพียงอาการ เป็นธรรมชาติของรูปของนามที่มันเกิดสองชั้น เป็นกายในกาย เป็นเวทนาในเวทนา เป็นจิตในจิต มันเป็นนามรูป มันเกิดจากการปรุงแต่ง เกิดจากความไม่รู้ ไม่มีสติ ถ้ามีสติมันก็ไม่ปรุงไม่แต่ง มันก็จบ มันก็จบ มันก็สนุก ความไม่มีไม่เป็นอะไร มันมีภาระกับความมีความเป็นอะไร มันก็รู้สึกเบา กายลหุตา เบากาย จิตลหุตา เบาจิต อย่างนี้ มันมีหลักฐานแบบนี้ ไม่ใช่ไปได้อยู่ที่ใด ปฏิบัติธรรมเห็นพระพุทธเจ้าเดินอยู่ตรงโน้นสวรรค์ชั้นฟ้า ต้องเข้าฌานสมาบัติเข้าไป ไม่กินข้าวไม่กินน้ำ เวลาไปถึงพระพุทธเจ้า ไปถึงสวรรค์นิพพาน อาศัยให้คนอื่นนำมาบอก ไปเข้าสมาบัติเข้าสมาธิ นั่งไม่กินข้าวกินน้ำ เอาข้าวไปส่ง อะไรก็กินอะไรนิดหน่อย ให้คนทำให้ เราอยากได้บุญกับท่าน มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นของทุกคน อาศัยคนอื่นไม่ได้ เราหลงเราก็หลงเอง เรารู้ก็รู้เอง เป็นปัจจัตตัง ของใครของมัน ความหลงต่างวาระกัน ความรู้ก็ต่างวาระกัน มันคนละอย่าง แต่ละความหลงอยู่กับใครก็เหมือนความหลงอยู่กับเรา อันเดียวกันความหลง ความรู้อยู่กับผู้ใด กับความรู้อยู่กับตัวเราก็อันเดียวกัน ความรู้สึกตัวที่อยู่กับพระพุทธเจ้า สองพันห้าร้อยหกร้อยปีมานี้ มันอันเดียวกันกับความรู้สึกตัวอยู่กับเราเดี๋ยวนี้ ของจริงต้องเป็นอย่างเดียวกัน ความโกรธอยู่กับใคร ความโกรธอยู่กับเราก็อันเดียวกัน ความทุกข์ ความสุข ความรัก ความชัง อยู่กับใครที่ใดอันเดียวกันทั้งหมด ไม่มีชาติ ไม่มีภาษา ไม่มีลัทธิ ไม่มีเพศ ไม่มีวัย มันก็เป็นสิทธิของใครที่จะต้องมารู้เรื่องนี้เหมือนกันหมด เวลาเราหลงเราก็มีสิทธิไม่หลงได้ เวลาเราโกรธเรามีสิทธิไม่โกรธได้ เวลาเราทุกข์มีสิทธิไม่ทุกข์ได้ ทุกคนเป็นอย่างนี้ เราจะแก้หรือจะเปลี่ยนไหม ถ้าเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้ ถ้าไม่เปลี่ยนก็รับกรรมรับเวรไป (หัวเราะ) เป็นภพเป็นชาติไป เกิดแก่เจ็บตายไป แน่นอนที่สุดคือมันไม่เที่ยง แน่นอนที่สุดคือไม่ใช่ตัวใช่ตนที่มันเกิดอาการขึ้นมานั้น นอกจากอาการแล้วก็มีโรคภัยไข้เจ็บ จนถึงเจียนตายหรือตายไปก็มี
เมื่อวานหลวงตาก็ไปดูพระมรณภาพที่ตายไป เป็นพระหนุ่ม ๆ เกิดเมื่อวันที่หลวงพ่อบวชพอดี สี่สิบกว่าปีมานี้เอง เป็นพระหนุ่ม ๆ เป็นอาจารย์สอนนักเรียนเต็มวัดอยู่ตอนนี้ วัดนี้มีนักเรียนสามร้อยหกสิบคน เมื่อวานนี้เต็มวัดไปหมดเลย ท่านมรณภาพ ท่านอบรมนักเรียน มันไม่เลือกหรอกความแก่ความเจ็บความตาย ในคนหนุ่ม ๆ ก็มีความแก่ มีความเจ็บ มีความตาย ในคนแก่ก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ในใครก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ในพระในโยมก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เหมือนกันหมด อันนี้คือของจริงที่มันตัดสิน เรียกว่า ตัดสินมาแล้วตั้งแต่วันเกิด ถ้ามีการเกิดก็มีการตาย มีแก่เจ็บตายมาพร้อมกันนั้นเลย จะเป็นราชา คหบดีที่ไหน ก็เดินเข้าไปสู่ความตายเหมือนกันหมด
นี่คือของที่มันเป็นธรรมชาติของเขา ถ้าเรามาเห็นมารู้เรื่องนี้ มันก็ไม่มีใครเกิดใครแก่ใครเจ็บใครตาย เห็นรูปเห็นนามตามความเป็นจริง เลยไม่เป็นอะไรกับอะไรเลย สนุกดี ว่างจากความมีความเป็นเสียแล้ว เต็มไปด้วยความไม่มีไม่เป็น เรียกว่าว่างก็ได้ เรียกว่าเต็มก็ได้ เต็มไปด้วยความไม่มีไม่เป็น ว่างไปด้วยการมีการเป็น แล้วก็เป็นอิสระ เพราะอะไร เพราะมีสติ สัมปชัญญะ
ทีแรกก็แยกออกไปก่อน หัดแยก แยกตั้งแต่เห็นกับเป็นเนี่ย เห็นกาย กายมันแสดงอะไร แสดงหลักฐานมันสุขมันทุกข์ เห็นมันสุขเห็นมันทุกข์ กำลังจะแยกไปแล้ว แยกเส้นทางเป็นคนละภพละชาติไปแล้ว ถ้าเป็นก็เป็นภพเป็นชาติไปจนจบ ถ้าเห็นก็ไปคนละทาง ไม่เป็นแล้ว เห็นความสุข เห็นไม่ใช่เป็นผู้สุข พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ เรียกว่าเห็น เห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรม ไม่ใช่เห็นสี เห็นเสียง เห็นแสง เห็นพระพุทธเจ้าเดินมา ก็ไม่ใช่ ที่เป็นรูป เห็นเทวดาที่เป็นตัวแดง ๆ เห็นพระอินทร์เป็นตัวเขียว ๆ มันไม่ใช่ เห็นเปรตเป็นตัวผอม ๆ ท้องเท่าภูเขาปากเท่ารูเข็ม เห็นอสุรกายเป็นสัตว์ นี่หลักปฏิจจสมุปบาท กรรมดำ กรรมขาว ถ้ากรรมดำก็เป็นไปในภพภูมิชั้นต่ำ ถ้ากรรมขาวก็เป็นภพภูมิชั้นสูง เป็นมนุษย์รู้จักทำบุญให้ทานรักษาศีลปฏิบัติธรรม
นี่เรามาเป็นมนุษย์แล้วนั่งอยู่นี้ ถ้ามีพระสงฆ์ มีคำสอนมาพูดมาสอนอยู่นี้ เราก็ได้ยินกันทุกคน ได้เห็นกันทุกคน ภาษาเดียวกัน ฟังออก ใช่คนละภาษา แต่ความรู้สึกตัวเรียกว่าความรู้สึกตัว ภาษากลาง ๆ ถ้าภาษาอีสานบ้านเราก็ “ฮู้เหมียบ่ ฮู้เหมียบ่ ฮู้เหมียแล้ว” เหมือนกับเราปลุกลูกให้มันตื่นขึ้นมา “มึงฮู้เหมียแล้วไป่ละ” “ฮู้เหมียแล้ว ฮู้เหมียแล้ว” เออถ้ามัน ฮู้เหมียแล้ว มันก็ช่วยตัวมันได้ เหมือนไฟไหม้บ้าน รีบไปปลุกลูกขึ้นมา “ลูกลุกขึ้นไฟไหม้บ้าน ไฟไหม้บ้าน” ก็ตื่นขึ้นมาช่วยตัวมันได้ ถ้าพ่อแม่ไม่ปลุกให้ตื่นก็ตายกันหมดเลย ตายกันเลยไฟไหม้บ้านก็ไม่รู้เลย อันนี้เรียกว่าตื่นแบบภาษาโลก ๆ ถ้าคนไม่รู้จักตื่น แม้แต่ตื่นอยู่มันก็หลับได้ เช่น คนเมา คนโกรธนั่นแหละ ถ้าหลงอยู่ในความโกรธก็มืด หลงในความทุกข์ก็มืด เพราะมันยังไม่ตื่น “มึงฮู้เหมียแล้ว” “ฮู้เหมียแล้ว” เราก็มาปลุกตัวเองให้รู้สึกตัว “รู้สึกตัวหรือยัง” “รู้สึกตัวแล้ว” พอมันทุกข์เห็นมันทุกข์ พอมันหลงเห็นมันหลง เรียกว่าตื่นแล้ว มาดูโลก อย่าให้ความหลง อย่าให้ความรู้ ผ่านโอกาสไปให้สัมผัสดู ถ้าภาษาบาลีว่า สติ ถ้าภาษาอังกฤษเรียกว่า aware หลวงตาเคยไปสอนฝรั่ง ภาษาจีนอะไรก็ไม่รู้ ถามแม่ชีน้อยเขาพูดภาษาจีนได้ ภาษาจีนเรียกว่าอะไร ภาษาเขมรเรียกว่าอะไร ภาษาอะไรก็ไม่รู้ เรามันรู้แต่ภาษาไทยอ่อน ๆ ถ้ารู้ทั้งหมด นี่ก็รู้สึกเนี่ย ถ้าเรียกว่าภาษากลาง ๆ ว่าเคลื่อนไหว แบบการเคลื่อนไหว ภาษากลาง ๆ ภาษาลาวเรียกว่า “ติ่ง-นิ่ง” หลวงพ่อเทียนสอนเรียกว่า “ติ่ง-นิ่ง” ติ่ง นิ่ง ติ่ง นิ่ง ติ่ง นิ่ง ภาษาบ้านเรา ภาษาเมืองลาว เอ้า มาเปลี่ยนอีกหน่อย ไหว นิ่ง ไหว นิ่ง เดี๋ยวนี้ตัดออก ติ่งนิ่ง ไหวนิ่ง ไม่มี มีแต่รู้สึก รู้สึกเข้าไปเลยกับปล่อยวาง แต่ก่อนหลวงพ่อเทียนสอน ไหวนิ่ง ไหวนิ่ง ตีงนิ่ง เมืองลาว เอามาจากเมืองลาว มาอยู่เมืองไทยก่อน ยุบหนอ พองหนอ สติปัฏฐานแบบนี้ ต่อไปก็ไปอยู่เมืองลาว ไปเจอกันอยู่เมืองลาวเอากลับมาเมืองไทย ยุบหนอ พองหนอ มาทีหลัง ก็ภาษานั้นเรียกว่าภาษาที่ใช้กัน บัดนี้เราไม่ใช้ภาษามาพูดกัน ไหวนิ่ง ตีงนิ่ง รู้สึก สติ ไม่ต้องพูด มีแต่รู้สึกตัวไหม รู้สึกตัวไหม เท่านี้ มันหลงรู้สึกตัวไหม หรือเป็นผู้หลงเห็นมันหลง เห็นมันหลงหรือเป็นผู้หลง เริ่มเห็น เห็นมันทุกข์หรือเป็นผู้ทุกข์ เห็นมันโกรธหรือเป็นผู้โกรธ เห็นมันร้อนหรือเป็นผู้ร้อน เห็นมันหนาวหรือเป็นผู้หนาว
ลองแยกออก แยกออก กำลังดู กำลังถลุง กำลังได้หลักฐาน ถ้าเห็นแล้วเรียกว่า ศึกษา ถ้ายังเป็นอยู่ ยังไม่ได้ศึกษาเลย ยังไม่ได้ศึกษา ไม่ได้สิกขา สิกขาในธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตของภิกษุนักบวชทั้งหลาย สิกขาในธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตนี้ เราเลี้ยงชีวิตด้วยสิ่งอันนี้ มันรู้สึกตัวว่ามีชีวิต พรหมจรรย์ ไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ พรหมจรรย์เกิดจากการมีสติศึกษา เห็น เรามีชีวิตการเห็น ไม่เป็น ได้ชีวิตแห่งเป็นผู้ดูขึ้นมา การดูนี่ ไม่เป็นนี่ มันบริสุทธิ์ เป็นพรหมจรรย์ขึ้นมา ถ้าเป็นแล้วสกปรก เปื้อนเปรอะเลอะเทอะ ถ้าเห็นแล้วสะอาดขึ้นมา เป็นสุขสกปรก เป็นทุกข์สกปรก ถ้าเห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ สะอาด นี่พรหมจรรย์มันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่โกนผมห่มผ้าสีต่าง ๆ มันบริสุทธิ์ ทุกคนเป็นพรหมจรรย์ได้ นุ่งผ้าสีใดก็เป็นพระได้ นี่เราก็มีปัญญาแบบนี้ รู้ได้ทุกคน ไม่ใช่ปิดบังอะไรเลย ปัจจัตตัง รู้ทันทีรู้ด้วยตนเอง มีสิทธิเท่าเทียมกัน มีปัญญาเท่าเทียมกัน
ปัญญานี้ไม่ใช่สมอง ไม่ใช่อีเดีย ไม่ใช่ไอคิว มันเป็นปัญญาแห่งหน่อโพธะ โพธะ โพธิ รู้สึกตัว รู้สึกตัวนี่ ต้องจัดเจนบ้าง อย่าไปให้มันห่าง มันก็อยู่กับเรานี่แหละ ความหลงก็อยู่กับเรา ความรู้ก็อยู่กับเรา เวลามันหลงก็ไล่ความรู้ขึ้นมา ถ้าเวลามันหลงไม่มีความรู้ ความหลงก็ไปอีกล่ะใหญ่โตขึ้นมามาก ถ้าเวลามันหลง รู้สึกตัวนี่ ความหลงก็ห่อเหี่ยวลง ห่อเหี่ยวลง เหมือนไม่ให้อาหารมัน ตัดอาหารมัน ไม่ให้มันมีอาหาร พอหลงทีไรรู้สึกตัว คุมกำเนิด คุมกำเนิดของความหลง คุมกำเนิดของคน คนนี่ต้องคุมกำเนิด เรียกว่าพระพุทธเจ้าฆ่าคน (หัวเราะ) ฆ่าคนนี่ พระพุทธเจ้าฆ่าคน ฆ่าความเป็นคน ความเป็นคนนี้มันปนเป สุขก็เอา ทุกข์ก็เอา โกรธโลภหลงเอาหมด เรียกว่าคน ปนเปกัน พระพุทธเจ้าฆ่าตัวนี้ ภูมิแห่งความเป็นคนนี้ มันไปสวรรค์นิพพานไม่ได้ มันจะไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉาน คุมกำเนิดของความเป็นคน คือรู้สึกตัวให้ชีวิตใหม่ขึ้นมา ให้มีความรู้สึกตัว กำเนิดความเป็นคนก็น้อยลง ก็กลายเป็นมนุษย์ขึ้นมา ใจสูงขึ้นมา เห็นล่ะ เห็นว่าใจสูง การเห็นเนี่ย การเป็นเรียกว่าใจต่ำ ถ้าสูงขึ้นมา เห็นมันสุขเห็นมันทุกข์นี่ เป็นมนุษย์แล้ว เป็นพระได้ ถ้าเป็นมนุษย์นี่ ถ้าเป็นคนเป็นพระไม่ได้เลย เราจึงมาดูนี่ ภพภูมินี้มันอยู่กับเราแล้ว หลวงพ่อเทียนมักถามเรา เป็นเทวดาได้ไหม เป็นได้ เป็นพระอินทร์พระพรหมได้ไหม เป็นได้ เป็นพระได้ไหม เป็นได้ ต้องตอบอย่างนี้ นี่มันอยู่กับความรู้สึกของเราที่ มันไม่เปรอะเปื้อน เป็นพรหมจรรย์เป็นพระ ประเสริฐ เป็นมนุษย์สูงสุด ใจมันสูง
อาจารย์พุทธทาสว่า เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง เหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขน ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน ย่อมเสียทีที่ตนได้เกิดมา ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ ถ้ามีครบควรเรียก มนุสสา เพราะพูดถูกคิดถูกทำถูกทุกเวลา เปรมปรีดา คืนวันสุขสันต์จริง
เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจมันสูง เห็นมันทุกข์ใจสูงเป็นมนุษย์แล้ว เห็นมันสุขใจสูงขึ้นมา โบราณท่านจึงว่า ไปเมืองบนเห็นคนขี่ช้าง ไปเมืองล่างเห็นช้างขี่คน เมืองล่างคือใจมันต่ำ ช้างคืออะไร ความโกรธก็ขี่คอเอา ความหลงก็ขี่คอเอา ความทุกข์ก็ขี่คอเอา กิเลสตัณหาราคะขี่คอเอา ยอมรับใช้มันได้ ช้างขี่คน ไปเมืองบนเห็นคนขี่ช้าง ขี่คอมันเลย “ขี่คอช้าง ถือขอบนคอขี่ ข้ามสงสาร(สังสารวัฏ) ญาณกว้าง ใจสว่างสู่นิพพานไปเลย” ขี่ช้าง เรียกว่าขี่คอมันช้างเนี่ย ถ้าใจต่ำมันก็ขี่คอเรา เหมือนกับว่า โบราณท่านสอนว่า “กากินซ้าง ๆ อย่างนึงอุทาหรณ์ กาหลงหลอนโตเองว่าแซบหรอย แซบหรอยเหลือล้น กากินซ้างตัวหลงบ่ต้องห่วง ทรวงสิกินอิ่มน้อย ซิตายจ้อยกลางทะเล” กากินซ้าง หมายถึงอะไร เธอมีทรัพย์สมบัติมากมาย สนุกอยู่ สนุกกิน ลูกก็มี หลานก็มี เมียก็มี ผัวก็มี ทรัพย์ก็มี พี่น้องก็มี ทรัพย์สินศฤงคาร กินกี่ชาติ กี่ชาติก็ไม่หมด ทรัพย์สมบัติของเรานี้ “กิน กากินซ้าง ตัวหลงตุ้มม่อง นกจิกแหลวทักท้วง กาเย้ยบ่อยากฟัง” นกจิก คือพวกเราชวนมาบวชมาปฏิบัติธรรม “อย่าไปกินย่านอยู่ฮั่นซ้าง มันเบิ๊ดได้” กากินช้าง “นกจิกแหลวทักท้วง กาเย้ยบ่อยากฟัง” เหมือนกับพ่อของรัฐปาล รัฐปาลเป็นลูกชายคนเดียว หนีไปบวช บิณฑบาตหน้าบ้านตัวเอง ไม่มีใครรู้ มีแต่คนใช้ในบ้านเอาขนมไปทิ้ง รัฐปาลก็เปิดฝาบาตรออก น้องหญิงจะเอาขนมไปไหน จะเอาขนมไปทิ้ง ขนมมันบูดแล้ว เอามาเทใส่บาตรหลวงพี่นี้ ยื่นบาตรไป หญิงสาวคนนั้นก็เก้อ ไม่รู้จะเอายังไง ว่าจะเอาไปทิ้งอยู่ มันบูดแล้ว ไม่ ไม่ เอามาเทใส่บาตรหลวงพี่นี้ รับบาตร หญิงสาวคนนั้นก็เห็นมือรัฐปาลจำได้ว่า โอ รัฐปาล พอเข้าไปในบ้านก็บอกหลวงพี่รัฐปาลมาบิณฑบาต หนูเอาขนมที่ทิ้งเทใส่บาตรให้ เสียใจเลยพ่อเศรษฐี เรียกลูกชายเข้ามา ไปรับลูกชายมา อยู่เมืองเดลีทุกวันนี้ หลวงตาเคยไปดู เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ทุกวันนี้ มาถึงบ้านก็เอาทรัพย์สมบัติมากองไว้สามกอง กองของพ่อของแม่ กองของรัฐปาลใหญ่กว่าของพ่อแม่สองเท่า นี่กองของพ่อ นี่กองของแม่ นี่กองของลูก ทำไมไปกินขนมบูด ๆ เรากินไปกี่ภพกี่ชาติก็ไม่หมด รัฐปาลมอง อะไรที่เราสวด สวดดูซิ เราสวดทำวัตร โลกนี้บกพร่องอยู่เป็นนิจ เป็นทาสของความอยาก ไม่รู้จักอิ่ม โลกนี้ไม่มีใครเป็นใหญ่ ไม่มีใครเป็นของ ๆ ตน ย่อมละทิ้งในสิ่งทั้งปวงไป ใช่ไหม เวลาตายเราเป็นไง เขาส่งแค่เชิงตะกอน เอาเงินใส่ปากสิบบาทห้าบาท มันก็ยังไปเขี่ยเอาคืนมา (หัวเราะ) บางคนเอาเงินใส่ปากให้พ่อให้แม่ เอาเงินใส่มือก็ไม่จับ จะไม่เอาอะไรเลย พอเกิดมามันเอา มันเอาทั้งนั้น กำมือ ใช่ไหม เวลาเด็กน้อยเกิดน่ะ กำมือเลยแหม่นบ่ เพิ่นยังกำอยู่ พอตายไปแบมือเลย ไม่เอาอะไรแล้ว ฉันไม่มีอะไร ต้องเอามือเอาผ้ามัดมือไว้ เอาเงินใส่นี้เอาดอกไม้ให้คู่หนึ่งเทียนแท่งคู่หนึ่ง โอ๊ย น่าสงสาร เอาเงินใส่ปากให้ เอาไปเผาแล้วมาเขี่ยเอา กูเอาเงินใส่ปากอิแม่นี่ สิบบาท เขี่ยไปเขี่ยมาจนได้คืนเบิ๊ดสิบบาท ได้อะไร ไม่มีใครเป็นของ ๆ ตน ย่อมละทิ้งในสิ่งทั้งปวงไป เหมือนกากินซ้าง มันหมดเป็นนะนี่ มันไม่ใช่เราเป็นเจ้าของ อย่ามาอ้าง กูมีอันนั้น กูมีอันนี้ ไม่ใช่ มัวแต่กินไป ๆ มันก็ทรวงสวกกินอิ่มน้อย กาหลงซ้าง ตัวหลงบ่ต้องห่วง ทรวงสวกสิกินอิ่มน้อย สิตายจ้อยกลางทะเล แต่มันก็ไปเรื่อยนะ ซ้างใช่ไหม มันไหลไปตามน้ำ เห็นไหมแม่น้ำคงคานะ บางทีกาแร้งจับศพ จับซากศพที่ลอยตามแม่คงคากินไปในน้ำ อันนี้ก็เหมือนกัน มันก็ไหลไป ไหลไป ๆ พอไปถึงกลางทะเล ซากช้างมันก็หมดเป็น มันก็จมลงน้ำ กาจะบินขึ้นฝั่ง ไม่รู้ฝั่งอยู่ทางไหนไปไม่ได้ เลยบินวนไปวนมาไม่เห็นฝั่ง ตกตายกลางทะเลเลย
ชีวิตของคนเราก็เหมือนกัน อย่าเอาทรัพย์สมบัติมาอ้าง เนี่ยชีวิตเรา พายเถิดพ่ออย่ารั้งรอพาย รีบถ่อรีบพาย อย่าวางไม้พาย ตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า ได้ยินไหม หลวงตาบอกนี่ ปู่สอนหลาน ปู่สอนหลาน เรียกลูกก็เรียกว่าพ่อ เรียกหลานก็เรียกว่าพ่อ เรียกเหลนก็เรียกว่าพ่อ ลูกสาวก็เรียกว่าพ่อ โบราณเขาไม่เรียกอีนั่นอีนี่นะ พ่อนั่นพ่อนี่แม่นั่นแม่นี่ ดังนั้นอย่าประมาท นี่มันก็ไหลไปแล้วเรา อะไรเล่าที่เป็นสาระแก่นสาร เราฝากเอาชีวิตไปห้อยไปแขวนไว้กับสิ่งใด ไปแขวนไว้กับลูกกับหลาน ไปแขวนไว้กับทรัพย์สมบัติ ไปแขวนไว้กับความรักความชัง ความรักเอาไปแขวนไว้กับคนอื่น จนคนอื่นทำให้ใจเดาะ หัวใจเดาะเพราะเอาใจไปห้อยกับคนอื่นไว้ ไม่เป็นตัวของตัว มันไม่จริงจังอะไร แม้แต่ในเรานี้มันก็ไม่จริง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนี้ เห็นซะ เห็นความไม่เที่ยงของทุกข์ ไม่ใช่ตัวใช่ตน เห็นความไม่เที่ยงของอะไรต่าง ๆ ความโกรธ โลภ หลง ไม่ใช่ตัวใช่ตน ให้สภาพความไม่เที่ยงสามัญลักษณะคลุมโลกอยู่เวลานี้ อะไรก็ไม่เที่ยงทั้งหมดหรอก ให้เห็นธรรมอย่างนี้ เห็นกายเห็นใจ เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นรูปเห็นนาม ตามความเป็นจริง