แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราก็ฝึกตนสอนตน กายอยู่ที่ไหนใจอยู่ที่นั่น สติอยู่ที่นั่น จิตใจใส่ตาม มีความรู้สึกตัว สามลักษณะ มีความรู้สึกตัว มีกาย มีใจ เวลาสวดมนต์ทำวัตรก็ใส่ใจตาม อย่าเป็นภาษานกแก้วนกขุนทอง เพื่อให้มันคุ้นเคย ภาษาที่เราพูด เพื่อสติ ก่อนพูด ก่อนทำ ก่อนคิด จนสามอันนี้เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ใช่พูด ไม่ใช่ทำ ไม่ใช่คิด มีแต่ความรู้สึกตัว เคลื่อนไหวไปมาก็เป็นความรู้สึกตัว คิดสิ่งใด แสดงออกทางใจก็เป็นความรู้สึกตัว หายใจเข้าหายใจออกก็คือความรู้สึกตัว ถ้าหัดเป็นแล้วมันเป็นอย่างนั้น เหมือนคนขับรถแทรกเตอร์ รถแมคโคร รถทั้งคันคือมือของเขา เขาอยากจะจกจะจับตรงไหนคือมือเขา เพราะมันเป็น ชีวิตของเราก็เหมือนกัน บางทีเราพูดไม่รู้สึกตัว เราแสดงอะไรไม่รู้สึกตัว มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เสียเวลา เสียเวลาไปกับความหลง เสียเวลาไปกับความสุข เสียเวลาไปกับความทุกข์ เสียเวลาไปกับความรักความชัง ไปอันเดียว ไปทางเดียว ไปผู้เดียว มันก็ไม่ได้สอน ไม่ฝึกหัด ป่า ๆ เถื่อน ๆ หมกมุ่นครุ่นคิดไปไหน ไม่สอนตัวเองในเวลามันผิด มันก็ไม่รู้ผิด หน้าด้านในความผิด หน้าด้านในความทุกข์ หน้าด้านในความหลงไปเลย เราจึงสอนตนเอง ปฏิบัติธรรมคือสอนตัวเอง แล้วก็มี มีแต่การที่จะสอนเรา สนุกดี ไม่เสียเวลา ไม่ว่าอะไร เราก็อยู่ด้วยกันอยู่แล้ว กายอยู่นี้ ใจอยู่นี้ สติอยู่นี้ ถ้ามีกายมีใจไม่มีสติ ก็มีอีกหลายอย่างมาอยู่ที่กายที่ใจ มีความหลง ความสุข ความทุกข์ ความรัก ความชัง วิตกกังวล เศร้าหมอง ความเคียดแค้น ชิงชัง
เพราะฉะนั้น กายเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ กายไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงก็ไม่เที่ยงอยู่เช่นนั้น ความเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์อยู่เช่นนั้น ได้ประโยชน์จากความเป็นทุกข์ ได้ประโยชน์จากความไม่เที่ยง เพราะมีความรู้สึกตัว ความไม่เที่ยงได้นิพพาน ความเป็นทุกข์ได้นิพพานเลยทีเดียว
“สัพเพ สังขารา อะนิจจา ติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ” เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน
มันก็ได้อย่างนี้ มันก็ผ่านอย่างนี้ ผ่านร้ายเป็นดี ผ่านผิดเป็นถูก แต่ถ้าไม่ผ่านตรงนี้ มันก็เสียเวลา ความไม่เที่ยงก็อยู่เช่นนั้น ความเป็นทุกข์อยู่เช่นนั้น ไม่ได้ประโยชน์ เหมือนเราอยู่ในชีวิตของเราที่เราเป็นอยู่ มีแต่เป็นโทษ มันแก่เอาความแก่มาเป็นโทษ มันเจ็บเอาความเจ็บมาเป็นโทษ มันตายเอาความตายมาเป็นโทษ แน่นอนที่สุด คอยรับเวรรับกรรมไป ถือว่าเสียชาติ เราควรที่จะศึกษาให้มันแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ มันก็เริ่มต้นมาจากความหลงเนี่ย เมื่อมีความหลงรสของโลกก็เต็มประดาเข้ามา เราจึงมาเริ่มต้นตรงนี้ เหมือนเราจะก้าวเดินทางไปทิศใดทางใดต้องมีก้าวแรก มันจึงจะไปถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าก้าวแรกไม่ถูก มันก็ไปผิด ๆ มันก็มีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด การเริ่มต้นของชีวิตเราเนี่ย มันก็ต้องมีความรู้สึกตัว ไปทางหนึ่ง ความหลงตัวก็ไปอีกทางหนึ่ง อธรรมย่อมนำไปนรก ธรรมย่อมนำให้ถึงสุคติ มันก็เป็นอย่างนี้ เกิดมาดี ๆ เปรอะเปื้อนหมดเลย
อย่างพระอินทร์ ทดลองใจของคน นิทานธรรม เอาม้าสีตาลสุกลงมาให้คนดู สวยงาม บริสุทธิ์ หนึ่งเดียว คนมาดูแล้ว สำรวจม้าทั้งตัว ขาวกระดำกระด่างไปหมดเลย บางคนก็บอกว่าเออ น่าจะปากคาบแก้วสักหน่อย ด่าง ๆ สักหน่อยจะสวยกว่านี้ พระอินทร์ก็ทำม้าตัวนั้นเป็นปากคาบแก้วลงมา ให้คนดูอีก คนก็ไปดูอีก เออ ถ้าหางแซมสักหน่อยก็ดีนะ ก็ทำม้าตัวนั้นให้หางแซมขึ้นมา ให้ดูอีก คนก็มาดูอีก เออ ถ้ามีลายพาดอานซะหน่อย หลังลาย ๆ ซะหน่อย เป็นรูปอานซะหน่อยจะสวยกว่านี้ ก็ทำลายพาดอานลงมา มาให้ดูอีก โอ ถ้ามีหน้าด่างสักหน่อยก็จะสวยกว่านี้ พระอินทร์เลย บ้าเอ๊ยคน ม้าของเราสวย ๆ ด่างไปหมดเลย สกปรกไปหมดเลย ไม่ได้คนนี่ มันเป็นอย่างนี้ ปนเปไปหมดเลย พระอินทร์จึงไม่เชื่อคน ปล่อยให้มันอยู่อย่างนี้แหละคนน่ะ ถ้าเราเป็นคน ปนเปไปหมดเลย ความรักความชัง ความสุข ความทุกข์ ความโลภ โกรธเกลียด เคียดแค้นชิงชัง เรียกว่าคน
ถ้ามีหนึ่งเดียว มีความรู้สึกตัวเนี่ย มันก็หนีจากความเป็นคน ภพชาติใหม่ทันทีเลย มีภพอันใหม่ ชีวิตอันใหม่ เรียกว่า นวชีวัน ชีวิตใหม่ ๆ เยี่ยม ๆ เรียกว่า พรหมจรรย์ ตัวเราเองตีตรวนตัวเราเองโดยเสียได้หรือไม่ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วตีตรวนเราได้หรือไม่ อาการ กาย วาจา อย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้ อย่างนี้ ควรเอาอย่างคนอื่นบ้าง เอาอย่างผู้อื่นบ้าง พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เหล่าพระสาวกทั้งหลาย เหล่าพระพุทธเจ้า เหล่าพระสาวก อะไรเกิดขึ้น เคารพพระธรรม ความหลงก็เคารพ อย่าให้มันหลงอีก ความรู้ก็เคารพ น้อมตัวเราเข้าไป เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ จงทำความเคารพพระธรรม พระธรรมนั้นแหละทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า คือความรู้สึก ความระลึกได้ การเปลี่ยนความร้ายเป็นความดี เรียกว่า พระธรรม ชีวิตเรามันก็เพื่อการนี้ มันเปลี่ยนได้จริง ๆ เฉพาะกายใจนี้ กายมันก็หลงเปลี่ยนให้ไม่หลงซะ ใจมันก็หลงเปลี่ยนให้ไม่หลงซะ กายมันสุขมันทุกข์มันไม่เที่ยงก็เปลี่ยนให้มันรู้ซะ
กำหนดรู้ด้วยการรู้ กำหนดรู้ด้วยการละ อย่ารู้เอาไปรู้ ไปจับไปกุมอยู่ รู้แล้วก็ละ ละแบบใด มีทางเรียกว่ามรรค ดำเนินไป ดำเนินไป มันหลงดำเนินไปในความรู้ไป ตรงที่มันหลงก็มีความไม่หลงอยู่ตรงนั้น ตรงที่มันทุกข์ก็มีความไม่ทุกข์อยู่ตรงนั้น ไป ปฏิปทานุตตริยะเห็น ปฏิปทานุตตริยะ เห็นทาง วิมุตตานุตตริยะ พ้นแล้ว มันมีหลักอย่างนี้ เรียกว่า อริยสัจสี่ ตัวเฉลย ตัวเกณฑ์ชี้วัดชีวิตเรา มันก็พ้นไป มันก็ผ่านไป เมื่อไม่มีเกณฑ์ชี้วัดอย่างนี้ก็ไม่ผ่าน ชนอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า ตัน กามสุขัลลิกานุโยค ตัน อ่อนแอ คนโกรธคือคนอ่อนแอ คนทุกข์คือคนอ่อนแอ คนรักคนชังเศร้าหมอง คือคนอ่อนแอ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ไม่เห็นมรรคเห็นหวังกับเขา อะไรก็ยอม ปราชัยพ่ายแพ้ แม้แต่ความคิดเฉย ๆ ก็ยอม น้ำตาไหลนองมาดับ พ่ายแพ้แล้ว ปาราชิก ไม่มีโอกาสบรรลุธรรมในชาตินี้เลย เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยโค ความตึงเครียดเกินไป จริงจังจนเกินไป เรื่องง่าย ๆ ก็เป็นเรื่องยาก เอาชนะความหลง ความโกรธ ความทุกข์ มันไม่ยาก ไม่ต้องไปอดทน อดกลั้น ไม่ต้องไปดุไปด่า ไม่ต้องไปแสดง ง่าย ๆ มาหนักให้เป็นเบา ๆ มองดูก็เห็น ไม่เข้าไปเป็นกับอาการอะไร มันเบ๊าเบา ถ้าเป็นแล้วมันหนัก ถ้าเห็นแล้วมันเบา ทำของหนักให้เป็นของเบา ทำของยากให้เป็นของง่าย มันมีอยู่อย่างนี้
วาง ใจต้องวาง อย่าไปยึด ถ้ายึดแล้วมันหนัก หนักในความสุข หนักในความทุกข์ หนักในความรัก หนักในความหลง อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั่นแหละเป็นของหนัก มันยึดไว้ หนักก็วางได้ ไม่เป็นภาระให้มันหนัก มีแต่เบา ๆ เราก็ทำเอาเอง ไม่มีใครช่วยเรา เราเป็นเอง เราก็ทำเอง ถ้าไม่รู้จักช่วยตัวเอง มันก็ไม่มีประโยชน์ ชีวิตเรา มีแต่เรื่องที่จะช่วยเรา ชีวิตเราเนี่ย ก็มันซุกซน มันดื้อด้าน มันเป็นภพภูมิต่าง ๆ อบายภูมิก็มี เปรตภูมิก็มี ในโลกนี้หรือโลกหน้า ประมาทในการใช้ชีวิต ใช้กายใช้ใจ ใช้วัตถุสิ่งของ ในทางความคิด ในทางการพูด ในการกระทำ ในการกิน การบริโภคอุปโภค เกิดโทษเกิดภัยได้ ประมาทในความคิดจนสร้างความโกรธ ความโลภ ความหลง กลายเป็นโรคกระเพาะอาหารได้ ประมาทในการบริโภค กลายเป็นโรคภัยไข้เจ็บ สูบบุหรี่กินเหล้า กลายเป็นโรคมะเร็งได้
เพราะงั้นเรามันไม่เหมือนอันอื่น ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน ช้างม้ากินใบหญ้าใบตอง เขาก็ไม่เป็นโรคกระเพาะเหมือนเรา เรามีแต่อ่อนแอ เกิดโรคภัยไข้เจ็บ แล้วเราก็สร้างให้เกิดภัยแก่เรากัน จนไม่มีความปลอดภัย ชีวิตของคนเรา ไม่เหมือนนกพิราบอยู่แถวนี้ บินไปไหนก็บินไป เกาะตรงไหนก็เกาะได้ เห็นนกตัวหนึ่งนอนอยู่ข้างขอบสระทางโน้น ไม่ใช่ต้นไม้ เป็นเสาไม้ไผ่ ลำเท่านิ้วมือเนี่ย เขาไปปักไว้ นกไปนอนอยู่บนปลายไม้ไผ่ ไม่มีกิ่งก้านสาขา มันนอนได้ ขนมันก็มี กันยุงกันฝนได้ คนเรานี่ เนื้อหนังก็บาง ๆ ยุงกัดก็ตาย ตายเพราะยุงกัด มีเหมือนกัน ต้องสร้างที่อยู่อาศัย มีผ้า มีเสื้อ มีอะไรมานุ่งมาห่ม ถ้าเราไม่มีปัญญามันก็ลำบาก และก็กระทบกระเทือนต่อสิ่งต่าง ๆ มากมาย บุหรี่ก็เอามาสูบ เหล้าก็เอามากิน มันขนาดไหนคนเรา ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมมันจะเป็นอะไร มันต้องเป็นเปรตเป็นสัตว์นรกแน่นอน ถ้าเราปฏิบัติธรรมมันก็ไปสวรรค์นิพพานแน่นอน ไม่มีสัตว์ประเภทใดถึงมรรคผลนิพพานได้ นอกจากคนเรา
ก็นี่แหละ การปฏิบัติการสอนตัวเอง ความมีสติเนี่ย มารับเอาดวงตาไปดูแลตัวเองให้ได้ อย่าพากันวิ่งหนี เอาความรู้สึกตัวไป ถ้าไม่หัดอย่างนี้ รสของโลก รสชาติมันทำให้สัตว์โลกเสพติด เหมือนปลาติดเบ็ด ติดในความสุข ติดในความทุกข์ ความรัก ความชัง ติดในการอะไรต่าง ๆมากมาย ความรักก็เอา ความชังก็เอา ความสุขก็เอา ความทุกข์ก็เอา เอาอันอื่นมาวัดจิตวัดใจตัวเอง เอาชีวิตจิตใจไปห้อยไปแขวนกับสิ่งอื่นวัตถุอื่น เมื่ออาศัยวัตถุอื่นสิ่งอื่นไม่ได้ ก็อกหักเสียใจฆ่าตัวตาย หลายวิธี สัตว์เดรัจฉานไม่มีการฆ่าตัวตาย มีแต่คนเรานี่แหละ โง่กว่าสัตว์ เราก็ช่วยกันดีกว่าคนบางประเภทนะ
หลวงตาอยู่ป่าคนเดียวเนี่ย สมัยสามสิบกว่าปีเนี่ย มีกุฏิหลังหนึ่งใกล้ ๆ ศาลาไก่ ไม่มีใครอยู่ พวกหนูไปทำรังที่นั่น งูมันก็รู้จักว่าหนูอยู่ที่ใดเพราะมันมีกลิ่น แลบลิ้นเวลามันหากิน แลบลิ้น แลบลิ้น แลบลิ้น มันหากลิ่นทางลิ้นของมัน มันก็รู้ว่าหนูอยู่บนกุฏิ มันก็เลื้อยขึ้นไป ไปคาบเอาหนู มันอยู่ในรัง ตกลงมา มันก็ร้องจู๊ ๆ ๆ ๆ ๆ ทั้งงูทั้งหนูตกลงมา มันร้องจู๊ ๆ ๆ ๆ ๆ กระแตตัวน้อย ๆ เท่าหัวแม่เท้าก็ร้องออกมาอยู่ในโพรงต้นตับเต่า อยู่ใกล้กุฏิหลวงตาทุกวันนี้ ก็ร้องออกมาแก๊ก ๆ ๆ ๆ พากันมาวิ่งกัดหางงู กัดแล้วกัดอีก กัดแล้วกัดอีก ร้องแก๊ก ๆ ๆ ๆ งูก็คาบหนู มันก็ปล่อยให้กระแตกัดหางมันอยู่ มันก็เจ็บ หลายครั้งหลายคราว วางหนู พอวางหนู หนูก็คลานออกไป มันมาสู้กับกระแต พองูกลับมาสู้กับกระแต หนูก็คลานไป งูจะตามหนูไป กระแตก็กัดหางไว้อีก แก๊ก ๆ ๆ ๆ ไว้ หลวงตาดูอย่างใส่ใจ (หัวเราะ) ผลที่สุด งูตัวนั้นไม่ไปตามหนูเลย มาสู้กับกระแต เมื่อไหร่งูจะเลื้อยไป กระแตกัดหางไว้ หนูตัวนั้นก็เลื้อยไปเข้ากอไผ่ ปลอดภัย งูตัวนั้นตัวใหญ่ ต้องขดยอมอำนาจของกระแต เมื่อเลื้อยไม่ได้กระแตกัดหาง เพราะงู หัวกับหางมันอยู่ไกลกันนะ ใช่มั๊ย ก็ขดอยู่ ขดอยู่งูนะ กระแตก็วิ่งรอบอยู่ แก๊ก ๆ ๆ ๆ งูก็ไป เอ๊ย กระแตน๊อ มีปัญญาช่วยกัน
คนเราเนี่ยยังช่วยกันไม่เป็นเลย บางทีนะ สู้กระแตไม่ได้ คนเราน่ะแม้แต่ตัวเองก็ไม่ช่วย ปล่อยให้ความโกรธครอบงำย่ำยีอยู่คืนหนึ่งวันหนึ่งก็มี ไม่ได้อยากช่วยตัวเอง มันประเสริฐตรงไหนกันชีวิตเราน่ะ มาบอกให้เห็นความโกรธ ไม่โกรธนะ ทำไม่ได้ มันทุกข์ไม่ทุกข์ซะ เหมือนหน้ามือหลังมือเนี่ย มันก็ไม่ยากขนาดนั้น มันอยู่ด้วยกันนี้ ความโกรธอยู่ในใจก็เปลี่ยนใจนั่นแหละ เหตุเกิดอยู่ที่ใดมันก็ต้องทำเหตุนั้น ปัญหาอยู่ที่ใดก็แก้ตรงนั้น เพราะมันไม่ใช่อยู่ที่อื่น ใจเป็นทุกข์ก็เอาใจไม่เป็นทุกข์ กายเป็นทุกข์ก็เอากายไม่เป็นทุกข์ เช่น สูบบุหรี่หรือ มันติดหรือ ก็ไม่สูบซะ เพราะไม่สูบก็ไม่ติด เพราะไม่ติดก็ไม่อยาก เพราะไม่อยากก็ไม่สูบ มันก็ไปอย่างนี้ เพราะอยากจึงสูบ เพราะสูบจึงติด เพราะติดจึงอยาก เพราะอยากจึงสูบ เพราะสูบจึงติด เพราะติดจึงอยาก มันเป็นวัฏฏะ เรียกว่า กิเลสกรรมวิบาก กิเลสมันอยาก วิบากมันติด กรรมคือการกระทำ เพราะทำอย่างนี้มันก็เป็นอย่างนี้ เพราะหลงก็เลยไม่รู้ เพราะรู้มันก็ไม่หลง เพราะไม่หลงมันไม่ผิด เพราะไม่สูบไม่อยาก เพราะไม่อยากก็ไม่ เพราะไม่สูบก็ไม่ติด เพราะไม่ติดมันก็ไม่อยาก จะไปห้ามความอยากมันห้ามไม่ได้ จะไปห้ามความโกรธมันห้ามไม่ได้ เพียงแต่เรารู้สึกตัวไปก่อน ให้มันเห็น แต่นี่เราไม่เห็น เข้าถึงตัวแล้วจึงค่อยแก้ไข มันก็ไม่ได้ เหมือนโรคภัยไข้เจ็บ ให้มันเกิดโรคแล้วค่อยไปหาหมอ ก็ไม่ค่อยปลอดภัย เราป้องกันไว้ก่อน อะไรที่มันเป็นโทษเป็นภัยป้องกันไว้ อย่ากินเหล้า อย่าสูบบุหรี่ อย่าประมาทในการใช้ชีวิต เราก็จะเก่ง
ไม่ใช่เราเก่งคนเดียว ก็ช่วยคนอื่นด้วย เรามีสติ เอ มันดีขนาดนี้น๊อ ก็ไปช่วยคนอื่นให้เขามีสติ เราละความชั่วได้แล้ว ก็ไปสอนคนอื่นให้เขาละความชั่ว เราทำความดีได้แล้วก็ไปช่วยคนอื่นให้เขาทำความดี เรามีจิตบริสุทธิ์แล้ว ไปช่วยคนอื่นให้เขามีจิตบริสุทธิ์ มันก็จึงจะอยู่ด้วยกันได้ ถ้าดีคนเดียวมันอยู่ไม่ได้ ต้องช่วยกัน จึงมีสถานที่แบบนี้ มีผู้สอน มีพระสงฆ์องค์เจ้า มีอุบาสก มีอุบาสิกา ก็เพื่อที่จะเป็นเพื่อนเดินทางไปด้วยกัน ชาวบ้านก็อยู่ ชาวบ้านไปช่วยลูกช่วยหลาน ช่วยพี่ช่วยน้อง ชาววัดก็ศึกษาเรื่อยไป ทำคุณงามความดี เป็นตัวอย่างให้กันและกันอย่างนี้ จึงสมบูรณ์ที่สุด เพราะประเทศไทยเนี่ยเป็นอย่างนี้ ประเทศอื่นก็เป็นอย่างอื่น
เราถือว่าโชคดีเป็นคนไทย มีศาสนา มีพุทธศาสนา มีธรรมคำสอน มีวัดวาอาราม เรามาอยู่ในวัดนี้ อยู่ในที่นี้ มีคนช่วยเหลือเรา นำข้าวปลาอาหารมาให้เรา เราก็สะดวก ถ้าเราเป็นโจรเป็นผู้ร้ายใครจะช่วยเรา คนทำความดี มันก็มีคนช่วยเหลือ อย่างพระสงฆ์นี้ไปหาหมอก็ไม่เสียเงินเสียทอง เพราะประเทศไทย ถ้าประเทศอื่นไม่ได้ ต้องเสียเงิน นี่ประเทศไทยเรา เขาสร้างไว้ให้นี่ตึกสงฆ์นะ อันนี้ตึกพิเศษห้องพิเศษ เขาใช้ให้อยู่ได้ ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง นี่คือประเทศไทย ก็มีพระสงฆ์อยู่ที่นี่ สองสามแสนรูปก็อยู่ได้ เพื่อการนี้ ไม่ใช่อยู่เพื่ออันอื่น เรียกว่า เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม รู้พร้อม จะมาวัดมาวาก็มาได้ แม้แต่อย่างหลวงตาไปสหรัฐฯเนี่ย เวลาคนมาฟังเทศน์ ก็ต้องเอาเหรียญดอลลาร์ใส่กล่อง ถ้าไม่เอาดอลลาร์ใส่กล่องก็ไม่มีสิทธิ์นั่ง ถ้าเอาดอลลาร์ใส่กล่องค่อยถือเอาผ้าปูนั่งวางลงเข้าไปนั่งได้ ฟังเทศน์ก็เอาเงินใส่กล่อง ก็เหมือนกับเราไปรับจ้างเทศน์ ไปหาเงินหาทอง ก็ไม่ชอบ บอกให้เขาไม่ทำ ไม่ทำอย่างนี้ได้ไหม มาฟรี ๆ เลย มานั่งเลยได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้ เพราะมันเป็นอย่างนี้ วัฒนธรรมของที่นี่เป็นอย่างนี้
สมัยหลวงตามาอยู่กรุงเทพฯใหม่ ๆ ก็มีลักษณะแบบนี้ มาหาพระ เอาของมาให้ เอาโน่นมาเอานี่มา เครื่องใช้เครื่องดื่มเต็มไปหมดเลย ก็มาแล้วไม่ใช่เอาของมาให้ เขาบอกวันนี้ต้องดื่มให้เสร็จวันนี้นะ เอาไว้หลายวันไม่ได้ มันดื่มไม่ได้ โยมเอ๊ย โน่นวางดูเป็นแถวอยู่นั่น มีแต่เครื่องดื่ม จะดื่มอะไรมากมาย มันก็ไม่ไหวแล้ว มามือเปล่าได้ไหม ไม่ต้องเอาอะไรมา ไม่ได้ท่าน ถ้ามาหาพระไม่มีของมาไม่มีที่นั่ง เอาที่นี่รับรองได้ มีที่นั่ง (หัวเราะ) นั่งเลย (หัวเราะ) มันก็หัดยากนะ ก็นั่นแหละบางทีเราก็มองอะไรที่มันขวางกั้นไป แทนที่มันจะยากอะไร พระก็มีผ้าสามผืนเท่านี้ จะเอาอะไรมากมาย อาหารการกินก็ฉันมื้อหนึ่ง สองมื้อ บุหรี่ก็ไม่สูบ ถ้าจะมาทำบุญไม่ต้องเอาบุหรี่มาให้พระ ถือว่าท่านทำบุญแล้ว ไม่ต้องสูบบุหรี่ อะไรที่มันเป็นโทษเป็นภัยอย่าเอามาให้กัน แต่นี่บางคนเข้าใจผิด ไปหาพระต้องเอากระทิงแดง เอาเอ็มร้อยสองร้อย เอาบุหรี่ไปให้ พระก็รับไว้ด้วยความพอใจ เราก็สอนเรื่องหนึ่ง เค้าก็เอาเรื่องหนึ่งอะไร มันก็ไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ เราไปสอนเขาอยู่ดี ๆ เขาไปแจกเครื่องรางของขลัง สู้เขาไม่ได้เรา หลวงตาไปสอนนิวยอร์กเนี่ย ไปสอนคนลาว กำลังนั่งสอนธรรมะอยู่ มีพระไปจากไหนไม่รู้ ไปป้วน ๆ เปี้ยน ๆ เอาพระออกมาให้ กรูไปหาแจกพระหมด โอย สาธุ สาธุ รับของไว้ (หัวเราะ) สู้เขาไม่ได้ หลวงพ่อสอนให้ยกมือสร้างจังหวะ หนีจากหลวงตาก่อน ไปหาแจกพระ