แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอเป็นปากเป็นเสียงแทนพระพุทธเจ้า ขอเป็นแขน เป็นขาแทนพระพุทธเจ้า ขอเป็นสติปัญญาแทนพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ พ่อแม่พี่น้องที่ทำความดีมาสมัยบรรพบุรุษ สั่งสอนพวกเรามา เรียนตามพ่อก่อตามครูมา หลวงตาก็ไป ศรัทธาไป งานรำลึกคิดถึงครูอาจารย์ วันที่หลวงพ่อเทียนมรณภาพ วันที่ 13 กันยายน สองวันนี้ บรรดาศิษย์ร่วมกันกับคณะศิษยานุศิษย์ที่เคยอยู่ด้วยกันมา ทั้งที่เป็นนักบวชและฆราวาสญาติโยม มาที่วัดโมกข์ ขอนแก่น ก็ได้ทำพิธีอันที่เป็นรูปธรรม แม้เป็นคำสอน ที่เป็นคำพูด เป็นตัวหนังสือ เอามาแสดง เอามากระทำให้เกิดขึ้น มันก็ยังมีอยู่ เราได้สัมผัสกับคำสอน กับครูบาอาจารย์ สัมผัสกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ยังมีอยู่ พวกเราจึงไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ทำตามพระพุทธเจ้ายังได้อยู่ บรรลุธรรมไปด้วยกันกับเส้นทางเดียวกับพระพุทธเจ้า เข้าถึงธรรมะ ได้เหมือนกันกับพระพุทธเจ้า อยู่ทุกโอกาส
โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรม ก็ยังขอท้าทายกับคนในโลกมนุษย์ทั้งโลกอยู่ ยังกึกก้องอยู่ ว่าปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ ควรเห็น ตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ เป็นของอัศจรรย์ มีอยู่ในชีวิตของคน พูดธรรมะก็คือพูดเรื่องของคนนี่ ไม่ใช่เรื่องนิยายนิทานอะไร นั่งอยู่นี่ก็คือคนเรา คือมนุษย์ชีวิตหนึ่ง มีกรรมลักษณะเหมือนกัน มีความหลงก็ความหลงเหมือนกัน มีความทุกข์ก็มีทุกข์เหมือนกัน มีความโกรธก็มีโกรธเหมือนกัน มีความรู้ก็มีความรู้เหมือนกัน มีความไม่ทุกข์ ไม่โกรธก็มีได้เหมือนกัน เราจึงเทียบไหล่ได้ เมื่อผู้ใดพูดถึงความทุกข์ เราเคยทุกข์ ผู้ใดพูดถึงความไม่ทุกข์ เราก็ไม่ทุกข์ได้บ้าง พูดถึงความหลง เราเคยหลง พูดถึงความไม่หลง เราก็เคยไม่หลงมาเหมือนกัน จึงเอามาพูด มาทำกันบ่อยๆ มีผู้พูด มีผู้ฟัง มีสถานที่ พอที่ให้เกิดความสะดวก
ภาคปฏิบัติธรรมนี้ เป็นภาคสนาม ไม่ใช่ภาคเรียนรู้ มาฝึกหัด มีเริ่มต้นด้วยสร้างความรู้สึกตัว เป็นรุ่งอรุณของกระแสแห่งพระนิพพาน ถ้ามีความรู้สึกตัว เหมือนเห็นแสงเงินแสงทองขึ้นมาได้บ้าง เมื่อมีความรู้สึกตัว ก็มีเห็นความหลงทันที เมื่อมีความรู้สึกตัว ก็มีความรู้ทันที ขณะที่มันหลงมีความรู้สึกตัว ความหลงก็ไม่มีทันที ไม่ลี้ ไม่ลับ เป็นความเท็จ ความจริง สัมผัสได้อยู่ ความหลงไม่จริง ความรู้สึกตัวจริงอยู่ เป็นกายและมีกายจริงๆ เคลื่อนไหวก็มีการเคลื่อนไหวของกายจริงๆ รู้เวลาที่มันเคลื่อนไหว ขณะที่มันเคลื่อนไหวก็รู้ได้จริงๆ บางทีขณะที่เรารู้สึกตัวการเคลื่อนไหว มีโอกาสหลงมันก็หลงได้จริงๆ เราก็เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ ก็เปลี่ยนได้จริงๆ นี่คืองานของเรา ไม่ใช่เราฟรี ไม่รู้อะไร ได้อะไร ไม่ใช่หากันได้ การรู้ ที่มันเป็นวัตถุสิ่งของ มันก็หาเงินหาทอง ทำงานทำการ ไม่ใช่เป็นแบบนั้น มันเป็นอริยทรัพย์ภายใน เป็นความดี เป็นความไม่ดี มันมีอยู่ในชีวิตเรา จึงมาทำกับมือ เห็นกับตา ของใครของเรา
เอามือวางไว้บนเข่า เราก็มีมือมีเข่าเหมือนกัน พลิกมือขึ้นรู้สึกตัว ยกมือรู้สึกตัวเป็นรูปเป็นแบบ แบบฉบับเรื่องนี้ วิธีนี้พระพุทธเจ้าได้แสดงมา สอนมา ตั้งแต่วันอาสาฬหบูชา เพ็ญเดือน ๘ หลังตรัสรู้ ๒ เดือน ตรัสรู้เพ็ญเดือน 6 วางแผนอยู่ เดือน 7 วันเพ็ญเดือน 7 จึงออกจากศรีมหาโพธิ ใช้เวลาเดินทางอยู่ ๑ เดือน มาถึงวันเพ็ญเดือน 8 ที่อิสิปตนมฤคทายวัน จากพุทธคยามาถึงพาราณสี พระองค์เดินทาง ไม่มีรถนั่งเหมือนพวกเรา เวลา 1 เดือน เพื่อมาสอน พิสูจน์กันดู ผู้ที่จะฟังเรื่องนี้ได้คือปัญจวัคคีย์ ก็มาพบปัญจวัคคีย์ ก็ได้สอนปัญจวัคคีย์ ในวันเพ็ญเดือน 8 ว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นทาง ความหลงไม่ใช่ทาง เห็นกาย ภาคทฤษฎีก็มีมาก เรียกว่า ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร อนัตตลักขณสูตร แล้วก็อริยสัจ 4 สามอาการที่สอนปัญจวัคคีย์
เห็นกาย จนเห็นว่ากายสักว่ากาย ที่มันแสดงออกมา ไม่ใช่มีแต่แขนแต่ขา มือ มันมีอะไรอยู่หลายอย่าง เห็นมัน บางทีเห็นกาย มันมีแสดงเรื่องกาย ความร้อน ความหนาว ความปวด ความเมื่อย ความหิว มาแสดงเกิดจนตาย แล้วมันแสดงออกมาเห็นกายสักว่ากาย แต่ก่อนมันเป็นตัวเป็นตนอยู่ในอาการ ร้อนก็เป็นตัวเป็นตน หนาวเป็นตัวเป็นตน สุขทุกข์เป็นตัวเป็นตน การที่มันเกิดกับกายเอามาเป็นตัวเป็นตนหลายภพหลายชาติ พอมีสติเห็นก็ทักท้วงขึ้นว่า โอ้! นี่กายสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เกิดกี่เรื่อง กี่ราว ที่เกิดกับกาย เห็นคำเดียว พูดเรื่องเดียว รู้เรื่องเดียว สักว่าๆ กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จนเรื่องของกายจบไปในภพชาตินี้ หมดไป หมดไปจริงๆ
แม้มันเกิดขึ้นที่ใดก็สักแต่ว่า ไม่มีภาระ ไม่เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะกาย เป็นปัญญาไปเสียแล้ว แต่ก่อนเป็นปัญหา เรื่องใหญ่ ความหิวก็เป็นเรื่องใหญ่ ความร้อนก็เป็นเรื่องใหญ่ ความหนาวเป็นเรื่องใหญ่ ทนแข็งใจจึงเป็นทุกข์ พอเห็นสักว่ากาย มันก็ไม่มีเรื่องไปถึงไหน จบแค่กาย ได้ปัญญาตรงนี้ ถ้าจะเรียกว่า สิ้นภพสิ้นชาติของกายไปเสียแล้ว ที่มันเป็นตัวเป็นตนในเรื่องในราวต่างๆ หมดไปแล้ว แต่ก่อนมันไม่หมด หิวข้าวก็โกรธ เป็นทุกข์ ตัวเองไม่พอ พาลคนอื่น เป็นเรื่องเป็นราว ยื้อแย่งกัน เข่นฆ่ากันเพราะความหิว โลภเพราะความหิว หลงเพราะความหิว ทุกข์เพราะความหิว พอมาเห็น มันก็ไม่ใช่เกิดไปมากถึงขนาดนั้น มันก็เห็นสักแต่ว่า เป็นธรรมชาติ เป็นอาการของกาย ไม่ใช่เป็นเวทนา ความร้อน ความหนาว เป็นอาการ เป็นเรื่องน่าขอบคุณ เป็นสัญญาณภัยของกาย ที่มันเป็นธรรมชาติยอดเยี่ยมมาก ยุงกัดก็เจ็บ ธรรมชาติ อาการ เพื่อมันป้องกันภัย จะได้ช่วยเหลือกาย ถ้าไม่รู้อะไร มันก็ไม่ปลอดภัย มันจึงรู้ร้อน รู้หนาว รู้หิว รู้เจ็บ รู้ปวด จบไปแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
เห็นเวทนา มันสุข มันทุกข์ สุขทุกข์นี้มีถึงกายถึงใจรวมกัน พอเห็นกายเป็นเหตุ มันก็เบาลง เวทนาก็อ่อนลงไป ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่ก่อนเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ จึงเรียกว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา พอมาเห็นเวทนาสักว่าเวทนา มันก็หมดไปแล้ว คำว่าเวทนาจบแค่นั้น ไม่มาเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่มาหลงมารู้เพราะเวทนา เวทนาอย่างเดียว แต่ก่อนไม่รู้ รับใช้ ข่มขืน ขโมย ปล้นจี้ เพื่อได้เวทนา จึงทำให้เกิดเวทนาเยอะแยะ เกี่ยวกับตาก็มี หูก็มี จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง หล่อเลี้ยงไปด้วยวัตถุ อาการต่างๆ เพื่อให้ได้เวทนา ติดเหล้า ติดยา ติดบุหรี่ ติดสิ่งเสพติด อะไรต่างๆ มากมาย รับใช้เวทนาไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ โบราณท่านว่า กินจ๋อมจ๋อม ผอมจ้อกก้อก ไม่มีวัตถุให้จิตเขาชิน รูป รส กลิ่น เสียง ไปก็มี พอเห็นเวทนาสักเวทนา มันก็จบไป สิ้นภพสิ้นชาติของเวทนา ไม่หลงแล้ว มันก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ปฏิบัติธรรมศึกษาธรรมน่ะ มันไม่ใช่เหมือนเดิม มันพ้นภาวะเก่า ล่วงไปจากภาวะเดิม
เห็นจิตที่มันคิด มีอยู่ มันก็คิดเป็น เพราะมันมีรูป มีนาม มีจิต มีใจ มีคนเป็น ๆ มีคนยังไม่ตาย มีชีวิต มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ คิดเป็น ลักคิดบ้าง ไม่อยากคิดก็คิดบ้าง ตั้งใจคิดก็มี ไม่อยากคิดมันก็คิดก็มี ความคิดเนี่ย มันไม่รู้จักกาล ไม่รู้จักกาลเทศะ คิดได้ ทุกแง่ทุกมุม ป่าเถื่อน บางครั้งสำส่อน ความคิดเนี่ย ไม่เห็นมัน อยู่ดี ๆ กำลังมีสติอยู่ มันคิดขึ้นมา ไปแล้ว ออกไปแล้ว ปั๊บ ไม่รู้ ออกง่าย เข้าง่าย ไม่รู้ทัน ไปเสียแล้ว จึงได้เกิดจากความคิด เป็นสุขเป็นทุกข์ได้ เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะความคิดได้ เป็นกิเลสตัณหาเพราะความคิดได้ หลง มันหลอกแล้วหลอกอีก หลงในความคิดแล้วหลงในความคิดอีก พอมันคิดทีไรก็รู้สึกตัว นี่คือภาคปฏิบัติ ไม่ใช่ไปตามความคิด หาคำตอบจากความคิด
เวลาเราทำกรรมฐานฝึกหัด ก็ไม่ควรจะหาเรื่องมาคิด เวลานั่งสร้างจังหวะ ยกมือเคลื่อนไหว ก็ควรจะรู้เรื่องการเคลื่อนไหวนี้ นี่คือกรรม นี่คือการกระทำ เป็นที่ตั้งของการกระทำ เดินจงกรมก็รู้การเดินจงกรม เนี่ย! เวลาเดินจงกรมมันก็คิดได้ เวลานั่งก็คิดได้ เวลานอนก็คิดได้ แม้จะทำอะไรก็คิดได้ ชื่อว่าความคิด เราก็รู้ว่า คิดทีหนึ่งก็รู้ทีหนึ่ง กลับมารู้ เปลี่ยนตัวคิด กลับมาเป็นตัวรู้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก เห็นบ่อย ๆ ของที่เห็นอันเก่าบ่อย ๆ เหมือนเราเห็นหน้ากันน่ะ เห็นกันบ่อย ๆ ก็จำกันได้ ได้ยินเสียงพูดบ่อย ๆ ก็จำเสียงกันได้ ยิ่งคบกันนาน ๆ ก็รู้จักนิสัยใจคอ ถ้าเป็นคนอื่น
อันที่มันอยู่ในเรานี้ มีบัณฑิต มีคนพาล ก็หลีกเลี่ยงคบคนพาล ให้คบบัณฑิต บัณฑิตคือตัวรู้ คนพาลคือตัวหลง ความโกรธ ความทุกข์เป็นคนพาล ความไม่โกรธ ไม่ทุกข์เป็นบัณฑิต สัมผัสดู ไม่มีคำถาม ตอบเอาใครเอาเรา นั่งอยู่เฉย ๆ มันคิดไป กลับมารู้ ไม่ใช่ไปตามความคิด เข้าไปอยู่ในความคิด นี่คือภาคสนาม รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง ฝึกหัดตัวเอง ความหลงแท้ ๆ กลายเป็นความรู้ ความทุกข์กลายเป็นความรู้ ความสุขกลายเป็นความรู้ กิเลส ตัณหา ราคะ พันห้าร้อยแปดเป็นความรู้ได้ทั้งหมด เรียกว่า “เปลี่ยนร้ายเป็นดี” เรียกว่า “ภาคปฏิบัติ ภาคฝึกหัด” มาร้ายเอาเป็นดี มาผิดให้เป็นถูกไปเลย ทำภาคที่รู้สึกตัวเนี่ยให้เป็นศักดิ์สิทธิ์ เหมือนชี้ตายชี้เป็นได้ และเป็นการกระทำของตัวใครตัวเรา ถ้าไม่หัดก็ไม่เป็น จึงมาฝึกหัด ไม่ใช่ยื่นให้ แจกให้ได้ จึงมีสถานที่แบบนี้ มีการกระทำแบบนี้ มีรูปแบบแบบนี้ เป็นหลักสูตรอยู่ในชีวิตเราทุกคน อันเดียวกันทุกคน จะเป็นชาติใด ภาษาใด รูปใด วรรณะใด เพศใด วัยใด ไม่เกี่ยว ไม่ต้องเอามาอ้าง
ความรู้สึกตัวไม่มีเพศ ไม่มีวัย ไม่มีอาการ เวลา เป็นความรู้ของผู้รู้ ใครรู้ก็เป็นความรู้ผู้นั้น ใครไม่รู้ก็เป็นไม่ใช่ของคนนั้น เราจึงฝึกหัด เห็นจิต เวลามันคิด เห็นมัน รู้มัน จนเห็นได้ว่า จิตสักว่าจิต นั่นน่ะ ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา แต่ก่อนเราก็ไปตามจิต ความคิดไรถือว่าใช้มันหมดเลย มันคิดจะหัวเราะ ก็หัวเราะ มันคิดจะร้องไห้ ก็ร้องไห้ มันคิดจะโกรธ ก็โกรธ คิดจะทำอะไรก็แสดงได้ หน้าบูดหน้าบึ้ง จับหมัดกัดฟัน จับศาสตราวุธฆ่ากันได้ ด่ากันได้ ไปจากความคิด ความคิดที่ไม่ได้เจตนาก็เกิดความหลงคือความคิด ไปไกล ความคิดอย่างเดียว พอรู้สึกตัวก็ชี้หน้าเลย จิตสักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา สิ้นภพสิ้นชาติ อันภพนี้ได้ กระแสแห่งพระนิพพานย่อมเกิดขึ้นแบบนี้ ไม่ใช่จะไปบ้านใดเมืองใด
จนเห็นธรรมสักว่าธรรม ธรรมเป็นกุศล อกุศล มีอยู่ ความโง่ ความฉลาด ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน เป็นขวางกั้น เป็นอธรรม เป็นธรรมมืด ธรรมดำ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมขาว มีศีลมีสมาธิปัญญา ความไม่ดีต้องละ ความดีทำต่อไป เรียกว่าละความชั่ว เกิดขึ้นเมื่อใด เปลี่ยนความไม่ดีเป็นดี ทำดีต่อไป รู้ต่อไป ไม่ใช่ความไม่ดีเกิดขึ้น หมดกำลังใจ ไม่ใช่
เมื่อมีความไม่ดีเกิดขึ้น รู้ รู้สึกตัว ทำความรู้เรื่อยไป หลักเราก็มีอยู่ กลับมาเคลื่อนไหวเรื่อยไป ถ้าเดินจงกรมก็เดินจงกรมเรื่อยไป ไม่ใช่หยุด ไม่ได้อะไรเลย จนเข้าไปเป็นกับมัน นั่งหน้าเง้าหน้างอ หน้าบูด หน้าบึ้งตึงเครียด กระซึมกระซือ ไปถามดู เป็นไงหนู แย่ ไม่ไหวเลย ๆ ทำไมล่ะ มันเครียด มันคิดมาก ง่วงก็ง่วง เมื่อมันเครียดก็เครียด เมื่อมันคิดก็ไปอยู่ในความคิด เมื่อมันง่วงก็เข้าไปอยู่ในความง่วง หลวงพ่อไม่ได้สอนแบบนั้น
หลวงพ่อสอนให้เห็นมัน เป็นคนง่วง เป็นคนเครียดหรือเห็นมันเครียด เป็นผู้คิดหรือเห็นมันคิด หลวงตาสอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ อยู่ในลักษณะนี้นานเท่าไหร่ ทั้งวันเลยวันนี้หลวงพ่อ เบื่อหน่าย เห็นมันเลยเป็นไปกับมัน วันนี้หนูเครียดมาก ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่นักปฏิบัติ วันนี้ง่วงมาก ใช้ไม่ได้เราจะพูดออกมาสักคำก็ วันนี้หนูเห็นมันเครียด หนูเห็นมันคิด นั่น จึงเรียกว่าฝึกหัด ไม่ใช่ไปเป็นกับมัน เห็นมัน ถ้าเห็นมันก็ อิสระ ถ้าเป็นก็เป็นทาสของมันเรื่อยไป ต่ำไปเรื่อย ๆ ความดีหมดไปเรื่อย ๆ ถ้าเห็น ความดีเกิดขึ้น จนเห็นธรรมสักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตนเราเขา
สี่ภพ สี่ชาตินี่หมดไปเลย สิ้นภพสิ้นชาติ ไม่มี เรียกว่านิพพานตรงนี้ได้ เวทนานิพพานไปแล้ว กายนิพพานไปแล้ว เป็นแต่กายล้วน ๆ ใช้ให้เป็นประโยชน์ กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา หมดไปแล้ว อันที่เป็นภพเป็นชาติในกายหมดไปแล้ว สิ้นภพสิ้นชาติตรงนี้ได้ กระแสแห่งพระนิพพาน เวทนาก็สิ้นภพสิ้นชาติ สุขทุกข์ที่จะเกิดจากสุขทุกข์มาเป็นตัวเป็นตน สิ้นภพสิ้นชาติ มีแต่ภาวะที่รู้เข้าไป ภพชาติในจิต คิดอะไรเป็นภพเป็นชาติ บางทีภพชาติเกิดจากความคิดมากมาย เป็นเปรตก็มี เป็นอสุรกายก็มี เป็นสัตว์นรกก็มี
คิดขึ้นมาแล้วนอนไม่หลับ ทุกข์ น้ำตาไหล เพราะความคิดตัวเอง โกรธเพราะความคิดตัวเอง รับใช้มัน เป็นภพเป็นชาติ เป็นภพภูมิ นับไม่ถ้วน เกิดดับ ๆ เนี่ย สิ้นภพสิ้นชาติตรงนี้ เป็นนิพพานตั้งแต่ทีแรกเลย กระแสแห่งพระนิพพานย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ไปหาจะได้อะไร มันเป็น ไม่ใช่มันได้ มันเห็นมันเป็น แต่ไม่เป็น ไม่ใช่เรียนรู้ ความรู้ใช้ไม่ได้ ทำให้มันเป็น การทำให้เป็นนี่ไม่ใช่ไปใช้สมอง เป็นการฝึกหัด เราชอบใช้สมอง อะไรก็หาคำตอบจากความคิด ไม่ใช่ ไม่ใช่หาคำตอบจากความคิด เกิดจากการกระทำ กรรมเป็นสิ่งที่จำแนก ไม่ใช่เกิดจากความคิด
ความคิดชื่อว่าปัญญาอันหนึ่ง เป็น “จินตมยปัญญา” ใครก็รู้ รู้ว่าโกรธไม่ดี แต่ยังโกรธอยู่ รู้ว่าทุกข์ไม่ดี แต่ยังทุกข์อยู่ เป็นจินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากความคิด มีทั่วไปในโลก ต้องเป็น “ภาวนามยปัญญา” ปัญญาเกิดจากการเปลี่ยนร้ายเป็นดี จนชำนิชำนาญ ยอดเยี่ยมกว่า “สุตมยปัญญา” เกิดจากศึกษา อ่าน เรียนรู้อะไรมากมาย จบมาเป็นศาสตร์ นั่นก็เป็นสุต-การศึกษา โต้ตอบกลับไป จำได้ ไม่ใช่พบเห็น คิดได้ จำได้ ไม่ใช่รู้จำแบบนั้น เป็นการรู้แจ้ง สาธารณธรรมเป็นการรู้แจ้ง ตรงนี้ อันนี้เรียกว่า ตัวใครตัวมัน ไม่ใช่ของแบ่งปัน ถ้าเกิดความหลงต้องละ ให้เป็นความรู้ หลงทีไรรู้ ทุกข์ทีไรรู้เข้าไปเลย เป็นทุกข์ดูความเป็นทุกข์ ไม่ใช่ ความทุกข์กลายเป็นปัญญา ความทุกข์กลายเป็นนิพพานได้ เก่งจริง ๆ ถ้าถึงป่านนั้น แต่ก่อนความทุกข์เป็นความทุกข์ ฝึกไป ๆ ความทุกข์เป็นนิพพานไปเลย ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยงเป็นนิพพานได้เลย ความมีตัวมีตนเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวมีตนเป็นนิพพานไปเลย นิพพานคือมันไม่มีไออุ่น เย็นสนิทในความทุกข์ เย็นไป ๆ เหมือนเรากินข้าว แกงมันร้อนยังกินไม่ได้ ข้าวมันร้อนยังกินไม่ได้ กินอันเย็น ๆ ไปก่อน ให้มันเย็นแล้วจึงกินได้ นิพพานอยู่ในข้าว นิพพานอยู่ในความดุร้าย หมดพิษหมดสง ช้างพยศ ดุ ทำลายคนตาย ช้างหมดพยศ ขี่คอมันได้ ม้าพยศ ใช้เข้ารถ ม้าเทียมรถไปได้ ม้าหมดพยศ ก็ม้านิพพานแล้ว ใช้งานได้ คนนิพพานคือคนไม่ตาย หมดพิษหมดภัยแก่ตัวเองและคนอื่น
ปัญหาเรื่องกายเป็นทุกข์ ปัญหาเรื่องเวทนาเป็นทุกข์ ปัญหาเรื่องจิตที่คิดเป็นทุกข์ ปัญหาเรื่องอารมณ์เป็นทุกข์ ไม่มี มันก็เย็นไปมากมายแล้ว ทำไมจะไม่เรียกว่าประเสริฐ ไปเห็นรูปเห็นนามก็ ยิ่งเที่ยงไปเลย ไม่ต้องเรียกว่าสุขว่าทุกข์ เรียกว่า “อาการ” ไปเลย สรุปลงมาได้เลย มันเป็นสูตรไปอย่างนี้ พระพุทธเจ้าเทศน์สอนปัญจวัคคีย์อย่างนี้ ทางอันที่ควรสุดโต่ง ทางตัน ทางผ่าน มันผ่านมันตันตรงไหน มันผ่านได้ไหม ความหลงตันแล้ว ความรู้ผ่านไป เห็นมันหลงไม่ใช่เป็นผู้หลง ความทุกข์มันตันไว้ ความรู้สึกตัวเห็นมันทุกข์ ไม่ใช่เป็นผู้ทุกข์ ผ่านไปแล้ว อันใดที่มันตัน ไม่ควรเสพ อันใดที่มันสุดโต่งไม่ถึงที่หมาย ไม่ควรเสพ อันใดที่มันเป็นแล้วถึงจุดหมายปลายทาง นั่นเป็นควรเสพ ผู้ใดไปเสพความหลง ความทุกข์ ความโทษ ไม่ใช่พรหมจรรย์ เป็นธรรมอันต่ำ เป็นหีนธรรม เป็นธรรมต่ำทราม
บรรพชิต คือผู้ที่เห็นภัยไม่ควรเสพ ทุกคนเป็นบรรพชิตได้ เห็นภัย ความหลงเป็นภัย ความโกรธเป็นภัย ความทุกข์เป็นภัย ความไม่โกรธ ความไม่โลภ ความไม่ทุกข์ ไม่มีภัย ผู้ไม่มีภัยเรียกว่าอริยะน้อยๆ ไว้ ผู้มีภัยเรียกว่าปุถุ ผู้หนา มีแต่พิษภัย
ถ้าเราเบียดเบียนตัวเองได้ ก็เบียดเบียนคนอื่นได้ ถ้าเราไม่รู้จักสงสารตัวเอง ไม่รู้จักช่วยตัวเองก็ช่วยคนอื่นไม่ค่อยเป็น น่าสงสารที่สุด คือรูป คือนาม ไม่รู้จักช่วยรูป ไม่รู้จักช่วยนามเลย ปล่อยทิ้งไปเลย รูปเบียดเบียนนาม นามเบียดเบียนรูป พอมาศึกษาเรื่องนี้ โอ๊ย! น้ำตาไหลๆ สงสารรูป สงสารนาม กระตือรือร้น อันชื่อว่าทุกข์นี้ กระตือรือร้นมาก เหมือนไฟตกใส่ขา รีบปัดออกทันที อันชื่อว่าทุกข์ ก่อนเราผู้ฝึกหัดตัวเองก็เหมือนกัน บางทีบางคนไม่ค่อยฝึกหัดตรงนี้ ถ้าทุกข์ก็ยิ่งดี เอามาคิดไม่รู้จักลืม ๆ บางคนถึงกับพูดว่า ถ้ากูได้โกรธแล้ว ตายก็ไม่ลืม เอาแต่เรื่องนั้นมาคิด กลางคืนก็เอามาคิดจนนอนไม่หลับ มันบ้า ไม่รู้จักช่วยตัวเอง ถ้าไม่รู้จักช่วยตัวเอง มันจะอยู่ได้ยังไงเล่า จะพึ่งพาอาศัยกันได้ยังไง เรามีอารมณ์เป็นใหญ่ คุ้มร้ายคุ้มดี ฟู ๆ แฟบ ๆ ความรักกลายเป็นความเกลียดชัง ฆ่ากันเพราะความรักก็มี แตกร้าวสามัคคี เราจะอยู่กันยังไง เราไม่ใช่ตัวคนเดียว เกี่ยวกับกายกับใจ เกี่ยวกับรูปรสกลิ่นเสียง มันก็มีอยู่ในตัวเรานี้ ให้สิ่งเหล่านั้นลิขิตชีวิตเราเหรอ นอกจากนั้นก็ยังมีอยู่ทั่ว ๆ ไป ถ้าเรามารู้เรื่องนี้มันก็จบ อันเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ไปห้ามคนอื่น เราห้ามตัวเรา เราสอนตัวเรา เรานินทาเป็นเรื่องของเรา เราสรรเสริญเป็นเรื่องของเรา เรารู้กว่าคนอื่นเขา คนอื่นอาจจะไม่รู้เรา เท่ากับตัวเรารู้ตัวเรา มันก็มีแน่นอน เราเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน อย่างอยู่ที่นี่ ก็มีพระ มีโยม มีฆราวาสญาติโยม มีคนหลง คนรู้ คนหนึ่งรู้ คนหนึ่งก็หลงก็มี แล้วก็มองความหลงเป็นคนอันเดียวกันไปเลย บางทีก็เกี่ยวข้องด้วยกัน ไปมาหาสู่เดินไปด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน บางคนก็ชวนให้หลง บางคนก็ชวนให้รู้ บางคนเขาชวนให้หลงกลายเป็นความรู้ บางคนก็ชวนให้หลงกลายเป็นความหลง มีเหมือนกัน คบกับแร้งเป็นแร้ง คบกับกาเป็นกา บางคนมีปัญญา เราจึงพยายามรู้เรื่องนี้ให้ดีๆ ปฏิเสธไม่ได้
ในโลกนี้ มันเป็นโลกธรรม มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ มีได้มีเสีย อันนั้นเป็นสิ่งที่เหนือชีวิตเรา แต่ถ้าผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว เหนือสิ่งเหล่านั้น อยู่เหนือโลกธรรม ทับถมไม่ได้ ถ้าผู้ไม่ฝึกละก็ต่ำ เมื่อนินทาก็เป็นทุกข์ เมื่อสรรเสริญเป็นสุข เรียกว่าต่ำ ถ้าเราฝึกมาสูง มนุษย์ใจสูง เห็นไม่ใช่เป็นมนุษย์แล้ว ไม่เป็น มีแต่เห็น เมื่อเป็นมนุษย์ เป็นมรรค เป็นผล เป็นพระได้ มนุสโส ปฏิลาโภ การเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐ ต้องใจสูง ๆ เห็นมัน อย่าไปเป็นอะไรกับอะไรง่ายเกินไป ต้องมาฝึก ทำไงเราจึงรู้สึกตัว เรามีสิทธิ ๑๐๐% อยู่ที่นี่ ไม่ต้องคิดเรื่องกิน เรื่องอะไรต่าง ๆ คนอื่นทำให้เราแล้ว ที่หลับที่นอนไปหาได้ ไปบอก เขาเตรียมไว้ให้ เจ็บไข้ได้ป่วยบอกเรา มีรถพาไปหาหมอ ตามสติปัญญาของเรา ก็ช่วยกันได้ แต่ต้องรู้จักตัวเอง รู้จักกิน รู้จักใช้ชีวิตให้ดี ๆ
ทุกวันนี้ไม่เหมือนเก่า อย่างคำขวัญของรัฐบาล กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ต้องเคร่งครัด อย่าประมาท ประมาทไม่ได้ มีแต่โทษแต่ภัย มีแต่พิษภัย ในแผ่นดินก็มีพิษ ในอากาศก็มีพิษ ในน้ำก็มีพิษ ต่อไปจะหาที่เดินไม่ได้ในแผ่นดินนี้ หาอากาศหายใจไม่ได้ เอาขาจุ่มน้ำลงไปก็เกิดโรคแล้ว ฝีมือของใคร ฝีมือของคนหลง ฝีมือของคน ไม่ใช่มนุษย์ มนุษย์ต้องรับผิดชอบ อย่าทิ้งอะไรเกลื่อนกลาด อย่ามักง่าย ใช้ชีวิตให้แม่นยำชัดเจน อย่ามั่วซั่ว คิดสิ่งใด พูดสิ่งใด มีสติสัมปชัญญะให้รอบคอบ ถ้าไม่มีใครบอกมันจะอยู่กันยังไง ไม่มีการกระทำจะเกิดอะไรขึ้น จะต้องงม ๆ ซาว ๆ กันอยู่อย่างนี้ ทุกวันนี้ ช่วยกันอยู่นี้ ถ้าเอาตัวรอดมันก็ดี ไม่ต้องมานั่งอยู่นี่ ไม่ต้องมาพูดอยู่นี่ อยู่ที่ไหนก็ได้ เฉพาะกินนี่ไม่มาก ขอใครกินก็ได้ แต่เราไม่ใช่อย่างแนวนั้น ต้องมาบอก มาสอน มาเป็นเพื่อน เป็นมิตร อยู่ด้วยกัน สุขด้วยกัน ทุกข์ด้วยกัน หิวก็หิวด้วยกัน อิ่มก็อิ่มด้วยกัน อาหารอย่างเดียว ที่นี่อาหารจากโรงทาน ไม่ใช่อาหารจากรีไซเคิล หรือมีรีไซเคิลมั้ย? ยกออกจากหม้อไปตั้งให้กินร้อน ๆ แต่ต้องไวสักหน่อย อย่าเฉื่อยชา พระตักก่อนก็รีบ ๆ สักหน่อย เพื่อให้มันทันเวลา อย่าเฉื่อยชา ตักไว ๆ ดูดี ๆ เอาให้อิ่ม อย่าให้เหลือ หัดได้มั้ย? เหลือมั้ย? เหลือไปให้ไก่เหรอ ให้กระรอกเหรอ อาจจะให้ปลา ไม่จำเป็นก็อย่าให้ ให้เฉพาะข้าวก็ไม่เป็นไร อย่าให้มากเกินไป ถ้าเป็นขนมมี อาหารมี น้ำแกงควรจะเอามาให้ปลากิน ถ้าเป็นก้อนข้าวนิดหน่อย ไม่เศษ ไม่มีซาก ปลามากินหมด บางทีก็น่าให้นะปลานี่ มันอ้าปากรอไว้ ถึงเวลา เห็นไหม เดินไปสะพาน มันทำเป็นตัวงอ ๆ อ้าปาก ปลาดุก เอ๊! ไอ้นี่มันก็ทุกเวลานะ โยนข้าวให้ มันก็คาบเอา ไม่เหลือ ใครหัดมันไม่รู้นะ เป็นสามเณรภาคฤดูร้อนนะ สามเณรภาคฤดูร้อนมาอยู่ ก็ให้อาหารมัน พวกเราก็ไม่จำเป็นนะ เศษอาหารอย่าไปเทลงน้ำ ถ้าเป็นก้อนข้าวนิดหน่อย ไม่เป็นไร อย่ากินเผื่อหมาเผื่อไก่เกินไป (หัวเราะ) เห็นเอาไปให้ไก่เป็นฝูง ๆ แถวนี้