แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อเป็นคนพูด ท่านทั้งหลายเป็นผู้ฟัง ฟังแล้วเอาไปทำดู ไม่ใช่ฟังแล้วจำนะ ไม่ใช่พูดเพื่อให้ไปจำเอา เอาไปทำเอา เอาไปสัมผัสเอา เพราะว่าสิ่งที่พูด พูดเรื่องธรรมะ ไม่ใช่เล่านิทาน เล่านิยาย เรื่องของธรรมะ ก็คือเรื่องของชีวิตเรา ชีวิตเราก็มีสองส่วน คือ กายกับใจ กายกับใจนี้มันมีปัญหา ถ้าเราไม่รู้จักมัน ถ้าเรารู้จักมัน ก็เป็นปัญญา เป็นมรรคเป็นผล เป็นนิพพาน มันได้สวรรค์นิพพาน เพราะกายกับใจ มันเป็นสัตว์นรก เดรัจฉาน อสุรกาย เป็นเปรต เพราะกายกับใจ มันมีบุญ มีบาป เพราะกายกับใจ เราจึงต้องศึกษา หาคำตอบ หาคำเฉลย ให้ได้ อย่าจน ให้มีช่องทาง บอกผิดบอกถูกอยู่ การผิดการถูก ไม่ใช่คนอื่นบอก กายมันบอก ใจมันบอก ถ้าเราไม่สนใจก็ไม่รู้ เฉย เฉยกับอาการที่มันบอก เหมือนเป่าปี่ใส่หูควาย ไม่ได้ยิน ได้เห็น หรือเข้าหูซ้าย ออกหูขวา ก็เอาแต่คอยร้องไห้หัวเราะ เห็นผลงานของเหตุปัจจัยแล้ว รับใช้ตรงนั้น เราต้องมาศึกษาดู
เมื่อวานก่อน ได้พูดเรื่องการปฏิบัติเบื้องต้น คือ การเจริญสติ ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม ที่เป็นต้นตอ ที่มันจะหลงก็หลงตรงนี้ มันจะรู้ก็รู้ตรงนี้ ก็เหมือนกับไขกุญแจแก้โซ่ ได้ก็แก้ตรงนี้ มันจึงจะไปไกล ถ้าไม่แก้ตรงนี้ก็ เวียนว่ายตายเกิด อยู่กับหลัก อยู่อย่างนี้ เราจึงมาดู มามีสติ มาสร้างสติ ให้ดูกายเป็นกรรมฐาน กรรม คือ การกระทำ ฐาน คือ ที่ตั้งเอาไว้ อย่าให้ไปอยู่ที่อื่น สติมันมี แต่เราใช้ไม่ถูกที่ เป็นสติธรรมดา ไม่ใช่เป็นสติปัฏฐาน สติธรรมดา อะไรก็มีสติเหมือนกัน เก้ง กวาง นก หนู สัตว์เดรัจฉาน เขาก็มีสติเหมือนกัน อันนั้นเป็นสติธรรมชาติ สัญชาตญาณของสัตว์
สติปัฏฐาน คือ เอาไปดู มาดูกาย ดูทำไม เพราะหลักมันอยู่ตรงนี้ เห็นกาย กายมันจะพาให้เราหลงอะไรบ้าง ถ้าหลงกาย ก็เป็นตัวเป็นตนในกาย หลายภพหลายชาติเหลือเกิน เป็นภพเป็นชาติอยู่กับกาย เอากายเป็นภพเป็นชาติ เอากายเป็นตัวเป็นตน เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นไปไกลเหลือเกิน จนเกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ เป็นภพเป็นชาติ เกิดดับ ๆ
เกิดครั้งเดียว ได้มหาภูตรูป เป็นรูปในกาย เกิดมาครั้งเดียว แต่มันเกิดซ่อนอยู่ตรงนี้อีก เรียกว่า นามรูป มันเกิดอยู่ที่กาย เป็นภพ ภพที่เกิดอยู่ที่กายนี้ เราเรียกว่า สี่ขันธ์ มีขันธ์สี่ขันธ์ มีขันธ์ห้าขันธ์ ขันธ์หนึ่งที่เรากรวดน้ำตอนเย็นเมื่อกี้นี้ มีขันธ์ ๆ เดียว กำลังท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ขันธ์สี่ขันธ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดอยู่ที่มหาภูตรูป ก็เป็นภพเป็นชาติได้ ชาติภพที่เกิดเป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เขาก็มีสี่ขันธ์นี้ เป็นเปรต เป็นอสุรกาย สัตว์นรก เดรัจฉาน ก็มีสี่ขันธ์ เป็นเทวดาก็มีสี่ขันธ์ เป็นพระอินทร์ พระพรหม ก็มีสี่ขันธ์ ส่วนมรรคผลนิพพานไม่เกิดอยู่ตรงนี้ ดับไปแล้ว ปิดประตูนรก ปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเกิด มันก็ไปสุดทาง
ถ้าไม่ศึกษาตรงนี้ ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ เหมือนวัวควายผูกติดกับหลัก ก็อยู่ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ ก็ได้พูดว่า เวทนาก็ดี มันมีตัวเวทนาในเวทนา ในเวทนา เวทนาธรรมชาติ มันก็เป็นสัญญาณไป มันดี มันมีประโยชน์ แต่เวทนาที่ติดกับความยึดมั่นถือมั่น มีตนอยู่ในเวทนานั้น ที่มันเป็นภพเป็นชาติ เราก็เกิดอยู่อย่างนี้ ทุ่มเทกับเวทนา ไปซื้อไปหามา ไปปล้นไปจี้ ไปข่มขืนเอา ไปพอใจเอา ไปขัดไปแย่งกัน เกิดสมมติบัญญัติ ยึดมั่นถือมั่น ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ตัวใช่ตนเลย เวทนาสักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา พระสูตรก็แสดงเอาไว้แล้ว เราไม่เงี่ยหูฟัง เราไม่ได้ดู ไม่ได้เห็น มีแต่เข้าไปเป็นกับมัน
เป็นจิตก็ดี จิตนี่ มันเป็นธรรมชาติของจิต ประกอบเป็นคู่กับอารมณ์ คู่กับจิต จิตเป็นผู้ที่รับ จิตถึงก่อน จิตไปก่อน สำเร็จอยู่ที่จิต เหมือนที่เราสวดน่ะ “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา” ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วที่ใจ แต่ว่าหนังสือทำวัตรนี้แปลว่า มีใจประเสริฐสุด แต่ต้นตำราจริง ๆ ไม่ใช่แปลอย่างนี้ ในหลักภาษิต ในตำราที่ร้อยกรองมา อันนี้ผู้แปลหนังสือทำวัตรก็ ก็แปลมาใหม่ ก็เลยมีคนตำหนิอยู่ เราก็ไม่รู้ตำรา แต่ว่า ว่าอย่างไงก็อย่างนั้น ไม่ได้แก้ได้ไข เอ้า! ได้ทั้งนั้นแหละ “พงฺคมา ธมฺมา” โทษมัน “มโนเสฏฺฐา มโนมยา” น่ะ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วได้ที่ใจ ที่ท่านเล่าเรียนมา ในนักธรรมตรีโทเอก ก็จบนักธรรมเหมือนกัน หลวงตาฟังแล้วก็เนี่ย มันมาถึงใจ ใจเป็นคู่กับอารมณ์ ใจมันเกิดเก่ง ถึงก่อน มาก่อน รับรู้ก่อน รองรับทุกอย่าง เป็นทุกอย่าง สาธารณะ สำส่อน โสเภณี จิตโสเภณี โสเภณีจิต อะไรก็เอาหมด ความโกรธก็เอา ความโลภก็เอา ความหลงก็เอา ความรักก็เอา ความชังก็เอา อยู่ในจิตดวงเดียว แต่ว่ามันแสดงออกในศาสตร์ต่าง ๆ เหมือนดวงอาทิตย์ดวงเดียว แต่ว่าเรามองเงาดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ในน้ำ เวลาน้ำมีคลื่น ดวงอาทิตย์ก็เป็นหลายดวงไป แต่จริงๆ มีดวงเดียว ที่มันเป็นหลายอันเพราะมีคลื่น คลื่นของจิต คือ อารมณ์ แสดงออกต่าง ๆ หัวเราะ ร้องไห้ แล้วก็เกิดอย่างนี้ ความรักกลายเป็นความชัง อ่านหนังสือพิมพ์ สามีภรรยารักกัน แต่งงานกันจนมีลูก 2 คน พอเกิดชังกัน ก็ด่ากัน ตีกัน เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน ก็ภรรยาก็ทนไม่ได้ หอบลูกหนี สามีก็ตามไปเอาคืนมา ภรรยาก็ไม่ยอมคืน ก็เลยเอามีดแทงภรรยาตาย แทงภรรยาตายแล้ว มาแทงตัวเองตาย ทิ้งลูกกำพร้า ๒ คน ฝาแฝดอายุ ๘ ขวบ ความรักกลายเป็นความศัตรู เอาคู่อริ ตายกันได้ เพราะนั้นนี่เป็นสังขาร เราก็ยอมใช้สังขาร รับใช้สังขาร เป็นขี้ข้าสังขาร เวลามันโกรธก็ทำชั่วได้ เวลามันไม่โกรธก็ปรกติ แต่ชีวิตจิตใจนี้ มันก็ไม่มีความโกรธตลอดเวลา มันเป็นจรมาเป็นครั้งเป็นคราว ดังที่พูดวันนั้น
จิตของเราเหมือนศาลาหลังนี้ อารมณ์เหมือนอาคันตุกะที่จรมา อาคันตุกะที่จรมา ถ้ามาดีอย่างพวกเราพระเณร ญาติโยมเป็นคนดี มาอยู่ที่นี่ ก็ใช้ที่นี่เป็นประโยชน์ สะอาดดี พระก็เกรดเอ ศาลาก็เกรดเอ สะอาดดี นอกจากเราไม่มาอยู่ อะไรมาอยู่ มันก็ทำให้ผิดเพี้ยนไป ศาลาหลังนี้ จิตใจเราก็เหมือนกัน เรามันรับอะไรทุกอย่างเกินไป หัดรับความรู้สึกตัว ลองเข้าไปดูเป็นเจ้าของ แต่ก่อนนี้กายใจน่ะ ไม่มี ๆ ใครเป็นเจ้าของ สาธารณะ บางทีความหลงเป็นเจ้าของนานเหลือเกิน ความโกรธเป็นเจ้าของข้ามวันข้ามคืน ความทุกข์เป็นเจ้าของข้ามวันข้ามคืน ความรักความชังเป็นเจ้าของข้ามวันข้ามคืน เราก็ใช้ไปในทางที่ผิดพลาด ซ้ำมันลงไป จนเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ เพราะอารมณ์ร้ายกว่าเสือทำลายคนมามากแล้ว เราจึงมาดูเห็นจิตในจิต จิตก็เป็นจิตล้วน ๆ รับรู้ แต่ว่าในจิตนั้นมีอารมณ์มาย้อม เรานึกว่าเรา ความโกรธนึกว่าเราโกรธ ไม่ใช่ มันในจิตที่มันมาเปื้อนเฉย ๆ เหมือนผ้าเรามันสะอาดแต่เดิม แต่สิ่งสกปรกมันจรมา มาเปรอะมาเปื้อนเข้า เพราะเราใช้ไม่ถูก เรารกละเลือนเกินไปก็เปรอะเปื้อน เหมือนเรามีมีด ใช้มีดไม่ถูกประเภท ถ้าผิดประเภทก็เสียหาย การใช้ใจนี่ เราก็ต้องใช้ให้เป็น ยิ่งมาฝึกหัด มาดูแล กายใจของเราให้มันคุ้ม อย่าปล่อยปะละเลย
ปฏิบัติธรรม คือ มาดูแลนี่แหละ ให้มันอยู่ในร่องในรอยดู เหมือนเราดูแลคนป่วย ดูแลลูกอ่อน ดูแลสิ่งของ ดูแลต้นไม้ที่ปลูกไว้ เวลามันเหี่ยว มันขาดน้ำ ก็เอาน้ำไปรดมัน มันก็เจริญเติบโตได้ ออกดอกออกผล ในกายใจเรานี้ เราดูแลดี ๆ มันก็เป็นดอกเป็นผล เรียกว่า มรรคผลนิพพาน ศาสนานี่ต้องมีมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด ถ้าพุทธศาสนาไม่มีมรรคผลนิพพาน ไม่ต้องมาศึกษา ไม่ต้องมามีศรัทธาสร้างวัดสร้างวาให้เสียทรัพย์สินเงินทอง เพราะมีมรรคผลนิพพาน เราจึงมาสร้าง มีศรัทธา สร้างแล้วก็เป็นแหล่งการศึกษา แหล่งเรียนรู้ มาใช้เป็นการศึกษา มาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ช่วยกันรักษาเอาไว้ เพื่อได้ใช้กันนาน ๆ ไม่ใช่สร้างแล้วเพื่อทำพิธีรีตองไปเฉย ๆ ไม่เป็นมรรคเป็นผล มาใช้เพื่อเป็นการปฏิบัติ ใช้เสนาสนะเพื่อบำเพ็ญภาวนา ไม่ใช้เพื่อโอ้อวด ใช้เพื่อบำเพ็ญภาวนา นี่ก็ให้มันหลุดออกไปจากกายจากเวทนา จากจิต จากธรรม เพราะชีวิตของเราน่ะ มันก็ฟรี เกิดแก่เจ็บตายฟรี ๆ แทนที่จะมีประโยชน์ ชีวิตเราก็เกี่ยวข้องกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การเกิดแก่เจ็บตายไม่ใช่มอบให้คุณหมอ อันนั้นเป็นอันที่สอง อันที่หนึ่งต้องมอบให้เราเป็นเจ้าของดูแล มันเกิดยังไง ทำไงจึงจะไม่เกิด เราทำเกี่ยวข้องกับการเกิด ที่มันเกิดเป็นนามรูปนั่นน่ะ เราทำยังไง มันเกิดมากเหลือเกิน เกิดดับ ๆ จนนับไม่ถ้วน สตินี่เป็นตัวคุมกำเนิดของการเกิดนามรูป มีแต่ใช้มัน เมื่อมันเกิดทางนามรูป มันก็มีแก่ มันก็มีเจ็บ มันก็มีตาย เป็นภพเป็นชาติไป เช่น ความรักก็แก่เป็นก็ตายเป็น ความโกรธก็แก่เป็นตายเป็น ความทุกข์ก็แก่เป็นตายเป็น เราเวียนว่ายตรงนี้ ให้ตรงนี้รับใช้ลงโทษเรา เรารับใช้ก็เลยลงโทษเรา นั้นเราจึงดู เหมือนพระพุทธเจ้าสอนพวกเรา
เมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์ได้ตรัสรู้ครั้งแรก พระองค์ได้ออกจากพระโอษฐ์ ไม่มีใครมา น่ะอาราธนาให้แสดงธรรม พระพรหมก็ยังไม่มาอาราธนาให้แสดงธรรม พระองค์ก็เอาพระโอษฐ์ออกมา ออกอุทานออกมาว่า แต่ก่อนนี้เราไม่มีญาณหยั่งรู้ จิตของเราได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นเอนกชาติ นับไม่ถ้วน การเกิดตามภพตามชาติต่าง ๆ เป็นทุกข์ทุกคราว เกิดทีไรเป็นทุกข์ร่ำไป วันนี้เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำอะไรให้เราไม่ได้อีกต่อไป โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงแล้ว ซึ่งสภาพอะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป คือมันถึงมรรคผลนิพพาน ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ แต่ก่อนนี่มันรับใช้การปรุงแต่ง ออกมาจากโอษฐ์ เรียกว่าปฐมภาษิต เป็นครั้งแรก แล้วก็นำมาสวดกัน แต่เราไม่ถึง ไม่ว่าถึงคือพระนิพพาน มีแต่ว่ามันสิ้นไปแห่งตัณหา จบแค่นี้ ที่สุดมันคือพระนิพพาน ลงตรงโน่นนะ แต่พวกพิมพ์หนังสือทำวัตรก็ตัดออก กลัวนิพพานหรือเปล่าไม่รู้ (หัวเราะ) นะ ตัดออกซะ ที่จริงมันถึงนิพพานนะ สุดท้าย ภาษิตข้อนี้ พุทธภาษิต ปฐมภาษิตนะ
เราจึงมาดูการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การเกิดแบบหนึ่ง ก็คุณหมอดูแล พยาบาลดูแล ทำคลอด อันการเกิดจากจิตใจของเราเนี่ย ที่มันเกิดเป็นภพเป็นชาตินี่ เราต้องดูแล คุณหมอก็ช่วยเราไม่ได้ อย่างเกิดก็เกิดในภพภูมิที่ดี อย่างน้อยปิดอบายภูมิได้ เป็นเทวดา เป็นพระพรหม เป็นพระอินทร์ เป็นพระ
เวลาเราปฏิบัติกับหลวงปู่เทียน สมัยสามสิบ สี่สิบปี พอเรามารู้เรื่องนี้เข้า รู้รูปธรรมนามธรรม รู้บุญรู้บาป รู้ศาสนา รู้พุทธศาสนา รู้ปรมัตถ์ รู้วัตถุอาการต่าง ๆ อยู่ในกายในใจ เป็นอารมณ์ไป เหมือนกับว่าได้กระแส ได้ทิศทาง เห็นทางไป ไม่ใช่เห็นด้วยตา พอเห็นรูป เห็นนาม เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันก็เห็นเป็นรูป เป็นนาม มันเป็นอาการ มันเป็นธรรมชาติ มันบอกเรา รูปมันบอก นามมันบอก มันก็เอารูปเอานามนี่ทำความดี ละความชั่ว ได้เด็ดขาด
หลวงพ่อเทียนถามว่า “เป็นเทวดาได้ไหม” “เป็นได้ครับ”
“ปิดอบายภูมิได้ไหม” “ปิดได้ครับ”
“เป็นพระได้ไหม” “เป็นได้”
ปานนั้นนะ มันเป็นทางวัตรปฏิบัติทางชีวิตจิตใจของเรา มันต่างเก่า มันล่วงพ้นภาวะเดิม นี่ก็ปิดอบายภูมิได้ ผู้มีสติสมบูรณ์นี่ปิดอบายภูมิได้ แต่ก่อนเรากลัวนรก เพราะเราไม่รู้ บัดนี้เราเห็นแท้ ๆ เห็นกับตา จะให้มันอยู่กับเราทำไม เหมือนเราเห็นงูพิษ เราจะไปให้งูมันกัดเรายังไง เพราะเราเห็น เห็นกับตาแท้ ๆ เห็นกับการกระทำ มันเกิดขึ้นกับกายกับใจเรา เราก็ป้องกันได้ เป็นพระได้ไหม เป็นได้ พระคือมันใจมันดีกว่าเก่า มันรู้กว่าเก่ามันไม่โง่ แต่ก่อนมันโง่ ไม่รู้อะไร โกรธก็เอา รักก็เอา ชังก็เอา ทุกข์ก็เอา สุขก็เอา สารพัดอย่าง บัดนี้มันไม่เป็นเช่นนั้น มันเรื่องเฉพาะน้อย ๆ พับ เหมือนคนพับผ้าใส่กระเป๋าถือ กระเป๋าใบใหญ่อยู่ พับใส่กระเป๋ากางเกง ไปไหนอยู่กับเรา เห็นบุญ เห็นบาป รู้ศาสนา รู้พุทธศาสนา การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แทนที่จะเป็นทุกข์ มันก็เป็นปัญญาได้ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ บัดนี้เราถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์นี้จะปรากฏชัดแก่เรา “อุททิสสะ อะระหันตัง สัมมาสัมพุทธัง” อุทิศทำตามพระพุทธเจ้า มันมีทางไปอยู่ ไม่จน ไม่ต้องจนพวกเรานะ พุทธศาสนานี้ เป็นทางอันเอกเลย ถ้าทางเอกามัคโควิสุทธิยา เป็นสถาบันของชีวิตเรา สุคะโตเขียนไว้หน้าวัดเลย สถาบันสติปัฏฐาน สถาบัน คืออะไร ไม่ใช่อาคารคณะหนึ่งคณะสอง สถาบัน คือชีวิตของเรา มันสมบูรณ์แล้ว เป็นสถาบันที่ละความชั่วได้ ทำความดีได้
เมื่ออุทิศมาทำตาม ลองดู มาศึกษา ลองดู ให้มันพบ ให้มันเห็นเข้า การเกิดการแก่ การเจ็บ การตายนี่ มันเป็นเรื่อง ทำให้เกิดมรรคเกิดผลก็ว่าได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มาเศร้าโศก ก็พูดให้เขาฟัง ก็เลยชวนมาปฏิบัติ ก็มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น เพราะฉะนั้นความทุกข์นี่ มันมีอารมณ์ ก็รู้อารมณ์ มันก็นอนเนืองอยู่ในจิตใจเรา เรื่องเก่ามาคิดแล้วคิดอีก ย้ำคิดเรื่องเดิม ย้ำคิดเรื่องเดิม ก็เป็นกรรมอย่างนั้น หัดปล่อยหัดวาง ไม่ใช่เราคนเดียว คนอื่นก็เหมือนกัน ในโลกนี้ มันต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น เพราะสามีเป็นคนดีจึงคิดถึง ไม่ต้องคิดถึง สามีเป็นคนดี เขาก็ไปสู่ภพดี ไม่ต้องห่วงเขา อย่างหลวงตาเคยไปสอนอาจารย์ในราชภัฎเมืองเลย พ่อเสียชีวิต เขาก็เสียใจ ทำใจไม่ได้ ร้องไห้ เขาว่าพ่อผมเป็นคนดี พ่อผมเป็นคนดี ผมขาดอะไรสักอย่าง ยังทำใจไม่ได้ ก็บอกว่าโอ๊ย! พ่อเราเป็นคนดี พ่อเราเป็นพ่อที่สมบูรณ์แบบแล้ว ไม่ขาดตกบกพร่อง พ่อได้ทำหน้าที่ จนอาจารย์ได้เป็นอาจารย์สอนราชภัฎ ไม่บกพร่องเลย ไม่ต้องห่วงท่าน สบายล่ะ ท่านก็ไปดี เพราะท่านทำดีแล้ว ไปห่วงท่านทำไม เปลี่ยนใหม่ ๆ เปลี่ยนทางเส้นทางคิดใหม่ อย่าไปคิดแบบความดีของพ่อเอามาเป็นทุกข์ ความดีของพ่อแทนที่ อู้! เรานี่พ่อของเราเป็นคนดี พ่อเราตายไป เราละคนหนึ่งจะต้องเป็นคนดีเหมือนพ่อเรา มั่นคงกว่าเก่า อย่างนี้จึงจะถูกต้องนะ เราก็เปลี่ยนไปได้ ถ้าสามีเป็นคนดี เป็นทุกข์ ไม่ใช่ เขาไปดีแล้ว อาจจะดีกว่าหนูด้วยนะ หนูยังร้องไห้ ยังเลี้ยงลูกอยู่ แต่ว่าดีหน่อย คือเป็นพยาบาลไม่ลำบาก ไม่กลัวอะไร ไม่มีหมู่มีมิตรเพื่อนฝูงไม่มีญาติพี่น้อง หลวงตาขอเป็นญาติคนหนึ่ง มาเถอะ มาที่นี่ มาบ้านเรา มีแต่ญาติกัน มาปฏิบัติธรรม ใครก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ หลวงตาก็เป็นลูกกำพร้าแล้ว ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ตายกันหมดแล้ว แต่ว่าในจิตใจนี่ มันไม่เป็นเช่นนั้น
ถ้าเราเป็นทุกข์เพราะการเกิดแก่เจ็บตาย อย่างนี้ ต้องมารู้จักชัดเจน เอาเรื่องนี้เป็นปัญญา อย่างที่พาคุณหมอประสาทไปสวดอยู่ที่โรงพยาบาลชัยภูมิ ห้านาทีทองก่อนใจจะขาด เอาพระสูตรไปสวด คุณหมอก็ว่า ไปช่วยคนใกล้จะตายได้ผลดี ไปสวดพระสูตรต่าง ๆ “สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ” อย่างที่สวดให้ฟัง เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารไม่เที่ยง เมื่อนั้น ย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน เอาความไม่เที่ยงเป็นพระนิพพาน เอาความเป็นทุกข์เป็นพระนิพพาน ไปงมไปประดับมันทำไม เอามาเป็นมรรคผลนิพพาน เหมือนต้นไม้ได้ปุ๋ย ความเกิดแก่เจ็บตาย มันเป็นปุ๋ยให้เกิดมรรค เกิดผลได้ ไม่ใช่มาลงโทษเรา เห็นทุกข์ไปจึงไม่มีทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่นี่ เห็นทุกข์ เห็นของประเสริฐ เหมือนเราเห็นงูพิษ โอ้โถ! ถ้าเราไม่เห็นมัน มันจะทำลายเรา
คนที่เห็นทุกข์นี่ มันประเสริฐที่สุด ที่จะเห็นสี เห็นแสง เห็นอะไรต่าง ๆ เห็นความเกิด แก่ เจ็บตาย มันมี มันมีอยู่ทุกคนน่ะ จะไปกลัวมันทำไม เอามาเป็นมรรคเป็นผล นี่คือปฏิบัติธรรม คือศึกษาธรรม ถลุง ย่อยให้มันเหลือสูญ เกิดแก่เจ็บตายไม่มีหรอก ไม่มี เป็นของรูป เป็นธรรมชาติ รูปนี้ไม่มีใครป้องกันได้ เหมือนเราสวดเมื่อกี้นี่ ไม่มีใครเป็นใหญ่ ไม่มีใครเป็นป้องกันได้ ความชราแก่เฒ่านำเข้าไม่ยั่งยืน ย่อมละทิ้งในสิ่งทั้งปวง นี่คือรูป รู้จักมันซะ ไม่ใช่ไปถนอม จนคอยเจ็บคอยปวด อกหักเสียใจ เพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่เลย เราใช้มันสิ เราใช้มันสำเร็จประโยชน์ เป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา พวกเราสุคะโตจะพากันศึกษากันเรื่องนี้กัน และศึกษาเรื่องอื่นไปด้วย เอากิจธุระหน้าที่ของเพื่อนภิกษุ ญาติโยมอื่นช่วยกันไป บอกกัน สอนกัน อย่ามาอยู่เฉย ๆ เป็นแหล่งศึกษา แหล่งเรียนรู้ รู้ตัวเองนี่แหละ เราไม่ใช่จบปริญญามาจากไหน
ถ้าปัญญาคือ “ญาตปริญญา” กำหนดรู้ตัวเองอย่างรอบคอบ เรียกว่าญาตปริญญา “ตีรณปริญญา” - แจกแจงออก ไม่ให้เป็นดุ้นเป็นก้อน เห็นรูปก็เป็นรูป เวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แจกออกไป เห็นจิตก็สักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่เหลืออะไร เหลือสูญ เรียกว่า ตีรณปริญญา แจกออก ไม่เป็นดุ้นเป็นก้อน ไม่ให้มันถูกเรา ต้องเกิดเจ็บปวด “ปหานปริญญา” ทำให้มันหมดไป อย่าให้มันอยู่ข้างหน้าเรา หมดไป มันหมดไป พอมันหลง ความรู้เกิดขึ้น ความหลงก็หมดไป หมดไปแล้ว ความทุกข์เกิดขึ้น ความรู้เกิดขึ้น ความทุกข์ก็หมดไปแล้ว เรียกว่า ปหานปริญญา คือทำลายสิ่งที่มันเป็นบาปอกุศลให้มันหมดไป ไม่ใช่ไปทำวิธีอื่น อ้อนวอน บวงสรวง เสียเคราะห์ สะเดาะโชค บอกจริง ๆ อย่างนี้ บางคนก็ยังมาขอน้ำมนต์จากหลวงตา เอาผ้าผูกแขน บอกการปฏิบัติ เขาไม่เอา เขาจะเอาของปลอม ๆ ไม่อยากได้ของจริง แจกเหรียญจตุคามรามเทพก็ชอบใจ ให้แจกธรรมะอย่างนี้ ไม่ชอบ เพราะคนเรามันหลงอยู่ เพราะฉะนั้นจึงบอกกันนี่ คือการปฏิบัติธรรมนี้ ปฏิบัติธรรมนี้ ทำละความชั่วด้วยกายด้วยใจของเรา ทำความดีด้วยกายด้วยใจของเรา เราไปเชื่อใคร ถ้าเราไม่เชื่อตัวเอง เราจะให้ใครมาทำ ช่วยกายเรา เราจะให้ใครมาช่วยใจเรา เราต้องช่วยตัวเอง พระพุทธเจ้าสอนคนที่ช่วยตัวเอง ถ้าใครไม่ช่วยตัวเองพระพุทธเจ้าไม่สอนหรอก ปล่อยทิ้งเทวทัตอะไร นางจิญจมาณวิกาอะไร แผ่นดินสูบไปหมดแล้ว คือเขาไม่ช่วยตัว เราต้องช่วยตัวเอง