แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลานี้พวกเรามาอบรมปฏิบัติธรรม ไม่ใช่มาเรื่องอื่น ก็คือทำให้มีสติ มีกาย มีจิตใจ ให้เข้าเป็นเนื้อ เป็นอันเดียวกัน ทำอย่างไรเราจึงจะมีความรู้สึกตัว ภายในกาย ภายในใจ เราก็ต้องประกอบ การประกอบนี่เรียกว่าปฏิบัติลงไป ไม่ต้องไปใช้เหตุใช้ผล หัวคิด ไอเดียไอคิว หัวดีคิดดีไม่เกี่ยว มีแต่การกระทำ เป็นส่วนตัว ส่วนตัว ใช้ได้ทันที เป็นงานเป็นการ เป็นหลัก เป็นหลักชีวิต
หลักชีวิตจริง ๆ เริ่มต้นด้วยความรู้สึกตัว มาประกอบกับกาย กับจิตใจ ปฏิบัติตามธรรม ปฏิบัติอยู่ ทำอยู่ ทำคือความรู้สึกตัว คือมีสติไปในกายในใจ ความรู้สึกตัว ตอบง่ายๆ คือความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวก็คือทั้งหมดแล้ว ทั้งกายทั้งใจ ชำระความชั่ว ทั้งทำความดี ทั้งทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็นทั้งศีล เป็นทั้งสมาธิ เป็นทั้งปัญญาแล้ว ไม่ต้องไปเอาความยากความง่าย ไม่ต้องไปเอาความผิดความถูก ความได้ความเสีย ไม่ต้องเลย ให้สันโดษ ให้พอใจ ให้มีการกระทำตรงนี้ให้มากๆ ทำตรงนี้ให้มากๆ เอากายมาให้เป็นนิมิต สร้างความรู้ ความรู้สึกตัวนี่ มันเป็นความรู้เลื่อน ๆ ลอย ๆ ไม่ได้ ต้องมามีนิมิตคือกาย จึงจะเป็นความรู้สึกตัวที่เป็นกรรม ไม่ใช่คิดรู้อันนู้น รู้อันนี้ ไม่ใช่ ต้องรู้สึกตัวที่อยู่ในกาย อยู่ในจิตใจ บางทีมันก็หลงกาย มันก็หลงใจ ใช้ไปในทางหลง บัดนี้ให้มันเป็นความรู้สึกตัว เป็นความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวที่ได้ตามรูปแบบของกรรมฐาน ตามหลักของสติปัฏฐาน อันเป็นหลักที่ปฏิเสธไม่ได้ ถ้าปฏิเสธตรงนี้ก็เท่ากับปฏิเสธตัวเอง เมื่อปฏิเสธตัวเองมันก็เลอะ ๆ เลือน ๆ ทำให้เกิดปัญหา เราจึงมาประกอบ
สติมันจะเกิดขึ้น ก็เพราะการประกอบ ไม่ใช่ไปท่องจำ เป็นการประกอบเอา จนเคยชิน จนเป็นนิสัย จนเป็นปัจจัย มีกาย มีใจ มีสติ มีการกระทำ มีการปฏิบัติ ปฏิบัติก็คือ ทำเรื่อยๆ ให้รู้เรื่อยๆ ถ้ามันไม่หลง ก็รู้เรื่อยๆ ไป ความหลงมันมี ความสุข ความทุกข์ มันมี มันเคยไหล เคยไหลไปหลายอย่าง แบ่งปันกันไปเยอะแยะ กระจุยกระจายไปหมดเลย รวมลง ปฏิบัติเนี่ย มารวมลง ปฏิบัติคือเอามารวมไว้ เอามากองไว้ เอามาตั้งไว้ แม้มันจะหลงจะไหลไปทางอื่น ก็เอามาตั้งไว้ เอามาตั้งไว้ที่เก่า มาตั้งไว้ที่เก่า เรียกว่าปฏิบัติ เรียกว่าอบรม ปฏิบัติ มีอยู่ขณะเดียวกัน แต่ว่าเป็นภาษาสมมติที่มาพูดอบรมปฏิบัติธรรม ที่แท้ก็คือการเจริญสตินั่นแหล่ะ
การเจริญสติ การเจริญสติมันก็ไม่เลื่อนลอย เช่น มีกาย เอากายมาสร้างความรู้สึกตัวได้สำเร็จ มีใจก็เอาใจมาสร้างความรู้สึกตัวได้สำเร็จ ทำได้สำเร็จ สำเร็จกว่าทำอย่างอื่น การปฏิบัติธรรม การเจริญสติ เป็นความสำเร็จทันที ไม่ต้องมีการประเมิน ไม่ต้องมีข้อมูลอะไร เป็นการสำเร็จได้ทันที รู้สึกตัวทีไร เอากายมาเคลื่อนมาไหว รู้สึกตัว สำเร็จทุกครั้ง สำเร็จทุกครั้ง รู้ต่อ ๆ กันไป รู้ต่อ ๆ กันไป ความรู้สึกตัวที่มันมีในกายในจิตเนี่ย มันก็จะเห็น มันก็จะมีความรู้สึกตัวทั่ว ๆ ไป นอกจากกายจากจิตแล้ว ที่เราเรียกว่า “กายานุปัสสนา” มันก็จะรู้สิ่งที่ไม่เป็นอันเดียว มันจะเกิดอะไรขึ้น เช่น เวทนา เช่น ความคิด เช่น ธรรม เวทนาเป็นเรื่องของกาย กายเป็นเรื่องของกาย ความคิดเป็นเรื่องของจิต ส่วนธรรมมันรวม รวมเข้ากัน ทั้งกายทั้งจิต ก็จะเห็น ก็จะรู้จักเกี่ยวข้อง เป็นส่วนเป็นหลัก เป็นที่มันรวม แต่ว่าถ้าเก่งตรงกาย ตรงเวทนา ตรงจิตแล้ว ธรรมก็ทำได้ง่าย ธรรมอะไรที่มันรวมกันที่เกี่ยวกับกายเกี่ยวกับใจ เกี่ยวกับกายเกี่ยวกับใจ เขาเรียกว่า “ธรรมารมณ์” เป็นความง่วงเหงาหาวนอน เป็นกามราคะ กิเลสตัณหา พยาบาท โลภ โกรธ หลง เรียกว่าธรรมารมณ์ ที่มันบวกกัน มันก็เป็นอื่นไป ถ้าไม่หลง ถ้าไม่หลงตัวนี้แล้วก็ อันอื่นก็ง่าย ๆ ไปเรื่อย ๆ ง่ายไปเรื่อย ๆ อย่าไปคิดว่ามันมีปัญหา ความง่วงก็ไม่ใช่ปัญหา ความคิดฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย ความพยาบาท ราคะ มานะ ทิฐิ ไม่ใช่เป็นปัญหา มันให้บทเรียน มันเป็นประสบการณ์แก่ผู้ที่เจริญสตินะ ควรที่จะยิ้มรับ ยิ้มรับโชคก็ว่าได้ เพราะมันเป็นการศึกษา
ตรงที่มันจะหลง ตรงที่มันจะเป็นอื่นไป เป็นการศึกษาจริง ๆ เป็นสิกขา เป็นไตรสิกขา ไตรสิกขาก็อยู่ตรงนั้นแหล่ะ ตรงที่มันไม่ใช่สติ สติมันก็เป็นธรรมอยู่แล้ว สิ่งที่ทำให้หลงไปน่ะ มันจะเป็นไตรสิกขา ไตรสิกขามันก็เป็นศีลไปแล้ว ศีลมีอยู่ในความหลง รักษา คืนมา ไม่ปล่อย ไม่ไป ไม่เป็นไปกับอะไรต่าง ๆ จะมีศีล มันไม่ใช่นั่งหลับหูหลับตา จะมีศีลต่อเมื่อมันเป็นธรรมารมณ์ ต่อเมื่อมันมีการแสดงออกมาทางกายทางจิต ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับเราไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เวลาใดควายมันไม่ไปตามโอวาท ไม่ไปตามคำสั่งของเรา เราก็คอยบอกมัน อาศัยคำพูด อาศัยกิริยา อาศัยไม้เรียว อาศัยเชือกนั่นแหล่ะ เวลาใดที่เราจะโกรธ ไม่โกรธ เราอด ไม่ได้ไปโกรธให้มัน ไม่ได้ไปโกรธให้มัน ไม่ได้ไปตีมัน หรือที่มันจะแสดงออกทางที่ผิด ๆ หรือเราเดินไป ไปเห็นทรัพย์ของคนอื่นวางอยู่ ไปเห็นทรัพย์ของคนอื่นวางอยู่ คิดว่าเราได้ของเขา ดีใจ ไม่ใช่ พอไปเห็นทรัพย์ของคนอื่นตกอยู่ คิดสงสารเจ้าของเขา ก็เก็บรักษา เอาไปประกาศหาเจ้าของน่ะ มีศีลแล้ว ถ้าคิดว่าตัวเองเก็บได้ อันนั้นไม่มีศีลแล้วตอนนั้น ศีลตอนที่มัน มันเห็นความโลภ ความอยาก กลายเป็นความเมตตา กลายเป็นความรู้สึกตัว เห็น เห็นอกเห็นใจ ไม่กล้าผิดศีลทุกกรณี นั่นเรียกว่า “ปฏิบัติธรรม”
รักษาศีล รักษาศีล รักษาตรงที่มันจะผิด ที่มันจะหลง เช่น เราเจริญสติเนี่ย มันจะเป็นศีลตอนที่มันจะหลง รู้สึกตัวได้ บริสุทธิ์ขึ้น บริสุทธิ์ขี้น ก็ภูมิใจตัวเองที่มันไม่เป็นอื่นไป แก้ไขตัวเองได้ ได้นิสัยใหม่ ๆ เคยมีความโกรธ กลายเป็นความเมตตากรุณา เคยมีความหลงกลายเป็นความรู้ไป เป็นไปแบบนี้การปฏิบัติธรรมน่ะ ไม่ใช่เราทำฟรี ๆ ไม่รู้ไม่เห็นอะไร อย่างน้อยก็เห็นความรู้ เห็นความหลง เราก็ตั้งต้นจากตรงนี้ ถ้าหลุดก็หลุดตรงนี้ ถ้าผ่านก็ผ่านตรงนี้ ผ่านความหลงมาเป็นความรู้ ผ่านทุกอย่างมาเป็นความรู้สึกตัว ทำไมเราจึงผ่านได้ เพราะเราสร้างความรู้สึกตัว เป็นหลักเป็นฐาน เป็นที่ตั้ง ก็เห็นอะไรต่าง ๆ ได้ฝึกฝนตนเองตลอดเวลา ได้ฝึกฝนได้อบรม ได้อบได้รม ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน คำว่าอบนี่ก็คือเนื้อมันดีกว่า ที่จะไปทา ไปโปะ เหมือนเราทำรถน่ะ ถ้าอบแล้วมันสุกดี เมื่อเขาพ่นสีแล้วเข้าโรงอบ มันซึมเข้าไป กิริยาที่เราอบรม เราก็มีกิริยาจริง ๆ นั่งสร้างจังหวะ เคยนั่งนานไม่ได้ เอาไปเอามาก็อดที่นั่น ทนที่นี่ เกิดนั่งได้ เคยจิตใจไหลลุกลี้ลุกลน ก็ตั้งได้ ใจเปราะใจบาง ก็เข้มแข็งขึ้น สิ่งที่มันเข้มแข็ง มันก็มีอยู่ในความอ่อนแอ ใจอ่อนแอ ไม่สู้ ทำได้ ทำไม่ได้ ไม่ได้หลงตรงนั้น ได้ก็ไม่หลง ไม่ได้ก็ไม่หลง ทุกข์ก็ไม่หลง สุขก็ไม่หลง ทำให้เข้มแข็งขึ้นมา เข้มแข็งไปเรื่อย ๆ โตวันโตคืนไปเรื่อย ๆ ถ้าจะเป็นพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ก็เจริญ เจริญขึ้น เจริญขึ้น ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวน่ะ ยิ่งไปเห็นสิ่งที่ไม่ใช่ความรู้สึกตัวจริง ๆ ก็ยิ่งมีศักดิ์มีศรี เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ ทำให้เกิดความเข้มแข็งไปเรื่อย ๆ ได้บทเรียน ได้ประสบการณ์
ปฏิบัติธรรม การเจริญสติ มีแต่บทเรียน มีแต่ประสบการณ์ ไม่ใช้เหตุใช้ผล ไปชนเอาจริง ๆ ไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน ไม่ได้เพื่อที่จะแก้ไว้ก่อน มันไปชนเอา ไปชนเอาความหลง ไปชนเอาความทุกข์ ไปชนเอาความสุข ไปชนเอาอาการต่าง ๆ แล้วก็ปฏิบัติ คือเปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัว มาเป็นความรู้สึกตัว ถ้ามันไม่มีอะไร ก็รู้สึกตัวที่กาย ที่กาย เคลื่อนไหว เดินจงกรม ตั้งเอาไว้ ให้มันชิน ให้มันมาก ให้มีพลัง ถ้าไม่ตั้งไว้ก่อนมันไม่มีพลัง ไม่ประกอบมันไม่มีพลัง จึงจำเป็น จึงจำเป็นมาก ๆ เราจะต้องประกอบ ต้องตั้งไว้ เหมือนเราจะยืนฟันต้นไม้ เราต้องได้จุดยืน ได้แรง เหวี่ยงเข้าไป ไปฟัน มันมีหลักยืน ถ้าเราได้ไม่มีหลัก แม้มีแรงเท่าไหร่ ก็ฟันไม่สำเร็จ ต้องมีที่ยืน มีจุดยืน การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน กรรมเป็นหลัก กรรมฐานคือหลัก จำเป็นต้องตั้งไว้ ต้องมีการกระทำ รู้ที่กาย รู้ที่กาย หัดใหม่ ๆ นี่อาจจะไม่มีแรงที่จะไปรู้ที่กาย เพราะไม่เคยฝึก ไม่มั่น ตั้งไม่มั่น บางทีกายก็อาจจะหลงไป กว่าจะตั้งไว้ก็หลงไป ตั้งไว้ก็หลงไป เอาไปเอามาความหลงนั่นแหล่ะ มันจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา หลวงพ่อมักจะบอกว่าให้หัวเราะความหลง หัวเราะความทุกข์ หัวเราะความโกรธ อาศัยแนวร่วมสิ่งแวดล้อมกับตัวเอง สร้างสิ่งแวดล้อมให้กับตัวเอง ถ้าไม่รู้จักสร้างสิ่งแวดล้อมให้กับตัวเอง ก็จะชนเจ็บปวด บางอย่างมันสุขก็สุขไปเลย ถ้ามันสุขเห็นมันสุข หัวเราะความสุข หัวเราะความทุกข์ มันเป็นการเบา ๆ ผิว ๆ เผิน ๆ เหมือนกระจายน้ำหนัก กระจายน้ำหนัก ไม่ให้หนัก สมมติน้ำหนัก ๑๐๐ เปอร์เซนต์ เอาวิธีกระจายว่า ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ไม่ให้ลงที่เดียวกัน ให้มันเฉลี่ย การเฉลี่ยความหลง การเฉลี่ยความสุขความทุกข์ ก็คือความรู้สึกตัว แล้วก็สิ่งแวดล้อม ความเพียร ความอดทน ลักษณะต่าง ๆ จะเป็นความคิด ไปสู้กับความคิด มันทุกข์ เราก็เห็นมันทุกข์ มันก็คือความคิด มันทุกข์ เอาความคิดหัวเราะความทุกข์ เนื้อมันในมัน มันมีเนื้อมันในมัน ไม่ใช่ให้มันชนกันเลย ถ้ามันหลง ก็ในความหลงมันก็น่าหัวเราะความหลง มันดูแลของมันไปเอง
การเจริญสติมันมี ถ้าจะว่าเทคนิคหรืออะไรก็ได้ ยิ่งได้อารมณ์กรรมฐาน ได้หลัก ได้อารมณ์ ต้องมีอารมณ์นะ ตั้งต้นคือกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมมานุปัสสนา เป็นหลัก หลักปลดปล่อย หลักหลุด หลักแก้ เงื่อนไขที่แก้ออก มันมีที่แก้ เอาออกจากกัน เหมือนเครื่องยนต์กลไก บ้านเรือน หัตถกรรม ศิลปกรรม ที่มันผิด แก้ ถ้าผิดแล้วไม่แก้ไม่เป็น มันก็เป็นช่างไม่ได้ เป็นศิลปะไม่ได้ เป็นปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติคือมันแก้เป็น มันเปลี่ยนเป็น มันทำเป็น มันหลงเปลี่ยนเป็นไม่หลง เป็นความรู้สึกตัวนั่นแหละ แก้ เปลี่ยน มันทุกข์รู้สึกตัว เปลี่ยนเป็นความรู้สึกตัวน่ะ เรียกว่าแก้ แก้เป็น เปลี่ยนเป็น ไม่ใช่มันทุกข์ ก็ไม่รู้จักแก้ไม่รู้จักเปลี่ยน ก็ให้เข้าถึงเนื้อถึงตัวเจ็บปวดไป ไม่ใช่ ปฏิบัติธรรมมันดี๊ดี ดี๊ดี เหมือนคนหัดจัก หัดสาน ไปตั้งต้นเอาเองเป็น จักตอกเป็น สานเป็น เมื่อมันผิดแก้เป็น เขาจะรู้จักว่าภูมิใจ เขาทำมันขึ้นมา เขารื้อมันออก เขาจะสร้างอะไร บางทีมันแตกฉาน ทำอะไรมันก็แตกฉาน หัตถกรรมนี่ สานไปเป็นตัวหนังสือ ย้อมตอกลงไป ยิ่งเห็นชัดเจน บอกถึงลักษณะอะไร ลวดลายอย่างไร มันก็แตกฉาน ถ้ามันแตกฉานแบบนั้น สอนกันไม่ได้ เขาหัดเขาเอง แตกฉานเอง
การปฏิบัติธรรมมันแตกฉาน แตกฉานในกายในใจ ไม่มีที่ลี้ที่ลับ เขาเรียกว่า “อารมณ์” เรียกว่า “หลักกรรมฐาน อารมณ์ของกรรมฐาน” อารมณ์ของกรรมฐานมันก็มีจริง ๆ เช่น ธาตุกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน ขันธ์ห้า มันได้หลัก เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณ เห็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันกลายเป็นดุ้นเป็นก้อน เป็นขันธ์ เป็นความรู้อะไรได้ เป็นอากาศ เป็นวิญญาณธาตุ เมื่อมีธาตุกรรมฐาน มีขันธ์ห้า บวกกันแล้วก็เป็นดุ้นเป็นก้อน เป็นก้อน ได้หลัก ถ้าจะรื้อ ถ้าจะรื้อเพื่อทำประโยชน์ เช่น รื้ออะไร ประโยชน์อะไร เช่น ความโกรธ เช่น ความทุกข์ ความหลง ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความเจ็บไข้ได้ป่วย รื้อ รื้อธาตุ แยกธาตุ แยกรูป แยกนาม แยกรูปแยกนามออก ให้เป็นเวทนาล้วน ๆ ไม่มีอุปาทาน ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ของเวทนาล้วน ๆ ไม่มีอุปาทาน ไม่เป็นผู้สุข ไม่เป็นผู้ทุกข์ เรียกว่าได้อารมณ์ ได้หลัก ได้หลักรื้อถอน กองรูปกองนาม ได้หลักได้ฐาน สิ่งที่จะทำ ละความชั่ว สิ่งที่จะทำความดี สิ่งที่จะเหนือความดีความชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ ตรงที่มันเหนือมันก็มีอยู่ ตรงที่มันต่ำมันก็ไม่เอา เรียกว่า “วิปัสสนา”
วิปัสสนานี่ มันล่วงพ้นภาวะเดิม ๆ แต่ก่อนหลงก็หลงเต็มตัว ทุกข์ก็ทุกข์เต็มตัว ทุกข์ล้วน ๆ โกรธล้วน ๆ 100 เปอร์เซนต์ คือ ความโกรธ ทุกข์ 100 เปอร์เซนต์ หลง 100 เปอร์เซนต์ หัวเราะ ร้องไห้ อันนี้ความหลง ความทุกข์ ไม่เป็นตัวเป็นตน ไม่มี ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ก็มอบให้ความหลง มอบให้ความทุกข์ ที่มันเป็นทุกข์ก็เป็นปัญญา เป็นปัญญา เป็นปัญญา ความทุกข์ไม่ใช่เปลี่ยนไม่ให้มันทุกข์ แต่ความทุกข์มันเป็นปัญญา ความสุขมันก็เป็นปัญญา ความหลงมันก็เป็นปัญญา ความโกรธก็เป็นปัญญา ปัญญาก็มีอยู่ในลักษณะแบบนี้แหละ กรรมฐานมันไปแบบนี้ เป็นการถลุง เป็นการสิกขา ไตรสิกขา มันเป็นหมวดเป็นหมู่ มันเป็นหมวดเป็นหมู่ ที่มีการเกี่ยวข้องกัน ถ้าเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ก็เป็นฝ่ายกุศล ถ้าเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง ก็เป็นฝ่ายอกุศล มันก็มีให้แก้กันกันอยู่ ถ้ามีหลงก็มีรู้ ถ้ามีทุกข์มันก็มีไม่ทุกข์ ถ้ามีเกิดมีแก่มีเจ็บมีตาย มันก็มีไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เราก็มองชีวิตแบบไม่จน เริ่มต้นตั้งแต่เราสร้างจังหวะ สร้างสตินะ มีหลงก็มีรู้นะ มีหลงก็มีรู้ ไปเลยบัดนี้ มีสุขก็เห็นสุข มีทุกข์ก็เห็นทุกข์ ไปได้เลย มีกายมันก็เห็นกาย เวทนามันก็เห็นเวทนา แต่ก่อนมันเป็นตัวเป็นตนอยู่กับกาย มันเป็นตัวเป็นตนอยู่กับเวทนา มันเป็นตัวเป็นตนอยู่กับความคิด มันเป็นตัวเป็นตนอยู่กับธรรม เป็นอารมณ์ เกิดธรรมารมณ์ เกิดความพอใจไม่พอใจ เมื่อมีการศึกษา มันก็ถอนความพอใจ ความไม่พอใจ ออก มีแต่ตัวรู้ตัวเห็นเข้าไป มันก็ไปแบบนี้
การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ไปคิดเอาเหตุเอาผล ไม่ไปเอาได้เอาเสีย ไม่ใช่ไปเอาผิดเอาถูก มันเห็นไปแบบนี้นะ ปฏิบัติธรรม หลักก็มีตรง ๆ ล้วน ๆ กายก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มันก็ไปแล้ว มันก็เปลี่ยนไป มันก็คดไป เข้าไปดู เข้าไปเห็น เห็นแล้วมันก็จบเป็น ตอบ ตอบครั้งเดียว เห็นครั้งเดียว จบไปตลอด ไม่เป็นการบ้าน ไม่เอากายมาเป็นการบ้าน มาเป็นสุขเป็นทุกข์เพราะกาย ไม่มี เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะเวทนา ไม่มี ไม่มีการบ้านตรงนี้ ผ่านไปได้ ผ่านไปได้ ไม่ได้เป็นตัวเป็นตนอยู่ในความคิด จนหอบหิ้วตัวเอง ความคิดพาให้เป็นสุขเป็นทุกข์ ความคิดพาให้รักให้ชัง ความคิดพาให้พอใจไม่พอใจ ไม่มีแล้วบัดนี้ ความคิดประเภทนั้นน่ะ จบกันที ที่จะมาหอบหิ้วเราไป ให้รักให้ชัง ให้เกิดปัญหาจากความคิด ที่เรียกว่าจิตเนี่ย จิตมันก็ต้องคิด มันก็ต้องรู้อะไร เวลามันรู้อะไร มันก็ไม่ใช่รู้เถื่อน ๆ มันก็มีจิตที่มันคิดเป็น มันบวกกันเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม เข้าไป ไปเห็นรูปเห็นนามก็บวกกันอีก ก็เห็นชัดเข้าไป เห็นเงื่อนเห็นไข มันเป็นอารมณ์ มันเป็นทางไป ทางรู้ ความรู้สึกตัว เข้าไปดู ไปเห็น เข้าไปศึกษา ไปถลุง ไปย่อย ไปแยก ไปแยกออก เป็นปัญญา
ปัญญานี่คือ รอบรู้ รู้รอบ ชื่อว่าปัญญานี่ก็ปิดแล้ว วงเล็บปิดแล้ว ไม่มีอีกแล้ว ถ้าเป็นปัญญา จบลงที่ปัญญา ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ปัญญาก็ได้จากการศึกษา ได้จากการบทเรียน ที่มีการกระทำ ที่มีการประกอบ เช่น เราเจริญสติเนี่ยนะ เราก็ประกอบกับมีความรู้สึกตัวอยู่กับกายจริง ๆ เรื่องของกายก็มีมาก มันแสดงออก มีมากจริง ๆ ทั้งสุขทั้งทุกข์ ความสุขความทุกข์ เราก็เห็นทุกครั้งที่มันสุข ที่มันทุกข์ เกี่ยวกับกาย เกี่ยวกับใจ ที่มันเป็นตัวเป็นตน ก็รู้ไป รู้อันเดียว ตอบครั้งเดียว ไม่ใช่ตอบคนละแบบ ตอบครั้งเดียว คือรู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้สึกตัวนี่เป็นตัวนำ ถ้าเป็นยา โอ! เป็นยาแผนโบราณ ถ้ายาต้ม ก็ต้องเป็นยาหัวเป็นตัวนำ ส่วนอื่น ๆ ก็เป็นส่วนประกอบ แต่ตัวนำจริง ๆ คือยาหัว หรืออ้อยดำ ถ้าประเภทยาต้มทั้งมวลทั้งหมดนะ ตัวนำจริง ๆ คือยาหัวอ้อยดำ นอกนั้นก็เอาอันอื่นมาประกอบ มันก็นำได้สำเร็จ มีคุณภาพ มีคุณภาพ ถ้าขาดยาหัวอ้อยดำไม่เป็นตัวนำ ยาขนานอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยจะมีคุณภาพ หลักของสมุนไพร
หลักของชีวิตเราก็เหมือนกัน มีตัวนำ มีตัวรู้เป็นตัวนำ ตั้งต้นตัวรู้เป็นตัวนำ แล้วก็พาไปให้เกิดคุณภาพ เห็น แต่ก่อนไม่ค่อยมีประโยชน์หรอกกายใจของเราเนี่ย ไม่ค่อยจะได้ประโยชน์จากมัน หรืออาจจะเป็นโทษซะมากกว่า พอมีสติเข้าไป มันก็นำ โทษกลายเป็นประโยชน์ กลายเป็นประโยชน์ เช่น จำพวกยาพิษต่าง ๆ เมื่อมาบวกกันเข้า มันก็กลายเป็นประโยชน์ เช่น ลำโพง เมื่อเรามากินเฉพาะตัวมันไม่มีตัวยานำ มันก็กลายเป็นบ้า เพี้ยนไป ต้นลำโพง ถ้าเอามาเป็นส่วนประกอบอื่น ๆ หรือเป็นอาหาร ที่เป็นเมี่ยง ที่มีรสชาติดี เช่น มะละกออ่อน ใบมะละกอ ถ้ากินเฉพาะใบมะละกอมันก็ขมเฝื่อน กินเฉพาะมะละกอมันก็ฝาด ถ้าเอามะละกออ่อนเอามาห่อกับใบมะละกอเอาไปจิ้มปลาร้านี่ กลายเป็นเมี่ยง มันไปเลย รสชาติไปเลย ชีวิตเราก็เหมือนกัน บางทีนี่เราอย่าไปกลัวเลย กลัวอะไร บางทีเรากลัวอะไรหลายอย่างในตัวเรา กลัวเจ็บ กลัวปวด กลัวร้อน กลัวหนาว สู้หนาวไม่ได้ เป็นคนอ่อนแอ เลือดน้อย บางทีมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก กลัวปวดหลัง ปวดเอว โครงสร้างไม่ดี กระดูกไม่ดี อะไรก็คิดไป มีโรคประจำตัว ยังไม่ได้ทำอะไรก็กลัวไปแล้วก็มี บางทีมันไม่น่ากลัว ยิ่งความโกรธ ยิ่งความทุกข์นี่ ยิ่งเป็นบทเรียนอย่างดีนะ ความหลงก็ยิ่งดี ความหลง ความโกรธ ความทุกข์นี่ ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ทำให้เป็นปัญญาได้ อย่าไปกลัวอะไรในชีวิตของเรา เขาขู่เฉย ๆ กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ฟังดูแล้ว บางทีก็พูดไปเลย ผู้ที่ละกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดได้ มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว พระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นแหละ คนอื่นไม่มีปัญญา เอาไปขู่กัน บางทีเขาก็ว่าหมดสมัยแล้ว หมดสมัยของความเป็นพระอรหันต์แล้วนะ เห็นพระพูดอย่างนี้ ศาสนาพุทธมันหมดไปแล้ว เขาก็ว่ากันไป เขาก็หาส่วนมาประกอบ มาล้าง มาทำลายก็มี
เช่น ไปประชุมกับเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา เขาก็ไปพูดกันว่าศาสนทายาท ทำยังไงจึงจะสร้างศาสนทายาท ก็มีคำถามของพระผู้ใหญ่ ถามกรมการศาสนา ว่ากรมการศาสนานี่จริงจังขนาดไหนกับพุทธศาสนา เพราะอะไรถึงถามอย่างนั้น เพราะว่าเช่น อิสลาม อิสลามนี่เขาไปฮัจญ์ ซาอุ ไปศาสนาของเขา รัฐบาลจัดงบประมาณให้ จัดหมอไปดูด้วย นายแพทย์ตามไปดู ออกข่าวโครมเลย ประเทศจัดงบประมาณให้ไป แต่พุทธเนี่ยไม่เห็นจัดให้เลย ไปกราบ ไปแสวงบุญ ที่ประเทศอินเดีย สังเวชนียสถาน ไม่มีกรมการศาสนา ไม่มีรัฐบาลจัดงบประมาณให้เลย จะไปก็อยากไปก็ไปไม่ได้ จริงขนาดไหนอธิบดีกรมการศาสนา เขาก็ถามกันไป ถ้าจะพูดถึงการศึกษา โรงเรียนปอเนาะ กับโรงเรียนมหาวิทยาลัยสองแห่ง ค่าหัว หรือนักสอนศาสนา นักสอนศาสนาเขาเรียกว่าอะไร เรียกว่าสัตบุรุษ เขาชั่วโมงละ 300 บาท ถ้าเขาไปพูดเรื่องศาสนาอิสลาม เขาเรียกว่าวิทยากร แต่เขาเรียกว่าสัตบุรุษที่สอนศาสนา ชั่วโมงละ 300 บาท แต่นักสอนศาสนา ไม่มีชั่วโมงละ 300 บาท เหมือนเขา นักเรียนปอเนาะ นักเรียนมหาวิทยาลัยสองแห่ง ไม่มีหัวครึ่งต่อครึ่ง ศาสนทายาทก็คิดไป คิดไป โอ! ถ้าไปคิดแบบนั้น การเมืองอะไรต่าง ๆ โอ! มันวุ่นวาย อย่าไปคิดมัน พวกเรามาเอาเนี่ย มาปฏิบัติธรรมเนี่ย ไปคิดทำไม ไปคิดแบบนั้น เอามาขัดมาแย้ง ยิ่งการเมืองทุกวันนี้ ยิ่งไปกันใหญ่ เอามา ส่วนตัวน่ะ มาสร้างตรงนี้ มามีสติ มีสัมปชัญญะ อย่าไปให้มันหลงตรงนี้ ถ้าไม่หลงตรงนี้ล่ะ โอ! นี่แหละศาสนทายาท ศาสนทายาท เป็นญาติกับพระพุทธเจ้าทันที ไม่มีทางที่จะทำความชั่ว ไม่มีทางที่จะเบียดเบียนตน ไม่มีทางที่จะเบียดเบียนคนอื่น เอากายเอาใจมาทำความดี เอากายเอาใจมาละความชั่ว เอากายเอาใจของเรามาทำความดี ก็เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ เอากายมาละความชั่วก็เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริง ๆ เรามาตั้งต้นกันตรงนี้ อย่าไปยุ่ง กับต้นสายปลายเหตุ วุ่นวายไปหมดเลยทุกวันนี้ การศึกษาก็เหมือนกัน
เรามาเริ่มต้นตรงนี้กัน จะทำยังไง เราก็มีเท่านี้ เท่านี้เราก็ทำแบบมีหลักมีฐานมั่นคง จะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน ไม่หวั่นไหวเลย จริง ๆ ชีวิตมันต้องเป็นอย่างนั้น เหนือเกิด เหนือแก่ เหนือเจ็บเหนือตาย ทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ลงได้บ้าง ลงได้บ้าง หรือหมดไป มันก็ท้าทาย เราอย่าไปยอมมัน ปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครองกาย ครองใจเรานี้ ต้องเป็นเรื่องรีบด่วนกว่าอย่างอื่น อย่าไปคิดเรื่องโน้น เรื่องรีบด่วนมันอยู่ตรงนี้ มันท้าทายเรา ความหลงมันท้าทายความรู้ ความทุกข์มันท้าทายความไม่ทุกข์ ความโกรธมันท้าทายความไม่โกรธ ความวิตกกังวลเศร้าหมองมันท้าทายชีวิตที่ปรกติ ชีวิตที่ประภัสสร ชีวิตที่บริสุทธิ์ นี่เราทำได้ทันทีเลย ไม่เกี่ยวกับคนอื่น สิ่งอื่น วัตถุอื่นเลย มาสร้างสติยกมือเคลื่อนไหว รู้สึกตัว รู้สึกตัวเนี่ย เมื่อทำตรงนี้ได้แล้วนะ เราก็เป็นอิสรภาพ ชีวิตของเราก็จบซะ ให้มันจบลง เรียกว่า ปฏิบัติธรรม เริ่มต้นจากตรงนี้ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นก็เกิดจากตรงนี้ ไม่ใช่ไปทำอะไรต่าง ๆ ทีนี้เขาก็กังวลเรื่องศาสนทายาทจะไม่มี เพราะว่าการศึกษาภาคบังคับ ม.3 ม.6 เรียนฟรี เมื่อลูกหลานเรียนจบ ม.6 ก็เป็นอายุ 18 ปี แล้ว ไม่มีโอกาสบวชเป็นเณร ต่อไปนาคหลวงก็จะไม่มี นาคหลวงต้องได้มหาเปรียญ 9 ตั้งแต่ก่อนยังไม่บวชเป็นพระ เดี๋ยวนี้คนก็ไม่ได้เรียนเป็นเณรแล้ว ก็จะเอาแบบนี้มาคิดแบบนี้กัน หาศาสนทายาทไม่ได้ เหมือนสมัยก่อน ต้องไปเอาเด็ก เอาลูกชาวเขา มาบวชมาเรียนกัน ไปเอามา เรียนกัน โอ! พวกเราก็พบหลวงพ่อเทียนเมื่ออายุ 30 ปีนู่น ศาสนทายาทเกิดจากการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เกิดจากรูปแบบอื่น เกิดจากปฏิบัติธรรม ไม่ใช่นักบวชเสมอไป เป็นฆราวาส ญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา เห็นไหม อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา หลายศาสนทายาทของพระพุทธเจ้า ศาสนทายาทของพระพุทธเจ้า ถ้าจะประวัติของสามเณรก็มี สังกิจจะสามเณร ราหุลสามเณร ก็มีไม่มาก ส่วนมากบรรลุธรรมช่วงอายุ 30, 40 ปี ได้บรรลุธรรมมากกว่าอายุช่วงอื่น เท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร ถ้ามีสติ ปฏิบัติเจริญสติสัมปชัญญะนี่แหละ หลักมันอยู่ตรงนี้ ต้นตอมันอยู่ตรงนี้ มั่นใจมาก ๆ อยู่ตรงนี้แน่นอน การที่ศึกษาเข้าถึงศาสนา ศาสนทายาทเป็นพุทธบริษัทจริง ๆ อยู่กับการปฏิบัติธรรม