แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การสอนธรรมะเนี่ย มีชีวิตชีวาเพราะบอกความเท็จความจริงแก่ผู้คน ถ้าไม่มีใครมาสุคะโตเนี่ยกำลังวางแผนไว้อยู่ ทางหนึ่งก็เข้าโรงพยาบาล หาเยี่ยมคนป่วย รับรองว่าไม่อยู่วัดเปล่า ๆ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง การสอนให้คนเปลี่ยนหลงเป็นรู้ เปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ เปลี่ยนโกรธเป็นรู้เนี่ย มันเป็นเรื่องที่ชอบที่สุด ถ้าไม่บอกตรงนี้ ถือว่าเป็นความขาดตกบกพร่อง ถ้าได้บอกแล้ว ถ้ามีใครทุกข์ ก็ไม่ใช่ความผิดของเรา ถ้ามีใครโกรธ ก็ถือว่าไม่มีความผิดของเรา เช่น เราเคยพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมมา 40 ปี เมื่อมันเกิดปัญหาโรคร้อนขึ้น เพราะการทำลายโลก มันก็ไม่ใช่ความผิดของเรา เราเคยพูดเรื่องนี้มา 40 กว่าปีแล้ว เราไม่ล้มเหลว แต่การงานล้มเหลวต่างหาก ชีวิตเราไม่ล้มเหลว ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง
วันนี้ ก็จะบอกพวกเราทั้งหลาย ที่อยู่ที่นี่ เพียรพยายามเปลี่ยนหลงให้เป็นรู้ให้ได้ เป็นอาชีพเวลาใดมันหลง ให้มีความรู้อยู่ตรงนั้น อย่าให้ห่างเหิน ถ้าจะเป็นมรรคผลนิพพาน ให้เป็นมรรคผลนิพพานเป็นชีวิตประจำวัน อย่างคำสอนของทิเบตว่า “ฟังเสียงทุกเสียงเหมือนเสียงพระสวดมนต์ ดูคนทุกคนเหมือนพระพุทธเจ้า อยู่ที่ไหนมีนิพพานอยู่ที่นั่น” นี่คือทิเบต เขาสอนกันอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน อย่างที่เราสาธยายพระสูตรว่า “การทำพระนิพพานให้แจ้ง มีความเห็นชอบ อยู่โดยชอบ เป็นมงคลอันสูงสุด” การทำพระนิพพานให้แจ้ง การอยู่โดยชอบ ที่เราสาธยายพระสูตร ถือว่าเป็นมงคล ชีวิตเรามันจะไม่ให้ห่างไกลจากพระนิพพาน พระนิพพานคือไม่เป็นอะไร ผู้ใดมีจิตอันธุลี โลกธรรมครอบงำไม่ได้ เป็นจิตที่ไม่พ่ายแพ้ เป็นจิตที่ไม่มีธุลีครอบงำ ผู้นั้นถือว่าเป็นมงคลอันสูงสุด โลกธรรมครอบงำไม่ได้ คือสุขคือทุกข์ครอบงำไม่ได้ “โลกธรรม” คือสุขคือทุกข์ ผู้ที่อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ ถือว่าเป็นมงคล เรียกว่า “ทำพระนิพพานให้แจ้ง”
พระนิพพาน ก็คือ เหนือสุขเหนือทุกข์ อย่างพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน ละสุข ละทุกข์เสียได้ มีสติแล้วแลอยู่ พระพุทธเจ้าปรินิพพานที่ตรงนี้ อยู่ที่ไหนก็อยู่กับเรื่องนี้ ละสุข ละทุกข์เสียได้เนี่ย ไม่ใช่ไปที่ไหน บ้านไหน เมืองไหน อยู่ที่ไหนมีนิพพานแบบนี้ มองอะไรให้มันทะลุทะลวง อย่าให้เป็นกำแพง ให้ง่าย ๆ เปลี่ยนหลงเป็นรู้มันง่าย ถ้าหลงเป็นหลงมันยาก เปลี่ยนโกรธเป็นรู้ เปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ เปลี่ยนผิดเป็นรู้ เปลี่ยนถูกเป็นรู้ ไม่มีคำว่าผิด ไม่มีคำว่าถูก ไม่มีคำว่าได้ คำว่าเสีย มีแต่เห็น อะไรที่มันเกิดขึ้นกับชีวิตประจำวัน ให้เห็น อย่าเข้าไปเป็น นี่คืออยู่โดยชอบ ไม่ใช่อยู่สุคะโต ไม่ใช่อยู่ที่ไหน อยู่ตรงนี้ อยู่คนเดียวก็อยู่ตรงนี้ อยู่กับหมู่ก็อยู่ตรงนี้ เรียกว่า “อยู่โดยชอบ” ก็อยู่อย่างนี้ ไม่ใช่อยู่ที่ไหน ที่กำหนดว่าที่นี่สงบดี ไม่ใช่อย่างนั้น
อยู่โดยชอบ คือ อยู่ที่ไม่เป็นอะไรกับอะไร อันนี้ เราก็ทำได้ทุกคน ไม่มีใครทำไม่ได้ ปฏิบัติได้ให้ผลได้ การทำอย่างนี้ไม่ยาก ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนในสิ่งที่เราทำได้ทุกคน สิ่งไหนทำไม่ได้ไม่ใช่คำสอนพระพุทธเจ้า ถ้าสอนให้พึ่งคนอื่น ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนให้เราพึ่งตนเอง มันหลง เปลี่ยนหลงเป็นรู้ อย่างนี้เรียกว่าพึ่งตนเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาช่วย สัจธรรมไม่มีใครช่วยกันได้ เราต้องรู้จักช่วยตัวเอง ขนส่งตัวเอง ความหลุดพ้น จากปัญหาต่างๆมันอยู่ที่เราทั้งนั้น ปัญหาเป็นปัญญาของเรา อาจจะเป็นปัญหาของคนอื่น แต่เป็นปัญญาของเรา อย่างเนี่ยะ
เลยไม่มีอะไรทำ ทั้งวันฉันไม่ได้ทำอะไรเลย โดยที่เราไม่มีหลัก มันก็ยุ่งยาก การงานยุ่งเหยิงสับสน ไม่เป็นมงคล “อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง” การงานไม่ยุ่งเหยิงสับสน อันนี้เป็นมงคลอันสูงสุด ไม่มีอะไรยาก เห็นมัน ไม่มีอะไรง่าย เพียงแต่เห็นมัน การเห็นไม่เป็นนี่ มันสม่ำเสมอ มันเป็นอมตะของชีวิต ถ้าเป็นไปกับสิ่งต่างๆ ชีวิตที่บกพร่อง พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม นั้นเป็นโลก สมบัติของโลก
ชีวิตเราคือไม่เป็นอะไรนี่มันอิ่ม อิ่มอย่างนี้เรียกว่าบุญ คืออิ่ม คือเต็ม ไม่บกพร่อง เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ แล้วก็มีแบบในชีวิตเรา ถ้าเป็นชาติ ก็เป็นชาติที่สมบูรณ์ที่สุด ชีวิตเรานี่ เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ประเสริฐ เพื่อการนี้โดยตรง ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น มนุษย์ไปสูง ๆ คนไปต่ำ ๆ เช่น มันทุกข์ มนุษย์เห็นมันทุกข์ นั่นเป็นมนุษย์ ถ้าคน เป็นผู้ทุกข์ นั้นเรียกว่าคน ไปทางต่ำ ถ้าสุข เป็นผู้สุข ไปทางต่ำ เห็นมันสุขไปสูง ๆ มนุษย์มักจะไปสูง ๆ แบบนี้ ไม่ใช่ขาสองแขนสองเป็นมนุษย์ เป็นลักษณะที่มีการกระทำที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ มนุษย์นี่ก็คือเป็นผู้ใจสูง เหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขน ถ้าจิตใจมันต่ำเป็นได้แต่เพียงคน ต้องเสียทีที่ตนได้เกิดมา นั้นถ้าคนนี่ ไปตกนรก เป็นสุข เป็นทุกข์ ไปสู่นรก เท่ากับขนของโค มนุษย์เห็นมันสุข มันทุกข์ ไปตกนรกเท่ากับเขาโค มีน้อยนิดเดียว เพราะเห็นไม่เป็นนี่ น้อยที่สุด ที่จะไปสู่นรก ส่วนมากก็เหนือ เหนือไปแล้ว ไปเมืองบนเห็นคนขี่ช้าง ไปเมืองล่างเห็นช้างขี่คน เมืองบนคืออะไร คือมนุษย์ เห็นมันสุข ขี่ช้าง เห็นมันทุกข์ ขี่ช้างแล้ว ถ้าไปเมืองล่างเห็นช้างขี่คน ไปเป็นผู้สุขก็ต่ำแล้ว ช้างขี่แล้ว เป็นผู้ทุกข์อยู่ ช้างขี่แล้ว ช้างขี่คน เป็นสุขก็ช้างมันเหยียบแล้ว เป็นทุกข์ก็ช้างมันเหยียบแล้ว ต้องหัดตรงนี้ให้เป็น ทำให้มันเป็น ฝึกฝนตนเอง มันจะยากเพราะมันทวนกระแสทีแรก ถ้ามันขึ้นได้แล้ว ง่าย ๆ เหมือนเราถีบจักรยานขึ้นมอ มันจะทวนกระแสสักหน่อย มันสุขเห็นมันสุข ทวนนิดหน่อย มันทุกข์เห็นมันทุกข์ ทวนนิดหน่อย ถ้ามันขึ้นได้แล้ว มันก็ง่าย เหมือนกับรถขาลง เหมือนเราหัดขับจักรยาน ตอนใหม่ ๆ นี้ก็ ไม่ใช่เราพารถไป รถพาเราไป ว่าจะไปทางหนึ่ง รถมันไปทางหนึ่ง ถ้าทำเป็นแล้ว ไม่รู้ว่าคนหรือรถ ไม่รู้จักตัวเองขับรถ มันไปของมันเอง เราอยากไปไหนก็ไป มันอยู่กับเรา จิตที่ฝึกดีแล้วก็เหมือนกัน เป็นเช่นนั้น เราอยู่ตรงไหนเป็นสิทธิของเรา ไม่เกี่ยว ไม่ระวัง ไม่สำรวมเพราะมันเป็นแล้ว เราจึงทวนกระแสสักหน่อย ทีแรก
เหมือนพระสิทธัตถะก่อนตรัสรู้ เรื่องนี้เกิดขึ้น ฉันข้าวนางสุชาดา สุชาดาถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาด เอาถาดไปเสี่ยงแม่น้ำเนรัญชรา ถ้าจะได้ตรัสรู้ ขอให้ถาดนี้ไหลทวนกระแส ปรากฏว่าถาดไหลทวนกระแสแม่น้ำ คืออะไร เป็นบุคลาธิษฐาน ถ้าเป็นธรรมาธิษฐาน ก็หมายถึงจิตนี้แหละ จิตเหมือนภาชนะทองรองรับพระพุทธพจน์พระธรรมเทศนา ต้องเป็นภาชนะทอง รองรับ ไม่ซึม เหมือนเราจะไปรับน้ำมันน่ะ น้ำมันนี้ ไม่มีอะไรที่เก็บรับมันได้ นอกจากภาชนะทอง แต่ถ้าบางคนมีหม้อกระเบื้องไปรับน้ำมัน ก็รับได้ ถ้ารู้จักฉลาด ทำยังไง เอาหม้อกระเบื้องไปรับน้ำมัน น้ำมันจะไม่ซึม เราทำวิธีไหน น้ำมันจะไม่ซึมออกหมด เพราะหม้อดินมันซึม คนฉลาดเขาเอาหม้อดินไปแช่น้ำให้มันอิ่มก่อน พอแช่น้ำ มันอิ่มแล้ว ไปใส่น้ำมัน มันก็ไม่ซึม มันอิ่มตัวอยู่ในตัวของมันเอง
ชีวิตของเราก็เช่นกัน ความไม่เป็นอะไรนี้มันอิ่มแล้ว ไม่พร่องแล้ว ไม่มีอะไรที่จะเติมเข้าไปได้ ถ้าเรียกว่า “มรรคผลนิพพาน” คือ เต็ม “มรรคผลนิพพาน” คือ ว่าง ถูกทั้งสองอย่าง อันหนึ่งว่าง อันหนึ่งเต็ม ถ้าเป็นมรรคผลนิพพาน ว่างก็ถูก เต็มก็ถูก
เต็มไปด้วยอะไร เต็มไปด้วยความไม่เป็นอะไร
ว่างไปด้วยอะไร ว่างไปด้วยการเป็นอะไรทั้งหมด
ตอบได้สองลักษณะนี้ สากลที่สุด คือ “ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน” หาตัวตนที่จะเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่มี “มีแต่ธรรมชาติ มีแต่อาการ” กายก็เป็นธรรมชาติ ใจก็เป็นธรรมชาติ ที่มันโกรธ มันโลภ มันหลง มันสุข มันทุกข์ เป็นอาการที่เกิดขึ้น ชั่วครั้งชั่วคราว รูปก็เป็นอาการ มันร้อน มันหนาว ถ้ามันร้อนไม่เป็น หนาวไม่เป็น ปวดไม่เป็น หิวไม่เป็น มันก็ไม่ใช่รูป สิ่งที่มันเป็นอาการอย่างนั้นเรียกว่า “อาการของรูป” ไม่ใช่เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นอาการ ไม่มีค่า สุขไม่มีค่า ทุกข์ไม่มีค่า จืดไปเลย ไม่มีค่า แต่ก่อนสุขมีค่า ทุกข์มีค่า เมื่อสุขก็เป็นสุข มีค่า มีทุกข์ก็เป็นทุกข์ มีค่า ทุกข์เป็นทุกข์ก็ค่าของความทุกข์ สุขคือสุขก็ค่าของความสุข
ผู้ที่เห็น ไม่เป็น เรียกว่า ถ้าเป็นนิพพาน ก็เต็มไปด้วยความไม่เป็นอะไร ถ้าเรียกว่าง ก็ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตนอย่างนี้ จึงฝึกตนสอนตนอยู่เสมอ เวลาใดที่มันผิด สอนให้มันถูก ให้มันรู้ ถ้าสอนในเวลามันผิดไม่ได้สอนก็พลาดเสียแล้ว ถ้าผิดเป็นผิดไป ถูกเป็นถูกไป ก็พลาดอยู่ที่นั่น ไม่มีการเริ่มต้น
ถ้ามันฉลาด ผิด รู้สึกตัวขึ้นมา ถูก รู้สึกตัวขึ้นมา ผิดครั้งหนึ่งรู้ครั้งหนึ่ง ผิดสองครั้งรู้สองครั้ง ทุกข์ครั้งหนึ่งรู้ครั้งหนึ่ง ทุกข์สองครั้งรู้สองครั้ง เรียกว่า “รู้เท่ารู้ทัน” ถ้าสัมผัสลองดู มันจะเคยชิน ง่าย ๆ ถ้าทำทีแรกอาจจะยากสักหน่อย เช่น ความโกรธ อาจจะอดทนเอา ไม่พูดในเวลาโกรธ ไม่ทำสิ่งใด ๆในเวลาโกรธ อดทนอดกลั้นไว้ก่อน ข่มไว้ก่อน เรียกว่า “ตทังควิมุตติ” หลุดพ้นเพราะความว่าง เหมือนศิลาทับหญ้า เอาหินไปทับไว้ก่อน หญ้าก็ขึ้นไม่ได้ ถ้านานไป ๆ ข่มไว้ ๆ ก็หลุดพ้น แต่ว่าเวลาหินออก หญ้าก็ขึ้นได้ เรียกว่า สมถกรรมฐาน หลุดพ้นเหมือนกับหินศิลาทับหญ้า
แต่วิปัสสนากรรมฐาน พ้นเหมือนกับถอนรากถอนโคน เห็นแจ้ง ความหลงไม่ถูกต้อง ความไม่หลงถูกต้อง ไม่มีใครเอาความหลงได้ มีแต่เลือกเอาความไม่หลง เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ไม่มีคำถาม หลงเป็นยังไง รู้เป็นยังไง ไม่มีคำถาม สัมผัสเอา ทำเป็น หัดอย่างนี้ อยู่ที่ไหนมีนิพพานอยู่ที่นั่น ไม่มีอะไรกับอะไร แม้จะมีสุขมีทุกข์ ก็เห็นมันสุขมันทุกข์ ไม่เป็นผู้สุขผู้ทุกข์ เมื่อใช้ชีวิตแบบนี้ นั่งปฏิบัติไปนาน ก็ปวดหลัง ปวดเอว ก็เห็นมันปวด ไม่เป็นผู้ปวด เห็นทีตัวภาวะที่เห็นก็แก่กล้าขึ้น ไม่เป็นอะไรกับอะไรง่าย ๆ มั่นคง มั่นคงไม่หวั่นไหว เหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลม บัณฑิตผู้ฝึกตนดีแล้วไม่หวั่นไหว เพราะนินทาสรรเสริญ สุขทุกข์ ทำอะไรไม่ได้ เพราะมันแก่กล้าอย่างเนี่ยะ
พิสูจน์กันดูเถิดพวกเรา อย่าไปเชื่อใครง่าย ๆ สัจธรรมต้องช่วยตัวเอง ถ้าใครสอนให้เขามาพึ่งเราไม่ใช่สัจธรรม ถ้าอะไรสอนให้เขาพึ่งเขานั่นคือสัจธรรม คนหลงคนหลงเองก็ต้องเปลี่ยนความหลงเอาเอง นี่สัจธรรมมันเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยคนที่ช่วยตัวเอง ถ้าใครไม่ช่วยตัวเองพระพุทธเจ้าก็ไม่ช่วย ช่วยไม่ได้ ท่านช่วยคนที่ช่วยตัวเอง เราจึงต้อง อยู่กับหมู่ก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็เหมือนกับอยู่กับหมู่
คนเดียวคนหาย สองคนเพื่อนร่วมตาย สามคนกลับบ้านได้ อันนี้เป็นสิ่งคนละอย่างกัน เพื่อนเราเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าอยู่คนเดียวก็คนหาย ไม่มีที่พึ่ง เคยป่วย เคยเจ็บ ไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อน สมัย 30 ปีมาแล้ว อยู่ที่นี่ กระดูกซี่โครงหัก ตกกุฏิ กุฏิพาหัก ยังไม่ดี ได้มาพักที่นี่ พูดสักหน่อยได้ไหม วันนั้นฝนตกพรำ ๆ กระดูกนี่แหละ ก็นอนอยู่ศาลาไก่ กุฏิยังไม่มีนะสมัยนั้น มีศาลาไก่ ก็นอนอยู่ก็ เสียงไก่มันร้องขอความช่วยเหลือ ก๊อก ก๊อก ฝนก็ตก ถ้าฟังเสียงแล้วเหมือนเสียงขอร้อง ช่วยด้วยหลวงตา ช่วยด้วย มันก็นอนไม่ได้ ลุกไป ส่องไฟฉาย ต้นนิโครธ ต้นใกล้บันไดศาลาไก่ มันเป็นตอ ต้นนิโครธขึ้นหุ้มตอ เลยเป็นโพรงหน่อยหนึ่ง ที่ตอนั้น นิโครธยังหุ้มไม่ท่วม มันมีอยู่ที่หน่อยหนึ่ง ไก่ไปไข่ที่นั่น พอดีกลางคืนงูไปเคี้ยวมัน ไปกินไข่ ก็ส่องไฟฉายไป เห็นงูเคี้ยวแม่ไก่อยู่ ไก่ดิ้นออกไม่ได้ งูก็จกใต้อก กินไข่ เราไปไล่ มันก็ชูคอมาใส่เรา ไล่ยังไงก็ไม่หนี มันชูคอมา ไล่ก็ไม่หนี เอาไม้ไปแตะ ไปทำยังไง ก็ไม่หนี แล้วจะทำยังไง ก็เลยขึ้นไปศาลาไก่ ไปเอามีดมา ไปตัดไม้ไผ่ มาปาดเป็นปากฉลามอย่างนี้ ฟันทางนี้ ฟันทางนี้ มันเป็นง่าม ๆ นะ งูมันชูคอ ก็ส่องไฟฉายเล็งงูว่าหัวมันอยู่ไหน งูตกลงมาก็เลื้อยไปนู่น และก็แม่ไก่ก็ไม่หนีไปไหน ขอบคุณหลวงตา คล้าย ๆ กับว่าอย่างนั้นนะ มันก็ขึ้นไปนอน พอดีงูออกไปแล้ว ก็เดินขึ้นศาลาไก่ พอดีฝนตกชายคามันไหลลงมา ไปถูกดินที่นั่น ดินใหม่ ฝนใหม่ มันลื่น เราก็เลยแฉลบไป ล้มลง มาทับกระดูกซี่โครงที่มันหัก ลุกไม่ขึ้นบัดนี้ แล้วน้ำฝนก็หยดลงมาใส่หน้า ลุกก็ไม่ขึ้น ครั้นจะเรียกใครมาช่วย ก็ไม่มีใคร อยู่คนเดียว สนุก ทุกข์ไหม ไม่ทุกข์ สนุก หัวเราะตัวเอง (หัวเราะ) หัวเราะตัวเอง แล้วยังไงล่ะ เปียกก็เปียก นอนแช่ขี้โคลนอยู่ ฝนตกลงมา นอน (หัวเราะ) ฝนหายไหม อยู่คนเดียว มีบ้างไหมแบบนี้ มีไหม (หัวเราะ) แล้วก็ทำไงล่ะ หาวิธี ทำท่าจะลุกขึ้นก็จ๊าดเจ็บมัน มันก็ลุกไม่ได้ เอาอย่างนี้ดีไหม กลั้นลมหายใจ ลองกลั้นลมหายใจแน่น ๆ ดูสิ ลุกขึ้น นี่สูตรนี้ดีนะ จำไว้นะ ลมหายใจให้มันแน่นเข้า ปอดมันแน่น กระดูกซี่โครงมันไม่มีอะไร มันกระดุกกระดิกไม่ได้ มันแน่นด้วยลม ลุกขึ้นมา ค่อยนั่งขึ้นมา พอนั่งก็เอามือกอดเสา ค่อย ๆ กลั้นลมหายใจ ปีนขึ้นไป กลั้นลมหายใจ ไปถึงที่นอน นอนแช่ขี้โคลนเลยวันนั้น จะอาบน้ำก็ไม่ได้ สนุกไหม สนุก นอนก็หลับสบาย ตื่นขึ้นมาขี้โคลนแห้งหมด นี่ไง อยู่คนเดียวเป็นอย่างนี้ (หัวเราะ) ถ้ามีหลวงปู่คงอยู่ด้วย หลวงปู่มาช่วยด้วย ใช่ไหม อาจจะพอช่วยกันได้ (หัวเราะ) อยู่คนเดียวอันนี้ คนเดียวก็ไม่ดีนะ สองคนก็ไม่ดี สามคนดีที่สุด ฉะนั้น คนเดียวคนหาย โบราณท่านว่า สองคนเพื่อนร่วมตาย สามคนกลับบ้านได้ ถ้าคนหนึ่งเจ็บป่วย อีกคนหนึ่งต้องอยู่ด้วย แต่ว่าจะไปเอาญาติไม่ได้ ถ้าจะทิ้งไปก็ใจจะขาดอยู่แล้ว ต้องกอดคอกันตาย อยู่สองคนเพื่อนร่วมตาย ถ้าสามคน คนหนึ่งไปเอาพี่น้องมา เหมารถมา กลับบ้านได้ ฉะนั้นไปไหนโบราณท่านว่า คนเดียวคนหาย สองคนเพื่อนร่วมตาย สามคนกลับบ้านได้ ถ้าไม่เก่งนะ ถ้าเก่งก็ไปเถอะ พระพุทธเจ้าเรียกว่า “มุตตกะ” คนที่ไม่เก่งเรียกว่า นิสัยมุตตกะ ยังช่วยตัวเองไม่เป็น ต้องอยู่กับครูอาจารย์ อย่างน้อยห้าปี เพื่อฝึก ถ้ายังไม่ฝึกถึงห้าปี เรียกว่ามุตตกะ ไปไหนไม่ได้ต้องอาบัติ แต่เว้นไว้แต่ผู้ที่มีสติดี ไปคนเดียวได้ ไม่ถึงห้าปีก็ได้ เมื่อฝึกจิตใจดี มันไปได้ คนเดียวไปได้ ถ้ายังไม่เก่ง อย่าไป เดี๋ยวตายทิ้งไปเปล่า ๆ เป็นทุกข์เดือดร้อน ถ้าเก่งไม่...หัวเราะฝนตก ไม่ทุกข์ร้อน ฉะนั้นเราต้องฝึกตัวนี้ให้แก่กล้า ชีวิตเรานะเจ็บก็เจ็บคนเดียวนะ ตายก็ตายคนเดียว เราจะพึ่งใคร เราต้องมองเอาไว้อย่างนี้ เตรียม สงบเราฝึก ยามศึกเรารบ เป็