แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อให้เป็นส่วนประกอบกับการปฏิบัติธรรมของพวกเราที่กำลังทำอยู่ นอกจากฟังธรรมแล้วเราก็สาธยาย เอาคำสอนพระพุทธเจ้ามา แสดงออก จิตใส่ใจตาม ได้หลัก ได้ฐาน ได้กำลัง ได้ความเพียร ได้ศรัทธา ได้สติ ได้ปัญญา ขณะที่มันหลงเรามีศรัทธาต่อความไม่หลง ขณะที่มันทุกข์เรามีศรัทธาต่อความไม่ทุกข์ ขณะที่มันเป็นอะไรที่มันไม่เป็นอกุศลทั้งหลาย เรามีศรัทธาต่อกุศลทั้งหลาย อย่าท้อแท้ ให้แกล้วกล้า ให้แกล้วกล้าถลาไกล อกุศลเปลี่ยนเป็นกุศลได้ ถลาออกไป กระโดดออกไป เวลามันหลงมีศรัทธาต่อความไม่หลง แกร่งกล้าถลาออกไป จนกระโดดทั้งความไม่หลง ความไม่ทุกข์ ความไม่โกรธ อย่าไปกลัวตรงนี้ ศรัทธา มีความเพียร ประกอบขึ้นมา
หลวงตาก็พูดอยู่ว่า เวลามันหลงเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง นั่นก็คือทั้งหมดแล้ว มีศรัทธา มีความเพียร มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาไปในขณะนั้น เวลามันทุกข์ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ นั่นแหละทั้งหมดแล้ว เรียกว่าศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นพลังแกร่งกล้าถลาออกไป อย่าไปกลัว ความเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงเป็นชัยชนะ อย่าไปกลัวตรงนี้ อย่าแพ้ การแพ้คือตายไป ความตายไม่มีความหมาย ความแพ้มันมีความหมาย ความหลงเป็นหลงไม่มีความหมายอะไร การชนะมี เป็นที่หมายของเรา กระโดดใส่สิ่งกักขัง เคยถูกกักขังเรื่องอันใดมา กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด อย่าเหลียวหลังมา ให้มันขังเราได้ มีความแกร่งกล้า มีศรัทธา มีความเพียร ที่อะไรที่มันเกิดขึ้นที่ไม่ใช่ กุศลที่ความฉลาดเป็นความโง่ นั่นหละมีศรัทธา พระพุทธเจ้าบำเพ็ญอย่างนี้ พระสิทธัตถะบำเพ็ญอย่างนี้ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เหล่าสาวกทั้งหลายก็บำเพ็ญอย่างนี้จึงได้เป็นสาวก เป็นพระสงฆ์เกิดขึ้นในพุทธศาสนา ไม่ใช่ทำอันอื่น ที่ว่าพุทธเจ้าบำเพ็ญทางจิต มีสติดูจิตนั่นน่ะ มีจิตดูจิต แล้วก็มีหลักมีเกณฑ์ มีสติ มีความเพียร มีสติอยู่เสมอเรียกว่าเผาแล้ว เผากิเลสแล้ว ป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ถ้ามีสติน่ะ แล้วก็สร้างกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เกิดขึ้นอีก ให้เจริญขึ้นอีก ขณะที่มีสติน่ะ มันไปแล้ว งานมันไปข้างหน้าแล้ว เหมือนเราไปจองตั๋วขึ้นเครื่องบิน หรือขึ้นรถ เวลาเราจองตั๋ว มันก็ผ่านไปแล้ว มันไปแล้ว งานของเรามันไปแล้ว อ้างไปได้ ถึงจุดหมายปลายทางมีสิทธิแล้ว ถ้าเราไปเปลี่ยน เราก็ต้องยุ่งยาก ไปเปลี่ยนอย่างกระชั้นชิดเขาก็ไม่ให้เปลี่ยน เพราะงานมันไปแล้ว อันนี้ก็เหมือนกัน เรามีสติ มันไปแล้ว มันก็ไปจากความหลง ความรัก ความชั่ว จิตก็บริสุทธิ์ไปแล้ว อย่าไป อย่าไป อย่าไปคิดว่าจะได้อย่างนั้นได้อย่างนี้ กรรมมันจำแนกไปแล้ว เป็นศักดิ์สิทธ์ไปแล้ว ถ้าหลงก็ไปแล้ว ไปในทางต่ำ ไปในทางที่ไม่ดี เป็นอกุศลไปแล้วน่ะ ไม่ใช่ว่ามันไม่ไปนะ ประมาทไม่ได้นะ เวลามันหลงน่ะ เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงนั่นแหละ ถูกที่สุด เรียกว่าปฏิบัติธรรม
ถ้าเวลามันหลงไม่เปลี่ยน เรียกว่าไม่ใช่ปฏิบัติ ผ้าใช้แล้ว ให้มันหลุดจากมือไปแล้ว เหมือนลูกน้อยให้หลุดจากมือ สมัยหนึ่งปีห้าร้อยยี่สิบเอ็ดที่นี่ น้ำท่วมใหญ่ ตื่นขึ้นมาเก็บเข้าเก็บของ เอาลูกใส่ตุ่ม ตุ่มก็ลอยน้ำอยู่ จับตุ่มไว้อยู่ แต่พอคั่วอันโน่นคั่วอันนี้ ตุ่มก็หลุดมือไปซะแล้ว มันไม่กลับซะแล้ว มองก็ไม่เห็นเพราะกลางคืน จะหาที่ไหนก็ไม่เห็นเพราะมันกลางคืน ตุ่มที่ใส่ลูกน้อยหลุดมือไปแล้ว น่าเสียดาย เสียใจมากก็ว่าได้ อันความหลงที่มันเกิดขึ้นแล้ว ไม่เปลี่ยนเป็นรู้นี่มันน่าเสียดายนะ ถ้าไม่เปลี่ยนอย่างนี้จะทำอะไรล่ะ จะทำอะไรที่มันดี ที่มันถูกต้อง บางทีไปเอาความหลงเป็นความถูกต้อง พอใจในความหลง ความทุกข์ ความโกรธ มันก็เสียหาย มันก็ทำได้อย่างนี้ เรียกว่าปฏิบัติ การบำเพ็ญทางจิตเขาทำแบบนี้ มันยิ่งใหญ่นะ มันจึงมาแสดงออกทางกายทางใจ มันจึงมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา
การบำเพ็ญทางจิตไม่ใช่แบบ ลูบคลำ ถากอะไรต่าง ๆ ไปแบบที่เป็นวัตถุ มันเป็นนามธรรม มรรคผลนิพพานเป็นนามธรรม ไม่ใช่สร้างบ้านสร้างเรือนไปอยู่ ไม่ใช่แบบนั้น บุญกุศลมรรคผลนิพพานเป็นนามธรรม ต้องทำอย่างนี้ ทำเอาเอง ท่านหลงท่านก็หลงเอง ท่านก็เปลี่ยนเอง ปล่อยให้หลงอยู่เช่นนั้นน่ะ เสียชาติ แล้วก็โง่ ด้าน เวลามันหลงเราไม่ใส่ใจ มันก็เป็นไปไม่ได้ เราก็มีหลงอยู่ เราก็มีสติอยู่ จึงมาประกอบขึ้นมา ถ้าเรามีสติ มีความเพียรอยู่อย่างเนี่ย มันก็ทำทั้งหมดแล้ว
ปฏิบัติธรรม เรียกว่าความเพียร มีสติ เผาไปทั้งหมดเลย ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วก็ใช้ได้นะ สติ ไปในกาย หัดกายสอนกาย หัดให้ตื่นก็ได้ หัดให้หลับก็ได้ หัดให้ตื่นก็ดู มีสติเห็นกาย หัดให้หลับก็มีสติ ไปในกาย อยู่ อยู่ อย่าไปดู เวลานอนอยากให้มันหลับง่ายก็ หายใจเข้า รู้สึกไปกับลมหายใจ รู้ รู้ไปกับลมหายใจเข้า หายใจออก อยู่ไป กล่อมไป ก็หลับ ไม่ถึง 5 นาที ถ้าไปดูก็ไม่หลับนะ แล้วแต่เราจะใช้ แก้วสารพัดนึก สติเนี่ย ไม่ต้องไปทำอะไร นี่เรียกว่าบำเพ็ญทางจิต ไม่ใช่เอามีดเอาขวานไปถากจิตถากใจ ไม่มี มีแต่บำเพ็ญไปเลย มีสติไปเลย มีสติดูจิต จิตคืออะไร ไม่ใช่หัวใจที่มันอยู่ข้างซ้ายมือ ที่มันเต้นตั๊บ ๆ ไม่ใช่แบบนั้น จิตคือมันคิดนั่นแหละ มันคิดนั่นแหละ ที่ไม่ได้ตั้งใจ มันคิดไม่ได้ตั้งใจนานเท่าไหร่ ไม่อยากคิดมันก็คิดนี่มานานเท่าไหร่ มันก็ไม่ได้ถูกสอนซักที เหมือนช้าง เหมือนม้า เหมือนโค เหมือนสัตว์ที่ไม่ถูกสอน ก็ใช้งานไม่ได้ จิตใจเราเมื่อไม่ถูกสอนก็ใช้ไม่ได้ เราพึ่งมันไม่ได้ บางทีเราก็ไม่มั่นใจจิตใจตัวเองด้วยซ้ำไป แล้วแต่เขาจะใช้เรา คุ้มร้ายคุ้มดี ฟู ๆ แฟบ ๆ กลางคืนเป็นควันกลางวันเป็นเปลว กลางคืนว่าฝันกลางวันว่าคิด มันก็อยู่แบบนั้น อะไรที่เป็นสาระที่เราได้ประโยชน์จากกายจากใจ เอามาฝึกหัดแบบนี้ ต่างตนต่างหัด ก็จะอยู่เย็นเป็นสุข สงบร่มเย็น ทั้งภพนี้และภพหน้า เรารู้เดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องรู้ ถ้าเราหลงวันนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องหลงแน่นอน ถ้าเราทุกข์เดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องทุกข์ มันก็มีอยู่พรุ่งนี้แต่ว่ามันไปจากวันนี้ ไม่ใช่ไปเกิดวันพรุ่งนี้เลย เหมือนกับการเจ็บไข้ได้ป่วยมันเกิดจากวันนี้ เราใช้ชีวิตผิดพลาดยังไง ไปสูบบุหรี่ ไปกินเหล้า ไปกินอาหาร อะไรที่มันไม่เป็นประโยชน์มันเป็นโทษก็มี มันก็เลยเกิดโรคในวันข้างหน้า อาจจะถึง 20 ปีนะ ถ้ากินเหล้ามาก ๆ ในวันนี้ อีก 20 ปีข้างหน้ามันจะเป็นมะเร็งได้ นี่ความประมาท เราจึงป้องกันดีกว่าการแก้ไข
มีสติเนี่ยป้องกันที่สุดแล้ว น่าจะขยันตรงนี้พวกเรา แล้วก็มีโอกาส มีโอกาส โอกาสก็มี นาทีทองก็มี นาทีทองอยู่ตรงไหน ตรงที่มันหลงเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง นาทีทอง ตรงที่มันเกิด เปลี่ยนเกิดเป็นไม่เกิด ตรงที่มันเจ็บที่มันแก่เปลี่ยนแก่เป็นไม่แก่ ตรงที่มันเจ็บเปลี่ยนเจ็บเป็นไม่เจ็บ ตรงที่มันตายเปลี่ยนตายเป็นไม่ตายแล้ว เขาเรียกว่านาทีทอง ต้องเปลี่ยนตั้งแต่เนี่ย แต่มันหลงเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงเนี่ย เปลี่ยนไปทางนี้ เปลี่ยนไปจากนี่ไป มันจึงจะถึงตรงโน้น ถ้าไม่เปลี่ยนตรงนี้ ก็ไปไม่ถึง ไม่มีนาทีทอง มีแต่นาทีขี้กลัว นาทีอะไรที่ไม่ดี มีแต่ร้องไห้ เกิดก็เป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ เราจะต้องมาศึกษาเรื่องนี้กัน ให้มีเมตตากรุณา มุทิตา อุเบกขา คิดจะช่วยตัวเอง สงสารตัวเอง คิดจะช่วยคนอื่น เกิดจากหลักนี่เหมือนกันนะ เรียกว่าวิหารธรรม เป็นที่ตั้ง ทำให้เกิดทำอะไรได้สำเร็จ ถ้าไม่มีวิหารธรรมเป็นที่ตั้งเสียเลย ทำไรก็ขี้แพ้ ไม่สำเร็จ เช่น พระสิทธัตถะมีความรักต่อมนุษย์มาก แต่ความรักของเรานี่ทำไมต้อง ต้อง หาคำตอบต้องมีให้ได้ ไม่ท้อถอย จนจะตายไป ทรมานจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ก็ยังไม่ท้อถอย เพราะความรักมนุษย์ทั้งโลก ถ้าตอบเรื่องนี้ไม่ได้มีชีวิตอยู่ไปทำไม ไม่ท้อถอย เอาจนสุดความสามารถ หลายอย่าง ในทางทุกกรกิริยาไม่มีใครทำได้เหมือนพระองค์ จนได้กระแส ได้นิมิตขึ้นมา นิมิตได้จากไหนล่ะ หลวงตาคิดเองนะ (หัวเราะ) อาจจะได้จากโน่น สมัยพระชนมายุ 7 พรรษา ไปแรกนาขวัญ นั่งอยู่ต้นหว้า บำเพ็ญทางจิตอย่างนี้ เอ้! ทุกวันเราเคยทำอย่างนี้นะ เรามาทรมานกาย มันก็ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของจิตใจ เคยทำอย่างนี้มันถึงจะสงบดี มันต้องทำอย่างนี้ลองดูสิ บำเพ็ญทางจิต เลยหันมาบำเพ็ญทางจิต ตั้งต้นใหม่ ๆ ปีที่ 6 นั่นน่ะ สังเกตดูนะ เพราะอะไร เพราะเคยไว้ เพราะเคยตั้งแต่พระชนมายุ 7 พรรษา ทำสมาธินั่งอยู่ใต้ต้นหว้า เพราะอยู่คนเดียว ไพร่ฟ้าบริวารมัวแต่ไปแรกนาขวัญ ลืมไป ปล่อยให้สิทธัตถะนั่งอยู่ลำพังพระองค์เดียว เลยไม่รู้จะทำอะไร กระแส เรียกว่านิมิต เป็นตราประทับไป จาก 7 พรรษา ถึง 20, 30 พรรษานะ ดูซิมันยังมีรอยอยู่นะ เรามาทำป่านนี้มันต้องมีรอยแน่นอนละ อีกคราวที่เราจนน่ะ เอ๊ย! เราเคยฝึกอย่างนี้ รู้สึกตัวเนี่ย อาจจะจับมาใช้ได้ เรียกว่าตกกะไดพลอยกระโจน เคยแป๊บเดียวก็ทำได้เลย มันจนมาก็ใช้ได้ เดี๋ยวนี้ยังไม่จนใช้ไม่ได้ ถ้ามันจนมามันก็ต้องมีเทคนิค มีศิลปะ อะไร ๆ มาบ้าง เราจึงต้องฝึก อย่าประมาทเถอะพวกเรา น้อย ๆ ก็ดี โบราณท่านว่าชั่วช้างสะบัดหู ชั่วงูแลบลิ้นก็ยังดี เรามาอยู่เรามีศรัทธาเรื่องนี้กันเถอะ อย่าประมาท จะเป็นยังไงก็อย่าขาดศรัทธา อย่าลุอำนาจของความโลภ โกรธ หลง อย่าลุอำนาจของความอะไรทั้งสิ้นที่มันจะรบกวนเรา ให้ตั้งใจตรงนี้เสียก่อน อะไรมาก็บอกกับ ดูซิพระสิทธัตถะอยู่ มันคิดอะไรขึ้นมาบ้างจนก็เกิดมารขึ้นมา กิเลสมาร ขันธมาร สังขารมาร เทวปุตตมาร เราเอาชนะได้ มันเกิดอยู่กับชีวิตของเรานี่แหละ ที่มันเกิดปรุงเกิดแต่งอะไรขึ้นมา เราก็เพียรพยายาม
เคยพูดอยู่เสมอว่าเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงเนี่ย ทั้งหมดแล้ว เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ เปลี่ยนความร้ายเป็นความดี เรียกว่าปฏิบัติธรรม การขยันรู้เรียกว่า ภาวนา ภาวนาคือยกมือขึ้นสร้างจังหวะ หรือเดินจงกรม เอากายมาเป็นนิมิตเป็นเครื่องหมาย ให้มันรู้ไปตามกายนี่ มีกายทุกคน อันกายนี้ก็เหมือนกันน่ะ อย่าไปนึกว่ากายแก่ กายหนุ่ม ไม่ใช่ อันกายก็เป็นกายเหมือนกันนะ อันหนุ่มก็หลงเป็น อันแก่ก็หลงเป็น คนแก่ก็หลง คนหนุ่มก็หลง นักบวชก็หลงญาติโยมก็หลง ผู้หญิงผู้ชายก็หลง ชาติไหนภาษาไหนก็หลง มันก็เหมือนกัน มันก็เหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่าหลงคนละแบบ ก็หลงอันเดียวกัน โกรธอันเดียวกัน ทุกข์อันเดียวกัน เกิดอันเดียว เจ็บตายเหมือนกัน หิวข้าวเหมือนกัน กินข้าวอิ่มเหมือนกัน อันเดียวกัน สามัญลักษณะ ไม่ใช่เราเป็นคนเดียว เราง่วง คนอื่นเคยง่วง พระพุทธเจ้าเคยง่วง จนพระองค์ได้เขียนแผนที่ว่าเจอ นี่แหละภูเขาลูกแรกความง่วง ความคิดฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย พยาบาท กามราคะ ปฏิฆะ มานะทิฐิ เอาตัวตนไปเป็นหลายอย่าง มีทุกอย่างในกายก็มีตัวตนซ้อน ๆ อยู่ ในจิตก็มีตัวมีตน ในสุขก็มีตัวมีตน ในทุกข์ก็มีตัวมีตน มันมี ก็ยังเห็น ให้เห็นสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิ เรียกว่า พระโสดาบันละทิฏฐิแบบนี้ได้ ไม่มีตัวมีตนไปในกาย ไม่มีตัวมีตนไปในสุขในทุกข์ ไม่มีตัวมีตนในความรัก ความเกลียดชัง ความพยาบาท ไม่มี เพราะมันเห็นแล้ว เพราะมันเห็นน่ะ มันจึงไม่เป็นเนี่ย เรียกว่าไม่มี มีแต่เห็น พระโสดาบันทำได้อย่างนี้
มีสิทธิจริง ๆ นะ ถ้าเราศึกษาสติปัฏฐานสูตรเนี่ย มันเป็นกระแส มันเป็นทางไปจริง ๆ อะไรที่มันผ่านไปก็ผ่านจริง ๆ ผ่านจากอะไร มันก็ ทำได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าคิดคำนวณหรอก มันสัมผัส มันผ่านมา ผ่านหลงเป็นไม่หลง อย่างง่ายดาย ผ่านทุกข์เป็นไม่ทุกข์ อย่างง่าย ๆ อย่างเปลี่ยนผ่าน ผ่านโกรธเป็นไม่โกรธอย่างง่ายดาย ผ่านอะไรมันง่าย ไม่ใช่ยาก ถ้ามีสติ ถ้าเราฝึกหัดไว้บ้าง แต่ถ้าไม่หัดก็เหมือนกลิ้งครกขึ้นเขา ถ้าหัดก็เหมือนกลิ้งครกลงเขา ละความชั่วได้ง่าย ทำความดีได้ง่าย ถ้าเราไม่หัด ก็ทำความดีได้ยาก ทำความชั่วได้ง่าย พูดผิดหรือเปล่า ละความชั่วได้ง่ายใช่ไหม (หัวเราะ) อาจจะพูดผิดนะ เมื่อวานอาจจะพูดผิด หลวงตาพูดว่า อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ คนที่สอนไม่ได้ หลวงตาว่าอะไร ว่าอันไหน ว่าอุคฆฏิตัญญูหรือผู้สอนไม่ได้ ขอแก้ไขเป็นเนยยะ ปทปรมะ คนที่สอนไม่ได้เรียกว่าเนยยะ ปทปรมะ เหมือนหลวงตาไปสอนยายแก่ บอกให้มือพลิกมือขึ้นแล้วยังเอามือไปซาวตะกร้าหมากอยู่ (หัวเราะ) เรียกว่าเนยยะ ปทปรมะ อุคฆฏิตัญญูเหมือนบัวพ้นน้ำ พอได้รับแสงอาทิตย์ อีก 2 ชั่วโมง ก็บานแล้ว ส่วนชีวิตของคนเหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่าอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญูอีก 2-3 วัน เนยยะอีก 4-5 วัน อาทิตย์หนึ่ง ปทปรมะใต้ดินเลย เป็นอาหารของเต่าอาจจะไม่งอกขึ้นมา
แต่ว่าเราไม่เป็นเช่นนั้น เราก็ยังยกมือสร้างจังหวะได้ทุกชีวิตอยู่เนี่ย ได้ยินไหมที่บอกเนี่ย (หัวเราะ) คือมีหวังนะ หลวงตามีหวังถ้ามาสอนคน เห็นคนยกมือสร้างจังหวะ ถามดูรู้สึกไหม รู้สึก มืออยู่ที่ไหน มืออยู่ที่เข่า รู้สึกไหม อ้อ! รู้ เนี่ยมีหวังแล้วบัดหนิ มีหวังแล้วบัดหนิ พลิกมือขึ้นรู้ไหม เขาว่ารู้ ยกมือขึ้นรู้ไหม เขาบอกว่ารู้ ใครเป็นคนรู้ ถามใครไหมความรู้เนี่ย ไม่ได้ถาม ใครเป็นคนรู้ เรารู้เอง เอามือวางไว้บนเข่า หลวงตาว่ามือของคุณอยู่ข้างหลังว่า ใช่ไหมล่ะ ไม่ใช่ ไม่เชื่อหรือเนี่ย ไม่เชื่อ ว่ามือของเราอยู่เนี่ย ทำไมจึงว่าอยู่ข้างหลัง อ้าว! หลวงตาเป็นอาจารย์ทำไมไม่เชื่อล่ะ (หัวเราะ) อันนี้มันคือรู้ อย่างนี้เรียกว่าหน่อโพธิ ใช้ได้แล้ว เคาะลงไป หว่านลงไปในเนื้อนา มีศรัทธา มีความเพียรลงไป เหมือนกับน้ำฝนโปรยลงไปให้พอเหมาะพอดี มีสติ ปลูกลงไป ขยันรู้ลงไป มีสมาธิ มั่นใจมั่นคง อย่าง่อนแง่นคลอนแคลน อย่าให้ความขี้เกียจพาหยุด อย่าให้ความขยันพาทำ มีสติ จะลุกจะเดิน จะไปไหน ให้มีสติรู้สึกตัว อย่าให้ความคิดสั่งให้ลุกให้นั่ง ให้สติเป็นผู้พาทำ มอบให้เป็นใหญ่ มอบให้สติเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของกายเป็นเจ้าของใจ มีสิทธิใช้กายใช้ใจ อย่าให้ความคิดให้ความหลงให้ความขี้เกียจใช้ เราให้ความหลง ให้ความทุกข์ ให้ความโกรธ ให้อะไรมาใช้ของเรา สาธารณะสำส่อน กายก็เป็นโสเภณี ใจก็เป็นโสเภณี ไม่สงวนตัวอะไร เสียหมดแล้ว เลอะเทอะหมดแล้ว
เราจึงมา มีมอบ เราจึงบอกว่า เวลาเราปฏิบัติธรรม “อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิ” ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตนี้ เพื่อจะปฏิบัติบูชาในกรรมฐาน “นิพพานัสสะเม ภันเต สัจฉิกะระณัตถายะ กัมมัฏฐานัง เทหิ” เพื่อจะทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลนิพพาน เราว่าอย่างนั้น มอบกายถวายชีวิต พวกเราก็มีศรัทธามาบวช ลางานลาการมาก็มี เป็นนายแพทย์ เป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นดอกเตอร์ก็มีอยู่เนี่ย บางทีก็ทิ้งลูกทิ้งเมียมาบวช บางทีก็สละอะไรมาบวช เป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่ได้ห่วงเล่น ไม่ได้สนุกสนานเฮฮา นี่ก็น่าเคารพ เห็นแล้วก็เคารพนะ เคารพทุกท่าน ไม่ได้ดูหมิ่นดูแคลน เป็นห่วง เวลาเรากินข้าวอิ่ม เอ้! เพื่อนเราอิ่มหรือเปล่า เวลาเราอยู่สบาย เอ้! เพื่อนเราสบายหรือเปล่า มันก็ยังห่วงอยู่นะ ไม่ใช่ไม่ห่วงนะ อยู่กันแล้วไม่เห็นกันก็ยังห่วงอยู่ ห่วงทุกคนในโลกนี้ กลัวเขาจะทุกข์ กลัวเขาจะลำบาก เช่น ถามเรื่องแม่ชีเมืองจีนน่ะ มาแล้วไหม (หัวเราะ) เป็นห่วงเขา เขาก็มาอยู่ของเขามันสบายกว่า แม่ชีบ้านเราแม่ชีมีแต่ผอม ๆ หมดแล้ว กินข้าวอิ่มหรือเปล่า อิ่มไหม (หัวเราะ) แม่ออกกินข้าวอิ่มหรือเปล่าละ เป็นห่วงเหมือนกันนะ เราจึง ไม่ใช่ว่าอยู่ใครอยู่มันนะ เราจึงมีความรักแบบพุทธะนะ ไม่ทอดไม่ทิ้ง และก็แบ่งงานกัน เรื่องอาหารการกินอาจารย์ตุ้มนะ ถ้ากินข้าวไม่อิ่มต้องไปฟ้องอาจารย์ตุ้มนะ (หัวเราะ) ก็แบ่งงานกัน อาจารย์ทองขานมีอะไรก็ไปเยี่ยมนักปฏิบัติบ้าง ป่าไผ่ทางทิศตะวันตก แค้มป์กรรมฐานทางโน้น หลวงตาก็เดินไม่ไหว มันหมดแรง อยากไปอยู่ ฟิตเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น แกว่งแขนเป็นพันสองพันครั้ง ก็ยังไม่แข็งแรง พอทำวัตรเสร็จรีบไปแกว่งแขน แกว่งแขนแล้วเดินเป็นพัน ๆ ก้าว ก็ยังไม่แข็งแรง มันฟิตไม่ขึ้น เหมือนรถมันใช้มาก มันซ่อมไม่ขึ้นแล้ว เป็นของเก่าไปซะแล้วนะ ขายเป็นขยะเป็นของเก่า (หัวเราะ) อันคนมันขายไม่ได้เหมือนเหล็กนะ อันหมายังดีกว่าคนนะไปแลกคู้ถัง ก็ได้นะ (หัวเราะ) อย่านึกว่าเราไม่ห่วงท่านนะ ต่างตนต่างห่วงกัน เห็นหน้ากันก็กินข้าวอิ่มไหมล่ะ เวลากินข้าวดูแลกันด้วย พวกเรา อย่าทอดอย่าทิ้งกัน อันนี้ก็เป็นธรรมนะ มีน้ำใจอย่างนี้
การบรรลุธรรมต้องมีน้ำใจไปจากนี้ มีความรัก มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนที่มีแต่ความโกรธ ความทุกข์ ความพยาบาท ความเห็นแก่ตัว ไม่มีโอกาสบรรลุธรรมน่ะ นะ ต้องมีตั้งต้นจากเมตตา วิหารธรรมไป ไม่มีมองคนไม่เป็นคน ทุกคนเป็นคน ๆ เดียวกัน ดูซิ ถ้าจะหลับจะนอนก็มีเมตตากรุณา มองในแง่ดี คิดถึง เมตตาตัวเอง เมตตาคนอื่น ตื่นขึ้นมาก็ มีเมตตากรุณา คิดจะช่วย อะไรต่าง ๆ พอที่จะช่วยได้ก็คิดจะช่วยกัน เอาการเอางานบ้าง เอาธุระบ้าง หนักเอาเบาสู้บ้าง อย่าเห็นแก่ตัว เรียกว่า มันกรุยทางไว้ให้สำหรับคนบรรลุธรรม ชีวิตที่ได้บรรลุธรรม มันตั้งต้น พอสมควรเป็นปัจจัยเป็นนิสัย ยิ่งพวกเรามาอยู่ในธรรมวินัยยิ่งดี มีระเบียบวินัย ช่วยเรามีศีล สมาทานศีล ศีลช่วยเรา สมาธิช่วยเรา ปัญญาช่วยเรา มีรั้วล้อมไว้ ในกายในใจ มีระเบียบวินัย ยิ่งในพรรษานี่ ยิ่งมีระเบียบวินัย จะไปไหนก็ต้อง ก็ต้องระวัง ให้มันอธิษฐานใจ ตั้งสัจจะไว้สักอย่างสองอย่าง เพื่อกล่อมเกลาตัวเองบ้าง อย่าปล่อยตามปล่อย อธิษฐานเอาไว้ อธิษฐานเข้าพรรษาเท่านี้ไม่พอ ต้องอธิษฐานด้วยตัวเองอีก จะทำอะไร ใช้ชีวิตแบบไหนในช่วงนี้ พิเศษ ๆ สักหน่อย จะทำความเพียรก็ให้พอดี อย่าเคร่งขรึม เคร่งเครียด จะเก็บอารมณ์ก็ให้พอดี เก็บอารมณ์ไม่ใช่ไม่ไปไหน ไปบิณฑบาตได้ มาทำวัตรได้ แต่รักษาใจ บำเพ็ญทางจิต กายเขาไปไหนก็ช่างหัวมัน แต่ว่ารู้จักบำเพ็ญทางจิตเอาไว้ ใช้กายไป ผมก็เคยเก็บอารมณ์ แต่ไปบิณฑบาต ไปทำวัตร ฟังหลวงพ่อแสดงธรรมทุกวัน แล้วก็พยายาม ไม่อยู่อย่างคนอื่น ไปบิณฑบาตพร้อมเพื่อน พยายาม หลงเราก็ไม่หลงกับเพื่อน มีเหมือนกันนะ เวลาไปบิณฑบาต เพื่อนหลง เราก็ไม่หลง ก็เห็นว่า เออ! เพื่อนหลง เราไม่หลงเหมือนเพื่อนนะ สอนตัวเองอยู่เสมอ ไม่ใช่ตกหมู่แร้งเป็นแร้ง ตกหมู่กาเป็นกา บิณฑบาตผ่านหมู่บ้านออกมา เดินข้ามทุ่งนา พูดกัน สาระไม่ค่อยมี เราก็ฟัง เราก็รู้ เพื่อนเราหลงไปแล้ว ถ้าไม่หลงก็คงไม่พูดอย่างนี้ เราก็รู้ ก็สอนตัวเอง เห็นเพื่อนหลงเราก็ไม่หลง นี้เรียกว่าบำเพ็ญทางจิต บางทีไปบิณฑบาตทางนี้ เห็นแต่เพื่อนหลงกันก็เอ้า! เลือกไปทางใหม่ ไปอีกทางหนึ่งอีก ก็ยังมีหลงอีก บางทีเราเดินจงกรมอยู่ เพื่อนยังหิ้วกาน้ำมา ฟันฟืนป๊อก ๆ ๆ มองหน้าเรายิ้ม อยากให้เราไปกินน้ำชาด้วย เราก็ไม่ไป เราบำเพ็ญทางจิต เราจะไม่หลงกับเพื่อนหนา พอคนหนึ่งตั้งน้ำชาคนหนึ่งก็มานั่งกิน ก็คุยกันไป ก็เอ้อ! เราไม่หลงเหมือนเขาน้า เราไม่ต้องกินก็ได้น้ำชา อะไรต่าง ๆ น้ำชาก็ไม่ใช่ชาอะไร เอาต้น เอาต้นชาน้ำอยู่กับดินน่ะ รก ถอน เป็นต้นหญ้าชนิดหนึ่ง ถอนมา เอามาต้ม มันมีเยอะอยู่ในวัดพุทธยาน เราก็ไม่กินก็ได้ ดื่มน้ำเฉย ๆ ก็ได้ เกลอทำท่าจะชวนเรา เราก็ไม่ไป เนี่ยเราไม่หลงแต่เพื่อนหลง นี่เรียกว่าบำเพ็ญทางจิต อันนี้ เราก็ทำได้ มีสิทธิ ตอนที่เพื่อนหลง เรามีสิทธิไม่หลง อย่างเนี้ย เรียกว่า เก็บอารมณ์
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ กราบพระพร้อมกัน