แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมซักหน่อยเนาะ ยังไม่เบื่อนะ แค่อยากจะพูด ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ถ้าไม่มีผู้บอก ไม่มีผู้พูด ไม่มีผู้ฟัง ก็ลบหมดแล้วคำสอนของพระพุทธเจ้า ตราบใดมีผู้พูด มีผู้ฟังอยู่ ก็แสดงว่ายังจะมีคำสอนอยู่ถึงชั่วลูกชั่วหลาน หลวงตาก็มีอาชีพก็ว่าได้ เพราะมันเป็นบุญ การธรรมเทศนามัยเป็นบุญ ผู้ฟังก็ธัมมัสสวนมัยเป็นบุญเหมือนกันทั้งสองฝ่าย เป็นการทำดี จึงเป็นเรื่องที่เราควรที่จะประกอบปรารภขึ้นมากับชีวิตของเรา
มีสมัยครั้งพระพุทธเจ้า มีพระอรหันต์หลายรูปที่เป็นพระขีณาสพ ได้ทอดทิ้ง ไม่บอกไม่สอนผู้คน พระพุทธเจ้าก็ตำหนิ ผู้ใดทำแต่ประโยชน์ตน ไม่ทำประโยชน์คนอื่น เกรงว่าไม่มีประโยชน์อะไร ผู้ใดทำแต่ประโยชน์คนอื่น ไม่ทำประโยชน์ตน ก็ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนผู้ใดทำประโยชน์ตนเอง ทำประโยชน์คนอื่นบ้าง อันนั้นแหละ ถือว่ามีประโยชน์ต่อโลก เรื่องนี้จึงเป็นธุระของเรา ให้มาเอาธุระนี้บ้าง เมื่อเราบวชมาแล้ว ต้องเอาธุระ ธุระของเรา อย่างน้อยต้องมี 2 อย่าง
คันถธุระ ศึกษา ไต่ถาม ขบคิด ฟัง เรียกว่า “คันถธุระ” ได้ยิน ได้ฟังมากๆ เป็นพหูสูต เช่น พระอานนท์เนี่ย เรียกว่า คันถธุระ
อันที่ 2 คือ วิปัสสนาธุระ ทำความเพียร มีสติ ตามคำสอนนั้น เอามาประกอบ
เหมือนที่เราสวดธัมมปาหัง เมื่อกี้นี้ ก็เป็นหน้าที่ของเรา เมื่อสวดธัมมปาหังเนี่ย หลวงตาคิดถึงสมัย 2514, 2513 - 2514 เคยไปอยู่สวนโมกข์ ไปสวดพระสูตรนี้ในสวนโมกข์ ร่วมกันกับญาติ กับโยม กับพระสงฆ์จำนวนมาก ที่สวนโมกข์ เป็นภาพที่ติดใจ ซึมซับอยู่ในหัวใจเนี่ย ก็เลยลึกซึ้ง สมัยนั้นมีหลายคน ถ้าเป็นโยมก็มี อะไรหลายคนจำไม่ได้ องค์มนตรีคนก่อน พระสงฆ์ที่สวด ไปอยู่รุ่นเดียวคราวเดียวกัน ก็มรณภาพไปกันเกือบหมดแล้ว รุ่นสวนโมกข์ใหม่ ๆ ถ้ายังสวดบทนี้แหละ มันลึกซึ้ง มันประทับใจ จึงมาเป็นธุระของพวกเรา เอางานนี้ มันก็มีอยู่จริง มีสูตรที่มันเป็นหลักสูตรที่แน่นอนที่สุด พระสูตรนี้ เอามาดู ในสมัยต้น ๆ พุทธกาล
พระพุทธเจ้าก็สอนสูตรนี้ สูตรสติปัฏฐานเนี่ย ไม่ได้สอนสูตรอื่น สมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์มาก เอาสูตรนี้สอน มีสติ เรียกว่า “สติปัฏฐาน” อันที่เราทำอยู่เนี่ย มันเป็นสูตรของชีวิตทุกชีวิตเลย เรียนให้จบ จนเกิดพระอรหันต์ขึ้น ภายใน 8, 9 เดือนเนี่ย มีเรื่องเดียวเท่านี้ 1,250 รูป ยังไม่มีวินัยอะไรที่มากมาย ยังไม่มีสังฆกรรมอะไร มาร่างบัญญัติขึ้นทีหลังเมื่อมีพระสงฆ์จำนวนมาก แต่ไม่ได้มีอะไร เพียงแต่บอกว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเราตรัสไว้ดีแล้ว ธรรมวินัยก็คือเนี่ย สติเนี่ย เป็นธรรม ทั้งวินัย ถ้ามีสติ มันก็ละความชั่ว ถ้ามีสติมันก็ทำความดี ถ้ามีสติจิตมันก็บริสุทธิ์ มันเป็นทั้งธรรมทั้งวินัย ไม่ได้แยกกันเลย ละชั่ว ทำดี ทำจิตบริสุทธิ์ เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ไปในตัว ธรรมวินัยเราตรัสไว้ดีแล้ว ดีแล้ว มีสติ ดูแลตัวเอง จนได้เป็นพระอรหันต์ก็เพราะเรื่องนี้กัน สมัยก่อนเกิดพระอรหันต์ 1,250 รูป จากเพ็ญเดือน 8 ถึงเพ็ญเดือน 3 เนี่ย มันมีหลักฐานอย่างนี้ เราไม่ต้องลังเลสงสัย
แต่เรื่องนั้นก็เป็นปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ที่เรากำลังทำอยู่เนี่ย มันเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่คนละเรื่องเลย เรื่องเดียว เรียกว่า ธรรมตรัสไว้ดีแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว มันอยู่ในชีวิตของคน คือกาย คือใจนี่ ถ้าละความชั่วก็ละได้ที่กาย ที่ใจ ทำความดีก็ทำได้ที่กาย ที่ใจนี่ มันพร้อมแล้ว ไม่มีใครเห็นตัวเราเท่าตัวเรา ไม่ต้องไปเชื่อใคร ให้ทำลงไป อย่าเกียจคร้าน มีความเพียร มีความบากบั่น ไม่บรรลุในสิ่งที่ควรบรรลุ ก็อย่าท้อถอย เมื่อยังไม่แจ้ง ในสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง ก็อย่าพึ่งย่อหย่อน แม้เลือดเนื้อชีวิตเราจะผุพังไปก็ตาม เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ก็จะไม่ทิ้ง ให้มีความมั่นใจ แน่วแน่ เด็ดขาด ลองดู ใช้ชีวิตให้เต็มที่จากนี้ลองดู เรื่องอื่นเราก็ใช้มามากแล้ว ชีวิตของเรา ใช้กันมามากแล้ว บางทีเป็นพ่อคน แม่คน เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน เต็มบ้านเต็มเมือง มันเป็นของอันอื่น ไม่ใช่เรื่องกายเรื่องใจเรา ที่ควรจะมีจะเป็น ยังมีปัญหาเรื่องกาย ยังมีปัญหาเรื่องใจอยู่ แน่นอน ถ้าเราไม่ศึกษาเรื่องนี้ ถ้าเราศึกษามันก็จบเลย
นี่คำสอนครั้งแรกนั่นนะ ตรัสรู้แล้ว ออกจากพระโอษฐ์ในวันเพ็ญเดือน 6 นั้น แต่ก่อนไม่มีญาณ ไม่มีสติ เราได้แล่นท่องเที่ยวไปกับสงสารเป็นอเนกชาติ สงสาร คือความหลง ความโกรธ ความรัก ความชัง ฟู ๆ แฟบ ๆ เรียกว่าสงสาร หลงแล้วหลงอีกเรื่องเก่า ทุกข์แล้วทุกข์อีกเรื่องเก่า โกรธแล้วโกรธอีกเรื่องเก่า เรียกว่า “วัฏสงสาร” เกิดดับ เกิดดับ ในนามรูป แต่นี่เรามีสติ เห็นแล้ว เราเห็นแล้ว โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักได้แล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อแล้ว จากที่เป็นสังขารเปลี่ยนเป็นวิสังขาร จากความหลงเปลี่ยนเป็นความรู้ ความรู้สึกตัวเนี่ยเป็นวิสังขาร ความหลงเป็นสังขาร มันเปลี่ยนได้อยู่ ความทุกข์เป็นสังขาร ความรู้สึกตัวเป็นวิสังขาร ในสังขารนั้นมันมีวิสังขาร ไม่ต้องไปหา ณ ที่ใด เป็นวิสังขาร โครงเรือนก็หักแล้ว มันหลงก็รู้แล้ว ความหลงก็ได้เปลี่ยนเป็นตัวรู้แล้ว หักแล้ว รื้อแล้ว แต่ยังมีซาก มีอะไรอยู่ เหมือนต้นไม้ยังมีรากอยู่ รื้อแล้วรื้ออีก มันก็หมดได้ เหมือนกับทิศเหนือศาลาหอไตรนี่แต่ก่อนเป็นป่าพง ป่าหญ้าคา เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ก็เพราะเอาออกเรื่อยๆ เอาออกเรื่อยๆ จากที่ป่าหญ้าคาป่าพง มันก็เป็นอันอื่นไปแล้ว จากความหลงกลายเป็นความรู้ไปเสียแล้ว จากความทุกข์กลายเป็นความรู้แล้ว ป่าหญ้าคากลายเป็นป่ายางไปแล้วใช่ไหม แม่ชีน้อย (หัวเราะ) มันเป็นป่าไม้ไปแล้ว ก็เกิดอะไรที่มีประโยชน์ต่อแผ่นดินได้ ไม่มีโทษ
อันความหลงมีแต่มีโทษ ความทุกข์ก็เกิดโทษ เบียดเบียนตนเบียดเบียนคนอื่น ถ้าไม่หลงมันรู้แล้ว ก็ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนคนอื่น นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า สิ่งใดที่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนตน และเบียดเบียนคนอื่น ไม่ใช่คำสอนของเราตถาคต สิ่งใดไม่เป็นไปที่เบียดเบียนตนและคนอื่น นั่นแหละคือคำสอนของเราตถาคต มันก็มีแค่นี้ ถ้าเรายังเบียดเบียนเราอยู่ เราก็เบียดเบียนคนอื่นได้ หรือพูดดังนี้ พูดแล้วพูดอีก ต้องไขกุญแจแก้โซ่กันตรงนี้ มันจึงจะหลุดออกไป มันข้องอยู่ มันติดอยู่ มันก็มีอัสสาทะ พออยู่ในความหลงไม่หลงก็หาเรื่องให้หลง บางทีไม่มีหาซื้อมา อันที่เป็นความหลง ขโมยเอาก็มีอันที่เป็นความหลง เพื่อจะได้ความหลง บางทีแม้มันไม่โกรธก็หาเรื่องที่ให้โกรธมีเหมือนกัน ปรุงแต่งไป หัวเราะ ร้องไห้ นี่เป็นสังขาร เราได้ถอนแล้วเนี่ย มันหลง ถอนความหลงเป็นความรู้แล้ว ก็เริ่มจากจุดนี้ อย่าประมาทตรงนี้ อย่าให้ความหลงมันฟรี เอาประโยชน์จากความหลงอะไรที่ไม่ใช่ความรู้สึกตัวน่ะ เอามาเป็นความรู้สึกตัวทั้งหมดได้ ในกายในใจเรานี้ เรียกว่ามีธุระกันทุกคนเรื่องเนี้ย เป็นธุระกันทุกคน ถ้ายังมีความหลงอยู่ แสดงว่ามีธุระอยู่ อย่าทอดทิ้งธุระเสีย ถ้ายังมีความหลง ก็อาจจะมีความทุกข์ ความโกรธ ความโลภต่อไป เป็นบาปอกุศลไป เป็นภพเป็นชาติไป ถ้าเรามีความรู้สึกตัว ก็จบลงตรงนั้นแล้ว เหมือนดับไฟเสียแต่ต้นลม ถ้าเราไม่ดับเอง แต่ไปให้คนอื่นเป็นไปได้ยาก
เหมือนหนุมาน ไฟไหม้เมืองลังกา หนุมานรบกับทศกัณฐ์ เคยได้ยินไหม เรื่องพระลักษณ์พระราม ทศกัณฐ์เนี่ยเป็นกองทัพใหญ่ ไปที่ใดทางใดภูเขาพังเป็นราบไปเลย แต่หนุมานนี่ ไม่เป็นกองทัพ มีบริวารฝูงลิงไม่กี่ตัว แต่รบกับทศกัณฐ์ ชนะทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์นั้น ทำไมหนุมานถึงชนะ หนุมานนี่อาศัยตัวเอง ส่วนทศกัณฐ์นั้นยิ่งใหญ่ แต่เอาหัวใจไปไว้กับฤาษี ไปห้อยไปแขวนไว้กับฤาษี หนุมานทราบเรื่องนี้ ไปขอหัวใจทศกัณฐ์จากฤาษี (หัวเราะ) ตามเรื่องนะ แล้วเอาศรเสียบหัวใจของทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์ก็แพ้เลย
เราเอาหัวใจไปไว้ที่ไหนเดี๋ยวเนี้ย เอาไปแขวนไว้ที่ไหน หัวใจของเราน่ะ บางทีไปแขวนไว้กับความรักความชัง ไปแขวนไว้กับลูกกับหลาน ไปแขวนไว้กับบ้านเรือน ไปแขวนไว้กับทรัพย์สินศฤงคาร มีไหม ถ้าสิ่งเหล่านั้นผิดอะไรไป ก็ใจเดาะเสียแล้ว ความรักความชังเกิดขึ้น เรียกว่าหัวใจเดาะ เดาะเพราะความรัก เดาะเพราะความชัง เดาะเพราะความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น มีบ้างไหม ถ้าใครไม่มีหลวงตาเคยมีมาแล้ว หัวใจเดาะ (หัวเราะ) เคยมีมาแล้วนะ เพราะเอาหัวใจไปห้อยไปแขวนไว้กับอันอื่น เราก็ทำของเขา เขาก็เจ็บใจของเรา ทุกข์ใจของเรา โกรธของเรา หลงของเรา แล้วก็ไปโทษเขาว่า เขาทำลายเรา เรียกว่า แพ้หนุมานเลย ผลที่สุดหนุมานก็เผาเมืองลังกา คนทั้งหลาย ๆ มาดับไฟก็ดับไม่มอด หนุมานวิ่งไปทางใดไฟลุกไปทางนั้น คนเขาดับไฟเรื่อยไป ดับไฟเรื่อยไป แต่หารู้ไหมว่า ไฟมันเกิดอยู่ ณ ที่ใด ไฟอยู่ที่ไหน ไฟหนุมานเกิดขึ้นที่ใด ที่หาง (หัวเราะ) หนุมานก็หัวเราะอยู่ โอ้! มันจะยากอะไรล่ะ ไฟเนี่ย ที่มันไหม้เมืองลังกา มันอยู่ที่หางเรานี่เอง ไม่ต้องให้ใครมาดับดอก หนุมานก็เอาหางที่มีไฟมาอมปาก ปั๊ปเดียวก็มอดทันทีเลย ใช่ไหม เขาจะมีรถดับเพลงมาดับ มันก็ยังไม่มอด เพราะไฟมันยังมีอยู่ อันนั้นนะ ไฟอะไรที่มันทำให้เดือดร้อนทุกวันนี้ มันอยู่เราคนหนึ่งคนหนึ่ง มีภาระอยู่ที่นี่ มีปัญหาอยู่ที่นี่ ก็ดับให้มันเย็นสนิทซะ โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงแล้วถึงสภาพกิเลสปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป สิ้นไปแล้ว สิ้นภพสิ้นชาติสิ่งนั้นไปแล้ว เป็นอิสระ
พระอุปคุตหลายรูปที่สำเร็จตั้งแต่เป็นหนุ่ม ๆ พระหนุ่มสำเร็จเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นหนุ่ม ๆ พระพุทธเจ้าก็เอามา มาใช้ บางทีก็ต้องพระพุทธเจ้าเอามาตักเตือนไม่ใช่นะ อย่างพระอุปคุตเนี่ยเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นหนุ่ม ทิ้งสงฆ์ไปเลย ไม่อยู่กับสงฆ์ พระพุทธเจ้าก็เอามา ให้มาเป็นภาระ รับเป็นภาระ ดูแลการก่อสร้าง สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทะนุถนอมบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างวัด 500 วัด ต้องให้อุปคุตเป็นผู้ไปดูแล เฝ้ารักษาวัดวาอารามในงานต่าง ๆ เพื่อลงโทษ มีไหม ในงานบุญต่าง ๆ มีหัวอุปคุตไหม รู้จักไหม หัวอุปคุตน่ะ ทำไว้ในงานต่าง ๆ บนบ้าน บนวัด บนที่ใด แม้แต่แต่งงานก็เอาอุปคุตไปอยู่หอไว้ เพื่อให้รักษางานให้เรียบร้อย เพราะอุปคุตนี่เป็นผู้ทิ้งสังคมไปอยู่ในป่า พระพุทธเจ้าเลยมาให้เฝ้างานต่าง ๆ เราเลยเอาหัวอุปคุตไปรักษางานต่าง ๆ ทุกวันนี้ มีมาตั้งแต่นู่น ก็เลยเสนอตัว เมื่อเป็นพระอรหันต์ ตั้งแต่หนุ่มแล้ว หางานของสงฆ์ที่จะต้องทำ ก็เลยเป็น เสนอตัวเองเป็นพระนวกรรมก่อสร้าง กุฏิท่านองค์ใดรั่ว กุฏิอันไหนมันทรุดโทรม พระภัททิละ..บุตร (พระทัพพมัลบุตร) เสนอเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้ การก่อสร้างซ่อมแซมปฏิสังขร นอกจากงานก่อสร้างกุฏิแล้ว ศาลาแล้ว เป็นภาระ เป็นผู้แจกเสนาสนะ ถ้าใครไปใครมา เป็นธุระให้พระไปแจกให้อยู่ตรงไหน สมควรใครจะอยู่ตรงไหน
อย่างวัดเรานี่ก็มี มานี่ก็ไปหาใคร ใครเป็นคนแจกเสนาสนะ เป็นธรรมไหม (หัวเราะ) หรือว่าเลือกที่รักมักที่ชัง คนแก่ก็ให้อยู่ใกล้ ๆ หอไตร ใช่ไหม ก็มีหนุ่มน้อยหน่อย ก็ให้อยู่ไกลหอไตรออกไปซักหน่อย ถ้าคนที่ไม่เคยอยู่เป็นเพื่อนกัน 2 รูป 3 คน ให้เหมาะสมกับชีวิตของแต่ละคนที่มาอยู่นี่ มองให้มันเห็น ในสิ่งบางสิ่งบางอย่าง เช่น พระอานนท์เนี่ย เป็นผู้ที่มีเมตตาสูง เห็นเณร เห็นศูทร จัณฑาล อดอยากยากแค้นอยู่ที่ใด เด็กน้อย จับมาบวช เป็นผู้ปกครองของเณรน้อย เก่งมากพระอานนท์เนี่ย จับมาบวช บางคนทุกข์ยากลำบาก คนอินเดียเนี่ย จับมาบวช บวชแล้วก็ปกครอง มีชื่อเสียงดัง ๆ อยู่หลายรูป ลูกศิษย์พระอานนท์สามเณร สังกิจจะสามเณร ได้บรรลุธรรมตั้งแต่ตัวน้อย ๆ โน่น สังกิจจะหลายรูปที่เป็นเณรบรรลุธรรม
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องช่วยกันจริง ๆ อย่าทอดทิ้งกัน เว้นจากการทะเลาะวิวาทกันเด็ดขาด ให้มีความเมตตา ตั้งไว้ในใจ อย่ามีอคติใด ๆ มันจะช่วยให้การบรรลุธรรมได้ ถ้าทำใจให้ดี มันก็มีส่วนที่ทำให้เข้าถึงธรรมะได้ง่าย มีศรัทธา มีศีล สำรวมบ้าง ไม่พูดพร่ำ ไม่หมกมุ่น ไม่คลุกคลีกัน แม้จะอยู่ด้วยกันก็เหมือนกับเราอยู่คนเดียว เราอยู่คนเดียวก็เหมือนกับอยู่กับหมู่ รู้จักตกแต่ง คิดเอาให้พอเหมาะพอสมกับกาลเทศะ หลายๆอย่างที่เป็นส่วนประกอบ ในการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าจะเดินจงกรมทั้งวัน นั่งสมาธิ สร้างจังหวะ แต่ใจเร่าร้อน อารมณ์ค้าง มันก็ไม่ใช่แล้ว เวลาขยันก็ทำไป วุบวับ ๆ เวลาเกียจคร้านก็นอน ไม่ใช่อย่างนี้
ต้องเป็นสถาบัน ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติสม่ำเสมอ เป็นสถาบัน อย่าคุ้มร้ายคุ้มดี ฟู ๆ แฟบ ๆ ให้ความคิดพาทำ ไม่ใช่ ต้องมีความเพียร มีศรัทธา เป็นหลัก มีสติ เป็นการศึกษาเข้าไป มีความรู้รอบ ๆ กาลเทศะอะไร ให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเรา อันนี้ต้องหาเอาเอง ไม่ใครสอนเรา ต้องหาส่วนประกอบ เรียกว่า ทฤษฎี อย่าจนในทฤษฎี อยู่ในหัวใจเรานี่ แต่งได้ มาร้ายเป็นดีได้ เปลี่ยนผิดเป็นถูกได้ เรียกว่า วาสนา บารมี วาสนาคือ เขียนให้มันดี วาดลงไป วาดกาย วาดใจ แต่งลงไป แต่งกาย แต่งใจ นิสัยใจคอ มันแข่งขันกันได้ วาสนาเนี่ย อย่าไปบอก อย่าไปพูดว่า บุญวาสนาแข่งขันกันไม่ได้ ไม่ใช่เลย แข่งกันได้นะ
เอาอย่างคนดี เอาอย่างพระพุทธเจ้า เอาอย่างพระสาวก เนี่ย มันมีหลายอย่างที่เอามาประกอบ ไม่ท้อแท้ ไม่ใช่ว่าเอาแต่อารมณ์พาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติหน้าบูด ๆ คร่ำเครียดเหลือเกิน บางทีมัน “ทุกขาปฏิปทา” ทำด้วยความยากลำบาก มันก็บรรลุธรรมได้ยาก ต้องเป็น “สุขาปฏิปทา” ทำด้วยความสดชื่น โบราณท่านว่า ใจดีแยกฝ้ายใจร้ายแก้ไหม ถ้าใจร้ายไปแก้ไหมเนี่ย เวลาดึงไหม มันไม่ขาดมันจะบาดมือเข้า ก็เลยให้แก้ไหม เพื่อจะได้บาดมือ พอไหมบาดมือ ค่อย ๆ ทำไป ถ้าใจดีก็แยกฝ้ายได้อยู่แล้ว เบา ๆ ก็ได้ หัดเอาความยากนั่นแหละ ยิ้มในความยาก ยิ้มได้เมื่อภัยมี ฝึกตนอย่างนี้ เข้มแข็งในความอ่อนแอให้ได้ มันร้อน ให้เย็นอยู่ในความร้อนให้ได้ ไม่ทุกข์ในสิ่งที่มันทุกข์ได้ ไม่หลงในสิ่งที่มันหลงได้ หัดตนสอนตนอย่างนี้ เรียกว่าปฏิบัติธรรม