แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรม เพื่อย้อมจิตของเราให้ติดกับรสพระธรรม เราก็ใช้เวลาการสวดมนต์ทำวัตรมาสมควร แล้วก็ฟังธรรมสักหน่อย เพื่อให้ข้อมูล เรากำลังปฏิบัติธรรมกันอยู่ ผู้ฟังก็ได้ยินได้ฟังในสิ่งที่เราทำ เราทำ เราก็ได้ยินในสิ่งที่พูด มันก็สมดุลกัน แม้เรามีเครื่องรับ มีสื่อสารภายนอกภายใน เรารับกันได้ รู้เรื่องกัน เราเจริญสติ ก็พูดเรื่องสติ เมื่อพูดเรื่องสติมันก็มีอะไรเกี่ยวข้องกับสติเยอะแยะ ก็เป็นการศึกษาไปในตัวเสร็จ บางทีมันมีความหลง เราก็มีสติ
สติ ประสบการณ์กับความหลง ทำยังไงตรงนั้น เป็นการศึกษาแล้ว ศึกษาคือ ถลุงย่อย ย่อยออก มีสติก็พ้นจากภาวะที่หลง บางทีมีสุขมีทุกข์ มียากมีง่าย มันก็มีสติเรื่อยไป สตินี่เป็นคาถาล้วน ๆ ไม่ต้องอธิบาย ว่าผิดว่าถูกยังไง ถ้าอธิบายสติไป ก็เป็นอรรถกถา อธิบายอรรถกถาอีกเป็นอิติมุตตกะ หรือเป็นอะไรไปอีก ก็มัวแต่อธิบายอยู่ ก็เสียเวลา เป็นรู้ไปเลย รู้ไปเลย อย่าไปเอาผิด อย่าไปเอาถูก ให้มีสติล้วน ๆ ผิดถูกมีสติเห็น สุขทุกข์มีสติเห็น ยากง่ายมีสติเห็น เอาไปเอามา สติก็เลยคล่องตัว ไม่ผิดไม่ถูก ไม่ยากไม่ง่าย สติก็เลยไม่กระทบกระเทือน เรียกว่าแก่กล้า เป็นอินทรีย์ตัวใหญ่ ไม่กับใครอะไรทั้งหมด เหมือนช้าง เหมือนหมา ความหลง กิเลสทั้งหลายเหมือนหมา สติเหมือนช้างไปเลย ไม่หวั่นไหว ผู้มีธรรม มีสติ ไม่หวั่นไหวเพราะสุขทุกข์ นินทาสรรเสริญ เหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบ ไม่สะเทือนเพราะลม ชีวิตของผู้มีสติ มีธรรมมีศีลอันมั่นคง เพราะฝึกหัดตนดีแล้ว เหมือนช้างนักรบไม่เจ็บปวด เวลาเข้าสู่สงคราม ก็ไม่ขยาดหวาดหวั่นต่อลูกศรลูกธนู ศัตรูคู่อริก็ไม่หวั่นไหว จึงเป็นนักรบได้
ชีวิตของเราควรจะเป็นนักรบกับข้าศึกภายในชีวิตเรา ความยาก ความง่าย มันมา ความผิดความถูกมา ความสุขความทุกข์มันมี ง่วงเหงาหาวนอนมี ฟุ้งซ่านมี กิเลส ตัณหา ราคะ ทิฐิมานะมี มีจริตนิสัยยังไงมา มักจะแซงหน้าแซงหลัง ทำให้เราหลงไปกับเหตุผลต่าง ๆ ที่ทะลักเข้ามา เอาผิดเอาถูกเอายากเอาง่าย เอาชอบเอาไม่ชอบ มันไม่ใช่สติแล้ว สติเป็นคาถาล้วน ๆ ไม่ต้องมีมันสมองเข้าไปหาเหตุหาผล ทำลงไปก็ยกมือสร้างจังหวะ ก็รู้เข้าไปเลย รู้เข้าไป เวลาอะไรที่มันผ่านมาก็รู้เข้าไป มันสุขก็รู้เข้าไป มันทุกข์ก็รู้เข้าไป เห็น เห็นความสุข เห็นความทุกข์ จนคล้าย ๆ กับบอกตัวเองว่า รู้แล้ว รู้แล้ว ว่าอย่างนั้น
เหมือนอัญญาโกณฑัญญะ เวลาพระพุทธเจ้าแสดงธรรม อัญญาโกณฑัญญะก็แสดงถึงว่า รู้แล้ว พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ก็จะมองดูว่า เหมือนได้รับมีข้อมูลในตัว และมีข้อมูลภายนอกสมดุลกัน รู้แล้ว ๆ แสดงถึงความรู้แล้ว รู้แล้ว เทศน์ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ต่อไปถึงอริยะสัจสี่ ต่อไปถึงอนัตตลักขณสูตร ล้างไป ล้างไปจนจบ จนพระพุทธเจ้ามองอัญญาโกณฑัญญะว่า อัญญารู้แล้วหรือ ทำไมจึงถามคำนี้ เพราะมีปฏิกิริยา อัญญา ฯ ก็ตอบว่า รู้แล้ว รูปไม่เที่ยงก็รู้แล้ว สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ รู้แล้ว สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน รู้แล้ว สิ่งใดไม่ใช่ตัวตน สิ่งนั้นไม่ควรยึดถือว่าเป็นเรา ว่าของเรา รู้แล้ว ก็ล้างไป ล้างไป มันก็มีอยู่ในเรา มันอันเดียวกัน เรื่องของคนเราก็มีอันเดียวกัน มีสติก็เป็นอันเดียวกัน มีความหลงก็อันเดียวกัน พ้นจากความหลงก็เป็นอันเดียวกัน พ้นจากความโกรธก็เป็นอันเดียวกัน พ้นจากความทุกข์ก็เป็นอันเดียวกัน พ้นจากความยากความง่ายก็เป็นอันเดียวกัน ความยากความง่ายก็อันเดียวกัน จึงคล้าย ๆ กับว่ารู้เรา รู้เขา รู้ตัวเอง รู้คนอื่น ใจก็เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นความรู้อันชอบ เป็นการศึกษาโดยชอบ เป็นการอยู่โดยชอบด้วยซ้ำไป ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวล เมื่อมีความรู้สึกตัว ก็ถือว่าอยู่โดยชอบแล้ว
พระพุทธเจ้า “อิเม เจ ภิกขเว ภิกขู สัมมา วิหะเรยยุง อะสุญโญ โลโก อะระหันเตนิ อัสสะ”
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธออยู่โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ในโลกนี้ เขาก็มามีสติเนี่ย อยู่คนเดียวมีกัลยาณธรรม เหมือนกับอยู่กับหมู่ มันก็ได้ช่วยหมู่มิตร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนลำบาก อยู่กับหมู่ก็เหมือนกับอยู่คนเดียว คนมีสติ มันก็อยู่โดยชอบแล้ว เพราะได้เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เปลี่ยนความผิดเป็นความรู้ เปลี่ยนความทุกข์เป็นความรู้ สมาธิไป พร้อม ๆ กันไป เป็นศีลไปด้วย เป็นสมาธิไปด้วย เป็นปัญญาไปด้วย เป็นความหลุดพ้นไปด้วย อะไรที่มันเป็นโชว์อยู่ข้างหน้า เอาไว้ข้างหลังเรื่อยไป ผ่านเรื่อยไป ผ่านเรื่อยไป
ไพเราะในเบื้องต้น มีทั้งอรรถ มีทั้งพยัญชนะ ความไม่เที่ยงเป็นไง ความเป็นทุกข์เป็นไง บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงไป ผ่านความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยงเป็นปัญญา บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ความเป็นทุกข์ผ่านไป ความไม่ทุกข์ไม่ใช่เป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์เป็นปัญญาไปเสียแล้ว จึงล่วงพ้นภาวะเก่า ๆ เหมือนเรากินข้าว ทานอาหาร ทีแรกก็หิว พอกินไป ๆ ความหิวมันก็หมดไป ๆ จากคำข้าวกลืนไปทีละคำ ไม่ใช่ให้มันหมดความหิว ไปควบคุมความหิว ไม่ต้องเลย แต่เราก็กินไป เคี้ยวไปกลืนไป เคี้ยวไปกลืนไป แต่มันอิ่มไปเอง ไม่ใช่ไปไล่จับความอิ่ม ทำยังไงจึงจะอิ่ม ไม่ต้องไปคิดให้เสียสมอง เรากลืนลงไป กินลงไป มันก็อิ่ม การอิ่มเนี่ย อธิบายให้คนอื่นฟังไม่ได้ อิ่มมันเป็นยังไง หิวมันเป็นยังไง มันก็เป็นปัจจัตตัง เป็นของตัวเรา ว่าเรามีศีลหรือยัง มีสมาธิ มีปัญญา เราหลุดอะไร มีแล้วจึงเห็น เห็นแล้วจึงรู้ เหมือนเรากินข้าว อิ่มแล้วจึงรู้ว่าอิ่ม อิ่มแล้วมันก็ไม่ต้องกินอีก ความทุกข์ก็ไม่ต้องไปต่อสู้กับมันอีก เพราะมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน กายก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่ก่อนตัวตนเกิดอยู่กับกายเยอะแยะ หลายภพหลายชาติ ตัวตนเกิดอยู่กับจิตใจ หลายภพหลายชาติ เอากายมาเป็นตัวเป็นตน เอากายมาเป็นที่ตั้งของการเกิดหลาย ๆ อย่าง สุขทุกข์อยู่กับกายกับใจ ความร้อนความหนาว ความโกรธ ความเป็นสุขเป็นทุกข์
พอเรามามีสติ มันก็เห็น มันไม่ใช่ตัวตน มันก็ถือว่าหลุดพ้นไปจากกาย หลุดพ้นไปจากใจ อันที่กายเป็นใหญ่ เอาไว้เป็นสุขเป็นทุกข์ เพื่อเจ็บ เพื่อปวด คอยรองรับทุกข์ เอาไปเอามา มันก็เลยไม่ไปอยู่ตรงนั้น เป็นปัญญาไปเลย เห็นรูปเห็นนาม เห็นรูปทุกข์ เห็นนามทุกข์ เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม เห็นรูปโลก เห็นนามโลก เห็นสมมติ เห็นบัญญัติ เห็นวัตถุ กายก็เป็นวัตถุ ที่เป็นรูปเป็นวัตถุ เหมือนกับแผ่นดิน เมื่อมีแผ่นดิน ก็มีอะไรเกิดอยู่บนแผ่นดินนี้ มีต้นไม้ มีท้องฟ้า มีก้อนเมฆ มีดวงอาทิตย์ เป็นวัตถุ ดวงอาทิตย์ก็ทำให้เกิดเมฆเกิดฝนได้ กายของเรานี้ มันก็เป็นไปตามอาการของเขา ไม่ใช่ตัวใช่ตน มันก็ต้องออกพ้นกาย มันรู้จักร้อน มันรู้จักหนาว มันรู้จักเจ็บปวด มันรู้จักหิว ถ้ามันไม่หิว ถ้ามันไม่รู้จักร้อน ไม่รู้จักเจ็บปวด มันก็ไม่ใช่กาย ไม่ใช่รูป เราก็มีปัญญาตรงนี้ ไม่ใช่เอามาเป็นเรื่องทุกข์ ไม่ใช่เอามาเป็นตัวเป็นตน เป็นปัญญาเกิดขึ้น เพราะกายมันบอก รูปมันบอก นามมันบอก ปัญญาก็รอบรู้ในกองรูป ในกองนามนี้ ไม่ใช่ปัญญาไปรู้ภายนอก
ความรอบรู้ในกองสังขาร เรียกว่า “ปัญญา” กองสังขารคือกายสังขาร สิ่งใดเป็นสังขาร สิ่งนั้นมันก็ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สังขารแท้ ๆ กลายเป็นวิสังขาร เปลี่ยนแปลงไปได้ สังขารเป็นทุกข์ สิ่งใดเกิดจากสังขาร ชี้หน้ามันได้เลยว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ความโกรธก็เป็นสังขาร ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ความทุกข์ก็เป็นสังขาร ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ชี้หน้าลงไปได้เลย อ่านความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์นั่น เปลี่ยนเป็นวิสังขาร ก็เลยไม่เป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยง ไม่เป็นทุกข์เพราะความไม่ทุกข์ เรียก “เปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขาร” วิสังขารทีนี้ผ่าน
สังขาร คือภพชาติ มันก็ดับตรงนี้ ดับน้อย ๆ ไป ดับลงน้อย ๆ ไป ไม่เกิดเป็นภพเป็นชาติ คุมกำเนิดตรงนี้แหละ สติเป็นสิ่งที่คุมกำเนิดของสังขารได้ น้อย ๆ ไป ไม่มั่นคง ไม่ถาวรก็ได้บ้าง เหมือนเราดับไฟ ดับไฟทีแรกก็ ไฟมันลุกมาก พอดับไป มันก็มอดลงน้อย ๆ ไป มอดลงน้อย ๆ ไป เอาไปเอามาก็อาจจะดับสนิทไปเลย เรียกว่าถาวร ถ้าจะเป็นนิพพาน ก็นิพพานน้อย ๆ ไปก่อน ความทุกข์หมดไปน้อย ๆ ความหลงก็หมดไปน้อย ๆ ไป ความโกรธหมดไปน้อย ๆ ไป เบาบางจางคลายลง
อย่างพระสกิทาคามี ทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง เบาบางจางคลายลงได้บ้าง ในสังโยชน์ 3 สังโยชน์ทั้ง 5 สักกายทิฏฐิ ความเห็นสำคัญมั่นหมายว่ากายเป็นตัวเป็นตนลงไป ความลังเลสงสัยตรงนี้ไม่มี ความถือจริงถือจังเรื่องกายไม่มี เอาไว้ศึกษา ไม่จริงจังกับกาย ถือมั่นยึดมั่นเอากายเป็นเรื่องตัดสิน เอาใจเป็นเรื่องตัดสิน มันก็เบาบางจางคลายลง เอาธรรมเป็นเรื่องตัดสิน ไม่ใช่เอากายเอาตน “อัตตาธิปไตย” เอาตนเป็นใหญ่ ถ้าเราสุขเราก็สุข ถ้าเราทุกข์เราก็ทุกข์ สมมติยึดมั่นเข้าไป “โลกาธิปไตย” เอาโลกก็ไม่ได้ ต้องเอาธรรม “ธัมมาธิปไตย” เอาธรรม ความทุกข์ไม่ชอบธรรม ความไม่ทุกข์ชอบธรรม ความโกรธไม่ชอบธรรม ความไม่โกรธชอบธรรม ความหลงไม่ชอบธรรม ความไม่หลงชอบธรรม เข้าสู่ธรรมะ เป็นประตูธรรมเข้าไป มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่จินตนาการ เป็นการพบเห็น ไม่ใช่จินตนาปัญญา ปัญญาเกิดจากการจินตนาการ มันมีเหมือนกัน แต่มันไม่จริง เดี๋ยวมันหมด มันเสื่อมเป็น ต้องเป็น “สุกขวิปัสสโก” เป็นวิปัสสนาล้วน ๆ เห็นวิปัสสนาล้วน ๆ เห็นความหลง เห็นความไม่หลงล้วน ๆ พบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น เป็นการพบเห็น ถ้าพบเห็นแล้ว ไม่มีคำถาม มันก็ตอบได้เลย
เราจึงศึกษาลองดู ไม่ต้องเชื่อใคร ถ้ามันหลงกับความไม่หลง เชื่อตรงไหน ความทุกข์ ความไม่ทุกข์ เชื่อกันตรงไหน ไม่มีใครเอาความหลง ถ้ามีความรู้แล้ว ไม่มีใครเอาความทุกข์ ถ้ามีความรู้สึกตัวแล้ว ไม่มีใครเอาความโกรธ ถ้ามีความรู้สึกตัวแล้ว ก็ไปกันได้เอาเอง เดินไปด้วยเท้าของตัวเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอก ส่วนการกระทำเป็นหน้าที่ของเรา เหมือนเดินไปตรงนี้ ลองดู เราก็เดินไปเอง ผ่านความหลงเป็นความไม่หลง มันก็ผ่านไปเรื่อย ๆ ผ่านความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ มันก็ผ่านไปเรื่อย ๆ ผ่านหลาย ๆ อย่าง สารพัดอย่าง ที่มีสติมันต้องผ่านอะไรต่าง ๆ มากมายไป ก็มีบทเรียน มีประสบการณ์ ได้ปัญญาจากการศึกษาตัวเรานี้แท้ ๆ นี่แหละปฏิบัติธรรม
เรายังมีเวลาพบปะกันตอนเช้า ตอนเย็น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น แล้วก็เพื่อจะได้ร่วมกันเป็นทิศทางให้รู้แผนที่ รู้ทางอะไรกัน ว่างก็พบกัน ทำวัตรนี่ก็อย่าให้นานเกินไปประมาณสักไม่นาน ก็อย่างนานที่สุด 30 นาที พิธีกรรมอย่าให้นานเกินไป แล้วก็นอกจากนั้นก็ แต่ก็ดีทำวัตรเนี่ย มันมีอะไรหลายอย่าง ถ้าเป็นการศึกษามันต้องลาดไป ไม่ใช่หน้าผา อยู่ ๆ จะมาจับมือจับไม้กัน อะไรมันก็ไม่ใช่ ต้องมีการลาด ๆ เราต้องทำวัตรเนี่ย เป็นการลาดไป สาธยาย 10, 30 นาที นอกนั้นก็ฟังธรรมกันต่อ แต่บางสำนักเนี่ย พอทำวัตรจบ นั่งทำสมาธิต่อกัน อวดกัน ไม่ค่อยดีนะ พระสงฆ์ก็นั่งหันหน้าหาโยม ญาติโยมก็นั่งสร้างจังหวะ ปฏิบัติธรรมต้องส่วนตัว ๆ ถ้าเป็นส่วนรวมก็ได้ ถ้าหลังจากทำวัตรเนี่ย ต้องเป็นการแสดงธรรมก่อน แล้วก็ปฏิบัติธรรมกันต่อไป ถ้าจะปฏิบัติธรรมกันต่อไป ก็แสดงธรรมเสียก่อน ทำสมาธิ สร้างจังหวะต่อไป มันก็เหมาะสมดี ถ้าทำวัตรจบแล้ว ปฏิบัติธรรมกันเลย มันก็ไม่ค่อยรู้ทิศทาง พอบอกแล้ว พอพูดแล้ว พวกเราก็ทำไป ยกมือลองดูซิ เอามือวางไว้บนเข่าดูซิ รู้ไหมว่ามืออยู่ที่ไหน รู้เอาเองนะ ตะแคงมือข้างขวาตั้งไว้ ยกมือขึ้น รู้ รู้นะ เอามือวางไว้น่ะ รู้ แขนข้างซ้าย รู้ ยกขึ้น รู้ เอาวางนี่ รู้ ยกขึ้น รู้ มันก็อยู่ตรงนี้ แล้วก็รู้ตรงนี้ เอาไปทำ