แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระพุทธเจ้าทรงแสดง เอามาเป็นสูตร ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เรื่องของเรานี่แหละ การฟังธรรมก็ฟังเรื่องของเรานี่ เรื่องของเราก็มีกายมีใจ ถ้าใครนั่งอยู่นี่มีกายมีใจ ก็จงฟังบ้าง มีสติ มีไหม หรือมีแต่ความหลง ถ้าไม่มีสติ ก็เพียรประกอบให้มันมีขึ้นมา อย่าปล่อยทิ้งไป จำเป็น ถ้าไม่มีสติก็ เหมือนกับ กายใจไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครดูแล เถื่อน สำส่อน ใครจะหยิบไปใช้เลยก็ได้ จะให้เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นโทษโกรธ เกลียด เคียดแค้น อะไรก็ได้ ถ้ากายใจไม่มีเจ้าของ เรียกว่าป่าเถื่อน เรามีกายก็ยังพึ่งกายไม่ได้ เรามีใจก็ยังพึ่งใจไม่ได้ เอากายไปทำชั่ว เอาใจไปคิดชั่ว เป็นการผิดศีลผิดธรรม เพราะกาย เพราะใจไม่มีเจ้าของ เลยตกนรกไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เพราะกายใจไม่มีเจ้าของ ถ้ามีสติเป็นเจ้าของแล้ว ไปสวรรค์นิพพานได้ ชีวิตของเราเป็นอย่างนี้ อย่าปล่อยทิ้ง มาดูแล กายใจของเรานี่
การมาดูแลกายใจให้คุ้ม เรียกว่าการปฏิบัติธรรม โดยให้มันปลอดภัย จนไม่มีภัย ไม่มีภัยเรียกว่า ที่สุดแห่งทุกข์ พรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ถ้ามันมีประโยชน์ ปลอดภัย ทั้งผู้อื่นสิ่งอื่นก็ปลอดภัย อยู่ด้วยกันด้วยความสงบร่มเย็น ถ้าหากว่ามันมีภัยอยู่ในชีวิตเรา ไม่ดูแลก็เป็นทุกข์ เป็นโทษต่อคนอื่น สิ่งอื่นวัตถุอื่นได้ จะมีตำรวจทหาร มีตัวบทกฎหมายมีคุก มีตะราง เพราะคนไม่ดูแลตัวเอง รักษาตัวเองไม่คุ้ม จนจับกุมคุมขัง ติดคุกขังเอาไว้ ตลอดชีวิตก็มี ถึงปล่อยไว้มันจะดุร้าย ไปทำลายคนอื่น สิ่งอื่น ต้องขังไว้ มันก็ ปัญหา เราจงมาศึกษาซะ ให้มีการเริ่มต้นซะ ถ้าไม่เริ่มต้น มันมีโทษ
อย่างฟันเรานี่ถ้าเราไม่รักษา มันก็มีโทษ ทำให้เจ็บปวด ทำให้ไม่มีฟัน เคี้ยวอาหาร ถ้ารักษาดีๆ ก็มีฟันใช้ตลอดชีวิต บางทีอายุมาก แก่เฒ่ามา จึงมารักษาฟัน ก็เอาไม่อยู่ แม้สุขภาพร่างกายนี่ ใช้สะเปะสะปะไป กินอะไรก็กิน กินเหล้าสูบบุหรี่ ก็เป็นทุกข์เป็นโทษ เมื่อมารู้สึกตัวก็เอาไม่อยู่เสียแล้ว เป็นโรค ตายเพราะไม่ดูแลรักษา
เราจึงมาประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ การมีสติเนี่ย คอยดูแล ให้มีการเริ่มต้น ถ้าไม่มีการเริ่มต้น ไม่มีท่ามกลาง ไม่มีที่สุด ชีวิตต้องเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ ให้มัน ตั้งหลักไว้ดีๆ การเริ่มต้นคือธรรมวินัยเนี่ย เหมือนกับปลูกต้นไม้ ปลูกข้าวพอรากมันฝังลงดิน เมื่อรากต้นไม้ลงไปสู่ดิน มันก็เจริญงอกงามเอง รากก็เหมือนธรรมวินัย ลำต้นเหมือนกาย ใจ ก็เกิดดอกออกผล มีรากมีลำต้น มีกิ่งก้านสาขา มียอดเกิดดอกออกผล รากนี่สำคัญเรียกว่า วินัย ธรรมวินัย วินัย วิคือวิเศษ นัยยะ นำไปสู่ความวิเศษ จะคิด จะทำ จะพูดสิ่งใด ให้มีแบบฉบับ แบบความเป็นพระ มาเข้าแบบ มาเข้าพิมพ์ จะออกแบบ แบบกาย แบบใจ มีอยู่ คิดๆให้เป็น ถ้าทำๆให้เป็น เรียกว่าแบบ เหมือนหล่อเสา ต้องการเสาเหลี่ยมก็ทำพิมพ์เหลี่ยมๆ ต้องการเสากลมก็ทำพิมพ์กลมๆ ต้องการรูปอะไรก็ทำพิมพ์ดีๆ พิมพ์ดีรูปมันดี เรียกแบบฉบับ ถ้าเรามีสติมันก็เป็นแบบ มีสติก็ละความชั่ว มีสติมันก็ทำความดี มีสติจิตก็บริสุทธิ์ไปเลยทีเดียว ไม่ได้ยาก ถ้าขาดสติเหมือนกับออกแบบ เหมือนกับเทปูนลงใส่เสาไม่เข้าแบบ ก็เป็นขยะไป ใช้ไม่ได้ มันก็มีอยู่ในแบบ ก่อนพูด ก่อนทำ ก่อนคิด ให้มีสติ เวลาพูด เวลาทำ เวลาคิดก็รู้สึกตัวอยู่ มีสติ ต้องหัด ถ้าไม่หัดมันไม่เป็น หัดมันจึงค่อยเป็น มีกายก็ผิดศีลผิดธรรมได้ มีใจก็ผิดศีลผิดธรรมได้ เพราะไม่หัด มันหลง ถ้าหลง พูดผิด ทำผิด คิดผิด
เรามีความรู้ หรือมีความหลงมากกว่ากัน อายุเรามาถึงวันนี้ ปูนนี้ ต้องตั้งต้นดู อาศัยกรรมฐานอาศัยแบบนี่ คู้แขนเข้ามีสติ เหยียดแขนออกมีสติ พระพุทธเจ้าทำแบบนี้จึงได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า มีศาสนา รักษากาย รักษาใจ แต่ก่อนไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า เรียนมาหลายศาสตร์ 17 ศาสตร์ ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า ต่อมาศึกษาเรื่องสตินี่เข้าน่ะเป็นพระพุทธเจ้า จนมาถึงพวกเรา มีอานิสงส์มาถึงพวกเรานี่ เรามาใช้สูตรนี้ก็อันเดียวกัน สติอยู่กับเราเวลานี้ คู้แขนเข้ารู้สึก เหยียดแขนออกรู้สึก กับอยู่กับพระพุทธเจ้าหลายร้อยปีมาแล้ว ก่อนปรินิพพาน 45 พรรษา นับตั้งแต่วันปรินิพพาน 2553 บวก 45เข้าไป นั่นแหละมีมานานแล้ว เดี๋ยวนี้ก็มีอันนี้ อยู่กับพระพุทธเจ้าก็อันเดียวกับอยู่กับเราเดี๋ยวนี้ อยู่กับใครก็ตามถ้าเป็นกายเป็นใจอันเดียวกันหมด มนุษย์ในโลกนี้เป็นคนเดียวกันหมด มีกายมีใจเหมือนกัน สามัญลักษณะเหมือนกัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความทุกข์ ความรัก ความเกลียดชังเหมือนกัน ในร่างกายมีเกศา ผม ขนทั้งหลาย โลมาขนทั้งหลาย เล็บทั้งหลาย ผม ขนเล็บ ฟันหนังเนื้อในกระดูก เยื่อในกระดูก ม้ามหัวใจตับไตปอด ไส้ใหญ่ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำมูกน้ำลาย น้ำมันน้ำตาน้ำหู น้ำหนองน้ำเลือด อันเดียวกันหมดเลย ไม่ใช่คนละอย่าง ถ้าหลงก็หลงแบบเดียวกัน ถ้าโกรธก็โกรธอันเดียวกัน ถ้าทุกข์ก็ทุกข์อย่างเดียวกัน ถ้าทุกข์ก็ร้องไห้ ดีใจก็หัวเราะเหมือนกันหมด สัตว์โลกเนี่ย มีสติอันเดียวกันเลย ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่นักบวช ไม่ใช่ฆราวาส ไม่ใช่คนหนุ่มคนแก่ อันเดียวกันหมด สติเนี่ยไปอยู่กับคนแก่ก็คือสติ อยู่กับคนหนุ่มก็คือสติ อยู่กับนักบวชคือสติ อยู่กับฆราวาสญาติโยมคือสติ มันเป็นอันเดียวกัน สากล ตรัสไว้ดีอย่างนี้ พระธรรมน่ะ จะเป็นคนละอันไม่ได้ สัจจธรรมเป็นอันเดียวกัน เราไม่น่าจะสงสัย
เราจึงมาตั้งต้นกันเถอะที่สถานที่อย่างนี้ พออยู่ด้วยกันได้ ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ฝืดเคืองเกินไป พออยู่ได้ จึงมา ประกอบขึ้นมา มีศรัทธาบ้าง มีความเชื่อมาบ้าง เป็นพื้นฐาน ถ้าจะเปรียบก็เหมือนเนื้อนา ศรัทธาเหมือนเนื้อนา ความเพียรเหมือนน้ำฝน สติเหมือนข้าวปลูก สมาธิคือเปลี่ยนร้ายเป็นดี เหมือนกับคราดกับไถ มันหลงเปลี่ยนเป็นรู้ ให้มีกำลังตรงนี้ อย่าให้หลงเป็นหลง มันง่วงเปลี่ยนเป็นความรู้ ตื่นขึ้นมา มันโกรธเปลี่ยนเป็นความไม่โกรธ มันทุกข์เปลี่ยนเป็นความไม่ทุกข์ เรียกว่าไถ เหมือนพลิกหญ้าลงไป ให้มันมีดินขึ้นมา จะได้เหมาะแก่การปลูกสติ ถ้าหลง ถ้าง่วงถ้าอะไรยังยกมืออยู่ ยังเป็นกิริยาไม่ใช่กรรม กรรมมันต้องเป็นผล กฏัตตากรรมไม่มีผล ถ้านั่งสร้างจังหวะอยู่ปล่อยให้หมกมุ่นครุ่นคิด มันก็ไม่มีผล ถ้าเจตนาใส่ใจ รู้สึกตัว 14 รู้ หนึ่ง รู้ สอง รู้ สาม รู้ สี่ รู้ ห้า รู้ ใส่ใจ หก เจ็ด แปด เก้า สิบ สิบเอ็ด สิบสอง สิบสาม สิบสี่เนี่ย รู้สิบสี่รู้ วินาทีนึงรู้ทีนึง ลองดูจะเกิดอะไรขึ้น พิสูจน์กันดู
จะเป็นมิตรเป็นเพื่อนจะไม่พาหลงทิศหลงทาง เป็นคำตอบเอาเอง เวลาหลง ใครหลง ไม่มีคนอื่นเห็นเราเวลาหลง เวลารู้ต้องไปขอคนอื่นมาช่วยไหม ไม่มี ประกอบขึ้นมาเลยให้มันรู้ขึ้นมา ลองดู สัมผัสลองดู มันจริงไหม ความหลงจริงไหม ความรู้จริงไหม ความโกรธจริงไหม ความไม่โกรธจริงไหม ความทุกข์จริงไหม ความไม่ทุกข์มันจริงไหม สัมผัสเอา เรียกว่าสัมผัส สัมผัสด้วยกายใจ ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร ผัสสาหาร วิญญาณาหาร กินเข้าไป ให้มันสัมผัสความรู้เข้าไป เป็นอาหารใจ สัมผัสความหลงก็เป็นโทษของใจ กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว กลืนลงไป แปรเป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นชีวิต เป็นกำลัง กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว กลืนลงไปในลำคอ ไปเป็นเลือดเป็นเนื้อ เป็นกำลัง เป็นชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร เป็นอาหารทางวิญญาณ ทางใจ กินลงไป สัมผัสลงไป ไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย มันมีอย่างนี้ แต่เราไม่ค่อยมีอาหารประเภทนี้ ยังจน จนอาหารประเภทนี้ก็คือโกรธนั่นแหละ เรียกว่าขาดอาหาร ทุกข์นั่นแหละขาดอาหาร อาหารใจ
อาหารกาย อ้วนใหญ่เหมือนไก่ หมู ขึ้นตราชูชั่งขาย บ่มีค่า ถ้าขาดอาหารใจ ไร้ธรรม หมดราคา เราจึงมากินอาหารใจ เจ็ดวันนี่เหมือนจะอิ่มขึ้นมาบ้างมั้ย มีสีสันขึ้นมามั้ย มีสติก็ละความชั่ว มีสติก็ทำความดี มีสติจิตก็บริสุทธิ์ มันก็จะเกิดบุญ เกิดกุศล เกิดมรรค เกิดผล ขึ้นมา ความหลงเป็นครั้งสุดท้าย ความโกรธครั้งสุดท้าย ความทุกข์ครั้งสุดท้าย ได้ ถ้าเราหัด ถ้าเราไม่หัด ก็โกรธจนตาย หลงจนตาย ทุกข์จนตาย มีค่าอะไรชีวิตเรา
อะไรคือชีวิต ชีวิตมันไม่เป็นอะไร มันมีแต่เห็น เห็นให้เป็น เห็นหลงรู้ นั่น ไม่มีหลงเป็นหลง หลงไม่เป็นหลง ทุกข์ไม่เป็นทุกข์ โกรธไม่เป็นโกรธ เปลี่ยนเป็นปัญญาไปเลย ปัญหาเป็นปัญญาไปเลย ต้องทำเอาเอง ไม่มีใครช่วยท่านได้ รักกัน สามีภรรยารักกันก็ช่วยกันไม่ได้ พ่อแม่รักลูก ลูกก็รักพ่อแม่ ก็ช่วยพ่อ ช่วยแม่ไม่ได้ ใครก็ตามเป็นของใครของมัน พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ ผู้ศึกษาจะต้องทำด้วยตนเอง ได้ทันที อยากรู้เวลาไหนก็รู้ได้ เอากายมาประกอบเป็นวัสดุอุปกรณ์ ผลิตออกมา ได้ทุกอย่าง หายใจก็รู้ได้ กลืนน้ำลายก็รู้ได้ เดินก็รู้ได้ ยกมือสร้างจังหวะก็รู้ได้ เวลาใจที่มันคิดไปก็รู้ได้ มันคิดได้ทุกโอกาส โดยไม่ได้ตั้งใจน่ะ เวลานอนก็ยังคิดนั่นแหละ โอกาสที่จะรู้มัน สนุกดี นอนปฏิบัติก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้
แล้วก็ที่นี่ก็เหมาะ อยู่ในป่า ยินดีบ้าง ไปคนเดียวบ้าง จาริกปลีกคนเดียว มีสติคนเดียว ปฏิบัติคนเดียว หลุดพ้นคนเดียว ไปที่เดียวกัน ถึงจุดหมายปลายทางอันเดียวกัน ผ่านหลงเป็นรู้ ผ่านง่วงเป็นรู้ มันจะเจอภูเขาลูกแรก ต้องมีปัญหาแน่นอน หนึ่งละ ง่วงเหงาหาวนอน สอง คิดฟุ้งซ่าน สาม ลังเลสงสัย อะไร หลวงตาสอนอะไรที่นี่ อย่างนี้ฉันไม่ชอบ อย่างนี้ฉันชอบ อย่าเอาเหตุเอาผลมาต่อรอง เหตุผลไม่ใช่สัจธรรม ไม่ใช่ชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบ ถอนความชอบ ถอนความไม่ชอบออกมา มีสติเรื่องใดอยู่ นั่นแหละถูกต้อง กามราคะ มานะทิฐิ เป็นภูเขาลูกแรก มีตัวมีตน ในกายก็มีตัวมีตน ร้อนคือกู หนาวคือกู หิวคือกู ปวดเมื่อยคือกู ดูดีๆ ไม่ใช่กู เป็นอาการที่มันเกิดขึ้น
ถ้าดูดีๆ ต่อไปจะเห็นเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม ไม่ใช่กาย ไม่ใช่ใจ เป็นอาการเล็กน้อย ถ้าเห็นเป็นกายก็กูแล้ว กูร้อน กูหนาว กูหิว กูปวด กูเมื่อย ถ้าเห็นเป็นรูป มันเป็นอาการ ขอบคุณความร้อน ขอบคุณ ความปวดความเมื่อย ขอบคุณความหิว มันเป็นอาการธรรมชาติของเขา เป็นสัญญาณภัย ถ้าไม่มีความหิว ความปวด มันก็เป็นทุกข์เป็นโทษต่อรูป มันเป็นอย่างนั้น กำหนดรู้ บางอย่างกำหนดรู้ด้วยการรู้เฉยๆ บางอย่างกำหนดรู้ด้วยการบรรเทา เปลี่ยนใหม่ นั่งอยู่ก็ลุกขึ้นเดิน หิวก็กินข้าว บรรเทา บางอย่างถ้ารู้เฉยๆ บรรเทาไม่ได้ แก้ไม่ได้ เช่น หายใจเข้า หายใจออก แก้ไม่ได้ ไม่ไหวจะไม่ต้องหายใจมันไม่ได้ จะต้องหายใจมากๆ ก็ไม่ได้ ต้องเป็นไปตามอาการของรูปเป็นอย่างนี้ กำหนดรู้ด้วยการรู้เฉยๆ ปัญหาบางอย่างทุกข์บางอย่าง ก็รู้ด้วยการละ เช่น ความโกรธ กามราคะ มานะทิฐิ กำหนดรู้โดยการละ ละไปเลย อย่าให้มันมี เป็นแผลเป็นในชีวิตเรา บางทีโกรธเป็นแผลเป็น พอใจที่ยังโกรธ เวลาทุกข์พอใจที่จะทุกข์ มันเป็นแผลเป็น เลยติดเราไป มีรอย รอยแผลในใจ รอยรักก็มีรอยแค้นก็เสียใจก็มี เจ็บปวด มันมีแผล แผลเป็น พอมันโกรธก็รู้ทันที เปลี่ยนโกรธเป็นรู้ เวลามันทุกข์ขึ้นมา เปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ มันไม่เหลือ รักษา เยียวยา ซ่อมมัน
ชีวิตเราเหมือนรถมือสอง ชนมามากแล้ว เจ็บปวดมาหลายครั้งแล้ว มีรอยอะไรบุบติดมา รอยรัก รอยแค้น รอยสุข รอยทุกข์ รอยได้ รอยเสีย สารพัดอย่าง พลัดพรากจากของรักของชอบใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ถูกความทุกข์หยั่งมาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย แน่นอน เราจึงต้องเตรียมตัว ให้มันเสร็จซะ เสร็จเลย เริ่มต้นจากสติ ท่ามกลางคือสติ ที่สุดคือสติ มีสติแล้วแลอยู่ มีสติแล้วแลอยู่ จบเลย ถ้ามีหลงแล้วแลอยู่ได้แต่ร้องไห้เสียใจ ถ้ามีสติจะสุข ไม่มีอะไร ชีวิตมันไม่เป็นอะไร มันไม่เป็นอะไรชีวิตน่ะ ถ้ายังสุข ยังทุกข์ ยังพอใจไม่พอใจไม่ใช่ชีวิต เอาชีวิตไปห้อยไปแขวนกับสุขกับทุกข์ เอากายไปให้เป็นสุข เอากายให้เป็นทุกข์ ให้กายให้ใจเป็นสุข ให้ใจเป็นทุกข์มันไม่ใช่ ไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่กายเป็นสุขเป็นทุกข์ เราไม่ใช้ใจเป็นสุขเป็นทุกข์ เราจะไม่เป็นอะไรกับมัน เราจะเป็นใหญ่กว่ามัน เราจะไม่เป็นอะไรกับมัน เนี่ยสิทธิของเรา มีสิทธิร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลาโกรธ มีสิทธิไม่โกรธ ร้อยเปอร์เซ็นต์ใช้สิทธิของเรา เวลามันทุกข์ เรามีสิทธิไม่ทุกข์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้สิทธิของเรา ปล่อยทิ้งทำไม สละสิทธิทำไม บางทีไปพอใจในความโกรธ ถ้ากูได้โกรธ ตายไม่ลืม ถ้ากูได้โกรธ กูไม่ด่ามันกูไม่ยอม ถ้ากูได้โกรธกูต้องฆ่ามัน ไปกันโน่น เพราะฉะนั้น ถ้าหยุดซะ มันก็ไม่มีอะไร ทุกคนดูแลตัวเองให้ปลอดภัย อย่าให้มีทุกข์เป็นโทษต่อเรา
ถ้าเราไม่มีความเป็นธรรมต่อเรา จะเรียกร้องความเป็นธรรมจากคนอื่น เป็นไปไม่ได้ เราต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น หนึ่งในชีวิตของเราก่อน นับหนึ่งจากตัวเราก่อน อย่าไปนับคนอื่น เกณฑ์คนอื่น ไม่ใช่ ชี้โทษคนอื่นไม่ได้ ต้องชี้โทษตัวเอง สติจะมองตนอยู่อย่างนี้ เห็นตัวเอง แก้ตัวเอง จงเตือนตนด้วยตัวเองน้า ภิกษุทั้งหลาย จงแก้ไขตนด้วยตนเองนะภิกษุทั้งหลาย จงมีสตินะภิกษุทั้งหลาย เธอจะอยู่เป็นสุขสงบ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ไม่ใช่เออไปอยู่ประสาทสามฤดูนะ ไปมีบริวารมากๆนะ สิทธัตถะเป็นมาแล้ว มีบ้านทั้งสามฤดู ฤดูร้อนอยู่หลังหนึ่ง ฤดูหนาวอยู่หลังหนึ่ง ฤดูฝนอยู่หลังหนึ่ง แต่พระองค์ไม่ได้ตรัสรู้ มาตรัสรู้อยู่ที่ต้นไม้ มีหญ้าคา 5 กำมือปูนั่ง เท่านั้นเอง เป็นพระพุทธเจ้า ประสูติก็ที่ป่า ที่ดิน ตรัสรู้ก็ที่ป่าที่ดิน แสดงธรรมก็ที่ป่าที่ดิน ปรินิพพานก็เอาหลังนอนลงไปบนดิน ไม่มีกระดานพื้นปู มีผ้าสังฆาฏิ อานนท์ปูให้ นอนลงไป ข้าพเจ้าจะนอนไม่ลุกอีกต่อไปแล้ว ประสูติที่ป่า ตรัสรู้ที่ป่า แสดงธรรมที่ป่า ปรินิพพานก็ที่ป่า ให้ยินดีอยู่เสนาสนะอันสงัดสักหน่อย อย่าคลุกคลี แม้เราอยู่ในป่าก็ยังอยู่ในบ้าน ไม่ใช่ หมุกมุ่นครุ่นคิดไป อยู่ไม่ได้ สงบเกินไป สงัดเกินไป มันเคยชินชีวิตบางที อยู่ดีๆลองดูสิ มันยอดเยี่ยมจริงๆนะ ป่าเนี่ย มันเป็นมิตรของเราเป็นแต่เพื่อนให้แต่ความสงบร่มเย็น มิตรแท้ ป่าเป็นมิตรแท้ ให้แต่ความสงบร่มเย็น
โดยเฉพาะป่าที่นี่ ห้าร้อยไร่ ไม่มีสารพิษ เคมีใดๆทั้งสิ้น ไม่เคยใช้สารพิษ เหยียบได้บนเม็ดดินไม่มีโทษมีภัย น้ำที่ไหลลงไปในสระ น้ำในป่านี้ ซึมลงไปไม่มีน้ำไหลเข้า มีแต่ซึมลงไป ดินนี้ยังไม่ตาย น้ำซึม แต่ดินที่ไร่ชาวนาชาวไร่มันตายแล้ว ดินไม่ซึม เวลาฝนตกก็ไหล ไม่ซึม ที่นี่เห็นน้ำไหลน้อยมีแต่มันซึมลง เว้นแต่เราขุดคลองขุดร่อง จึงมีระเบียบ อย่าขุดดินทีนี่ อย่าขุดร่อง เวลามันไหลก็ให้เอาอะไรไปขวางกั้นไว้ ให้มันกระจาย เฉลี่ย ไปเห็นน้ำไหลที่ใดละก็ ถ้ามีขอนมีอะไรไปขวางไว้ก็ดี อย่าให้มันไหล ให้มันซึมลงไป ก็พออยู่กันได้ อย่าไปเปรียบเทียบ อะไร อยู่บ้านของท่านมีตู้เย็น เสื้อผ้าอาภรณ์มีมาก อยู่ที่นี่เรามีผ้าสามผืน ลองใช้ชีวิตผ้าสามผืน ลองดู ประหยัด ระมัดระวัง อย่าให้เหม็นสาบ เหม็นคาว เวลาซักอย่าบิดอย่าปั่น ซักสะอาดแล้ว พาดราวให้น้ำมันไหล มันจะเรียบ เราใช้ชุดหนึ่ง อย่างน้อยต้องได้ สี่ปี ประหยัด ใช้อะไรก็ประหยัด มีสติมันจะไม่สิ้นเปลือง กินอาหารก็กินอาหารอันที่ย่อยง่ายๆ อย่าไปกินอาหารกินดิบๆสุกๆ เพื่อนของเราอยู่ที่นี่แต่เป็นโยม กินอะไรก็กินมาก พอมาบวชได้ 20-30 ปี โรคมันเกิดมาตั้งแต่เป็นโยมแล้ว มันเกิดมาตั้งแต่เป็นโยมโน่น เป็นโรคตับ เสียชีวิตไป ไม่ใช่มาเป็นโรคเพราะบวชมาแล้ว มันมาตั้งแต่ก่อนโน้น
ดังนั้นเราเริ่มต้นซะ เริ่ม ใช้ชีวิตให้แม่นยำ ชัดเจน ทำอะไรมีสติ ลองไปลองดูซิ จะเป็นมิตรเป็นเพื่อน ท่านไม่ต้องคิดอะไรอยู่ที่นี่ ให้ทำงานแบบนี้ จะกินอะไรไม่ต้องไปคิด โสตาย จะนอนตรงไหนไม่ต้องไปคิดโสตาย ลองดู ก็คงไม่มีการปล่อยทิ้งกัน เราจะดูแล เดือดร้อนอะไร ถามอาจารย์ทรงศิลป์ อาจารย์โน้สเป็นรองเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสไม่อยู่ อาจารย์ไพศาล อยู่ภูหลง มหาวัน แต่เราก็เคารพท่านอยู่นี่ ทุกรูปทุกองค์ อาจารย์โน้สเป็นรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส อยู่ที่นี่มีสามรูป ผู้ปฏิบัติหน้าที่ มีเจ้าอาวาสรูปที่หนึ่ง รองเจ้าอาวาสรูปที่สอง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสรูปที่สาม วัดมันใหญ่ 500ไร่ กุฏิตั้งเป็นร้อยๆหลัง คนก็พอมีมาก ถ้ารูปเดียวไม่พอใช้ เราก็เคารพ ถ้ามีอะไรปัญหาอะไรก็บอก อาจารย์โน้ส สุทธิศาสตร์
ได้เท่านี้ เสียงหลวงตามันอาภัพแล้ว มันหมดแล้ว หมดโอกาสจริงๆนะญาติโยมเอ้ย อาภัพเสียง ชะรอยมันตายไปหมดแล้ว (หัวเราะ) ลิ้นก็ยังแข็งอยู่ ไม่รู้จะอยู่ได้อีกเท่าไรแล้ว เดินจากกุฏิไปทำวัดก็เหนื่อย เดินจากกุฏิไปฉันข้าวก็เหนื่อย เดินฉันข้าวเสร็จแล้วมากุฏิก็เหนื่อย หมดจริงๆแรงนะ แรงน้อย หมดแล้ว แต่ชีวิตมันไม่เป็นอะไรนะ ไม่เป็นอะไร นี่คือเรามาคิด ไม่เป็นอะไร ยอดเยี่ยมที่สุด มาตรฐาน มาตรฐานชีวิตเรา เรามาหัดตรงนี้เห็น เห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง ได้ประโยชน์จากความหลง แต่หลงไม่เป็นหลง กลายเป็นคนโง่ไป ทุกข์ไม่เป็นทุกข์ กลายเป็นคนโง่ไป ได้ประโยชน์จากความหลง ได้ประโยชน์จากความทุกข์ ปฏิบัติธรรมเนี่ยได้ประโยชน์จากความไม่ใช่ตัวตน เยอะแยะเลยทีเดียว แต่คนธรรมดา เอาเป็นทุกข์ เอาเป็นโทษ แต่พระพุทธเจ้าเอาเป็นประโยชน์ ผู้ใดเห็นด้วยปัญญา ว่าสังขารนี้ไม่เที่ยง นั้นแหละคือนิพพาน พระพุทธเจ้าเห็นอย่างนี้ ยิ้มในความไม่เที่ยง ปุถุชนร้องไห้เพราะความไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าเห็นเมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารเป็นทุกข์ นั้นแหละคือนิพพาน พระพุทธเจ้าเปลี่ยนอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เปลี่ยนร้ายเป็นดีอย่างนี่ ปุถุชนเอาทุกข์เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าเอาทุกข์เป็นนิพพาน เปลี่ยนร้ายเป็นดี เรียกว่าปฏิบัติธรรม มันหลงนั่นแหละเป็นรู้ดีกว่าหลง มันโกรธเป็นรู้ มันทุกข์เป็นรู้ เลือกเปลี่ยนร้ายเป็นดี มีไหมมีหลงไหม เปลี่ยนมันเลยเป็นรู้ มีโกรธไหมเปลี่ยนเลยเป็นรู้ มีทุกข์ไหมเปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ ถ้าไม่เปลี่ยนมัน ไม่มี มันเป็นไปไม่ได้ เปลี่ยนเป็นรู้ เป็นกระแสแห่งพระนิพพาน ถ้าทุกข์เป็นทุกข์ กระแสแห่งนรก มันดึงไป ถ้าทุกข์เป็นรู้ไปกระแสพระนิพพาน ผู้ได้กระแสเพียรอย่างนี้ เจริญสติปัฏฐานได้กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน ได้ทุ่งอรุณ เหมือนแสงเงินแสงทองเวลานี้ ขึ้นแล้ว รุ่งอรุณแล้ว ผู้ที่เห็นหลงเป็นรู้ รุ่งอรุณแล้ว ถูกต้องที่สุด เห็นโกรธเป็นรู้ เห็นทุกข์เป็นรู้ ถูกต้องกว่าความทุกข์ความโกรธ รุ่งอรุณแล้ว เรียกว่าได้กระแสแห่งพระนิพพาน แล้วจะไม่ไปหรือ จะดำมืดอยู่นั้นหรือ เปลี่ยนธรรมดำเป็นธรรมขาวซะ ธรรมดำคือหลง ธรรมขาวคือรู้ ธรรมดำคือทุกข์ ธรรมขาวคือไม่ทุกข์ ธรรมดำคือโกรธ ธรรมขาวคือไม่โกรธ จบละธรรมดำเสียแล้วเจริญธรรมขาว โอกา อะโนกะมาคัมมะ วิเวเก ยัตถะ ทูระมัง จงมาถึงที่ไม่มีน้ำ จากที่มีน้ำ ได้ยินบ่ พระพุทธเจ้าเรียกอยู่น่ะ กวักมือเราเรียกอยู่นั่นนะ เรียกเราอยู่นั่นน่ะ มาถึงที่ไม่มีน้ำ จากที่มีน้ำ ไปหลงทำไม ไปโกรธทำไม ไปทุกข์ทำไม ความไม่หลงมีอยู่ ความไม่โกรธมีอยู่ ความไม่ทุกข์มีอยู่ ขึ้นมานี่ มานี่ (หัวเราะ) เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้