แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เวลานี้ ขณะนี้ พวกเรามาปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรม คือ การเจริญสติ สติเข้าไปตั้งไว้ที่กายเป็นเบื้องต้น แต่มันก็ไปตั้งไว้ที่จิตด้วย ทำอย่างเดียว มันควบคุมหลายอย่าง เพราะว่ากาย จิต ที่เป็นส่วนใหญ่ๆ เป็นกองใหญ่ๆ มันก็คุมได้ แต่การฝึกหัดเบื้องต้นนี่ เราเอากายเป็นนิมิต เอากายเป็นที่ตั้ง ก็จะเกิดการพบเห็น
การศึกษาตามหลักของปฏิบัติ จะต้องเกิดการพบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น พบเห็นกาย จนเห็นกายเป็นสูตรว่า กายก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นคำตอบออกมาจากความรู้สึกตัวภายใน ไปเห็นแล้วจึงตอบ จึงพูดออกมา จึงแสดงออกมาว่า กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เห็นแจ้งจนชี้ลงไป สติเป็นการพบเห็นเข้าไปบอก เข้าไปพูด ไม่ใช่คำพูด เห็นความรู้สึกภายใน มันเป็นสูตร จนรื้อถอนตนที่มีอยู่ในกาย มีแต่เห็น เรื่องของกายเป็นการเห็น ไม่ได้เข้าไปเป็น เช่น พระอริยบุคคลชั้นต้น รื้อถอนกาย เรียกว่า สักกายทิฐิ ไม่มีตนอยู่ในกาย มีแต่เห็นเป็นอาการต่าง ๆ รื้อถอนตนออกไปเสียได้ เรียกว่า สักกายทิฐิ ไม่มีตนอยู่ในกาย เห็นความร้อน ความหนาว ความหิว ความปวด เป็นอาการเห็น เห็นมันร้อน เห็นมันหนาว เห็นมันปวด เห็นมันหิว ไม่เอามาเป็นสุข ไม่เอามาเป็นทุกข์ในเรื่องของกาย ไม่เอาชีวิตไปห้อย ไปแขวนไว้กับกาย เห็นเป็นปัญญา เป็นปัญญาแล้ว ภาวะที่เคยสุข เคยทุกข์ เรื่องของกาย เอามาเป็นปัญญา เป็นปัญญา พ้นออกจากกายได้ เกี่ยวข้องกับกายถูกต้อง ตามความเป็นจริง
แล้วมันก็มีสูตร มันร้อน มันก็หนาว มันร้อน มันก็อาบน้ำ มันหนาว มันก็ห่มผ้า ไม่ใช่เป็นตน เป็นปัญญาที่เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง หิวก็กินข้าว ปวดเมื่อยก็พักผ่อน ในรูป กองกายกองรูป เห็นในความเป็นจริง เห็นในความไม่เที่ยง เห็นในความไม่ใช่ตัวตน ที่เป็นกองรูป เรียกว่าสูตรของมันเป็นอย่างนั้น ไปเห็นเข้าจริง ๆ ตอบได้จริง ๆ ตอบได้ครั้งเดียวจบไปตลอดชาติ เห็นครั้งเดียวจบไปตลอดชาติ มันก็มีเรื่องเดียว เรื่องของกาย เรื่องของรูป กายานุปัสสนา เป็นการศึกษาที่ไปพบเห็น เป็นสูตร เป็นด่านที่กักเราไม่ได้แล้ว เรื่องของกาย
เรื่องของเวทนาก็เหมือนกัน เวทนาเป็นสุข เป็นทุกข์ ที่มันเกิดขึ้นกับกาย กับรูป ส่วนรูปนี่มันเป็นเหตุ เมื่อมันทุกข์ ก็ไปถึงจิตถึงใจ ทำให้ใจทุกข์กายแล้วก็ทุกข์ใจ ทุกข์ใจแล้วก็ทุกข์กาย สุขกายแล้วก็สุขใจ สุขใจแล้วก็สุขกาย ความสุขความทุกข์ มันหน้ามือหลังมือ มันเป็นสังขารทั้งสองอย่าง ที่เกิดจากรูปจากนาม ไม่ใช่เกิดจากปัญญา มันก็ผิว ๆ เผิน ๆ มันสุขมันทุกข์ที่เกิดขึ้นกับจิตกับใจ กับรูปกับกาย ที่เป็นสุขแบบปรุง ๆ แต่ง ๆ เป็นสังขาร เป็นสังขาร เป็นเวทนา บางทีเราไปหลง บางทีก็หลงในเวทนา จนไปซื้อเอาเวทนา ไปขโมย ไปลัก ไปบังคับ ไปข่มขืน เอาสุขกับเวทนา เวลามันทุกข์ ก็ปฏิเสธ ผลักหน้าผลักหลัง หนี ร้องห่มร้องไห้ เสียอกเสียใจ ดีอกดีใจ ของอย่างเดียวเป็นสุข ของอย่างเดียวเป็นทุกข์ ของอย่างเดียวรัก ของอย่างเดียวชัง ของอย่างเดียวชอบ ของอย่างเดียวไม่ชอบ ในลักษณะของเวทนา เป็นสุข เป็นทุกข์ เราเห็น เห็นแจ้งจนตอบออกไปได้เลยว่า เวทนาก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ด่านนี้ก็กักเราไม่อยู่แล้ว กักเราไม่อยู่ เห็นแจ้งในเวทนา เวทนาที่เกิดกับรูป กับนาม เป็นปัญญาแล้ว ไม่ใช่เวทนารุ่นที่มันเป็นอุปาทานไปยึดไปติด เวทนาที่เกิดปัญญา ข้ามล่วงได้
ตลอดถึงจิต ที่มันคิดขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ มันเป็นความคิด แต่ก่อนเคยมีตัวมีตนอยู่ในความคิด ใครคิดขึ้นมาก็หอบหิ้วไปได้ คิดสุขก็สุข คิดทุกข์ก็ทุกข์ คิดรักก็รัก คิดหลงก็หลง คิดโกรธก็โกรธ ก็หลงไปกับความคิด ในลักษณะความคิด จิตใจ ความคิดที่เกิดขึ้นกับจิตนี่ ความคิดที่เกิดขึ้นกับจิต มันก็คิดได้ตะพึดตะพือ มันไหล มันไหลอยู่ เหมือนกับไมค์ที่หลวงพ่อถืออยู่เนี่ย พอมีอะไรสัมผัส มันก็ไป มันก็เก็บเอา มันมีภาวะที่เก็บ มันมีคลื่น เมื่อมีกระทบกับไฟกลายเป็นเสียง จิตก็เหมือนกัน มีอะไรมาสัมผัส มันก็ไป เป็นสุข เป็นทุกข์ก็เพราะความคิด คิดไปต่าง ๆ นานา ไม่เป็นสุขเป็นทุกข์ ก็คิดไป ไม่ใช่ตัวใช่ตนอยู่ตรงนั้น เห็น เห็นจิตที่มันคิด ที่มันปรุง ๆ แต่ง ๆ ไป ตัวหลงพาให้เกิดความคิด เป็นปี่เป็นขลุ่ยเข้าไป พอมาเห็นเข้า โถ แต่ก่อนเราไม่เคยเห็นความคิดตัวเอง ไม่ว่าตัวว่าตนไปทั้งหมด สิ่งไหนที่เกิดจากความคิดถือว่าตน คิดขึ้นมาแล้วก็เป็นไปต่าง ๆ ตามอาการที่มันเกิดขึ้นกับจิต เห็นแล้วก็เป็นปัญญา เอาความคิด เห็นความคิดเนี่ย เห็นความคิดที่เกิดขึ้นกับจิต มันก็เป็นปัญญา จนตอบได้เลยว่า จิตเสวยจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มันกักไม่ได้แล้วบัดนี้ ผ่าน ถ้าจะเป็นด่าน มันกัก มันขวาง มันกั้น ทำให้สยบ ทำให้อยู่ ผู้ที่เจริญสติเนี่ย ถือว่าผ่านได้เหมือนด่านที่มันกักเราเดินทางไปโน่นไปนี่ เราผ่านได้ เรามีความถูกต้อง เราชอบธรรม โดยเฉพาะความรู้สึกตัวเนี่ย มันทำให้เกิดการผ่านได้อย่างสะดวกสบาย
ตลอดจนไปเห็นสิ่งที่ครอบงำจิต เห็นความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน พยาบาทอะไรต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น ขวางกั้น เป็นภูเขาลูกแรก ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมหนีไม่พ้น เห็นความง่วงเหงาหาวนอน ความคิดพวกนี้ พระพุทธเจ้าก็เดินไปทางนี้แหละ ถ้าใครเห็นความง่วง ความลังเลสงสัย เห็นความคิดที่มันเกิดขึ้นในเวลาเราเจริญสติ ทำให้เราหลงไป แสดงว่า เราเดินไปในทางเดียว เส้นเดียว ทางเดียวกับพระพุทธเจ้า จนพระพุทธเจ้าเลยตรัสว่า เป็นภูเขาลูกแรกที่ขวางจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี ไม่ให้สติงอกงาม ความง่วงเหงาหาวนอน เราก็รู้สึกตัว อาจจะเปลี่ยนความง่วงเป็นความรู้สึกตัว เป็นปัญญา ปัดโธ่ เห็นความความง่วงมันเกิดขึ้นมา เห็นความลังเลสงสัย เห็นความคิดที่มันเกิดขึ้นในเวลาเราเจริญสติ เราต้องเห็นเลยนะลักษณะแบบนี้แหละ การปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งที่ผ่านหน้าผ่านตา เหมือนตาที่เรามองผ่านไปข้างหน้า สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา มันก็เกิดการเห็น มันก็เห็น แต่เห็นบางอย่าง เราก็ไม่ไปสยบ เราไม่ไปข้องอยู่ เหมือนเราเดินทาง เห็นสองข้างทาง เห็นตรงหน้าตรงตา เห็นขวากเห็นหนาม เราก็ข้ามไป เห็นหลุมเห็นบ่อ เราก็ข้ามไป การเกิดสิ่งไหนที่ไม่ใช่สติ มันขวาง เราก็ผ่านไป รู้สึกตัวเห็นแล้วเห็นอีก เห็นสิ่งเก่า ๆ เห็นแล้วเห็นอีก เห็นของเก่า เห็นแล้วเห็นอีก มันก็พัฒนา พัฒนา ไม่ใช่ว่ามันจะหลงในตรงที่มันเห็น เห็นเรื่องเก่า ๆ เห็นมือที่มันเคลื่อนไหวไปมา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นความคิด เห็นสิ่งที่ครอบงำจิตใจ เห็นความสุข เห็นความทุกข์บ้างเรียกว่า ธรรมทั้งหลาย
ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ธรรมก็คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับจิต เป็นกุศล เป็นอกุศล กุศลก็คือความหลงในความสุข หลงในความรู้ หลงในความคิดเหตุผลต่าง ๆ อกุศลก็หลงในความทุกข์ หลงในความโง่หลงงมงาย แล้วก็ตัดสินใจไปตามความโกรธ ตัดสินใจไปตามความทุกข์ ตัดสินใจไปตามความโลภ ความหลงไป ไม่หลงก็พยายามสร้างให้มันหลง หาเรื่องที่จะให้มันหลง เช่น ความโกรธเกิดจากความหลง ก็พยายามปลุกให้มันหลงอยู่เรื่อย ทำไม ๆ ย้ำคิดเรื่องเก่าให้มันหลง ก็กลายเป็นความหลงที่ไปเปรอะไปเปื้อนเอา ติดไป
บัดนี้ เรามีสติ มันไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อน มันหลง ก็เห็นความหลง เห็นความหลงบ่อย ๆ การเห็นสิ่งเก่าบ่อย ๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องการกระทำของเรา ก็เกิดปัญญาตรงนั้นด้วย จนเห็น เช่น เห็นกายที่มันเคลื่อนมันไหวอยู่นี่ เห็นไปเห็นมา ดูไปดูมา เห็นลักษณะที่มันเคลื่อนไหวเป็น เดินเป็น คิดเป็น สุขเป็น ทุกข์เป็น ร้อนเป็น หนาวเป็น มันอยู่ด้วยกัน มันก็เห็นเป็นรูปธรรม เห็นเป็นนามธรรม พอเห็นเป็นรูปเห็นเป็นนาม มันก็สรุปให้ เป็นกองรูป เป็นกองนาม แต่ก่อนเราเรียกว่าเวทนา เรียกว่าสุข เรียกว่าทุกข์ ทุกข์กายทุกข์จิต สุขกายสุขจิต จิตใจร้อน ๆ หนาว ๆ หิว ปวดเมื่อย พอมาเห็นเป็นกองรูปกองนาม ก็เห็นเป็นอาการ เห็นเป็นอาการของกองรูป เห็นเป็นอาการของกองนาม ไม่ใช่มีตัวมีตนอยู่ตรงนั้น สรุปให้เราเห็น ความร้อน ความหนาว ความหิว ความปวด ความเมื่อยเป็นอาการของรูป ถ้ารูปมันไม่มีอาการ มันก็เป็นอันตราย ก็กลายเป็นปัญญา เอามาเป็นปัญญา ไม่ใช่เอาเป็นสุขเป็นทุกข์เพราะเรื่องของกาย ไม่ใช่เป็นสุขเพราะเรื่องของจิต กายก็คือของกองรูป ความรู้สึกคิดนึกต่าง ๆ เป็นกองนาม ความหลง ความโกรธ ความรัก ความชัง วิตกกังวล เศร้าหมอง มันเป็นอาการของนาม เป็นอาการของจิตใจ จิตใจมันก็ต้องมีอาการเช่นนั้น อาการที่มันเกิดขึ้นกับรูป อาการที่มันเกิดขึ้นกับนามมีมากมายหลายอย่าง เราก็สรุปว่าเป็นอาการ ไม่มีตัวมีตนอยู่ตรงนั้น
แต่ก่อนก็หมดเนื้อหมดตัวอยู่กับอาการต่าง ๆ ถ้าหลงก็ กูหลง ถ้าสุข ก็กูสุข กูทุกข์ กูร้อน กูหนาว กูโกรธ กูรัก กูชัง ทำตามอาการ ก็ถูกหลอก ก็ถูกความโกรธหลอก ถูกความโลภหลอก ถูกความหลงหลอก ถูกความรักความชัง ถูกการปรุง ๆ แต่ง ๆ หลอก บัดนี้ พอเห็นอาการ ก็หยุดเป็นปัญญา เป็นปัญญาเกี่ยวข้องกับรูป เกี่ยวข้องกับนาม เป็นอาการที่มันเกิดขึ้นกับรูป ถ้ามันไม่มีอาการ มันก็อันตราย เพราะถือว่าเป็นปัญญา ขอบคุณเขาที่เขาร้อนเขาหนาว ขอบคุณเขาที่เขาปวดเขาเมื่อย ขอบคุณเขาที่เขารู้จักหิว ในกองรูปกองนาม มันก็เป็นเช่นนั้น มันเป็นตกอยู่ในสภาพไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน ตัวของมันก็ไม่ใช่ตัวของมัน มันก็เป็นไปตามอาการที่มันเกิดขึ้น แล้วเราก็ ผู้มีสติ ผู้มีปัญญา ก็เข้าไปเกี่ยวข้อง กลายเป็นปัญญา กลายมาเป็นปัญญา สิ่งต่าง ๆ ที่เคยสุขเคยทุกข์มาเป็นปัญญาพบเห็นเข้า รู้แจ้ง รู้แจ้งในกองรูปกองนาม ก็ดูแลรักษารูปดูแลรักษานามถูกต้อง
แต่ก่อนรูปนามพาให้ทำชั่ว พาให้ทำผิดศีลผิดธรรม เสียเวล่ำเวลา เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนคนอื่น เป็นทุกข์เพราะกองรูปกองนาม เป็นสุขเพราะกองรูปกองนาม บางทีเราก็หลง หลงเอามาเป็นสุข หลงเอามาเป็นทุกข์ หาความสุขความทุกข์จากกองรูปกองนาม ไม่ใช่ปัญญา มันไม่ใช่อยู่ในลักษณะแบบนี้ เช่น คนเป็นโรคขี้กลาก มีความสุขเพราะเกา มีความสุขเพราะเกา เกาเพราะขี้กลากมันคัน ถ้ามันคัน ก็ต้องเกา พอเกาแล้วเราก็มีความสุขบ้าง แต่ว่าวิธีที่จะรักษาขี้กลากให้มันหายนี่ อันนี้ไม่ต้องเกา จึงจะเรียกว่าสุข สุก (ก.ไก่) ก็คือเกา สุข (ข.ไข่) คือไม่ต้องเกา ไม่ต้องเป็นสุขเป็นทุกข์ เพราะกองรูปกองนาม อีกแล้ว ไม่ต้องเกาอีก
เรื่องที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม เห็นแจ้ง เป็นปัญญา รักษาเอารูปเอานามมาทำความดี เอารูปเอานามมาละความชั่ว เอารูปเอานามไปทำความดี ความดีที่อาศัยรูปอาศัยนาม ทำดีได้เยอะ ทำดีได้มาก ไม่เสียเวลาที่จะเอารูปเอานามไปทำชั่ว เคยสูบบุหรี่ เคยกินเหล้า เคยโกรธ เคยโลภ เคยหลง กังวล หมดไป หมดไปแล้ว บัดนี้เหลือแต่รูปที่เอามาทำความดีได้สำเร็จ เอารูปมาละความชั่วได้สำเร็จ เอานามมาทำความดีได้สำเร็จ เอานามมาละความชั่วได้สำเร็จ ก็กลายเป็นประโยชน์ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน มันไปทางนี้นะ ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ไปเห็นนิด ๆ เห็นสี เห็นแสง เห็นความสงบที่มันไปอยู่ ที่มันทับเอาไว้ ไม่ใช่แบบนั้น สงบแบบศิลาทับหญ้า อันนั้นมันไม่ใช่ พอออกจากความสงบ หญ้ามันก็เกิดขึ้นมาอีก
การปฏิบัติธรรม มันเป็นการเห็นแจ้ง เป็นการเห็นแจ้ง นี่เราก็เห็นตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นความคิด เห็นสิ่งเหล่านี้แหละ มันเกิดขึ้นทีไรก็เห็น เห็นแจ้ง เห็นแล้วเอาไว้ทีหลัง ข้างหลัง เอาไว้ข้างหลังเรื่อย ๆ ไป ความหลงเกิดขึ้นก็รู้แล้ว คำว่า รู้แล้ว มันก็จบไปแล้ว
อะไรที่มันเกิดขึ้นกับรูปกับนาม กับกายกับจิตใจเรานี่ ตัวสตินี่เป็นตัวเฉลยไปเรื่อย ๆ ไป ได้หลักฐานของรูปของนาม รูปนามมันบอก มันบอก มันคืออะไร มันเปิดตัว กองรูปมันก็เปิดตัวให้รู้ให้เห็น เห็นหมด เห็นครบ เห็นถ้วน ไม่มีตรงไหนปิดบังอำพราง กองนามก็เปิดตัวให้เราได้รู้ได้เห็นว่า ไม่เที่ยง ว่าเป็นทุกข์อย่างไร แต่ก่อนเราเคยเป็นสุขเคยเป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยง ซึ่งความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ร้องห่มร้องไห้ เสียอกเสียใจ ความไม่ใช่ตัวตน ก็พาให้เราเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์ก็พาให้เราเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์สร้างความทุกข์ ความไม่เที่ยงก็สร้างความไม่เที่ยง กลัวความไม่ใช่ตัวตนก็เอามาเป็นทุกข์ บัดนี้ มันเป็นปัญญา เห็นความไม่เที่ยงที่มันแสดงทีไรก็เป็นปัญญา รู้แล้ว เห็นความเป็นทุกข์ก็เป็นปัญญา เห็นความไม่ใช่ตัวตนก็เป็นปัญญา เขาก็แสดงอยู่เสมอว่า ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน แต่ก่อนเราก็ถูกสิ่งเหล่านี้ครอบงำ พอมาเห็นรูปเห็นนามตามความเป็นจริง ในความไม่เที่ยง มันก็จะแสดงอยู่ตลอดเวลา แสดงตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย ความไม่ใช่ตัวตนมันก็แสดงตั้งแต่เกิดจนตาย ในความเป็นทุกข์นั้น มันก็แสดงอยู่เช่นนั้น ในกองรูปกองนาม แต่สิ่งที่มันพัฒนาได้คือสติ คือปัญญา ที่ไปเห็นเข้า เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่นำให้ถึงมรรค ผล นิพพาน
ดังที่เราสวดกัน ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น “สัพเพ สังขารา อนิจจา ติยะทา ปัญญายะ ปัสสัตติ” เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด การเห็นความไม่เที่ยงไม่ใช่เล็กน้อย ทำให้หลุดพ้น ทำให้ไม่มีภพชาติตรงนี้ ไม่เป็นไม่หลง ไม่เอามาเป็นตัวเป็นตน ในความไม่เที่ยง ไม่เอามาเป็นทุกข์ ไม่วิตกกังวล เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด
“สัพเพ สังขารา ทุกขา ติยะทา ปัญญายะ ปัสสัตติ” เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด ความทุกข์แท้ ๆ ทำให้เกิดเป็นพุทธะ พุทธะเกิดอยู่บนความทุกข์ จนทำให้เกิดความไม่ทุกข์ มันเกิดเป็นพุทธะขึ้นมา ความหลงทำให้เกิดความไม่หลง มันเป็นพุทธะขึ้นมา ความไม่เที่ยงทำให้เกิดเห็นแจ้ง ทำให้เกิดเป็นพุทธะขึ้นมา
พุทธะ หมายถึง ตัวปัญญา ไม่ใช่เกิดเป็นรูป เป็นตัวเป็นตน พุทธะจริง ๆ คือ ธรรมะที่เป็นตัวสติ เป็นตัวปัญญา เช่น พระวักกะลิ เห็นพระพุทธเจ้า ศรัทธาต้องไปกราบไปไหว้ จับนิ้วมือ จับชายจีวร หลงในพระรูปของพระองค์ ไม่ใช่ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นพระพุทธเจ้า เห็นธรรมก็คือธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นบนรูปบนนาม เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เราก็ใช้กุศลคือความเฉลียวฉลาด ฉลาดออกจากทุกข์ ไม่ใช่ฉลาดเพื่อหลอกลวง ตัวเอง หลอกลวงคนอื่น ฉลาดออกจากทุกข์ เปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความไม่ทุกข์ เป็นกุศล เปลี่ยนความหลงให้เป็นความไม่หลง เรียกว่า กุศล เปลี่ยนความโกรธให้เป็นความไม่โกรธ เรียกว่า กุศล เปลี่ยนความวิตกกังวลอะไรต่าง ๆ ที่มันเกิดอุปาทานที่มันยึดเอามา นั่นแหละเป็นกุศล เป็นความฉลาด หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เป็นนักเปลี่ยนแปลงความร้ายเป็นความดี มาอย่างไรเปลี่ยนเป็นความฉลาด แล้วมันก็เปลี่ยนได้ ก็เปลี่ยนได้เพราะเรารู้สึกตัว ไม่ใช่ไปยอมมัน เช่น แต่ก่อนเรายอมมัน มันหลงก็ไปกับความหลง มันโกรธก็ไปกับความโกรธ มันทุกข์ก็ไปกับความทุกข์
บัดนี้ มันเปลี่ยน มันเกิดมา เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราเปลี่ยน เพื่อให้มันเปลี่ยน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยน ปฏิบัติคือเปลี่ยน คือกลับ เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ เรารู้สึกตัว เรารู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี่พาให้พัฒนา เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นมรรค เป็นผล เป็นญาณ เป็นฌาน ถ้ารู้มาก กำลังของความรู้ก็เหมือนสิ่งที่เผา ความรู้สึกตัวมันเผา เผากิเลส เผาความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้เหลือ รู้สึกที่ใดอะไรก็ตาม ถ้ารู้สึกตัว พลังแห่งความรู้สึกตัวนี่กำจัดกิเลสธรรมทั้งหลายได้ เช่น เราก็ใช้ได้แล้วตั้งแต่เริ่มต้น พอมันหลงทีไรก็จะได้รู้สึกตัวเนี่ย ความหลงมันก็หายไป พอมันโกรธทีไรก็รู้สึกตัว ความโกรธก็จะหายไปหรือเบาบางลง
อย่างพระสกิทาคามี ก็ไม่ใช่เรื่องอื่น ของพระสกิทาคามี ก็ทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลงเบาบางลงหรือหมดไป สำหรับพระโสดาบันนี่ ทำลายสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สามข้อเท่านั้น อะไรที่เกิดขึ้นกับกาย ไม่เอามาเป็นปัญหา เรียกว่าสักกายทิฐิ ไม่มีตนอยู่ในกาย ไม่มีตนอยู่ในกาย เรื่องของกายไม่มีตน เห็นแล้ว สักกายทิฐิ ไม่มีตนอยู่ในกายเรียกว่า พระโสดาบัน ไม่เอาทุกข์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกาย ไม่มีตนที่จะเอามาเป็นทุกข์อยู่ในกายในรูป นี่เป็นปัญญา วิจิกิจฉา ไม่สงสัยแล้วเรื่องกาย เรื่องจิตใจไม่สงสัย ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่เป็นศีลพรต ถือศักดิ์สิทธิ์ ตัวเกิดเป็นปัญญา สีลัพพตปรามาส จริงจังกับกายกับรูปกับนาม ไม่ใช่ เห็นเป็นปัญญา แต่ก่อนเราจริงกับกายกับจิต ถ้าคิดสิ่งใด ก็ตัดสินในทำตามความคิด ถ้ากายมันเกิดอะไรขึ้นมา ก็ตัดสินใจเป็นสุขเป็นทุกข์เพราะกาย พระโสดาบันทำลายลงได้ ส่วนพระอนาคามี เพิ่มไปอีก กามราคะ ปฏิคะ ตลอดถึงทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลงลงไป
ความเป็นพระไม่ใช่เป็นรูปเป็นแบบ เป็นคุณธรรม ดังที่เราสวด พระสงฆ์เกิดจากพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดี เป็นต้น เกิดจากพระสัทธรรม คือความจริงในชีวิตจิตใจของเรา ความโกรธมันไม่จริง ความไม่โกรธเป็นเรื่องจริง ความทุกข์มันไม่จริง ความไม่ทุกข์เป็นเรื่องของจริง มีการปฏิบัติดีเกิดจากพระสัทธรรม เห็นความไม่จริง เห็นความเป็นจริง ความหลงมันไม่จริง สัมผัสดูแล้ว ความรู้สึกตัว ความไม่หลงนี่มันเป็นจริง ความโกรธมันไม่จริง ไม่ต้องไปเสียเวลาเพราะความโกรธอีก ความไม่โกรธนี่มันจริงกว่า เป็นธรรมกว่า พระสัทธรรม
ใครเป็นผู้บอก เราต้องบอกตัวเรา เพราะเห็นกับหน้ากับตา ต่อหน้าต่อตาทุกวันทุกเวลา เวลาเราปฏิบัติ ความหลงก็ผ่านหน้าผ่านตา ผ่านดวงตาภายในคือสติสัมปชัญญะ เป็นดวงตาภายใน เห็น จะว่ารู้แล้วก็ว่าได้ รู้แล้ว สิ่งไหนที่มันเกิดขึ้นที่ไม่ใช่สติ สติรู้แล้วว่าอย่างไร ว่าไปแบบนี้ ไปทางนี้นะ ปฏิบัติธรรม มันเป็นทางอยู่ ความรู้สึกตัวเหมือนทาง ความหลงมันก็เข้ารกเข้าพงไป คนที่เดินอยู่บนความรู้สึกตัว เหมือนคนเดินในบนเส้นทางที่โล่งที่เตียน แต่ถ้าคนที่ไม่เคยเดินทางอยู่บนความเตียน มันก็ไม่เห็นความไม่เคยชิน เช่น เวลาใดเขาหลง เขาก็ไปกับความหลง ความหลงไม่ต่าง ไม่มีอะไรเปรียบเทียบ พวกเราที่เคยปฏิบัติ เคยเจริญสติแล้วนั้น เมื่อรู้สึกตัว รู้สึกตัวมาหนึ่งวัน สองวัน สามวัน ห้าวัน เจ็ดวัน ก็จะเห็นความหลงต่างจากความรู้สึกตัว คนละมุมมกัน แล้วไม่มีใครที่ไปเอาความหลง เพราะเขาเคยรู้สึกตัวแล้ว เหมือนเขาเดินทางเวลาที่เข้าป่า เขาก็ไม่เอา เขาก็ต้องกลับมาเดินอยู่บนเส้นทาง แม้บางทีตาไม่เห็น แต่ต้องสัมผัสดูว่าเป็นอย่างนั้น เหมือนคนตาบอดคลำทาง เขาก็รู้จักทางเพราะการสัมผัส
การปฏิบัติธรรม มันเป็นทั้งพบเห็นและการสัมผัส สัมผัสกับความหลง สัมผัสกับความรู้ สัมผัสกับความไม่ทุกข์ สัมผัสกับความทุกข์ เขาก็เลือกเป็น ชีวิตนี่มันต้องเลือกได้ เลือกเป็น บุญวาสนามันเลือกได้ ถ้าปฏิบัติ ไม่ใช่บุญวาสนาแข่งขันกันไม่ได้ มันได้อยู่ ถ้าเป็นการกระทำ วาสนา วาดก็คือทำเอา แต่งเอา เขียนเอา เลือกความรู้สึกตัว เลือกความไม่หลง เลือกความไม่โกรธ เลือกความไม่ทุกข์ เพราะผู้ที่เจริญสติเวลาใดที่มันหลงขึ้นมา เขาจะไม่เอา เขาจะเลือกเป็นอะไร เวลาใดที่มันโกรธ เขาจะเลือกเป็น เวลาใดที่มันทุกข์ เขาจะเลือกเป็น พ้นไป ล่วงข้ามไป ต่างเก่าพ้นภาวะเดิม เรียกว่า วิปัสสนา เรืองปัญญาสู่มรรค สู่ผล มรรคผลก็ไปแบบนี้ ไม่ใช่ตายแล้วยังจึงจะต้องไป ได้มรรคได้ผลตั้งแต่หนุ่ม ๆ น้อย ๆ เช่น พระโสดาบัน พระอริยบุคคลสมัยครั้งพระพุทธเจ้า เป็นฆราวาสญาติโยมมีมากยังไม่ได้บวช บรรลุธรรมแล้วจึงมาบวช 70% อย่างปัญจวัคคีย์นี่ บรรลุธรรมแล้วจึงค่อยบวช ยสะกุลบุตร บรรลุธรรมแล้วจึงได้บวช หลาย ๆ รูปที่บรรลุธรรมแล้วจึงบวชทีหลัง เป็นพระแล้วจึงบวชทีหลัง
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 2 ลักษณะ การบวชสมัยครั้งพระพุทธเจ้า ถ้าใครได้บรรลุธรรมแล้วมาบวช พระองค์ก็ตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติธรรมนั้นเถิด เรียกว่าผู้บรรลุธรรม แล้วมาขอบวช สำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมมาขอบวช พระพุทธเจ้าบอกว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเราตรัสดีแล้ว เธอจงเป็นผู้ประพฤติธรรมให้เป็นที่สิ้นทุกข์เถิด มีไม่มาก แต่ว่าเธอจงประพฤติธรรมนั้นเถิดมีมากกว่า เพราะฉะนั้นการบรรลุธรรมนั้นอาจจะไม่ต้องใช้เพศ สมัยครั้งพระพุทธเจ้า เอาการปฏิบัติ นี่พวกเราก็สอนกันตรง ๆ เข้าไปแบบนี้ ไม่ใช่มีพิธีรีตองอะไร อาจจะมีพิธีสวดมนต์ไหว้พระ พอให้เราได้สาธยายธรรมให้ตัวเองฟัง การสวดมนต์ไหว้พระ สาธยายธรรมให้ตัวเองฟัง ใส่ใจที่จะว่า บทตอนไปต่าง ๆ ทำให้เกิดสมาธิได้
การหายใจเข้า หายใจออก รู้สึกตัวเป็นทางทำให้ฟอกอากาศ ฟอกปอด เป่าปอด ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น 30 นาทีเป็นการเป่าปอด เหมือนกับหม้อกรอง เป็นการฟอกปอดให้มันสะอาด เช่น น้ำตก เขาเป็นปอดที่ฟอกน้ำที่เสียให้มันดี เวลาน้ำตก มันอากาศเข้าไป มันฟอก มันเป่า เราทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นเหมือนกับการเป่าปอด มันก็เกิดอานิสงส์ โดยเฉพาะเราทำวัตรสวดมนต์เนี่ย เทียนเราก็ไม่จุด ธูปเราก็ไม่จุด ไม่ให้มีคาร์บอน ไม่ให้มีควันอะไรเกิดขึ้น อากาศบริสุทธิ์ เราก็สนุก สูดลมเข้า ปล่อยลมออก ที่เราสวดบางบทมันยาว ๆ จนสุดลมหายใจ ดีมาก พยายามให้มันยาว ยาวออกไปจนหมดๆ จนหมดเสียง สูดลมเข้าไป ปล่อยลมออก นี่การสวดมนต์ไหว้พระเป็นส่วนหนึ่ง ที่ให้เป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่ให้เรามาเอาดีตรงนี้ เราเอาสิ่งที่มันจะถูกจริง ๆ ชนกันจริง ๆ จ๊ะเอ๋กันจริง ๆ จ๊ะเอ๋กับความหลง มันจะเกิดขึ้นทางไหน จ๊ะเอ๋ตะพึดตะพือ พบกันหนาต่อหน้า ตาต่อตา มีสติรู้สึกตัว มีสติรู้สึกตัวต่อหน้าต่อตา ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
ความเป็นจริง เราต้องเป็นความเป็นจริง ธรรมย่อมชนะอธรรมโดยเสมอ ถ้าเรามาสร้างความรู้สึกตัว สร้างความรู้สึกตัว รู้สึกตัวเอาไว้ เป็นหลัก เป็นแก่น เป็นฐาน ตั้งไว้ บ้านเรือนที่มีฐานตั้งไว้ ชีวิตเราก็มีฐานเป็นที่ตั้ง อย่าวางเลื่อน ๆ ลอย ๆ เหมือนเสาหลักปักขี้โคลนไม่ได้ อะไรพัดไปก็เอนไป เสาหลักปักขี้โคลน ลมพัดไปทางไหน ก็เอนไปทางนั้น ความรักเกิดขึ้นก็ไปกับความรัก ความชังเกิดขึ้นก็ไปกับความชัง ความสุขเกิดขึ้นก็ไปกับความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นก็ไปกับความทุกข์ ไม่ได้ ชีวิตเราไม่ใช่เป็นเช่นนั้น ต้องเป็นศิลาแท่งทึบ ไม่สะเทือนเพราะลม ผู้ประพฤติธรรมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาสรรเสริญ เพราะเรารู้ มีฐานเป็นที่ตั้ง จึงเหมาะแก่การทำงานทำการ เหมาะแก่การประกอบอาชีพ เหมาะแก่การเป็นผัวเป็นเมีย เหมาะแก่การเป็นพ่อเป็นลูก เหมาะแก่การเป็นเพื่อนเป็นมิตร เหมาะแก่ความเป็นครูอาจารย์ เหมาะแก่ความเป็นพระเป็นเจ้าเป็นสงฆ์ จึงเป็นความเหมาะสมผู้ถึงธรรม ที่จะไปประกอบการงานอาชีพ ถ้าไม่มีฐานอย่างนี้แล้วก็หลุดง่าย ไม่มีตรึงไว้ให้แน่น ก็หลุดพังลงไป เหมือนกับสร้างบ้านดี ๆ แล้วเอาไฟเผา มอดลงไป ครึ่งบาปครึ่งบุญ ถ้าไม่ประพฤติธรรม มันครึ่งบาปครึ่งบุญ