แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอสนับสนุนให้ทุกชีวิตได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม ดูแลตัวเอง ธรรมวินัยก็สนับสนุนให้เราได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดี ละความชั่ว ไม่ให้ทำมาหากินอะไร ตลอดถึงญาติโยมก็สนับสนุนให้เรามีโอกาสปฏิบัติธรรม สร้างวัดสร้างวาให้พวกเราอยู่ หาข้าวหาน้ำมาให้เราฉัน เจ็บไข้ได้ป่วยก็ดูแล ผ้านุ่งผ้าห่มไม่ต้องขวนขวาย เสียเวล่ำเวลาไปหา ณ ที่ไหน ให้มีโอกาสปฏิบัติธรรมทั้งนั้นแหละเราก็ฉวยโอกาสในธรรมวินัยนี้เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออาชีพ ลัทธินิกาย อะไรต่าง ๆ ตลอดถึงวันเข้าพรรษา กำหนดไตรมาสสามเดือนนี่ก็ ธรรมวินัยก็ให้เรามีโอกาสได้มาปฏิบัติธรรม
วัฒนธรรม ประเพณีของไทยเรา ก็มีโอกาสให้เราได้ปฏิบัติธรรม สนับสนุน มองดูแล้วน่าชื่นใจ แม้แต่ตัวเรานี้ กายใจก็สนับสนุนให้เรามีโอกาสปฏิบัติธรรม มันก็เกิดปัญหาที่กายที่ใจนี้ ปัญหาก็ทำให้เราได้มีโอกาสเกิดปัญญาได้ ความทุกข์ก็ทำให้เรามีโอกาสไม่ทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ทำให้เราเปลี่ยนได้ ไม่ต้องโลภต้องโกรธต้องหลง
ในเรื่องของชีวิตของเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง ก็เพื่อให้เราปฏิบัติธรรม มันมีความผิดความถูก เพื่อเปลี่ยนความผิดให้เป็นความถูก เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทำให้เรามีโอกาสปฏิบัติธรรม ได้เห็น ธรรมทั้งหลาย ความไม่เที่ยงก็ทำให้เรามีโอกาสปฏิบัติธรรม ดังที่เราได้สาธยายเนี่ย ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทำไม ความไม่เที่ยงเป็นนิพพาน ความทุกข์จะเป็นทุกข์ทำไม ความทุกข์เป็นนิพพาน ก็บอกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าก็บอกอยู่แล้ว อาจจะตะโกนแรง ๆ ด้วยซ้ำไป สังเกตดูนะ ไปไหนมาไหนพระพุทธเจ้าอาจจะเดินยืนอยู่ในทางสี่แพร่งห้าแพร่ง มันเป็นอย่างนี้
แม้แต่เราได้สาธยาย พระพุทธเจ้าก็แสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนกับตะโกน เพราะหลายคน หลายรูป จงมาดู จงมาดู เราจะไปหลับไปไหลทำไม ในความหลงมีความไม่หลง ในความทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในความโกรธมีความไม่โกรธ ในความโลภมีความไม่โลภ แน่นอน มีจริง ๆ อย่าปิดบังอำพรางตัวเอง ศึกษาให้ย่อยให้แยกลองดู อย่าจน อย่าจนต่อความหลง อย่าจนต่อความทุกข์ มันมีโอกาสแท้ ๆ ตอนนี้นะ ถ้ายังหลงอยู่เวลาใดนั่นแหละ เราจะได้ศึกษา จะได้ฉลาด มันฉลาดอยู่บนความโง่ ไม่ใช่โง่เป็นโง่ หลงเป็นหลง มันเป็นสัตว์ประเสริฐจริง ๆ มนุษย์เนี่ย ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน ไปหลงทำไม ไปหมกมุ่นทำไม
ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรม แม้แต่ความคิดก็เป็นทุกข์นะ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครมาทำ เกิดจากจิตใจของเราที่มันคิดขึ้นมา ก็เป็นทุกข์ได้ คิดขึ้นมานอนไม่หลับ คิดขึ้นมากินข้าวไม่ลง คิดขึ้นมาน้ำตาไหล โกรธเกลียดเคียดแค้นได้ แค่นี้หรือชีวิตเรา เราจะต้องเป็นอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่มีเฉพาะเราคนเดียว มันมีอีกหลายอย่าง เราก็เกี่ยวข้องด้วยกัน เป็นสัตว์สังคม มีพ่อมีแม่ มีลูกมีหลาน เพื่อนบ้าน บุตรภรรยาสามี
เราจึงปฏิบัติธรรมเนี่ย พยายามที่จะมีสติมันก็มีได้ สติก็ไม่ได้ไปขอใคร เอาผิดออกมาจากกายจากใจเรานี้ ลมหายใจก็มีสติได้ หายใจเข้าหายใจออกเฉย ๆ ก็รู้ได้ พริบตาก็รู้ได้ กลืนน้ำลายก็รู้ได้ มันไม่ยาก ไม่เหลือวิสัย คนพิการ คนขนาดไหนก็รู้ได้ ตาบอดหูหนวกรู้ได้ มันจึงเป็นยอดของชีวิตจริง ๆ ทำให้เรามีโอกาสปฏิบัติธรรม ไปทุกข์ทำไม ไปหลงทำไม แม้แต่ยุงกัดก็เป็นโอกาสปฏิบัติธรรมนะ มันบอก บอกว่ามันเจ็บ มันบอก ความเจ็บความปวดมันบอก ให้เราได้มีโอกาสปฏิบัติ ได้ช่วยตามอาการ ตามเหตุปัจจัย มันก็รอดมาได้จริง ๆ เราก็รู้เรื่องนี้ หูได้ยินเสียงก็ทำให้เราปฏิบัติธรรม รอดมาเพราะหู อย่าให้มีปัญหาเพราะหู ให้มันเป็นปัญญาเพราะหู ตา จมูก ลิ้นกาย ใจ ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ อย่าให้เป็นทุกข์เป็นโทษ ใช้ได้จริง ๆ นะ กายของเรา ใจของเราเนี่ย เราจะใช้ยังไง ใช้ผิดก็ผิดจริง ๆ น่ะ ทดลองความผิดก็ผิดไปเลยคืนไม่ได้ ไปแล้วความผิด ไปแล้ว ทดลองความทุกข์ก็ทุกข์ไปแล้ว เอาคืนไม่ได้ ไม่ใช่ทดลอง ชีวิตไม่ใช่ทดลอง ไม่เหมือนกับวัตถุสิ่งของ ชีวิตต้องเป็นการกระทำ เราก็หาสนับสนุน เราก็พยายามจาริกอยู่คนเดียว แม้ตอนอยู่กับหมู่ก็อยู่คนเดียว ใครไม่เป็นมิตรกับเรา เราก็เป็นมิตรกับตัวเอง อย่าไปหามิตรภายนอก มิตรภายในมีได้ทุกโอกาส จาริกคนเดียว ไม่ใช่ไปไหนไม่พูดไม่จากับใคร คนเดียวคืออิสระ เราหลงเรามีสิทธิไม่หลงคนเดียว เราทุกข์เรามีสิทธิไม่ทุกข์คนเดียว เราโกรธเรามีสิทธิไม่โกรธ ปฏิบัติธรรมคนเดียว แก้ไขตนด้วยตนเอง เตือนตนตนเองคนเดียว อยู่ในเสนาสนะอันสงัดคนเดียว
ภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ไม่ใช่เราเอาเรียกร้องอะไรต่าง ๆ คนนั่นไม่ช่วย คนนี้ไม่ดี อย่างนั้นไม่ใช่ ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่มีที่อยู่หรอก
อย่างเราสวดมงคลสูตร “อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ” คืออะไร อย่าคบคนพาล ให้คบบัณฑิต บูชาคนที่ควรบูชา
คนพาลอยู่ที่ไหน นาย ก นาย ข หรือ ไม่ใช่ ไปชี้คนนั้นผิด คนนั้นถูกหรือ ไม่ใช่ ต้องมองตน ชีวิตต้องมองตน คนพาลอยู่ที่ใด มันหลงเป็นคนพาล มันโกรธเป็นคนพาล มันทุกข์เป็นคนพาล ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ทำให้คนอื่นเดือดร้อน คนพาลเกิดจากเรานี่ อย่าคบ คบบัณฑิตคือมีสติรู้สึกตัว เปลี่ยนร้ายเป็นดี คบบัณฑิต ขณะเดียวกันน่ะ ไม่ใช่ไปคบบัณฑิตอยู่ประเทศนั้นเมืองนี้ “ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ ปุพเพ” ไม่ใช่ประเทศที่ไหน อาจจะเป็นประเทศน้อย ๆ กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี่มี มีหมด ในชีวิตของเรานะ แล้วก็มีภายนอกก็มีคนสั่งคนสอนว่ากล่าวตักเตือน นี่ก็เป็นประเทศอันหนึ่ง
เราจึงไม่ยาก พอแล้วชีวิตของเรา กายใจนี่ พอแล้ว มันก็มีปัญญา มีปากกาปากเดียว พอตัวไปได้รอบโลก เลี้ยงตัวเองได้ ถ้ามีปัญญา ถ้ามีฝีมืออาชีพเรื่องใด ไม่ต้องพกพาอะไรพะรุงพะรัง มันจึงพร้อมทุกอย่างในชีวิตของเรา มีกายก็พร้อม มีใจก็พร้อม ตา หู จมูก ลิ้น พร้อมที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ ยิ่งเรามีธรรมวินัย ยิ่งพร้อมที่สุด แล้วก็หลักปฏิบัติธรรม เพื่อให้เป็นการหลุดพ้นก็มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าก็ประกาศอยู่ “เอกะ มัคโค วิสุทธิยา” (“เอกายโน อะยัง ภิกขะเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา”) สติปัฏฐานสูตร สติปัฏฐาน ๔ อยู่ที่ไหน ไม่ต้องไปเปิดตำรา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติเห็นกาย เห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปอยู่ที่ไหน เราอยู่ที่ไหน กายอยู่ที่นั่น ใจอยู่ที่นั่น ให้รู้เนี่ย เป็นตู้พระไตรปิฎก ให้อ่าน ให้ดู ให้ท่องจำ ให้ลำนำ ให้มันติด สติมันจะติดในกาย สติมันจะติดในใจ ถ้าท่องจำลำนำดี ๆ โดยเฉพาะกรรมฐาน
วิชากรรมฐานทั่ว ๆ ไป พอแล้ว พวกเรามาทำอย่างนี้ การเคลื่อนไหว ๑๔ จังหวะ ๑๕ จังหวะก็พอดี รู้ทุกวินาทีเลยทีเดียว มันจึงใช้ได้จริง ๆ พลิกมือขึ้นก็รู้ ยกมือขึ้นก็รู้ รู้ไปตามอิริยาบถ จึงจะเรียกว่ากายานุปัสสนา มันเคลื่อนไหวทีไรก็รู้ เรียกว่าท่องจำ ลำดับลำนำให้มันติด ไม่ใช่ไปคิด เป็นภาษาสัมผัส เอาสติไปสัมผัสกับกายเคลื่อนไหวเข้า เวลาใดใจมันคิดก็มีสติ อย่าให้มันคิดฟรี ๆ ให้รู้ อันความคิดที่ตั้งใจคิดก็ไม่ควรคิด เวลาเราฝึกหัด เราก็เจตนาเรื่องเดียวเสียก่อน ให้มันรู้ อย่าให้หลายเรื่อง มันจะพร่า ไม่ชัดเจน ให้เป็นเรื่องเดียวเสียก่อน ให้มันชำนาญเสียก่อน เราจะทำอะไร เราจะเรียนอะไร ต้องทำเรื่องเดียว ค่อย ๆ ผ่านไป ผ่านไป มันแตกฉาน เหมือนคนมีฝีมือหัตถกรรม ศิลปกรรม มันแตกฉาน ในวิชาที่เรียนได้ หัดตัดเย็บเสื้อผ้าก็แตกฉาน หัดตัดผมก็แตกฉาน หัดจักสานก็แตกฉาน ลายไม้ไผ่เอาแบบไหนก็ได้ ถ้าเป็นไม้ไผ่ แต่ถ้าเรียนเครื่องยนต์กลไกก็แตกฉาน เพียงได้ยินเสียงก็แตกฉาน จับดูก็รู้ว่ามันคืออะไร เพราะเขาเรียนรู้มา
เราต้องแตกฉานในชีวิตของเรา ไม่มีตรงไหนที่หลอกที่ปิดบังอำพรางได้ ในกายในใจเรานี้ ไม่มีตรงไหนที่ไม่เห็น เห็นหมด เพราะอะไร มันแสดงออกให้เราเห็น นั่งอยู่นี่มันก็แสดงออก หรือเวลาเราศึกษาจริง ๆ ก็จะสนุกดู มันออกมา เจตนาว่าจะดูกายเคลื่อนไหว มันไม่ใช่เห็นกายอย่างเดียว มันออกเคลื่อนไหวหลายอย่าง มันแซงมา ความคิดก็เกิดขึ้นในขณะที่เราไม่ได้ตั้งใจ ก็ให้รู้มันอย่าไปสนใจ เอาเรื่องเดียวเสียก่อน ให้รู้ไป อะไรที่มันขนาดไหน ก็เอามาเรื่องเดียวเสียก่อน อย่าทำตามความคิด อย่าลุกอย่านั่งตามความคิด อย่าหยุดเพราะความคิด อย่าขยันเพราะความคิด คิดขยันก็ทำ คิดขี้เกียจก็หยุด อย่าให้ความคิดมันใช้เรา ให้เราใช้ชีวิตของเราเอง มีสติเป็นเจ้าของเอง หัดอย่างนี้ มอบความเป็นใหญ่ให้สติเนี่ย จึงจะเรียกว่าฝึกฝนตนเองนะ ถ้าเอาอะไรทั้งหมด อะไรมาก็ไป อยากลุกก็ลุกไปไหน อยากหยุดก็หยุด อยากทำก็ทำ ไม่ใช่ มันคิดอะไรก็ไปตามความคิด ก็ไม่ใช่ เรียนให้มันรู้เรื่องเดียวเสียก่อน เรียกว่าปฏิบัติธรรม มีเหมือนกันทุกคน บางทีมันอะไรหลายอย่างที่มันเกิดขึ้นมาขณะที่เรามีสติ มันจะเห็น จะได้เรียนรู้ จะได้มีบทเรียน จะได้ประสบการณ์ ประสบการณ์มันมาสอนเรา อันนี้คืออะไร อันนี้คืออะไร เราจะได้เห็น ไม่ต้องไปถามใคร นี่คือความหลง เราเห็นมัน นี่คือความทุกข์เราเห็นมัน คือความโกรธเราเห็นมัน ความโลภเราเห็นมัน ความพอใจ ความไม่พอใจให้เราเห็นมัน ความลังเลสงสัยเกิดขึ้นเราเห็น ง่วงเหงาหาวนอนให้เราเห็น อะไรที่มันเกิดขึ้นมา แซงหน้าแซงหลัง อย่าหวั่นไหว ให้เราเห็น ให้ตั้งไว้ก่อน ให้ตั้งมั่นมีศรัทธาไว้ก่อน ศรัทธาต่อความรู้สึก เวลาใดที่มันหลงอย่าไปตามความหลง เวลาใดที่มันคิดอย่าไปตามความคิด เชื่อความคิด เชื่อความสุข เชื่อความทุกข์ ไม่ได้ ให้เชื่อสติไปก่อน ใช้สติไปก่อน ถ้าจะทำอะไรก็มีสติก่อน จึงค่อยทำ ค่อยพูด ค่อยคิด หัดลำดับลำนำอย่างนี้ เรียกว่าปฏิบัติธรรม แล้วก็ให้โอกาสกันและกัน แล้วก็ช่วยกันและกัน สนับสนุนให้กันและกันได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม
ในธรรมวินัย แม้แต่กระอือกระแอม ไอแรง ๆ ก็ไม่ค่อย ไม่ค่อยดี ระมัดระวัง ว่าอย่างนั้นนะ เข้าห้องน้ำห้องส้วมจะเบ่งแรงก็ไม่ได้ ผิดวินัยนะ (หัวเราะ) ไม่ได้นะเบ่งแรง (หัวเราะ) ระมัดระวัง จะพูดจะไอก็ระมัดระวัง ปิดปากเสียก่อน ไม่ควรพูดก็ไม่พูด มีสติไว้ก่อน ถ้าจะพูดสิ่งใดก็ควรตั้งสติไว้ ไม่ควรดูก็อย่าไปดู ทำท่าหู(ตา)บอดหูหนวกไป ปิดตา ปิดหู ไม่ควรเห็นก็ไม่ต้องเห็น ไม่ควรฟังก็ไม่ต้องฟัง ไม่ควรคิดก็ไม่ต้องคิด เรียกว่าเป็นพระปิดทวารไว้สักหน่อย ศักดิ์สิทธิ์นะ ไม่ใช่เอาพระปิดทวารมาแขวนคอ อันนั้นก็ถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด คือขณะที่ฝึกใหม่ก็ต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองให้เต็มที่ อะไรที่เราเป็นฐานะแบบไหนก็รู้ เราก็รู้ตัวเรา เราก็พยายามฝึก ถ้าพอใช้ได้ไปใช้กับการ สิ่งแวดล้อมไม่ดีก็ไปใช้ลองดู มันใช้ได้ไหม
เหมือนเครื่องมือเครื่องใช้ที่เขาสร้างขึ้นก็ไปใช้ได้ไหม ถ้าใช้ไม่ได้มาซ่อมใหม่ อันนีออนนี่ เขาสร้างขึ้นมาตั้งเท่าไหร่ พันครั้ง สร้างขึ้นมาครั้งหนึ่ง ก็ใช้ไม่ดีเอามาปรับใหม่ หลายร้อยหลายพันครั้งจึงเป็นมาตรฐานได้ ถ้ามันใช้ไม่ได้ก็เอาใหม่ มันจะชำนาญขึ้น ทำให้มันดีขึ้น อะไรที่มันไม่ดีทำให้มันดีขึ้นมา ในกายในใจเรานี้ ไม่ใช่เราไปเสาะค้นหา มันเห็น มันเกิดขึ้นมาให้เราเห็น ให้เราเรียนรู้ ความหลงไม่ถูกต้อง ความไม่หลงถูกต้องเนี่ย ความทุกข์ไม่ถูกต้อง ความไม่ทุกข์ถูกต้องเนี่ย ความโกรธไม่ถูกต้อง ความไม่โกรธถูกต้อง มันมีมาแล้ว เป็นอย่างนี้ สิ่งถูกต้อง สิ่งไม่ถูกต้อง ไม่ให้คนอื่นตอบให้ เราตอบเอาเอง จะไม่มีคำถามใคร มีแต่คำตอบมาจากเรานี้ จากสัมผัส จากประสบการณ์ จากที่ได้เห็น มันเกิดขึ้นกับเรา เหมือนกันหมดทุกคน ความหลงก็เหมือนกัน ความไม่หลงก็เหมือนกัน ไม่ใช่เพศ ลัทธิ นิกาย ชาติ ภาษา ความโกรธความทุกข์อันเดียวกัน เป็นปรมัตถสัจจะ ความไม่เที่ยงก็แบบเดียวกัน ความเป็นทุกข์ก็เหมือนกัน เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันเนี่ย ไม่ใช่ไปศึกษาแบบนั้นแบบนี้
มันจึง “เอวัง พะหุลัง สาวะเก วิเนติ” พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลายเช่นนี้เป็นส่วนมาก
เอวัง ... อะไร ( “เอวังภาคา จะ ปะนัสสะ ภะคะวะโต สาวะเกสุ อะนุสาสะนี พะหุลา ปะวัตตะติ” ) พระสงฆ์สาวกทั้งหลายก็รู้เรื่องนี้เป็นส่วนมาก รู้เรื่องความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ เรื่องรูปเรื่องกาย เรื่องรูปเรื่องนาม มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน จำแนกออกเป็นอย่างนี้
มันอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่เราเนี่ย อยู่ที่กายที่ใจ ปัญหาก็อยู่ที่นี่ แก้ปัญหาก็อยู่ที่นี่ เป็นทุกข์ เป็นนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายก็อยู่ที่นี่ เป็นสวรรค์นิพพานก็อยู่ที่นี่ ไม่ใช่ไปหาที่ไหน มันจึงโอ้ย! ชื่นใจ ที่เราได้รูปได้นามมา ที่บิดามารดาให้เราเกิดมา พ่อแม่อาจจะไม่ทำได้ เราอาจจะทำได้กว่าพ่อกว่าแม่ ที่ให้เราเกิดมานี่ เพื่อพ่อแม่ให้เรามาทำเรื่องนี้ ธรรมวินัยก็เพื่อให้เราทำเรื่องนี้ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็เพื่อให้เราทำเรื่องนี้ ไม่ใช่ให้ไปทำเรื่องอื่น ทำเรื่องนี่ได้แล้ว ก็ถือว่าคุ้มค่าที่เราเกิดมา จะได้ไปบอกคนอื่น เหมือนพระพุทธเจ้า ที่ศึกษาด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครศึกษารู้เลยเรื่องนี้ ถามใครก็ไม่มีใครตอบ ทำไมต้องมีเกิด ทำไมต้องมีแก่ ทำไมต้องมีเจ็บ ทำไมต้องมีตาย ทำไมต้องมีทุกข์ ทำไมจึงร้องไห้เสียใจ พระเจ้าปู่ พระเจ้าย่า พระเจ้าตา พระเจ้ายาย ตอบไม่ได้ ใครก็ตอบไม่ได้ จึงเป็นการบ้านของพระองค์สิทธัตถะ จึงศึกษาเรื่องนี้ ได้คำตอบ โดยหลักปฏิบัติธรรมเนี่ย ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ มีสติ อะไรเกิดขึ้นขณะที่มีสติมากมาย ตามพระสูตร ต้องมีมารมีอะไรเกิดขึ้น มันก็มีอยู่อย่างนี้แน่นอนแล้ว
พวกเราขอมาท้าทายเรื่องนี้กัน อย่าปล่อยกันทิ้ง อย่าปล่อยธรรมที่เป็นกุศลทิ้งไปเปล่า ๆ อย่าปล่อยธรรมที่เป็นอกุศลให้มันยิ่งใหญ่ในโลก มันสามารถเปลี่ยนได้อย่างนี้ น่าจะกระตือรือร้น อย่างน้อยต้องเอาตัวเองให้มันพ้นไปเนี่ย จำเป็นที่สุด เวลามันหลงไม่หลงนี่จำเป็นมากนะ เวลามันทุกข์ไม่ทุกข์นี่จำเป็น เวลามันโกรธไม่โกรธจำเป็นต้องเปลี่ยน เหมือนยุงกัดต้องไล่มันออก ถ้าไม่ไล่มันก็อาจจะเป็นไข้มาลาเรีย เป็นไข้เลือดออก จำเป็นเวลายุงกัดต้องไล่มัน เวลาปวดหนักปวดเบาต้องไป อย่าเอาเป็นทุกข์ ดีแล้วที่มันปวดหนักปวดเบา นอนอยู่ก็ต้องลุกไป
สมัยหลวงตาตายอยู่ในห้องไอซียู หมอเรียกหลวงตา ๆ หลวงตาไม่หนักไม่เบามานานแล้ว หลายวันแล้ว อย่ากลั้นเลยนะ มันทรมานไต ใช่มั๊ย (หัวเราะ) มันทรมานไต อย่าไปกลั้นนะ กลั้นหนักกลั้นเบาไม่ดีนะ มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย บางทีปวดหนักปวดเบาเฉย ๆ ก็ทุกข์ โอ๊ย! ไปทุกข์เรื่องไม่มีประโยชน์ มันมีประโยชน์ตรงนั้นนะ มันเป็นทุกข์ อะไรก็มีแต่ทุกข์ อะไรก็มีแต่ทุกข์ ขี้ทุกข์อย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ ฉลาดนะ ก็ดีขอบคุณ ความหิวก็ขอบคุณความหิว ไม่ใช่ทุกข์นะ บางทีไม่รู้ เอาความหิวมาเป็นทุกข์ ถ้าไม่หิวมันจะตายนะ ถ้าหิวมันไม่ตายนะ ไม่น่าจะเป็นทุกข์ ทะเลาะวิวาทกันเพราะความหิว กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ตายก็เพราะความหิว มันปานนั้นนะ ถ้าไม่รู้มันนะ ทำไมจึงไปฆ่าแม่ตายหิวข้าวเฉย ๆ มันก็มีประโยชน์ แม่เอาข้าวมาส่ง เห็นมันหิวแล้วก็กลัวว่าจะไม่อิ่ม โกรธขึ้นมา ถ้าไม่มีสติก็ปานนั้นนะ ผลุนผลัน โง่ไปเลย ทั้ง ๆ ที่มีประโยชน์ความหิว เอาเป็นความโง่ไปเลย เข่นฆ่าแม่ตาย ไปดูที่ยโสธร เห็นธาตุกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่อยู่ทุ่งนานะ มีจริง ๆ
พวกเราเคยเสียเปรียบความโกรธบ้างไหม เสียเปรียบความทุกข์มีมั้ย เสียเปรียบความโกรธมีมั้ย หลวงตาเคยเสียเปรียบมัน มากขนาด ถ้าจะพูดแล้วเป็นคนขี้ทุกข์ขี้ยาก ทุกข์ทุกอย่าง แล้วก็ขอบคุณมัน เห็น มาเห็นทุกวันโอ๊ย! ถ้าไม่ทุกข์จะไม่มีโอกาสปฏิบัติธรรม อะไรก็ทุกข์ หลายอย่าง ทุกข์เพราะความอดอยาก ทุกข์เพราะลำบากตรากตรำ ทุกข์เพราะการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์เพราะปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ นี่สัมผัสกับรสชาติความทุกข์มาทุกอย่าง มาหลอกกันไม่ได้อันความทุกข์ อย่ามาคุยอวดหลวงตาก็แล้วกันนะ ไม่ต้องมาคุยอวด อันความทุกข์น่ะ น่าอายนะ คนเข้ามาคุยเรื่องทุกข์ แต่คุยก็ได้มันจะได้สบายใจ เราจะได้รู้ จะได้ช่วยกัน ที่นี่ขอเป็นเพื่อนของคนมีปัญหาคนมีทุกข์ ไม่รังเกียจใคร ใช่มั้ย อย่ารังเกียจกัน อย่าทะเลาะวิวาทกัน ช่วยเหลือเจือจุนกัน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เป็นญาติกันในทางนี้ ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเบียดเบียน ไม่ต้องทำอะไรเขาก็ทุกข์อยู่แล้ว ไปด่าไปทะเลาะกันทำไม ต่างคนต่างทุกข์อยู่แล้ว หายใจเข้าหายใจออกมันก็เป็นทุกข์อยู่แล้ว ถ้าหายใจเข้าไม่เข้าก็ตาย เท่านี้เองชีวิตเรา ไม่ใช่ยากอะไร
มันจึงจำเป็นนะปฏิบัติธรรม จะให้เป็นทุกข์ เป็นทุกข์อย่างนั้นทุกอย่างมันก็ไม่ไหว ไม่ใช่เกิดมาทุกข์ เกิดมาเพื่อความดับทุกข์ ได้ชาติมานี้เพื่อปฏิบัติธรรมนะ อย่าไปทำอันอื่นได้ชาตินี้ทั้งชาตินะ ให้มาเอาเรื่องนี้เสียก่อน จะได้เดินลุยเหยียบบนโลกนี้ได้อย่างสง่างาม ในโลกเนี่ยมันไม่ใช่โรยด้วยดอกกุหลาบไว้ให้พวกเรา มีแต่ขวากแต่หนาม ถ้าไม่รู้มีทุกข์ มีลูกก็ทุกข์เพราะลูก มีเมียมีผัวก็ทุกข์เพราะเมียเพราะผัว มีอะไรก็ทุกข์ มีไม่เป็น เป็นไม่ถูก ทุกข์ทั้งนั้น ถ้ามีเป็น เป็นถูก ก็ไม่ต้องทุกข์ ช่วยกัน เป็นกัลยาณมิตรกันไป นี่ พากันไปมรรคไปผล ถ้าเห็นคนหนึ่งทุกข์ก็ช่วยกันให้เป็น เห็นคนหนึ่งโกรธก็ช่วยกันให้เป็น ต้องช่วยตรงนี้ จึงจะเป็นสมรสสามีภรรยากัน แต่เรามาช่วยกันตรงนี้ พอคนหนึ่งโกรธ คนที่สองก็โกรธตอบ เป็นแต่โง่ไปด้วยกัน ไม่มีความฉลาดตรงนี้เลย คนที่โกรธก่อนก็เป็นบาป คนที่โกรธทีหลังเป็นบาปสองต่อสองเท่ากว่าคนโกรธก่อน ยังไปโง่ตามเขาอยู่ ให้เขาว่าให้เราโกรธไปตามเขา นี่เรียกว่าไม่ช่วยกันเลย มีมากนะเรื่องนี้ ในโลก ทะเลาะกัน แตกแยกกัน เพราะคนหนึ่งโกรธก่อน คนหนึ่งก็โกรธตอบไป ต้องช่วยกันนะ มีโอกาสแล้ว กระตือรือร้น
โอ๊ย ๆ ๆ โอ๊ยเดี๋ยว ๆ ๆ อย่าเพิ่ง ขอไว้ก่อน ขอไว้ก่อน โอ๊ย! ไม่ถูก ไม่ถูก ๆ มันก็เห็นได้ หน้าบึ้ง ๆ หน้าบูด ๆ แสดงออกมาก็เป็นความทุกข์ ช่วยกันได้ หากช่วยกันเนี่ยตรงนี้มันจะดีที่สุด จะเห็นใจกันที่สุด จะรักกันมากที่สุด ตรงที่ช่วยเหลืออันที่มันทุกข์ให้ไม่ทุกข์เนี่ย นี่แหละเพื่อนมิตร กัลยาณมิตร สามีภรรยา ก็ช่วยกันอย่างนี้ เป็นคู่ชีวิต เห็นหน้ากันก็ได้มรรคได้ผล ได้นิพพาน เย็นใจ เห็นหน้ากันได้นรกได้เป็นเปรตก็มี ร้อนใจ เราจะอยู่อย่างนี้กันหรือในโลกนี้ อะไรที่มันที่จะพึ่งให้ใช้ได้ เราพึ่งตัวเราได้ตรงไหน กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว อยู่อย่างนั้นหรือ ให้มันเย็น ให้มันเรียบร้อย หมดพิษหมดภัย ไม่เป็นพิษเป็นภัย เหมือนถ่านไฟที่มันเย็นแล้ว ชีวิตของเรา เราก็พึ่งได้ มีชีวิตเพียงวันเดียวประเสริฐกว่าชีวิตร้อยปี
ผู้ใดไม่มีสติ ผู้ใดไม่มีธรรมะ ชีวิตร้อยปีไม่วิเศษ ผู้มีธรรมะเพียงวันเดียว เพราะมีรสพระธรรมในหัวใจ ที่ได้สัมผัส ยกมือไหว้ตัวเองได้ คุ้มค่าแล้ว คิดถึงพ่อถึงแม่ โอ๊ย! พ่อแม่ ที่ให้ลูกเกิดมาคุ้มค่าแล้ว ไม่เสียค่าน้ำนม ไม่เสียค่าแรง จะได้ตอบบุญแทนคุณพ่อแม่ เอากายเอาใจที่เราได้จากพ่อจากแม่มาทำความดีต่อไป
หลวงตานอนป่วยอยู่โรงพยาบาลจุฬา ฯ พูดกับอาจารย์โน้ส อาจารย์ตุ้ม รู้สึกว่ามันดีขึ้นนะ ก็บอกอาจารย์โน้สว่า คงไม่เสียแรงหรอกอาจารย์โน้ส ที่มานอนเฝ้ากันอยู่นี่สองปี อาจารย์ตุ้ม รู้สึกว่ามันดีขึ้นนะกว่าเก่า คงไม่เสียแรงนะ แล้วก็ไม่เสียแรงจริง ๆ ยังมาเทศน์ให้ฟังอยู่วันนี้ (หัวเราะ) มันก็คุ้มค่าแล้วที่ดูแล แม้แต่ญาติโยม ชาวสุคะโต ญาติโยมทุกคน คุ้มค่าแล้วที่ช่วยหลวงตา จะได้ใช้ประโยชน์ ในช่วงที่หายป่วยมานี่ก็ทำอะไรได้บ้างนะ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังดีกว่าที่มันจะตายทิ้งไปนะ
เราก็เหมือนกันนะ อะไรที่เรายกมือไหว้ตัวเองได้ เราทำอะไรได้บ้าง เปลี่ยนหลงเป็นรู้ ง่ายไหม เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ชำนาญไหม เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธชำนาญไหม อันความหลง ความโกรธ ความโลภ ความทุกข์นี่ เป็นอกุศล ไม่ดีเลย นำไปสู่นรก เปลี่ยนมันให้มันเป็นเรื่องกุศลซะ มันจะดี ไปสู่สวรรค์นิพพาน รากเหง้าของมันตรงนี้ ตรงกันพอดี เวลาเรามีสติ จะเจอความหลง นั่นแหละ มันพอดีกัน มันพอดีกัน เราก็เปลี่ยนมัน นั่นแหละจึงปิดประตูนรก เปิดประตูสวรรค์ ทันที อันนี้ ถ้าเปลี่ยนตรงนี้แล้วก็ไปแล้ว ไขกุญแจแก้โซ่หลุดไปแล้ว ไปหลงจนตาย ไปทุกข์จนตาย ไปโกรธจนตาย ไปโลภจนตาย ไม่ใช่ ต้องเป็นครั้งสุดท้าย ความหลงเป็นครั้งสุดท้าย ความโกรธ ความทุกข์เป็นครั้งสุดท้ายชีวิตเรานะ มันจึงจะคุ้มค่าที่เราเกิดมา ที่เราได้ชีวิตมา ได้กายได้ใจมานี้ ใช้สำเร็จประโยชน์ อย่าใช้ให้เป็นทุกข์เป็นโทษ มีประโยชน์มาก ๆ ทั้งห้านิ้วสิบนิ้ว กายใจของเรานะ ถ้าไม่ใช้ ถ้าใช้ไม่เป็น ถ้าไม่ศึกษาก็มีโทษ เราเป็นทุกข์เพราะลูก เพราะเมีย เพราะผัว เราเป็นทุกข์เพราะญาติพี่น้อง เราเป็นทุกข์เพราะเป็นทุกข์ มันก็มีโทษแล้วนะ เราไม่เป็นทุกข์เพราะความเป็นทุกข์ เราไม่เป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยง เป็นสวรรค์นิพพานไปเลย
อย่างเราสาธยายพระสูตรติลักขณาทิคาถา จำได้ไหมว่าอะไร ติลักขณาทิคาถา เชื่อไหมตรงนี้ หรือว่าแต่ปากเป็นภาษานกแก้วนกขุนทอง
“สัพเพ สังขารา ทุกขาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ” เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
“อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา” เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน
เชื่อไหม หรือว่าเป็นภาษานกแก้วว่าไปเฉย ๆ เอามาทำไหม เอาความทุกข์มาเป็นนิพพานได้ไหม เย็นไหม จากความร้อน ความทุกข์เป็นเหมือนความร้อน ความไม่ทุกข์เป็นเหมือนเย็นแล้ว ทำดูไหม มันต่างกันไหม ความทุกข์กับความไม่ทุกข์มันต่างกันไหม
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ กราบพระพร้อมกัน