แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การฟังก็ต้องมีเสียง แต่ก่อนอยู่ที่นี่ไม่เคยมีเครื่องขยายเสียง ก็ศาลาก็หลังเดิมนี่แหละ แต่ว่ามันก็ชินกับการพูด เสียงธรรมดา ฟังก็ฟังเสียงธรรมดา เดี๋ยวนี้เมื่อหูมันชินต่อเสียงดังแล้ว มันก็ มันก็ด้านไปนิดหน่อย ตาก็เหมือนกัน เมื่ออยู่กับแสงนีออนขาว ๆ นาน ๆ ตาก็ไม่ค่อยจะดี ไม่แข็งแรง เช่น เราไปอยู่ในถ้ำ ทีแรกก็เดินอยู่ข้างนอก พอเข้าไปในถ้ำ มันก็มืดมองไม่เห็น แต่วิธีเข้าถ้ำนั่น ให้หลับตาเข้า เมื่อไม่มีไฟฉาย ให้หลับตาเข้า ไปลืมตาอยู่ข้างในถ้ำ มันจะเห็นกว่าที่เราลืมตาจากข้างนอกแสงสว่างเข้าไปในถ้ำ มันจะมืดทันทีเลย มันปรับตัวไม่ทัน
การใช้ชีวิตของเรา ก็หลายอย่างที่มีส่วนประกอบ ความสุขความทุกข์ที่มันเกิดจากกายจากใจ ถ้ามีฝึกหัดตอนนั้นบ้าง มันก็จะเห็นช่องเห็นทางเหมือนกัน เห็นสิ่งประเสริฐ เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับทุกข์ได้ ถ้าเราสังเกตในชีวิตของเรา มันมีสิ่งบ่งบอกผิดถูกอยู่ โดยเฉพาะสติสัมปชัญญะ เหมือนเลนส์ของชีวิต ที่เราฝึกหัดให้เป็น ทำให้เป็นอยู่นี่ มันรอบด้าน เราก็มีการช่วยให้สติงอกงามได้หลายอย่าง เช่น ความทุกข์เกิดกับใจ ก็ไม่เป็นไร ไว้ก่อน อย่าไปเอะใจ อย่าไปคิดอะไรที่มันกระทบสองต่อ ทุกข์มันก็มีแล้ว แต่ใจก็ยังให้ ไม่รู้จักปรับ แล้วก็สิ่งแวดล้อมไม่ค่อยมี มันก็โดดเดี่ยว จนตรอกได้ เราจึงมองหลาย ๆ ด้าน มีแนวร่วม มีพลังร่วม ให้ของหนักกลายเป็นของเบา ไม่เป็นไร ช่างหัวมัน เกี่ยวกับเสียงก็ช่างหัวมันได้ เกี่ยวกับอารมณ์ก็ช่างหัวมันได้ เกี่ยวกับกลิ่นก็ช่างหัวมัน เกี่ยวกับรสก็ช่างหัวมัน อย่าไปจริงจังกับสิ่งต่าง ๆ มันจะเป็นศีลพรต ความทุกข์เป็นความทุกข์เป็นศีลพรตได้ ความโกรธเป็นความโกรธเป็นศีลพรตได้ ความผิดเป็นความผิดเป็นศีลพรตได้
พระโสดาบันเบื้องต้นทำลายศีลพรตตัวนี้ลงได้ ให้มันเข้มแข็ง อย่าหวั่นไหว ฝึกตนสอนตน มีโอกาสที่เราจะต้องฝึกอยู่ทุกเวลา เพราะรูปก็ดีนามก็ดี มันเป็นก้อนทุกข์อันหนึ่งก็ว่าได้ ถ้าเราอยู่ดี ๆ มีสติ จนเห็นความเป็นจริงของรูปของนาม ว่ามันเป็นกองทุกข์ชนิดหนึ่ง จนพระพุทธเจ้าได้เห็นว่า ปัดโธ่ ตื่นทุกข์ แต่ก่อนไม่ค่อยตื่น มันด้าน พอใส่ใจดูสักหน่อย ก็ตื่น พุทโธ่ ปัดโธ่ ตื่นทุกข์ เมื่อตื่นทุกข์แล้ว ก็ไม่ด้านในความทุกข์ นิดหน่อยก็ใส่ใจสักหน่อย แต่บางทีทุกข์มันมีสิ่งที่บดบังไว้ เป็นทุกข์ของกาย อิริยาบถบังเอาไว้ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้เหยียด เคลื่อนไหว มันมีดู แต่ว่าอิริยาบถบัง ไม่เห็นตามความจริง ถ้าไม่มีอิริยาบถบัง ให้มันมาซื่อ ๆ ลองดู เราก็จะต้องรู้จักแก้ไข เดี๋ยวนี้เรานั่งนานก็ยืนขึ้น เรานั่งท่านี้เราพลิกท่านั้น เรานอนนานก็ลุก เราหิวก็กินข้าว เราร้อนก็อาบน้ำ อันนั้นก็อิริยาบถที่มันบังไว้ บางทีไม่เห็นแจ้ง ถ้าเราเห็นแจ้งสักหน่อย ไม่ต้องอาศัยอะไร อาศัยในตัวมันเอง มันก็มีความเข้มแข็งอยู่ในนั้น กายนี้น่ะทุกข์ ทุกข์ของกาย จิตนี่น่ะทุกข์ ทุกข์ของจิต มันก็มีอยู่ในตัวมัน เป็นเพราะในความรู้สึกตัวเนี่ย มันมีคุณค่า เป็นสากลสารพัด ถ้าเห็นทุกข์ก็เห็นตรงนี้ เหตุที่เกิดทุกข์ก็เห็นตรงนี้ วิธีที่ดับทุกข์ก็ดับตรงนี้ อันเดียวกันเลย เรียกว่า “เห็นของจริงอันประเสริฐ คือเห็นอริยสัจ 4” แล้วก็ดำเนินไปตามหลักของอริยสัจ 4 เห็นแล้วก็ ไม่ใช่ยอมจำนน เห็นเหตุมันด้วย
เหมือนกับแม่ เลี้ยงละอ่อนลูกน้อยของตน เวลาลูกร้องไห้ มันหิว มันก็ร้องไห้ มันเจ็บปวดก็ร้องไห้ คนเอาขวด...ก็ร้องไห้ ถ้าแม่มีสังเกต ถ้ามันร้องแบบนี้ แสดงว่ามีอะไรกัดมัน หรือมีการเจ็บปวดตรงไหน หายาเกี่ยวข้อง หาสิ่งเกี่ยวข้องให้ถูกต้อง บางทีมันร้องแบบนี้ สังเกตดูก็รู้ว่า นี่มันอาจจะมีของกัด มีสิ่งกัดมัน ต้องเปิดนู่นเปิดนี่ดู ก็ไปเห็นมดมากัดต่อยมาต่อยกัด หาเหตุมัน เหตุที่ลูกน้อยร้องเนี่ย มันจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่นอน ช่วยกันหา รื้อที่นอนหมอนมุ้ง พอเห็นมดมันต่อย กัดลูกน้อยอยู่ ก็รีบเอาออก เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราดับออกมันได้แล้ว เอายามาใส่บรรเทาให้ ขมิ้นบ้าง ยาหม่องบ้าง มันก็หยุดร้องไห้ ลักษณะนั้นมันก็มีความชำนิชำนาญเพิ่มขึ้น การดูแลเป็นกิริยารอบรู้เข้าไปอีก เช่น เรามีทุกข์ เมื่อไม่ยอมให้มันทุกข์ ด้วน ๆ ให้รู้จัก มันก็จะรู้จักหาต่อไป มันก็จะไม่จนต่อความทุกข์ มันก็อยู่ในตัวมัน อาศัยความชำนิชำนาญ อาศัยความฝึกฝนตนเอง ยับยั้งทันจิตไม่ผลุนผลัน ดูดี ๆ หรือเสมือนกับเราเจ็บป่วยไปหาหมอ การดูโรคเนี่ยสำคัญ แต่ว่าการใช้ยาเนี่ยไม่ต่างกัน เมื่อดูโรค รู้จักโรคแล้ว ใช้ยาถูกต้อง ถ้าสมุฏฐานของโรคไม่เห็นแจ้ง วินิจฉัยไม่ดี มันก็รักษาไม่ถูกโรค โรคก็ไม่หาย การดูโรคสำคัญของการเป็นหมอ แต่การใช้ยานั่น เป็นสากลอยู่แล้ว มันรักษาคนที่เรียนมากันแล้ว เภสัชศาสตร์ หรืออะไรต่าง ๆ เช่น กายก็มีกายวิภาคศาสตร์ ผ่าตัดกันมาแล้ว เอาศพออก ชีวิตของคนของสัตว์ผ่าลองดูแล้ว อันเดียวกัน รู้อย่างเดียวกัน แต่การวินิจฉัยเนี่ยอาจจะจริงต่างกันได้
เราก็เป็นผู้วินิจฉัยอันหนึ่ง ที่โดยเฉพาะการปฏิบัติเนี่ย มันหลอกไม่ได้ ในเรื่องของกายของใจเนี่ย มันหลอกไม่ได้ มันเกิดขึ้นแบบไหน หลอกไม่ได้ ถ้าเราศึกษาปฏิบัติฝึกหัดตัวเอง มันก็มีหลักสูตรอยู่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่มันเกิดขึ้น เราก็เห็นกันอยู่ ทุกคนมีกาย เราอย่าไปสนใจเรื่องอื่น เรามาดู ดูที่นี่ ดูที่นี่ ให้เห็นที่นี่ เห็นอะไรเกิดขึ้นที่นี่ รู้อะไรที่เกิดขึ้นที่นี่ วิธีเกี่ยวกับการสิ่งใดที่เกิดขึ้นที่นี่ รู้หมด รู้ครบ รู้ถ้วน เป็นธรรมชาติยังไง เป็นอาการยังไง ที่มันเกิดขึ้นกับกาย ไม่ใช่เอามาเป็นตัวเป็นตนเลยทีเดียว มันสุขก็เป็นสุข มันทุกข์ก็เป็นทุกข์ กายเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ กายเป็นเหตุให้เกิดสุข มันก็มี เป็นโรคของกาย ถ้ากายเป็นทุกข์ กายเป็นสุข เรียกว่า “โรคของกาย” ใจก็เป็นทุกข์ ใจก็เป็นสุข เป็น “โรคของจิตใจ” ถ้าศึกษาแล้ว มันหายได้ อันสุขอันทุกข์ที่มีกับกายกับใจนี่ มันหายได้ แต่ว่าปุถุชน คือคนป่วย พระอรหันต์ คือคนหายป่วยแล้ว ว่าสุขว่าทุกข์ที่เกิดกับกายกับใจจะไม่มีเลย มีอะไร มีแต่ธรรมชาติ มีแต่อาการ เบานิดหน่อย ไม่หนัก ไม่แสดงการหัวเราะ ไม่แสดงการร้องไห้ เพราะความสุขความทุกข์ได้ แล้วก็หลอกเราไม่ได้ทั้งกายทั้งใจนี่
เคยพูดอยู่เสมอว่า คนหลอกไม่กลัว ผีหลอกไม่กลัว กลัวแต่ตัวเองหลอกตัวเอง อยู่ที่ไหนมันก็หลอกได้ อันตัวเราเนี่ย อันคนหลอกมันมีบางครั้งบางคราว ถ้ามีผีหลอกมันก็มีเป็นบางครั้งบางคราว ถ้ามันมีน่ะ (หัวเราะ) บางทีสถานที่บางที่ก็กลัว ถ้าความกลัวมาก ๆ ก็หลงทิศหลงทาง ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้ อะไรน่ะมันเกิดขึ้น ก็คือเรานี่แหละหลอกตัวเรา สำคัญ เห็นผิดไป มิจฉาทิฐิ เห็นผิดไป เอาสิ่งอื่นมาเป็นสุข เอาสิ่งอื่นมาเป็นทุกข์ เอาสิ่งอื่นมากลัว เอาสิ่งอื่นพาให้พลาด ที่จริงแล้วมันไม่เป็นเช่นนั้น ชีวิตของเรา ต้องมีอำนาจ มีสิทธิที่จะไม่ทุกข์ไม่สุขได้ ไม่ต้องมีทาส ไม่ต้องเป็นทาสกับอะไรได้ แม้นว่ามันจะมีแก่ มีเจ็บ มีตาย ก็ไม่ใช่เป็นปัญหากับชีวิตเรา อาจจะเป็นปัญญาเลยก็ได้ มันมีอยู่อย่างนี้ ไม่เป็นหมันจริง ๆ เรื่องนี้น่ะ
ถ้าเราฝึกหัด มีสติ ดู มันก็ต้องเห็นแจ้ง เหมือนเรามีตา ยืนดู อะไรก็ต้องเห็นเหมือนกันหมด ที่เกิดจักขุสัมผัส หรือแม้แต่ไม่มีตา ตาบอดแต่นี่วิญญาณของตาไม่มี หูหนวก เช่น หลวงตานี่ วิญญาณของหูไม่มี มันก็ฟังเสียงอะไรไม่รู้ เมื่อวานไปดูคนตาบอด ญาติตาบอด เราพูดเรื่องเขาตาบอด รำคาญ เคยดูอะไรเห็น ครั้นมาบอด มันก็รำคาญใจ เราก็บอกว่า อย่าเอาตามาเป็นเรื่องของใจ อย่าให้ใจไปเกี่ยวข้องกับอะไรมาบดบังได้ ใจนี่ ต้องบริสุทธิ์ ต้องปกติอยู่ ตาบอดมันก็ดี พระรัฐบาลนี่ตาบอดเป็นพระอรหันต์ อย่าเอามาลงโทษตาบอด มันก็สบายแล้ว ไม่ต้องดูอะไร ถ้าอยู่มีลูกมีเมียอยู่ เขาก็ดูแลเราอยู่ มันอย่าให้มันบอดทางใจ เอาตามาเป็นทุกข์ใจ เอาเสียงมาเป็นสุขเป็นทุกข์ใจ เอารสมาเป็นสุขเป็นทุกข์ใจ มันไม่ถูกต้อง ถ้าเราไม่หัด มันก็เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเราฝึกหัดแล้วมันไม่เกี่ยวข้องกันเลย มันก็ จิตใจก็เป็นจิตใจ ถ้าเป็นสุขเป็นทุกข์เพราะตา เพราะหู เพราะจมูก เพราะลิ้น เพราะกาย เสมือนกับดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ที่มีเมฆบัง เราก็มองว่าดวงจันทร์มืด แสงอาทิตย์มืด เมื่อเมฆบัง แต่ว่าความมืดที่เกิดจากเมฆนั้น มันไม่ใช่ดวงอาทิตย์ ไม่ใช่ดวงจันทร์ มันก็มีความสุขที่เกิดจากกายจากใจ เหมือนความสุขที่เกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่มันเกิดมาถึงใจ ที่มีความสุขเพราะตา เพราะหู เพราะจมูก เพราะลิ้น เพราะกาย เหมือนเมฆ เงาในก้อนเมฆ ใจมีความสุขเพราะตา เพราะหู เพราะจมูก เพราะลิ้น เพราะกาย อันเรียกว่าอาศัยก้อนเมฆ สุขก็อาศัยก้อนเมฆ ทุกข์ก็อาศัยก้อนเมฆ มันไม่จีรังยั่งยืน ให้มันเป็นของมันเอง ไม่มีอะไรบดบัง ไม่ต้องอาศัยนิมิตภายนอก เมื่ออยู่ในตัวมัน
เราจึงมีสติ เนี่ยเห็น เนี่ย เห็นเนี่ย แปลว่าเห็นไม่เป็นเนี่ย มันเป็นอิสระของจิต ถ้าเห็นในเรื่องของตา เป็นสุขเป็นทุกข์ ที่เกิดจากตา จากหู จมูก ลิ้นนั้น นั่นน่ะร่มเงาของก้อนเมฆ ทำให้หลงได้ หลงสุขหลงทุกข์ได้ เพราะตา เพราะหู แต่มันก็มีอยู่เกือบทุกชีวิต อะไรเกิดขึ้นก็รู้สึก รู้สึกเนี่ย มันเป็นจิตล้วน ๆ จิตใจของเรานี่มันก็ รู้สึก ระลึกได้ อยู่เกี่ยวข้องกับตา กับหู กับจมูก ลิ้น กาย เป็นใหญ่ เอาไปเอามาก็ เป็นใหญ่ จิตนี่เป็นใหญ่ สำเร็จเพราะว่าจิต ถ้าไม่ฝึกหัดก็เป็นใหญ่ แบบป่าเถื่อน เป็นความทุกข์ก็เป็นใหญ่ บังคับทุกอย่างได้ ความสุขก็เป็นใหญ่ อันนั้นมันเถื่อน เป็นอวิชชา นายใหญ่ของจิตนี่ คือไม่เป็นอะไร ไม่เป็นอะไรกับอะไร อันความเป็นใหญ่ของจิต ความไม่เป็นอะไรกับอะไรเนี่ย เรียกว่าเป็นความผ่อน เหมือนไหม ก็ไม่เป็นอะไร มันแข็งเหมือนเพชร ต้องไม่เป็นอะไรนี่มันทะลุทะลวงมืดทึบทุกอย่างได้ จึงเป็นสากล
อันความไม่มี ไม่เป็นอะไรกับอะไรเนี่ย ของจิตเนี่ย มาตรฐาน ถ้ามันเป็นสุขเป็นทุกข์ เรียกว่าไม่มีมาตรฐาน ใช้งานยังไม่ได้ มีภาระอยู่ ภาระที่เกิดกับใจอยู่ ถ้ามีภาระอยู่ก็เรียกว่าปุถุชน ถ้าหมดภาระลงแล้ว ก็เรียกว่าพระอริยบุคคล วางลงแล้ว หมดภาระแล้ว วางลงแล้ว จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป แต่งให้สุขให้ทุกข์ไม่ได้ แต่งให้เป็นอื่นไม่ได้ มันถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป มันสิ้นแล้ว สิ้นภพสิ้นชาติ ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็เป็นไม่เป็นอะไร
เมื่อไม่เป็นอะไรกับอะไร มันก็อยู่เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อาศัยการเกิดแก่เจ็บตายเพื่อขึ้นฝั่ง ที่ไม่เป็นอะไร ถ้าไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันก็ไม่รู้จักฝั่ง มันเป็นอะไรอยู่ ถ้ามีความสุข ความทุกข์ ความรัก ความชัง นั่นแหละ เหตุที่มันเกิดแก่เจ็บตาย มันเกิดดับ เกิดดับ ถ้ามันสุขมันทุกข์อยู่ เรียกว่า “อยู่ในห้วงน้ำ เป็นวัฏฏะ” เราจึงอาศัยเหตุปัจจัยนี้ เอามาฝึกปฏิบัติ ถ้ายังมีหลงอยู่ ก็แสดงว่าเราต้องฝึกให้รู้ เมื่อมีทุกข์มีสุขอยู่ก็ต้องฝึกให้รู้ เปลี่ยนมาเป็นตัวรู้ ถ้ามีอะไรที่เกี่ยวกับกายกับใจ ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ เปลี่ยนมาเป็นตัวรู้
สภาวะที่รู้สึกตัว นี่เรียกว่า “เทียบท่า” เห็น ถ้าเห็นแล้วก็เทียบท่า ถ้าเป็นแล้วยังลอยคอ เป็นสุขก็ยังลอยคออยู่ เป็นทุกข์แล้วก็ยังลอยคออยู่ เหมือนเราอยู่ในห้วงน้ำ ขึ้นไม่ได้ ตะเกียกตะกายอยู่จนนาน ถ้าได้เห็นแล้วก็เทียบท่าได้ ไม่เป็นล่ะก็ขึ้นฝั่งได้สบาย มันสุขเห็นมันสุข เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับทุกข์ เรียกว่า “ขึ้นฝั่งได้” ไม่มีปัญหาเลย เหมือนพระอริยะเจ้า จงมาถึงที่ไม่มีน้ำ พระอรหันต์ตะโกนบอกเราอยู่ จงมาถึงที่ไม่มีน้ำจากที่มีน้ำ บางทีพระพุทธเจ้าก็เรียกว่าสุขทุกข์นี่เป็น “ห้วงน้ำโอฆะ” เรามีสุขมีทุกข์อยู่เรียกว่ามีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย
ขออย่าได้พูดอะไรเถอะพวกเรา ให้ได้พูดแต่เรื่องนี่กัน ให้ฟังแต่เรื่องนี้กัน จะได้ใส่ใจ เมื่อวานนี้ก็ไปแสดงธรรมที่วัดโมกข์ มีคณบดีมหาวิทยาลัย คณะอาจารย์ต่าง ๆ มาทอดผ้าป่า สร้างที่พักให้อุบาสิกา วัดโมกข์ขอสนับสนุน เป็นศาสนวัตถุ มันก็จำเป็น เช่นเรามีหอไตรนั่งอยู่นี่ก็จำเป็น มีผ้านุ่งผ้าห่มก็จำเป็น มีอาหารการกินก็จำเป็น เสนาสนะสัปปายะ มีที่อยู่อาศัยบ้าง อาหารสัปปายะ มีอาหารกินบ้าง บุคคลสัปปายะ มีเพื่อนมีมิตร พอที่จะแนะนำสั่งสอน ชี้แนะนำอะไรบ้าง มีธรรมะอันเป็นความถูกต้องบ้าง ชี้ให้ชัดลงไปบ้าง อย่าให้เนิ่นช้า ก็จำเป็น เป็นเพราะเวลานี้ อยากสนับสนุนผู้หญิง ให้สะดวกกว่าผู้ชาย เหมือนสมัยก่อนก็มีพระอานนท์นะ มาคุยเรื่องผู้หญิง ที่นี่ให้ ขอให้พวกเราที่เป็นพระสงฆ์เนี่ย ขวนขวายเรื่องผู้หญิงบ้าง เอาใจใส่เขาบ้าง พวกเราก็เข้มแข็งอยู่แล้ว ที่เป็นผู้ชายอุบาสกเนี่ย แล้วก็โดยเฉพาะมหายานเนี่ย ผู้หญิงเนี่ยแข็งแรงกว่า ภิกษุณีเนี่ยแข็งแรงกว่าพระสงฆ์ มหายานนะ เข้มแข็ง การเผยแพร่ศาสนาเนี่ย ภิกษุณีนำหน้า พระสงฆ์ต้องอาศัยภิกษุณี เป็นเจ้าสำนักเฉย ๆ แต่ภิกษุณีเป็นผู้ที่ทำงานออกเผยแพร่ ประเทศไทยเราเนี่ย ยังไม่ยอมรับภิกษุณี ก็เลยไม่มีภิกษุณีเมืองไทย แต่ว่าให้เป็นสถานที่อยู่นานาชาติ นักบวชทั่วโลกมาอยู่ได้ พอเป็นไปได้มั้ยสุคะโต แต่ว่าเราก็มีความสามารถน้อย ๆ แต่อยากให้เป็นไปได้ ก็เลยสนับสนุน คณบดีเขามาสร้างที่อยู่ให้อุบาสิกา ว่าขอสนับสนุน อย่างมานั่งอยู่เนี่ย ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ก้อนข้าวน้ำแกงได้จากผู้หญิงเยอะแยะ สร้างวัดสร้างวานี่ กุฏิทุกหลังนี่ มักจะเป็นผู้หญิงมาเป็นเจ้าภาพ พระสงฆ์ก็เลยมีที่อยู่สู้ผู้หญิงไม่ได้ (หัวเราะ) กุฏิผู้หญิงนี่เขาก็ทำดี กุฏิผู้ชายอาจารย์ตุ้มทำให้ บันไดลิง รู้จักบันไดลิงไหม โหนขึ้นไป อาจารย์ตุ้มทำกุฏิผู้ชาย พระสงฆ์เรียกว่าบันไดลิง แถวป่าไผ่ ห้อยโหนขึ้นไป ห้องน้ำห้องส้วมก็ธรรมชาติมาก ๆ ก็ยังพออยู่ได้นะ ถ้าที่อื่นไม่สนับสนุน ขอให้มาที่นี่ ถ้าเป็นอุบาสิกาก็ได้ เป็นนานาชาติก็ได้ ก็เลยว่าเสนาสนะสัปปายะ ก็จำเป็น อาหารสัปปายะ บุคคลสัปปายะ มีผู้บอก มีผู้ฟัง มีผู้พูดบ้าง ถ้าพูดเรื่องอื่นมันก็ไม่ชัดเจน ไม่ตรง
ในพระสูตรนี่ ปฏิบัติตรง ให้มันตรง คนอื่นบอกเราบ้าง เราก็ตรงบ้าง ถ้ามันหลง ก็ตรงไปหาความรู้ อย่ามาเสียเวลาเพราะความหลง ถ้ามันทุกข์ก็ตรงไปหาความรู้ อย่าให้เสียเวลาเพราะความทุกข์ ถ้ามันโกรธก็ตรงมาหาความรู้ อย่าให้เสียเวลาเพราะความโกรธ วิตกกังวลเศร้าหมอง ความรักความชัง ตรงมาหาความรู้ อย่าให้เสียเวลากับความรักความชัง ความวิตกกังวลเศร้าหมอง ปฏิบัติให้ตรง ผู้ใดปฏิบัติตรงอย่างนี้ เรียกว่าเป็น “สงฆ์” ในพุทธศาสนา นั่นแหละคือสงฆ์ นั่นแหละคือพระสงฆ์ที่เกิดจากพระสัทธรรม ประกอบด้วยคุณมีการปฏิบัติดี เป็นต้น “สัทธัมมะโช สุปะฏิปัตติคุณาทิยุตโต" พระสงฆ์เกิดจากพระสัทธรรม ไม่มีที่ใดสวดว่า พระสงฆ์เกิดจากบวช จากอุปัชฌาย์ในโบสถ์ ไม่มี มีแต่พระสงฆ์เกิดจากพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติต่อทุกข์ ปฏิบัติเป็นสถาบัน มาทางไหนก็ตรงอยู่ตลอดเวลา ถ้าทุกข์ก็ไม่ทุกข์สถาบัน ถ้าหลงก็ไม่หลงเป็นสถาบัน เรียกว่า “สถาบัน” อยู่ในชีวิตของเรานี้ จบตรงนี้ ปริญญาก็ตรงนี้ “ญาตปริญญา” รู้แล้ว ความหลงหลอกไม่ได้ ความทุกข์หลอกไม่ได้ ความโกรธหลอกไม่ได้ ญาตปริญญา
“ตีรณปริญญา”- แจกแจงได้ ไม่เป็นดุ้นเป็นก้อน นี่เป็นธรรมชาติ นี่เป็นอาการ ความร้อนเป็นธรรมชาติ เป็นอาการ ความหนาวเป็นธรรมชาติ เป็นอาการ ความหิวเป็นธรรมชาติ เป็นอาการ สุขทุกข์ที่เกิดกับใจเป็นธรรมชาติ เป็นอาการ ไม่ใช่ใจ อะไรที่มันเกิดขึ้นมา ปลอม ๆ ไม่ใช่ของจริง อย่างจิตของเรานี้ ประภัสสรผ่องใส แต่สิ่งที่จรมา ทำให้เปรอะเปื้อน อารมณ์ทำให้จิตใจเปรอะเปื้อน ทำให้เศร้าหมอง ไม่ใช่ธรรมชาติของจิต เป็นอาการที่มันจรมา เป็นครั้งเป็นคราว ถ้าเราไปเป็นสุขเพราะสิ่งที่จรมา เป็นทุกข์เพราะสิ่งที่จรมา เรียกว่าเราต้อนรับมัน เมื่อต้อนรับมันก็มาบ่อย ถ้าเราชักสะพานออก ยกขึ้น นี่คือปริญญา บอกคืน รู้แจ้ง ญาตปริญญา ตีรณปริญญา-แจกแจงเอา แล้วก็ ปหานะปริญญา-ทำให้หมดไปได้ ความหลงหมดไปแพล็บเดียว ความทุกข์หมดไปแพล็บเดียว ความโกรธหมดไปแพล็บเดียว เรียกว่า “ปหานะปริญญา” ทำให้หมดไป พ้นไป ผ่านไปได้ ผ่านความหลง ผ่านความโกรธ ผ่านความทุกข์ เพราะทำไมจึงผ่าน เพราะตรงนี้เป็นอกุศล รากเหง้าของอกุศล มันก็ไปไกล ถ้าไม่ผ่านมันซะ มันก็อยู่ลึกไปไกล หยั่งรากลึกเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นภพ เป็นชาติ
นี่เราจึงมาเห็นตรง ๆ อย่างนี้ มันหลงรู้ อย่างเนี่ย ถ้าไม่มีความรู้เป็นฐาน ความหลงก็จะเป็นสิทธิที่จรมาได้ ไม่มีเจ้าของ เป็นสาธารณะเกินไป อะไรไม่มีเจ้าของ เช่น รถราบ้านช่อง เรือกสวนไร่นา ไม่มีเจ้าของ มันก็เหลืออยู่ไม่ได้ มันก็หมดไปได้ ถูกทำลายไปได้ ชีวิตของเราไม่มีเจ้าของ เจ้าของก็คือเถื่อน ๆ เช่น ความหลงเป็นเจ้าของกายใจ อะไรก็หลงออกหน้าออกตา มันก็เถื่อนได้ เป็นสุขเป็นทุกข์ได้ เกิดแก่เจ็บตายได้ ถ้ามีสติเป็นเจ้าของ มันก็ปลอดภัย ดูแลคุ้มครองได้ มันทุกข์มีสิทธิไม่ทุกข์ มันหลงมีสิทธิไม่หลง มันโกรธมีสิทธิไม่โกรธ รากเหง้าตัวนี้ก็หมดไป กลายเป็นกุศลขึ้นมา ไม่ทุกข์ ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง เมื่อมีไม่หลง ไม่โกรธ ไม่ทุกข์ มันก็เป็นรากเหง้าของกุศล กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญมากขึ้น จนถึงมรรค ผล นิพพานเลยทีเดียว
ความไม่หลงเนี่ย เริ่มต้นจากความรู้สึกตัวเนี่ย หัดให้มี หัดให้เป็น มันเก่งในตอนที่มันหลง ประสบการณ์ในตอนที่มันหลง บทเรียนในตอนที่มันหลง ไม่มีใครเก่งให้เรา เราต้องเก่งเอาเอง ใครช่วยเราไม่ได้ เราต้องช่วยตัวเองให้เป็น มีไหมถ้ามีหลงอยู่ ก็ต้องช่วยยก ผ่านให้มันได้ ความหลง ความมีทุกข์มีสุขอยู่ ก็ต้องผ่านบ่อย ๆ อย่าไปมี จำนน จำยอมมัน อัสสาทะมีเหมือนกันน่ะ พอใจก็มี แม้ความทุกข์ก็ยังพอใจ ความโกรธก็พอใจ พอใจในความโกรธ จนทำตามความโกรธ พอใจในความทุกข์ จนทำตามความทุกข์ ฆ่าตัวตาย พอใจในความทุกข์ ทำลายตัวเอง ทำลายคนอื่นได้ มันมีอัสสาทะเหมือนกัน
ถ้าหลงมาก ๆ อวิชชาปิดบัง ไม่รู้ มืดทึบ มันก็จำอะไรไม่ได้ มืดไปหมดเลย เห็นผิดเป็นถูก เห็นงูเป็นปลา เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เหมือนเขาทำเป็นภาพสัตว์นรก เอากงจักรที่มันหมุนติ้วมาหมุนหัวตัวเอง ยังจับมาหมุนหัวตัวเองอยู่ ปั่นเสียจนเลือดกระเด็นไป ยังเอามาจับมาใส่อยู่ ประดับไว้บนหัวตัวเอง พอใจในความโกรธ นอนอยู่กับความโกรธข้ามวันข้ามคืน มีไหม (หัวเราะ) พอใจในความทุกข์ นอนอยู่กับความทุกข์ข้ามวันข้ามคืน ทำไมจึงทำงั้น ทำไมจึงว่าอย่างนี้ล่ะ เอามาอยู่เรื่อย เอามาทำไม ทำไม ทำไม ทำไม ทำไมจึงทำอย่างนั้น ทำไมจึงทำอย่างนี้ มันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนี้ เจ็บปวดเท่าไรก็เอาทำไม ทำไม ทำไม ตอกลงไป จนร้องไห้ จนหมดสภาพเลย ใครล่ะทำลายตัวเอง ก็เรานี่แหละ ใครก็ช่วยเราไม่ได้ ต้องหัดช่วยตัวเอง ฝึกหัดตัวเอง
อันนี้เราก็มาศึกษานี้กัน มีนิดหน่อย ไม่เหมือนการสอนแบบอื่น การสอนแบบอื่นเข้าฌาน แข่งขันกันนั่งนิ่ง มีลาภสักการะ บอกเลขบอกหวย มีอะไรต่าง ๆ หาลาภสักการะ สรรเสริญเยินยอ มีพวกพ้องบริวาร เป็นเจ้าลัทธิ ไม่ต้องการเป็นเจ้าลัทธิ ไม่ต้องการเป็นอาจารย์ของใคร ไม่ต้องการปกครองใคร ไม่ต้องการให้คนนั่งอยู่ ไม่ต้องการให้คนมากราบมาไหว้ ถ้ามาที่นี้นะ ไม่ต้องไปกราบไปไหว้ใคร มาอยู่เพื่อปฏิบัติเข้าไปเลย ให้มันตรงมาอย่างนี้ ไปบอกสำนักงาน มีอยู่แล้วที่ลงทะเบียน ที่รับของ คืนของ ของใครของเรา ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องขอ ให้เลย ให้ที่นอน ให้เสนาสนะ ให้อาหาร ตีระฆังไปกิน ไปฉันได้ อย่างงดงาม ไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่ใช่ใครหามา พวกเรานั่งอยู่นี่ ไม่ได้ทำมาค้าขาย ไม่ได้ทำไร่ทำสวน มีคนเอามาให้เรา เพราะทำไมเขาจึงให้เรา เพราะเราทำความดี ความดีเกิดขึ้นหลาย ๆ คน เห็นแม่ชี เห็นพระสงฆ์ เห็นญาติโยม มาทำความดีเนี่ย เป็นของเรา มาตรง ๆ อย่างนี้ ไม่ต้องไปกราบไปไหว้ ถ้าไหว้ก็เคารพ ให้ทำอย่าให้ตัวเป็นทุกข์ ก็ไหว้ตัวเองได้แหละดีที่สุด อันไหว้คนอื่นแล้วตัวเองยังเหลวไหลอยู่ ไม่ประเสริฐเลย ถ้าไหว้ตัวเองได้ ไปทำความดีนั่นแหละ ช่วยกันแล้ว ช่วยชาติช่วยศาสนาแล้ว